- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 28 June 2014 08:34
- Hits: 4960
วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8612 ข่าวสดรายวัน
คสช.ปิดบัญชีรายงานตัว พระปกเกล้าถก ปฏิรูปศาลรธน.
นักวิชาการสถาบันพระปก เกล้าถกแผนปฏิรูปแก้จุดอ่อนรธน. เสนอรื้อศาลรัฐธรรมนูญแล้วตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่มาจากส.ส.-ส.ว.-ครม.-ตุลาการ ขณะเดียวกันก็ถกเลือกนายกฯ โดยตรง ชี้จะได้ปลอดจากการครอบงำของพรรคการเมือง ด้านกลุ่มนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนยื่นหนังสือคสช.โอนย้ายคดีที่พลเรือนทำผิดช่วงประกาศกฎอัยการศึกขึ้นศาลพลเรือน"ผู้พันต๊อด" โต้ลั่นมะกันยังไม่ถอนฝึกร่วมคอบร้าโกลด์ ชี้ประเทศไทยสงบเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.แล้ว เชื่อสหรัฐ-อียูรับฟังข้อมูลไม่ รอบด้าน ด้าน"ไพบูลย์ คุ้มฉายา"เผยคสช.คง ไม่ออกคำสั่งเรียกบุคคลรายงานตัวอีกแล้ว
ประชาชนแห่ยื่นร้องเรียนคสช.
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 มิ.ย. ที่กองบัญชาการกองทัพบก ถ.ราชดำเนิน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประชุมติดตามสถานการณ์ประจำวันของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) ตามปกติ โดยมีนายทหารระดับสูงของกองทัพบกเข้าร่วม อาทิ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และพล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศหน้า บก.ทบ. มีประชาชนและตัวแทนกลุ่มต่างๆ จำนวนมาก มายื่นหนังสือร้องเรียนต่อหัวหน้า คสช.อย่างต่อเนื่อง อาทิ นายนรินทร์ วรรณมหินทร์ นายอำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง ยื่นหนังสือขอให้พิจารณาเร่งรัดออกโฉนดที่ดินให้ชาวบ้าน 600 กว่าแปลง หลังจากชาวบ้านไม่มีโฉนดที่ดินมากว่า 25 ปี นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้าน ต.ลำพญากลาง ต.ลำสมพุง และต.ทรัพย์สนุ่น อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี กว่า 40 คน มายื่นหนังสือคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทเอกชนเพราะจะส่งผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อม มีตัวแทนชาวบ้าน ม.4 ต.สาม ร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ 20 คน นำโดย นางประณอ พุ่มศิริ มายื่นหนังสือขอให้ แก้ปัญหานายทุนบุกรุกสร้างบ้านพักและ รีสอร์ตบนชายหาดสาธารณะที่มีความยาว 7 กิโลเมตร
กนส.ร้องศาลพลเรือนพิจารณาคดี
ขณะที่นายเพียร ชัยทิพย์ เลขาธิการพรรคพลังอุดร ในฐานะรักษาการหัวพรรคพลังอุดร มายื่นหนังสือถึงหัวหน้า คสช. เสนอแนวทางการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำที่จะต้องเกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด รวมทั้งมาให้กำลังใจ คสช.
เวลา 10.00 น. กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) นำโดยนายปกาสิต ไตรยสุนันท์ หัวหน้ากลุ่ม และนายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการ มายื่นหนังสือเสนอแนวทางแห่งความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนต่อคสช.
นายวิญญัติ กล่าวว่า จากประกาศฉบับที่ 63/2557 เรื่องนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ เราเห็นว่าคสช.ต้องสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อประชาชน โดยผู้ที่มีรายชื่อถูกดำเนินคดีเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากกฎอัยการศึก มีขอบเขตจำกัด ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ คสช. จึงขอเสนอ 1.ขอให้ คสช.พิจารณาโอนคดีทั้งหมดไปพิจารณาที่ศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลพลเรือน ไม่ใช่ศาลทหาร เพื่อเปิดให้ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกา ให้นำไปสู่การปรองดองที่ยั่งยืน 2.ขอให้ คสช.นำเสนอข่าวหรือปฏิบัติการด้านการข่าวโดยยึดหลักความเป็นจริงและเปิดเผยถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล จึงจะได้การยอมรับจากประชาชน
เมื่อถามว่าเกรงหรือไม่ว่าจะถูกมองว่าไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของศาลทหารได้ นายวิญญัติกล่าวว่า ไม่ได้ไม่เชื่อมั่นศาลทหาร เพราะในเรื่องกระบวน การเราเชื่อมั่น แต่การที่มีศาลเดียว โอกาสที่จะพิจารณาคดีอย่างถี่ถ้วนหรือไม่ หรือการนำเสนอพยานหลักฐานควรตรวจสอบถ่วงดุล หากมีเพียงศาลเดียวไม่มีการอุทธรณ์และฎีกาจะทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยได้
รอง เสธ.ทบ.โต้ไล่ล่า"ชินวัตร"
บีบีซีรายงานว่า พล.ท.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข รองเสนาธิการทหารบก ปฏิเสธกระแสข่าวว่าการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. มีการวางแผนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 ตามที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่ม กปปส. เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ว่า ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า หากมีการเตรียมการล่วงหน้าจริงย่อมเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ยืนยันว่าไม่ได้ไล่ล่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคนในตระกูลชินวัตร และหากการปฏิรูปเดินหน้าไปถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่แล้วคนในตระกูลชินวัตรซึ่งเป็นประชาชนไทยย่อมกลับมาเล่นการเมืองได้ตามปกติ
พล.ท.ฉัตรเฉลิม กล่าวถึงกรณีทหารควบคุมตัวประชาชนนับร้อยคนที่ต่อต้านรัฐประหารว่า ทั้งหมดได้รับการดูแลอย่างดี และสถานที่ควบคุมตัวนั้นไม่ได้เลวร้าย แต่มีลักษณะเป็นเกสต์เฮาส์ ซึ่งได้เปิดสถานที่ให้กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนตรวจสอบแล้วและฉายออกทางโทรทัศน์อีกด้วย ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมตัวขึ้นศาลนั้น ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะขึ้นศาลพลเรือนหรือทหาร กองทัพจะไม่ตั้งข้อหาที่รุนแรง ดังนั้นโทษจะไม่หนักมากจนเกินไป ทั้งนี้ คสช.ยืนยันว่าจะคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนไทยภายหลังจากดำเนินการปฏิรูปประเทศสำเร็จ
"ต๊อด"โต้มะกัน-อ้างไทยสงบแล้ว
วันเดียวกัน พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมงานโฆษก คสช. กล่าวถึงนายสกอต มาร์เชล เจ้าหน้าที่การทูตระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เข้าชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทยต่อคณะอนุกรรม การฝ่ายกิจการต่างประเทศ ประจำสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ว่า เป็นความเห็นเพียงคนเดียวเท่านั้นที่พูดถึงท่าทีให้สหรัฐทบทวนระงับความร่วมมือต่างๆ ทันที รวมถึงการฝึกซ้อมในกรอบทวิภาคีระหว่างสหรัฐกับไทย หรือคอบร้า โกลด์ ซึ่งตนมองว่าผู้ที่พูดอาจรับข้อมูลประเทศไทยไม่เพียงพอ และให้ความเห็นว่าหากประเทศไทยยังไม่เรียบร้อยก็อาจให้ไปดูสถานที่ฝึกคอบร้าโกลด์ในสถานที่อื่น ทั้งนี้ ไทยมีความเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.
เมื่อถามว่า สหรัฐระงับความช่วยเหลืองานด้านความมั่นคงให้กับไทยไปแล้ว 4.7 ล้านดอลลาร์ หรือ 150 ล้านบาท พ.อ.วินธัยกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นมาตรการปกติและเป็นระเบียบปฏิบัติสำหรับประเทศที่มีการควบคุมอำนาจการปกครอง เชื่อว่าหลังทำความเข้าใจทุกอย่างจะดีขึ้น และเชื่อว่าต่อไปสหรัฐจะมีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงได้
อียู-สหรัฐไม่ทราบข้อมูลเพียงพอ
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ส่วนท่าทีของกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ที่อาจชะลอการเยือนไทยอย่างเป็นทางการนั้น ปกติก็มาเยือนไม่บ่อย ซึ่งมาตรการและการชะลอการลงนามข้อตกลงความร่วมมือในทุกมิติ อาจชะลอจนกว่าจะมีประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ในทั้ง 2 ส่วนนี้เป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ เราต้องทำความเข้าใจเรื่องของอียูใน 3 ลักษณะ 1.ข้อกังวล ซึ่งเป็นข้อกังวลพื้นฐานทั่วไป เช่น อยากให้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์โดยเร็ว 2.ไม่อยากให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ที่คิดเห็นทางการเมือง และ 3.อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งการคืนประชาธิปไตยที่สมบรูณ์นั้น ถือว่าตั้งแต่ คสช.เข้ามาเพื่อรักษาประชาธิปไตยให้มีความสมบรูณ์มากยิ่งขึ้น และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ถือเป็นมุมมองที่เหมือนกัน ซึ่งต่อไปจะเป็นการเลือกตั้ง ทั้งนี้ คสช.ได้กำหนดกรอบไว้เรียบร้อยแล้ว
"มีเพียงสหรัฐและกลุ่มอียูที่อาจยังรับทราบข้อมูลไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ปัจจุบันของไทย โดยเฉพาะความสงบเรียบร้อยที่ประชาชนพึงพอใจ ไม่มีความรุนแรงเกิด ขึ้นแล้ว ไม่มีความวุ่นวายในบ้านเมือง ส่วนเศรษฐกิจก็เดินต่อไปได้ ความเดือดร้อนของประชาชนได้รับความแก้ไข ส่วนการปฏิบัติของ คสช.ต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ไม่ใช่การดำเนินการอย่างผู้กระทำความผิด แต่ดำเนินการในลักษณะผู้เป็นมิตรต่อกัน พูดคุยกันด้วยเหตุผลรู้เรื่อง ยืนยันว่า คสช. ไม่เคยละเมิดสิทธิมนุษยชน และเราให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก" ทีมโฆษก คสช.กล่าว
ไม่ปิดกั้น-โต้ทหารบุกกองบก.สื่อ
ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วินธัยแถลงว่า เรื่องข้อกังวลของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยนั้น การตั้งคณะทำงานด้านสื่อหลายคณะเพื่อเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติ ให้การตอบกลับข่าวสารทันท่วงทีเพื่อให้ข้อเท็จจริงจากภาครัฐกระจายได้รวดเร็ว ยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสับสนเหมือนที่ผ่านมา ยืนยันไม่ใช่การปิดกั้นการรับทราบข้อเท็จจริงของประชาชน นอกจากข่าวที่เป็นเรื่องจินตนาการ หรือสร้างกระแสข่าวลือหวังแสวงผลประโยชน์โดยมิชอบจากสื่อ ถ้ามีกรณีแบบนี้อาจขอความร่วมมือ ยืนยันไม่ใช่มาตรการบังคับเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ซึ่งที่ผ่านมาต้องขอบคุณสื่อที่เข้าใจตรงกันในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับสังคม
เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปยังกองบรรณาธิการสื่อนั้นจริงหรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ตนยังไม่ได้รับข้อมูล ตามปกติเราจะใช้การสื่อสารแบบขอความร่วมมือ ไม่มีบุกไปที่กองบรรณาธิการ ซึ่งลักษณะของคนนำสารจะเป็นใครเราไม่ทราบ อาจเป็นบุคคลหรือเอกสารก็ได้ แต่วัตถุประสงค์เพื่อขอความร่วมมือกับสื่อ
ปัดติดตามควบคุมเนื้อหาเสนอข่าว
เมื่อถามว่าสื่อสามารถนำเสนอข่าวนายจักรภพ เพ็ญแข หรือนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ได้หรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ขึ้นอยู่ดุลพินิจของสื่อเอง เราไม่มีมาตรการในเชิงบังคับ โดยโฆษก คสช.ไม่ได้ให้น้ำหนักกับเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะถือว่าข้อมูลไม่ได้มีผล กระทบ เราให้ความสำคัญกับปัญหาภายในประเทศมากกว่า เพราะการเคลื่อนภายนอกประเทศเข้าข่ายกฎหมายความมั่นคงหลายมาตรา ซึ่งต่างประเทศเองคงไม่ยอมให้ใช้พื้นที่ทำเช่นนั้น เชื่อว่าไม่สนับสนุนอยู่แล้ว ซึ่งเราให้ข้อมูลข่าวสารกับสื่ออย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เฉพาะบุคคลใด
เมื่อถามว่าจะมีการพูดคุยกันหรือไม่ว่าจะควบคุมการนำเสนอข่าวของสื่อนานแค่ไหน พ.อ.วินธัย กล่าวว่า เราไม่ได้ควบคุมเนื้อหา เราจะให้สื่อใช้วิจารณญาณเอง และดูความเหมาะสม รวมถึงมองในภาพกว้าง อาทิ คดีความต่างๆ ส่วนที่ให้ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลติดตามข้อมูลข่าวสารของสื่อ จะเหมือนในอดีตที่มีการเฝ้าจับตาสื่อบางบุคคลหรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า เท่าที่ดูตามเอกสารและการประสานงานเบื้องต้นจะติดตามเพื่อให้ประสิทธิภาพการตอบกลับข่าวมีความรวดเร็ว คิดว่าน่าจะมองในมุมนี้มากกว่า ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการทำงานของสื่อมวลชน
ยันไม่มียกเลิก-ย้ายที่คอบร้าโกลด์
พ.อ.วินธัยกล่าวถึงการยกร่างธรรมนูญชั่วคราวว่า หัวหน้า คสช.จะเป็นผู้ชี้แจงในส่วนนี้ด้วยตนเอง ซึ่งภายในสัปดาห์นี้น่าจะมีรายละเอียดและความชัดเจนออกมา
พ.อ.วินธัยกล่าวถึงข่าวเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐที่รับผิดชอบในโครงการฝึกคอบร้าโกลด์ เดินทางมาถึงและพร้อมหารือกับกองทัพไทยแต่ยังไม่มีความชัดเจนจากทางการไทยว่า ยังไม่ได้รับข้อมูลรายละเอียด ซึ่งการฝึกร่วมผสมคอบร้าโกลด์ 2015 ไม่ได้ยกเลิกและไม่มีการย้ายพื้นที่ฝึก สำหรับการตรวจภูมิประเทศและการประชุมเพื่อวางแผนการฝึกจะเป็นไปตามกำหนดการเดิมคือวันที่ 25 ก.ค. ถึง 8 ส.ค. ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 1 ส่วนที่สหรัฐเตรียมระงับเงินช่วยเหลือด้านความมั่นคงของไทยนั้นไม่เกี่ยวกับโครงการฝึกคอบร้าโกลด์
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ส่วนการติดตามตัวบุคคลที่ไม่มารายงานตัวนั้นยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่วนบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในไทยก็เคยมีการติดต่อเข้ามา
รายงานข่าวจากคสช. แจ้งว่า จากกรณีสหรัฐจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทยอยู่ในบัญชีรายชื่ออยู่ในกลุ่มที่ 3 นั้น พล.อ.ประยุทธ์ มีความกังวลและห่วงใยว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งขณะนี้ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาซึ่งคงต้องเร่งชี้แจงดำเนินการโดยเร็ว จึงสั่งการฝ่ายกฎหมายเข้าไปดูข้อกฎหมายเพื่อเร่งรัดการดำเนินคดีให้เร็วยิ่งขึ้น
พ.อ.วินธัย กล่าวถึงข่าว คสช.สั่งให้ตรวจสอบรายการเสียภาษีย้อนหลังผู้มีรถยนต์หรูและบ้านพักที่มีราคาแพงเพื่อเรียกเก็บภาษีเข้ารัฐเพิ่มว่า ไม่เป็นความจริง หากจะมีการตรวจสอบคงมีเป้าหมายเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวพันกับเรื่องทุจริต ซึ่งเป็นไปตามคดีปกติ เป็นรายบุคคลเท่านั้น ส่วนการจัดเก็บภาษีเข้ารัฐที่ไม่เป็นไปตามเป้านั้น คสช.มอบให้กระทรวงการคลังหามาตรการเสริมมารองรับ ภายใต้หลักที่เป็นธรรม ไม่ละเมิดสิทธิ์ ไม่ให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนจนเกินสมควร
เปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์คสช.
พล.ต.ต.ทรงพล วัธนะชัย รองผบก.น.1 และทีมโฆษกคสช. กล่าวถึงมาตรการดำเนินการกับกลุ่มที่ยังเคลื่อนไหวต่อต้านคสช. ทั้งการตั้งองค์กรเสรีไทยฯและผู้ที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศว่า การติดตามตัวบุคคลที่ไม่มารายงานตัวและเคลื่อนไหวในต่างประเทศนั้น ต้องดูกรอบกฎหมายด้วยว่าประเทศนั้นๆ มีข้อตกลงเรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ หากมีก็ทำตามขั้น นอกจากนี้ตำรวจยังประสานกับตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพล เพื่อขอให้ช่วยติดตามความเคลื่อนไหวในอีกทางหนึ่ง ผู้ที่เคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.นั้น เจ้าหน้าที่ได้ทำความเข้าใจและใช้วิธีละมุนละม่อม พูดคุยทำความเข้าใจว่าแสดงออกได้ แต่ไม่ใช่การสื่อสารในเชิงแสดงสัญลักษณ์ ต่อต้านทั้งในพื้นที่สาธารณะและสื่อโซเชี่ยลมีเดีย ถ้าผู้ที่จงใจกระทำผิดก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการกฎหมาย
นายสมพาศ นิลพันธ์ ผู้ตรวจราชการสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ แถลงเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของคสช. โดยใช้ 4 ช่องทาง คือสายด่วน 1111 กด 2 โทร.ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เว็บไซต์ www.1111.go.th, ตู้ปณ.1111 ปณ.ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร 10302 (ส่งฟรีไม่ต้องติดแสตมป์) และจุดบริการประชาชน 1111 ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนแจ้งเบาะแส สิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งศูนย์ 1111 จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปดูแลและแจ้งให้ทราบว่าเรื่องที่ร้องเรียนดำเนินการถึงไหน เรื่องใดจัดการได้อย่างเร่งด่วนก็จะจัดการเลย ส่วนเรื่องใดที่มีกฎหมาย ระเบียบ ก็จะเข้ากระบวนการตามกลไล เรื่องร้องทุกข์ทุกเรื่องที่ส่งเข้ามาทุกช่องทาง ยืนยันว่าหัวหน้าคสช.จะได้รับทราบทุกเรื่อง
บัวแก้วโวยรอยเตอร์ส-การ์เดียน
นายทรงศัก สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า กรณีสหรัฐประกาศปรับลดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทยลงไปอยู่ในระดับต่ำสุด หรือระดับเทียร์ 3 และจะระงับมาตรการช่วยเหลือนั้น เบื้องต้นมีผลกระทบไม่มาก เพราะไทยไม่ได้เป็นฝ่ายรับความช่วยเหลือฝ่ายเดียว ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศรู้สึกผิดหวังและไม่เห็นด้วยที่จัดอันดับให้ไทยอยู่ในระดับเทียร์ 3 เพราะไทยปฏิบัติตามเงื่อนไขขั้นต่ำของกฎหมายแรงงานสหรัฐได้ถึง 3 ข้อจาก 4 ข้อ ทั้งการตัดสินคดี การลงโทษผู้กระทำความผิด และความพยายามอย่างต่อเนื่องของภาครัฐในการแก้ปัญหาการค้าแรงงาน ถือเป็นการตอบโจทย์มาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายสหรัฐอยู่แล้ว
นายทรงศักกล่าวว่า นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ทำหนังสือถึงนายจอห์น แคร์รี รมว.ต่างประเทศสหรัฐแล้วว่า การปรับลดดังกล่าวไม่สอดคล้อง กับข้อเท็จจริง และช่วง 2-3 วัน สถานทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.จะขอเข้าพบและส่งรายงานข้อเท็จจริง ทั้งหมดจากฝ่ายไทย ให้แก่กลุ่ม ส.ส.และ ส.ว.ของสหรัฐที่เป็นมิตรกับไทย หรือเฟรนด์ ออฟ ไทยแลนด์ ประมาณ 22 คน รวมทั้งคณะอนุกรรมาธิการกิจการเอเชียและแปซิฟิก ในสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาของสหรัฐ เพื่อชี้ให้เห็นว่ารายงานของสหรัฐไม่สะท้อนความจริง พร้อมยืนยันว่าไม่ว่าสหรัฐจะจัดอันดับการค้ามนุษย์หรือไม่ ไทยก็ให้ความสำคัญดำเนินการอยู่แล้ว
"ไม่เข้าใจว่าสื่ออย่างเดอะ การ์เดียน หรือรอยเตอร์ส จะโจมตีไทยเพื่ออะไร ทั้งที่ในรายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐจัดอันดับให้ไทย เป็น 1 ใน 9 ประเทศที่อยู่ในอันดับ 1 ของประเทศที่มีความก้าวหน้าสูงสุดในการจัดการปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แต่เรื่องดีๆ อย่างนี้ เดอะ การ์เดียน หรือรอยเตอร์ส ไม่เคยพูดถึง ดังนั้น ภาครัฐจะร่วมกับเอกชนเชิญสื่อต่างประเทศมาดูขบวนการผลิตของไทยทั้งระบบ เพื่อยืนยันว่าไทยไม่มีแรงงานเถื่อนหรือแรงงานผิดกฏหมาย" นายทรงศักกล่าว
"ไพบูลย์"เผยไม่เรียกรายงานตัวแล้ว
ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. เป็นประธานมอบนโยบายตามคำสั่ง คสช.ที่ 69/2557 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต ประพฤติมิชอบ
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า เรื่องการปราบปรามทุจริต มีระเบียบกฎหมายที่เพียงพออยู่แล้ว หากมีการดำเนินการอย่างจริงจัง อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดูแลเฉพาะคดีอาญา ไม่สามารถตรวจสอบหน่วยงานได้ แต่จะทำงานได้ต่อเมื่อมีการร้องเรียน จึงควรเพิ่มอำนาจ ป.ป.ท.ตรวจสอบองค์กรภาครัฐได้ทั้งหมด เพื่อดูแลอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่การก้าวก่าย เพราะถ้าไม่ได้ทำความผิดก็ไม่ต้องกลัวการตรวจสอบ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการทุจริตภาครัฐมีมากกว่า 8,000 คดี ดำเนินการเสร็จกว่า 3,000 คดี สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือความผิดทางวินัย ซึ่งผู้บังคับหน่วยงานทำได้เอง ซึ่งรวดเร็วกว่าการดำเนินคดีอาญา
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ขณะนี้คงไม่เรียกบุคคลใดมารายงานตัวต่อ คสช.อีกแล้ว แต่หากเกิดปัญหาขึ้นอีก คสช.ยังมีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัวได้อยู่ แต่ส่วนตัวคิดว่าคงไม่มีแล้ว ส่วนจะยกเลิกการให้บุคคลที่กระทำผิดขึ้นศาลทหารหรือไม่นั้น ตามมาตรา 7 วรรคสาม ของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก เรื่องการให้ผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยของประเทศขึ้นศาลทหารยังมีผลบังคับใช้อยู่ ก็ยังจำเป็นต้องขึ้นศาลทหารอยู่เช่นเดิม จนกว่าจะยกเลิกเนื้อหา ดังกล่าว
บิ๊กสหพัฒน์ให้ 9.9-คะแนนคสช.
วันเดียวกัน นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า ขอให้คะแนนการบริหารงานภาพรวมประเทศของคสช.ในรอบ 1 เดือน 9.9 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน เป็นผลมาจากนโยบายต่างๆ ที่ออกมาอย่างราบรื่น แต่ที่ยังไม่ให้คะแนนเต็มเพราะมีบางเรื่องควรเร่งให้เร็วกว่านี้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้น ได้แก่ การส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตร ที่จะทำให้เงินในระบบเศรษฐกิจหมุนสู่ระดับประชาชนรากหญ้าได้เร็วกว่าในปัจจุบัน ส่วนที่สหรัฐลดสถานะลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดจากสถาน การณ์ค้ามนุษย์ และอียู ไม่เห็นด้วยต่อการทำรัฐประหารในไทย ซึ่งจะส่งผลต่อการค้าการระหว่างสหรัฐและยุโรปนั้น มองว่ากระทบไม่มากนัก แค่ลดการทำการค้าและการลงทุน แต่ไม่ได้หยุดทั้งหมด
"ยังมีต่างชาติอีกหลายประเทศทั่วโลกเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยพื้นฐานแข็งแกร่งและยังมั่นใจกับการทำการค้าระหว่างไทย ไม่ว่าจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และทวีปแอฟริกา ทั้งสหรัฐและยุโรปบีบเราไม่ได้ หากเขาไม่ซื้อสินค้าเราก็ไม่ขาย เพราะยังมีประเทศอื่นที่ต้องการสินค้าไทย" นายบุณยสิทธิ์กล่าว
ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ กรุงเทพฯ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคสช. กล่าวถึงการนัดเชิญผู้บริหารสื่อมวลชนร่วมหารือกับคสช. ในวันที่ 27 มิ.ย.ว่า หัวหน้าคสช.มอบให้ตนเป็นตัวแทนเพื่อขอบคุณและทำความเข้าใจ เมื่อสื่อให้ เกียรติคสช. ทางคสช.ก็ให้เกียรติสื่อเช่นกัน เพราะมีความเป็นมิตรต่อกัน พร้อมทั้งเปิดให้สื่อซักถามปัญหาต่างๆ รวมถึงจะชี้แจงการทำงานของคสช. ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งการทำงานของคสช. 1 เดือนนี้รู้สึกพอใจและจะทำให้ดีที่สุดต่อไป
กกต.ยกคำร้อง"ปู"ยื่นแก้ไขรธน.
ที่สำนักงานกกต. นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. แถลงภายหลังการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุมมีมติยุติการยื่นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี ขณะเป็นรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวจากกรณีปกปิดการแสดงบัญชีทรัพ์สินของภรรยาถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 5 ที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากเมื่อมีการยุบสภาและมีพ.ร.ฎ.ยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.56 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายวิเชษฐ์สิ้นสุดลง จึงไม่มีเหตุให้กกต.ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก และความผิดดังกล่าวไม่มีเรื่องการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพียงแค่ตำแหน่งรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเท่านั้น
นายภุชงค์กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังมีมติยกคำร้องกรณีนายเศวต ทินกูล อดีตส.ส.ร.ปี 2550 และพ.ต.ท.สุภวัฒน์ สุปิยะพานิช ขอให้ตรวจสอบและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯขณะนั้น พร้อมส.ส.และส.ว.ที่เข้าชื่อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่มาส.ว. เข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ เข้าข่ายเป็นบุคคลต้องห้ามลงสมัครส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 (6) เป็นเหตุให้สมาชิกสภาพการเป็นส.ส.และส.ว.สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ โดยที่ประชุมเห็นว่าการกระทำของนายกฯและสมาชิกรัฐสภา เป็น การปฏิบัติหน้าที่ไม่ใช่การทุจริตจนต้องนำไปสู่การถอดถอน
"หญิงเป็ด"รอด-ไม่ขาดคุณสมบัติ
นายภุชงค์กล่าวว่า ส่วนที่นายถาวร เสนเนียม อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องขอให้กกต.ตรวจสอบน.ส.ยิ่งลักษณ์ และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กรณีใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อจูงใจ สัญญาว่าจะให้ ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตนหรือละเว้นการลงคะแนนให้กับพรรคใดพรรคหนึ่ง จากการออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ(ศรส.) และการออกประกาศของร.ต.อ.เฉลิม ในฐานะผอ. ศรส. โดยกกต.มีมติไม่รับ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายขณะนั้น ไม่ถือว่าผิดกฎหมายเลือกตั้ง
เลขาธิการกกต.กล่าวว่า นอกจากนี้กกต.ยังยกคำร้องคัดค้านคุณหญิงจารุวรรณ เมณ ฑกา อดีตส.ว.เป็นบุคคลที่ลักษณะต้อง ห้ามลงสมัครส.ว. แม้จะถูกป.ป.ช.ชี้มูลตามกฎหมายอาญามาตรา 157 แต่คดียังไม่สิ้นสุด จึงไม่ถือว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามในการสมัคร
ไล่บี้"ยิ่งลักษณ์"ออกทีวีจำข้าว
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกต. มีมติรับคำร้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ออกทีวีเฉพาะกิจโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งพูดภายหลังประกาศยุบสภาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน ส่วนคำร้องคัดค้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีลงพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือโดยใช้ทรัพยากรของรัฐ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาการเรียกเอกสารจากหน่วยงานราชการเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าทำงานที่สำนักนายกฯได้นั้น ขณะนี้กกต.ได้เอกสารครบแล้ว เหลือแค่สอบพยานในพื้นที่ต่างจังหวัดจำนวนหนึ่งเท่านั้น
นายสมชัยกล่าวต่อว่านอกจากนี้กกต.ยังมีมติรับเรื่องที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศ ไทย (ช่อง11) นำนักการเมือง 19 คน และข้าราชการประจำ 2 คน ไปออกรายการช่วงที่มีพ.ร.ฎ.ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ไว้พิจารณาแล้ว ทั้งนี้ กกต.จะเร่งรัดทั้ง 3 เรื่องให้เสร็จโดยเร็ว คาดว่าน่าจะลงมติวินิจฉัยได้ภายในเดือนส.ค.นี้
จัดงานขอบคุณประเทศไทยคึก
เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน กองทัพบกร่วมกับภาครัฐและเอกชนจัดงาน "ปลูกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดิน ขอบคุณประเทศไทย" เพื่อให้คนไทยเสียสละเพื่อประเทศและช่วยลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการแตกแยกทางความคิด มีพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. เป็นประธานในพิธี กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการภาพถ่าย ร่วมบริจาคโต๊ะเก้าอี้แก่โรงเรียนทุรกันดาร ฉายภาพยนตร์สารคดีรู้คุณแผ่นดิน การแสดงดนตรีจากโรงเรียนต่างๆ นอกจากนี้ ยังแจกแบบเรียนสังคมศึกษา วิชาหน้าที่พลเมือง ฉบับจำลองจากการพิมพ์ครั้งที่ 14 เมื่อพ.ศ.2519 ให้แก่ผู้ร่วมงานทุกคนอีกด้วย ซึ่งกิจกรรมได้รับการตอบรับอย่างดี มีนักเรียน ชาวนา ข้าราชการ ภาคธุรกิจ ดารานักร้องชื่อดัง เข้าร่วมงานด้วย
พล.อ.อุดมเดชกล่าวตอนหนึ่งว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 3 และจะพยายามปกป้องแผ่นดินไทยให้สงบสุข ทำให้ประเทศมีความสงบตลอดไป ในปีนี้และปีที่ผ่านๆ มา เรามีปัญหาว่าคนในชาติไม่เข้าใจกัน แต่ตอนนี้ถึงเวลาหยุดสิ่งต่างๆ ที่ทำให้คนในชาติไม่เข้าใจและไม่สามัคคีกันได้แล้ว ตนมั่นใจว่าประ ชาชนจะมีความสุขและจะร่วมใจกันแสดง ออกว่าต้องปกป้องแผ่นดิน
ทูตเกาหลีใต้เข้าพบ"ประจิน"
ที่ห้องรับรองพิเศษ 1 บก.ทอ. พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ในฐานะรองหัวหน้า คสช. ให้การต้อนรับนายจอน แจมัน เอกอัคร ราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีใต้ประจำประเทศ ไทย และคณะ ในโอกาสเข้าหารือแนวทางการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและเกาหลีใต้ โดยนายจอน แจมันกล่าวว่า หลังจาก คสช.เข้ามาบริหารจัดการโดยใช้นโยบายคืนความสุขให้กับประชาชน ทำให้บรรยากาศการเมืองคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยได้รายงานให้รัฐบาลเกาหลีใต้ทราบตลอด และรัฐบาลเกาหลีใต้ ก็เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นกับไทยทั้งก่อนและหลังการเข้ามาของ คสช.
ทูตเกาหลีใต้ระบุด้วยว่า จะส่งเสริมให้นักลงทุนชาวเกาหลีเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น รวมทั้งชักชวนให้นักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้กลับมาท่องเที่ยวในไทยมากเหมือนเดิม หลังจากนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ลดลงไปเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง และยืนยันว่าเกาหลีใต้จะเป็นมิตรที่ดีกับไทยตลอดไป
ด้านพล.อ.อ.ประจินกล่าวขอบคุณในความเข้าใจต่อสถานการณ์ของไทยและการเข้ามาของ คสช. พร้อมระบุว่า แม้ปัจจุบันไทยจะอยู่ในช่วงเวลาพิเศษทางการบริหาร แต่การใช้ชีวิตประจำวันทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศยังดำเนินตามปกติ มีความปลอดภัย สะดวกสบาย จึงขอให้มั่นใจในประเทศไทยและเชื่อใจใน คสช.ที่จะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในเวลาไม่นาน
สมยศประชุมติดตามจารุพงศ์
ที่บช.น. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.ศ. ช่วยราชการ บช.น. พร้อมเจ้าหน้าที่ทหาร ประชุมหารือในข้อกฎหมายกรณีนายจารุพงศ์ และนายจักรภพ เพ็ญแข แถลงการณ์เรื่องการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง
พล.ต.อ.สมยศเปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าจะเฝ้าดูพฤติกรรมหรือการกระทำทั้ง 2 คนไปอีกระยะหนึ่ง โดยให้ฝ่ายทหารและตำรวจหารือตัดสินใจก่อนนำมาสรุปร่วม กันในที่ประชุมอีกครั้งหนึ่งก่อนดำเนินการขั้นต่อไป เพราะคนไทยและต่างชาติเฝ้าดูอยู่ จึงต้องรอบคอบ ไม่ได้กลั่นแกล้งและอาฆาตมาดร้าย สิ่งที่ทหารและตำรวจทำจะต้องมีความมั่นใจ ซึ่งขณะนี้ถือว่าเข้าข่ายทำผิดกฎหมายแล้ว รวมถึงฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.และอาจมีข้อหาอื่นด้วย แต่เพื่อไม่ให้เกิดประเด็นโต้แย้งทางกฎหมาย จึงต้องหารือให้รอบคอบ ส่วนการติดตามจับกุมผู้ที่ออกหมายจับ ทั้ง 2 คนก็มีข้อหาอยู่แล้ว เราดำเนินการตามขั้นตอน จัดชุดติดตามเร่งรัด ตนออกคำสั่งไป ทุกกองบัญชาการเร่งสืบสวนติดตามจับกุม รวมทั้งพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีดำเนินการตามขั้นตอนด้านการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ
เมื่อถามว่าจะปิดโซเชี่ยลมีเดียที่ใช้สื่อสารกับมวลชนหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวง ไอซีที พิจารณาว่าเว็บไซต์ใดไม่ถูกต้องหรือผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการ
คสช.ออกคำสั่งตั้งซูเปอร์บอร์ด
เมื่อเวลา 20.45 น. คสช.มีคำสั่งฉบับที่ 75/2557 เรื่องการตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือซูเปอร์บอร์ด เพื่อให้การกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจทั้งระบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นเอกภาพ แก้ไขปัญหาต่างๆ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐและประชาชน เป็นสำคัญ คสช.จึงมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ มีกรรมการ รวม 17 คน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน รองหัวหน้า คสช.และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นรองประธานกรรมการ
กรรมการประกอบด้วย รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจคสช. ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล นายบัณฑูร ล่ำซำ นายบรรยง พงษ์พานิช นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล นายรพี สุจริตกุล นายวิรไท สันติประภพ และผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการ โดยให้เสนอแนะต่อ คสช. บูรณาการรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจอำนวยความสะดวก
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารทหารไทย เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. รับทราบการลาออกจากการเป็นกรรมการของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันเดียวกันนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ได้เข้ารับตำแหน่งกรรมการธนาคารตั้งแต่เดือนต.ค. 2553
นักวิชาการชงปฏิรูปรื้อศาลรธน.
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ห้องแกรนด์ฮอลล์ 2 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถ.วิภาวดีฯ สถาบัน พระปกเกล้า จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ "นำเสนอประเด็นการอภิปราย การปฏิรูปประเทศไทย : ดุลแห่งอำนาจ" โดยมี นายลิขิต ธีรเวคิน อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร
นายลิขิตกล่าวว่า การปฏิรูปประเทศมีตัวแปรสำคัญคือตัวคน และตัวระบบการเมือง ที่ต้องตอบสนองความต้องการทางการเมืองที่เป็นรูปธรรม อาทิ การทำให้ประชาชนได้รับการตอบสนองปัจจัยสี่ มีการบังคับใช้ทางกฎหมายอย่างเท่าเทียม รวมถึงมีเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรมทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้น ถ้าจะออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับจึงต้องทำประชามติในทุกมาตรา หากไม่ผ่านการลงประชามติ รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ไม่มีความเป็นธรรม ไม่ว่าเนื้อหาจะดีเพียงใดก็ตาม
นายณวัฒน์ ศรีปัดถา และน.ส.ชมพูนุท ตั้งถาวร นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า นำเสนอข้อมูลที่รวบรวมจากบทความวิชาการ เวทีเสวนา ตลอดจนสื่อต่างๆ แต่ไม่ใช่ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า ในประเด็นการจัดดุลอำนาจของสถาบันการเมืองที่เกี่ยวข้องกับระบบรัฐสภาไทย ขอบเขตอำนาจ หน้าที่ขององค์กรนั้นๆ นำมาวิเคราะห์ผลดีผลเสียเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอการปฏิรูป มีใจความตอนหนึ่งว่า ดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่มีปัญหาคือรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้เลือกนายกฯ โดยเลือกจากส.ส. ทำให้ฝ่ายบริหารคือนายกฯ และเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาเป็นพวกเดียวกัน ในทางปฏิบัติไม่สามารถตรวจสอบและถ่วงดุลได้อย่างแท้จริง จึงมีการเสนอให้ลดทอนความสัมพันธ์ระหว่างนายกฯ และรัฐสภา โดยให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง
นักวิชาการระบุว่า ข้อดีคือนายกฯ และเสียงส่วนใหญ่ในสภาอาจไม่ใช่พวกเดียวกันและได้ฝ่ายบริหารที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ข้อเสียจะทำให้ระบบรัฐสภาซึ่งประมุขของรัฐกับประมุขของฝ่ายบริหารเป็นคนละคน การเลือกตั้งนายกฯ ที่เป็นประมุขฝ่ายบริหารโดยตรงอาจเกิดการนำฐานเสียงประชาชนไปตั้งคำถามกับความชอบธรรมประมุขของรัฐได้ อีกทั้งหากนายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง นายกฯ ย่อมอ้างได้ว่าตนเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้รัฐสภาหมดความชอบธรรมที่จะตรวจสอบฝ่ายบริหารทันที
นักวิชาการกล่าวว่า ส่วนดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการ โดยเน้นที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมามักถูกมองว่าใช้อำนาจกระทบฝ่ายบริหาร การใช้อำนาจวินิจฉัยในหลายคดีของศาลรัฐธรรมนูญถูกมองว่าก้าวล่วงการใช้อำนาจในส่วนที่เป็นของรัฐสภา จึงมีข้อเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญและกลับไปใช้รูปแบบคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยมาจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งตุลาการที่มาจากศาลปกครองและศาลฎีกา แต่มีทั้งข้อดีและเสีย ข้อเสนอแก้ปัญหาที่ตรงจุดคือกำหนดกรอบให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่าเรื่องใดเป็นเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งให้องค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ ส่วนเรื่องใดเป็นเรื่องการเมืองก็ให้องค์กรการเมืองเป็นผู้ตรวจสอบและถ่วงดุลกันเอง
โพลนักเศรษฐศาสตร์ชี้คสช.
วันที่ 26 มิ.ย. ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 27 แห่ง จำนวน 60 คน เรื่อง "ครบ 1 เดือน คสช. : ผลงานในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์" เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 18-25 มิ.ย. พบว่านักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 62.6 เห็นว่าการบริหารประเทศภายใต้ คสช. ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาที่มีนโยบายมาตรการต่างๆ ออกมามากนั้น สามารถแก้ปัญหาได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น มีเพียงร้อยละ 18.5 ที่เห็นว่าสามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาว ร้อยละ 10.6 มองว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ผลและไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้
เมื่อพิจารณาการดำเนินงานแต่ละเรื่องพบว่า เรื่องที่ดำเนินการอยู่และมีแนวโน้มจะแก้ปัญหาได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวคือ การจัดระเบียบรัฐวิสาหกิจ และการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ส่วนเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่าไม่ได้ผลหรือได้ผลแค่ในระยะสั้นเท่านั้นคือ การปราบปรามการพนัน บ่อน และหวย ส่วนการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และสลายสีเสื้อนั้น ร้อยละ 53.3 มองว่าสามารถแก้ปัญหาได้ในระยะสั้น และมีถึงร้อยละ 20.0 ที่มองว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ผล เช่นเดียวกับกิจกรรมคืนความสุขให้กับคนไทยที่ร้อยละ 78.3 เห็นว่าได้ผลเพียงในระยะสั้น
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังเห็นว่าการดำเนินงานของ คสช. ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมายังขาดยุทธศาสตร์ ขาดกลยุทธ์ ขาดความเป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และขาดที่ปรึกษาที่เยี่ยมยอด จึงอาจทำให้ปัญหาที่กำลังแก้อยู่จะกลับมาอีกในอนาคต ดังนั้น การทำงานในช่วงแผนปฏิรูปประเทศระยะที่ 2 คสช.จึงควรวางยุทธศาสตร์การปฏิรูปที่ชัดเจน มุ่งแก้ทุกปัญหาอย่างยั่งยืนเพื่อให้การปฏิรูปสำเร็จตามที่ประชาชนคาดหวัง
เมื่อถามว่า จีดีพีในปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3 ได้หรือไม่ พบว่าร้อยละ 51.7 คิดว่าไม่ได้ มีเพียงร้อยละ 25.0 ที่คิดว่าได้
วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:05 น. ข่าวสดออนไลน์
เสนอปฏิรูป แก้จุดอ่อนรัฐธรรมนูญ 50
รายงานพิเศษ
หมายเหตุ : นายณวัฒน์ ศรีปัดถา และ น.ส.ชมพูนุท ตั้งถาวร นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า นำเสนอประเด็นดุลอำนาจของสถาบันการเมืองประกอบงานสัมมนาสู่ทศวรรษที่ 9 หัวข้อ "การปฏิรูปประเทศไทย : ดุลแห่งอำนาจ" โดยรวบรวมจากบทความวิชาการ เวทีเสวนา เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป มีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้
ดุลอำนาจระหว่างองค์กร
ดุลอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร จากความเป็นมาและสภาพปัญหาที่มีปัญหา รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ห้าม ส.ส.เป็นรัฐมนตรี เท่ากับถ้าหาก ส.ส.ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีก็จะยังดำรงตำแหน่ง ส.ส.ได้
จึงมีข้อเสนอว่าเมื่อส.ส.ได้รับการแต่งเป็นรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งส.ส. ซึ่งจะมีข้อดีในแง่ทำให้ไม่เกิดผลประโยชน์ขัดกันและสร้างความมีเสถียรภาพให้รัฐบาล
แต่ข้อเสียคืออาจทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจต่อรองมาก เนื่องจากถ้านายกฯ ปลดรัฐมนตรีออกแล้ว รัฐมนตรีจะไม่สามารถกลับไปดำรงตำแหน่ง ส.ส.ได้
รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้เลือกนายกฯ โดยต้องเลือกจากผู้ที่เป็นส.ส. ทำให้ฝ่ายบริหารคือนายกฯ และเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาเป็นพวกเดียวกัน ไม่สามารถตรวจสอบและถ่วงดุลกันได้อย่างแท้จริงในทางปฏิบัติ
โดยมีการเสนอว่าให้ลดทอนความสัมพันธ์ระหว่างนายกฯ และรัฐสภาที่กำหนดให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง
ข้อดีคือนายกฯ และเสียงส่วนใหญ่ในสภาอาจไม่ใช่พวกเดียวกันและทำให้ได้ฝ่ายบริหารที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง
ส่วนข้อเสียจะทำให้ระบบรัฐสภาซึ่งประมุขของรัฐกับประมุขของฝ่ายบริหารเป็นคนละคน การเลือกตั้งนายกฯ ที่เป็นประมุขฝ่ายบริหารโดยตรงอาจทำให้เกิดการนำฐานเสียงประชาชนไปตั้งคำถามกับความชอบธรรมประมุขของรัฐได้
อีกทั้งหากนายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงนั้น นายกฯ ย่อมอ้างได้ว่าตนเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง อาจทำให้รัฐสภาหมดความชอบธรรมที่จะตรวจสอบฝ่ายบริหารทันที
รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 165 กำหนดให้เฉพาะนายกฯ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ที่สามารถตัดสินใจว่าจะนำเรื่องใด ประเด็นใดไปลงประชามติ
เมื่อเป็นเช่นนี้ หากเรื่องใดที่เป็นประเด็นโต้แย้งที่ประชาชนอาจไม่เห็นชอบด้วย รัฐบาลก็อาจเลี่ยงไม่นำประเด็นนั้นไปขอประชามติ แต่จะขอความเห็นชอบจากรัฐสภาซึ่งตนได้รับความไว้วางใจให้บริหารราชการแผ่นดินแทน
จึงมีข้อเสนอว่าควรกำหนดให้ ส.ส.จำนวน 1 ใน 10 ของ ส.ส.ทั้งหมดที่มีอยู่สามารถนำประเด็นปัญหาไปขอลงประชามติได้ โดยกำหนดเป็นโควตา จำกัดจำนวนครั้งในแต่ละปี
ข้อดีคือเป็นทางออกให้ ส.ส.เสียงส่วนน้อย (ฝ่ายค้าน) ที่ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ ส.ส.เสียงส่วนใหญ่จะกระทำนั้นเป็น ไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่ จึงสามารถขอ ความเห็นชอบจากประชาชนได้โดยไม่ต้องมีการเรียกร้องนอกระบบ
ส่วนข้อเสียการจัดให้มีการลงประชามติในแต่ละครั้งอาจใช้งบประมาณค่อนข้างสูง (หลายประเทศกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจขอนำประเด็นใดประเด็นหนึ่ง โดยเฉพาะการออกกฎหมายไปลงประชามติได้)
ดุลอำนาจระหว่างรัฐสภา
และองค์กรตุลาการ
เน้นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญมักถูกมองว่าใช้อำนาจกระทบหรือก้าวล่วงอำนาจของรัฐสภา
รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้อำนาจการให้ความเห็นชอบแก่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภาแต่เพียงองค์กรเดียว และแม้จะกำหนดข้อห้ามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าองค์กรใดจะเป็นผู้มีอำนาจตรวจสอบ อีกทั้งยังให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้น้อย
ทำให้รัฐสภาถูกมองว่าเป็นผู้ผูกขาดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพียงองค์กรเดียวโดยไม่มีผู้ตรวจสอบ จะตรวจสอบได้ก็แต่การอภิปรายในสภาเท่านั้น ซึ่งเป็นการยากที่เสียงส่วนใหญ่จะกล่าวว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นขัดรัฐธรรมนูญ
จึงมีข้อเสนอว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องผ่านการลงประชามติก่อนทุกครั้งจึงจะมีผลบังคับใช้ ข้อดี เป็น การเพิ่มการมีส่วนร่วมให้แก่ประชาชนมากขึ้น อย่างน้อยทำให้รัฐสภาไม่ใช่องค์กรเดียวที่ผูกขาดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
แต่ข้อเสียคือ การให้ลงประชามตินั้นประชาชนแสดงความต้องการได้เฉพาะ "เห็นด้วย" แต่การ "ไม่เห็นด้วย" นั้นอาจเป็นได้ทั้ง ไม่ต้องการ หรือต้องการแก้ไขเป็นอย่างอื่น ซึ่งประชามติไม่สามารถให้คำตอบในส่วนนี้ได้ อีกทั้งอาจต้องใช้เวลานานเนื่องจากต้องทำความเข้าใจกับประชาชน
ส่วนข้อเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญและกลับไปใช้รูปแบบคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยมาจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งตุลาการที่มาจากศาลปกครองและศาลฎีกานั้น
ข้อดี คือตัดปัญหาว่าองค์กรตุลาการก้าวล่วงการใช้อำนาจของรัฐสภา แต่ข้อเสีย คือหากเปลี่ยนรูปแบบจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้สร้างหลักประกันว่าคณะตุลาการฯจะไม่ตีความขยายอำนาจตนเอง
การแก้ปัญหาที่ตรงจุดจึงควรเป็นการกำหนดขอบอำนาจหน้าที่ขององค์กรที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
หรืออีกข้อเสนอหนึ่งคือต้องกำหนดกรอบให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่าเรื่องใดเป็นเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย ที่ให้องค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ ส่วนเรื่องใดเป็นเรื่องการเมืองก็ให้องค์กรการเมืองเป็นผู้ตรวจสอบและถ่วงดุลกันเอง
ซึ่งข้อดี เป็นการแก้ปัญหาที่เป็นต้นเหตุ คือเรื่องการใช้อำนาจและขอบเขตอำนาจ อีกทั้งทำให้ขอบเขตและองค์กรมีความแน่นอนมากยิ่งขึ้น ขณะที่ข้อเสียการกำหนดกรอบ ดังกล่าวว่าเรื่องใดเป็นความชอบด้วยกฎหมาย เรื่องใดเป็นเรื่องทางการเมืองทำได้ยากในทางปฏิบัติ
อีกสภาพปัญหาหนึ่งของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดเรื่องการทำสนธิสัญญา ที่มีเกี่ยวกับ 1.เปลี่ยนอาณาเขตไทย หรือพื้นที่นอกอาณาเขตที่ไทยมีอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนด
2.ต้องออกพ.ร.บ.เพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา 3.ผล กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมอย่างกว้างขวาง 4.มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ
เช่น ต้องขอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาก่อน ทำให้ต้องเสียเปรียบในการเจรจากับคู่เจรจา อีกทั้งการทำความตกลงระหว่างประเทศเป็นเรื่องการเมือง การที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีอำนาจชี้ว่าสนธิสัญญาใดเข้าข่ายต้องขอต่อรัฐสภาหรือไม่ อาจเป็นการให้องค์กรตุลาการเข้ามายุ่งเกี่ยวการเมือง
ข้อเสนอคือให้ความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนอาณาเขตไทยฯ การออกพ.ร.บ.ให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา และมีบทเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเท่านั้น
และตัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ (ลักษณะรัฐธรรมนูญ 2540) ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ไม่ต้องขอกรอบการเจรจา
ข้อดี คือลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญทำให้องค์กรตุลาการไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ซึ่งควรจะเป็นการตรวจสอบการถ่วงดุลกันระหว่างรัฐสภาและฝ่ายบริหาร และยังทำให้ไม่เสียเปรียบในการเจรจาระหว่างประเทศ เพราะคู่เจรจาไม่รู้ขอบเขตในการต่อรองจของไทย
ข้อเสีย คือการตัดข้อกำหนดที่ให้เปิดเผยข้อมูลให้แก่ประชาชน ทำให้คณะรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลแก่ประชาชนก็ได้ ทำให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอธิปไตยไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามีการทำสนธิสัญญาอะไรที่มีผลกระทบต่อตนหรือไม่ (รัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์ ตัดอำนาจศาลเรื่องการทำความตกลงระหว่างประเทศไว้ชัดเจนเพราะถือเป็นเรื่องการเมือง)
ดุลอำนาจภายในรัฐสภา
รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจค่อนข้างมาก ส.ว.สามารถให้ความเห็นชอบคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ทำให้ถูกมองว่าอำนาจไม่สอดคล้องกับที่มา ซึ่งมี ส.ว.ส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา ขาดจุดยึดโยงกับประชาชน
ข้อเสนอคือลดอำนาจ ส.ว.โดยเฉพาะการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ข้อดี คือลดปัญหาการตั้งข้อสงสัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจ ส.ว. กับที่มาของ ส.ว.ได้ และลดการแทรกแซงองค์กรอิสระของส.ว. และส.ว.มีเวลาปฏิบัติหน้าที่ทางนิติบัญญัติ
ข้อเสียอาจทำให้เกิดการปฏิบัติหน้าที่ซ้ำซ้อนกับ ส.ส. หรืออาจทำให้หน้าที่ ส.ว.และ ส.ส.ไม่มีความแตกต่างกัน
อีกปัญหาหนึ่งที่รัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดให้ไทยเป็นระบบรัฐสภาแบบ 2 สภา คือมีส.ส. และส.ว. เริ่มมีการทบทวนว่าประเทศไทยมี ส.ว. เพื่อเป็นตัวแทนสิ่งใด และมีความจำเป็นต้องมี ส.ว.หรือไม่
จึงมีการเสนอให้ไทยใช้ระบบรัฐสภาเดี่ยวโดยไม่มี ส.ว.
ข้อดี ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะเวลาในการออกกฎหมาย ข้อเสียคือขาดการกลั่นกรองกฎหมายทำให้ ส.ส. เสียงข้างมากออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจ
(กลุ่มสแกนดิเนเวียเปลี่ยนจากสภาคู่เป็นสภาเดี่ยวและสร้างกลไกอื่นกรองกฎหมายแทน กำหนดให้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 นำร่างกฎหมายที่เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบไปขอลงประชามติได้ เท่ากับเสียงส่วนน้อยในสภาสามารถคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจได้)