- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 16 September 2015 16:15
- Hits: 4164
ตู่สั่งหั่นโรดแม็ป เร่งรธน. ให้ร่างแค่ 4 เดือน ปล่อยตัว'พิชัย-เก่ง-สื่อ' ผู้ดี-มะกันห่วงปชต.ไทย เด้งอธิบดีกรมทางหลวง'หมอโสภณ'นั่งปลัดสธ.
'บิ๊กตู่'ถกแม่น้ำ 3 สาย คสช.-ครม. สนช.เร่งสปีดงาน สั่งร่นโรดแม็ปใหม่น้อยกว่า 20 เดือน ร่างรธน.จาก 6 เหลือ 4 เดือน เลื่อนเคาะรายชื่อ'กรธ.-สปท.'หลังกลับจากยูเอ็น เปิดโควตาอดีตสปช. 60-70 คนร่วมเป็นสปท. เพื่อไทยปัดส่งคนร่วม'มาร์ค' เปิดไฟเขียวลูกพรรคปชป. คสช.ปล่อยแล้ว 'พิชัย-เก่ง-ประวิตร' ไม่แจ้งข้อหา แจงส่งทหารเฝ้าบ้าน 'ณัฐวุฒิ' แค่ดูแลความปลอดภัย ทูตอังกฤษ-สหรัฐห่วงไทยห่างประชาธิปไตยกว่าเดิม ยังจำกัดสิทธิเสรีภาพ ครม.ตั้ง'หมอโสภณ' นั่งปลัดสธ. คมนาคมโยกย้ายแต่งตั้ง 10 บิ๊กขรก. เด้งอธิบดีกรมทางหลวง เข้ากรุผู้ตรวจฯ
วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9058 ข่าวสดรายวัน
เรียกเหงื่อ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ นำรัฐมนตรีปั่นจักรยานรอบทำเนียบรัฐบาล 8 รอบ ก่อนการประชุมครม. ระบุเพื่อเป็นแบบอย่างให้ประชาชนหันมาออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ เมื่อวันที่ 15 ก.ย.
บิ๊กตู่ชี้รายชื่อกรธ.ยังไม่เสร็จ
เวลา 09.00 น. วันที่ 15 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คสช. และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประกอบด้วยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. นายสุรชัย เลี้ยงบุญชัย และนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. เพื่อพิจารณาการสรรหาบุคคลดำรงตำแหน่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้เสร็จก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์จะ เดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 23 ก.ย.นี้
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนประชุมว่า จะหารือถึงการดูแลประชาชนและปัญหาที่ติดขัดเรื่องเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งจะมีการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ด้วย รวมทั้งหารือถึงงานความมั่นคงในประเด็นข้อกฎหมายต่างๆ ส่วนรายชื่อ กรธ.ชุดใหม่อยู่ระหว่างดำเนินการ ยังไม่เสร็จ จะนำเรื่องนี้พูดคุยในที่ประชุมด้วย ตนจะให้แนวคิดและให้ทุกคนเสนอรายชื่อ มาดูว่ามีใครบ้างอย่างไร เมื่อถามว่าถึงวันนี้รายชื่อกรธ.ได้กี่เปอร์เซ็นต์แล้ว หัวหน้าคสช. กล่าวติดตลกว่า "ได้ 500 เปอร์เซ็นต์แล้ว เพราะมันเยอะ ชื่อมันเยอะเหลือเกิน"
เมื่อถามว่าอาจพิจารณาเฉพาะตัวประธานกรธ.ก่อนใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ ต้องเสนอชื่อเข้ามาก่อนตอนนี้ยังมีเวลา ทุกฝ่ายที่ให้คอนเซ็ปต์ไปแล้วจะเอาใครมาบ้าง แล้วเอาทั้งหมดมารวมกันจากนั้นค่อยมาแบ่งและคัดเลือกเป็นกลุ่มที่ 1, 2, 3, 4, 5 แล้วค่อยมาประชุมพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง ตอนนี้ให้แต่ละกลุ่มส่งชื่อเข้ามาก่อน ให้ทุกคนคิดว่าทุกอย่างทำเพื่อประโยชน์ดีกว่าอย่ามองตัวบุคคล วันนี้เรามองที่ตัวบุคคลมากเกินไปและมองการเมืองและประชาธิปไตยมากเกินไป
ถก 3 ฝ่ายสั่งใช้เวลาร่างรธน.สั้นลง
เวลา 10.30 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ให้สัมภาษณ์หลังประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ไม่มีการพิจารณารายชื่อกรธ.และสมาชิกสปท. นายกฯให้แนวทางว่าการร่างรัฐธรรมนูญนั้นต้องรวดเร็ว ใช้เวลาไม่มาก กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญอาจสั้นลง ส่วนที่เหลือจะร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรม นูญ สนช.จะเตรียมความพร้อมเพื่อให้ทันกรอบเวลา 6-4-6-4 และทำกฎหมายลูกให้เร็วขึ้นด้วย โดยจะทำงานให้สอดคล้องกับ กรธ.
เมื่อถามว่าในที่ประชุมยืนยันโรดแม็ป 6-4-6-4 เหมือนเดิมหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ที่ประชุมหารือถึงแนวทางที่จะลดเวลาดังกล่าวลงว่าแต่ละฝ่ายจะทำได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญว่าจะสั้นลงได้หรือไม่ กรอบการร่างรัฐธรรม นูญเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่หากจะให้กระบวนการสั้นลงเราแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวได้ นายกฯเน้นย้ำว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องตามหลักสากลและมั่นคง หากจะมีมาตรการใดๆ เพื่อทำให้เป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนต้องอยู่ในบทเฉพาะกาลและประชาชนยอมรับ
ต้องมีทางออกสำหรับวิกฤต
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้ามาแก้ไขแล้วทำประชามติ นาย พรเพชรกล่าวว่า ส่วนตัวต้องการให้นำรัฐธรรม นูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาพิจารณาควบคู่กับรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ นายกฯ ต้องการให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีทางออกสำหรับวิกฤต
นายพรเพชรกล่าวว่า ที่ประชุมยังหารือถึงแนวทางว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร โดยเห็นว่าต้องแก้ไขรัฐธรรม นูญชั่วคราวเพื่อหาทางออกแต่ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา แนวทางนี้นายกฯมอบให้ผู้มีความรู้ด้านกฎหมายไปคิดและศึกษา คสช.พยายามสื่อสารกับสังคมว่าไม่ได้ต้องการสืบทอดอำนาจ ยืดอายุไปอีกนาน ไม่ใช่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็ล้มมันลง
สปช.มาจาก 5 กลุ่ม
นายพรเพชรกล่าวว่า สเป๊กกรธ.มองไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่คิดว่านายกฯจะเลือกคนที่ดีที่สุด ถ้ามีการเสนอชื่อตนจะเรียนตรงๆ ถ้ารู้ว่าคนนั้นเป็นอย่างไร เข้ากับหลักการของนายกฯหรือไม่ เพราะนายกฯอาจไม่รู้จัก นักกฎหมายทั้งหมดแต่ตนรู้จักมากกว่า ก็ยินดีถ้านายกฯจะปรึกษาตน หรือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ คนที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญคิดว่าน่าจะเป็นคนใหม่ ไม่ควรเป็นอดีตกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เหมาะสม ซึ่งกรธ.ชุดใหม่ต้องเชี่ยวชาญด้านเทคนิคของกฎหมาย
นายพรเพชร กล่าวว่า นายกฯ กล่าวในที่ประชุมว่าให้แต่ละฝ่ายเสนอชื่อ สปท.เข้ามาเพื่อพิจารณา เน้นย้ำว่า สปท.ต้องเข้ามาทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อไป ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น 1.ข้าราชการประจำ แต่จะไม่เอาข้าราชการระดับบนสุด เพราะต้องบริหารงานกระทรวง 2.ข้าราชการเกษียณ ต่างรู้ดีว่าควรขับเคลื่อนแก้ปัญหาประเทศอย่างไร 3.ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ปิดกั้นว่าจะเป็นเสื้อสีใด พรรคใด 4.ด้านความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ 5.เป็นสมาชิกสปช.เดิม
ยันสนช.ไม่เคยเสนอชื่อ'สุรชัย'
เมื่อถามว่ามีข้อเสนอแนะนายกฯเกี่ยว กับการพิจารณากรธ.และสปท.หรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า เรื่องของกรธ. อยู่ในขั้นตอนที่นายกฯกำลังตัดสินใจ ฝ่ายต่างๆ คงจะเสนอเข้ามา จากนั้นนายกฯจะหารือกับนายวิษณุ อีกครั้ง ในส่วนของสนช.ไม่มีการเสนอชื่อกรธ.ให้นายกฯพิจารณา แต่หากนายกฯต้องการให้ช่วยพิจารณาตนก็ยินดี และที่ผ่านมาไม่เคยเสนอชื่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. ให้เป็นประธานกรธ. เพราะ สนช.ไม่มีหน้าที่เสนอใคร การแต่งตั้งเป็นสิทธิของหัวหน้าคสช. แต่ก่อนหน้านี้คิดว่าควรมีสมาชิกสนช.ร่วมร่างรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งคิดว่าต้องมีเข้าไปร่วมด้วยแน่นอน
นายสุรชัย เลี้ยงบุญชัย รองประธานสนช. ให้สัมภาษณ์ว่า นายกฯมอบนโยบายให้แม่น้ำ 3 สายคือ ครม. คสช. และสนช. ทำงานให้สอดคล้องกัน ส่วนรายชื่อกรธ. และสปท.ยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนสัดส่วน กรธ. น่าจะมีชื่อ สนช.เข้าไปอยู่ด้วย
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. พร้อมด้วยพ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคสช. แถลงหลังประชุม 3 ฝ่ายว่า นายวิษณุชี้แจงกรอบเวลาการร่างรัฐธรรมนูญตามสูตร 6-4-6-4 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าต้องการให้ระยะเวลากระชับขึ้น รวมทั้งต้องสร้างระบบการทำงานและใช้งบประมาณตามเจตนารมณ์เดิม ไม่ได้หารือถึงตัวกรธ.แต่พูดถึงสมาชิกสปท. ที่ต้องให้บุคคลจากหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งข้าราชการ ภาคสังคม นักวิชาการและ นักกฎหมาย ผู้แทนกลุ่มการเมือง ส่วนตัวบุคคลอยู่ระหว่างการพิจารณา
'บิ๊กตู่'สั่งร่นเวลา 20 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังประชุม 3 ฝ่าย มีการประชุมร่วมครม. และคสช. เวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ แถลงหลังประชุม ว่า ตนทำความเข้าใจเรื่องการบริหารราชการที่ต่อเวลาออกไปอีก 20 เดือน คาดหวังให้น้อยกว่านั้น จะใช้เวลาต่างๆ ให้ลดน้อยลง ถ้าทำให้เร็วได้ก็จะทำให้เร็ว จะไม่ดึงเรื่องไว้ ไม่ว่าร่างรัฐธรรม นูญ การทำประชามติ โดยให้ช่วยกันคิด
ถามว่าจะกระชับขั้นตอนร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ได้หารือกันในที่ประชุม ครม.ว่า การใช้เวลา 4 เดือนไม่ได้ง่ายนำของเก่ามาเทียบเคียงกันก็คล้ายกับการร่างใหม่ แต่จะเอาข้อมูลเดิมมารวมด้วย จากที่ระบุจะใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน อาจเหลือ 4 เดือน ประเด็นสำคัญคือการจัดทำรัฐธรรม นูญให้ผ่านประชามติ ทำให้เหมือนทำเนียบจารีตประเพณีลงในสมุดข่อย สิ่งที่ช้าที่สุดเขียนสมุดข่อยด้วยลายมือคน ถ้าเขียนผิดก็ผิดแล้วทำใหม่ แต่สมุดข่อยมันเขียนไม่ง่าย สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้ตนอยู่ยาวหรือไม่ได้อยู่ยาว เป็นเรื่องเทคนิคการทำงานและขั้นตอน ถ้าประเทศชาติสงบ เข้มแข็ง เศรษฐกิจดีกว่านี้ ชาวนาไม่เดือดร้อนอย่างนี้ ตนไปพรุ่งนี้เลย ใครคิดว่าทำได้ก็มาทำ
เมื่อถามว่า จะนำเอาคปป. ใส่ไว้ด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ได้คิด คปป.ให้รัฐบาลทำอยู่ ให้ไปเทียบกับที่สปช.ทำมา ซึ่งมี 6 เรื่อง ความมั่นคง เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็งของประเทศ การพัฒนาคนและทรัพยากรมนุษย์
เมื่อถามว่า ถ้าร่างฉบับใหม่ไม่ผ่าน เตรียมแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องทำให้ผ่านและไม่มีแนวทางอะไรทั้งสิ้น เดี๋ยวจะมาบอกว่าเตรียมแผนไว้อีก ถ้าสมมติว่ามีขั้นตอนที่จำเป็นต้องปรับรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ต้องปรับให้เดินหน้าให้ได้ ซึ่งเราต้องเผชิญอนาคตร่วมกัน ไม่ใช่ว่าจะปล่อยให้ตนเผชิญคนเดียว
'กรธ.-สปท.'เคาะหลังกลับสหรัฐ
นายกฯ กล่าวว่า สปท. มีทั้งข้าราชการประจำ ข้าราชการที่เกษียณ นักการเมือง พรรคการเมืองก็ต้องเข้ามา ซึ่งมอบหมายให้ติดต่อไปบ้างแล้ว เสนอตัวเข้ามาพอสมควร ตนจะพิจารณาอีกครั้ง ถ้าเข้ามาก็ต้องยอมรับกติกาการปฏิรูป ไม่ใช่เข้ามาแล้วมาสร้างความขัดแย้งขึ้นอีก นอกจากนี้มีกลุ่มผู้รู้กฎหมาย กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มงานด้านความมั่นคงทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ทั้งที่เกษียณแล้วและยังไม่เกษียณ อย่ามองว่ามีแต่ทหารมีแต่พวก ทหารบางคนตนยังไม่รู้จักเลย ยืนยันว่าไม่ได้เอาแต่พวกเราต้องเอาตัวแทนมาทั้งหมด ตนไม่ต้องการมีอำนาจ ทุกวันนี้ขาดทุนลงทุกวันเพราะไม่เคยได้ผลประโยชน์ มีแต่ขาดทุนเรื่องชื่อเสียง ถูกทำลายโดยคนที่มาใส่ร้ายป้ายสีเยอะ ขาดทุนในเรื่องชีวิต ความปลอด ภัยและเวลาพักผ่อนก็น้อยลงเรื่อยๆ ความกดดันก็สูง คิดแต่ว่าผู้ที่ได้กำไรต้องเป็นประชาชน ส่วนกรธ. หารือกันอยู่ ต้องมี นักกฎหมายด้วย
เมื่อถามว่า ขั้นตอนสรรหา กรธ.และสปท. ต้องใช้เวลากี่วัน นายกฯ กล่าวว่า ก่อนวันที่ 5 ต.ค. แต่รายชื่อรอบแรกก่อนที่ตนจะไปต่างประเทศต้องมีรายชื่อออกมาแล้ว ได้สั่งเอาไว้หมดแล้ว และจะตัดสินอีกครั้งเมื่อเดินทางกลับมา
จี้คดีทางด่วน-คลองด่าน-ข้าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงจุดยืนการปรองดองของรัฐบาลว่า เรื่องปรองดองจะมีในด้านใดบ้าง ปรองดองทางกฎหมายมีหรือไม่ ปรองดองในคดีที่ไม่หนักได้หรือไม่ แต่ต้องรับผิดไปก่อน อยู่ดีๆ จะให้ยกไปเฉยๆ ไม่ได้ เช่นคดีปี 2553 ติดคุกมาหลายปีแล้ว ต้องดูว่าเป็นคดีที่เกิดจากตัวเองกระทำหรือไม่ ถ้าอยากจะปล่อยคนพวกนี้ให้เร็วขึ้นต้องถามหาความเมตตาจากศาล ต้องไปหาว่าใครเป็นคนสั่งเขา ใครหาอาวุธให้ จะได้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นก็ติดคุกกันแบบนั้น ตนต้องการจะดูแลคนเหล่านั้นแต่ติดที่เรื่องกฎหมาย รวมถึงคนที่กระทำความผิดตั้งแต่ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ถ้าไม่เข้ากระบวนการยุติธรรมตนจะไม่ปรองดองกับใคร ปรองดองกับใครไม่ได้
"ไม่มีใครมาดีลกับผม ตกลงไม่ได้ ผมไม่เคยไปดีลกับใคร เขาไม่ได้จ้างผมปฏิวัติ หรือเขาให้ผมมาปฏิวัติเพื่อจะดีลกับผม ไม่เกี่ยวกัน ผมเป็นคนตัดสินใจเอาตัวผมเข้ามาเสี่ยงเอง เข้าใจกันบ้าง ผมดีลกับใครไม่ได้ อนาคตผม ชีวิตผม ฝากใครได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ตนสั่งให้สรุปความเสียหายในโครงการต่างๆ ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา มีหลายเรื่องรัฐบาลนี้ต้องแก้ไข เป็นเรื่องที่ฟ้องก่อนหน้าที่ตนจะมา จำนวนเงินสูงพอสมควร ถ้าแพ้อีกก็จะเหมือนคดีคลองด่าน เรื่องเหล่านี้มันผิดเพราะใคร การต่อสัญญาทางด่วน คลองด่านและไอทีวีอยู่ในคดีความทั้งสิ้น ถ้าประกาศออกมาอย่ามาโทษตน ตนกำลังจะแก้ไขให้มันดีขึ้น กระบวนการศาลว่าอย่างไรไปหาข้อยุติให้ได้โดยเร็ว เพราะนี่คือหนี้สาธารณะ รวมกับเรื่องข้าว แทนที่จะมา สร้างรถไฟโดยไม่ต้องกู้ใคร หรือสร้างถนนร้อยเส้น สิบเส้น และกองทุนหมู่บ้านที่ต้องให้ได้มากกว่านั้น
ฟ้องแพ่งจำนำข้าวในปีนี้
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงความคืบหน้าการฟ้องแพ่งในคดีจำนำข้าวว่า ยังไม่ได้ฟ้องแต่จะฟ้องภายในปีนี้ กำลังหาหลักฐานเพราะต้องตรวจสอบทุกไซโล และต้องขออนุมัติจากอัยการสูงสุดให้ขายข้าวได้ คณะกรรมการตรวจสอบสรุปตัวเลขเบื้องต้นมาแล้วแต่ยังไม่ชัดเจน ตัวเลขความเสียหายก็หลายแสนล้านบาท ขั้นต้น 5 แสนล้านบาท แต่เขาบอกเป็นเรื่องเงินหมุนเวียนก็แล้วแต่เขา ขี้เกียจเสียสมอง ให้คนที่มีหน้าที่ทำไป ฟ้องทัน ไม่ต้องกลัว
ซัด'ปวิน'ปลุกคนต้าน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงงานด้านต่างประเทศว่าต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ตนไม่กังวลหากไปต่างประเทศแล้วมีคนมาต่อต้านเพราะทุกประเทศมีมาตรการของเขาอยู่แล้ว คนที่มาต่อต้านก็ต้องช่วยสร้างความรับรู้ว่าคนคนนี้เป็นอย่างไร
จากนั้นนายกฯพาดพิงไปถึงนายปวิณ (ชัชวาลพงศ์พันธุ์) ว่าทำมาตรา 112 แต่สื่อไปโฆษณาให้เขารวมคนมาต่อต้านตน อันเดียวที่ผมผิด ยอมรับไม่ได้ฝืน แต่ทำถูกอีกพันอย่าง องคุลิมาล พระพุทธเจ้ายังให้อภัยเลย ตนไม่ใช่องคุลิมาล ไม่ได้ไปตัดนิ้วใครถึง 1,000 นิ้ว ทำไมถึงไม่ให้อภัย ตนตัดนิ้วร้ายไปนิ้วเดียว
เมื่อถามว่าที่จะไปร่วมประชุมสหประชา ชาติที่นิวยอร์ก จะเตรียมตัวอย่างไรบ้าง นายกฯ ตอบเสียงดังอย่างมีอารมณ์โมโหว่า "กลัวอะไร พูดอยู่เมื่อกี้ บอกเขาอย่าทำ ผมไม่กลัวใครทั้งนั้น" ผู้สื่อข่าวชี้แจงว่าถามว่าเตรียมตัวอย่างไรเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนจะเดินออกจากวงสัมภาษณ์ว่า "เตรียมตัวไปแสดงความคิด ผมไม่ได้กลัว ไอ้คนเฮงซวยแบบนั้น เข้าใจหรือยัง"
ฮึ่มวิจารณ์ซ้ำโดนกักยาว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการวิจารณ์การเรียกตัวนักการเมืองและคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและคสช.มาปรับทัศนคติว่า มาตรา 44 มีไว้เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงในทุกด้าน ใครที่ขัดคำสั่งก็ถือว่าผิดกฎหมาย ถ้าไม่ทำผิดก็ไปจับไม่ได้ สื่อยิ่งขยายความ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็มาเล่นงานต่อ มันจะแก้ปัญหาอะไรได้ กรณีนายสุนัย ผาสุข ที่ปรึกษา ฮิวแมนไรต์วอตช์ ก็ไปกันใหญ่ เรียกร้องให้ดำเนินคดีต่างๆ เสียดาย ไม่รู้เขาเกิดมาเป็นคนไทยหรือเปล่า
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สื่อบางคนที่เรียกมาคุย ความจริงไม่อยากรบกับสื่อแต่ถามว่าคนคนนี้พูดจาแบบนี้มาตลอดหรือไม่ ทุกคนก็รู้ดี
"ไม่เข้าใจเรียกมา 7 วัน บอกสิทธิส่วนบุคคล แต่สิทธิที่ผมต้องปกป้องตัวเองมีหรือไม่ ปกป้องคนทำงาน ปกป้องรัฐบาลไม่มีเลยหรือ ให้ไอ้คนแบบนี้หรือ ปกป้องคนแบบนี้หรือ คดีทุกคดียุ่งหมด เกเร อิทธิพล เป็นส.ส.เข้าไปอีก ตบเมียกลิ้งกลางสนามบิน อย่างนี้หรือ ทำไมไม่ไปว่าเขา ปกป้องคนที่ทำความเสียหายกับประเทศอยู่ได้ เปิดให้พูดอยู่ได้ ผมต้องเอากฎหมายออกมาใช้ให้มันเงียบ ก็ไปคุ้ยให้เขาอีก" นายกฯ กล่าวและว่า ตนเคยบอกไปแล้วว่าสิ่งที่เคยสัญญาเอาไว้แล้วคือ 1.ต้องไม่ทำอะไรให้เสียหายและ เกิดความรุนแรง 2.ห้ามเดินทางไปต่างประเทศ และ 3.ระงับธุรกรรมทางการเงิน ทั้ง 3 ข้อ ทุกคนเซ็นรับทราบไว้หมดแล้ว ส่วนมาตรการระงับธุรกรรมทางการเงินยังไม่ได้ทำเลย ถ้าครั้งหน้าทำผิดอีกจะโดนหมดรวบยาว ขึ้นศาลกันเลย
คสช.ปล่อย'พิชัย-เก่ง-ประวิตร'
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ควบคุมตัวนายพิชัย นริพทะพันธุ์ เพื่อปรับทัศนคติ ซึ่งครบกำหนด 7 วันในวันที่ 15 ก.ย.นั้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่กกล.รส. นำตัวนายพิชัย ไปแจ้งความต่อบช.น.ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ก่อนนำตัวส่งศาลทหารกรุงเทพในช่วงบ่าย แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่กกล.รส.เปลี่ยนแปลงคำสั่งว่าจะไม่มีการฟ้องร้องนายพิชัย ต่อศาลทหาร จากนั้นนายพิชัย ถูกนำตัวมาที่กองทัพภาคที่ 1 และลงนามในเอกสารข้อตกลงหยุดการเคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นที่จะกระทบต่อการทำงานของคสช. ก่อนได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านไปในเวลา 12.00 น.
ต่อมาเวลา 12.30 น. เจ้าหน้าที่กกล.รส. นำตัวนายการุณ โหสกุล และนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ออกจาก พัน.ร.มทบ.11 มายังกองทัพภาคที่ 1 เช่นกัน ทั้งสองคนได้ลงนามในเอกสารข้อตกลงหยุดการเคลื่อนไหว หรือแสดงความคิดเห็นที่จะกระทบต่อการทำงานของ คสช. จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้นำบุคคลทั้ง 2 ไปส่งที่บ้านพักของแต่ละคน
'พิชัย'โพสต์งดให้สัมภาษณ์
เวลา 14.30 น. นายพิชัยโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ ได้รับการปล่อยตัวแล้ว พร้อมขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้กำลังใจ รวมทั้งสื่อมวลชนที่เสนอข่าวตลอดเวลาที่ถูกคุมตัว และทุกคนที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวรวมถึงฮิวแมนไรต์วอตช์และหน่วยงานอื่นๆ ในสภาวะการเมืองที่ไม่ปกตินี้ขอไม่ให้สัมภาษณ์ทางเศรษฐกิจและผลของการเมืองที่มีต่อเศรษฐกิจ เชื่อว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ทุกเรื่องที่ตนให้ข้อคิดไว้ และอีก 10-20 ปีในอนาคต เราจะย้อนกลับมามองประวัติศาสตร์ของไทยช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี ขอให้กำลังใจรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาของประเทศได้
รายงานข่าวแจ้งว่า การปล่อยตัวนายพิชัย โดยไม่แจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากให้ความร่วมมือทุกอย่าง และยืนยันจะให้ความร่วมมือทุกประการโดยเซ็นหนังสือต่อหน้าเจ้าหน้าที่ด้วย เจ้าหน้าที่มีข้อสัญญากับนายพิชัย หากผิดคำสัญญาที่เซ็นรับทราบแล้วจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามความผิด 1.พ.ร.บ.คอมพิว เตอร์ 2.ผิดมาตรา 116 และ 3.ฝ่าฝืนคำสั่ง เจ้าพนักงาน นายพิชัยยอมรับและตอบตกลง ที่จะทำตามสัญญาทุกประการ
คสช.แจงส่งทหารเฝ้าบ้าน'เต้น'
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. กล่าวกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์เฟซบุ๊กว่ามีรถทหารมาจอดสังเกตการณ์อยู่ที่บ้านพักติดต่อกัน 4 วันนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะมองจากมุมไหน ความจริงแล้วการไปสังเกตการณ์ของทหารจะเป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัยตามปกติในทุกพื้นที่ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องทำพื้นที่ใด บ้านใคร ที่ผ่านมาจากการสังเกตก็ไม่มีใครมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติลักษณะนี้ ส่วนนายณัฐวุฒิ ถือเป็นบุคคลที่แสดงออกทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่เป็นห่วงและอยากให้ได้รับความปลอดภัย รวมถึงดูแลทุกคนอยู่แล้วไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นใคร หากไม่ได้เข้าข่ายสร้างความแตกแยกก็ไม่มีปัญหาอะไร
ทูตอังกฤษชี้ไทยห่างปชต.กว่าเดิม
วันเดียวกัน นายมาร์ก เคนท์ เอกอัคร ราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เขียนบล็อกกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเนื่องในวันที่ 15 ก.ย.ของทุกปีเป็นวันประชาธิปไตยสากลของสหประชาชาติและชาติสมาชิก ว่า หลังการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว อังกฤษและสมาชิกอื่นๆ ในประชาคมนานาชาติรวมทั้งเลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้คืนประชาธิปไตยโดยเร็ว แต่ถึงบัดนี้ประชาธิปไตยกลับดูห่างไกลออกไปกว่าเดิม
ประชาธิปไตยมีข้อดีอย่างไร เราไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตยเพราะต้องการบังคับใช้ระบบการเมืองแบบตะวันตกกับใคร แต่สนับสนุนเพราะระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงนำมาซึ่งประโยชน์มากมายต่างหาก ทุกคนล้วนมีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกันในการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง แม้กระทั่งลงสมัคร รับเลือกตั้ง หากประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและยุติธรรมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างสันติและเป็นไปตามกำหนดเวลา ก็มีโอกาสน้อยลงที่พวกเขาจะหันไปใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาขัดแย้ง และประชาธิปไตยทำให้เกิดการแบ่งสันปันส่วนทรัพยากรและการเข้าถึงอำนาจอย่างเป็นธรรมมากกว่า เจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและการกระทำของตน เมื่อเป็นเช่นนี้โอกาสในการคอร์รัปชั่นจึงลดลง ประชาธิปไตยยังกำหนดให้รัฐบาลต้องอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม หมายความว่ากฎหมายจะมีผลต่อ ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่เว้นแม้แต่ต่อรัฐบาลเอง
กังวล'ข้อหาหมิ่นประมาท'
ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เพียงการมีรัฐธรรม นูญที่เหมาะสม เรื่องนี้ชาวอังกฤษเข้าใจดี เราไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยซ้ำ สิ่งที่เรามีคือรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ประมวลไว้และไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับผู้มีส่วนร่วมที่สำคัญๆ มากกว่า
สาระสำคัญของวันประชาธิปไตยสากลของสหประชาชาติในปีนี้คือ "พื้นที่เพื่อประชาสังคม" องค์ประกอบของประชาสังคม (เช่น สื่อเสรี องค์กรการกุศล เอ็นจีโอ องค์กรศาสนา รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ) ล้วนมีบทบาทสำคัญในความเป็นประชาธิปไตย ประชาสังคมเป็นเกราะสำคัญช่วยป้องกันอำนาจรัฐที่มากเกินไป เมื่อประชาสังคมเข้มแข็งเพียงพอก็จะสามารถควบคุมรัฐบาลให้มีความรับผิดชอบ และดูแลให้พลเมืองได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่จะส่งผลต่อพวกเขา
เพราะเหตุนี้ เราจึงเป็นกังวลเมื่อรัฐบาลต่างๆ สร้างข้อจำกัดเพื่อควบคุมกิจกรรมของประชาสังคม การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนประการหนึ่งในประเทศไทย การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกในรูปแบบที่น่ากังวลเป็นพิเศษ คือ การใช้กฎหมายอาญาหมิ่นประมาทเพื่อสร้างความกลัวและป้องกันไม่ให้ประชาชนแสดงความกังวลแม้จะเป็นไปโดยสมเหตุสมผลเกี่ยวกับการกระทำผิดและการใช้อำนาจโดยมิชอบ
ร่างรธน.ต้องเปิดรับฟังความเห็น
กลางปีตนได้เขียนบล็อกเกี่ยวกับการที่อังกฤษฉลองครบรอบ 800 ปี กฎบัตรแมกนา คาร์ตา สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการฉลองครั้งนั้นคือ ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมต้องใช้เวลานานในการหยั่งรากลึก พวกเราในอังกฤษเองก็ยังคงพยายามอยู่อย่างต่อเนื่อง ในอังกฤษเรามีการถกเถียงอภิปรายกันอย่างเต็มที่เปิดเผยในประเด็นต่างๆ เช่น เรื่องสมาชิกภาพของสภาขุนนาง ซึ่งก็คือวุฒิสภาของอังกฤษที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เรายังอภิปรายกันว่าเราควรจะนำระบบเลือกตั้งแบบไหนมาใช้ เรื่องการกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในสหราชอาณาจักร เป็นต้น การปฏิรูปเป็นกระบวนการที่ไม่จบสิ้น ระบบการเมืองต่างๆ ควรวิวัฒนาการไปอย่างต่อเนื่องเพื่อสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในสังคมนั้นๆ
สิ่งสำคัญคือการมีพื้นที่สำหรับการถกเถียงและคัดค้าน ขณะที่ประเทศไทยกำลังเริ่มต้นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญกันอีกครั้งเช่นนี้ ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นการอภิปรายอย่างเต็มที่และเสรีในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย
อุปทูตมะกันกังวลจำกัดเสรีภาพ
ขณะที่ นายดับเบิลยู. แพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ในชื่อบัญชีผู้ใช้ W.Patrick Murphy โพสต์ทวิตเตอร์ว่า ยังคงกังวลต่อการจำกัดเสรีภาพพลเมืองในประเทศไทยที่ยังดำเนินต่อไปประกอบด้วยการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสันติ
พท.แถลงการณ์จี้ยุติคุกคาม
ด้าน พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ระบุว่า กรณีคสช.สั่งการควบคุมตัวนายประวิตร นายพิชัย และนายการุณ และยังมีกลุ่มบุคคลทำร้ายร่างกายนายวัฒนา เมืองสุข รวมทั้งเหตุการณ์วันที่ 6 ก.ย. ที่มีการควบคุมตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นักเรียนชั้น ม.5 และเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ไปยังสน.ปทุมวัน เพียงยื่นป้ายแสดงความเห็นต่อหน้านายกฯ พรรคไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจดังกล่าว กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
พรรคขอแถลง ดังนี้ 1.ขอให้ยุติการคุกคามสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ด้วยการใช้อำนาจพิเศษทุกรูปแบบ หากเห็นว่าการกระทำใดผิดกฎหมายขอให้ใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมปกติดำเนินการ 2.ขอให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวทันทีและปราศจากเงื่อนไขใดๆ และยุติการใช้อำนาจพิเศษใดๆ 3.ยกเลิกคำสั่งและประกาศที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน 4.ขอให้ยุติการปิดโอกาสประชาชนที่เห็นต่าง และเปิดใจกว้างยอมรับข้อเท็จจริงของปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ
สปท.เปิดโควตาสปช. 60-70 คน
รายงานข่าวจากที่ประชุมร่วม คสช. ครม.และ สนช. เผยว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงสัดส่วนของสปท. ว่าจะมีอดีต สปช. 60-70 คน โดยจะห้ามตำแหน่งปลัดกระทรวงที่อยู่ในวาระดำรงตำแหน่งเข้ามาร่วม เนื่องจากปลัดมีงานที่รับผิดชอบมาก ขณะที่สัดส่วนของกรธ. พล.อ.ประยุทธ์ ฝากให้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.กลับไปคัดเลือกสมาชิก สนช.ที่มีความเหมาะสม เข้าร่วมเป็นกรธ.ด้วย โดยมีกำหนดส่งรายชื่อทั้งหมดวันที่ 22 ก.ย.นี้ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศรายชื่อเองทั้งหมด ภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจร่วมประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ประเทศสหรัฐ
เคาะกรธ.หลังบิ๊กตู่ถกยูเอ็น
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม.ถึงการสรรหากรธ.ว่า พล.อ.ประยุทธ์สั่งการแล้วว่าบุคคลในตำแหน่งดังกล่าวต้องมีความรู้ด้านกฎหมายและรู้ถึงการทำงานของ คสช.ขณะนี้ รวมถึงรู้ความต้องการภาพรวมของประชาชน ซึ่งนายกฯ ให้เวลาดำเนินการ ครม.ต้องช่วยกันพิจารณาบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ในระหว่างที่ นายกฯไปประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐ อเมริกาวันที่ 23 ก.ย. ถึง 1 ต.ค. หลังจาก นายกฯกลับจากการปฏิบัติภารกิจจะได้ลงนามแต่งตั้งกรธ.ทั้งหมดได้ทันที
เมื่อถามว่า คสช.จะเสนอรายชื่อใครเป็นกรธ. พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี ตนไม่มี สเป๊ก กรธ.ต้องเป็นนักกฎหมายและรู้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร แล้วควรทำอย่างไร จะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรให้เกิดความปรองดองในชาติ ที่สำคัญต้องมีความเป็นประชาธิปไตย เป็นสากล ทั้งนี้ ต้องมีทหารบ้าง เป็นทหารที่มีความรู้ความสามารถ เช่น อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ ไม่มีทหารปกติ เขาคงไม่มา หากจะให้ยกตัวอย่างรายชื่อตอนนี้คงไม่ได้ ขอปิดไว้ก่อน
ร่างรธน.ไม่ให้มีทางตัน
ส่วนที่บอกว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นสากล หมายความว่าจะไม่มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) รวมถึงนายกฯคนนอกใช่หรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ผมบอกไม่ได้ คุณจะไปล่วงหน้าไปเยอะไม่ได้ ผมไม่ได้เป็นคนร่างแต่นายกฯสั่งว่าร่างรัฐธรรมนูญต้องตามหลักสากล"
เมื่อถามถึงกลไกที่จะทำให้ประชาธิปไตยแบบสากลขับเคลื่อนไปได้แบบไม่มีทางตัน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เราไม่อยากให้มีทางตัน อะไรที่แก้ปัญหาไม่ให้มีทางตันได้ มันก็ควรอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งต้องดำเนินการ แต่ไม่ทราบว่าจะออกมาอย่างไร กมธ.ยกร่างฯ ชุดที่แล้ว บัญญัติให้มีคปป.แล้วถูกมองว่าไม่เหมาะสม ก็ต้องมาพิจารณากันอีกครั้ง แม้ร่างเดิมจะไม่ผ่านสปช.ก็จะนำส่วนที่ดีมาพิจารณา เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 จะนำส่วนดีมาพิจารณา
เมื่อถามว่า การนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่า มายำรวมกันจะทำให้การร่างใหม่ครั้งนี้เสียของหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ทำไม่ให้มันเสียของ ยังไม่ทำอะไรเลยก็มาบอกเสียของแล้ว ไม่ได้ยำร่างรัฐธรรมนูญ แต่เรานำส่วนที่ดีของแต่ละฉบับมา รัฐธรรมนูญมี 2540 มีอะไรที่ทำให้เสียหายจนปกครองกันไม่ได้ รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นอย่างไร รวมถึงร่างที่ล้มไปของคสช.ก็ว่าไป
ยันมีอำนาจเรียกปรับทัศนคติ
พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ที่ที่อาคารรับรองเกษะโกมล กรณีอาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะเปิดเฟซบุ๊กให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า แสดงความคิดเห็นได้ เราทำตามโรดแม็ปและให้ประชาชนรับรู้ เมื่อถามถึงคสช.จะเชิญนักการเมืองมาปรับทัศนคติอีกหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ถ้าใครไม่เข้าใจก็จะเชิญมาอธิบายให้ฟัง ถ้าเข้าใจก็กลับบ้าน เราไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย ส่วนกรณีเชิญนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ถือเป็นการคุกคามสื่อนั้น พล.อ. ประวิตร ย้อนถามว่า "ผมมีอำนาจหรือไม่ ทำไมจะเรียกมาไม่ได้ เรียกมาเพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์ ผมจะเรียกคุณมาวันนี้ก็ได้ ถ้าคุณไม่เข้าใจ และถ้าพูดให้เกิดความขัดแย้ง เกิดความสับสน ผมจะอธิบายให้ฟังก็เท่านั้น ไม่ได้เรียกมาทำอะไร"
เมื่อถามว่า สิ่งที่นายประวิตรวิพากษ์วิจารณ์เพราะการบริหารงานของรัฐบาล และคสช.ไม่ชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น รองนายกฯ กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า ไม่ชอบธรรมอย่างไรก็ทำไปแล้ว ทำอยู่แบบนี้ทุกวัน ที่ผ่านมาอยากถามว่านายประวิตร ทำถูกหรือไม่ อย่ามาเอ่ยชื่อนี้ ชื่อเหมือนกันแต่พฤติกรรมไม่เหมือนกัน
'วธ.-บัวแก้ว'ส่งชื่อแข่งสปท.แล้ว
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวกรณีนายกฯ ให้แต่ละกระทรวงส่งรายชื่อข้าราชการเพื่อให้พิจารณาแต่งตั้งเป็นสมาชิก สปท.ว่า ได้ส่งรายชื่อข้าราชการถึง นายกฯ แล้ว 5 ราย ประกอบด้วย ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการแล้วและข้าราชการที่ยังอยู่ในตำแหน่ง
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ตนได้ส่งรายชื่อข้าราชการของกระทรวงการต่างประเทศ ให้พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาแต่งตั้งเป็นสมาชิกสปท.แล้ว มีทั้งที่อยู่ในตำแหน่งและที่เกษียณแล้ว เกณฑ์การ คัดเลือกตามความอาวุโส ความเข้าใจในสถานการณ์และรับทราบถึงปัญหาของบ้านเมือง ที่สำคัญต้องมีทางออกให้กับปัญหา บ้านเมือง เชื่อว่ารายชื่อที่ส่งให้นายกฯนั้น มีคุณภาพ ส่วนจะได้รับการพิจารณาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนายกฯ
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงมหาดไทยตนพิจารณาอยู่ จะพิจารณาจากข้าราชการปัจจุบัน อดีตข้าราชการ นักกฎหมาย รวมถึงภาคเอกชน นายกฯ บอกแล้วว่าแต่ละกระทรวงจะส่งมาตามสัดส่วนแล้วต้องพิจารณาปรับตัวเลขอีก ไม่ใช่ส่งมาเท่าไรเอาเท่านั้น
เพื่อไทยยันไม่ส่งคนร่วมสปท.
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีจะเชิญนักการเมือง-พรรคการเมืองเข้าร่วมเป็นสปท.ว่า พรรคเพื่อไทยยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตย การจะเข้าร่วมเป็นกรรมการใดๆ กับคณะรัฐประหาร โดยพื้นฐานแล้วคงยาก และเรื่องที่มีความสำคัญเช่นนี้ จำเป็นต้องหารือและตัดสินใจโดยคณะกรรมการบริหารพรรค แต่ขณะนี้พรรคไม่สามารถจัดประชุมได้ตามประกาศของ คสช. และข้อบังคับของ กกต. จึงไม่อาจประชุมหารือและไม่สามารถส่งคนเข้าร่วมได้ ส่วนการที่ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป(ศปป.) จะติดต่อประสานบุคคลใดเป็นการส่วนตัวนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ และถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลของสมาชิกพรรคจะใช้วิจารณญาณ
นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ขอเข้าไปนั่งสปท. เพราะเป็นนักการเมืองมาจากการเลือกตั้ง หากจะให้ไปทำงานร่วมกับระบบที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยคงทำไม่ได้ ใครที่หวังผลประโยชน์ส่วนตนอยากได้อยากมีตำแหน่งในสปท. ก็เป็นสิทธิ แต่ขอเตือนสติว่าหากเคยมาตามระบอบประชาธิปไตยแต่กลับไปรับใช้ระบอบเผด็จการ ขอให้เตรียมตัวตายทางการเมืองได้เลย
มาร์คไฟเขียวปชป.เข้าร่วมได้
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค กล่าวกรณีนายกฯอยากให้พรรคการเมืองเข้าร่วมสปท. นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ทราบว่ามีระบบสมัครโควตาอย่างไร ตนไม่มีปัญหา ใครที่มีแนวคิดเรื่องปฏิรูปจะไปอยู่ในสปท.ก็ทำได้ ตนสบายใจในส่วนของสปท.เพราะไม่มีอำนาจหรือประโยชน์ทับซ้อน เมื่อถามว่าหากคนในพรรคจะไปเป็นสปท. ต้องออกจากพรรคแบบนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ไปเป็นสปช.หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนพูดชัดว่าสปช.มีอำนาจอนุมัติ ไม่อนุมัติร่างรัฐธรรมนูญ แต่สปท.ยังไม่เห็นว่ามีอำนาจอะไร นอกจากช่วยกระตุ้นระดมเพื่อให้เกิดการปฏิรูป ใครจะเข้าไปก็คงไม่มีปัญหา
เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าหากมีการทาบทามจะไม่ปฏิเสธใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คิดว่าไม่เป็นปัญหาเพราะไม่เหมือนสปช. อย่างไรก็ตาม พรรคยังไม่ได้รับหนังสือเชิญให้เข้าร่วม คนที่จะเข้าไปร่วมในนามพรรคไม่ได้อยู่แล้วเพราะพรรคไม่สามารถประชุมได้ ถึงแม้จะชื่อว่าขับเคลื่อนหรือทำให้เกิดความสัมฤทธิผล แต่อำนาจจริงๆ ไม่มี
เมื่อถามถึงการเข้าร่วมเป็นกรธ. นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นักการเมืองไปเป็นกรธ.ไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งถูกต้อง เพราะไม่อยากให้วิจารณ์เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แต่พรรคการเมืองมีส่วนร่วมได้โดยให้ความเห็น หวังว่ากรธ.ทั้ง 21 คนจะทำงานเปิดกว้าง จึงไม่จำเป็นต้องเอานักการเมืองเข้าไปนั่งด้วย
สนช.ถกถอด'เสี่ยตือ'
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิปสนช. แถลงหลังการประชุมว่า การประชุมสนช. 17 ก.ย.นี้ มีวาระการพิจารณาถอดถอนนาย สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งสำนวนชี้มูลความผิดมายัง สนช.กรณีร่ำรวยผิดปกติ จากการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน บ้านเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ตั้งแต่ปี 2541 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมช.ศึกษาธิการ และมี การก่อสร้างต่อเนื่องในขณะที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยปลูกสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปี 2554 ซึ่งมีมูลค่า 16 ล้านบาทเศษ การประชุมในวันดังกล่าวถือเป็นการประชุมนัดแรก เป็นวาระเพิ่มเติมพยานหลักฐานก่อนที่จะนัดประชุมเพื่อให้คู่กรณีมาแถลงเปิดสำนวนในวันที่ 29 ต.ค.ต่อไป
ควัก 269 ล.ขึ้นเงินอส.ทหารพราน
รายงานข่าวครม. เผยว่า ครม.ห็นชอบตามที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม เสนอปรับเงินเดือนเพิ่ม 1 ขั้น หรือร้อยละ 4 ของเงินเดือน ให้กับอาสาสมัคร(อส.)ทหารพราน 23,500 นาย ตามมติครม.เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2557 และเห็นชอบการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของอาสาสมัครทหารพราน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2557-30 ก.ย.2558 ใช้งบประมาณ 269,095,050 บาท ซึ่งนายกฯเห็นชอบให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาค่าใช้จ่ายจากงบประมาณปี 2558 ที่มีเงินเหลือจ่ายมาเป็นค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังอนุมัติในหลักการขอใช้งบประมาณปี 2558 เพิ่มเติม งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน 1,033,588,850 บาท ให้กับกองทัพบก เพื่อจัดหายุทโธปกรณ์ที่ใช้ช่วยเหลือประชาชนและบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ในภาพรวม เว้นการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน
ศาลไม่รับฟ้องอสส.คดีจีทูจี
นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เปิดเผยว่า กรณีนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ จำเลยร่วมคดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทุจริตและฮั้วประมูลโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี เป็นโจทก์ ฟ้องนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) และตน ฐานฟ้องเท็จ ต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งวันที่ 21 ส.ค. ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับฟ้องคดี หลังจากพิเคราะห์คำฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่า ไม่มีมูลความผิด ส่วนรายละเอียดอยู่ระหว่างขอคัดคำสั่งอยู่ ส่วนตัวไม่หนักใจที่โดนฟ้องเพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องได้ เช่น พนักงานสอบสวนหรือป.ป.ช.ที่ถูกฟ้องกัน ส่วนจะฟ้องกลับหรือไม่นั้น ขอดูคำสั่งศาลให้ละเอียดก่อน ซึ่งฝ่ายโจทก์ก็ขอคัดคำสั่งศาล และอาจนำไปยื่นขออุทธรณ์คำสั่งต่อไปได้อีก
เด้งอธิบดีทล.-ตั้งโสภณปลัดสธ.
วันที่ 15 ก.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงผลประชุมครม.ว่า ครม.เห็นชอบตามที่ พม.เสนอแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง 4 ราย ได้แก่ นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เป็น อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) นายสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็น อธิบดี พก. นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต รองปลัดกระทรวง เป็น อธิบดี สค. และนายวิทัศน์ เตชะบุญ ผู้ตรวจฯ เป็นรองปลัด
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า ครม.อนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.)เสนอ ต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม. ไปอีก 1 ปี เป็นครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2558 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2559 และแต่งตั้ง นายรักษ์ศักดิ์ โชติชัยสถิต รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็น ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ
แต่งตั้ง นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ เป็นประธาน ก.ล.ต. ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. นายสุทธิพล ทวีชัยการ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. และนายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็น เลขาธิการ สศช. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.
อนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอแต่งตั้ง 10 ราย ได้แก่ นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เป็น รองปลัด นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็น รองปลัด นายพงษ์ศักดิ์ สมใจ ผู้ตรวจฯ เป็น รองปลัด นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัด เป็น ผู้ตรวจฯ
นายชูศักดิ์ เกวี อธิบดีกรมทางหลวง เป็น ผู้ตรวจฯ นายสิรภพ จึงสมาน ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก เป็น ผู้ตรวจฯ นายสมศักดิ์ ห่มม่วง ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางน้ำ เป็น ผู้ตรวจฯ นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน ผู้ตรวจฯ เป็น อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายสนิท พรหมวงษ์ ผู้ตรวจฯ เป็น อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า เป็น อธิบดีกรมการบินพลเรือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.
เห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เสนอแต่งตั้ง 2 ราย ดังนี้ นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็น ผู้ตรวจฯ นายนิวัติชัย คัมภีร์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เป็น ผู้ตรวจฯ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง และมีมติแต่งตั้ง นายโสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็น ปลัดสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ
โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบแต่งตั้ง นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล และนายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกฯลงนามในประกาศแต่งตั้ง และมอบให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเป็นต้นไป และแต่งตั้ง พล.อ.ธนา วิทยวิโรจน์ เป็นเลขานุการรมว.พลังงาน พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เป็นเลขานุการรมว.ศึกษาธิการ พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ เป็นรองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง น.ส.พรทิพย์ วิริยานนท์ และนายธราธร รัตนนฤมิตศร เป็นข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ