WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

10ตลาคม

สาร'บิ๊กตู่'ฮึ่มคนคิดร้ายชาติ วอนขอกำลังใจจากประชาชน ให้ปกป้องคสช.-รัฐบาล-กรธ. ชูรธน.มุ่งปรองดอง-สกัดโกง

     'บิ๊กตู่'ส่งสารถึงประชาชน ขอกำลังใจให้รัฐบาล-คสช.-กรธ.ผ่าตัดใหญ่ประเทศสู่ความยั่งยืน ลั่นไม่ยอมให้คนมุ่งร้ายสถาบัน ทำร้ายประเทศชาติ ประชาชนมากดดัน กำชับ กรธ.เป้าหมายร่าง รธน.ต้องแก้เผด็จการรัฐสภา กำจัดทุจริต สร้างปรองดอง พร้อมฟังความเห็นทุกกลุ่ม แต่ย้ำทุกฝ่ายห้ามจ้อผ่านสื่อให้ใช้เฉพาะช่องทางที่ กรธ.จัดไว้ กรธ.เผยสัปดาห์หน้าเห็น โครงร่างรธน.'พรเพชร'แนะศึกษาฉบับบวรศักดิ์ว่าต้องปรับปรุงเรื่องใด เพื่อไทยย้ำต้องเป็นประชาธิปไตยที่ต่างชาติยอมรับ'ทินพันธุ์'ไร้คู่แข่งเลือกประธาน สปท. 13 ต.ค.นี้ 'จ้อน-จุไรรัตน์' มีชื่อโผล่ชิงรองประธาน

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9083 ข่าวสดรายวัน

'บิ๊กตู่'ส่งสารถึงปชช.
      เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 10 ต.ค. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำสารของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ความยาว 17 นาที เผยแพร่ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.)
       พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า สารของนายกฯ ระบุว่าในช่วงเวลาที่ประเทศเรากำลังเดินหน้าสู่การปฏิรูปและมีการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ดังนั้น 2 หัวข้อคือ 1.การยกร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นแรก เริ่มจากที่วิสัยทัศน์ซึ่ง คสช.ได้ให้แนวทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าขอให้มองที่ปัญหาของประเทศไทยในห้วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นโจทย์ แล้วหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตยที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก ไม่เอาประชาธิปไตย เสรีที่ไร้ขีดจำกัดมาเป็นตัวตั้ง โดยไม่มองว่าปัญหาที่แท้จริงนั้นอยู่ตรงไหน
     แม้ว่า จะเป็นรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่หากทุกคนไม่ปฏิบัติตามและพยายามที่จะหาช่องว่างอ้างแต่เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพโดยไม่คำนึงว่าจะกระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือไม่ บ้านเมืองคงไม่มีเสถียรภาพ

แจงร่างรธน.ฟังทุกกลุ่ม
        พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า การรับฟังความเห็นในเรื่องรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างนั้น คสช.ได้มอบแนวทางให้กับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ว่าจะต้องดำเนินการโดยต่อเนื่องจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ชุดเดิมที่ได้ดำเนินรับฟังความเห็นจากประชาชนมาแล้วทั่วประเทศ ประเด็นสำคัญคือการจะต้องรับฟังจากประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ที่ผ่านมามีคนพยายามที่จะบิดเบือนว่า กมธ.ยกร่างฯ รับฟังแต่เสียงจากคนชั้นสูง ซึ่งความจริงแล้วประเทศไทยไม่มีคนชั้นสูง ชนชั้นกลางและไม่มีชนชั้นต่ำ คำพูดเหล่านั้นเป็นเพียงวาทกรรมที่นักการเมืองบางคนที่มีความพยายามแบ่งกลุ่มแบ่งฝ่าย สร้างความแตกแยกในบ้านเมืองเพื่อผลประโยชน์ในบ้านเมือง แม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ก็กล่าวหาว่า คสช.และรัฐบาลใช้เพื่อที่จะทำลายฝ่ายตรงกันข้าม
       "ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่ามีการกระทำผิดจริงหรือไม่ ชัดเจนหรือไม่ทั้งการพูด การชุมนุม ทั้งในโซเชี่ยลมีเดียทั้งในและต่างประเทศ มีการกล่าวกันว่าทำไมรัฐบาลถึงไม่แก้ไขเรื่องนี้ รัฐบาลต้องเรียนให้ทราบว่าก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 ส่วนราชการโดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ดำเนินการป้องกันการพูดจาจาบจ้วงล่วงละเมิดต่อสถาบันอันเป็นที่รักของไทยมาตลอด แต่กลุ่มคนพวกนี้ยังคงใช้เทคนิคในการหลบเลี่ยงอย่างต่อเนื่อง และยังให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่จะสร้างข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวเท็จทำลายความเชื่อมั่นของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงโดยไม่มีการห้ามปรามและเอาจริงเอาจังจากผู้มีอำนาจในช่วงนั้นเลย" พล.ต.สรรเสริญกล่าว

ห้ามจ้อผ่านสื่อ-ใช้ช่องทางกรธ.
        พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า หลังจากวันที่ 22 พ.ค.2557 ที่ คสช.และรัฐบาลเข้ามา บริหารประเทศยังมีการกกระทำในลักษณะเช่นนี้อยู่ ซึ่ง คสช.และรัฐบาลพยายามที่จะป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมายเหล่านั้นอย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่ต้องเรียนตามความเป็นจริงว่าการป้องกันและการปิดกั้นนั้นกระทำได้ยากมาก ในประเทศมีการดำเนินการไปตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ยังอาศัยเทคนิคทางเทคโนโลยีไปเปิดเว็บไซต์แห่งใหม่ ก็เป็นหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามเมื่อเจ้าหน้าที่สามารถติดตาม ตรวจสอบ จับกุมผู้กระทำความผิดได้ ก็มักจะมีการสร้างเครือข่ายขึ้นมาต่อต้านโดยอ้างหลักสิทธิมนุษยชน และในที่สุดก็หลบหนีไปต่างประเทศ
      พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ประเด็นที่สอง การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ คสช.และรัฐบาลอยากจะขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วน ตลอดจนนักการเมือง กลุ่มการเมือง นักวิชาการ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางที่ กรธ.ได้จัดไว้น่าจะมีความเหมาะสมที่สุด ดีกว่ามาแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อมวลชน เพราะอาจทำให้สังคมสับสนว่าเรื่องใดเป็นข้อเท็จจริง เรื่องใดเป็นการตีความไปเองหรือเป็นความคิดเห็นเฉพาะตัวที่ไม่ได้ มาจากข้อมูลในรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

มุ่งแก้เผด็จการรัฐสภา-โกง
        พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ประเด็นที่สาม เป้าหมายและสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ สิ่งสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญคือเราจะแก้ไขเผด็จการรัฐสภา การทุจริตประพฤติมิชอบและการกระทำที่ผิดกฎหมายได้อย่างไร การตรวจสอบ การถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และตุลาการ จะทำอย่างไรจึงจะมีความสมดุล การบริหารราชการแผ่นดินที่จะต้องมี ธรรมาภิบาลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
      ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลายปีที่ผ่านมามีความรุนแรง มีการใช้อาวุธสงครามทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ มีการแบ่งแยกประชาชนออกเป็นฝักเป็นฝ่าย จะทำอย่างไรจึงจะป้องกันเหตุการณ์ทั้งหลายนี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้อีก ทำอย่างไรถึงจะทำให้ข้าราชการไม่เสียกำลังใจ ได้รับความเป็นธรรม ไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำสิ่งที่ไม่ถูกต้องจากฝ่ายการเมือง
       โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า การปฏิรูปให้เกิดความยั่งยืนของประเทศในทุกมิติอาจจะต้องใช้เวลานาน คงไม่ใช่หนึ่งหรือสองปีที่จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่ไม่ได้หมายความว่า คสช.จะอยู่จนกระทั่งจบการปฏิรูป เพียงแต่จะต้องเริ่มต้นปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมมาเป็นเวลานาน ปฏิรูปในเรื่องต่างๆ ที่จะวางรากฐานประเทศและส่งต่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้ดำเนินการต่อไป โดยมีกลไกมีกฎหมายควบคุมให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ครอบคลุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 12 เป็นต้นไป

หวังเป็นรธน.ฉบับสมบูรณ์
       พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องนำเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมเกิดผลสัมฤทธิ์ที่จับต้องได้ ทุกหน่วยราชการจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้ กลไกดังกล่าวจะต้องไม่ไปก้าวก่ายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล แต่จะต้องสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้หากประเทศจะต้องประสบปัญหาขึ้นมาอีก ดังเช่นปัญหาที่มีมาก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557
        "คสช.และรัฐบาลเข้าใจดีว่าคนส่วนใหญ่และต่างประเทศที่เป็นสากลคงจะไม่ค่อยชอบการที่ทหารเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ดังนั้น คสช.และรัฐบาลจึงคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างอยู่นี้จะได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนในการแสดงความคิดเห็นจนเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความสมบูรณ์สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศได้ และคงเป็นการดีที่ทหารจะต้องไม่เข้ามาแก้ปัญหาเหมือนเช่นที่ผ่านมาอีก สำหรับนักการเมืองบางท่านที่เกิดความไม่สบายใจก็ขอให้อดทนเพื่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่งคงใช้เวลาอีกไม่นานนักตามโรดแม็ปที่ คสช.และรัฐบาลได้เรียนให้ประชาชนทราบมาโดยตลอด" พล.ต. สรรเสริญกล่าว

ยันนิรโทษไม่ใช่วิธีปรองดอง
       โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า หัวข้อที่ 2 ในเรื่องความปรองดอง ประเด็นแรกเป็นหลักของความปรองดอง ที่หลายคนอ้างว่าหากจะเดินหน้าประเทศกลับไปเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะต้องจัดให้มีการนิรโทษกรรมทันที ประเทศชาติจึงจะมีความสงบสุข ซึ่งต้องตั้งคำถามกลับไปว่ากระบวนการยุติธรรมซึ่งทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันมันหายไปไหน หากยอมรับข้อกล่าวหากลับมาต่อสู้คดีความตั้งแต่แรกก็คงไม่เกิดปัญหา คงไม่ต้องมี คสช.และคงไม่มีประชาชนที่บาดเจ็บล้มตายจากการกระทำของกองกำลังที่อ้างว่าเป็นกำลังไม่ทราบฝ่าย ทั้งที่มีการจับกุมดำเนินคดีตัดสินความผิด ชดใช้ความผิดอยู่ในเรือนจำแล้วก็หลายราย ซึ่งทุกคนทราบกันดีอยู่ว่าบุคคลพวกนี้ให้การสนับสนุนใคร หากเป็นการสนับสนุนตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยธรรมาภิบาล เหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น ประชาชนคงไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน
       คสช.และรัฐบาลเชื่อมั่นว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นตรงกันว่าการสร้างความปรองดองคือการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันโดยยังต้องยึดมั่นอยู่ในข้อกฎหมายมิใช่ละเมิดความถูกต้องของกฎหมาย ใครผิดก็ยังต้องถูกลงโทษโดยกระบวนการยุติธรรมอย่างเด็ดขาดและเสมอภาคกัน มิฉะนั้นเท่ากับว่าเรากำลังสร้างหลักเกณฑ์ กติกาที่ไร้วินัย ไร้ระเบียบ เมื่อไม่มีอะไรเป็นหลักให้รักษาอีกความโกลาหลจะเกิดขึ้น ความไร้ระเบียบก็จะตามมาอีกมากมาย

วอนเลิกฟังพวกยุให้โกลาหล
         ส่วนประเด็นที่สองคือ เรื่องความร่วมมือของประชาชนเพื่อให้เกิดความปรองดองนั้น พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า คสช.และรัฐบาลอยากให้ประชาชนพิจารณาคำพูด ข้อเสนอของนักการเมือง นักวิชาการและนักการสื่อสารบางคน หรือสื่อมวลชนบางแขนงว่าได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนหรือไม่ เกิดประโยชน์กับประเทศชาติอย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งประชาชนสามารถช่วยเหลือเรื่องนี้ได้ กล่าวคือหากประชาชนเจอพวกที่มุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว ยั่วยุ หวังที่จะให้เกิดความเดือดร้อนโกลาหล ยุยงให้เกิดความเกลียดชังแบ่งฝักแบ่งฝ่ายขอให้ประชาชนเลิกฟัง เลิกเชื่อ เลิกสนับสนุน
       ขณะนี้ประเทศกำลังอยู่ในระหว่างวางรากฐานประเทศกันใหม่ แก้ไขปฏิรูปในทุกเรื่องเสมือนการผ่าตัดใหญ่เพื่อที่จะรักษาโรคเก่าและป้องกันโรคใหม่ที่จะตามมา สิ่งที่ คสช.และรัฐบาลได้ดำเนินการอยู่ทุกวันนี้เพื่อจะให้ประเทศชาติของเราและประชาชนของเราไม่กลับไปอยู่ในสถานการณ์เช่นเดิมอีก

ขอกำลังใจ-ไม่ยอมให้ใครกดดัน
       "คสช.และรัฐบาลไม่ได้ต้องการให้เป็นศัตรูกับใคร แต่ขอยืนยันว่าจะไม่ให้ใครก็ตามที่มุ่งร้ายต่อสถาบัน คิดทุจริต ทำร้ายประชาชนและประเทศมากดดันการทำงาน ของคสช. รัฐบาล และ กรธ.ในการที่จะทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงประเทศให้มีอนาคตที่เข้มแข็งมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน คสช.และรัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเข้ามาแก้ไขประเทศของทหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 จะเป็นการแก้ไขปัญหาของประเทศโดยทหารครั้งสุดท้าย"พล.ต.สรรเสริญกล่าว
      โดยสรุปการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมีทั้งที่เป็นสากลไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ และมีทั้งกระบวนการและกลไกสำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่งที่จะปฏิรูปจนกระทั่งประเทศของเรามีความมั่นคง มีเสถียรภาพและไม่ฝ่าฝืนกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยของสากล เพื่อที่จะพัฒนาการเมือง นักการเมือง ประชาชนทุกภาคส่วนให้มีความรักสามัคคี มีคุณธรรม จริยธรรม มีธรรมาภิบาล ปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองที่ถูกต้อง บังคับใช้กฎหมายได้อย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตามแม้ว่า คสช.และรัฐบาลจะมีความตั้งใจจริงเพียงใด แต่หากขาดซึ่งความรัก สามัคคี จากคนไทยทุกคน ขาดความมีสติ วิจารณญาณ ความตระหนักคิดและความรักของประชาชนที่มีต่อแผ่นดินเกิด การปฏิรูปประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนคงไม่สามารถที่จะทำสำเร็จได้
      "สำคัญที่สุดประชาชนต้องช่วยกันให้กำลังใจ เอาใจช่วยคนที่ตั้งใจมุ่งมั่นและซื่อสัตย์ อย่าปล่อยให้ถูกกดดัน ต่อว่าเสียกำลังใจจากผู้ที่ไม่ได้รักประเทศชาติอย่างแท้จริง นี่คือสารจากใจพล.อ.ประยุทธ์ที่มีถึงประชาชนทุกคน" พล.ต.สรรเสริญกล่าว

เผยเหตุส่งสาร-ปกป้องกรธ.
     พล.ต.สรรเสริญให้สัมภาษณ์ถึงเจตนารมณ์ในการส่งสารจากใจพล.อ. ประยุทธ์ว่า นายกฯ มีความรู้สึกว่ามีหลายฝ่ายกดดันการทำงาน กรธ. รวมถึงรัฐบาล และ คสช.ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ไม่ผ่านการเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำให้สังคมเริ่มมีแรงกดดันกับ กรธ.ชุดใหม่ นายกฯ จึงมีความเป็นห่วงว่าหากสังคมยังกดดันและไม่เข้าใจรัฐบาลจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปลำบาก
      "นายกฯ จึงขอให้ประชาชนมีสติและอยากให้ประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญผ่านช่องทางที่ กรธ.กำหนดไว้ ซึ่งนายบวรศักดิ์ได้สร้างเครือข่ายการรับฟังความเห็นไว้แล้วทั่วประเทศ ไม่อยากให้นักการเมือง กลุ่มการเมือง นักวิชาการพูดแสดงความเห็นผ่านสื่อมวลชน เพราะเราจะแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริง และอะไรเป็นความเห็นส่วนตัว ซึ่งสารจากใจนายกฯ ที่ผมได้ถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์รวมกันเฉพาะกิจแห่งประเทศ ไทยเมื่อช่วงหลังเคารพธงชาติไม่ได้จะมีขึ้นเป็นประจำทุกวันเสาร์แต่อย่างใด แต่หากในอนาคตนายกฯ มีเรื่องอยากส่งสารถึงประชาชนจะมีขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น" พล.ต.สรรเสริญกล่าว

"มีชัย"ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด
     วันเดียวกัน รายงานข่าวจาก กรธ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กรธ.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด คือ 1.คณะทำงานศึกษาด้านการปฏิรูป และ 2.คณะทำงานศึกษาด้านการสร้างความปรองดอง ทั้งนี้คณะทำงานศึกษาด้านการปฏิรูป ส่วนใหญ่ประกอบด้วย กรธ.ด้านวิชาการ เช่น นางจุรี วิจิตรวาทการ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ เป็นต้น ขณะที่คณะทำงานเรื่องการสร้างความปรองดอง ได้แก่ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ พล.ต.วิระ โรจนวาศ
       ทั้งนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ได้มอบหมายคณะทำงานทั้งสองคณะไปศึกษาเพื่อหาแนวทางการสร้างความปรองดองและการปฏิรูปที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ และนำมาเสนอ กรธ.เพื่อพิจารณากำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ขณะเดียวกัน นายมีชัยเตรียมทำหนังสือให้ภาคเอกชนและกลุ่มวิชาชีพจัดทำความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญมาให้ กรธ. จากเดิมที่จะขอความเห็นจากพรรคการเมือง รัฐบาล คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภา ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เท่านั้น

สัปดาห์หน้าเห็นเค้าโครง
        นายอมร วาณิชวิวัฒน์ กรธ. กล่าวว่า คณะทำงานศึกษาเรื่องการสร้างความปรองดองจะนำรายละเอียดและข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองจากที่ต่างๆ มาศึกษาเพื่อให้เหมาะกับบริบทกับสังคมไทย โดยยืนยันว่าการศึกษาในครั้งนี้จะไม่ลงลึกถึงตัวโครงสร้างของคณะกรรมการที่จะมาดำเนินการเรื่องการสร้างความปรองดอง เพียงแต่เป็นการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น และจะยังไม่ลงไปถึงการตัดสินใจว่าจะมีการดำเนินการนิรโทษกรรมหรือไม่ด้วย "หลังจาก กรธ.ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นมาแล้ว ประกอบกับที่ประชุม กรธ.ได้พิจารณากรอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 35 ทั้ง 10 ข้อ และกรอบการร่างรัฐธรรมนูญตามความมุ่งหมายของ คสช.จำนวน 5 ข้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนตัวคิดว่าในสัปดาห์หน้าน่าจะเริ่มเห็นเค้าโครงของร่างรัฐธรรมนูญและมีรูปแบบเป็นอย่างไร ต่อไป" นายอมรกล่าว

'พรเพชร'แนะศึกษาร่างเดิม
      นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวถึงกรอบการทำงานของ กรธ.ว่า คาดว่า กรธ.จะใช้เวลาครบหรือเกือบครบตามกำหนด 180 วัน โดย สนช.มีมุมมอง 2 มิติ คือ กรธ.ต้องศึกษาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ตกไปว่ามีส่วนใดต้องปรับปรุงแก้ไข และต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ในส่วนนี้ สนช.มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ถูกต้อง ผ่านเวที สนช.พบประชาชนซึ่งจัดขึ้นทุกสัปดาห์ โดย สนช.จะส่งต่อความเห็นของประชาชนให้กับ กรธ.
      ผู้สื่อข่าวถามว่า กรธ.อาจยกร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมถึงช่วงก่อนเลือกตั้ง นายพรเพชรกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นประเด็นดังกล่าว มีเพียงคำพูดของนายมีชัย ที่ระบุถึงปัญหาการเมืองไทย เพราะเราได้นักการเมืองที่ถูกลงโทษให้ตัดสิทธิทางการเมืองหรือรับโทษทางอาญา หากตัดสิทธิบุคคลดังกล่าวอย่างถาวรอาจทำให้การเมืองพัฒนาดีขึ้น ส่วนประเด็นที่ กรธ.บางคนระบุถึงการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น ยังไม่ขอวิจารณ์ การด่วนวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นการทะเลาะกับประชาชนจำนวนมาก ควรรอให้เรื่องเข้าสู่กระบวนการแล้วมีให้ความเห็น หากเป็นข้อเสนอแนะที่ดีเชื่อว่า กรธ.จะรับไปปฏิบัติ ถ้าไม่ดีก็ไม่ควรรับเพราะอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง

'เสี่ยอ้วน'ลั่นต้องเป็นปชต.
       นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดีที่นายมีชัย จะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายรวมทั้งพรรคการเมือง มีโอกาสเสนอแนะร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกรอบกติกาใหญ่ของประเทศ โดยส่วนตัวเห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นของคนทุกฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่างบนพื้นฐานของความเข้าใจ จะเป็นทางออกในการร่างกติกาเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ที่สำคัญจะช่วยให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าฉบับที่ถูกคว่ำไป เพราะไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้งนี้ เนื่องจากยังอยู่ในภาวะไม่ปกติ พรรคคงทำได้เพียงการรับฟังข้อเสนอแนะจากสมาชิก จากนั้นจะได้รวบรวมและส่งต่อให้ กรธ.ต่อไป
      "ถ้าเริ่มต้นจากยอมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ประเทศจะมีทางออก นายมีชัยถือเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ เชื่อว่าท่านมีศักยภาพที่จะทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จเร็วเหมือนที่เคยทำมา จะได้ไม่ต้องไปติดกรอบ 6-4-6-4 แต่ที่สำคัญที่สุดคือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ และต้องเป็นประชาธิปไตยที่ต่างชาติยอมรับได้" นายภูมิธรรมกล่าว

อัดจ้องคุมนโยบายพรรค
       นายภูมิธรรมกล่าวถึงแนวคิดการตั้งองค์กรตรวจสอบนโยบายพรรคการเมือง เพื่อสกัดนโยบายประชานิยมของ กรธ.ว่า โดยหลักการพื้นฐานต้องฟังความเห็นจากคนที่เขาตัดสินใจที่จะเลือกตั้งเข้ามา เพราะเขาจะเป็นผู้กำหนดว่าเขาอยากได้อะไร ปัญหาและความต้องการของเขาคืออะไร แล้วจึงคิดว่าจะหาทางออกอย่างไร การใช้นโยบายเพื่อไม่ให้สร้างความนิยมแก่พรรคการเมืองโดยไม่คำนึงถึงว่าประเทศชาติเสียหาย ถ้าพูดแบบนี้คงไม่มีใครโต้แย้ง แต่สิ่งที่สำคัญคืออย่าไปคิดแทน หรือตัดสินใจอะไรแทนพี่น้องประชาชน สำคัญที่สุดคือ ต้องขอดูรูปธรรมของคุณก่อนว่าคืออะไร เพราะถ้าคุณจำกัดก็เท่ากับว่าคุณกำลังเอาความต้องการ เอาความคิดเห็นที่เชื่อว่าจะป้องกันประเทศไม่ให้เสียหายจากคนเพียง 21 คน มาตัดสินใจแทนความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศ มันไม่ถูกต้อง
       นายภูมิธรรม กล่าวว่า ส่วนที่จะให้พรรคจัดทำสัญญาประชาคมให้เป็นไปตามกรอบวินัยทางการเงินการคลังที่ดี เพื่อให้ประชาชนทราบถึงนโยบายของพรรค รวมถึงเป็นหลักฐานเอาไว้ตรวจสอบในอนาคตนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับพรรคเพื่อไทยเลย เพราะเราเป็นพรรคที่ได้พูดทุกสิ่ง ทุกอย่างในนโยบายที่ได้หาเสียงเลือกตั้ง และพอหาเสียงเสร็จก็นำนโยบายนั้นมากำหนดเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐที่จะใช้แถลงต่อสภาเพื่อกำกับการทำงาน แต่ปัญหาคือ ถ้าคุณจะกำหนดว่าแค่ไหนทำได้ แค่ไหนทำไม่ได้ คุณต้องพูดให้ชัดเจน บอกว่านโยบาย ประชานิยมทำไม่ได้ ก็ต้องถามว่าคำว่านโยบายประชานิยมของคุณจริงๆ ที่ชัดเจนคืออะไร

เสนอกรอบทำงาน 4 ข้อ
        นายสามารถ แก้วมีชัย คณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายมีชัยระบุให้พรรค การเมืองเสนอความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้ว่า ในส่วนของแกนนำพรรคได้พูดคุยกันบ้าง เบื้องต้นอยากจะเสนอกรอบการทำงานถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยอยากให้ กรธ.คำนึงถึงหลักการร่างรัฐธรรมนูญ 4 ประการ คือ 1.ผู้ร่างต้องร่างรัฐธรรมนูญโดยยึดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ดังนั้น จะเขียนอะไรต้องยึดโยง และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจด้วย
      2.ต้องให้เกิดความปรองดองและความสามัคคีของคนในชาติ 3.ต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม และ 4.ต้องสร้างการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของทุกองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ต้องปล่อยให้นายมีชัยได้ทำหน้าที่ไปก่อน หากเนื้อหาเริ่ม ขัดหลักการก็จะท้วงติงหรือวิจารณ์ดังๆ เพื่อให้ประชาชนร่วมตรวจสอบและติดตามด้วย

'เต้น'สวนปมนายกฯอึดอัด
      "ส่วนที่พล.ต.สรรเสริญระบุว่าพล.อ. ประยุทธ์อึดอัดและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดความเห็นผ่านช่องทางที่ กรธ.จัดไว้นั้น ท่านกำลังจะจัดระเบียบการแสดงความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่ จะไปห้ามคนไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างไรหากเรื่องนั้นๆ เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย อะไรดีก็นำไปใช้ ในทางกลับกันต้องช่วยกันกระตุ้นให้ประชาชนช่วยกันติดตามร่าง เพราะเขาต้องออกเสียงลงประชามติในตอนท้าย" นายสามารถกล่าว
       นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การที่โฆษกรัฐบาลอธิบายความอึดอัดของนายกฯ กรณีมีคนวิจารณ์การทำงานของ กรธ.ว่าวนเวียนอยู่แค่เรื่องอำนาจ ไม่สนใจประโยชน์ของประชาชนนั้น อยากให้คนในรัฐบาลเข้าใจความจริงว่าสิ่งที่นำประเทศไทยมาถึงจุดนี้คือความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อเป็นปัญหาทางการเมืองย่อมเกี่ยวข้องกับอำนาจ ความขัดแย้งใหญ่วันนี้ไม่ได้อยู่ที่การหาคำตอบว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล หรือคณะไหนอยากอยู่ต่อไปอีกนาน แต่ประเทศไทยต้องการคำตอบสุดท้ายว่าใครคือเจ้าของอำนาจอธิปไตย ระหว่างประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน หรือใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อ้างตัวว่าเป็นคนดี มีคุณสมบัติเหนือคนทั่วไป ถ้าไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเรื่องนี้ แม้เรื่องอื่นๆ จะวางไว้สวยงามขนาดไหน ก็ไม่พ้นวังวนความขัดแย้ง และมีแนวโน้มบานปลายยิ่งขึ้นในอนาคต

ห่วงลดอำนาจปชช.
       นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า มั่นใจว่าถ้าจัดการให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงได้ มีกติกาที่เป็นสากล ไม่มีอำนาจใดแทรกแซงอำนาจประชาชน ปัญหาเรื่องอื่นจะพัฒนาและแก้ไขได้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย แต่ถ้ากติกามุ่งตอบสนองความต้องการของคนบางกลุ่ม ไม่ว่าจะร่างโดยเนติบริกรคณะไหน ก็ตบตาประชาชนไม่ได้ เสียงทักท้วงย่อมต้องเกิดขึ้น เพราะประชาชนก็มีสิทธิ์อึดอัดได้ ขอให้เข้าใจตรงกันว่าการวิจารณ์ กรธ.เกิดขึ้นเพราะพบเห็นสัญญาณความไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ต้องการก่อกวนหรือแย่งชิงอำนาจจากรัฐบาล
      "ประวัติศาสตร์สอนผมว่าไม่ต้องกลัวเผด็จการจะสืบทอดอำนาจ เพราะถึงเวลาก็ต้องไป และยังสอนด้วยว่า เผด็จการไม่ได้กลัวอำนาจนักการเมือง แต่กลัวอำนาจประชาชน การร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจึงไม่ได้หมายถึงการลดอำนาจนักการเมือง แต่เป้าหมายแท้จริงคือลดอำนาจประชาชน" นายณัฐวุฒิกล่าว

'ทินพันธุ์'มาวินปธ.สปท.
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) วันที่ 13 ต.ค.ที่จะมีการโหวตเลือกตัวประธาน สปท. และรองประธาน สปท. 2 คนนั้น ขณะนี้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าสมาชิก สปท.จะเสนอชื่อ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ เป็นประธาน สปท. โดยพล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก จะเป็นผู้เสนอต่อที่ประชุมสปท. ไม่มีการเสนอชื่อ สปท.รายอื่นมาแข่ง ขณะที่ในส่วนรองประธาน สปท.คนที่ 1 ที่มีชื่อพล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ เป็นแคนดิเดตนั้น จะมีการเสนอชื่อนายอลงกรณ์ พลบุตร มาชิงตำแหน่งด้วย ส่วนรองประธาน สปท.คนที่ 2 ที่มีชื่อนางวลัยลักษณ์ ศรีอรุณ เป็นแคนดิเดตนั้น จะมีการเสนอชื่อนางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ อดีต สปช.ลงชิงตำแหน่งประกบเช่นกัน
       พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปท. กล่าวว่า เท่าที่ฟังเสียงของสมาชิก สปท.ขณะนี้ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าจะสนับสนุนร.อ.ทินพันธุ์ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน สปท. และยังไม่ได้ยินว่าจะมีใครเสนอตัวแข่งชิงตำแหน่งประธาน สปท. หลังจากได้ตัวประธานและรองประธาน สปท. 2 คนแล้ว ที่ประชุมจะมีการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม สปท.ต่อไป ส่วนการวางกรอบแนวทางการทำงานของ สปท.นั้น คงต้องมาพูดคุยกันว่าจะมีแนวทางการทำงานอย่างไร จะตั้งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปกี่คณะ ส่วนตัวเห็นว่าควรลดเหลือ 14-15 คณะ เพื่อลดความ ซ้ำซ้อนการทำงาน จากเดิมที่สมัย สปช.มี 18 คณะ และควรใช้เวลาประชุมในสภาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

'จ้อน'ลังเลชิงรองประธาน
       ด้านนายอลงกรณ์กล่าวว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลงชิงตำแหน่งรองประธาน สปท.คนที่ 1 หรือไม่ แต่ทราบว่ามีสมาชิก สปท.จะเสนอชื่อชิงตำแหน่ง เนื่องจากเห็นว่ามีประสบการณ์ทางการเมือง เคยเป็นส.ส. และวิป สปช.มาก่อน จะได้มาช่วยแบ่งเบาการทำงานของประธาน สปท. และเป็นโซ่ข้อกลางประสานการทำงานระหว่าง สปท.กับหน่วยงานราชการต่างๆ และสาธารณชนถึงโรดแม็ปการทำงานของ สปท.
      นายวันชัย สอนศิริ สปท. กล่าวว่า หลังจากได้ตัวประธานและรองประธาน สปท.ในวันที่ 13 ต.ค.แล้ว เชื่อว่าประธาน สปท.จะประสานพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อนำสมาชิก สปท.ทั้ง 200 คนเข้าพบ เพื่อฟังนโยบายการทำงานจากนายกฯ ในฐานะผู้แต่งตั้งสปท. เพื่อให้แนวทางการทำงานของ สปท.เป็นไปในทางเดียวกับที่นายกฯ ต้องการ เพราะ สปท.ถือเป็นแขนขาของนายกฯ ไม่ใช่เป็นไปคนละแนวทางเหมือนสมัยสปช. หลังจากได้นโยบายจากนายกฯ แล้ว สปท.จึงจะประชุมวางแนวทางการทำงานว่าจะจัดลำดับว่าอะไรควรเป็นเรื่องเร่งด่วน อะไรเป็นเรื่องระยะยาว จะต้องวางแผนให้ชัดเจน

ล้างเผด็จการรัฐสภา 'บิ๊กตู่'แนะ ออกสารชี้แนวยกร่าง ห่วงกระแสกดดัน'กรธ.' รุมต้าน'องค์กรคุมพรรค' จ้อน-จุไรรัตน์ชิงรองสปท. ทบ.แจง'หมู'เลิกชุดพราง

        'บิ๊กตู่'แนะ'มีชัย'ร่าง รธน. มองปัญหาชาติเป็นโจทย์ กำหนดกลไกปฏิรูปประเทศ ตั้งเป้าล้างเผด็จการรัฐสภา-ทุจริตคอร์รัปชั่น ห่วง กรธ.ถูกสังคมกดดัน

  • มติชนออนไลน์ :
  • @ 'บิ๊กตู่'ตั้งโจทย์ร่างรัฐธรรมนูญ

        เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 10 ตุลาคม พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยแพร่สารจากใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยตอนหนึ่งว่า ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การปฏิรูปและมีการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน มี 2 หัวข้อที่จะต้องพูดถึง คือ 1.การยกร่างรัฐธรรมนูญ และ 2.การสร้างความปรองดอง หัวข้อแรกเริ่มจากที่วิสัยทัศน์ คสช.ได้ให้แนวทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าขอให้มองที่ปัญหาของประเทศไทยในห้วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นโจทย์ แล้วหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตยที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก ไม่เอาประชาธิปไตย เสรีภาพที่ไร้ขีดจำกัดมาเป็นตัวตั้ง 

        พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า การรับฟังความเห็นในเรื่องรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างนั้น คสช.ได้มอบแนวทางให้กับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ว่าจะต้องดำเนินการโดยต่อเนื่องจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ที่ได้รับฟังความเห็นจากประชาชนมาแล้วทั่วประเทศ ประเด็นสำคัญคือ จะต้องรับฟังจากประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องมีทั้งที่เป็นสากล มีกระบวนการ กลไก สำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่งที่จะปฏิรูปจนประเทศมีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และไม่ฝืนกติกาประชาธิปไตยสากล 

    @ เป้าหมายล้างเผด็จการรัฐสภา

         "เป้าหมายและสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ คือจะแก้ไขเผด็จการรัฐสภา การทุจริตประพฤติมิชอบ การกระทำผิดกฎหมายได้อย่างไร การตรวจสอบ การถ่วงดุล อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ทำอย่างไรจึงจะมีความสมดุล การบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมาจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร ทำอย่างไรให้ข้าราชการไม่เสียกำลังใจ ได้รับความเป็นธรรม ไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องจากฝ่ายการเมือง" พล.ต.สรรเสริญกล่าว 

          พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า หัวข้อที่ 2 เรื่องการสร้างความปรองดอง สารจากนายกฯระบุว่า หลักการปรองดองนั้น คสช.และรัฐบาลเชื่อมั่นว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นตรงกันว่า การสร้างความปรองดองคือ การสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยยังคงยึดมั่นในกฎหมาย ไม่ใช่ละเมิดความถูกต้องของกฎหมาย ใครผิดต้องถูกลงโทษโดยกระบวนการยุติธรรมอย่างเด็ดขาดและเสมอภาค ไม่เช่นนั้นเท่ากับสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ที่ไร้วินัย (อ่านรายละเอียด น.2)

    @ ห่วงสังคมกดดันกรธ.-รัฐบาล

           พล.ต.สรรเสริญให้สัมภาษณ์ถึงเจตนารมณ์ในการส่งสารจากใจ พล.อ.ประยุทธ์ว่า นายกฯมีความรู้สึกว่ามีหลายฝ่ายกดดันการทำงานของ กรธ. รวมถึงรัฐบาลและ คสช. เนื่องจากที่ผ่านมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ไม่ผ่านการเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำให้สังคมเริ่มมีแรงกดดันกับ กรธ. นายกฯจึงมีความเป็นห่วงว่า หากสังคมยังกดดันและไม่เข้าใจรัฐบาล จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปลำบาก 

          "นายกฯขอให้ประชาชนมีสติและอยากให้ประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นในการร่าง ผ่านช่องทางที่ กรธ.กำหนดไว้ ไม่อยากให้นักการเมือง กลุ่มการเมือง นักวิชาการพูดแสดงความเห็นผ่านสื่อมวลชน เพราะจะแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริง และอะไรเป็นความเห็นส่วนตัว" พล.ต.สรรเสริญกล่าว

    @ 'มีชัย'ชี้ปมประชามติชัดแล้ว

           นายมีชัย ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ถึงแนวคิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อกำหนดการนับคะแนนเสียงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า จะใช้คะแนนจากผู้มีสิทธิออกเสียงหรือผู้มาใช้สิทธิออกเสียงว่า ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดแล้วว่า ใช้ผู้มาลงคะแนน ส่วนคนที่ไม่ลงคะแนน เขาเรียกโมฆบุรุษ แปลว่าใครเอาอย่างไรเขาก็เอาด้วย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ถ้ากลัวจะเป็นปัญหาจะแก้ก็ได้

           ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ไม่ให้มีการทำประชามติ เพื่อป้องกันร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ นายมีชัยกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะไม่ให้มีการทำประชามติ ถ้าเอารัฐธรรมนูญไปใช้เลยจะไม่มีหลักยึด จะให้คน 21 คน มากำหนดชะตาชีวิตของคนทั้งประเทศก็คงไม่ใช่ จึงต้องมีการทำประชามติ

    @ 'เต้น'ชี้การเมืองไม่พ้นอำนาจ

           นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การที่นายกฯมีความอึดอัดกรณีมีคนวิจารณ์การทำงานของ กรธ.ว่า วนเวียนอยู่แค่เรื่องอำนาจ ไม่สนใจประโยชน์ของประชาชนนั้น อยากให้คนในรัฐบาลเข้าใจความจริงว่า สิ่งที่นำประเทศไทยมาถึงจุดนี้คือ ความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อเป็นปัญหาทางการเมืองย่อมเกี่ยวข้องกับอำนาจ เพราะความหมายของการเมืองคือการจัดสรรอำนาจ

          "ความขัดแย้งใหญ่วันนี้ไม่ได้อยู่ที่การหาคำตอบว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล หรือคณะไหนอยากอยู่ต่อไปอีกนาน แต่ประเทศไทยต้องการคำตอบสุดท้ายว่าใครคือเจ้าของอำนาจอธิปไตย ระหว่างประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน หรือใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อ้างตัวว่าเป็นคนดี มีคุณสมบัติเหนือคนทั่วไป ถ้าไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเรื่องนี้ แม้เรื่องอื่นๆ จะวางไว้สวยงามขนาดไหนก็ไม่พ้นวังวนความขัดแย้ง และมีแนวโน้มบานปลายยิ่งขึ้นในอนาคต" นายณัฐวุฒิกล่าว

    @ กรธ.ตั้งคณะปฏิรูป-ปรองดอง

          แหล่งข่าวจาก กรธ.เปิดเผยว่า ที่ประชุม กรธ.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีก 2 ชุด คือ 1.คณะทำงานศึกษาด้านการปฏิรูป และ 2.คณะทำงานศึกษาด้านการสร้างความปรองดอง ทั้งนี้ คณะทำงานศึกษาด้านการปฏิรูป ส่วนใหญ่ประกอบด้วย กรธ.ด้านวิชาการ เช่น นางจุรี วิจิตรวาทการ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ เป็นต้น ขณะที่คณะทำงานด้านการสร้างความปรองดอง ได้แก่ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ และ พล.ต.วิระ โรจนวาศ

           ทั้งนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ได้มอบหมายคณะทำงานทั้งสองคณะไปศึกษาเพื่อหาแนวทางการสร้างความปรองดองและการปฏิรูปที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ และนำมาเสนอต่อ กรธ.เพื่อพิจารณากำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ขณะเดียวกัน นายมีชัยเตรียมทำหนังสือให้ภาคเอกชนและกลุ่มวิชาชีพจัดทำความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญมาให้ กรธ. จากเดิมที่จะขอความเห็นจากพรรคการเมือง รัฐบาล คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เท่านั้น

    @ 'อมร'เผยไม่ลงลึกนิรโทษกรรม

           นายอมร กล่าวว่า คณะทำงานศึกษาด้านการสร้างความปรองดองจะมีการนำรายละเอียดและข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองจากฝ่ายต่างๆ มาศึกษาเพื่อให้เหมาะกับบริบทของสังคมไทย โดยยืนยันว่า การศึกษาในครั้งนี้เพียงแต่เป็นการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น และจะยังไม่ลงไปถึงการตัดสินใจว่าจะมีการดำเนินการนิรโทษกรรมหรือไม่ด้วย 

          นายอมร กล่าวว่า หลังจากที่ทาง กรธ.ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาแล้ว ประกอบกับที่ประชุม กรธ.ได้พิจารณากรอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 35 ทั้ง 10 ข้อ และกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ ตามความมุ่งหมายของ คสช.จำนวน 5 ข้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนตัวคิดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะเริ่มเห็นเค้าโครงของร่างรัฐธรรมนูญว่ามีรูปแบบเป็นอย่างไร

    @ 'พรเพชร'แนะศึกษา'ฉบับปื๊ด'

             นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรอบการทำงาน 180 วันของ กรธ.ว่า คาดว่า กรธ.จะใช้เวลาครบหรือเกือบครบตามกำหนด 180 วัน โดย สนช.มีมุมมอง 2 มิติ คือ กรธ.ต้องศึกษาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างฯ ที่ตกไปก่อนหน้านี้ ว่ามีส่วนใดสมควรต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร และต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดย สนช.มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ถูกต้อง ผ่านเวที สนช.พบประชาชนที่จัดขึ้นทุกสัปดาห์ โดย สนช.จะส่งต่อความเห็นของประชาชนให้กับ กรธ.

           ผู้สื่อข่าวถามว่า กรธ.อาจยกร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมถึงช่วงก่อนเลือกตั้ง นายพรเพชรกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นประเด็นดังกล่าว มีเพียงคำพูดของนายมีชัยที่ระบุถึงปัญหาการเมืองไทย เพราะได้นักการเมืองที่ถูกลงโทษให้ตัดสิทธิทางการเมืองหรือรับโทษทางอาญา หากตัดสิทธิบุคคลดังกล่าวอย่างถาวร อาจทำให้การเมืองพัฒนาดีขึ้น

    @ แนะกรธ.ยึด 4 กรอบยกร่างฯ 

          นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ ของ พท. กล่าวถึงกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ระบุให้พรรคการเมืองเสนอความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้ว่า ในส่วนของแกนนำ พท.ได้พูดคุยกันบ้าง เบื้องต้นอยากจะเสนอกรอบการทำงานถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยอยากให้ กรธ.คำนึงถึงหลักการร่างรัฐธรรมนูญ 4 ประการ คือ 1.ต้องร่างรัฐธรรมนูญโดยยึดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย 2.ต้องให้เกิดความปรองดองและความสามัคคีของคนในชาติ 3.ต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม และ 4.ต้องสร้างการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของทุกองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ

           "ส่วนที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ ออกมาระบุว่า นายกฯ อึดอัดและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดความเห็นผ่านช่องทางที่ กรธ.จัดไว้นั้น ท่านกำลังจะจัดระเบียบการแสดงความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่ จะไปห้ามคนไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างไรหากเรื่องนั้นๆ เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย อะไรดีก็นำไปใช้ ในทางกลับกันต้องช่วยกันกระตุ้นให้ประชาชนช่วยกันติดตามร่าง เพราะเขาต้องออกเสียงลงประชามติในตอนท้าย"นายสามารถกล่าว

    @ ค้านองค์กรตรวจนโยบายพรรค

          นายธนพร ศรียากูล หัวหน้าพรรคคนธรรมดา ให้สัมภาษณ์กรณี กรธ.มีแนวคิดตั้งองค์กรใหม่หรือใช้องค์กรเดิมที่มีอยู่ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อตรวจสอบนโยบายพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ป้องกันนโยบายประชานิยมที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาวว่า โดยพื้นฐานแล้วการที่พรรคการเมืองจะได้รับการยอมรับหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายที่พรรคการเมืองนั้นได้นำเสนอหรือไม่ การจัดตั้งองค์กรดังกล่าวขึ้นมานั้นถือว่า เป็นการละเมิดสิทธิและดูถูกการตัดสินใจของประชาชน

            "ทั้งหมดต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะไว้วางใจใครให้เป็นตัวแทน บางพรรคมีนโยบายที่ยิ่งกว่าการจำนำข้าว อาทิ ยกหนี้ให้คนไทย ยกหนี้ให้ครู แต่ไม่ได้รับเลือก สิ่งที่ กรธ.นำเสนอในตอนเริ่มต้นก็ทำให้เห็นแล้วว่า ปลายทางจะเป็นอย่างไร จึงอยากให้ล้มเลิกความคิดที่ยังมองว่า ประชาชนเป็นคนโง่ ถูกหลอกลวงให้เข้าใจผิดและคิดเองไม่ได้" นายธนพรกล่าว

    @ ชี้อย่าละเมิดอำนาจประชาชน

           นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวในกรณีเดียวกันว่า ข้อดีของการมีองค์กรตรวจสอบนโยบายพรรคการเมืองคือ ทำให้นโยบายได้รับการตรวจสอบว่าถูกใช้ไปในทางที่หวังคะแนนเสียงทางการเมือง หรือเป็นแนวทางที่สัมพันธ์กับอุดมการณ์ทางการเมืองกันแน่ รวมถึงผลของการใช้จ่ายงบประมาณ หากจะให้กล่าวอย่างเข้าใจได้ง่ายก็คือ เป็นการประเมินว่าพรรคการเมืองจะใช้นโยบายทางการเมืองไปสัมพันธ์กับนโยบายประชานิยมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่จะตามมาก็คือ องค์กรดังกล่าวจะต้องถูกโจมตีว่าใช้อภิสิทธิ์ของข้าราชการและผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบ

           "มองว่า องค์กรที่ว่านี้มีความเป็นไปได้น้อยที่จะเกิดขึ้นได้จริง เพราะคนที่มีสิทธิชอบธรรมในการตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมืองคือ ประชาชน ไม่ใช่องค์กรใดๆ เพราะประชาชนเป็นคนเลือก เป็นคนตัดสินใจในฐานนโยบาย จึงเป็นผู้ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แม้ว่าจะมีเจตนาดี แต่ถามว่าสังคมจะรับได้หรือไม่" นายโอฬารกล่าว 

    @ พท.แนะระบุข้อห้ามให้ชัด

          นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงแนวคิดของ กรธ. ที่จะให้องค์กรขึ้นมาตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมืองว่า สิ่งที่สำคัญคืออย่าไปคิดแทนหรือตัดสินใจอะไรแทนประชาชน สำคัญที่สุดคือต้องขอดูรูปธรรมของ กรธ.ก่อนว่าคืออะไร เพราะถ้าจำกัดก็เท่ากับว่ากำลังเอาความต้องการ เอาความคิดเห็นที่เชื่อว่าจะป้องกันประเทศไม่ให้เสียหายจากคนเพียง 21 คน มาตัดสินใจแทนความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศนั้นไม่ถูกต้อง

           นายภูมิธรรม กล่าวว่า ส่วนการที่จะให้พรรคการเมืองจัดทำสัญญาประชาคมให้เป็นไปตามกรอบวินัยทางการเงินการคลังที่ดี เพื่อให้ประชาชนทราบถึงนโยบายของพรรค รวมถึงเป็นหลักฐานเอาไว้ตรวจสอบในอนาคตนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับ พท.เลย เพราะว่า พท.เป็นพรรคที่ได้พูดทุกสิ่งทุกอย่างในนโยบายที่ได้หาเสียงเลือกตั้ง และพอหาเสียงเสร็จก็นำนโยบายนั้นมากำหนดเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐที่จะใช้แถลงต่อสภาเพื่อกำกับการทำงาน 

         "ถ้าคุณจะกำหนดว่า แค่ไหนทำได้ แค่ไหนทำไม่ได้ และคืออะไร คุณต้องพูดให้ชัดเจน บอกว่านโยบายประชานิยมทำไม่ได้ ก็ต้องถามว่า คำว่านโยบายประชานิยมของคุณจริงๆ ที่ชัดเจนคืออะไร" นายภูมิธรรมกล่าว

    @ ปชป.หนุนทำหมันประชานิยม

        นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณี กรธ.วางกรอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 35 ให้รัฐมีกลไกการป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองและเพื่อควบคุมพรรคการเมืองว่า คิดว่าแนวคิดดังกล่าวสืบเนื่องมาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ ที่ถูก สปช.คว่ำ โดย ปชป.เห็นด้วย เนื่องจากการใช้นโยบายประชานิยมบางนโยบายนั้น มุ่งหวังให้ประชาชนพอใจอย่างเดียว แต่ในระยะยาวกลับทำประเทศชาติเสียหาย เรียกกันว่าการใช้นโยบายรัฐซื้อเสียงประชาชน ปชป.ไม่เห็นด้วยมาตลอด อย่างไรก็ตามนโยบายประชานิยมนั้นเป็นสิ่งที่ดีแต่จำเป็นต้องมีกลไกของรัฐเข้าไปตรวจสอบด้วย 

           เมื่อถามว่า หากมีการเลือกตั้ง ปชป.ต้องเข้มงวดกับนโยบายพรรคก่อนประกาศหาเสียงหรือไม่ นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ปชป.ไม่เคยมีนโยบายประชานิยมอยู่แล้ว ส่วนข้อสังเกตที่ว่าทำไม กรธ.ต้องกำกับไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญนั้น คิดว่ามีแนวคิดนี้มาตั้งแต่ต้นแล้ว แต่ต้องดูในรายละเอียดด้วยว่า ไม่ควรจะไปกำกับตัวนโยบายเสียเองทั้งหมด 

    @ ต้านขรก.ตัดสินนโยบายพรรค

         "ไม่ควรให้ข้าราชการมาเป็นคนตัดสินว่า นโยบายใดที่พรรคการเมืองทำได้หรือทำไม่ได้ เพราะจะเข้าข่ายข้าราชการเป็นคนกำหนดนโยบายเสียเอง ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตยที่พรรคการเมืองต้องเป็นคนกำหนดนโยบายไม่ใช่ข้าราชการประจำ หน่วยงานหรือองค์กรที่จะเข้ามากำกับก็ไม่ควรมีสิทธิบอกว่านโยบายนี้ใช้ได้ นโยบายนั้นใช้ไม่ได้ ดังนั้น กรธ.ต้องหาจุดกึ่งกลางว่าตรงไหนทำได้ ตรงไหนทำไม่ได้" นายนิพิฏฐ์กล่าว 

         เมื่อถามว่า หน่วยงานที่จะมาตรวจสอบนโยบายควรเป็นหน่วยงานใด นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า คิดว่าต้องมีหน่วยงานการคลังของประเทศเข้ามาตรวจสอบด้วย เพราะหากจะประเมินว่าสามารถดำเนินนโยบายนี้ได้หรือไม่ก็ต้องประเมินผ่านหน่วยงานการคลัง แต่ไม่ต้องถึงขนาดเอาสำนักงบประมาณมากำกับดูแล

    @ 'วันชัย'เชื่อ'ทินพันธุ์'คุมสปท.

         นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ สปท. จะได้รับเลือกเป็นประธาน สปท.ว่า ได้ข่าวว่า ร.อ.ทินพันธุ์จะเสนอตัวเป็นประธาน สปท. แต่ยังไม่ได้มีใครมาล็อบบี้หรือทาบทามให้เลือก ร.อ.ทินพันธุ์ สำหรับคนอื่นๆ ยังไม่รู้ การจะได้ใครเป็นประธานต้องอยู่ที่เสียงโหวตของ สปท.ส่วนใหญ่ ถ้าเห็นว่าใครเหมาะสมก็น่าจะเป็นคนนั้น ทั้งนี้ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับ ร.อ.ทินพันธุ์

          แต่ถ้าดูจากประวัติและคุณสมบัติ ความรู้ ประสบการณ์ คิดว่ามีประสบการณ์การเมือง ฉะนั้นถ้า ร.อ.ทินพันธุ์ความตั้งใจ ทุ่มเท ก็สามารถเป็นประธาน สปท.ได้ แม้ว่าอายุจะมากก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด 

         "ในเมื่อนายกฯเป็นคนทุ่มเทและตั้งใจทำงาน ตั้งขึ้นมาแล้ว คนที่เป็นประธาน สปท.ก็ต้องมีบุคลิกพร้อมที่จะทำตามที่นายกฯตั้ง ในทางตรงกันข้ามหากเป็นแล้วไม่เข้ามาทำงาน ไม่ทุ่มเท และเป็นเพื่อชื่อเสียง เกียรติยศ ก็ไม่สมควรจะเป็นหรอก ทั้งนี้ต้องดูที่ใจท่านว่า ท่านพร้อมหรือไม่" นายวันชัยกล่าว

    @ 'ทินพันธุ์'แรงไร้คู่แข่งชิงเก้าอี้

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม สปท.วันที่ 13 ตุลาคมนี้ ที่จะมีการโหวตเลือกประธาน สปท. และรองประธาน สปท. 2 คนนั้น ขณะนี้ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะมีการเสนอชื่อ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ เป็นประธาน สปท. โดย พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก สปท. จะเป็นผู้เสนอชื่อต่อที่ประชุม และจะไม่มีการเสนอชื่อ สปท.รายอื่นมาแข่ง ในส่วนรองประธาน สปท.คนที่ 1 ที่มีชื่อ พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ เป็นแคนดิเดตนั้น จะมีการเสนอชื่อนายอลงกรณ์ พลบุตร สปท. ชิงตำแหน่งด้วย ส่วนรองประธาน สปท.คนที่ 2 ที่มีชื่อ น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ เป็นแคนดิเดตนั้น จะมีการเสนอชื่อนางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ อดีต สปช. ลงชิงตำแหน่งเช่นกัน 

         ด้านนายอลงกรณ์กล่าวว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลงชิงตำแหน่งรองประธาน สปท.คนที่ 1 หรือไม่ แต่ทราบว่ามี สปท.จะเสนอชื่อชิงตำแหน่ง เนื่องจากเห็นว่ามีประสบการณ์ทางการเมือง เคยเป็น ส.ส. และวิป สปช.มาก่อน จะได้มาช่วยแบ่งเบาการทำงานของประธาน สปท. และเป็นโซ่ข้อกลางประสานการทำงานระหว่าง สปท.กับหน่วยงานราชการต่างๆ และสาธารณชนถึงโรดแมปการทำงานของ สปท. 

    @ 'เสธ.อู้'แนะลดคณะกรรมาธิการ

          พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปท. กล่าวว่า เท่าที่ฟังเสียงของ สปท.ขณะนี้ ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าจะสนับสนุน ร.อ.ทินพันธุ์เป็นประธาน สปท. และยังไม่ได้ยินว่าจะมีใครเสนอตัวแข่งชิงตำแหน่งด้วย ทั้งนี้ ภายหลังการได้ตัวประธานและรองประธาน สปท.แล้ว ที่ประชุมจะมีการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม สปท. ส่วนการวางกรอบแนวทางการทำงานของ สปท.นั้น คงจะต้องมาพูดคุยกันว่าจะมีแนวทางการทำงานอย่างไร จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปกี่คณะ ส่วนตัวเห็นว่า ควรลดเหลือ 14-15 คณะ เพื่อลดความซ้ำซ้อนการทำงาน จากเดิมที่สมัยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มี 18 คณะ และควรใช้เวลาประชุมในสภาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

    apm

     

     

    Facebook

    5 ข่าวฮอตนิวส์!