- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 25 September 2015 09:41
- Hits: 8982
วิษณุ ทาบแล้ว-ปธ.กรธ. มีชัยยังกั๊ก บิ๊กป้อมปูดพท.ชิงสปท. เสี่ยอ้วนยันพรรคไม่ยุ่ง ฎีกาคุก'ธิลิ้ม'-รออาญา หมิ่นตระกูล'ดามาพงศ์'
'วิษณุ'เจรจาทาบ'มีชัย'นั่งประธานกรธ.แล้ว เจ้าตัวขอให้คำตอบหลัง'บิ๊กตู่'กลับจากยูเอ็น 'พรเพชร' หนุนสุดตัว เลือกคนในคสช.ก่อน ส่วน 'อานันท์"เป็นทางเลือก 'บิ๊กป้อม'แฉมีสมาชิกเพื่อไทยสมัครเป็นสปท.ด้วย ภูมิธรรม ย้ำถ้าเป็นต้องลาออกจากพรรค 'อียู'ร่อนแถลงการณ์จี้ไทยคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว 'ไก่อู'สวนฮิวแมนไรต์ฯ กดดันเร่งจัดเลือกตั้ง ลั่นไม่ต้องการฉาบฉวย ศปมผ.พร้อมรับอียูประเมินปัญหาประมงไทย 12-23 ต.ค. "ประวิตร"รับได้ถ้าคงแค่ใบเหลือง ศาลฎีกายืนจำคุก 6 เดือน"สนธิ-สโรชา"คดีหมิ่นดามาพงศ์ แต่ให้รอลงอาญา 3 ปี
วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9067 ข่าวสดรายวัน
ปิงปอง - นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ตีปิงปองกับ นายหนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตจีน ในระหว่างพาชมนิทรรศการฉลอง 40 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 24 ก.ย.
'วิษณุ'ทาบ'มีชัย'นั่งปธ.กรธ.
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการทาบทามนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษา และสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ว่า ขณะนี้ได้พูดคุยทาบทามนายมีชัย แล้วซึ่งนายมีชัย ระบุขอ กลับไปคิดก่อน เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ และไม่อยากเข้ามาอยู่ในความวุ่นวายเหล่านี้ ส่วนเงื่อนไขทางกฎหมายไม่ได้ระบุว่าหากนายมีชัย เป็นประธานกรธ.แล้ว ต้องออกจากสมาชิกคสช. ที่ผ่านมาตอนเป็นสมาชิกคสช.นายมีชัย ก็ไม่ค่อยมาประชุมอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากนายมีชัยปฏิเสธ มองบุคคลอื่นไว้แทนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขอไม่พูด หากเอาชื่อเขามาเป็นข่าวคงไม่ดี ส่วนรายชื่อคงมีไว้อยู่แล้วเพราะตนไม่ได้เลือกเพียงคนเดียว มีคนอื่นๆ ร่วมติดต่อหาบุคคลไว้เช่นกัน และชื่อจะซ้ำกับคนอื่นหรือไม่ยังไม่รู้ จากนั้นจะนำรายชื่อมารวมกันเพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาแต่งตั้ง ส่วนนายมีชัย ยังมีเวลาตัดสินใจก่อนที่นายกฯ จะกลับจากประชุมยูเอ็น เพราะนายมีชัย ถามว่านายกฯ จะกลับเมื่อไร เมื่อทราบว่าวันที่ 1 ต.ค. เขาจึงบอกว่าค่อยเอาไว้พูดกัน
นักกฎหมายรุ่นใหม่-ผู้หญิงร่วม
"ส่วนกรธ. ได้พบกับบางคน ถ้าจะพูดกันจริงๆ ถือว่าได้เยอะแล้ว มากกว่าที่ผมเคยบอกในคราวก่อนว่ายืนรออยู่บนท่า 4-5 คน วันนี้มีมากขึ้นแล้ว แต่บางคนยังมีเงื่อนไขอยู่ หลายคนถามว่าใครเป็นประธานกรธ. เช่น ถ้าคนนั้นไม่เป็นก็ไม่เอา คนนั้นเป็นถึงจะเอา และยังมีคนที่ขอเคลียร์เรื่องคุณสมบัติ ขณะที่บางคนคิดถึงเรื่องความเร่งรัดของเวลา ถ้าทำแบบเอ้อระเหย ก็พอมาทำให้ได้ ซึ่งต้องเห็นใจว่าต้องทำแบบรีบ และต้องตัดสินใจว่าจะลาออกจากงานเก่าของเขาด้วย แต่บอกไม่ได้ว่ามีการทาบทามจำนวนเท่าไร แต่ถือว่าเกิน 21 คนไปแล้ว เพราะใช่ว่าเขาจะรับทุกคน"นายวิษณุกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีชื่อนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่เคยบอกว่าอยากได้บ้างหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มี แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ นักกฎหมายรุ่นใหม่เหล่านั้นจะรับหรือไม่ หลังจากคุยกันแล้วบุคคลต่างๆ ก็มีเงื่อนไขของตนเอง เช่น นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตคณะกรรมา ธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นคนเก่ง แต่ในความเก่งนั้นต้องคิดหลายอย่างทั้งความรู้และประสบการณ์ เราต้องการทุกอย่างผสมกัน และในกรธ.จะมีสมาชิกเป็นผู้หญิงด้วย
ยันไม่ชี้นำ-กรธ.ร่างรธน.เอง
ต่อข้อถามว่าคณะทำงานได้วิเคราะห์สาเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 ถูกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติไม่เห็นชอบและจะสานงานด้านอื่นด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี เมื่อวิเคราะห์เสร็จถือว่าจบ คณะทำงานชุดนี้ไม่มีเงินเดือน ไม่มีเบี้ยประชุม แต่วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อรับทราบและปรับปรุงแก้ไข แต่ไม่ถึงขั้นการศึกษาเพื่อใช้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเป็นหน้าที่ของ กรธ.ทั้ง 21 คน ที่ต้องทำเอง คณะทำงานชุดนี้ดูเพียงว่าร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2558 มีปัญหาอย่างไร ซึ่งบางเรื่องเป็นปัญหาด้านความรู้สึก เช่น ไม่ว่าเขียนออกมาอย่างไรก็ไม่ชอบ เพราะเกี่ยวข้องกับคสช. บางเรื่องเกี่ยวกับการเมือง เช่น อยากให้รัฐบาลอยู่ต่อ แต่บางเรื่องเกี่ยวข้องด้านนิติศาสตร์
นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย เสนอแนวทางสร้างปรองดองโดยให้รัฐบาลเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายว่า เป็นข้อเสนอหนึ่งที่ผู้มีอำนาจทั้งคสช.และรัฐบาลรับฟัง จากนั้นจะนำมาพิจารณาว่าจะผ่อนคลายเพื่อให้บรรยากาศดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง เมื่อเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ หรือการรณรงค์เพื่อลงประชามติจะต้องผ่อนปรนความตึงเครียดลง เพื่อสนับสนุนบรรยากาศพูดคุยและปรองดอง รัฐบาลพูดมาตลอด และชี้แจงกับทูตนานาประเทศว่า ขณะนี้ประเทศอยู่ในช่วงไม่ปกติ แม้ไม่มีปัญหาตีกัน แต่รัฐบาลไม่สามารถจัดเสรีภาพให้ประชาชนได้เต็มที่ นี่คืออาฟเตอร์ช็อกของการยึดอำนาจ
'มีชัย'ยังแทงกั๊ก
"ต้องเห็นใจคสช.ว่าต้องการเวลาแก้ปัญหา ขณะนี้อยู่ในระยะที่สองของโรดแม็ป และนับจากนี้อีก 20 เดือน แต่อาจเร็วกว่านั้นหรือประมาณ 11 เดือน จะเข้าสู่โรดแม็ประยะที่สาม คือการเลือกตั้ง ดังนั้น เวลานี้จะมาคาดหมายให้ทุกอย่างเป็นเหมือนก่อนที่คสช.จะเข้ามานั้นเป็นไปไม่ได้ เราจึงต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นบรรยากาศที่ผ่อนคลาย แต่การกดดันนั้นมาจากหลายฝ่ายจึงขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายว่า การแสดงความเห็นทำได้ แต่ทุกคนต้องระงับยับยั้ง ไม่ให้ยั่วยุจนเกินไป" นายวิษณุ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมีชัย ตอบข้อซักถามผ่านทางเว็บ มีชัย ไทยแลนด์ ดอทคอม ถึงกรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ย. มีข่าวออกมาทางสื่อทีวีช่องหนึ่ง ระบุปฏิเสธรับนั่งประธาน กรธ.โดยให้เหตุผลว่าเป็นหน้าที่คนรุ่นใหม่ และที่ผ่านมายังไม่มีใครมาทาบทามว่า "เป็นความไม่จริงโดยสิ้นเชิง เจ้าหน้าที่ของช่องนั้นได้มาขอโทษ และเล่าให้ฟังว่า ได้โทร.ไปสัมภาษณ์บุคคลท่านหนึ่ง โดยเข้าใจว่าเป็นผม แต่ที่แท้เป็นคุณมีชัย วีระไวทยะ เขาเล่าว่าอย่างนั้น จนถึงทุกวันนี้ผมยังไม่เคยให้สัมภาษณ์ใคร เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะเที่ยวได้ไปให้สัมภาษณ์"
'พรเพชร'เชียร์คนกันเอง
ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานฉลองครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนายหนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เข้าร่วม โดยก่อนเริ่มพิธีเปิดงาน มีการตีปิงปองระหว่างนายพรเพชรกับนายหนิง ฟู่ขุย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย และภายในงานยังจัดนิทรรศการความสัมพันธ์ ซึ่งมีการชงชา แสดงดนตรี ประจำชาติของไทยและจีน
จากนั้นนายพรเพชร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายวิษณุ ทาบทามนายมีชัย เป็นประธานกรธ.ว่า นายมีชัยเป็นส่วนหนึ่งของคสช.อยู่แล้ว โดยนายวิษณุ นายมีชัย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ.ยกร่างฯ และตน อยู่กับคสช.ตั้งแต่แรก ดังนั้น เมื่อมีภารกิจก็ต้องนึกถึงผู้ที่อยู่ด้วยกันมาก่อน ซึ่งนายมีชัยเป็นที่ปรึกษาคสช. มีตำแหน่งอยู่แล้ว การทาบทามจึงถูกต้องและมาเป็นได้เลย ไม่ต้องแก้กฎหมาย ส่วนนายบวรศักดิ์คงไม่กลับมาอีก
คุก 6 เดือน - นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำม็อบพันธมิตรฯ เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมิ่นประมาทตระกูลดามาพงศ์ โดยศาลตัดสินให้จำคุกนายสนธิกับพวกรวม 4 คน คนละ 6 เดือน ปรับคนละ 5 หมื่นบาท โทษจำรอลงอาญา 3 ปี ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 24 ก.ย. |
ระบุ'อานันท์'แค่ทางเลือก
เมื่อถามว่านายมีชัยมีความเหมาะสมหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า เป็นสิ่งที่คนอื่นประเมิน ส่วนคสช.พิจารณาบนหลักการที่ตนพูดคือร่วมหัวจมท้ายกันมาก่อน ส่วนชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯนั้น เป็นทางเลือก แต่เราต้องดูคนของเราก่อน การทาบทามต้องเรียงตามความเหมาะสม ถ้าข้ามฟากไปต้องมีเหตุผลพิเศษ แต่ไม่ได้หมายความว่าปิดกั้นคนอื่น คสช.จะหาคนที่เหมาะสมหรือคนที่อยากเป็นก็ให้เข้ามา แต่ตนไม่ได้สัญญาณจากนายอานันท์
นายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนสมาชิกกรธ.ไม่มีปัญหา แต่ที่ยังไม่ลงตัวคือประธานกรธ. และตนคงไม่เหมาะสมจะนั่งประธานกรธ. ถ้าจะไปเป็นต้องแก้กฎหมาย ส่วนสมาชิกกรธ.นั้น ไม่ใช่เฉพาะสนช.บางส่วนที่เสนอตัว ยังมีอีกหลายส่วนที่เสนอตัวเข้ามาด้วย แต่คนตัดสินใจคือ คสช. โดยมีหลักพิจารณา 2 ปัจจัยคือ 1.ดุลพินิจของหัวหน้าคสช. 2.คนที่จะมาเป็นประธานกรธ.
"ส่วนข้อเสนอให้สนช.พิจารณาออกกฎหมายลูกไปก่อนนั้น หากรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนในหลักการแต่เนิ่นๆ ก็ร่างกฎหมายลูกไปพลางๆ ได้ แต่ถ้ารัฐธรรมนูญยังโลเล สนช.คงไม่อยากร่างฟรี ในฐานะประธานสนช.ต้องดูทิศทาง ถ้ามีสนช.เป็นกรธ.ด้วยก็ดี จะได้รู้ทิศทางเพื่อเตรียมการได้ถูกต้อง ระหว่างนี้สนช.สามารถเตรียมการไปก่อนได้ ถ้าไม่มีอะไรที่เหาะเหินเกินลงกาแบบที่นายวิษณุบอก" นายพรเพชรกล่าว
'บิ๊กป้อม'แฉพท.ดอดสมัครสปท.
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีรายชื่อกรธ.แล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนต้องรอให้นายกฯเป็นคนตัดสินใจ ซึ่งตนจะทราบรายชื่อพร้อมกับประชาชน ส่วนที่นายวิษณุ ทาบทามนายมีชัยเป็นประธาน กรธ.นั้น ตนยังไม่ทราบ เท่าที่รู้ขณะนี้มีรายชื่อของสมาชิกพรรคเพื่อไทย เข้าสมัครเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)อยู่บ้างแต่ไม่ขอเปิดเผยรายชื่อดังกล่าว
ส่วนกรณีมีกลุ่มเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลยกเลิกการใช้มาตรา 44 พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า หากไม่มีมาตรา 44 แล้วประเทศเดินหน้าได้ ไม่เกิดความขัดแย้งก็ดี แต่เป็นเรื่องยากที่จะขอความร่วมมือไม่ให้กลุ่มการเมืองเคลื่อนไหว ยืนยันว่ารัฐบาลและคสช. เดินตามโรดแม็ป และมีแนวทางที่ชัดเจน
'เสี่ยอ้วน'ลั่นไม่เกี่ยวพรรค
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประวิตร ระบุมีสมาชิกพรรคเพื่อไทยเข้าสมัครเป็นสปท. อยู่บ้างแต่ไม่ขอเปิดเผยรายชื่อว่า พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค เคยออกแถลงการณ์ชัดเจนแล้ว ว่าพรรคเพื่อไทยไม่สามารถส่งใครเข้าร่วม สปท.ในนามพรรคได้ หากใครได้รับการประสานมาถือเป็นเรื่องที่ผู้ดำเนินการต้องประสานกับตัวสมาชิกพรรคเอง ถ้าใครประสงค์เข้าร่วมถือเป็นสิทธิและเป็นดุลพินิจ แต่ต้องลาออกจากสมาชิกพรรคตามจุดยืนที่หัวหน้าพรรคระบุไว้
"ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีอดีต ส.ส.รายใดยื่นใบลาออกอย่างเป็นทางการเพื่อสมัครเป็น สปท. ส่วนที่พล.อ.ประวิตรพูดนั้น ผมไม่ทราบว่าพูดในลักษณะใด จึงไม่อยากวิจารณ์ แต่ใครจะพูดอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับคำยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ส่งใครเข้าร่วมเป็น สปท.อย่างแน่นอน"นายภูมิธรรมกล่าว
ขู่รธน.ใหม่มีตำหนิป่วนแน่
นายสามารถ แก้วมีชัย คณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข่าวนายมีชัย จะมานั่งเป็นประธานกรธ.ว่า สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคลแล้ว แต่อยู่ที่ร่างแล้วมีรายละเอียดอย่างไร เวลานี้ใครมาเป็น กรธ.ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะบ้านเมืองนี้คงวนเวียนอยู่แบบนี้ ถ้าเขียนออกมาสอดคล้องกับประชาธิปไตย คนส่วนใหญ่รับได้ก็ไปได้ แต่ถ้าเขียนแบบมีตำหนิ มีวาระซ่อนเร้นอยู่ก็มีปัญหา
นายสามารถ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะต่างจากครั้งที่แล้ว ซึ่งครั้งที่แล้วยังมี สปช.พิจารณาว่าจะผ่านหรือไม่ แต่ครั้งนี้ไม่ต้องผ่านอะไรแล้ว ดังนั้น ประชาชนจะจับตามองการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างใกล้ชิด อยู่ที่คนร่างว่าจะร่างออกมาแบบไหน ถ้าร่างออกมาแบบมีข้อข้องใจมาก คงไม่ถึงขั้นทำประชามติ แต่ประชาชนจะออกมาแซ่ซ้องสรรเสริญเอง อย่างเช่นกรณีร่างพิสดารของนายวิษณุ แค่ออกมาพูด นักการเมืองก็ส่งเสียงต้านกันมากแล้ว
อียูจี้ไทยคืนปชต.โดยเร็ว
วันเดียวกัน สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ย้ำให้รัฐบาลไทยเคารพหลักสิทธิเสรีภาพและปฏิบัติตามข้อผูกพันระหว่างประเทศเพื่อทำให้ไทยกลับคืนสู่กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย โดยระบุว่า แถลงการณ์ฉบับนี้โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกอียูประจำประเทศไทย โดยขอยืนยันในความมุ่งมั่นของอียูต่อประชาชนชาวไทย ซึ่งอียูมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและยาวนานทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม และการติดต่อเชื่อมโยงระดับประชาชน ในฐานะมิตรและหุ้นส่วนของประเทศไทย อียูได้เรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้มีการกลับเข้าสู่กระบวนการทางประชาธิปไตย
ในช่วงเวลาที่เริ่มมีกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทางสำนักงานคณะ ผู้แทนอียู ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมอีกครั้ง การอภิปรายสาธารณะที่ทำได้อย่างเต็มรูปแบบและเสรีเท่านั้น ที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ จะสามารถได้ยินได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการปฏิรูปและความสมานฉันท์ที่แท้จริง
สำนักงานคณะผู้แทนอียู เชื่อว่าหลักนิติธรรมการปกป้องและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญแก่ความมั่นคงและความก้าวหน้า และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทางการไทยปฏิบัติตามข้อผูกพันของไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง
'ไก่อู'สวนฮิวแมนไรต์ วอตช์
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีองค์กร ฮิวแมนไรต์ วอตช์ แถลงการณ์เรียกร้องให้ สมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กดดันพล.อ.ประยุทธ์ เร่งจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ในช่วงที่นายกฯเข้าร่วมประชุมยูเอ็นที่สหรัฐวันที่ 23 ก.ย.-1 ต.ค.ว่า รัฐบาลชุดนี้มีเจตนาฟื้นฟูและวางรากฐานระบอบประชา ธิปไตยให้มีความเข้มแข็งในอนาคต ไม่ต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบฉาบฉวย หรือกล่าวอ้างการเลือกตั้งเป็นทางออกเดียวในการแก้ปัญหาของประเทศ แต่ต้องการใช้โอกาสนี้ ปฏิรูปทุกภาคส่วน ทุกมิติ ให้เดินคู่ขนานไปเพื่อทำให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง
"เวทียูเอ็น เป็นหนึ่งในเวทีที่พล.อ. ประยุทธ์จะส่งสัญญาณถึงนานาชาติต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของรัฐบาล ว่าได้เดินตามโรดแม็ปที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ชัดเจน และได้รับกำลังใจจากคนไทยจำนวนมากทั้งในประเทศและทั่วโลก เพราะทุกคนเชื่อมั่นว่าเมื่อถึงกำหนดเวลาเลือกตั้งตามโรดแม็ป ทุกอย่างจะโปร่งใส มีความพร้อม ส่งไม้ต่อทางการเมืองทำให้ประเทศชาติดีขึ้น เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง" พล.ต. สรรเสริญ กล่าว
ยัน'บิ๊กตู่'ช้ม.44 สร้างสรรค์
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนกรณีฮิวแมน ไรต์ วอตช์ อ้างรัฐบาลใช้มาตรา 44 ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือทำลายคนเห็นต่างนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ใช้มาตรา 44 ในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อปฏิรูปและขับเคลื่อนประเทศ แก้ปัญหาที่ซับซ้อนในเวลาที่จำกัด เช่น 3 เรื่องหลักๆ คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาบริหารงาน และการปราบปรามการทุจริต ขณะที่การเชิญให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปปรับทัศนคตินั้น ส่วนใหญ่มีความเห็นทางการเมืองที่รุนแรง อาจนำไปสู่ความแตกแยกของคนในชาติ หรือกลับไปสู่วังวนเดิม ซ้ำเติมประเทศไม่จบสิ้น โดยรัฐบาลยังคงสนับสนุนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนอย่างเต็มที่ ไม่ได้มี คำสั่งห้าม ปิดกั้น หรือไม่ให้วิจารณ์ แต่ต้องอยู่ในขอบเขต และจรรยาบรรณของวิชาชีพ มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมือง
ที่กระทรวงกลาโหม พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า วันนี้นายเพเทอร์ พรือเกิล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศ ไทย และคณะเข้าเยี่ยมคำนับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ โดยได้แสดงถึงความเข้าใจและความจริงใจต่อความพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลไทย และพร้อมให้การสนับสนุนไทย เพื่อให้เกิดกระบวนการทางการเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่โปร่งใส ขณะที่พล.อ.ประวิตร ยืนยันถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่จะพัฒนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้มีความสมบูรณ์ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เป็นสากล โดยความร่วมมือกับภาคประชาชน
'บิ๊กเอก'ฟิต-ศึกษางานปลัด
เมื่อเวลา 08.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผบ.ตร. ในฐานะว่าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เข้าเยี่ยมคารวะม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ และหารือข้อราชการ ใช้เวลาพูดคุย 30 นาที โดยม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า ทราบว่าพล.ต.อ.เอก ทำงานเต็มที่และเมื่อมารับตำแหน่งปลัดสปน. แล้วเชื่อว่าจะช่วยงานให้ดีขึ้น ทำให้สปน.มีเกียรติและศักดิ์ศรีต่อไป
พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า ได้พูดคุยถึงการทำงาน แต่ขอให้มีการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งก่อน ซึ่งตนทราบล่วงหน้าเพียง 1 วันก่อนมีการแต่งตั้ง ถือเป็นความกรุณาของนายกฯ ที่มอบหมายให้ทำหน้าที่นี้
'หัสวุฒิ'นัดแถลงตอบโต้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.) พิจารณาวาระสอบสวนทางวินัย นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุม ก.ศป. ซึ่งเหลืออยู่ 6 เสียง เนื่องจากนายวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช กรรมการ ก.ศป. ติดภารกิจจึงออกจากที่ประชุมไปก่อน มีมติเอกฉันท์ 6 ต่อ 0 เสียง ให้นายหัสวุฒิ ออกจากราชการ และพ้นจากประธานศาลปกครองสูงสุดนั้น นายหัสวุฒิได้นัดแถลงตอบโต้ที่ห้อง บีบี 204 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ใกล้ศาลปกครอง เวลา 13.00 น. วันที่ 25 ก.ย.
สำหรับ เหตุผลให้นายหัสวุฒิ ออกจากราชการ และพ้นจากประธานศาลปกครองสูงสุด ระบุว่านายหัสวุฒิรู้เห็นเป็นใจให้นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ทำจดหมายน้อย 2 ฉบับถึง ผู้บัญชาการและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2556 ฝากนายตำรวจนายหนึ่งจากรองผู้กำกับขึ้นเป็นผู้กำกับ อันเป็นการกระทำผิดวินัย ฐานไม่รักษาชื่อเสียงของตนและไม่รักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการ
เวลา 15.30 น. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายนพพล น้อยบ้านโง้ง ผู้ประสานงานกลุ่มประชาชนเพื่อความยุติธรรมในแผ่นดิน (กยท.) รวมกับ 4 เครือข่ายผดุงธรรมาภิบาลในศาลปกครอง เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เพื่อให้ตรวจสอบก.ศป. กรณีมีมติให้ นายหัสวุฒิ พ้นจากประธานศาลปกครองสูงสุด อาจเป็นการกระทำที่ฝืนกฎหมายและอาจมีใบสั่งจากใครหรือไม่ โดยมีเจ้าหน้าที่นิติกรประจำสำนักงานรมว.ยุติธรรม เป็นผู้รับมอบหนังสือ
ป.ป.ช.เลื่อนถกคดี'จุติ'
รายงานข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมป.ป.ช.เมื่อวันที่ 24 ก.ย. พิจารณากรณีกล่าวหาขอให้ถอดถอนนายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ภายหลังองค์คณะไต่สวน ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาไป 2 กรณี ได้แก่ 1.มีพฤติการณ์ส่อว่าเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มบมจ.ทรู คอร์ปอร์เรชั่น ได้เข้าเป็น คู่สัญญาร่วมดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี กับบมจ.กสท โทรคมนาคม 2.ส่อว่าได้รับผลประโยชน์เพื่อทำให้กลุ่มกิจการร่วมค้า เอสแอล คอนซอเดียม ได้เข้าเป็นคู่สัญญาสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี กับบมจ.ทีโอที นั้น
ปรากฏว่า ที่ประชุมป.ป.ช. ได้เลื่อนพิจารณากรณีนี้ไปก่อน เนื่องจากนายจุติ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้ตรวจสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีกครั้ง ที่ประชุมให้ เจ้าหน้าที่สอบข้อมูลเพิ่มเติมและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด และยังเห็นว่าข้อเท็จจริงในสำนวนยังไม่สมบูรณ์ จึงให้องค์คณะไต่สวนหาข้อเท็จจริงในสำนวนเพิ่มเติม
ข้องใจทำเสียหายอย่างไร
สำหรับเอกสารขอความเป็นธรรมที่นายจุติ ยื่นให้ ป.ป.ช. ระบุว่า ดำเนินการตามโจทย์ที่กระทรวงการคลังมอบให้ 3 ประเด็น คือ 1.เร่งฟื้นฟูสถานะทางการเงินของ กสท ซึ่งขาดทุนจากเดิมเดือนละ 2 พันล้านบาท 2.ทบทวนบทบาทการวางกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสภาพโทรคมนาคมเพื่อรองรับ 3 จี และ 3.เป็นพันธมิตรระหว่างรัฐกับเอกชน ทบทวนการลงทุนที่ขาดทุน เปลี่ยนเป็น 3 จี เร่งสร้างธุรกิจใหม่
ขณะเดียวกันได้ตั้งคำถามกับป.ป.ช. ว่า กรณีกล่าวหาว่าเร่งรีบ ทำให้รัฐเสียหายอย่างไร เพราะทำให้ประเทศไทยใช้ 3 จี เร็วขึ้น 3 ปี ขณะที่ กสท ไม่ต้องขาดทุน เดือนละ 2 พันล้านบาท และขณะนี้เป็นธุรกิจเดียวใน 7 ประเภทของ กสท ที่ทำกำไรปีละ 4 พันล้านบาท ขณะที่ธุรกิจอื่นขาดทุน
สนช.รับร่างพ.ร.บ. 5 ฉบับ
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม มีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่) พ.ศ. .... ควบคู่กับร่าง พ.ร.บ.ปรังปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 21 คนพิจารณา
โดยมีสาระสำคัญ เป็นการปรับปรุงกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการป.ป.ท. ทั้งวิธีการได้มา องค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และการพ้นจากตำแหน่ง กำหนดให้ สำนักงานป.ป.ท. เป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกฯ หรือกระทรวง ทบวง เพื่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน และให้ เลขาธิการป.ป.ท. พนักงานและเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ท.เพื่อให้งานบรรลุผลและเกิดประโยชน์แก่ประชาชน
ที่ประชุมยังมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ตามที่ครม. เป็นผู้เสนออีก 3 ฉบับ 1.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. เกี่ยวกับการบังคับโทษปรับ การรอการกำหนดโทษและลงการลงโทษ และการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับโทษของผู้ใช้และผู้ถูกใช้ 2.ร่าง พ.ร.บ.องค์การมหาชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. และ 3.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของสมาคมประชาชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ฉบับที่ ..) พ.ศ.
ศปมผ.พร้อมรับอียูมาไทย
ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ (บก.ทร.) พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เป็นประธานประชุมศปมผ. ครั้งที่ 17 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปีงบประมาณ 2558 ก่อนที่พล.ร.อไกรสร จะส่งมอบภารกิจ ผบ. ศปมผ.ให้กับพล.ร.อ.ณะ อารีนิจ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะผบ.ทร.คนใหม่ เนื่องจากผบ.ศปมผ. เป็นการแต่งตั้งโดยตำแหน่ง
พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวว่า การทำงานขณะนี้เกือบมาถึงปลายทางแล้ว และดำเนินการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย หลังจากนี้จะปรับแก้ในเรื่องต่างๆ ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป (อียู) เพื่อรอการเดินทางมาไทยของคณะอียูในช่วงวันที่ 12-23 ต.ค.นี้ ซึ่งจะหารือถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ของไทยว่าได้ตอบโจทย์และเป็นที่พอใจของอียูหรือไม่ รวมถึงการพิจารณาเกี่ยวกับใบเหลืองของไทย โดยหลังวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะปรับเปลี่ยนบุคลากรบางส่วนในศปมผ. ซึ่งกองทัพเรือยังปฏิบัติหน้าที่อยู่เกินครึ่ง จึงเชื่อมั่นว่าการทำงานจะต่อเนื่องและไม่มีปัญหาให้งานชะงัก
'บิ๊กป้อม'พอใจถ้าคงใบเหลือง
พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวว่า ที่ประชุมยังติดตามความก้าวหน้าแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) จากการประชุมที่ผ่านมา อาทิ ให้ฝ่ายกำลังพล สำนักงานเลขานุการ ศปมผ. ประสานคณะกรรมการพัฒนาการฝึกอาชีพทหารก่อนปลดเป็นกองหนุน เพื่อประกาศรับสมัครพลทหารที่จะปลดประจำการ ทำงานในเรือประมง โดยกำหนดค่าตอบแทนขั้นต่ำ 15,000 บาท ให้สำนักงานเลขานุการ ศปมผ. เร่งรัดการจัดทำแผนงานและความต้องการงบประมาณ วงรอบตั้งแต่ พ.ย.2558-เม.ย.2559 จากหน่วยต่างๆ พร้อมนำเข้าครม.ภายใน 13 ต.ค.นี้ เป็นต้น
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า จะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจประเมินการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายในไทยช่วงเดือนต.ค.นี้ตามกำหนดระยะเวลาเดิม และไทยมีความพร้อมสำหรับการประเมินผล เนื่องจากไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาทุกอย่างตามที่ ไอยูยูต้องการแล้ว ส่วนผลคงไม่แย่ไปกว่าเดิม แต่หากไทยยังคงได้ใบเหลืองเหมือนเดิมถือว่ารับได้ เพราะเรื่องนี้ต้องใช้เวลาในระยะยาวจึงจะเห็นผลการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
ฎีกาคุก 6 ด."สนธิ-สโรชา"รออาญา
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 24 ก.ย. ที่ห้องพิจารณาคดี 703 ศาลอาญา ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำ อ.550/2549 ที่พล.ร.ท.เกียรติศักดิ์ ดามาพงศ์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ ญาติคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งน.ส.พ.ผู้จัดการรายวัน, น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร, บริษัท แมเนเจอร์ มีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของน.ส.พ.ผู้จัดการรายวัน, น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท แมเนเจอร์ฯ, นายขุนทอง ลอเสรีวานิช เจ้าของและผู้จัดทำเว็บไซต์ ww.manager.co.th, บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด ผู้ผลิตรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร, นายศุภชัย วงศ์วรเศรษฐ์ (โจทก์ถอนฟ้องแล้ว), นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล, นายพชร สมุทรวณิช กรรมการบริหาร บริษัท ไทยเดย์ฯ และนายปัญจภัทร์ อังคสุวรรณ ผู้ควบคุมดูแลเว็บไซต์ www.manager.co.th เป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่น และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 393
กรณีร่วมกันจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์ ASTV ช่องนิวส์ 1 และเผยแพร่ตีพิมพ์ทาง น.ส.พ.ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์ www.manager.co.th กล่าววิจารณ์การขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ด้วยถ้อยคำใส่ร้ายตระกูลดามาพงศ์ และบุคคลในตระกูลดามาพงศ์ให้ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 ม.ค.-4 ก.พ.2549
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2550 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 10 ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2554 ว่าแม้ข้อความที่จำเลยกล่าวหาจะไม่มีชื่อโจทก์ แต่การลงชื่อตระกูลทำให้ผู้อ่านย่อมเข้าใจได้ว่าหมายถึงทั้งตระกูล โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย จึงพิพากษาแก้ว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1, 2, 5 และ 10 คนละ 6 เดือน ปรับคนละ 5 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี ให้ปรับจำเลยที่ 3 และ 6 ซึ่งเป็นนิติบุคคล คนละ 5 หมื่นบาท และให้ร่วมกันลงตีพิมพ์คำพิพากษาลงในน.ส.พ.ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์ www.manager.co.th เป็นเวลา 7 วันต่อเนื่องกัน ต่อมาจำเลยที่ 1, 2, 3, 5, 6 และ 10 ยื่นฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาตรวจสำนวน ปรึกษาหารือกันแล้ววินิจฉัยว่า แม้ข้อความที่พาดหัวข่าวในน.ส.พ. ผู้จัดการรายวันและเว็บไซต์แมเนเจอร์ จะกล่าวถึงตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ แต่เมื่อพิจารณาดูในเนื้อหาข่าวทั้งหมด คนอ่านย่อมเข้าใจได้ว่าไม่ได้หมายถึงคนของตระกูลทั้งหมด ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และ 5 นอกจากนั้นให้เป็นไปตามศาลอุทธรณ์