- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 10 October 2015 11:26
- Hits: 5559
ทินพันธุ์ พร้อมนั่งปธ.สปท. กรธ.เริ่มลุย ผุดองค์กรคุมประชานิยม ตรวจสอบนโยบายพรรค ออกกม.เข้มรัฐบาลกู้เงิน เซ็นตั้ง 3 กุนซือกก.ยกร่าง 'บิ๊กป้อม'เมินอียูเร่งปชต. หมูเลิกชุดพรางยุค'โด่ง'
กรธ.ถกวางกรอบสกัดประชานิยม เล็งมีองค์กรใหม่ตรวจสอบนโยบายพรรค
'บวรศักดิ์'เสนอ'เจษฎ์'ช่วยกรธ.
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุม กรธ.ว่า จากการทาบทามนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้มาเป็นที่ปรึกษา กรธ. แต่นายบวรศักดิ์ขอถอนตัว พร้อมเสนอนายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีต กมธ.ยกร่างฯ ให้มาช่วยงาน โดยไม่ได้ฝากอะไรเพิ่ม เพราะนายบวรศักดิ์คงไม่อยากยุ่ง ส่วนที่นายบวรศักดิ์บอกว่าตนคงทำหน้าที่ได้ดีกว่าที่นายบวรศักดิ์เคยทำ ถือเป็นคำให้กำลังใจในฐานะกัลยาณมิตร
นายมีชัย กล่าวว่า ขณะนี้ทาง กรธ.กำลังทำหนังสือเพื่อส่งไปยังองค์กรตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 อย่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รวมถึงพรรคการเมืองให้เสนอความคิดเห็นเข้ามาได้ คงจะไม่เชิญมาเป็นรายบุคคล เว้นแต่ประเด็นที่ กรธ.ยังไม่ตกผลึก เช่น องค์กรอิสระต่างๆ ที่ต้องเชิญมา เพราะอยากทราบปัญหาอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็มีมานานแล้ว แต่เหตุใดการทุจริตคอร์รัปชั่นจึงไม่ลดลง แต่ละคดีก็ใช้เวลา จึงอยากรู้ปัญหาเพื่อจะได้ออกแบบกลไกให้เหมาะสม
ยันฟังความเห็นพรรคการเมือง
นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนความเห็นจากพรรคการเมือง ขณะนี้คณะรับฟังความคิดเห็นเริ่มประมวลประเด็นเพื่อแยกแยะและนำมาพิจารณา รวมถึงส่วนที่พรรคการเมืองเคยส่งมาด้วยเพื่อทุ่นเวลา หวังว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะส่งความเห็นเข้ามา ยืนยันว่า กรธ.จะพิจารณาทั้งหมด แม้จะมีความหลากหลาย แต่ กรธ.จะพิจารณาโดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ
นายมีชัย กล่าวว่า ภายในเดือนมกราคม ปี 2559 คาดว่าร่างแรกจะแล้วเสร็จเพื่อส่งให้ คสช. ครม. สนช. สปท.และเปิดเผยต่อสาธารณะให้พิจารณา หากส่วนใดที่ต้องแก้ไข กรธ.ก็พร้อมรับฟัง ส่วนบทเรียนในปี 2535 ที่มีการต่อต้านประเด็นเรื่องนายกฯคนนอกจนเกิดวิกฤตนั้น ตอนนั้นตนก็ยังสงสัยว่าไม่เห็นดีเห็นงามในตัวหลักการหรือตัวบุคคลกันแน่ อย่างไรก็ตาม อะไรที่ผ่านมาแล้วก็ใช้เป็นเครื่องเตือนใจ ถ้าทำตรงไปตรงมาก็ไม่น่าจะเกิดเรื่อง
'กรธ.'วางกรอบป้องประชานิยม
ต่อมานายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. แถลงผลการประชุม กรธ.ว่า ที่ประชุมพิจารณากรอบแนวทางการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เป็นการพิจารณาในส่วนกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคม และกลไกการป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ตามมาตรา 35 (7) โดยกำหนดให้รัฐมีกลไกการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและยั่งยืน โดยพิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับรัฐ ต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันอย่างเสรี มีธรรมาภิบาลและเป็นธรรม ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คำนึงถึงความสมดุลของกระบวนการด้านการผลิต การมีงานทำ การคงอยู่ของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรอย่างยั่งยืน และความอยู่ดีมีสุขอย่างทั่วถึงของประชาชน
นายนรชิตกล่าวว่า กำหนดให้รัฐมีกลไกป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว โดยมีการพิจารณาข้อเสนอคือ การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพหรือประชาชน รัฐต้องดำเนินการโดยไม่เกินขีดความสามารถทางการเงินและการคลังของประเทศ และทำให้บุคคลดังกล่าวช่วยเหลือตัวเองได้ รวมทั้งมีกลไกเพื่อควบคุมพรรคการเมือง โดยให้พรรคการเมืองจัดทำสัญญาประชาคมให้เป็นไปตามกรอบวินัยทางการเงินและการคลังที่ดี เพื่อให้ประชาชนทราบถึงนโยบายของพรรคและเป็นหลักฐานสำหรับการตรวจสอบในอนาคต ว่าพรรคการเมืองได้สัญญาและกำหนดอะไรไว้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง
เล็งตั้งองค์กรตรวจนโยบายพรรค
"รูปแบบการตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมืองนั้นยังไม่มีแนวทางที่แน่ชัด มีแนวโน้มตั้งองค์กรขึ้นใหม่หรืออาจใช้องค์กรเดิมที่มีอยู่ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นต้น ขึ้นมาตรวจสอบนโยบายพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันเหตุการณ์ในอดีตที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอนโยบายส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ กรธ.ยืนยันว่าไม่ได้ปิดกั้นนโยบายประชานิยม แต่ต้องคำนึงถึงภาระงบประมาณของประเทศเป็นสิ่งสำคัญ" นายนรชิตกล่าว
นายนรชิต กล่าวว่า ส่วนกลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน ให้สอดคล้องกับสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ กลไกการตรวจสอบและเปิดเผยการใช้จ่ายเงินของรัฐที่มีประสิทธิภาพตามมาตรา 35 (8) มีการเทียบเคียงร่างรัฐธรรมนูญ 2558 มาตรา 88 และมาตรา 193 โดยพิจารณาข้อเสนอให้รัฐมีหน่วยงานทำหน้าที่ประเมินผลสัมฤทธิ์และความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ อาจเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ สตง.ประเมินผลสัมฤทธิ์และความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และเป็นธรรม รวมทั้งควรเร่งรัดให้มีกฎหมายวินัยการเงิน การคลัง เพื่อกำกับดูแลการกู้เงินของรัฐบาลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
'เจษฎ์-สมคิด-กาญจนารัตน์'กุนซือ
นายนรชิต กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญตามมติของที่ประชุม กรธ. โดยมีนายอัชพร จารุจินดา กรธ. เป็นประธาน เริ่มปฏิบัติงานได้ทันที ส่วนการแต่งตั้งที่ปรึกษาประจำ กรธ.ที่คำนึงถึงผู้เคยเป็นเลขานุการกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น เบื้องต้นที่ประชุมแต่งตั้งที่ปรึกษา 3 คน คือ 1.นายเจษฎ์ โทณะวณิก แทนนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขานุการ กมธ.ยกร่างฯปี 2540 2.นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างฯปี 2550 และ 3.นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างฯปี 2558
เมื่อถามว่า อนุกรรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารยังไม่เริ่มงาน ทางอนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญจะดำเนินการไปก่อนได้หรือไม่ นายนรชิตกล่าวว่า เริ่มทำงานได้เลย แต่อาจยกเว้นประเด็นโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารไว้ก่อน หรืออาจกำหนดเป็นตุ๊กตาไว้ก่อน หลังได้ข้อมูลจากคณะอนุกรรมการต่างๆ แล้วค่อยมาพิจารณา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มีนายอัชพร จารุจินดา กรธ. เป็นประธาน ส่วนอนุกรรมการประกอบด้วย นายธรรมนิตย์ สุมันตกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรธ. นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรธ. นายจินตพันธุ์ ทังสุบุตร นักกฎหมายกฤษฎีกา นายวราห์ เห่งพุ่ม นักกฎหมายกฤษฎีกา
นอกจากนี้ กรธ.ยังมีมติตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ คณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความเห็นประชาชน และคณะอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะ
'ประพันธ์'ศึกษาที่มา'ส.ส.-ส.ว.'
นายประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. กล่าวว่า อนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติประชุมนัดแรกแล้ว โดยที่ประชุมเลือกตนเป็นประธานคณะอนุกรรมการ ที่ประชุมวางแนวทางพิจารณาศึกษาถึงระบบนิติบัญญัติที่ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เบื้องต้นจะให้รวบรวมข้อมูลเรื่องดังกล่าวทั้งที่เคยมีใช้ในประเทศไทยและในระบบต่างประเทศ เช่น การเลือก ส.ส. ที่ประเทศไทยเคยใช้ ทั้งการเลือกตั้งคู่ขนานระหว่าง ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมถึงการเลือก ส.ส.ด้วยระบบสัดส่วนผสม ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2558 มาพิจารณาในประเด็นต่างๆ ก่อนเสนอให้ที่ประชุม กรธ.พิจารณา
นายประพันธ์ กล่าวว่า ขณะที่ระบบของวุฒิสภา จะยกประเด็นอำนาจหน้าที่มาตั้งต้น หากให้อำนาจ ส.ว.เพียงแค่กลั่นกรองกฎหมาย อาจให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งหรือการสรรหา แต่หากให้อำนาจ ส.ว.ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำเป็นต้องหาจุดเชื่อมโยงกับประชาชน เช่น มาจากการเลือกตั้ง หรือด้วยวิธีอื่นที่เชื่อมโยงกับประชาชน
นายประพันธ์กล่าวว่า การศึกษาด้านนิติบัญญัติต้องเชื่อมโยงกับระบบที่มาของนายกฯด้วย เพราะเป็นจุดสำคัญของกระบวนการนิติบัญญัติ แต่จะใช้ระบบใด ต้องรออนุกรรมการศึกษาโครงสร้างด้านบริหารพิจารณาอีกครั้ง ส่วนระยะเวลาศึกษาหากเป็นไปได้จะให้เสร็จในเดือนตุลาคมนี้ เพราะการวางโครงสร้างด้านนิติบัญญัติถือเป็นส่วนสำคัญต่อการทำร่างรัฐธรรมนูญ
"หากได้รายละเอียดและวิธีการแล้วจะต้องนำไปให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยกับระบบนิติบัญญัติใดหรือวิธีใด ทั้งการเลือก ส.ส.หรือ ส.ว." นายประพันธ์กล่าว
'นคร'แนะกรธ.ดึง'วุฒิสาร'ช่วย
พล.อ.นคร สุขประเสริฐ สปท.และอดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า มีคนวิจารณ์ว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นคนรุ่นเก่า แต่ตนมองว่านายมีชัยเป็นคนที่มีหัวคิดทันสมัย ต้องชมว่าที่นายมีชัยจะเอาส่วนดีของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาพิจารณาประกอบกับการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
นอกจากนี้ตนยังคิดว่า กรธ.ทั้ง 21 คน ดูแล้วยังขาดผู้ที่ชำนาญด้านการปกครองท้องถิ่น ควรจะหาที่ปรึกษาที่มีความชำนาญด้านนี้มาให้คำแนะนำร่างรัฐธรรมนูญ เช่นนายวุฒิสาร ตันไชย อดีต กมธ.ยกร่างฯและ สปช.ด้านปกครองท้องถิ่นที่มีความเชี่ยวชาญ
'บิ๊กป้อม'รอถกถ้าประชามติไม่ผ่าน
ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ กรธ.กังวลว่าจะร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จทันตามกรอบเวลาว่า คิดว่านายมีชัยทราบอยู่แล้วว่ากรอบเวลามีอยู่เพียง 6 เดือนเท่านั้น จากนั้นต้องทำประชามติอีก 4 เดือน รวม 10 เดือน คงไม่ขยายเวลาการร่างรัฐธรรมนูญออกไปเพราะถูกล็อกด้วยกติกา มั่นใจว่า กรธ.ชุดนี้จะดำเนินการตามกรอบระยะเวลาได้ ตนเชื่อมือ เพราะทั้ง 21 คน เป็นคนเก่ง
พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า สำหรับข้อกังวลที่ห่วงว่าการทำประชามติจะไม่ผ่านนั้น คิดว่าต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หากประชามติไม่ผ่านแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ฝ่ายกฎหมายต้องดูต่อไป นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จะเป็นคนคิดและดูแลส่วนนี้ ต้องประชุมเรื่องนี้กันอีกครั้ง
"วิษณุ"รอดูจังหวะแก้รธน.ชั่วคราว
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) เพื่อเป็นทางออกหากประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านว่า ต้องคิดและดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม ถ้าเตรียมแนวทางไว้รองรับกรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คนก็อาจคิดได้ว่าเตรียมตัวเพราะรู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่าน ไม่อยากให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ ดังนั้นจึงอยากให้คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ขอให้ดูที่เนื้อหา
"อยากให้ดูที่เนื้อหา ไม่ใช่ว่ามาบอกว่านั่นรัฐบาลไปแก้มาแล้วว่า หากไม่ผ่านก็ให้หารัฐธรรมนูญมาประกาศใช้เลย โดยไม่ต้องประชามติ แล้วก็จะมีคนคิดอีกว่าอย่างนั้นก็ควรให้รัฐธรรมนูญผ่านดีกว่า เพราะอย่างไรเสียก็ยังได้ชื่อว่าผ่านประชามติ เราไม่อยากให้ปัจจัยอื่นเข้ามาแทรกในการคิด" นายวิษณุกล่าว
แจงห้ามนักการเมืองโกงลงสนาม
นายวิษณุกล่าวถึงกรอบการร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ห้ามผู้ต้องโทษทุจริตเข้าสู่การเมืองว่า อยู่ที่ กรธ.จะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่กฎหมายท้องถิ่นทุกฉบับไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล รวมถึงกรุงเทพฯ (กทม.) ต่างบัญญัติว่าคนที่โดนตัดสินมีความผิดทางทุจริต ไม่สามารถกลับมาเลือกตั้งได้อีกตลอดชีวิต จึงเกิดอุปมาอุปมัยว่าขนาดกฎหมายท้องถิ่นยังห้ามผู้ที่มีความผิดด้านทุจริตสมัครรับเลือกตั้ง แล้วระดับชาติที่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดโกง สมควรเข้ามาวงการเมืองอีกหรือไม่เมื่อพ้นโทษแล้ว อยู่ที่ กรธ.จะเป็นคนคิด
"นี่คือที่มาที่ต้องเขียนมาตรา 35 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) อย่างนี้ กฎหมายเทศบาลก็เขียนแบบนี้ เพราะฉะนั้นพวกนักการเมืองท้องถิ่นบางคนฉลาด เมื่อเข้ากระบวนการสอบและเห็นว่าจะมีปัญหาจึงชิงลาออกก่อน เพราะถ้าลาออกไปแล้วมีอะไรทีหลังก็จะลงสมัครได้อีก เพราะยังไม่เคยถูกสั่งให้ออกขณะดำรงตำแหน่ง ทั้งนี้ มาตรา 35 บังคับให้การร่างรัฐธรรมนูญต้องทำตาม ก็แล้วแต่สไตล์และไอเดียแต่ละคน ต้องมาดูว่าคำว่าทุจริตนั้นอยู่ในขั้นไหน ชี้โดย ป.ป.ช.หรือชี้โดยศาล" นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่มีผลย้อนหลังกับนักการเมือง เช่น บ้านเลขที่ 111 และ 109 นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่โดยหลักแล้วควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะตอนนั้น ครม.มีข้อวิจารณ์ไปยัง กมธ.ยกร่างฯว่าไม่ควรให้มีผลย้อนหลัง
"บิ๊กตู่"อัดคนดิสเครดิต
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. กล่าวผ่านรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ว่า การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ถือเป็นความสำเร็จของประเทศ ไม่ใช่ของตน การรับรางวัลต่างๆ มีคนวิพากษ์วิจารณ์กันเสียหาย พยายามให้ตนเสียเครดิต ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นนายกฯ
ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ที่ประชุมให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ ได้รับความไว้วางใจจากประเทศสมาชิกให้เป็นประธานกลุ่ม จี77 ไม่ใช่การหมุนเวียน เป็นการคัดเลือกกันว่าประเทศใดเหมาะสม
"ทุกประเทศเขาให้โอกาสประเทศไทยอยู่เสมอ ท่านอย่าทำลายโอกาสของประเทศไทยกันเอง ผมพยายามประคับประคองทุกอย่างให้ผ่านพ้นห้วงเวลาวิกฤตไปให้ได้ เมื่อถึงวันหน้ามีประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์แล้ว มีการเลือกตั้งแล้วความสัมพันธ์ประเทศของเรายังดีดังเดิม แต่วันนี้ท่านทำลายกันวันนี้ วันหน้าถึงจะเลือกตั้งมาแล้ว ความน่าเชื่อถือก็หมดไปอยู่ดี" นายกฯกล่าว
บ่นสื่อชอบค้านทุกเรื่อง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับสื่อ ขอร้องไม่รู้กี่ครั้งแล้ว ทั้งไทยและต่างประเทศ ถ้าอ่าน ถ้าฟังแล้ว คิดก่อนว่าจะเชื่อดีหรือไม่เชื่อดี สอบถามได้ มาทางรัฐบาล ทางสำนักนายกรัฐมนตรี ทางปลัดสำนักนายกฯก็ได้ จะตอบให้ แล้วจะให้สำนักโฆษกฯชี้แจง เพราะบางคนหรือคอลัมนิสต์บางท่านยังเลือกข้างเหมือนเดิม ประชาชนแตกแยกเหมือนเดิม ไม่ทราบว่าเพราะอะไร พอพูดอะไรไปท่านค้านได้ทุกเรื่อง ทั้งที่เป็นเรื่องดีๆ ท่านไปโยงอย่างเดียวเท่านั้นเองว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วเป็นอย่างไร ประชาธิปไตยที่ผ่านมาเป็นอย่างไร แล้วตนทำวันนี้เป็นยังไง
"ท่านมองอย่างไร หรือไม่ได้มอง หรือคิดเอาเอง เขียนโน่นเขียนนี่ไป บางอย่างทำไปหมดแล้ว ท่านยังมาติติงผมอยู่ ขอให้น้องๆ ผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่ๆ หรือคอลัมนิสต์ใหม่ๆ มีจรรยาบรรณ เป็นสื่อที่ดี ส่วนใหญ่ผมแตะต้องไม่ค่อยได้อยู่แล้ว แต่ผมจำเป็น อยากให้น้องๆ ทุกคน อยากให้คนรุ่นใหม่เป็นสื่อที่ดี เพราะท่านเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ 50% อยู่ที่ท่าน รัฐบาลทำส่วนหนึ่ง ประชาชนทำส่วนหนึ่ง แต่สื่อเป็นคนสร้างความเข้าใจ สร้างความเชื่อมโยง ท่านต้องเคารพสิทธิผู้อื่นด้วย ไม่ใช่เรียกร้องวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่มันไม่ใช่ข้อเท็จจริง วันนี้ทุกคนก็รู้เราอยู่ในสถานการณ์ไหน ท่านยังเรียกร้องเรื่องเดิมอยู่ สมัยที่ผ่านมาไม่เห็นเรียกร้องแบบนี้เลย ชุดเดิมนั่นแหละ ผมไม่อยากตำหนิท่าน แต่ขอบ่นหน่อย" นายกฯกล่าว
"บิ๊กตู่"อึดอัดพวกจ้องจับผิดกรธ.
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. รู้สึกอึดอัดกับการแสดงออกของนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อเลือกข้างบางกลุ่มที่ตั้งแง่และพยายามจับผิดการทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดความเห็นผ่านช่องทางที่ กรธ.จัดไว้ ดีกว่าการแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อมวลชน เพราะอาจทำให้สังคมสับสนว่าเรื่องใดเป็นข้อเท็จจริง เรื่องใดเป็นเพียงการตีความไปเอง หรือเรื่องใดเป็นความคิดเห็นเฉพาะตัว ไม่ได้มาจากข้อมูลรายละเอียดของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
"นายกฯมองว่าพฤติกรรม รวมทั้งวาทกรรมเหล่านั้นไม่เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองเลย หากพิจารณาข้อสังเกตที่นักการเมือง นักวิชาการ และสื่อเลือกข้างมักพูดถึง จะเห็นว่าวนเวียนอยู่เพียงแค่เรื่องอำนาจ ใครจะได้อำนาจ ใครจะสืบทอดอำนาจ ไม่ค่อยจะมีข้อความใดที่พูดถึงสิ่งที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนสักเท่าไรเลย ขอเรียนย้ำว่า
นายกฯ ครม. ตลอดจน คสช.มีเจตนาร่วมกันเพียงประการเดียวคือ การทำให้ประเทศชาติปลอดภัยเพื่ออนาคตของลูกหลานไทย โปรดอย่านำทัศนคติแบบนักการเมืองมาตัดสินหรือเหมารวมผู้อื่น ทุกคนใน คสช.ล้วนผ่านตำแหน่งระดับสูง ผ่านการมีอำนาจและใช้อำนาจมาทุกคน ไม่มีความจำเป็นต้องมาแสวงหาอำนาจใดๆ อีก" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
"สปท."ถกนัดแรก13ต.ค.เลือกปธ.
ที่รัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปิดการรายงานตัวของ สปท. โดยวันเดียวกันนี้มี สปท.มารายงานตัว 17 คน อาทิ นายชัย ชิดชอบ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป นพ.อำพล จินดาวัฒนะ อดีต สปช. พ.ต.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีต ส.ส.สงขลา พรรคความหวังใหม่ นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายชัย ชิดชอบ ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกฯ สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร
ทั้งนี้ ยอดรวม 4 วัน มีสมาชิก สปท.มารายงานตัวจำนวน 196 คน ยังไม่มารายงาน 4 คน คือ นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นายวัลลภ พริ้งพงษ์ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยแจ้งว่าติดภารกิจอยู่ต่างประเทศ จะเข้ารายงานตัววันที่ 12 ตุลาคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สปท. ลงนามในหนังสือเชิญสมาชิก สปท. ประชุมสภาครั้งที่ 1/2558 วันที่ 13 ตุลาคม เวลา 09.30 น. โดยมีวาระรับทราบประกาศสำนักนายกฯเรื่อง แต่งตั้งสมาชิก สปท. และสมาชิก สปท.กล่าวปฏิญาณตน นอกจากนี้ยังมีวาระเลือกประธานและรองประธาน สปท.
"ทินพันธุ์"พร้อมนั่งปธ.สปท.
ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ สมาชิก สปท. กล่าวถึงกระแสข่าวว่า คสช.สนับสนุนให้เป็นประธาน สปท.ว่า ยังไม่มีความแน่นอน ขึ้นอยู่กับสมาชิก สปท. ถ้าสนับสนุนและให้เกียรติตน ก็คงต้องทำหน้าที่ดังกล่าว "ผมยังไม่ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่อย่างใด ผมไม่ขอให้ข่าวและสัมภาษณ์ เนื่องจากเป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบเป็นข่าว" ร.อ.ทินพันธุ์กล่าว
นายชัยกล่าวว่า การประชุม สปท.นัดแรกตนจะทำหน้าที่ประธานชั่วคราว เนื่องจากอาวุโสสูงสุด เพื่อเลือกประธานและรองประธาน สปท. ส่วนคนที่จะเป็นประธาน สปท.นั้น เห็นว่าถ้านายกฯให้ใครเป็นก็คนนั้น เพราะ สปท.ทั้ง 200 คนนายกฯเป็นคนแต่งตั้งถือว่าอยู่ในสังกัดนายกฯ คนเหล่านี้ไม่ใช่คนนอกแต่เป็นคนอยู่ในคอก นายกฯสั่งก็ต้องทำตามนั้น ส่วนคุณสมบัติผู้ที่จะเป็นประธาน สปท.นั้น ต้องเป็นคนที่รอบรู้ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไม่เช่นนั้นจะไปกับนายกฯไม่ได้ ทั้งประธานและรองประธาน สปท.ควรผสมผสานทั้งข้าราชการและพลเรือน เหมือนข้าวเม่าต้องผสมน้ำตาลทรายแดง น้ำตาลทรายขาว ที่ขาดไม่ได้คือมะพร้าวถึงจะอร่อย
เมื่อถามว่า หากที่ประชุมเลือกให้นายมีชัยเป็นประธาน สปท.พร้อมทำหน้าที่หรือไม่ นายชัยกล่าวว่า ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ และทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติได้ ตนก็พร้อมที่จะกระโดดเข้าใส่เลย
"วิษณุ"ยัน"ทินพันธุ์"ยังแข็งแรง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และสมาชิก สปท. จะเป็นประธาน สปท. ว่า ร.อ.ทินพันธุ์จะมาหรือไม่ ไม่ทราบ แต่เห็นสื่อทุกฉบับนำเสนอเหมือนกันหมด แสดงว่ามาจากแหล่งข่าวคนเดียวกัน และบอกว่ารู้จักกับตนและนายมีชัยตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งตอนนั้นตนอยู่เมืองนอก ยังไม่รู้จักใครเลย
"ผมไปเมืองนอกปี 2515 กลับมาปี 2519 แต่รู้จัก ร.อ.ทินพันธุ์ เพราะสมัยรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ร.อ.ทินพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ผมเป็นเลขาฯ ครม. ตอนนี้ผมเป็นประธานกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่ง ร.อ.ทินพันธุ์ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็ร่วมอยู่ในคณะกรรมการ เราทำงานด้วยกันมา 2-3 ปีแล้ว ผมไม่ได้รู้จักกันตั้งแต่ปี 2516 เพราะตอนนั้นผมอายุแค่ 21 แต่ถ้าถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ผมตอบไม่ถูก แต่ชื่อที่โผล่ออกมานั้นมีหลายคน ผมไม่กล้าพูดว่าใครเหมาะสม ปล่อยให้เขาดูกันเอง ผมเห็นชื่อ 3-5 คนในหนังสือพิมพ์แต่ไม่รู้มาจากไหน" นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า ร.อ.ทินพันธุ์ อายุ 81 ปี แล้วจะรับหน้าที่ประธาน สปท.ไหวหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ร.อ.ทินพันธุ์เป็นคนแข็งแรง เพราะเท่าที่ประชุมด้วยกันมา ร.อ.ทินพันธุ์ก็ยังขับรถเองโดยตลอด แต่ไม่กล้าบอกว่าเหมาะสมกับตำแหน่งประธาน สปท.หรือไม่ ส่วนรูปแบบการทำงานของ สปท.จะเป็นอย่างไรยังไม่ทราบ ก็เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน แต่ไม่อยากบ่นผ่านสื่อ
"ชิดชัย"ไม่ลำบากใจนั่ง"สปท."
พล.ต.อ.ชิดชัยให้สัมภาษณ์หลังเข้ารายงานตัว ว่า ต้องการเข้ามาปฏิรูปเรื่องการเกษตร ปัญหาน้ำกินน้ำใช้ และเรื่องการบังคับการใช้กฎหมาย ส่วนการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจนั้น เคยเป็นประธานปรับปรุงแก้ไขกฎหมายตำรวจ เคยแก้ไขไปแล้วเมื่อปี 2547 ช่วงนั้นเป็นกฎหมายที่ดี แต่ผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว คงจะต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่
เมื่อถามว่า การเป็นรองนายกฯ สมัยรัฐบาลนายทักษิณ มีความลำบากใจในการทำงานหรือไม่ พล.ต.อ.ชิดชัยกล่าวว่า ไม่ลำบากใจ เพราะยึดมั่นความเป็นกลาง ความถูกต้องและมีจุดยืนที่ชัดเจน เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีการพูดคุยกับพรรคเพื่อไทย (พท.) และนายทักษิณหรือไม่ พล.ต.อ.ชิดชัยกล่าวว่า ไม่ได้ร่วมกิจกรรมกับพรรค พท.มานานแล้ว ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำธุรกิจส่วนตัว จึงหลีกเลี่ยงไม่ให้การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจ และไม่ได้พูดคุยกับนายทักษิณ ส่วนเรื่องการปรองดองนั้น ชอบหลักทางพุทธศาสนาในการแก้ปัญหา จึงต้องใช้หลักความเมตตาในความปรองดอง การกระทำที่ผิดกฎหมายต้องแยกออกจากกัน ผิดก็ต้องว่ากันไปตามผิด แต่กฎหมายก็ไม่ใช่ว่าจะเอาเป็นเอาตายกัน สามารถพูดคุยกันได้ แต่หากจะให้ตนเป็นผู้ประสานความปรองดองนั้น ศักยภาพคงไม่ถึง เพราะอายุ 65 ปีแล้ว ผ่านมาครึ่งชีวิตแล้ว
"บิ๊กป้อม"ไม่สนรัฐสภา"อียู"จี้คืนปชต.
ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกลุ่มรัฐสภายุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์ 23 ข้อ เร่งให้ไทยกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็วว่า "นี่คือประเทศของเรา ที่ผ่านมาเราก็ชี้แจงชัดเจน วันนี้ไปดูอย่างไรว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เราพยายามที่จะเดินตามประชาธิปไตยอยู่แล้วในปัจจุบัน ไม่เห็นจะมีอะไรเลย"
เมื่อถามย้ำว่าแต่ทางอียูออกมาพูดบ่อย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "เราก็พูดบ่อยได้ ชี้แจงกันไป ไม่มีปัญหาอะไร" เมื่อถามว่ามีอะไรที่ยังไม่สบายใจหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่มี สบายใจทุกอย่าง เนื่องจากทุกอย่างเดินหน้าตามโรดแมปตามที่เราประกาศอย่างชัดเจน สื่อมวลชนก็ถามนายกฯได้ทุกวัน นายกฯเองก็ตอบได้ทุกวันเหมือนกัน ผมก็เช่นกัน เมื่อสื่อถามมาก็ตอบทุกครั้ง เพราะเรามีหน้าที่ตอบ หากไม่ตอบก็จะไปเขียนอะไรที่ผิดอีก"
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวกรณีที่รัฐสภายุโรปออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ไทยร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นสากล ว่า รัฐบาลกำลังรอดูรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน ยังไม่ทราบว่านายมีชัยวางหลักการไว้อย่างไรบ้าง เพราะนายมีชัยไม่ได้หารือกับ คสช. และคงไม่ต้องพูดคุย ขณะที่รัฐบาลก็ไม่ได้ให้แนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญกับนายมีชัย เราให้อำนาจการตัดสินใจกับ กรธ.เต็มที่
"ปึ้ง"แนะรบ.คิดให้ดีจะโต้รัฐสภาอียู
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การที่รัฐสภายุโรปออกมาเรียกร้องให้ไทยเร่งคืนประชาธิปไตย และเรียกร้องให้หยุดละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก หรือการชุมนุมเรียกร้องโดยสันตินั้น เป็นการชี้ให้เห็นว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในไทยนั้นสังคมโลกเขารับไม่ได้ การที่รัฐบาลพยายามบอกว่าต่างชาติไม่เข้าใจหรือมีข้อมูลคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทยนั้น ต้องไม่ลืมว่าทุกประเทศเขามีสถานทูตอยู่ในไทย เขาติดตามการดำเนินการต่างๆ ในการควบคุมตัวนักการเมือง สื่อมวลชน นักศึกษา ประชาชน ที่ออกมาเรียกร้องให้ไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตย แต่ถูกปิดกั้นและจำกัดสิทธิและเสรีภาพมาตลอด เขารู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้น
"ดังนั้น เราควรรับฟังสิ่งที่เขาแสดงออก แต่การตอบโต้นั้นก็ทำได้ แต่เขาจะเชื่อหรือไม่เราต้องคิดให้รอบคอบ เพราะผลเสียน่าจะมากกว่าผลดี ดังนั้นอยากฝากถึงรัฐบาลให้ระวังการตอบโต้ชี้แจงต่างๆ อย่าคิดว่าเขารู้ไม่ทัน ในระบอบประชาธิปไตย ความเห็นต่างนั้นเป็นเรื่องธรรมดา" นายสุรพงษ์กล่าว
วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9082 ข่าวสดรายวัน
บิ๊กหมูอีก-สั่งเลิกชุด สมัย'โด่ง' 'ทินพันธุ์'พร้อมนั่งปธ.สปท. ป้อมอัดสภาอียูจี้คืนปชต. ปลดผอ.ไทยพีบีเอสส่อวุ่น
ลงพื้นที่- พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมร่วมประชุมหน่วยงานความมั่นคง ที่ห้องประชุมยะลารวมใจ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 9 ต.ค. |
ทัพบกร้อนอีก 'บิ๊กหมู' สั่งเลิกใช้ชุดลายพรางสมัย'บิ๊กโด่ง''บิ๊กตู่'ลั่นให้เลิกคิดคสช.หวังสืบ ทอดอำนาจอัดบางกลุ่มไร้จริยธรรมคอยปลุกปั่นประชาชน องค์กรระหว่างประเทศเข้าใจผิด ตั้งแล้ว 'สมคิด-เจษฎ์-กาญจนารัตน์'เป็นที่ปรึกษา กรธ. 'มีชัย'เล็งให้สตง.-สภาพัฒน์คุมพรรค การเมือง เอกซเรย์นโยบายประชานิยมก่อนเลือกตั้ง 'วิษณุ'จี้เขียนให้ชัด ปมผู้ต้องโทษคดีทุจริตห้ามเล่นการเมือง 'ไก่อู'เผยนายกฯ อึดอัดคนจ้องจับผิดกรธ. 'บิ๊กป้อม'จวกรัฐสภาอียู กล่าวหาไทยไม่เป็นประชาธิปไตย 'ทินพันธุ์' ไม่ปฏิเสธเก้าอี้ประธานสปท. 'ปู่ชัย'ระบุ สปท.อยู่ในคอกนายกฯ สั่งให้ใครเป็นก็คนนั้น สนช.ไฟเขียว 'นครินทร์' เป็นตุลาการศาลรธน. บอร์ดปลดฟ้าผ่าผอ.ไทยพีบีเอส
'บิ๊กตู่'ฉะพวกคิดปลุกปั่น
เมื่อเวลา 20.15 น. วันที่ 9 ต.ค. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศ ไทยว่า ในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น ที่ผ่านมามีหลายคดีที่อยู่ในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ทำให้การพัฒนาประเทศที่ผ่านมานั้นถดถอยไปมาก ซึ่งรัฐบาลนี้ทำหลายอย่างแล้ว แก้ปัญหาที่เป็นการเมืองมากเกินไป วิสัยทัศน์ที่ไม่ยั่งยืน และการปฏิบัติที่ไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร เราก็เอามาแก้ใหม่ทั้งหมด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประท้วง การชุมนุม มีผลกระทบกับการค้าการลงทุนของประเทศ ความสงบสุข ความมั่นคง รวมถึงความมีเสถียรภาพทางการเมืองด้วย ขอให้ทุกคนคำนึงถึงกฎหมายที่มีอยู่ คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง ทุกวันนี้มีคนบางกลุ่มยังคิดว่าคสช.และรัฐบาลนี้เข้ามาเพื่อแสวงหาอำนาจและสืบทอดอำนาจ ขอให้เลิกคิด มีบางคนที่ไม่มีคุณธรรม จริยธรรม คิดแต่จะปลุกปั่น บิดเบือนข้อเท็จจริง สร้างความเข้าใจ ผิดให้กับประชาชน ต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ โดยไม่ดูความบกพร่องหรือความผิดพลาดของตนเอง ที่ผ่านมาอาจไม่ถูกดำเนินคดี
อย่าอ้างทำเพื่อประชาชน
"รัฐบาลนี้เข้ามาแก้ปัญหาเพื่อให้บ้านเมืองกลับมาสงบเรียบร้อย หากยังให้ร้ายกันแล้วใช้คำว่าประชาธิปไตยตลอด ทั้งที่บางอย่างเป็น การทำผิดกฎหมาย อ้างว่าทำเพื่อประชาชนโดยไม่คำนึงถึงความรับผิดชอบหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น ตนคิดว่าทุกคนที่อยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้นจะยอมปล่อยให้คนที่บ่อนทำลายความมีเสถียรภาพ ความสงบสุขของพวกเราและทำต่อไปอีกหรือไม่ ขอให้ทุกคนระมัดระวังการเสพสื่อ ซึ่งสื่อที่ดีมีมาก เสนอในข้อเท็จจริง วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ ตนรับได้หมด เว้นแต่พูดเรื่องที่ไม่จริง ไม่อยากให้ประชาชนเสพสื่อทุกสื่อแล้วไม่คิด ไม่ใช้สติพิจารณาใคร่ครวญ สื่อบางสื่อบางสำนักไม่เป็นกลาง เลือกข้างชัดเจน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลนี้จะไม่ใช้จ่ายงบประมาณในลักษณะประชานิยม หลายคนบอกว่าประชานิยมดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ที่ดีก็ดีไป แต่ที่ไม่ดีมันก็สร้างปัญหากับงบประมาณของประเทศในอนาคตด้วย เราไม่ต้องการคะแนนเสียง เราไม่ต้องการจัดสรรงบลงไปเฉพาะพื้นที่ พยายามกระจายไปหลายๆ ที่ มากบ้างน้อยบ้างตามความเดือดร้อน เราไม่ใช่นักการเมือง เราดูแลประชาชนทุกหมู่เหล่าให้เกิดความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำให้ได้อย่างยั่งยืน หากพวกเรายังไม่เข้าใจแล้วเรียกร้องให้ใช้จ่ายงบแบบเดิมๆ การขับเคลื่อนประเทศก็มีปัญหา ต่อไปเราจะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว เงินก็ไม่พอ ล้มเหลว ใช้จ่ายอะไรก็ไม่ได้ รัฐบาลนี้จะไม่สร้างปัญหากับงบประมาณของประเทศ แต่จะสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนให้กับประชาชน จึงขอความเข้าใจ ขอความร่วมมือกับรัฐให้มากขึ้น
วอนให้เลิกทำลายประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย จะอิสระไปทุกอย่างคงไม่ได้ เพราะทุกประเทศในโลกนี้เขาก็มีกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีทัศนคติอยากทำร้ายประชาชน จะทำไปทำไมคนไทยด้วยกัน เขามีหน้าที่ ถ้าเขาไม่ทำก็โดนมาตรา 157 จึงต้องระมัดระวังเรื่องการละเว้นไม่ทำหน้าที่ อะไรที่ผิด ไม่ถูกต้อง มีข้อห้ามไว้แล้วก็อย่าฝืน อย่าทำ เพื่อให้ประเทศมีเสถียรภาพและความเข้มแข็ง ซึ่งเราก็พร้อมแล้ว แต่ยังมีคนไม่ดีที่ยุแหย่ บิดเบือนอยู่ตลอด ขอร้องอย่าทำ ลายประเทศอีกต่อไปเลย ตนไม่อยากใช้อำนาจ แต่จะใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว ไม่งั้นก็ขัดแย้งไม่เลิก ใครจะมาลงทุน ค้าขายกับเรา รัฐบาลก็ไม่มีเงินมาช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน
"ผมเป็นห่วงว่าวันหน้ารัฐบาลที่มาแล้วจะทำต่อไปหรือไม่ ผมไม่อยากบังคับใคร ผมก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด วันนี้อยากให้พวกที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งออกมาพูด อธิบายสังคมว่าจะทำอย่างไรเมื่อเป็นรัฐบาล ดังนั้น อย่ามากล่าวหาว่าผมมามอมเมาประชาชนใช้สื่อรัฐต่างๆ ผมทำให้ประชาชนมีความรู้ เรียนรู้จากข้อเท็จจริง แล้วร่วมมือกัน ผมไม่ได้มอมเมาในเรื่องที่มันเสียหาย ต้องเข้าใจด้วย คนเข้าใจเยอะกว่าคนไม่เข้าใจ ที่ไม่เข้าใจก็โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถูกปลุกระดม มันเสียหายไปทั้งหมด" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
'มีชัย'เผยปื๊ดฝากคนช่วยงาน
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมกรธ.ว่า จากการพูดคุยกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทาบทามให้เป็นที่ปรึกษากรธ.นั้น นายบวรศักดิ์ได้ขอถอนตัว แต่ได้เสนอนายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตกมธ.ยกร่างฯให้มาช่วยงาน โดยไม่ได้ฝากอะไรเพิ่ม เพราะนายบวรศักดิ์ คงไม่อยากยุ่ง ส่วนที่นายบวรศักดิ์ บอกว่าตนคงทำหน้าที่ได้ดีกว่านั้น ถือเป็นคำให้กำลังใจในฐานะกัลยาณมิตร
นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนคสช. ยังไม่ได้ฝากประเด็นใดมาเป็นพิเศษ ซึ่งกรธ.กำลังทำหนังสือส่งไปยังองค์กรตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 อย่าง คสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รวมถึงพรรคการเมืองให้เสนอความคิดเห็นเข้ามาได้ ซึ่งจะไม่เชิญมาเป็นรายบุคคล เว้นแต่ประเด็นที่กรธ.ยังไม่ตกผลึก เช่น องค์กรอิสระต่างๆ ที่ต้องเชิญมา เพราะอยากทราบปัญหา อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมานานแล้วแต่เหตุใดการทุจริตจึงไม่ลดลง แต่ละคดีก็ใช้เวลา จึงอยากทราบปัญหาเพื่อออกแบบกลไกให้เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ยังนึกไม่ออกเหมือนว่าจะต้องมีองค์กรอะไรเพิ่มอีก
ใช้บทเรียนรธน.ปี 35 เตือนใจ
นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนความเห็นจากพรรค ขณะนี้คณะรับฟังความคิดเห็นได้เริ่มประมวลประเด็นเพื่อแยกแยะเพื่อนำมาพิจารณา รวมถึงส่วนที่พรรคเคยส่งมาด้วย เพื่อทุ่นเวลา หวังว่าพรรคต่างๆ จะส่งความเห็นเข้ามา ยืนยันว่ากรธ.จะพิจารณาทั้งหมด แม้จะมีความหลากหลาย แต่กรธ.จะพิจารณาโดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ
"ภายในเดือน ม.ค.2559 คาดว่าร่างแรกจะเสร็จเพื่อส่งให้คสช. ครม. สนช. สปท.และเปิดเผยต่อสาธารณะให้พิจารณา หากส่วนใดที่ต้องแก้ไข กรธ.ก็พร้อมรับฟัง ส่วนบทเรียนในปี 2535 ที่มีการต่อต้านประเด็นเรื่องนายกฯจนเกิดวิกฤตนั้น ในตอนนั้นผมก็ยังสงสัยว่า ไม่เห็นดีเห็นงามในตัวหลักการ หรือตัวบุคคลกันแน่ แต่อะไรที่ผ่านมาแล้วก็ใช้เป็นเครื่องเตือนใจ ถ้าทำตรงไปตรงมาก็ไม่น่าจะเกิดเรื่อง ผมก็ยังไม่นึกออกเหมือนกันขอให้ทุกคนช่วยกันคิด" นายมีชัยกล่าว
เล็งมีองค์กรคุมพรรคการเมือง
นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. แถลงว่า ที่ประชุมหารือการวางกรอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามาตรา 35 (7) มีสาระสำคัญให้มีกลไกเพื่อควบคุมพรรคการเมือง โดยต้องจัดทำสัญญาประชาคมตามกรอบวินัยการเงินการคลังที่ดี เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงนโยบายของพรรคและเป็นหลักฐานตรวจสอบพรรคในอนาคต
สำหรับรูปแบบการตรวจสอบนั้นยังไม่มีแนวทางที่แน่ชัด แต่อาจตั้งองค์กรขึ้นใหม่ หรืออาจใช้องค์กรเดิมที่มีอยู่ อาทิ สภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขึ้นมาตรวจสอบนโยบายพรรคก่อนเลือกตั้ง เพื่อป้องกันเหตุการณ์ในอดีตที่พรรคต่างๆ เสนอนโยบายส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ กรธ.ยืนยันว่าไม่ได้ปิดกั้นนโยบายประชานิยมแต่ต้องคำนึงถึงภาระงบประมาณของประเทศเป็นสิ่งสำคัญ
ตั้ง 3 กุนซือ'เจษฎ์'แทนปื๊ด
นายนรชิตกล่าวว่า ที่ประชุมยังมีมติตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยมีนายอัชพร จารุจินดา กรธ. เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งการทำหน้าที่จะแยกออกจากชุดใหญ่ ข้อสรุปที่ได้ต้องนำมาเสนอต่อกรธ. ก่อนร่างแรกจะแล้วเสร็จภายในเดือนม.ค.2559
นอกจากนี้ กรธ.ยังมีมติแต่งตั้งที่ปรึกษาประจำกรธ. 3 คน ได้แก่ นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตกมธ.ยกร่างฯ ที่เข้ามาช่วยงานแทนนายบวรศักดิ์ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขานุการ ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ อดีตเลขานุการร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 โดยการทำงานของที่ปรึกษากรธ. ยังไม่ได้กำหนดว่าจะทำหน้าที่เป็นครั้งคราวหรือตลอด 6 เดือน โดยตำแหน่งที่ปรึกษาดังกล่าวมีหน้าที่เพียงให้คำปรึกษาแต่ไม่สามารถออกเสียงลงมติใดๆ ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับที่ปรึกษา กรธ.สามารถแต่งตั้งได้จำนวน 9 คน
'วิษณุ'ฝากการบ้านกรธ.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญตามกรอบมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่ระบุห้ามผู้ต้องโทษทุจริตเข้าสู่การเมืองอีกว่า ให้เดินตามกรอบ 11 ข้อ ที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 แต่ให้ กรธ.ไปคิดรายละเอียดเอง ซึ่งกรอบดังกล่าวใช้ตั้งแต่สมัยนายบวรศักดิ์ ก็ไม่ได้มีปัญหา ถ้าดูในกฎหมายเกี่ยวกับท้องถิ่นทุกฉบับ บัญญัติว่าคนถูกตัดสินว่ามีความผิดในทางทุจริตไม่สามารถกลับมารับเลือกตั้งได้อีกตลอดชีวิต จึงเป็นการเปรียบเทียบระหว่างการเมืองระดับท้องถิ่น และการเมืองระดับชาติ ว่าถ้ามีการทุจริตคดโกง มีคำวินิจฉัยชี้ขาดแล้วเมื่อพ้นโทษจะให้เข้ามาเล่นการเมืองได้อีกหรือไม่ ซึ่งมาตรา 35 ไม่ได้พูดถึงส่วนนี้ จึงเป็นหน้าที่ของ กรธ.ชุดของนายมีชัยต้องมาคิดว่าจะเขียนอย่างไร โดยยึดกรอบตามมาตรา 35 อย่างเคร่งครัด
"นี่คือ ที่มาที่ต้องเขียนมาตรา 35 ไปดูได้กฎหมายของเทศบาลก็ยังเขียนแบบนี้ พวกนักการเมืองท้องถิ่นบางคนฉลาด เมื่อเข้ากระบวนการสอบและเห็นว่าจะมีปัญหาจึงชิงลาออกก่อน เพราะถ้าลาออกไปแล้วมีอะไรทีหลังก็ลงสมัครได้อีก เพราะยังไม่เคยถูกสั่งให้ออกขณะดำรงตำแหน่ง จึงคิดว่าคนที่ทุจริตไม่ควรกลับมาเล่นการเมือง แต่ต้องดูด้วยว่าการทุจริตนั้นถึงขั้นใด แค่ป.ป.ช.ชี้มูล หรือเป็นคำตัดสินของศาล ซึ่งมาตรา 35 ไม่ได้ระบุไว้ จึงขึ้นอยู่กับกรธ. โดยหลักแล้วควรเขียนให้ชัดเจนแต่ไม่ควรมีผลย้อนหลัง เช่นเดียวกับร่างของนายบวรศักดิ์ ที่ไม่มีผลย้อนหลังถึงกลุ่มบ้านเลขที่ 111 และ 109" นายวิษณุกล่าว
แก้รธน.ชั่วคราวต้องดูจังหวะ
รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวเพื่อหาทางออก หากทำประชา มติไม่ผ่านนั้น ต้องหาจังหวะเวลาที่เหมาะสม ถ้าไม่เหมาะสมจะถูกกล่าวหาว่าเตรียมไว้สำหรับกรณีที่ไม่ผ่าน ซึ่งรัฐบาลไม่อยากให้เกิดความรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านการทำประชามติ โดยรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านขอให้ดูที่เนื้อหา ไม่ใช่มาบอกว่ารัฐบาลไปแก้มาแล้วหากไม่ผ่านก็ให้หารัฐธรรมนูญมาประกาศใช้เลยโดยไม่ต้องประชามติ แล้วมีคนคิดอีกว่าอย่างนั้นก็ควรให้รัฐธรรมนูญผ่านดีกว่า เพราะยังได้ชื่อว่าผ่านประชามติ เราไม่อยากให้ปัจจัยอื่นเข้ามาแทรกในการคิด
เมื่อถามกรณีที่นายมีชัยต้องการให้นายบวรศักดิ์ร่วมเป็นคณะที่ปรึกษา แม้ว่านายบวรศักดิ์ระบุว่าไม่ขอรับตำแหน่ง นายวิษณุกล่าวว่า แม้จะไม่รับแต่สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ เป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคน และไม่ต้องเสียเงินหรือเบี้ยเลี้ยง ไม่จำเป็นต้องเข้าประชุม อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคงไม่ช่วยกล่อมให้นายบวรศักดิ์รับตำแหน่งดังกล่าว เพราะนายบวรศักดิ์ยืนยันว่าจะไม่รับตำแหน่งแล้วตนจะไปกล่อมได้อย่างไร
'บิ๊กป้อม'สวนกลับสภาอียู
นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนที่นายมีชัยระบุจะนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาปัดฝุ่นใหม่นั้น ก็ต้องถามนายมีชัย หรือโฆษก กรธ. เพราะนายมีชัยยังไม่ได้พูดคุยกับคสช. รวมถึงประเด็นปัญหาเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เพราะให้อำนาจการตัดสินใจกับกรธ. 100 เปอร์เซ็นต์
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีรัฐสภายุโรป ซึ่งเป็นรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของสหภาพ ยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์ 23 ข้อ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นสากลและคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลกำลังรอดูรัฐธรรมนูญเช่นกัน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า นี่คือประเทศของเรา ที่ผ่านมาเราชี้แจงชัดเจน ในวันนี้ดูอย่างไรว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เราพยายามเดินตามประชาธิปไตยอยู่แล้ว ไม่เห็นมีอะไร ผู้สื่อข่าวถามว่าอียูออกมาพูดบ่อย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เราก็พูดบ่อยได้ ชี้แจงกันไป ไม่มีปัญหา เมื่อถามว่ามีอะไรที่ยังไม่สบายใจหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี สบายใจทุกอย่างเพราะทุกอย่างเดินหน้าตามโรดแม็ปที่เราประกาศอย่างชัดเจน สื่อก็มาถามได้ทุกวัน แล้วถามนายกฯ ได้ทุกวัน ซึ่งนายกฯ ตอบได้ทุกวันเหมือนกัน ตนก็เช่นกัน ถามมาก็ตอบทุกครั้งเพราะเรามีหน้าที่ตอบ หากไม่ตอบจะไปเขียนอะไรที่ผิดอีก
เชื่อมือกรธ.ร่างรธน.เสร็จทัน
พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกรณีที่นายมีชัยเกรงร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จไม่ทันตามกรอบเวลาว่า นายมีชัย ทราบอยู่แล้วว่ากรอบเวลา 6 เดือน จากนั้นต้องทำประชามติอีก 4 เดือน รวมเป็น 10 เดือน เราคงไม่ขยายเวลาร่างรัฐธรรมนูญออกไปเพราะเราถูกล็อกด้วยกติกา แต่มั่นใจว่า กรธ.ชุดนี้จะดำเนินการตามกรอบเวลาได้ ตนเชื่อมือเพราะทั้ง 21 คนทุกคนเก่งหมด ไม่ต้องห่วง
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ส่วนที่นายมีชัยจะตั้งผู้ช่วยขึ้นมาช่วยดูแลเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ ก็เป็นสิทธิ์ ทั้งที่ปรึกษาและคณะทำงาน หากจะตั้งนายบวรศักดิ์ก็แล้วแต่นายมีชัย ตนไม่เกี่ยว ส่วนข้อกังวลว่าการทำประชามติจะไม่ผ่านนั้น คิดว่าเราต้องไปแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 หากประชามติไม่ผ่านแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ฝ่ายกฎหมายใน คสช.โดยนายวิษณุจะเป็นผู้คิดและดูแลส่วนนี้ ซึ่งจะมีการประชุมเรื่องนี้กันอีกครั้ง
'ไก่อู'เผยนายกฯบ่นอึดอัด
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์รู้สึกอึดอัดกับการแสดงออกของนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อเลือกข้างบางกลุ่มที่ตั้งแง่และพยายามจับผิดการทำงานของกรธ. จึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดความเห็นผ่านช่องทางที่ กรธ.จัดไว้ การแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางสื่อมวลชน อาจทำให้สังคมสับสนว่าเรื่องใดจริง เรื่องใดเป็นเพียงการตีความไปเอง หรือเรื่องใดเป็นความคิดเห็นเฉพาะตัว ไม่ได้มาจากข้อมูลรายละเอียดของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
"นายกฯ มองว่าพฤติกรรม รวมทั้งวาทกรรมต่างๆ ไม่เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง และหากพิจารณาข้อสังเกตที่นักการเมือง นักวิชาการ และสื่อเลือกข้างพูดถึง จะเห็นว่าวนเวียนอยู่เพียงแค่เรื่องอำนาจ ใครจะได้ใครจะสืบทอดอำนาจ ไม่ค่อยมีข้อความที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ย้ำว่านายกฯ ครม. ตลอดจน คสช.มีเจตนาร่วมกันเพียงอย่างเดียว คือการทำให้ประเทศชาติปลอดภัย เพื่ออนาคต ของลูกหลานไทยในภายภาคหน้า โปรดอย่านำทัศนคติแบบนักการเมืองมาตัดสินหรือเหมารวมผู้อื่น ทุกท่านใน คสช.ล้วนผ่านตำแหน่งระดับสูง ผ่านการมีอำนาจและใช้อำนาจมา ไม่มีความจำเป็นต้องมาแสวงหาอำนาจใดๆ อีกทั้งสิ้น" พล.ต. สรรเสริญกล่าว
ยันไปแน่เมื่อถึงเวลา
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ และ ครม. มีเจตนารมณ์ร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหาประเทศที่ถูกหมักหมมมานาน บางอย่างก็ถูกละเลย บ้างก็ถูกอ้างว่าทำไม่ได้แก้ไม่ได้ และเมื่อทุกอย่างเรียบร้อย บ้านเมืองตั้งตัวได้ มีความสงบเรียบร้อย มีการเลือกตั้ง นายกฯ และครม.พร้อมที่จะเดินออกจากทำเนียบ มอบภาระของชาติให้นักการเมืองต่อไป นายกฯ ฝากว่าเมื่อถึงเวลาการเลือกตั้งขอให้ประชาชนเลือกผู้แทนอย่างรอบคอบ มีเหตุมีผล อย่าปล่อยให้ใครมาแสวงประโยชน์จากสิทธิ์ของท่าน ขอให้มองประโยชน์ระยะยาวของชาติเป็นที่ตั้ง อย่าพึงพอใจแค่ผลประโยชน์ระยะสั้น เพราะไม่สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ ชาติได้ ทุกคนต้องร่วมมือกันอย่างมีสติ
รายงานตัว- พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี รายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร หลังได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่ห้องโถงรัฐสภา เมื่อวันที่ 9 ต.ค. |
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ แกน นำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่รัฐสภาอียู เรียกร้องให้ไทยแสดงจุดยืนโดยให้คืนประชาธิปไตย และให้รัฐบาลไทยหยุดละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกหรือการชุมนุมเรียกร้องโดยสันติของทั้งสื่อมวลชนและประชาชนนั้น ชี้ให้เห็นว่าการจำกัด สิทธิและเสรีภาพในไทยนั้นสังคมโลกเขารับไม่ได้
'ปึ้ง'เตือนระวังโต้อียู
นายสุรพงษ์กล่าวว่า การที่รัฐบาลพยายามบอกว่าต่างชาติไม่เข้าใจ หรือมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทยนั้น ต้องไม่ลืมว่าทุกประเทศเขามีสถานทูตอยู่ในไทย เขาติดตามการดำเนินการต่างๆ ในการควบคุมตัวนักการเมือง สื่อ นักศึกษา ประชาชน ที่ออกมาเรียกร้องให้ไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตย แต่ถูกปิดกั้น จำกัดสิทธิและเสรีภาพมาตลอด เขารู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ดังนั้น เราควรรับฟังสิ่งที่เขาแสดงออก แต่การตอบโต้นั้นทำได้ แต่เขาจะเชื่อหรือไม่ เราต้องคิดให้รอบคอบ เพราะผลเสียจะมีมากกว่าผลดี
"ที่น่าห่วงที่สุด คือถ้าเขาไม่ค้าขายกับเรา หรือคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หรือเห็นว่าเราโกหกเขา เขาจะมีมาตรการอื่นๆ ตามมา เราคงเดือดร้อน อยากฝากถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ให้ระวังการตอบโต้ ชี้แจงต่างๆ อย่าคิดว่าเขารู้ไม่ทันรัฐบาล ยิ่งการพิจารณาคดีของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องยึดหลัก ธรรมาภิบาล มีคุณธรรม กระบวนการต่างๆ ต้องตรงไปตรงมา ไม่ขัดหลักการเคารพสิทธิมนุษยชน เพราะเขาเฝ้าติดตามคดีต่างๆ ของน.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างใกล้ชิด เขารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับนายทักษิณ ชินวัตร และน้องสาว มาตลอด" นายสุรพงษ์กล่าว
นักวิชาการเสวนารธน.
เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมประกอบหุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่า พระจันทร์ ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐ ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาวิชาการ "รัฐธรรมนูญของปวงชนจากหลากหลายมิติ" มีวิทยากรคือ นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายวรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. น.ส.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และนายปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์คณะนิติ ศาสตร์ มธ. ซึ่งมีผู้เข้าร่วมฟังจำนวนมาก
นายประภาส กล่าวว่า ที่ผ่านมาวัฒนธรรมการร่างรัฐธรรมนูญเปรียบได้กับการฉี่ไม่สุด กั๊กไม่ให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ อ้างเหตุผลสำคัญคือความไม่พร้อมของประชาชน และความมั่นคง คำถามคือเกณฑ์ของความไม่พร้อมคือแค่ไหน ทุกวันนี้ความไม่พร้อมโยงมาถึงการทุจริต เหมารวมกับปัญหาสังคม เราอยู่ท่ามกลางรัฐธรรมนูญที่มองไม่เห็นหัวคนจน ลดทอนความสำคัญของการเลือกตั้ง ทั้งที่การเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การต่อสู้ การต่อรองกับผู้มีอำนาจได้
แนะให้ 2 กลุ่มร่วมร่าง
ด้านนายยุกติ กล่าวว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราอยู่ในวัฒนธรรมการเมือง 2 ขั้ว คือวัฒนธรรม การเมืองแบบเก่าที่เชื่อในเรื่องประชาธิปไตยที่ถูกตรวจสอบ และยอมรับการแทรกแซงอำนาจได้ ส่วนวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ มีแนวคิดว่าการเลือกตั้งมีความน่าเชื่อถือ การเมืองที่อ้างคุณธรรมนั้นตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งโจทย์ของการร่างรัฐธรรมนูญในตอนนี้คือ จะทำอย่างไรให้แนวคิด 2 ขั้วนี้ยอมรับ โดยรัฐธรรมนูญจะต้องสะท้อนโจทย์ของสังคมไทย 2 ข้อคือ การโค่นล้มนักการเมืองที่โกง และต้องกระจายอำนาจสู่ประชาชน อีกทั้งต้องสะท้อนความกังวลในเรื่องการเมืองของทั้ง 2 แนวคิด ให้มีความสมดุลเรื่องคุณธรรม จริยธรรม สิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง
"ตอนนี้ประชาชนไม่พร้อมหรือชนชั้นนำไม่พร้อม ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้สะท้อนความต้องการของคนหลายกลุ่มให้ได้มากที่สุด ข้อเสนอคือให้คน 2 กลุ่ม มีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ และต้องสะท้อนถึงโจทย์ของสังคมไทยในปัจจุบัน สะท้อนความกังวลในเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง" นายยุกติกล่าว
เขียนรองรับการใช้อำนาจ
นายปูนเทพกล่าวว่า รัฐธรรมนูญมีระดับความเข้าใจอยู่ 3 อย่างคือ เชิงเนื้อหา รูปแบบ และอุดมคติ ปัญหาคือเราบอกว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด แล้วกฎหมายสูงสุดคืออะไร คำตอบคือต้องบังคับใช้และรับรองได้ ต้องทำเป็นกฎหมายได้ ไม่มีอำนาจอื่นอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน และต้องไม่อยู่ลอยๆ แต่จะต้องแทรกซึมอยู่กับกระบวนการทางกฎหมายต่างๆ และอยู่กับประชาชน
"การจะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ต้องระบุกลไกการพิทักษ์และปรับใช้ได้จริง เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ ไม่ใช่แค่ปรัชญาหรือคำประกาศเท่านั้น แต่ต้องถูกสร้างเพื่อรองรับการใช้อำนาจ ไม่ใช่เครื่องมือปรับใช้อำนาจที่มีอยู่แล้ว" นายปูนเทพกล่าว
สปท.ประชุมนัดแรก 13 ต.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ลงนามในหนังสือเชิญสมาชิก สปท. ประชุมสภาครั้งที่ 1/2558 ในวันที่ 13 ต.ค. เวลา 09.30 น. โดยมีวาระเพื่อรับทราบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งสมาชิกสปท. และสมาชิกสปท.กล่าวปฏิญาณตน นอกจากนี้ยังมีวาระการพิจารณาเพื่อเลือกประธาน และรองประธานสปท.
ขณะเดียวกัน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รายงานตัวเป็นวันที่ 4 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. มีสมาชิกสปท.ทยอยเข้ารายงานตัว กระทั่งเวลา 15.30 น. จึงได้ปิดการรายงานตัว โดยวันนี้มีสมาชิกมารายงานตัว 16 คน อาทิ นายชัย ชิดชอบ พล.ร.อ. พะจุณณ์ ตามประทีป นพ.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตสปช. พ.ต.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตส.ส.สงขลา พรรคความหวังใหม่ นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต รองเลขาธิการป.ป.ส
ทั้งนี้ ยอดรวม 4 วัน มีสมาชิกสปท.มารายงานตัว 196 คน ยังเหลืออีก 4 คน คือ นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นายวัลลภ พริ้งพงษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยแจ้งว่าติดภารกิจ อยู่ต่างประเทศ จะเข้ารายงานตัวในวันที่ 12 ต.ค.นี้
"ชัย"ชี้สปท.อยู่ในคอกนายกฯ
นายชัย ชิดชอบ สปท.ให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมสปท.นัดแรก ตนจะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมชั่วคราว เนื่องจากอาวุโสสูงสุด ตามหลักจะเลือกตำแหน่งประธานและรองประธานสปท. ส่วนจะประชุมเปิดเผยหรือประชุมลับ ขึ้นอยู่ว่าจะใช้ข้อบังคับการประชุมแบบใด ส่วนประธานสปท.นั้น ตนเห็นว่าเป็นคนที่นายกฯ แต่งตั้ง ถ้านายกฯ ให้ใครเป็นก็คนนั้น เพราะสปท.ทั้ง 200 คน นายกฯ เป็นคนแต่งตั้ง ไม่ได้มีการโปรดเกล้าฯ จึงถือว่าอยู่ในสังกัดของนายกฯ และคนเหล่านี้ไม่ใช่คนนอก แต่เป็นคนอยู่ในคอก นายกฯ สั่งก็ต้องทำตามนั้น ไม่เช่นนั้นจะแก้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ทำไม
นายชัยกล่าวว่า คุณสมบัติประธานสปท.นั้น ต้องเป็นคนที่รอบรู้ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ถ้าเช่นนั้นจะไปกับนายกฯไม่ได้ และประธานและรองประธานสปท.ควรมีการผสมผสานกันทั้งข้าราชการและพลเรือน เหมือนเวลาทำข้าวเม่า ต้องมีผสมน้ำตาลทรายแดง ทรายขาว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ มะพร้าว ถึงจะอร่อย ผู้สื่อข่าวถามว่าหากที่ประชุมเลือกให้เป็นประธานสปท.พร้อมทำหน้าที่หรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ตราบใดที่ยังมีลมหายใจและเห็นว่าทำงานเพื่อประโยชน์ของ ประทศชาติได้ ตนก็พร้อมกระโดดเข้าใส่เลย
'ทินพันธุ์'ยิ้มรับแคนดิเดต
นายชัย กล่าวอีกว่า ในฐานะสปท.สิ่งแรกที่จะทำคือเร่งผลักดันการก่อสร้างอาคารรัฐสภา แห่งใหม่ เนื่องจากผ่านมาหลายปีแล้วยังก่อสร้างไม่เสร็จ จึงอยากให้สร้างเสร็จในสมัยที่สปท.ยังทำหน้าที่อยู่ ส่วนการปฏิรูปด้านอื่นๆ ก็พูดกันตลอด ที่พูดกันมา 10 เรื่องหากทำได้สักเรื่อง คนไทยอยู่อย่างเป็นสุข เดินก้าวไปข้างหน้า และเอาสิ่งที่นายกฯ พูดมาทำ ถ้าทำได้ อย่าว่าแต่ญี่ปุ่น ต่อให้ 10 สิงคโปร์ก็สู้ไทยไม่ได้ ส่วนเรื่องปรองดองนั้น จะเกิดขึ้นได้ทุกคนต้องสามัคคีกัน และสปท.ทั้ง 200 คนต้องสามัคคีกัน ถ้าไม่สามัคคีก็ไปไม่ได้ และความปรองดองจะไม่เกิดขึ้น
ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ สปท. กล่าวถึงกระแสข่าวมีชื่อเป็นแคนดิเดต ประธานสปท.ว่า ยังไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสมาชิกสปท. ถ้าสนับสนุนและให้เกียรติตนก็คงทำหน้าที่ประธานสปท. ทั้งนี้ ตนยังไม่ได้พูดคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร อย่างไรก็ตามตนไม่ขอให้ข่าวและสัมภาษณ์ เนื่องจากเป็นคนเก็บตัวไม่ชอบเป็นข่าว
'ชิดชัย'เมินทักษิณ
พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ สปท. ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้ารายงานตัวว่า ต้องการปฏิรูปเรื่องการเกษตร ปัญหาน้ำกิน น้ำใช้ และการบังคับการใช้กฎหมาย ส่วนการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจนั้น ตนเคยเป็นประธานปรับ ปรุงแก้ไขกฎหมายตำรวจ ซึ่งเคยแก้ไขไปแล้วเมื่อปี 2547 ช่วงนั้นเป็นกฎหมายที่ดี แต่ผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว คงต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่เพราะกฎหมายทุกฉบับไม่ใช่แก้ไขไม่ได้ พอถึงเวลาหนึ่งก็ต้องแก้ไข
ผู้สื่อข่าวถามว่าการเป็นรองนายกฯ สมัยนายทักษิณ ลำบากใจในการทำงานหรือไม่ พล.ต.อ.ชิดชัยกล่าวว่า ไม่ลำบากใจ เพราะยึดมั่นความเป็นกลาง ความถูกต้องและมีจุดยืนที่ชัดเจน เมื่อถามย้ำว่าที่ผ่านมามีการพูดคุยกับพรรคเพื่อไทยและนายทักษิณหรือไม่ พล.ต.อ. ชิดชัย กล่าวว่า ไม่ได้ร่วมกิจกรรมกับพรรคเพื่อ ไทยนานแล้ว 3 ปีที่ผ่านมาตนหันมาทำธุรกิจส่วนตัว หลีกเลี่ยงไม่ให้การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจ ส่วนนายทักษิณก็ไม่ได้พูดคุยกัน
โพลชี้ปชช.มั่นใจโรดแม็ป
วันเดียวกัน กรุงเทพโพลโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นเรื่อง "ความคาดหวังประชาชนต่อการทำหน้าที่ของ กรธ. และ สปท." จากประชาชนทั่วประเทศ 1,004 คน พบว่าร้อยละ 66.3 อยากให้กรธ.นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับเก่าที่ไม่ผ่านประชามติ มาปรับปรุงใหม่โดยแก้ไขจุดที่บกพร่อง ร้อยละ 18.2 อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และร้อยละ 15.5 ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ ร้อยละ 64.8 เห็นว่ากรธ.ควรเชิญพรรคใหญ่ในประเทศมาเสนอแนะข้อคิดเห็นก่อนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ร้อยละ 24.5 เห็นว่าไม่ควรเชิญ ร้อยละ 10.7 ไม่แน่ใจ ส่วนความคาดหวังต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะนำประเทศไปสู่การปฏิรูปและสร้างความปรองดองได้ ร้อยละ 54.9 ระบุคาดหวังค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 45.1 คาดหวังค่อนข้างน้อยถึงไม่คาดหวัง
ส่วนความเชื่อมั่นต่อการมีเครือข่ายนักการเมืองเข้าร่วมสปท.จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติได้ พบว่าร้อยละ 45.7 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ร้อยละ 44.7 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 49.9 เชื่อมั่นว่าหลังจากแต่งตั้งกรธ.และสปท.แล้วจะเลือกตั้งได้ตามโรดแม็ปในปี 2560 ขณะที่ร้อยละ 41.5 ไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ และร้อยละ 8.6 ไม่แน่ใจ
'นครินทร์'ฉลุยตุลาการศาลรธน.
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐ ประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น จำนวน 1 คน แทนนายเฉลิมพล เอกอุรุ ที่ครบวาระเนื่องจากอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ประกอบประกาศ คสช. สรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่ง แทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีพล.อ.อู้ด เบื้องบน เป็นประธาน ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อคือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งที่ประชุม ได้ประชุมลับใช้เวลา 10 นาที
จากนั้นนายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. (วิปสนช.) เสนอให้ลงมติลับด้วยการใช้เครื่องออกเสียง ปรากฏว่า ที่ประชุมเห็นชอบด้วยคะแนน เสียง 158 ต่อ 6 งดออกเสียง 4 ให้นายนครินทร์เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่
สสท.ปลดฟ้าผ่าผอ.ไทยพีบีเอส
วันที่ 9 ต.ค. เว็บไซต์สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส มีมติเลิกจ้าง นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ตามสัญญาตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.2558 เป็นต้นไป และคณะกรรมการบริหารทั้งคณะ เช่น นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นายมงคล ลีลาธรรม นายสุพจน์ จริงจิตร และนายพุทธิสัตย์ นามเดช สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่และมีผลทันที โดยให้นางพวงรัตน์ สองเมือง ผู้อำนวยการสำนักรายการ รักษาการผู้อำนวยการแทน
คณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส ให้เหตุผลว่า ผู้อำนวยการไม่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอแนะของกรรมการนโยบาย ไม่มีแผนบริหารความเปลี่ยนแปลง และแผนกลยุทธ์เพื่อการแข่งขัน และผิดสัญญาจ้างกรณีอนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท โดยไม่ได้รับอนุมัติจากกรรมการนโยบายถึง 4 ครั้ง ส.ส.ท.จึงมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย หรือค่าสินไหมทดแทนใดๆ
นายสมชัย เปิดเผยว่า ขณะนี้เตรียมร้องขอความเป็นธรรมตามกฎหมายแล้ว เพราะถือว่าการปลดครั้งนี้มีกระบวนการออกคำสั่งที่ไม่น่าจะถูกต้อง ปกติหากจะปลดพ้นจากตำแหน่ง ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3-4 วัน ตนไม่ทราบล่วงหน้าเลยว่าจะมีคำสั่งปลด แต่ที่ผ่านมามีเค้าลางมาตลอด มีการทำเซอร์เวย์สำรวจความพึงพอใจของพนักงานไทยพีบีเอส ซึ่งตนได้คะแนนชนะแบบถล่มทลาย ถือว่าชนะในการทำผลสำรวจ เมื่อมาถึงวันนี้จึงงงว่ามีเรื่องนี้ได้อย่างไร ส่วนเรื่องการอนุมัติงบประมาณเกินกว่า 50 ล้านบาทนั้น เรื่องนี้เกิดขึ้นมา 3 ปีแล้ว และอยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ยังไม่มีการสรุปผลว่าตนผิด ยืนยันว่าได้ทำตามขั้นตอนทุกอย่าง ถ้าคิดว่าเรื่องนี้เป็นความผิดก็น่าจะปลดตนตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว
ส่วนเรื่องเรตติ้งตกอย่างต่อเนื่องนั้น นายสมชัยกล่าวว่าขณะนี้สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลเกิดขึ้นใหม่ถึง 24 ช่อง หลายช่องก็เรตติ้งตก โดยเฉพาะไทยพีบีเอสเป็นทีวีสาธารณะ จะไปสู้รายการสถานีช่องบันเทิงได้อย่างไร กรรมการนโยบายต้องเข้าใจปัญหาและอุตสาหกรรมทีวีด้วย
สำหรับ คณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส ประกอบด้วย นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธาน, นางปราณี ทินกร, นายธีรภัทร สงวนกชกร, นางลดาวัลย์ บัวเอี่ยม, นายสมพันธ์ เตชะอธิก, นางสมศรี หาญอนันทสุข, นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ น.ส.รุ่งมณี เมฆโสภณ และนายพิพัทธ์ ชนะสงคราม
บิ๊กหมูสั่งเลิกชุดฝึกยุคบิ๊กโด่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 9 ต.ค. ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) กองบัญชาการกองทัพบก "บิ๊กหมู"พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. เป็นประธานการประชุม ศปก.ทบ. โดยมีกระแสข่าวหนึ่งในวาระการประชุมคือการพิจารณาการยกเลิก ชุดฝึกใหม่ในยุคที่ "บิ๊กโด่ง"พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม สมัยดำรงตำแห่งผบ.ทบ. ซึ่งมติที่ประชุมได้พิจารณาประกอบด้วย
1.ใช้ชุดฝึกพรางแบบเก่า (ก่อนแบบกระเป๋าเฉียง) โดยแก้ไขเฉพาะ กระเป๋าเสื้อด้านล่าง เป็นแบบเฉียง ไม่มีซิป 2.เครื่องหมายเป็นแบบเย็บติดทั้งหมด (รูปแบบเดิม) ไม่ใช้แปรงไนลอน โดยป้ายชื่อ ใช้พื้นหลังลายพราง 3.ชุดฝึกใหม่ที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ตัดไปแล้ว อนุโลมให้ใช้ต่อไปได้ 4.สำหรับหน่วยที่ปฏิบัติภารกิจต่างประเทศ ให้ใช้ชุดฝึกพรางกระเป๋าเฉียงได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าต้องรอหนังสือสรุป/สั่งการ จากกรมยุทธการทหารบก (ยก.ทบ.) อีกครั้ง