- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 29 June 2014 09:26
- Hits: 3863
วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 6614 ข่าวสดรายวัน
หนุน'คสช.'ทำงาน 'ธีรยุทธ' ให้เปิดโอกาส 3 ด. ออกตัวต้านเผด็จการ มท.สั่งเด้งอธิบดีที่ดิน ผู้ว่าฯชุมพรเสียบแทน ทุ่ม 1.3 หมื่นล.จัดการน้ำ ฮุนเซนจี้แก้'แรงงาน'
"ธีรยุทธ"ไม่วิจารณ์ผลงานคสช.รอบ 1 เดือน ให้โอกาสทำงาน ยันจุดยืนต้านเผด็จ การโกงกิน แต่ขอลุยปฏิรูปก่อน แนะแก้วิกฤตต้องทำให้ประชาชนเข้มแข็งด้วย "จักรภพ"โดนหมายจับเพิ่ม คดีครอบครองอาวุธสงคราม ตำรวจเตรียมประสานขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน คสช.ย้ำห้ามจัดเลี้ยงทางการเมือง ปลัดกลาโหมเผยงานปฏิรูปคืบ 70 เปอร์เซ็นต์ เก็บข้อมูลเสนอสภาปฏิรูปสิ้น ก.ค.นี้ "ฉัตรชัย"ถกบริหารจัดการน้ำ เล็งตั้งกรรมการบริหารจัดการชุดใหม่ ปลัดมหาดไทยเด้งอธิบดีกรมที่ดิน ดึงผู้ว่าฯชุมพร เสียบ บัวแก้วโต้ย้ายข้าราชการล็อตใหญ่ "ฮุนเซน"โวยคสช. ละเมิดสิทธิ์แรงงานเขมรครั้งใหญ่ จี้ปล่อยตัว 13 แรงงานเขมรที่โดนจับกุม
ออกหมายจับ"จักรภพ"อีกคดี
วันที่ 28 มิ.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผบ.ตร. เผยว่า ตนในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนตามคำสั่ง ตร.ที่ 312/2527 ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานต่อศาลจังหวัดทหารบกสระบุรีเพื่อขออนุมัติหมายจับ 1.นายจักรภพ เพ็ญแข 2.นายกฤษณะ หรือ สยาม ทับไทย 3.นายชัยวัฒน์ หรือ เปี๊ยก กาละแม ผลโพธิ 4. นายวัฒนา หรือ ศิวะ วัฒนะวิเชียร ในข้อกล่าวหาว่าร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุน หรือวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะในราชการสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ใว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ศาลทหารได้อนุมัติหมายจับบุคคลดังกล่าวเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา
เปิดช่องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน
พล.ต.อ.สมยศเผยว่า ศาลทหารอนุมัติหมายจับหลังมีหลักฐานว่านายจักรภพ มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาวุธสงครามที่ตรวจยึดได้ในหลายพื้นที่ หลังจากนี้จะดำเนินการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในประเทศที่มีสนธิสัญญา ล่าสุดทราบว่านายจักรภพอยู่ที่ฮ่องกง ส่วนสาเหตุที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถดำเนินการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนายจักรภพได้ เพราะมีหมายจับในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งไม่มีกฎหมายเหล่านี้ในประเทศที่หลบหนี สำหรับคดีอาวุธสงครามเป็นคดีที่หลายประเทศมีกฎหมายใช้บังคับ จึงสามารถดำเนินการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้
รองผบ.ตร. กล่าวว่า นอกจากนี้ พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานชุดพิเศษ ดูแลคดีอาวุธสงครามเป็นกรณีพิเศษ สำหรับกรณีของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรมว.มหาดไทย หนึ่งในผู้จัดตั้งกลุ่มเสรีไทยนั้น อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน แม้ก่อนหน้านี้จะมีการประชุมร่วมกับฝ่ายทหารพระธรรมนูญแล้ว จะสามารถดำเนินการได้ในหลายข้อหาแต่ยังไม่ใช่ข้อหาหลักที่จะสามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ และเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาจึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ
ปลัดกลาโหมเปิดสัมมนาปฏิรูป
เวลา 13.30 น. ที่ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม กทม. กระทรวงกลาโหมร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาการปฏิรูปประเทศ เรื่อง "แนวทางปฏิรูปการเมือง การเข้าสู่อำนาจ" พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าไทย รวมถึงตัวแทนภาคธุรกิจ เข้าร่วม
พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวเปิดงานว่า ในฐานะรับผิดชอบคณะเตรียมการปฏิรูปของ คสช. มีทีมงานของทหารส่วนหนึ่งและนักวิชาการพร้อมรับฟังความเห็นจากประชาชนและทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย ทีมงานเป็นพวกจัดทำกรอบความเห็นร่วมโดยไม่มีการสรุปเพื่อเสนอให้สภาปฏิรูปนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป การประชุมที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการสรุปแต่เป็นการเตรียมข้อมูลเพื่อให้สภาปฏิรูปนำไปใช้ประโยชน์ ขอให้ทุกคนนึกถึงชาติบ้านเมือง เรื่องในอดีตขอให้เป็นบทเรียน ที่ผ่านมาเขียนรัฐธรรมนูญดีมากมายแต่บ้านเมืองเดินหน้าไปไหนไม่ได้ เป็นเรื่องน่าแปลก แต่วันนี้เราจะระดมความคิดเห็น หากใครมีความคิดเห็นอย่างไรก็สามารถส่งข้อมูลให้กระทรวงกลาโหมได้
ยันต้องรับฟังความเห็นปชช.
นายนรนิติกล่าวถึงแนวทางในการปฏิรูปว่า ที่ผ่านมาสถาบันพระปกเกล้าดำเนินการเรื่องการปฏิรูปการเมืองเพราะเป็นเรื่องใหญ่ มีมุมมองประเด็นที่ต้องพิจารณาหลายเรื่อง ทั้งเรื่องพรรคการเมือง การเลือกตั้งที่ไม่รู้จะทำเสร็จเมื่อไร การปฏิรูปครั้งนี้การรับฟังความเห็นจากประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ หากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงไม่ฟังความเห็นประชาชนอาจไม่ได้มุมมองที่กว้างมากขึ้น ส่วนกรอบระยะเวลาต้องมีการประมวล วันนี้มีโอกาสที่ดีเพราะมีเครื่องมือช่วยประเมินผลและวิเคราะห์ที่มีความถูกต้อง หากลงไปรับฟังทุกท้องที่ก็จะสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของคนที่กระจายออกไป ไม่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์
นายนรนิติกล่าวว่า การระดมความเห็นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการรวบรวมแนวคิดและสิ่งที่เคยดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ไม่ต้องไปทำใหม่แต่นำสิ่งที่เคยดำเนินการแล้วมาประมวลและวิเคราะห์ การดูรอบด้านเป็นประโยชน์ สภาปฏิรูปน่าจะโชคดีมีคนทำการบ้านให้ก่อนล่วงหน้าไม่ต้องเสียเวลามากในการเริ่มดำเนินการ การมีข้อมูลพร้อมทำให้ผู้มีอำนาจหน้าที่สามารถดำเนินการได้ถูกต้องและเหมาะสม จึงเป็นโอกาสดี
ภาคธุรกิจขอเป็นตัวช่วย
ด้านนายอิสระกล่าวว่า ในนาม 7 องค์กร ได้แก่ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมจดทะเบียนตลาดหลัก ทรัพย์ ที่ได้คุยกันมาหลายเดือนในช่วงที่บ้านเมืองไม่สงบ สิ่งที่ภาคธุรกิจดำเนินการได้นั้นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การปฏิรูปด้านการเมืองเราไม่เชี่ยวชาญแต่ก็จะเข้าไปช่วยทุกภาคส่วน ประเทศไทยขณะนี้มีปัญหามาก ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมาก ไม่ใช่เฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ แต่ความไม่มีโอกาสของคนเมืองกับคนต่างจังหวัด ส่วนนี้ภาคธุรกิจต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลช่วยเหลือ เช่น การเข้าถึงการรักษาพยาบาล และการศึกษาที่เราควรเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันด้วย
งานปฏิรูปคืบแล้ว 70%
หลังการสัมมนา พล.อ.สุรศักดิ์ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการเตรียมการปฏิรูปประเทศว่า ตั้งแต่เปิดตัวคณะทำงานปฏิรูปในวันที่ 4 มิ.ย. เป็นต้นมาได้เก็บเอกสารจากการวิจัย ผลงานวิชาการ ข้อเสนอของกลุ่มการเมือง รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งหมด จนได้เอกสารที่จะสังเคราะห์ข้อมูลประมาณ 230 เล่ม และยังรวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์และจากโทรศัพท์อีกประมาณ 700-800 ความเห็น โดยมีเนื้อหากว่า 1,000 ชุดความคิด และได้สังเคราะห์ออกมา 11 ประเด็น เช่น การปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปทุจริต คอร์รัปชั่น การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปพลังงานและการศึกษา เป็นต้น
พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวว่า อีกทั้งมีการจัดสัมภาษณ์เชิงลึกโดยเชิญตัวแทนพรรค การเมืองทุกพรรค ซึ่งหัวหน้าพรรคมาด้วยตนเองทั้งสิ้น และยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวทุกกลุ่ม เช่น นปช. ประกอบด้วย นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ นพ.เหวง โตจิราการ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ กลุ่ม กปปส. ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายอิสสระ สมชัย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ขณะที่ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ นายภูมิธรรม เวชยชัย โดยนำความคิดเห็นมาบวกกับข้อมูลที่สังเคราะห์ไว้ และหลังจากนั้นได้จัดประชุมเป็นกลุ่มย่อย โดยมีตัวแทนกลุ่มต่างๆ 40-50 คน รวมถึงการจัดสัมมนาของสถาบันพระปกเกล้า และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดให้ครบถ้วน เพื่อเสนอไปยังสภาปฏิรูปสิ้นเดือนก.ค.นี้ การดำเนินการทั้งหมดประมาณ 70% ซึ่งถือว่ามากพอสมควร แต่ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นต่อไปอีก
ลงลึกรูปแบบรัฐสภา
พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวว่า การสรุปข้อมูลไปยัง คสช.จะไม่มีการบอกว่าถูกหรือผิด แต่จะเป็นการทำกรอบความเห็นร่วมของคนไทยทุกคนที่ไม่ใช่เป็นของ คสช. แต่ คสช.ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้มีการพูดคุยเท่านั้น เมื่อสภาปฏิรูปเข้ามาก็ไม่ต้องเริ่มต้นทำงานจากศูนย์ แต่จะนำฐานข้อมูลที่รวบรวมไว้แล้วไปใช้ประโยชน์ ขึ้นอยู่กับสภาปฏิรูปจะนำเอาไปใช้มากน้อยเท่าใด
พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ได้รวบรวมไว้ในเรื่องการเมืองการปกครองจะมีทั้งเรื่องที่มาของส.ส.และส.ว. ฝ่ายบริหาร การคัดสรร การสรรหา หรือการเลือกตั้ง การตรวจสอบการใช้อำนาจ การควบคุม วางการลงโทษ รวมถึงการปฏิรูปพรรคการเมือง การกระจายอำนาจ ซึ่งมีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ในส่วนหัวหน้าพรรค การเมืองเสนอความคิดเห็นใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นเรื่องดีทั้งหมด และถ้าทำตามที่เสนอนั้นได้ก็จะเป็นเรื่องดีแต่ต้องมีรายละเอียดและร่างกฎกติกาขึ้นมา ข้อมูลที่เสนอขึ้นมาเป็นแนวคิดทุกคนต้องการได้นักการเมืองที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีการบริหารราชการที่ดีและคำนึงถึงความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ทุกฝ่ายที่มาพบตนต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการให้ประเทศไทยดีขึ้น มีนักการเมืองที่ดีและมีกระบวนการยุติธรรมไม่สองมาตรฐาน ซึ่งตรงกับแนวทางของหัวหน้า คสช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสัมมนามีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นในประเด็นเรื่องรูปแบบของรัฐสภา จำนวน ส.ส. ส.ว.ที่เหมาะสม รวมถึงวิธีการได้มาของส.ส.และส.ว. ต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่
กำชับห้ามจัดเลี้ยง
พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษก คสช.กล่าวกรณีมีกลุ่มทางการเมืองหรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองนัดจัดเลี้ยงหรือทานอาหารร่วมกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. พูดไปแล้ว ชื่องานเป็นการจัดเลี้ยงทานอาหารกันแต่ก็เป็นที่รู้กันว่าน่าจะเป็นกลุ่มทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มไหน ใครก็ตามที่รู้ว่ามีการนัดรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมถึงจะไม่ใช่ทางการเมือง แต่ก็เป็นที่รู้กัน ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงหรือไม่มีการจัดเลยเป็นการดี
เมื่อถามถึงการชุมนุมที่หน้าสถานทูตสหรัฐ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า เบื้องต้นตรวจสอบไม่พบ แต่ถ้ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องเข้าไปดูแล
เลขาฯสภาหนุนสภาปฏิรูป
เวลา 09.09 น. ที่รัฐสภา นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังทำพิธีบวงสรวงพระวิญญาณอดีตพระมหากษัตริย์ว่า หลังจากได้รับตำแหน่งเลขาธิการฯ ก็คงดำเนินงานไปตามปกติเพราะเป็นข้าราชการประจำ ที่ทำหน้าที่ในฐานะเลขาธิการฯ หากอยู่ในภาวะปกติก็จะเป็นสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการฯ จะเน้นเรื่องการจัดประชุมและการดำเนินงาน
นายจเรกล่าวว่า งานหลักของเราคือการสนับสนุนการดำเนินงานของสภา ในภาวะปัจจุบันเข้าใจว่าจะเป็นการดำเนินงานในเรื่องสภาปฏิรูป ตอนนี้ได้เตรียมงานและตั้งงบประมาณรองรับสภาปฏิรูปไว้แล้ว และเตรียมคณะทำงาน ซึ่งต้องเตรียมศึกษาในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องสมาชิกสภาปฏิรูปที่จะเดินเข้ามาในสภาก็มีการเตรียมการรับ ขณะเดียวกันที่ประชุมก็คงต้องเตรียมเรื่องข้อบังคับสภาปฏิรูป เราก็จะตรวจสอบว่าสภาปฏิรูปมีหน้าที่อะไรบ้าง เพื่อจะได้เตรียมยกร่างข้อบังคับการประชุมของสภาปฏิรูปให้ทันสมัย วิธีการตราข้อบังคับการประชุมน่าจะเหมือนกับสภาชุดที่ผ่านมา
เตรียมงบหมื่นล้านบริหารงาน
นายจเรกล่าวว่า งบประมาณที่เตรียมไว้ในการบริหารงานทั้งหมดของทั้งสภา สำนักงานเลขาธิการฯ และสภาปฏิรูป น่าจะเป็นตัวเลขประมาณ 1 หมื่นล้านบาทเศษ โดยแบ่ง เป็น 3 ส่วน คือ 1.งบในการบริหารทั่วไปของ สำนักงานฯ 2.เป็นการรองรับสภาปฏิรูป และ 3.เป็นส่วนที่ต้องรองรับการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ส่วนการตรวจสอบการทุจริตในสภาเร่งรัดกรรมการที่มีหน้าที่ตรวจสอบให้รีบดำเนินการ หากตรวจสอบแล้วพบสิ่งที่ผิดปกติต้องรีบแจ้งให้ทราบและดำเนินการในทันที เพราะสาธารณชนก็ดูเราอยู่ ได้คุยกับ ผู้บริหารในสำนักงานเลขาธิการฯ อยากให้ สำนักงานฯ เป็นแบบอย่างที่ดี ข้าราชการมีจริยธรรม ฉะนั้นข้าราชการทุกคนต้องพร้อม ใจกัน สนับสนุนการดำเนินงานของสภาปฏิรูปให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ
เมื่อถามว่า คสช.สั่งอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายจเรกล่าวว่า ไม่มีสั่งการอะไรเป็นพิเศษเพราะเป็นส่วนราชการหน่วยหนึ่ง ซึ่งเราทำหน้าที่อย่างเต็มที่อยู่แล้ว
คสช.ถก7หน่วยงานจัดการน้ำ
ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช. เป็นประธานการประชุมบริหารจัดการน้ำ เพื่อสรุปผลการพิจารณาแผนงานน้ำปี 2557 และแนวทางการดำเนินการปี 2558 โดยมีตัวแทนจากกรมทรัพยากรน้ำ กรมป้อง กันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมเจ้าท่า สำนักนโยบายและบริหารน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ และกรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมตัวแทนจากกรมการทหารช่าง กองทัพบก เข้าร่วมการประชุม
พล.อ.ฉัตรชัยเผยหลังประชุมว่า วันนี้มีการหารือถึงงบประมาณปี 2557 ที่จะใช้ในการบริหารจัดการน้ำ โดยมีคณะกรรมการชุดย่อยที่ลงไปรวบรวมข้อมูลและมารายงานต่อที่ประชุมในวันนี้ โดยเฉพาะหลายหน่วยงานที่มีงบประมาณแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ จำนวน 17,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้งบในการขุดลอกคูคลอง เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง โดยมีการตรวจสอบว่าจะใช้งบประมาณของ 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 13,000 ล้านบาท และจะเหลือ 3,000 กว่า ล้านบาท ที่ขอกันงบประมาณส่วนนี้ไว้เพื่อใช้ในการทำแผนงานในโครงการปี 2558 เพื่อให้สอดคล้องเชื่อมโยงกันทุกหน่วยงานและป้องกันการทับซ้อน และต่อไประบบการบริหารจัดการน้ำจะพิจารณาร่วมกันโดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำที่มีตนเป็นประธาน โดยได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคสช. ทั้งนี้ แผนงานโครงการทั้งหมดจะนำเสนอต่อสำนัก งานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ก่อนที่จะเสนอให้คสช.พิจารณา
เตรียมตั้งกก.บริหารจัดการชุดใหม่
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า เร็วๆ นี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและจะมาประชุมพิจารณาแผนงานบริหารจัดการน้ำในประเทศทั้งหมด ซึ่งขณะที่ยังไม่มีแผนงาน งบประมาณปี 2557 ก็ต้องดำเนินการไปก่อนทั้งที่ทำไปแล้วและกำลังจะทำอยู่ ในแนวคิดของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำถือเป็นการเร่งรัดดำเนินการงบประมาณในปลายปี ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานต่างฝ่ายต่างดำเนินการไม่เชื่อมโยงกัน โดยได้รวบรวมบูรณาการให้เป็นแนวทางเดียวกัน
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า สำหรับโครงสร้างของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจะคล้ายกับของที่มีอยู่เดิม แต่จะปรับลดขั้นตอนและระดับต่างๆ ให้เหลือเพียงแค่ระดับเดียวเพื่อให้เกิดการคิดเร็วทำเร็ว โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วม รวมถึงนักวิชาการ อยากสร้างความเข้าใจว่าคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจะคิดเรื่องน้ำทั้งระบบเพื่อบูรณาการแผนงาน ที่วางกรอบไว้ว่าต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยดำเนินการทั้งประเทศ แต่ระหว่างที่มีการวางแผนโครงการบริหารจัดการน้ำที่ยังไม่เกิดขึ้น เราจะใช้งบประมาณที่เหลือในปี 2557 มาดำเนินการ
มุ่งแก้ภัยแล้ง-ตั้งเป้า 3 เดือน
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า การแก้ไขและบริหารจัดการน้ำตามงบประมาณที่มีอยู่จะ พุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ขุดลอกคูคลองหนองบึงทั่วประเทศ ปรับปรุงประตูระบายน้ำของกรมชลประทาน เพื่อให้สามารถเก็บน้ำได้มากขึ้นเตรียมไว้ใช้ในฤดูแล้ง ทั้งนี้ภายหลังการประชุมจะให้ทั้ง 7 หน่วยงานกลับไปดำเนินการตามแผนงานได้ทันที ในช่วง 3-4 เดือน โดยจะมีทหารลงไปช่วยดำเนินการ เช่น หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาของกองทัพไทย และกรมการทหารช่างของกองทัพบก เพราะบางหน่วยงานไม่สามารถดำเนินการได้ทันในระยะเวลาสั้น
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า กองทัพมีความพร้อมเรื่องเครื่องมือเพื่อดำเนินการตามแผนงาน เพราะปริมาณการขุดลอกคูคลองทั่วประเทศมีจำนวนมาก และโครงการใหญ่ๆยังไม่มี ถือว่าเป็นการใช้งบประมาณประจำปี 2557 ส่วนงบประมาณปี 2558 ยังไม่ได้ดำเนินการ แต่ต้องตั้งเรื่องขึ้นมาก่อนโดยให้สำนักงบประมาณเข้ามาดูแล โดยระยะเวลา 3 เดือน ต่อจากนี้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจะทำแผนเพื่อเสนอคสช.อีกครั้ง
ตอบยากน้ำไม่ท่วมกทม.
ผู้สื่อข่าวถามว่า แผนงานต่างๆ สามารถป้องกันน้ำท่วมกทม.ได้หรือไม่ พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่กทม. ซึ่งรองปลัดกทม.ยืนยันว่ากทม.มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกทม. แต่จะให้ตอบว่าเงิน 13,000 ล้านบาทจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกทม.ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เรื่องนี้หัวหน้าคสช.ไม่ได้มีความเป็นห่วงเพราะเรามีความตั้งใจอยู่บนพื้นฐานหลักวิชาการ มีนักวิชาการและผู้มีความรู้เข้ามาทำงานร่วมกันด้วยความโปร่งใส ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวย้ำด้วยว่า อย่างไรก็ตามยังไม่ได้กำหนดรูปแบบว่าปี 2558 จะใช้งบประมาณเท่าใดในการแก้ไขปัญหาจัดการน้ำ ซึ่งคงต้องรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอแผนงานขึ้นมา
"ธีรยุทธ"ยังไม่ประเมินคสช.
เวลา 11.00 น. ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีงานเสวนาชุด "เหลียวหลังแลหน้า 8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย" เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอาจารย์ นักศึกษาทั้งศิษย์เก่าและปัจจุบันประชาชนทั่วไปเข้าร่วมฟังหลายร้อยคน
นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มธ. ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าการอภิวัฒน์สังคมไทย" ตอนหนึ่งว่า จะยังไม่พูดถึงการทำงานของ คสช.ที่ผ่านมา เหมือนอย่างที่หลายคนคาดหวังว่าตนจะพูด ที่ยังไม่พูดวันนี้ไม่ได้เพราะกลัวกฎอัยการศึก แต่ตั้งใจว่าหลังจากนี้ 2-3 เดือน ถึงจะประเมินผลงานคสช.เพราะเขาขอเวลาทำงานก่อน ซึ่งจะชี้ให้เห็นการทำงานของคสช.ในแต่ละด้าน
นายธีรยุทธกล่าวว่า แม้จะมีการเปลี่ยน แปลงการปกครอง 2475 แต่สิทธิอำนาจและเสรีภาพก็ไม่ได้ถูกกระจายลงไปถึงชาวบ้าน คนไทยไม่ได้รับ ทั้งการอบรมบ่มเพาะวัฒน ธรรมประชาธิปไตยในโรงเรียน ครอบครัวไม่โอกาสดำเนินวิถีชิวิตในแบบที่รู้สึกเคารพสิทธิเสรีตัวเองและผู้อื่น ระบอบราชการและระบบยุติธรรม ยังยึดติดอยู่กับระบอบอุปถัมภ์ ขาดประสิทธิภาพที่จะส่งเสริมให้ประชาชน ดำรงชีวิตแบบรับผิดชอบต่อตัวเองได้ คนไทยจึงไม่ได้มองสิทธิเสรีภาพ ความรับผิดชอบเป็นแก่นของชีวิต ประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงการเลือกตั้งเพื่อคัดสรรผู้ที่กอบโกยจากประเทศได้มากกว่ากันให้ขึ้นมาปกครองบ้านเมือง
ขอลุยปฏิรูปก่อนสู้เผด็จการ
"ผมคัดค้านเผด็จการที่คอร์รัปชั่นโกงกิน และผมก็เคยคัดค้านเผด็จการทหารในอดีตที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อตัวเองและพวกพ้อง หากปัจจุบันมีการกระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ผมก็จะต่อสู้คัดค้าน แต่ช่วงขณะนี้ขอเรียกร้องต่อสู้ให้มีการปฏิรูป หรืออภิวัฒน์ เป้าหมายของประเทศจึงต้องเป็นการอภิวัฒน์ ซึ่งหมายถึงการทำให้ประเทศและประชาชนดีขึ้น โดยการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจอย่างจริงจังเพื่อประชาชนดังนี้ 1.ประชาชนจะดูแลปกครองท้องถิ่น 2.มีอำนาจจัดการทรัพยากรท้องถิ่นตนมากขึ้น 3.มีอำนาจกำหนดอัตลักษณ์คือ การเข้าใจ เคารพประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ซึ่งกันและกันของท้องถิ่นต่างๆ" นายธีรยุทธกล่าว
นายธีรยุทธกล่าวว่า การปฏิรูปเชิงโครง สร้างประเทศครั้งใหญ่ของประเทศเคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างมากในยุคโลกาภิวัตน์ กลุ่มทุนและนักการเมืองเป็นตัวละครหลักที่มีฐานอำนาจและการเงินมหาศาล เป็นที่มาของวิกฤตสังคมการเมืองไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาวะเช่นนี้มีปัจจัยหลักจากการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์และไม่ครบทุกด้าน ทำให้เกิดการใช้อำนาจนอกระบบของเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นแหล่งเกิดพื้นที่อำนาจรัฐที่ถูกใช้ประโยชน์เป็นส่วนตัวขยายใหญ่ขึ้น ขณะที่คนไทยไม่รู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิอำนาจและเสรีภาพอย่างแท้จริง และการที่อำนาจดูแลทรัพยากรกิจการต่างๆ ในท้องถิ่น ไม่ถูกกระจายไปสู่ชาวบ้าน ชาวบ้านเกรงกลัวอิทธิพล ทำให้ไม่เกิดกลไก ในการกำกับดูแล ตรวจสอบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
แก้วิกฤตประชาชนต้องเข้มแข็ง
นายธีรยุทธกล่าวว่า วิกฤตประเทศไทยล้ำลึก เรามีคำถามใหญ่แต่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนในส่วนนี้ คือ อำนาจรัฐทหาร ข้าราชการบางส่วนจะเป็นผู้แก้ให้อำนาจส่วนที่เสื่อมถูกยึดเป็นของบุคคลนี้ให้ดีขึ้น หรือประชาชนสังคมจะเป็นผู้แก้ หรือร่วมกันแก้ ซึ่งหนทางอนาคต รัฐไทยคงถูกปรับตัวให้แข็งแรงขึ้น แต่มองว่ารัฐในโลกยุคปัจจุบันจะแข็งแรงอย่างแท้จริง ต้องไม่ใช้ระบบราชการแข็งแรงอย่างเดียว แต่ต้องมีกลไกสังคมคอยช่วยตรวจสอบถ่วงดุลและส่งเสริมภาครัฐ จึงจำเป็นต้องมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งประชาชนมีทั้งสิทธิ อำนาจ ความรับผิดชอบอย่างแข็งขันด้วย ภาพรวมจึงควรเป็นรัฐแข็งแรง สังคมเข้มแข็ง ประชาชนมีอำนาจ
นายธีรยุทธกล่าวว่า จะปฏิรูปประเทศไทยได้ ควรต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีอำนาจ มีส่วนร่วม มีภาคประชาชนที่เข้มแข็ง มีสิทธิและมีเสรีภาพอย่างรับผิดชอบ บางครั้งการพูดเรื่องเสรีภาพเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจึงอยากฝากเน้นย้ำว่า สิทธิอำนาจและเสรีภาพจะต้องมีความรับผิดชอบด้วย อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของภาคประชาชน ภาคประชาสังคมจำเป็นมาก การทำรัฐให้เข้มแข็งอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศอย่างยั่งยืน
วสันต์"รำคาญหู-สองมาตรฐาน
เวลา 13.30 น. เป็นการเสวนา "เหลียวหลังแลหน้าการอภิวัฒน์กระบวนการยุติ ธรรม" โดยนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปค.) นายคณิต อภิปรายว่า ปัญหาคดีความค้างอยู่ในชั้นศาลจำนวนมาก หากการตรวจสอบในชั้นอัยการมีประสิทธิภาพคดีขึ้นสู่ศาลก็จะมีน้อย แต่อัยการของเราเป็นไปในลักษณะตายเอาดาบหน้า
นายวสันต์อภิปรายว่า เห็นด้วยกับนายคณิตว่า การวินิจฉัยคดีของอัยการก่อนส่งฟ้องจะช่วยบรรเทาให้คดีบรรเทาเบาบางก่อนถึงมือผู้พิพากษาได้ เพราะบางคดีไม่ได้มีหลักฐานอะไรเลย มีแต่คำให้การลอยๆ จึงทำให้คดีมากมายจึงยังคงค้างอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกาเป็นจำนวนมาก ส่วนกรณีที่เคยสงสัยว่ากระบวนการยุติธรรมมีลักษณะเป็นสองมาตรฐาน เพราะมีการลงโทษที่แตกต่างกันนั้น ต้องดูด้วยว่าฐานความผิดของแต่ละคดีเป็นอย่างไร จะบอกว่าสองมาตรฐานได้คดีต้องเหมือนกันหมด คำว่าสองมาตรฐานจึงเป็นเพียงพูดที่น่ารำคาญหูมาก อย่างคดีตัดสิทธิ ส.ส. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. ตนก็ถูกกล่าวหาว่าสองมาตรฐาน ทั้งที่เพิ่งตัดสินเป็นคดีแรก
นายวสันต์กล่าวว่า ส่วนกรณียุบพรรค พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมา ก็บอกกันว่าถ้าเป็นดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องโดนยุบด้วยเช่นเดียวกัน ก็ต้องถามก่อนว่ายุบประชาธิปัตย์เพราะอะไร ฐานความผิดคืออะไร ข้อเท็จจริงตอนนั้นเป็นคนละกรณีกันกับการยุบ 3 พรรค คำว่าสองมาตรฐานที่เคยพูดกันก่อนหน้านี้จึงเป็นการพูดกันเพียงโก้ๆ เท่านั้น โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันหมายถึงอะไร การตัดสินที่ผ่านมาก็มีแพ้ชนะกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่พอศาลตัดสิน ฝ่ายที่ได้ประโยชน์ก็ชื่นชม แต่ฝ่ายที่เสียประโยชน์ ไม่พอใจตัดสินไม่เข้าข้างก็บอกตัดสินตามใบสั่ง มีธง แต่ข้อเท็จจริงคือ ศาลไม่สามารถล้วงลูกในการตัดสินใครได้
หนุนคสช.เอาจริงแก้โกง
นายวสันต์กล่าวว่า อีกทั้งการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2557 ที่ไม่สำเร็จ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะม็อบขัดขวาง ความผิดไม่ได้อยู่ที่ กกต.อย่าไปโทษเขา เพราะ กกต.ไม่ใช่ฝ่ายความมั่นคง จะไปสั่งตำรวจ ทหาร ให้มาดูแลไม่ได้ ทำได้เพียงตั้งโต๊ะรอว่าผู้สมัครจะเข้ามาสมัครได้หรือไม่ หรือคนจะมาลงคะแนนได้หรือไม่ ผู้มีอำนาจที่สามารถสั่งฝ่ายความมั่นคงได้คือรัฐบาลแต่เขาไม่กล้า ก็เพราะพวกเขากลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบปี 2553 ดังนั้นจะไปให้ กกต.รับผิดชอบไม่ได้ องค์กรยุติธรรมจะเข้าไปกำกับบ้านเมืองไม่ได้ ยกเว้นแต่จะมีคดีเข้ามาเท่านั้น
เวลา 16.45 น. มีการเสวนาหัวข้อ "กำจัดคอร์รัปชั่นให้สิ้นแผ่นดินไทย: ทำอย่างไรให้ตรงจุด" นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ร่วมอภิปราย
นายกล้านรงค์กล่าวว่า สาเหตุการชุมนุมของประชาชนต่อต้านรัฐบาลไม่ได้มาจากการทุจริต แต่เกิดจากการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งระหว่างการชุมนุมมีการบอกเล่าถึงการทุจริตทุกวันทำให้เกิดความรู้สึกฝังอยู่ในประชาชน โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นรูปธรรมคือการทุจริตแก่ชาวนา ที่เห็นข่าวว่าชาวนาฆ่าตัวตายโดยสาเหตุของการคอร์รัปชั่น คือ 1.กระแสบริโภคนิยม 2.ระบบอุปถัมภ์ทางดิ่ง 3.กระบวน การยุติธรรม 4.นักการเมือง 5.ความเฉยเมย เชื่อว่าหาก คสช.เอาจริงจัง จะทำให้คอร์รัปชั่น ลดลงไป ต้องนำผลแห่งการเอาจริงเอาจังของคสช.นี้ให้มีผลต่อไปจนถึงรัฐบาลที่มาจากการ เลือกตั้ง ด้วยการกำหนดบทบังคับบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
เล็งชงสนช.แก้กม.สอบเอกชน
ที่โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส จ.นครราชสีมา นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงอำนาจการไต่สวนและเอาผิดกับบริษัทเอกชน ว่า ป.ป.ช.ได้เสนอขอแก้กฎหมายว่าให้นิติบุคคล เอกชน ต้องได้รับการตรวจสอบเท่าเทียมกับนักการเมือง ข้าราชการ เพราะการทุจริตย่อมประกอบด้วย 3 ฝ่ายดังกล่าว ดังนั้นส่วนที่ยังขาดคือการตรวจสอบภาคเอกชน เพราะมักจะพบว่าเอกชนมีการไหลเวียนด้านการเงินผิดปกติ แต่ปัจจุบัน ป.ป.ช.ยังไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบได้จนกว่าจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น หากมีการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. จะได้เข้าไปตรวจสอบได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก และภาคเอกชนเองจะได้เฝ้าระวังเรื่องการให้สินบนให้ผลประโยชน์ หรือถ้ามีใครมาเรียกสินบนเขาก็จะได้พูดได้ว่า ป.ป.ช. กำลังจับตาดูอยู่ การทุจริตก็จะหยุดยั้งไปในเบื้องต้น ซึ่งความคืบหน้าของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวต้องรอให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพราะเมื่อมี สนช.แล้ว ป.ป.ช.ก็จะได้เสนอให้แก้ไขกฎหมายต่อไป
"ถ้ามี สนช.เมื่อไร ป.ป.ช.จะเตรียมเสนอขอแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ 2-3 มาตรา แต่คงไม่ต้องลงรายละเอียดเพราะทุกเรื่อง คสช.ทราบดี รู้รายละเอียดทุกเรื่อง เพราะเขาทำการศึกษามาอย่างดี แค่เราจะอ้าปากพูดเขาก็บอกเลยว่ามีข้อมูลอย่างนี้ๆ รู้ละเอียดหมด" นายวิชากล่าว
เตรียมสรุปอาญา"จำนำข้าว"
นายวิชากล่าวว่า นอกจากนี้ ป.ป.ช.จะได้เสนอให้แก้ไขกฎหมายเรื่องการปฏิบัติให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ที่ค้างมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว จะแก้ปัญหาเรื่องอายุความ เรื่องการติดตามตัวในระหว่างที่ผู้ต้องหาหนีคดี และจะมีผลต่อเรื่องการริบทรัพย์สิน เพื่อให้มีการติดตามเอาทรัพย์สินคืนได้ตามมูลค่าและราคาของทรัพย์สินนั้น จะได้ติดตามได้เสมอไม่ว่าจะอยู่ในที่ใด รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ จะได้สามารถติดตามเอาตัวมาดำเนินคดีได้
นายวิชากล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนคดีจำนำข้าวรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในส่วนคดีอาญา ว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.ยังดำเนินการไต่สวนเรื่องดังกล่าวไม่ได้หยุด เพราะพบมีเอกชนเกือบ 100 บริษัทที่ต้องขยายผลในการสอบ เพื่อให้ได้รู้ว่าเงินที่ซื้อขายกันนั้นไปไหนบ้าง มีรายละเอียดอย่างไร เพราะเกี่ยวโยงกับเรื่องการดำเนินการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินในเรื่องการทุจริตต่างๆ กำลังเร่งรัด คาดว่าภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้จะสามารถสรุปสำนวนคดีเพื่อรายงานต่อที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ได้
เมื่อถามถึงกรณีทีมทนายน.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอเพิ่มพยานอีก 8 ปาก นายวิชากล่าวว่า เรื่องนี้จบแล้ว หากมีการขอเพิ่มเติมพยานมาอีกก็จะไม่รับแล้ว เพราะถือว่าจบ ป.ป.ช.ไม่ให้สอบพยานทั้ง 8 ปากแล้ว จะแจ้งให้ทางผู้ร้องทราบโดยนายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวน ได้ลงนามในหนังสือเพื่อแจ้งให้ทางผู้ร้องขอทราบ ส่วนคดีขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์กับพวกนั้น มีผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมากจึงต้องทยอยดำเนินการ คดีไหนเสร็จก่อนก็ทยอย จบก่อน
ปนัดดาให้ขรก.เลิกประจบ
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นปีที่ 82 ตรงกับวันเสาร์ที่ 28 มิ.ย. 2557 ว่า ถึงเพื่อนข้าราชการ เนื่องในวันสถาปนาสำนักนายกรัฐมนตรี ปีที่ 82 "ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าราชการทุกหมู่เหล่าไม่มีสี ไม่มีฝ่ายทางการเมืองอีกต่อไป ไม่ประจบประแจงเอาใจนักการเมืองจนลืมศักดิ์ศรีของความเป็นข้าราชการ จะมีแต่ข้าราชการผู้ยึดมั่นหลักคุณธรรมจริยธรรม เป็นข้าราชการของประชาชนและพระมหากษัตริย์ ที่จะมุ่งมั่นบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนชาวไทยให้มีความร่มเย็นเป็นสุข"