WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

13เดอน

แห่หนุน'มีชัย'ปธ. เคาะวันนี้ โคทมชงสูตร 13 เดือน ลดเวลาโรดแม็ปเร่งจัดเลือกตั้ง พท.ฮึ่มพวกแหกกฎ-อนาคตวูบ ยางใต้ขู่ม็อบ-จี้แก้ราคาใน 14 วัน

      นายกฯเปิดบ้านเกษะโกมล ถกคสช.วันนี้ เคาะ 21 กรธ.-200 สปท. คาดคสช. มากันครบ 'อุดม รัฐอมฤต'รองอธิการ บดีมธ. ยอมรับถูกทาบเป็นกรธ. อดีตเลขาธิการกฤษฎีกาเชื่อ 'มีชัย"คิดหนัก หวั่นเป็นจุดอ่อนจากกลุ่ม เห็นต่าง ขณะที่คณิต-โคทมหนุน'มีชัย' นั่งประธานกรธ. เชื่อมีวิจารณญาณร่างรัฐธรรมนูญให้ดีที่สุด เสนอปรับสูตรโรดแม็ปให้สั้นลงเหลือ 6-2-3-2 เพื่อไทย ชี้คนสนใจเนื้อหาร่างรธน.มากกว่าคนร่าง ต้องเป็นประชาธิปไตย ไม่หมกเม็ดหรือสืบทอดอำนาจ ย้ำไม่ร่วมวงสปท. เตือนพวกแหกกฎ อนาคตการเมืองอาจวูบ ทหาร-ตร.คุมเข้มกลุ่มนักศึกษาจัดเสวนา 'รู้ทันเผด็จการ" จัดได้แต่ให้เปลี่ยนหัวข้อ คสช.เชิญการ์ตูนนิสต์ปรับทัศนคติก่อนปล่อยตัว เครือข่ายยางสงขลาขึ้นป้ายประกาศเขตภัยพิบัติราคายาง ขีดเส้น 14 วันจี้แก้ราคาตก ด้าน 16 จว.ใต้ขู่ชุมนุมที่ประจวบฯ

วันที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9077 ข่าวสดรายวัน

ยางใต้ฮึ่ม - เครือข่ายแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง จ.สงขลา นำป้ายผ้าประกาศเขตภัยพิบัติราคายางตกต่ำ ติดที่สะพานลอยถนนสายเอเชีย สี่แยกคูหา อ.รัตภูมิ พร้อมออกแถลงการณ์จี้รัฐบาลแก้ปัญหา โดยขีดเส้น 2 สัปดาห์นัดชุมนุมใหญ่

คสช.เปิดบ้านเกษะฯเฟ้นกรธ.-สปท.

      เมื่อวันที่ 4 ต.ค. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นัดประชุมคสช.ในวันที่ 5 ต.ค.นี้ว่า ทราบว่านัดประชุมในเวลา 09.00 น. ที่อาคารรับรองเกษะโกมล ส่วนรายละเอียดเนื้อหาการพูดคุยนั้น เบื้องต้นคาดว่าจะปรึกษาหารือถึงการพิจารณาคัดเลือกรายชื่อบุคคลที่จะมาเป็นประธานและสมาชิกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 21 คน รวมถึงสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 200 คน



พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า การประชุม ดังกล่าวเป็นการหารือในเรื่องสำคัญ เชื่อว่าหากไม่ติดธุระสำคัญ สมาชิกคสช.จะเข้าร่วมประชุมตามปกติ รวมถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเป็นสมาชิกคสช.ด้วย

รองอธิการบดีมธ.รับถูกทาบนั่งกรธ.
      นายอุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกระแสข่าวมีชื่อติดเป็น 1 ใน 21 คนของกรธ.ว่า ยอมรับว่าตอนที่ทีวีเปิดเผยว่าตนอยู่ในโผเป็นกรธ.รู้สึกประหลาดใจมาก อาจเป็นเพราะตนให้ข้อคิดเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ จึงทำให้มีชื่อติดเข้าไปด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา มีคนมาทาบทามให้เป็น กรธ.จริง แต่ตอนนี้ยังพูดอะไรมากไม่ได้ ต้องรอคำสั่งอย่างเป็นทางการก่อน ที่ผ่านมาตนก็มีบทบาทหน้าที่สอนหนังสือ และเคยเป็นลูกมือหรืออนุกรรมการช่วยงานในการร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น
      นายอุดม กล่าวว่า ส่วนที่คาดกันว่านายมีชัย จะเป็นประธาน กรธ.นั้น ตนก็ไม่ได้คุ้นเคยหรือร่วมงานกับนายมีชัยอย่างใกล้ชิดมาก่อน แต่ตนเคยเชิญนายมีชัย มาบรรยายพิเศษกับนักศึกษา เพราะนายมีชัย เป็นอาจารย์ที่มีความอาวุโสและเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ทั้งนี้ ตนไม่กังวลว่าใครจะมาเป็นกรธ. และตนในฐานะข้าราชการก็พร้อมทำงานเพื่อบ้านเมือง มีอะไรที่ช่วยได้ก็ช่วยเหลือเพื่อประโยชน์ต่อสังคม เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้

เชื่อ'มีชัย'คิดหนัก-หวั่นจุดอ่อน
      นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีมีเสียงสนับสนุนและท้วงติงนายมีชัย มาเป็นประธานกรธ.ว่า หากดูจากคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถประสบการณ์ ความมีลูกล่อลูกชนในการทำงานแล้ว ถือว่าเหมาะสม แต่เห็นว่าการที่นายมีชัย ยังไม่ตัดสินใจ คงกังวลว่าถ้าร่างมาแล้ว อาจถูกใจคนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ถูกใจคนอีกกลุ่ม อาจจะมีปัญหา และแทนที่จะเป็นจุดแข็ง กลับกลายเป็น จุดอ่อน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เห็นต่าง จึงต้องคิดอย่างรอบคอบ
      นายชูเกียรติกล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าคนที่จะมาร่วมเป็นกรธ. ต้องมาจากหลากหลาย มีประสบการณ์ด้านการเมืองการปกครอง สามารถบอกหลักการที่ควรจะเป็นในภาพรวมได้ เพราะปัญหาบ้านเมืองขณะนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายและปัญหาด้านการเมือง และในการร่างรัฐธรรมนูญ ควรวางเรื่องหลักๆ ไว้ให้ดี จะทำให้โครงสร้างด้านอื่นๆ ขับเคลื่อน ต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีสนช.ร่วมเป็นกรธ.
       ส่วนที่มีข่าวทาบทามอดีตเลขาธิการกฤษฎีกาเข้าร่วมกรธ.นั้น นายชูเกียรติกล่าวว่า ไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่ตนไม่ได้รับการทาบทาม เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องว่าสนใจหรือไม่สนใจเข้าไปทำงานเพราะตนเป็นข้าราชการมาก่อน หากจำเป็นต้องเข้าไปช่วยทำงานก็ต้องทำ แต่หากไม่ได้รับการทาบทามก็ไม่เป็นไร

คณิตไม่มีชื่อถูกทาบ-เชียร์'มีชัย'
      นายคณิต ณ นคร อดีตประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวว่า ตนไม่มีรายชื่อในกรธ. และไม่มีใครมาทาบทามด้วย หากจะมีใครให้ตนทำงาน ต้องมีเหตุฆ่ากันตายก่อนจึงมาถึงตน เวลาสบายๆ กันไม่มีใครนึกถึง ส่วนที่มีชื่อนายมีชัย ตอบรับเป็นประธานกรธ.นั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี ตนเห็นด้วย เพราะนายมีชัย ทำสิ่งมีประโยชน์ไว้กับบ้านเมืองมามาก และมีความรู้ช่วยบ้านเมืองได้เยอะ

แนะใช้ม.44 ปฏิรูปยุติธรรม
     นายคณิตกล่าวว่า ตนเห็นว่าการปฏิรูปประเทศนั้น หากคสช.ต้องการให้ได้ผลจริง ไม่จำเป็นต้องเสียเวลากับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต้องใช้เวลากว่าจะ มีผลใช้บังคับ แต่นายกฯควรใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งให้ชัดเจนว่าให้ปฏิรูปกระบวน การยุติธรรม ก็แก้ปัญหาการเมืองได้จบ แล้ว สิ่งสำคัญคือนำไปปฏิบัติได้ทันทีด้วย ไม่ต้องเสียเวลา สมัยที่ตนร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เน้นทำ 2 เรื่องคือการปฏิรูปการเมือง และกระบวนการยุติธรรม

      นายคณิต กล่าวว่า ตนได้มอบหนังสือชื่อ "อภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม" ให้กับพล.อ.ประยุทธ์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ซึ่งอยากให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมก่อนแล้วจะแก้ปัญหาอื่นได้หมด เพราะทุกวันนี้คนเสื่อมศรัทธาไปมากโดยเฉพาะในองค์กรที่ตนเองเคยทำงานอยู่ ความเชื่อถือกลายเป็นศูนย์ไปแล้ว เชื่อว่าหากปฏิรูปตำรวจ อัยการ ศาล ให้ดี มีประสิทธิภาพดีขึ้น ระบบอื่นจะพัฒนาไปได้ทั้งหมด เพราะองค์กรเหล่านี้เกี่ยวข้องกับชีวิตคน

โคทม ก็หนุน-เชื่อจะร่างรธน.ได้ดี
       นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีมีรายชื่อนายมีชัย เป็นประธานกรธ. ขณะที่มีญาติวีรชนกังวลจะเป็นการสืบทอดอำนาจว่า ญาติวีรชนคงจำได้ว่านายมีชัยเคยมีส่วนยกร่างพ.ร.ก.นิรโทษกรรมในเหตุการณ์พฤษภาปี"35 ซึ่งในแง่ผู้สูญเสียคงมีความรู้สึกอยู่บ้างเป็นธรรมดา แต่การจะยอมรับหรือไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญมีองค์ประกอบอื่นด้วย ทั้งผู้ที่จะมาเป็นกรธ. และต้องติดตามการทำงาน รวมทั้งดูเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่จะยกร่างมา หากแสดงออกว่ารับฟังข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ และรายงานต่อประชาชนเป็นระยะ โดยที่ไม่มีอำนาจอะไรมาอยู่เหนืออำนาจหลัก เชื่อว่าประชาชนน่าจะรับได้ และยังเชื่อว่าหากนายมีชัยเป็นประธานกรธ. ก็คงมีวิจารณญาณร่างรัฐธรรมนูญให้ดีที่สุด
      นายโคทม กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าสูตรตามโรดแม็ป 6-4-6-4 นั้นยาวเกินไป ควรปรับแก้ให้เหลือ 6-2 และ 3-2 คือ ร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน 2 เดือนทำประชาชนมติ ทำกฎหมายลูก 3 เดือน เฉพาะที่ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และใช้เวลา 2 เดือนจัดการเลือกตั้ง

แนะปรับโรดแม็ปเหลือ 6-2-3-2
       "เป็นการขยายเวลาเกินจำเป็น ซึ่งเวลา 6 เดือนร่างรัฐธรรมนูญ ต้องประณีต ซึ่งรับฟังได้ แต่ที่เหลือถ้าเทียบกับปี 2550 ใช้เวลาทำประชามติแค่เพียงเดือนเดียว ผมว่าควรปรับเหลือ 2-3 เดือน และ 6 เดือนที่ต้อง ทำกฎหมายลูกก็ไม่จำเป็น ต้องทำทั้งหมด เอาเฉพาะที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง และเรื่องการเลือกตั้ง หากมีเหตุการณ์ไม่ปกติใช้เวลา 60 วัน ถ้าปกติใช้แค่ 45 วัน ดังนั้น ผมจึงเสนอว่าควรหารสอง เหลือ 6-2 และ 3-2 เพราะกกต.ก็พร้อมอยู่แล้ว" นายโคทมกล่าว
      นายโคทม กล่าวว่า การเลือกตั้งเร็วหรือช้าไม่ได้บ่งบอกว่าจะไม่เกิดความขัดแย้ง ดังนั้น หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นก็ต้องแก้ไขกันไป ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ ที่ร่าง และการทำงานของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดกระบวนการพูดคุยและทำความเข้าใจกัน โดยใช้เวลานี้ส่งเสริม สร้างความเข้าใจ รวมถึงเคลียร์ใจ เยียวยาทางสังคมให้ กับเหยื่อความรุนแรง และหามาตรการป้องกันไม่ให้มีเหตุรุนแรงหรือสูญเสีย ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเขียนไว้เพื่อเป็นบทบัญญัติชั่วคราว เพื่อให้เกิดความปรองดองในระยะหนึ่งและค่อยกลับเข้าสู่กลไกปกติ แต่ไม่ควรกำหนดไว้ในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญหลัก

พท.สนเนื้อหารธน.มากกว่าคนร่าง
     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ไม่สบายใจการนำเสนอข่าวนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ตอบรับเป็นประธานกรธ.ว่า วันนี้ประชาชนติดตามและสนใจเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ มากกว่าใส่ใจตัวบุคคลที่จะมาเป็นประธานกรธ. เพราะไม่ว่าใครก็ต้องร่างตามแนวทางที่วางหมากกันไว้ ดังนั้น นายมีชัยจะเป็นประธานหรือไม่ จึงไม่ใช่ประเด็นหลัก และหน้าตาของร่างรัฐธรรมนูญคงไม่ต่างจากพิมพ์เขียวที่อยู่ในความคิดหลักของผู้มีอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เหมือนเส้นทางของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณอดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เดินออก มาก่อน
      นายอนุสรณ์กล่าวว่า สิ่งที่ยากของคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่คือต้องพร้อมสละชื่อเสียงต้นทุนของตัวเอง เพราะชะตากรรมของนายบวรศักดิ์ ก็มีให้เห็นอยู่แล้วว่าอยู่ในสภาพเช่นไร คิดว่าสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนอยากเห็นคือ เนื้อหาของที่เป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากล และเป็นที่ยอมรับของประชาชน ไม่มีวาระซ่อนเร้น หมกเม็ด หรือวางกับดักสืบทอดอำนาจ

ย้ำไม่ร่วมสปท.-เตือนอย่าแอบอ้าง
       นายอนุสรณ์ กล่าวว่า กรณีมีข่าวว่าคสช.ทาบทามสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางส่วนให้ไปร่วมเป็นสมาชิกสปท.นั้น เชื่อว่าประชาชนรับรู้ถึงจุดยืนของพรรค ที่ประกาศชัดเจนว่าจะไม่ส่งสมาชิกพรรคเป็น สปท. แต่หากจะมีสมาชิกคนใดจะไปเป็นสปท. นอกจากลาออกจากสมาชิกพรรคแล้ว ต้องพร้อมรับผิดชอบต่ออนาคตทางการเมืองของตนเอง ประชาชนทั้งประเทศมองดูอยู่ อย่าใจเร็วด่วนได้ เดินออกจากพรรคในวันนี้ไปเป็นสปท. อนาคตจะกลับเข้ามาลำบาก รวมถึงหากประกาศรายชื่อออกมาแล้วมีการอ้างว่ามาจากพรรคเพื่อไทย ขอให้สังคมช่วยให้ความเป็นธรรมกับพรรคด้วย เพราะหลายคนที่มีชื่อในข่าวและอ้างว่าเป็นสมาชิกพรรคนั้น บางคนไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค และไม่เคยเป็นส.ส.ของพรรค จึงไม่ควรมาฉวยโอกาสแอบอ้าง

นพดลชงจัด"ปรองดองซัมมิท"
       นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยกรธ.ว่า ทุกฝ่ายอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ดี มีมาตรฐาน และติดตามเนื้อหา ซึ่งกรธ.ควรรับฟังเสียงทุกกลุ่ม การร่างรัฐธรรมนูญให้ดี เป็นประชาธิปไตย และคนไทยส่วนใหญ่ยอมรับได้นั้นทำไม่ยาก ขึ้นอยู่กับผู้รับผิดชอบจะทำหรือไม่ แต่เมื่อเราได้รัฐธรรมนูญที่ดี ก็ยังไม่ใช่ยาขนานวิเศษที่จะแก้ทุกโรคของการเมืองไทย อยู่ที่ตัวคนทั้งผู้ใช้ ผู้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญว่าจะตีความอย่างถูกต้องตามตัวอักษรหรือเจตนารมณ์หรือไม่ ปัญหาของประเทศมีมากกว่าที่รัฐธรรมนูญใหม่จะช่วยได้ ไม่ว่าจะร่างดีเพียงใดก็ตาม
      นายนพดล กล่าวถึงการปรองดองว่า การที่นายกฯเสนอให้คนไทยคุยกัน ควรทำให้เกิดขึ้นจริง ตนเคยเสนอให้มีเวทีระดับชาติเพื่อให้ทุกฝ่ายหาทางออกให้กับประเทศ เอาปัญหาใหญ่ในเชิงโครงสร้างของประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้งมาพูดคุยกันเพื่อหาทางออก อาจเรียกว่าการประชุมสุดยอดเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือปรองดองซัมมิท ให้ทุกฝ่ายเปิดอกพูดเพื่อบ่งหนองแห่งความ ขัดแย้งออกและหาทางออกให้กับประเทศ เมื่อได้ข้อสรุปที่พอยอมรับกันได้ ให้ทุกฝ่ายให้สัตยาบันและปฏิบัติตาม ประเทศก็จะ เดินหน้าไปได้ เราต้องสร้างความไว้วางใจระหว่างคนไทยฝ่ายต่างๆ และหาทางออกที่เป็นรูปธรรม การปรองดองต้องเริ่มจากความไว้ใจ ความเข้าใจ ซึ่งจะเกิดได้ต่อเมื่อเริ่มคุยกันอย่างเป็นระบบและลึกซึ้ง จึงต้องรอดูว่าผู้มีอำนาจจะคิดอย่างไรกับแนวความคิดปรองดองซัมมิท

คสช.เชิญ"เซีย"การ์ตูนนิสต์
      เมื่อเวลา 09.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) นายศักดา เอียว หรือเซีย การ์ตูนนิสต์ ประจำหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดินทางมาพร้อมกับพ.ต.ท.อำนาจ หาญชนะ รองผกก.ป.สน.บางซื่อ เข้าพบพล.อ. อัศวิน แจ่มสุวรรณ หัวหน้าสำนักงานผู้ช่วย ผบ.ทบ. (พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์) ตามคำเชิญของคสช. โดยนายศักดากล่าวก่อนเข้าพบว่า ตามที่ คสช.เชิญมาไม่รู้จะพูดเรื่องอะไร แต่พร้อมรับฟังเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้ตามที่ผู้นำต้องการ การทำงานอาจเกินเลยไปบ้างต้องขออภัย ทำให้เดือดร้อนกันหมดทั้งเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน บ.ก. จริงๆ เราก็นำเสนอตามข้อเท็จจริง ซึ่งประเด็นเขียนการ์ตูนก็นำมาจากข่าวสารประจำวัน ไม่ได้มโนขึ้นมาเอง แต่อาจใส่ความคิดเห็นลงไปบ้าง ยอมรับว่ากังวลแต่อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เราไม่มีเจตนาทำลายกัน เป็นเรื่องการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ก่อนหน้านี้มีการโทร.มาเตือนที่กองบ.ก. ซึ่งตนก็ปฏิบัติตามตลอด แต่พอสักพักเมื่อถึงจุดไคลแม็กซ์เราก็สนุกสนาน ซึ่งบางครั้งถ้าเราไม่ทันสถานการณ์ไม่ทันข่าว ก็จะถูกมองว่าล้าหลัง

ปรับท่าทีทำงาน-ยันไม่ได้ข่มขู่
      ต่อมาเวลา 11.30 น. นายศักดาเปิดเผยภายหลังพูดคุยว่า บรรยากาศการพูดคุยราบรื่น ไม่มีการข่มขู่หรือคุกคาม คสช.เรียกตัวมาพูดคุยเพื่อชี้แจงการเสนอหรือวาดการ์ตูน เนื่องจากคณะกรรมการที่ดูแลงานด้านสื่อมวลชนของ คสช. เห็นว่ามีเนื้อหาบางภาพที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ห้ามไม่ให้แสดงความ คิดเห็น แต่หลังจากนี้หากพบว่าการวาดการ์ตูนที่ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง จะมีการฟ้องร้องโดยต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่นำเสนอไป ซึ่งตนต้องปรับเปลี่ยนท่าทีการทำงานเพื่อให้รัดกุม รอบคอบมากยิ่งขึ้น ไม่ได้อึดอัดเพราะสื่อนำเสนอข้อมูลตามข้อเท็จจริงอยู่แล้ว และตนอาจจะลดบทบาทลงบ้างเพราะอาจส่งผลกระทบต่อองค์กร
     นายศักดากล่าวว่า วันนี้ไม่มีการเซ็นชื่อเพื่อรับทราบหรือคาดโทษ มีแต่พูดคุยและชี้แจงถึงประเด็นที่ผ่านมา และคสช. ไม่ได้สั่งกำชับเป็นเป็นกรณีพิเศษ แต่ถ้าทำผิดซ้ำก็จะดำเนินการตามลำดับ

นักวิชาการจี้รัฐทบทวน
       นางนันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ให้สัมภาษณ์ถึงการควบคุมตัวนายศักดา ไปปรับทัศนคติว่า นอกจากการผลักดันซิงเกิล เกตเวย์ เพื่อควบคุมช่องทางการสื่อสารแล้ว การควบคุมตัวสื่อมวลชนโดยตรงอีกครั้ง สะท้อนชัดว่าเกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรง เพราะการนำเสนอข้อมูลวิจารณ์รัฐบาล ถือเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน สามารถทำได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบ
      "ทั้ง 2 กรณีล่าสุด สะท้อนว่าสิ่งที่รัฐบาลไปพูดที่เวทีสมัชชาสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งประชาคมโลกที่รับฟังเรา เขากำลังจับตาดูอยู่ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องทบทวนการดำเนินการ ปล่อยให้สื่อได้ทำหน้าที่ เพราะเสรีภาพของสื่อคือภาพสะท้อนเสรีภาพของประชาชน และเสรีภาพของประชาชนคือภาพสะท้อนความเป็นประชาธิปไตย" นางนันทนากล่าว

ตร.จี้นศ.เปลี่ยนหัวข้อเสวนา
       เวลา 10.45 น. ที่อาคารกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา และขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จัดเสวนาในหัวข้อ "รู้ทันเผด็จการ The Series EP.1 : วิธีคิดและยุทธวิธีรัฐบาลทหารในการจัดการ ผู้ต่อต้าน" มีผู้เสวนา ได้แก่ นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต และมีนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มประชาธิปไตยศึกษา เป็น ผู้ดำเนินรายการ
      ก่อนเริ่มเสวนา มีเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจสน.ชนะสงครามทั้งในและนอกเครื่องแบบ มาสังเกตการณ์พร้อมขอดูเอกสารการขออนุญาตใช้สถานที่จัดงาน ซึ่งทางผู้จัดได้โชว์เอกสารที่มีลายเซ็นของนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ให้กับเจ้าหน้าที่ จึงอนุญาตให้จัดงานได้ตามปกติในเวลา 11.30 น. แต่ขอให้กลุ่มนักศึกษาเปลี่ยนหัวข้อจัดเสวนาเนื่องจากมีความล่อแหลม และอาจส่งผลกระทบเชิงลบ เปลี่ยนหัวข้อเป็น "การสื่อสารในโลกโซเชี่ยลมีเดีย ไอที" และกำกับดูแลให้อยู่ในพื้นที่จำกัด และควบคุมไม่ให้มีเนื้อหาต่อต้านรัฐบาล เพื่อไม่ให้กระทบกับการทำงานของรัฐบาลและความมั่นคง พร้อมเปลี่ยนสถานที่จัดกิจกรรม เป็นห้องประชุมชั้น 2 อาคารกิจกรรมนักศึกษา โดยมีพ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจ นครบาล 1 เป็นผู้ลงนามรับทราบการ จัดกิจกรรมดังกล่าว

มธ.จัดงานรำลึก 6 ตุลาฯ 19
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 6 ต.ค. มีการจัดงานรำลึก 39 ปี วีรชน 6 ตุลาฯ 19 ที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลา 07.00-09.30 น. โดยมีพิธีตักบาตร ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ฯ พิธีวางพวงมาลา ณ ประติ มานุสรณ์ 6 ต.ค.19 และการกล่าวสดุดี โดยตัวแทนฝ่ายต่างๆ อาทิ ญาติวีรชนเดือนตุลา, อดีต 18 ผู้ต้องหา 6 ตุลา, เครือข่ายเดือนตุลา, ชมรมโดมรวมใจ, มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย, นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ประธานสภานักศึกษาธรรมศาสตร์, ตัวแทนองค์กรนิสิตนักศึกษาสถาบันต่างๆ และตัวแทนองค์กรต่างๆ จะปิดท้ายด้วยการอ่านบทกวีแด่วีรชนเดือนตุลา
       จากนั้นเวลา 18.00 น. องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์, สภาหน้าโดม และกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย(LLTD) จัดกิจกรรม "6 ตุลา พิราบคืนรัง" ที่ลานหน้าอาคารกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ภายในงานมีการเสวนา "6 ตุลาคม ชาตินิยม อุดมการณ์" โดยนายอธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์เจ้าของนามปากกา "ใบตองแห้ง" นายพิชิต ลิขิจกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ บ.ก.ลายจุด การแสดงละครสั้นเล่าประวัติศาสตร์ 6 ต.ค.19 ผ่านบทกลอน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ การร่วมจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์ 6 ต.ค.19

สงขลาขึ้นป้ายภัยพิบัติยาง-ขู่ชุมนุม
      วันที่ 4 ต.ค. เครือข่ายแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง จ.สงขลา นำป้ายผ้าเขียนข้อความประกาศเขตภัยพิบัติราคายางพาราตกต่ำ แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง จ.สงขลา ไปติดบนสะพานลอยถนนสายเอเชีย บริเวณสี่แยกคูหา อ.รัตภูมิ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า ชาวสวนยางกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ มีตัวแทนเครือข่ายแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางทั้งในจ.พัทลุง ตรัง และชุมพร มาร่วมให้กำลังใจ
      นายพิพัฒน์ เจือละออง แกนนำแนวร่วมกู้ชีพฯ อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหามาตรการเยียวยาช่วยเหลือ 6 ข้อ 1.ขอให้แก้ปัญหาราคายางตกต่ำโดยด่วน 2.ชดเชยราคายางที่หายไปจากราคา 60 บาท 3.รัฐบาลมอบกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าดูแลคุณภาพชีวิตชาวสวนยางจากผลพวงของราคายางที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง 4.รัฐบาลหามาตรการลดต้นทุนกระบวนการผลิตให้แก่ชาวสวนยาง 5.หามาตรการลดค่าครองชีพของชาวสวนยางเพื่อให้มีค่าใช้จ่ายต่ำลง โดยนำโครงการกองทุนข้าวสารมาช่วย 6.ให้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ เพื่อให้เกษตรกรที่เป็นคนไทยได้รับสิทธิ์จากการทำอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางตามพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ แนวร่วมกู้ชีพฯจะเข้ายื่นหนังสือให้กับผวจ.สงขลา ผ่านไปยังนายกฯ โดยให้เวลาแก้ปัญหา 2 สัปดาห์แต่หากยังไม่มีผลจะยกระดับการเคลื่อนไหวอีกครั้ง

ยางใต้ 16 จว.นัดรวมพลที่ประจวบฯ
      นายสุนทร รักรงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพฯ เปิดเผยว่า เครือข่ายแนวร่วม กู้ชีพชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ จะส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.เร็วๆ นี้ มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ 1.ให้รัฐบาลอนุมัติโครงการชดเชยส่วนต่างของราคายางที่กิโลกรัมละ 60 บาท 2.เอายางแลกข้าวในโครงการกองทุนข้าวสาร โดยให้รัฐบาลขายข้าวสารราคาถูกให้ชาวสวนยาง 3.นโยบายทวงคืนพื้นที่ป่าของรัฐบาลโดยการโค่นยางพารา ให้นายกฯตั้งกรรมการกลั่นกรองระดับชาติ เพื่อแยกระหว่างคนจนกับคนรวย และให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองระดับจังหวัด
      "หากข้อเรียกร้องทั้งหมดยังไม่ได้รับการตอบสนอง ทางเครือข่ายฯและชาวสวนยางจะรวมตัวเคลื่อนไหวที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรและนัดรวมตัววันไหน ต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลก่อน" นายสุนทรกล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!