- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 03 October 2015 17:16
- Hits: 4812
รุดทำเนียบถกบิ๊กตู่ 'มีชัย'อุบ ให้คสช.ชี้ปธ.กรธ. 'ประยุทธ์'ปลื้มยูเอ็นยอมรับ ปธน.โอบามาทัก-ดีใจที่ได้พบ 59 คนแห่สมัครชิงเก้าอี้ปปช.
ประธานกรธ.-กรธ.ลงตัว รอฉลุยคสช.ประชุม เคาะชื่อวันจันทร์นี้ ด้าน'มีชัย ฤชุพันธุ์'ตัวเก็งรุดทำเนียบรัฐบาลหารือสองต่อสองกับ'บิ๊กตู่'เกือบครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นหัวหน้าคสช.ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่าจะมีคำตอบวันจันทร์ ด้าน'วิษณุ'ชี้สเป๊กกรธ.ต้องรอบรู้หลายมิติ 'พล.อ.ประยุทธ์'ปลื้มไปประชุมยูเอ็นประสบผลสำเร็จอย่างดี นานาชาติให้การยอมรับประเทศไทย เผยนาทีจับมือ บารัก โอบามา ระบุประธานาธิบดีสหรัฐพูดว่ายินดีที่ได้พบกัน ปีหน้ามีคิวไปสหรัฐอีก 'อ๋อย'จี้กระทรวงบัวแก้วยกเลิกถอนพาสปอร์ตทันที
วันที่ 03 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9075 ข่าวสดรายวัน
พบบิ๊กตู่- โนวัก ยอโควิช กับ ราฟาเอล นาดาล ยอดนักเทนนิสมือ 1 และ 8 ของโลก เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในโอกาสเยือนไทยเพื่อแข่งขันเทนนิสนัดพิเศษ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ วันที่ 2 ต.ค.
บิ๊กตู่เชิญมีชัยพบ-ทาบนั่งปธ.กรธ.
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 2 ต.ค. ที่ตลาดเลียบคลองผดุงกรุงเกษม ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.กล่าวถึงรายชื่อประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า กำลังทำอยู่และบ่ายวันเดียวกันนี้ ได้เชิญนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกคสช. เข้าพบ ถือเป็นขั้นต้นที่จะพูดคุยกัน ยังไม่ถือเป็นการตกลง ในส่วนของคนอื่นก็มีรายชื่อมาหมดแล้ว ที่เชิญนายมีชัยมาหารือ เพื่อสอบถามว่าพร้อมรับตำแหน่งหรือไม่ นายมีชัยเองก็ต้องดูด้วยว่ารายชื่ออื่นๆ ที่จะเข้ามาร่วมเป็นกรธ.เหมาะสมหรือไม่ เพราะเป็นคนที่ต้องทำงานร่วมกันกับนายมีชัย
นายกฯ กล่าวว่ารายชื่อของ กรธ. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะได้ก่อนวันที่ 5 ต.ค. อย่าไปสนใจว่าใคร ต้องสนใจว่าจะได้อะไรกลับมาจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การร่างจะบอกว่าต้องมาจากคนทั้งประเทศมันก็ใช่ วันนี้ก็มีส่วนร่วมกันอยู่แล้วในแต่ละขั้นตอน ในการรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดต่างๆ ไม่มีใครเอาคน 70 ล้านคนมาร่างรัฐธรรมนูญ อย่าไปฟังคนที่พูดบิดเบือนว่าทุกคนต้องร่วมมือกัน มันไม่จำเป็น กรธ.เองก็มีผลตามกฎหมายอยู่แล้ว ก็จะนำแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญของทุกประเทศมาดู รวมถึงเอาของประเทศไทยมาดูด้วยและเปรียบเทียบ และดูว่าประเทศไทยในวันข้างหน้าระยะเวลาหนึ่งต้องทำอย่างไรให้ปลอดภัย
เมื่อถามย้ำว่า บ่ายวันนี้จะรู้ว่านายมีชัย จะรับหรือไม่รับตำแหน่งใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ก็ต้องรอฟังว่านายมีชัยจะรับหรือเปล่า ถ้าไม่รับก็ต้องหาคนใหม่ ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายและรัฐธรรมนูญและคณะทำงานก็ต้องมาจากหลายภาคส่วน ทั้งจากฝ่ายกฎหมาย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และที่ปรึกษาต่างๆ เมื่อเสนอชื่อขึ้นมาตนก็จะพิจารณาดู ทั้งหมดก็คือ 20 บวก 1 ประธาน
เผยโอบามาพูดว่ายินดีที่ได้พบกัน
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่สหรัฐอเมริกาว่าในเวทีโลกประเทศไทยยังคงได้รับการยอมรับ ในส่วนของตนเขามีมารยาทพอที่ไม่มาบอกว่ารังเกียจหรืออะไรกับตน ซึ่งตนก็ดีกับทุกคน พบปะทักทายจับไม้จับมือ งานเลี้ยงเขาก็เชิญไปร่วม มีการจัดรปภ.ให้ตามปกติ
เมื่อถามว่า นาทีที่จับมือกับนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ รู้สึกอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่รู้สึกอย่างไร รู้สึกว่าเป็นเพื่อนกัน มิตรประเทศด้วยกันมายาวนานเกือบ 200 ปี ตนไม่มีอะไรกับเขา
เมื่อถามว่า นายโอบามาได้พูดอะไรหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็โอเค ยินดีที่ได้พบกัน เหมือนทุกครั้งที่จับไม้จับมือและแสดงความยินดีที่ได้เจอกัน ถามว่าเป็นอย่างไรสบายดีหรือ ที่เจอกันครั้งก่อนพูดว่าทราบว่าประเทศ ไทยสงบสุขดีขึ้น ก็ขอให้เดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยให้ได้โดยเร็วก็แค่นั้น ก็เป็นมารยาทการพูดอย่างนี้อยู่แล้ว
ชี้รธน.ไม่ผ่าน-จึงต้องเลื่อนเลือกตั้ง
เมื่อถามว่า แสดงว่าข้อกังวลถึงคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ประชาธิปไตยของไทย ก่อนนายกฯเดินทางไปยูเอ็นไม่มีเลย นายกฯ กล่าวว่า ตนไม่กังวลอะไรเลย เพราะเป็นเวทีระดับโลก มีหลายประเทศในโลกมาร่วมประชุมกัน มา 130 กว่าประเทศ แต่ละประเทศปัญหาหนักกว่าเรามากและจึงเป็นปัญหาภายในของเราเอง มีอยู่อย่างเดียวคือเรื่องระบอบประชาธิปไตย ซึ่งตนอธิบายไปว่าเรากำลังเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยมีฝ่ายต่างประเทศของเขา 2-3 คนที่มีโอกาสได้คุยกัน เดี๋ยวรัฐมนตรีต่างประเทศก็คุยกัน ก็บอกว่าเรากำลังเดินหน้าตามโรดแม็ป ซึ่งยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.พ.ศ. 2557 มา มีอย่างเดียวคือรัฐธรรมนูญไม่เสร็จ การเดินหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยสู่การเลือกตั้งมันต้องมีรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญไม่เสร็จจะไปต่อได้อย่างไร ก็บอกไปแบบนี้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ที่จำเป็นต้องเลื่อนจากปี 2559 ไปปี 2560 เพราะรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน สปช. เมื่อไม่ผ่านก็ต้องร่างใหม่เวลาก็ต้องเพิ่มมาอีก 6 เดือน ถ้ารัฐธรรมนูญเสร็จครั้งหน้าก็เลือกตั้งได้ ฉะนั้นการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญจะเสร็จหรือไม่เสร็จไม่ได้อยู่ที่ตน เมื่อถามว่าจะเป็นการผูกมัดหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า อย่าไปคิดว่าผูกมัด มันเป็นเรื่องของแผนงาน ตนทำตามที่พูดไว้ คนเราต้องรักษาคำพูด และคำพูดของตนคือรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็เดินไปสู่การเลือกตั้งจำไว้แล้วอย่าถามอีก
เหน็บไม่ได้เอาเรื่องเสียหายไปพูด
เมื่อถามว่า การผ่านเวทียูเอ็นครั้งนี้ ทำให้หัวใจพองโตและมั่นใจในการทำหน้าที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่โต หัวใจตนก็เท่าเดิม หัวใจตนยิ่งใหญ่อยู่แล้ว หัวใจตนใหญ่สำหรับประเทศไทยอยู่แล้ว ไม่ต้องสนใจใคร และการทำงานของตนก็มั่นใจมาตลอด ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. พ.ศ.2557 ไม่มั่นใจไม่เข้ามา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าการไปประชุมยูเอ็นครั้งนี้ คิดว่าไปทำหน้าที่เพื่อประเทศไทยและตนก็ทำในสิ่งที่พูด ไม่ได้พูดในสิ่งที่ไม่ทำ ที่ผ่านมาทำอะไรไปบ้าง ไม่ได้เอาเรื่องเสียหายของประเทศไทยไปพูดให้คนอื่นฟัง นี่เป็นความแตกต่าง ฉะนั้นเวลาฟังใครเขาพูดเรื่องเสียหายกับประเทศไทย ทนได้ก็แล้วแต่ ตนไม่เคยพูดให้ประเทศเสียหายบนเวทีโลกเพราะวันนี้ประเทศต้องเดินหน้า ต้องลงทุนสร้างความเข้าใจ สร้างความเชื่อมั่น ได้พบกับนักธุรกิจไทย-สหรัฐ เขาก็ดีกับตน ซึ่งพบมา 3 ครั้งแล้ว เขาก็ยินดีเดินหน้าประเทศไทย และบอกจะไปพูดกับฝ่ายการเมืองของเขาด้วยว่าโอเคด้านเขาไม่มีปัญหาอะไร
เมื่อถามว่าสหรัฐได้เชิญนายกฯไปเยือนประเทศด้วยใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนต้องไปอีกประมาณ ก.พ.-มี.ค.ปี 2559 ส่วนการเดินสายหาเสียงเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแบบไม่ถาวร ต้องพบปะแต่ละประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรืออาจต่างคนต่างสนับสนุนกัน เป็นความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันออกไป นี่เขาเรียกหาเสียง ต้องแบบนี้ เรามีประเทศคาซัคสถานเป็นคู่แข่งแต่ก็มั่นใจว่าเราจะได้รับเลือก
ย้ำอีก-ไม่ประจานประเทศตัวเอง
เมื่อถามว่าแสดงว่าที่นายกฯแบกประเทศไทยไปประชุมยูเอ็นครั้งนี้ ทำให้นานาประเทศเข้าใจบรรยากาศในประเทศมากขึ้น นายกฯ กล่าวว่า ก็ขึ้นอยู่กับเขาที่จะเชื่อมั่นเราแค่ไหน แต่ตนใช้ความจริงใจเหมือนที่มีกับพี่น้องคนไทย และพูดในสิ่งที่พูดได้ อะไรที่เสียหายกับประเทศก็ไม่อยากพูด เพราะเรื่องเหล่านี้ควรเป็นเรื่องภายในของเราเอง การไปประจานประเทศตัวเองไม่ค่อยเหมาะ ถึงบอกแล้วว่าจะพูดให้น้อยลงเกี่ยวกับความเสียหายที่ผ่านมา ก็ปล่อยให้เขาพูดไปตนก็จะอธิบายตาม ถ้าเขาพูดอะไรที่เสียหายตนจะแก้ไข เพื่อให้เขาเข้าใจว่ามันไม่ใช่แบบนั้น ทุกอย่างมันเป็นกระบวนการยุติธรรมทั้งสิ้น ที่มีข่าวฟ้องอัยการก็เป็นขั้นตอนตามกฎหมาย ดีใจที่มาต่อสู้ด้วยวิธีการยุติธรรม ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยเข้ามาและชอบไปพูดข้างนอก
เมื่อถามว่าเป็นการยื้อเวลาคดีหรือเปล่า นายกฯ กล่าวว่า จะยื้อก็เรื่องของเขา แต่ถือว่าเป็นกระบวนการที่ถูกต้อง ถ้าเห็นว่าไม่เป็นธรรมก็มาฟ้องร้องมาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม นั่นคือวิธีการที่ถูกต้องดีกว่าไปประจานประเทศตัวเองข้างนอก หวังให้คนอื่นมาแก้ปัญหาในบ้านของเราเอง ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่พวกท่านทำไว้ทั้งสิ้น
แจงเลขาฯยูเอ็น-เรียกปรับทัศนคติ
เมื่อถามว่าวันนี้คนไทยเริ่มอยากออกมาให้กำลังใจทำได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า กำลังดูอยู่ และการพบกับเลขาฯยูเอ็นเขาก็อยากให้มีการแสดงความคิดเห็น ตนก็บอกว่าให้มาโดยตลอด เพียงแต่การแสดงความคิดเห็นมี 2 อย่าง อย่างแรก เป็นความคิดเห็นบริสุทธิ์ใจอยากให้ข้อเสนอแนะ วิพากษ์วิจารณ์ในทางที่สร้างสรรค์ ตนก็ให้พูดหมด แม้กระทั่งนักการเมือง เลขาฯยูเอ็นได้ถามถึงการเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวต่อคสช. ก็บอกไปว่าเป็นการเรียกไปคุยเฉยๆ ไม่ได้ไปทรมานทำร้ายอะไร ไม่อย่างนั้นจะเรียกไป 6-7 ครั้งหรือ ขนาดเรียกไป 6-7 ครั้งก็ยังพูดอยู่อีก นี่ตนได้ให้โอกาสพูดแล้ว ถ้าเป็นประเทศอื่นเขาไม่ให้ขนาดนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์อย่างนี้ วันนี้ตนถือว่าทุกคนพูดได้แต่พูดในทางสร้างสรรค์ ถ้าพูดไม่สร้างสรรค์ก็ต้องเรียกมาคุย
นายกฯ กล่าวว่า เลขาฯยูเอ็นเขาก็เป็นห่วงว่าเราเอามาซ้อมและทรมานอย่างที่มีคนไปพูดกัน แบบนั้นมันมีที่ไหน คนที่เรียกมา เป็นการตักเตือนพูดคุยทำความเข้าใจ แล้วก็ให้กลับไป อีกพวกที่ต้องดำเนินการคือทำผิดกฎหมายที่ประกาศไว้แล้วล่วงหน้าทั้งสิ้นไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาลงโทษ มันไม่ใช่ กฎหมายเขียนว่าอย่าทำแต่กลับทำ ถ้าไม่ดำเนินคดีทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็ถูกข้อหาละเว้น ก็จะกลายเป็นเหมือนเดิม กฎหมายใช้ไม่ได้ วันนี้เราเข้ามาเพื่อบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการปรับโครงสร้างคสช.ว่า มีการปรับมาตั้งนานแล้ว คนเก่าที่อยู่ตั้งแต่สมัยรัฐประหารก็อยู่ต่อไป ส่วนคนใหม่ที่เกษียณอายุราชการก็ไปเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างเดียว และคนใหม่ก็เข้าไปตามตำแหน่ง ส่วนเลขาฯคสช. ก็เป็นพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. โครงสร้างยังเท่าเดิม เป็นไปตามกฎหมาย คือ 15 คน
มีชัย รุดพบบิ๊กตู่แล้ว-วิษณุปัดไม่รู้
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า หลังจากพล.อ.ประยุทธ์เปิดเผยว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกคสช.ที่มีกระแสข่าวถูกทาบทามเป็นประธานกรธ. จะเดินทางเข้าพบในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้นั้น เมื่อเวลา 13.00 น. วันเดียวกันนี้ นายมีชัยเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาลโดยใช้รถส่วนตัว ยี่ห้อโตโยต้าอัลพาร์ด สีขาว และขับรถวนขึ้นไปจอดเทียบประตูด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้าท่ามกลางสายฝนที่ฝนตกอย่างหนัก เข้าพบกับพล.อ.ประยุทธ์ โดยคาดว่าจะหารือถึงชื่อบุคคลที่จะเข้ามาเป็นกรธ.ทั้งหมด เพื่อพิจารณาก่อนตัดสินใจว่าจะรับตำแหน่งประธานกรธ.หรือไม่ นายมีชัย ใช้เวลาพูดคุยนานกว่า 30 นาที และเดินทางกลับทันทีโดยให้รถยนต์ขับวนไปรับหน้าตึกไทยคู่ฟ้าและไม่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด
เมื่อเวลา 13.10 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่นายมีชัยเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ไม่มีการบอกหรือประสานงานอะไร มาทราบจากสื่อนำเสนอข่าว และการมาพบนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ตนไม่ได้เข้าร่วมการพูดคุยด้วย ที่ผ่านมาตนและพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ช่วยเตรียมการและทำข้อมูลของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้นายกฯพิจารณา ส่วนข้อมูลของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ไม่ได้เข้าไปดำเนินการ ซึ่งขั้นตอนจากนี้นายกรัฐมนตรีจะพิจารณาดำเนินการหลังจากที่ได้ข้อมูลอย่างไรก็แล้วแต่นายกฯและทีมงาน ที่จะเป็นผู้ดำเนินการในนามของคสช.
ตอนทาบ-มีชัยแค่ถามมีใครบ้าง
รองนายกฯ กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นตนได้พูดคุยกับนายมีชัย เห็นว่ามีท่าทีเหมือนเดิมมาตลอด ไม่มีเงื่อนไขอะไร มีการสอบถามเพียงว่าจะมีใครมาร่วมในกรธ.บ้าง ตนก็ไม่ได้ตอบยืนยันไป เพราะไม่ทราบว่านายกฯจะพิจารณาอย่างไร นายมีชัยจึงระบุว่าขอพบกับนายกฯเพื่อหารืออะไรบางอย่างก่อน ส่วนจะเกี่ยวกับรายชื่อหรือไม่นั้นก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์พูดคุยด้วย ทั้งนี้เมื่อพูดคุยกันในวันนี้แล้ว จะสามารถสรุปรายชื่อให้จบได้ทันทีหรือไม่ก็ยังบอกไม่ได้ เพราะยังมีเวลาถึงวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม จึงไม่กล้าบอกว่าจะจบหรือไม่ เพราะยังมีหลายส่วนที่ต้องทำ
เมื่อถามว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ที่จะให้นายมีชัยมานั่งเป็นประธานกรธ. นายวิษณุกล่าวว่า ขอไม่ตอบอะไรทั้งนั้น ต่อข้อถามว่าขณะนี้มีคู่แข่งของนายมีชัย เช่น นายอานันท์ ปันยารชุน อยู่ในข่ายพิจารณาหรือไม่
นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เรียกว่าคู่แข่ง เพราะไม่มีการสมัคร แต่เป็นเรื่องที่มีบุคคลเสนอแนะมา บางคนไม่รู้ตัวว่ามีชื่อด้วยซ้ำ สำหรับรายชื่อจำนวนกรรมการนั้น โดยหลักแล้วรายชื่อก็จะตั้งเต็มจำนวนให้ไม่เกิน 20 คน จะน้อยกว่านี้ก็ได้ ที่ต้องตั้งให้เต็มแล้วต่อมาเกิดมีการลาออกหรือล้มหายตายจาก ก็ไม่จำเป็นต้องไปตั้งเพิ่ม เหลืออยู่เท่าไหร่ก็เท่านั้นจึงใช้คำว่า ไม่เกิน 20 คน ซึ่งทางคสช.จะพูดคุยกันจนได้ฉันทามติ ว่าจะเลือกใคร ไม่มีการมายกมือโหวตกันเหมือนในสภา ไม่มีฝ่ายข้างมากหรือข้างน้อย เช่นเดียวกับการทำงานของครม. นับตั้งแต่ที่ตนเป็นเลขาฯครม.มา ครม.ของไทยไม่เคยมียกมือโหวต หรือนับเสียงข้างมากข้างน้อย
ชี้กรธ.ต้องผสมผสานผู้รู้หลายมิติ
เมื่อถามว่า รายชื่อกรธ.ทั้งหมดมีกี่รายชื่อ นายวิษณุกล่าวว่า มาจากหลายแห่ง ตอบไม่ถูก แต่เคยกล่าวไปแล้วว่า ประมาณ 30-40 ชื่อ ส่วนที่ว่าจะมีใครบ้างนั้น อย่าไปเดาเลย มันพูดยาก พอจะเอาคนที่สังคมรู้จัก ก็จะมีเสียงบอกว่าทำไมไม่เอาคนใหม่ๆ บ้าง เพราะคนที่ตนรู้จักก็มีแต่คนเก่าๆ แก่ๆ ทำไมไม่เอาคนใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ พอเอาคนใหม่ๆ มา ก็มีคนบอก อ่อนประสบการณ์ ทำอะไรไม่เป็น จะทำสำเร็จหรือไม่ ก็เลยต้องเอาแบบผสมกัน พอผสมกันทุกฝ่ายก็ต้องถามว่ามีทหารบ้างหรือไม่ ตอบว่าก็ต้องมีบ้าง จะบอกไม่มีเลยก็ไม่กล้าพูด แต่ว่าจะเยอะหรือไม่นั้นไม่ทราบ ซึ่งก็เคยกล่าวไปแล้วว่า หากมีทหารมากไปก็ผิดปกติ จะไม่มีเลยก็ผิดปกติ เพราะทหารหรือข้าราชการฝ่ายอื่น ก็มีความรู้ความสามารถ
นายวิษณุ กล่าวต่อว่าดังนั้นคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ ควรมีความรู้ในหลายมิติ ทั้งกฎหมาย นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคม เพราะรัฐธรรมนูญสมัยนี้ต่างจากสมัยก่อนที่พูดถึงภาคการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่วันนี้มีการเมืองภาคนักการเมือง และการเมืองภาคประชาชน จึงต้องพูดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีคนที่มีความรู้หลายมิติมาผสมกัน และยังไม่แน่ใจว่าทั้ง 20 คนที่จะเข้ามาจะได้ครบทุกมิติหรือไม่
รองนายกฯกล่าวด้วยว่าทั้งนี้เมื่อได้จำนวนบุคคลมาแล้ว การวางตำแหน่งในกรธ. กรรมการจะไปเลือกกันเอง ที่จะต้องระบุคือ ประธาน และ กรรมการ ส่วนจะมีรองประธาน เลขา หรือประชาสัมพันธ์ก็ไปเลือกกันเอง
บิ๊กตู่ เผยมีชัยให้คำตอบวันจันทร์
เวลา 17.05 น. ระหว่างพล.อ.ประยุทธ์กำลังขึ้นรถเดินทางกลับออกจากทำเนียบ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงการหารือกับนายมีชัย ในการรับตำแหน่งประธาน กรธ. โดยนายกฯ กล่าวตอบเพียงสั้นๆ ว่า 'วันจันทร์ เขาจะให้คำตอบ'
เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการ 'คืนความสุขให้คนในชาติ' ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า ตนได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 70 ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้แสดงจุดยืน ความคืบหน้าของการเดินหน้าประเทศตามโรดแม็ป ซึ่งตนได้ประชุมทีมประเทศไทยในสหรัฐ ขอให้ช่วยกันสร้างความเข้าใจกับต่างชาติ โดยเฉพาะสถานการณ์ในประเทศ อยู่ระหว่างการเดินหน้าปฏิรูปในทุกด้าน
ชี้มะกันชอบคนไทย-อาหารไทย
นายกฯ กล่าวว่า การแก้ปัญหาของประเทศเรานั้นต้องใช้เวลา แต่ประสบความสำเร็จดี วัดได้จากสถานการณ์บ้านเมืองสงบเรียบร้อย มั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ก็ขอให้ช่วยดูแลให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเหมือนเดิม ผลักดันผลประโยชน์ของคนไทยและประเทศไทยให้ได้ต่อไป ตลอดจนย้ำจิตสำนึกของความเป็นคนไทย และตนได้ชี้แจงสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการในทุกด้าน และเน้นคำว่า "ประชารัฐ" เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน ทั้งนี้ ทีมประเทศไทยรายงานว่า ภาพลักษณ์ของไทยในสายตาของคนอเมริกันหรือคนต่างชาติที่นี่ ไม่มีปัญหา ยังคงเชื่อมั่นในความปลอดภัยในไทยอยู่เช่นเดิม คนอเมริกันชื่นชอบอาหารไทย ชื่นชมความมีน้ำใจของคนไทย ชอบรอยยิ้มของคนไทย
ขอบคุมทีมไทยแลนด์-คณะทูต
นายกฯ กล่าวว่า ขอขอบคุณทีมประเทศไทย เอกอัครราชทูตประจำสหประชาชาติ และเอกอัครราชทูต ประจำกรุงวอชิงตัน ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนที่ให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวก ให้กำลังใจ ทำให้ตนและคณะปฏิบัติภารกิจได้ลุล่วงอย่างดี
"ขอบคุณคนไทยทั้งประเทศที่ติดตาม รวมทั้งที่สหรัฐทราบว่ามาจากรัฐต่างๆ เมืองต่างๆ ทั้งนิวยอร์ก บอสตัน ชิคาโก เท็กซัส ลอสแองเจลิส อินเดียน่า คอนเน็กติกัต วอชิงตัน ดี.ซี. และอีกหลายเมือง ทราบว่าเหน็ดเหนื่อยมาให้การสนับสนุนผมเหมือนกัน แต่ผมไม่มีโอกาสได้ไปพบใกล้ๆ มองเห็นในระหว่างเดินทาง ในรถที่ไปประชุม ขอบคุณที่ช่วยเป็นกำลังใจให้ผมที่มาทำหน้าที่ให้กับประเทศ ไทยในฐานะประชาคมโลก ทุกคนผมถือเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศในการก้าวต่อไปข้างหน้าเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จริงๆ แล้ว ผมห่วงใยทุกพวกทุกฝ่าย รวมทั้งผู้ที่เห็นต่างด้วย อยากจะหันหน้ามาพูดคุยกัน เราเสียเวลาในเรื่องขัดแย้งกันต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ทุกประเทศในโลกกำลังเดินหน้า ขับเคลื่อนไปสู่สหัสวรรษหน้า อีก 15 ปี เราต้องกลับมาพูดคุยกัน" นายกฯ กล่าว
บิ๊กต๊อกเซ็นตั้งรก.อธิบดีดีเอสไอ
ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งให้นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองปลัดยุติธรรม เป็นรักษาราชการตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวน คดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระหว่างการคัดเลือกสรรหาผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ทั้งนี้ กระบวนการยังอยู่ในระหว่างการเปิดประกาศรับสมัครผู้มีคุณสมบัติ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวปลัดกระทรวงยุติธรรมจะเป็นผู้ดำเนินการ
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ย.มีคำสั่ง ยธ.02002/6181 เรื่องการคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง โดยมีการส่งเป็นหนังสือแจ้งไปยังกรมต่างๆ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้ผู้ที่คุณสมบัติมาเข้ารับการสมัคร
ไก่อูแย้มคสช.ถก 5 ตค.เคาะ'มีชัย'
เวลา 18.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่านายมีชัยจะให้คำตอบในการรับตำแหน่งประธานกรธ.หรือไม่ ว่าในวันจันทร์ที่ 5 ต.ค.นี้จะมีการประชุมคสช. ซึ่งจะหารือเรื่องการแต่งตั้งกรธ. ส่วนที่มีรายชื่อนายมีชัยจะมาเป็นประธานกรธ.นั้น เชื่อว่าทั้งพล.อ. ประยุทธ์และนายมีชัยได้มีการพูดคุยมาบ้างแล้ว แต่ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน เนื่องจากเป็นผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย อีกทั้งการตั้งกรธ.เป็นอำนาจของหัวหน้าคสช. จึงต้องการให้เป็นไปตามระเบียบขั้นตอน และไม่ใช่ว่าในวันที่ 5 ต.ค.นายมีชัยจะเข้ามาให้คำตอบที่ทำเนียบรัฐบาล แต่จะเป็นการประชุมคสช.ตามขั้นตอน เพราะการตั้งกรธ.เป็นอำนาจของคสช. คาดว่านายมีชัยจะให้คำตอบในที่ประชุมคสช. ส่วนการยังไม่ได้ระบุเวลาและสถานที่ว่าจะประชุมที่ใด เพราะโดยปกติการประชุมคสช.จะประชุมตามสถานที่ที่มีความสะดวกตามโอกาสของคสช.
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ในวันที่ 5 ต.ค. รายชื่อของสปท.ซึ่งเป็นอำนาจของนายกฯก็จะมีความชัดเจน โดยนายกฯจะเป็นผู้คัดเลือกด้วยตัวเอง เพราะก่อนหน้านี้ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเสนอรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมมาให้พิจารณาแล้ว
'วัฒนา'ตั้งข้อสังเกตคดีข้าว-อสส.
วันเดียวกัน นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่ากรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นโจทก์ฟ้องนายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด(อสส.) กับพวกรวม 4 คน ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดย มิชอบ ต่อมาอดีต อสส.โพสต์ข้อความตอบโต้ทำนองคดีจำนำข้าว ต้องทำตามหน้าที่เพื่อแทนคุณแผ่นดินนั้น เห็นว่าคดีนี้มีความผิดปกติ ดังนี้
1.เป็นคดีแรกของประเทศไทยหรืออาจเป็นคดีแรกของโลก ที่หัวหน้ารัฐบาลถูกดำเนินคดีจากการดำเนินนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ การรับจำนำข้าวที่จริงคือการแทรกแซงตลาดที่ทำกันมาทุกรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลคสช.ที่อนุมัติงบแทรกแซงราคายางพารา อนุมัติเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท
2.การแทรกแซงตลาดเพื่อคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด เป็นแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 บังคับให้รัฐต้องดำเนินการตามมาตรา 75 วรรคแรก มาตรา 84 และ 84(8) และถือเป็นนโยบายของครม.ที่ต้องแถลงต่อรัฐสภาตามมาตรา 75 วรรคสอง การดำเนินการจึงชอบและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คำถามคือถ้านโยบายนี้ผิดกฎหมายจนถูกดำเนินคดี เหตุใดจึงดำเนินคดีกับน.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงคนเดียว ทั้งที่เป็นนโยบายของครม. เหตุใดหัวหน้ารัฐบาลคนอื่นๆ ที่ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการแทรกแซงตลาดเหมือนกัน รวมทั้งหัวหน้าคสช.กลับไม่ถูกดำเนินคดี
ซัดประชุมกันแค่ 3 คน-แล้วสั่งฟ้อง
3.เมื่อป.ป.ช.ส่งสำนวนการไต่สวนมาให้อสส.ดำเนินคดีกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการตั้งคณะทำงานของอัยการรวม 10 คนเพื่อพิจารณา โดยมีรองอสส.เป็นหัวหน้า คณะทำงานเห็นว่าสำนวนที่ส่งมามีข้อไม่สมบูรณ์ 4 ประเด็น จึงมีหนังสือแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ไปยังป.ป.ช. ซึ่งตั้งคณะทำงานรวม 10 คนเท่ากับอัยการเพื่อมาหาข้อสรุปร่วมกัน
นายวัฒนา กล่าวว่า ขั้นตอนนี้มีความแปลกประหลาดเกิดขึ้นคือ นัดประชุมร่วมคณะทำงาน 2 ฝ่ายครั้งแรก แต่หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายอัยการกับพวกรวม 7 คนไม่ทราบจึงไม่ไปประชุม มีเพียงอัยการ 3 คนที่ถูกน.ส.ยิ่งลักษณ์ฟ้องไปประชุมกับป.ป.ช. ทำให้ครบองค์ประชุม ซึ่งทั้ง 3 คนที่ไปประชุมไม่แปลกใจบ้างหรือว่าทำไมหัวหน้าคณะและพรรคพวกรวม 7 คนไม่ไปประชุมด้วยในคดีสำคัญที่มีอดีตนายกฯ เป็นผู้ถูกกล่าวหา ถ้าเป็นตนอย่างน้อยต้องโทรศัพท์ตาม ถ้าคนเหล่านั้นไม่ทราบเรื่องก็ต้องขอเลื่อนประชุมออกไป
สวนกลับแทนคุณแผ่นดินหรือใคร
นายวัฒนากล่าวว่า ที่ประหลาดมากขึ้นคือทั้ง 3 ที่เคยเห็นร่วมกันแต่แรกว่าสำนวนมีความไม่สมบูรณ์ กลับเห็นตามป.ป.ช.ว่าสำนวนสมบูรณ์ที่จะฟ้องได้แล้ว โดยไม่ต้องไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม เหตุใดเมื่อยื่นฟ้องแล้วจึงมาขอเพิ่มเติมพยานเอกสารที่อยู่นอกสำนวนอีก 67,800 แผ่น คดีสำคัญขนาดนี้ทำไมไม่ทำให้รอบคอบแต่แรก และยังเป็นคดีแรกที่อสส.เรียกสำนวนไปจากอัยการคดีพิเศษที่มีหน้าที่รับผิดชอบคดีของป.ป.ช. โดยตรง เพื่อมอบให้สำนักงานคดีสืบสวนและสอบสวนที่มีนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล เป็นอธิบดีและเป็น 1 ใน 3 ที่ไปประชุมเป็นผู้รับผิดชอบแทน
"4.ความผิดปกติทั้งหมดบังเอิญมาเกิดขึ้นหลังจากหัวหน้าคสช.มีคำสั่งปลดนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อสส.ขณะนั้น และแต่งตั้งให้อดีตอสส.ที่ถูกน.ส.ยิ่งลักษณ์ฟ้องมาเป็นแทน ถ้าไม่มีการปลดนายอรรถพล แล้วอดีตอสส.ที่ถูกฟ้องจะไม่มีโอกาสเป็นอสส.เลย นี่ใช่หรือไม่ที่บอกว่าคือการแทนคุณแผ่นดิน" นายวัฒนากล่าว
บิ๊กขรก.-อดีตผวจ.แห่สมัครป.ป.ช.
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า จากการเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.-2 ต.ค. มีผู้มาสมัครรวม 59 คน โดยวันเดียวกันนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายมีผู้มาสมัคร 27 คน ประกอบด้วย 1.นายนิทัศน์ รายยวา อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2. นายเชาวนะ ไตรมาศ อดีตเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ 3.นายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ 4.นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบจก.เอเจนซี ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส 5.นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ 6.นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ
7.นายธงชัย ลืออดุลย์ อดีตผวจ.นครราชสีมา 8.นายจิระรัตน์ นพวงศ์ ณ อยุธยา อดีตรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 9.นายสามารถ วราดิศัย อดีตผวจ.ยะลา 10.นายพลเดช ปิ่นประทีป อดีตสปช. 11.นายธวัช ชลารักษ์ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ 12.นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ 13.พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม
14.พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีตส.ว.สรรหา 15.นายวิทยา อาคมพิทักษ์ อดีตกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 16.นายสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 17.นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ อดีตส.ส.ร. 2550 18.นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค 19.นายช่างทอง โอภาสศิริวิทย์ กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม 20.พล.ต.หญิงบุณญารัศม์ พัฒนะ มหินทร์ อดีตตุลาการพระธรรมนูญ
21.นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล อดีตผวจ.ราชบุรี 22.นายนิทัศน์ ภู่วัฒนกุล อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ 23.พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน 24.พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) 25.นายอนุพร อรุณรัตน์ หัวหน้าสำนักงานกฎหมาย 26.พล.อ.สุระฉัตร เผ่าบุญเสริม อดีต เจ้ากรมการเงินกลาโหม 27.พล.ท.ศานิต สร้างสมวงศ์ อดีตหัวหน้าสำนักงานตุลาการทหาร
ศาลเลื่อนตรวจพยานกปปส.-กพ.59
วันที่ 2 ต.ค. ที่ห้องพิจารณา 902 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐานคดีหมายเลขดำ อ.1191/2557, อ.1298/2557, อ.1328/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม อายุ 53 ปี และนายสกลธี ภัททิยกุล อายุ 38 ปี แกนนำ กปปส. นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อายุ 64 ปี อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายเสรี วงษ์มณฑา อายุ 66 ปี แกนนำ กปปส. เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ, เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำนั้นแต่ไม่เลิก, ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้างเพื่อบังคับรัฐบาล, ร่วมกันบุกรุก, ร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง, ร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 209, 210, 215, 362, 364, 365 และพ.ร.บ.ว่าด้วยเลือกตั้งฯ จากกรณีจำเลยร่วมชุมนุมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ต่อต้านรัฐบาล พาผู้ชุมนุมบุกรุกและปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้งเพื่อกดดันให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่
จำเลย และทนายความแถลงว่า เอกสารที่ขอคัดถ่ายยังตรวจสอบไม่หมดเนื่องจากมีจำนวนมาก และยังไม่ได้รับสำเนาบันทึกคำให้การของจำเลยที่ได้ขอคัดถ่ายไว้ จึงขอให้อัยการโจทก์ส่งบันทึกคำให้การของพยานชั้นสอบสวนให้จำเลยตรวจสอบว่ามีพยานปากใดสามารถจะรับข้อเท็จจริงได้จึงขอเลื่อนตรวจพยานหลักฐานออกไปสักนัดหนึ่ง ด้านอัยการโจทก์แถลงไม่คัดค้านและระบุว่า ขอใช้เวลาในการตรวจสอบและคัดถ่ายสำเนาบันทึกคำให้การของพยาน ประมาณ 2 เดือน เนื่องจากเอกสารมีจำนวนมาก
ขณะที่ นายสมบัติแถลงว่า ไม่ได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องเพียงแต่ขึ้นปราศรัย และไม่ได้ร่วมกับผู้ต้องหาหรือจำเลยอื่นกระทำผิด การพิจารณาชั้นตรวจพยานหลักฐานใช้เวลานานแล้ว ขอให้ศาลเร่งรัดการพิจารณาคดี เนื่องจากมีภารกิจมากทั้งยังต้องสอนหนังสืออีกด้วย
ศาลพิเคราะห์แล้ว เพื่อให้การตรวจพยานหลักฐานเป็นไปโดยเรียบร้อย ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย ให้โจทก์จัดส่งบันทึกคำให้การพยานในชั้นสอบสวนทั้งหมดต่อศาลภายใน 2 เดือน และอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 26 ก.พ. 2559 เวลา 09.00 น.
'อ๋อย'จี้กต.เลิกถอนพาสปอร์ตทันที
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯและรมว.ศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีกระทรวงการต่างประเทศยกเลิกหนังสือเดินทางว่า ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งยกเลิกต่อรมว.ต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยส่งหนังสือสอบถามปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แต่ยังไม่ได้คำตอบ ตนเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ผิดกฎหมาย ทำให้ได้รับความเสียหาย จึงขออุทธรณ์ดังนี้ ในส่วนข้อเท็จจริง ที่อ้างในหนังสือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ขอให้กระทรวงการต่างประเทศยกเลิกนั้น เป็นเท็จ เพราะไม่ใช่บุคคลมีหมายจับ หรือเดินทางไปต่างประเทศ ส่วนที่อัยการศาลทหารกรุงเทพยื่นฟ้อง ก็ถูกควบคุมตัวโดยสมัครใจ ไม่มีการออกหมายจับโดยมีเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ เว้นศาลจะอนุญาต จึงมองว่าเกิดจากแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ
นายจาตุรนต์ ระบุว่า ด้านข้อกฎหมาย ตร.ไม่มีอำนาจขอให้กระทรวงการต่างประเทศยกเลิกหนังสือเดินทาง ซึ่งอำนาจแจ้งขอให้ดำเนินการดังกล่าว หากมีก็เป็นอำนาจของศาลทหาร จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ สุ่มเสี่ยงกระทำผิดกฎหมายและใส่ความหมิ่นประมาทด้วยข้อความอันเป็นเท็จ และกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ได้พิจารณาว่าหมายจับที่ตร. อ้างถึงมีอยู่จริงหรือไม่ รวมถึงไม่เคยได้รับแจ้งก่อนถูกยกเลิก จึงถือว่าขัดต่อพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 30 และเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งการยกเลิกหนังสือเดินทางทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมากในทุกด้าน เสรีภาพในการเดินทาง การประกอบอาชีพ เกียรติยศชื่อเสียง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหลักนิติรัฐ นิติธรรม และสาธารณะโดยส่วนรวม
"ขอเรียกร้องให้เพิกถอนคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางทันที และระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ ขอให้หน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ทุเลาการบังคับตามคำสั่งยกเลิก เพื่อให้ยังคงมีสิทธิตามหนังสือเดินทางจนกว่าจะวินิจฉัยอุทธรณ์ และขอสงวนไว้ซึ่งสิทธิในการอุทธรณ์เพิ่มเติม หากต่อมาได้รับแจ้งคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางและคำชี้แจงจากกระทรวงการต่างประเทศ สิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่ได้รับจากการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงสิทธิในการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องในทางแพ่ง อาญา หรือในทางปกครอง ต่อไปด้วย" นายจาตุรนต์ระบุ
คตร.ยันไม่ได้สั่งยุติงาน'สสส.'
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษทหารบก ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข่าวว่า คตร.ตรวจสอบการดำเนินงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) แล้วพบการใช้งบประมาณไม่สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ ว่า ในเบื้องต้นทางคตร.ได้รับข้อมูลที่มีการเสนอขึ้นมา พบว่ามีบางโครงการที่ไม่สอดคล้องไปตามวัตถุประสงค์ จึงจะประสานให้ทางกระทรวงสาธารณสุขลงไปตรวจสอบดูและดำเนินการปรับแก้ เพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการใช้งบประมาณ
พล.อ.ชาตอุดม กล่าวต่อว่า คตร.ไม่ได้บอกว่าจะให้ยุติการทำงาน ที่ไปเปิดเผยว่าคตร. จะยุบอะไรนั้น ก็ยังไม่ใช่ แต่เมื่อเราเจออะไรที่ผิดปกติก็ต้องบอกให้รู้ เพื่อไปแก้ไขให้ตรงตามวัตถุประสงค์ คงจะให้เวลาพิจารณาตรวจสอบประมาณ 3 เดือน เพื่อให้ทำให้ถูกต้อง ซึ่งระหว่างนี้เมื่อมีข้อมูลต่างๆ ที่ชัดเจนก็คงต้องรายงานให้หัวหน้าคสช.ทราบต่อไป ส่วนโครงการที่ถูกต้องก็ดำเนินการต่อไป เชื่อว่าทางสสส.เองก็รับทราบว่าในส่วนใดที่มีปัญหา
แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า คตร.ได้เข้าตรวจสอบ สสส.อย่างละเอียด และพบถึงงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานสร้างเสริมสุขภาพจำนวนมาก และเท่าที่ทราบคือ แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) หรือ TUHPP ซึ่งพบว่าโครงงานกว่าครึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานสร้างเสริมสุขภาพ แต่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับงานการเมืองเกือบทั้งหมด เช่น เรื่องปฏิรูปการเมือง การหาวิธีเลือกตั้งที่ดี สำรวจภูมิทัศน์การเมืองไทย เป็นต้น ซึ่งเดิมทีมีข้อมูลระบุอยู่ในเว็บไซต์ของ นสธ. แต่ขณะนี้พบว่ามีการลบข้อมูลทั้งหมดลงจากเว็บไซต์แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ประสานขอสัมภาษณ์ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. ถึงกรณีที่เกิดขึ้น โดยฝ่ายเลขานุการแจ้งว่า ทพ.กฤษดา ติดประชุมตั้งแต่เช้าถึงเย็น และประชุมเช่นนี้ในทุกๆ วัน ไม่สะดวกให้สัมภาษณ์
มีชัยเข้าทำเนียบดูชื่อกรธ. บิ๊กตู่กล่อม รอ 5 ตุลาให้คำตอบนั่งปธ. เคาะพร้อม'20 อรหันต์' เพื่อไทย-ปชป.ร่วมสปท. ย้ำต้องมีคปป.ใน'รธน.''59 คนดัง-ขรก.'ชิงปปช. 'วัฒนา'คาใจปมฟ้อง'ปู'
นายกฯยันมีรายชื่อ กรธ.ครบแล้ว เชิญ'มีชัย'เข้าหารือ เปิดรายชื่อให้ดูทั้้งหมด แต่เจ้าตัวขอให้คำตอบ 5 ต.ค. เผย"พท.-ปชป."ส่งชื่อคัดเป็น สปท.
'บิ๊กตู่'เผย'บารัค'ให้ยึดปชต.
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ช่วงเช้า ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23-30 กันยายนที่ผ่านมา และเดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา จากนั้นเวลา 11.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าท่าทีของกลุ่มประเทศยูเอ็นกับไทยนั้นไม่มีอะไร ในเวทีโลกไทยยังคงได้รับการยอมรับ
"เขามีมารยาทพอที่ไม่มาบอกว่ารังเกียจหรืออะไรกับผม ผมก็ดีกับทุกคน ได้พบปะทักทายจับไม้จับมือ งานเลี้ยงเขาก็เชิญผมไปร่วม มีการจัดรักษาความปลอดภัยให้ผมตามปกติ ส่วนการจับมือกับนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ไม่รู้สึกอย่างไร รู้สึกว่าเป็นเพื่อนกัน เป็นมิตรประเทศด้วยกันมายาวนานเกือบ 200 ปี และไม่มีอะไรกับเขา การพบนายโอบามาก็ยินดีเหมือนทุกครั้งที่จับไม้จับมือและแสดงความยินดีที่ได้เจอกัน ถามว่าเป็นอย่างไรสบายดีหรือ ที่เจอกันครั้งก่อนพูดว่า ทราบว่าประเทศไทยสงบสุขดีขึ้น ก็ขอให้เดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยให้ได้โดยเร็วก็แค่นั้น มันเป็นมารยาทการพูดอย่างนี้อยู่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
แจงยูเอ็นเลือกตั้งปี 60
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าข้อกังวลเกี่ยวกับคำถามสถานการณ์ประชาธิปไตยของไทยไม่มีเลยหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ไม่กังวลอะไรเลยเพราะเป็นเวทีระดับโลก มีหลายประเทศในโลกมาร่วมประชุมกัน ครั้งนี้มา 130 กว่าประเทศ แต่ละประเทศปัญหาหนักกว่าไทยเยอะ ฉะนั้นปัญหาของไทยจึงเป็นปัญหาภายในของไทยเอง มีอยู่อย่างเดียวคือเรื่องระบอบประชาธิปไตย ซึ่งได้อธิบายไปว่ากำลังเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตย กำลังเดินหน้าตามโรดแมป ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีอย่างเดียวเองคือรัฐธรรมนูญไม่เสร็จ
"วันนี้ที่จำเป็นต้องเลื่อนจากปี 2559 ไปปี 2560 เพราะรัฐธรรมนูญไม่ผ่านมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อไม่ผ่านก็ต้องร่างใหม่ เวลาต้องเพิ่มมาอีก 6 เดือน ผมก็บอกว่าต้องเป็นไปตามนั้น ฉะนั้นการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญจะเสร็จหรือไม่เสร็จ ไม่ได้อยู่ที่ผม แต่อย่าไปคิดว่าจะผูกมัด มันเป็นเรื่องของแผนงาน ผมทำตามที่พูดไว้ คนเราต้องรักษาคำพูด และคำพูดของผมคือ รัฐธรรมนูญเสร็จ ก็เดินไปสู่การเลือกตั้ง จำไว้แล้วอย่าถามอีก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
กล่อม'มีชัย'รับประธานกรธ.
พล.อ.ประยุทธ์ ยังให้สัมภาษณ์ถึงการคัดเลือกรายชื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่ากำลังทำอยู่ มีรายชื่อหมดแล้ว และจะเชิญนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช.และอดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2549 เข้ามาพูดคุยและดูว่าจะรับเป็นประธาน กรธ.หรือไม่ โดยจะได้คำตอบในวันนี้ (2 ตุลาคม) หากไม่รับก็ต้องหาคนใหม่
"จะให้นายมีชัยดูว่ารายชื่อคณะกรรมการทั้งหมดที่รวบรวมมาจากหลายส่วน ทั้งฝ่ายกฎหมาย สนช. อดีตสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะต้องทำงานร่วมกัน โดยจะได้รายชื่อทั้งหมดก่อนวันที่ 5 ตุลาคมนี้ ตามกรอบเวลาอย่างแน่นอน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ไม่เห็นชื่อ'อานันท์ ที่เสนอมา
ผู้สื่อข่าวถามว่า รายชื่อที่รวบรวมมาขณะนี้มีชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ รวมอยู่ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่เห็น แต่ต้องมีใครคนใดคนหนึ่ง ถ้าผู้ใหญ่ 2-3 คนเข้ามาด้วยกันจะลำบาก เมื่อถามย้ำว่า หากนายมีชัยไม่รับ จะคุยกับนายอานันท์เลยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่าเพิ่งพูดว่านายมีชัยจะรับหรือไม่รับ ต้องดูก่อน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่าไปสนใจว่าใคร ต้องสนใจว่าจะได้อะไรกลับมาจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะมากล่าวหาว่าประชาชนไม่มีส่วนร่วมได้อย่างไร ที่ผ่านมามีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดต่างๆ มีใครเอาคน 70 ล้านคนมานั่งร่างรัฐธรรมนูญด้วยกันหรือไม่ ก็ไม่มี ฉะนั้นอย่าไปฟังคนที่พูดบิดเบือนว่าทุกคนต้องร่วมมือกัน แล้วก็ไม่เห็นเข้ามา
"ผมไม่เข้าใจ ก็มีอยู่ 2-3 เรื่อง ทั้งเรื่อง คปป. (คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ) เรื่องที่มานายกฯและ ส.ว. ถามว่าวันนี้บ้านเมืองมันปลอดภัยแล้วหรือยัง ถ้าปลอดภัยแล้วก็ว่ามา แต่ถ้าคิดว่าวันข้างหน้ายังไม่ปลอดภัยก็ต้องไปหาวิธีการมา ผมให้หลักการไปแค่นี้" นายกรัฐมนตรีกล่าว
พท.-ปชป.ส่งชื่อเข้าคัดสปท.
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการสรรหาสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่ามีมาจากหลายภาคส่วน มีการส่งชื่อเข้ามาแล้วจากทุกพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็มีการส่งมาเพื่อการปฏิรูป รัฐบาลมองว่าวันข้างหน้าที่จะทำให้ประเทศสงบนั้นมีอะไรบ้าง ต้องเอาปัญหาเดิมมาดู 1.เรื่องการปฏิรูปประเทศ จะใช้เวลาเท่าไหร่ 5-10 ปี หรือไม่ยังไม่รู้ เพราะไม่ได้อยู่นานขนาดนั้นอยู่แล้ว 2.เรื่องการปรองดอง ทุกคนอยากให้มีการปรองดอง แต่วันนี้ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเรื่องราวทั้งหมดยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม คดีต่างๆ ยังไม่ได้มีการตัดสินเลย ถ้าตัดสินแล้วจึงจะมาพูดได้ว่าจะปรองดองกันอย่างไร แล้วถึงจะไปพูดถึงเรื่องการออกกฎหมายต่างๆ
"3.ทำอย่างไรจะไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก ต้องไม่มีการเดินขบวนจนเต็มถนน วันนี้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมฝูงชนประกาศใช้แล้ว ใครที่มาชุมนุมโดยไม่ขออนุญาตถือว่ามีความผิดแล้ว วันนี้มีการบันทึกไว้แล้วทั้งหมด อยู่ที่จะดำเนินการเมื่อไหร่เท่านั้น วันข้างหน้าก็จะถูกเรียกมาเหมือนหลายๆ คดี เช่น การปิดล้อมสนามบินที่ผ่านมา ก็ขอให้ระมัดระวังด้วย โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาต่างๆ ไม่อยากให้มีคดีติดตัว เพราะมันจะกระทบทั้งชีวิต ไม่อยากทำ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ชี้ต้องมี'คปป.'เพื่อปรองดอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีวิธีการปรองดองอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมก็พูดอยู่นี่ไง การปรองดองต้องไปอยู่ข้างหน้า จะต้องมีรัฐบาลเลือกตั้งเข้ามา แล้วมีคณะทำงานเรื่องปรองดอง เขาถึงได้มีแนวคิดเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ขึ้นมา ที่ทำหน้าที่ 3 เรื่อง คือ การปฏิรูป ลดความขัดแย้งใหม่ โดยมีกระบวนการในการแก้ปัญหา ไม่ใช่พอมีปัญหาแล้วต้องมีการปฏิวัติขึ้นมาอีก สุดท้ายคือเรื่องการปรองดอง กฎหมายยังไม่ได้ตัดสินอะไรออกมา วันนี้ยังตัดสินไม่ครบในทุกๆ คดี ถ้าตัดสินได้ครบเมื่อไหร่ก็ค่อยมาพิจารณาและพูดถึงการลดโทษหรือนิรโทษ แต่ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วจะให้มายกโทษ เพราะมีคนได้รับบาดเจ็บเสียหาย"
'มีชัย'ยังกั๊ก-ให้คำตอบ 5 ต.ค.
ต่อมาเวลา 12.50 น. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยใช้เวลาหารือเกือบ 1 ชั่วโมง จากนั้นเวลา 13.40 น. นายมีชัยเดินทางกลับ โดยไม่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์แต่อย่างใด
รายงานข่าวแจ้งว่า การเข้าพบนายกฯครั้งนี้ นายมีชัยต้องการเห็นรายชื่อ กรธ.ทั้งหมดที่ได้รับคัดเลือกก่อน เนื่องจากเกรงว่าหากรับตำแหน่งประธาน กรธ.แล้วต้องทำงานร่วมกับ กรธ.อีกเป็นเวลานาน จึงอยากหาทีมที่เคยร่วมกันทำงานด้านกฎหมายมาด้วยกันก่อน โดยจะดึงคณะทำงานในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาร่วมเป็น กรธ.ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.05 น. ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กำลังจะขึ้นรถออกจากทำเนียบรัฐบาล ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีการหารือกับนายมีชัย โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ตะโกนตอบสั้นๆ ว่า "วันจันทร์ เขาจะให้คำตอบ"
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันที่ 5 ตุลาคม จะมีการประชุม คสช. เพื่อหารือการแต่งตั้ง กรธ. ส่วนที่มีรายชื่อนายมีชัยจะเป็นประธาน กรธ.นั้น เชื่อว่าทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และนายมีชัย ได้มีการพูดคุยมาบ้างแล้ว แต่ต้องมีการให้เกียรติซึ่งกันและกัน เนื่องจากเป็นผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย คาดว่านายมีชัยจะให้คำตอบในที่ประชุม รวมถึงรายชื่อของ สปท.ก็จะมีความชัดเจนในที่ประชุมเช่นกัน
'บิ๊กป้อม'ให้'บิ๊กตู่'เคาะเอง
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงกลาโหม ถึงการคัดสรรรายชื่อบุคคลเป็น กรธ. 21 คน และ สปท. 200 คน ว่าเรื่องนี้ไม่ต้องนัดประชุม เพราะนายกฯจะดูรายละเอียดด้วยตนเองอีกครั้ง ทั้งนี้ นายกฯรู้อยู่แล้วว่ามีใครบ้าง แต่จะขอดูรายละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากอาจมีบางคนอยากเป็น บางคนไม่อยากเป็น เพราะฉะนั้นต้องขอให้นายกฯพิจารณาก่อนจะสอบถามไปยังผู้ที่มีรายชื่อ
"รายชื่อบุคคลที่หน่วยงานเสนอมา ไม่ใช่เสนอจากนายกฯหรือผมเพียงคนเดียว แต่ผมเป็นผู้รวบรวมตรวจสอบเบื้องต้น และส่งให้นายกฯไปคัดสรรว่าจะเอาใครบ้าง" พล.อ.ประวิตรกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีชื่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ. พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เป็นไปได้ทุกคน ที่มีการเสนอเป็น กรธ.ทั้ง 21 คน แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใคร เมื่อถามย้ำว่า หากนายมีชัยไม่ตอบรับ อาจจะมีชื่อ พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ และอดีต สปช. เป็นประธาน กรธ.แทน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ผมไม่ทราบ จำไม่ได้"
'วิษณุ'ยันตั้งกรธ.เต็ม 20 คน
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ถามว่า เหมาะสมหรือไม่ หากนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ. ว่าขอไม่ตอบอะไรทั้งนั้น เมื่อถามว่า ขณะนี้มีคู่แข่งนายมีชัย ที่อยู่ในรายชื่อพิจารณา เช่น นายอานันท์ ปันยารชุน หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เรียกว่าคู่แข่ง เพราะไม่มีการสมัคร แต่เป็นเรื่องที่มีบุคคลเสนอแนะมา บางคนไม่รู้ตัวว่ามีชื่อด้วยซ้ำ ทั้งนี้ โดยหลักแล้วรายชื่อจะตั้งเต็มจำนวนให้ไม่เกิน 20 คน จะน้อยกว่านี้ก็ได้ ที่ตั้งเต็มเพราะต่อมาเกิดลาออกหรือล้มหายตายจาก ก็ไม่จำเป็นต้องไปตั้งเพิ่ม เหลืออยู่เท่าไหร่ก็เท่านั้น จึงใช้คำว่าไม่เกิน 20 คน โดย คสช.จะพูดคุยกันจนได้ฉันทามติว่าจะเลือกใคร ไม่มีการมายกมือโหวตกันเหมือนในสภา ไม่มีฝ่ายข้างมากหรือข้างน้อย
"ที่ผ่านมาที่ผมพูดคุยกับนายมีชัยนั้น มีท่าทีเหมือนเดิมมาตลอด ได้แต่สอบถามว่าจะมีใครมาร่วมใน กรธ.บ้าง ก็ไม่ได้ตอบยืนยันไป เพราะไม่ทราบว่านายกฯจะพิจารณาอย่างไร นายมีชัยจึงระบุว่าขอพบกับนายกฯเพื่อหารืออะไรบางอย่างก่อน ส่วนจะเกี่ยวกับรายชื่อหรือไม่นั้น ไม่ทราบ เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย" นายวิษณุกล่าว
นายกฯหนุน'ปู'พึ่งศาลสู้คดี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยื่นฟ้องอัยการสูงสุดและพวก ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า "การที่มีข่าวฟ้องอัยการก็เป็นขั้นตอนตามกฎหมาย ดีใจที่เขามาต่อสู้ด้วยวิธีการยุติธรรม ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยเข้ามา และชอบไปพูดข้างนอก"
เมื่อถามว่า เป็นการยื้อเวลาคดีหรือไม่นายกฯกล่าวว่า "จะยื้อ จะแย้เรื่องของเขา แต่ผมถือว่าเป็นกระบวนการที่ถูกต้อง ถ้าเห็นว่าไม่เป็นธรรมก็มาฟ้องร้องมาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม นั่นคือวิธีการที่ถูกต้องดีกว่าไปประจานประเทศตัวเองข้างนอก หวังให้คนอื่นมาแก้ปัญหาในบ้านของเราเอง ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่พวกท่านทำไว้ทั้งสิ้น"
'วัฒนา'ติดใจ4ปมอสส.ฟ้อง
นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า อ่านข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นโจทก์ฟ้องนายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) กับพวกรวม 4 คน และต่อมาอดีต อสส.ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวตอบโต้ทำนองว่า คดีจำนำข้าวต้องทำตามหน้าที่เพื่อแทนคุณแผ่นดินนั้น เห็นว่าคดีนี้มีความผิดปกติในหลายเรื่องและหลายขั้นตอน ดังนี้ 1.คดีนี้เป็นคดีแรกของประเทศไทยหรืออาจเป็นคดีแรกของโลกก็ได้ที่หัวหน้ารัฐบาลถูกดำเนินคดีจากการดำเนินนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2.คำถามคือ ถ้านโยบายนี้ผิดกฎหมายจนต้องถูกดำเนินคดี เหตุใดจึงดำเนินคดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงคนเดียว ทั้งที่เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี เหตุใดหัวหน้ารัฐบาลคนอื่นๆ ที่ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการแทรกแซงตลาดเหมือนกันรวมทั้งหัวหน้า คสช.ด้วยกลับไม่ถูกดำเนินคดี
3.เมื่อ ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนการไต่สวนมาให้อัยการสูงสุด ได้มีการตั้งคณะทำงานของอัยการรวม 10 คน เพื่อพิจารณาในเรื่องนี้โดยมีนายวุฒิพงศ์ วิบูลย์พงศ์ รอง อสส. เป็นหัวหน้า โดยคณะทำงานเห็นว่าสำนวนที่ส่งมามีข้อไม่สมบูรณ์จึงมีหนังสือแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ไปยัง ป.ป.ช. ซึ่งก็ได้ตั้งคณะทำงานรวม 10 คนเท่ากับอัยการเพื่อมาหาข้อสรุปร่วมกัน ขั้นตอนนี้มีความแปลกประหลาดเกิดขึ้น อาทิ เหตุใดเมื่อยื่นฟ้องไปแล้วจึงมาขอเพิ่มเติมพยานเอกสารที่อยู่นอกสำนวนอีก 67,800 แผ่น คดีสำคัญขนาดนี้ทำไมไม่ทำให้รอบคอบครบถ้วนแต่แรก และ 4.ความผิดปกติทั้งหมดช่างบังเอิญมาเกิดขึ้นภายหลังจากที่หัวหน้า คสช.มีคำสั่งปลดนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ที่เป็นอัยการสูงสุดในขณะนั้น และแต่งตั้งให้อดีต อสส.ที่ถูก น.ส.ยิ่งลักษณ์ฟ้องมาเป็นแทน ซึ่งถ้าไม่มีการปลดนายอรรถพลแล้วอดีต อสส.ที่ถูกฟ้องจะไม่มีโอกาสเป็น อสส.เลย นี่ใช่ไหมที่บอกว่าคือการแทนคุณแผ่นดิน