- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 12 October 2015 12:05
- Hits: 3370
ล้างเผด็จการรัฐสภา 'บิ๊กตู่'แนะ ออกสารชี้แนวยกร่าง ห่วงกระแสกดดัน'กรธ.' รุมต้าน'องค์กรคุมพรรค' จ้อน-จุไรรัตน์ชิงรองสปท. ทบ.แจง'หมู'เลิกชุดพราง
มติชนออนไลน์ :
'บิ๊กตู่'แนะ'มีชัย'ร่าง รธน. มองปัญหาชาติเป็นโจทย์ กำหนดกลไกปฏิรูปประเทศ ตั้งเป้าล้างเผด็จการรัฐสภา-ทุจริตคอร์รัปชั่น ห่วง กรธ.ถูกสังคมกดดัน
@ 'บิ๊กตู่'ตั้งโจทย์ร่างรัฐธรรมนูญ
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 10 ตุลาคม พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยแพร่สารจากใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยตอนหนึ่งว่า ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การปฏิรูปและมีการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน มี 2 หัวข้อที่จะต้องพูดถึง คือ 1.การยกร่างรัฐธรรมนูญ และ 2.การสร้างความปรองดอง หัวข้อแรกเริ่มจากที่วิสัยทัศน์ คสช.ได้ให้แนวทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าขอให้มองที่ปัญหาของประเทศไทยในห้วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นโจทย์ แล้วหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตยที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก ไม่เอาประชาธิปไตย เสรีภาพที่ไร้ขีดจำกัดมาเป็นตัวตั้ง
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า การรับฟังความเห็นในเรื่องรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างนั้น คสช.ได้มอบแนวทางให้กับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ว่าจะต้องดำเนินการโดยต่อเนื่องจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ที่ได้รับฟังความเห็นจากประชาชนมาแล้วทั่วประเทศ ประเด็นสำคัญคือ จะต้องรับฟังจากประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องมีทั้งที่เป็นสากล มีกระบวนการ กลไก สำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่งที่จะปฏิรูปจนประเทศมีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และไม่ฝืนกติกาประชาธิปไตยสากล
@ เป้าหมายล้างเผด็จการรัฐสภา
"เป้าหมายและสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ คือจะแก้ไขเผด็จการรัฐสภา การทุจริตประพฤติมิชอบ การกระทำผิดกฎหมายได้อย่างไร การตรวจสอบ การถ่วงดุล อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ทำอย่างไรจึงจะมีความสมดุล การบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมาจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร ทำอย่างไรให้ข้าราชการไม่เสียกำลังใจ ได้รับความเป็นธรรม ไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องจากฝ่ายการเมือง" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า หัวข้อที่ 2 เรื่องการสร้างความปรองดอง สารจากนายกฯระบุว่า หลักการปรองดองนั้น คสช.และรัฐบาลเชื่อมั่นว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นตรงกันว่า การสร้างความปรองดองคือ การสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยยังคงยึดมั่นในกฎหมาย ไม่ใช่ละเมิดความถูกต้องของกฎหมาย ใครผิดต้องถูกลงโทษโดยกระบวนการยุติธรรมอย่างเด็ดขาดและเสมอภาค ไม่เช่นนั้นเท่ากับสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ที่ไร้วินัย (อ่านรายละเอียด น.2)
@ ห่วงสังคมกดดันกรธ.-รัฐบาล
พล.ต.สรรเสริญให้สัมภาษณ์ถึงเจตนารมณ์ในการส่งสารจากใจ พล.อ.ประยุทธ์ว่า นายกฯมีความรู้สึกว่ามีหลายฝ่ายกดดันการทำงานของ กรธ. รวมถึงรัฐบาลและ คสช. เนื่องจากที่ผ่านมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ไม่ผ่านการเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำให้สังคมเริ่มมีแรงกดดันกับ กรธ. นายกฯจึงมีความเป็นห่วงว่า หากสังคมยังกดดันและไม่เข้าใจรัฐบาล จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปลำบาก
"นายกฯขอให้ประชาชนมีสติและอยากให้ประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นในการร่าง ผ่านช่องทางที่ กรธ.กำหนดไว้ ไม่อยากให้นักการเมือง กลุ่มการเมือง นักวิชาการพูดแสดงความเห็นผ่านสื่อมวลชน เพราะจะแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริง และอะไรเป็นความเห็นส่วนตัว" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
@ 'มีชัย'ชี้ปมประชามติชัดแล้ว
นายมีชัยให้สัมภาษณ์ "มติชน" ถึงแนวคิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อกำหนดการนับคะแนนเสียงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า จะใช้คะแนนจากผู้มีสิทธิออกเสียงหรือผู้มาใช้สิทธิออกเสียงว่า ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดแล้วว่า ใช้ผู้มาลงคะแนน ส่วนคนที่ไม่ลงคะแนน เขาเรียกโมฆบุรุษ แปลว่าใครเอาอย่างไรเขาก็เอาด้วย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ถ้ากลัวจะเป็นปัญหาจะแก้ก็ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ไม่ให้มีการทำประชามติ เพื่อป้องกันร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ นายมีชัยกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะไม่ให้มีการทำประชามติ ถ้าเอารัฐธรรมนูญไปใช้เลยจะไม่มีหลักยึด จะให้คน 21 คน มากำหนดชะตาชีวิตของคนทั้งประเทศก็คงไม่ใช่ จึงต้องมีการทำประชามติ
@ 'เต้น'ชี้การเมืองไม่พ้นอำนาจ
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การที่นายกฯมีความอึดอัดกรณีมีคนวิจารณ์การทำงานของ กรธ.ว่า วนเวียนอยู่แค่เรื่องอำนาจ ไม่สนใจประโยชน์ของประชาชนนั้น อยากให้คนในรัฐบาลเข้าใจความจริงว่า สิ่งที่นำประเทศไทยมาถึงจุดนี้คือ ความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อเป็นปัญหาทางการเมืองย่อมเกี่ยวข้องกับอำนาจ เพราะความหมายของการเมืองคือการจัดสรรอำนาจ
"ความขัดแย้งใหญ่วันนี้ไม่ได้อยู่ที่การหาคำตอบว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล หรือคณะไหนอยากอยู่ต่อไปอีกนาน แต่ประเทศไทยต้องการคำตอบสุดท้ายว่าใครคือเจ้าของอำนาจอธิปไตย ระหว่างประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน หรือใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อ้างตัวว่าเป็นคนดี มีคุณสมบัติเหนือคนทั่วไป ถ้าไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเรื่องนี้ แม้เรื่องอื่นๆ จะวางไว้สวยงามขนาดไหนก็ไม่พ้นวังวนความขัดแย้ง และมีแนวโน้มบานปลายยิ่งขึ้นในอนาคต" นายณัฐวุฒิกล่าว
@ กรธ.ตั้งคณะปฏิรูป-ปรองดอง
แหล่งข่าวจาก กรธ.เปิดเผยว่า ที่ประชุม กรธ.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีก 2 ชุด คือ 1.คณะทำงานศึกษาด้านการปฏิรูป และ 2.คณะทำงานศึกษาด้านการสร้างความปรองดอง ทั้งนี้ คณะทำงานศึกษาด้านการปฏิรูป ส่วนใหญ่ประกอบด้วย กรธ.ด้านวิชาการ เช่น นางจุรี วิจิตรวาทการ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ เป็นต้น ขณะที่คณะทำงานด้านการสร้างความปรองดอง ได้แก่ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ และ พล.ต.วิระ โรจนวาศ
ทั้งนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ได้มอบหมายคณะทำงานทั้งสองคณะไปศึกษาเพื่อหาแนวทางการสร้างความปรองดองและการปฏิรูปที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ และนำมาเสนอต่อ กรธ.เพื่อพิจารณากำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ขณะเดียวกัน นายมีชัยเตรียมทำหนังสือให้ภาคเอกชนและกลุ่มวิชาชีพจัดทำความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญมาให้ กรธ. จากเดิมที่จะขอความเห็นจากพรรคการเมือง รัฐบาล คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เท่านั้น
@ 'อมร'เผยไม่ลงลึกนิรโทษกรรม
นายอมร กล่าวว่า คณะทำงานศึกษาด้านการสร้างความปรองดองจะมีการนำรายละเอียดและข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองจากฝ่ายต่างๆ มาศึกษาเพื่อให้เหมาะกับบริบทของสังคมไทย โดยยืนยันว่า การศึกษาในครั้งนี้เพียงแต่เป็นการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น และจะยังไม่ลงไปถึงการตัดสินใจว่าจะมีการดำเนินการนิรโทษกรรมหรือไม่ด้วย
นายอมรกล่าวว่า หลังจากที่ทาง กรธ.ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาแล้ว ประกอบกับที่ประชุม กรธ.ได้พิจารณากรอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 35 ทั้ง 10 ข้อ และกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ ตามความมุ่งหมายของ คสช.จำนวน 5 ข้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนตัวคิดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะเริ่มเห็นเค้าโครงของร่างรัฐธรรมนูญว่ามีรูปแบบเป็นอย่างไร
@ 'พรเพชร'แนะศึกษา'ฉบับปื๊ด'
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรอบการทำงาน 180 วันของ กรธ.ว่า คาดว่า กรธ.จะใช้เวลาครบหรือเกือบครบตามกำหนด 180 วัน โดย สนช.มีมุมมอง 2 มิติ คือ กรธ.ต้องศึกษาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างฯ ที่ตกไปก่อนหน้านี้ ว่ามีส่วนใดสมควรต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร และต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดย สนช.มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ถูกต้อง ผ่านเวที สนช.พบประชาชนที่จัดขึ้นทุกสัปดาห์ โดย สนช.จะส่งต่อความเห็นของประชาชนให้กับ กรธ.
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรธ.อาจยกร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมถึงช่วงก่อนเลือกตั้ง นายพรเพชรกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นประเด็นดังกล่าว มีเพียงคำพูดของนายมีชัยที่ระบุถึงปัญหาการเมืองไทย เพราะได้นักการเมืองที่ถูกลงโทษให้ตัดสิทธิทางการเมืองหรือรับโทษทางอาญา หากตัดสิทธิบุคคลดังกล่าวอย่างถาวร อาจทำให้การเมืองพัฒนาดีขึ้น
@ แนะกรธ.ยึด4กรอบยกร่างฯ
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ ของ พท. กล่าวถึงกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ระบุให้พรรคการเมืองเสนอความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้ว่า ในส่วนของแกนนำ พท.ได้พูดคุยกันบ้าง เบื้องต้นอยากจะเสนอกรอบการทำงานถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยอยากให้ กรธ.คำนึงถึงหลักการร่างรัฐธรรมนูญ 4 ประการ คือ 1.ต้องร่างรัฐธรรมนูญโดยยึดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย 2.ต้องให้เกิดความปรองดองและความสามัคคีของคนในชาติ 3.ต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม และ 4.ต้องสร้างการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของทุกองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
"ส่วนที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ ออกมาระบุว่า นายกฯ อึดอัดและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดความเห็นผ่านช่องทางที่ กรธ.จัดไว้นั้น ท่านกำลังจะจัดระเบียบการแสดงความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่ จะไปห้ามคนไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างไรหากเรื่องนั้นๆ เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย อะไรดีก็นำไปใช้ ในทางกลับกันต้องช่วยกันกระตุ้นให้ประชาชนช่วยกันติดตามร่าง เพราะเขาต้องออกเสียงลงประชามติในตอนท้าย" นายสามารถกล่าว
@ ค้านองค์กรตรวจนโยบายพรรค
นายธนพร ศรียากูล หัวหน้าพรรคคนธรรมดา ให้สัมภาษณ์กรณี กรธ.มีแนวคิดตั้งองค์กรใหม่หรือใช้องค์กรเดิมที่มีอยู่ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อตรวจสอบนโยบายพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ป้องกันนโยบายประชานิยมที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาวว่า โดยพื้นฐานแล้วการที่พรรคการเมืองจะได้รับการยอมรับหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายที่พรรคการเมืองนั้นได้นำเสนอหรือไม่ การจัดตั้งองค์กรดังกล่าวขึ้นมานั้นถือว่า เป็นการละเมิดสิทธิและดูถูกการตัดสินใจของประชาชน
"ทั้งหมด ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะไว้วางใจใครให้เป็นตัวแทน บางพรรคมีนโยบายที่ยิ่งกว่าการจำนำข้าว อาทิ ยกหนี้ให้คนไทย ยกหนี้ให้ครู แต่ไม่ได้รับเลือก สิ่งที่ กรธ.นำเสนอในตอนเริ่มต้นก็ทำให้เห็นแล้วว่า ปลายทางจะเป็นอย่างไร จึงอยากให้ล้มเลิกความคิดที่ยังมองว่า ประชาชนเป็นคนโง่ ถูกหลอกลวงให้เข้าใจผิดและคิดเองไม่ได้" นายธนพรกล่าว
@ ชี้อย่าละเมิดอำนาจประชาชน
นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวในกรณีเดียวกันว่า ข้อดีของการมีองค์กรตรวจสอบนโยบายพรรคการเมืองคือ ทำให้นโยบายได้รับการตรวจสอบว่าถูกใช้ไปในทางที่หวังคะแนนเสียงทางการเมือง หรือเป็นแนวทางที่สัมพันธ์กับอุดมการณ์ทางการเมืองกันแน่ รวมถึงผลของการใช้จ่ายงบประมาณ หากจะให้กล่าวอย่างเข้าใจได้ง่ายก็คือ เป็นการประเมินว่าพรรคการเมืองจะใช้นโยบายทางการเมืองไปสัมพันธ์กับนโยบายประชานิยมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่จะตามมาก็คือ องค์กรดังกล่าวจะต้องถูกโจมตีว่าใช้อภิสิทธิ์ของข้าราชการและผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบ
"มองว่าองค์กรที่ว่านี้มีความเป็นไปได้น้อยที่จะเกิดขึ้นได้จริง เพราะคนที่มีสิทธิชอบธรรมในการตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมืองคือ ประชาชน ไม่ใช่องค์กรใดๆ เพราะประชาชนเป็นคนเลือก เป็นคนตัดสินใจในฐานนโยบาย จึงเป็นผู้ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แม้ว่าจะมีเจตนาดี แต่ถามว่าสังคมจะรับได้หรือไม่" นายโอฬารกล่าว
@ พท.แนะระบุข้อห้ามให้ชัด
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงแนวคิดของ กรธ. ที่จะให้องค์กรขึ้นมาตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมืองว่า สิ่งที่สำคัญคืออย่าไปคิดแทนหรือตัดสินใจอะไรแทนประชาชน สำคัญที่สุดคือต้องขอดูรูปธรรมของ กรธ.ก่อนว่าคืออะไร เพราะถ้าจำกัดก็เท่ากับว่ากำลังเอาความต้องการ เอาความคิดเห็นที่เชื่อว่าจะป้องกันประเทศไม่ให้เสียหายจากคนเพียง 21 คน มาตัดสินใจแทนความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศนั้นไม่ถูกต้อง
นายภูมิธรรมกล่าวว่า ส่วนการที่จะให้พรรคการเมืองจัดทำสัญญาประชาคมให้เป็นไปตามกรอบวินัยทางการเงินการคลังที่ดี เพื่อให้ประชาชนทราบถึงนโยบายของพรรค รวมถึงเป็นหลักฐานเอาไว้ตรวจสอบในอนาคตนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับ พท.เลย เพราะว่า พท.เป็นพรรคที่ได้พูดทุกสิ่งทุกอย่างในนโยบายที่ได้หาเสียงเลือกตั้ง และพอหาเสียงเสร็จก็นำนโยบายนั้นมากำหนดเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐที่จะใช้แถลงต่อสภาเพื่อกำกับการทำงาน
"ถ้าคุณจะกำหนดว่า แค่ไหนทำได้ แค่ไหนทำไม่ได้ และคืออะไร คุณต้องพูดให้ชัดเจน บอกว่านโยบายประชานิยมทำไม่ได้ ก็ต้องถามว่า คำว่านโยบายประชานิยมของคุณจริงๆ ที่ชัดเจนคืออะไร" นายภูมิธรรมกล่าว
@ ปชป.หนุนทำหมันประชานิยม
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณี กรธ.วางกรอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 35 ให้รัฐมีกลไกการป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองและเพื่อควบคุมพรรคการเมืองว่า คิดว่าแนวคิดดังกล่าวสืบเนื่องมาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ ที่ถูก สปช.คว่ำ โดย ปชป.เห็นด้วย เนื่องจากการใช้นโยบายประชานิยมบางนโยบายนั้น มุ่งหวังให้ประชาชนพอใจอย่างเดียว แต่ในระยะยาวกลับทำประเทศชาติเสียหาย เรียกกันว่าการใช้นโยบายรัฐซื้อเสียงประชาชน ปชป.ไม่เห็นด้วยมาตลอด อย่างไรก็ตามนโยบายประชานิยมนั้นเป็นสิ่งที่ดีแต่จำเป็นต้องมีกลไกของรัฐเข้าไปตรวจสอบด้วย
เมื่อถามว่า หากมีการเลือกตั้ง ปชป.ต้องเข้มงวดกับนโยบายพรรคก่อนประกาศหาเสียงหรือไม่ นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ปชป.ไม่เคยมีนโยบายประชานิยมอยู่แล้ว ส่วนข้อสังเกตที่ว่าทำไม กรธ.ต้องกำกับไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญนั้น คิดว่ามีแนวคิดนี้มาตั้งแต่ต้นแล้ว แต่ต้องดูในรายละเอียดด้วยว่า ไม่ควรจะไปกำกับตัวนโยบายเสียเองทั้งหมด
@ ต้านขรก.ตัดสินนโยบายพรรค
"ไม่ควรให้ข้าราชการมาเป็นคนตัดสินว่า นโยบายใดที่พรรคการเมืองทำได้หรือทำไม่ได้ เพราะจะเข้าข่ายข้าราชการเป็นคนกำหนดนโยบายเสียเอง ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตยที่พรรคการเมืองต้องเป็นคนกำหนดนโยบายไม่ใช่ข้าราชการประจำ หน่วยงานหรือองค์กรที่จะเข้ามากำกับก็ไม่ควรมีสิทธิบอกว่านโยบายนี้ใช้ได้ นโยบายนั้นใช้ไม่ได้ ดังนั้น กรธ.ต้องหาจุดกึ่งกลางว่าตรงไหนทำได้ ตรงไหนทำไม่ได้" นายนิพิฏฐ์กล่าว
เมื่อถามว่า หน่วยงานที่จะมาตรวจสอบนโยบายควรเป็นหน่วยงานใด นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า คิดว่าต้องมีหน่วยงานการคลังของประเทศเข้ามาตรวจสอบด้วย เพราะหากจะประเมินว่าสามารถดำเนินนโยบายนี้ได้หรือไม่ก็ต้องประเมินผ่านหน่วยงานการคลัง แต่ไม่ต้องถึงขนาดเอาสำนักงบประมาณมากำกับดูแล
@ 'วันชัย'เชื่อ'ทินพันธุ์'คุมสปท.
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ สปท. จะได้รับเลือกเป็นประธาน สปท.ว่า ได้ข่าวว่า ร.อ.ทินพันธุ์จะเสนอตัวเป็นประธาน สปท. แต่ยังไม่ได้มีใครมาล็อบบี้หรือทาบทามให้เลือก ร.อ.ทินพันธุ์ สำหรับคนอื่นๆ ยังไม่รู้ การจะได้ใครเป็นประธานต้องอยู่ที่เสียงโหวตของ สปท.ส่วนใหญ่ ถ้าเห็นว่าใครเหมาะสมก็น่าจะเป็นคนนั้น ทั้งนี้ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับ ร.อ.ทินพันธุ์
แต่ถ้าดูจากประวัติและคุณสมบัติ ความรู้ ประสบการณ์ คิดว่ามีประสบการณ์การเมือง ฉะนั้นถ้า ร.อ.ทินพันธุ์ความตั้งใจ ทุ่มเท ก็สามารถเป็นประธาน สปท.ได้ แม้ว่าอายุจะมากก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด
"ในเมื่อนายกฯเป็นคนทุ่มเทและตั้งใจทำงาน ตั้งขึ้นมาแล้ว คนที่เป็นประธาน สปท.ก็ต้องมีบุคลิกพร้อมที่จะทำตามที่นายกฯตั้ง ในทางตรงกันข้ามหากเป็นแล้วไม่เข้ามาทำงาน ไม่ทุ่มเท และเป็นเพื่อชื่อเสียง เกียรติยศ ก็ไม่สมควรจะเป็นหรอก ทั้งนี้ต้องดูที่ใจท่านว่า ท่านพร้อมหรือไม่" นายวันชัยกล่าว
@ 'ทินพันธุ์'แรงไร้คู่แข่งชิงเก้าอี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม สปท.วันที่ 13 ตุลาคมนี้ ที่จะมีการโหวตเลือกประธาน สปท. และรองประธาน สปท. 2 คนนั้น ขณะนี้ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะมีการเสนอชื่อ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ เป็นประธาน สปท. โดย พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก สปท. จะเป็นผู้เสนอชื่อต่อที่ประชุม และจะไม่มีการเสนอชื่อ สปท.รายอื่นมาแข่ง ในส่วนรองประธาน สปท.คนที่ 1 ที่มีชื่อ พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ เป็นแคนดิเดตนั้น จะมีการเสนอชื่อนายอลงกรณ์ พลบุตร สปท. ชิงตำแหน่งด้วย ส่วนรองประธาน สปท.คนที่ 2 ที่มีชื่อ น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ เป็นแคนดิเดตนั้น จะมีการเสนอชื่อนางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ อดีต สปช. ลงชิงตำแหน่งเช่นกัน
ด้านนายอลงกรณ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลงชิงตำแหน่งรองประธาน สปท.คนที่ 1 หรือไม่ แต่ทราบว่ามี สปท.จะเสนอชื่อชิงตำแหน่ง เนื่องจากเห็นว่ามีประสบการณ์ทางการเมือง เคยเป็น ส.ส. และวิป สปช.มาก่อน จะได้มาช่วยแบ่งเบาการทำงานของประธาน สปท. และเป็นโซ่ข้อกลางประสานการทำงานระหว่าง สปท.กับหน่วยงานราชการต่างๆ และสาธารณชนถึงโรดแมปการทำงานของ สปท.
@ 'เสธ.อู้'แนะลดคณะกรรมาธิการ
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปท. กล่าวว่า เท่าที่ฟังเสียงของ สปท.ขณะนี้ ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าจะสนับสนุน ร.อ.ทินพันธุ์เป็นประธาน สปท. และยังไม่ได้ยินว่าจะมีใครเสนอตัวแข่งชิงตำแหน่งด้วย ทั้งนี้ ภายหลังการได้ตัวประธานและรองประธาน สปท.แล้ว ที่ประชุมจะมีการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม สปท. ส่วนการวางกรอบแนวทางการทำงานของ สปท.นั้น คงจะต้องมาพูดคุยกันว่าจะมีแนวทางการทำงานอย่างไร จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปกี่คณะ ส่วนตัวเห็นว่า ควรลดเหลือ 14-15 คณะ เพื่อลดความซ้ำซ้อนการทำงาน จากเดิมที่สมัยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มี 18 คณะ และควรใช้เวลาประชุมในสภาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด