WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สื่อนอกตีข่าวตั้ง'สนช.'คัดนายกฯ บิ๊กตู่เปิดโฉมธรรมนูญ คืบหน้ารอประกาศใช้ คสช.ยุติสั่งรายงานตัว แจงบีบีซีปัดเตี๊ยมปว. ตร.วืดอบรม-ยุ่นแบน

มติชนออนไลน์ :

       'บิ๊กโด่ง'พบสื่อแจงผลงาน คสช. 1 เดือน 'บิ๊กต๊อก'เผย คสช.หยุดเรียกคนมารายงานตัวแล้ว ทีมโฆษกให้รอ'บิ๊กตู่'ชี้แจงความคืบหน้าร่างธรรมนูญชั่วคราว ยันตั้งทีมเกาะติดข่าวไม่ได้ลิดรอนสิทธิสื่อ 'จารุพงศ์'ออกคลิปลั่นยังเป็นรัฐบาลอยู่

คสช.พบสื่อแจงผลงาน1เดือน

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการเชิญผู้บริหารสื่อมวลชนร่วมหารือกับ คสช. ในวันที่ 27 มิถุนายน ที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. มอบหมายให้ตนเป็นตัวแทน คสช.พบกับผู้บริหารสื่อ เพื่อขอบคุณและทำความเข้าใจ เมื่อสื่อมวลชนให้เกียรติ คสช. ทาง คสช.ก็ให้เกียรติสื่อมวลชนเช่นกัน เพราะมีความเป็นมิตรต่อกัน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถามปัญหาต่างๆ และจะชี้แจงการทำงานของ คสช. ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่ง คสช.รู้สึกพอใจและจะพยายามทำให้ดีที่สุดต่อไป

"วินธัย"ยันไม่ลิดรอนสิทธิสื่อ

ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมงานโฆษก คสช. กล่าวว่า การเชิญผู้บริหารสื่อหารือกับเลขาฯ คสช.จะชี้แจงและปรับความเข้าใจในการทำงานระหว่างกันเพื่อให้สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น การพูดคุยจะเป็นการขอความร่วมมือให้การนำเสนอเป็นไปอย่างสร้างสรรค์

พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ที่สมาคมนักข่าวนักหนังหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยมีความกังวลต่อคำสั่ง คสช. ที่แต่งตั้งคณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารนั้นไม่อยากให้กังวล ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นการปิดกั้น การตั้งคณะทำงานด้านสื่อหลายคณะเพื่อเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติเพื่อให้การตอบกลับข่าวสารเป็นไปอย่างทันท่วงทีเพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ถ้าไม่ร่วมกันบริหารจัดการให้ดีก็จะเกิดความสับสนเหมือนที่ผ่านมา ยืนยันไม่ใช่เป็นการปิดกั้นข่าวสาร

"นอกจากข่าวที่เป็นเรื่องของการจินตนาการ หรือสร้างกระแสข่าวลือหวังแสวงผลประโยชน์โดยมิชอบจากสื่อ ถ้ามีกรณีแบบนี้อาจต้องขอความร่วมมือในการให้น้ำหนักและพื้นที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม อยู่ในลักษณะของการแลกเปลี่ยนรับฟังซึ่งกันและกันด้วยหลักการเหตุผลและข้อเท็จจริง ยืนยันไม่ใช่การลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อแน่นอน ถือว่าสื่อทุกสื่อมีส่วนสำคัญในการพัฒนาของประเทศให้ดีขึ้น" พ.อ.วินธัยกล่าว

รอ"บิ๊กตู่"แจงร่างธรรมนูญ

พ.อ.วินธัยกล่าวถึงการยกร่างธรรมนูญการปกครองชั่วคราวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้า คสช.จะเป็นผู้ชี้แจงในส่วนนี้ด้วยตนเอง ภายในสัปดาห์นี้น่าจะมีรายละเอียดออกมา

เมื่อถามว่า คสช.เน้นปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่ไม่นำเสนอข่าวเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญและสภานิติบัญญัติเท่าใดนัก 

พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนเป็นการปฏิรูประยะแรกจึงยังไม่มีการนำเสนอข่าวเรื่องร่างรัฐธรรมนูญและสภานิติบัญญัติ โดยระยะที่ 2 ข้อมูลทั้งหมดจะเข้าสู่การปฏิรูปที่เป็นรูปแบบ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลในส่วนดังกล่าวจึงไม่มีการออกมาชี้แจง

เผยมะกันยังฝึกคอบร้าโกลด์

พ.อ.วินธัยกล่าวถึงกรณีนายสกอต มาร์เชล เจ้าหน้าที่การทูตระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก ที่เข้าชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทย ต่อคณะอนุกรรมการฝ่ายกิจการต่างประเทศ ประจำสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่า เป็นความเห็นเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ให้สหรัฐทบทวนระงับความร่วมมือต่างๆ ทันที รวมถึงเรื่องการฝึกซ้อมคอบร้าโกลด์ ตนมองว่าผู้ที่พูดอาจรับข้อมูลประเทศไทยไม่เพียงพอ และให้ความเห็นว่าหากประเทศไทยยังไม่เรียบร้อยก็อาจจะให้ไปดูสถานที่ฝึกคอบร้าโกลด์ที่อื่น แต่ประเทศไทยมีความเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศประสานชี้แจงสหรัฐด้วยวาจาและเอกสาร 

พ.อ.วินธัยกล่าวถึงกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐที่ดูแลการฝึกคอบร้าโกลด์รอหารือกับไทย แต่ทางการไทยไม่ยอมไปร่วมประชุมว่า ยังไม่ได้รับข้อมูล ไม่น่าจะใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ เมื่อถามว่า มีข่าวว่ามีเอกสารจากทางสหรัฐยังมีกำหนดการฝึกในประเทศตามเดิมนั้น พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ไม่ใช่แต่เรื่องการฝึกคอบร้าโกลด์ เพราะยังมีการพูดกันในที่ประชุมร่วมกับทูตสหรัฐว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิม เมื่อถามกรณีสหรัฐระงับความช่วยเหลือด้านความมั่นคงให้กับไทยแล้ว 4.7 ล้านดอลลาร์ (ราว 150 ล้านบาท) พ.อ.วินธัยกล่าวว่า เป็นมาตรการปกติและเป็นระเบียบปฏิบัติสำหรับประเทศที่มีการควบคุมอำนาจการปกครอง แต่เชื่อว่าหลังการทำความเข้าใจทุกอย่างจะดีขึ้นและต่อไปสหรัฐอาจจะมีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงได้

แจง"อียู"คสช.ช่วยรักษาปชต.

พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ส่วนท่าทีของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ชะลอการเยือนประเทศไทยนั้น ปกติการเดินทางมาเยือนก็ไม่ได้มีกันบ่อย ส่วนการชะลอการลงนามข้อตกลงความร่วมมือในทุกมิติ ก็คงรอจนกว่าจะมีประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ในทั้ง 2 ส่วนนี้ ไม่ใช่ท่าทีถาวร เป็นแค่เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น และไม่มีส่วนในเรื่องของเศรษฐกิจ 

พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ต้องทำความเข้าในเรื่องของอียู ใน 3 ลักษณะ 1.เป็นข้อกังวลพื้นฐานทั่วไป เช่น อยากให้เข้าสู่ระบบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์โดยเร็ว 2.ไม่อยากให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ที่คิดเห็นทางการเมือง และ 3.อยากจะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งเรื่องการคืนประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น คสช.เข้ามาเพื่อรักษาประชาธิปไตยโดยเฉพาะ เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพราะแต่ก่อนมองคนละมุม ส่วนการเลือกตั้ง ทาง คสช.กำหนดกรอบไว้เรียบร้อยแล้ว ที่แบ่งออกเป็นระยะๆ 3 ระยะ เพราะฉะนั้นทั้งหมดเรามีข้อมูลอยู่แล้ว

ชี้"มะกัน-อียู"รับข้อมูลไม่พอ

"มีเพียงสหรัฐและอียูที่อาจยังรับทราบข้อมูลไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องความสงบเรียบร้อย ที่ปัจจุบันเรามีความเรียบร้อย ประชาชนมีความพึงพอใจ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่มีแล้ว ความวุ่นวายในบ้านเมืองก็ไม่มี ส่วนสภาพเศรษฐกิจก็เดินต่อไปได้ ความเดือดร้อนของประชาชนได้รับความแก้ไข" พ.อ.วินธัยกล่าว 

พ.อ.วินธัยกล่าวว่า "การปฏิบัติของ คสช. ต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ก็ไม่ดำเนินการอย่าง

ผู้กระทำความผิด แต่ดำเนินการในลักษณะผู้ที่เป็นมิตรต่อกัน เราคนไทยมีความโอบอ้อมอารีต่อกันพูดคุยกันด้วยเหตุผลรู้เรื่อง ยืนยันว่าตั้งแต่ คสช.ตั้งขึ้นมาเราไม่เคยละเมิดสิทธิมนุษยชน และเราให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก" พ.อ.วินธัยกล่าว

เมื่อถามว่า คสช.ใช้งบประมาณไปจำนวนมากจริงหรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวปฏิเสธว่า ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบเงื่อนไขวินัยทางการคลังตามปกติ

ยันญี่ปุ่นยุติโครงการตร.โคบัง

จากกรณีมีกระแสข่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นยกเลิกการสนับสนุนโครงการดูงานตำรวจโคบัง ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จะส่งตำรวจไปดูงานเรื่องตำรวจชุมชนที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น 

แหล่งข่าวระดับสูงใน ตร.กล่าวว่า เป็นเรื่องจริง โดย ตร.กำหนดส่งตำรวจไทยไปดูงานตำรวจโคบังที่ประเทศญี่ปุ่น 2 รุ่น โดยรุ่นแรกเดินทางตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม ทางการญี่ปุ่นจะพาไปดูงานตำรวจโคบัง และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจของญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยรุ่นแรกจองตั๋วเครื่องบินและที่พักไว้เรียบร้อย ไม่สามารถยกเลิกได้ จึงเดินทางไปตามกำหนดการ 

"แต่ระหว่างนั้นทางการญี่ปุ่นแจ้งว่าขอยกเลิกการสนับสนุนการเดินทางดูงานครั้งนี้ โดยให้เหตุผลเรื่องที่ประเทศไทยมีการรัฐประหาร เพราะญี่ปุ่นไม่สนับสนุนการไม่เป็นประชาธิปไตย โดยขอระงับการสนับสนุนรุ่นที่ 2 ที่กำหนดเดินทางไปญี่ปุ่นช่วงต้นเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม เป็นช่วงที่ คสช.มีนโยบายไม่ให้ข้าราชการเดินทางไปดูงานต่างประเทศอยู่แล้ว โครงการนี้จึงถูกระงับไป" แหล่งข่าวกล่าว

"บิ๊กต๊อก"ชี้หยุดเรียกรายงานตัว

ที่หอประชุมสโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม คสช. กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีใครอยู่ในความควบคุมของ คสช.แล้ว และตนคิดว่าไม่น่าจะมีเรียกบุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติมแล้ว แต่หากมีเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาก็อาจจะเรียกบุคคลเข้ามารายงานตัวได้ ส่วนบุคคลที่ยังไม่ได้มารายงานตัวนั้น เป็นเรื่องขั้นตอนกฎหมายไม่เกี่ยวข้องกับ คสช. ที่บุคคลผู้นั้นขัดคำสั่ง และอยู่ในดุลพินิจของศาลว่าจะให้ประกันหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาศาลมีความเมตตา

คสช.จัด"ขอบคุณประเทศไทย" 

ที่รอยัลพารากอนฮอลล์ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. เป็นตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นประธานเปิดงาน "ขอบคุณประเทศไทย" ภายใต้โครงการปลุกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดิน ปีที่ 3 โดยมีนางแป้ง ปาลสาร ผู้แทนชาวนา ซึ่งเป็นชาวนาคนสุดท้ายที่ได้รับเงินค่าจำนำข้าว ด.ช.ปุญรวี เกตุยิ่งยืนวงศ์ นักเรียนที่ชนะการประกวดเรียงความเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงผู้แทนนักธุรกิจเข้าร่วมจำนวนมาก 

พล.อ.อุดมเดชกล่าวตอนหนึ่งว่า ในฐานะที่เป็นทหารคนหนึ่งมีหน้าที่ปกป้องผืนแผ่นดิน รู้สึกซาบซึ้งที่ทุกคนแสดงออกความรัก ความปรารถนาดีแก่ประเทศไทย เพราะทุกคนคือพลังที่จะผลักดันขับเคลื่อนประเทศให้มีความสุขความเจริญ และในฐานะคนไทยรู้สึกสำนึกบุญคุณแผ่นดินไทย 

"ขอให้คำมั่นสัญญาว่ากองทัพจะพยายามทุกวิถีทางให้แผ่นดินมีความสงบสุขร่มเย็น เวลานี้ผมไม่รู้สึกเปล่าเปลี่ยวและเดียวดาย กองทัพต้องอาศัยพี่น้องประชาชนทุกคนที่จะนำพาประเทศชาติให้มีความสงบสุขตลอดไป ปีนี้คงเป็นเวลาที่เราต้องหยุดสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดี ที่ทำให้ประเทศชาติประสบปัญหา วันนี้มีความมั่นใจ ที่เห็นทุกคนตั้งใจแสดงออกอย่างจริงใจที่ปกป้องผืนแผ่นดิน แสดงออกถึงความรักชาติ" พล.อ.อุดมเดชกล่าว

"บวรศักดิ์"แนะรื้อดุลอำนาจ

ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันพระปกเกล้าจัดงานสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ "นำเสนอประเด็นการอภิปราย การปฏิรูปประเทศไทย : ดุลแห่งอำนาจ" เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญในอนาคต โดยมีนายลิขิต ธีรเวคิน อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นายกิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นวิทยากร

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดงานว่า การสัมมนาทำนองนี้ควรหมดไปจากเมืองไทย เพราะพูดลักษณะนี้มา 30 กว่าปีแล้ว รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ต่างชาติบอกเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ในปลายศตวรรษที่ 20 แต่ก็มีอายุแค่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แต่สุดท้ายก็ถูกยกเลิกไปอีก ทำให้ยังต้องมาพูดเรื่องปฏิรูปการเมือง แม้จะเหนื่อยแต่ก็ต้องพูดเพราะปัญหามีอยู่จริง 

"ดุลแห่งอำนาจเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย จำเป็นต้องมานั่งรื้อดูกันว่าดุลแห่งอำนาจที่แท้จริงคืออะไร เกิดมาจากการแบ่งอำนาจของข้าราชการทหาร พลเรือน คนมั่งมีระดับบน พรรคการเมือง หรือคนชั้นกลางระดับล่าง หรือไม่ หรือมีมากกว่านั้น ที่ต้องมาหากันใหม่เพราะเห็นว่ามีผู้เสนอให้ปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่แค่ปฏิรูปการเมือง จึงต้องเปิดรับฟังความเห็น และเสนอความรู้เรื่องดุลแห่งอำนาจเพื่ออภิปรายว่าข้อเสนอที่รวบรวมมาเป็นอย่างไร ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และทำอย่างไรจึงจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งและปฏิรูปการเมืองไทยที่เหมาะสมต่อไป" นายบวรศักดิ์กล่าว 

"ลิขิต"ให้ทำประชามติร่างรธน.

นายลิขิตกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2540 พยายามทำให้เกิดดุลยภาพที่ก่อตั้งองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อถ่วงดุลอำนาจ แต่ขึ้นอยู่กับตัวแปรคือตัวผู้มีอำนาจ ตัวองค์กร และผู้ที่ตรวจสอบ การถ่วงดุลอำนาจถ้าแข็ง ระบบจะไม่เป็นระบบ ถ้าคุมจนกระดิกไม่ได้ ก็จะแข็ง หรือถ้าหลวมไปก็คุมไม่ได้ ดังนั้นการถ่วงดุลที่ดีต้องมีระบบที่มีเสรีภาพ แต่ไม่ละเมิดเสรีภาพ ต้องไม่มีคำว่าเผด็จการเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย

นายลิขิตกล่าวว่า เรื่องการปฏิรูปนั้นจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ต้องถามก่อนว่าจะเอาประชาธิปไตยหรือไม่ และเอาแบบไหน จากนั้นต้องสร้างระเบียบการเมืองให้อยู่ร่วมกันได้โดยสันติ สังคมต้องยุติธรรม และมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ถ้าการปฏิรูปไม่มีประเด็นนี้ก็จะกลายเป็นการปฏิวัติ มีการใช้ความรุนแรง การปฏิรูปมีตัวแปรคือการปฏิรูปที่คน โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษา ต้องมีการศึกษาวัฒนธรรมทางการเมือง ไม่รู้ไม่ได้ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง และระบบการเมืองต้องตอบสนองทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ ควรทำประชามติทุกมาตรา

"พระปกเกล้า"แนะรมต.พ้นส.ส.

นายณวัฒน์ ศรีปัดถา และ น.ส.ชมพูนุท ตั้งถาวร นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า นำเสนอข้อมูลที่สถาบันพระปกเกล้ารวบรวมจากบทความวิชาการ เวทีเสวนา ตลอดจนสื่อต่างๆ ในประเด็นการจัดดุลอำนาจของสถาบันการเมืองที่เกี่ยวข้องกับระบบรัฐสภาไทย ประเด็นขอบเขตอำนาจ หน้าที่ขององค์กรนั้นๆ และนำข้อเสนอมาจัดกลุ่มและวิเคราะห์ผลดีผลเสียเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอการปฏิรูป มีใจความตอนหนึ่งว่า ดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่มีปัญหาคือรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ห้าม ส.ส.เป็นรัฐมนตรี ถ้าหาก ส.ส.เป็นรัฐมนตรีก็จะยังดำรงตำแหน่ง ส.ส.ได้ 

"จึงมีข้อเสนอว่าเมื่อ ส.ส.ได้เป็นรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. จะมีข้อดีคือทำให้ไม่เกิดผลประโยชน์ขัดกันและสร้างความมีเสถียรภาพให้รัฐบาล แต่ข้อเสีย คืออาจทำให้นายกฯมีอำนาจต่อรองมาก เนื่องจากถ้านายกฯปลดรัฐมนตรีออกแล้ว ก็จะหลุดจากตำแหน่ง ส.ส." บทความระบุ

เสนอเลือกนายกฯโดยตรง

นายณวัฒน์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้เลือกนายกฯ โดยเลือกจากผู้ที่เป็น ส.ส. ทำให้ฝ่ายบริหารคือนายกฯและเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาเป็นพวกเดียวกัน ไม่สามารถตรวจสอบและถ่วงดุลกันได้อย่างแท้จริงในทางปฏิบัติ โดยเสนอว่าให้ลดทอนความสัมพันธ์ระหว่างนายกฯและรัฐสภาที่กำหนดให้นายกฯมาจากการเลือกตั้งโดยตรง 

นายณวัฒน์กล่าวว่า ข้อดีคือนายกฯและเสียงส่วนใหญ่ในสภาอาจไม่ใช่พวกเดียวกัน และทำให้ได้ฝ่ายบริหารที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนข้อเสียจะทำให้ระบบรัฐสภาซึ่งประมุขของรัฐกับประมุขของฝ่ายบริหารเป็นคนละคน การเลือกตั้งนายกฯ ที่เป็นประมุขฝ่ายบริหารโดยตรงอาจทำให้เกิดการนำฐานเสียงประชาชนไปตั้งคำถามกับความชอบธรรมประมุขของรัฐได้ อีกทั้งหากนายกฯมาจากการเลือกตั้งโดยตรงนั้น นายกฯย่อมอ้างได้ว่าตนเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง อาจทำให้รัฐสภาหมดความชอบธรรมที่จะตรวจสอบฝ่ายบริหารทันที

เสนอโละศาลรัฐธรรมนูญ

นายณวัฒน์กล่าวว่า ส่วนดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการโดยจะเน้นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญมักถูกมองว่าใช้อำนาจกระทบฝ่ายบริหาร ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหลัก คือ ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย 

นายณวัฒน์กล่าวว่า ทั้งนี้การใช้อำนาจในการวินิจฉัยในหลายคดีของศาลรัฐธรรมนูญมักถูกมองว่าก้าวล่วงการใช้อำนาจที่เป็นของรัฐสภา จึงมีข้อเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญและกลับไปใช้รูปแบบคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยมาจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และ ครม. รวมทั้งตุลาการที่มาจากศาลปกครองและศาลฎีกา หรืออีกข้อเสนอหนึ่งคือต้องกำหนดกรอบให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่าเรื่องใดเป็นเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ ส่วนเรื่องใดเป็นเรื่องการเมืองก็ให้องค์กรการเมืองเป็นผู้ตรวจสอบและถ่วงดุลกันเอง

ตร.-ทหารถกจัดการ"จารุพงศ์"

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.ศ. ช่วยราชการ บช.น. พร้อมเจ้าหน้าที่ทหาร ร่วมกันประชุมเรื่องข้อกฎหมาย กรณีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ และนายจักรภพ เพ็ญแข แถลงการณ์เรื่องการก่อตั้งองค์กรเสรีไทย 

พล.ต.อ.สมยศกล่าวภายหลังการประชุมว่า ทั้งฝ่ายทหารและตำรวจ เห็นร่วมกันเบื้องต้นว่า จะเฝ้าดูพฤติกรรมทั้ง 2 คนอีกระยะหนึ่ง เพื่อความรอบคอบทางฝ่ายตำรวจจะประชุมหารือกันอีกครั้งหนึ่ง ส่วนตัวแทนฝ่ายทหารก็จะไปดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้องกับทหาร กระทั่งมีความรอบคอบชัดเจนจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ต้องหารือข้อกฎหมายให้รอบคอบก่อน

เมื่อถามว่า พฤติการณ์ลักษณะใดถึงจะดำเนินการ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ที่มีแถลงการณ์ออกมาก็ได้บทสรุปแล้ว แต่เพื่อการรอบคอบเพราะข้อกฎหมายอาจมีความเห็นต่างกันได้ ต้องปรึกษาหน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมายเพื่อความมั่นใจ หากมีนักกฎหมายมาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง อาจก่อให้เกิดความสับสนกันได้ วันนี้ตำรวจมีข้อยุติแต่ไม่สามารถเปิดเผยได้เพื่อความรอบคอบ โดยให้ฝ่ายทหารและตำรวจหารือตัดใจสินก่อนนำมาสรุปร่วมในที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง ส่วนการติดตามจับกุมตามหมายจับทั้ง 2 คน เราดำเนินการตามขั้นตอน โดยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอยู่ระหว่างดำเนินการ 

"จารุพงศ์"เดินสายฟ้องตปท.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอผ่านยูทูบ ชื่อ "องค์กรเสรีไทย จารุพงศ์ สัมภาษณ์โดย จอม เพชรประดับ 25 มิถุนายน 2557" ความยาว 19.07 น. โดยนายจารุพงศ์กล่าวว่า เหตุผลที่ไม่ไปรายตัวต่อ คสช.เพราะตนยึดหลักประชาธิปไตย ยึดหลักกฎหมาย และผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งประเทศ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องยอม คสช. เพราะประชาชนมอบอำนาจให้ตนตามหลักประชาธิปไตยแล้ว ตนไม่ได้หนีไปซุกซ่อนที่ไหนแต่ไปเพื่อทวงคืนความชอบธรรมให้รัฐบาล ยืนยันว่ายังเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้เท่านั้น

ทั้งนี้จะเดินสายไปฟ้องต่อนานาอารยประเทศ ฟ้องต่อองค์กรสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น เพื่อบอกว่าประเทศไทยเกิดสถานการณ์อย่างไรขึ้น

เมื่อถามว่า การกระทำนี้มีกลุ่มการเมืองมาสนับสนุนหรือไม่ นายจารุพงศ์กล่าวว่าได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) แล้ว ดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตยอย่างเสรี ไม่ใช้กำลังอาวุธ และเชื่อว่ากำลังประชาธิปไตยจะแข็งแกร่งกว่าระบบทหาร

"จักรภพ"คาดก.ค.ตั้งสนง.ใหญ่

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน โดยอ้างนายจักรภพ เพ็ญแข ให้สัมภาษณ์จากฮ่องกง ระบุว่า เตรียมจัดตั้งองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งจะมีสำนักงานใหญ่ในประเทศตะวันตกภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรค พท. เป็นเลขาธิการใหญ่

นายจักรภพกล่าวว่า ขณะนี้ทีมงานอยู่ระหว่างพูดคุยกับชาติตะวันตกหลายชาติเกี่ยวกับการตั้งสำนักงานใหญ่ จะมีการตัดสินใจกันอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ ขณะนี้ ยังไม่ได้ตัดสินใจในขั้นสุดท้ายว่าจะตั้งสำนักงานใหญ่ขององค์กรที่ไหน แต่เราคุยกับชาติต่างๆ มากกว่า 5 ชาติ ทั้งหมดอยู่ในซีกโลกตะวันตก

นายจักรภพยังปฏิเสธกระแสข่าวที่ระบุว่า จะมีการตั้งสำนักงานใหญ่องค์กรเสรีไทยฯ ในฮ่องกงหรือกัมพูชา โดยกล่าวว่าตัดความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคเอเชียออกไป มันไม่ได้หมายความว่าชาติตะวันตกนั้นดีกว่า แต่ชาติตะวันตกเป็นที่ยอมรับมากกว่า และเป็นชาติที่ตระหนักรู้ถึงอุบายและเกมที่กำลังถูกเล่นในประเทศไทยในตอนนี้ สำนักงานจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนและเปิดเผยต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯยังไม่ได้เข้าร่วมองค์กรดังกล่าว

คสช.ปัดวางแผนล่วงหน้าปว.

พล.ท.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข รองเสนาธิการทหารบก และหนึ่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์กับนายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวบีบีซี โดยปฏิเสธกระแสข่าวที่ระบุว่า การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีการวางแผนมาก่อนหน้านั้นแล้วนานนับปีว่า เท่าที่รู้ ไม่มีการวางแผนทำรัฐประหารล่วงหน้ามาก่อน และที่การรัฐประหารเป็นไปอย่างราบรื่นนั้นเป็นเพราะหลังประกาศกฎอัยการศึก กำลังทหารและตำรวจประจำการอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯอยู่แล้ว 

พล.ท.ฉัตรเฉลิมกล่าวถึงการเรียกตัวแกนนำและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายร้อยคนมารายงานตัว บางส่วนถูกควบคุมตัวเป็นเวลาหลายวันว่า "สถานที่ควบคุมตัวนั้นเหมือนบ้านพักรับรองมากกว่าสถานที่คุมขัง ไม่มีรั้วลวดหนาม มีการเปิดเผยสถานที่ให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ดู และมีการเผยแพร่ภาพผู้ที่ถูกเรียกตัวผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจด้วย ผู้ที่ถูกจับกุมไม่ว่าจะขึ้นศาลทหารหรือศาลพลเรือนจะไม่ได้รับโทษรุนแรง"

พล.ท.ฉัตรเฉลิมกล่าวว่า เมื่อคสช.ไปถึงขั้นสุดท้ายคือการจัดการเลือกตั้ง หลังการปฏิรูปเสร็จสิ้น ทุกๆ คนที่เป็นคนไทย สามารถเข้าร่วมในการเลือกตั้งได้ แม้แต่ครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ 

"คุณจะเห็นวิธีการของเราว่า เราไม่ได้ไล่ล่า พ.ต.ท.ทักษิณ เหมือนอย่างที่เคยทำมาก่อน พ.ต.ท.ทักษิณมีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ เราต้องการเห็น พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาและต่อสู้กับข้อกล่าวหา หากเขามั่นใจว่าเขาจะชนะ เมื่อนั้นเขาก็สามารถกลับมาสู่เส้นทางการเมืองได้" พล.ท.ฉัตรเฉลิมกล่าว

เผยสนช.200คน-ทหารพรึบ

สำนักข่าวเอเอฟพีอ้างรายงานจากแหล่งข่าวใกล้ชิดกับกองทัพ ให้ข้อมูลว่า คสช.เตรียมแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่เลือกผู้นำรัฐบาลรักษาการ นับเป็นความพยายามที่จะคงอิทธิพลระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของประเทศ

เอเอฟพีรายงานว่า รายงานของแหล่งข่าวใกล้ชิดซึ่งนับเป็นการบอกใบ้ที่แท้จริงถึงโครงร่างของรัฐบาลชุดต่อไปของประเทศไทยนั้น ระบุด้วยว่ารัฐบาลทหารจะเลือกสมาชิก สนช.จำนวน 200 คน และจะไม่มีการยุบ คสช. "เราเรียนรู้บทเรียนมาแล้ว การผลักอำนาจไปสู่มือคนอื่น และพวกเขาเหล่านั้นจะไม่ทำในสิ่งที่เราคาดหวังให้ทำ" แหล่งข่าวระบุ 

เอเอฟพียังระบุด้วยว่ารายงานดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลจากแหล่งข่าวใกล้ชิดกับกองทัพอีกราย ที่ระบุว่าขณะนี้ คสช.ได้ร่างธรรมนูญชั่วคราวเสร็จเรียบร้อยแล้ว "ธรรมนูญชั่วคราวถูกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว อำนาจของ คสช.จะยังคงอยู่ แตกต่างจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ซึ่งในครั้งนั้นกองทัพสูญเสียอำนาจไปหลังการตั้งรัฐบาลรักษาการ" แหล่งข่าวระบุ อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวไม่ได้ระบุถึงการคานอำนาจระหว่าง คสช.กับรัฐบาลรักษาการแต่อย่างใด

vกกต.ยุติสอบสถานะ"วิเชษฐ์"

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.แถลงผลการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุม กกต.มีมติยุติสอบและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบสถานะความเป็นรัฐมนตรีของนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182(7) หรือไม่ จากกรณีที่ไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในส่วนของภรรยาที่ถือหุ้นในบริษัทเอกชน เกินร้อยละ 5 ตามที่กฎหมายกำหนดต่อ ป.ป.ช. 

"กกต.พิจารณาแล้วเห็นตามที่คณะกรรมการไต่สวนเสนอว่า เมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 บัญญัติให้ ครม.พ้นจากตำแหน่งเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น เมื่อมีการยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา จึงมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายวิเชษฐ์สิ้นสุดลงเฉพาะตัวนับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 ทำให้ไม่มีเหตุให้ กกต.ต้องพิจารณาและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะความเป็นรัฐมนตรีอีกต่อไป" นายภุชงค์กล่าว 

ยกคำร้องสอบ"ปู"ปมแก้รธน.

นายภุชงค์กล่าวว่า นอกจากนี้ กกต.มีมติยกคำร้องกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านสมาชิกภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ว่าเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 102(6) ประกอบมาตรา 115 เนื่องจากกระทำการทุจริตในหน้าที่และประพฤติมิชอบในวงราชการหรือไม่ หรือเข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ กกต.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ปรากฏว่าไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์และสมาชิกรัฐสภามีพฤติกรรมทุจริตต่อหน้าที่ตามคำกล่าวอ้าง จึงเสนอให้ กกต.ยกคำร้อง 

ไม่รับคำร้องสอบ"ปู"ตั้งศรส. 

นายภุชงค์กล่าวว่า กกต.ยังมีมติยกคำร้องกรณีที่นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) 

จากกรณีสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์อื่นใดอันคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งมิชอบในการแต่งตั้งศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) และแต่งตั้ง ร.ต.อ.เฉลิมเป็น ผอ.ศรส. เพื่อออกประกาศคำสั่งต่างๆ 

เพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ โดย กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่มีเหตุเป็นการทำให้บุคคลทั้งสองเป็นบุคคลต้องห้ามหรือมีพฤติกรรมทำผิดกฎหมาย จึงมีมติไม่รับเป็นเรื่องร้องคัดค้าน

ยกคำร้องสอบ"หญิงเป็ด"

เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ส่วนกรณีที่นาง

ลีนา จังจรรจา อดีตผู้สมัคร ส.ว. กทม. ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีต ส.ว. กทม. เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดย กกต.มีมติให้ยกคำร้อง เพราะในชั้นของการสมัคร ทาง กกต.กทม. ตรวจสอบคุณสมบัติกรณีดังกล่าวไปยัง ป.ป.ช.แล้ว ได้รับการแจ้งว่า ไม่ปรากฏคำพิพากษาให้ทรัพย์สินของคุณหญิงจารุวรรณตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติหรือห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด แต่ ป.ป.ช.มีข้อสังเกตว่า คุณหญิงจารุวรรณ เคยถูก ป.ป.ช.ชี้มูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่คดียังไม่สิ้นสุด จึงไม่ถือว่าคุณหญิงจารุวรรณมีคุณสมบัติต้องห้ามในการสมัคร 

ลุยสอบคุณสมบัติผู้สมัครส.ส.

นายภุชงค์ยังกล่าวถึงกรณีที่ คสช. ประกาศให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยห้ามเพียงการเลือกตั้งและการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ทาง กกต.เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวให้อำนาจ กกต. ในการตรวจสอบการรับสมัคร ส.ส.และ ส.ว. ว่ามีบุคคลที่รู้ว่าตนเองมีคุณสมบัติต้องห้ามแต่ยังมายื่นสมัครหรือไม่ ซึ่งจะถือว่าเป็นการให้ข้อความอันเป็นเท็จ มีความผิดตามกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.เลือกตั้ง มาตรา 139 มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 1 -2 แสนบาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี และหากพบว่ากรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำเหล่านี้ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองก็มีความผิดอาจถึงขั้นยุบพรรค กกต.จึงจะตรวจสอบผู้สมัคร ส.ว. และผู้สมัคร ส.ส.จาก 53 พรรคการเมือง ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 1,174 คน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!