- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 09 September 2015 10:04
- Hits: 7912
ลุ้นชื่อกก.ร่างรธน. ยํ้ามิย.60 ได้เลือกตั้งแน่ บิ๊กตู่ชี้ตั้ง'กรธ.'ทันเวลา ไม่มีจรัญ-คณิต-สมคิด สภาขับเคลื่อน-รู้23 กย. พท.จี้ปรับใช้ฉบับปี 40
'วิษณุ'แจงครม. โรด แม็ปใหม่เลือกตั้งมิ.ย.60 ได้รัฐบาลเดือนก.ค. เพื่อไทยโวยสูตร 6-4-6-4 กินเวลา 20 เดือนนานไป แนะให้นำรธน.ปี 40 มาปรับใช้ เพื่อให้ได้เลือกตั้งโดยเร็ว 'บิ๊กตู่' ลั่นตั้งกรรมการร่างรธน. หรือกรธ. ทันเส้นตาย 6 ต.ค.แน่นอน ยันไม่มีชื่อ 'จรัญ-คณิต-สมคิด'ส่วนสภาขับเคลื่อนฯ เฟ้นจาก 5 ฝ่าย ได้ชื่อก่อน 23 ก.ย. 'อลงกรณ์'แนะดึงอดีตกมธ.ปฏิรูป 18 คณะเข้าร่วม คสช. ชี้ถอดยศ 'แม้ว' จบแล้ว ครม.อนุมัติ 120 ล้าน เยียวยาม็อบกปปส. ส่วนงบเยียวยาม็อบนปช.ที่ค้างจ่าย ให้รอป.ป.ช.ตัดสินคดีก่อน
วันที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9051 ข่าวสดรายวัน
นายกฯเตรียมใช้ม.44 อีก
เวลา 09.00 น. วันที่ 8 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงจากตึกไทยคู่ฟ้ามายังตึกบัญชาการ 1 เพื่อเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ยังมีอาการเจ็บเข่าเล็กน้อย ผู้สื่อข่าวสอบถามอาการว่าดีขึ้นบ้างหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า "ถ้าไม่เตะตัวเองก็ไม่เจ็บ"
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม. ว่า วันนี้แข็งแรงขึ้นแล้ว ขาเจ็บน้อยลง ผลการประชุมครม.ประเด็นหลักคือเรื่องเศรษฐกิจ มาตรการต่างๆ สัปดาห์หน้าจะคิกออฟเรื่องเหล่านี้ที่เมืองทองธานี วันนี้รัฐบาลจะเริ่มปฏิรูปประเทศ แบ่งทำงานเป็น 3 ส่วน คือ การปฏิรูปและการปรองดอง การบริหารราชการแผ่นดิน และการขจัดความขัดแย้ง ซึ่งมอบให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์เข้ามาขับเคลื่อน นำเอาแผนการปฏิรูปของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้ง 37 วาระมาใช้ประโยชน์ในส่วนที่ทำได้ อาจนำมาตรา 44 มาใช้เพื่อบูรณาการหรือแก้ไขกฎหมายที่ทำไม่ได้ โดยจะเร่งปฏิรูปในส่วน 1 ปีกว่าๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นมาให้สำเร็จ หากเห็นขัดแย้งก็เสนอความเห็นเข้ามาได้
นายกฯ กล่าวว่า ส่วนการปรองดองทำมาแล้วในระดับพื้นที่ ต้องไม่มีการแบ่งสี ปฏิรูปด้วยใจ เชื่อว่าไม่มีใครอยากทะเลาะกัน ถ้าไม่มีใครปลุกปั่น ขั้นตอนต่อไปของการปรองดองคือการนำปัญหามาดู ไม่ใช่การนิรโทษทั้งหมดก่อนจะปรองดองได้ แต่จะนำเอาสิ่งที่เข้าสู่กระบวนการแล้วมาทำ เช่น การเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุชุมนุมทางการเมือง
งบจ่ายสปช.-กมธ.ไม่สูญเปล่า
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกรณี สปช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญถือว่าสิ่งที่ลงทุนไปสูญเปล่า ว่า จะเสียเปล่าได้อย่างไร ต้องนำแนวทางยุทธศาสตร์เหล่านี้ ทั้งรับและไม่รับมาดูก่อนว่าจะแก้ไขอย่างไร ไม่ใช่ไปตีความว่าเป็นประชา ธิปไตยหรือไม่ การตีความอย่างนั้นต้องเลิกเพราะไม่มีทางร่างได้ การตีความอย่างนี้เนื่องจากมีคนอยากให้ทุกอย่างกลับไปที่เดิม เขาต่อสู้เพื่ออำนาจและผลประโยชน์ ตนพูดถึงคนไม่ดีแต่คนดีก็มีมาก ถึงบอกว่าคนที่ดีเก่งๆ เขียนหนังสือเยอะๆ นักวิชาการ ขอให้สมัครเป็นส.ส.บ้างจะได้มีตัวเลือก ตั้งพรรคมาสู้ หากคิดว่าตัวเองต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ อย่าบอกว่าไอ้นั่นไอ้นี่ก็ไม่เอา ทุกคนต้องลงทุนให้ประเทศ
เมื่อถามว่างบประมาณที่ใช้กับสปช.ถือว่าสูญเปล่าหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า อย่าคิดเป็นตัวเลข ตีเป็นมูลค่าไม่ได้ หัดเอาตรรกะมาใช้บ้าง ถ้าไม่เริ่มต้น ไม่มีสปช. ไม่มีกมธ. ยกร่างฯ จะรู้หรือไม่ว่าคนเป็นอยู่อย่างไร อยากปรองดองหรือไม่ อดีตนักการเมืองเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยเป็นอยู่ ถ้ายังไม่จบก็ต้องหาวิธีแก้ให้มันจบ ถึงจะไม่ใช่ตนก็ไม่เป็นไร ตนอยู่แค่ที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ เขียนแค่ไหนก็ตามนั้น
กั๊กปธ.กรรมการร่างฯ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่ได้ต้องการให้ไม่ผ่านก็ได้ ถ้าฟังที่พูดตั้งแต่ต้นจะรู้ว่าคิดอะไรอยู่ ไม่ได้หยุดนิ่ง ไม่ได้ใช้อำนาจสั่งการว่าต้องอย่างนี้อย่างโน้น ทุกคนต่างเหน็ดเหนื่อยไม่เห็นได้อะไรกลับมา แต่ประเทศและประชาชนได้ ตนต้องลงทุนด้วยชีวิต ความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย ลงทุนแต่กำไรไม่มี ไม่ได้ร่ำรวยกว่าเดิม ต้องคิดถึง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หัดเข้าวัดกันบ้าง ไปนำอริยสัจ 4 มาใช้กันบ้าง อย่าไปตามฝรั่งกันมากนัก
เมื่อถามว่าแสดงว่าเรามาถึงครึ่งทางแล้ว ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คำว่าครึ่งทาง เอาอะไรมาวัด เวลาหรืองาน ถ้างานมีไปอีก 20-30 ปีข้างหน้าและไม่ใช่ตนด้วย
เมื่อถามถึงประธานกรรมการร่างรัฐธรรม นูญคนใหม่มีชื่ออยู่ในใจแล้วหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า "มีอยู่ในใจก็อยู่ในใจ ผมยังหาไม่เจอ อยู่ในใจยังลึกอยู่" เมื่อถามว่าจะพิจารณารายชื่อทั้ง 21 คนได้ทันตามกำหนดในวันที่ 6 ต.ค. หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คิดว่าทำทันอยู่แล้ว ตนจะไปโง่ให้ทำไม่ทันได้อย่างไร ต้องทำ ให้ทัน
ไม่มีชื่อ"จรัญ-คณิต-สมคิด"
เมื่อถามถึงข่าวมีชื่อของนายจรัญ ภักดี ธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกรรมการร่างฯ นายกฯ กล่าวว่า "ไม่มีๆ ที่เอ่ยมานี้ไม่มีทั้งสิ้น ไม่มีสักคน"
เมื่อถามว่าใครช่วยพิจารณาสรรหาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า หากใครอยากเสนอชื่อใครก็เสนอมา ตนรับฟังทั้งนั้น แต่จะให้หรือไม่ให้ไม่รู้ อย่าไปเชื่อว่าคนที่ล้มร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะได้เป็นสภาขับเคลื่อนฯ เพราะรายชื่อจะมีทั้ง 2 พวก ทั้งรับและไม่รับ ตนเลือกไว้จำนวนหนึ่งและจะดูว่าเขาทำต่อกันหรือไม่ ถ้าไม่เรียนรู้จากของเดิมก็ผ่านไม่ได้ ต้องรับผิดชอบกันอีก ดังนั้น ไม่ต้องมายัดไส้ตนว่าพวก 135 คนจะได้เข้า และ 105 คนจะไม่ได้เข้า ตนไม่ได้เป็นคนอย่างนั้น ใน 21 คนต้องเอานักกฎหมายมาทำบ้าง ต้องหลากหลาย ไม่เลือกเฉพาะสถาบันใด
สภาขับเคลื่อนมาจาก 5 ฝ่าย
เมื่อถามว่าขณะนี้รวบรวมรายชื่อสภา ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 200 คนได้ครบถ้วนหรือยัง นายกฯกล่าวว่าเพิ่งเริ่มคิดเมื่อวันที่ 7 ก.ย. ว่าต้องใช้สัดส่วนเท่าใด หาอยู่และดูด้วยว่าใครที่ทำให้ประเทศชาติเดินหน้าได้ก็เอาเข้ามา ที่ผ่านมาคนในสปช. 250 คนมีหลายอาชีพหลายฝ่าย นี่คือตัวอย่างที่ตนแสดงให้เห็นว่าวันหน้าถ้ามาอย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้ แค่ 250 คนยังเป็นแบบนี้ แต่วันหน้าที่จะมาทั้งส.ส.และใครอีกจะไม่ยิ่งกว่านี้หรือ ตนไม่ได้โทษประชาธิป ไตย สภาขับเคลื่อนฯ 200 คนต้องมาจากหลายส่วน 5 ฝ่ายคือด้านความมั่นคง สังคมจิตวิทยา เศรษฐกิจ ต่างประเทศ และข้าราชการ รวมถึงคนที่เกษียณอายุแล้ว คนเหล่านี้ต้องรู้ว่าโจทย์อยู่ตรงไหน ถ้ามาแบบไม่รู้เรื่องก็ตีกันอีกรอบและไม่ได้คำตอบ ส่วนนี้ต้องช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปให้ได้
นายกฯกล่าวว่า นอกจากนี้ ต้องมีคนที่รู้เรื่องกฎหมายทั้งหลักการ วิชาการ เชิงปฏิบัติ ไม่ใช่เอากฎหมายมาทำให้ติดขัดไปหมด นักวิชาการต้องเอาใส่ให้หมดและต้องมีความรู้ใน 11 กิจกรรมปฏิรูปของรัฐบาลและขับเคลื่อนออกมาให้ได้ สภาขับเคลื่อนฯต้องนำ 37 แนวทางการปฏิรูปของสปช.มาเป็นแนวทางขับเคลื่อน ดูว่าจะตัดออก เพิ่มเติม แก้ไขปรับปรุงหรือวางกรอบอย่างไร และต้องมีผู้ที่รู้เรื่องงบประมาณ แผนงาน โครงการเข้ามาด้วย ไม่ใช่พูดถึงแต่โจทย์ แต่ต้องพูดถึงคน How To Do ที่ต้องหาเข้ามาเพราะโจทย์มาแล้ว ตนต้องการคนบริหารจัดการ ทำแผน ทำงบประมาณ และอยู่ในสถานการณ์บริหารจัดการขณะนี้
ได้ชื่อก่อน 23 ก.ย.
เมื่อถามว่าจะสรรหาสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯได้เมื่อใด นายกฯกล่าวว่า กำหนดวันสุดท้ายวันที่ 5 หรือ 6 ต.ค.ใช่หรือไม่ และตนต้องนำคณะไปประชุมสหประชาชาติ เดินทางวันที่ 23 ก.ย.นี้ ดังนั้น ต้องได้รายชื่อก่อนที่ตนจะเดินทางหรือถ้าทำเสร็จก่อนนั้นได้ก็ทำ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า โรดแม็ปต่อจากนี้ ตามสูตร 6-4-6-4 ไม่ได้ดีใจที่มีเวลาเพิ่มขึ้นเพราะงานจะหนักขึ้น เหนื่อยต่อไป ยืนยันไม่ได้รับผลประโยชน์และไม่ได้สืบทอดอำนาจ แต่การสืบทอดอำนาจคือการส่งอำนาจความไว้วางใจที่ประชาชนมีถึงรัฐบาลหน้า ไม่ได้สืบเพื่อตน แต่สืบเพื่อประชาชนทุกหมู่ ทุกระดับอาชีพ
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้อย่าเอาการเมืองมาปนกับการปฏิบัติ หรือเอารัฐธรรมนูญมาปนกับการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องแยกการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง สังคม การต่างประเทศ และการทำโพลต่างๆ ก็ต้องแยกงาน ซึ่งตนไม่ได้คาดหวังคะแนนอยู่แล้ว คงไม่มีขึ้น มีแต่ตกลงเรื่อยๆ เพราะทุกคนคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเพราะมีตนอยู่ ก็กลายเป็นมาไล่ตนอีกว่าทำไมไม่ทำให้จบ
จำได้ใครด่า-ขู่ให้ระวังตัว
"นี่คือสิ่งที่ผมวิเคราะห์ ใคร พรรคไหนที่ออกมาพูด ผมจำได้ติดหูติดตา พอรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ด่าผมอีก ไปเล่นงานสปช.เขาอีก ไปเล่นงานกมธ. ผมไม่ใช่นักการเมืองที่ต้องอยู่ให้นานเพื่ออำนาจ ผมชินกับการใช้อำนาจมาเยอะแล้ว เป็นผู้บังคับบัญชาทหาร ไม่อย่างนั้นมันสั่งคนไม่ได้ ต้องสั่งคนไปรบไปตาย ถ้าแพ้ก็ตาย เราจึงต้องใคร่ครวญให้ดีก่อนสั่งและใช้อำนาจ ถามว่าฝ่ายการเมืองเข้ามา บริหารเขาสนใจตรงนี้ไหม เขาถึงไขว่คว้าหาอำนาจเพราะไม่เคยมีอำนาจ ขอให้คิดด้วยตรรกะแบบผม ไม่ได้ไปว่าเขา คุณพ่อผม ทั้งนั้นแตะต้องไม่ได้ แต่เวลามาเล่นงานผมก็ระวังตัว ขอเตือนไว้ก่อน ไม่มีใครใจดีเท่าผมอีกแล้ว" นายกฯกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ประเทศจะเดินหน้าอย่างไรก็ทำให้เห็นแล้ว ฉะนั้นนักการเมืองอย่ามาพูดว่าไม่เข้าใจ จะปฏิรูปอะไรก็ไม่เห็นด้วยเพราะต้องการกลับไปที่เดิม ก็ต้องร้องเพลงที่เก่าเวลาเดิม ขออยู่ที่เดิม หรือจะร้องเพลงหยุดตรงนี้ที่เธอ หยุดตรงนี้ที่เธอ ประชาธิปไตยก็ไม่ว่ากัน ถ้าทุกคนร่วมมือ การปรองดองไปได้แน่ ทั้งหมดอยู่ที่ใจคน ความเชื่อถือและความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชน ไม่ได้ว่าตนเก่ง แต่พูดจากใจ ถึงมันจะผิดอยู่บ้างแต่ไม่ใช่ผิดเพราะใช้อำนาจ อาจเพราะคิดไม่ครบถ้วน ถ้าวิจารณ์มาตนก็รับจะแก้ไขเพราะรับฟังความเห็นของทุกคน วันนี้ตนรำคาญพวกที่พูดจาให้ร้ายเสมอและตัวเองก็เกี่ยวพันเรื่องความขัดแย้งมาตลอด
นายกฯจี้โหมงานหลังยืดอายุรบ.
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลประชุมครม. ว่า รัฐบาลไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่เมื่อผล ออกมาแบบนี้รัฐบาลจะมีเวลาทำงานมากขึ้น ถือเป็นเรื่องท้าทาย แต่ไม่ได้หมายความว่าดีใจเพราะเวลาที่ขยายออกไปต้องใช้อย่างคุ้มค่า ขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม ต้องทำงานให้หนักขึ้นเพื่อให้มีผลงานปรากฏชัดเจนเร็วขึ้นและมากขึ้น เวลาที่มากขึ้นไม่ได้หมายความว่าจะทำได้ตามสบาย จึงสั่งการให้กระทรวง ทบวง กรม ช่วยกันกำหนดภารกิจทำงาน และให้ระบุว่าแต่ละภารกิจเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดบ้าง เพื่อให้เกิดความคืบหน้า เต็มรูปแบบ
รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า นายกฯกำชับให้ทุกฝ่ายทำงานตามยุทธศาสตร์ใช้เวลา 6 เดือนระหว่างการยกร่าง ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ควรใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ ลงประชามติ ทำกฎหมายลูก และหาเสียงยาวนานจนเกินไป นายกฯระบุด้วยว่าการตั้งกรรมการร่างฯต้องทำภายในวันที่ 5 ต.ค. หากทำได้ก็จะทำให้เสร็จก่อนไปร่วมประชุมสหประชาชาติวันที่ 23 ก.ย.-2 ต.ค.
เปิดปฏิทินชี้เลือกตั้งมี.ค.-มิ.ย.2560
พล.ต.วีรชนกล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงที่ประชุมถึงลำดับขั้นตอนและปฏิทินการร่างรัฐธรรมนูญว่า เริ่มต้นในเดือนก.ย.-ต.ค.2558 จะตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. จากนั้นเดือนต.ค. 58-เม.ย.2559 อยู่ในช่วงยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน ต่อมาเดือนเม.ย.-ส.ค.2559 เป็นขั้นตอนจัดทำประชามติและประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือนก.ย.2559 และในเดือนก.ย.-ต.ค.59 เป็นช่วงยกร่างกฎหมายลูกภายใน 2 เดือน ขั้นตอนนี้เป็นเรื่องยาก จากนั้นเมื่อส่งให้สนช.ผ่านร่างกฎหมายลูกภายใน 3 เดือน และในเดือนก.พ.2560 ส่งกฎหมายลูกให้ ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบภายใน 1 เดือน ขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ จำเป็นต้องส่งให้ตรวจสอบเนื่องจากจะตั้งคำถามว่ากฎหมายที่ออกมามีความถูกต้องชอบธรรมอย่างไร และต่อมามี.ค. 60 จึงเริ่มประกาศ ใช้กฎหมายลูกและเริ่มรณรงค์หาเสียงได้ จากนั้นมี.ค.-มิ.ย.2560 มีการเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลใหม่ภายในเวลา 1 เดือนคือก.ค.2560
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า รัฐบาลยังมองภาพบวกอยู่ว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะผ่านการลงประชามติ ยังมองโลกในแง่ดีอยู่ โดยจะดำเนินการเพื่อสร้างการยอมรับ นำบทเรียนครั้งที่ผ่านมาว่าถ้าไม่ผ่านแล้วจะทำอย่างไร
"วิษณุ"ไม่ห้ามนักการเมืองเป็นกรธ.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการสรรหากรธ. ไม่มีอะไรห้าม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดเดิมก็เข้ามาเป็นได้ ส่วนจะได้รับการพิจารณาจากหัวหน้าคสช.หรือไม่นั้นไม่ทราบ และไม่รู้ว่าบุคคลเหล่านี้จะยินดีเข้ามาหรือไม่ และจะมีฝ่ายการเมืองเข้ามาร่วมหรือไม่นั้นในกติกาไม่มีการกำหนดไว้ จะเป็นฝ่ายใดก็ไม่มีปัญหา แต่ในทางปฏิบัติจริงตนไม่ทราบขึ้นอยู่กับคสช. ถึงแม้จะมีฝ่ายการเมืองเข้ามาก็มีปัญหาอยู่ดี เพราะเราไม่สามารถเอามาทุกฝ่ายได้ โดยกำหนดคุณสมบัติของกรธ.ไว้แล้ว ซึ่งเป็นคุณสมบัติของกมธ.ชุดที่แล้ว และที่ระบุว่าต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคย้อนหลัง 3 ปี จึงต้องพิจารณาในส่วนนี้ก่อน
เมื่อถามว่า การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญของสปช. จะเป็นอุปสรรคในการชักชวนใครมาเป็นกรธ.ชุดใหม่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ที่ผ่านมากรรมการทุกคณะระบุว่าการร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย และจะยากกว่าการหากมธ.ยกร่างฯ 36 คน เพราะตอนนั้นเข้ามาทำงานใหม่ ยังไม่เห็นถึงปัญหา แต่คราวนี้มีเดิมพันเพราะได้เห็นว่ามีการคว่ำรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นคนที่เข้ามาต้องคิดว่าหากทำแล้วต้องทำให้ดีและต้องไม่ล้ม ถือเป็นความรู้สึกกดดันอยู่ จึงทำให้หาคนมาร่วมยาก แต่ขอให้เชื่อว่าสามารถหาได้ อาจมีบางคนที่ปฏิเสธจากคราวที่แล้วอาจจะรับในคราวนี้ก็ได้ เพราะข้อขัดข้องที่เคยมีอาจหมดไปแล้ว อีกทั้งคนในองค์กรอิสระจะมาเป็นกรธ.ไม่ได้ ยกเว้นลาออกแล้ว
ชื่นชม'บวรศักดิ์'ยังยิ้มได้
เมื่อถามว่าได้ปลอบใจนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ.ยกร่างฯ หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ได้ประชุมกฤษฎีกาคณะเดียวกับนายบวรศักดิ์ ไม่เห็นว่าจะเฮิร์ตอะไร ตนยังขอพระ นาย บวรศักดิ์ยังบอกว่าแจกหมดแล้ว คนที่มีความสามารถยิ้มได้เมื่อภัยมา คือคนที่ควรยกย่อง เหมือนเพลงยิ้มได้เมื่อภัยมาในทุกสถานการณ์ ถึงจะยิ้มแหยๆ ช่างเถอะ ก็ขอให้ยิ้ม
เมื่อถามว่าสปช.หมดวาระไปแสดงว่าผลงานที่ทำมาไม่ได้เป็นที่ยอมรับใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าอย่าเรียกว่าไม่ยอมรับ แต่รัฐธรรมนูญเขียนกติกาไว้และมีการลงมติหมายความว่าจะรับหรือไม่รับก็ได้ แต่เมื่อผลออกมาไม่รับจะบอกว่าไม่เป็นที่ยอมรับก็ไม่ใช่ และผลงานจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่เป็นเรื่องของสังคม แต่เสียงโหวตเป็นเรื่องนิตินัย ซึ่งกมธ.ชุดเดิมและตนไม่ถือว่าผลงานดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะกรรมการชุดใหม่อาจจะหยิบยกจากชุดเดิมมาใช้ประโยชน์ได้
ประวิตรคาดเร็วกว่า 20 เดือน
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่าไม่กังวลเกี่ยวกับตัวบุคคลที่จะเป็นคณะกรรมการร่างฯ เพราะเชื่อว่านายกฯจะเลือกหาได้และรู้ว่าต้องทำอะไรเพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ นายกฯยังไม่ได้มาปรึกษาอะไร ส่วนโรดแม็ปที่เลื่อนไป 20 เดือน คงดำเนินการตามเวลาที่กำหนด เชื่อว่ารัฐบาลจะควบคุมสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยได้โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกคน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงโรดแม็ปที่ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป 20 เดือนว่า นายวิษณุอธิบายให้ครม.ทราบว่าโรดแม็ปไม่ได้เปลี่ยนแปลง ยังเหมือนเดิม เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านจะทำอย่างไรต่อไป เมื่อถามว่า 20 เดือนค่อนข้างนาน เหตุใดไม่นำรัฐธรรมนูญฉบับที่มีอยู่มาปรับใช้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าปรับหรือไม่ปรับขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญที่เขียนกรอบเวลาไว้ คิดว่าน่าจะเร็วกว่า 20 เดือน ไม่น่าช้ากว่านั้น
ห้ามนักการเมืองเป็นกก.ร่างฯ
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ในครม. นายวิษณุชี้แจงโรดแม็ปที่ระบุถึงสูตร 6-4-6-4 หรือใช้เวลา 20 เดือน ร่างรัฐธรรมนูญจนถึงวันเลือกตั้ง พร้อมนำแผนภูมิขั้นตอนต่างๆ มาแสดง ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่าหลังจากสปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเหมือนต่ออายุรัฐบาลอย่างน้อย 2 ปีนั้น กระบวนการเป็นไปตามโรดแม็ปอยู่แล้ว และคสช.จะเร่งให้เลือกตั้งเร็วกว่าเดิมหรือไม่นั้นตามสูตร 6-4-6-4 มันเป็นระยะที่เราคาดกันไว้ ถ้าทำได้เร็วก็ทำ ขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญอาจจะเร็วก็ได้ นายกฯแจ้งครม.ทุกคนให้ช่วยเสนอความคิดเห็นในการสรรหาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ แล้วนายกฯจะพิจารณาอีกที ส่วนคุณสมบัติคณะกรรมการร่างฯนั้นระบุออกมาแล้ว แต่มีอยู่ข้อหนึ่งคือต้องไม่เป็นนักการเมือง เพื่อให้รัฐมนตรีทุกคนได้รับทราบเป็นกรอบพิจารณา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังให้สัมภาษณ์ ระหว่างพล.อ.ไพบูลย์เดินไปขึ้นรถยนต์ส่วนตัวด้านข้างตึกบัญชาการ 2 ผู้ติดตามที่เดินตามพล.อ.ไพบูลย์มาอย่างกระชั้นชิด ที่จะแยกไปขึ้นรถยนต์อีกคัน ด้วยความเร่งรีบได้ทำปืนพกประจำกายร่วงลงพื้น ทำให้เกิดเสียงฮือฮาจากผู้สื่อข่าวและช่างภาพบริเวณใกล้เคียง ต่างรีบตะโกนบอกว่าปืนร่วง ผู้ติดตามรีบเก็บและก้าวขึ้นรถยนต์อย่างรวดเร็ว
'นรนิติ-สมคิด'ปัดนั่ง'กรธ.'
นายนรนิติ เศรษฐบุตร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวปฏิเสธว่าไม่เคยได้รับการทาบทามให้ร่วมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ทราบมีชื่อปรากฏเป็นข่าวได้อย่างไร อาจเป็นข่าวปล่อย ส่วนตัวไม่ขอรับงานยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดๆ อีก อายุเยอะแล้วและผ่านการทำรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ฉบับคือ ฉบับปี 40 และ 50 ดังนั้น การทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของคนหน้าใหม่มาทำงานจะดีกว่า ไม่เช่นนั้นจะถูกกล่าวหาเป็นคนหน้าเก่ามาทำงานอีก
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิกสนช.กล่าวว่า ตนไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ ในกรรมการร่างฯ เนื่องจากมีภารกิจค่อนข้างยุ่ง อีกทั้งในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องทำงานเต็มเวลา 100 เปอร์เซ็นต์ด้วย จึงไม่มีเวลารับงานร่างรัฐธรรมนูญอีก อย่างไรก็ตาม ตนผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ฉบับ คือปี 40 และ 50 ดังนั้น ร่างฉบับใหม่ควรให้บุคคลที่ยังไม่มีโอกาสเข้ามาทำงานจะเหมาะสมกว่า
แนะร่างรธน.ให้ผ่าน
นายสมคิดกล่าวว่า กรรมการร่างฯควรนำรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 รวมถึงร่างรัฐธรรม นูญ 58 ที่ไม่ผ่านสปช.มาพิจารณาในเนื้อหาด้วย โดยเฉพาะร่างรัฐธรรมนูญ 58 ที่ผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชน ยอมรับว่าเนื้อหามีข้อดีจำนวนมาก อาทิ การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้จะมีข้อเสียอยู่บ้างตามที่แต่ละฝ่ายท้วงติง ดังนั้นคณะกรรมการร่างฯชุดใหม่ ต้องพิจารณาถึงจุดกึ่งกลางของเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งนี้ อันดับแรกของกรรมการร่างฯ คือต้องมาพูดคุยและตกลงกันให้ได้ก่อนว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ หรือรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยเปลี่ยนผ่าน
นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตส.ส.ร. 50 กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คนว่า บุคคลที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ควรศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สปช.ไม่เห็นชอบ อย่างละเอียดหลายประเด็น กระบวนการร่างต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าประชาชน พรรคการเมือง และนักวิชาการ เปิดเผยข้อมูลให้สังคมรับทราบมากกว่าเดิม เพราะครั้งนี้เมื่อร่างเสร็จต้องทำประชามติทันที หากไม่ผ่านผลกระทบทางการเมืองจะมีมาก ส่วนข่าวว่าอดีตส.ส.ร. 50 ไปร่วมหลายคนนั้น อาจเป็นเพราะทีมร่างรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าวสามารถร่างกฎหมายร่วมกันให้ทุกฝ่ายรับได้และผ่านประชามติในที่สุด
ชี้จุดดีสปช.นั่งสภาขับเคลื่อน
นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตสมาชิกสปช. กล่าวถึงการการแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ ว่าเป็นดุลพินิจของนายกฯ อดีตสมาชิกสปช.ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งการเสนอตัว หรือได้รับการทาบทาม เพราะเพิ่งพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ ตนมีข้อเสนอแนะเพื่อประกอบข้อพิจารณาในเรื่ององค์ประกอบสภาขับเคลื่อนฯว่า 1.อย่างน้อยควรมีอดีตสปช. จากกมธ.ปฏิรูป 18 คณะ จะช่วยเชื่อมโยงฐานข้อมูล ฐานข้อคิดข้อเสนอ เพื่อสานต่อกับการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรมได้รวดเร็ว ตามที่นายกฯมุ่งแปลงแผนแม่บทปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ชาติ ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด ส่วนการคัดสรรจากกมธ.ปฏิรูป 18 คณะ จะกี่คนนั้นขึ้นอยู่กับนายกฯ แต่อย่างน้อยควรมีคณะละ 1 คน
2.ต้องอยู่บนความหลากหลาย มีสมาชิกมาจากทุกขาสา ทุกภาคส่วนทั้งราชการ การเมือง เอกชน และประชาสังคม มีพื้นฐานความรู้ในฐานะนักบริหารหรือนักปฏิบัติ เพราะสภาขับเคลื่อนฯต่างจากสปช. เนื่องจากสปช.เป็นสภาของนักคิดที่ออกแบบการปฏิรูป เป็นพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ แต่สภาขับเคลื่อนฯจะนำแผนไปสู่ความเป็นจริง จึงจำเป็นต้องมีนักบริหารซึ่งถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญ
"อมร"เสนอตัวเหมาะสม
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อดีตสมาชิกสปช. กล่าวถึงการแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนฯว่า ส่วนตัวได้พูดคุยกับบางคนว่าสนใจจะทำหน้าที่ในสภาขับเคลื่อนฯ เชื่อว่าผู้ที่มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งจะพิจารณาจากผลงานที่เคยทำ ไม่ใช่พิจารณาจากการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ตนเชื่อว่ามีคุณสมบัติเพียงพอจะได้รับเลือก เพราะช่วงที่ทำงานก็เป็นประธานอนุกมธ. 2 คณะ คือประธานอนุกมธ.ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย และประธานอนุกมธ.ปฏิรูปด้านพรรคการเมือง ผลงานปรากฏชัดเจน เช่น การร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเสร็จแล้ว ซึ่งส่งให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ทำต่อได้ทันที แต่ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจจะพิจารณาแต่งตั้ง
ชี้มีอดีตสปช. 100 คนเข้าร่วม
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนฯ จะมีอดีตสปช.ได้เข้าไปทำหน้าที่ประมาณ 60-100 คน ขณะที่อีกส่วนจะมาจากข้าราชการทหาร ตำรวจ และข้าราชการที่มีเวลามากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือว่ามีข้อดีในแง่ประสบการณ์ทำงาน
นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกสปช. กล่าวถึงการตั้งสภาขับเคลื่อนฯว่า เป็นอำนาจของนายกฯโดยตรง ตนยังไม่ได้รับการติดต่อหรือทาบทาม แต่เชื่อว่าจะมีอดีตสมาชิกสปช.เข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสภาชุดนี้ด้วย เนื่องจากการปฏิรูปคราวนี้จะเป็นการปฏิบัติต้องใช้บุคคลที่เคยมีประสบการณ์ อย่าไปมองว่าจะเป็นอดีตสมาชิกสปช.ที่เคยโหวตผ่านหรือไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน คิดว่าทั้งที่โหวตผ่านและไม่ผ่านน่าจะมีส่วนร่วมกับสภาขับเคลื่อนฯอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯคือ ต้องมีแนวคิดในทิศทางเดียวกัน หรือสอดคล้องกับฝั่งรัฐบาล ไม่หลากหลายเหมือนสปช. เพื่อความมีเอกภาพ ทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นจริง
นิรันดร์ค้านสปช.คืนเงิน
นายนิรันดร์ พันทรกิจ อดีตสมาชิกสปช. กล่าวถึงกรณีนายสิระ เจนจาคะ อดีตสมาชิกสปช. เรียกร้องให้สปช.ที่โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญคืนเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆ ให้แก่รัฐสภาว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 สปช.ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าว ควรได้รับการยกย่องด้วยซ้ำ เพราะ 1.ปกป้องเงินของแผ่นดินที่จะสูญเสียไปในการทำประชามติถึง 4 พันล้านบาท ซึ่งเห็นอนาคตชัดเจนว่าไม่สามารถผ่านประชามติได้ 2.การคว่ำรัฐธรรมนูญถือเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมที่จะเกิดความขัดแย้งขึ้นในประเทศ และ 3.ให้เวลารัฐบาลได้ใช้อำนาจจัดการปฏิรูปเรื่องสำคัญๆ ก่อนจะนำประเทศเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง
นายนิรันดร์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดให้สปช.มีอำนาจให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเกิดการถ่วงดุลกับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้จะเอาผิดสปช.ได้หรือไม่ ในเมื่อสปช.มีอำนาจเพียงเสนอแนะเท่านั้น การเขียนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ถือเป็นความรับผิดชอบของกมธ.ยกร่างฯโดยสมบูรณ์ เชื่อว่าสปช.ทุกคนมีวุฒิภาวะเพียงพอ ที่เล็งเห็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญและเงื่อนไขทางสังคมการเมือง ว่าหากรัฐธรรมนูญนี้ผ่านความเห็นชอบของสปช.แล้วจะเกิดผลเสียแก่ประเทศชาติและประชาชนมากกว่าผลดี ผลจึงออกมาว่าไม่เห็นชอบ
พท.โวยอยู่ยาวเท่ารัฐบาลปชต.
นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสูตร 6-4-6-4 ว่าครม.ไม่คิดตัดทอนลงบ้างหรือ ทั้งกระบวนการร่างประชามติ จัดทำกฎหมายประกอบ หากจะเร่งรัดรีบทำเพื่อจะได้พ้นภาระเพราะเคยบ่นว่าไม่คิดจะอยู่ยาว กลายเป็นว่าถ้าเป็นแบบนี้จะอยู่กันถึง 3 ปีกว่า เกือบเท่าวาระปกติของรัฐบาลประชาธิปไตย ระยะเวลา ยกร่าง 6 เดือน คงไม่จำเป็นถึงขนาดนั้น เพราะมีต้นแบบรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แม้แต่ระหว่างจะทำประชามติก็ยกร่างกฎหมายประกอบไปได้ คิดไปมาดีๆ 13 เดือนก็เต็มที่แล้ว หากจะคำนึงถึงปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า ปัญหาความยอมรับของต่างประเทศ คิดว่าอย่าคิดอยู่ยาวเลย เกรงว่าจะอยู่ไม่ถึง 6-4-6-4 ห่วงว่าจะกลายเป็นหกคะมำเสียก่อน
เชียร์ปรับแก้รธน. 40
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน พรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีสปช.โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า แม้จะเป็นทางออกที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ แต่แสดงถึงความล้มเหลวซ้ำซ้อนของรัฐบาลและคสช. หลังจากล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ ต้องเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจทั้งทีม ซึ่งการตั้งกรรมการร่างฯอาจไม่ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และการยืดเวลาเลือกตั้งออกไปอีก 20 เดือน จะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ทำให้ความมั่นใจทั้งในและนอกประเทศยิ่งหดหาย ต่างประเทศมองว่าเป็นการเล่นละครปาหี่เพื่อลากยาวไม่ให้มีเลือกตั้ง ทำให้การลงทุนหยุดชะงัก การส่งออกลดลง และอาจเป็นเหตุผลในการออกมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมได้ ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนมั่นใจจึงอยากให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาแก้ไขปรับใช้ เร่งให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว
จี้เปิดทางปชช.เป็นผู้ยกร่าง
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรค เพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า สาเหตุที่มีการร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นเผด็จการสุดโต่งขึ้นมาได้นั้น เนื่องจากกระบวนการร่างไม่เป็นประชาธิปไตย ร่างรัฐธรรมนูญที่มุ่งให้เกิดการสืบทอดอำนาจของคสช.กับพวกอย่างโจ่งแจ้งนี้ถูกคว่ำไป เนื่องจากมีเสียงคัดค้านอย่างกว้างขวางจากประชาชนฝ่ายต่างๆ ที่สุดก็มีการสั่งการประสานงานให้สปช.คว่ำร่างนี้เสีย การร่างรัฐธรรมนูญต้องล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง ทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสเสียเวลากันไปเปล่าๆ เป็นปีๆ คสช.จึงควรแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร
นายจาตุรนต์กล่าวว่า จากความล้มเหลวในการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาการจะใช้กระบวน การร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเดิมอีก ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้รัฐธรรมนูญที่ดี ตัวเลข 6-4-6-4 ที่กำลังนำเสนออยู่ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไปอยู่แล้วนั้น สุดท้ายอาจเป็นตัวเลขสมมติชั่วคราวที่ยืดออกไปเรื่อยๆ ก็ได้ ทางออกที่จะทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดี บ้านเมืองคืนสู่ความเป็นปกติสุขโดยเร็ว คือต้องใช้กระบวนการร่างที่เป็นประชาธิปไตย คสช.ควรปล่อยวางอำนาจในการบงการกำกับการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ประชาชนมาเป็นผู้ร่าง มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสุดท้ายตัดสินด้วยการลงประชามติที่เสรีและยุติธรรม การจะสร้างความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศในเรื่องนี้ ควรกำหนดเงื่อนไขกติกาและโรดแม็ปเสียใหม่ให้ชัดเจน ว่าประเทศจะ มีรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งในเวลาที่ เหมาะสมและแน่นอน ไม่ใช่ยืดเยื้อต่อไปไม่มีวันสิ้นสุดอย่างที่เป็นอยู่
มาร์คหนุนปรับปรุงร่างเก่า
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสปช.ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้เรามีโอกาสดีทำให้ประเด็นการปฏิรูป หรือการแก้ปัญหาของการเมืองรอบคอบและมีเวลา เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายมามีส่วนร่วมทำให้เกิดการยอมรับ ขอให้ใช้เวลา 6 เดือนที่เพิ่มขึ้นเป็นโอกาสทองขับเคลื่อนไปสู่การปฏิรูปที่แท้จริงให้ได้ และอยากเชิญชวนทุกฝ่ายพักเรื่องการวิพากษ์ วิเคราะห์ทางเมืองในช่วง 6 เดือนนี้เพื่อให้เป็นเวลาของการวางระบบที่ดีที่สุดสำหรับบ้านเมืองในอนาคต คิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ทั้งนี้ เห็นว่าหากนำร่างฉบับเดิมมาทำประชามติจะทำให้มีความขัดแย้งมากพอสมควร เพราะมีบทบัญญัติบางส่วนที่ยังถกเถียงกัน และเห็นว่าสามารถนำร่างนี้ไปปรับปรุง เก็บสิ่งที่ดีไว้ แล้วเอาจุดที่เป็นปัญหาแก้ไขให้ดี ก่อนสู่ขั้นตอนทำประชามติ เสียเวลาไปอีกไม่กี่เดือน คิดว่าคุ้มค่าและน่าจะดีกว่า
"เมื่อสปช.ไม่เห็นชอบร่าง ไม่ได้แปลว่าเราต้องโยนทุกอย่างทิ้ง สิ่งที่เป็นหลักการที่ดี เช่น การเพิ่มอำนาจพลเมือง การเพิ่มการตรวจสอบ ผมคิดว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 21 คนต้องไม่ทิ้ง แต่เอาสิ่งที่ดีนั้นคงไว้ ใช้เวลานี้มาดูเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหา ผมไม่เห็นด้วยหากจะมาเริ่มต้นเหมือนเขียนใหม่หมด ควรคงสิ่งที่ดีไว้เพื่อประเทศเดินไปข้างหน้าได้" นายอภิสิทธิ์กล่าว
กก.ร่างรธน.ไม่ควรมีนักการเมือง
เมื่อถามว่าคณะกรรมการร่างฯ ควรมีคุณสมบัติแบบไหน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าต้องมีความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ มีประสบการณ์ร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 40 ปี 50 หรือฉบับที่เพิ่งถูกคว่ำไปเข้ามาผสมผสานกัน หรือเติมคนใหม่เข้าไปก็ได้ ไม่อยากให้คิดเอาฝ่ายการเมืองเข้ามาร่วมด้วย เพราะจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนอีก บทเรียนสำคัญสำหรับคณะกรรมการร่างฯ ถ้าทำให้กระบวน การเปิดเผย มีส่วนร่วมให้มากก่อนเข้าสู่ขั้นตอนทำประชามติจะช่วยให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับได้ง่ายขึ้น ส่วนการปฏิรูปต่อจากนี้ถือเป็นการบ้านสำคัญทั้งรัฐบาลและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศว่าจะทำอย่างไรใน 6 เดือน หรือ 1 ปีจากนี้ เพื่อให้การปฏิรูปปรากฏชัดเป็นรูปธรรมในทุกด้าน
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนที่มีความเห็นไม่ตรงกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย หรือมูลนิธิกปปส. ที่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านนั้น คิดว่าเป้าหมายไม่แตกต่างกัน คืออยากเห็นการปฏิรูปเกิดขึ้นและอยากเห็นการเลือกตั้งนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่เราประเมินต่างกัน กปปส.หรือนายสุเทพอาจมองว่าหลักประกันเรื่องการปฏิรูปดีพอแล้ว แต่ตนเห็นว่าหลักประกันการปฏิรูปยังไม่มี มีแต่กลไกที่จะบังคับรัฐบาลต่อไปให้ทำอะไรมากกว่าสาระการปฏิรูป รวมถึงยังมีความสุ่มเสี่ยงต่อการนำไปสู่ความขัดแย้ง
บิ๊กตู่ชี้ถอดยศทำตาม"แม้ว"บอก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. กล่าวถึงการออกคำสั่งคสช. มาตรา 44 ถอดยศนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า เรื่องมาตรา 44 ที่จบไปแล้วก็ไม่จบ ตนทำให้มันจบ เรื่องที่เป็นความขัดแย้งจบก่อนและไม่ได้เดือดร้อนใคร ตนทำตามใจคนพูด เขาบอกว่าไม่ต้องการ บอกว่าอยากถอดก็ถอดไป มาว่าตนได้อย่างไรทำตามใจเขา เจตนาของคนพูดกับที่ตนพูดมันต่างกัน ไม่ได้ประเมินว่าตนเองสูงกว่าแต่อย่าเอาสิ่งที่ไร้ค่าของเขามาพูดกับตน ไม่ฟังและจะทำแบบนี้ต่อไป จะใช้กฎหมายด้วยความยุติธรรมและเป็นธรรม ถ้าไม่ผิดก็ไม่มีใครแตะต้องได้ ไม่ได้ใช้เพื่อรังแกใคร ต้องมีสาเหตุ เคยรับสาเหตุกันหรือไม่ คำตัดสินของศาลยังไม่รับเลย รู้กันอยู่ว่าประชาชนเจ็บตายยังไม่แก้ไขเลย
"อย่าให้คนทุจริต หรือคนไม่ดี มีที่ยืนอยู่ในสังคมอีกต่อไป คนเลว คนทำผิดกฎหมาย คนขี้โกง แต่อย่าไปรุนแรง อย่าไปนับถือ อย่าไปชื่นชมกันมาก พวกที่ชื่นชมและให้การสนับสนุนการกระทำความผิด หรือผู้กระทำความผิดหลบหนีต่างๆ ระวังกฎหมาย ไปพูดจาถือว่าเข้าประเด็นให้การสนับสนุนการกระทำความผิดกฎหมาย ระวังกฎหมายจะเล่นงาน พวกที่พูดเก่งๆ พวกที่ชอบพูดว่า ท่านครับผมว่าท่านอยู่ในหัวใจของผมตลอดไป ขอให้ระวังตัว ฝ่ายกฎหมายเขาดูอยู่ ไอ้ฉลาดเป็นคนที่พูด คนพูดชื่อความหมายเดียวกันกับฉลาด รู้จักไหม คงไม่ต้องให้ผมพูดชื่อตรงๆ คงคิดกันออก ชื่ออะไร" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว เมื่อมีผู้สื่อข่าวตอบว่า เก่ง นายกฯกล่าวติดตลกว่า "ใช่ให้คะแนน เอาตังค์มา ฉลาดนี่"
เลี้ยวซ้าย-เรื่องจบแล้ว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีนายธนเดช พ่วงพูล ทนายความและนักกฎหมายจากบริษัทไลท์เฮ้าส์ ลอว์เยอร์เซอร์วิส จำกัด ยื่นเรื่องถึงผบ.ตร.ให้ดำเนินคดีกับพล.อ.ประยุทธ์ กับพวก กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ใช้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ถอดยศนายทักษิณ ว่า ต้องไปดูมาตรา 44 บอกไว้แล้วว่าเมื่อใช้มาตราดังกล่าวแล้วเป็นอันถึงที่สุด มาตรานี้ไม่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ เส้นทางปกติของการเสนอถอดยศคือการออกเป็นพ.ร.บ. เสนอเข้าสู่สภาเพื่อลงพระปรมาภิไธย แต่เพื่อความจำเป็นบางอย่างต้องเลี้ยวซ้าย ฝ่ายข่าวพบว่าอาจมีกรณีไประคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท จึงใช้วิธีให้หัวหน้าคสช.รับผิดชอบไว้เอง เมื่อเลือกเส้นทางนี้แล้วถือว่าจบ
เมื่อถามว่าฝ่ายที่ถูกกระทบมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม นายวิษณุกล่าวว่า เป็นธรรมหรือไม่ธรรมที่สุดต้องเดินด้วยเส้นทางนี้อยู่แล้ว เหมือนถนนที่เดินมาตามเส้นทางสายนี้แล้วมีแยกเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา ถ้ารู้ว่าเลือกทางหนึ่งแล้วมีปัญหาที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมควร ไม่เหมาะสม ก็ต้องเลือกอีกทางหนึ่งแต่ได้ผลอย่างเดียวกัน และคิดว่าสิ่งที่นายทักษิณ พูดนั้นเป็นโลกธรรม ฉะนั้นคนที่เข้าใจอย่างนั้นได้ก็ไม่มีปัญหา คนเรามีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีสุขก็มีทุกข์ เรียกว่าโลกธรรม 8 ประการ สาธุ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการถอดยศพ.ต.ท. ของนายทักษิณ ชินวัตร ว่า ถือว่าจบแล้ว ทุกอย่างชัดเจนหมดแล้ว และตัวของนายทักษิณ ก็ไม่ได้ติดใจ
'บิ๊กต๊อก'ฮึ่ม-ไม่กลัวบานปลาย
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ตอบคำถามกรณีครม.หารือถึงข้อห่วงใยว่าจะเกิดเหตุบานปลายจากเหตุถอดยศนายทักษิณ หรือไม่ว่า ไม่มี เมื่อถามว่าสามารถควบคุมสถานการณ์หลังจากนี้ได้หรือไม่ รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า รู้ได้อย่างไรว่ามันจะเกิด จะเกิดเพื่ออะไร การถอดยศเป็นไปตามกฎหมาย แล้วที่บอกจะเกิดความไม่สงบเรียบร้อยเพื่ออะไร
เมื่อถามว่านายทักษิณ ไม่ใช่คนธรรมดา พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ตกลงกฎหมายนี่ไม่ใช้กับคนไม่ธรรมดาหรือ กฎหมายใช้กับทุกคน นายกฯผิดก็ต้องถอด พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนกัน กฎหมายเดียวกัน ถ้าถามว่าจะเกิดความไม่สงบเพราะอะไร ถามคำนี้ถ้าไม่ต้องการให้ตนทำตามกฎหมายก็พูดมา แล้วอย่ามาพูดว่ารัฐบาลชุดนี้เลือกปฏิบัติ ห้ามพูดคำนี้เด็ดขาด มันเป็นเรื่องที่ตร.เขาถอดมาตั้งกี่คนแล้ว ทบทวนฝ่ายกฎหมายเรียบร้อยหมดแล้ว กลัวอะไร ถ้าทำถูกก็ไม่ต้องกลัว ตนพูดคำนี้ ไม่กลัวให้ออกมาแล้วกันบอกด้วยว่าออกเพื่ออะไร จะได้รู้ว่าปกครองประเทศแบบไหน เอาไปเขียนด้วย