- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 22 November 2024 11:45
- Hits: 5396
ปูยื่นฟ้อง อสส.รวบรัดคดีข้าว'ประยุทธ์'ชื่นมื่น จับมือปธน.มะกัน เผยสปีชโอบามา จวกผู้นำแก้รธน. เพื่อตัวเอง-เหลว
'ยิ่งลักษณ์'ลุยฟ้อง อสส.-อธิบดีอัยการ ปฏิบัติ หน้าที่มิชอบสั่งฟ้องคดี 'จำนำข้าว' ชี้ไม่ไต่สวนข้อไม่สมบูรณ์ บรรยายฟ้องไม่ตรงความจริง เพิ่มเอกสารนอกสำนวนกว่า 6 หมื่นแผ่น ศาลนัดฟังรับฟ้องหรือไม่ 6 ต.ค. 'วิษณุ' ย้ำกก.สอบเรียกค่าเสียหายคดีข้าวส่งสรุปผล 30 ก.ย. เชื่อไม่เกินสิ้นปีสั่งให้ชดใช้ เผย กำลังรวบรวมรายชื่อข้าราชการทุจริตล็อต 3 'บิ๊กตู่'แถลงเวทียูเอ็น ชูสันติภาพเกิดเมื่อประชาชนอยู่ดี จับมือทักทาย'โอบามา' เสื้อแดงอุดรฯแห่รับดีเจ.คนสนิท"ขวัญชัย"พ้นคุก
วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9072 ข่าวสดรายวัน
ปูสู้ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางไปศาลอาญา ยื่นฟ้องนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด และพนักงานอัยการรวม 4 คน ฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดย มิชอบ กรณียัดความผิดคดีจำนำข้าว เมื่อ 29 ก.ย.
'ปู'ยื่นฟ้องอสส.กับพวก
เวลา 09.30 น. วันที่ 29 ก.ย. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาพร้อมนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสมหมาย กู้ทรัพย์ ทนายความและผู้ติดตาม เดินทางมาศาล โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด(อสส.) นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และนายกิตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ซึ่งเป็นคณะทำงานพิจารณาคดีและมีความเห็นสั่งฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ คดีโครงการจำนำข้าว ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และร่วมกันกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 200 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 91
คำฟ้องบรรยายว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ ดำเนินคดีกับจำเลยทั้ง 4 แทนโจทก์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยส.ค. 2557 และวันที่ 3 ก.ย. 2557 นายตระกูล จำเลยที่ 1 ขณะเป็นอสส.แต่งตั้งจำเลยที่ 2-4 เป็นคณะทำงานพิจารณาสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กรณีการดำเนินคดีกับโจทก์โครงการรับจำนำข้าว วันที่ 19 ก.พ. 2558 นายตระกูลมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2-4 เป็นพนักงานอัยการดำเนินคดีที่ฟ้องโจทก์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ไม่ไต่สวนข้อไม่สมบูรณ์
แต่เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2557-14 ส.ค. 2558 การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้ง 4 ระหว่างดำรงตำแหน่งอัยการ บังอาจร่วมกันลักษณะแบ่งหน้าที่กันด้วยการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใด และยังร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่ง พนักงานอัยการกระทำการอย่างใดๆ เพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งต้องรับโทษ โดยภายหลังจากนายตระกูลได้รับรายงานและเอกสารความเห็นการไต่สวนข้อเท็จจริงจากป.ป.ช.ในคดีอาญาที่กล่าวหาโจทก์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 แล้วได้แต่งตั้ง คณะทำงานพิจารณารายงานดังกล่าวว่ามีข้อไม่สมบูรณ์หรือไม่ โจทก์ได้ร้องขอความเป็นธรรมจากจำเลยที่ 1 หลายครั้ง และชี้ให้เห็นว่ากระบวนการไต่สวนของป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กลั่นแกล้งและมีการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เที่ยงธรรม
ซึ่งวันที่ 3 ก.ย. 2557 จำเลยที่ 1 เห็นว่าการไต่สวนยังมีข้อไม่สมบูรณ์ใน 4 ประเด็นใหญ่ เรื่องโครงการรับจำนำข้าว เรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เรื่องการทุจริต และการรวบรวมพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงในเวลาต่อมาว่ายังไม่มีการไต่สวนข้อเท็จจริงตามข้อไม่สมบูรณ์ และยังมีข้อถกเถียงเรื่องการนัดประชุมของคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการและป.ป.ช. ซึ่งวันที่ 21 ม.ค. 2558 มีการพาดหัวข่าวว่า "วุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ ประธานคณะกรรมการร่วมอัยการ งงข่าวป.ป.ช.เห็นควรสั่งฟ้องอดีตนายกฯปู ชี้ขั้นตอนยังไม่สิ้นสุด ระบุนัดประชุมฝ่ายอัยการอีกครั้ง 26 ม.ค.นี้ ก่อนประชุมใหญ่ คณะทำงานร่วมอัยการ-ป.ป.ช." รายละเอียดของข่าวส่วนหนึ่งระบุว่า นายวุฒิพงศ์ไม่ได้เป็นผู้เสนอความเห็นไปยังอสส. ขณะที่ยังปรากฏด้วยว่ารองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ออกมาแถลงข่าวด้วยว่าขั้นตอนยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม
บรรยายฟ้องผิดจากความจริง
แต่ต่อมาวันที่ 23 ม.ค. 2558 กลับปรากฏว่านายสุรศักดิ์ จำเลยที่ 3 แถลงข่าวว่านายตระกูล มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องโจทก์ ซึ่งเป็นเวลากะทันหันเพียง 1 ชั่วโมง ก่อนที่สนช.จะลงมติถอดถอนโจทก์ น่าจะมีนัยยะสำคัญว่าเป็นวาระซ่อนเร้น ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเหตุบังเอิญ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่มีความเห็นสั่งฟ้องโจทก์ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าการไต่สวนในข้อไม่สมบูรณ์ยังไม่แล้วเสร็จ เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2-4 ในฐานะคณะทำงานร่วมกลับรายงานว่าเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2558 คณะทำงานร่วมอัยการ-ป.ป.ช.พิจารณาหลักฐานร่วมกันแล้วเห็นว่าการรวบรวมหลักฐานได้เสร็จสิ้นและเสนอให้อสส.พิจารณา
การกระทำของจำเลยทั้ง 4 จึงไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 14 และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2557 เรื่องการตรวจพิจารณาสำนวนและการใช้ดุลพินิจ นอกจากนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลฎีกาฯ แล้วยังบรรยายฟ้องบางตอนให้ผิดไปจากความจริง ซึ่งการฟ้องคดีตามพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ให้ยึดรายงานป.ป.ช.เป็นหลัก ซึ่งรายงานป.ป.ช.ระบุชัดเจนว่ายังไม่ปรากฏหลักฐานในชั้นนี้ว่าโจทก์ได้ทำการทุจริตหรือสมยอมให้มีการทุจริต แต่จำเลยทั้ง 4 กลับบรรยายฟ้องแตกต่างจากรายงานของ ป.ป.ช.ว่าโจทก์รู้เห็นและรับทราบการทำทุจริต จึงเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้
เพิ่มเอกสารนอกสำนวน
การกระทำของจำเลยในฐานะพนักงานอัยการเป็นการกระทำหรือไม่กระทำการใดเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งต้องรับโทษหนักขึ้น และเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2558 จำเลยทั้ง 4 ยังร่วมกันยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมส่งพยานเอกสารรวม 67,800 แผ่น ซึ่งเป็นเอกสารสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ในคดีระหว่างนายสมศักดิ์ โกศัยสุข กับพวกรวม 3 คนกล่าวหานายภูมิ สาระผล กับพวกรวม 111 คน และเอกสารสำนวนคดีอาญา ที่อสส.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายภูมิกับพวกรวม 21 คน เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาฯ และพยานเอกสาร 148 แฟ้ม พยานเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารนอกสำนวนการสอบสวนที่ป.ป.ช.ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและไม่ได้ไต่สวนไว้ในคดี การกระทำของจำเลยทั้ง 4 จึงทำให้เกิดความเสียหายกับโจทก์ จึงได้นำคดีมายื่นฟ้องเพื่อขอให้ศาลพิพากษาลงโทษตามกฎหมาย
ภายหลังยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่าการยื่นฟ้องวันนี้เป็นไปตามขั้นตอนและมีความพร้อมในด้านเนื้อหาเอกสาร และเป็นการขอใช้สิทธิ์ตามกระบวนการมากกว่า ตนได้รับเอกสารนอกสำนวนที่อัยการสูงสุดเสนอให้ศาลฎีกาฯ 60,000 แผ่นแล้วก็รู้สึกหนักใจ เพราะเราเตรียมการขึ้นศาลสู้คดีแต่กลับได้รับเอกสารเพิ่มเติมถึง 60,000 แผ่น ในฐานะที่ถูกฟ้องก็อยากเตรียมตัวให้รอบคอบ
เมื่อถามว่าเป็นห่วงหรือไม่เพราะก่อนหน้านี้ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีที่นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จำเลยร่วมกับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ คดีระบายข้าวจีทูจี ที่ได้ยื่นฟ้องอสส.กับคณะ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่าตนทำเต็มที่ มาใช้สิทธิ์ตามกระบวนการ หวังว่าศาลจะพิจารณา แต่คงก็ไม่กล้าที่จะคาดหวัง
ศาลนัด6 ต.ค. มาฟังรับฟ้องหรือไม่
ด้านนายสมหมาย กู้ทรัพย์ ทนายความเผยว่า การฟ้องครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับที่นายตระกูลกำลังจะเกษียณสิ้นเดือนก.ย.นี้ เพราะคำฟ้องระบุอยู่แล้วว่า อสส.และคณะอัยการทั้ง 4 คน ขณะดำรงตำแหน่งได้ปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการพิจารณาสำนวนอย่างไร ขณะที่การฟ้องก็ไม่ได้คิดขนาดว่าคดีอาญานี้จะมีประโยชน์อย่างไรต่อการพิจารณาคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นฟ้องคดีอาญากับคณะอัยการ เป็นการใช้สิทธิทางกฎหมายที่จะให้ได้รับความเป็นธรรม หากเราเห็นว่าอะไรกระทำโดยไม่ถูกต้อง ไม่ได้รับความเป็นธรรมจะใช้สิทธิตามกฎหมายทุกช่องทางต่อไป สำหรับคดีนี้เบื้องต้นศาลได้รับไว้ในสารบบความหมายเลขดำ อท.25/2558 โดยอีก 7 วัน ศาลนัดให้ฟังคำสั่งอีกครั้งว่าจะรับคดีไว้เพื่อไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่
มหาอำนาจ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จับมือนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างร่วมประชุมสมัชชาสห ประชาชาติ ครั้งที่ 70 ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ อเมริกา เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ตามเวลาท้องถิ่น |
ล่าสุดศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 6 ต.ค. เวลา 09.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่บริเวณแผนกรับฟ้อง ที่โถงชั้น 2 อาคารศาลอาญา และกำลังจะเดินทางกลับ บังเอิญได้พบกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เดินทางมาติดต่อคดีด้วย ทั้งสองฝ่ายกล่าวทักทายกันเล็กน้อย
ทนายชี้ผิด 3 ประเด็น
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ในคดีจำนำข้าว โพสต์เฟซบุ๊กว่า ได้ยื่นฟ้องศาลอาญานายตระกูลและพวก จากกรณีสั่งฟ้องและดำเนินคดีในโครงการรับจำนำข้าวโดยผิดกฎหมาย ในความผิดอาญาฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 200 และ 83 โดยกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระคือ 1.การสั่งฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์แบบรวบรัด ไม่เป็นไปตามขั้นตอน ไม่ดำเนินการในข้อสมบูรณ์ให้ครบถ้วน 2.การบรรยายฟ้องต่อศาลฎีกาฯ โดยเพิ่มฐานความผิดเกินกว่าชั้นไต่สวนของป.ป.ช. และยังบรรยายฟ้องขาดในส่วนที่เป็นคุณต่อน.ส. ยิ่งลักษณ์ 3.การนำเอกสารพยานหลักฐานนอกสำนวนการไต่สวนของป.ป.ช. 67,800 แผ่นเข้ามาในสำนวนคดีของพนักงานอัยการ กรณีจะต้องแจ้งสั่งให้ป.ป.ช.ทำการไต่สวนเพิ่มเติมเสียก่อน
4 ข้อไม่สมบูรณ์-ไม่พอสั่งฟ้อง
นายนรวิชญ์ระบุว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อไม่สมบูรณ์อีก 4 ประเด็น เป็นเหตุให้ไม่เพียงพอต่อการสั่งฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์คือ 1.โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องดำเนินการ ส่วนจะยับยั้งหรือยกเลิกโครงการที่เป็นนโยบายได้หรือไม่ ต้องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนประเด็นนี้เพิ่มเติม 2.การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ยังไม่มีการไต่สวนให้ปรากฏพยานหลักฐานว่ามีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ป.ป.ช.ต้องไต่สวนในประเด็นนี้เพิ่มเติม 3.ประเด็นเรื่องการทุจริตที่ป.ป.ช.ไต่สวน มีประเด็นขัดกันและยังไม่สิ้นกระแสความ มีเพียงการกล่าวหาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพวก แต่ยังไม่พบว่ามีขั้นตอนทุจริตอย่างไร
4.ประเด็นอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์แก่รูปคดี การกล่าวหาและฟ้องร้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะใช้งบประมาณสิ้นเปลืองไม่เป็นธรรมต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างยิ่ง เพราะนโยบายการช่วยเหลือเกษตรกรหรือคนจนคนยากไร้ของประเทศจำเป็นต้องใช้งบประมาณสิ้นเปลืองหมดไปเป็นธรรมดาของรัฐบาลทุกยุค ซึ่งก็ได้ปฏิบัติเช่นนี้ต่อๆ กันมา ดังนั้น การกระทำของนายตระกูล เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายของพนักงานอัยการ ทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับความเสียหาย จึงจำเป็นต้องรักษาสิทธิและใช้สิทธิตามกฎหมายที่ต้องฟ้องร้องเป็นคดีอาญากับบุคคลดังกล่าว
นายนรวิชญ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังปรากฏว่ามีการพยายามของกลุ่มคนบางกลุ่มมุ่งดำเนินคดีทางแพ่ง เพื่อเรียกความรับผิดเป็นค่าเสียหายจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์จะติดตามการกระทำของกลุ่มคนดังกล่าว หากมีการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ไม่เป็นไปตามกฎหมายจะได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับทุกคนโดยไม่ละเว้น สิ่งที่น.ส.ยิ่งลักษณ์กังวลคือการดำเนินคดีต่างๆ ด้วยความไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีเจตนากลั่นแกล้ง สะท้อนว่าประชาชนซึ่งเป็นคนจน คนยากไร้และไม่มีตำแหน่งหน้าที่ใดๆ จะได้รับการคุ้มครองปกป้องและความเป็นธรรมได้อย่างไร
วิษณุ ชี้ไม่กระทบฟ้องคดีอาญา
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นฟ้องกลับอสส.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการสั่งฟ้องคดีจำนำข้าว โดยมีการเพิ่มเอกสารนอกสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ว่าก็คงเป็นสิทธิที่ทำได้ ไม่เป็นอะไร แต่ตนไม่รู้เรื่องว่าฟ้องอะไร ทราบจากหนังสือพิมพ์ว่าจะฟ้องเรื่องที่อัยการสั่งฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่มีความเห็นในเรื่องนี้
เมื่อถามว่าหากศาลอาญารับคำร้องของน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะส่งผลให้การพิจารณาคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสะดุดหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าไม่ทราบ ยังไม่เคยคิดเรื่องนี้ ที่ผ่านมาไม่เคยมีกรณีลักษณะนี้มาก่อน และคิดว่าไม่น่าจะสะดุด เพราะเวลาที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปฟ้องกลับถือเป็นการฟ้องส่วนตัว แต่เวลาสั่งฟ้องเป็นการสั่งโดยส่วนรวม คือสั่งโดยตำแหน่ง และคนที่สั่งคือนายตระกูล อสส.คนเก่าที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ และอสส.คนใหม่คือนายพงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร จะเข้ามารับหน้าที่ก็สามารถทำหน้าที่ต่อได้ทันที จึงไม่เกี่ยวกัน ใครจะฟ้องก็ฟ้องไป
เรียกค่าเสียหายไม่หมดอายุความ
นายวิษณุกล่าวถึงกรณีนายนรวิชญ์ระบุการฟ้องเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว ไม่ได้หมดอายุความวันที่ 30 ก.ย.นี้ว่า การที่ตนบอกว่าต้องจบในวันที่ 30 ก.ย. ไม่ใช่เรื่องอายุความ แต่เป็นกำหนดเวลาสิ้นสุดการทำงานของคณะกรรมการของกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ที่แจ้งว่าเสร็จหมดแล้ว และจะรายงานมาให้ตนทราบในวันที่ 30 ก.ย. เพื่อรายงานนายกฯ จากนั้นจะส่งต่อไปยังคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง วันนี้ไม่มีอะไรต้องไปเดือดเนื้อร้อนใจเรื่องอายุความเพราะมันไม่ขาด การนับอายุความจะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อเริ่มรู้ตัวผู้กระทำผิดและรู้ถึงการกระทำความผิด ซึ่งคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องทำให้เสร็จภายในอายุความ ไม่มีการปล่อยให้ขาดอายุความอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะนับแบบไหน ฉะนั้นทำให้เสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งขณะนี้ยังเหลืออีกปีครึ่ง
กก.สอบยื่นผลสรุป 30 ก.ย.
นายวิษณุกล่าวว่าขั้นตอนจากนี้ คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดสรุปเรื่องเสร็จแล้วและจะส่งให้ตนวันที่ 30 ก.ย.นี้ จากนั้นตนส่งให้นายกฯ หากนายกฯพิจารณาแล้วส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน แล้วคณะกรรมการเห็นด้วยกับสำนวนก็จะเสนอกลับมายังนายกฯ ให้ออกคำสั่งว่าบุคคลนั้นมีความผิดและสั่งให้ชำระหนี้ภายในอายุความ หากเรื่องส่งถึงอธิบดีกรมบัญชีกลางภายในต้นต.ค.น่าจะสั่งได้ก่อนสิ้นปี อย่างไรก็ตาม ต้องรอนายกฯออกคำสั่งทางปกครองถึงจะจบกระบวนการของอายุความ ถ้ายอมชำระก็จบ ถ้าไม่ชำระก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ รวมทั้งไปร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งนายกฯได้ คดีก็จะอยู่ในศาลโดยเขาเป็นโจทก์ รัฐบาลเป็นจำเลย
เมื่อถามว่านายนรวิชญ์ต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชี้แจงเพิ่มเติม นายวิษณุกล่าวว่าไม่ทราบ ต้องไปหารือกับคณะกรรมการที่มีหัวหน้าผู้ตรวจสำนักนายกฯเป็นประธานรับผิดชอบเรื่องนี้ และตนทราบว่าคณะกรรมการ ชุดดังกล่าวได้เชิญบุคคลต่างๆ เข้าให้ข้อมูลจำนวนมากและเป็นบุคคลสำคัญ มีบางคนมาฐานะพยาน
เมื่อถามว่ามูลค่าความเสียหายต้องแยกเป็นรายบุคคลหรือแยกตามฐานความผิด นายวิษณุกล่าวว่าต้องเห็นสำนวนในวันที่ 30 ก.ย.ก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อส่งมาให้แล้วตนจะแถลงแฉในบ่ายวันนั้นเลย ยังต้องดูกันอีก
ยันดำเนินการขรก.เอี่ยวทุจริตล็อต3
นายวิษณุกล่าวถึงการดำเนินการข้าราชการที่เกี่ยวข้องทุจริตล็อต 3 ว่ามีแน่นอน ขณะนี้รวบรวมรายชื่อจากหน่วยงานกลาง ทางอสส. เตือนให้ระวังเรื่องการให้ความเป็นธรรม ความชัดเจนอย่าคลุมเครือ เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ตนเชิญผู้แทนจะทุกกระทรวงที่มีข้าราชการที่ถูกคำสั่งคสช. ฉบับที่ 16 และ 19 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เนื่องจากส่อว่าทุจริต รวมถึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว อาทิ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) มาประชุมร่วมกัน โดยให้ซักถามข้อสงสัย
อิสรภาพ - นายขวัญชัย สาราคำ แกนนำเสื้อแดงอุดรฯ พร้อมด้วยญาติๆ มารับ นายรัฐชาติ คำเพชร หรือ"ดีเจ.ณัฐวืด" ที่พ้นโทษคดีทำลายทรัพย์สินราชการ ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำกลางอุดรธานี เมื่อวันที่ 29 ก.ย. |
รองนายกฯกล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า 1.รายชื่อที่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ส่งมาถึงหัวหน้าคสช.ให้พักงานนั้น จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบวินัยควบคู่ด้วย ถ้าไม่ทำเช่นนั้นผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบ หากผลสอบวินัยออกมาไม่ผิดก็พร้อมคืนตำแหน่งให้ แต่การสอบของกระทรวงไม่เกี่ยวกับการตรวจสอบของหน่วยงาน เช่น ป.ป.ช. ถึงกระทรวงสอบแล้วไม่ผิด แต่ป.ป.ช.ยังสอบต่อไปได้ ในอนาคตหากป.ป.ช. สอบว่าผิดก็ต้องส่งเรื่องกลับมาให้ลงโทษอยู่ดี ไม่เว้นแม้แต่ข้าราชการที่เกษียณอายุ ป.ป.ช.ก็สอบต่อได้ แต่กระทรวงอาจสอบยาก หากไม่มีการกล่าวหาไว้ก่อนเกษียณ แต่หากมีการกล่าวหาไว้ก่อนเกษียณหลังเกษียณก็มีเวลาตรวจสอบอีก 180 วัน
2.กรณีคนที่ถูกพักงานจะขอลาออกจากราชการได้หรือไม่นั้น ทำได้แต่ให้รีบกล่าวหาและตั้งคณะกรรมการสอบวินัยคาไว้ก่อนลาออกเพื่อให้การตรวจสอบเดินหน้าต่อไปได้ และ 3.ที่ประชุมต่างถามตรงกันว่าชื่อที่ถูกพักงานได้จากที่ใดมา ซึ่งหน่วยงานกลางเช่น ป.ป.ช. ป.ป.ท.แจ้งไปแล้วว่าผิดอย่างไร แต่หากเจ้าตัวยังไม่ทราบก็ให้เขาทำหนังสืออย่างเป็นทางการไปที่ศอตช. จะตอบได้ทั้งหมดว่าผิดอย่างไร ส่วนคนที่อยู่ระหว่างโดนพักงานมีสิทธิประโยชน์ในตำแหน่งอย่างเดิมหรือไม่ ในที่ประชุมก็ได้รับทราบคำตอบในส่วนนี้ไปหมดแล้ว
ศาลนัดไต่สวนคดีจีทูจี 12 พย.
เวลา 09.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลฎีกาฯ นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีหมายเลข ดำ อม. 25/2558 ที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อสส. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ และพวกรวม 21 ราย ความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐหรือฮั้วประมูล พ.ศ.2542 มาตรา 4, 9, 10 และ 12 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 123 และ 123/1 พร้อมขอให้สั่งปรับจำเลยทั้งหมดเป็นเงิน 35,274,611,007 บาท กรณีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)
นายบุญทรง นายภูมิ และจำเลยคนอื่นพร้อมทนายต่างเดินทางมาศาล ส่วนนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 14 มีอาการป่วย ไม่สามารถมาศาลได้ จึงมอบอำนาจให้ทนายยื่นคำร้องพร้อมใบรับรองแพทย์ต่อศาลเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลจึงอนุญาตจำเลยที่ 14 ไม่ต้องมาศาลในวันนี้
ทั้งนี้ การตรวจพยานหลักฐาน โจทก์อ้างส่งพยานเอกสารต่อศาลรวม 148 แฟ้ม ขณะที่ฝ่ายจำเลยอ้างเอกสารที่ผู้ครอบครองส่งมาตามคำสั่งเรียกจำนวนมาก องค์คณะฯ เห็นว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างพยานบุคคลหลายปาก และพยานเอกสารมีจำนวนมาก ไม่สามารถตรวจพยานหลักฐานได้เสร็จภายในวันนี้ จึงให้คู่ความทั้งสองฝ่ายร่วมกันตรวจพยานหลักฐานต่อไปทุกวันอังคารจนกว่าจะเสร็จ โดยศาลนัดพร้อมคู่ความเพื่อฟังคำสั่งเกี่ยวกับการตรวจพยานหลักฐาน และการกำหนดวันเพื่อไต่สวนพยานในวันที่ 12 พ.ย.นี้ เวลา 09.30 น.
"บุญทรง"พยาน 100 กว่าปากสู้คดี
นายบุญทรงให้สัมภาษณ์ว่า การนัดตรวจหลักฐานยังไม่เรียบร้อย เบื้องต้นมีหลักฐานเอกสารกว่า 60,000 แผ่น และพยานฝ่ายจำเลยขอนำพยานเข้าสืบ 100 กว่าปาก ศาลจึงนัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 12 พ.ย.นี้ ซึ่งเราจะขอศาลต่อสู้ตามข้อเท็จจริงและหลักฐานที่มีอยู่ โดยพยานหลักฐานส่วนใหญ่อยู่ในอำนาจศาลแล้ว ส่วนกรณีคณะทำงานของกระทรวงพาณิชย์จะสรุปตัวเลขความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวเพื่อดำเนินการทางแพ่งนั้น ต้องดูว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร แต่ตนจะขอใช้สิทธิ์ตามกฎหมายฟ้องต่อศาลปกครอง โดยจะปรึกษากับฝ่ายกฎหมายก่อน
"สุรชัย"เด้งรับกรธ.ล่วงหน้า
ที่สถาบันพระปกเกล้า นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ถึงการสรรหาสนช.ร่วมเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าเป็นหน้าที่ของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. แต่เบื้องต้นต้องรอให้นายกฯกลับจากการประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่สหรัฐก่อน เชื่อว่าขณะนี้รายชื่อกรธ.น่าจะจัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอให้นายกฯ พิจารณาอีกครั้ง สัดส่วนสนช.ที่จะเป็นกรธ. เป็นเรื่องที่นายกฯต้องดูตามความเหมาะสม หากมีสนช.ร่วมเป็นกรธ.ด้วยจะช่วยเรื่องความสะดวกและความเชื่อมโยงการทำงาน เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 กำหนดว่า กรธ.ต้องรับฟังความเห็นจากสนช.ด้วย และกำหนดให้สนช.ให้ความเห็นชอบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ สิ่งสำคัญที่สุดคือตำแหน่งประธานกรธ. หากได้บุคคลมาแล้ว เชื่อองค์ประกอบอื่นโดยเฉพาะสมาชิก กรธ.คงจะลงตัว
นายสุรชัย กล่าวว่า หลังจากได้รายชื่อกรธ.ครบทั้ง 21 คนแล้ว ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความคิดเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งใจว่าจะเรียกประชุมเพื่อกำหนดกรอบและทิศทางทำงานคู่ขนานกับกรธ. และจากนี้สนช.จะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้มากขึ้น หากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในตัวร่างรัฐธรรมนูญก็ช่วยให้รัฐธรรมนูญผ่านประชา มติได้
กกต.ถามคสช.คดี 2 กพ.โมฆะ
ที่โรงแรมคลาสสิค คามิโอ อยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า กกต.ต้องรอดูก่อนว่ากรธ.มีแนวโน้มปรับปรุงในส่วนของสำนักงานกกต.อย่างไรบ้าง หากไม่มีการปรับเปลี่ยน กกต.ก็คงไม่มีข้อเสนอถึงกรธ. ประเด็นสำคัญคือทำอย่างไรให้ผู้ทุจริตในการเลือกตั้งออกไปจากการเลือกตั้ง และเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้ เรื่องนี้ต้องให้กกต.มีอำนาจให้ใบเหลือง-ใบแดงก่อนประกาศผลเลือกตั้ง ไม่ใช่การหวงอำนาจ แต่กกต.ต้องมีอำนาจในส่วนนี้ และหากมีโอกาสก็จะเสนอใน กรธ.พิจารณาเรื่องการฟ้องคดีเลือกตั้ง ที่กกต.สามารถฟ้องคดีอาญา คดีเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และคดีแพ่งให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้
นายศุภชัยกล่าวถึงการฟ้องเรียกค่าเสียหาย 3,000 ล้านบาท กับผู้ที่ทำให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 เป็นโมฆะว่า คณะทำงานกำลังสืบสวนสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่ง ซึ่งมีผู้กระทำผิดจำนวนมาก จึงต้องชัดเจนว่าใครทำผิดบ้าง ขึ้นอยู่กับคณะทำงานจะพิจารณา กกต.กำชับให้เร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ส่วนการดำเนินคดีอาญาในเรื่องดังกล่าว มีการร้องทุกข์กับกองปราบปรามให้ดำเนินคดีแล้ว อย่างไรก็ตาม มูลค่าความเสียหายยังเป็นจำนวนเดิมที่สำนักงานเคยสรุป แต่จะมีดอกเบี้ยร้อยละ 7 ตั้งแต่วันละเมิดเพิ่มขึ้นมาด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้กกต.เคยทำหนังสือถึงคสช. เพื่อสอบถามถึงความชัดเจนในการทำคดีดังกล่าวว่าจะให้ชี้ขาดหรือให้ยกเลิกไปเลย เพราะมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ซึ่งอาจใช้เวลาสืบสวนสอบสวนนาน
ดีเจ.เสื้อแดงอุดรฯ พ้นคุก
เวลา 09.00 น. ที่ด้านหน้าเรือนจำกลางอุดรธานี นายขวัญชัย สาราคำ หรือขวัญชัย ไพรพนา อดีตแกนนำนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยภาคอีสาน พร้อมนางอาภรณ์ สาราคำ อดีต ส.ว.อุดรธานี และกลุ่มเพื่อนญาติกว่า 100 คน ไปรอรับการพ้นโทษของนายรัฐชาติ คำเพชร หรือ ดีเจ. ณัฐวืด อายุ 54 ปี อดีตดีเจ.ประจำสถานีวิทยุคลื่นคนเสื้อแดงอุดรธานี หลังถูกศาลตัดสินจำคุกในข้อหา เป็นผู้นำสั่งการ สั่งให้ทำลายทรัพย์สินทางราชการโดยมีอาวุธ เมื่อปี 2553 โดยเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางอุดรธานีเปิดประตูปล่อยตัวนายรัฐชาติ ในเวลา 11.00 น. มีกลุ่มผู้มารอรับส่งเสียงตะโกนด้วยความดีใจ ทันทีที่นายรัฐชาติ ออกมาก็ตรงเข้าไปสวมกอดนางบุญมี คำเพชร มารดา และนาง อรุณี กองทา ภรรยา ก่อนเดินไปหานายขวัญชัย ที่มีพวงมาลัยสีแดงมามอบให้ โดยนาย รัฐชาติได้เข้าสวมกอดนายขวัญชัยและก้มลงกราบเท้า จนทำให้นายขวัญชัย ไพรพนา กลั้นน้ำตาไม่อยู่เมื่อเห็นอิสรภาพของลูกน้องคนสนิท
นายรัฐชาติกล่าวว่า เมื่อช่วงปี 2551-52 เข้าร่วมกิจกรรมชมรมคนรักอุดร และเป็นดีเจ.ประจำสถานีวิทยุคนเสื้อแดงร่วมกับนายขวัญชัย ปี 2553 มีม็อบคนเสื้อแดงชุมนุมในเมืองกรุง พวกตนไปคัดค้านการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารลงไปที่กรุงเทพฯบริเวณเขต อ.โนนสะอาด จนถูกจับกุม สู้คดีจนถึงศาลฎีกาและถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปีครึ่งเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.57 และจำคุกนาน 1 ปีครึ่ง จึงพ้นโทษ
ด้านนายขวัญชัย เผยว่า ดีใจที่อดีตลูกน้องมีอิสรภาพ ตอนนี้ตนก็พักงานจัดรายการวิทยุไปตั้งแต่บาดเจ็บจากการถูกลอบยิง โดยสถานีวิทยุได้มอบให้ลูกสาวเป็นผู้บริหารดำเนินงาน จะให้ดีเจ.ณัฐวืด เข้าไปจัดรายการข่าวท้องถิ่นทั่วไป เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องกันไป
ขณะที่นางบุญมีกล่าวว่า ช่วงที่ลูกชายติดคุก มาเยี่ยมก็ร้องไห้ทุกที จนลูกชายไม่อยากให้มาเห็นสภาพในคุก ดีใจที่ลูกชายพ้นโทษอยากให้ลูกเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ภูมิใจที่ลูกเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรัฐชาติ เป็นนักจัดรายการเพลงลูกทุ่ง ก่อนมาร่วมงานกับนายขวัญชัย โดยมีเอกลักษณ์ น้ำเสียงลีลาการพูด คล้ายกับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรมช.พาณิชย์ จนได้ฉายา ณัฐวืด
พท.ชี้"บันคีมุน"เก็บข้อมูลไทย
นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายบัน คีมุน เลขาธิการยูเอ็นแสดงความเป็นห่วงพื้นที่ประชาธิปไตยของไทยที่แคบลงว่า แสดงให้เห็นว่าเลขาฯ ยูเอ็นเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทยมาโดยตลอด และเห็นว่าสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมา เช่น การเรียกฝ่ายประชาธิปไตยเข้าค่ายเพื่อปรับทัศนคติ แม้แต่นักวิชาการหรือสื่อมวลชนก็ถูกควบคุมตัว หรือการดำเนินคดีทางการเมืองทั้งที่หลักฐานก็ยังไม่ชัดเจน เป็นต้น เหล่านี้ล้วนทำให้เลขาฯยูเอ็นต้องแสดงความวิตกกังวล
นายวรชัย กล่าวว่า ยิ่งพล.อ.ประยุทธ์ยืดโรดแม็ปออกไปอีกเรื่อย จนล่าสุดบอกว่าเราจะเลือกตั้งกันในปี 2560 หากมีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญกันอีกก็คงจะต้องยืดโรดแม็ป ดึงเกมไปเรื่อยๆ เพื่อให้รัฐบาลอยู่ในอำนาจต่อ หากเป็นแบบนี้ความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติก็ไม่มีเหลือ เศรษฐกิจถดถอย ประชาชนถอยห่างจากความร่ำรวย ที่สำคัญสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ยิ่งห่างจากความเป็นประชาธิปไตย พล.อ.ประยุทธ์จะถูกต่อต้านและหมดความชอบธรรมในที่สุด
บิ๊กตู่หารือนายกฯฟิจิ
ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจการเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปีค.ศ. 2015 และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 70 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา วันที่ 23 ก.ย.-1 ต.ค.ว่า ภารกิจเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ซึ่งเป็นวันที่ 4 เวลา 10.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 11 ชั่วโมง ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ(ยูเอ็น)
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมว่าด้วยเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า:การส่งเสริมความเท่าเทียมในบริบทสุขภาพโลก และความมั่นคงของมนุษย์ในช่วงการพัฒนาภายหลังปีค.ศ. 2015 โดยระบุว่าไทยให้ความสำคัญกับสุขภาพที่ดีของประชาชน ลดความไม่เท่าเทียมระหว่างเมืองและชนบท สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการผลิตและพัฒนาบุคลากรสุขภาพ เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน
จากนั้นเวลา 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์หารือกับนายโจเซเอีย โวเรเก ไบนิมารามา นายกฯสาธารณรัฐฟิจิ โดยนายกฯ ขอบคุณนายกฯฟิจิ ให้กำลังใจประชาชนชาวไทยในเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ ยืนยันว่าสถานการณ์ในกรุงเทพมหานครกลับสู่ภาวะปกติแล้ว นอกจากนี้ไทยและฟิจิจะขยายความร่วมมือการค้าการลงทุนเนื่องจากสินค้าไทยจะเป็นที่ต้องการของฟิจิ เช่น ข้าวและเครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งฟิจิมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กระจายสินค้าของไทยในภูมิภาคแปซิฟิกและพร้อมให้ความร่วมมือด้านการพัฒนาสินค้าเกษตร
หนุนปฏิบัติการรักษาสันติภาพ
เวลา 14.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ. ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดเรื่องการรักษาสันติภาพ Peacekeeping Summit 2015 ว่าไทยภูมิใจที่ได้สนับสนุนปฏิบัติการรักษาสันติภาพของยูเอ็นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกยูเอ็น ได้ส่งทหารและตำรวจกว่า 20,000 คน เข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพต่างๆ ของยูเอ็น ตั้งแต่สงครามเกาหลี จนถึงความขัดแย้งในติมอร์-เลสเต ในซูดานและซูดานใต้
นายกฯกล่าวว่าไทยเน้นความสำคัญของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ ทำหน้าที่รักษาสันติภาพและเป็นนักพัฒนาด้วย จากประสบการณ์เข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพที่ติมอร์-เลสเต เจ้าหน้าที่ของไทยสามารถเข้าถึงชุมชนในพื้นที่ความขัดแย้งได้อย่างทั่วถึง พยายามทำความเข้าใจกับชุมชนและนำทักษะด้านการพัฒนาต่างๆ ไปเผยแพร่ ทั้งการเกษตร การบริหารจัดการน้ำและดินให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้คนท้องถิ่นหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง และพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต่อไปหลังความขัดแย้งยุติ ปัจจุบันยังมีความต้องการปฏิบัติการรักษาสันติภาพในพื้นที่ต่างๆ อยู่มาก ดังนั้นเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพจะต้องรับมือกับปัญหาท้าทายใหม่ๆ โดยต้องมองรอบด้านรวมถึงมิติการพัฒนาด้วย
จับมือปธน.โอบามา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมนายกฯ ได้พบปะทักทายโดยจับมือกับนาย บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการประชุม นายกฯได้ถ่ายภาพหมู่ร่วมกับผู้นำประเทศต่างๆ ก่อนที่จะเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรอง เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำและคณะผู้แทน โดยมีประธานาธิบดีสหรัฐ และนางมิเชล โอบามา ภริยา เป็นเจ้าภาพ
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เผยถึงการกล่าวถ้อยแถลงเรื่องสันติภาพของนายกฯ ว่าพล.อ.ประยุทธ์กล่าวชื่นชมสหรัฐและประเทศเจ้าภาพอื่นๆ ที่จัดการประชุมในเรื่องที่เป็นบทบาทสำคัญของยูเอ็นมาแล้ว 70 ปี และขอชื่นชมประเทศสมาชิกทั่วโลกที่ให้คำมั่นที่จะให้การสนับสนุนปฏิบัติการรักษาสันติภาพของยูเอ็น นอกจากนี้ นายกฯยังแสดงความเห็นว่าภารกิจการรักษาสันติภาพจะต้องมีความเข้มแข็งขึ้น เพื่อรับมือกับปัญหาท้าทายใหม่ๆ และต้องตระหนักว่าการป้องกันความขัดแย้ง การรักษาสันติภาพ การเสริมสร้างสันติภาพและการพัฒนา มีความเชื่อมโยงกัน และทั้งหมดเป็นรากฐานสำหรับสันติภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีสิทธิทางการเมืองและสังคม และยังต้องส่งเสริมและรักษาสิทธิของสตรีและเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้วย ไทยจึงเน้นความสำคัญของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ ทำหน้าที่รักษาสันติภาพและเป็นนักพัฒนาด้วย
โอบามาซัดแก้รธน.เพื่อตัวเอง
สำหรับสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐอเมริกา มีส่วนหนึ่งที่เอ่ยถึงประชาธิปไตยว่า การเป็นรัฐบาลต้องสะท้อนความต้องการของประชาชน ไม่ใช่กดขี่ ประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญในโลกที่เชื่อมโยงกันนี้ ประเทศที่มอบประชาธิปไตยให้ประชาชน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในการชุมนุม และศักดิ์ศรี จะเป็นประเทศที่แข็งแกร่ง ไม่ใช่อ่อนแอ เช่นเดียวกับโลกที่เลือกวิถีทางทูตแทนที่จะเป็นการใช้กำลังอาวุธ รัฐบาลที่กลัวประชาชนของตัวเอง สุดท้ายแล้วจะพังพินาศ และผู้นำคนใดที่แก้รัฐธรรมนูญให้อยู่ในอำนาจจะถือเป็นเรื่องที่ล้มเหลว เพราะไม่มีใครจะอยู่ในอำนาจได้ตลอดไป และจะแสดงให้เห็นว่า อำนาจของรัฐบาลเหล่านี้ยึดติดกับผลประโยชน์ ไม่ใช่ประชาชน
ประยุทธ์ ปลื้มทัวร์'ยูเอ็น'บรรลุเป้า เนื้อหอม-จับมือโอบามา กต.ประเมินน่าพอใจ สนช.รอ21อรหันต์ครบ เรียกถกคู่ขนานร่างรธน. พท.ดักคอยื้อโรดแมป
ชี้ลงทุนด้านสุขภาพประชาชนได้ประโยชน์ 'บิ๊กตู่'โชว์เวทียูเอ็น เผยไทยบรรลุหลักประกันสุขภาพตั้งแต่ปี 2002 จับมือทักทาย 'โอบามา' แถลงที่ประชุมใหญ่วันนี้
มติชนออนไลน์
@ ชี้ลงทุนสุขภาพชาติได้ประโยชน์
เมื่อวันที่ 29 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจการเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ.2015 และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23 กันยายน-1 ตุลาคม ว่า เมื่อเวลา 10.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) วันที่ 28 กันยายน ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมว่าด้วยเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : การส่งเสริมความเท่าเทียมในบริบทสุขภาพโลกและความมั่นคงของมนุษย์ในช่วงการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ.2015 (The Path towards Universal Health Coverage: The Promotion of Equitable Global Health and Human Security in the Post-2015 Development Era)
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การลงทุนในสุขภาพคือการลงทุนเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและเพื่อความมั่นคงของสังคม ดังนั้น ไทยจึงได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพที่ดีของประชาชน สอดคล้องตามเป้าหมายที่ 3 ของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะประชาชนที่มีสุขภาพดีจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับประเด็นสุขภาพและความมั่นคงของมนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ตามความจำเป็น และไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วยและค่ารักษาพยาบาลที่มีราคาแพง ด้วยบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน โดยคำนึงถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
@ เผยบรรลุประกันสุขภาพปี 2002
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ประเทศไทยได้บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 ด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาลตั้งแต่ ปี ค.ศ.1970 เป็นต้นมา ได้ขยายการลงทุนในโครงสร้างระบบบริการสุขภาพในทุกระดับ ทำให้มีการขยายความครอบคลุมของบริการสุขภาพ มีการกระจายบุคลากรสาธารณสุขตั้งแต่แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรและพยาบาลครอบคลุมทุกพื้นที่ ตลอดจนขยายการครอบคลุมบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ทั่วถึง และลดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเมืองและชนบท ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น
"นอกจากจะทำให้สุขภาพประชาชนดีขึ้นแล้ว ยังสามารถลดปัญหาความยากจนได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยพบว่าตลอด 12 ปีที่ผ่านมาของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ป้องกันครัวเรือนไม่ให้เกิดความยากจนเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากกว่า 1 แสนครัวเรือน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า รัฐบาลไทยยังมีนโยบายยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชน โดยวางรากฐานให้ระบบหลักประกันสุขภาพครอบคลุมประชากรในทุกภาคส่วนอย่างมีคุณภาพโดยไม่มีความเหลื่อมล้ำของคุณภาพบริการในแต่ละระบบประกันสุขภาพ เน้นการป้องกันโรคมากกว่ารอให้ป่วยแล้วจึงมารักษา
@ ถกฟิจิขยายร่วมมือการลงทุน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ ได้หารือกับนายโจเซเอีย โวเรเก ไบนิมารามา นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฟิจิ ที่สำนักงานใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับในโอกาสที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ Pacific Island Development Forum (PIDF) ครั้งที่ 3 ในฐานะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล รวมทั้งได้อำนวยความสะดวกในการจัดนิทรรศการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีฟิจิ ที่ให้กำลังใจประชาชนชาวไทยในเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ ซึ่งยืนยันว่าสถานการณ์ในกรุงเทพมหานครกลับสู่ภาวะปกติแล้ว สำหรับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทย-ฟิจิ มีความต่อเนื่องใกล้ชิด รวมทั้งจะขยายขอบข่ายและส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้นต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้าและการลงทุน เนื่องจากสินค้าไทยจะเป็นที่ต้องการของฟิจิ เช่น ข้าวและเครื่องอุปโภคบริโภค
@ ไทยพร้อมร่วมส่งเสริมสันติภาพ
เวลา 14.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดเรื่องการรักษาสันติภาพ Peacekeeping Summit 2015 ว่า ขอชื่นชมสหรัฐอเมริกาและประเทศเจ้าภาพอื่นๆ ที่จัดการประชุมในเรื่องที่เป็นบทบาทสำคัญของสหประชาชาติมาแล้ว 70 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้ง ประเทศไทยขอชื่นชมประเทศสมาชิกหลายประเทศทั่วโลกที่ได้ให้คำมั่นที่จะให้การสนับสนุนปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ
"ไทยภูมิใจที่ได้สนับสนุนปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกมาเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี พ.ศ.2489 ส่งทหารและตำรวจจำนวนกว่า 20,000 นาย เข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพต่างๆ ของสหประชาชาติ ตั้งแต่สงครามเกาหลี จนถึงความขัดแย้งในติมอร์-เลสเต ตลอดจนในซูดาน และซูดานใต้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า อาณัติของภารกิจรักษาสันติภาพจะต้องมีความเข้มแข็งขึ้น เพื่อรับมือกับปัญหาท้าทายใหม่ๆ และจะต้องตระหนักว่า การป้องกันความขัดแย้ง การรักษาสันติภาพ การเสริมสร้างสันติภาพ และการพัฒนา มีความเชื่อมโยงกัน และทั้งหมดเป็นรากฐานสำหรับสันติภาพอย่างยั่งยืน สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดี มีสิทธิทางการเมืองและสังคม และต้องส่งเสริมและรักษาสิทธิของสตรีและเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้วย ดังนั้นไทยจึงเน้นความสำคัญของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ ทำหน้าที่รักษาสันติภาพและเป็นนักพัฒนาด้วย
@ ชูผลักดันสตรีส่งเสริมสันติภาพ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไทยเชื่อว่าการเสริมสร้างและผลักดันเรื่องสตรี สันติภาพ และความมั่นคง เชื่อมโยงโดยตรงกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการก่อให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน แต่ยังมีสตรีในปฏิบัติการรักษาสันติภาพและในกระบวนการเจรจาสันติภาพทั่วโลกในจำนวนน้อย หลักฐานจากรายงานที่ไทยร่วมจัดทำกับสถาบันสันติภาพระหว่างประเทศ (International Peace Institute) ในปีนี้ บ่งชี้ว่าเมื่อสตรีมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพ มีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่จะสามารถบรรลุความตกลงสันติภาพได้ พร้อมทั้งดำเนินการตามความตกลงนั้นได้
"ปัจจุบันยังมีความต้องการปฏิบัติการรักษาสันติภาพในพื้นที่ต่างๆ อยู่มาก และเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพจะต้องรับมือกับปัญหาท้าทายใหม่ๆ โดยต้องมองให้รอบด้าน ให้รวมถึงมิติการพัฒนาด้วย ไทยจึงขอยืนยันความตั้งใจว่าไทยจะส่งนายทหารฝ่ายเสนาธิการและหน่วยทหารด้านการพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนและด้านวิศวกรรมการก่อสร้าง เข้าร่วมในปฏิบัติการสันติภาพของสหประชาชาติในอนาคตตามที่ได้รับการร้องขอ และพร้อมที่จะร่วมมือเพิ่มเติมกับสหประชาชาติและประเทศอื่นๆ เพื่อจัดการอบรมเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ โดยใช้ประโยชน์จากศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ กองบัญชาการกองทัพไทย ขอบคุณประธานาธิบดีบารัค โอบามา อีกครั้งที่ได้ริเริ่มการประชุมที่สำคัญครั้งนี้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์พบปะทักทายกับนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ถ่ายภาพหมู่ร่วมกับผู้นำประเทศต่างๆ ก่อนที่จะเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรอง เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำและคณะผู้แทน มีนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและนางมิเชล โอบามา ภริยา เป็นเจ้าภาพ
@ บิ๊กตู่ขึ้นแถลงต่อที่ประชุมใหญ่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์จะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ที่นครนิวยอร์ก วันที่ 29 กันยายน เวลาประมาณ 20.00-21.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณ 07.00- 08.00 น. ตามเวลาประเทศไทย วันที่ 30 กันยายน จะใช้เวลาแถลงประมาณ 15 นาที จากนั้นวันที่ 30 กันยายน คณะ พล.อ.ประยุทธ์จะออกเดินทางจากสหรัฐอเมริกาไปยังกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น เพื่อเปลี่ยนเครื่องก่อนจะเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ วันที่ 1 ตุลาคม เวลา 21.55 น.
@ กต.ชี้'บิ๊กตู่'ถกยูเอ็นบรรลุเป้า
นักการทูตระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศประเมินว่าการร่วมการประชุมยูเอ็นระดับผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และการประชุมสมัชชายูเอ็นสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เห็นได้จากการที่ผู้นำไทยได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมกล่าวถ้อยแถลงในหลายเวที นอกเหนือจากเวทีหลักซึ่งหลายประเทศเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมดังกล่าว อาทิ การประชุมสุดยอดเรื่องการรักษาสันติภาพที่จัดขึ้นโดยสหรัฐ การประชุมว่าด้วยเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : การส่งเสริมความเท่าเทียมในบริบทสุขภาพโลกและความมั่นคงของมนุษย์ในช่วงการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ.2015 เวทีหารือว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศที่จีนเป็นเจ้าภาพจัด การพูดคุยเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำซึ่งหลายประเทศรวมถึงยูเอ็นดีพีร่วมกันจัดขึ้น
"การที่ผู้นำประเทศใดได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมหรือกล่าวถ้อยแถลงในแต่ละเรื่องเป็นสิ่งสะท้อนว่าประเทศอื่นๆ เห็นว่าไทยมีความโดดเด่นในเรื่องนั้นๆ สามารถแบ่งปันประสบการณ์รวมถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับนานาประเทศได้ เพราะการหารือแต่ละกรอบนั้นสถานที่ประชุมมีจำกัด เจ้าภาพจะเลือกเชิญเฉพาะผู้นำบางประเทศเท่านั้น ไม่ใช่เวทีที่เปิดให้ทุกประเทศเข้าร่วมได้ จึงแสดงให้เห็นว่าเขาเห็นบทบาทของไทยในเรื่องดังกล่าว" นักการทูตกล่าว และว่า ขณะที่การที่ไทยได้รับเลือกให้เป็นประธานกลุ่ม 77 ซึ่งเป็นความร่วมมือระดับรัฐบาลของประเทศที่กำลังพัฒนาในช่วงเวลาสำคัญของการนำเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลัง ค.ศ.2015 ที่ผู้นำเพิ่งรับรองไปสู่การปฏิบัติ ก็แสดงว่าชาติสมาชิกไว้วางใจให้ไทยทำงานเป็นปากเป็นเสียงและเป็นสะพานระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงองค์กรอื่นๆ ด้วย
@ เผยหลายปท.ขอพบ-เรียนรู้
นักการทูตกล่าวอีกว่า ในการหารือทวิภาคีของทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้พบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน นายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ รวมถึงประเทศในหมู่เกาะต่างๆ แม้ใครจะมองเป็นประเทศเล็กแต่ก็มีความสำคัญ เพราะหลายประเทศเป็นฝ่ายขอพบกับผู้นำไทย ซึ่งแสดงว่าเขาเห็นว่าไทยมีความน่าสนใจและสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันได้ ขณะที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังพบปะหารือทวิภาคีกับนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ และนายฮิวโก สไวร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ ในระหว่างเข้าร่วมการประชุมด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่าการเดินทางครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ
@ พท.ดักคอยื้อโรดแมปศก.เจ๊ง
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่นายบัน คีมุน เลขาธิการยูเอ็น แสดงความเป็นห่วงพื้นที่ประชาธิปไตยของไทยที่แคบลงว่า แสดงให้เห็นว่าเลขาธิการยูเอ็นเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทยมาโดยตลอด และเห็นว่าสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมา เช่น การเรียกฝ่ายประชาธิปไตยเข้าค่ายเพื่อปรับทัศนคติ แม้แต่นักวิชาการหรือสื่อมวลชนก็ถูกควบคุมตัว หรือการดำเนินคดีทางการเมืองทั้งที่หลักฐานก็ยังไม่ชัดเจน เป็นต้น เหล่านี้ล้วนทำให้เลขาธิการยูเอ็นต้องแสดงความวิตกกังวล
"ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ยืดโรดแมปออกไปอีกเรื่อยๆ จนล่าสุดบอกว่าจะเลือกตั้งกันในปี 2560 หากมีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญกันอีก คงจะต้องยืดโรดแมป ดึงเกมไปเรื่อยๆ เพื่อให้รัฐบาลอยู่ในอำนาจต่อ หากเป็นแบบนี้ความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติก็ไม่มีเหลือ เศรษฐกิจถดถอย ประชาชนถอยห่างจากความร่ำรวย ที่สำคัญสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ยิ่งห่างจากความเป็นประชาธิปไตย พล.อ.ประยุทธ์จะถูกต่อต้านและหมดความชอบธรรมในที่สุด" นายวรชัยกล่าว
ทั้งนี้ ในเนื้อหาในจดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชนฉบับดังกล่าวได้มีการเผยแพร่ "วาทะนายกรัฐมนตรี" ในพิธีเปิดเวทีจุดประกายสานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เมื่อวันที่ 20 กันยายน ระบุว่า "ประเทศไทยเป็นประชารัฐ ไม่มีคำว่าประชานิยม ประชารัฐหมายถึงประชาชนกับรัฐบาลร่วมกัน รัฐบาลจะเป็นผู้ที่อำนวยความสะดวกเปิดช่องทางให้เอกชน ประชาชน เข้ามาร่วมมือกันตามกระบวนการประชาธิปไตย"
@ รอบิ๊กตู่เคาะให้สนช.ร่วมกรธ.
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการสรรหาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในสัดส่วนสนช.จะเข้าร่วม ว่าเป็นหน้าที่ของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ที่ต้องดำเนินการ เบื้องต้นก็คงต้องรอให้ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางกลับมาจากการประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐเสียก่อน เชื่อว่ารายชื่อ กรธ.น่าจะจัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอให้ พล.อ.ประยุทธ์พิจารณาอีกครั้ง สำหรับสัดส่วนของ สนช.ในการเข้าไปเป็น กรธ.นั้น คงไปเคาะจำนวนตัวเลขเองไม่ได้ เป็นเรื่องที่นายกฯต้องดูตามความเหมาะสม
@ ขออุบชื่อปธ.กรธ.กลัวไม่ได้
นายสุรชัย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือตำแหน่งประธาน กรธ. เพราะหากได้บุคคลที่จะมาทำหน้าที่ประธานแล้วก็เชื่อว่าองค์ประกอบอื่นโดยเฉพาะ กรธ.คงจะลงตัว ดังนั้นต้องรอให้ทาง พล.อ.ประยุทธ์คุยกับทางว่าที่ประธาน กรธ.เสียก่อน แต่ไม่อยากไปเอ่ยชื่อใคร เพราะถ้าไปเอ่ยชื่อแล้วคนนั้นไม่ได้รับเลือกอาจจะทำให้เสียกำลังใจได้ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะตัดสินใจอย่างไร
"หลังจากได้รายชื่อ กรธ.ครบทั้ง 21 คนแล้ว ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความคิดเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งใจว่าจะเรียกประชุมเพื่อกำหนดกรอบและทิศทางในการทำงานคู่ขนานไปกับ กรธ. และจากนี้ไป สนช.จะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้มากขึ้น เนื่องจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องให้ประชาชนมามีส่วนร่วม เพราะหากประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจในตัวร่างรัฐธรรมนูญ จะช่วยให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติได้" นายสุรชัยกล่าว