- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 22 September 2015 09:57
- Hits: 9463
บิ๊กตู่ ลุยยูเอ็น เมินม็อบต้าน ปรับลายจุด 500 คดีไม่ไปพบคสช.
'ปนัดดา'ยันไม่ได้เสนอชื่อเลขาฯ ศอ.บต. นั่งปลัดสำนักนายกฯ 'บิ๊กตู่'เมินม็อบต้านที่สหรัฐ แต่อายคนมองชาติแตกแยก แม้วบอก 'พท.-นปช.'อดทน ปล่อยให้ 'คสช.' ทำงานก่อน เชื่อจะมีเลือกตั้ง เร็วๆ นี้'นพดล ปัทมะ' ยันทักษิณไม่มีคลิปวิจารณ์รัฐบาล หน่อยแนะรัฐบาล-คสช. เปิดเวทีฟังประชาชนต่อเนื่อง ศาลชี้คำสั่งคสช.ไม่มีผลย้อนหลัง สั่งปรับบ.ก.ลายจุด 500 บาท ฐานฝ่าฝืนประกาศ 'คสช.'
วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9064 ข่าวสดรายวัน
เยี่ยมชม - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เยี่ยมชมนิทรรศการ ระหว่างเป็นประธานเปิดงานมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ปี 2558 ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการ ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 21 ก.ย.
'บิ๊กตู่'ย้ำต้องมียุทธศาสตร์ชาติ
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานงานมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2558 โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้ต้องช่วยกันทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวกันได้ โดยมีตนเป็นรัฐบาล ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทำให้สถานการณ์คลี่คลายในทางที่ดีขึ้น ด้วยความร่วมมือกับข้าราชการทุกส่วน จะให้ความ สำคัญทุกส่วน พ่อค้า ประชาชน นักธุรกิจ ภาคเกษตรกร ต้องดูแลทั้งหมด ทิ้งใครไว้ข้างหลังไว้ไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องส่งเสริมให้ความเข้มแข็ง ซึ่งไม่สามารถทำได้ภายใน 1-2 ปี
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า คำว่าประชาชนเป็นใหญ่ หมายถึงสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง เรามีคนละหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน ในการเลือกตั้ง ทำประชามติ ตนก็เป็นคนหนึ่งที่ใช้สิทธิ แต่เลือกผิดมาตลอด อย่างไรก็ตาม เราต้องเป็นประชาธิปไตย วันนี้อยู่ในขั้นตอนปฏิรูป ส่วนอะไรที่มีปัญหา ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่ตั้งขึ้นใหม่มาพิจารณา เพื่อส่งต่อยุทธศาสตร์ชาติ จะได้มั่นใจว่าจะเดินได้แบบนี้ ไม่เช่นนั้นจะสะเปะสะปะ ถ้ามั่นใจว่าการเลือกตั้งจะได้รัฐบาล ที่มีธรรมาภิบาลก็ว่าไป แต่ตอนนี้เดินตาม รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อให้บ้านเมืองปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ตนเป็นห่วงขณะนี้
ชี้ใช้กลไก"ปชต."จัดการรัฐบาล
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้เปิดกองทุนเศรษฐกิจฐานรากกว่า 20 กองทุน เปิดให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่ใช่การให้เงินฟรี เพราะให้เปล่าที่ทำมาหลายอย่าง มันทำไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกทั้งหมดเพราะส่งผลกระทบต่อประ ชาชน อย่างกองทุน 30 บาทรักษาทุกโรคและรถไฟ รถเมล์ฟรี ก็เป็นภาระเยอะ แต่ทำอย่างไรไม่ให้เป็นภาระ โดยประชาชนต้องได้ด้วยก็ต้องสานต่อ ทำให้ชัดเจน ไม่ให้เป็นปัญหาการเงินการคลังของประเทศต่อไปในอนาคต ซึ่งการดูแลทั้งเรื่องสาธารณสุข การศึกษา สิทธิมนุษยชน ค่าใช้จ่ายปีหนึ่ง 500-600 ร้อยล้านบาท
"เราไม่ใช้คำว่าประชานิยม ไม่ใช่ไปสู้กับนักการเมือง ไอ้ที่ดีๆ ก็ว่าไป แต่ต้องไม่เป็นภาระกับรัฐบาล กับยอดหนี้สาธารณะ สิ่งที่ผมคิดตอนนี้คือทำอย่างไรจะเป็นประชารัฐ เพลงชาติเขียนไว้เป็นประชารัฐ คือรัฐกับประชาชนต้องอยู่ด้วยกัน แบ่งแยกไม่ได้ อำนาจใครจะเหนือกว่าใครไม่ได้ เพราะประ ชาชนเป็นคนเลือกรัฐบาล เมื่อเลือกรัฐบาลมาแล้วก็ต้องไว้ใจรัฐบาล แต่ถ้าเลือกมาแล้วไม่สุจริต ก็ใช้กลไกของประชาธิปไตยดำเนินการ ไม่ใช่คาดหวังว่าไม่ดีแล้วทหารจะมาเปลี่ยนให้ มันไม่มีอีกแล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า วันนี้ทุกคนต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ทั้งตัวข้าราชการและทุกๆ คน ถ้าซื่อสัตย์และทำตามสัญญาทุกอย่าง สัญญาในที่นี้คือหากนำกองทุนไปใช้ก็ต้องคืนตามสัญญาที่ให้ไว้ มีหนี้ก็ต้องใช้และช่วยกันนำเงินมาหมุนเวียนทำประโยชน์ขึ้นอีก
ไม่กังวลม็อบต้านที่สหรัฐ
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ถึงกระแส จะมีมวลชนไปรวมตัวต่อต้าน ระหว่างเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ว่า ไม่ต้องกลัวเป็นการประชุมระดับโลก ตนก็คนตัวเล็กคนหนึ่ง ประเทศไทยไม่ใช่ใหญ่โต เวทีอย่างนี้เขาไม่พูดเรื่องพวกนี้ เขาพูดแต่ประเด็นเรื่องความยากจน การพัฒนาอย่างยั่งยืน สามเสาหลักยูเอ็นว่าอย่างไรใน 15 ปีข้างหน้า
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีจะมีคนมาประท้วงและมาสนับสนุนระหว่างการเดินทางเข้าร่วม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่กังวล แต่อายเขา ถ้าพูดถึงสิ่งที่ดีก็ดี แต่ถ้าคนพูดบิดเบือนตนอาย คนเหล่านี้
เมื่อถามว่าถ้าทั้ง 2 กลุ่มมีการปะทะกัน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมจะไปทำอะไรได้ ผมก็ห้ามอยู่แล้ว สนับสนุนก็สนับสนุน แต่ให้อยู่ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ จะไปทำความเดือดร้อนให้ประเทศอื่นเขาทำไม จะมาทะเลาะกับผมก็มาทะเลาะในประเทศ อย่าไปทะเลาะที่อื่น คนรักผมก็ต้องระมัดระวังตัวเอง มันไม่ใช่กฎหมายเรา"
โวยไม่ร่วมมือแล้วจ้องจับผิด
ผู้สื่อข่าวถามถึงการสรรหาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีข่าวจะประชุม ร่วมครม. และคสช.วันที่ 22 ก.ย.นี้ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่ได้รายชื่อประธานกรธ. เพราะยังไม่มีใครมารายงานรายชื่อที่สรรหาไว้กับตน บอกแล้วว่าหลังกลับจากยูเอ็นจีเอถึงจะลงนามคำสั่งแต่งตั้ง ระหว่างนี้ป็นช่วงหารือเพื่อหาคนที่เหมาะสม
"คนที่เข้ามาแล้ว ที่เหลือไม่ให้เข้า ก็ต้องส่งข้อมูลให้คนที่เข้ามา แต่ถ้าไม่เข้ามาแล้วก็อย่ามาต่อต้าน คนพวกนี้มันเหมือนมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ มันไม่ได้ เพราะมีช่องทางให้เข้าไว้แล้ว แต่มาคอยจับว่าไอ้นี่มันผิด ไอ้นี่มันถูก ตรงใจหรือไม่ตรงใจแล้วประเทศนี้มันเป็นของใคร ไม่ใช่ของประชาชนเหรอ หรือเป็นของคนพวกที่คอยต้าน คอยไอ้นี่ไอ้โน่นตลอดเวลา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามถึงกระแสสนับสนุนให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาคสช.และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ นั่งเป็นประธาน กรธ.นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็พิจารณาทั้งหมด เอาชื่อมาใส่รวมไว้แล้วหารือกันว่าใครเหมาะสมที่สุด ต้องคุยกับคนที่มีชื่อดู ซึ่งระหว่างที่ตนไม่อยู่ก็คงมีการพูดคุยกัน
สั่งจนท.อดทนน.ศ.ต้านปฏิวัติ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่จัดกิจกรรม รำลึก 9 ปีเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ว่า จะออกมาก็ออกมา ถ้าผิดกฎหมายไปเรื่อยๆ ก็มีความผิดไปเรื่อยๆ ผิดต่างกรรมต่างวาระ ถ้าไม่กลัวก็ตามใจ ซึ่งตนระมัดระวังเต็มที่อยู่แล้ว เจตนาของเขาจะให้เราบังคับใช้กฎ หมายอยู่แล้ว ก็อย่าไปสนับสนุนเขา ตนแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่แล้วว่าต้องอดทนและระวัง มันอยู่ที่เจตนา หากเขาเจตนาดีก็ต้องเตรียมไปเลือกตั้งคราวหน้าแล้ว เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลหน้าทำไม่ดีไม่งามก็ไปว่ากันตรงโน้น วันนี้เผอิญ ว่าตนจัดระเบียบอยู่ จะมาอะไรกับตนตอนนี้แล้วตอนนั้นไปไหนกัน ตอนที่มันมีปัญหาก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 พวกนี้อยู่ที่ไหน
"วันนี้ ผมคิดว่าคนทั้งประเทศเขาดูอยู่ ก็เสียดายอนาคตเด็กๆ เรียนหนังสือจบบ้าง ไม่จบบ้าง พ่อแม่ก็เป็นทุกข์ ผมก็ทุกข์ยิ่งกว่าเขา ถ้าเขาไม่รู้ตัวเอง ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร" นายกฯกล่าว
โวยม็อบต้านทำถูกมองแตกแยก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่พล.อ.ประยุทธ์ เดินสายปาฐกถาและเปิดงานต่างๆ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนจะไปร่วมประชุมยูเอ็นจีเอ ที่สหรัฐ จนมีท่าทางอิดโรย โดยพล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่สบาย เป็นไข้หวัด" ส่วนวันที่ 22 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นประธานประชุมร่วม ครม.และคสช. และได้ยกเลิกภารกิจในช่วงบ่ายทั้งหมด จากนั้นวันที่ 23 ก.ย. เวลา 23.00 น. จะเดินทางไปสหรัฐ เพื่อร่วมประชุมระหว่างวันที่ 24-30 ก.ย.นี้
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกระแสกลุ่มคนจะไปต่อต้านนายกฯ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไปในฐานะผู้นำประเทศและเป็นหน้าตาของประเทศ นี่เป็นหน้าตาของคนไทย ใครที่จะทำลายชื่อเสียงของรัฐบาล ต้องทบทวนใหม่ อีกทั้ง นายกฯมีความห่วงใยเนื่องจากเราทราบถึงกลุ่มคนเห็นต่างจะออกมาแสดงพลัง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยห่วงว่าจะกระทบกับหน้าตาของประเทศ จะถูกมองว่าสังคมไทยยังแตกแยกอยู่ ทำให้ประเทศเสียชื่อเสียง และเราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
เมื่อถามว่า มีสื่อมวลชนต่างชาติประสานขอสัมภาษณ์บ้างหรือยัง พล.ต.วีรชนกล่าวว่า ตอนนี้มี วอยซ์ ออฟ อเมริกา (วีโอเอ) รอยเตอร์ และวอชิงตัน โพสต์ รวมถึงมีบทความที่จะลงในนิวยอร์ก ไทม์ส เกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลไทย แต่ต้องดูเวลาอีกครั้ง ตอนนี้ที่ยืนยันแล้วคือ วีโอเอเท่านั้น
โผรายชื่อทหารพรึ่บ'สปท.'
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์สั่งการให้หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ สรุปผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ก.ย. โดยรวบรวมให้เสร็จก่อนวันที่ 25 ก.ย. นี้ เพื่อเตรียมแถลงผลงาน 1 ปี ของรัฐบาลในเดือนพ.ย.นี้ โดยก่อนหน้านี้ได้ให้รัฐมนตรีที่ถูกปรับใหม่ศึกษา และรวบ รวมแนวทางการดำเนินงานระยะต่อไปให้ครบถ้วนเพื่อเตรียมแถลง
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์มีรายชื่อบุคคลที่จะเข้ามานั่งใน กรธ. และสปท.แล้ว แต่ยังไม่ตัดสินใจแต่งตั้ง เพราะต้องดูข้อมูลและรายละเอียดรอบด้านก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสัดส่วนทหารที่ถูกทาบทามเป็นสมาชิกสปท. คาดว่าจะมีนายทหารที่ยังอยู่ในราชการหลายนายที่ได้ขยับตำแหน่งในช่วงต.ค.นี้ อาทิ พล.อ.นพดล ฟักอังกูร เจ้ากรมเสมียนตรา พล.อ.รณชัย มัญชุสุนทรกุล ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.ท.ปรีชาญ จามเจริญ หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร พล.อ.วิเชียร ศิริสุนทร ผอ.ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง พล.ร.อ. ประสาน สุขเกษตร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. พล.อ.ประสูตร รัศมีแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทบ.
"ธวัชชัย-พะจุณณ์"ก็มีชื่อ
พล.ท.ธวัช สุกปลั่ง มท.ภ.2, พล.ท.ปราการ ชลยุทธ มท.ภ.4, พล.ท.วิวรรธน์ สุชาติ รองเสธ.ทบ., พล.ท.เสริมศักดิ์ นิยะโมสถ รองเสธ.ทบ., พล.ท.สุทัศน์ จารุมณี ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ., พล.ต.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล รอง มท.ภ.3, พล.ต.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ รองมทภ.4, พล.ต.ธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า รองผบ.นสศ., พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง ผช.ผบ.ทร. พล.ร.อ.ไกรวุธ วัฒนธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. พล.อ.อ.ศิวเกียรติ์ ชเยมะ ผช.ผบ.ทอ. พล.อ.อ.ทวิเดช อังศุสิงห์ หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา และพล.อ.อ.เผด็จ วงษ์ปิ่นแก้ว ผบ.ควบคุมการปฏิบัติการทางอากาศ
ส่วนอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่คาดว่าจะได้รับการเลือกเป็นสปท. อาทิ พล.อ. พลพล มณีรินทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษทบ., พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานปลัด กห., พล.ท.นคร สุขประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ., พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตมท.ภ.2, พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ
อดีตสปช.จี้'ตู่'ประกาศสปท.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนสัดส่วนอดีตสปช. ที่จะเข้าไปเป็นสมาชิก สปท. ซึ่งมีโควตาประมาณ 60 ที่นั่งนั้น มีอดีตสปช.ที่เป็นนายทหารเป็นแกนนำจัดทำโผ ได้ส่งประวัติ และรายชื่อของอดีตสมาชิกสปช. ให้ พล.อ. ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร พิจารณาแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. ที่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยส่งรายชื่อไปประมาณ 100 ชื่อ เพื่อให้ทีมงานของนายกฯ ที่เป็นทหารกลั่นกรองให้เหลือ 60 รายชื่อ ทั้งนี้ รายชื่อผู้ที่เสนอไปส่วนใหญ่ เป็นอดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านต่างๆ ของสปช.ทั้ง 18 คณะ อดีตสปช.สายทหาร สายกฎหมาย สายจังหวัด และอดีตสปช.ที่มาร่วมประชุมสปช.อย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดประชุม และโหวตลงมติเรื่องต่างๆ ในทิศทางตรงกับที่รัฐบาลต้องการ ซึ่งรายชื่อเหล่านี้ถือเป็นเกรดเอ 40 คน ที่จะได้รับคัดเลือกเป็นสปท. ทั้งนี้ จะมีสัดส่วนอดีตสปช. ที่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับการแต่งตั้งเป็นสปท.มากกว่าอดีตสปช.ที่ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ
นายนิรันดร์ พันทรกิจ อดีตสมาชิกสปช. กล่าวว่า อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศรายชื่อ กรธ. 21 คน และสมาชิกสปท. 200 คน ให้ชัดเจน ก่อนไปประชุมยูเอ็นจีเอ ที่สหรัฐ อเมริกา ในวันที่ 23 ก.ย. เพื่อแสดงความจริงใจให้นานาชาติเห็นถึงความคืบหน้าการทำ งานตามโรดแม็ปของรัฐบาล จะทำให้นายกฯ โดดเด่นในสายตาเวทีโลกเที่ยวนี้ ดีกว่าจะมาประกาศรายชื่อหลังจากกลับถึงประเทศไทยแล้ว
ป้อมยันทหารมีความรู้หลายด้าน
ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะ รองหัวหน้า คสช. กล่าวถึงข่าวว่ามีผู้สมัครเป็น สปท. ถึง 20,000 คนว่า ยังไม่เห็นรายชื่อสักคนเพราะไม่ได้ร่วมเสนอ ทั้งนี้ต้องรอหารือร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ก่อนว่าจะเลือกใคร ทุกอย่างมีสัดส่วนอยู่แล้วตามที่นายกฯกำหนด ซึ่งนายกฯจะเป็นผู้พิจารณาบุคคลที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนในอนาคต ดังนั้นทุกคนไม่ต้องห่วง
เมื่อถามว่า กังวลสัดส่วนที่มีทหารมากเกินไปหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่กังวล เพราะทหารมีความรู้หลายด้าน ไม่ใช่ทหารมีความสามารถแค่จับและยิงปืนเพียงอย่างเดียว แต่ทหารมีความรู้ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม อีกทั้งทหารมากมายก็เรียนจบปริญญาโท และปริญญาเอก
จ่อเอาผิด"ปชต.ใหม่"ย้อนหลัง
เมื่อถึงว่า คสช.จะเอาผิดย้อนหลังกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ออกมาเคลื่อน ไหวเมื่อวันที่ 19 ก.ย. พล.ประวิตรกล่าวว่า ต้องดูว่ามีใครทำอะไรที่ละเมิดกฎหมายหรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่บันทึกภาพและรายละเอียดต่างๆไว้หมด ไม่ใช่ใครจะเคลื่อนไหวอะไรก็ได้ อะไรที่ผิดก็ต้องว่าตามผิด ซึ่งเจ้าหน้าที่จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ขอร้องว่าช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องดำเนินการเพื่อสู่ความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ดังนั้นต้องขอเวลา ขอให้พักสักเดี๋ยว เราใช้เวลาอีกไม่นานจะมีการเลือกตั้ง ส่วนที่สหรัฐคิดว่าคนที่ออกมาต่อต้านมีไม่มาก จึงไม่น่ากังวล เพราะนายกฯไม่ได้ทำอะไรเสียหาย ต้องให้ความเป็นธรรมกับนายกฯบ้าง
พล.อ.ประวิตรยังให้สัมภาษณ์ถึงนายทักษิณ ชินวัตร ว่า อยากให้อยู่เฉยๆ ก่อน ถ้าอยากจะเล่นอะไร หรือพรรคพวกจะทำอะไร ขอให้รอมีรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งก่อน ตอนนี้ขอร้องทุกฝ่าย ปล่อยให้นายกฯทำงานอย่างเต็มที่ รวมถึงสื่อมวลชนต้องให้กำลังใจ นายกฯ อย่าบั่นทอน
แม้วให้ปล่อย"คสช."ทำงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงนี้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ บินไปพักผ่อนที่สาธารณรัฐ ประชาชนจีนคาดว่าจะอยู่ที่จีน 1 สัปดาห์ ก่อนบินพักผ่อนที่ประเทศอังกฤษต่อไป โดยก่อนหน้านี้ได้มาพักที่ฮ่องกง และมีสมาชิกพรรคเพื่อไทยเดินทางไปพบจำนวนหนึ่ง โดยนางกุสุมาลวตี ศิริโกมุท อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย หลายสมัย โพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยเป็นภาพถ่ายคู่กับนายทักษิณระหว่างรับประทานอาหารร่วมกัน ที่ฮ่องกง ส่วนแกนนำพรรคและแกนนำนปช. คสช.ไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทักษิณได้ย้ำกับอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย และมวลชนคนเสื้อแดง ที่ได้พบว่า ขอให้อดทนและปล่อยให้คสช.ทำงานไปก่อนเพราะเราเป็นนักกีฬา เมื่อถึงวันเลือกตั้งค่อยว่ากันใหม่ ขณะนี้ใครมีงานมีหน้าที่อะไร ขอให้ทำไปก่อน และเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกันยังแสดงความเป็นห่วงปัญหาเศรษฐกิจ ของไทย พร้อมขอร้องอดีต ส.ส.และสมาชิกพรรค อย่าทอดทิ้งประชาชนในภาวะที่ลำบาก ต้องเข้าหาประชาชน
ยันไม่มีคลิปวิจารณ์การเมือง
รายงานข่าวแจ้งว่า นายทักษิณกล่าวกับผู้ไป พบบางกลุ่มว่า ตอนนี้สบายดี อ้วนขึ้นเยอะ แต่แปลกใจว่าทำไมที่นั่นยังไม่ก้าวข้ามตนสักทีนายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า คนไทยอยากเห็นประเทศเดินหน้า บ้านเมืองสงบและมีประชาธิปไตย คงไม่มีใครต้องการเห็นความขัดแย้ง ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกประเทศ และนายทักษิณคงอยากเห็นคนไทยเลิกขัดแย้งและให้บ้านเมืองเดินหน้า ดังนั้นที่อ้างว่านายทักษิณจะออกคลิปวิจารณ์การเมืองและคสช.นั้น ตนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ให้ข่าว แต่เชื่อว่าจะไม่มีการออกคลิปใดๆ เพราะอดีตนายกฯ คงอยากใช้ชีวิตเงียบๆ และไม่ประสงค์จะเป็นเงื่อนไขที่ถูกโยงให้เกิดความขัดแย้ง และคงจะไม่วิจารณ์การเมืองในประเทศ ดังนั้นแหล่งข่าวข้างต้นจึงให้ข่าวคลาดเคลื่อนจากความจริง
จตุพรย้ำแดงสงบรอเลือกตั้ง
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงกรณีมีข่าวนายทักษิณเตรียมแสดงความเห็นต่อการทำงานของคสช.ว่า ยังไม่เคยได้ยินข่าวนี้ ส่วนที่มีข่าวว่านายทักษิณ ระบุให้คนเสื้อแดงแกล้งตายนั้น มองว่าไม่มีเหตุผลที่จะทำอย่างนั้น หลักการของเราคืออดทนและรอคอยด้วยความสงบ อย่างมีสติและให้รอดูหนังม้วนนี้ให้จบ ซึ่งประชาชนเขาเข้าใจ แต่ไม่ได้แกล้งตาย
นายจตุพรยังกล่าวถึงกระแสข่าวม็อบต้าน พล.อ.ประยุทธ์ ที่สหรัฐ ว่า การแสดงออกเป็นเรื่องปกติและเป็นสิทธิที่จะพูดแสดงความเห็นได้ไม่ว่าในพื้นที่ใดก็ตาม ส่วนที่กังวลว่าจะส่งผลลบกับรัฐบาลและประเทศนั้น อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน หากคิดว่าเป็นวิกฤตก็ควรใช้ให้เป็นโอกาส ใช้สติและเหตุผลชี้แจงสถานการณ์ ต่างๆ ให้เวทีโลกรับทราบและเข้าใจสถาน การณ์ในไทยมากขึ้น ซึ่งการแสดงความเห็นต่าง ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจและผู้นำควรมีสติและอดทน เปิดใจยอมรับฟังความเห็นต่าง อย่ามองว่าคนเหล่านั้นเป็นศัตรูและควรพูดคุยให้เกิดความเข้าใจ ให้แต่ละประเทศเข้าใจว่า แม้จะมาจากการยึดอำนาจ แต่ยังยอมรับฟังความเห็นต่างได้ เชื่อว่าสหรัฐเข้าใจและพร้อมดูแลความปลอดภัยอยู่แล้ว
พท.ชี้รธน.สำคัญที่เนื้อหา
นายสามารถ แก้วมีชัย คณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีมีชื่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ที่ผ่านมามีชื่อนายมีชัยมีส่วนเกี่ยวข้องการร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ หากจะออกมาเป็นประธานเปิดตัวเต็มที่ก็น่าจะดี วันนี้ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล แต่สาระสำคัญอยู่ที่เนื้อหาของร่างที่ต้องเป็นประชาธิปไตยและเป็นที่ยอมรับได้ของประ ชาชนร่างก็อาจจะผ่านประชามติได้ แต่หากเนื้อหาที่ออกมาไม่เป็นที่ยอมรับ ก็มีตัวอย่างให้เห็นมาก่อนหน้านั้นที่ร่างรัฐธรรมนูญถูกตีตกไป ดังนั้น ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ต้องพิจารณา อย่างรอบคอบ เพราะการทำประชามติต้องใช้เงินถึง 3,000 ล้านบาท เมื่อไม่มีสปช.มาช่วยตรวจสอบ หากร่างไม่ผ่านแล้วใครจะรับผิดชอบ ฉะนั้นการเขียนรัฐธรรมนูญให้ง่ายและชัดเจนจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าจะต้องมายกร่างซ้ำ
"ผู้มีอำนาจระบุว่า ขณะนี้เป็นระยะเปลี่ยนผ่านไม่อยากให้เกิดการปฏิวัติซ้ำขึ้นมาอีก ดังนั้นการเขียนรัฐธรรมนูญก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วย ยกตัวอย่าง หากยุบสภาเกิดภาวะสุญญากาศ ใครจะเป็นคนรับผิดชอบดูแลสถานการณ์ ผมเห็นว่าอย่างนี้ควรเขียนให้ชัดว่า ให้รัฐมนตรีพ้นสภาพไปทั้งคณะแล้วให้ปลัดกระทรวงมารักษาการแทน โดยเลือกคนใดคนหนึ่งมารักษาการนายกฯ เป็นต้น ซึ่งในร่างที่ถูกตีตกไปนั้นก็เขียนเอาไว้แต่มีการระบุถึงคปป.ทำให้เกิดเป็นปัญหาตามมา" นายสามารถกล่าว
ให้ความเป็นธรรมทุกกลุ่ม
นายสามารถกล่าวว่า สำหรับสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ไม่เกิน 200 รายชื่อนั้น ยืนยันชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีใครเข้าไปร่วมอย่างแน่นอน และจะติดตามดูการทำงานของผู้ยึดอำนาจโดยปล่อยให้เขาทำอย่างเต็มที่ เพราะการปฏิรูปประเทศไม่ใช่ใครเข้ามาทำแล้วจะเสร็จทันทีในวันนี้พรุ่งนี้ แต่ต้องใช้เวลาในการดำเนินงานเพื่อเข้าสู่ประชาธิปไตย หลังจากนั้นค่อยมาว่ากันว่าเป็นอย่างไร
นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นอีก จะเขียนกันอย่างไรก็ได้ เพราะคณะยกร่างมีที่มาอย่างไร แนวคิดและตัวบุคคลนั้นไม่เกินความคาดหมาย แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกกลุ่ม หากมีแนวคิดเดิมๆ ว่าจะจัดการกับกลุ่มคนหรือกลุ่มการเมืองที่ตัวเองไม่ชอบ ปัญหาจะตามมาไม่มีสิ้นสุด อย่าเขียนรัฐธรรมนูญแบบผู้ชนะ
มาร์คจวกจดทะเบียนพรรคใหม่
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงกรณีให้ทุกพรรคจดทะเบียนพรรคใหม่ว่า ไม่เข้าใจความหมาย แต่เห็นว่าสิ่งที่คสช.ควรคิดคือ การปฏิรูประบบและโครงสร้างพรรค เพื่อให้เป็นของประชาชนและเป็นสถาบัน สร้างมาตรฐานและปฏิรูปพรรค แต่หากจะยุบพรรคให้มาจดทะเบียนใหม่แล้วเลือกตั้งภายใน 3-6 เดือน จะทำให้ประเทศถอยหลังไปสู่การเป็นพรรคเฉพาะกิจเพื่อเลือกตั้ง และสร้างปัญหาอื่นตามมา ถือเป็นเรื่องอันตราย ดังนั้น หากเห็นว่าพรรคทำไม่ถูกต้องก็กำหนดมาตรฐาน ถ้าอยากให้พรรคใหม่เข้ามาก็เปิดให้จดทะเบียน แต่อย่าทำให้การเมืองย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ขอให้จับตาดูความเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะหากจะให้เสมอภาคก็ต้องเอาให้ชัดว่า คนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐในขณะนี้ต้องไม่ยุ่งกับการเมือง ได้ยินว่ามีบางคนอยากให้เกิดพรรคเล็กๆ แล้วไปรวมเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ความจริงควรหลุดพ้นจากความคิดนี้ได้แล้ว เพราะเราต้องการนักการเมืองและพรรคที่มีอุดมการณ์และคนรุ่นใหม่ แต่ต้องไม่ทำให้พรรคที่ดีหรือพยายามทำดี ถูกมองว่าเป็นการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่เช่นนั้นการเมืองก็ไม่เดินหน้า จึงไม่อยากให้มุ่งที่เป้าหมายการเมือง และขอชวนให้ทุกพรรคช่วยกันบอกว่าจะปฏิรูปพรรคอย่างไร"
ส่ง 2 ชื่อร่วมเป็น"สปท."
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นายวิษณุต้องพูดให้ชัดว่าความหมายตรงนี้คืออะไร ตนก็ไม่แน่ใจว่าแนวทางนี้เป็นวิธีคิดของผู้มีอำนาจหรือไม่ เพราะถ้าฟังพล.อ.ประยุทธ์พูดชัดว่าอยากให้บ้านเมืองไม่ขัดแย้ง แต่แม่น้ำสายต่างๆ ยังมีความคิดวนเวียนกับเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ และคิดว่าพรรคใหญ่เป็นปัญหา จึงคิดกำจัดทางการเมือง ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ หนักแน่นในเป้าหมายก็คงไม่มีปัญหา ผู้ที่จะร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง แต่กลับพูดล่วงหน้าโดยไม่ให้เกียรติคนที่จะเข้ามาทำงาน จึงขอย้ำว่ากรธ. 21 คน จะฟังใครก็ตามแต่คนอนุมัติคือประชาชน และควรคิดว่าจะส่งเสริมพรรคแบบไหน
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงคสช.ขอรายชื่อผู้ที่จะไปร่วมเป็นสปท. ว่า ตนส่งรายชื่อตามที่มีคำขอมา 2 ชื่อ แต่ขึ้นอยู่กับคสช.ว่าจะเลือกหรือไม่ โดยไม่ขอเปิดเผยรายชื่อเพราะเป็นมารยาท ส่วนนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส.กทม. จะไปเป็นสปท.ในนามกปปส.นั้น ตอนนี้กปปส.กับประชาธิปัตย์แยกกันอยู่แล้ว แม้สมาชิกพรรคอาจอยู่ในองค์กรทั้ง 2 ส่วน แต่นายอรรถวิชช์ไม่ใช่ผู้อาวุโส และตนไม่ได้ส่งชื่อไป ซึ่งการพิจารณาเป็นสิทธิ์ของพรรค
รายงานข่าวแจ้งว่า รายชื่อ 2 คน ที่นายอภิสิทธิ์ส่งให้กับคสช. ประกอบด้วย นายกษิต ภิรมย์ และนายถวิล ไพรสณฑ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งทั้งสองคนได้ประกาศจะยุติบทบาททางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ปชป.ชูเสียงส่วนใหญ่แก้ขัดแย้ง
ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การ เมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนาหัวข้อ "การพัฒนาการเมือง เพื่อความยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยไทย" โดย มีนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. และอดีตเลขาธิการอาเซียน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย และนายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกสนช. เข้าร่วมเสวนา
นายสุรินทร์กล่าวถึงแนวคิดให้พรรค การเมืองจดทะเบียนใหม่ว่า การเปลี่ยนชื่อพรรคใหม่ ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ เหมือนดอกกุหลาบแม้เปลี่ยนชื่อก็ยังมีกลิ่น หรือดอกอุตพิด เปลี่ยนชื่อก็ยังเป็นดอกอุตพิด จึงต้องให้โอกาสพรรคปฏิรูปตัวเอง อย่าไปบังคับ แม้จะเปลี่ยนชื่อพรรค กลุ่มคนยังคงเป็นกลุ่มเดิม ส่วนการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าเกิดจากอะไร หากหาไม่ได้ก็แก้ไม่ได้ และการแก้ปัญหาทางการเมืองต้องให้คนในระนาบการเมืองมาแก้ไข ไม่ใช่ใช้คนที่ไม่เกี่ยวข้อง และจำเป็นต้องใช้เสียงส่วนใหญ่เข้ามาแก้ไขความขัดแย้ง แต่เราไม่เคยไปถึงจุดนั้นเลย
หน่อยชี้ปฏิวัติแก้ปัญหาไม่ได้
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า การตั้งสมมติ ฐานว่านักการเมือง พรรคการเมืองเลว เกิดจากเราไม่เชื่อและศรัทธาในประชาธิปไตย ไม่เชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่เชื่อว่าประชาชน ยังด้อยพัฒนา ไม่มีความรู้พอ จึงนำไปสู่การเกิดวงจรอุบาทว์ เมื่อเลือกตั้งแล้วก็ปฏิวัติฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้วร่างใหม่ ตลอด 83 ปีของประชาธิปไตย เราใช้อำนาจพิเศษนี้มาตลอด ซึ่งมันพิสูจน์แล้วว่า ไม่ใช่ทางออกของปัญหา และมันกลายเป็นกับดัก เป็นหลุมดำของปัญหาในที่สุด
"การแก้ปัญหาไม่ให้นักการเมืองทุจริต ไม่โกงกิน ซื้อเสียง จะแก้ด้วยการปฏิวัติรัฐ ประหาร แก้ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ไม่ได้ วันนี้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อย่าตั้งโจทย์ว่าการเมือง นักการเมืองเลว ต้องกำจัด ปัญหาก็จะวนอยู่อย่างเดิม แต่ถ้าเราพยายามเข้าใจปัญหา เปลี่ยนจากคำว่ากำจัดเป็นพัฒนา และใช้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้ได้ และอย่าเอาแค่ความคิดของกรธ. 21 คน แล้วเขียนรัฐธรรมนูญว่าต้องกำจัดสิ่งเลวร้ายทางการเมือง เพราะถ้ายังคิดแบบนั้น จะหนีไม่พ้นวงจรเดิม นักการเมืองที่ดีต้องรักษาประชาธิปไตยได้ ให้ใช้ตัวรัฐธรรมนูญฉบับสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
แนะรับฟังประชาชนต่อเนื่อง
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวด้วยว่า เราเปลี่ยนวิธีการเขียนรัฐธรรมนูญจากกรธ. 21 คนได้ด้วยการขอให้ฟังเสียงจากภาคประชาชน จึงจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เป็นรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้ แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ยอมรับได้
จากนั้นคุณหญิงสุดารัตน์ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวถูกเชิญร่วมเป็นสปท.ว่า ไม่มีคนของรัฐบาลกับคสช.ทาบทามให้เป็น สปท. หากมีก็จะปฏิเสธ ถ้าจะให้การปฏิรูปสำเร็จขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ 1.ศึกษาหาสาเหตุความ ขัดแย้งอย่างถ่องแท้หรือไม่ 2.ต้องเปิดให้ ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความเห็นอย่างรอบด้านหรือไม่ ส่วนการจดทะเบียนพรรคใหม่ ไม่ทราบว่าวัตถุประสงค์ของการเซ็ต ซีโร่พรรค ถ้าไม่ให้พรรคใหม่เสียเปรียบก็ระบุในกฎหมายลูกได้ แต่ถ้ามีวัตถุประสงค์สลายความขัดแย้งของ 2 พรรคใหญ่ การจดทะเบียนใหม่คงเป็นแค่เปลือก ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แก่น
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ส่วนตัวสนับ สนุนให้รัฐบาลกับ คสช.เป็นเจ้าภาพจัดเวทีรับฟังความเห็นต่าง 2 ฝ่ายที่ขัดแย้งเพื่อหาจุดสมดุลให้การแก้ปัญหาประเทศให้ได้ ต้อง จัดเวทีระยะยาวให้คุยกันต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ คุย 1-2 ครั้ง เพื่อเป็นเวทีที่กล่อมเกลาความ คิด อะไรที่เห็นตรงกันให้นำมาใส่ไว้ในรัฐ ธรรมนูญและแผนการปฏิรูป อะไรที่เห็นต่างก็ถอยกันคนละก้าว เพื่อหาจุดสมดุล เวทีของสปท.ก็ทำได้ แต่คสช.กับรัฐบาลจะต้องให้ความสนับสนุน
พีระศักดิ์ขอสนช.ร่างรธน.รอบ 3
ที่รัฐสภา นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่สอง กล่าวถึงการส่งสมาชิกสนช.เข้าร่วมเป็นกรธ.ว่า สนช. เพียงแค่อยากให้มีตัวแทนไปร่วมเป็นกรธ.สัก 3 คน เพื่อจะได้ประสานการทำงานร่วมกัน เตรียมไว้สำหรับการร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ยังไม่สรุปจะให้ใครไปร่วมเป็นกรธ.บ้าง ส่วนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 น่าจะแน่นอนแล้วว่า ต้องมีการแก้ไขในส่วนของการทำประชามติ เพื่อให้ชัดเจนว่าการเห็นชอบรัฐธรรมนูญ จะใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่วนกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ ควรแก้ไขให้ชัดเจนเช่นกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป จะให้หยิบร่างรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาปรับใช้ โดยตนขอเสนอให้สนช.ร่างให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า สำหรับสัดส่วน 3 สนช. ที่จะไปร่วม กรธ.ทางสนช. อยากให้นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ที่เคยร่วมเป็นกมธ. ไปทำหน้าที่ยกร่างอีกครั้ง นอกจากนั้นหากนายมีชัยตอบรับ เป็นประธาน กรธ. จะทำให้สมาชิกสนช. 2-3 ราย ที่เป็นข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้งปัจจุบันและอดีตเข้าร่วมเป็นกรธ.ด้วย
นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวกรณีรัฐบาลเตรียมเอาผิดทางแพ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับผู้เกี่ยวข้องให้ชดใช้ค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ว่า คณะกรรมการความรับผิดทางแพ่งจะตรวจสอบความเสียหาย ก่อนแจ้งผู้ถูกกล่าวหาว่าต้องชดใช้เท่าไร ถ้าหากผู้ถูกกล่าวหาไม่เห็นด้วยเขาก็จะดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครองให้ เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว เป็นหน้าที่ของศาลปกครองสูงสุดที่จะต้องชี้ขาด กรณีนี้คล้ายกับคดีการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง สุดท้ายศาลปกครองสูงสุดจะเป็นผู้ชี้ขาด
ปรับลายจุด 500-ฝืนประกาศคสช.
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ศาลแขวงดุสิต ถนนบรมราชชนนี พนักงานอัยการฝ่ายคดีแขวงดุสิต เป็นโจทก์ฟ้องนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เป็นจำเลย ฐานฝ่าฝืนประกาศคสช. ฉบับที่ 41/2557 กรณีวันที่ 23 พ.ค.2557 ประกาศ คสช.ฉบับที่ 3/2557 แจ้งให้เข้ารายงานตัวต่อคสช. แต่นายสมบัติไม่ปฏิบัติตาม กระทั่งวันที่ 5 มิ.ย. 2557 เจ้าหน้าที่จับกุมตัวนายสมบัติ จากบ้านพักที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในประกาศเรียกรายงานตัวฉบับแรกไม่มีการกำหนดโทษไว้ ดังนั้นประกาศของคสช.ต่อๆ มา คือฉบับที่ 25 และ 29/2557 ให้ลงโทษฐานฝ่าฝืนคำสั่ง จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ไม่สามารถบังคับใช้ย้อนหลังได้ การออกคำสั่งของ คสช.จะบังคับใช้เฉพาะรายไม่ได้ จึงต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ซึ่งเป็นกฎหมายปกติ พิพากษาปรับนายสมบัติเป็นเงิน 500 บาท ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน
นายสมบัติ กล่าวภายหลังมีคำพิพากษาว่า ศาลสั่งปรับเป็นเงิน 500 บาท เนื่องจากตนฝ่าฝืนประกาศ คสช.ในช่วงเเรก ก่อนมีประกาศของ คสช.ในเรื่องการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. การตัดสินวันนี้จึงเป็นกรณีพิเศษเเละไม่ได้เป็นบรรทัดฐาน อีกทั้งตอนนั้นยังไม่มีการโอนคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช.ไปยังศาลทหาร ปัจจุบันตนยังมีคดีในศาลทหารอีก 1 คดี ซึ่งเป็นคดีความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น