- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 28 June 2014 17:19
- Hits: 3996
คสช.ย้ายใหญ่'ปลัด-ซี11'จัดทัพขรก. 'อารีพงศ์'คุมก.พลังงาน ร่างรธน.เสร็จรอทูลเกล้าฯ บิ๊กตู่เผยกย.มีครม.-สนช. ปัดแชต'สุเทพ'ล้มรัฐบาล เปิดบัญชี'ปู'จนลง 27 ล้าน
ทูลเกล้าฯรธน.ชั่วคราว ก.ค.นี้ 'บิ๊กตู่'เผยยกร่างเสร็จแล้ว กันยาฯคลอด ครม.-สนช. ตั้งสภาปฏิรูปตุลาคม ปัดข่าวแชตไลน์'สุเทพ'ล้ม รบ. ลั่นจัดระดมทุนอีกเอาผิดแน่ คสช.ถกสื่อ 46 สำนัก ยันให้สิทธิเสรีภาพ
'บิ๊กตู่'ชี้แจงโรดแมปคสช.
เมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 27 มิถุุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการทำงานของ คสช. ตอนหนึ่งว่า ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีผลสรุปการดำเนินการในด้านต่างๆ มาตามลำดับ แต่ยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องที่ต้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไข และประชาชนแสดงความห่วงใยและเป็นกังวลว่า คสช.จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไรในหลายๆ ด้าน เช่น มีความสลับซับซ้อนหลายมิติ ครอบคลุมเชื่อมโยง ทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง จิตวิทยาและอื่นๆ และเป็นปัญหาที่สะสมมายาวนานหลายปี หลายรัฐบาล เป็นห่วงว่า คสช.จะทำได้สำเร็จหรือไม่ ทั้งนี้ คสช.จะพยายามทำอย่างเต็มที่โดยใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น ให้เกิดผลโดยเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้มีแผนการในการปฏิบัติหน้าที่อยู่หลายขั้นตอน มีการนำปัญหามาจัดอันดับ จัดความเร่งด่วน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะใช้ระยะเวลาประมาณไม่เกิน 300 วัน เพื่อดำเนินการปฏิรูปในทุกด้าน ให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม เช่น ปัญหาการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น การปฏิรูปการเมือง กระบวนการการเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจ กระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ การปฏิรูปพลังงาน สื่อสารมวลชน การศึกษา ระบบคุณธรรมจริยธรรม การสร้างความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ลดความเลื่อมล้ำ การเข้าถึงทรัพยากร และอื่นๆ อีกมากมาย ในขั้นนี้จะดำเนินการเมื่อมีรัฐบาล สภานิติบัญญัติ และสภาปฏิรูป
เผยทูตสหรัฐพอใจแนวทาง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงมาตรการต่างๆ ของสากล หรือประชาคมโลกที่มีต่อประเทศไทยว่า อยากให้ประชาชนคลายกังวล คสช.กำลังพยายาม ไม่อยากจะไปแก้ตัว หรือไปโต้ตอบให้เกิดความรุนแรงต่อกัน บางประเทศเป็น 100 กว่าปี บางประเทศก็ 50 ปี 30 ปี ตามลำดับ จึงต้องสร้างความเข้าใจ ให้รู้ว่าไทยมีความมุ่งหมายอย่างไร มีเจตนารมณ์ในการบริหารครั้งนี้อย่างไร
"วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ให้การต้อนรับท่านทูตสหรัฐ ในการเข้าหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน รับทราบแนวทางโรดแมป หรือการบริหารงานของ คสช.ในขั้นต้นไปแล้ว ท่านก็ได้กล่าวว่า มีความยินดีที่ไทยมีแนวทางชัดเจน และแก้ไขในเรื่องของการปราบการค้ามนุษย์ ท่านก็เห็นดีด้วย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ (พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ได้พบปะพูดคุยกับสภาหอการค้า กลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ ของต่างประเทศ และรับฟังปัญหาข้อเสนอแนะ ตลอดจนแนวทางแก้ไข ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบจากมาตรการดังกล่าวของอียูและของสหรัฐอเมริกาด้วย และผู้ประกอบการเหล่านั้น จากต่างประเทศก็มีความเข้าใจดีขึ้น และพยายามจะช่วย คสช. แก้ไขปัญหาเหล่านั้น
ให้'จารุพงศ์-จักรภพ'มาสู้คดี
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องการกักขังทางการเมือง เรียนว่าไม่ใช่การเมืองที่ คสช.ทำ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ได้เป็นศัตรูของใคร คสช.ต้องการทำให้บ้านเมืองเป็นปกติ ที่เรียกมาทั้งหมดนั้น ถ้าไม่ได้ผิดกฎหมายก็ปล่อยกลับไป ขณะนี้ได้ปล่อยกลับไปหมดแล้ว ที่เหลือได้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เพราะมีการถือกฎหมายอื่นๆ กฎหมายอาญา กฎหมายปกติ มีหมายเรียก หมายศาล จึงต้องส่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ต่อสู้คดีได้
"อย่าไปกังวลกับศาลทหาร คดีตัวอย่าง เช่น นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ นายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งมีคดีอยู่มากมาย (คดี 116(2) คดีอาญาฯลฯ) หลายคดีที่เกี่ยวข้อง และเรียนว่าให้กลับมา ถ้ากลับมาเราจะดูแลให้เกิดความยุติธรรม เกิดความชอบธรรมตามที่ท่านต้องการ วันนี้ถ้าท่านยังต่อสู้อยู่แบบนี้ ผมว่าคดีท่านคงมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นอย่าให้คนเหล่านี้เป็นคนชี้นำประเทศไทยโดยเด็ดขาด ถ้าเรื่องใดเชื่อว่าเป็นคดีทางการเมือง ต้องไปพิสูจน์หลักฐานกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ปัดข่าวแชต-ไลน์กับ'สุเทพ'
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯกปปส. กล่าวในการเลี้ยงระดมทุน กปปส. อ้างว่า ได้คุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องล้มระบอบทักษิณมาตั้งแต่ปี 2553 และแชตผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์กันตลอดในช่วง 6 เดือนก่อนรัฐประหารว่า'การพูดจาของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในอดีต ซึ่งมีการกล่าวอ้างถึงหัวหน้า คสช. ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด'
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ระหว่าง 6 เดือนที่ผ่านมา มีบทบาทหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องการให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง บังคับใช้กฎหมาย ปฏิบัติตาม และปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลในขณะนั้น ไม่ได้ไปร่วมคิดร่วมปฏิบัติกับฝ่ายใดทั้งสิ้น
"ผมจะไม่ทำให้กองทัพเสียหายแบบนั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่มีความจำเป็น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงต้องมี คสช. วันนี้หลายฝ่ายหรือบางฝ่ายได้ทำไปแล้ว และจะพยายามจะทำต่อ ขอห้ามไว้ตรงนี้ว่า ห้ามการจัดงานลักษณะเช่นนี้อีก เช่น การจัดการพูดคุยทางการเมือง รับประทานอาหารระดมทุน ไม่ว่าจะไปช่วยเหลือใคร สิ่งนี้ยังไม่ถึงเวลา ถ้ามีการระดมได้เมื่อไหร่ พูดคุยได้เมื่อไหร่ เป็นกลุ่มเรื่องการเมืองก็จะไปหารือว่าจะทำอะไรต่อไป ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งต้องมา ต้องมาทุกพวกทุกฝ่าย ต้องกลับไปสู่วงจรเก่าๆ อีก ซึ่งขอความร่วมมืออย่าทำอีก ถ้าอยากพูดคุยต้องไปคุยที่บ้านเงียบๆ สองคน ถ้าออกมาจัดการชุมนุมหรือจัดงานเลี้ยงข้างนอกไม่ได้ เพราะผิดข้อกำหนดของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ถ้าทำอีกจะถูกเรียกตัวทุกคนที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี ฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช."พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ยกร่างรธน.ชั่วคราวแล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงโรดแมปของ คสช.ว่า ระยะที่ 1 มองกลับไปวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ถึงวันนี้นับได้ 37 วัน (นับถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2557) ได้ดำเนินการคู่ขนานการแก้ปัญหา คือสิ่งที่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ วันนี้ได้จัดทำรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) เพื่อใช้ในการบริหารประเทศตามหลักนิติรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในการทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศในทุกด้าน และนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยยึดถือข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นหลักการสำคัญ
"การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้จัดทำเสร็จสิ้นแล้ว และผ่านการพิจารณาตรวจแก้โดยผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายอยู่ในขณะนี้ และสัปดาห์หน้าจะเป็นการพิจารณาของ คสช. ว่าจะต้องแก้ไขอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ หากมีการแก้ไขข้อขัดข้องต่างๆ ในการบริหารประเทศซึ่งต้องใช้อำนาจพิเศษ ก็จะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ นี่คือขั้นตอนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ตุลาฯมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ระยะที่ 2 หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือนกรกฎาคมแล้ว คาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 1 เดือน หรือเกินกว่านั้นเล็กน้อย ในการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในเดือนกันยายน 2557 ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น เนื่องจากต้องใช้กระบวนการในการสรรหา เพื่อให้ได้ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีประสบการณ์จากทุกภาคส่วน จากทุกจังหวัด มาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป จึงต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คาดว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ในต้นเดือนตุลาคม 2557
"รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดให้มีการปฏิรูปในทุกๆ ด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พลังงาน กระบวนการยุติธรรม และอื่นๆ โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติจะจัดทำข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จ โดยใช้เวลาในการปฏิรูประยะที่ 2 ประมาณ 10 เดือน ต้องใช้เวลาในการจัดตั้ง 2 เดือน หลังจากวันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ ทั้งหมดคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 12 เดือน นับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คือเดือนกรกฎาคม 2558" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เลือกตั้งหลังมีรธน.3 เดือน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ระยะที่ 3 เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับถาวรมีผลบังคับใช้ ย่อมถือได้ว่าประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าคณะรัฐบาลของ คสช. จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือน ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา แต่ถือว่าเป็นการบริหารประเทศในกรอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นผลมาจากการปฏิรูปประเทศไทยในทุกด้าน และ คสช. ต้องการให้มีการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม เพื่อจะเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งของระบอบประชาธิปไตยไทยที่สมบูรณ์ เป็นระบบการเมืองที่สร้างสรรค์ มีความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศ ไม่ใช่การเมืองที่มีแต่ความขัดแย้งดังที่ผ่านมา
"ขอให้ใจเย็นๆ เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการปฏิรูป ทุกอย่างน่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2558 ท่านจะได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยสมบูรณ์" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
รื้อระบบ"ขรก.-ศาล"ใน 1 ปี
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การปรับปรุงระบบข้าราชการ ศาล กระบวนการยุติธรรม เรื่องอยู่ในสภาปฏิรูป จะเร่งดำเนินการในระยะที่ 1 เรื่องอะไรที่ต้องถกแถลง ต้องทำความเข้าใจตามลำดับ อยู่ในระยะเวลา 1 ปี ในช่วงของการปฏิรูป 10 เดือน และ 12 เดือนในระยะที่ 2 ทั้งนี้ เรื่องการปฏิรูปได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลในเรื่องหลักๆ ซึ่งได้สั่งการเพิ่มเติมในส่วนของสำนักงานในรูปแบบของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปว่า นอกจากการนำคนมา นำคู่ขัดแย้ง หรือใครที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ ต้องการให้นำ 3 เรื่องหลักๆ ด้านวิชาการ สถาบันพระปกเกล้ารับดูแลในภาคประชาชน
"ในส่วนของเศรษฐกิจ สังคมต่างๆ จะให้กลุ่มสมาคมทั้ง 7 สมาคมที่ทำไว้แล้วเดิมเข้ามาชี้แจง ทำความเข้าใจ และรับผิดชอบในกลุ่มดังกล่าว เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องของด้านวิชาการ ซึ่งเป็นกลุ่มของอธิการบดี 3 กลุ่มหลักๆ จะเริ่มเข้ามาดำเนินการ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนเกี่ยวข้องในสภาปฏิรูป ได้ถกแถลง ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทั้งหมดยังไม่ได้ข้อยุติใดๆ ทั้งสิ้น จะเข้าดำเนินการตอนที่มีผู้ได้รับการคัดเลือกมาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป ก็ให้มานำเสนอ มาถกแถลงกันให้ได้ข้อยุติในช่วงที่ 2" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
โต้ข่าวปฏิวัติใช้งบ 5 พันล้าน
พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ของ คสช.ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทัพว่า ขณะนี้กองทัพได้มีการปรับลดงบประมาณโครงการต่างๆ ลงไปกว่าพันล้านบาทแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะนำงบประมาณการใช้จ่ายของ คสช.มาเปิดเผยได้หรือไม่ พล.ท.อนันตพรกล่าวว่า "ก็ยินดี เป็นเรื่องที่ดี" เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่ามีการเบิกงบ 5,000 ล้านบาท เพื่อทำการปฏิวัติ พล.ท.อนันตพรกล่าวว่า " ไม่ใช่ ไม่ขนาดนั้น" จากนั้น พล.ท.อนันตพร ได้ขึ้นรถออกจากทำเนียบรัฐบาลทันที
คสช.ถกผู้บริหารสื่อ46สำนัก
ที่สโมสรทหารบก (วิภาวดี) เมื่อเวลา 10.30 น. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อม ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะผู้บริหาร คสช.ที่ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชน ได้ร่วมพบปะหารือกับผู้บริหารสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ 46 สำนัก
ทั้งนี้ พล.อ.อุดมเดช ได้กล่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่เข้าใจในสถานการณ์และให้ความร่วมมือกับ คสช.เป็นอย่างดี ตั้งแต่เริ่มต้นจนปัจจุบัน อีกทั้งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลและสร้างความเข้าใจต่อประชาชน พร้อมย้ำถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเข้าควบคุมการบริหารประเทศของ คสช. แผนการบริหารประเทศใน 3 ระยะ ที่ คสช.มีความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขและทำให้ประเทศมีความสงบสุข ทำให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าและขับเคลื่อนประเทศภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่าย
ยันไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพ
พล.อ.อุดมเดชกล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ (คตข.) ว่า การทำงานของ คตข.จะเป็นการเสริมการทำงานของสื่อ โดยเป็นเพียงการนำข้อมูลที่ถูกนำเสนอต่อสาธารณะ และประเด็นที่สังคมให้ความสนใจมาพิจารณาเพื่อการชี้แจงและกำหนด หรือปรับทิศทางการทำงานของ คสช.ให้ตรงกับความต้องการของสังคม
"ยืนยันว่าบทบาทของ คสช.ต่อการดูแลสื่อต่างๆ นั้น เป็นการทำงานในลักษณะตัวกลาง เชื่อมการทำงานของสื่อกับหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบ ในเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างแท้จริง ทั้งนี้ สื่อมวลชนยังคงสามารถนำเสนอข่าวสารได้ตามบทบาทที่เคยเป็น ภายใต้วิจารณญาณอันเหมาะสมต่อการเสริมสร้างความรักสามัคคีและประโยชน์ส่วนรวม มิได้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อแต่อย่างใด" พล.อ.อุดมเดชกล่าว และว่า คสช.ไม่ขอให้สื่อมายืนเคียงข้าง แต่ขอให้สื่อได้ยืนเคียงข้างประเทศไทยและคนไทย คสช.เคารพหลักการทำงานของสื่อที่คงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ขอให้สื่อทำหน้าที่อย่างสบายใจในการคัดกรองข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อีกทั้งขอให้ร่วมกันนำเสนอข้อเท็จจริงของสถานการณ์ในประเทศต่อสายตาชาวโลก
2สมาคมสื่อยื่นจม."บิ๊กอู๋"
ขณะที่นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พร้อมตัวแทนกรรมการบริหาร 2 สมาคม เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล กรณี คสช.มีคำสั่งตั้งคณะทำงาน 5 ชุด ที่เกี่ยวการกลั่นกรอง ติดตาม และตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชน โดยเรียกร้องให้คณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ (คตข.) จัดทำแนวทางปฏิบัติให้มีความชัดเจน รวมทั้งแนวทางการกำกับดูแล เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบนำไปปฏิบัติอย่างเหมาะสมแก่สภาพการณ์เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวภายหลังรับจดหมายเปิดผนึกว่า ไม่ต้องห่วงในเรื่องของสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ขอให้สื่อมวลชนสบายใจได้ โดยการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นมาเป็นเพียงการปฏิบัติตามประกาศของ คสช.ฉบับที่ 14 และ 18 ที่เป็นเรื่องของข้อมูลข่าวสารที่อาจสร้างความแตกแยก ดังนั้น จึงขอให้สบายใจได้ โดยแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องมีขั้นตอน และมีการติดตามเฝ้าระวัง ถ้าพบเหตุการณ์ผิดปกติ จะมีการพูดคุยทำความเข้าใจและตักเตือนกันก่อน
"ปนัดดา"ถกปฏิรูปราชการ
ด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อการปฏิรูประบบราชการ ครั้งที่ 1/2557 ที่ห้อง 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล มีหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง 20 กระทรวง ปลัดกรุงเทพฯ และหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดย ม.ล.ปนัดดากล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า หัวหน้า คสช.ได้กำชับให้การบริหารงานของแต่ละกระทรวงทำงานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หากอะไรที่แต่ละกระทรวงอยากให้เกิดขึ้นเป็นอันดับแรก หรืออันดับต่อไปในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลให้รีบเสนอ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่แต่ละกระทรวงจะได้ช่วยกันให้กรอบความคิดดังกล่าวเป็นรูปธรรมและช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้
"หัวหน้า คสช.ระบุว่าส่วนราชการต้องเน้นเรื่องความโปร่งใส ความรวดเร็ว รวมถึงเน้นย้ำว่าต้องให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการปฏิรูป ถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก การประชุมครั้งนี้หวังว่าการปฏิรูประบบราชการจะเกิดความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น" ม.ล.ปนัดดากล่าว
6 สถาบันสัมมนาวิชาการ
เวลา 09.30 น. วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมสัญญาธรรมศักดิ์ ชั้น 7 สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาวิชาการหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ "ไทย...สู่อนาคต มั่งคนยั่งยืน" ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ประกอบด้วย หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ, หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCot) สถาบันวิทยาการการค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) วิทยาลัยการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า, หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บยส.) วิทยาลัยการยุติธรรมสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
แนะแก้ไขจุดอ่อนกฎหมาย
นางกัญจนา ธีระกุล คณบดีบัณฑิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้แทนหลักสูตร ปปร. กล่าวในหัวข้อ "ประชาธิปไตยในทรรศนะของกลุ่มวิชาชีพ" ว่า สังคมทุกวันนี้ขัดแย้งกันทางความคิด มีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยแบบต่างๆ มีการทุจริตคอร์รัปชั่น แม้กระทั่งการปฏิเสธคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนการรัฐประหารก็เกิดท่าทีต่อต้านจากต่างประเทศ
"ข้อสรุปของ ปปร.คือ 1.ต้องให้ประชาชนมีความรู้เข้าใจในประชาธิปไตย 2.ต้องปฏิรูปการเมืองการปกครองแก้ไขกฎหมายที่เป็นจุดอ่อน 3.ต้องมีการตรวจสอบควบคุมจริยธรรมนักการเมืองที่มีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือและยั่งยืน 4.ล้มล้างระบบทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ กำจัดพรรคการเมืองที่ไม่ดีและต่อต้านทุกกลุ่มที่แสวงหาผลประโยชน์ 5.ผู้นำประเทศจะต้องแก้ไขปัญหาปากท้อง ร่วมมือและหันหน้าเข้ามาเจรจากัน และ 6.ทำให้ระบบราชการมีความเข้มแข็ง หน่วยงานรัฐต้องทำประโยชน์แก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน" นางกัญจนากล่าว
คสช.รับข้อเสนอปฏิรูป
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ผู้แทนหลักสูตร วปอ. กล่าวในหัวข้อการปฏิรูปด้านการศึกษาว่าประเทศไทยควรต้องพัฒนาด้านการศึกษาให้เท่าเทียมกับต่างประเทศ โดยการปฏิรูปการศึกษาจะต้องเกิดจากองค์กรอิสระที่ปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองและบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน
ด้าน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปฏิบัติหน้าที่ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะตัวแทน คสช.ที่เข้ารับฟังการเสวนา กล่าวว่า ดีใจที่สถาบันการศึกษาระดับสูงจาก 6 สถาบัน และหน่วยงานจากหลายภาคส่วนให้ความสำคัญกับการปฏิรูปประเทศ โดยจะรวบรวมฐานข้อมูลที่ทุกฝ่ายนำเสนอ นำเสนอให้กับ คสช.ในปลายเดือนกรกฎาคม เพื่อนำไปจัดทำกรอบความคิดเห็นร่วมของคนไทยทุกคนต่อไป
ทูตไทยคุยรมต.เดนมาร์ก
น.ส.วิมล คิดชอบ เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเดนมาร์ก เปิดเผยว่า ได้เข้าพบกับนายมาร์ติน ลีเดอร์การ์ด รัฐมนตรีต่างประเทศเดนมาร์ก เพื่อชี้แจงถึงสถานการณ์การเมืองภายในของไทย โดยได้บอกกับนายลีเดอร์การ์ดว่า รู้สึกผิดหวังกับท่าทีของเดนมาร์กที่เป็น 1 ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ที่แสดงออกมาก่อนหน้านี้ และพยายามให้ข้อมูลให้ทางเดนมาร์กได้เข้าใจว่าสิ่งที่ไทยกำลังพยายามทำอยู่ไม่ได้ออกไปนอกลู่นอกทาง แต่เป็นความพยายามที่จะทำให้ประชาธิปไตยของไทยเข้มแข็ง
"ได้ชี้แจงกับทางเดนมาร์กไปว่า เป้าหมายสุดท้ายของเราคือประชาธิปไตย โดยขอให้เชื่อมั่นในโรดแมปของเรา" น.ส.วิมลกล่าว และว่า ฝ่ายเดนมาร์กบอกว่ามีจุดยืนของกลุ่มซึ่งเป็นท่าทีที่จำเป็นต้องแสดงออก ซึ่งไทยเข้าใจ แต่ได้ขอให้เดนมาร์กในฐานะสมาชิกอียูติดตามสถานการณ์ของไทยอย่างมิตรประเทศโดยให้มองในมุมมองของไทยบ้าง
ฝากขัง"วรเจตน์"-ศาลปล่อย
ที่ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ เมื่อเวลา 09.00 น. นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ฝ่าฝืนไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ได้เข้ารายงานตัวตามกำหนดที่พนักงานสอบสวนนัดยื่นคำร้องต่อศาลขอฝากขังผลัดสองอีก 12 วัน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-11 กรกฎาคม เนื่องจากมีเหตุจำเป็นต้องตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากลายพิมพ์นิ้วมือและสอบพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก 3 ปาก ซึ่งนายวรเจตน์ไม่ขอคัดค้านคำขอฝากขัง แต่ขอให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดกระบวนการสอบประวัติอาชญากรรมและการสอบพยานบุคคล
ต่อมาศาลพิจารณาอนุญาตให้ฝากขังตามคำขอ แต่นายวรเจตน์ ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวไปแล้วในผลัดแรกด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 20,000 บาท เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา จึงไม่ต้องถูกคุมขัง
ป.ป.ช.เปิดทรัพย์สินครม.ปู
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 10 ราย 13 ตำแหน่งในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่พ้นตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งเนื่องจากมีมติโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายอนุสรณ์ อมรฉัตร คู่สมรส (ไม่ได้จดทะเบียน) และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 574,346,149 บาท (ไม่รวมทรัพย์สินและหนี้สินของคู่สมรส) โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์มีทรัพย์สิน 601,860,347 บาท หนี้สิน 28,847,269 บาท คู่สมรสมีทรัพย์สิน 36,786,151 บาท และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมีทรัพย์สิน 1,333,070 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินครั้งล่าสุดเมื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม วันที่ 30 มิถุนายน 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ว่ามีทรัพย์สิน 628,660,181 บาท ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีทรัพย์สินลดลง 27,314,032 บาท (อ่านรายละเอียด น.11)
ขอหลักฐานปมนาฬิกา2.5ล.
นายธวัชชัย ศิริสธนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินภาคการเมือง ป.ป.ช.ให้สัมภาษณ์ว่า ในส่วนทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ไม่มีการแจ้งบัญชีเกี่ยวกับนาฬิกามูลค่า 2.5 ล้านบาท ที่ถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้า ปชป.ตั้งข้อสังเกตในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ชี้แจง ป.ป.ช.ว่าได้ซื้อนาฬิกาดังกล่าวมาจริง แต่นำไปขายต่อและนำเงินไปซื้อเครื่องประดับอื่นแล้ว เป็นการซื้อขายก่อนปี 2554 ก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงไม่อยู่ในข่ายต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.
นายธวัชชัยกล่าวว่า ป.ป.ช.ได้ขอหลักฐานเพิ่มเติมจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาทิ มีการซื้อและขายไปเมื่อใด นำไปขายให้ใคร พร้อมกับให้นำเอกสารการซื้อ-ขายมาแสดง แต่ ป.ป.ช.ยังไม่ได้รับคำตอบดังกล่าวจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมกันนี้ ป.ป.ช.จะตรวจสอบไปยังบริษัทที่ขายนาฬิกาว่ามีหลักฐานการซื้อ-ขายหรือไม่ด้วย