WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

5ขอชศาล

กกต.ขอกรธ.อยู่ยาว 7 ปี แจกใบส้ม ชง 5 ข้อชูศาลเลือกตั้ง ทูตมะกันพบดอนเร่งปชต. แจงบิ๊กตู่ถกโรดแมป 5 สาย'วิษณุ'ชี้คดีข้าวผิดที่มีโกง ทหารเรียกตัว'ศรีสุวรรณ'

กกต.แจง กรธ.ชง 5 ประเด็นขออำนาจแจกแดง-เหลือง-ส้ม มีวาระทำงาน 7 ปี

  • มติชนออนไลน์ :
  • ทูตมะกัน - นายกลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เพื่อแนะนำตัวในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งใหม่และทำความรู้จัก ที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม

     


    ฟัง กกต. - นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นประธานประชุม กรธ. โดยเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แสดงความเห็น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 

    @ 'บิ๊กป้อม'มั่นใจร่างรธน.ผ่านแน่

           เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง (บน.6) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่วางกรอบการเขียนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องครอบคลุม 10 หัวข้อ เพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญมีความเป็นสากลและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เน้นย้ำแล้วว่าจะต้องร่างรัฐธรรมนูญออกมาให้เป็นสากล ส่วนการเตรียมแผนรับมือหากการทำประชามติไม่ผ่านนั้น ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเตรียมการอย่างไรบ้าง เชื่อมั่นว่าการทำประชามติจะต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชนอย่างแน่นอน เนื่องจากทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อนำมาประกอบกับการร่างรัฐธรรมนูญต่อไป 

    @ 'บิ๊กตู่'เก็บตัว-งดสัมภาษณ์ 

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวัน พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ช่วงเช้าตามปกติอยู่บนตึกไทยคู่ฟ้า เช่นเดียวกับวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันในวันที่ 16 ตุลาคม จากการแจ้งวาระงานประจำวันของสำนักโฆษก นายกฯไม่มีภารกิจแต่อย่างใด ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ได้มีการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา และโบกมือพร้อมกับบอกว่าซาโยนาระให้ผู้สื่อข่าวเป็นต้นมา 

          นายกฯไม่เปิดให้สื่อมวลชนได้สัมภาษณ์ โดยนายกฯได้มอบหมายให้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่สื่อสารให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯได้ทำจดหมายเปิดผนึกร้องขอความเป็นธรรมคดีรับจำนำข้าว พร้อมมอบให้ทนายนำเอกสารมายื่นถึงนายกฯ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องการตอบโต้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และไม่ต้องการขยายความให้เป็นประเด็นทางการเมือง

    @ 'วิษณุ'เห็นด้วยปฏิรูปสื่อ 

          นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลกรณีที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ออกมาระบุว่า กรธ.กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรีต้องทำงานควบคู่กันไปเพราะเป็นการวางโครงสร้างไม่ใช่การชี้นำว่า นับว่าถูกต้อง เมื่อถามว่า ส่วนกรณีการปฏิรูปสื่อมวลชนมีการกำหนดแนวทางหรือยัง นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบในเรื่องดังกล่าว แต่เป็นเรื่องที่ดี และอยากเห็น สปท.จัดขึ้นมาก่อน เพราะเรื่องนี้ถ้าเป็นองค์กรภาครัฐจัดขึ้นมาจะถูกมองว่าไม่ดีทั้งนั้น เพราะจะถูกหาว่าไปตั้งธง ชี้นำ ให้ทางนั้นคิดและเสนอมาให้ฟังจากสื่อมวลชน ประชาชนในฐานะผู้บริโภค แล้วค่อยเสนอมาที่รัฐบาลถ้าหากจะให้รัฐบาลทำอะไร แต่ถ้าอยากดำเนินการเองก็ไม่เป็นไร จะร่างกฎหมายขึ้นมาเองก็ยังได้ เมื่อถามว่าองค์กรสื่อเองก็ควรมีข้อเสนอด้วย นายวิษณุกล่าวว่า "ใช่ คราวที่แล้วยังมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายมานิจ สุขสมจิตร ก็ว่าจะทำตรงนี้ เมื่อไม่อยู่ตำแหน่งแล้วก็ยังเสนอข้อคิดเห็นได้" 

    @ นายกฯเล็งประชุมแม่น้ำ 5 สาย

         นายวิษณุกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ตั้งใจจะไปกล่าวในที่ประชุมร่วมแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งตนได้ประสานกับทางประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ส่วนวันที่เท่าไหร่นั้นก็กำลังรอนายกรัฐมนตรีกำหนด ด้านสถานที่หากคนมาเป็นจำนวนมากคงทำการประชุมที่รัฐสภา เนื่องจากจะมาทั้ง สนช.และ สปท. กรธ. ทุกคนเป็นจำนวนกว่า 400 คน เพราะทุกครั้งที่ผ่านมาการประชุมที่สโมสรทหารบก (ทบ.) วิภาวดี จะได้เพียงแค่ประธานไม่กี่คน บางทีจะไปเล่าต่อก็เล่าไม่ถูก และบางทีอยากจะถามอะไรก็ไม่มีโอกาสถาม ที่จำกัดคับแคบ จึงใช้ที่รัฐสภา มีการถ่ายทอดการประชุมไปทั่วประเทศด้วยยิ่งดี ส่วนใครจะมาหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่เชิญหมดทุกคน เมื่อถามว่า ใครจะเป็นผู้นั่งบัลลังก์ประธานที่ประชุม นายวิษณุกล่าวว่า "คิดเล่นๆ นะ ว่าคงต้องเป็นเจ้าของสถานที่ ทางที่ดีคือขึ้นมานั่งคู่กัน แต่เดี๋ยวจะเบียดกันตกบัลลังก์ ประธาน สนช.กับประธาน สปท.น่าจะเหมาะที่สุด ส่วนหัวหน้า คสช.จะเป็นคนพูดในฐานะหัวหน้า คสช. อาจจะตรงที่นั่งเลขาฯ ส่วนประธานก็มีหน้าที่ชี้ว่าใครพูด" 

    @ เหน็บบางคนไม่ดูคืนความสุข

        เมื่อถามว่า จุดประสงค์ของการประชุมครั้งนี้คืออะไร นายวิษณุกล่าวว่า จุดประสงค์ใหญ่คือนายกรัฐมนตรีต้องการส่งสารอะไรบางอย่างในฐานะหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นต้นตอของแม่น้ำ 5 สาย เพื่อบอกความประสงค์ว่าที่เข้ามาขับเคลื่อนนั้น เป็นอะไร อย่างไร จะให้เดาเนื้อหาก่อนคงไม่เหมาะ สมาชิกสภาบางคนก็ไม่เคยดูโทรทัศน์ รายการวันศุกร์ 

    สารอะไรก็ไม่เคยอ่าน ก็มานั่งฟังหน่อย เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีจะมีการสั่งการให้ทำอะไรหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทุกวันนี้ก็ไม่เคยสั่งอะไร นายกรัฐมนตรีจะไปสั่ง สนช.ได้อย่างไร คงเป็นการชี้แจงความประสงค์ว่าอย่าลืมว่าตามรัฐธรรมนูญนายกฯเป็นผู้ตั้ง สปท. กรธ.ขึ้นมา เพราะฉะนั้นในภาพรวมต่อไปนี้จะเดินกันไปอย่างไร ในช่วง 6-4-6-4 แต่ในส่วนเนื้อหานั้นตนไม่รู้ ส่วนจะมีการเปิดโอกาสให้ซักถามนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น มีความเป็นไปได้ แต่ถ้าจะลุกขึ้นถามกันอุตลุดวุ่นวายเหมือนประชุมสภา ก็คงใช้เวลากันหลายวัน

    @ 'สุรชัย'คาดประชุม 28 ต.ค.

        นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 กล่าวว่า เท่าที่ทราบจะมีการประชุมในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ส่วนวาระยังไม่ทราบว่าจะหารือในประเด็นใดบ้าง น่าจะมีการหารือถึงการประสานงานร่วมกัน โดยเฉพาะระหว่าง สนช. สปท. และ กรธ. ในประเด็นเรื่องการรวบรวมความเห็นจากประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ โดย สนช.จะมีส่วนช่วยในการเก็บรวบรวมความเห็นได้อย่างไร รวมถึงระยะเวลาในการส่งมอบหรืออาจจะมีการจัดเวทีร่วมกันในต่างจังหวัดกับ กรธ. อย่างไรได้บ้าง ขณะที่ สปท.ก็คงต้องสานงานต่อจาก สปช.ที่ได้ศึกษาการปฏิรูปไว้ 37 วาระเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ถ้าเรื่องใดจำเป็นต้องออกกฎหมาย ทาง สนช.ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติจะสนับสนุนงานของ สปท.อย่างเต็มที่ 

    @ กกต.แจงกรธ.ชง 5 ประเด็น

        ที่รัฐสภา ในการประชุม กรธ. โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีวาระรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยวันนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมีนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. และคณะกรรมการทั้ง 4 คน ตลอดจนเลขาธิการ กกต.เข้าร่วมชี้แจง 

         นายศุภชัยกล่าวว่า ทาง กกต.ขอเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน 5 ประเด็น คือ 1.การทำให้การเลือกตั้งสัมฤทธิผล คือให้ กกต.มีอำนาจในการกำหนดกิจกรรมและเลื่อนวันเลือกตั้งได้ กรณีที่เกิดวิกฤตทางการเมือง เช่น การชุมนุมคัดค้านปิดหน่วยเลือกตั้ง ให้ กกต.มีอำนาจในการควบคุม สั่งการ บังคับบัญชาข้าราชการที่มีพฤติกรรมไม่เป็นกลาง สนับสนุนช่วยเหลือผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ให้ กกต.เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง 2.กระบวนการเลือกตั้ง คือ นับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง เว้นแต่มีความจำเป็นเฉพาะท้องที่หรือมีเหตุอันสมควรอื่น การใช้เครื่องลงคะแนนเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิลงคะแนนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และประหยัดงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง การจัดทำป้ายโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งให้สำนักงาน กกต.เป็นผู้จัดทำและให้ผู้สมัครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย การพัฒนาให้พรรคการเมืองเป็นสถาบัน 

    @ ขออำนาจแจกใบแดง-เหลือง-ส้ม

         นายศุภชัยกล่าวต่อว่า 3.การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม คือ ให้ กกต.มีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ก่อนประกาศผล เพื่อให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองเกิดความเกรงกลัวในการทำผิด ซึ่งหาก กกต.ไม่มีอำนาจนี้ผู้สมัครและพรรคการเมืองจะไม่เกรงกลัวและกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเนื่องจากเห็นว่าหากคดีไปศาลก็จะมีโอกาสเบี่ยงเบนคดี นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรให้ กกต.มีอำนาจสั่งเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) และมีอำนาจให้ใบส้มก่อนประกาศผล ซึ่งเป็นอำนาจการสั่งการเลือกตั้งใหม่ในกรณีที่เห็นว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม แต่ไม่มีพยานหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงผู้สมัครและพรรคการเมือง อีกทั้งในการปฏิบัติหน้าที่ให้ กกต.บุคคล คณะบุคคลที่ กกต.แต่งตั้ง พนักงานสืบสวนสอบสวนของ กกต.มีอำนาจออกหมายเรียกจับกุม ตรวจค้น ยึด อายัดเอกสาร ทรัพย์สินหรือพยานหลักฐานใดเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนหรือวินิจฉัยชี้ขาด และให้พนักงานสืบสวนสอบสวนของ กกต.เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่และมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน ให้มีศาลเลือกตั้งสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อพิจารณาคดีเลือกตั้งโดยเฉพาะ เพื่อความรวดเร็วเป็นมาตรฐานเดียวกัน 

    @ ส่งฟ้องศาล-ต่อวาระ7ปี 

    ประธาน กกต.กล่าวอีกว่า ให้ศาลมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่ง (ชดใช้ค่าเสียหาย) และคดีอาญาไปพร้อมกันในคราวเดียวกันกับคดีเลือกตั้ง ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาล และผู้สมัครที่ต้องชำระค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้ง แต่มิได้ชำระให้ครบถ้วนให้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้ง 4.การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน คือให้ กกต.มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปกครอง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และ 5.ที่มาของ กกต.คือให้องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กกต.เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 และให้ กกต.มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2550 และมีวาระเป็นการเฉพาะตัว เพื่อให้การทำงานของ กกต.มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ 

    @ กรธ.เริ่มถกหมวดสิทธิ-เสรีภาพ 

    นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. แถลงว่า ที่ประชุม นายมีชัยเน้นย้ำถึงการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ต้องสั้น กระชับ และเข้าใจง่าย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการตีความในภายหลัง และหลังจากที่ กกต.เข้าชี้แจงเสร็จแล้ว ที่ประชุมได้พิจารณาในหมวดที่ 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตามที่คณะอนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญได้นำเสนอ โดยในมาตรา 4/1 ระบุเรื่องสิทธิของประชาชนคนไทย ถือว่ามีเสรีภาพที่จะทำได้ แต่ต้องไม่กระทบกับสังคม ความมั่นคง ความสงบของบ้านเมือง และผู้อื่นก็สามารถทำได้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน และต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งหากดำเนินการสิ่งใดต้องไม่เกิดกว่าเหตุ โดยต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนการจำกัดสิทธิของประชาชน จะต้องมีเหตุผลรองรับอย่างชัดเจน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอ และยังไม่มีข้อสรุปอย่างชัดเจน

    @ ยังไม่หยิบยก-ถกข้อเสนอพท. 

    เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์โดยเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ประเด็นการทำประชามติ โดยเสนอให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือ 2550 มาใช้หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน นายนรชิตกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีการหยิบยกมาพูดคุยกันในที่ประชุม แต่หากยึดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่มีการกำหนดไว้ชัดเจนในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามตินั้น ให้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมาร่างขึ้นใหม่อีกครั้งภายใน 180 วัน ดังนั้น ทางที่ง่ายที่สุดในความเห็นตนนั้น ข้อเสนอดังกล่าวอาจจะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เพื่อให้เกิดความชัดเจน ทั้งนี้ ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยก็เป็นข้อเสนอหนึ่งที่ กรธ.รับฟังเหมือนข้อเสนอขององค์กรและของพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย

    รายงานข่าวจากที่ประชุม กรธ.แจ้งว่า จะเชิญคณะบุคคลและองค์กรภาคเอกชนเข้ามาให้ความเห็นต่อ กรธ.ในการประชุมสัปดาห์หน้าและสัปดาห์ต่อๆ ไป อาทิ คณะรัฐมนตรี, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), หอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยประเด็นสำคัญที่จะขอความเห็นคือประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน และข้อเสนอแนะที่ต้องการให้ปรับปรุงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน

    @ ปชป.หนุนสอบภาษีย้อนหลัง5ปี 

    นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ กรธ.ไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงจะเสนอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใช้วิธีการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง 5 ปี ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวทางการตรวจสอบภาษีย้อนหลังนักการเมือง 5 ปี เพราะเชื่อว่าหาก ป.ป.ช.มีอำนาจและสามารถกระทำได้จริงจะป้องกันการทุจริตได้เป็นอย่างดี นักการเมืองที่คิดจะทำการทุจริต คอร์รัปชั่น หรือคดโกงจะทำได้ยาก ทำให้เกิดความเกรงกลัว เนื่องจากการสอบภาษีย้อนหลังจะยึดโยงที่มาที่ไปของทรัพย์สินและเงินที่ได้มาเป็นอย่างดี ส่วนการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินทางการเมืองนั้น ถ้าไม่จำเป็นก็ควรคงวิธีนี้ไว้ ไม่เห็นว่าจะเสียหายอะไร ไม่จำเป็นต้องยกเลิก 

    นายสามารถ แก้วมีชัย คณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตรวจสอบการเสียภาษีย้อนหลัง 5 ปี ถามว่าวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ถ้าคนที่ไม่มีรายได้พึงประเมิน เช่น คนที่ทำสวน ทำไร่ ทำนา ไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร แล้วคิดจะมาเป็นนักการเมือง จะเอาหลักฐานที่ไหนมายื่น ตนมองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะมาดูหลักฐานการเสียภาษี และจะเป็นปัญหาอุปสรรคมากกว่าเป็นการตรวจสอบ เพราะเหมือนกับเป็นการมาดูว่าที่ผ่านมา 5 ปี คนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเขาทำมาหากินอะไร มีรายได้พึงประเมินมากน้อยแค่ไหน คือดูแล้วจะได้อะไร 

    @ ปธ.-รองสปท.พบสื่อ16ต.ค.

    นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 ตุลาคม เวลา 09.00 น. ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ตน และ น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธานคนที่ 2 จะประชุมร่วมกับส่วนราชการของรัฐสภา เพื่อมอบนโยบายการทำงาน และในเวลา 10.00 น. ทั้งประธานและรองประธานจะพบสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการทำงานของ สปท.และทำความรู้จักกัน ส่วนรายละเอียดการประชุม สปท.รวมทั้งการดำเนินงานของ สปท.หลังจากนี้ ร.อ.ทินพันธุ์จะเป็นผู้แถลงกับสื่อมวลชนด้วยตนเอง

    @ สหรัฐย้ำจุดยืนเร่งคืนปชต. 

    ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนใหม่ เดินทางมาที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแนะนำตัวและเยี่ยมคารวะนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง โดยภายหลังการพูดคุยนานกว่า 1 ชั่วโมง นายกลินให้สัมภาษณ์ว่า ได้หารือในหลายประเด็น โดยสหรัฐยังคงจุดยืนการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ที่ยาวนานกว่า 9 ชั่วคน ซึ่งโดยธรรมชาติก็มีการเปลี่ยนแปลงประเด็นและรูปแบบไปตามเวลา แต่ยืนยันว่ายังให้ความสำคัญกับไทยเช่นเดิม ในฐานะพันธมิตรในภูมิภาคที่มีความร่วมมือรอบด้าน ทั้งทางด้านความมั่นคง สังคม การร่วมกันบังคับใช้กฎหมาย สิ่งแวดล้อม และความร่วมมือระดับประชาชน ส่วนการคืนสู่ประชาธิปไตยของไทยนั้น สหรัฐยังคงจุดยืนเดิมที่หวังว่าไทยจะทำตามแผนโรดแมปและจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่สิ่งที่ตนจะทำคือเข้าไปพูดคุยกับประชาชนไทยให้ได้มากที่สุดอย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้รับทราบถึงความคิดของคนไทยที่หลากหลาย ส่วนการเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนั้น วันก่อนได้ทักทายกันสั้นๆ ในงานเลี้ยงวันตำรวจ และพร้อมจะเข้าพบอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้

    @ รมช.กต.สหรัฐมาไทยธันวาฯนี้

    นายดอนกล่าวว่า สหรัฐเป็นมิตรประเทศสำคัญของไทย ซึ่งในการหารือได้พูดคุยในทุกด้าน โดยบรรยากาศถือว่าดีมาก ส่วนประเด็นการดำเนินงานตามแผนโรดแมป ได้อธิบายว่าการคืนสู่ประชาธิปไตย คือจุดหมายปลายทางสำคัญของรัฐบาล แต่ระหว่างนี้ต้องให้ความสำคัญกับการร่างรัฐธรรมนูญและปฏิรูปประเทศ ซึ่งฝ่ายสหรัฐก็เข้าใจ ส่วนความร่วมมือในอนาคตจะหารือยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ครั้งที่ 5 ในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ จะเดินทางมาด้วยตนเอง และจะมีการหารือเรื่องยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ด้านการทหารไทย-สหรัฐที่ฮาวายด้วย ถือว่าความสัมพันธ์สองประเทศอยู่ในสภาวะปกติ ไม่เช่นนั้นคงไม่ประชุมกันในรูปแบบนี้ ซึ่งทูตสหรัฐก็ยังได้แสดงความสงสัยถึงการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวระหว่างประเทศรายใหญ่ที่ระบุว่าการจับมือกันของประธานาธิบดีสหรัฐกับนายกรัฐมนตรีไทยเป็นการจัดฉากซึ่งไม่ใช่ความจริง

    @ 'วิษณุ'แจงเดินหน้า12คดี 

    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินการกับ 12 คดีที่รัฐบาลเป็นโจทก์ 6 คดี และเป็นจำเลย 6 คดีตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯว่า ทั้ง 12 โครงการต้องดำเนินการพร้อมกัน เพราะแต่ละโครงการจะมีผู้ที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ตนเป็นเพียงแค่เซ็นเตอร์ของศูนย์ข้อมูลเท่านั้น ซึ่งจะเรียกคนที่รับผิดชอบแต่ละโครงการมาพูดคุย 

    ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อมูลหลักฐานแต่ละโครงการยังอยู่ครบหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยอมรับว่าบางเรื่องมีปัญหาอยู่เหมือนกัน แต่คงบอกไม่ได้ว่าเรื่องอะไรบ้าง เพราะจะเป็นการเผยจุดอ่อนให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นเปล่าๆ เมื่อถามว่า แต่ละโครงการที่มีปัญหาในอดีตที่ผ่านมาเป็นเพราะข้าราชการไม่รักษาผลประโยชน์หรือไม่ รองนายกฯกล่าวว่า คิดว่าวันหนึ่งคงต้องพูดประเด็นนี้กัน แต่ตอนนี้กำลังหน้าสิ่วหน้าขวานในการที่จะพูดถึง 12 คดี ถ้าพูดไป ตำหนิไปก็อาจจะไม่ทำงาน แต่บางทีก็ต้องเห็นใจคนที่มารับผิดชอบ 12 คดีในวันนี้ไม่ได้เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ มีการย้ายไปย้ายมา ก็ต้องมารับผิดชอบ ซึ่งในที่ประชุม ครม.ตนก็ได้ชี้แจงให้ฟังหมดว่าโครงการไหน เกิดในรัฐบาลไหน แต่ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลนั้นผิดเพราะบางเรื่องก็มีแววว่ารัฐบาลจะชนะ และใครเป็นรัฐบาลวันนั้นก็ต้องตัดสินใจแบบนั้น แต่วันนี้เพราะรัฐบาลตัดสินใจแบบนั้นเลยเป็นคดีอยู่

    @ ข้องใจทนาย'ปู'แนะไปร้องศาล

    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คัดค้านการใช้คำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายคดีรับจำนำข้าวจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ และมีการให้ข่าวตอบโต้เป็นรายวันว่า ไม่เป็นไร เป็นสิทธิ เป็นเรื่องธรรมดา และทำให้รัฐบาลได้รู้จุดประสงค์คืออะไร ทำอย่างนั้นก็ถูกต้องแล้วเพราะเวลาที่จะถูกใครดำเนินคดีก็ต้องดิ้นรนเป็นธรรมดาและตนเห็นข่าวที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุไปถึงทนายของอดีตนายกฯว่า หากคิดว่าการดำเนินการของฝ่ายรัฐมีจุดบกพร่องแล้วเหตุใด จึงออกมาบอกก่อน ตนมองว่าแปลกดีเพราะเมื่อเห็นอะไรบกพร่องแล้วแล้วคิดว่าไม่เป็นธรรม แทนที่จะเก็บเงียบอุบไต๋เอาไว้สู้ในศาล เมื่อถึงเวลาจะดำเนินคดีจึงยกมาพูดในศาลตูมเดียวให้หงายหลังกันไป ส่วนเรื่องใดที่ต้องการให้สังคมรู้ก็บอกมาได้ในบางเรื่อง แต่กลับมาบอกเป็นรายวันว่าอะไรไม่ดี แนะนำให้รัฐไปฟ้องศาลนั้นศาลนี้ ซึ่งไม่รู้จะบอกทำไม วันนี้เปิดออกมาหมดจนอัยการ กระทรวงการคลังเห็นหมดแล้ว ในขณะที่รัฐบาลเปิดไม่หมดยังเก็บไว้อีกหลายเรื่อง

    @ แจงนายกฯยังไม่ลงนาม 

    นายวิษณุกล่าวว่า ที่ทนายความอดีตนายกฯยก พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการในทางปกครองขึ้นมากล่าวอ้างว่าการดำเนินการเรื่องนี้ไม่ใช้กับ ครม.นั้น กฎหมายดังกล่าวเป็นอีกฉบับและมีเงื่อนไขในการนำมาใช้ และตอนนี้ไม่นำมาใช้กับ ครม.เพราะกำลังพูดถึงบางคนใน ครม. ซึ่งมีทั้งรับผิดเป็นส่วนตัวและรับผิดเป็นส่วนรวม ยกตัวอย่างคดีหวย 2 ตัว 3 ตัว เขาฟ้องทั้ง ครม. แต่เมื่อถึงเวลาศาลแยกเป็นรายคนว่าใครผิด เมื่อถามว่า การที่นายกรัฐมนตรีไม่ต้องลงนามในขั้นที่สองเมื่อส่งเรื่องถึงคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด เป็นการเลี่ยงให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องถูกฟ้องกลับ นายวิษณุกล่าวว่า ถึงนายกฯจะไม่เซ็น ก็ไม่ใช่ว่าจะหาทางฟ้องไม่ได้ หากทนายเก่งก็มีช่องดำเนินการฟ้องได้ จึงไม่เกี่ยวกับเรื่องนั้น แต่เป็นเพราะกฎหมายระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้ และนายกฯระบุหากจำเป็นก็เซ็น หากนายกฯเซ็นไม่ใช่ว่าจะฟ้องได้และคนที่จะฟ้องต้องคิดให้ดีว่าจะฟ้องตัวคนหรือฟ้องที่ตำแหน่ง เพราะเมื่อนายกฯพ้นไปและมีคนใหม่เข้ามาทำงานต่อจะว่าอย่างไร 

    @ ย้ำ'ปู'ปล่อยปละให้มีการทุจริต 

    เมื่อถามว่า การเรียกเก็บค่าเสียหายตามกระแสข่าวที่เป็นวงเงินสูงถึงแสนล้าน นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ในกฎหมายดังกล่าวมีช่องทางที่สามารถผ่อนผันหรือลดลงมาได้ 

    ไม่เข้าใจว่าทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาชี้ถึงจุดอ่อนขั้นตอนการดำเนินการของรัฐบาลทำไม เหตุใดไม่ไปพูดในศาลทีเดียว เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยโต้กลับว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์กับชาวนา 

    รองนายกฯกล่าวว่า ย้ำว่าไม่เคยไปบอกนโยบายผิดอย่างที่มีการสังเกต และรัฐบาลระวังที่จะไม่พูดซึ่งในสำนวนไม่ได้ระบุว่านโยบายผิดและอดีตนายกฯทุจริต แต่พูดว่ามีการปล่อยให้มีการทุจริต ซึ่งคนอื่นเป็นคนทุจริต และเมื่อมีการบอกว่าทุจริตมาแล้วกลับไม่มีการแก้ไข ไม่มีการตรวจสอบ และไม่ดำเนินการ จึงกลายเป็นความผิดของผู้บังคับบัญชา 

    @ ขยายเวลาคดีข้าวอีก30วัน 

    นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องลงนามคำสั่งเรียกร้องค่าเสียหายคดีจำนำข้าวว่า ต้องรอให้การตรวจสอบจากคณะกรรมการแล้วเสร็จก่อน และเรื่องนี้มีคณะกรรมการในการพิจารณา ขณะนี้เอกสารเรื่องจำนำข้าวยังส่งมาไม่ถึงกระทรวงการคลัง เพราะคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวได้ขอต่ออายุการพิจารณาไปอีก 30 วัน จากเดิมต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายนที่ผ่านมา แจ้งว่ามีพยานเลื่อนวันสอบ ดังนั้น ขอสอบพยานอีกท่านหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นธรรม ทั้งนี้ หากเอกสารมาถึงคลัง จึงจะเสนอให้คณะกรรมการชุดของอธิบดีกรมบัญชีกลางดูในเรื่องการรับผิดทางแพ่ง ซึ่งไม่ได้กำหนดกรอบเวลาต้องเสร็จเมื่อไหร่ เพราะอยากให้คณะกรรมการได้ทำงาน แต่คิดว่าคงไม่ช้า

    @ 'ทนายปู'ติงไก่อูล้ำเส้น

    นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เห็นข่าว พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์ ออกมาแก้ตัวในลักษณะชี้แจงแทน พล.อ.ประยุทธ์ แทนที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นฝ่ายตอบชี้แจงจดหมายเปิดผนึกและหนังสือขอความเป็นธรรมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่มีหน้าที่ไปตอบ การตอบเป็นหนังสือและการถามเป็นหนังสือก็ถือเป็นสิทธิตามกฎหมายและระเบียบที่กระทำได้ 

    "ขอเรียนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีหนังสือขอความเป็นธรรมถึง พล.อ.ประยุทธ์ หลายฉบับ แต่ถูกกรมบัญชีกลางเก็บเรื่องไว้หมดจนวันนี้ยังไม่ตอบแม้ฉบับเดียว ไหนคุยนักคุยหนาว่ารัฐบาลนี้มีกฎหมายอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ปัจจุบัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็เป็นประชาชนคนหนึ่งได้ทำหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี แต่ไม่เคยตอบว่าได้ดำเนินการอย่างไรถึงไหนเมื่อไหร่" นายนรวิชญ์กล่าว

    @ โวยเรียกสอบเร่งรีบ-ไม่หารือ 

    นายนรวิชญ์กล่าวอีกว่า หนักใจกับวิธีการทำงานของคณะกรรมการสอบสวนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์คัดค้าน คือไม่ดูความเหมาะสมของวันเวลาที่สอบสวน ในลักษณะทำงานตามอำเภอใจ คืออยากจะกำหนดวันนัดวันไหนก็นัด ไม่ปรึกษาหารือวันนัดหมาย และนัดก็มีลักษณะเชิงบังคับ ซึ่งพยานแต่ละคนมีเหตุจำเป็นก็ไม่ฟังเหตุฟังผลตัดพยานทันที เช่น พยานรายนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ติดกิจธุระก็ไม่ยอมถ้าไม่ทำหนังสือให้ทบทวนก็ไม่ยอมให้เข้าพูด 

    "ผมตกใจมากว่า ในวันเดียวกันกับที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นจดหมายเปิดผนึก ตกเย็นๆ เลขาฯคณะกรรมการสอบสวนโทรมานัดหมายจะขอสอบพยานบุคคลรวม 7 ปากในวันเดียวกัน การกระทำอย่างนี้กรรมการตั้งใจหาความจริงหรือทำแบบขอไปที ว่ากรรมการก็ได้ให้โอกาสชี้แจงแล้วแต่ไม่มาเอง การนัดหมายไม่หารือหรือปรึกษาว่าพยานแต่ละท่านจะว่างหรือติดกิจธุระอะไรหรือไม่" นายนรวิชญ์กล่าว

    @ กกล.รส.เรียกตัว'ศรีสุวรรณ' 

    รายงานข่าวจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) กองทัพภาคที่ 1 แจ้งว่า จะมีการเชิญตัวนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยมาพูดคุย โดยเป็นการเชิญมาพูดคุยทำความเข้าใจกรณีที่นายศรีสุวรรณยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบจริยธรรม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งเครือญาติและบุคคลที่เคยร่วมอาชีพเดียวกันเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ (สปท.) จากนั้นเมื่อทำความเข้าใจกันแล้วทางเจ้าหน้าที่ กกล.รส.ก็จะเชิญกลับบ้าน คิดว่าแนวโน้มไม่มีการค้างคืน เพราะทราบว่านายศรีสุวรรณมีโรคประจำตัว

     

    นานาทรรศนะ ขอ'กระบอง'ฟันทุจริต





    สุขุม นวลสกุล - สมลักษณ์ จัดกระบวนพล




    ยอดพล เทพสิทธา - ชำนาญ จันทร์เรือง

    หมายเหตุ - เป็นความเห็นกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมหารือกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีข้อเสนอเพิ่มอำนาจการตรวจสอบนักการเมือง จากปัจจุบันเปรียบเสมือน "ยักษ์ไม่มีกระบอง" สำหรับปราบปรามการทุจริต ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอคืออำนาจตรวจสอบภาษีนักการเมืองย้อนหลัง 5 ปี

    สุขุม นวลสกุล
    อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง
    แนวคิดจะตรวจสอบภาษีย้อนหลังนักการเมือง 5 ปี เป็นหลักการหนึ่งที่ดี น่าจะทำให้การจะทุจริตยากขึ้น เพราะมีเรื่องที่มาของเงิน มาเมื่อไร มาอย่างไร มีเงินเข้ามาจริงหรือไม่ สามารถย้อนหลังไปได้ แต่ไม่น่าจะต้องบรรจุลงในรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องคดีโกงแค่ให้อำนาจ ป.ป.ช. ออกระเบียบกฎเกณฑ์ก็น่าจะพอ 

    ส่วนบทบาทของ ป.ป.ช. จริงๆ แล้วเป็นองค์กรเสริม ไม่ใช่องค์กรหลัก ที่ปกติมีหน้าที่ป้อนไปยังศาลในการตัดสินคดี คำว่ายักษ์ขาดกระบองคิดว่าคงเป็นคำเปรียบเทียบ แต่โดยอำนาจหน้าที่ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ป.ป.ช.สามารถใช้อำนาจหน้าที่ในการจัดการคนที่เห็นว่าโกงได้อยู่แล้ว หากให้ ป.ป.ช.มีอำนาจมากกว่านี้ หรือใช้อำนาจตุลาการได้ ก็ต้องคิดให้ดีแล้วกัน

    สมลักษณ์ จัดกระบวนพล
    อดีตกรรมการ ป.ป.ช.
    กรณี ป.ป.ช.เข้าพบคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อเสนอความเห็นเกี่ยวกับการทำงานหรืออุปสรรคที่ผ่านมา ไม่ทราบว่าจะเพิ่มอำนาจอะไร แต่หากพูดถึงการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ก็มีความคิดอย่างหนึ่งคือ เคยตรวจสอบบัญชีบุคคลหนึ่งที่จะมาดำรงตำแหน่ง ปรากฏว่าภรรยาของบุคคลดังกล่าวมีเครื่องเพชรมูลค่ากว่า 14 ล้านบาท เมื่อตรวจสอบดูว่าเป็นตระกูลเก่าหรือไม่ หรือสืบเชื้อสายหรือไม่ ก็ไม่ใช่ เป็นผู้รับราชการปกติ แต่เมื่อไปถึง ป.ป.ช.ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง จึงไม่มีอำนาจไปตั้งข้อสังเกตหรือสืบสาวราวเรื่องได้ ซึ่งไม่ตรงกับความคิดที่ว่า คนที่มารับตำแหน่ง ยิ่งเป็นตำแหน่งสำคัญในการบริหาร จำเป็นอย่างยิ่งแม้จะเป็นครั้งแรกในการดำรงตำแหน่งก็ตาม ต้องตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเหตุใดถึงมีทรัพย์สินมาก ที่ยกตัวอย่างนี้ก็เพื่อต่อไปจะได้นำข้อสังเกตนี้ไปพิจารณา 

    อย่างไรก็ดี เรื่องนี้จะไปโยงว่าที่ผ่านมาบุคคลเหล่านี้เสียภาษีอย่างไร เท่าไร ตรงนี้เห็นด้วยที่ กรธ.อยากให้ ป.ป.ช.มีอำนาจในการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง 5 ปี หากทำเรื่องการตรวจสอบพวกนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ถือเป็นการกันไว้ก่อน ไม่ให้เกิดเหตุในการใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ ไม่ต้องมาทำงานหนักตอนหลัง และอาจจะสายเกินไปหากตรวจสอบตอนพ้นตำแหน่งไปแล้ว 1 ปี หากทำได้ ความเสียหายจะไม่เกิดแก่ประเทศไทย แต่ถึงแม้จะเห็นด้วยก็จะมีปัญหาตามมา คือกำลังคนจะมีเพียงพอหรือไม่ เพราะขนาดไม่มีอำนาจเรื่องนี้ก็ทำงานไม่ไหว ทำให้คดีค้างจำนวนมาก 

    สำหรับการเสนอให้มีการควบรวมระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ ป.ป.ช. ความจริงตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ให้ ป.ป.ท.ไปอยู่ใต้กระทรวงยุติธรรม ส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยแต่แรก เพราะองค์กรที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ไม่ควรอยู่ใต้บังคับบัญชาของฝ่ายใด โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร องค์กรเหล่านี้ควรเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ ส่วนจะมาอยู่รวมกับ ป.ป.ช.หรือไม่ คงต้องดูก่อนว่าเป็นเช่นไร แต่หลักใหญ่คือไม่ควรอยู่ใต้บังคับบัญชาของฝ่ายใด เพราะทำหน้าที่เหมือนกับ ป.ป.ช.

    ในการทำงานของ ป.ป.ช. มองว่ากรรมการ ป.ป.ช. ทำงานหนักมากและอำนาจก็มากเช่นกัน แต่การมีอำนาจมากก็สอดคล้องกับหลักความจริงที่ว่า อำนาจยิ่งมีมากเท่าไร จะมาพร้อมหน้าที่และความรับผิดชอบยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ให้อำนาจมากแล้วจะทำอะไรตามอำเภอใจ เพราะกฎหมาย ป.ป.ช. หากกรรมการทำอะไรไม่เป็นธรรมจะถูกลงโทษเป็นสองเท่าของคนอื่น ดังนั้น ต้องระวังในเรื่องนี้จึงฝากเตือนทุกคน 

    ส่วนกรณีงานของ ป.ป.ช.มีมากนั้น มองว่าน่าจะแบ่งกรรมการ ป.ป.ช.เป็นฝ่ายต่างๆ คือ ฝ่ายปราบปราม ฝ่ายป้องกัน ฝ่ายตรวจสอบทรัพย์สิน เพื่อจะได้มีความชำนาญ เช่น บางคนมาจากสายบัญชีอาจจะมาอยู่ในส่วนฝ่ายตรวจสอบทรัพย์สิน ส่วนฝ่ายป้องกันอาจจะเป็นครูบาอาจารย์ ฝ่ายปราบปรามอาจจะอยู่สายยุติธรรม 

    จึงคิดว่าควรแยกคณะกรรมการออกเป็นฝ่ายต่างๆ จะได้ตรงและอาจจะมีกรรมการ ป.ป.ช.เพิ่มขึ้นจะได้ดีขึ้น อาจจะเพิ่มจาก 9 คน เป็น 12 หรือ 15 คน แล้วแยกฝ่าย

    ยอดพล เทพสิทธา
    คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
    การสอบภาษีย้อนหลังนักการเมือง เป็นเรื่องรายละเอียดย่อยที่ปกติเรื่องนี้จะต้องอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครเอาไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะตัวรัฐธรรมนูญควรจะมีแต่หลักการสำคัญ ไม่ควรจะยาว ส่วนวิธีพิจารณาต่างๆ ควรจะไปอยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หากเอามาเขียนถึงขอบเขตอำนาจ กระบวนการพิจารณา จะทำให้รัฐธรรมนูญยาวไม่รู้จบ 

    ประเด็นการตรวจสอบภาษี แง่หนึ่งเป็นเรื่องดี แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัวว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการตรวจภาษีย้อนหลัง 5 ปี ตรงนี้ต้องแยกกันเพราะคดีทุจริต ไม่ใช่คดีภาษีอากร ถ้าหลบเลี่ยงภาษีหรือมีความน่าสงสัยว่าเสียภาษีไม่ครบแล้วตรวจย้อนหลังก็ถูกต้อง แต่กรณีการตรวจสอบทุจริต เมื่อนักการเมืองยื่นบัญชีทรัพย์สินแล้วไปตรวจบัญชีภาษีย้อนหลัง มองว่าเป็นคนละเรื่องกัน เพราะการทุจริตของพรรคการเมืองมีลักษณะ เช่น ได้ค่าคอมมิสชั่นจากการซื้อขายในโครงการของรัฐบาล ก็ไม่ได้โชว์ในบัญชีภาษีและในรายรับที่ต้องเปิดเผยต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมือง การตรวจสอบภาษีย้อนหลังนักการเมือง 5 ปี มองว่าไม่ได้ช่วยอะไร 

    ส่วนที่ ป.ป.ช.ออกมาบอกว่าเป็นยักษ์ไร้กระบอง ความจริง ป.ป.ช.มีอำนาจสั่งฟ้องได้อยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้ ป.ป.ช.มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา มองว่าคงผิดหลัก เพราะคงไม่สามารถให้องค์กรของฝ่ายปกครองมีคำสั่งออกมาได้ ทุกอย่างควรจะผ่านกระบวนการยุติธรรม ผ่านการตัดสินโดยศาล

    อำนาจที่มีอยู่ตอนนี้น่าจะเพียงพอแล้ว คือตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่นในองค์กรของรัฐ ป.ป.ช.ควรจะเปรียบเหมือนเนวิเกเตอร์หรือคนนำทางที่รวมหลักฐานทั้งหมด รวมความเห็นทั้งหมดส่งไปให้ศาลพิจารณา ไม่ควรจะจบคดีที่ ป.ป.ช. 

    หากจะพูดว่าไร้กระบอง ความจริงแล้วตัว ป.ป.ช. ไม่ควรจะเป็นองค์กรที่มีกระบองหรืออาวุธไว้ใช้ฟันใครหรือเปล่า

    ชำนาญ จันทร์เรือง
    คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    ป.ป.ช.ไม่ใช่ยักษ์ไม่มีกระบอง ความจริงมีกระบองแต่เลือกตี อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับการเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. แต่ต้องจำกัดว่าควรจะทำเรื่องอะไรบ้าง เพราะคดีค้างที่ ป.ป.ช. หลายหมื่นคดียังยุติ นอกจากนั้นต้องเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบ ป.ป.ช.ด้วย เพราะยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ยังไม่เห็น ป.ป.ช.ถูกสอบ มีนิดเดียวคือ กรณีนายภักดี โพธิศิริ ที่เป็นคดีอยู่ในศาล ก็ยังมีปัญหาในการตีความอยู่ 

    เห็นด้วยที่ให้การเพิ่มอำนาจ แต่ต้องจำกัดประเภทคดี จำกัดตัวผู้ที่อยู่ในข่าย ไม่อย่างนั้นจะเป็นหมื่นคดี บางคดีให้ ป.ป.ท.หรือหน่วยงานอื่นรองลงมาทำ จะได้มีประสิทธิภาพ และต้องย้ำอีกเรื่องคือการเลือกปฏิบัติ มีคำถามคำตอบในหลายเรื่อง บางคดีเห็นด้วยกับการลงโทษคนที่ทำความผิด แต่บางคดีอย่างเรื่องจำนำข้าว กับกรณีประกันราคาข้าวรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปรากฏว่าหลักฐานหายหรือน้ำท่วม ไม่ใช่ข้ออ้าง คนฟังแล้วก็สะท้อนใจ

    การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น มาตรการทางกฎหมายที่บังคับใช้อย่างตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติก็สำคัญ แต่ลำพัง ป.ป.ช.ฝ่ายเดียวไม่สำเร็จ หลายแห่งมีมาตรการทางวินัย ส่งเสริมวินัยในการจำกัดคอร์รัปชั่น บางแห่งการทุจริตในห้องสอบไม่สามารถไปทำงานอย่างอื่นได้เลย และต้องเอาผิดทั้งผู้ให้และผู้รับ เช่น ฮ่องกงมีวัฒนธรรมจีนอย่างน้ำร้อนน้ำชา แต่เดี๋ยวนี้มีมาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวด สร้างและส่งเสริมวินัย หรือที่สิงคโปร์ก็มีวัฒนธรรมจีนเหมือนกัน แต่ความโปร่งใสสูงขึ้นมาก สูงกว่าฝรั่งด้วยซ้ำไป

    เรื่องการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน เห็นว่าคนที่ใช้อำนาจรัฐต้องถูกตรวจสอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเข้ามาโดยเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม เจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจรัฐในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพหรือการจัดการแบ่งสรรผลประโยชน์ต่างๆ ต้องถูกตรวจสอบทั้งหมด แต่การตรวจสอบก็มีระดับความสำคัญมากไปหาน้อย เหมือนการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มี 2 วิธี คือ 1.ตรวจสอบตามรอบปกติอาจใช้วิธีสุ่ม เช่น การตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจจะ 2-3 ปีเข้าไปครั้งหนึ่งเพราะปริมาณงานน้อย แต่จำนวนที่ต้องตรวจสอบมีมาก หรือ 2.กรณีถูกร้องเรียน ก็เข้าไปตรวจเลย ป.ป.ช.ก็ควรจะเป็นแบบนี้ 

    ในเรื่องอำนาจ เห็นว่าอำนาจ ป.ป.ช.ยังไม่เพียงพอ กฎหมายที่ใช้เป็นเครื่องมืออาจยังไม่พอ แต่ว่าปัญหาคือ 1.การเลือกปฏิบัติมากกว่า 2.ตัวบุคคลฅที่เข้ามาเป็น ป.ช.ช. มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามกฎหมาย ป.ป.ช.หรือไม่ บางคนยังเทาๆ บางคนพูดให้สัมภาษณ์รายวัน คนทำงานประเภทนี้จะพูดมากไม่ได้ ต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ พูดอย่างโฆษกหรือประธาน ไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องชี้แจงทุกวัน พูดไปพูดมาคนฟังก็ได้คิดว่าน้ำเสียงเป็นกลางทางการเมืองหรือน้ำเสียงเอนเอียง 

    การตรวจสอบองค์กรอิสระ โดยหลักปกติแล้วต้องมีองค์กรอื่นมาตรวจสอบ เช่น สตง.ตรวจสอบคนอื่นไปหมด เกิดคำถามตามมาว่าใครจะตรวจสอบ สตง. ก็ให้หน่วยงานของคลังเป็นคนตรวจ ส่วน ป.ป.ช.ก็น่าจะเป็นรัฐสภาดีที่สุด เป็นสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะยึดโยงกับประชาชน แต่จะออกแบบในรูปแบบใด คิดว่าเป็นเรื่องของคนที่มีความเชี่ยวชาญ

    apm

     

     

    Facebook

    5 ข่าวฮอตนิวส์!