- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 18 October 2015 18:57
- Hits: 3033
บิ๊กจิ๋วห่วง ตู่ดุมากๆความดันขึ้น ใช้ม.44-เด้งเลขาสภาฯ รบ.เลิก'ซิงเกิลเกตเวย์' กฤษดายื่นลาสสส.แล้ว จับโจรตัดไฟบ้านมีชัย
'บิ๊กจิ๋ว'กระเซ้า'บิ๊กตู่' ดุมากระวังความ ดันขึ้น เชื่อคนเกี่ยวข้องคดีข้าวไม่ทำให้ ขัดแย้งขึ้นอีก'บิ๊กตู่'ยันไม่ได้กลั่นแกล้ง คดีข้าวใหใช้กระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ ขณะ'วิษณุ'ขอหยุดจ้อคดีรายวัน ชี้ไม่เป็นธรรมกับ'ปู''โต้ง'โอเคได้แจงจำนำข้าวซะที เรียกร้องกก.สอบข้อเท็จจริงรับฟังข้อมูลที่เหลือทั้งหมดด้วย'ไอซีที'ยันรัฐบาลเลิก'ซิงเกิล เกตเวย์'แล้ว คลี่บ้าน มีชัยไฟดับ ตร.จับแล้วโจรลักตัดสายไฟฟ้า ทพ.กฤษดาแถลงลาออก'สสส.'เปิดทางตรวจสอบ
นที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9089 ข่าวสดรายวัน
วิษณุโต้พท.-ลั่นม.35 ไม่แคบ
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงพรรคเพื่อไทยเรียกร้องรัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 35 เนื่องจากเป็นกรอบที่แคบเกินไปว่า มาตรา 35 กำหนดว่ารัฐธรรมนูญที่จะร่างขึ้น อย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติตามที่ระบุไว้ 10 ข้อ กับอีก 1 วรรค หากใครมาบอกให้ทบทวน หรือให้รื้อด้วยเหตุผลแคบไปก็ไม่มีปัญหา เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเขียนให้กว้างกว่านี้ก็ได้ เข้าใจว่ามีคนเป็นห่วงเรื่องบทบัญญัติเหล่านี้จะเป็นการปิดประตูในหลายอย่าง แต่กรอบนี้เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2557 ถือเป็นเจตนารมณ์เดิม แต่เป็นเพียงกรอบ เช่น การกำหนดกรอบให้เขียนหนังสือ ดังนั้นจะเขียนอย่างไรก็ได้ให้เป็นตามกรอบ แต่ตนเห็นว่าไม่ได้แคบอย่างที่วิจารณ์ และไม่เข้าใจว่าต้องการให้แก้ไขอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคเพื่อไทยมองว่ากรอบในมาตรา 35 ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นสากล นายวิษณุกล่าวว่า นั่นเป็นความเห็นของพรรคเพื่อไทย แต่ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวและรัฐบาล ไม่เห็นว่าประเด็นนี้เป็นข้อจำกัด เพราะถ้ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่างเป็น ก็จะร่างออกมาแบบสากลและอยู่ในกรอบมาตรา 35 ซึ่งไม่ใช่เรื่องลำบาก และหากดูรายละเอียดในมาตรา 35 จะพบว่าเป็นสิ่งที่คนไทยเรียกร้องมาตลอด เช่น มาตรการป้องกันผู้ที่ทุจริต เข้าสู่การเมือง ป้องกันการประชานิยมโดยไม่สมควร วางหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งกรอบมาตรา 35 เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ผิดแปลก หรือพิสดาร
ยันไม่ได้วางกรอบให้มี"คปป."
เมื่อถามว่า บางฝ่ายห่วงว่ากรอบตามมาตรา 35 จะทำให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) อยู่ด้วย นายวิษณุกล่าวว่า อย่างนั้นไม่ได้อยู่ในกรอบตามมาตรา 35 จะเขียนหรือไม่เขียนก็แล้วแต่กรธ. เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องรอดูการทำงานของกรธ. ซึ่งรัฐบาลและคสช.ไม่ได้ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว เพราะถือว่าให้กรอบตามมาตรา 35 ไปแล้ว ซึ่งขณะนี้กรธ.ให้อนุกรรมการร่างเนื้อหาเบื้องต้นตามแต่ละหมวดไปก่อน
นายวิษณุ กล่าวว่า ยอมรับว่ามาตรา 35 ทำให้กรธ.ขาดอิสระในการทำงาน เพราะถือเป็นกรอบ ไม่ได้ปล่อยให้เขียนตามใจชอบ และในอดีตการเขียนรัฐธรรมนูญไม่มีกรอบวางไว้ แต่สุดท้ายก็เขียนโดยไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร ทั้งนี้กรธ.ไม่สามารถเขียนรัฐธรรม นูญหลุดจากกรอบมาตรา 35 นี้ได้ แต่ยืนยันว่ากรอบนี้กว้างพอที่จะเขียนอย่างไรในรายละเอียดก็ได้
ชี้กรธ.แค่ฟังข้อเสนอกกต.
นายวิษณุกล่าวถึงข้อเสนอของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการกำหนดอำนาจหน้าที่ต่อกรธ. ว่า เป็นการเสนอ ความคิดเห็น แต่คนที่รับฟังต้องฟังด้วยวิจารณญาณอย่างเป็นธรรมว่าพูดถึงปัญหาของตัวเองแล้วเกี่ยวกับปัญหาของประเทศด้วยหรือไม่ และเวลาที่กรธ. เชิญหน่วยงานใดมาให้ความเห็น ทุกคนต้องพูดถึงปัญหาของงานตัวเอง และมีสูตรการแก้ปัญหา เช่น 1.ขาดคน 2.ขาดงบประมาณ 3.ขาดอำนาจ จึงต้องขอเงินและขออำนาจเพิ่ม ส่วนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ ทุกฝ่ายเสนอความเห็นเข้ามาได้ และเมื่อถึงเดือนม.ค. 2559 ซึ่งกรธ.จะเขียนเสร็จ จากนั้นจะส่งร่างแรกให้หน่วยงานต่างๆ ไปพิจารณา หากใครจะวิจารณ์ก็วิจารณ์กันในตอนนั้น
เมื่อถามถึงกกต.ขอเพิ่มวาระจาก 5 ปี เป็น 7 ปี นายวิษณุกล่าวว่า ตัวตนของคน เช่น นาย ก. หรือนาย ข. ไม่สามารถอยู่ยาวได้อย่างนั้น แต่กกต.อาจมองถึงปัญหาเก่าๆ จึงเสนอให้อยู่ในวาระ 7 ปี แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะอยู่ถึง 7 ปี อย่างน้อยจะถูกล็อกด้วยอายุ เช่น วาระของกรรมการป.ป.ช. 9 ปี แต่บางคนอยู่ 2 ปี ก็ครบแล้วเพราะอายุครบวาระ
"กรธ.ตั้งขึ้นเพื่อใช้สมองคิด ถกเถียงกัน และต้องมีสามัญสำนึก นิติสำนึก สาธารณะสำนึก หมายถึงประโยชน์ส่วนรวม เพราะบางครั้งหลักวิชาก็ใช้กับประโยชน์ส่วนรวมไม่ได้ ขณะที่ประชาชนต้องมี 1.ฉันทะ ความพอใจ ต้องพอใจผู้ร่างและตัวร่าง 2.วิริยะ ความขยัน หมั่นเพียร กรธ.ต้องขยันร่าง ขณะที่ประชาชนต้องขยันทำความเข้าใจ สื่อต้องขยันติดตาม มาทำข่าว 3.จิตตะ ความเอาใจใส่ 4.วิมังสา การไตร่ตรอง นั่นคืออิทธิบาท 4 หรือหนทางแห่งความสำเร็จนั่นเอง สาธุ" นายวิษณุ กล่าว
กรธ.ถกหมวดนโยบายคิวต่อไป
ที่รัฐสภา นายประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. เปิดเผยว่า หลังจากรับฟังคำชี้แจงจาก กกต. พบว่ามีการเสนอแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริตขายเสียง ทั้งที่เป็นอำนาจที่กกต.มีอยู่เดิมและเสนอขึ้นใหม่ หลังจากนี้กรธ.ต้องหารืออย่างรอบคอบอีกครั้งว่าจะพิจารณาอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นอำนาจการสั่งเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ก่อนประกาศรับรองผลเลือกตั้งว่าจะคงไว้หรือตัดออกตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ
นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการพิจารณาบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรานั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาเนื้อหาในหมวดสิทธิ เสรีภาพ จากนั้นจะเริ่มพิจารณาในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเป็นลำดับถัดไป ซึ่งเนื้อหาเดิมในรัฐธรรมนูญปี 2550 และร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปนั้นเขียนไว้ยาวมาก กรธ.จะต้องพิจารณาเช่นกันว่าจะเขียนอย่างไรให้สั้น กระชับ แต่ได้ใจความเนื้อหาครอบคลุมและเป็นประโยชน์ที่สุด
พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ กรธ. ในฐานะอนุกรรม การรับฟังความคิดเห็น กล่าวว่า กรธ. มีความคิดเห็นสอดคล้องกับสนช. เบื้องต้น กรธ. พร้อมส่งตัวแทนร่วมลงพื้นที่ในโครงการ สนช.พบประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการร่างรัฐธรรมนูญ สลับหมุนเวียนตัวบุคคลกันไป เนื่องจากตัวกรรมการเรามีเพียง 20 คน และบางคนอาจติดภารกิจ พร้อมกันนี้จะหาโอกาสหารือรายละเอียดกับสนช.อีกครั้ง
กรธ.รับฟังข้อเสนอผู้ตรวจฯ
บ่ายวันเดียวกัน กรธ.มีวาระการรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการร่างรัฐธรรมนูญของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยนายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการฯ เป็นตัวแทนชี้แจงข้อเสนอแนะว่า อยากเสนอให้ผู้ตรวจฯ มีอำนาจตรวจสอบภาครัฐได้ทุกระดับ หากมีข้อเสนอแนะไปหน่วยงานใด แล้วไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผลโต้แย้งอันสมควรกลับมา ให้เป็นการทำผิดวินัย เสมือนขัดมติครม. พร้อมขออำนาจส่งคำร้องให้ศาลสั่งคุ้มคราวชั่วคราว 30 วัน เพื่อเป็นเวลาหายใจชั่วคราว ให้เราได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ
นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. แถลงผลการประชุมกรธ.ว่า วันนี้ถือเป็นวันสุดท้ายในการเชิญองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี"50 เข้าชี้แจงและให้ข้อมูล จากนั้นจะรับฟังความคิดเห็นจากทูตานุทูตและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่สนใจ ในวันที่ 19 ต.ค. เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ กรธ.นำโดยตน จะเข้าร่วมประชุมและตอบข้อซักถามของนักการทูตและองค์กรระหว่างประเทศที่อยู่ในไทยเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ
ปธ.สปท.ชี้ต้องปฏิรูปตัวเองก่อน
ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวมอบนโยบายการบริหารราชการแก่ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า หากครั้งนี้การปฏิรูปไม่สำเร็จอย่าหวังเลยว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นอีก นี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่ประชาชนหวังมาก ซึ่งตนจะยึดหลักว่า จะปฏิรูปใคร ต้องปฏิรูปตัวเองก่อน ต้องเข้าใจว่า สปท. เป็นสภาวิชาการ สภาที่ปรึกษา มีหน้าที่ค้นคว้าวิจัยแล้วเสนอแนะออกไป สุดท้ายจึงขึ้นอยู่กับรัฏฐาธิปัตย์ที่มีอำนาจตัดสินใจ สำหรับการประชุมสปท.ในวันที่ 19-20 ต.ค. จะหารือแนวทางการทำงานสปท. ส่วนการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ในวันที่ 28 ต.ค.นี้ สปท.คงต้องปรึกษากันก่อนว่า จะหารือเรื่องอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า หนักใจหรือไม่ หากถูก คสช.สั่ง ซ้ายหันขวาหัน ร.อ.ทินพันธุ์ กล่าวว่า ตนเปลี่ยนอาชีพมาเป็นอาจารย์ เพราะอาจารย์ที่โรงเรียนเตรียมทหารคนหนึ่งสอนว่า ทหารคืออาชีพฆ่าคน จึงออกจากทหารมาเป็นอาจารย์เต็มตัว ตนมีจุดยืน มีหลักการ จะมาสั่งซ้ายหันขวาหัน หรือสั่งให้ 2 บวก 2 เท่ากับ 3 ไม่ได้ ตนมีคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม คนเราต้องเชื่อฟัง บิดา มารดา และต้องเชื่อฟังรัฐ ใครจะมาสั่งตนไม่ได้
เสรีหนุนเขียนรธน.ฉบับสั้น
เมื่อถามว่า สปท.จะมีส่วนร่วมกับกระบวนการปรองดองอย่างไร ร.อ.ทินพันธุ์กล่าวว่า การปรองดองเป็นเรื่องสำคัญ คงต้องสานต่อจากที่สปช.ศึกษาไว้
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสปท. กล่าวถึงแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ว่า เห็นด้วยกับการเขียนรัฐธรรมนูญให้สั้น เพราะแนวทางนี้มีข้อดีคือ จะทำให้ช่วยลดความขัดแย้ง ไม่มีการนำเนื้อหารัฐธรรม นูญที่ยาว มาตีความต่อสู้กัน ขณะที่รายละเอียดให้นำไปใส่ไว้ในกฎหมายลูกแทน ส่วนการที่ กรธ.เปิดกว้างพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทั้ง คสช. ครม. สนช. และสปท.นั้น คงยังให้ความเห็นไม่ได้ เพราะกรธ.เพิ่งเริ่มทำงาน แต่เบื้องต้นมองว่า รัฐธรรมนูญควรกระชับ วางหลักการบริหารประเทศและจัดสรรอำนาจให้สมดุล
ทหารคุมเข้ม'จิ๋ว'ให้สัมภาษณ์
ที่บ้านพัก ซอยปิ่นประภาคม พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยมีนายทหาร 4 นายเข้าสังเกตการณ์ พร้อมบันทึกภาพตลอดการให้สัมภาษณ์
โดยพล.อ.ชวลิต กล่าวถึงการร่างรัฐธรรม นูญว่า รู้สึกดีใจที่สปช. ไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ส่วนตัวเห็นว่าหากจะสร้างรัฐธรรมนูญที่ดีให้เป็นประชาธิปไตย จะต้องสร้างนโยบายที่ดีโดยเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจนของคนในประเทศ รัฐธรรมนูญเป็นแค่เอกสารหลักฐานที่กล่าวถึงที่มาของอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการเท่านั้น จึงควรเขียนรัฐธรรมนูญเฉพาะหลักการ
อย่าไปลงรายละเอียดให้จุกจิกมาก เช่น เรื่องแบ่งเขตเลือกตั้ง ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาการตีความ ทะเลาะกันตาย เกิดความวุ่นวายและขัดแย้งขึ้นอีก อย่าลืมว่าเรามีรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับแล้วและแก้กันจนเป็นปัญหาซ้ำซาก" พล.อ.ชวลิตกล่าว
แซว'ตู่'อย่าดุมาก-ความดันขึ้น
พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ อย่าไปเดินซ้ำรอยความผิดพลาดแบบร่างเดิมที่ไม่ผ่าน ตนมั่นใจในตัวนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เพราะเป็นกูรูด้านรัฐธรรมนูญ เป็นที่หวังของประชาชน แต่คนที่น่าสงสารที่สุดก็คือนายมีชัย ที่จะร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรให้เกิดความเป็นประชา ธิปไตยที่แท้จริง เป็นพื้นฐานของบ้านเมือง ตนขอส่งความปรารถนาดีและให้กำลังใจ อย่าให้เกิดการฉีกรัฐธรรมนูญขึ้นอีก และขอให้กำลังใจนายกฯ ที่ดูแลและสั่งการให้การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้สำเร็จโดยเร็ว นำพาบริหารประเทศไปได้ เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คงรู้ว่าต้องทำอย่างไร แต่อย่าดุมากนัก เดี๋ยวความดันขึ้น
เมื่อถามว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีใบสั่งจากคสช. พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า ก็ชัดเจนว่าพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช.สั่งการว่าต้องเป็นประชาธิปไตย ส่วนเรื่องอื่นๆ ตนไม่ทราบ
ผู้สื่อข่าวถามว่าควรมี คปป. อีกหรือไม่ พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือหน่วยงานใด หากแก้ปัญหาขัดแย้งได้ สร้างความสงบสุข ก็ไม่ขัดข้อง ตนมองว่าควรมีคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องการสร้างความปรองดอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น คปป.ก็ได้
เชื่อคนเกี่ยว"คดีปู"ไม่ทำขัดแย้งอีก
เมื่อถามว่า เชื่อในโรดแม็ปของ คสช.ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งหรือไม่ พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า ต้องเป็นแบบนั้น แต่อย่าเอารัฐธรรมนูญเป็นหลักอย่างเดียว ต้องทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีด้วย ส่วนการทำรัฐธรรมนูญก็ต้องทำให้ผ่านประชามติ ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีรัฐบาลเตรียมให้ คำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในโครงการรับจำนำข้าว จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกหรือไม่ พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า ตนไม่ได้ตามเรื่องนี้ แต่เชื่อว่าคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวคงทราบดีว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาขัดแย้งขึ้นอีก
เมื่อถามถึงอนาคตจะเล่นการเมืองอีกหรือไม่ พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า ไม่ไหวแล้ว อีก 16 ปีจะครบร้อยแล้ว
วิษณุ ขอเลิกพูดถึง'คดีข้าวปู'
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายณรงค์ รัฐอมฤต ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเชิงลึกของ 5 รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว ว่าขณะนี้การไต่สวนคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 80 ซึ่งได้ขอข้อมูลเรื่องบัญชีและเส้นทางการเงินไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่ากำลังเร่งรัดดำเนินการ คาดว่าจะไต่สวนบางส่วนเสร็จภายในเดือนธ.ค.นี้ ส่วนที่เหลืออีกบางส่วนจะสรุปได้ประมาณต้นปี"59 ซึ่งน่าจะจบ
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า การเรียกร้องค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ วันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ แต่ตนขอหยุดพูดเรื่องนี้สักระยะหนึ่ง เพราะการออกมาพูดรายวัน ไม่เป็นธรรมต่อเจ้าตัว ซึ่งที่พูดๆ กันมาน่าจะเพลากันไว้ก่อน และที่ผ่านมาตนพูดเพื่อความเข้าใจของประชาชน ไม่ได้ซ้ำเติมน.ส.ยิ่งลักษณ์แต่อย่างใด
'โต้ง'โอเคได้แจงจำนำข้าวซะที
วันเดียวกันนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและรมว.คลัง โพสต์ข้อความเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในโครงการรับจำนำข้าวว่า วันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เข้าให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ที่ตั้งขึ้นโดยนายกฯและรมว.คลัง หลังจากได้ร้องขอทั้งด้วยจดหมายเปิดผนึกและปิดผนึก ซึ่งใช้เวลาตอบคำถามต่างๆ ไปกว่า 3 ชั่วโมง แต่ยังไม่ถึงครึ่งของสิ่งที่ตนควรจะให้ข้อมูล โดยคณะกรรมการจะกำหนดวันให้เข้าให้ข้อมูลต่ออีก
นายกิตติรัตน์ ระบุว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงยังอยู่ในขั้นแรกของกระบวนการ พิจารณาว่ามีความรับผิดทางละเมิดใดๆ หรือไม่ และคณะกรรมการพึงปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกฯ ประกอบ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดฯ คือการให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องได้ชี้แจงและให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ ซึ่งตนพร้อมให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการอย่างเต็มที่ ไม่ว่าเป็นเมื่อใด หรือใช้เวลาอีกกี่วันก็ตาม ใครที่รีบด่วนฟันธงจนเกินงามโปรดศึกษาข้อกฎหมายให้ถ่องแท้ก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกิตติรัตน์ นำคลิปวิดีโอชี้แจงถึงที่มาที่ไปในโครงการดังกล่าวมาประกอบด้วย พร้อมระบุว่า เมื่อดูวิดีโอนี้แล้วจะเข้าใจในเวลาไม่มาก
พท.แบ่ง 3 ชุดดูแลข้อมูลคดีข้าว
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่รัฐบาลเตรียมใช้คำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีรับจำนำข้าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากคณะกรรมการของกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ลงนาม เพื่อส่งให้คณะกรรมการความรับผิดในทางละเมิด ดำเนินการต่อไปนั้น สมาชิกของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีและบุคคลที่เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว ได้นัดหารือกันเป็นการภายในเป็นระยะอย่างไม่เป็นทางการ
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า โดยแบ่งงานกันดูแลเป็นชุด ซึ่งนายกิตติรัตน์ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีตรมช.คลัง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ จะดูในเรื่องของข้อมูลเอกสารต่างๆ ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรมว.ต่างประเทศจะเข้ามาช่วยเรื่องการสื่อสารข้อมูลซึ่งเกี่ยวโยงระหว่างประเด็นทางการเมืองและเศรษฐกิจ และคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคและทีมทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะดูรายละเอียดและให้คำแนะนำในแง่มุมทางกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางในการต่อสู้คดี ซึ่งแต่และชุดจะนัดหารือกันเป็นการภายในเป็นระยะโดยไม่เป็นทางการ เพื่อเตรียมการต่อสู้คดีในทางกฎหมาย การ เตรียมข้อมูลและการสื่อสารทำความเข้าใจในประเด็นที่ฝ่ายบริหารออกมาชี้แจง
พท.เตือน"ไก่อู"เป็นโฆษกรบ.
วันเดียวกัน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงตอบโต้ทีมทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า พล.ต.สรรเสริญต้องระมัดระวังการทำหน้าที่ ซึ่งโฆษกรัฐบาลมีหน้าที่พูดความจริง สื่อสารให้สังคมทราบข้อเท็จจริง ไม่ใช่ทำหน้าที่ปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อด้านข้อมูลข่าวสาร ด้วยการเย้ยหยัน ก้าวร้าว สร้างความแตกแยก ไม่ว่าพล.ต.สรรเสริญ จะชอบหรือไม่ชอบน.ส. ยิ่งลักษณ์ แต่การแถลงด้วยท่วงทำนองดูหมิ่นดูแคลนบุคคล ซึ่งเป็นอดีตผู้บังคับบัญชานั้นไม่เหมาะสม กระทบภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของประเทศ อาจส่งผลลบต่อประเทศที่จะสูญเสียความน่าเชื่อถือในสังคมโลกไปด้วย
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า วันนี้บ้านเมืองพ้นยุค ศอฉ.มานานแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีใครมาปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ตลอดเวลา ทั้งการรีบด่วนสรุประเบิดราชประสงค์ ตั้งแต่ควันระเบิดยังไม่จางว่ามาจากผู้เสียประโยชน์ทางการเมือง หรือการพูดชี้นำล่วงหน้าว่าโครงการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ทำเกษตรกรเสียนิสัย และทำให้กลไกตลาดบิดเบือน เป็นการจุดชนวนขัดแย้งกับชาวสวนยางขึ้นมา จึงขอเสนอแนะกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) กองทัพภาคที่ 1 อาจต้องเรียกพล.ต.สรรเสริญ ไปปรับทัศนคติโดยด่วน เพราะหากแถลงโดยมีทัศนคติที่เป็นลบจะเกิดผลเสียต่อเนื่องตามมามาก
"ตู่"จ้อทีวียันไม่ได้แกล้งคดีข้าว
ช่วงค่ำวันที่ 16 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการคืนความสุข โดยระบุว่า สิ่งสำคัญที่รัฐบาลและคสช.กำลังทำขณะนี้คือ 1.การวางรากฐานประเทศให้เข้มแข็ง 2.การขับเคลื่อนการปฏิรูประยะที่ 1 จนถึง ก.ค. 2560 และจัดทำแผนการปฏิรูปให้ชัดเจน ส่งผลให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 3.จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 4.สนับสนุนการทำงานของ กรธ.และสนช. จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายลูกให้ได้รับการยอมรับจากสากล 5.ปรับปรุงกระบวน การยุติธรรม ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง 6.สร้างความเข้าใจกับสังคมและประชาชนในประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า 7.คดีที่มีมูลค่าความเสียหายสูง ตกค้างมานาน รัฐบาลไม่ต้องการทิ้งภาระไว้ให้กับประชาชนและรัฐบาลต่อไป การประชุมครม.ครั้งที่ผ่านมา ได้สรุปคดีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งคดีที่รัฐเป็นโจทก์ 6 คดีและเป็นจำเลย 6 คดี เพื่อให้ครม.รับทราบและหาแนวทางแก้ไขให้มีความคืบหน้ามากที่สุด และไม่ตกเป็นภาระกับรัฐบาลต่อๆ ไป ซึ่งมีบางคดีเกือบ 20 ปีแล้ว โดยเฉพาะการทุจริต ให้ทุกฝ่ายนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมและต่อสู้ตามกระบวนการของศาล สิ่งสำคัญผู้ถูกกล่าวหาจะต้องปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นประชาชนทั่วไป ที่ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม โดยผู้ที่ถูกกล่าวหาคดีความร้ายแรงต้องเข้าใจไม่บิดเบือนกล่าวอ้างให้กระบวนการยุติธรรมเสียหาย ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีจำนำข้าว ต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน โดยคสช.และรัฐบาลไม่ได้ทำเพื่อกลั่นแกล้งหรือไม่ให้ความเป็นธรรม
ให้ใช้กระบวนการ"ยธ."พิสูจน์
"ขณะนี้ มีการแสดงความเห็นในคดีรับจำนำข้าว อาจทำให้สังคมสับสน ทั้งที่รัฐบาล ฝ่ายกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม องค์กรอิสระได้ชี้แจงการดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอน ซึ่งต้องแยกแยะทั้งกรณีละเว้นปล่อยปละละเลย กับกรณีทุจริต ซึ่งเชื่อมโยงกันหรือไม่ ต้องพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป ขอร้องสื่อไม่อยากให้ขยายความขัดแย้ง ขอให้ศึกษาดูข้อกฎหมาย ไม่ใช่ปล่อยตามกระแส และขอให้ทุกคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีความ ไม่ว่าประชาชน ภาคเอกชน ประชาสังคม สื่อที่มีจรรยาบรรณ ช่วยกันสร้างเสถียรภาพของประเทศ ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปด้วยวิธีการปกติ ตามกฎหมายปกติ ไม่ขยายความขัดแย้ง โดยเฉพาะต้องทำให้ต่างประเทศเชื่อมั่นต่อประเทศไทย" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ หลายภาคส่วนมีเจตนารมณ์ดี แต่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่มีเจตนาแสดงความคิดเห็นวิจารณ์ในเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เนื่องจาก ขณะนี้ประเทศยังอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องระมัดระวังและยังอ่อนไหวอยู่มาก เราต้องเริ่มสร้างปรองดองของคนในชาติให้เกิดขึ้นจากใจของทุกคนก่อน ไม่ต้องใช้การบังคับหรือทำให้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และชื่อเสียงของประเทศเสียหายอีกต่อไป
ขอทหารออกมาเป็นครั้งสุดท้าย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเดินหน้าประเทศไทยตามโรดแม็ปของรัฐบาลในระยะที่ 2 นี้ ถือว่าสำคัญมากต่อการวางกฎกติกาทางสังคม คือการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นสากล วางรากฐานที่มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนให้กับสังคมไทยผ่านการปฏิรูป 11 ด้าน ตามที่รัฐบาลและคสช.ประกาศจุดยืนในการเปลี่ยนผ่านประเทศ เพื่อเข้าสู่ระยะที่ 3 ที่จะมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ มีกลไกแก้ปัญหาทางการเมืองที่พึ่งพาได้ และขอให้กลไกการแก้ปัญหาการเมืองด้วยทหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของประวัติศาสตร์ชาติไทย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญในการทำตามโรดแม็ป ระยะที่ 2 คือการสื่อสารให้ตรงกัน ต้องไม่ถูกบิดเบือนใน 2 ระดับคือระดับนโยบาย ซึ่งปัจจุบันมีแม่น้ำ 5 สายได้แก่ คสช. ครม. สนช. สปท.และกรธ. จะต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันทั้งเรื่องเป้าหมาย บทบาทและการทำงานให้สอดคล้องกัน ทั้งนี้ สปท.จะใช้ 11 ประเด็นปฏิรูปของ คสช.เป็นตัวตั้ง แล้วนำประเด็นปฏิรูปและประเด็นพัฒนาของ สปช.มาหลอมรวมไว้ ส่วน กรธ.ต้องมีแนวทางยกร่างรัฐธรรมนูญคือ 1.ร่างรัฐธรรม นูญที่เป็นสากลและเหมาะสมกับบริบทประเทศไทย 2.สร้างประชาธิปไตย ที่ส่งเสริมบทบาทหน้าที่พลเมือง ไม่ใช่เสรีภาพไร้ขีดจำกัด 3.แก้ไขปัญหาการเมืองในอดีต ป้องกันเผด็จการรัฐสภาและการทุจริตประพฤติมิชอบ มีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลกันและส่งเสริมธรรมาธิบาลและ 4.เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
'ไก่อู'เผย'ตู่'งดจ้อลดขัดแย้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาลตลอดทั้งวันที่ 16 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์เก็บตัวปฏิบัติภารกิจที่ห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า โดยในช่วงสายนายวิษณุได้เข้าพบเป็นการส่วนตัว ต่อมาเวลา 15.35 น. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯด้านเศรษฐกิจก็ได้เข้าพบเป็นการส่วนตัว โดยใช้เวลา 50 นาที ก่อนเดินทางกลับโดยไม่เปิดเผยรายละเอียด
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าตลอดสัปดาห์นี้พล.อ.ประยุทธ์หายไปไหน ทำไมไม่ให้สัมภาษณ์เช่นที่เคยปฏิบัติมา ขอเรียนว่า นายกฯไม่ต้องการขยายให้เกิดประเด็นขัดแย้งเพิ่มขึ้นในสังคม จึงระวังการให้สัมภาษณ์เพื่อชี้แจงในเรื่องต่างๆ และป้องกันไม่ให้สื่อบางส่วนนำไปขยายความเพื่อเปิดประเด็นขัดแย้งใหม่อีก ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมต้องนำมาคิดเช่นกันว่าจะมีส่วนร่วมให้เกิดการปฏิรูปสื่อส่วนนี้ได้อย่างไร ดังนั้นเรื่องการให้ข้อมูลแก่ประชาชน จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลหรือส่วนโฆษกจะชี้แจง และในโอกาสที่เหมาะสมนายกฯยังยินดีให้สัมภาษณ์
"นายกฯอยากให้ทุกฝ่ายคิดทบทวนว่าจะช่วยให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพได้อย่างไร ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาสร้างความเกลียดชังและทำลายกัน โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
"บิ๊กหมู"จัดทัพ-เซ็นย้าย 171 ผู้พัน
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ลงนามในคำสั่งกองทัพบกที่ 603/2558 เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา โยกย้ายนายทหารระดับ ผู้บังคับกองพัน 171 ตำแหน่ง โดยการปรับย้ายครั้งนี้เป็นไปตามวาระปกติ มีตำแหน่งสำคัญประกอบด้วย พ.ท.มลชัย ยิ้มอยู่ หน.กพ.ทบ. และเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการของ พล.อ.ธีรชัย เป็น ผบ.ร.31 พัน.3รอ., พ.อ.ถิรเดช ลิ้มคุณากุล ฝสธ.ประจำผู้บังคับบัญชานายทหารคนสนิทของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา มาเป็น ผบ.พัน.ร.มทบ.11 ฯลฯ
พ.อ.วิบูลย์ ศรีเจริญสุขยิ่ง ผบ.พัน.ร. มทบ.11 เป็น ผบ.ศฝ.นศท.มทบ.12, พ.ท.พงศ์พัฒน์ ห้องสินหลาก ผบ.ร.19 พัน.1 เป็นเสธ.ร.19., พ.ท.นพดล ภาคาผล ผช.ฝกพ.ทภ.1 เป็นผบ.พัน.ร.19 พัน.1, พ.ท.รณวรรณ พจน์สถิต ผบ.ร.9 พัน.2 เป็นเสธ.ร.9, พ.ท.สรายุทธ ศรลัมพ์ ผช.ฝยก.ทภ.1 เป็นผบ.ร.9 พัน.2, พ.ท.มหิธร บุญครอง ผบ.ม.พัน.30 พล.ร.2 รอ. เป็นหน.กยก.มทบ.12, พ.ท.เริงณรงค์ ชาวล้อม ผช.ฝยก.ทภ.1 เป็นผบ.ม.พัน.30 พล.ร.2 รอ. ฯลฯ
รายงายข่าวแจ้งด้วยว่า ในคำสั่งการปรับย้ายครั้งนี้ ผบ.พันที่อยู่ในตำแหน่งหลัก ซึ่งอดีตผบ.ทบ.เคยแต่งตั้งไว้ ได้รับการขยับตำแหน่งให้สูงขึ้นแต่ต้องพ้นจากตำแหน่งหลัก แล้วขยับนายทหารระดับรองลงไปขึ้นมารับตำแหน่งแทน
รบ.ยันเลิก"ซิงเกิลเกตเวย์"แล้ว
วันที่ 16 ต.ค. นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวยืนยันว่า จะไม่ดำเนินการโครงการจัดตั้ง ซิงเกิล เกตเวย์ แต่จะสร้างแนวทางความปลอดภัยการใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตและโทรคมนาคมโดยภาพรวมที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ
นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ที่ปรึกษารมว.ไอซีที กล่าวว่า เป็นไปตามที่รมว.ไอซีที ยืนยันจะไม่ทำโครงการจัดตั้งซิงเกิล เกตเวย์ อีกแล้ว และจะไม่มีคำว่าซิงเกิล เกตเวย์อีกต่อไป โดยจะสร้างแนวทางความปลอดภัยการใช้โครงการข่ายอินเตอร์เน็ต และโทรคมนาคมในภาพรวม ด้วยการทำให้เกตเวย์ของอินเตอร์เน็ตและโทรคมนาคมมีเพียงพอและมั่นคง ใช้งานได้อย่างประสิทธิภาพ และมีราคาค่าบริการที่ถูกลงสำหรับประชาชน และภาคธุรกิจ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง หรือฮับของไอซีทีในภูมิภาคอาเซียน ที่ต้องมีเกตเวย์เข้าออกได้หลายทาง ทั้งนี้ หัวใจการทำงานของกระทรวงไอซีทีขณะนี้คือ เศรษฐกิจดิจิตอล เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาสนับสนุนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิตอล คือการเชื่อมโยงคนผ่านทางเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่นวัตกรรมและโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคม
ปลัดมท.เซ็นตั้ง 7 รองอธิบดี
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. รายงานข่าวแจ้งว่า นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในตำแหน่งประเภทบริหารต้น (ระดับ 9) โดยมีบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากรองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นรองอธิบดีกรมต่างๆ ดังนี้ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รอง ผวจ.อุดรธานี เป็น รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รอง ผวจ.นครราชสีมา เป็นรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายนรภัทร ปลอดทอง รอง ผวจ.นครสวรรค์ เป็นรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
นายดุษฎี สุวัฒวิตยากร ผอ.สำนักบริหารคลังท้องถิ่น เป็น รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายกอบชัย บุญอรณะ ผอ.สำนักนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็น รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รอง ผวจ.ชลบุรี เป็นรองอธิบดีกรมการปกครอง และนายรณภพ เหลืองไพโรจน์ รอง ผวจ.ราชบุรี เป็นรองอธิบดีกรมการปกครอง ทั้งนี้ ให้มีผลวันที่ 19 ต.ค.นี้
"เตือนใจ-ชาติชาย"ฉลุยกสม.
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่รัฐสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่ พล.อ.อู้ด เบื้องบน ประธานคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ มี 2 คน คือ นางเตือนใจ ดีเทศน์ และนายชาติชาย สุทธิกลม โดยที่ประชุมมีมติให้ลงคะแนนลับ ด้วยวิธีกาบัตรลงคะแนน และมีมติเห็นชอบนางเตือนใจ ด้วยคะแนน 147 ไม่เห็นชอบ 6 ไม่ออกเสียง 4 ส่วนนายชาติชายเห็นชอบด้วยคะแนน 141 ไม่เห็นชอบ 9 ไม่ออกเสียง 7 จึงถือว่าบุคคลทั้ง 2 ได้รับเลือกให้เป็นกสม.
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. ในฐานะโฆษก กมธ.ตรวจสอบประวัติความประพฤติฯ กล่าวว่า กสม.ที่ได้รับความเห็นชอบครั้งนี้ 2 คน จะนำไปรวมกับ 5 คน ที่สนช.ให้ความเห็นชอบไปแล้ว เพื่อส่งต่อให้ครม.รับทราบต่อไป นอกจากนี้ยังได้ส่งข้อสังเกตเกี่ยวกับการสรรหาบุคคลเข้ามาทำหน้าที่เป็น กสม. โดยเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชน พ.ศ.2542 โดยเฉพาะวิธีการสรรหาบุคคลเข้ามาทำหน้าที่นี้ เพื่อให้ได้คนที่เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดแจ้ง ในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน โดยขณะนี้ สนช.ได้เตรียมพร้อมทีมงานเพื่อยกร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หน.คสช.ใช้ม.44 เด้งเลขาฯสภา
วันที่ 16 ต.ค. ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2558 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติและการบริหารราชการในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปประเทศ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
หัวหน้าคสช.โดยความเห็นชอบของคสช.จึงมีคำสั่ง ดังนี้ กำหนดตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสำนักนายกรัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง โดยให้เป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และให้ นายจเร พันธุ์เปรื่อง พ้นจากเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไปเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกฯ เป็นพิเศษเฉพาะราย
ให้นายนัฑ ผาสุข พ้นจากที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (นิติกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และให้เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งวันที่ คำสั่งนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนัก นายกฯ แล้ว ให้ตำแหน่งดังกล่าวเป็นอันยกเลิก
ด้านนายจเร พันธุ์เปรื่อง อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ว่า ตนเป็นข้าราชการไม่มีปัญหา เมื่อมีคำสั่งออกมาอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตาม
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับคำสั่งโยกย้ายนายจเร ซึ่งเหลืออายุราชการ 2 ปี ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มข้าราชการของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเหตุการณ์เด้งฟ้าผ่าเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นครั้งที่ 2 ต่อจากนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย อดีตเลขาธิการสภา ที่ถูกคำสั่งตามมาตรา 44 ย้ายไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนนายนัฑ ผาสุข ที่ย้ายจากสำนักงานวุฒิสภา มาเป็น เลขาธิการธิการสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นการย้ายข้ามฝั่งครั้งแรก เพราะที่ผ่านมาการเลื่อนตำแหน่งผู้บริหารจะใช้ลูกหม้อในองค์กรนั้นๆ ซึ่งนายนัฑ ก่อนหน้านี้เป็นแคนดิเดตเลขาธิการวุฒิสภา แต่พลาดจากตำแหน่งไป
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ผู้บริหารระดับสูงส่งสัญญาณว่า อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากไม่ถูกใจบทบาทการทำงานของนายจเร ที่ไม่ตอบสนองฝ่ายบริหารในหลายเรื่อง อาทิ ไม่มีความคืบหน้าในการตรวจสอบปัญหาการทุจริตภายในสภาผู้แทนราษฎร ความล่าช้าในการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ฯลฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้นายนัฑมาเป็นเลขาธิการสภา ผู้แทนราษฎรนั้น เกิดปฏิกิริยาจากข้าราชการฝั่งสำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎรบางส่วน โดยเริ่มส่งข้อความผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ไปในหมู่ข้าราชการด้วยกัน นัดแต่งกายชุดดำมาทำงานในวันจันทร์ที่ 19 ต.ค.นี้ เนื่องจากไม่พอใจที่แต่งตั้งคนจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา แทนที่จะให้ลูกหม้อของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับนายนัฑยังมีอายุราชการยาวถึง 7 ปี ซึ่งจะเกษียณอายุในปี 2564 ทำให้ปิดทางเติบโตของคนของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร