WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

 6-4

เลือกตั้ง-ยืดไปอีก 20 เดือน วิษณุชี้สูตร'6-4-6-4' 'บิ๊กตู่'ยังไม่มีชื่อ 21 กก. บวรศักดิ์เก็บของแล้ว สิระจี้ซ้ำสปช.คืน 1.7 ล. ครม.ถกโผตั้ง 60 ผวจ. ข้ามภาคนั่งปทุม-นนท์

      'บิ๊กตู่'ยังไม่มีชื่อ กก.ยกร่างชุดใหม่ 'วิษณุ'เผยสูตรร่าง'6-4-6-4' เดือน ให้รออีก 20 ด.มีเลือกตั้ง ส่วนกก.ยกร่าง-สภาขับเคลื่อน ต้องตั้งภายใน 30 วัน 'บวรศักดิ์' เก็บของลาสภา เพื่อไทยแนะร่างรธน. ประชาชนอยากได้กติกาที่เป็นปชต. ครม.ถกโผตั้งกว่า 60 ผวจ. แม้วไม่ยึดติดถอดยศ ชี้พวกนี้เหมือน 'เด็ก' ทำแต่เรื่องเล็กๆ

วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9050 ข่าวสดรายวัน

เปิดงาน - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงาน "ตื่นตา สินค้า GI ตื่นใจอัตลักษณ์ชุมชน" บริเวณตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล พร้อมเดินเที่ยวชมร้านค้าภายในงาน เมื่อวันที่ 7 ก.ย.

'บิ๊กป๊อก'ส่งโผย้ายบิ๊กมท.แล้ว

       เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะที่ปรึกษา คสช. กล่าวปฏิเสธกระแสข่าวผู้ใหญ่ใน คสช.สั่งให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่มี ส่วนการดำเนินการหลังจากนี้ ในส่วนของที่ปรึกษายังไม่ได้เรียกประชุมหรือปรึกษาเรื่องนี้ คิดว่าคงจะดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญ โดย พล.อ.ประยุทธ์คงจะตั้งกรรมการร่างรัฐ ธรรมนูญ 21 คนขึ้นมาดำเนินการยกร่างต่อไป

เมื่อถามว่ามีกลุ่มนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวหลังสปช.มีมติคว่ำร่าง พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า อย่าใช้คำว่าคว่ำร่างเลย เอาเป็นว่าเมื่อร่างเข้าสู่การพิจารณาของ สปช.ก็จะมี 2 แนว ทางคือ ผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าผ่านแล้วมีฝ่ายหนึ่งออกมาและไม่ผ่านก็มีฝ่ายหนึ่งออกมา ประเทศ ก็เดินหน้าไม่ได้ หรือต้องให้ผ่านเท่านั้นถึงจะพอใจใช่หรือไม่

       พล.อ.อนุพงษ์ ในฐานะ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์โผแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงกระทรวงมหาดไทยจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 8 ก.ย.นี้ ว่า ได้เสนอไปแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเรื่องจะเข้าสู่ที่ประชุม ครม.หรือไม่

'ปวิณ'ขยับนั่งผวจ.เชียงใหม่

     รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทยแจ้งว่า กระทรวงมหาดไทยได้เสนอรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงกว่า 60 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งที่น่าสนใจ เช่น นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา เป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสุรชัย ขันอาสา ผวจ.พิจิตร เป็นผวจ.ปทุมธานี นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.อ่างทอง เป็น ผวจ.เชียงใหม่ นายชูชาติ กีฬาแปง ผวจ.พะเยา เป็น ผวจ.พิษณุโลก

      นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผวจ.สกลนคร เป็น ผวจ.เชียงราย นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ร้อยเอ็ด เป็นผวจ.สุราษฎร์ธานี นาย ชยาวุธ จันทร ผวจ.มหาสารคาม เป็นผวจ.อุดรธานี นายสมศักดิ์ ปริสุทโธ เหมทานนท์ ผวจ.ตรัง เป็นผวจ.จันทบุรี นายสามารถ ลอยฟ้า ผวจ.จันทบุรี เป็น ผวจ.ลำปาง

ผวจ.ชัยภูมิไปคุมโคราช

      นายประยูร รัตนเสนีย์ ผวจ.พังงา เป็น ผวจ.พระนครศรีอยุธยา นายวิเชียร จันทร โณทัย ผวจ.ชัยภูมิ เป็น ผวจ.นครราชสีมา นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผวจ.กระบี่ เป็น ผวจ.สงขลา นายดลเดช พัฒนรัฐ รองอธิบดีกรมการปกครอง เป็น ผวจ.ยะลา นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผวจ.ภูเก็ต เป็น ผวจ.นนทบุรี

      ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ส่วนผู้ตรวจราช การกระทรวงมหาดไทยที่ได้ออกเป็น ผวจ.เช่น นายวิชิต ชาตไพสิฐ นายคณิต เอี่ยม ระหงษ์ นายพิเชษฐ ไพบูลย์ศิริ นอกจากนั้นยังมีรองผวจ.ที่จะขยับขึ้นเป็นผวจ. อาทิ นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ รอง ผวจ.สมุทรสาคร เป็นผวจ.สมุทรสาคร นายภคพงศ์ ทวิพัฒน์ รองผวจ.สระบุรี เป็นผวจ.ชัยนาท นายภานุ แย้มศรี รอง ผวจ.นนทบุรี เป็นผวจ.เลย นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ รองผวจ.พิจิตร เป็นผวจ.พิจิตร นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองอธิบดีกรมการปกครอง เป็นผวจ.มุกดาหาร หรือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นาย ชาญนะ เอี่ยมแสง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็น ผวจ.ตราด

      นายสนิท ขาวสอาด รองผวจ.ศรีสะเกษ เป็นผวจ.เพชรบุรี นายสิทธิชัย ศักดา รองผวจ.นราธิวาส เป็นผวจ.นราธิวาส นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ รอง ผวจ.นครสวรรค์ เป็นผวจ.อุตรดิตถ์ นายวินัย วิทยานุกูล รองผวจ.นคร ราชสีมา เป็นผวจ.กาฬสินธุ์ นายสุทธา สายวาณิชย์ รองผวจ.ตาก เป็นผวจ.แม่ฮ่องสอน นายจำเริญ ทิพยพงศ์ธาดา รองผวจ.นครปฐม เป็นผวจ.ภูเก็ต

เผยสิงห์ดำขยับพรึบ

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การย้ายผวจ.จังหวัดใหญ่ครั้งนี้ พบว่ามีผวจ.สิงห์ดำ หรือผู้ที่จบคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการปรับย้ายจำนวนมาก เช่น นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ นายประยูร รัตนเสนีย์ นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม นายชยาวุธ จันทร ส่วนผวจ.ใหม่ที่เป็นสิงห์ดำ เช่น นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ นายภคพงศ์ ทวิพัฒน์ นายภานุ แย้มศรี นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม

      สำหรับ ผู้ที่จบคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ สิงห์แดงที่ได้ขึ้นจังหวัดใหญ่ มีนายสุรชัย ขันอาสา นายวิเชียร จันทร โณทัย นายสมศักดิ์ จังตระกุล และผวจ.ใหม่ มี นายชาญนะ เอี่ยมแสง นายสนิท ขาวสอาด นายสิทธิชัย ศักดา นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นรองผวจ.ที่มีอาวุโส 5 ปี ถือว่าอยู่ในตำแหน่งรองผวจ. มายาวนาน

'บิ๊กตู่'เจ็บเข่าขวา

       ที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดงาน "ย่านธุรกิจสร้างสรรค์และสินค้าจีไอ" ซึ่งภายในงานมีการเปิดแสดงและจำหน่ายสินค้าคุณภาพดีจากย่านธุรกิจสร้างสรรค์ แหล่งรวมสินค้า จีไอคุณภาพ ทั้งนี้ น่าสังเกตว่า นายกฯ มีอาการ เจ็บเข่าข้างขวา โดยสวมอุปกรณ์ประคองเข่า (ซัพพอร์ตเข่า) และเป็นครั้งแรกที่นายกฯ ไม่กล่าวเปิดงานเหมือนเช่นทุกครั้ง คาดว่าเพราะอาการเจ็บเข่า แต่ยังพยายามเดินเยี่ยมชมบูธสินค้าต่างๆ เพื่อให้กำลังใจผู้ค้าภายในงาน

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดช่วงเช้า นายกฯ ได้ปฏิบัติภารกิจอยู่บนตึกไทยคู่ฟ้าเพียงแห่งเดียว โดยเมื่อเวลา 13.30 น. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2558 ได้เปลี่ยนสถานที่ประชุมจากเดิมที่ตึกสันติไมตรี มาเป็นห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้าแทน

      พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงอาการบาดเจ็บที่เข่า โดยกล่าวติดตลกว่า "ไปเตะคนมา เตะตัวเองมา โง่ไง เตะขาเล่น โง่เข้ามายืนทำไม เข้ามาทำทำไม โง่หรือเปล่า" พร้อมอธิบายว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ไปเตะขั้นบันไดมานิดหน่อย เพราะรีบเดินมาทำงาน ทำไมจะต้องถามกันทุกเรื่อง

บ่นสปช.ทำปรองดองล่ม

      "ยืนยันว่า ที่พูดวันนี้ไม่ได้อารมณ์เสีย อารมณ์ดี ถ้าอารมณ์เสียคงไม่พูด แต่ถ้าอารมณ์ดีก็จะพูด สื่ออยากจะถามฉัน ฉันก็อยากอธิบาย ฉันเตรียมคำตอบไว้ทั้งหมดแล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

       เมื่อถามถึงการสรรหาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กำลังคิดอยู่ ยังไม่รู้ว่าจะมีใครบ้าง ตนกำลังหาอยู่ ตนไม่คิดคนเดียว โดยจะหารือกับคณะทำงานถึงเรื่องความเหมาะสม ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่ากมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดเก่าไม่ดี แต่เมื่อเป็นบทเรียนว่าการร่างครั้งแรกโดยตนไม่ได้มองว่าดีหรือไม่ดี เป็นประชา ธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย แต่มองว่า การเริ่มต้นการปรองดองไม่เกิดขึ้นแล้วตั้ง แต่บัดนี้ การปรองดองของผมคือคนในสปช.มาจากทุกจังหวัด จากแดง เหลืองมาหมด และกมธ.ยกร่างฯ ก็มาจากกลุ่มนี้ ให้ 250 คนแสดงให้เห็นว่าบ้านเมืองมันควรจะเอาอย่างไร การปรองดองคืออะไร เมื่อไรจะเข้าใจกันเสียที ไม่ใช่การยกโทษ เป็นเรื่องของกระบวนการ ทำให้ทุกฝ่ายลดระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น และแสวงหาทางออกร่วมกัน ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ ถ้าทำความผิดมันยกโทษให้ไม่ได้

ชี้รธน.ใหม่ต้องตรงสถานการณ์

      ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ทาบทามคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไว้แล้วใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ทาบใครทั้งนั้น ตนเขียนเอง ตนเอารายชื่อมาคิด เพราะรู้ว่าคนนี้บ้านนี้เป็นอย่างไร วันนี้ต้องหาคนที่เป็นตัวของตัวเอง และเป็นคนที่จะต้องแสวงหาทางออกให้ได้ ในเมื่อบ้านเมืองมีปัญหา ไม่รู้ว่ากระบวน การแสวงหาทางออกในความขัดแย้งทำอย่างไร ทำไม่เป็น มีแต่ให้คนนี้ทำ คนโน้นทำ ตนมาก็ให้ตนทำ ทำไมสื่อไม่ช่วยตน ต้องการความสงบเรียบร้อยก็ต้องลดระดับลงไปบ้าง บางเรื่องไม่ใช่ต้องเอามาขุดคุยทุกวัน

      เมื่อถามว่า จะให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ร่างไว้มาเป็นแนวทาง หรือทำใหม่ทั้งหมด พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมันจะเป็นอย่างไร ก็เป็นได้แค่นี้ จะออกมากี่มาตรา อันไหนที่เป็นสากลก็ต้องเป็นสากล และอันไหนที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ตรงกับสถานการณ์ ถ้าต้องการปฏิรูปก็ไม่มีอะไรแตกต่าง ส่วนการทำความเข้าใจกับประชาชนหรือไม่ ก็พูดอยู่นี่ ทำไมต้องพูดทุกวัน ครั้งแรกครั้งสุดท้าย เรื่องรัฐธรรมนูญตนพอแล้ว

โวยลั่นไม่มีใบสั่งสปช.ทหาร

       เมื่อถามว่า สปช.สายทหารโหวตไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้คนเข้าใจผิดว่ามีใบสั่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเสียงดังว่า ทำไม เขาเป็นทหารและเกษียณไปแล้ว ตนไปสั่งได้หรือไม่ สื่อก็มองแต่แบบนี้ ดูถูกสมองเขา ตนตอบอยู่นี่ ไม่ได้สั่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ทหารโหวตคว่ำอาจถูกฝ่ายตรงข้ามนำไปโจมตีได้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนไม่สนใจ และสื่อจะไปขยายความให้เขาทำไม คนดีหรือเปล่าที่ไปขยายให้ คนไทยต้องเรียนรู้ใหม่ สื่อต้องเรียนรู้ใหม่ว่าจะทำอย่างไรในวันข้างหน้าถึงจะไม่ขัดแย้ง เกิดความเป็นธรรม มีความยุติธรรม ตนทำทุกวันซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลอื่น เช่นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมีใครทำบ้าง


เลี้ยงอำลา - อดีตสปช.กว่า 200 คน จัดเลี้ยงอำลาตำแหน่งบนเรือ ล่องจากท่าเรือศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ ไปยังสะพานพระราม 8 ส่วนนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ. ยกร่างฯ และอดีตรองประธานสปช. ไม่ได้มาร่วมด้วย เมื่อวันที่ 7 ก.ย.

       เมื่อถามว่า คาดหวังอย่างไรกับการร่างรัฐ ธรรมนูญครั้งใหม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่ได้คาดหมายอะไร ตนทำงาน และไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น รัฐธรรมนูญถ้าผ่านก็ไปทำประชามติ แล้วเลือกตั้ง เรียบร้อยแล้วตนก็กลับบ้าน ไม่ว่าเวลาจะยืดหรือสั้น ตนไม่มีผลประโยชน์

ยันเดินตามโรดแม็ป

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า 1.ถามว่าประเทศไทยต้องการการปฏิรูปหรือไม่ 2.เชื่อมั่นหรือไม่ว่ารัฐบาลใหม่ที่มาจากพรรคจะทำการปฏิรูป ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ก่อน ถ้าสงสัยให้กลับไปดูข้อที่ 1 ว่าก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 นักการเมืองมีความดีทั้งหมดหรือไม่ 3.วันนี้ต้องมีกระบวนการไปสู่การปฏิรูปหรือไม่ 4.แน่ใจหรือไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้ง ต้องถามแบบนี้ไม่ใช่มีโพล มาบอกว่าวันนี้คะแนนนายกฯตกต่ำ คะแนนขึ้น เพราะตนไม่สนใจ เพราะสนใจแค่ว่าจะทำอะไรสำเร็จได้บ้าง

"ไปดูว่าประชุม ครม.เขามีอะไรบ้าง เขากับ ผมประชุมมันต่างกันอย่างไร รู้หรือไม่ ครม.ทำอะไรให้บ้าง ไม่เคยรู้ มักเอาสิ่งที่เป็นอดีตมาเป็นปัจจุบันไปทั้งหมด ถามว่าจะหลุดจากความขัดแย้งตรงนี้ไปเมื่อไหร่ ต่างชาติเขารอว่าเมื่อไรไทยจะสงบ เขาถามผมก็บอกว่าเดินตามโรดแม็ปของผม ซึ่งมีรัฐธรรมนูญ ผ่านได้ก็ผ่านไป เขาก็หยุดถาม มีแต่ในประเทศ ถามอยู่นั่น ไม่เข้าใจภาษาไทยหรือยังไง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องรัฐธรรมนูญหากนำฉบับปี"40 มาใช้ อีกพวกหนึ่งก็จะดีใจ แต่พวกที่ชอบฉบับปี"50 ก็ไม่ยอม จึงต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่

'ดอน'ชี้ตปท.ไม่กังวลคว่ำรธน.

     นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ กล่าวถึงสปช.มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดแสดงความห่วงใยต่อกรณีดังกล่าว สะท้อนถึงสัญญาณที่ดีว่าไม่มีประเทศใดกังวล จึงไม่จำเป็นต้องชี้แจงทำ ความเข้าใจกับนานาชาติ เพราะทุกฝ่ายทราบดีว่าเรื่องนี้เป็นการเมืองภายใน ประเทศไทยจึงจะต้องจัดการกันเอง ที่ผ่านมาไม่มีใครถามเลย เมื่อไม่มีใครถาม เราถือว่าทุกคนเข้าใจ ว่าเป็นกระบวนการหนึ่งในการมีรัฐธรรมนูญของไทย

เมื่อถามว่ากระทบความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่มีต่อไทยหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบปัญหา เพราะต่างชาติจะมีความเชื่อมั่นตราบใดที่สถานการณ์ภายในประเทศยังมีความสงบอยู่ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าราบรื่นสงบดี อาจมีคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่ภาพใหญ่คือความสงบที่มีในสังคม เมื่อมีความสงบก็ไม่มีข้อวิจารณ์จากนานาประเทศ และความเชื่อมั่นก็ยังมีอยู่

วิษณุรับหายาก-คนร่างรธน.

       ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวกรณี คสช.เป็นคนพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ไม่เกิน 21 คน ภายใน 30 วัน ว่า ตนไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่ได้รับมอบหมายอะไร แต่ต่อไปยังไม่ทราบ เข้าใจว่าคสช.คงยังไม่ได้เตรียมการ เพราะยังมีเวลาอีก 30 วัน และบุคคลที่จะทำหน้าที่ไม่ใช่หาได้ง่ายๆ คุณสมบัติ คือต้องร่างรัฐธรรมนูญเป็น แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย เข้าใจเรื่องการเมือง เข้าใจสภาพบ้านเมืองไทยแบบทุกมิติ ทั้งมิติความมั่นคง มิติเสรีภาพ มิติการเมือง มิติภาคประชาชน

     นายวิษณุ กล่าวต่อว่า เท่าที่ทราบคสช.ยังไม่เรียกประชุมหารือเรื่องนี้ เนื่องจากสปช.เพิ่งโหวตไม่รับร่างไปเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ทั้งนี้ตนจะสรุปและชี้แจงแนวทางให้ที่ประชุมครม. รับทราบว่า โรดแม็ปย่อยๆ หลังจากนี้เป็นอย่างไร โดยเฉพาะชี้แจงเรื่องการตั้งคณะกรรม การร่างฯ ชุดใหม่ 21 คน หรือการตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ 200 คน หรือการบริหารเวลาที่มีต่อจากนี้

ชี้อีก 20 เดือนถึงเลือกตั้ง

      นายวิษณุ กล่าวว่าทุกอย่างจะใช้สูตร 6-4-6-4 ทั้งหมด คือ ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน จากนั้นเตรียมทำประชามติ 4 เดือน ถ้าผ่านประชามติก็ทำกฎหมายลูกและเสนอต่อสนช.รวมถึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ใช้เวลา 6 เดือน จบแล้วใช้เวลารณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอีก 4 เดือน รวมเวลาหลังจากนี้ 20 เดือน ของอย่างนี้จัดการให้สั้นลงได้ แต่เวลาพูดให้มันยาวไว้ก่อน อย่างขั้นตอนที่ใช้เวลา 6 เดือน จริงๆ อาจใช้เวลาสั้นกว่านั้นได้ ยกเว้นบางเรื่องไม่ สามารถขยายเวลาได้ เช่น การหาเสียงเลือกตั้ง

นายวิษณุยังกล่าวถึงการแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนฯ 200 คนว่า หลังจากพล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้งสภาขับเคลื่อนฯ ภายใน 30 วันหลังจากสปช.หมดวาระลงแล้ว ต้องประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา หน้าที่ของสภาขับเคลื่อนฯ คือ ขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อจากสิ่งที่สปช.ทำไว้ ส่วนอายุการทำงานของสภาขับเคลื่อนฯ รวมถึงคสช. ครม.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะอยู่ตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด

ยังไม่คิด'ร่างรธน.'โดนคว่ำอีก

      เมื่อถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ต้องหาวิธีกันต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้คิดไกลขนาดนั้น หากจะคิดจริงๆ ต้องคิดอีกหลายยกว่า หากร่างใหม่ก็ไม่ยาก พอร่างใหม่เสร็จก็ทำประชามติ แต่หากมันไม่ผ่านอีกจะทำอย่างไรมันต้องคิดยาวๆ วันนี้รัฐบาลไม่คิดในแง่ร้ายขนาดนั้น แต่หากมาถึงจุดหนึ่งก็ต้องคิดกันต่อไป

นายวิษณุกล่าวว่า ที่จริงการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่เคยวุ่นวาย ครั้งที่แล้วก็ไม่ได้วุ่นวาย ส่วนที่ระบุให้ตั้งสภาขับเคลื่อนฯ นั้น ทำงานขับเคลื่อนของมันไป คนละเส้นทางกัน เพราะสภาขับเคลื่อนฯ ทำเฉพาะเรื่องปฏิรูป สานต่อจากแผนแม่บทของสปช.ทำไว้ทั้ง 37 ด้าน ซึ่งส่งมาให้นายกฯ เพื่อส่งต่อให้สภาขับเคลื่อนฯ ต่อไป ดังนั้นสภาขับเคลื่อนฯ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยทำเรื่องปฏิรูป อย่าออกมายุ่งเรื่องรัฐ ธรรมนูญ ส่วนคณะกรรมการร่างฯ ก็ก้มหน้าก้มตาร่างไป เป็นแนวทางมาตั้งแต่ปี 2475 ไม่ได้มีปัญหา ส่วนที่มีผู้เสนอให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 มาใช้ รวมถึงนำร่างล่าสุดมาแก้ไข ก็เสนอมาได้ ส่วนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ควรปล่อยให้คณะกรรมการร่างฯ เป็นคนพูดก่อนดีกว่า หากพูดตอนนี้ก็เหมือนเป็นใบสั่งอีก

โยนคนร่างชี้ปม'คปป.'

     เมื่อถามว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) จะกลับเข้ามาอยู่ในร่างฉบับใหม่หรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ เรื่องอย่างนี้คนที่เป็นกรรมการร่างฯ ต้องใส่ใจแล้วนำมาคิด และต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าถ้าไม่เอาคปป.แล้ว แล้ว จะมีมาตรการใดรองรับ จึงเป็นปัญหาต่อว่าปัญหาที่กลัวว่าจะเกิดขึ้นนั้นยังกลัวกันอยู่หรือไม่ ถ้าไม่กลัวก็ไม่ต้องมีมาตรการ แต่ถ้ากลัวก็ต้องคิดมาตรการอื่น ถือเป็นเรื่องธรรมดา สุดแต่สติปัญญาของคณะกรรมการร่างฯ

นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง ธรรมนูญการปกครองโดยเฉพาะมาตรา 44 จะหมดไป และเกิดรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งไม่มีมาตราอะไรมารองรับ กมธ.ยกร่างฯ ชุดเดิมจึงคิดให้มีคปป.ขึ้นมาแทนมาตรา 44 ส่วนจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มองว่าสืบทอดอำนาจนั้น ทุกฝ่ายคงต้องช่วยกัน จะไปโยนให้กรรมการร่างฯ ชุดใหม่ไม่ได้ แต่กรรมการร่างฯชุดใหม่ต้องเป็นพระเอก ทำให้เห็นว่าไม่ได้สร้างกลไกสืบทอดอำนาจ

เสนอทุกฝ่ายลดราวาศอก

     "ขณะเดียวกันคสช. ครม. นักการเมืองหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องแสดงให้เห็นโดยเฉพาะนักการเมืองว่า จะไม่สืบทอดภารกิจหรือความประพฤติแบบเก่าที่เคยทำ ถ้าทำได้ สังคมก็ไว้วางใจ ถ้าต่างฝ่ายต่างลดราวาศอก หันหน้าเข้าหากัน สมานฉันท์ปรองดองกันมันก็เกิด วันนี้แต่ละฝ่ายยังดูกั๊กกันอยู่" นายวิษณุกล่าว

      นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับข้อวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงรวบรวมอยู่ และจะวัดเสียงสะท้อน จากอะไรได้บ้าง หากจะสะท้อนจากฝั่งรัฐบาลอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องสะท้อนจากหลายฝั่งหลายที่ เช่น จากผลสำรวจความเห็นต่างๆ ด้วย

ปัดแจงเหตุโดนสปช.คว่ำ

      เมื่อถามถึงเหตุผลการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุกล่าวว่า มีหลายสาเหตุ แต่ไม่ขอยกตัวอย่าง เพราะไม่รู้จริง มีแต่เดา ส่วนที่หลายฝ่ายระบุคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพราะร่างฯ นี้ไม่ชอบธรรม มีตั้ง 5-7 สาเหตุ แต่ตนบอกไม่ได้ เอาไว้ค่อยๆ ประเมินกันต่อไป สื่อคงทราบเพราะอีกไม่นานคนนั้นคนนี้ก็ออกมาพูดเรื่องเหตุผลการโหวต เพราะคนโหวตมีถึง 247 คน คนรับก็มีสาเหตุที่รับแตกต่างกัน

      นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ยังไม่ได้คุยกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ.ยกร่างฯ เข้าใจว่าคนที่เป็นแมวมองคงเมียงมองใครไว้บ้างแล้ว แต่ไม่ถึงขนาดทาบทาม อาจ มองไว้เกิน 21 คนด้วยซ้ำ แต่พอถึงเวลา คสช.ทั้งคณะต้องเอารายชื่อคนเหล่านี้มาพูดคุยกันอีกครั้งว่าคนเหล่านี้มีท่าทีอย่างไร จะว่างหรือไม่ แต่ถึงหายากก็ต้องหาจนได้ภายในวันที่ 6 ต.ค.นี้ จะภายในสัปดาห์นี้หรือไม่นั้นไม่ทราบ และความจริงไม่ต้องตั้งถึง 21 คนก็ได้ เพราะข้อกฎหมายระบุว่าประธาน 1 คน กรรมการไม่เกิน 20 คน จึงอาจไม่ถึง 20 คนก็ได้


ป้ายค้าน - กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ขึงป้ายข้อความประท้วงการสืบทอดอำนาจ บริเวณสะพานลอยทางเข้าหอศิลป์กรุงเทพฯ แยกปทุมวัน แต่จากนั้นไม่นานได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน มาเก็บป้ายออกไป เมื่อวันที่ 7 ก.ย.

        เมื่อถามว่า คนเป็นประธานกรรมการร่างฯ ต้องเป็นหัวหน้าคสช.เลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า "ถ้าจริงมันก็ดี จะได้รู้แล้วรู้รอด หมดเรื่องกันไปเลย แต่มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่จริงเพราะผมไปเป็นยังไม่ได้เลย เขาห้ามรัฐมนตรีไปเป็น ส่วนคนที่มาร่าง คงไม่อาจเอาคนที่มีแนวคิดตรงกันข้ามรัฐบาล แต่ประเภทที่ต้องมีแนวคิดเดียวกันคงหายาก สุดท้ายเราไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไร

"บวรศักดิ์"เก็บของลาสภา

      ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า หลังจากสปช. มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบร่างรัฐ ธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 36 คน ต้องสิ้นสุดการทำหน้าที่ไปด้วย โดยบรรยากาศที่ห้องประชุมยกร่างรัฐธรรมนูญตลอดทั้งวันเป็นไปด้วยความเงียบเหงา มีสมาชิกกมธ.ยกร่างฯทยอยมาเก็บอุปกรณ์การทำงาน เอกสารและข้อมูลการประชุมที่สำคัญ อาทิ พล.ท.นคร สุขประเสริฐ นายปรีชา วัชราภัย ส่วนเจ้าหน้าที่ได้จัดเก็บเอกสารสำคัญลงกล่องกระดาษ เพื่อเตรียมขนย้ายออกจากห้องประชุม ส่วนหน้าห้องวอร์รูมของกมธ.ยกร่างฯ ที่ตั้งอยู่ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3 ได้ปลดป้ายชื่อคำว่า"ห้องคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ"ออกแล้ว ส่วนหน้าห้องทำงานของนายบวรศักดิ์ พบว่านำป้ายชื่อและป้ายตำแหน่งรองประธานสปช.คนที่ 1 ออกแล้ว

      ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อเวลา 15.00 น. นายบวรศักดิ์ได้เข้ามาเก็บสิ่งของและเอกสารสำคัญที่ห้องทำงานส่วนตัว ที่ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 1 โดยใช้เวลา 30 นาที ส่วนหนังสือกฎหมายต่างๆ รวมถึงหนังสือธรรมะจำนวนมากในห้องได้มอบให้กับห้องสมุดของสภา ผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ยังมอบพระสมเด็จหลวงปู่ดี ธมมธีโร วัดเทพากร บางพลัด กรุงเทพฯ ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานร่วมกันมาตลอด 11 เดือน โดยนายบวรศักดิ์กล่าวแบบติดตลกว่า "วันนี้มาเป็นวันสุดท้ายแล้ว จึงขอมอบพระให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยขอตั้งชื่อว่ารุ่นโล่งอก" โดยเจ้าหน้าที่ขอถ่ายรูปร่วมกับนายบวรศักดิ์ เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก

เลี้ยงอำลาสปช.คึกคัก

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อดีตสมาชิกสปช. จัดเลี้ยงอำลาตำแหน่งภายหลังสิ้นสภาพ โดยมีทั้งฝ่ายที่รับร่างรัฐธรรมนูญและฝ่ายที่ไม่รับ ทยอยเดินทางมาถึงที่โรงแรมริเวอร์ซิตี้ ถ.เจริญ กรุง ตั้งแต่ช่วงเย็นอย่างคึกคัก ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แต่งกายด้วยชุดลำลอง บรรยากาศชื่นมื่น โดยก่อนขึ้นเรือมีการร้องเพลงใน ห้องรับรองอย่างสนุกสนาน ก่อนจะลงเรือรับประทานอาหารเย็นล่องแม่น้ำเจ้า พระยาในเวลา 18.00 น. ทั้งนี้ระหว่างที่อดีตสมาชิก สปช.มาถึง บางคนทักทายและกล่าวแซวเพื่อนสมาชิกที่ไม่รับร่างว่า เป็นว่าที่สภาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ

      สำหรับ อดีตสมาชิกสปช.ที่มาร่วมงาน อาทิ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสปช. น.ส.ทัศนา บุญทอง อดีตรองประธานสปช.คนที่ 2 นายอลงกรณ์ พลบุตร นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายดิเรก ถึงฝั่ง ส่วนกมธ.ยกร่างฯ อาทิ พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ พล.ท.นคร สุขประเสริฐ นายประชา เตรัตน์ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ขณะที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นางถวิลวดี บุรีกุล นายคำนูณ สิทธิสมาน นายมีชัย วีระไวทยะ และนายบัณฑูร เศรษฐศิโรจน์ ไม่ได้มาร่วมงานด้วย

"บิ๊กตู่"หวังกมธ.ใหม่ยึดร่างเดิม

     พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีตที่ปรึกษาและโฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดใจว่า รู้สึกเสียดายที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบ แต่ก็ชื่นชมในความมีสปิริตของเพื่อนสมาชิกกมธ.ยกร่างฯที่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเหนียวแน่น 20 เสียง เพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่พิจารณาร่วมกัน และการที่นายบวรศักดิ์ชื่นชมตนกับ พล.ท.นคร สุขประเสริฐ อดีตกมธ.ยกร่างฯ และพล.ร.อ. พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตประธานกมธ.การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เชื่อว่าเป็นเพียงการชื่นชมในการทำหน้าที่เท่านั้น ยืนยันว่าการตัดสินใจไม่มีใบสั่งจากฝ่ายใดหรือคิดต่างกลุ่มทหาร

      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดก็ได้พูดคุยกับนายบวรศักดิ์ ยืนยันจะไม่กลับมารับทำหน้าที่อีกและคงต้องให้เป็นไปตามครรลองต่อไป ส่วนตัวยอมรับว่าหากได้กลับมาทำหน้าที่อีกก็พร้อมทำตามคำสั่ง ถ้าเป็นการทำเพื่อบ้านเมืองได้ เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ได้คุยกับพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งนายกฯบอกว่าไม่เป็นไร ที่สปช.ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นแค่เฟสแรก แต่อยากให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปเป็นร่างหลักแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ออกมา

สิระ ชวนสปช.บริจาคเงินเดือน

      นายสิระ เจนจาคะ อดีตสมาชิกสปช. แถลง คืนเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่งสปช. 1.7 ล้านบาทให้สภาผู้แทนราษฎร หลังจากสปช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ว่า ได้นำเงินมาคืนสภาตามที่สัญญาไว้ แต่เลขาธิการสภาแจ้งว่า ไม่มีระเบียบคืนเงินดังกล่าวให้สภา จึงขอประกาศนำเงินนี้ไปทำบุญให้มูลนิธิ หรือองค์กรการกุศลที่ประสงค์จะใช้เงินในทางสาธารณประโยชน์ ให้ติดต่อมาที่บริษัท บ้านทรงไทย จำกัด 99/519 ถ.แจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. ภายในสิ้นเดือนก.ย. ตนจะพิจารณาว่าจะมอบให้มูลนิธิหรือองค์กรใดบ้าง แต่จะไม่ให้วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ของพุทธอิสระ และมูลนิธิที่เกี่ยวกับการเมือง เพราะจะถูกมองว่าเล่นละคร อยากฝากถึงอดีตสปช.คนอื่นๆ ว่า เมื่อทำภารกิจไม่บรรลุเป้าหมายให้นำเงินมาทำบุญร่วมกับตน อย่าไปใช้เลย

      เมื่อถามว่าหากทาบทามให้เป็นสภา ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศจะรับตำแหน่งหรือไม่ นายสิระกล่าวว่า ให้เป็นรัฐมนตรี ตนก็รับหมด

ยื่นปปช.ฟัน 135 สปช.โหวตคว่ำ

       ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถนนสนามบินน้ำ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรม นูญไทย นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา ปฏิบัติหน้าที่นายกสมาคม ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานและกรรมการป.ป.ช. ผ่านนายสุทธิ บุญมี ผอ.สำนักการข่าวและกิจการพิเศษ ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบ อดีตสมาชิกสปช. 135 คน ที่ลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐ ธรรมนูญ เพราะถือว่ากระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว มาตรา 31 (3) ที่ระบุว่าสมาชิก สปช.จะต้องพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น แต่ทั้ง 135 คน ลงมติไม่เห็นด้วย จึงเห็นว่าจงใจ หรือเจตนาทำลายกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีเวลาหลายเดือนที่สปช.จะเสนอความคิดเห็นให้กมธ.ยกร่างฯ นำไปเป็นประโยชน์ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ถือว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่

      นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ขอให้ ป.ป.ช.เอาผิด นายเทียนฉาย กีระนันนท์ อดีตประธาน สปช. ในฐานความผิดเดียวกันกับ 135 สปช.กรณีไม่ยอมตั้งคณะกรรมการสอบจริยธรรมสมาชิก สปช.บางคนที่ระบุจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญหลาย ครั้งตามที่สมาคมเคยยื่นร้องเรียนก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จึงถือว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ เข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ตามมาตรา 4 พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. และขอให้ ป.ป.ช.เรียกเงินตอบแทน ผลประโยชน์ เบี้ยประชุม และอื่นๆ ที่เสียให้กับอดีตประธาน และอดีตสมาชิก สปช.ทั้ง 135 คน กลับมาเป็นของแผ่นดิน เพราะเป็นลาภมิควรได้

เสรีชี้ร่างรธน.ให้ฟังประชาชน

     นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตสมาชิกสปช. ให้สัมภาษณ์ถึงการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า คงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญ กระบวนการหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คนที่จะวางแนวทางและโครงสร้าง หรือแนวคิดในรัฐธรรมนูญใหม่ควรเป็นอย่างไร มีเป้าหมายสำคัญคือแก้ปัญหาขัดแย้ง วางแนวทางโครงสร้างและจัดสรรอำนาจที่จะช่วยให้การบริหารประเทศ และการแบ่งส่วนอำนาจในการบริหารงานมีความสมดุล เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอ สปช.เพื่อลงมตินั้น มีรายละเอียดทางโครง สร้างการบริหารมากเกินไป จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดความขัดแย้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ดีต้องบังคับใช้ได้ทุกเวลา ทุกสถานการณ์ เพื่อความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญ

      นายเสรี กล่าวว่า การทำให้พลเมืองเป็นใหญ่ต้องไม่เป็นส่วนสร้างความขัดแย้งต่อหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พลเมืองเป็นใหญ่ที่แท้จริงคือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เน้นการคุ้มครองประชาชนในทุกด้านให้ความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการสร้างพลเมืองเป็นใหญ่ อย่างไรก็ตามรัฐ ธรรมนูญที่ดีต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดการยอมรับและนำมาซึ่งความสามัคคีของคนในชาติ ดังนั้นกรรมการร่างฯชุดใหม่ต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย ถึงจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

พท.แนะร่างรธน.ที่เป็นปชต.

      นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขา ธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงสปช.ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้หลายฝ่ายรวมทั้งคสช.เกรงจะกระทบกับโรดแม็ป ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อการคืนประชาธิปไตยในไทยลดลงว่า การบริหารจัดการน่าจะปรับโรดแม็ปให้เวลาใกล้เคียงกับที่คสช.ได้ประกาศไว้ คือ 1.เวลาร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ไม่เกิน 180 วัน ซึ่งปรับลดได้พอสมควร เพราะไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ หากนำข้อดีของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมาบูรณาการให้เหมาะสม 2.ควรมอบให้กฤษฎีกาติดตามการร่างรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญควบคู่กับการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็เสนอร่างกฎหมายประกอบรับธรรมนูญต่อครม.เพื่อส่งให้ สนช.พิจารณาได้ทันที จะประหยัดเวลาได้มาก หากปรับโรดแม็ปให้ใกล้เคียงกับโรดแม็ปเดิมที่สุด จะคลายกังวลของนานาชาติที่มีต่อประเทศไทยว่าไม่คิดสืบทอดอำนาจ ตรงกับท่าทีของ คสช.ที่ให้สัญญาประชาคมไว้ทั้งต่อชาวไทยและชาวโลกมาตลอด

      นายชวลิต กล่าวว่า ส่วนกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช.จะแต่งตั้งใหม่ 21 คน หวังว่าจะได้ผู้ทรงคุณวุฒิ มีจิตใจเปิดกว้างรับฟังเสียงจากภาคส่วนต่างๆ อย่างรอบด้าน มั่นใจว่าคงติดตามการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาว่าภาคส่วนต่างๆ ส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลหลังเลือกตั้งมีเสถียรภาพ มีองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลอย่างมีดุลภาพ สิ่งที่เขาไม่ต้องการที่สุด คือกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างชัดเจน ถอยหลังเข้าคลองอย่างสุดโต่ง แต่ถ้ากติกาดี ประเทศจะเดินข้างหน้าได้ ขอให้กำลังใจคณะกรรมการร่างฯ ไว้ล่วงหน้า และขอฝากข้อคิดว่าฤกษ์พานาทีดี ไม่เท่าสาระร่างรัฐรรมนูญดี

'เต้น'ขอหลักประกันจาก'แป๊ะ'

    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช.กล่าวว่า ผลจากการโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.นั้น ทำให้สังคมไทยเห็นใบเสร็จว่า กว่า 1 ปีที่ผ่านมา การบริหารงานภายใต้อำนาจ คสช.ประสบความล้มเหลวทุกด้าน ด้านเศรษฐกิจล้มเหลวจนต้องเปลี่ยนทีมยกชุด และที่สุดก็ต้องกลับไปใช้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ส่วนด้านการ เมือง เห็นได้จากความล้มเหลวในการร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งเอง ร่างเอง แล้วก็คว่ำกันเอง พร้อมกับกระแสข่าวการสั่งการจากผู้มีอำนาจ และการโจมตีกันไปมาในหมู่ สปช.

     นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ด้านสังคม การสร้างความปรองดองไม่คืบหน้า ส่วนการปฏิรูปก็ไม่มีความชัดเจนทั้งเนื้อหาและกรอบเวลา ถ้าเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ถึงตรงนี้แทบไม่เหลือความชอบธรรมใดๆ ผู้มีอำนาจจึงควรยอมรับความจริงว่าทุกเรื่องอยู่ในความรับผิดชอบของตัวเอง จะท่องแต่คาถาเดิมว่าทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ ที่ผ่านมาไม่มีใครขัดขวาง เขียนมาอย่างไรได้ทำทั้งหมด แต่มันล้มเหลวทุกด้านแล้วจะรับผิดชอบอย่างไร

"คนไทยทั้งประเทศไม่ได้ลงเรือแป๊ะไปด้วย จะมีหลักประกันใดให้เชื่อว่าแป๊ะจะทำได้อย่างที่พูด เพราะวิธีการที่ผิดย่อมให้ผลลัพธ์ ที่ถูกต้องไม่ได้ ประเทศไทยไม่ใช่บาร์รำวง ที่เพลงจบหมดรอบแล้วก็ขึ้นเพลงเต้นกันใหม่ แล้วเต้นกันต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างไร" นายณัฐวุฒิกล่าว

แฟลชม็อบต้านสืบทอด

     ที่ลานสกายวอร์ก บีทีเอส สนามกีฬาแห่งชาติ หน้าหอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพฯ นักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 5 คน ทำกิจกรรมแฟลชม็อบ นำป้ายผ้าขนาดใหญ่ กว้าง 3 เมตร ยาว 5 เมตร มีข้อความว่าหยุดสืบทอดอำนาจและรูปภาพรถถังบนรัฐธรรมนูญ และกากบาทขีดฆ่า มาแขวนที่ทางเดินเชื่อมระหว่างหอศิลป์ฯ กับสกายวอล์ก โดยป้ายผ้าหันหน้าไปทางสี่แยกปทุมวัน

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป้ายผ้าดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินผ่านไปมา มีบางรายถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก จากนั้นอีก 10 นาทีต่อมา เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหอศิลป์ฯ ได้วิทยุประสานงานกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน สน.ปทุมวัน มานำป้ายผ้าดังกล่าวออกจากสะพานทางเชื่อม

ปชต.ใหม่จี้เปิดเลือกตั้งสสร.

     น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ บัณฑิตคณะรัฐ ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เปิดเผยว่า การนำป้ายผ้ามาแขวนในที่สาธารณะ เนื่อง จากทางกลุ่มประกาศชัดเจนว่าขอต่อต้านรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แม้ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่งจะถูกคว่ำไป แต่ก็เหมือนกับละครสืบทอดอำนาจของ คสช.เท่านั้น จึงขอเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาแทน เพื่อร่างกติกาใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย ยืนยันว่าขบวนการประชาธิปไตยใหม่จะเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อไป โดยไม่เกรงกลัวอำนาจของทหาร อีกทั้งขณะนี้มีนักศึกษาจำนวนมากที่ตื่นตัวและมองเห็นความอยุติธรรมของรัฐบาลทหารมากขึ้นแล้ว

ร้องสอบ"บิ๊กตู่"ใช้ม.44 ถอดยศ

     ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นาย ธนเดช พ่วงพูล ทนายความและนักกฎหมายจากบริษัท ไลท์เฮ้าส์ลอว์เยอร์เซอร์วิส จำกัด เข้ายื่นหนังสือถึงพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ให้ดำเนินคดีกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. กับพวกกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีพ.ต.อ.ยุทธพล กองแก้ว รองผู้บังคับการกองกฎหมาย สำนักงานกฎหมายและคดี ในฐานะหัวหน้าเวรอำนวยการตร. เป็นตัวแทนรับมอบ

     นายธนเดช กล่าวว่า จากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง การถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 นั้น ในฐานะประชาชนและนักกฎหมาย มองว่าเมื่ออ้างอำนาจตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ควรทำให้ครบขั้นตอนตามมาตรา 28 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติที่ระบุว่าการถอดยศหรือการออก จากยศตำรวจชั้นสัญญาบัตรให้เป็นไปตาม ระเบียบตร. และให้ทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ แต่คสช.กลับใช้อำนาจมาตรา 44 ซึ่งจริงๆ ไม่มีอำนาจทำเช่นนั้น เราทราบว่าอำนาจนี้เป็นของใคร พล.อ.ประยุทธ์ และคสช. ไม่มีอำนาจ ซึ่งมองว่าเป็นการกระทำไม่บังควร ยืนยันว่าไม่มีใบสั่งหรือรับการจ้างวานจากใคร

วิษณุเผยหารือกันในคสช.แล้ว

      พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงการถอดยศนายทักษิณ ว่า ได้ทำในส่วนที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่าทำทุกอย่างถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว คิดว่าทำดีที่สุดแล้ว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการนำมาตรา 44 มาใช้ถอดยศข้าราชการตำรวจพ.ต.ท.ทักษิณว่า เรื่องนี้นำเข้าคสช.พิจารณาแล้ว คิดว่าใช้มาตรการทางนี้ดีกว่า เพราะจะไม่เป็นการรบกวนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนเกินไป และใช้อำนาจเองทำเองได้ เนื่องจากผลไม่ต่างกัน และดีกว่าเพราะจะไม่กระทบกระเทือนพระองค์ท่าน ให้บางฝ่ายยกขึ้นมาเป็นประเด็น ทุกอย่างจะได้จบเร็วและเรียบร้อย ไม่มีใครได้ไม่มีใครเสีย ให้มันจบๆ ไป

"แม้ว"เผยไม่ติดยึด

       วันเดียวกัน นายทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกฯ กล่าวตอบโต้กรณีถูกถอดยศตำรวจ ที่งานเลี้ยงแห่งหนึ่งในต่างประเทศว่า 9 ปีหรือ 10 ปีแล้ว คนเขาลืมตนไปแล้ว แต่พอพูดคำสองคำก็เป็นเรื่องใหญ่โต ไปพูดที่เกาหลีก็เป็นเรื่องใหญ่ มา 2 วันนี้ก็ถอดยศ จะเอาเครื่องราชฯ คืน เราเป็นคนพุทธ ทุกอย่างที่เรามี วันนี้ก็ไม่ใช่ของเรา ตายไปแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้ แม้แต่ร่างกายของเรา จะยึดติดอะไรกันนักหนา บางครั้งเอาวิธีคิดมาใส่ตน ซึ่งวิธีคิดมันไม่เหมือนกัน เขาอาจจะติดยึดมองเรื่องยศเป็นเรื่องใหญ่

อดีตนายกฯ กล่าวว่า ตอนตนเป็นนักธุรกิจ ตนไม่ใช้ยศ เพราะฝรั่งงง ตนใช้คำว่าด๊อกเตอร์ พอมาเป็นรมว.ต่างประเทศ ก็มาใช้ยศ เรารู้สึกตรงกันว่าเมื่อเป็นยศพระราชทานแม้เราไม่มีความจำเป็นก็ต้องใช้เพื่อแสดงความจงรักภักดี ก็ใช้ เวลาไปต่างประเทศเขาพยายามจะเขียนตำแหน่ง ตนก็บอกว่าไม่ต้อง เดี๋ยวฝรั่งงง อย่างหลายประเทศก็เป็นนายพลแต่เขาไม่ใช้ยศ เพื่อนหลายคนอย่างอูกันดา เป็นพลเอกทั้งนั้น แต่เขาไม่ใช้ยศ ในสากลเขาไม่ใช้ แต่การใช้แสดงถึงความจงรักภักดี ในเมื่อไม่ให้ตนใช้ก็ไม่ว่ากัน ไม่ได้ยึดติดเลย

ชี้พวกนี้เหมือน"เด็ก"

      นายทักษิณ กล่าวว่า ตอนเป็นรองนายกฯ มีร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ เป็นรมช.ศึกษา ธิการ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรมว.ยุติธรรม ตอนนั้นเขาเสนอยศพล.ต.ให้ครม.ทั้งสามคน ตนเป็นพ.ต.ท. เป็นรองนายกฯ พอตนไม่เอา สองคนนั้นก็ไม่ได้ เพราะตนเห็นว่า ไม่ใช่สิ่งใฝ่คว้า พอเป็นนายกฯ มีคนเสนอก็ไม่เอา

     "จึงไม่โกรธ ช่างเถอะ เป็นเรื่องของเขา เหมือนเด็ก ผมมองพวกนี้เป็นเด็ก ตำแหน่งใหญ่แต่พฤติกรรมเป็นเด็ก เรื่องอะไรเล็กๆ น้อยๆ เรื่องใหญ่เรื่องสำคัญบ้านเมือง เรื่องความเดือดร้อนของบ้านเมืองไม่ทำ แต่ทำเรื่องเล็ก แล้วเอามาเป็นผลงาน เอาหัวใจความรักชาติของตัวเองมาผูกขาด มองคนอื่นไม่รัก ก็รักกันทุกคน" นายทักษิณกล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!