- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 14 October 2015 11:38
- Hits: 4574
ฉลุยปธ.สปท.ลุย'ปฏิรูป' ทินพันธุ์ฟิต ลั่นกลางสภา 81 ปียังแจ๋ว'จ้อน-วลัยรัตน์'ยึดรอง'บิ๊กตู่'ทำงานถึงกค.60 ยันคปป.ต้องอยู่ในรธน. อาหรับ-มะกันเลิกตั้งแง่ โชว์บัญชี-ขุนคลังรวยสุด
สปท.เลือก'ทินพันธุ์'นั่งประธาน 'อลงกรณ์-วลัยรัตน์'รอง ปธ.ตามคาด 'บิ๊กตู่'ยันลุยงานตามโรดแมปถึง ก.ค.ปีླྀ ลั่นอีก 4 ปี ศก.เข้มแข็งขึ้น เผยมี คปป.ไม่ได้หวังครอบงำรัฐบาล
มติชนออนไลน์ :
@ "บิ๊กตู่"ฟิตปั่นจักรยานโชว์สื่อ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเวลา 08.45 น. วันที่ 13 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุม นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อม ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และนายเจฟฟรี่ เบญจกุลวิวัฒน์ ดารานักแสดง พร้อมคณะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์การจัดมหกรรมแข่งขันจักรยานทางไกลประเทศไทย ตอน นักปั่นแห่งลุ่มน้ำโขง ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ระหว่าง 29 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคอีสาน คือ จ.หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม และ จ.มุกดาหาร รวมระยะทาง 245.9 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นการเปิดศักราชสู่ Sport Tourism Sport HUB หรือศูนย์กลางกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ให้ความสนใจสอบถามรายละเอียดจักรยานที่นำมาแสดง และทดลองยกจักรยานรุ่น prime team ทำจากคาร์บอน ใช้ระบบเกียร์ไฟฟ้า มีน้ำหนักเพียง 7.1 กิโลกรัม ราคา 156,000 บาท จากนั้นทดลองขี่จักรยานรุ่น inverse team ราคาประมาณ 120,000 บาท ปั่นจากหน้าตึกบัญชาการ 1 ขึ้นหน้าตึกไทยคู่ฟ้า วนหน้าสนามหญ้ากลับมาที่หน้าตึกบัญชาการ 1 หนึ่งรอบ ทำให้สื่อมวลชน ทีมงานที่มาจัดกิจกรรม และนางกอบกาญจน์ ต่างวิ่งตาม พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงทีมรักษาความปลอดภัยที่ไม่คาดคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะปั่นจักรยาน
@ ปัดสารนายกฯสื่อสารทางเดียว
พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ครม.ถึงการออกสารถึงประชาชนผ่านทางโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดำเนินการไปแล้ว 2 ครั้งว่า หากมีความจำเป็นจะออกสารจากนายกรัฐมนตรีอีกจะได้ไม่ต้องพูดมาก ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นการสื่อสารทางเดียวมากไปหรือไม่ ทำไมไม่ออกมาพูดด้วยตนเอง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คุยเองก็คุยอยู่แล้ว สิ่งไหนที่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคมต่างๆ ต้องแถลงออกไปบ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าขณะนี้มีกระแสกดดันใต้ดินเข้ามาใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มี อย่างที่บอกไปแล้วว่าเวลานี้เป็นเวลาสำคัญ จากช่วงนี้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2560 เป็นช่วงของการปฏิรูปและเตรียมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งความจริงกำลังปฏิรูปกันอยู่แล้ว แต่บางคนไม่เข้าใจว่า เอ๊ะ ปฏิรูปหรือยัง อยากบอกว่าปฏิรูปและทำงานแบบวันนี้ไงถึงได้งานออกมาอย่างที่เห็น ได้เรื่องได้ราว ถ้าไม่ปฏิรูปแล้วทำแบบเดิมก็ไม่ต้องทำอะไร นั่งเฉยๆ ทำแบบเก่าทั้งหมดก็ไม่ได้ป่าคืน ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ได้แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ แม้แต่ไม่ได้แก้ปัญหาของตำรวจให้มีประสิทธิภาพ มันมีหลายส่วนที่ต้องช่วยๆ กัน ไม่ได้ว่าใครบกพร่อง แต่วันนี้เป็นเวลาที่ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลัง พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์เสร็จ ทางทีมโฆษกรัฐบาลนำสารจากใจนายกรัฐมนตรีในจดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชน ปีที่ 1 ฉบับที่ 12 วันที่ 15 ตุลาคม 2558 เผยแพร่ มีตอนหนึ่งระบุถึงสาเหตุการยึดอำนาจเนื่องจากรัฐบาลชุดเก่าบริหารประเทศให้อยู่ในภาวะประเทศล้มเหลว และระบุถึงการไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 70 ที่สหรัฐอเมริกา
@ บอกเรื่องเยอะต้องทำถึงก.ค.60
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม.ว่า ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศในช่วงนี้มาก ถือว่าเป็นช่วงที่จะทำงานได้ จนกระทั่งถึงเดือนกรกฎาคมปี 2560 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งมีเรื่องเยอะที่จะต้องทำ ตนสิ้นสุดแค่นั้นตามโรดแมป ฉะนั้นจะต้องขับเคลื่อนให้ได้ทั้งเรื่องของการปฏิรูปในระยะที่ 1 และต้องตรงกับที่รัฐบาลเริ่มต้น เพราะรัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มทั้งหมด ที่ผ่านมาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำออกมา 30 กว่ากิจกรรม จากนี้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะนำสิ่งเหล่านั้นมาขับเคลื่อน โดยทำเป็นแผนปฏิบัติการให้ชัดเจนขึ้น จะต้องไปหารือกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะต้องทำกฎหมายต่างๆ ให้สามารถทำได้ในวันหน้า
"ระหว่างนี้อีกปีครึ่งผมจะปฏิรูปหนึ่งบวกเอ็กซ์ โดยหนึ่ง เรื่องแรกทำไปแล้วตั้งแต่ คสช.กับปัจจุบัน เน้นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิรูปทำหมดแล้วทุกกิจกรรม มีหลายเรื่องเห็นผลสัมฤทธิ์แล้ว ส่วนหนึ่งบวกเอ็กซ์คือ
สิ่งที่ต้องขยายต่อ ทั้งเรื่องกฎหมายกระบวนการยุติธรรม ต้นทาง ปลายทาง จัดทำแผน และนำไปพิจารณาใน สปท. สนช.ต่อไป อะไรทำได้ก็ทำ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
@ ลั่นทำให้อีก4ปีศก.เข้มแข็งขึ้น
"คนที่จะชี้เรื่องการปฏิรูปทั้งหมดคือรัฐบาลและ คสช. เพราะเป็นคนริเริ่มเรื่องเหล่านี้ ผมได้สั่งไปหลายกิจกรรม ทั้งฝ่ายความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การต่างประเทศ ทุกกลุ่มงานมีกิจกรรมมหาศาล ทั้งเริ่มต้นต่อของเดิมให้เข้มแข็งและวางอนาคต สื่อต้องทำความเข้าใจให้ดี ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะออกมาถึงวันนี้ได้ อย่างน้อยจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในห้วง 4 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจะเข้มแข็งขึ้น ความสามารถประเทศสูงขึ้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอื้ออำนวยความสะดวกเพื่อเป็นศูนย์กลางอาเซียนจะเกิดขึ้นในวันหน้าทั้งสิ้น ฉะนั้นประโยชน์ที่จะได้กับผมไม่มีเลยในวันนี้ แต่จะได้ในวันหน้าต่อประชาชนกับรัฐบาลหน้าด้วยซ้ำไป ผมไม่มีอะไรไม่ได้อะไรทั้งสิ้น แต่อย่างน้อยได้ทำการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า การทำสิ่งใหม่ๆ ย่อมมีผลกระทบแน่นอน วันนี้อยากให้การเสนอข่าวไม่เป็นแบบเดิม อยากให้น้องๆ ปฏิรูปในเรื่องการเสนอข่าว ซึ่งตนคงไม่บังอาจไปปฏิรูปสื่อ อยากให้สื่อปฏิรูปการนำเสนอข่าว การสร้างความเข้าใจในด้านที่ดีให้กับประชาชน ให้มีความรักความสามัคคี ไม่เกิดความขัดแย้งอีกต่อไป อะไรที่วิจารณ์แสดงความเห็นก็บอกมา แต่อยากให้เบาๆ ลงหน่อย ก็ไม่ได้ไปปิดกั้นอะไรสื่ออยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นต่างชาติก็มองว่าตนไปปิดกั้น แค่เรียกนักข่าวมาคุยคนเดียวกลายเป็นว่าตนไปปิดกั้นเสรีภาพมนุษย์ มันใช่ที่ไหน พอกลับไปยังหัวเราะดี ไม่เห็นเดือดร้อนและก็เขียนใหม่อีก ก็เห็นอยู่การ์ตูนก็เขียนเหมือนเดิม เรียกไปก็เท่านั้น ตนก็โดนอีก แล้วอย่างนี้ประเทศชาติจะเรียกความสงบสุขจากใคร เรียกจากตนก็ทำให้ไม่ได้ กฎหมายก็ต้องใช้กฎหมาย ขอความร่วมมือก็ไม่ได้อีก ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่จะทำให้ ทำไปเรื่อยๆ
@ เผยต่างชาติเริ่มคุยกับไทย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ช่องทางของประเทศทางตะวันออกกลางเริ่มจะมีความร่วมมือมากขึ้น ถึงแม้จะหยุดไปหลายปี มีการเริ่มพูดคุยและติดต่อกันแล้ว บางประเทศส่งอุปทูตมาแล้ว อย่างทูตของสหรัฐอเมริกามาขอพบ ซึ่งตนกำลังหาเวลาพูดคุยกับท่าน ถ้าทำทุกอย่างให้เป็นปกติ มันก็ปกติ ต้องพูดคุยกันอยู่แล้ว ถ้าเราขัดแย้งกันไปเรื่อยๆ ก็พูดคุยกันไม่ได้ เพราะต่างคนต่างระวังก็เลยไม่ก้าวหน้าซักที
"ผมคาดหวังว่า วันนี้จะดีขึ้น ซึ่งไปคุยกับทุกประเทศให้ฟังว่าปัญหาเราเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง เพราะบางทีเขาฟังมาข้างเดียวผมก็ไม่โทษใคร แต่อยากจะเล่าให้ฟัง ให้เขาสอบถามทุกประเด็นที่เขาสงสัย ผมพูดกับทุกประเทศแล้ว ก็เล่าให้เขาฟัง เขาก็เข้าใจและไม่มากดดันเรามากขึ้น มันอยู่ที่เรากันเองจะทำให้เขากดดันหรือไม่" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
@ แจงมีคปป.ไม่คิดครอบงำใคร
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญว่า ทราบดีว่าทุกคนเป็นห่วง ส่วน สนช.ต้องทำงานร่วมกันเพื่อส่งต่อกฎหมาย อะไรที่ตนทำได้ก็จะทำตอนนี้ โดยใช้อำนาจที่มีอยู่ ส่วนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องเอากฎหมายเก่าๆ ขึ้นมาดูว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าฉบับไหนเป็นประชาธิปไตยมากน้อยกว่ากัน กฎหมายข้อไหนที่ยอมรับกันได้ก็นำมาใส่ในฉบับใหม่ รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วดูว่าข้อไหนจะต้องเพิ่มเติมหรือเพื่อที่จะให้มีกลไกในการปฏิรูปที่ยั่งยืน เพราะหากไม่มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายก็ไม่มีการปฏิรูปเกิดขึ้นที่ทำมาก็เสียเวลาเปล่า สุดท้ายก็กลับมาที่เดิม ขอร้องว่าอย่าไปมองว่าเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า แล้วต่างชาติจะรับได้หรือไม่ สุดท้ายเขาก็รับได้อยู่ดี ต้องเขียนรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยสากลอยู่ดี ส่วนกฎหมายลูกหรือบทเฉพาะกาลเป็นเรื่องของในประเทศ หากไม่มีเวลาช่วงนี้ก็เดินไม่ได้ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคงทำไม่ได้และไม่ยอมทำ เป็นห่วงรัฐบาลในอนาคต แต่หากเขาไม่ทำตนก็ไม่ได้ว่าอะไร
"ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องไปห่วงเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ผมบอกตั้งหลายครั้งแล้วว่า คปป.ทำหน้าที่อะไร ก็เป็นเพียงร่มร่มหนึ่งเท่านั้นเอง ที่เขาเสนอมาเรื่องยุทธศาสตร์ ซึ่งผมก็ฟังมาจาก สปช. แล้วมาคิดว่าเชื่อมกันอย่างไร ผมยืนยันว่าไม่เคยคิดจะไปครอบงำใคร หรือไปครอบงำรัฐบาลต่อไป เพียงแต่ต้องการให้ประเทศเดินได้ ดังนั้น จะมีอะไรที่ทำให้เกิดความมั่นคง เขาเลยเสนอ คปป.ขึ้นมา ผมเลยคิดว่าถ้ามีจะดีอย่างไรให้ไม่ไปสั่งรัฐบาลหน้า หรือไปลงโทษเขาหรือใช้จ่ายงบประมาณจากเขา เพราะไม่ใช่หน้าที่จากผม เพราะมีองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรงนั้นอยู่แล้ว ผมเลยไม่ได้ไปแก้อะไร" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
@ ซัดขอนิรโทษก่อนเห็นแก่ตัว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คปป.จะเป็นใครก็ได้ ที่มี 3 ขาประกอบกัน คือ ปฏิรูป ปรองดอง และลดความขัดแย้ง ซึ่งต้องทำระยะนี้ก่อน โดยให้ สปท.เป็นคนทำ ส่วนการปรองดองต้องไปศึกษาว่ามีคดีใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และคดีตามปกติ แล้วจะแยกแยะระหว่างแกนนำกับประชาชนได้อย่างไร ต้องเตรียมข้อมูลไว้ เพราะวันหน้าหากคดีสิ้นสุดลงติดคุกแล้ว รวมถึงคดีที่ยังอยู่เสร็จเมื่อไหร่ก็ดำเนินการต่อกับพวกที่หนีคดี นอกเหนือจากที่ตนคิด มีใครคิดนอกเหนือจากนี้หรือไม่ที่จะแก้ปัญหา เพราะหากไม่แก้ปัญหาก็กลับมาอีก แล้วมาเสนอกฎหมายนิรโทษกันอีก สุดท้ายก็ตีกันอีกเหมือนเดิม
"จะต้องวางแนวทางกันตั้งแต่วันนี้ ถ้าหากไม่มี คปป.จะให้มีอะไรที่เป็นหลักประกัน 3 เรื่อง และสามารถแก้ปัญหาได้ ทุกอย่างต้องเป็นขั้นตอน เพราะฉะนั้น วันนี้รัฐบาลต้องเตรียม การปรองดองจะทำวันนี้ให้เสร็จเลยไม่ได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ต้องฟังความเห็นร่วมกัน ฟังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมีทั้งการเมืองและการเมืองที่นำไปสู่การรับผิดทางอาญารวมถึงการใช้อาวุธสงครามทำร้ายกันก็มี ตอนนี้ทุกคนต่างกล่าวอ้างกันไปมา สุดท้ายเราต้องมาหาวิธีการปรองดอง ซึ่งจะทำอย่างไรผมไม่รู้ วันนี้ผมยังตอบไม่ได้ อย่ามากดดันผม หรือกดดันรัฐบาลว่าต้องปรองดองก่อนนะ หรือต้องนิรโทษก่อนแล้วถึงจะอยู่กันได้ แบบนี้เห็นแก่ตัว ทำไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "หากไม่ผ่านก็ต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ผ่าน ผมไม่อยากอยู่ตรงนี้หรอก บอกจริงๆ เลยว่าไม่ได้อยากอยู่ เพราะปัญหามันเยอะเหลือเกิน" เมื่อถามย้ำว่ามีการประเมินหรือไม่ว่าปัจจัยใดที่อาจทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทำประชามติไงเล่า ทำประชามติหรือเปล่าล่ะ ถ้าทำก็จบ ถามว่า สปท.เขาลงมติหรือเปล่าก็ไม่ต้องลง เพราะไม่เกี่ยวกัน
@ "ทินพันธุ์"ฉลุยนั่งประธานสปท.
เวลา 09.35 น. ที่รัฐสภา มีการประชุม สปท.นัดแรก มีวาระเลือกประธานและรองประธาน สปท. โดยนายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาฯ สปท. ขอหารือกับที่ประชุมเพื่อนำข้อบังคับการประชุมของ สปช.มาใช้ในการเริ่มประชุม ที่ประชุมไม่ขัดข้อง
จากนั้นเข้าสู่วาระเลือกประธานและรองประธาน สปท. โดยเชิญนายชัย ชิดชอบ สปท.ที่อาวุโสสูงสุด ทำหน้าที่ประธานชั่วคราวในที่ประชุม โดยนายชัยกล่าวขอบคุณที่ได้มีโอกาสมานั่งตรงนี้อีกครั้ง ที่นั่งมาแล้ว 4 ปี ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย และแจ้งให้สมาชิกรับทราบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้ง สปท. และ สปท.ที่ได้รับการแต่งตั้งได้กล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุม
จากนั้นได้เปิดโอกาสให้สมาชิกเสนอชื่อโดย พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก สปท. เสนอชื่อ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ เป็นประธาน สปท. แต่มีสมาชิกได้ลุกขึ้นหารือ อาทิ นายวิทยา แก้วภราดัย และนายกษิต ภิรมย์ สปท. เสนอให้เลื่อนวาระการเลือกประธานและรองประธาน สปท.ออกไปก่อน และเสนอให้มีการจัดสัมมนาเพื่อให้สมาชิกทุกคนได้ทำความรู้จักกันเพื่อเป็นวัฒนธรรมองค์กรก่อนตัดสินใจเลือกบุคคลที่จะเป็นประธาน เพราะหากให้ตัดสินใจเลือกบุคคลที่ยังไม่รู้จัก ก็คงเลือกไม่ได้
ขณะที่สมาชิกอีกส่วนหนึ่งเห็นควรให้ดำเนินการตามวาระการเลือกประธานและรองประธาน สปท.ต่อไป อาทิ พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ในที่สุดที่ประชุมไม่ขัดข้องและได้เห็นชอบให้ดำเนินตามวาระต่อไป
จากนั้นนายชัยกล่าวว่า ได้รับมอบหมายเป็นประธานชั่วคราวไม่มีอำนาจตัดสินใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีอำนาจในการเลื่อนการประชุม เมื่อไม่มีผู้ใดเสนอชื่อสมาชิกคนอื่นขึ้นมาชิงตำแหน่งประธาน สปท. ทำให้ ร.อ.ทินพันธุ์ได้รับเลือกเป็นประธาน สปท.
@ "จ้อน-วลัยรัตน์"นั่งรองประธาน
ต่อมา พล.ต.ท.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา สปท. ลุกขึ้นเสนอชื่อนายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นรองประธาน สปท.คนที่ 1 โดยไม่มีบุคคลอื่นเสนอชื่อแข่งขัน ทำให้นายอลงกรณ์เป็นรองประธาน สปท.คนที่ 1 ขณะที่นายเฉลิมศักดิ์ อบสุวรรณ สปท. ได้เสนอชื่อ น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ เป็นรองประธาน สปท.คนที่ 2 โดยไร้คู่แข่ง
จากนั้นนายชัยแจ้งต่อที่ประชุมว่า เมื่อได้ประธานและรองประธาน สปท.แล้ว เลขาธิการสภาจะแจ้งรายชื่อไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งต่อไป สั่งปิดประชุมในเวลา 11.10 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุม นางปัทมา เทียรวิศิษฎ์สกุล อดีตที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ ได้เดินทางมารายงานตัวเป็นคนสุดท้าย ทำให้สมาชิก สปท.มารายงานตัวครบ 200 คน
@ ทินพันธุ์โชว์ทำงานเยอะกว่าตอนหนุ่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.อ.ทินพันธุ์กล่าวแสดงวิสัยทัศน์หลังจากได้รับเลือกเป็นประธาน สปท. ตอนหนึ่งว่า จะทำหน้าที่รวบรวมวาระการปฏิรูปทั้งหมดต่อจาก สปช. เพราะ สปท.มีหน้าที่ปฏิรูปต่อไปให้สำเร็จ ตามเป้าหมายที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวได้กำหนดไว้ และการทำหน้าที่ของทุกคนในครั้งนี้ถือเป็นความหวังของคนทั้งประเทศ ที่จะให้ประเทศไทยเกิดการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ตนจึงเชื่อมั่นว่าสมาชิกทุกคนจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่ดี การปฏิรูปให้สำเร็จได้จะต้องขอความร่วมมือจากทุกคนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ใครอยากปรึกษาหารือกับตนเรื่องใดก็ตาม ตนยินดี อย่างไรก็ตามงานของ สปท.เป็นงานที่ให้คำปรึกษาเสนอแนะ การอภิปรายต่างๆ จึงควรจำกัดขอบเขตอยู่ที่การปฏิรูป เพราะเรามีเวลาจำกัด หากใช้เวลาไปกับเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศก็จะถูกตำหนิได้
"ทั้งนี้ สมาชิกอาจเป็นห่วงที่อายุผม 81 ปี แม้กระทั่งวันนี้ยังทำงานหนักกว่าตอนเป็นหนุ่ม ทั้งสอนหนังสือ เขียนหนังสือ งานวิจัยอยู่ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ก็สามารถยืนสอนหนังสือได้ 12 ชั่วโมง และยังว่ายน้ำอยู่ ดังนั้นไม่ต้องเป็นห่วง โดยจะมีการจัดสัมมนา สปท.ร่วมกันอย่างแน่นอน" ร.อ.ทินพันธุ์กล่าว
@ มีชัย ปัดตั้งองค์กรใหม่สกัดประชานิยม
ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.กล่าวถึงกรณีจะมีการเสนอตั้งองค์กรใหม่บรรจุในรัฐธรรมนูญเพื่อควบคุมนโยบายประชานิยมว่า ไม่ได้มีการตั้งองค์กรใหม่ เพียงแต่จะมีกลไกในการระมัดระวัง ไม่ให้ทำสิ่งที่จะเกิดความเสียหาย ไม่ใช่สกัดประชานิยม แต่สกัดการสร้างความเสียหาย แต่ยังคิดกลไกไม่ออก ซึ่งก็มีคนพูดเหมือนกันว่าตั้งให้คนมาตรวจสอบแต่เป็นไปไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองก็ต้องมีอิสระในการนำเสนอนโยบาย ส่วนจะดีหรือไม่อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับประชาชน แต่ถ้าทำแล้วเกิดความเสียหายต้องคิดว่าจะหยุดความเสียหายได้อย่างไร ไม่ใช่ปล่อยจนเกิดความเสียหายมากมาย ขณะนี้ยังไม่ชัดว่ากลไกจะออกมารูปแบบใด
เมื่อถามว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยระบุว่าในการร่างรัฐธรรมนูญอาจมีเนื้อหาพิสดารให้ทุกพรรคจดทะเบียนใหม่ ว่า เป็นเรื่องสมมุติเกี่ยวกับระยะเวลา เพราะนายวิษณุไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญจะบัญญัติอย่างไร ถ้าให้ไปตั้งพรรคใหม่จะใช้เวลาซึ่งเป็นเรื่องสมมุติ ส่วนข้อเสนอที่ระบุว่าการจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่จะทำให้เกิดความเสมอภาคนั้นตนยังไม่ได้พิจารณา ตอนนี้ถือว่าอยู่ระหว่างเตรียมการแต่งงาน จะถามว่าได้ลูกผู้หญิงหรือผู้ชายไม่ได้
@ "สตง.-คตง."ให้ข้อมูลกรธ.
เมื่อเวลา 13.45 น. ที่รัฐสภา ในการประชุม กรธ. ที่มีนายมีชัยทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีวาระรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) นายปิยพันธ์ นิมมานเหมินท์ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน นางอุไร ร่มโพธิหยก กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน นางจิรพร มีหลีสวัสดิ์ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และนายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เข้าร่วมชี้แจง
ทั้งนี้ นายมีชัยแจ้งว่า การทำงานของ สตง.และ คตง.ในขณะนี้เป็นอย่างไรบ้างได้ผลสำเร็จตรงตามความต้องการเพียงใด และคิดว่ายังขาดเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทำงานใดที่จะช่วยทำให้สามารถลุล่วงตามเป้าหมายอยู่บ้าง ขอให้เสนอมา ทาง กรธ.จะได้นำข้อมูลไปปรับปรุงและบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ
@ ชงให้อำนาจสตง.สอบประชานิยม
จากนั้นนายชัยสิทธิ์ชี้แจงว่า อยากให้ทาง กรธ.คงบทบัญญัติความเป็นอิสระและความเป็นกลางของ คตง. สตง.และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไว้ โดยให้ คตง.เป็นผู้กำหนดนโยบายและมาตรฐานการตรวจเงินแผ่นดิน ส่วน สตง.และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีอิสระในการตรวจเงินโดย คตง.เป็นผู้ตรวจสอบผลการตรวจเงินของ สตง.และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้เพิ่มบทบัญญัติการพิจารณาและลงโทษปรับทางปกครองเกี่ยวกับวินัยทางงบประมาณและทางการคลังเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยให้มีคณะกรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลังทำหน้าที่พิจารณาไต่สวนและเสนอโทษปรับทางปกครองเบื้องต้นแก่ คตง.เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยชี้ขาดของ คตง.ย่อมอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดแผนกคดีวินัยทางงบประมาณและการคลังได้
นายชัยสิทธิ์กล่าวอีกว่า ให้มีบทบัญญัติให้ สตง.มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการทำนโยบายประชานิยมและนโยบายอื่นของรัฐบาลที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการเงินการคลัง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง ศาสนา วัฒนธรรม ความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนการบริหารงบประมาณและก่อหนี้ผูกพันโดยมิชอบเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก คตง.ให้เสนอวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อพิจารณาดำเนินการ เช่น ยับยั้งนโยบายหรือโครงการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ถอดถอนออกจากตำแหน่ง การให้ชดใช้ค่าเสียหาย
@ ร้องตั้งญาตินั่งสปท.ประโยชน์ทับซ้อน
เวลา 11.30 น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคม พร้อมคณะ เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายธาวิน อินทรจำนงค์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งเครือญาติและบุคคลที่เคยร่วมอาชีพเดียวกันเป็น สปท. เข้าข่ายเลือกปฏิบัติ มีผลประโยชน์ทับซ้อนและขัดกันแห่งผลประโยชน์
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า รายชื่อสมาชิก สปท. 200 คน ที่นายกฯได้ประกาศแต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พบว่ามีบุคคลที่เป็นเครือญาติของนายวิษณุ ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องกฎหมายและการยุติธรรม คือ พล.อ.ต.เฉลิมพล เครืองาม และนายดุสิต เครืองาม ทั้งสองคนเป็นพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกับนายวิษณุ ขณะเดียวกันพบว่า พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้งบุคคลที่มีอาชีพหรือเคยมีอาชีพเดียวกับตนเองคือนายทหาร หรือตำรวจในและนอกราชการมาเป็นสมาชิกถึง 77 คน หรือมากกว่า 38.5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ทั้งที่ในข้อเท็จจริง สปท. ควรประกอบไปด้วยบุคคลที่มีความหลากหลายอาชีพ มากกว่าจะเป็นพี่น้อง หรือคนกันเอง จึงถือว่าพฤติกรรมดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ ในฐานะผู้ใช้อำนาจแต่งตั้ง ไม่ได้ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลตามระบบคุณธรรม จริยธรรมที่กฎหมายกำหนด
"เข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันโดยใช้อำนาจทางกฎหมายเสนอ แต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดตนขึ้นมารับตำแหน่งกินเงินเดือน และรับผลประโยชน์ตอบแทนอื่นจากรัฐ ส่อขัดจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 13 (2) พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการเมือง 2551 จึงขอให้ผู้ตรวจฯดำเนินการตรวจสอบหากพบว่าเป็นกรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงขอให้ดำเนินการส่งเรื่องให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราาบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. เพื่อนำไปสู่การถอดถอน" นายศรีสุวรรณกล่าว
@ ทนายปูค้านใช้กม.ทางปกครอง
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนยื่นหนังสือร้องเรียนคดีค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวว่า ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้มายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีประเด็นว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรับผิดทางละเมิด และไม่อยากให้ฝ่ายบริหารใช้มาตรการทางปกครองของมาตรา 57 ใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ต้องขอบคุณนายวิษณุที่ยกตัวอย่างคดีที่เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คล้ายกับคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ภายหลังคดีนั้นมีการฟ้องที่ศาลแพ่ง ไม่ได้ใช้มาตรการทางปกครอง ดังนั้น เมื่อมีการสอบสวนเสร็จสิ้น อยากให้ฝ่ายรัฐบาลใช้กระบวนการทางศาล ไม่อยากให้รัฐบาลใช้อำนาจตาม มาตรา 57 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเห็นอย่างไรที่ฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่าทำทุกอย่างไปตามกระบวนการยุติธรรม นายนรวิชญ์กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.การรับผิดทางละเมิด ที่ใช้มา 20-30 ปี ไม่เคยใช้กับอดีตนายกรัฐมนตรีคนใด ซึ่งตามคำจำกัดความ นายกรัฐมนตรีไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าวซึ่งใช้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับดูแลโดยทั่วไป อยู่ในคำจำกัดความของคำว่าเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 4 (1) พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองหรือไม่ เพราะมาตรานี้ระบุว่าห้ามใช้ มาตรา 57 กับคณะรัฐมนตรีในทางนโยบาย
"ปัจจุบันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากเป็นหัวหน้า คสช.แล้วยังเป็นนายกรัฐมนตรี มีหมวก 2 ใบ แม้ว่าจะประกาศว่าจะไม่ใช้มาตรา 44 แต่ท่านก็มีอำนาจทางบริหาร จึงไม่อยากให้ใช้อำนาจบริหารกับอดีตฝ่ายบริหาร ควรใช้อำนาจตุลาการซึ่งเป็นคนกลางเป็นผู้พิจารณาจะถูกต้องกว่า ทั้งนี้ หากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีความเสียหายจริง อยากให้ใช้กระบวนการทางศาลไปฟ้องร้องที่ศาล ไม่อยากให้เลี้ยวมาใช้ มาตรา 57 ของ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง แทนการหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าธรรมเนียมศาล" นายนรวิชญ์กล่าว
@ ปปช.ไม่เรียกเงินเหตุข้าวยังขายไม่หมด
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายวิษณุยืนยันว่าเกรงว่าอายุความจะหมดก่อน นายนรวิชญ์กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องอายุความ แต่เป็นเรื่องกระบวนการทางศาล ซึ่งกระบวนการทางศาลสามารถใช้ได้ภายในอายุความ แต่ไม่อยากให้ใช้ คำสั่งทางปกครองเท่านั้นเอง เมื่อถามว่าการใช้คำสั่งทางปกครองจะรวดเร็วกว่า นายนรวิชญ์กล่าวว่า รวดเร็วเพราะว่าสั่งให้ชำระเงินเลย หากไม่พอใจให้ผู้ถูกคำสั่งไปฟ้องร้องเอาเอง แทนที่รัฐจะเป็นผู้ฟ้อง เมื่อถามว่าหากรอกระบวนการทางศาลจะล่าช้าหรือไม่ นายนรวิชญ์กล่าวย้อนว่า ล่าช้าแต่มีความเป็นธรรมหรือไม่ ส่วนว่าจะมีดอกเบี้ยเพิ่มหรือไม่นั้น ไม่เป็นไร แต่ว่าอย่างน้อยให้ได้เข้าไปพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อความเป็นธรรม
เมื่อถามว่า ป.ป.ช.เรียกสอบพยานมาแล้วชั้นหนึ่ง นายนรวิชญ์กล่าวว่า นั่นคือส่วนของคดีอาญา แต่ทางแพ่งคือคนละเรื่องกัน ป.ป.ช.แค่กล่าวหาว่าจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีเรียกร้องค่าเสียหาย ตรงนี้ยังไม่ยุติ โครงการรับจำนำข้าวปิดบัญชีหรือยัง ขายข้าวหมดโกดังหรือยัง สรุปตัวเลขเสียหายจริงหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายนรวิชญ์ได้ยื่นโต้แย้งและขอความเป็นธรรมในการโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานถึง พล.อ.ประยุทธ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จำนวน 6 หน้า ที่ลงนามโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์
@ "ปู"โพสต์ขอโอกาสแสดงหลักฐาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า "วันนี้ดิฉันได้มอบหมายให้ทนายนรวิชญ์เข้ายื่นหนังสือโต้แย้งคัดค้านและขอความเป็นธรรม ฉบับทางการ ณ ทำเนียบรัฐบาล ขอเรียนว่าคำสั่งกระทรวงการคลังเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโดย พล.อ.ประยุทธ์และนายสมหมาย ภาษี (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) เป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบ ซึ่งดิฉันได้โต้แย้ง คัดค้านการออกคำสั่งและการดำเนินการตามคำสั่งมาโดยตลอด ขอโต้แย้งโดยเฉพาะประเด็นที่ดิฉันมิใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาในสายการบังคับของนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการที่จะออกคำสั่งดังกล่าวได้ การดำเนินนโยบายที่แถลงไว้กับรัฐสภาเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบในทางการเมือง มิใช่เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐกระทำโดยใช้อำนาจปกครอง"
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุอีกว่า "กรณีนโยบายรับจำนำข้าวมิใช่คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจหน้าที่พิจารณาของศาลปกครอง ดังนั้นการกระทำของดิฉันจึงมิอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ มาตรา 4(1) แห่ง พ.ร.บ.ปกครอง พ.ศ.2539 บัญญัติชัดว่าห้ามมิให้ใช้ พ.ร.บ.บังคับแก่รัฐสภา และ ครม. มาตรา 4(3) ก็บัญญัติชัดห้ามมิให้ใช้ พ.ร.บ.ปกครอง พ.ศ.2539 บังคับแก่การพิจารณาของนายกฯหรือรัฐมนตรีในงานทางนโยบายโดยตรง จึงชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์มิอาจนำ พ.ร.บ.ปกครอง พ.ศ.2539 มาใช้บังคับกับดิฉันได้ด้วย การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติเป็นการปฏิบัติโดยทั่วไป ไม่มีการใช้อำนาจทางปกครองเพื่อบังคับแต่อย่างใด การออกคำสั่งกระทรวงการคลังจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลบังคับ ทั้งผู้ออกคำสั่งอาจต้องรับผิดชอบด้วยการออกคำสั่งให้ดิฉันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาทตาม ม.57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ย่อมไม่อาจกระทำได้ ซึ่งนายวิษณุได้แสดงความเห็นชี้นำ พล.อ.ประยุทธ์และสังคมตลอดมาว่าจะดำเนินการโดยใช้มาตรา 57 ออกคำสั่งโดยไม่ฟ้องศาลแพ่ง"
"ดิฉันขอคัดค้านว่า หากปล่อยให้คณะกรรมการฯดำเนินการจะเป็นการกระทำฝ่าฝืนและปฏิบัติผิดต่อกฎหมาย และเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ในอดีตการดำเนินการทางละเมิดกับนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ป้องกันค่าเงินบาท รัฐบาลขณะนั้นเลือกฟ้องต่อศาลแพ่ง โดยไม่ใช้วิธีออกคำสั่ง ม.57 หนังสือฉบับนี้จึงเรียนมาเพื่อ 1.คัดค้านและทบทวนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 448/2558 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการฯพร้อมยกเลิกเพิกถอนการกระทำทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง 2.หากยังฝืนดำเนินการตามข้อ 1 ดิฉันขอให้ พล.อ.ประยุทธ์เปิดโอกาสให้ดิฉันโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานต่างๆ ตามหนังสือที่อ้างถึงต่อไป" น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ
@ "บิ๊กป้อม"ยืนยันไม่ได้กลั่นแกล้ง
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจาก พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อคัดค้านการออกคำสั่งตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิด