WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

3ระยะ

มีชัย ทาบ'บวรศักดิ์'ร่วม กุนซือกรธ. เดินสายพบ'อดีตนายกฯ'ถกปมร้อนร่างรธน.เดิม 'บิ๊กตู่'ชู 3 ขั้นสู่ปรองดอง 'ปานเทพ'พร้อมนั่งปธ. สปท.รายงานตัว 143 คน

       'บิ๊กตู่'พร้อมนิรโทษหลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลั่นไม่ชอบให้ใครมาขู่ถ้าไม่ปรองดองแล้วไม่สงบ 'จิระ'หนุน'บิ๊กอ๊อด'นั่ง ปธ.สปท.

มติชนออนไลน์ :

@ "บิ๊กตู่"เดินหน้าปรองดอง 3ระยะ

      เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ว่า ที่ประชุมได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อจะดำเนินการให้ได้ และจะต้องเดินยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้าให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติมีประมาณ 6 ด้าน แต่จะเดินได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญจะเขียนออกมา วันหน้าต้องทำทั้งเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินในแนวใหม่ มีการบูรณาการ พัฒนาอย่างยั่งยืน และการสร้างความปรองดอง สร้างความสามัคคีคนในชาติ สร้างอุดมการณ์ อันนี้คือปรองดองอันที่หนึ่ง ส่วนปรองดองที่สองเป็นเรื่องของคดีความทางการเมืองต่างๆ เป็นปรองดองสองอย่างต้องทำต่อในวันหน้า

      "สำหรับการปรองดองของคดีเรื่องนิรโทษกรรม ยังไม่รู้ว่าจะไปได้แค่ไหน แต่วางเป้าหมายหลักๆ ไว้ หนึ่ง สอง สาม ระยะที่หนึ่งคือ คนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและตัดสินแล้ว อันนี้ต้องพิจารณาก่อน ระยะที่สองกำลังอยู่ในกระบวนการ เมื่อได้ข้อยุติมาแล้วก็นำมาพิจารณาต่อ ส่วนระยะที่สามใครยังหลบหนีอยู่ไม่เข้ากระบวนการยุติธรรมก็ปรองดองไม่ได้อยู่แล้ว ต้องเอากฎหมายมาเป็นเกณฑ์ไม่ใช่เอาตามความพอใจ ผมไม่ชอบให้ใครมาขู่ว่าถ้าไม่ปรองดองแล้วไม่สงบ ลองดูสิ กฎหมายเขามีไว้ทำอะไร มีไว้ให้ดูถูก มีไว้ให้เล่นเหรอ" นายกฯกล่าว พร้อมกับถามสื่อมวลชนว่า อยากปรองดองไหม อยากให้บ้านเมืองสงบหรือไม่ อ้าวไม่ตอบๆ อยากหรือไม่อยาก แล้วต้องทำอย่างไร

@ สั่งกต.ทำโรดแมปจี77

      ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาอยู่ที่คนไม่รับกระบวนการตัดสินแล้วหนีไปอยู่ต่างประเทศ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อยู่ต่างประเทศแล้วในประเทศไม่มีเลยหรือที่ไม่ค่อยปฏิบัติตามกฎหมาย พอจะทำอะไรก็อ้างเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิมนุษยชนไม่ได้หมายความว่าให้คนทำผิดกฎหมายได้ แต่สิทธิมนุษยชนเขาทำให้ดูแลสิทธิของผู้บริสุทธิ์ ไม่มีความผิด ถูกรังแก และเป็นไปตามประชาคมโลก แต่เมืองไทยมีกฎหมายอยู่ กฎหมายประกาศไปแล้วถ้าทำผิดก็ถือว่าผิดกฎหมาย แต่พอทำไม่ได้เพราะไม่ชอบทำตามกฎหมายทุกคนต้องมีสิทธิเท่าเทียม ทำอะไรก็ได้ เสรีภาพทุกอย่าง

"ถ้าแบบนี้ไม่มีทำอะไรได้ทุกเรื่อง พัฒนาอะไรก็ไม่ได้ เศรษฐกิจก็เป็นอยู่อย่างนี้ แก้ไม่ได้ วันข้างหน้าก็เป็นอยู่อย่างนี้ แถมความขัดแย้งจะเกิดขึ้นมาอีก เพราะไม่ยุติกัน ทุกคนไม่มอง ไม่นึกถึงประเทศชาติก็จบแค่นี้ มีคนสองข้างทะเลาะกันอยู่แล้ว ข้างที่สามก็มาประชาธิปไตย สรุปก็เหมือนเดิม และจะ เอายังไงกับผมก็ไม่รู้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

จากนั้นนายกฯถามสื่อมวลชนว่าจะเอาอะไรอีกล่ะ เมื่อผู้สื่อข่าวตอบว่า พอแล้ว นายกฯกล่าวว่า "ขอบคุณ วันนี้ทำงานเยอะแล้ว เมื่อเช้าก็ประชุมเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอะไรมาเยอะแยะ การประชุมวันนี้ได้บอกไปว่าต้องอธิบายให้สังคมโลกเข้าใจเรื่องการขับเคลื่อนจี77 สั่งการกระทรวงการต่างประเทศเป็นหลักจัดทำแผนโรดแมปว่าจะประชุมกับเขาอย่างไร ขับเคลื่อนด้วยวิธีไหน เข้าใจไหม" พร้อมกับโค้งตัว กล่าวว่าขอบคุณครับ

@ "บิ๊กป้อม"ลั่นนิรโทษต้องตามกม.

     พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์ภายหลังมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 200 คนว่า ส่วนตัวไม่มีความกังวล เรื่องนี้ต้องให้เวลา กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญและ สปท.ก็อาจจะนำแนวคิดของ สปช. เดิมในเรื่องการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านว่าจะดำเนินการสานต่ออย่างไรบ้าง ส่วนที่มองว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขมาตรา 35 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เดินหน้าต่อไปหรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ขณะนี้กำลังดูอยู่ คิดว่าถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจริง ก็มีเพียงเรื่องเดียวควรแก้ไขคือหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้วจะทำอย่างไรต่อไป คิดว่าทางฝ่ายกฎหมายจะต้องไปดำเนินการต่อ รวมถึงการแก้ไขเรื่องผู้มีสิทธิลงประชามติและผู้มาใช้สิทธิลงประชามติด้วย ฝ่ายกฎหมายต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจน ส่วนกรณีมีบางกลุ่มออกมาแสดงความเคลื่อนไหวต่อต้านนายมีชัยนั้น ไม่รู้สึกกังวล เพราะเป็นเรื่องปกติจะมีคนชอบและไม่ชอบ เชื่อว่านายมีชัยทำเพื่อประเทศชาติ

      เมื่อถามว่า ยังมีจำเป็นต้องมี คปป. อยู่ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ต้องดูว่า กรธ.มีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ แต่เชื่อว่า กรธ.จะร่างรัฐธรรมนูญให้ดีที่สุดตามหลักสากล 

       เมื่อถามถึงกรณีที่สมาชิก สปท.บางคนเสนอแนวคิดความปรองดองผ่านการนิรโทษกรรม พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เรื่องการนิรโทษกรรมเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน จะนิรโทษกรรมหรือไม่ก็ว่ากันภายหลัง ไม่ว่าจะนิรโทษกรรมหรืออภัยโทษกรรมต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมก่อน ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะให้นิรโทษกรรมเลย ทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอนและทำตามกฎหมาย 

@ "วิษณุ"ยันไม่มีพิมพ์เขียวให้"มีชัย"

      นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า ยืนยันว่ารัฐบาลให้อิสระการร่างทุกขั้นตอน เพราะให้อิสระตั้งแต่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว หาก กรธ.ชุดนี้มีปัญหาหรือต้องการสอบถามเรื่องใดมา รัฐบาลก็จะให้คำปรึกษาเป็นธรรมดา แต่ไม่ใช่ไปสั่งการ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีพิมพ์เขียวและไม่มีอะไรทั้งสิ้น ส่วนที่นายมีชัยระบุว่า กรธ.มีเวลาทำงาน 120 วันนั้น เพราะหักวันทำงานเสาร์และวันอาทิตย์ออกไปแล้ว และจะร่างทันกำหนดเวลาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเวลาของ กรธ.เอง สามารถประชุมในหยุดเสาร์อาทิตย์ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กรธ.อาจไม่คุ้นเคยกันบ้าง เนื่องจากเพิ่งจะได้รับการแต่งตั้งและเพิ่งพบกัน คนยังไม่เคยทำงานร่วมกับนายมีชัยอาจไม่รู้ว่านายมีชัยเป็นคนอย่างไร แต่เมื่อคุ้นเคยกันแล้วอาจจะนัดพบปะพูดคุยกันมากขึ้น

@ คาดแก้รธน.ชั่วคราวให้ชัดขึ้น

     ผู้สื่อข่าวถามถึงสาเหตุที่ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปสังเกตการณ์หรือรับฟังในระหว่างการประชุมยกร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ คิดว่าเมื่อเริ่มต้นนายบวรศักดิ์ประชุมยกร่างฯก็ไม่อนุญาตให้เข้าไปสังเกตการณ์เช่นกัน ต้องคุ้นเคยกันก่อน ยิ่งเห็นผู้สื่อข่าวก็อาจตระหนกบ้าง ส่วนเนื้อหาในร่างฉบับนี้คาดว่านายมีชัยจะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาประกอบการพิจารณายกร่างด้วย

    "เดี๋ยวนายอมร วาณิชวิวัฒน์ เขาคงจะออกมาชี้แจงรายละเอียดเอง แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเขาตั้งเป็นโฆษก กรธ.แล้วหรือยัง เพราะอ่านจากสื่อว่าเขาจะมาเป็นโฆษก กรธ. เลยคิดว่าอย่างนี้ก็มีด้วย" นายวิษณุกล่าว

     เมื่อถามกรณีนายมีชัยระบุว่าไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ว่าด้วยการนับจำนวนเสียงผู้ที่มาออกเสียงประชามติ ก่อนหน้านี้มีการถกเถียงในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง นายวิษณุกล่าวว่า คิดว่าอาจจะแก้ไขเพื่อให้ชัดเจนขึ้นว่า ในการลงประชามตินั้นจะนับเสียงผู้ไม่ได้ออกมาใช้สิทธิด้วยหรือไม่ หรือจะนับแค่เพียงผู้มาออกเสียงใช้สิทธิ

     "เรื่องนี้ผมอธิบายหลายครั้งแล้วว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้ชัดเจน แต่หลายคนก็ยังพยายามบอกว่าไม่ชัดเจน ก็บอกไปว่าไม่เป็นไร ในเมื่อจะแก้ไขในประเด็นอื่น เช่น หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยกำลังร่างไม่ผ่านแล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องร่างขึ้นใหม่และจะร่างอย่างไร ใครเป็นคนร่าง และจะต้องมีคนร่างกี่คน ต้องผ่านการทำประชามติด้วยหรือไม่ ดังนั้นหากแก้ไขก็ค่อยนำประเด็นนี้ไปแก้ไขด้วย แต่จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเฉพาะประเด็นการนับเสียงประชามติ รัฐบาลคงไม่แก้ไขแน่นอน แล้วถามมาว่าทำไมถึงไม่เขียนเรื่องนี้เอาไว้ก่อนเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว เพราะยังไม่ต้องการไปคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ หากจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งนี้คงจะใช้เวลาไม่นาน เมื่อนึกออกเมื่อไหร่จึงจะทำ" นายวิษณุกล่าว

@ ตอบไม่ได้รธน.ใหม่มีคปป.หรือไม่

      เมื่อถามว่าจะรอให้ร่างฉบับของนายมีชัยแล้วเสร็จจึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวใช่หรือไม่ รองนายกฯกล่าวว่า ไม่ได้หมายความเช่นนั้น เพราะถ้ารอให้ร่างเสร็จก่อนจะมาแก้ทีหลังก็ไม่ทัน แต่จะแก้ไขเมื่อไหร่ก็ได้ ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะแก้ให้เนื้อหาออกมาอย่างไร ฉะนั้นอย่าเพิ่งไปตื่นตกใจยังไม่ถึงเวลา ส่วนตัวคิดว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ผ่านก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวและคิดมาตั้งแต่ต้นที่นายบวรศักดิ์ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว

      เมื่อถามว่าสิ่งที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะบัญญัติเนื้อหาให้มีองค์กรอื่นเข้ามาควบคุมการทำงานของรัฐบาลเหมือนกับร่างฉบับก่อนมีการเขียนเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการความปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เอาไว้หรือไม่ 

       นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้ยังตอบไม่ได้ เมื่อ กรธ.ยกร่างเสร็จแล้วจึงจะส่งมาให้รัฐบาลและองค์กรอื่นๆ นำไปพิจารณา จะเสนอความเห็นกลับไปในตอนนั้น ทั้งนี้นายมีชัยระบุว่า ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นมี 2 ขั้นตอนคือ 1.เปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่วันนี้ โดยไม่รอดูเนื้อหาก่อนว่าจะออกมาอย่างไร เพื่อเสนอความเห็นไปก่อน กรธ.เองจะตั้งคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นมาพิจารณา และ 2.เมื่อ กรธ.ร่างเสร็จ จะส่งร่างไปยังองค์กรต่างๆ เพื่อรับฟังข้อเสนอกลับมา สำหรับข้อเสนอของบางคนให้นำชื่อของ ผบ.เหล่าทัพออกจาก คปป. หากจะเขียนเรื่องนี้เอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อลดกระแสคัดค้านออกไปนั้น เรื่องนี้ตอบไม่ได้ ให้ไปบอก กรธ.ทั้ง 21 คนเอง

@ เผย"อ.ปื๊ด"ยังไม่ตกลงที่ปรึกษา 

      นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กรธ.ถึงการแต่งตั้งที่ปรึกษา กรธ.ว่า ไม่จำเป็นต้องตั้งให้ครบถึง 9 คน แต่อยากได้คนที่เคยทำงานร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ทาบทามนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเข้ามานั่งเป็นที่ปรึกษา กรธ. แต่นายบวรศักดิ์ยังไม่ได้ตอบรับในเรื่องนี้ เนื่องจากเคยกล่าวกับสื่อมวลชนไว้แล้วว่าจะไม่กลับมาทำหน้าที่ในส่วนนี้อีกแล้ว ไม่ทราบว่าสื่อมวลชนในที่นี้จะตำหนินายบวรศักดิ์หรือไม่หากกลับมา ไม่ตำหนิ ไม่ว่า ใช่หรือไม่ แต่ตนต้องการคนเคยเป็นเลขานุการรัฐธรรมนูญ ปี 2540, 2550 และปี 2558 เนื่องจากเป็นผู้อยู่เบื้องลึกของการร่างทุกฉบับและสามารถต่อยอดได้ต่อไปว่าอะไรดีอะไรไม่ดี ขณะนี้ กรธ.ยังไม่สามารถให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังได้ เพื่อให้การทำงานรวดเร็วและช่วงนี้เป็นช่วงปรับหลักการตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว และที่ สปช.ส่งมา ปรับทีละข้อ ให้ฝ่ายเลขาฯจดรายละเอียดไว้ และอาจจะตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างขึ้นมาเพื่อยกร่างเบื้องต้น จากนั้นเป็นช่วงการเกลา จะให้สื่อเข้าฟังได้

@ เดินตามโรดแมปไม่ขยายเวลา

เมื่อถามว่าขณะนี้มาตราและกลไกการป้องกันการทุจริตดีหรือยัง นายมีชัยกล่าวว่า "แล้วตอนนี้หมดรึยังการทุจริต ถ้ายังแสดงว่ากลไกยังไม่เพียงพอ อย่างไรก็ดีตอนนี้สื่อก็อยู่กันมาก เรามาคิดกัน อยากได้มาตรการอะไร อย่างไร เพื่อทำให้เรื่องนี้ได้ผล เราก็เสนอกันเข้ามา และเราก็จะได้พูดได้ว่า เราคิดกันเอง" 

ผู้สื่อข่าวถามว่าการทำงานของ กรธ.ระยะเวลา 180 วัน จะเพียงพอหรือไม่และสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวขยายเวลาได้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ยังไม่มีอะไรระบุว่าจะขยายได้ กรธ.ก็ต้องทำตามโรดแมปไป หากไม่ทัน ถึงเวลาตอนนั้นค่อยว่ากัน คิดแล้วเราจะชะล่าใจ เมื่อถามว่าการมาทำงานเป็น กรธ.กระแสข้างนอกเป็นอย่างไร นายมีชัยกล่าวว่า ไม่ทราบ ยังไม่ได้โผล่หน้าไปไหนเลย เมื่อถามว่า ในส่วนของ คปป.จะออกมาเป็นอย่างไร นายมีชัยกล่าวว่า ไม่ทราบยังไม่ได้ลงถึงตรงนั้น 

เมื่อถามว่า มาตรา 35 (2) ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว การปกครองระบอบประชาธิปไตยตามสภาพสังคมไทยจะออกมารูปแบบใด นายมีชัยกล่าวว่า ต้องดูว่ากรอบนั้นเป็นไปได้หรือไม่ แล้วเก็บไว้ในสมอง แต่ไม่ใช่เอาแต่ลอกมา เห็นอะไรดีก็เอามา "ต้องนำมาเปรียบเทียบด้วยคนไทยเป็นไง ส่วนจะทำไงให้เหมาะสมสังคมไทยเป็นเรื่องยาก อย่างที่บอก เป็นเรื่องดีที่ทุกคนจะมีโอกาสแสดงความคิดเห็นเข้ามามีส่วนร่วม เพราะเรามีคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชน 

@ จ่อนำปมร้อนฉบับ"อ.ปื๊ด"ทำโพล

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. กล่าวถึงแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การประชุม กรธ.นัดแรกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุม กรธ.ยังไม่ได้หารือลงลึกในรายละเอียดมาก แต่เบื้องต้นพูดคุยว่าจะนำประเด็นร้อน หรือประเด็นที่ถูกสังคมพูดถึงจากร่างรัฐธรรมนูญชุดที่มีนายบวรศักดิ์เป็นประธาน อาทิ ประเด็นที่มานายกรัฐมนตรี ที่มา ส.ว.และ คปป. ไปจับกลุ่มคุยกับผู้นำทางความคิด และแกนนำกลุ่มการเมืองว่าคิดเห็นอย่างไร แล้วนำมากลั่นกรอง นอกจากนี้ยังคุยกันว่าอาจจะใช้สำนักโพลจากสถาบันการศึกษาต่างๆ อาทิ นิด้าโพล สวนดุสิตโพล มาช่วยสำรวจให้ครอบคลุมความเห็นประชาชนมากที่สุด ส่วนช่องทางรับฟังความเห็นอื่นๆ จะมีเพิ่มเติมหรือไม่อยู่ระหว่างหารือ แต่ กรธ.จะพยายามรับฟังความคิดเห็นให้ได้มากที่สุดก่อน เพื่อให้ได้แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญที่คนไทยรับได้และไม่อายต่างชาติ

@ ดึงมือโปรสื่อเผยแพร่รธน.

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ และนายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่วมกันแถลงผลการประชุม กรธ. นายอมรกล่าวว่า ที่ประชุมกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาโดยแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ 1.โครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ และ 2.ฝ่ายบริหาร ที่ประชุมจึงได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะคือ 1.คณะทำงานศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ และ 2.คณะทำงานศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร โดยให้สมาชิก กรธ.อาสาว่าจะทำงานคณะใด กรรมการ 1 คน สามารถเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการได้ทั้ง 2 คณะ และคณะทำงานทั้ง 2 คณะ จะไปศึกษาเรื่องทั้งหมดให้เสร็จภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ แล้วนำข้อศึกษาของทั้ง 2 คณะมาสรุปรวม เพื่อดำเนินการต่อไป

นายอมรกล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการผลิตสื่อ เนื่องจากนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. มีความกังวลในเรื่องการสื่อสารไปยังประชาชนว่า อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ จึงต้องการให้คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลของการร่างรัฐธรรมนูญผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อดิจิตอลและโซเชียลมีเดีย บุคคลที่เข้ามาเป็นอนุกรรมการในชุดนี้จะมีทั้งสมาชิก กรธ.และบุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องสื่อโซเชียลมีเดีย สำหรับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะรวบรวมข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญทุกฉบับในอดีตมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยเฉพาะบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ทาง กรธ.จะไม่มีการตัดออก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะลอกทั้งหมด โดยจะนำมาเขียนใหม่

@ เชิญองค์กรอิสระให้ข้อมูลปฏิรูป 

นายอมรกล่าวว่า ที่ประชุม กรธ.มีความเห็นร่วมกันว่าจะเชิญคณะกรรมการขององค์กรอิสระทุกองค์กรมาให้ข้อมูลแก่ กรธ. อาทิ ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นต้น ต้องการให้องค์กรต่างๆ มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคของแต่ละองค์กร เพื่อจะได้นำข้อเสนอต่างๆ มาพิจารณาและเตรียมวางแนวทางและกลไกให้องค์กรต่างๆ เหล่านี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เบื้องต้นกำหนดให้ สตง.เข้ามาให้ข้อมูลในวันที่ 13 ตุลาคมนี้ ป.ป.ช.วันที่ 14 ตุลาคม และ กกต.วันที่ 15 ตุลาคม

@ เดินสายคุยอดีตนายกฯปมถ่วงดุล

แหล่งข่าวจาก กรธ.กล่าวว่า การตั้งคณะทำงาน 2 ชุด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่ากรรมการ กรธ.คนใดสนใจเรื่องใดก็ให้ไปอยู่คณะทำงานชุดนั้น พร้อมกับให้ไปออกแบบรูปแบบการทำงานเพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด ฝ่ายบริหารอาจจะกำหนดแนวทางไปพบกับอดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบถามข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินว่าต้องมีหลักการในการถ่วงดุลให้เกิดความเหมาะสมระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติอย่างไร และเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วจะนำมาเสนอในที่ประชุมเพื่อจัดทำเป็นรายมาตราต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุม กรธ.ยังเห็นตรงกันว่าควรมีมาตรการตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 35 (4) ว่าด้วยการร่างรัฐธรรมนูญต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคําพิพากษา หรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทําการอันทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมเข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด ที่ประชุม กรธ.นำเอากรณีของการเลือกตั้งท้องถิ่นมาเทียบเคียง กล่าวคือถ้าผู้สมัครเลือกตั้งคนใดที่เคยต้องคำพิพากษาจะไม่สามารถลงสมัครเลือกตั้งได้ ที่ประชุม กรธ.จึงเห็นตรงว่าคุณสมบัติของผู้เข้าสู่อำนาจทางการเมืองระดับชาติควรมีมาตรฐานสูงกว่า แต่ที่ประชุม กรธ.ยังไม่ได้กำหนดว่าการตัดสิทธิดังกล่าวควรให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ กรธ.จะนำมาพิจารณาอีกครั้ง

@ สปท.รายงานตัววันที่สอง79คน 

ในส่วนของบรรยากาศการรายงานตัวของ สปท.วันที่สองนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เวลาประมาณ 08.05 น. นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางมารายงานตัวเป็นคนแรก ตามมาด้วยนางถวิลวดี บุรีกุล อดีตกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ กทม. นายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกา พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ พล.อ.คณิต สุวรรณเนตร อดีตรอง ผบ.สส. พล.อ.ปราการ ชลยุทธ รองเสนาธิการทหาร พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ พล.ต.ท.ยงยุทธ สาระสมบัติ พล.อ.พอพล มณีรินทร์ นายดำรงค์ พิเดช นายสมชัย ฤชุพันธุ์ อดีต สปช. นายชูชัย ศุภวงศ์ อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. มีสมาชิกมารายงานตัวจำนวนทั้งสิ้น 79 คน รวมยอดทั้งสองวันเป็นจำนวน 143 คน รับรายงานตัวจะเปิดให้สมาชิกเข้ามารายงานตัวจนกว่าจะครบ 200 คน

@ "คำนูณ"พร้อมสานผลงานสปช.

นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวภายหลังเข้ารายงานตัวเป็น สปท.ว่า ภารกิจเร่งด่วนของ สปท.คือการนำแผนแม่บทจาก สปช.เสนอรัฐบาลมาสกัด กลั่นกรองเฉพาะส่วนสำคัญ และมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องดำเนินการให้ออกมาเป็นรูปธรรม เรื่องไหนทำได้ก็ทำเลยไม่ต้องรอให้มีรัฐบาลใหม่ ส่วนข้อเสนอของตัวแทนพรรคการเมืองต้องการให้พิจารณาเรื่องนิรโทษกรรมนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ สปท. เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเอาไว้ แต่ที่ผ่านมา สปช.ได้ตั้งคณะกรรมการชุดมีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานศึกษาไว้แล้ว นำมาดำเนินการต่อได้ การนิรโทษกรรมจะเกี่ยวโยงกับเรื่องการปฏิรูปและการปรองดองด้วย หากจะนำเรื่องนี้มาพิจารณาก็ต้องเกี่ยวโยงในส่วนอื่นด้วย ไม่ใช่หยิบยกเรื่องนิรโทษกรรมมาพิจารณาอย่างเดียว ทั้งนี้เห็นว่าการทำงานของ สปท.ในช่วงแรกนี้จะต้องนำสิ่งที่ สปช.ทำไว้แล้วมาศึกษา รวมถึงผลการศึกษาเรื่องการนิรโทษกรรมด้วยที่ต้องนำมาพิจารณาเป็นเรื่องแรกๆ และเมื่อศึกษาออกมาแล้วเป็นอย่างไรก็ส่งให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการต่อไป

@ "จิระ"หนุน"บิ๊กอ๊อด"นั่งปธ.สปท.

พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ กล่าวถึงกระแสข่าวได้รับการวางตัวเป็นประธาน สปท.ว่า การคัดเลือกประธาน สปท.ขอให้เป็นไปตามธรรมชาติ และอยากให้เอาคนอื่นก่อนดีกว่า เพราะตนเข้ามาเป็น สปท. เพื่อมาสานต่อการปฏิรูปเคยทำไว้ตอนเป็น สปช. ส่วนคนจะมาเป็นประธาน สปท.มีหลายคนเหมาะสม เช่น พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา นายชัย ชิดชอบ อดีต สปช. นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกา ส่วนตัวอยากให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์เป็นประธาน สปท.มากที่สุดเพราะมีความเหมาะสม และเป็นนายของตน ครั้งนี้ไม่จำเป็นหรือสิ่งบอกเหตุว่าประธานจะต้องเป็นทหาร พลเรือนเป็นประธานได้

เมื่อถามว่าหากหนุน พล.อ.ยุทธศักดิ์เป็นประธาน จะติดภาพลักษณ์พรรคเพื่อไทยหรือไม่ พล.อ.จิระกล่าวว่า ไม่ ตอนนี้ทุกคนต้องการและยินดีเห็นการสลายสี ถ้า พล.อ.ยุทธศักดิ์มาเป็น หมายความว่าทุกคนได้สลายสี เพราะ พล.อ.ยุทธศักดิ์คร่ำหวอดการเมืองมานาน

@ "ปานเทพ"ออกตัวแรงพร้อมนั่งปธ. 

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ กล่าวถึงกรณีที่มีชื่อเป็นประธาน สปท.ว่า มีความพร้อมจะเป็นประธาน สปท. จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ขณะนี้ยังไม่มีการทาบทาม มีแต่สื่อที่มาทาบทาม ขณะนี้กำลังจะหมดหน้าที่จากตำแหน่งประธาน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการสรรหาใหม่ ทราบว่า สปท.จะประชุมนัดแรกวันที่ 13 ตุลาคมนี้ การทำงานของ สปท.คงเน้นหนักเรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ รับช่วงต่อจาก สปช. แต่จะทำทุกเรื่องคงเป็นไปไม่ได้ เพราะ สปท.มีเวลาไม่มาก ต้องทำเรื่องที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นรากฐานของปัญหาทั้งหมด การทำงานต้องประสานกับทุกฝ่าย ต้องประสานกับรัฐบาล เพราะรัฐบาลรับพิมพ์เขียวการปฏิรูปประเทศจาก สปช.ไปแล้ว ส่วนเรื่องการปรองดองเป็นเรื่องที่อยู่ในการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านอยู่แล้ว รวมถึงการนิรโทษกรรม จะต้องหารือร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก

@ "ดำรงค์"สานต่อปฏิรูปป่าไม้ที่ดิน

นายดำรงค์ พิเดช สปท. กล่าวภายหลังรายงานตัวเป็น สปท.ว่า จะเข้ามาสานต่อในการปฏิรูปป่าไม้ที่ดินต่อไป ส่วนเรื่องวันประชุมนัดแรกจะเลือกประธาน และรองประธาน สปท.นั้น ยังไม่มีใครทราบวันประชุมที่แน่ชัด ยังไม่สามารถบอกได้ว่าสมาชิกที่ปรากฏชื่อเป็นข่าว ทั้ง พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ และนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นอย่างไรบ้าง เพราะต้องฟังเสียงสมาชิกทั้งหมด ตอนนี้สมาชิกก็ยังมารายงานตัวไม่ครบ บางคนยังไม่ทราบว่าใครเป็นใคร ต้องทำความรู้จักกันก่อน พูดอะไรตอนนี้ไม่ได้ ส่วนตัวเห็นว่าคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำหน้าที่ประธาน สปท.นั้น ต้องมีความเป็นผู้อาวุโส มีอายุ มีประสบการณ์ แก้ไขสถานการณ์ในสภาได้ สิ่งสำคัญ คือ ต้องเข้ากับสมาชิกทุกคนได้ดี

@ "สุชน"เร่งปรองดอง-นิรโทษกรรม

นายสุชน ชาลีเครือ อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวภายหลังการเข้ารายงานตัว สปท.ว่า ได้ยื่นใบลาออกจาก พท. โดยยื่นกับ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค พท.และมีคนในพรรคได้รับทราบด้วย ถึงได้มารายงานตัวในวันที่ 7 ตุลาคม และยืนยันว่ามาทำหน้าที่ สปท.เต็มตัวในฐานะนายสุชน ชาลีเครือ จะทำไปตามกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 39/2 คือ ต้องขับเคลื่อนภายใต้การปฏิรูป 18 ด้าน สปช.เดิมทำไปแล้วส่วนหนึ่งและเรื่องอื่นที่ทาง สปท.จะต้องทำเป็นองค์คณะสภา ต้องดูกันว่าฝ่ายกำหนดนโยบายหรือรัฐบาลนั้นต้องสอดคล้องกัน เพราะ สปท.ต้องทำเป็นองค์คณะและมีนโยบายชัดเจนตามกฎหมาย

เมื่อถามว่า เข้ามาเป็น สปท.เพราะต้องการขับเคลื่อนการปรองดองหรือไม่ นายสุชนกล่าวว่า ใช่ จะขับเคลื่อนเรื่องปรองดองและสมานฉันท์ เป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนอีกเรื่องหนึ่ง ประเทศเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมายาวนาน 10 กว่าปี ประชาชนไม่ได้อะไร ประเทศก็เสียหาย หากทุกคนไม่ร่วมมือกันยังแบ่งเป็นฝักฝ่าย เป็นสีอยู่ การขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศและการเมืองก็จะเป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องใหญ่ที่ตนเต็มใจจะเข้ามาทำ ขณะเดียวกัน การนิรโทษกรรมก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง จะสานงานต่อจากคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองของ สปช. เชื่อว่าจะช่วยร่นระยะเวลาในการทำงานได้เร็วขึ้น แต่ก็ยังต้องมีการศึกษาใหม่ในบางเรื่องเช่นกัน ส่วนจะทำให้การปรองดองเป็นรูปธรรมได้อย่างไรนั้น คงต้องรอหารือใน สปท.ก่อน ความหลากหลายของสมาชิก สปท.ถือเป็นเรื่องดีต่อการทำงาน เพราะแต่ละคนมีความรู้ความสามารถ ต่างเป็นดาวฤกษ์มีศักยภาพในตัวเอง จะช่วยกันนำมาพัฒนาประเทศได้

@ เชื่อ"ปู-แม้ว"พร้อมหนุนปรองดอง

เมื่อถามว่า ได้มีโอกาสคุยกับนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายสุชนกล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์เลย แต่ก็เป็นที่เข้าใจว่าผมเข้ามาทำงานให้บ้านเมือง แต่ก่อนหน้านั้นก็ได้หารือกันอยู่แล้วว่าความปรองดองเป็นความปรารถนาของทุกคน ส่วนที่มองว่าจะเป็นคนเข้ามาสร้างความปรองดองมาจากนายทักษิณนั้น คงจะพูดอย่างนั้นไม่ได้ แต่เชื่อว่านายทักษิณเป็นคนที่ปรารถนาจะให้มีการปรองดองอยู่แล้ว ความปรองดองต้องขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายร่วมมือกัน ถ้าจะร่วมมือเฉพาะผู้ชนะแล้วฝ่ายผู้ถูกกระทำไม่มีโอกาสมาพูดคุยด้วย และไม่มาพูดคุยกัน ก็จะไม่จบสักที

@ ชี้พท.ไม่โกรธสมาชิกเป็นสปท. 

นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พท. กล่าวว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคลสมาชิกพรรคที่ได้รับแต่งตั้งไปเป็นสมาชิก สปท. แต่พรรคยืนยันหลักการเดิมว่าพรรคไม่ได้ส่งตัวแทนพรรคไปเป็นสมาชิก สปท.และต้องขอบคุณสมาชิกพรรคที่ไปเป็น สปท.แล้วต่อมาได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เพื่อไม่ให้กระทบจุดยืนของพรรค ต้องชัดเจนว่าเป็นสถาบันทางการเมืองยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอัน มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคไม่ได้โกรธเคืองสมาชิกเหล่านั้นเลย 

พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก อดีต รมช.มหาดไทย และอดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตอบคำถามกรณีมี สปท.ที่มาจาก นปช. ให้สัมภาษณ์ว่าพร้อมจะผลักดันการนิรโทษกรรมเพื่อการปรองดองเฉพาะประชาชน ไม่รวมแกนนำ พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าวว่า ถ้าทำได้จริงถือเป็นเรื่องดี นำไปสู่การปรองดองได้ ส่วนถ้าเป็นการทำผิดกฎหมายคงไปกระทำไม่ได้ แต่ถ้าไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่เป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตยและความคิด ก็ต้องมีการนิรโทษ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือแกนนำ

@ "ปึ้ง"แนะระบุให้ชัดแก้รธน.ได้

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ พท.กล่าวว่า ขอฝากถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. และ กรธ.ทุกคนว่า เรื่องสำคัญมากคือการเปิดช่องให้ปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ควรระบุไว้ให้ชัดในมาตราใดมาตราหนึ่ง เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์หรือสถานการณ์จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญจะแก้ไขได้ทันสถานการณ์ หากไปเขียนปิดตายเอาไว้เหมือนคราวก่อน สุดท้ายหนีไม่พ้นต้องฉีกรัฐธรรมนูญกันอีกครั้ง อีกเรื่องคือการทำตามโรดแมป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯได้ให้ไว้ต่อหน้าผู้นำระดับโลกในเวทีสหประชาชาติ ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2560 ฉะนั้นเพื่อเป็นการยืนยันคำพูดของนายกฯและหัวหน้า คสช.ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวระบุเรื่องนี้ให้ชัด แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติ ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ไม่ควรมายกร่างกันใหม่อีก เพราะถ้าขืนทำแบบนั้นประเทศไทยจะหมดความน่าเชื่อถือทันที จะเกิดผลกระทบมากมาย ความเชื่อมั่นการลงทุน รวมทั้งความหวังจะได้รับเลือกเป็นสมาชิกไม่ถาวรของสภาความมั่นคงสหประชาชาติ

@ "เต้น"เหน็บสปท.เด็กเรือแป๊ะ

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า เห็นรายชื่อทั้ง กรธ.และ สปท.แล้วเข้าใจว่า แนวคิดในการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งยังเป็นแบบเดียวกับการแต่งตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและ สปช.เพิ่งพ้นหน้าที่ไป กรธ.ใช้นักกฎหมาย นักวิชาการฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นตัวยืน ขณะที่ สปท.แม้พยายามให้เกิดภาพการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย แต่เสียงส่วนใหญ่ยังเป็นอดีตสมาชิกเรือแป๊ะและข้าราชการซึ่งพร้อมทำงานตามสัญญาณผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ตาม ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ยังอยากเห็นเนื้องานตอบสนองต่อความเป็นจริงและพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้ทั้งหมดเป็นเรื่องสูญเปล่า แต่หากยังทำงานภายใต้คำขวัญว่า ลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ ก็คงได้ผลลัพธ์ไม่ต่างกับที่ผ่านมา

วันที่ 08 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9080 ข่าวสดรายวัน


กกต.เล็ง-กค.59 ประชามติ 
มีชัยเล็งดึงปื๊ด เป็น'กุนซือกรธ'. 'ปานเทพ'พร้อม นั่งประธานสปท. 'ปู'สู้-อุทธรณ์ต่อ คดียื่นฟ้องอสส.

      ประธานกรธ.'มีชัย' เตรียมดึง'บวรศักดิ์'อดีตประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญฉบับที่ถูกคว่ำมานั่งที่ปรึกษา กรธ.มติตั้งแล้วคณะทำงาน 2 ชุดศึกษาโครงสร้างด้านบริหาร-นิติบัญญัติ สมาชิกสปท.รายงานตัวคึกคัก"ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ"แบะท่าพร้อมรับนั่งเก้าอี้ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านกกต.เตรียมแผนประชามติรธน.ใหม่ คาดอยู่ระหว่างเดือนมิ.ย.-ก.ค.2559 อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ยื่นร้องอุทธรณ์ฟ้องอัยการสูงสุดและพวก ยันมีหลักฐานสำคัญสั่งคดีจำนำข้าวโดยมิชอบ มทบ.37 เชียงรายเรียกพบ-ปรับทัศนคติ 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายจัดรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯอ้างมีข้อความยุยงปลุกปั่น

อดีตนายกฯปู-อุทธรณ์ฟ้องอสส.

      เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ กล่าวกรณีศาลอาญายกคำร้องน.ส. ยิ่งลักษณ์ ยื่นฟ้องอัยการสูงสุด(อสส.)กับพวก ในความผิดอาญาฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและความผิดตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ รับทราบคำสั่งของศาลแล้วและยืนยันจะใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญาต่อศาลอุทธรณ์ต่อไป ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ เสียดายโอกาสที่ไม่ได้นำพยานหลักฐานสำคัญเสนอต่อศาลในชั้นพิจารณาคดีของศาลอาญา ที่เตรียมไว้ชี้แจงอย่างสมบูรณ์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง หากศาลรับไว้พิจารณา เช่น หลักฐานการนัดประชุมของคณะทำงานร่วมระหว่างฝ่ายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กับฝ่าย อสส. แต่เมื่อผลเบื้องต้นของการดำเนินคดีเป็นเช่นนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แจ้งว่าคงดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป

       เมื่อถามว่าที่กล่าวอ้างว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่ไม่ได้นำมาชี้แจงต่อศาลและรู้สึกเสียดาย นายนรวิชญ์กล่าวว่า ในส่วนของทนายไม่ได้มีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร แต่หากย้อนไปดูจากที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนอัยการจะสั่งฟ้องก็มีการนัดหมายของคณะทำงานร่วม ที่บอกว่าเสียดายคือตรงนี้ หากศาลอาญารับคำร้องก็จะออกหมายเรียกเพื่อขอดูรายละเอียดดังกล่าวว่ามีการนัดประชุมกันจริงก่อนส่งฟ้องหรือไม่

"กิตติรัตน์"โพสต์ดักคอ"บิ๊กตู่"

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและรมว.คลัง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า กรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ประกาศจะไม่ใช้มาตรา 44 ของร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำให้คนทั่วไปรู้สึกเป็นบวกกับหัวหน้าคสช. ซึ่งคำประกาศนี้จะมีความสง่างามมาก หากต่อท้ายด้วยถ้อยคำสำคัญว่า โดยจะให้เป็นการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมทางตุลาการที่ดำเนินการอยู่ เพราะหัวหน้าคสช.ยังดำรงอีกสถานะนายกฯ ซึ่งเป็นผู้ถืออำนาจของฝ่ายบริหารดำเนินการกับผู้ถูกกล่าวหาผ่านกลไกของกระทรวงการคลัง ด้วยพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด ซึ่งเป็น อำนาจที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เคยยินยอมให้ตนซึ่งเคยเป็นรมว.คลัง ใช้กับผู้ที่อยู่คนละฝั่งทางการเมืองเป็นอันขาด

นายกิตติรัตน์ ระบุว่า ตนมีความเห็น โดยสุจริตใจว่านายกฯที่มาจากรัฐประหาร ไม่พึงใช้อำนาจของฝ่ายบริหารดังกล่าวต่ออดีตนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง และถูกรัฐประหาร หัวหน้าคสช.ประกาศว่าจะไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ด้วยเห็นว่าเป็นกระบวนการที่ไม่สง่างาม ก็น่าจะเป็นนายกฯผู้เดียวกันที่ประกาศงดใช้อำนาจของฝ่ายบริหารต่อผู้ถูกกล่าวหา ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดด้วย โดยให้การกล่าวหานี้ถูกพิจารณาโดยกระบวนการตุลาการ ที่พึ่งแห่งความยุติธรรมอันสง่างาม

วิษณุเผยฟ้องแพ่งปูไม่เรียบร้อย

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในโครงการรับจำนำข้าวน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กับพวกว่ามีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น 2 คณะ โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง ขณะนี้ได้รับรายงานสรุปจากคณะกรรมการมาชุดหนึ่ง เหลือข้อสรุปอีกหนึ่งคณะที่ยังไม่ได้ส่งมา เนื่องจากยังไม่ผ่านรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง แต่ไม่เปิดเผยว่าเป็นกระทรวงใด และจะไม่เข้าไปล้วงลูก เพราะยังมีเวลา

นายวิษณุกล่าวว่า ก่อนหน้านี้คิดว่าจะรอข้อสรุปจากทั้ง 2 ชุดแล้วจึงเสนอต่อพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. พิจารณาพร้อมกันทีเดียว แต่หากอีกชุดสรุปส่งถึงตนช้า ก็จะส่งข้อสรุปชุดแรกที่ได้ไปก่อนและยังไม่ทราบว่าจะส่งถึงนายกฯวันใด เพราะอยู่ระหว่างอ่านข้อสรุป ทั้งนี้ เมื่อส่งข้อสรุปทั้งหมดให้นายกฯพิจารณาแล้ว จึงส่งกลับให้คณะกรรมการเพื่อส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย เมื่อได้ข้อสรุป นายกฯ จะลงนามในคำสั่งทางปกครองเพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องชำระค่าเสียหาย โดยไม่ต้องนำเรื่องเข้าครม.เห็นชอบ และหากบุคคลที่ถูกฟ้อง ให้ชำระค่าเสียหายทางแพ่งในกรณีนี้จะ ฟ้องกลับ ก็ฟ้องผู้ที่ลงนามคือ นายกฯ รมว.พาณิชย์และรมว.คลัง โดยไม่เกี่ยวข้อง กับครม.

ชี้ฟ้องกลับไม่ได้-เปล่ากลั่นแกล้ง

"เวลาฟ้อง เขาไม่ได้ฟ้องคน เขาฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ยกเลิกเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ฉะนั้นหากศาลตัดสินยกฟ้อง โจทก์ก็อุทธรณ์ต่อไปได้ยังศาลปกครองสูงสุด แต่ถ้าศาลชั้นต้นตัดสินยืนว่าคำสั่งทางปกครองถูกแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็อุทธรณ์ไป คือไม่รู้ว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบก็อุทธรณ์กันไปเหมือนคดีปกติทั่วไป ทั้งนี้ เมื่อนายกฯหรือใครก็ตามที่ลงนามฟ้องไปแล้ว พอพ้นจากตำแหน่งไป นายกฯคนใหม่เข้ามาก็เป็นจำเลยแทนคนเก่า ไม่ได้ผูกพันที่ตัวบุคคล แต่ผูกพันที่ตำแหน่ง แต่ถ้าเขาไม่ฟ้องให้เพิกถอน ก็แปลว่าเขายอมจ่ายตามนั้น ถ้าเขาไม่ยอมจ่ายตามนั้นก็ต้องฟ้องให้เพิกถอน ถ้าศาลตัดสินให้ชนะหรือแพ้ ก็ไม่มีใครติดคุกติดตะราง ทั้งนั้น" นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้อง สามารถฟ้องร้องทางแพ่งกลับ นายกฯและรัฐมนตรีที่ลงนามฟ้องแพ่งให้ชำระค่าเสียหายคดีจำนำข้าวได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังนึกไม่ออก แต่คิดว่าไม่น่า จะได้ เพราะการฟ้องแพ่งคือฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหาย ซึ่งต้องได้ความว่าเขาละเมิด เช่น กลั่นแกล้ง อย่างที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ คิดว่าอัยการสูงสุดกลั่นแกล้งก็เลยฟ้อง ศาลก็ตัดสินว่า ไม่รับ เป็นลักษณะเดียวกัน แต่ถ้าแน่ใจว่าเขาแกล้งก็ฟ้องได้ ไม่ใช่ใครที่ฟ้องเราแล้วศาลยกฟ้อง เราเลยฟ้องกลับ มันไม่ใช่ ถ้าเป็นอย่างนั้น พอโจทก์ฟ้องอะไรแล้วศาลยกฟ้อง โจทก์ก็ไม่โดนฟ้องกลับหมดทุกคดี หรือจำเลยกลับมาเป็นโจทก์ฟ้องก็ไม่ได้ชนะ ทุกคดี

นายวิษณุกล่าวว่า ประเด็นมีอยู่อย่างเดียวว่าฟ้องเท็จ เขาถึงต้องรับผิด แต่ถ้าตอนฟ้องไม่เท็จ ว่าไปตามสำนวนที่มาและจำเป็น ต้องฟ้อง จำเป็นต้องทำเพราะมีหน้าที่ อย่างนั้นไม่ใช่เท็จ แต่รู้อยู่แล้วว่าไม่ได้ไปแกล้งเขา แต่ถ้าแต่งพยานขึ้นมา อย่างนั้นคือเท็จ รับผิดไปเยอะแล้ว

ยันให้อิสระกก.ร่างรัฐธรรมนูญ

นายวิษณุยังกล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญว่า รัฐบาลให้อิสระในการร่างทุกขั้นตอน ให้อิสระตั้งแต่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว หากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ชุดนี้มีปัญหา หรือต้องการสอบถามเรื่องใดมาที่รัฐบาล ก็จะให้คำปรึกษา แต่ไม่ใช่ไปสั่งการ ยืนยันรัฐบาลไม่มีพิมพ์เขียว

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ระบุกรธ.มีเวลาทำงาน 120 วันนั้น เพราะหักวันทำงานเสาร์และอาทิตย์ออกไปแล้ว ส่วนจะร่างทันกำหนดเวลาที่วางไว้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเวลาของกรธ.เอง สามารถประชุมในหยุดเสาร์อาทิตย์ได้ ขณะนี้กรธ.อาจไม่คุ้นเคยกันเนื่องจากเพิ่งได้รับการแต่งตั้ง คนที่ยังไม่เคยทำงานร่วมกับนายมีชัย อาจไม่รู้ว่านายมีชัยเป็นคนอย่างไร แต่เมื่อคุ้นเคยกันแล้วอาจนัดพบพูดคุยกันมากขึ้น

ส่วนเนื้อหาในร่างฉบับนี้ คาดว่านายมีชัย จะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาประกอบการพิจารณายกร่างด้วย โดยนายอมร วาณิชวิวัฒน์ คงจะออกมาชี้แจงรายละเอียดเอง แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเขาตั้งเป็นโฆษกกรธ.หรือยัง เพราะอ่านจากสื่อว่าเขาจะมาเป็นโฆษกกรธ. คิดว่าอย่างนี้ก็มีด้วย

ปัดตอบ-คงคปป.ไว้ด้วยหรือไม่

เมื่อถามว่านายมีชัย ระบุไม่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ว่าด้วยการนับจำนวนเสียงผู้ที่มาออกเสียงประชามติ นายวิษณุกล่าวว่า คิดว่าอาจจะแก้ไขเพื่อให้ชัดเจนขึ้นว่า "ในการลงประชามตินั้นจะนับเสียงผู้ที่ไม่ได้ออกมาใช้สิทธิด้วยหรือไม่ หรือจะนับแค่เพียงผู้ที่มาออกเสียงใช้สิทธิ เรื่องนี้ตนอธิบายหลายครั้งแล้วว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้ชัดเจน แต่หลายคนยังพยายามบอกว่าไม่ชัดเจน

นายวิษณุกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อจะมีการแก้ไขในประเด็นอื่น เช่น หากร่างรัฐธรรม นูญฉบับที่นายมีชัย ยกร่างไม่ผ่านจะทำอย่างไร ต้องร่างขึ้นใหม่และจะร่างอย่างไร ใครเป็นคนร่าง และจะมีคนร่างกี่คน ต้องผ่านการทำประชามติด้วยหรือไม่ ดังนั้น หากมีการแก้ไขก็ค่อยนำประเด็นนี้ไปแก้ไขด้วย แต่จะให้แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเฉพาะประเด็นการนับเสียงประชามติ รัฐบาลคงไม่แก้ไข ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งนี้คงใช้เวลาไม่นาน

เมื่อถามว่าหลายฝ่ายห่วงว่าร่างรัฐธรรม นูญฉบับนี้ จะบัญญัติเนื้อหาให้มีองค์กรอื่นเข้ามาควบคุมการทำงานของรัฐบาลเหมือนร่างฉบับก่อนที่เขียนเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เอาไว้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ เมื่อกรธ.ยกร่างเสร็จแล้ว จึงจะส่งมาให้รัฐบาลและองค์กรอื่นๆพิจารณา ซึ่งเราจะเสนอความเห็นกลับไปในตอนนั้น

พท.เตือนหมกเม็ดคปป.-ที่มาส.ว.

วันเดียวกัน นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิก สปท. แต่พรรคยืนยันหลักการเดิมว่าไม่ส่งตัวแทนพรรคไปเป็นสมาชิก สปท.และต้องขอบคุณที่สมาชิกพรรคที่ไปเป็นสปท. แล้วลาออกจากพรรค เพื่อไม่ให้กระทบต่อจุดยืนของพรรค ที่ต้องชัดเจนว่าเป็นสถาบันการเมืองที่ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคไม่ได้โกรธเคืองสมาชิกเหล่านั้นเลย

นายนพดลกล่าวว่า การปฏิรูปประเทศของสปท.จะสำเร็จหรือไม่ เราไม่ขอสบประมาทและยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน แต่จะขอเฝ้าดู เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์การทำงาน พรรคยังดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ไม่ได้ แต่เป็นช่วงที่เราต้องติดตามความเป็นไปของประเทศและการแก้ปัญหาให้ประชาชน

นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอเรียกร้องไป ยังกรธ. โดยเฉพาะนายมีชัยว่าต้องแถลงถึงมาตราที่สำคัญโดยเฉพาะประเด็นที่มาส.ส. ที่มาส.ว. คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) หรือบทเฉพาะกาล ไม่ควรยกร่างหมกเม็ด ต้องร่างให้เป็นประชาธิปไตย ไม่รับใบ สั่งใคร เพราะจะทำให้ผ่านประชามติโดยง่าย หมดเวลาจะโกหกประชาชน หากร่างแล้วประชาชนรับไม่ได้จะทำให้ประชามติไม่ผ่าน ผู้ร่างอย่าเอาใจผู้มีอำนาจ อย่าสร้างรัฐธรรมนูญ ให้มีวิกฤตอีก

มีชัยเล็งทาบ"ปื๊ด"ที่ปรึกษากรธ.

ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกกรธ. ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมกรธ. ถึงกระแสแต่งตั้งที่ปรึกษากรธ. 9 คนว่า ไม่จำเป็นต้องถึง 9 คนก็ได้ อยากได้คนที่เคยทำงานร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะที่เคยเป็นเลขานุการร่างรัฐธรรมนูญของแต่ละปี ซึ่งได้ทาบทาม นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ.ยกร่างฯ ในฐานะเลขานุการ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาร่วมเป็นที่ปรึกษาด้วย แต่นายบวรศักดิ์ ชี้แจงว่าเคยประกาศไว้จะไม่ร่วมร่างรัฐธรรมนูญอีก ก็ต้องถามสื่อจะว่าหรือไม่หากนายบวรศักดิ์ มาเป็นที่ปรึกษากรธ. ขณะนี้ตนยังไม่ได้ทาบทามอย่างเป็นทางการ มีแต่หารือเท่านั้น

นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนแนวทางดำเนินการ ยังเป็นเพียงการหารือเรื่องหลักการ จากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา อย่างปี 2540 ปี 2550 และฉบับล่าสุด มาดูว่ามีข้อดี ข้อเสียอะไร อะไรดีก็ปักหลักปักโคนไว้ แล้วอาจตั้งคณะทำงานขึ้นมาร่างเนื้อหารัฐธรรมนูญชุดหนึ่ง ก่อนส่งให้กรธ.เกลา อีกที ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจเปิดให้สื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ยังไม่ได้คิด-คงคปป.ในรธน.

เมื่อถามว่าทำไมกรธ.ต้องนำรัฐธรรมนูญ ปี 2518 มาพิจารณาด้วย นายมีชัยกล่าวว่า เพราะนักวิชาการเห็นว่าเป็นฉบับที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ดีไม่ย้อนไปถึงรัฐธรรมนูญปี 2475

เมื่อถามถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้มาถามว่าจะมีองค์กรอย่างคปป. ในร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ไม่รู้ ยังคิดไม่ออก ยังไม่ถึงตรงนั้น แต่การร่างต้องยึดตามหลักการ 5 ข้อ ต้องร่างให้เป็นประชาธิปไตยที่สอดคล้องต่อสังคมไทย ซึ่งยอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ยากกว่าที่เคยร่างรัฐธรรมนูญมา อย่างเรื่องการปราบปรามการทุจริตที่ยังไม่หมดไปจากสังคม แสดงว่ากลไกที่มียังไม่เพียงพอ ทั้งนี้กรธ.พร้อมรับฟังทุกคนที่มีข้อคิดเห็น

ตั้งแล้วประเดิมคณะทำงาน 2 ชุด

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุม กรธ. โดยมีนายมีชัย เป็นประธาน จากนั้นเวลา 15.00 น. นายอมร วาณิชวิวัฒน์ และนายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. ร่วมกันแถลงผลการประชุมกรธ.

นายอมรกล่าวว่า ที่ประชุมกำหนดแนว ทางแก้ปัญหา แบ่งเป็น 2 เรื่อง 1.โครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ และ 2.ฝ่ายบริหาร ที่ประชุมจึงมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะคือ คณะทำงานศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ และคณะทำงานศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร โดยให้สมาชิกกรธ.อาสาว่าจะทำงานในคณะใด โดยกรรมการ 1 คน เป็นอนุกรรมการได้ 2 คณะ และคณะทำงานทั้ง 2 คณะจะศึกษาเรื่องทั้งหมดให้เสร็จภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ แล้วนำข้อศึกษาของทั้ง 2 คณะมาสรุปรวมเพื่อดำเนินการต่อไป

นายอมรกล่าวว่า ที่ประชุมยังมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการผลิตสื่อ เนื่องจากนายมีชัย มีความกังวลเรื่องการสื่อสารไปยังประชาชน ว่าอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ จึงให้อนุกรรม การชุดดังกล่าวเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลของการร่างรัฐธรรมนูญผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อดิจิตอลและโซเชี่ยลมีเดีย โดยอนุกรรมการชุดนี้ จะมีทั้งสมาชิกกรธ.และบุคคลภายนอกที่เชี่ยวชาญเรื่องสื่อโซเชี่ยลมีเดีย ส่วนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจะรวบรวมข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญทุกฉบับมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยเฉพาะบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ ซึ่งกรธ.จะไม่มีการตัดออก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะลอกทั้งหมด โดยจะนำมาเขียนใหม่

เชิญทุกองค์กรอิสระให้ข้อมูล

เวลา 17.30 น.นายอมร เปิดเผยว่า ที่ประชุมกรธ.มีความเห็นร่วมกันว่าจะเชิญคณะกรรมการขององค์กรอิสระทุกองค์กรมาให้ข้อมูลแก่กรธ. อาทิ คณะกรรมการป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กกต. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นต้น เนื่องจากกรธ.ต้องการให้องค์กรอิสระมาให้ข้อมูลปัญหาและอุปสรรคของแต่ละองค์กร เพื่อกรธ.จะนำข้อเสนอต่างๆ มาพิจารณาและเตรียมวางแนวทางและกลไกให้องค์กรเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เบื้องต้นให้สตง.มาให้ข้อมูลวันที่ 13 ต.ค. ส่วนป.ป.ช.ในวันที่ 14 ต.ค. และกกต.ใน วันที่ 15 ต.ค.

นายอมรกล่าวถึงการแต่งตั้งที่ปรึกษากรธ.ว่า อยู่ระหว่างการทาบทามบุคคลที่เหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่ เน้นที่ข้าราชการที่มีประสบ การณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าได้รายชื่อตัวบุคคลแล้วจะเสนอให้ที่ประชุมกรธ.พิจารณาต่อไป

กรธ.เล็งพูดคุยกลุ่มการเมือง

วันเดียวกัน นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการร่างรัฐธรรม นูญว่า การประชุม กรธ.นัดแรกเมื่อวันที่ 6 ต.ค.นั้นยังไม่ได้หารือลงลึกในรายละเอียดมาก แต่กรธ.ได้คุยกันเบื้องต้นว่า จะนำประเด็นร้อน หรือประเด็นที่ถูกสังคมพูดถึงกันมากจากร่างรัฐธรรมนูญชุดที่มีนายบวรศักดิ์ เป็นประธาน อาทิ ประเด็นที่มานายกฯ ที่มา ส.ว. และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ไปจับกลุ่มคุยกับผู้นำทางความคิด และแกนนำกลุ่มการเมืองว่าพวกเขาเหล่านั้นคิดเห็นอย่างไร แล้วนำความเห็นมากลั่นกรอง นอกจากนี้ยังคุยกันว่า อาจจะใช้สำนักโพลจากสถาบันการศึกษาต่างๆ อาทิ นิด้าโพล สวนดุสิตโพล มาช่วยสำรวจให้ครอบคลุมความเห็นประชาชนมากที่สุด ส่วนช่องในการรับฟังความเห็นอื่น จะมีเพิ่มเติมหรือไม่กำลังหารือ แต่กรธ.จะพยายามรับฟังความคิดเห็นให้ได้มากที่สุดก่อน เพื่อให้ได้แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญที่คนไทยรับได้ และไม่อายต่างชาติ

ด้านนายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายบวรศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็น คปป.นั้น ถ้ากรธ.ชุดนี้ต้องการคงไว้ ก็ควรจะเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนตั้งแต่วันนี้ ถึงความจำเป็นที่ต้อง มีคปป. เพื่อผลักดันการปฏิรูป เมื่อประชาชนเข้าใจการยอมรับก็จะมากขึ้น

เดินสายพูดคุยกับอดีตนายกฯ

แหล่งข่าวจากกรธ. เผยว่า ที่ประชุมกรธ. ได้ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด 1.คณะทำงานศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ 2.คณะทำงานศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร ทั้งนี้นายมีชัย แจ้งต่อ ที่ประชุมว่ากรรมการคนไหนสนใจเรื่องใด ให้ไปอยู่คณะทำงานชุดนั้น พร้อมให้ไปออกแบบรูปแบบการทำงานเพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด โดยในเรื่องฝ่ายบริหารอาจกำหนดแนวทางไปพบกับอดีตนายกฯ เพื่อสอบถามข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการบริหารว่า ต้องมีหลักการถ่วงดุลให้เกิดความเหมาะสมระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติอย่างไร และเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว จะนำมาเสนอในที่ประชุมเพื่อจัดทำเป็นรายมาตราต่อไป

แหล่งข่าวจากกรธ.กล่าวว่า ที่ประชุมกรธ. ยังเห็นตรงกันว่าควรมีมาตรการตามรัฐธรรม นูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 35 (4) ว่าด้วยการร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบ มิให้ผู้เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่ง ที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติ มิชอบ หรือเคยกระทําการอันทําให้การ เลือกตั้ง ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดํารง ตําแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้ ที่ประชุมกรธ.นำเอากรณีการเลือกตั้งท้องถิ่นมาเทียบเคียง คือถ้าผู้สมัครเลือกตั้งคนใดที่เคยต้องคำพิพากษา จะไม่สามารถลงสมัครเลือกตั้งได้ ที่ประชุมกรธ.จึงเห็นตรงว่าคุณสมบัติของผู้เข้าสู่อำนาจทางการเมืองระดับชาติควรมีมาตรฐานที่สูงกว่า แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าการตัดสิทธิดังกล่าวควรให้ มีผลย้อนหลังหรือไม่ ซึ่งกรธ.จะนำมาพิจารณาอีกครั้ง

บิ๊กป้อมไม่กังวลคนต่อต้านมีชัย

ที่อาคารรับรองเกษะโกมล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์ภายหลังมีกรธ.และสปท.ว่า ส่วนตัวไม่กังวล ต้องให้เวลากรธ.ร่างรัฐธรรมนูญและสปท.จะนำแนวคิดของสปช.เดิม ในเรื่อง การปฏิรูปทั้ง 11 ด้านว่าจะสานต่ออย่างไรบ้าง ส่วนที่มองว่าจำเป็นต้องแก้ไขมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เดินหน้าต่อไปนั้น กำลังดูอยู่ ตนคิดว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จริงก็มีเพียงเรื่องเดียว คือหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไรต่อไป คิดว่าฝ่ายกฎหมายจะต้องไปดำเนินการต่อ รวมถึงการแก้ไขเรื่องผู้มีสิทธิ์ลงประชามติและผู้มาใช้สิทธิ์ลงประชามติด้วยที่ต้องทำให้ชัดเจน

รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนที่มีบางกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านนายมีชัยนั้น ตนไม่กังวล เป็นเรื่องปกติที่มีคนชอบและไม่ชอบ จะให้หาคนที่ถูกใจทุกคนนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่เชื่อว่านายมีชัยทำเพื่อประเทศชาติ

เมื่อถามว่ายังจำเป็นต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและความปรองดองแห่งชาติ (คปป.) อยู่ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะไม่ใช่เป็นคนร่าง ต้องถามนายมีชัยและต้องดู ว่ากรธ.เห็นอย่างไร แต่เชื่อว่ากรธ.จะร่างรัฐธรรมนูญให้ดีที่สุดตามหลักสากล

แจงให้บิ๊กหมูควบผบ.กกล.รส.

ส่วนที่สมาชิกสปท.บางคนเสนอแนวคิดปรองดองผ่านการนิรโทษกรรมนั้น พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า เรื่องการนิรโทษกรรมเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่ต้องดำเนินการให้เสร็จก่อน ไม่ว่าจะนิรโทษกรรมหรืออภัยโทษก็ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมก่อน ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะให้นิรโทษกรรมเลย ทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอนและกฎหมาย

ส่วนที่พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. เป็นผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) ด้วยตนเองจะมีผลดีและผลเสียอย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เป็นเรื่องดี จะทำให้กระบวนการทำงานสั้นลง อีกทั้งพล.อ.ธีรชัย เป็นผู้อาวุโสในตำแหน่งมากที่สุดในกองทัพ สั่งการได้โดยตรง ขอให้เชื่อว่ามันต้องดี

พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกระแสข่าวจีนสนับสนุนให้ไทยขุดคอคอดกระว่า ไม่เอา ใครจะไปขุด มันไม่เกี่ยว ไม่มี ยังไม่ได้ทำ และไม่ใช่หน้าที่ตน เวลานี้ควรให้ความสำคัญเรื่องการปรองดองและการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยดีกว่า รวมถึงการร่างรัฐธรรม นูญ ส่วนคอคอดกระยังไม่มีแนวคิดนี้ ขอย้ำว่าช่วงที่ตนไปจีนก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ ไปเรื่องความมั่นคงเท่านั้น

สปท.คึกคัก-รายงานตัววันที่ 2

ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้ารายงานตัวเป็นวันที่ 2 บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเวลา 07.05 น. นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม มารายงานตัวเป็นคนแรก ตามด้วยนางถวิลวดี บุรีกุล อดีตกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตสปช. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯกทม. และนายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกา

เวลา 09.30 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตกมธ.ยกร่างฯ กล่าวภายหลังเข้ารายงานตัวว่า ยินดีที่ได้รับใช้บ้านเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งภารกิจเร่งด่วนของสปท. คือนำแผนแม่บทจากที่สปช.เสนอต่อรัฐบาลมาสกัด กลั่นกรองเฉพาะส่วนที่สำคัญ และมีความจำเป็นเร่งด่วนให้ออกมาเป็นรูปธรรม เรื่องไหนทำได้ก็ทำเลย ไม่ต้องรอให้มีรัฐบาลใหม่

"สุชน"แจงสาเหตุเข้าร่วมสปท.

นายสุชน ชาลีเครือ อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวพร้อมแสดงใบลาออกจากพรรคเพื่อไทยว่า ลาออกจากพรรคแล้ว สิ่งที่สปท.ต้องการเร่งปฏิรูปคือการสร้างปรองดองสมานฉันท์ และทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่อยากให้เดินหน้าเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นการขับเคลื่อนประเทศก็เดินหน้าไม่ได้ ส่วนการนิรโทษกรรมก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสานงานต่อจากคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ของสปช. เชื่อว่าจะ ช่วยร่นเวลาทำงานได้เร็วขึ้น แต่ยังต้องศึกษาใหม่ในบางเรื่องเช่นกัน ส่วนจะทำให้การปรองดองเป็นรูปธรรมได้อย่างไรนั้น ต้องรอหารือในสปท.ก่อน

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยปฏิเสธร่วมงาน กับคสช. จะมีผลต่อการปรองดองหรือไม่ นายสุชนกล่าวว่า ไม่ขอก้าวล่วง แต่ในฐานะสมาชิกสปท.พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกพรรค แม้จะมีความเห็นต่าง ยืนยันว่ายังไม่ได้หารือกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แต่เป็นที่เข้าใจว่าตนมาทำงานให้บ้านเมือง

เมื่อถามว่าถือว่าเป็นทูตปรองดองของนายทักษิณหรือไม่ นายสุชนกล่าวว่า คงพูดอย่างนั้นไม่ได้ แต่เชื่อว่านายทักษิณ ปรารถนาให้เกิดความปรองดองอยู่แล้ว เพราะพูดเรื่องนี้ มาตลอด ส่วนการปรองดองจะเดินหน้าได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายร่วมมือกันและให้มีโอกาสหันหน้าพูดคุยกัน ไม่ใช่ร่วมมือแค่ฝ่ายผู้ชนะ และฝ่ายผู้ถูกกระทำไม่ได้พูดคุยกัน สักที

"ปานเทพ"แบะพร้อมนั่งปธ.สปท.

เมื่อเวลา 15.10 น. นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้ารายงานตัวเป็นสมาชิก สปท. ถึงกรณีมีชื่อเป็นประธานสปท.ว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิก และมีความพร้อมเป็นประธานสปท. จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ขณะนี้ยังไม่มีการทาบทาม มีแต่สื่อที่มาทาบทามตน โดยตนกำลังจะหมดหน้าที่จากประธานคณะกรรมการป.ป.ช. ซึ่งอยู่ระหว่างการสรรหาใหม่ ทั้งนี้ ทราบว่าสปท.จะประชุมนัดแรกวันที่ 13 ต.ค.นี้ และจะคัดเลือกประธาน ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการ

นายปานเทพกล่าวว่า การทำงานของ สปท.คงเน้นเรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ รับช่วงต่อจากสปช. ที่มี 11 ด้าน แต่จะทำทุกเรื่องคงเป็นไปไม่ได้ เพราะสปท.มีเวลาไม่มาก ต้องทำเรื่องที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่สุด โดยเฉพาะการแก้ปัญหาทุจริต ซึ่งเป็นรากฐานของปัญหาทั้งหมด ทั้งนี้ การทำงานต้องประสานกับทุกฝ่าย รวมทั้งประสาน กับรัฐบาล เพราะรัฐบาลรับพิมพ์เขียวการปฏิรูปประเทศจากสปช.ไปแล้ว ส่วนเรื่องปรองดองอยู่ในการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านอยู่แล้ว รวมถึงการนิรโทษกรรม ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก

รายงานตัวแล้ว143คน-เหลืออีก57

เมื่อเวลา 16.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิก สปท.ทยอยมารายงานตัวตลอดทั้งวัน ตั้งแต่ช่วงเช้าจนปิดการรายงานตัว มีมารายงานตัวทั้งสิ้น 79 คน รวมยอด 2 วัน 143 คน โดยสมาชิกที่มารายงานตัว อาทิ พล.อ. จิระ โกมุทพงศ์ พล.อ.คณิต สุวรรณเนตร พล.อ.ปราการ ชลยุทธ พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ พ.ต.ท.ยงยุทธ สาระสมบัติ พล.อ.พอพล มณีรินทร์ นายดำรงค์ พิเดช นายสมชัย ฤชุพันธุ์ นายชูชัย ศุภวงศ์ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา และนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ทั้งนี้ จะเปิดรับรายงานตัวจนกว่าจะครบ 200 คน

บิ๊กตู่นั่งหัวโต๊ะ-ประชุมกพย.

เมื่อเวลา 15.35 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ หัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(กพย.)ว่า เพื่อเตรียมการพัฒนาประเทศในเวลา 20 ปีข้างหน้า ตามวิสัยทัศน์หรือแผนการปฏิบัติงานสหประชาชาติที่ไปประชุมมา จากเดิม 8 เป้าประสงค์ 167 ทาร์เกต ในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มเป็น 17 เป้าประสงค์ มีหลายสาขาต้องพัฒนาร่วมกันให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เป็นการพัฒนาสหัสวรรษ พัฒนาอย่างยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่ประชุมได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการ และจะต้องเดินยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ไทยใน 20 ปีข้างหน้าให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมี 6 ด้าน แต่จะเดินได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญที่จะเขียนออกมา และทำให้เกิดกลไกขับเคลื่อนต่อจากที่รัฐบาลทำอยู่ในขณะนี้ ซึ่งวันหน้าต้องทำทั้งเรื่อง การบริหาราชการแผ่นดินในแนวใหม่ มีการบูรณาการ พัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างความปรองดอง สร้างสามัคคีคนในชาติ สร้างอุดมการณ์ อันนี้คือปรองดองอันที่หนึ่ง ส่วนปรองดองที่สอง เป็นเรื่องคดีความทางการเมืองต่างๆ เป็นปรองดอง 2 อย่างที่ต้องทำต่อในวันหน้า

ลั่นไม่ปรองดองกับคนหลบหนีคดี

"การปรองดองของคดีที่ว่ากันในเรื่องนิรโทษกรรม ผมยังไม่รู้ว่าจะไปได้แค่ไหน แต่ผมวางเป้าหมายหลักๆ ไว้ ระยะที่หนึ่งคือคนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและมีการตัดสินแล้ว ต้องพิจารณาก่อน อันที่สอง ที่อยู่ในกระบวนการเมื่อได้ข้อยุติแล้วก็นำมาพิจารณาต่อ ส่วนที่สาม ใครที่ยังหลบหนีอยู่ ไม่เข้ากระบวนการยุติธรรมก็ปรองดองไม่ได้อยู่แล้ว มันต้องเอากฎหมายมาเป็นเกณฑ์ ไม่ใช่เอาตามความพอใจ ผมไม่ชอบให้ใครมาขู่ว่าถ้าไม่ปรองดองแล้วไม่สงบ ก็ลองดู กฎหมายเขามีไว้ทำอะไร มีไว้ให้ดูถูก มีไว้ให้เล่นเหรอ" นายกฯกล่าว พร้อมถามว่า อยากปรองดองไหม อยากให้บ้านเมืองสงบหรือไม่ อยากแล้วต้องทำอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัญหาอยู่ตรงที่คนไม่รับขบวนการตัดสินแล้วหนีไปอยู่ต่างประเทศ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อยู่ต่างประเทศแล้วในประเทศไม่มีเลยหรือที่ไม่ค่อยปฏิบัติตามกฎหมาย พอจะทำอะไรก็อ้างสิทธิมนุษยชน ซึ่งสิทธิมนุษยชนไม่ได้หมายความว่าให้คนทำผิดกฎหมายได้ แต่สิทธิมนุษยชนเขาทำให้ดูแลสิทธิของผู้บริสุทธิ์ ไม่มีความผิด ถูกรังแก และเป็นไปตามประชาคมโลก แต่บ้านเรามีกฎหมายอยู่ ถ้าทำผิดก็ถือว่าผิดกฎหมาย แต่พอทำไม่ได้เพราะไม่ชอบทำตามกฎหมาย

พ้อไม่นึกถึงชาติ-ทะเลาะอยู่ได้

นายกฯ กล่าวว่า ทุกคนต้องมีสิทธิ์เท่าเทียม ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ เสรีภาพทุกอย่างทุกเรื่อง พัฒนาอะไรก็ไม่ได้ เศรษฐกิจมันก็เป็นอยู่อย่างนี้ แก้ไม่ได้ วันข้างหน้าก็เป็นอยู่อย่างนี้ ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นอีก เพราะไม่ยุติกัน ทุกคนไม่นึกถึงประเทศชาติ มันก็จบแค่นี้ มันมีคนสองข้าง ทะเลาะกันอยู่แล้ว ข้างที่สามก็มาประชาธิปไตย สรุปก็เหมือนเดิม และจะเอายังไงกับตนก็ไม่รู้

"วันนี้ทำงานเยอะแล้ว เมื่อเช้าก็ประชุมเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอะไรมาเยอะแยะ การประชุมวันนี้ได้บอกไปว่าต้องอธิบายให้สังคมโลกเข้าใจเรื่องการขับเคลื่อนจี 77 ได้สั่งการกระทรวงการต่างประเทศให้เป็นหลักในการจัดทำแผน ทำโรดแม็ปว่าเราจะ ประชุมกับเขาอย่างไร ขับเคลื่อนด้วยวิธีไหน" นายกฯกล่าวพร้อมโค้งตัว และบอกว่า ขอบคุณครับ

ไก่อูชี้รำลึก 14 ตุลา-ต้องขอคสช.

ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการแถลงผลงานในรอบ 1 ปี ของรัฐบาล ว่า คาดว่ารัฐบาลจะแถลงช่วงปลายเดือนพ.ย.นี้ เพื่อให้ประชาชนรับทราบผลงานของรัฐบาลว่าได้ดำเนินงานอะไรไปบ้าง และนับตั้งแต่มี ครม.ใหม่เข้ามาทำงานได้สานต่อผลงานอะไรไปแล้วอย่างไร โดยรองนายกฯ และรัฐมนตรีคนใหม่จะต้องไปติดตามงานของครม.เดิมว่าได้ดำเนินการไปอย่างไรแล้วจะต้องสานต่องานอย่างไร และมีเรื่องใดที่มีผลงานปรากฏ รวมถึงการวางแผนว่าจะทำผลงานอะไรต่อในอนาคต ซึ่งขณะนี้รายละเอียดต่างๆ อยู่ในขั้นตอนที่แต่ละกระทรวงรวบรวมผลงานเพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์พิจารณาเห็นชอบก่อนจะระบุวันแถลงที่เหมาะสมอีกครั้ง

พล.ต.สรรเสริญกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มญาติวีรชน 14 ตุลา เตรียมจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา ครบ 42 ปี ว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวควรต้องขออนุญาตคสช. และเชื่อว่าคสช.ใจกว้างพอที่จะรับฟังเหตุผลและรูปแบบลักษณะของการจัดงานก่อน หากทุกอย่างเป็นการกระทำที่ส่งเสริมให้ประเทศสามารถเดินไปข้างหน้า ไม่สร้างความขัดแย้ง และไม่ทำให้ทุกฝ่ายเกิดความไม่สบายใจ ก็เป็นเหตุผลที่คสช.น่าจะรับฟังได้ ส่วนจะพิจารณาอย่างไรและจะมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปสังเกตการณ์ภายในงานหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ เพราะถือเป็นหน้าที่ของคสช.ที่จะพิจารณาถึงความเหมาะสมเอง

สมชัยแนะกรธ.ศึกษาบทเรียน

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่มีอดีตกกต. 2 คน เป็นกรธ. ว่าการที่ร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้วไม่ผ่าน น่าจะเป็นบทเรียนให้กับ กรธ.ชุดนี้เอาไปพิจารณาว่าการจะยกร่างรัฐธรรมนูญต้องมองรากฐานปัญหาของประเทศให้ออกว่าคืออะไร ไม่ใช่ไปเอารูปแบบจากต่างประเทศมาแล้วมาคิดว่าจะสามารถนำมาใช้กับประเทศไทยได้ เพราะถ้าลอกมาคงไม่เหมาะสม รวมทั้งต้องเข้าใจว่าปัญหาการเลือกตั้งคือนักการเมืองไม่ได้เพียงมุ่งใช้เงินซื้อเสียงเพื่อเข้าสู่การเมือง แต่จะทำทุกรูปแบบเพื่อให้ตนเองเข้าสู่การเมืองได้

นายสมชัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เรื่องการเปิดรับฟังความคิดเห็นในการยกร่างรัฐธรรม นูญครั้งที่แล้ว เป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำเหมือนให้เสร็จๆ ไป คือฟังแล้วแต่ไม่ได้นำไปพิจารณา กลับยกร่างตามความคิดเห็นตนเอง แต่ครั้งนี้คงไม่เกิดขึ้น น่าจะมีการนำความคิดเห็นที่มีไปสังเคราะห์ เพื่อให้เกิดแนวทางการแก้ปัญหาที่แท้จริงด้วย

"เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วต้องเป็นร่างที่ดี แม้จะไม่ดี 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ก็ดีมากแล้ว ส่วนการทำประชามตินั้น กกต.พร้อมดำเนินการหลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ โดยใช้เวลาในการทำประชามติ 45 วัน และการจัดพิมพ์เอกสารเพื่อเผยแพร่ประมาณ 2-3 เดือน รวมระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อออกเสียงประชามติคาดว่าจะไม่เกิน 3 เดือนครึ่งถึง 4 เดือน"นายสมชัย กล่าว

กกต.คาดประชามติมิ.ย.-ก.ค.

นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวถึงความพร้อมการทำประชามติว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ไม่มีการแก้ไข หลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็ต้องทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนตามกฎหมายหลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น กกต.ต้องจัดพิมพ์และส่งเนื้อหาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนภายใน 2-3 เดือน เมื่อจัดส่งให้กับประชาชนประมาณ 13 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 80 จาก 17 ล้านครัวเรือนแล้ว จึงจะกำหนดวันลงคะแนนประชามติได้ภายใน 45 วัน

"ถ้าประเมินคร่าวๆ หากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จในเดือน มี.ค.59 ก็จะทำประชามติได้ ในเดือน ก.ค.หรือมิ.ย. 59 ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ กกต.ได้เตรียมพร้อมหมดแล้วทั้งการหาโรงพิมพ์และการจัดส่งทางไปรษณีย์"

 

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!