WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1ดเรก-อาณนย

โต้ต่อยวัฒนา-ไม่ใช่ทหาร ลั่น 7 วัน ปล่อยพิชัย-เก่ง คดีกรุงไทย-ตายในคุก

      คสช.โต้ชก 'วัฒนา เมืองสุข' ยันทหารไม่ทำร้ายใคร เผยดูแล 'พิชัย-เก่ง'อย่างดี ครบ 7 วันปล่อยตัวแน่ แต่ถ้ายังวิจารณ์ในทางลบก็โดนอีก หากยังดื้ออาจใช้กฎหมายจัดการเด็ดขาด ด้านวัฒนายันมีทหารเกี่ยวข้อง เผยพบรถทหารสังกัด พล.ร.2 อยู่ในที่เกิดเหตุ จี้'บิ๊กตู่'ทวงถามความรับผิดชอบ เพื่อไทยรุมประณาม ชี้อย่าทำให้สังคมเลวร้ายกว่านี้ ณัฐวุฒิเหน็บต่อไปคนคิดต่างคงต้องใส่นวม-เฮดการ์ดออกจากบ้าน โอ๊ค-พานทองแท้ รูดซิปวิจารณ์ บอกไม่อยากกินข้าวฟรี 7 วัน นายกฯเคาะชื่อกรธ.-สปท.ก่อนไปร่วมเวทียูเอ็น 23 ก.ย.นี้'วิษณุ'แย้มสเป๊กประธานกรธ. คนต้องเกรงใจ เปิดช่องทหารพระธรรมนูญร่วมร่างรธน. ยอมรับมีอดีตสปช.ร่วมเป็นสปท. ยึดความขยัน ไม่ใช่แค่โหวตผ่าน-ไม่ผ่าน 'ดิเรก-อาณันย์'พร้อมนั่งสปท. อ้างสานต่อปฏิรูป


วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9056 ข่าวสดรายวัน

'บิ๊กตู่'เตรียมร่วมเวทียูเอ็น
     เมื่อวันที่ 13 ก.ย. พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สมัยสามัญครั้งที่ 70 ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23 ก.ย.-1 ต.ค.นี้ว่า การประชุมปีนี้ถือเป็นปีที่พิเศษ เนื่องจากยูเอ็นมีอายุครบ 70 ปี โดยนายกฯจะแสดงวิสัยทัศน์หรือกล่าวถ้อย แถลงในหลายประเด็น อาทิ มติจัดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมในสังคม ซึ่งรัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้อยู่ และจะพูดถึงการบริหารจัดการน้ำ และการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มเน้นเพิ่มบทบาทสตรี
    รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ส่วนการหารือนอกรอบ นายกฯ เน้นพบปะกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ ความร่วมมือด้านต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ค่อยมีโอกาสพบปะกัน อาทิ ประเทศกลุ่มหมู่เกาะ ละตินอเมริกา เช่น บราซิล ทะเลแคริเบียน กลุ่มประเทศในแถบยุโรปอีก 2-3 ประเทศ รวมถึงองค์กรเกี่ยวกับการพัฒนา และจะหารือกับนาย บัน คีมูน เลขาธิการยูเอ็น รวมถึงประเทศที่ต้องการหารือทวิภาคีกับไทย

เชื่อต่างชาติเข้าใจนายกฯมากขึ้น
     พล.อ.วีรชนกล่าวว่า นายกฯเตรียมถ้อยแถลงที่สำคัญในเวทีนี้ 10 นาที โดยจะพูดถึงบทบาทความร่วมมือไทยกับยูเอ็น สิ่งที่ไทยเรียนรู้จากยูเอ็น รวมถึงการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับสถานการณ์ในบ้านเรา นายกฯก็พร้อมชี้แจงหากมีการสอบถาม แต่เชื่อว่าทุกประเทศมองข้ามเรื่องนี้ไปแล้ว แม้ต่างประเทศจะไม่สนับสนุน แต่เขาก็เข้าใจ ในสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการ ซึ่งส่วนใหญ่จะถามเรื่องความร่วมมือในอนาคตมากกว่า อย่างไรก็ตาม การไปร่วมประชุมครั้งนี้ จะทำให้นานาประเทศได้รู้จักตัวตนของพล.อ.ประยุทธ์ เพราะที่ผ่านมาอาจรู้จักนายกฯไทยหรือสถานการณ์ในไทยผ่านสื่อ ตรงนี้คงได้พูดคุยทำความเข้าใจกันในบริบทของตัวผู้นำไทยอย่างชัดเจนขึ้น และมั่นใจว่าการประชุมครั้งนี้ไทยจะประสบผลสำเร็จ

เคาะชื่อกรธ.-สปท.ก่อนไปยูเอ็น
     พล.ต.วีรชนกล่าวถึงการแต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่า การแต่งตั้งจะเสร็จก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์จะไปร่วมการประชุมยูเอ็น ในวันที่ 23 ก.ย.นี้อย่างแน่นอน เพื่อให้เตรียมความพร้อมในการทำงานของแต่ละฝ่าย ส่วนข้อเสนอของอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางส่วน ที่อยากให้เพิ่มโควตาในสัดส่วนของ อดีตสปช. เข้าไปเป็นสปท.นั้น นายกฯและรัฐบาลยังไม่พิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากมีการกำหนดสัดส่วนตามที่นายกฯ ระบุไปก่อนหน้านี้อยู่แล้ว
      เมื่อถามถึงกลุ่มนิติราษฎร์ระบุถ้าจะให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย ต้องเชื่อมโยงกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง พล.ต.วีรชนกล่าวว่า รัฐบาลก็รับฟังไว้ แต่อยากให้มองว่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือช่วงรอยต่อก่อนที่จะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เราต้องมีมาตรการอะไรที่เหมาะสมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาให้รอบด้าน

วิษณุแย้มทหารพระธรรมนูญนั่งกรธ.
      นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เปิดเผยถึงความเป็นไปได้ในการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะยกร่างไม่ผ่านความเห็นชอบในขั้นตอนการทำประชามติว่า ขณะนี้ยังไม่มีการวางกรอบใดๆ เอาไว้ เพราะยังไม่ถึงเวลา ต้องรอให้ กรธ.ชุดใหม่เกิดขึ้นและเริ่มทำงานไปสักระยะ จนมองออกว่าจะไปรอดหรือไม่รอด จึงจะมาคิด เนื่องจากกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวในสภาใช้เวลาไม่นาน เอาไว้ค่อยทำก็ได้
     เมื่อถามว่า หากมีทหารเข้าร่วมเป็นกรธ.จำนวนมาก เกรงว่าจะมีปัญหาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่น่ามีปัญหา และไม่คิดว่าจะมีเข้ามามากจนผิดปกติ หากเป็นทหารที่เกษียณอายุราชการแล้ว แต่มีความรู้ในการร่างกฎหมาย ซึ่งคงเป็นนายทหารพระธรรมนูญ หากเป็นเช่นนั้นคงไม่แปลก ไม่ว่าทหารหรือพลเรือน แต่ขณะนี้ยังไม่รู้ ยังตอบไม่ถูกว่ากรธ.จะหน้าตาเป็นอย่างไร จะไปตีกันไว้ก่อนเหมาะหรือไม่เหมาะ ก็พูดยาก

สเป๊กปธ.กรธ.-คนต้องเกรงใจ
    เมื่อถามว่า มีความกังวลบุคคลที่จะมาเป็นประธานกรธ.หรือไม่ เพราะต้องเป็นคนที่มีความสามารถคุมกรธ.ทั้งหมด นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ถึงขนาดกังวล แต่โดยหลัก ประธานต้องได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเกรงอกเกรงใจจากกรรมการทุกคนพอสมควร ถึงจะทำงานด้วยกันได้ ปกติไม่ถึงขนาดต้องชี้นกชี้ไม้ เมื่อทำงานด้วยกันถ้ามีความจำเป็นอะไรก็โหวตกันอยู่แล้ว เหมือนคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็โหวตกันหลายครั้ง ประธานอยู่ในข้างที่โหวตแพ้ก็มีหลายครั้ง ไม่ผิดปกติ เพราะประธานไม่ได้มีสิทธิมากไปกว่าคนอื่น เพียงแต่ต้องคุมเกมได้ ชี้ให้พูดก็พูด ห้ามไม่ให้พูดก็ควรหยุดพูด มีลักษณะเท่านั้น

มีอดีตสปช.ร่วมวงสปท.-เน้นขยัน
     เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่หากอดีตสมาชิกสปช.ที่โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ได้กลับมานั่งทำงานใน สปท. จะถูกครหาว่าคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อมารับตำแหน่ง สปท. นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่คิดว่าต้องนำประเด็นนี้มาเป็นตัวตัดสิน ไม่ว่าฝ่ายที่โหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เพราะภารกิจของสปท.จากนี้ต่อไปเป็นเรื่องการปฏิรูป ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ความเป็นจริงคือ สปท.มี 200 คน น้อยกว่าสปช. 250 คนอยู่แล้ว และต้องคิดถึงคนอื่นข้างนอกด้วย สัดส่วนควรกระจายกันไป เราจะบอกว่าเอาสปช.เข้ามาทั้งหมดมันก็ไม่ถูก จะไม่เอาเข้ามาเลยก็ไม่ถูก เพราะเขาได้วางแผนปฏิรูปไว้แล้วถึง 37 เรื่อง จึงต้องเลือกเข้ามาบางคนที่เหมาะสม วัดจากกิจกรรม ความขยันเข้าประชุมสปช. บทบาทการออกความเห็นเสนอ สิ่งเหล่านี้สำคัญกว่าพฤติกรรมการโหวตเพียงครั้งเดียว เพราะสปท.ไม่ได้เข้ามายุ่งกับรัฐธรรมนูญ

สปช.อยากนั่งสปท.อ้างสานปฏิรูป
      นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตสมาชิกสปช. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครมาทาบทามตนให้ทำหน้าที่สปท. เพราะการตัดสินใจเลือกเป็นของนายกฯ เข้าใจว่านายกฯจะพิจารณาเลือกคนที่มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย แตกต่างกันไป คงไม่เจาะจงเลือกเฉพาะคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากทาบทามตน คิดว่าไม่น่ามีปัญหา พร้อมทำงานและทำด้วยความเต็มที่ และถ้าเปิดกว้างให้นักการเมืองมีส่วนร่วมตรงนี้ด้วยจะเป็นสิ่งที่ดี ทำให้สปท.มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับนายกฯ
     พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย อดีตสมาชิกสปช. กล่าวว่า อดีตสปช.หลายคนอยากทำงานสานต่องานด้านการปฏิรูป เพราะเสียดายหลายเรื่องที่คิดไว้ แต่ยังไม่ได้ทำ ต้องดูว่าผู้มีอำนาจจะเห็นการทำงานที่ผ่านมาว่าจะสานต่อได้แค่ไหน ซึ่งข้อดีของการเอาอดีตสปช.มานั่งเป็นสปท. คือรู้มือกันดี หลายคนทำงานร่วมกันมา รู้ทิศทางว่าใครถนัดตรงไหน ส่วนข้อดีของการนำคนนอกเข้ามาตรงนี้ จะได้ความหลากหลาย ถ้านำมาผสมกัน จะได้ทั้งความหลากหลายและงานที่ต่อเนื่อง ถือว่าเป็นประโยชน์มาก
     พ.ต.อาณันย์ กล่าวว่า คิดว่าโควตาน่าจะไล่เรียงกัน ไม่ต่างกันมาก และไม่เกี่ยวกับ อดีตสปช. จะอยู่ฝ่ายที่รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะทุกคนมีสิทธิเท่ากัน อยู่ที่ผลงานที่ผ่านมาและผู้มีอำนาจจะเห็นว่าใครบ้างที่จะได้รับเลือกเข้ามานั่งสปท. เชื่อว่าทุกคนหวังให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ และต้องช่วยกันคิดรูปแบบว่าจะเดินต่อไปอย่างไร

'นิรันดร์'หนุนแก้รธน.ชั่วคราว
     นายนิรันดร์ พันทรกิจ อดีตสมาชิกสปช. กล่าวถึงครม.จะประชุมหารือแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 37 วรรคเจ็ด เรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า เห็นด้วย เพราะมาตรานี้อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคตได้ เนื่องจากการตีความ คำว่า "ผู้มีสิทธิ" กับ "ผู้มาใช้สิทธิ" หากแก้ในมาตรา 37 วรรคเจ็ด ว่า เสียงประชามติจะผ่าน ต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ ก็สบายใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านการเห็นชอบจากประชาชน แต่ถ้าไม่แก้ให้ชัดเจน โอกาสที่จะไม่ผ่านนั้นมีสูงมาก
     นายนิรันดร์ กล่าวว่า หากครม.เห็นชอบให้แก้มาตราดังกล่าวแล้ว ตนเสนอว่าอยากให้แก้ในมาตราเดียวกันให้ชัดเจนด้วยว่า หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังไม่ผ่านประชามติอีก ให้หยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งที่เคยประกาศใช้แล้วมาปรับแก้ไข โดยฉบับนั้นควรเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่เคยผ่านการทำประชามติมาแล้ว เพราะถ้าจะให้ร่างแล้วทำประชามติ วนไปเรื่อยๆ มองว่าไม่เป็นผลดีและจะทำให้เราเสียงบประมาณมากเกินไป

ชูอดีตปธ.กมธ.ร่วมเวทีสปท.
     นายนิรันดร์กล่าวถึงการแต่งตั้งสปท. 200 คน และกรธ.21 คน ว่า ไม่มีโควตาสำหรับสมาชิกสปช.ทั้ง 2 ตำแหน่ง แต่ส่วนตัวมองว่าสมาชิกสปช. ทั้งที่โหวตรับและ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ควรได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสปท.อย่างน้อย 100 คน โดยเฉพาะระดับประธานกมธ.ปฏิรูปทุกคณะ เพื่อให้คนที่ร่างแผนการปฏิรูปเข้าไปร่วมผลักดัน สานต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งยังควรเปิดให้ฝ่ายการเมืองเข้าร่วมด้วย เพื่อมีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ถือเป็นการลดความขัดแย้งไป ในตัว

โพลชี้คุณสมบัติกรธ.ต้องเข้าใจปชช.
      ศูนย์สำรวจความคิดเห็น'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจเรื่อง'ใครควรเป็นกรธ.และสมาชิกสปท.'จากประชาชนทั่วประเทศ รวม 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่เหมาะสมกรธ. พบว่าร้อยละ 56.88 ระบุว่าเป็นคนมีความเข้าใจความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ร้อยละ 19.44 เป็นผู้มีประสบการณ์ร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน ร้อยละ 16.96 เป็นผู้เข้าใจบริบททางการเมืองไทยที่แท้จริง ร้อยละ 15.28 เป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสน ศาสตร์หรือกฎหมายมหาชน ร้อยละ 6.24 เป็นนักประนีประนอม ร้อยละ 1.52 เป็นนักการเมืองหรือตัวแทนของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง เช่น นปช. กปปส. และพันธมิตรฯ
      ส่วนบุคคลที่ควรเป็นสมาชิกสปท. ร้อยละ 36 ระบุควรเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ ร้อยละ 14.96 เป็นนักวิชาการ และร้อยละ 12.72 เห็นว่าเป็นคนที่ไม่ใช่นักการเมืองหรือตัวแทนของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง ร้อยละ 12.16 ระบุว่าควรเป็นอดีตสมาชิกสปช. หรืออดีตกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 9.04 ควรเป็นทหาร ตำรวจ ร้อยละ 0.24 ระบุไม่มีใครเหมาะสม

ร่างรธน.เป็นธรรม-ยึดการมีส่วนร่วม
     สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,184 คน เรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นกรธ.ชุดใหม่ 21 คน พบว่าร้อยละ 83.12 ระบุต้องเป็นคนดี ซื่อสัตย์ ประวัติดี มีผลงาน ร้อยละ 81.06 ต้องมุ่งมั่นตั้งใจทำงาน เสียสละทำเพื่อประเทศและส่วนรวม และร้อยละ 77.45 มีความยุติธรรม เป็นกลาง ไม่ถูกแทรกแซงหรือครอบงำในการทำงาน
   เมื่อถามว่า ควรร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรจึงจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ร้อยละ 82.94 ระบุว่าเนื้อหาต้องชัดเจน ไม่คลุมเครือ เป็นกลาง ให้ความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย ร้อยละ 79.50 ระบุว่าต้องผ่านการพิจารณาจากหลายฝ่ายอย่างละเอียด รอบคอบ เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย และร้อยละ 72.38 เห็นว่าต้องมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและประชาชนอย่างแท้จริง
    ส่วนบทเรียนที่ได้จากการคว่ำร่างรัฐธรรม นูญที่ผ่านมา ร้อยละ 80.26 เห็นว่าเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและการยอมรับจากเสียงส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.35 เห็นว่าต้องมีกระบวนการเปิดเผย สร้างความเข้าใจกับประชาชน และร้อยละ 62.57 ควรพิจารณาประเด็นที่มีปัญหาหรือเป็นที่ถกเถียงเป็นพิเศษ
      ร้อยละ 86.74 อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เลือกคนดีที่มีความเหมาะสมทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิเป็นกรธ. ร้อยละ 82.23 คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ ร้อยละ 60.81 ระบุว่าต้องชี้แจงเหตุผลในการเลือกกรธ.แต่ละคนได้
    ขณะเดียวกัน ร้อยละ 78.18 ระบุอยากให้กรธ.ขอให้ตั้งใจทำงาน ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อส่วนร่วมและประชาชน ร้อยละ 74.75 ระบุกรธ.ต้องมีความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อความก้าวหน้าของบ้านเมือง และร้อยละ 72.13 ระบุว่าอยากให้กรธ.ออกกฎหมายที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย มีบทบัญญัติ บทลงโทษที่ชัดเจน

'มาร์ค'ชี้กรธ.ต้องประสานทุกฝ่ายได้
   นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้ต้องรอคสช. และรัฐบาล แต่งตั้งกรธ. ในส่วนของพรรคพร้อมให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ ซึ่งมองว่าจะต้องปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญที่สปช.ไม่ให้ความเห็นชอบ อีกทั้งควรเปิดกว้างและพูดกันตรงไปตรงมาถึงปัญหาในอดีตที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่ามีส่วนสร้างปัญหาขึ้นมา หากมีสร้างบรรยากาศอย่างนี้ได้ จะเป็นไปตามความตั้งใจของประชาชนส่วนใหญ่ที่จะปฏิรูปและพาประเทศพ้นจากปัญหาได้
     นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของ กรธ.ไม่ควรให้ความสำคัญเรื่องโควตา เพราะตนหวังว่ากรธ.ทั้ง 21 คนจะมีบทบาทประสานความเห็นของฝ่ายต่างๆ มากกว่า ส่วนนักการเมืองอยากให้ระมัดระวัง เพราะหากเป็น กรธ.แล้วไม่ครบทุกฝ่าย หรือถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนก็จะเป็นปัญหา จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันและให้ความร่วมมือเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญที่ดีออกมาให้ประชาชน เพราะสุดท้ายประชาชนต้องเป็นผู้ให้ความเห็นชอบผ่านการลงประชามติ

ย้ำรธน.ใหม่ไม่วกกลับวังวนเดิม
     ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคประชาธิปัตย์มีโควตาเข้าร่วมสปท.หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ทราบว่าจะมีโควตาหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนให้เป็นอำนาจ คสช.แต่งตั้ง และยังไม่แน่ใจว่าสปท.จะมีบทบาทอำนาจหน้าที่ที่จะผลักดันการปฏิรูปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถึงเวลาปฏิรูปจริงๆ ต้องใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติ ซึ่งสปท.ไม่มีอำนาจนั้น แต่คิดว่าอาจจะเป็นเวทีที่หลายฝ่ายมาช่วยกันสนับสนุนให้การปฏิรูปเกิดขึ้น ซึ่งคงไม่มีใครมีปัญหากับตรงนี้
     เมื่อถามว่า หากในอนาคตมีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่าควรหยิบรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาแก้ไขแทนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อย่าไปเริ่มคิดว่าคว่ำ หรือไม่คว่ำ แต่ควรคิดว่าจะทำอย่างให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และแก้ปัญหาได้ ปฏิรูปได้ ไม่ย้อนกลับไปสู่การเมืองแบบเดิม และทำอย่างไรให้บ้านเมืองก้าวไปข้างหน้าได้

เสธ.ทบ.ยัน'พิชัย-การุณ'ยังอยู่ดี
    พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก ในฐานะรองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ของคสช. ควบคุมตัวนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน และนาย การุณ โหสกุล หรือเก่ง อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ปรับทัศนคติในค่ายทหารว่า ทั้งสองคนยังอยู่ดีเป็นปกติ ที่บ้านพักรับรองแห่งหนึ่งของทหาร มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปพูดคุยด้วยทุกวัน เพื่อปรับทัศนคติและขอร้องให้ทำตามกฎ กติกา หากรับปากก็จะปล่อยตัว ซึ่งไม่มีปัญหา เพราะครั้งนี้ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่เชิญตัวมาทำความเข้าใจร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาทั้ง 2 คน ยังพูดแสดงความคิดเห็นด้านลบต่อรัฐบาลและคสช.ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือทำให้คนทะเลาะกันได้ แต่ถ้าพูดแนะนำเชิงสร้างสรรค์ รัฐบาลและคสช.ก็ไม่มีปัญหา เพราะเราพยายามดำเนินการตามโรดแม็ป อย่างไรก็ตามยืนยันว่าทหารไม่ทำร้ายร่างกายทั้งสองคนอย่างแน่นอน

ย้ำครบ 7 วันปล่อยตัวแน่
     "เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องควบคุมตัวทั้งสองคน เพื่อปรับทัศนคติตามกฎหมายเป็นเวลา 7 วัน ถ้าปล่อยตัวไปแล้วยังพูดเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายอีก กกล.รส.ก็จะไปเชิญตัวมาปรับทัศนคติอีก 7 วัน เรื่อยๆ แต่หากยังไม่ยอมรับฟังกัน ก็จำเป็นต้องใช้กฎหมายเข้ามาดำเนินการ ถือว่าขัดคำสั่งคสช. ทั้งนี้ รัฐบาลและคสช. ฟังทุกคน เรื่องความคิดนั้นทุกคนคิดแตกต่างได้ แต่ช่วยพูดแบบสร้างสรรค์ในเชิงแนะนำ ไม่ใช่พูดติติง เปรียบเทียบ กล่าวหารัฐบาลและคสช. เพราะรัฐบาลและคสช.มีความหวังดี แต่ทุกเรื่องต้องใช้เวลา ซึ่งอาจช้าไปบ้าง" พล.อ. ฉัตรเฉลิมกล่าว

โต้วัฒนา-ลั่นทหารไม่ทำร้ายใคร
     เมื่อถามถึงกรณีนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้คสช.ดูแลความปลอดภัย ภายหลังถูกชายฉกรรจ์ผมเกรียนทำร้ายร่างกายที่สนามซ้อมฟุตบอลเมืองทองธานี เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าสาเหตุมาจากการเมือง พล.อ.ฉัตรเฉลิมกล่าวว่า คสช.ดูแลความปลอดภัยให้กับทุกคนอยู่แล้ว ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุมาจากเรื่องการเมืองหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ และยืนยันว่าทหารไม่ทำร้ายร่างกายใครแน่นอน

วัฒนายันมีทหารเกี่ยวข้อง
      นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงเหตุการณ์ถูกชายฉกรรจ์ผมเกรียนทำร้ายร่างกายเมื่อค่ำวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า จะไม่มีการแจ้งความดำเนินคดี เพราะไม่มีประโยชน์ ตำรวจคงทำอะไรไม่ได้เพราะอยู่ในยุคทหารใหญ่ มีทหารยืนอยู่ทุกสี่แยก ตำรวจคงไม่กล้า ทั้งนี้ ขอตั้งคำถามถึงนายกฯ ว่า จากที่ตนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.กับพวก เป็นเหตุให้ถูกทหารคุกคาม ถ่ายรูปบ้านและทะเบียนรถของตนทุกคัน และสะกดรอยติดตาม กระทั่งวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ถูกลอบทำร้ายโดยชายฉกรรจ์ตัดผมเกรียน
      นายวัฒนา กล่าวว่า ตนคาดว่าจะมีการออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวกับทหารและการเมือง ซึ่งก็เป็นจริง ต่อมาเสนาธิการทหารบก ปฏิเสธว่าทหารไม่ทำร้ายร่างกายใครและจะดูแลความปลอดภัยให้ทุกคนอยู่ แต่ตนเชื่อว่าทหารมีส่วนเกี่ยวข้องและมีหลักฐานเรื่องนี้ จึงต้องการคำตอบจากพล.อ.ประยุทธ์ เพราะในวันที่ถูกทำร้าย ไปร่วมแข่งฟุตบอลลีกของศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่สนามซ้อมเมืองทองธานี มีศิษย์เก่า 24 รุ่น ไม่มีคนอื่นเข้าร่วม เมื่อแข่งฟุตบอลเสร็จ ขณะเดินกลับมาขึ้นรถก็ถูกทำร้ายจากด้านหลัง ตนสังเกตเห็นรถฮอนด้า สีขาว หมายเลขทะเบียน 1 กณ 8691 กรุงเทพมหานคร จอดห่างจากรถของตน 20 เมตร หน้าตาเจ้าของรถไม่ใช่รุ่นพี่รุ่นน้องในงาน

จี้'บิ๊กตู่'รับผิดชอบ
    นายวัฒนา กล่าวว่า ช่วงที่คนทำร้ายตนวิ่งผ่านไปทางรถคันดังกล่าว ชายเจ้าของรถออกมายืนนอกรถ พร้อมโทรศัพท์ไปด้วยท่าทางคล้ายคุ้มกัน เมื่อคนที่ทำร้ายหนีผ่านไปชายคนดังกล่าวก็ขับรถออกจากสนามไป ตนถ่ายรูปชายคนดังกล่าวและรถไว้ด้วย เมื่อนำมาตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียน พบว่าผู้ครอบครองรถคันดังกล่าวชื่อ วิษณุพงษ์ คนเพียร หรือส.อ.วิษณุพงษ์ คนเพียร เป็นหัวหน้าชุดกำลังพลหลักสูตรนายสิบยุทธการและการข่าว รุ่น 48 ปัจจุบันทำงานที่ ร.2 พัน.2 รอ.
      "สิ่งที่ผมอยากฟังจากหัวหน้าคสช. คือลูกน้องสังกัดพล ร.2 มาทำอะไรอยู่ในสถานที่และเวลาที่ผมถูกทำร้าย แต่ไม่คิดว่าท่านสั่งเพราะเชื่อว่าคนที่เคยเป็นทหารเสือคงมีจิตใจเป็นเสือ ไม่ใช้การลอบทำร้าย ผมและประชาชนต้องการคำตอบที่ชัดเจนว่าในเมื่อไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่าง จะรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผม และจะมีหลักประกันความปลอดภัยให้ผมและประชาชนที่คิดต่างอย่างไร" นายวัฒนากล่าว

ตู่ เชื่อมีคนจัดฉากโยงผู้นำ
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก กรณีนายวัฒนาถูกลอบทำร้ายร่างกายว่า ไม่รู้ใครทำหรือส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ แต่ไม่เป็นผลดีกับประเทศ เพราะอาจพยายามสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นว่าใครวิจารณ์ผู้นำปัจจุบันต้องถูกขัง หรือใครมีความเห็นแตกต่างต้องถูกต่อยหรือถูกทำร้าย อาจเป็นการสร้างสถานการณ์ได้ พฤติกรรมส่อถึงความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะนายวัฒนา เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา มีทหารไปเยี่ยมนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช.ถึงบ้านพัก บางครั้งมาจอดรถหน้าบ้าน แล้วขับรถทหารจากไป โดยไม่ทราบเจตนาว่ามาทำไม ทุกคนรักชาติเหมือนกัน เพียงแต่แตกต่างในจุดยืนเท่านั้น

ย้ำจุดยืนคว่ำรธน.ที่ไม่เป็นปชต.
    นายจตุพร กล่าวว่า ส่วนการตั้ง กรธ. คงทำได้เสร็จในวันที่ 22 ก.ย.นี้ แต่ไม่ว่าใครจะมาเขียนรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่แก้ไขมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ไม่มีวันเป็นประชาธิปไตยได้ แม้จะเขียนใหม่กี่ครั้ง หรือทำประชามติกี่หน ประชาชนคงไม่รับและตนจะคว่ำรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิป ไตย การร่างรัฐธรรมนูญต้องทำเพื่อประเทศชาติและลูกหลานในอนาคต ต้องไม่คิดเพื่อตัวเอง ตนไม่สนใจว่าคสช.จะอยู่นานแค่ไหน อยากอยู่นานก็อยู่ และไม่คิดแย่งอำนาจเพราะอำนาจ ถ้าได้มาไม่ถูกต้องก็ไม่มีความหมาย
      นายจตุพรกล่าวว่า ทั้งนี้ ธรรมชาติของคนมีอำนาจคือ กลัวคนมาแย่งอำนาจ ตลอด 83 ปีที่ผ่านมาตนมีจุดยืนที่มั่นคงกับประชาธิปไตย ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และตัดสินใจแล้วคือจะเป็นนักประชาธิปไตย ไม่ใช่นักเลือกตั้ง วันนี้ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่ารักชาติจริงหรือไม่ หรือรักแค่ตัวเอง ถ้ารักชาติมากกว่าตัวเองแล้ว ประเทศจะไม่รั้งท้ายในอาเซียน

'เต้น'เหน็บใส่เฮดการ์ดออกจากบ้าน
      นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. ให้สัมภาษณ์ถึงฝ่ายเห็นตรงข้ามกับรัฐบาลจะถูกควบคุมตัว รวมถึงเหตุทำร้ายนายวัฒนาว่า สถานการณ์แบบนี้ผู้มีอำนาจต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ทำความเข้าใจในวิธีคิดของประชาชนเพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ปกครองจะทำให้ทุกคนคิดเหมือนกัน หากคสช.ทำสำเร็จตามโรดแม็ป สังคมไทยจะต้องเดินหน้าท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดอยู่ดี
     นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมาฝ่ายเห็นต่างกับรัฐบาลไม่ได้ก่อหวอดให้เกิดการเผชิญหน้าหรือมีเกมใต้ดิน ทุกอย่างเปิดเผยผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งหน่วยข่าวของรัฐยืนยันข้อเท็จจริงได้ ส่วนการควบคุมตัวผู้แสดงความเห็น ล่าสุดเกิดเหตุทำร้ายนายวัฒนา แม้ยังไม่ทราบตัวคนทำ แต่ลักษณะการลงมือเป็นขบวนการที่สร้างความหวาดระแวงและรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกัน จนไม่แน่ว่าต่อไปนี้คนบางกลุ่มอาจต้องใส่นวม สวมเฮดการ์ดออกจากบ้าน ทำให้สวนทางกับภารกิจของรัฐบาลที่ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย
     นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเปิดใจกว้างและมีพื้นที่ให้ความคิดต่างได้แสดงออกภายใต้ความรับผิดชอบต่อสถานการณ์บ้านเมือง ความเห็นที่หลากหลายคือธรรมชาติ ไม่ใช่ความวุ่นวาย ความเงียบที่เกิดจากการใช้อำนาจควบคุมต่างหากที่ฝืนธรรมชาติ หากการปฏิรูปโดยปฏิเสธหลักแห่งธรรมชาติ นึกไม่ออกว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

'ปู'วอนคสช.เปิดโอกาสคนเห็นต่าง
      เมื่อเวลา 12.30 น. ที่สกายปาร์ค ตึกชินวัตร ทาวเวอร์ 3 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ว่า ไม่ขอลงลึกในรายละเอียดเพราะเชื่อว่ามีผู้รู้ในการร่างรัฐธรรมนูญแต่ละคณะอยู่แล้ว แต่สิ่งที่อยากเห็นคือ อยากให้กรธ. ชุดใหม่นำข้อเสนอต่างๆ ทั้งภาควิชาการ ฝ่ายปฏิบัติ มาหาแนวทางที่ทำให้สังคมยอมรับ เชื่อว่าจะทำให้การปฏิรูปได้รับการยอมรับและนำไปใช้ปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงได้
      เมื่อถามถึงขณะนี้คสช. เชิญบุคคลที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลปรับทัศนคติเป็นเวลา 7 วัน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า อยากให้คสช.เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายเปิดโอกาสความคิดเห็น เพราะการแสดงความเห็นเป็นสิ่งที่ดี อยากให้เปิดรับความเห็นของผู้ที่มาจากหลายภาคส่วน เพราะถือเป็นการมีส่วนร่วมอย่างหนึ่ง

โอ๊ค คันปากแต่ไม่อยากกินข้าวฟรี
    นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นกรณีอดีตนักการเมืองถูกเชิญตัวไปปรับทัศนคติ โดยระบุว่า'คันปาก แต่ยังไม่อยากพูดอะไร ในสภาวะเช่นนี้ ขออยู่ข้างนอกดีแล้ว ไม่อยากไปกินข้าวฟรี 7 วัน'
    นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนไม่สบายใจอย่างยิ่งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำตัวนายพิชัย นริพทะพันธุ์ และนายการุณ โหสกุล ไปพูดคุยปรับทัศนคติเพราะมีความเห็นต่างในบางเรื่อง และได้แสดงความเห็นออกสู่สาธารณะ เพราะถือว่าทุกคนแสดงความเห็นโดยบริสุทธิ์ใจ ในการมองแต่ละเรื่อง แต่ละปัญหาตามความคิดของแต่ละคน ซึ่งอาจไม่ตรงหรือแตกต่างจากผู้อื่นหรือผู้มีอำนาจ ในทุกสังคมโดยเฉพาะประเทศที่มีอารยะ เราไม่อาจบังคับหรือทำให้ทุกคนมีแนวคิดเหมือนกันหรือไปในทิศทางเดียวกันได้ทั้งหมด

ภูมิธรรมประณามมือชกวัฒนา
      นายภูมิธรรม กล่าวว่า ความคิดเห็นที่แตกต่าง เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ตราบเท่าที่มิได้มีการกระทำที่นำไปสู่การยุยงหรือปลุกระดมให้คนใช้ความรุนแรงต่อกัน หรือในการแก้ปัญหา จริงๆ แล้วความเห็นที่แตกต่าง นับเป็นสิ่งที่มีประโยชน์เพราะบางครั้งเป็นหลักประกันให้แต่ละฝ่ายใช้ตรวจสอบความคิด ความเชื่อของคนเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายทั้งต่อตนเองและส่วนรวม
      "ผมยิ่งตกใจเมื่อทราบว่า นายวัฒนา เมืองสุข ถูกลอบทำร้ายจากชายฉกรรจ์ ขณะจะกลับไปที่รถหลังออกกำลังกายเสร็จสิ้น โดยนายวัฒนา คาดว่ามีสาเหตุจากการแสดงความคิดเห็นต่างๆ เพราะเชื่อว่าไม่มีศัตรูส่วนตัว มิได้มีข้อขัดแย้งส่วนตัวผู้ใด ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับคนไทย อยากเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายใช้วิจารณญาณให้ถี่ถ้วน ขอให้โปรดประคับประคองอย่าให้สังคมไทยต้องเลวร้ายไปกว่านี้เลยเพราะสถานการณ์เช่นนี้ รังแต่ละนำมาซึ่งผลเสียหายโดยรวมต่อประเทศ ผมไม่อาจยอมรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และขอประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบที่เกิดขึ้น ทั้งที่เกิดกับนายวัฒนา และทุกคนในสังคม" นายภูมิธรรมกล่าว

รมช.พณ.ตรวจตลาด-ลื่นก้นจ้ำเบ้า
     เมื่อเวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ พร้อมคณะ ได้มาตรวจราชการที่จ.ขอนแก่น โดยมีนายกำธร ถาวรสถิตย์ ผวจ.ขอนแก่น นายสมิง ยิ้มศิริ ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น พร้อมหน้าส่วนราชการพาณิชย์จังหวัดขอนแก่นให้การต้อนรับ โดยได้ตรวจเยี่ยมตลาดสดบางลำภู ถ.กลางเมือง ซึ่งเป็นตลาดสดใหญ่ที่สุดในจังหวัดและมีสินค้าผักสดหลากหลาย และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย
      ขณะที่นายสุวิทย์เดินสอบถามพ่อค้าแม่ค้าต่างๆ กระทั่งมาถึงบริเวณขายปลาและอาหารทะเล ซึ่งพื้นจะมีน้ำไหลเปียกแฉะตลอดเวลา ทำให้พื้นลื่นมาก ต้องเดินระมัดระวัง ปรากฏว่า นายสุวิทย์เดินมาถึงขอบปูน เกิดสะดุดและลื่นล้มก้นจ้ำเบ้า เจ้าหน้าที่ต้องรีบช่วยกันพยุงขึ้น พร้อมช่วยเช็ดกางเกงขายาวสีขาวที่เปื้อนมาก โดยนาย สุวิทย์กล่าวว่า ไม่เป็นไร ขัดยอกเล็กน้อย จากนั้นเดินไปตรวจสินค้าประเภทอื่นๆ
       จากนั้นนายสุวิทย์ ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องหกล้มถือเป็นอุบัติเหตุ เจ็บเล็กน้อยไม่เป็นไรมาก การมาตรวจราชการในจ.ขอนแก่น ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อดูค่าครองชีพเป็นอย่างไร ความกินดีอยู่ดี เป็นอย่างไรบ้าง ตนได้ลงมาพื้นที่เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นจริง เพื่อให้รัฐบาลหาวิธีช่วยเหลือแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนในระดับล่าง

'สุบิน'คดีกรุงไทย-ตายในคุก
      วันที่ 13 ก.ย. นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากร.พ.ราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์ว่า นักโทษชาย สุบิน แสงสุวรรณเมฆา (ผู้แทนบริษัทอาร์เคโปรเฟสชั่นนัล) ที่ต้องโทษ 12 ปี ในคดีทุจริตการปล่อยกู้เงินของธนาคารกรุงไทยให้กฤษดามหานคร ได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยโรคมะเร็งตับ โดยทางแพทย์แจ้งว่า นักโทษชายสุบิน ได้เข้ารักษาตัวที่ร.พ.ราชทัณฑ์ ด้วยโรคมะเร็งที่ตับ ตั้งแต่วันแรกที่ต้องโทษแล้ว เพราะมีอาการป่วย จากนั้นก็ทรุดหนักลง และทางแพทย์ได้ส่งตัวมายังร.พ.ยันฮี เพื่อทำการรักษาต่อ และได้รับแจ้งได้เสียชีวิตลง ในเวลา 15.45 น. ของวันที่ 12 ก.ย. ด้วยโรคมะเร็งตับ ซึ่งทางเรือนจำได้แจ้งประสานญาติในขั้นตอนการรับศพแล้ว โดยจะทำการจำหน่ายคดีต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!