- Details
- Category: การเมือง
- Published: Thursday, 15 October 2015 10:24
- Hits: 4579
วิษณุ พลิ้วคดีปู รมต.เซ็นแทนตู่ ยื่นสอบ'อุตตม'พันคดีกรุงไทย
รำลึก 42 ปี 14 ตุลาหวิดวุ่น ตร. ขวางพลเมืองโต้กลับ-ดาวดิน ทำกิจกรรมอนุสาวรีย์ปชต. มธ.จัดเสวนารธน. นักวิชาการห่วงร่างขัดหลักการนำสู่วิกฤต กรธ.ส่อตัดมาตรา 7 วิษณุพลิ้ว'คดีปู' นายกฯไม่ต้องเซ็น โยนรมต.สั่งคดีแทน แจงวุ่นไม่เกี่ยวเซฟ"บิ๊กตู่" นักวิชาการติง"รบ.'บี้ผิดละเมิด ชี้ต้องแจงข้อสงสัยทางกม.ให้ชัด ยิ่งลักษณ์ทำบุญ-ทอดผ้าป่า พท.แถลง 7 ข้อเสนอถึงกรธ. ย้ำจุดยืน 10 ข้อ ทนายยื่น ดีเอสไอให้สอบ'อุตตม' โยงคดีกรุงไทย
วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9087 ข่าวสดรายวัน
รำลึก 42 ปี '14ตุลาฯ16'คึกคัก
เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 14 ต.ค. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา16 สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง มูลนิธิ 14 ตุลา จัดงานรำลึกและปาฐกถาเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มีพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 14 รูป พิธีกรรมทางศาสนา ทั้งพุทธ อิสลาม และคริสต์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต มีผู้ร่วมงาน อาทิ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะตัวแทนนายกฯ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.เป็นตัวแทนจากสนช. นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวรชัย เหมะ และนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ และนางละเมียด บุญมาก ภรรยานายจีระ บุญมาก วีรชน 14 ต.ค.16 ในฐานะนายกสมาคมญาติและวีรชน 14 ต.ค.16 ผู้แทนฝ่ายประชาธิปไตยและแรงงาน ผู้แทนชาวบ้าน นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน ผู้แทนเยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชน กลุ่มและองค์กรต่างๆ นำพวงมาลามาวางเพื่อไว้อาลัยแก่วีรชนในเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 และกล่าวสดุดีวีรชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่สน.ชนะ สงคราม 1 กองร้อยมารักษาความปลอดภัย ก่อนเริ่มงานมีกลุ่มญาติวีรชน 14 ต.ค.16 ถือป้ายเรียกร้องขอความเป็นธรรม ให้รัฐบาลเร่งรัดการจ่ายเงินเยียวยาตามมติของครม.เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2549
"ดาวดิน"ร่วมอ่านแถลงการณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังมีนายพายุ บุญโสภณ นายภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ พร้อมแกนนำกลุ่มดาวดินอ่านแถลงการณ์และใส่หน้ากากถือป้ายข้อความว่า "ขอสรรเสริญ วีรชน 14 ตุลา ผู้กล้าแห่งห้วงยุคสมัย มาวันนี้ลืมอุดมการณ์หรืออย่างไร จึงเปลี่ยนใจมารับใช้เผด็จการ" พร้อมทำสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว และกล่าวว่าขอบคุณรัฐบาลที่ให้บทเรียนกับนักศึกษาทำให้เรารู้ว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยมีค่ามีความสำคัญขนาดไหน รัฐบาล คสช.ห้ามออกมาเรียกร้อง ทำให้เวลานี้ประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพมากกว่าช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ16
นางละเมียด บุญมาก กล่าวว่าปัจจุบันมีการปฏิวัติหลายครั้ง สาเหตุเกิดจากนักการเมืองไม่ปรองดองกัน ถ้าใครได้เป็นรัฐบาลก็เกิดการประท้วง จะวนอยู่เช่นนี้ ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ แล้วเราจะจัดงานรำลึกกันทำไม เพราะทุกคนกำลังแย่งชิงดีชิงเด่น วันนี้ครบรอบ 42 ปี 14 ตุลาฯ16 ซึ่งที่ผ่านมาญาติวีรชนยื่นเรื่องสิทธิการเยียวยาและติดตามในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์แล้ว 10 ครั้ง แต่เรื่องยังไม่คืบหน้า เราต้องการสิทธิตรงนี้ ขอแค่ 7,000 บาท ครม.ก็อนุมัติแล้ว แต่ยังไม่ยอมให้ แล้วมารำลึกกัน ไม่ละอายใจหรืออย่างไร ซึ่งเราพร้อมออกมาเรียกร้องสิทธิตรงนี้
เสวนารธน.-ห่วงขัดหลักการ
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ท่าพระจันทร์ จัดงานเสวนาวิชาการในโอกาสรำลึก 42 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 "ว่าด้วยรัฐธรรมนูญ และอุดมคติ" มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายภูริ ฟูวงศ์เจริญ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ., นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และอดีตกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และนายไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
นายพรสันต์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่ดีมีมาตรฐาน จำเป็นต้องมี 3 คุณค่าพื้นฐาน ได้แก่ คุณค่าการให้ความสำคัญกับมนุษย์ ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งสิทธิเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นเพียงแค่กระบวนการ แต่ถ้าดูตามหลักการของรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งถือเป็นการรับรองความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ใครที่ปฏิเสธการเลือกตั้งก็คือการปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของคนอื่น คุณค่าเชิงพันธสัญญา นำไปสู่การออกแบบกลไกจำกัดการใช้อำนาจของผู้ปกครอง ไม่ให้ ผู้ปกครองใช้อำนาจ โดยอำเภอใจ นำไปสู่การออกกฎหมายโดยส.ส. และคุณค่าในทางสาธารณะ นำไปสู่การเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ถ่วงดุลตรวจสอบผู้ใช้อำนาจ
"ทั้ง 3 คุณค่าจะทำให้เกิด 2 หลักการใหญ่ คือหลักประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม ดังนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญมีเนื้อหาทำลายหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ก็ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาตรฐาน ยืนยันว่าการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับ หลักการ จะนำไปสู่วิกฤต ไม่สามารถปฏิรูปประเทศได้" นายพรสันต์กล่าว
ต้องให้ชนชั้นนำอยู่ในระบบ
ด้านนายภูริกล่าวว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญอาจไม่ใช่เรื่องของอุดมคติทั้งหมด เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหา และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแบบก้าวกระโดด อาจนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองหรือเป็นประชาธิปไตยในระยะเวลาสั้นๆ แล้วถูกล้มกระดาน ดังนั้น เราจะออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างไรให้กลุ่มอำนาจเก่าหรือชนชั้นนำดั้งเดิมยอมรับที่จะอยู่ในระบบโดยไม่ล้มกระดาน ทั้งนี้ ปัญหาของรัฐธรรมนูญคือการบังคับใช้ ต่อให้เรากำหนดบทลงโทษไว้รุนแรงเพียงใด หากละเมิดรัฐธรรมนูญก็ไม่มีประโยชน์เพราะเราไม่สามารถทำให้กลุ่มที่มีอำนาจเหลือล้นกลัวและยอมรับได้
ขณะที่นายไพโรจน์กล่าวว่า การสร้างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม ควรมีโครงสร้างที่เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ให้สิทธิ เสรีภาพประชาชน จัดโครงสร้างทางการเมือง รวมถึงสร้างการถ่วงดุลอำนาจรัฐ ผ่านองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการสร้างประชาธิปไตยมุมใหม่โดยประชาชน และทำให้ภาคประชาชนเติบโต เป็นการยืนยันว่าประชาธิปไตยจะเดินหน้า
ติงอคติในมาตรา 35
นายไพโรจน์กล่าวต่อว่า ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญรอบใหม่ที่มีโจทย์ตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และโจทย์ที่สังคมต้องการคือความปรองดองและปฏิรูป แม้จะกำหนดให้รัฐธรรมนูญใหม่ตอบโจทย์ปรองดองหรือปฏิรูป แต่ไม่แน่ใจว่าจะทำได้จริงหรือไม่ เพราะมีมาตรา 35 ที่มีอคติครอบไว้ หากผู้ร่างรัฐธรรมนูญตอบโจทย์หลักการประชาธิปไตย นิติธรรมไม่ได้ อนาคตจะเกิดความขัดแย้ง
นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้น การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องคำนึงด้วยว่าไม่ควรใช้มาตรา 35 ที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าชี้นำการเขียนรัฐธรรมนูญเท่านั้น ขณะที่การปรองดองไม่ควรเขียนอย่างละเอียดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ควรกำหนดเพียงหลักการของการแสวงหาความจริงร่วมกัน บุคคลที่ทำผิดต้องถูกลงโทษ สร้างระบบเยียวยาในสังคมไทยที่ไม่ขึ้นอยู่กับความพอใจของฝ่ายการเมือง และกลไกการปรองดองต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
พลเมืองโต้กลับรำลึก 14 ตค.
เวลา 17.00 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กลุ่มพลเมืองโต้กลับและขบวนการประชาธิปไตยใหม่ กลุ่มดาวดิน จัดกิจกรรมรำลึกตุลาฉบับพลเมือง มีประชาชนประมาณ 200 คน ร่วมชุมนุมรำลึก ผลัดกันร้องเพลงและปราศรัยโจมตี คสช. และรำลึกถึงวีรชนที่เสียชีวิตจากการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2516
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 100 นาย มาดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะที่นายสิรวิชญ์ เสรีวิวัฒน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้นำประชาชนเดินออกจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เพื่อมุ่งหน้าทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยถือป้ายข้อความ อาทิ ศรัทธาประชาธิปไตย ขอประชาธิปไตยที่แท้จริง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแนวป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายออกจากสถานที่ แต่ผู้ชุมนุมพยายามดันแนวป้องกันของตำรวจ ขยับมาจนถึงฟุตปาธถนนราชดำเนินกลาง เพื่อเตรียมข้ามไปยังฝั่งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
นายสิรวิชญ์กล่าวว่า ที่เรามากันในวันนี้เพื่อมารำลึกถึงวีรชน ในขณะเดียวกันก็ขอประณามคนที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแต่มาวันนี้กลับไปรับใช้เผด็จการ ขอย้ำว่าประชาชนจะไม่มีวันลืมอุดมการณ์ของคนที่เปลี่ยนไป จากนั้นผู้ชุมนุมได้ร่วมกันจุดเทียนและร่วมกันร้องเพลงบทเพลงของสามัญชน
ตร.รุดขวางหวิดวุ่น
พ.ต.อ.ชุมพล ชาญชนะโยธิน ผกก.สน.สำราญราษฎร์ นำประกาศเจ้าหน้าที่เรื่องการทำชุมนุมในที่สาธารณะ ตามพ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ.2558 มาอ่านต่อหน้า ผู้ชุมนุม ว่า การชุมนุมมีความผิดตามพ.ร.บ. ดังกล่าวและผิดประกาศคำสั่ง คสช. เนื่องจากผู้ชุมนุมไม่ได้แจ้งขออนุญาต เจ้าหน้าที่ก่อนการชุมนุม 24 ช.ม. ขอให้ยุติการชุมนุมโดยทันที อีกทั้งเป็นการชุมนุมทางการเมืองโดยชัดเจน
เวลา 18.50 น. นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวกับเจ้าหน้าที่ว่า การชุมนุมเป็นเพียงการรำลึกเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ที่เป็นประเพณีปฏิบัติกันมา 10 กว่าปีแล้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ยอมเปิดทาง ให้ผู้ชุมนุมข้ามมาฝั่งเกาะกลางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้สำเร็จ และมีการเดินเวียนรอบอนุสาวรีย์ 3 รอบ
บิ๊กป้อมย้ำอยากได้"คปป."
ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยืนยันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ(คปป.) เพื่อแก้ปัญหาความแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า ต้องรอดูนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จะเขียนรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไร ซึ่งคปป.จะมีหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ แต่มองว่าต้องมีกลไกที่ทำให้ไม่ถึงทางตัน และต้องเดินต่อไปในอนาคตได้ เราไม่อยากให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก ตนอยากให้ทุกเรื่องจบ และอยู่กันอย่างเป็นสุขดีกว่า ไม่มีใครอยากเป็นใหญ่ทั้งนั้น รวมถึงตนด้วย
"ผมขอพูดตรงๆ ว่าขอให้จบเสียที เรื่องการปฏิวัติต่างๆ น่าจะพอได้แล้ว ต่อไปปัญหาทางการเมืองก็ต้องแก้ไขกันเอง ตามความคิดของผม อยากให้เป็นแบบนั้น คิดว่าทุกคนก็คงคิดแบบผม ทั้งนี้เป็นเจตนาของคสช.ที่ไม่อยากเห็นความขัดแย้งเกิดขึ้น คนแพ้ก็ต้องยอมรับว่าแพ้ คนชนะก็ว่ากันไป ไม่ใช่แพ้แล้วก็ออกมาเพราะประชาชนที่ไม่รู้เรื่องจะเสียหายด้วย" พล.อ.ประวิตรกล่าว
ชี้นายกฯคนนอกเพื่อแก้วิกฤต
เมื่อถามถึงกรณีมีการพูดถึงนายกฯคนนอก พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าขึ้นอยู่กับประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจ หลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ต้องทำประชามติว่าประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่ ส่วนที่มีกระแสข่าวอาจเป็นคนในคสช.เข้ามาเป็นนายกฯคนกลางนั้น ตนยืนยันว่าไม่มีคนในคสช.เล่นการเมืองอย่างแน่นอน รวมถึง นายกฯและตนด้วย ตนไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร อย่าลืมว่านายกฯคนนอก คนที่เลือกมาคือส.ส. ไม่ใช่ใครจะเชิญมาก็ได้ ตนมองว่าถ้าเป็นปกติแล้วเขาจะเลือกคสช.เข้ามาหรือไม่ เรื่องนี้ทำไว้เพื่อป้องกัน หากเกิดวิกฤตขึ้นอีก เพราะไม่อยากให้มีปัญหาอีกในอนาคต
เมื่อถามว่ามองอย่างไรกับการทำงานของสนช.และสปท. พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าเราต้องดำเนินตามโรดแม็ปให้ได้ คสช.กำหนดชัดเจนแล้ว จะดีหรือไม่ดีอย่างไร ตนตอบไม่ได้ แต่ทุกหน่วยงานและแม่น้ำทุกสายต้องเดินตามโรดแม็ปคสช.ให้ได้
ยันไม่ใช้ ม.44 ฟันคดีข้าว"ปู"
"คสช.อยู่อีก 20 เดือนอย่างช้าที่สุด ถ้าเร็วขึ้นก็ว่ากันไป ขอพอแล้ว ซึ่งคสช.แก้ปัญหาทุกอย่างที่มีมากมาย เพราะเราเข้ามาแล้วต้องทำงาน เราเหนื่อยกันทุกคน ทั้งนายกฯ และผม แต่เราพยายามทำให้ดีที่สุดและโปร่งใส ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องใดๆ ขนาดไม่ยุ่งยังโดนใส่ทุกวัน เขียนข้อความในไลน์ อะไรกันนักหนา ทุกเรื่อง ผมดูแล้วไม่เห็นจะมีเรื่องจริง ไม่เชื่อไปอ่านในไลน์ดู ส่วนกองทัพไม่มีอะไร ไม่ห่วง แต่ห่วงการบริหารราชการแผ่นดินที่พูดกันเรื่อยเปื่อย ไม่จริงสักเรื่อง เขียนกันไปได้ว่าคนนั้นไปทะเลาะกัน เป็นพวกคนนั้น ผมไม่เข้าใจ ผมอยู่ตรงนี้ไม่เห็นมีอะไร แต่เอาผมเข้าไปเป็นตัวละครมากมาย ขนาดอยู่เฉยๆ ทำงานอย่างเดียวก็จะตายอยู่แล้ว" พล.อ.ประวิตรกล่าว
พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงคดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่าทุกอย่างเดินตามกลไกของรูปคดีและตามกฎหมาย เพราะรัฐบาลไม่ได้ไปแกล้ง หรือดำเนินการใดๆ จะไปสั่งศาลได้อย่างไร ศาลต้องว่าตามหลักกฎหมาย ยืนยันว่านายกฯไม่ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ. 2557 เข้ามาดำเนินการอย่างแน่นอน ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
วิษณุเผยคลังยังไม่ชี้"ปู"เลินเล่อ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวกรณีพล.อ.ประยุทธ์สั่งการในที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ให้ติดตามการฟ้องร้องคดีความที่รัฐบาลเป็นโจทย์และเป็นผู้ถูกฟ้อง 12 คดีว่า เป็นวาระสั่งการที่อยู่ช่วงท้ายประชุมครม. เป็นการบ้านที่นายกฯตั้งโจทย์ให้แต่ละกระทรวงไปติดตามงานแล้วรายงานให้ครม.ทราบความคืบหน้า และข้อสั่งการไม่ถือเป็นมติครม. โดยตนรายงานเรื่องคดีต่างๆ ให้ครม.ทราบรวม 12 คดี รัฐบาลเป็นโจทก์ 6 คดี และรัฐบาลจะถูกฟ้องร้อง 6 คดี
นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนการเอาผิดโครงการจำนำข้าว เป็น 1 ใน 12 คดีที่นายกฯให้ติดตามความคืบหน้า ซึ่งคณะกรรมการของกระทรวงการคลังยังไม่รายงานให้ทราบและได้ขอขยายเวลาดำเนินการ จึงยังระบุไม่ได้ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาประมาทเลินเล่อจนเกิดความเสียหายอย่างไร ต้องว่ากันที่ชั้นศาล
ยันพรบ.ปกครองเอาผิดการเมือง
นายวิษณุกล่าวด้วยว่า ส่วนที่ทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุคำสั่งทางปกครองไม่สามารถใช้บังคับกับอดีตนายกฯได้นั้น ตนได้ปรึกษากับอัยการและผู้เกี่ยวข้องบอกว่าต้องไปพูดกันในชั้นศาล รัฐบาลจะไม่พูดตอบโต้เรื่องนี้ แต่จะพูดเท่าที่เป็นความรู้ให้กับประชาชนเพื่อสร้างความรับรู้และเข้าใจ
นายวิษณุกล่าวอีกว่า พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชทางการปกครองนั้น จะครอบคลุมหมด เอาผิดถึงนายกฯด้วย ในนิยามของพ.ร.บ. ระบุว่าใช้กับคำว่าเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่หมายถึงข้าราชการ คือข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง พนักงานของรัฐทุกประเภท รวมทั้งที่เป็นกรรมการด้วย แล้วในพ.ร.บ.หรือในระเบียบที่ออกตามพ.ร.บ. ก็พูดถึงกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นรัฐมนตรี หรือ นายกฯ ให้ดำเนินการอย่างไร เข้าใจว่าทนายฝ่ายนั้นคงได้ดูแล้ว สำหรับพ.ร.บ.ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หากคดีพ้นอายุความ 2 ปี รัฐบาลจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งป.ป.ช.จะเป็นผู้ฟ้องร้องรัฐบาล
"ผมไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการ แต่ย้ำตลอดว่าต้องให้ความเป็นธรรมในการสืบพยาน การจะเชิญใครเข้ามา หากพบว่ายังมีจุดที่ไม่รัดกุมก็ต้องให้เวลา นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่กระทรวงการคลังยังช้าอยู่ เนื่องจากพบว่ามีกรณีต้องให้ความเป็นธรรม" นายวิษณุกล่าว
ปัดนายกฯไม่ต้องเซ็นสั่งคดี
เมื่อถามถึงขั้นตอนการออกคำสั่งทางปกครองเอาผิด นายกฯจะต้องลงนามในคำสั่งเช่นเดียวกับรัฐมนตรีทั้ง 2 กระทรวงใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าแจ้งต่อที่ประชุมครม.แล้วว่า นายกฯจะเกี่ยวแค่ในช่วงต้น เพราะ นายกฯต้องดูในทุกระดับ นายกฯต้องไปร่วมเซ็นด้วยซึ่งถือว่าสิ้นสุดในฝ่ายบริหาร จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการตุลาการ กรรมการความรับผิดทางแพ่ง ซึ่งมีทั้งสตง. กฤษฎีกา อัยการ จะส่งเรื่องไปยังรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ ที่มีการโต้แย้งว่ากระบวนการไม่เป็นไป ตามหลักยุติธรรมเพราะเรื่องไม่ขึ้นศาล แต่กระบวนการเริ่มต้นก็เป็นลักษณะนี้ ต่อไปเรื่องจะไปว่ากันในศาลปกครอง นั่นคือกระบวนการทางตุลาการ
เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้เคยระบุว่านายกฯต้องเซ็นคำสั่งทางปกครอง นายวิษณุกล่าวว่าได้ประชุมเมื่อครึ่งเดือนที่ผ่านมา และมีความเห็นชัดเจนว่านายกฯจะเซ็นหรือไม่ก็ได้ เพราะหากดูตัวกฎหมาย ต้องให้รัฐมนตรีเจ้าของคดีเป็นคนเซ็น ซึ่งกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ไม่ได้สังกัดหน่วยงานใด จึงให้รมว.คลังเป็นผู้เซ็น ส่วนพล.อ.ประยุทธ์จะเซ็นร่วมกับรัฐมนตรีเจ้าของคดีเพียงครึ่งเดียว คือในช่วงแรกเพื่อส่งให้คณะกรรมการความรับผิดในทางละเมิด แต่ครึ่งหลังไม่ต้องเซ็น ที่ทำเช่นนี้ไม่ได้เซฟตัวนายกฯ ถ้าเปิดกฎหมายดูก็จะเห็น และนายกฯประกาศชัดแล้วถ้ามีอะไรผิด จะรับผิดชอบด้วยตัวเอง
ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์ฟ้องร้องกลับจะไม่ถึงตัวพล.อ.ประยุทธ์ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าไม่ทราบ ถ้าทนายเก่งๆ ก็อาจฟ้องถึงตัวก็ได้
นักวิชาการติง"รบ."บี้ผิดละเมิด
วันเดียวกัน นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอาคันตุกะ มหาวิทยาลัยลอนดอน (SOAS) กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะดำเนินการทางปกครองตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลักการละเมิดนั้น กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ให้นิยามที่ชัดเจนว่าอย่างไรจึงเป็นการละเมิด
นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า เห็นได้ว่าความพยายามที่ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากคดีรับจำนำข้าว สร้างความสงสัยให้สังคมว่ามีการกระทำใดที่ผิดกฎหมาย ขัดระเบียบราชการ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพราะการที่รัฐบาลชุดที่แล้วทำนโยบายที่เป็นการอุดหนุนชาวนา รัฐบาลไม่ได้กำไร แต่นี่คือมาตรการทางเศรษฐกิจและเป็นนโยบายทางการเมือง ขณะนี้ยังนึกไม่ออกว่าการอุดหนุนทางเศรษฐกิจนี้ เป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร หรือแตกต่างกับกรณีรัฐบาลเข้าไปช่วยแบกภาระราคาน้ำมันอย่างไร และเหตุใด หากรัฐบาลจะช่วยชนชั้นกลางโดยใช้งบสร้างสนามบินเพื่อให้คนกลุ่มนี้มีช่องทางไปเที่ยวต่างประเทศ หรือในโครงการอื่นที่ได้ประโยชน์ จะไม่มีการโจมตีใดๆ เกิดขึ้น แต่พอช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรหรือภาคแรงงานต่างๆ กลับถูกโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์ ลักษณะนี้เป็นการเอาเปรียบกันหรือไม่
"ขณะนี้บรรยากาศทางการเมืองมีความตึงเครียดอยู่เงียบๆ หากยังมีวิธีการที่ทำให้สังคมสงสัยในหลักกระบวนการยุติธรรม อาจจะยิ่งสร้างความกดดันมากขึ้น ดังนั้น ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะปรองดองหรือบรรยากาศที่ดี จึงควรชี้แจงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าว ผิดกฎหมายหรือระเบียบราชการข้อไหน มีข้อห้ามหรือไม่ที่ไม่ให้รัฐเอาเงินมาช่วยชาวนา" นายวีรพัฒน์กล่าว
ทนายปูโต้วิษณุ
วันเดียวกัน นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงกรณีนายวิษณุระบุไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองว่า ไม่เป็นความจริง เพราะ 1.พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 73/1 วรรคสอง ที่เป็นเหตุให้คณะกรรมการป.ป.ช.ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังตรวจสอบและเรียกร้องค่าเสียหาย แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ระบุให้ใช้กฎหมายใดเรียกค่าเสียหาย และแม้จะใช้พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก็ตาม แต่มิใช่ไม่มีทางเลือกอื่นตามที่นายวิษณุอ้าง
นายนรวิชญ์ กล่าวต่อว่า คดีนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในการปกป้องค่าเงินบาทที่นำมาอ้างเป็นบรรทัดฐานนั้น ความจริงคดีดังกล่าวเมื่อสอบสวนเสร็จ ธปท.ในฐานะหน่วยงานรัฐได้ยื่นฟ้องนายเริงชัยต่อศาลยุติธรรม ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ เพื่อให้ศาลยุติธรรมพิพากษา แทนการออกคำสั่งทางปกครอง
ย้ำคดีลักษณะเดียวกับ"เริงชัย"
2.คดีนายเริงชัย ที่นายวิษณุยกมาเป็นข้ออ้างเทียบเคียงเป็นบรรทัดฐาน มีข้อโต้แย้งของคู่ความในคดีเรื่องเขตอำนาจของศาล ภายหลังธปท.ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรม ปรากฏว่าศาลแพ่งและศาลปกครอง มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามความเห็นที่ 63/2545 ลงวันที่ 19 ก.ค. 2545 ว่าคดีที่ธปท.ที่เป็นหน่วยงานรัฐฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ ในฐานความผิดเรื่องละเมิดตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ เป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
3.เหตุผลที่ไม่ควรใช้ทางเลือกที่นายวิษณุเสนอให้นายกฯ เป็นผู้ออกคำสั่งทางปกครอง เนื่องจากโครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการสาธารณะที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกฯ และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กนข.) ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ไม่ใช่ผู้สั่งการทำงานโดยตรง
นายนรวิชญ์ กล่าวว่า ดังนั้น การจะเรียกค่าเสียหายในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวก็เช่นเดียวกับคดีนายเริงชัย เพราะเป็นกรณีที่กระทรวงการคลังกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในข้อกฎหมายเดียวกัน จึงต้องถือว่าเป็นคดีในลักษณะเดียวกันกับนายเริงชัย ที่คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ไม่ใช่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง รัฐบาลจึงไม่ควรออกคำสั่งทางปกครอง เพราะไม่เข้าข่ายมาตรา 9 (3) ของพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ชี้"บิ๊กตู่"มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย
นายนรวิชญ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ในฐานะนายกฯและประธานกนข. ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าว และได้กล่าวหาหลายครั้งว่าโครงการนี้ทำให้ประเทศชาติเสียหาย จึงถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือมิใช่ผู้ที่เป็นกลาง ดังนั้น ตามหลักนิติธรรมจึงไม่ควรออกคำสั่งทางปกครอง ตัดสินเอาผิดกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ควรส่งให้ศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษากรณีนี้การออก คำสั่งทางปกครองของพล.อ.ประยุทธ์อาจเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ขณะที่นายก่อแก้ว พิกุลทอง อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดงกล่าวว่า การที่รัฐบาลส่งสัญญาณออกคำสั่งทางปกครองเพื่อให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหายในโครงการจำนำข้าว ทั้งที่ดำเนินโครงการตามที่หาเสียงไว้ และมีเป้าหมายช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่ยากจน ซึ่งนอกจากจะทำร้ายจิตใจน.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว ยังทำร้ายจิตใจชาวนาทั่วทั้งประเทศอย่างรุนแรงอีกด้วย เพราะจะส่งสัญญาณว่าห้ามรัฐบาลในอนาคตดำเนินนโยบายช่วยเหลือชาวนาแบบนี้อีก โอกาสที่ชาวนาจะลืมตาอ้าปากได้จะหายไปอย่างสิ้นเชิง อนาคตของชาวนาจะขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลางแทน
ชี้จำนำข้าวนโยบายสาธารณะ
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่านโยบายรับจำนำข้าวเป็นนโยบายของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยที่แถลงต่อสภา เป็นนโยบายสาธารณะ ใช้งบประมาณเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยไม่หวังผลกำไร การจ่ายเงินค่าจำนำข้าวไปยังชาวนามีมาตรการที่รัดกุม โอนเข้าบัญชีชาวนา ไม่ได้นำเงินไปมอบให้เหมือนที่หลายคนเข้าใจ ส่วนข้าวเปลือกที่อยู่ในยุ้งฉาง โรงสี หรือเจ้าของยุ้งฉางต้องรับผิดชอบหากเกิดความเสียหาย ไม่ว่าข้าวหาย ข้าวเน่าเพราะมีสัญญาไว้กับองค์การคลังสินค้า (อคส.)
"ถามว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ทุจริตงบประมาณหรือโกงเงินชาวนาหรือเปล่า เงินงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ตกอยู่ในมือของชาวนากว่า 15 ล้านคน เศรษฐกิจช่วงที่ใช้นโยบายรับจำนำข้าวดีกว่าช่วงที่ยกเลิกนโยบายนี้ การบริหารนโยบายสาธารณะของรัฐบาลไหนบ้างที่ได้กำไร ประชาชนได้ประโยชน์ เศรษฐกิจเข้มแข็ง ประเทศมั่นคง นั่นแหละคือกำไรจากนโยบายสาธารณะ ผมไม่ได้ขอความเป็นธรรมให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ขอความเป็นธรรม ขอนโยบายรับจำนำข้าวคืนให้กับชาวนากว่า 15 ล้านคนทั่วประเทศ" นายสามารถกล่าว
ยิ่งลักษณ์ทำบุญ-ทอดผ้าป่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมด้วย นางมณฑาทิพย์ ชินวัตร นางเยาวเรศ ชินวัตร พี่สาว นายนิวัฒน์ธำรงค์ บุญทรงไพศาล นายภูมิธรรม เวชยชัย นายวราเทพ รัตนากร แกนนำพรรคเพื่อไทยและกลุ่มเพื่อน ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าสามัคคี ประจำปี 2558 ที่วัดทุ่งเหียง ต.หมอนนาง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี จากนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ปล่อยโคและกระบือซึ่งตั้งท้องอยู่เพื่อเป็นการต่ออายุให้กับสัตว์เหล่านั้น ซึ่งการเดินทางมาทำบุญเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าในครั้งนี้มีประชาชน มาร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ได้เข้าไปให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมขอ ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกด้วย
พท.แถลงข้อเสนอถึงกรธ.
ด้านพรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนและข้อเสนอต่อกรธ.ว่า 1.การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ควรมีปรัชญาและเป้าหมายที่ชัดเจนให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.ฉบับนี้เป็นการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 แล้วและโรดแม็ปก็ขยายเวลาออกไปเรื่อยๆ ขณะที่ประชาคมโลกกังวลและกดดันมาตลอด จึงขอเรียกร้องให้กรธ.เร่งรัดการร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
3.รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้นำร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำเสร็จแล้วไปออกเสียงประชามติ กรธ.จึงควรจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตั้งแต่เริ่มต้นยกร่างและควรดำเนินการอย่างกว้างขวางทั่วถึง ที่สำคัญไม่ควรปิดกั้นการแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ที่เกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ 4.โครงสร้าง ของรัฐธรรมนูญไม่ควรให้ใหญ่โต เทอะทะ จำนวนหมวดและมาตราไม่ควรมีมากนัก ถ้อยคำและข้อความควรกระชับเข้าใจง่าย และไม่เป็นนามธรรม โดยเฉพาะในส่วนสิทธิและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ควรเขียนให้กระชับ เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ไม่ต้องตีความอีก
ชี้ ม.35 อุปสรรคร่างรธน.
5.เงื่อนไขหรือกรอบที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ซึ่งมีอยู่ 10 ประการ ถือเป็นอุปสรรคในการร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้กรธ.ขาดอิสระในการร่าง กรธ.จึงควรตั้งหลักให้ได้ว่าข้อจำกัดดังกล่าวมิได้มาจากความเห็นชอบของประชาชน เป็นกรอบกว้างๆ ที่เป็นนามธรรม จึงควรตีความให้เป็นคุณ ยึดหลักนิติธรรมและหลักการประชาธิปไตย
6.การแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในประเด็นออกเสียงประชามติตามมาตรา 37 ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าถ้าร่างฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติ ให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือปี 2550 มาใช้บังคับชั่วคราว และให้กกต.จัดเลือกตั้งภายใน 120 วัน โดยต้องระบุในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป
ย้ำ 10 ข้อที่เคยเสนอ "บวรศักดิ์"
7.พรรคขอยืนยันข้อคิดเห็นและข้อเสนอของพรรคที่เคยเสนอต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 พ.ค.58 ซึ่งสรุปสาระสำคัญ 10 ข้อดังนี้ 1.ยึดหลักการประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง มิใช่เป็นของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดเฉพาะ 2.วางกลไกการบริหารจัดการประเทศที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ องค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล 3.สร้างดุลและระบบตรวจสอบที่เหมาะสมต่อทุกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย โดยประชาชนมีส่วนร่วม
4.ไม่ออกแบบให้ฝ่ายบริหารเป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ 5.มุ่งสร้างปรองดองให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่สร้างเงื่อนไขขัดแย้งขึ้นใหม่ 6.ต้องไม่มีวาระซ่อนเร้น เพื่อมุ่งสืบทอดอำนาจของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใด 7.กำหนดให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกตั้งผู้แทนโดยตรง และผู้นำฝ่ายบริหารต้องมาจากตัวแทนที่ประชาชนเลือกเท่านั้น 8.รัฐธรรม นูญต้องเปิดให้บุคคลมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้อย่างกว้างขวาง ไม่สร้างข้อจำกัดที่ไร้เหตุผล ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพียงเพื่อต้องการกำจัดบางพรรคและนักการเมืองบางฝ่าย 9.ต้องมีระบบกลไกควบคุมการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ อย่างถูกต้องและชอบธรรม 10.รัฐธรรมนูญต้องอยู่บนพื้นฐานที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ ไม่ควรกำหนดให้การแก้รัฐธรรมนูญทำได้ยากจนเกินไป
ชงกรธ.เขียนไม่ฟังปปช.ถือว่าผิด
ที่รัฐสภา ที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. เป็นประธานการประชุม ได้เชิญคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาทิ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. นายประสาท พงษ์ศิวาภัย นายวิชา มหาคุณ นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป.ป.ช.และนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. เข้าชี้แจงปัญหา อุปสรรคและหาแนวทางการบัญญัติเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ
โดยนายปานเทพกล่าวถึงข้อเสนอว่า ต้องการให้การไต่สวนคดีทุจริตบูรณาการทำงานร่วมกันขององค์อิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด เพื่อให้คดีเหล่านี้ลดลง รวมทั้งกำหนดกรอบเวลาเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ให้ป.ป.ช.มีอำนาจส่งคดีให้พนักงานสอบสวน โดยใส่ไว้ในพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.... ส่วนการตรวจสอบทรัพย์สิน ให้เพิ่มเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ต้นสังกัด รวมถึงตำแหน่งต่างๆ ที่มาจากการเลือกของประชาชน อาทิ อบต. อบจ. ต้องเปิดเผยรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณชน
นายปานเทพกล่าวว่า นอกจากนี้หากป.ป.ช.ศึกษานโยบายรัฐแล้ว พบว่ามีความเสียหาย ไม่คุ้มค่า รัฐบาลต้องมีมาตรการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากไม่มีนโยบาย ดังกล่าว องค์กรที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติ งบประมาณ ไม่ควรอนุมัติ และหากป.ป.ช. เตือนแล้วยังไม่ทำตามก็จะมีความผิด
กรธ.ส่อตัดมาตรา 7
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรธ. แถลงผลการประชุม กรธ.ว่า ที่ประชุมหารือถึงการเปิดเผยรายละเอียดการร่างรัฐธรรมนูญแบบลงลึกในแต่ละส่วนว่าไม่ควรเปิดเผยมากนัก ซึ่งนายมีชัย เห็นว่าถ้าไม่เปิดเผยจนกว่าจะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ เราจะได้รับแรงกดดันจากสื่ออย่างมาก ดังนั้นประเด็นที่เปิดเผยได้ก็ต้องเปิดเผย ส่วนเรื่องที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ก็ต้องขอความร่วมมือสื่อ
นายอมร กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาในหมวดที่ 1 บททั่วไป โดยมีทั้งหมด 6 มาตรา ส่วนมาตรา 7 เดิมที่ให้ใช้ประเพณีการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อยุติ อาจไม่ได้บัญญัติไว้เลยหรือนำรายละเอียดไปบัญญัติไว้ในศาลรัฐธรรมนูญแทน หรือคงไว้เพียงวรรคแรกเกี่ยวกับราชประเพณีเท่านั้น ทั้งนี้ในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ไม่มีการแก้ไข
เผยปปช.ขอกระบองทุบโกง
นายอมรกล่าว ต่อว่า ส่วนการเข้าชี้แจงของคณะกรรมการป.ป.ช. ได้เสนอว่า ป.ป.ช. ควรมีเครื่องมือป้องกันการเกิดการทุจริต เพราะขณะนี้ ป.ป.ช.เหมือนยักษ์ไม่มีกระบอง ไม่มีอำนาจดำเนินการ จึงต้องการให้ยักษ์มีกระบอง ซึ่งกรธ.ไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองแบบที่ผ่านมา เพราะการถ่ายเททรัพย์สินในเครือญาติเป็นเรื่องที่ทำได้ กรธ.จึงเสนอให้ใช้มาตรการทางภาษี โดยตรวจสอบภาษีย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งป.ป.ช.อาจต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบเรื่องภาษีโดยเฉพาะ โดยที่ ป.ป.ช.อาจต้องเป็นพันธมิตรกับกรมสรรพากร นอกจากนี้กรธ.ยังเสนอประเด็นที่สปช. เคยตั้งไว้ เช่น ศาลตรวจสอบคดีทุจริต การควบรวม ป.ป.ช. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป
นายอมร กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังพิจารณาโครงสร้างการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ 9 เรื่อง คือ 1.รูปแบบของรัฐและสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 3.แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ 4.องคาพยพทางการเมือง (นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ) 5.ความสัมพันธ์ขององคาพยพทางการเมือง 6.องค์กรอิสระ 7.องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 8.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และ 9.บทเฉพาะกาล
กกต.เผยยอดบริจาคปชป.สูงสุด
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้รวบรวมยอดบริจาคเงินภาษีและจัดส่งให้คณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองแล้ว โดยมีผู้บริจาคภาษี 113,877 ราย รวมเป็นเงิน 11,387,700 บาท ทั้งนี้ ยอดบริจาคภาษีให้กับพรรคประจำปีภาษี 2557 ลดลง 6,939,300 บาท เมื่อเทียบกับปีภาษี 2556
สำหรับพรรค 5 อันดับแรกที่ได้รับบริจาคเงินภาษีในปี 2557 ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ 9,109,500 บาท, พรรคเพื่อไทย 1,383,600 บาท, พรรคเพื่อฟ้าดิน 156,900 บาท, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 156,300 บาท และพรรครักประเทศไทย 65,100 บาท
จี้สอบ"อุตตม"ร่วมคดีกรุงไทย
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายวันชัย บุนนาค ทนายความอิสระ เข้าพบพ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษธนาคารกรุงไทย และผู้บริหาร รวมถึงกล่าวโทษนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และนายอุตตม สาวนายน กรรมการบริหารของธนาคารกรุงไทย ที่ร่วมลงชื่ออนุมัติสินเชื่อ จากกรณีธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้บริหารในเครือบริษัทกฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน)
นายวันชัย กล่าวว่า ในการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว จากรายงานการประชุมของธนาคารกรุงไทย ผู้ถือหุ้นของธนาคารกรุงไทยมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารมีอำนาจพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้บริหารในเครือบริษัทกฤษดามหานครมี 5 คนประกอบด้วย ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์, นายวิโรจน์ นวลแข, นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยาซึ่งทั้ง 3 คนนี้ถูกพิพากษา จำคุกไปแล้ว ก็ยังมีนายชัยณรงค์และนายอุตตมร่วมอยู่ด้วย
นายวันชัย กล่าวต่อว่า และเนื่องจากข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาแล้ว นายชัยณรงค์และ นายอุตตม ซึ่งมีชื่อร่วมอนุมัติสินเชื่อในช่วงการอนุมัติปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มจำเลยทั้งหมดที่ศาลพิพากษาว่ากระทำผิดนั้นกลับไม่ถูกดำเนินคดี และบางรายยังเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบัน จึงขอให้ดีเอสไอสอบสวนขยายผลในคดีฟอกเงินว่ามีผู้ใดควรเป็นผู้ต้องหา นอกเหนือจากที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สรุปไว้ก่อนหน้านี้
"หลักฐานดังกล่าวไม่ใช่หลักฐานใหม่ แต่เป็นหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยของ ศาลฎีกาว่าบุคคลทั้ง 2 เป็นกรรมการบริหารที่เป็นคณะกรรมการอนุมัติสินเชื่อให้แก่กลุ่ม กฤษดามหานคร แต่ไม่ถูกดำเนินคดีในชั้นอาญา ซึ่งเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เราไม่ได้ลง รายละเอียด แต่ในฐานะนักกฎหมาย และสนใจเรื่องสถาบันการเงินมานานตั้งแต่คดีปรส. ส่วนคดีจะไปถึงไหนไม่ใช่หน้าที่ของประชาชน เป็นหน้าที่เจ้าหน้าที่รัฐ การที่ผมนำเสนอตรงนี้ เพื่อให้ตรวจสอบตามมาตรฐานอย่างเท่าเทียมกัน" นายวันชัยกล่าว
สำหรับนายอุตตม สาวนายน ล่าสุดรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน