- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 16 October 2015 19:10
- Hits: 4523
ตอบโต้ไก่อู ไม่รู้เรื่องคดีอย่ามาพูด 'ทนายปู'สวนปมจำนำข้าว บิ๊กตู่ติวเข้ม 5 สาย 28 ตค. ทูตสหรัฐบี้ยึดโรดแม็ป กกต.ชงผุดศาลเลือกตั้ง
'บิ๊กตู่'ยันเลือกตั้งปี"60 ทูตสหรัฐคนใหม่พบรมว.ต่างประเทศเร่งไทยคืนประชาธิปไตย 'ดอน'ยันมะกันไม่คว่ำบาตรปม'เทียร์ 3'กองทัพเชิญ'ศรีสุวรรณ'ปรับทัศนคติหลังวิจารณ์ตั้งคนร่วมอาชีพ-เครือญาตินั่งสปท. นายกฯ ประชุมใหญ่แม่น้ำ 5 สาย 28 ต.ค. แจงขับเคลื่อนการทำงาน กรธ.จัดคิวเชิญครม.-เอกชนให้ข้อมูล กกต.ชงผุดศาลเลือกตั้ง คงอำนาจแจกใบแดง-ใบเหลือง ป.ป.ช.โชว์ผลงานรอบ 9 ปี ฟันคดีทุจริตกว่า 5 แสนล้าน เจอเช็คกว่า 1,800 ใบวงเงินเกือบหมื่นล้าน มัดขายข้าว'จีทูจี'มีพิรุธ 'วิษณุ' แปลกใจทนายยิ่งลักษณ์แบไต๋ข้อมูลคดีข้าว 'นรวิชญ์'จวกยับ'ไก่อู'ไม่รู้เรื่องอย่าพูด
วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9088 ข่าวสดรายวัน
เยี่ยมคารวะ - นายทุกสบิลกูน ทูมูร์คูเลก เอกอัครราชทูตมองโกเลีย ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 ต.ค.
'บิ๊กตู่'ย้ำเลือกตั้งปี 60
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 15 ต.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายทุกสบิลกูน ทูมูร์คูเลก เอกอัคร ราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในโอกาสเข้ารับหน้าที่
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือว่า การพบกันครั้งนี้นายกฯยืนยันว่าไทยมีความคืบหน้าในเรื่องการปฏิรูปทุกด้านเพื่อปูทางไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนและการเลือกตั้งในปี 2560 พร้อมเน้นย้ำว่าการดำเนินการปฏิรูปของไทยเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ต่อทั้งไทยและมิตรประเทศทั้งสิ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ แถลงข่าวหลังประชุมครม.เมื่อวันที่ 13 ต.ค. และโบกมือพร้อมบอกว่า "ซาโยนาระ" ให้ผู้สื่อข่าว นายกฯก็ไม่เปิดให้สื่อมวลชนได้สัมภาษณ์ แต่มอบให้พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับสื่อในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำจดหมายเปิดผนึกร้องขอความเป็นธรรมคดีแพ่งโครงการรับจำนำข้าว จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องการตอบโต้น.ส.ยิ่งลักษณ์ แบบยืดเยื้อ และไม่ต้องการขยายความให้เป็นประเด็นการเมือง
ทูตสหรัฐจี้ไทยคืนปชต.
ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศ ไทยคนใหม่ เยี่ยมคารวะ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ภายหลังการหารือ ประมาณ 1 ชั่วโมง นายเดวีส์ เปิดเผยว่า สหรัฐยังคงจุดยืนการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ในฐานะพันธมิตรในภูมิภาค ที่มีความร่วมมือทั้งด้านความมั่นคง สังคม การร่วมกันบังคับใช้กฎหมาย สิ่งแวดล้อม และระดับประชาชน ส่วนการคืนสู่ประชาธิปไตยของไทยนั้น สหรัฐยังคงจุดยืนเดิม ที่หวังว่าไทยจะดำเนินการตามแผนและจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่สิ่งที่ตนจะทำ คือจะเข้าพูดคุยกับประชาชนไทยให้ได้มากที่สุดอย่างรอบด้าน เพื่อรับทราบถึงความคิดของคนไทยที่หลากหลาย
"ส่วนการเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ นั้น วันก่อนได้ทักทายกันสั้นๆ ในงานเลี้ยงวันตำรวจ และพร้อมเข้าพบอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ ซึ่งผมมองว่าความท้าทายในการทำงานในไทย คือการเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลสหรัฐจึงสั่งการให้พูดคุยกับคนไทยให้ได้มากที่สุด" นายเดวีส์กล่าว
"ดอน"ฟุ้งมีเคมีตรงกัน
ด้านนายดอนกล่าวว่า บรรยากาศการหารือถือว่าดีมาก ตนกับทูตสหรัฐมีเคมีตรงกัน ทำให้การหารือผ่านไปไวมาก ส่วนการดำเนินงานตามแผนโรดแม็ปนั้น ตนได้อธิบายว่าการคืนสู่ประชาธิปไตย คือจุดหมายปลายทางสำคัญของรัฐบาลอยู่แล้ว ผ่านการร่างรัฐธรรม นูญ แต่ระหว่างนี้ต้องให้ความสำคัญกับการร่างรัฐธรรมนูญและปฏิรูปประเทศไปด้วย ซึ่งทูตสหรัฐก็แสดงความเข้าใจ
นายดอน กล่าวว่า ในเดือนธ.ค.นี้จะมีการหารือยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ครั้งที่ 5 ซึ่งนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายกิจการภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะมาด้วยตนเอง รวมถึงจะหารือเรื่องยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ด้านการทหารไทย-สหรัฐ ที่ฮาวายด้วย
ยันจับมือโอบามาไม่จัดฉาก
ผู้สื่อข่าวถามว่าความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอยู่ในสภาวะปกติแล้วใช่หรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ไม่เช่นนั้นคงไม่มีการแลกเปลี่ยนประชุมกันระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโส นอกจากนี้ ทูตสหรัฐยังแสดงความสงสัยถึงการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวระหว่างประเทศรายใหญ่ ที่ระบุว่าการจับมือกันระหว่างนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐกับพล.อ. ประยุทธ์ ในการประชุมสมัชชาสหประชา ชาติที่สหรัฐเป็นการจัดฉากซึ่งไม่ใช่ความจริง
ส่วนความคืบหน้าการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์จากที่ไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 นั้น รมว.ต่างประเทศยืนยันว่า สหรัฐไม่มีมาตรการคว่ำบาตรลงโทษใดๆ กับไทยหลังครบกำหนด 90 วัน โดยสหรัฐยินดีให้คำปรึกษาช่วยแก้ปัญหาให้ไทย และวันที่ 16 ต.ค.นี้ ทางรักษาการผอ.สำนักงานป้องกันการค้ามนุษย์ จะเดินทางมาให้คำแนะนำกับ เจ้าหน้าที่ของไทยด้วย
เชิญ"ศรีสุวรรณ"ปรับทัศนคติ
วันเดียวกัน มีรายงานข่าวว่า กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) กองทัพภาคที่ 1 เชิญตัวนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขา ธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยมาพูดคุยในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ เพื่อมาพูดคุยทำความเข้าใจ กรณีนายศรีสุวรรณ ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบจริยธรรม พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งเครือญาติและบุคคลที่เคยร่วมอาชีพเดียวกันเป็นสมาชิกสภาสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อทำความเข้าใจกันแล้ว ก็จะให้กลับ บ้าน เพราะทราบว่านายศรีสุวรรณมีโรคประจำตัว
ที่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) จ.ปราจีนบุรี พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. เป็นประธานตรวจเยี่ยมพล.ร.2 รอ. เนื่องในวันสถาปนาครบรอบ 105 ปี ซึ่งพล.อ.ธีรชัย ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์หลังเกิดกระแสข่าวขัดแย้งกับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และอดีตผบ.ทบ.
"บิ๊กป้อม"มั่นใจร่างรธน.ฉลุย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญมีความเป็นสากลและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำแล้วว่าจะต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นสากล
ส่วนการเตรียมแผนรับมือหากการทำประชามติไม่ผ่านนั้น ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาอยู่ว่าจะเตรียมการอย่างไรบ้าง แต่เชื่อมั่นว่าการทำประชามติจะผ่านความเห็นจากประชาชนอย่างแน่นอน เนื่องจากคณะกรรม การร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อนำมาประกอบกับการร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
"วิษณุ"เผยนายกฯถกใหญ่ 5 สาย
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท. ระบุกรธ. กับคสช. และนายกฯ ต้องทำงานคู่กันเพื่อวางโครงสร้างการปฏิรูปว่า ถูกต้อง และอยากเห็นสปท.รับฟังความเห็นทั้งจากสื่อ ประชาชน แล้วเสนอมาที่รัฐบาล
ส่วนที่นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปท. ระบุสปท.จะเข้าพบนายกฯ เพื่อรับฟังการขับเคลื่อนงานนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ตนมองว่าไม่จำเป็น เพราะนายกฯ ตั้งใจจะไปกล่าวในที่ประชุมร่วมแม่น้ำ 5 สาย ที่รัฐสภาในเร็วๆ นี้ ตนได้ประสานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไว้แล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมทุกสายให้ตรงกัน เนื่องจากเป็นการประชุมใหญ่มีสมาชิกกว่า 700 คน มีประธานสนช.และประธานสปท. ทำหน้าที่ประธานการประชุม
ถ่ายทอดสดให้ปชช.ชม
"หัวหน้าคสช.จะชี้แจงและสื่อสารการขับเคลื่อนการทำงาน เพื่อให้เข้าใจตรงกันทุกฝ่ายและเปิดให้สมาชิกได้สอบถามข้อสงสัย เนื่องจากการประชุมที่สโมสรทบ.วิภาวดี มีเพียงประธานคณะต่างๆ ไม่กี่คน อาจจะสื่อ สารข้อความไม่ตรงกัน และอาจจะถ่ายทอดสดการประชุมให้ประชาชนทราบด้วย ซึ่งกรธ.และสปท.ทั้งหมดไม่เคยพบกันเลย และเราจะให้สปท.รับไม้ต่อแต่ไม่เคยพูดกันตรงๆ และไม่เคยถาม จึงจำเป็นต้องพบกัน นายกฯ ต้องการส่งสารบางอย่างในฐานะหัวหน้าคสช. เพราะสมาชิกสภาบางคนไม่เคยดูโทรทัศน์ รายการวันศุกร์ สารอะไรก็ไม่เคยอ่าน ก็มานั่งฟัง แต่ผมคงไม่เดาเนื้อหาก่อนคงไม่เหมาะ" นายวิษณุกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯ จะสั่งการให้ทำอะไรหรือไม่ในการประชุมนี้ นายวิษณุกล่าวว่า ทุกวันนี้ก็ไม่เคยสั่ง นายกฯ จะไปสั่งสนช.ได้อย่างไร คงชี้แจงว่าตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นผู้ตั้ง สปท. กรธ. ฉะนั้น ในภาพรวมจะเดินกันไปอย่างไรในช่วง 6-4-6-4 แต่เนื้อหาตนไม่รู้ ซึ่งจะเปิดให้ซักถามนายกฯ ได้แต่ถ้าจะถามกันอุตลุดวุ่นวายเหมือนประชุมสภา คงใช้เวลาหลายวัน และหลังการประชุมนี้คงกลับไปเป็นอย่างเดิมคือมากันบางคนเท่านั้น ในสถานที่จำกัด
นัด 28 ต.ค.-คุยเรื่องรธน.
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่หนึ่ง กล่าวถึงการประชุมแม่น้ำ 5 สายว่า เท่าที่ทราบจะประชุมในวันที่ 28 ต.ค.นี้ ที่รัฐสภา คาดว่าจะเปิดห้องประชุมใหญ่ประชุม ส่วนวาระยังไม่ทราบ แต่น่าจะหารือถึงการประสานงานร่วมกัน โดยเฉพาะระหว่าง สนช. สปท.และ กรธ. ในประเด็นเรื่องการรวบรวมความเห็นจากประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ โดย สนช.จะมีส่วนช่วยเก็บรวบรวมความเห็นได้อย่างไร รวมถึงระยะเวลาส่งมอบหรืออาจจัดเวทีร่วมกันในต่างจังหวัดกับกรธ.
ทูตอเมริกา - นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่ จับมือทักทายนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.กต. ในโอกาสเดินทางมาแนะนำตัวและเยี่ยมคารวะ ที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. |
นายสุรชัย กล่าวว่า ขณะที่ สปท.ต้องสานงานต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ศึกษาการปฏิรูปไว้ 37 วาระเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ถ้าเรื่องใดจำเป็นต้องออกกฎหมายทาง สนช.จะสนับสนุนเต็มที่ ส่วนแนวโน้มที่จะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น หากต้องการให้มีเครื่องมือกำหนดให้รัฐบาลใหม่ไม่ออกจากแนวทางปฏิรูปที่ทำกันไว้ หรือหากอยากได้ความชัดเจน เป็นวาระแห่งชาติ ก็อาจให้มี คปป. มาคอยกำกับในอนาคต แต่ขึ้นอยู่กับความเห็นและการตัดสินใจของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.
สปท.เปิดศูนย์สื่อสาร
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเลขาธิการ สปท. ได้ออกหนังสือด่วนมาก ที่สผ (สปท) 0014/2 ลงวันที่ 15 ต.ค.2558 เพื่อนัดประชุม สปท.ครั้งที่ 2/2558 ในวันที่ 19 ต.ค.นี้ เวลา 09.30 น. โดยมีวาระการประชุมเพื่อรับทราบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งประธานและรองประธาน สปท. และวาระอื่นๆ 2 เรื่อง เพื่อกำหนดวันและเวลาการประชุม สปท. และเลือกตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมสปท.
ส่วนในวันที่ 20 ต.ค.เวลา 09.00 น.จะมีการเปิดศูนย์สื่อสารสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ จากนั้น สปท.จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ในการกำหนดเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
กกต.ชงกรธ.ขอเพิ่มอำนาจ
เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อม กกต.ทั้ง 4 คน เข้าพบกรธ. เพื่อชี้แจงข้อเสนอบทบาทอำนาจหน้าที่และอุปสรรคในการทำงาน เพื่อ กรธ.จะบัญญัติฯไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายศุภชัยกล่าวก่อนเข้าประชุมว่า กกต.จะเสนอ 5 หลักใหญ่คือ 1.การทำให้การเลือกตั้งสัมฤทธิผล 2.กระบวนการเลือกตั้ง 3.การทำให้การเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรม 4.การมีส่วนร่วมของประชาชน และ 5.ที่มาของกกต. ส่วนใหญ่จะเป็นหลักการเดิมตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่จะมีบางประเด็นที่เพิ่มเติมเข้ามา แต่ขึ้นอยู่กับ กรธ.จะเขียนกฎหมายออกมาอย่างไร กกต.พร้อมทำตามรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่ กกต.เสนอกรธ. ได้แก่ ขอให้ กกต.มีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้งและเลื่อนวันเลือกตั้ง มีอำนาจควบคุมสั่งการและบังคับบัญชาข้าราชการ การใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ และการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง การออกแบบระบบเลือกตั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง คุณสมบัติผู้สมัครและนโยบายหาเสียง การพัฒนาพรรคให้เป็นสถาบัน ให้สำนักงาน กกต.เป็นผู้จัดทำป้ายโฆษณาหาเสียง
ผุดศาลเลือกตั้ง-ติดดาบฟันโกง
นอกจากนี้ขอให้ตั้งศาลเลือกตั้ง โดยให้ศาลใช้สำนวนของ กกต.เป็นหลัก ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาด แพ่ง อาญา และคดีเลือกตั้งไปในคราวเดียวกัน หลังประกาศผล หากผู้สมัครรายใดได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่ารัฐมนตรี ส.ส.และส.ว. ถ้า กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลถึงบุคคลดังกล่าวก็ให้รัฐมนตรี ส.ส. และส.ว.หยุดปฏิบัติหน้าที่ และมีข้อห้ามสำหรับผู้ที่ไม่ชำระค่าเสียหายในการจัดเลือกตั้งไม่ให้สมัครรับเลือกตั้ง
รวมถึงอำนาจการสืบสวนสอบสวน และการควบคุมการเลือกตั้ง ขอให้ กกต.มีอำนาจเรียกพยาน เอกสาร และบุคคล ออกหมายเรียกจับกุม ตรวจค้น ยึด อายัด และเป็นพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตาม ป.วิอาญา การสั่งให้เลือกตั้งใหม่หากพบกรณีทุจริต หรือให้ใบเหลือง การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือให้ใบแดงผู้สมัครที่ทุจริตก่อนและหลังประกาศผลเลือกตั้ง และหากเกิดกรณี กกต.ให้ใบเหลืองแก่ผู้สมัครรายใดถึง 2 ครั้งติดกัน จะขอให้เป็นใบส้ม คือห้ามผู้สมัครรายนั้นลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนั้น รวมทั้งจะเสนอให้ กกต.มีวาระ 7 ปี นับแต่วันที่บุคคลนั้นรับตำแหน่ง กกต.
"มีชัย"เน้นรธน.สั้น-กระชับ
นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. แถลงผลการประชุมกรธ.ว่า ในที่ประชุมนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. เน้นย้ำถึงการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ต้องสั้น กระชับ และเข้าใจง่าย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการตีความในภายหลัง และหลังจากกกต.เข้าชี้แจงเสร็จแล้ว ที่ประชุมได้พิจารณาในหมวดที่ 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตามที่คณะอนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญได้นำเสนอ
โดยในมาตรา 4/1 ระบุเรื่องสิทธิของประชาชนคนไทย ถือว่ามีเสรีภาพที่จะทำได้ แต่ต้องไม่กระทบกับสังคม ความมั่นคง ความสงบของบ้านเมือง และผู้อื่นก็ทำได้ ถือว่าไม่เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน และต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากดำเนินการสิ่งใดต้องไม่เกินกว่าเหตุ โดยต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนการจำกัดสิทธิของประชาชน จะต้องมีเหตุผลรองรับอย่างชัดเจน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอ และยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน
เชิญครม.-เอกชนให้ข้อมูล
ผู้สื่อข่าวถามถึงพรรคเพื่อไทยออกแถลง การณ์ เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ประเด็นเรื่องทำประชามติโดยให้นำรัฐธรรม นูญฉบับปี 2540 หรือ 2550 มาใช้หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน นายนรชิตกล่าวว่ายังไม่มีการหยิบยกมาพูดคุยในที่ประชุมกรธ. แต่ส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กำหนดไว้ชัดเจนกรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชา ชาติ โดยให้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมาร่างขึ้นใหม่อีกครั้ง ภายใน 180 วันอยู่แล้ว ดังนั้น ทางที่ง่ายที่สุดอาจต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เพื่อเกิดความชัดเจน ซึ่งข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยก็เป็นข้อเสนอหนึ่งที่กรธ.ต้องรับฟังเหมือนข้อเสนอขององค์กรอื่นๆ และของพรรคอื่นๆ ด้วย
นายภัทระ คำพิทักษ์ กรธ. ในฐานะอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะ กล่าวว่า ที่ประชุมอนุกรรมการมีข้อตกลงให้นำผลการสำรวจความเห็นของประชาชน ซึ่งอดีตกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดรับฟังความเห็นของประชาชน ทั้งในรายละเอียดภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ และประเด็นเฉพาะมาประกอบการพิจารณาเขียนบทบัญญัติเป็นรายมาตราในร่างรัฐธรรมนูญของกรธ.ด้วย
รายงานข่าวจากที่ประชุมกรธ.เปิดเผยว่า กรธ.มีมติที่จะเชิญคณะบุคคลและองค์กรภาคเอกชนเข้ามาให้ความเห็นต่อกรธ. ในการประชุมสัปดาห์หน้าและสัปดาห์ต่อๆ ไป อาทิ คณะรัฐมนตรี(ครม.) สนช. หอการค้าแห่งประเทศไทย ในประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและข้อเสนอแนะที่ต้องการให้ปรับปรุงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน
ปชป.หนุนเช็กภาษีนักการเมือง
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรธ.ไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่จะเสนอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ใช้วิธีตรวจสอบภาษีย้อนหลัง 5 ปีว่า เห็นด้วยกับแนวทางตรวจสอบภาษีย้อนหลังนักการเมือง 5 ปี เชื่อว่าหากป.ป.ช.มีอำนาจและทำได้จริง จะป้องกันการทุจริตได้อย่างดี นักการเมืองที่คิดจะทุจริตคอร์รัปชั่น หรือคดโกงจะทำได้ยาก เกิดความเกรงกลัว เนื่องจากการสอบภาษีย้อนหลังจะยึดโยงที่มาที่ไปของทรัพย์สินและเงินที่ได้มา
ส่วนที่ป.ป.ช.ระบุเหมือนยักษ์ไม่มีกระบองนั้น อาจเป็นเพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ให้อำนาจ ป.ป.ช.น้อยเกินไป แต่หากเรายึดอำนาจของป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ก็น่าจะใช้ได้
พท.เชื่อไร้ประโยชน์
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าที่ผ่านมาเมื่อเข้าดำรงตำแหน่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินภายใน 30 วัน เมื่อพ้นก็ต้องยื่นอีกใน 30 วัน และเมื่อพ้นไปครบ 1 ปี ก็ต้องยื่นอีกครั้งหนึ่งรวมเป็น 3 ครั้ง หลักฐานหนึ่งคือการเสียภาษีในปีที่ผ่านมา แต่ที่พูดกันอยู่คือการดูแต่รายการการเสียภาษีย้อนหลัง 5 ปี ถามว่าเพื่ออะไร ถ้าคนที่เขาไม่มีรายได้พึงประเมิน เช่น คนที่ทำสวน ทำไร่ ทำนา ไม่ได้เป็นลูกจ้างใครแล้วคิดจะมาเป็นนักการเมือง จะเอาหลักฐานที่ไหนมายื่น
"ผมมองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะมาดูหลักฐานการเสียภาษี และจะเป็นปัญหาอุปสรรคมากกว่า เพราะเหมือนมาดูว่าที่ผ่านมา 5 ปี คนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเขาทำมาหากินอะไร มีรายได้พึงประเมินมากน้อยแค่น้อย ดูแล้วจะได้อะไร" นายสามารถกล่าว
ป.ป.ช.ว้ากอย่ามโนกันไปเอง
ที่สำนักงานป.ป.ช. สนามบินน้ำ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช.กล่าวว่า ได้ยืนยันกับกรธ.ว่าป.ป.ช.จะต้องเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ปราศ จากการแทรกแซง ส่วนเรื่องอำนาจหน้าที่เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง จะต้องคงไว้ซึ่งอำนาจหน้าที่เดิมตามมาตรา 250 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ขณะที่ปัญหาการทำงานต่างๆ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วจะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันขององค์กรอิสระหรือหน่วยงานตรวจสอบที่เป็นอิสระ ส่วนการบังคับใช้กฎหมายจะต้องดำเนินการตามคำ วินิจฉัยของป.ป.ช.ได้ เพราะขณะนี้เกิดความลักลั่นของหน่วยงานต่างๆ ไม่เช่นนั้นจะ ไม่เกิดผล ไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ ไม่สามารถทวงคืนสิ่งที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ถูกทุจริตไป ซึ่งกรธ.รับทราบและจะหารือแลกเปลี่ยนกันต่อไป
หารือกกต. - นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. เป็นประธานประชุมกรธ. โดยเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นประกอบเป็นข้อมูลในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ห้องประชุมอาคาร 3 รัฐสภา เมื่อวันที่ 15 ต.ค. |
ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกป.ป.ช.กล่าวว่า อย่ามาฟรุ้งฟริ้งหรือมโนว่าป.ป.ช.จะขอเพิ่มอำนาจ ยืนยันไม่เคยขอเพิ่มอำนาจตัวเอง เราแค่บอกว่าป.ป.ช.ต้องเป็นอิสระในการทำงาน และขอให้ได้ทำงานเหมือนเดิม เบื้องต้นกรธ.เห็นว่าป.ป.ช.ควรได้รับอำนาจดูแลคดีทุจริตทั้งหมด แต่สามารถส่งเรื่องให้หน่วยงานต่างๆ เช่น สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้น รับไปดำเนินการในคดีเล็กน้อยได้ รวมทั้งขอให้เขียนในรัฐธรรมนูญว่าคดีไหนที่สำคัญและมีผลกระทบต่อประชาชนให้ป.ป.ช.หยิบเรื่องนั้นขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนได้ในทันที
โชว์ผลงานครบรอบ 9 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปานเทพ พร้อมกรรมการและผู้บริหารป.ป.ช.แถลงผลงาน ของป.ป.ช.ครบรอบ 9 ปี โดยนายวิชากล่าวว่า ผลงานด้านปราบปรามทุจริต 9 ปี ตั้งแต่ปี 2550-2558 ได้แก่ เรื่องค้างสะสมยกมาจากคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดที่ 2 จำนวน 11,578 เรื่อง และเรื่องกล่าวหารับใหม่ 26,000 เรื่อง รวม 37,578 เรื่อง ดำเนินการเสร็จ 26,530 เรื่อง คงเหลือ 11,048 เรื่อง ซึ่งเกี่ยวข้องกับนักการเมืองท้องถิ่นถึงร้อยละ 50 เจ้าหน้าที่รัฐตำแหน่งผอ.หรือเทียบเท่าขึ้นไปร้อยละ 25 เจ้าหน้าที่รัฐตำแหน่งผอ.หรือเทียบเท่าลงมาร้อยละ 15 อธิบดีขึ้นไปร้อยละ 10 ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในองค์กรอิสระ ผู้พิพากษา อัยการ ร้อยละ 5
นายวิชากล่าวว่า เรื่องไต่สวนข้อเท็จจริงที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอาญาและร่ำรวยผิดปกติ ที่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556-2558 มูลค่ารวม 525,117,282,617 บาท จาก 193 คดี แบ่งเป็นหน่วยงานรัฐ 403,764,834,505 บาท หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 121,183,627,791 บาท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 168,820,319 บาท โดยความเสียหายจากคดีทุจริตกว่า 5 แสนล้านบาทมาจากคดีรับจำนำข้าวส่วนหนึ่งที่น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. สมัยเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง สรุปตัวเลขความเสียหายขณะนั้นออกมา แต่ยังไม่ใช่ยอดรวมความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด
สอบทรัพย์สินคนดังอื้อ
นายวิชากล่าวว่า ผลงานด้านตรวจสอบทรัพย์สิน ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยกรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน หรือยื่นบัญชีทรัพย์ สินเป็นเท็จรวม 148 คน เป็นกรณีจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริง 5 เรื่อง ได้แก่ นายพงศ์เวช เวชชาชีวะ อดีตส.ส.เลือกตั้งปี 2554 นายวิชิต ชิตวิเศษ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองบ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี นายสมมิตร ไชยโชติ นายกอบต. บางสวน อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา นางศมานันท์ เหล่าวนิชศิษฐ์ นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี นายจิรโรจน์ บวรฐิติไพศาล นายกอบต.สังคม อ.สังคม จ.หนองคาย
กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีฯ ในเวลาที่กำหนด 57 เรื่อง ร่ำรวยผิดปกติ 4 เรื่อง ได้แก่ ปี 2550 นายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ 49 ล้านบาท ปี 2555 นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม 65 ล้านบาท ปี 2557 น.ส.ณัฐกมล นนทะโชติ ประจำสำนักนายกฯ 68.5 ล้านบาท พล.อ. เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม 296 ล้านบาท ปี 2558 และนาย สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรมว.ศึกษาธิการ 16 ล้านบาท
พบพิรุธขายข้าวจีทูจีรอบใหม่
นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงการไต่สวนกรณีซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) รอบใหม่กับบริษัทจีน 4 แห่งโดยมิชอบ ซึ่งมีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และนางปราณี ศิริพันธ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่า จากการไต่สวนเบื้องต้นเห็นข้อพิรุธหรือมูลของการกระทำผิดนั้นๆ เนื่องจากบริษัทจีน 4 แห่งไม่ใช่ตัวแทนจากรัฐบาลจีนจริง แต่เป็นการแอบอ้าง คล้ายมากกับกรณีระบายข้าวแบบจีทูจีที่ป.ป.ช.เคยชี้มูลความผิดนายบุญทรงและพวกไปแล้ว
ทั้งนี้ ได้ขอเอกสารจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ในส่วนการทำสัญญาซื้อขายข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งป.ป.ช.ได้รับและตั้งคณะทำงานตรวจสอบรายละเอียดและความถูกต้องในการอนุมัติ การเจรจา สัญญาซื้อขายข้าวดังกล่าว ขณะนี้พบเอกสารการชำระหนี้ที่ไม่ได้ขายข้าวส่งออกต่างประเทศจริง แต่กลับซื้อขายข้าวภายในประเทศไทย เป็นแคชเชียร์เช็ค 1,822 ใบ วงเงินกว่า 96,390 ล้านบาท ทำให้ต้องสอบพยานบุคคล ผู้แทนปลัดกระทรวงพาณิชย์ และผู้เชี่ยวชาญทั้งในอดีตและปัจจุบัน
แยกแคชเชียร์เช็ค 1.5 พันล.
"ที่ยากคือคัดแยกแคชเชียร์เช็ค 1,822 ใบ ซึ่งผู้ประกอบอาชีพค้าข้าวได้ออกเช็คไว้ ในนามกรมการค้าต่างประเทศ เราจะแยกธนาคาร สาขา จะได้รู้ว่าใครเกี่ยวโยงกับแคชเชียร์เช็คอย่างไร ต้องติดต่อธนาคารและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งความเกี่ยวข้องกับบริษัทจีนทั้ง 4 แห่ง ว่าโยงใยกับกรณีระบายข้าวล็อตแรกหรือไม่ แต่ทราบว่ามันโยงใยกันพอสมควร ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญที่จะทราบว่าเป็นขบวนการเดียวกันทั้งหมดจริงหรือไม่" นายประสาทกล่าว
นายประสาทกล่าวว่า น่าสังเกตคือ กระ ทรวงพาณิชย์ประสานมาว่ามีเงินค่าชำระข้าวในกรณีนี้อยู่ 1,500 ล้านบาท จะทำอย่างไรกับเงินส่วนนี้ เพราะมีการร้องขอมาว่าให้คืนเงินกับบริษัทเอกชนไป หรือต้องขายข้าว เขาไป ถือเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่เรากำลังตรวจสอบว่าแคชเชียร์เช็คกับเงิน 1,500 ล้านบาท เกี่ยวข้องหรือไม่กับบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง นี่คือที่สืบข้อมูลมาได้ระดับหนึ่ง ถ้าพบว่าเกี่ยวข้องจะได้ยึดหรืออายัดแคชเชียร์เช็คดังกล่าวต่อไป
นายปานเทพตอบข้อซักถามกรณีผ่านมา 9 ปี เหตุใดป.ป.ช.ยังไม่หลุดพ้นข้อครหาเรื่อง 2 มาตรฐานได้ว่า ขึ้นอยู่ว่าใครเป็นคนพูด ถ้าเห็นว่าป.ป.ช.ตรวจสอบแล้วไปชี้มูลเขาก็หาว่าเราสองมาตรฐาน แต่ยืนยันว่าเราทำงานยึดถือข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมาย ใครผิดก็ว่าตามผิด แล้วแต่สังคมจะมองอย่างไร เพราะมีบางคนมองว่าป.ป.ช.ดีก็เยอะ ต่างคนต่างมอง แต่ใจเรารู้ว่าเราทำงาน ยึดตรงนี้ตลอด
คุย 12 คดี-บางเรื่องรัฐมีแววชนะ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินการกับ 12 คดีสำคัญที่รัฐบาลเป็นโจทก์ 6 คดีและเป็นจำเลย 6 คดีตามที่นายกฯมอบหมายว่า ทั้ง 12 โครงการต้องดำเนินการพร้อมกัน เพราะแต่ละโครง การมีผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว ตนเป็นแค่เซ็นเตอร์ของศูนย์ข้อมูลเท่านั้น จะเรียกคนที่รับผิดชอบแต่ละโครงการมาพูดคุย ต่อข้อถามว่าข้อมูลหลักฐานแต่ละโครงการยังอยู่ครบหรือไม่ เพราะบางคดีผ่านมานาน นายวิษณุกล่าวว่า ยอมรับว่าบางเรื่องก็มีปัญหา แต่บอกไม่ได้ว่าเรื่องอะไรบ้าง เพราะจะเผยจุดอ่อนให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นเปล่าๆ
เมื่อถามว่าแต่ละโครงการที่มีปัญหาเพราะข้าราชการไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า คิดว่าวันหนึ่งต้องพูดประเด็นนี้ แต่ตอนนี้หน้าสิ่วหน้าขวานที่จะพูดถึง 12 คดี ถ้าเราพูดตำหนิเขา เขาอาจไม่ทำงาน ต้องเห็นใจคนที่มารับผิดชอบ 12 คดีในวันนี้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ และในที่ประชุมครม. ตนชี้แจงหมดว่าโครงการไหนเกิดในรัฐบาลไหน แต่ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลนั้นผิด เพราะบางเรื่องมีแววว่ารัฐบาลจะชนะ และใครเป็นรัฐบาลวันนั้นก็ต้องตัดสินใจแบบนั้น แต่วันนี้เพราะรัฐบาลตัดสินใจแบบนั้นเลยเป็นคดีอยู่
สอนมวยทนายปู-แบไต๋คดีข้าว
นายวิษณุกล่าวกรณีทนายความน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ คัดค้านการที่นายกฯจะใช้คำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายคดีรับจำนำข้าวและให้ข่าวตอบโต้รายวันว่า เป็นสิทธิ์ เขาก็ต้องดิ้นรนเป็นธรรมดา ตนเห็นข่าวโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุถึงทนายของอดีตนายกฯว่าหากคิดว่าการดำเนินการของฝ่ายรัฐมีจุดบกพร่องแล้วเหตุใดจึงออกมาบอกก่อน ตนก็มองว่าแปลกดีเพราะแทนที่จะเก็บเงียบอุบไต๋ไว้สู้ในศาล เมื่อถึงเวลายกมาพูดในศาลตูมเดียวให้หงายหลัง กันไป แต่กลับมาบอกเป็นรายวันว่าอะไร ไม่ดี แนะให้รัฐไปฟ้องศาลนั้นศาลนี้ ซึ่งไม่รู้จะบอกทำไม วันนี้เปิดออกมาหมดจนอัยการ กระทรวงการคลังเห็นหมดแล้ว ขณะที่รัฐบาลเปิดไม่หมด ยังเก็บไว้อีกหลายเรื่อง
รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนที่ทนายยก พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการในทางปกครองพ.ศ.2539 ขึ้นมาอ้างว่าการดำเนินการเรื่องนี้ไม่ใช้กับครม.นั้น กฎหมายดังกล่าวเป็นอีกฉบับและมีเงื่อนไขในการนำมาใช้ ตอนนี้ไม่นำมาใช้กับครม.เพราะพูดถึงบางคนในครม. ซึ่งมีทั้งรับผิดเป็นส่วนตัวและรับผิดเป็นส่วนรวม อย่างคดีหวย 2 ตัว 3 ตัว เขาฟ้องทั้งครม. แต่เมื่อถึงเวลาศาลแยกเป็นรายคนว่าใครผิด
ยอมรับขยายเวลาสอบ 30 วัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่นายกฯไม่ต้องลงนามในขั้นที่สอง เมื่อส่งเรื่องถึงคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด เป็นการเลี่ยงให้นายกฯไม่ต้องถูกฟ้องกลับหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถึงนายกฯจะไม่เซ็น ก็ไม่ใช่จะหาทางฟ้องไม่ได้ หากทนายเขาเก่งก็มีช่องฟ้องได้ จึงไม่เกี่ยวกัน ส่วนที่มีข่าวรัฐบาลขยายเวลาให้เพื่อเชิญน.ส.ยิ่งลักษณ์ มาพูดคุยนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ครบกำหนดการให้เข้าชี้แจงเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา แต่มีบางประเด็นที่ผู้บังคับบัญชาต้องการให้สอบถามเพิ่มเติม ซึ่งกรรม การยังให้คำตอบไม่ชัดเจน จึงให้สอบถามอีกครั้ง ขยายเวลาออกไปได้อีก 30 วัน ถามเขาไปใหม่ว่ายินดีจะมาอยู่หรือไม่ ส่วนจะถามอะไรนั้น ตอบไม่ได้
ต่อข้อถามว่าการเรียกเก็บค่าเสียหายเป็นวงเงินสูงถึงแสนล้านบาท เป็นวงเงินมากที่สุดตั้งแต่บังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดฯหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบแต่ในกฎหมายมีช่องทางผ่อนผันหรือลดลงมาได้ เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยโต้ว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์กับชาวนา รองนายกฯ กล่าวว่า ในสำนวนไม่ได้ระบุว่านโยบายผิดและอดีตนายกฯทุจริต แต่พูดว่ามีการปล่อยให้ทุจริต ซึ่งคนอื่นเป็นคนทุจริต และเมื่อมีการบอกว่าทุจริตมาแล้วกลับไม่แก้ไข ไม่ตรวจสอบ ไม่ดำเนินการ จึงกลายเป็นความผิดของผู้บังคับบัญชา
"นรวิชญ์"ฉะ"ไก่อู"ไม่รู้เรื่อง
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงกรณี พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการคัดค้านการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ด้วยการออกคำสั่งทางปกครองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า เกรงว่า พล.ต.สรรเสริญ จะไม่รู้ระเบียบกติกาการสอบสวน ไม่ควรพูดเรื่องคดี และตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกฯไม่มีหน้าที่ไปตอบเรื่องการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด
ส่วนที่ พล.ต.สรรเสริญ ออกมายอมรับเรื่องความมีส่วนได้เสียที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ตั้งกรรมการชุดนี้นั้น ก็พอฟังได้ แต่ควรเป็นหน้าที่ที่คณะกรรมการจะชี้แจงเอง เพราะ 1.พล.ต.สรรเสริญ เป็นโฆษกประจำสำนัก นายกฯ เป็นทหารมาตลอด ก่อนแถลงอาจไม่ได้ศึกษาระเบียบว่าด้วยการสอบสวนว่าเขามีกติกา และวิธีการอย่างไรจึงออกมาพูดโดยไม่รู้เรื่อง และมีท่วงทำนองดูหมิ่นดูแคลนในลักษณะดูถูกบุคคลที่เป็นถึงอดีตนายกฯ และอดีตรมว.กลาโหม
2.การตอบเป็นหนังสือและการถามเป็นหนังสือ ถือเป็นสิทธิตามกฎหมายและระเบียบให้ที่กระทำได้ 3.ตนขอตั้งข้อสังเกต และแสดงความหนักใจกับวิธีการทำงานของคณะกรรมการสอบสวน ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คัดค้าน คือ ไม่ดูความเหมาะสมของวันเวลาที่สอบสวนในลักษณะทำงานตามอำเภอใจ คือ อยากจะกำหนดวันนัดวันไหนก็นัด ไม่ปรึกษาหารือวันนัดหมายและนัดก็มีลักษณะเชิงบังคับ
เชื่อเร่งคดีแพ่งไปเติมอาญา
"ผมขอยืนยันในฐานะทนายความว่า ทำกันตรงไปตรงมา เราไม่เคยกลัว และคิดจะถ่วงเวลาอะไร ยกตัวอย่างการทำหน้าที่ของป.ป.ช. ในคดีนี้ที่ผ่านมาเร่งรีบ พอมาถึงศาลต้องเป็นภาระให้อัยการต้องมาเพิ่มพยานบุคคลร่วม 10 ปาก พยานเอกสารอีก 6 หมื่นกว่าฉบับ จนทำให้เป็นปัญหาจนถึงวันนี้" นายนรวิชญ์กล่าว
นายนรวิชญ์กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่า การรีบเร่งครั้งนี้มีนัยสำคัญในทางเป็นประโยชน์ต่อคดีอาญา ต้องการเร่งรีบเอาผลสอบสวนคดีแพ่งไปเติมให้คดีอาญา เพราะขณะนี้อัยการได้ยื่นบัญชีระบุพยานเกี่ยวกับผลการสอบสวนคดีแพ่งไว้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งที่ผลสอบยังไม่รู้ผล ตนจึงจำเป็นต้องตั้งข้อสังเกตให้สังคมรับรู้ในข้อเท็จจริงอีกมุมหนึ่งด้วย ว่าที่ผ่านมาประเด็นความเสียหาย ป.ป.ช.ได้แต่แถลง แต่ในสำนวนไม่มีประเด็นความเสียหาย จึงจะเอาผลทางคดีแพ่งไปเติม ที่สำคัญคือ คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล โฆษกรัฐบาลมายืนยันได้อย่างไรว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ทำผิด ต้องระมัดระวังคำพูดด้วย แต่พอเข้าใจได้ว่าท่านทำหน้าที่โฆษก ที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย
"ตู่"อัดมุ่งเล่นงาน-เห็นผลไว
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกลว่า กรณีนี้เป็นการเลือกปฏิบัติและมุ่งเล่นงานให้เกิดผลเร็วขึ้น เนื่องจากไม่สามารถเอาผิดในข้อหาทุจริตได้ ซึ่งตนจะไม่เถียงเลยถ้านายวิษณุ หรือ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล มีหลักฐานว่า เงินโอนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่ได้เข้าบัญชีชาวนา แต่เข้ากระเป๋าน.ส. ยิ่งลักษณ์ ถึง 5 แสนล้านบาท ถ้ามีหลักฐานอย่างนี้ คนไทยจะรุมเล่นงานด้วย แต่เมื่อเอาผิดทางทุจริตไม่ได้ กลับมาเจอการเรียกให้จ่ายค่าเสียหาย บ้านเมืองไปแบบนี้ไม่ได้
นายจตุพรกล่าวว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลตั้งใจจะฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย แต่ใช้เวลานานจนกว่าจะรู้ผล จึงออกคำสั่งทางปกครองเพื่อให้เกิดผลที่เร็วขึ้น ดังนั้น เมื่อจุดเริ่มต้นไม่ใช่การทุจริต แม้ป.ป.ช. บอกว่าปล่อยปละละเลย แต่กลับมาเรียกร้องค่าเสียหายถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งไม่มีใครมีปัญญาจ่าย ถึงยึดสมบัติทุกอย่างหมดก็ไม่พอจ่าย และในอนาคต คงไม่มีรัฐบาลใดกล้าเสนอนโยบายประชานิยมแล้ว เพราะเห็นชะตากรรม จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งไม่ใช่ว่าชื่อประชานิยม หรือชื่ออะไรก็ได้ ถ้าประชาชนกินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต
อย่าประมาทอารมณ์สงสาร
นายจตุพรกล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องต่อสู้จึงจะมีความหวังว่าอาจจะรอด หากไม่สู้เลย ย่อมหมดสิทธิ์รอด ไม่ใช่เสียทรัพย์สินแต่จะเสียความเป็นคน จะสู้หน้าสังคมได้อย่างไร กรณีนี้เกิดขึ้นเป็นรายแรกของไทย และเป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะราย ทั้งที่กรณีอื่นของรัฐบาลในอดีตไม่มีความผิดเลย ดังนั้นผู้มีอำนาจต้องคิดว่าถ้าใช้หลักการเดียวกันแล้วจะมีอดีตนายกฯ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่เต็มไปหมด
"เมื่อจุดเริ่มต้นไม่ใช่การทุจริต ก็ต่อสู้กับการปล่อยปละละเลย แต่ต้องมาใช้ค่าเสียหาย 5 แสนล้านบาท ซึ่งบีบให้หนี เชื่อว่าคนไทยไม่ขัดข้องหากได้พิสูจน์แล้วมีความผิด แต่ไม่ได้พิสูจน์ในขั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช. ดังนั้น อย่าประมาทอารมณ์สะเทือนใจ สงสาร อัดอั้นตันใจกับคนที่ถูกกระทำ ใครวางแผนก็ตามลองนึกภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เร่นอนบ้านชาวนาแต่ละคืน จะเกิดภาพอารมณ์อย่างไร ซึ่งน่ากลัวมาก" นาจตุพรกล่าว
"เหวง"เตือนกระพือแตกแยก
นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มนปช. กล่าวว่า รัฐบาลนี้อ้างพ.ร.บ. 2 ฉบับเพื่อใช้อำนาจทางการปกครอง บังคับเอาผิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ในตัว พ.ร.บ.กลับเขียนไว้ชัดเจนว่าไม่สามารถนำมาใช้กับอดีตนายกฯ ในโครงการจำนำข้าวได้เนื่องจาก 1.พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ได้ บัญญัติศัพท์คำว่าเจ้าหน้าที่ที่จะบังคับใช้ได้ในมาตรา 4 ซึ่งไม่มีอักษรใดบ่งบอกว่า บังคับใช้กับนายกฯ ได้ เพราะนายกฯ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนี้ แต่เป็นประมุขฝ่ายบริหาร และต้องบริหารตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
2.เจ้าหน้าที่ตามที่บัญญัติในมาตรา 4 ต้องกระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงจะบังคับให้ต้องรับผิดตามมาตรา 8 ได้ 3.พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 4(1) ว่าพ.ร.บ.นี้มิให้นำมาใช้บังคับแก่รัฐสภาและครม. หากรัฐบาลนี้ต้องการดำเนินการกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ต้องไปฟ้องต่อศาลแพ่ง ทำไมไม่ทำ ขณะนี้มีการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและศาลประทับรับฟ้องไว้แล้ว ทำไมไม่อดทนรอ
"รัฐบาลชุดนี้ต้องการปรองดอง ปฏิรูปประเทศ แก้ไขความขัดแย้งให้กลับสู่ความสมานฉันท์ไม่ใช่หรือ การกระทำเช่นนี้จะนำไปสู่ความสงบปรองดองสมานฉันท์ หรือจะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นกันแน่" นพ.เหวงกล่าว
ครูหยุยตั้งกระทู้อัดรบ.เก่า
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา ในการ ประชุมสนช. มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามของนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. ถามพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เรื่องความเหมาะสมในการพิจารณาการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมว่า การดำเนินการของกองทุนยุติธรรมในปี 2557 มีคำร้องเข้ามา 2,379 เรื่อง ดำเนินการแล้ว 2,200 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 179 เรื่อง
ทั้งนี้ หากจำแนกรายละเอียดใน 2,200 รายจะพบว่าเป็นค่าใช้จ่าย 46 ล้านบาท โดยเงินส่วนใหญ่ 78% ใช้ไปกับการประกันตัว 36 ล้านบาท รองลงมาเป็นค่าจ้างทนาย 6 ล้านบาท คิดเป็น 13% และค่าธรรมเนียมศาล 5% จะเห็นว่าหลายกรณีเป็นการใช้เงินที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ซึ่งกำหนดว่าจะต้องไม่เป็นการไม่รักษาประโยชน์ส่วนรวม หรือละเมิดศีลธรรมอันดี แต่กลับพบว่ามีการใช้เงินไปกับจำเลยในคดีร่วมกันก่อการร้าย ที่บางรายยังหลบหนีคดี จึงอยากถามถึงหลักเกณฑ์และจะดูแลการใช้เงินกองทุนอย่างไรไม่ให้นำเงินภาษีมาช่วยเหลือกลุ่มคนที่ทำร้ายประเทศ
ด้านพล.อ.ไพบูลย์ชี้แจงว่า การดำเนินการกองทุนนั้นเป็นไปตามมติ ครม.ยุคนั้น ที่ดำเนินตามนโยบายรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์กฎเกณฑ์ของกองทุน แต่ในรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีคำสั่งให้ไปดำเนินการอะไร ทุกอย่างอยู่บนหลักเกณฑ์