- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 27 June 2014 07:52
- Hits: 3714
คสช. แถลงผลการดำเนินงาน ครบ 1 เดือน เน้นให้ความสำคัญการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อย่างสมบูรณ์ และยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ เมื่อเวลา 18.00 น. คสช. แถลงสรุปผลการปฏิบัติงานประจำเดือนของ คสช. ผ่านทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ออกอากาศเป็นระบบ 2 ภาษา โดยมีสาระสำคัญดังนี้
นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดิน โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมานอกจากภารกิจที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศแล้ว การปฏิรูปประเทศในทุกมิติ ทั้งปัจจุบัน และอนาคตคือ อีกหนึ่งภารกิจหลักที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ดำเนินการคู่ขนานกันไปตลอดในช่วง 1 เดือน ที่ผ่านมา เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างสมบูรณ์ และยั่งยืนในทุกมิติ
การเปลี่ยนผ่านประเทศไทย ไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ และยั่งยืน โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. จะดำเนินการภายใต้แนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยหรือ Road Map ซึ่งประกอบด้วย 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 แก้ปัญหาเร่งด่วนและขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน ในเรื่องที่ติดขัด และเป็นปัญหา เตรียมการเข้าสู่การปฏิรูป ในระยะที่ 2 ด้วยการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ในขั้นต้น คืนความสุขให้ประชาชน ระยะที่ 2 คือการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ทั้งการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สรรหานายกรัฐมนตรี การยกร่างรัฐธรรมนูญ และการจัดตั้งสภาปฏิรูปในกรอบเวลา 1 ปี และระยะที่ 3 คือ การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ซึ่งแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยดังกล่าวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นผู้มอบนโยบายและสั่งการไว้ โดยมีการจัดโครงสร้างการปฏิบัติงานแบ่งเป็น 3 กลุ่มงานคือ กลุ่มงานรักษาความสงบเรียบร้อย กลุ่มงานบริหารราชการแผ่นดิน และกลุ่มงานสร้างความปรองดอง และการปฏิรูป
ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ คสช.เข้ามาควบคุมอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ได้ดำเนินการตามความมุ่งหมายที่วางไว้ และต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยในส่วนของกลุ่มงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฏอัยการศึก เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถหยุดความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนได้ทันที ในระยะเริ่มต้นมีความจำเป็นต้องประกาศห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานหรือเคอร์ฟิว เพื่อให้ คสช.ได้จัดระเบียบและดูแลความสงบเรียบร้อยที่อาจกระทบต่อเสรีภาพในการใช้ชีวิตประจำวัน และต่อมาได้มีการผ่อนคลายมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับลดเวลาจาก 22 นาฬิกาถึง 5นาฬิกาเป็น 24 นาฬิกาถึง 4 นาฬิกา ตามมาด้วยการยกเลิกเคอร์ฟิวในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและได้ยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วประเทศเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน
หลังเข้ามาควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเพียง 24 วัน เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมในพื้นที่ต่างๆได้คลี่คลายลง และไม่ปรากฎสิ่งบอกเหตุอันจะนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข และให้ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการกลับมามีความคล่องตัวดังเดิม อย่างไรก็ตาม คสช.ยังจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา จะเห็นได้จากสถิติจับกุมอาวุธสงครามในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดินโดย คสช. มีสถิติการจับกุมอาวุธสงครามที่ผู้ไม่หวังดีนำมาใช้ก่อเหตุรุนแรงจำนวน 19 ครั้ง และเมื่อ คสช. เข้ายึดอำนาจการปกครองสามารถตรวจยึดและจับกุมอาวุธสงครามรวมถึงผู้นำอาวุธสงครามมาทิ้งไว้ได้สูงถึง 51 ครั้ง คิดเป็นจำนวนรวมของอาวุธ 1,996 กระบอก เครื่องกระสุน 31,840 นัด และวัตถุระเบิด 265 ลูก
ส่วนการเชิญบุคคลที่อยู่ในความขัดแย้ง ทั้งโดยตรง และโดยอ้อมเข้ารายงานตัวต่อ คสช. เป็นการเชิญตัว มาเพื่อสร้างความเข้าใจ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อความมั่นคงของประเทศและประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี และพร้อมที่จะร่วมสนับสนุนงานรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างเต็มที่ การเชิญบุคคลมาเป็นจำนวนมากนั้น เพราะมีหลายกลุ่มอยู่ในความขัดแย้งมาเป็นเวลาหลายปีมีคนเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก โดยไม่เกิน 7 วัน จะปล่อยออกมา หากผู้ใดมีคดีอื่น มีหมายเรียก มีหมายจับเดิม ก็จะส่งตัวให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการต่อไป
คสช. ได้เริ่มดำเนินการขับเคลื่อนในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยจัดแบ่งกลุ่มงานออกเป็น 5 ฝ่าย และ 1 ส่วนงาน ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้มอบหมายนโยบายให้ทุกฝ่ายรีบไปดำเนินการและช่วยแก้ไขปัญหาที่สะสมมานาน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้
1. ฝ่ายความมั่นคง มีพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้า และ พลเอกอักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก เป็นรองหัวหน้า โดยเริ่มปฏิบัติการจับกุมอาวุธสงครามในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งติดตามสืบสวนสอบสวนจับกุมเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธสงครามได้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของกลุ่มการเมือง ธุรกิจผิดกฎหมาย และเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผลจากการบูรณาการหน่วยงานความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือ ป.ป.ส. สายงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหรือ กอ.รมน. และภาคอื่นๆ รวมทั้งภาคประชาชน ยังทำให้การปราบปรามการกระทำผิดกฎหมาย อาทิ การปราบปรามเครือข่ายยาเสพติด บ่อนการพนัน และขบวนการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการบูรณาการเรื่องแรงงานทั้งระบบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนขับเคลื่อนการสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศในทุกมิติ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน
2. ฝ่ายเศรษฐกิจ มี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นหัวหน้า และพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นรองหัวหน้า ผลงานที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ การปลดล็อคข้อจำกัดการจ่ายเงินให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556 และ 2557 โดยธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตรหรือ ธ.ก.ส.ได้เริ่มจ่ายเงินให้ชาวนาตามลำดับใบประทวนที่ขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม และสามารถจ่ายเงินให้ชาวนาได้ครบทั้งหมด 838,538 ราย จำนวนเงิน 89,931 ล้านบาทเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา เร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในวันที่ 22 มิถุนายน และถือเป็นการปิดบัญชีหนี้จำนำที่ค้างไว้กับชาวนาทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งเม็ดเงินที่ลงไปถึงมือชาวนาจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย การบริโภคภายในครัวเรือน และการชำระหนี้สินต่างๆ ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจมีการขับเคลื่อนอย่างชัดเจน โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ จีดีพี จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.2
ขณะที่ฤดูการผลิตประจำปี 2557 และ 2558 คชส.ได้มีการประชุมร่วมกับตัวแทนชาวนาจาก 3 สมาคม ตัวแทนสมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการช่วยเหลือชาวนา ก่อนจะมีมติใช้แนวทางการลดต้นทุนการผลิตข้าวให้กับชาวนาแทนโครงการรับจำนำข้าว โดยจะช่วยลดต้นทุนการผลิตขั้นต่ำประมาณ 500 บาทต่อไร่ จากต้นทุนปัจจุบันที่ 4,000 บาทต่อไร่ แตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่ หลังแนวทางดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการผลิต และจำหน่ายปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ข้าว ผู้จำหน่ายสินค้าปัจจัยการเกษตร และผู้ให้เช่านา รวมถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่จะช่วยเหลือด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สนับสนุนด้านการตลาด เพื่อลดการผูกขาดนายทุน ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง ส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์และโรงสีข้าวขนาดเล็ก ให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ในอนาคต
นอกจากการปิดบัญชีหนี้โครงการรับจำนำข้าวแล้ว คสช.ยังเดินหน้าทำความเข้าใจกับต่างประเทศผ่านเอกอัครราชทูต และกงสุลใหญ่ประจำต่างประเทศของไทยถึง ข้อมูลข้อเท็จจริง และความจำเป็นในการเข้าควบคุมอำนาจของ คสช. ตลอดจนชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทยหรือ Road Map โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศที่ยังเน้นเรื่องการค้าเสรี และการดูแลผลประโยชน์ของมิตรประเทศในประเทศไทย ได้มีการพบปะพูดคุยกับผู้แทนบริษัท ผู้ประกอบการ สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งทำให้สถานการณ์ด้านต่างประเทศเริ่มมีท่าทีที่ดี และเข้าใจถึงสถานการณ์ในประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในเวทีต่างประเทศในทุกภาคส่วน
ทั้งในด้านการทูต ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ทั้งภาคราชการและเอกชนมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากรายงานเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยโดยรวมในเดือนพฤษภาคมปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 60.7 จากเดิม 57.7 ในเดือนเมษายน เนื่องจากสถานการณ์ภายในประเทศเริ่มมีการผ่อนคลาย ทำให้ผู้บริโภคลดความกังวลทางการเมือง และความขัดแย้งลง ค่าเงินบาทมีการปรับตัวแข็งขึ้น นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้มีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มเติม เป็นจำนวน 8,000 ล้านบาท และ 9,000 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของนักลงทุนต่างๆ ในแนวทางการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของ คสช. ในภาพรวมเป็นอย่างดี
สำหรับ โครงการต่างๆทั้งที่ยังไม่ได้ดำเนินการและที่ได้อนุมัติดำเนินการไปแล้วได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐหรือ คตร. มี พลโท อนันตพร กาญจนรัตน์รับผิดชอบ โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมดำเนินงาน เพื่อติดตามและตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ให้เกิดความโปร่งใส คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง โดยตลอด 1 เดือนที่ผ่านมาได้ติดตามแผนงานหรือ โครงการที่มีวงเงินสูง มีปัญหาในการดำเนินงานและอยู่ในความสนใจของประชาชนแล้ว 10 โครงการ วงเงินรวมกว่า 1 แสน 5 หมื่นล้านบาท อาทิ โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ ๒ ของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย การใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของกระทรวงพลังงาน โครงการการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพาหรือ Tablet ของกระทรวงศึกษาธิการ และการบริหารจัดการการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น
ส่วนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3.5 แสนล้านบาท หัวหน้า คสช. ได้สั่งการให้มีการทบทวนใหม่ทั้งหมด หลังรับฟังข้อมูลการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบที่ภาครัฐดำเนินการมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 36 หน่วยงาน โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นประธานบริหารจัดการ ซึ่งหัวหน้า คสช.ได้ขอให้ทุกส่วนราชการร่วมกันศึกษารายละเอียดแผนบริหารจัดการน้ำใหม่ทั้งหมด โดยไม่ต้องคำนึงถึงตัวเลขโครงการ 3.5 แสนล้านบาท แต่ต้องการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมการแก้ปัญหาทั้งระยะเร่งด่วนหรือเฉพาะหน้า ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 5-10 ปี และแผนงานโครงการของทุกกระทรวงที่เกี่ยวกับน้ำในปีงบประมาณ 2557 หากตรงกับความต้องการและความจำเป็นเร่งด่วนของประชาชน ให้เร่งดำเนินการ แต่หากโครงการใดที่ยังไม่พร้อมให้นำไปพิจารณาในแผนงบประมาณปี 2558 ต่อไป
ขณะที่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท คสช.ต้องการให้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์ในภาพรวมพร้อมกันทั้งหมด ทั้งทางรถไฟ ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยกระทรวงคมนาคมได้เสนอ แผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศต่อที่ประชุมฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งได้มีมติเห็นชอบขั้นต้นที่จะดำเนินโครงการระหว่างปี 2558-2565 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แต่ขอให้ตัดโครงการรถไฟความเร็วสูงออกจากแผนไปก่อน เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าไม่ใช่โครงการจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะกลับไปหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมเศรษฐกิจพิจารณาอีกครั้งเพื่อเสนอหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อนุมัติในหลักการ เป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนพิจารณาดำเนินการ ทั้งนี้ต้องฟังเสียงจากประชาชนด้วย
3. ฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม มีพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้า และพลโท ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นรองหัวหน้า รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้อง และผลกระทบที่เกิดจากข้อกฎหมายต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและการลดความขัดแย้ง โดยตลอด 1 เดือนที่ผ่านมาฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมได้เดินหน้ามาตรการปราบปรามยาเสพติดและการปราบปรามการคอรัปชั่น โดยในส่วนของการปราบปรามยาเสพติดนั้นได้เชิญหน่วยงานป้องกันปราบปรามยาเสพติด หน่วยงานบำบัดยาเสพติด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือถึงกรอบการทำงานไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน และยังให้ความสำคัญกับการตัดเส้นทางการเงินของผู้ค้ายาเสพติด ด้วยการขอความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทย และสมาคมที่เกี่ยวกับสถาบันการเงิน หาทางระงับไม่ให้ผู้ค้ายาเสพติดทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างคล่องตัว ล่าสุด คสช. ได้สั่งการให้กรมราชทัณฑ์แยกผู้ต้องหาค้ายาเสพติดรายใหญ่ไปขังในเรือนจำเขาบินที่จังหวัดราชบุรีที่มีระบบป้องกันอย่างเข้มงวด
ส่วนการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น นอกจากจะมีการทำความเข้าใจกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือ ปปง. และสถาบันการเงินถึงการปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมทั้งการขอความร่วมมือตรวจสอบธุรกรรมการเงิน เพื่อป้องกันปัญหาการฟอกเงินในส่วนของการตรวจสอบการทุจริต ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ปปช. ดำเนินการไปตามกระบวนการ ขณะเดียวกัน คสช.ได้จัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบการทุจริตในเรื่องข้าวไปอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้เกิดความชอบธรรมอย่างแท้จริง สำหรับการกระทำความผิดอื่นๆ เรื่องใดยังไม่นำเข้ากระบวนการยุติธรรม ให้นำเข้าโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล โดยมิได้เลือกปฏิบัติทุกฝ่าย
4.ฝ่ายสังคมจิตวิทยา มีพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นหัวหน้าและพลโท สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เป็นรองหัวหน้า รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาที่ทำให้สังคมไทยอ่อนแอ โดยเริ่มต้นด้วยการดำเนินการจัดกิจกรรม คืนความสุขให้กับคนในชาติ ในรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดี พร้อมเร่งรัดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเดินหน้าปราบปราม และจับกุมผู้บุกรุก ผู้สมคบ และผู้สนับสนุนช่วยเหลือในการตัดไม้ทำลายป่าในทุกหมู่บ้าน และชุมชนทั่วประเทศให้ได้มีผลอย่างจริงจังในทุกพื้นที่ รวมทั้งสกัดกั้นการลักลอบตัดไม้มีค่าหรือไม้หวงห้าม การนำเข้า และส่งออกไม้ที่ผิดกฎหมาย การดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกทำลาย และการประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชนและองค์กรชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการดูแลรักษาป่าอย่างจริงจังด้วย
และล่าสุดหลังการหารือกับ 10 หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการถึงข้อดี-ข้อเสียของโครงการจัดซื้อแท็บเล็ต ที่ประชุมได้มีมติให้ยุติการจัดซื้อแท็บเล็ตประจำปีงบประมาณ 2556 ในโซน 4 ของนักเรียนชั้น ม.1 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งยกเลิกการจัดซื้อแท็บเล็ตประจำปีงบประมาณ 2557 เนื่องจากไม่คุ้มค่าและไม่เหมาะสม พร้อมให้นำงบประมาณที่เหลือในโซนที่ 4 จำนวน 1,170 ล้านบาท กับงบประมาณปี 2557 อีก 5,800 ล้านบาทไปทำอย่างอื่นที่เกิดประโยชน์แก่การศึกษา อย่างเช่น สมาร์ทคลาสรูม อีเลิร์นนิง เป็นห้องคอมพิวเตอร์ไว้ที่โรงเรียนให้นักเรียนหมุนเวียนมาใช้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ในวงกว้างมากกว่า
5.ฝ่ายกิจการพิเศษ มีพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นหัวหน้า มี พลโท สุชาติ หนองบัว เป็นรองหัวหน้า รับผิดชอบการดำเนินการให้ส่วนราชการซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งนอกจากได้มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการสานต่อกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในหมู่บ้านและชุมชน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และโครงการพัฒนาเมือง เนื่องจากเป็นกองทุนที่เป็นประโยชน์กับประชาชนแล้ว ยังได้ขอให้ที่ประชุม คสช.อนุมัติเงินงบประมาณกว่า 74 ล้านบาทให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินำไปช่วยเหลือวัด และพระภิกษุสามเณรที่ประสบภัยแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ด้วย นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับทุกภาคส่วนจัดทำ Road Map เดินหน้าการปฏิรูประบบราชการใน 8 แนวทางหลัก รวมทั้งเพิ่มการรับข้อร้องเรียนทางสายด่วน 1111 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย คสช. ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น และพฤติกรรมที่เป็นภัยด้านความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ด้วย
สำหรับ 1 ส่วนงานที่เป็นหน่วยขึ้นตรงกับหัวหน้า คสช. ที่มี พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคสช. มี พลโท ชาตอุดม ติตถะสิริ เป็นรองเลขาธิการ ได้รับมอบหมายให้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ ของ คสช. รวมถึงการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆ ของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหาปากท้องของประชาชน
และกลุ่มงานสุดท้ายคือกลุ่มงานสร้างความปรองดอง และการปฏิรูป มีพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รักษาการปลัดกระทรวงกลาโหมรับผิดชอบ มีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป มีพลโท กัมปนาท รุดดิษฐ์ เป็นหัวหน้า และคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ มีหน้าที่กำหนดแนวทางในการเสริมสร้างบรรยากาศความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งได้เดินหน้ารวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพื่อเสริมสร้างความรักความสามัคคี และคืนความสุขแก่ให้คนในชาติอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัดครบทุกจังหวัด โดยได้จัดกิจกรรมในทั้ง 4 ภาคมาแล้ว 696 กิจกรรม เป็นกิจกรรมลักษณะเสริมสร้างบรรยากาศปรองดองสมานฉันท์ 668 อำเภอ และเป็นการจัดเวทีเสวนา 130 เวที รวมทั้งสามารถจัดให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ระหว่างผู้นำทางความคิดที่เคยเห็นต่างกันในแต่ละพื้นที่ จำนวน 150 ฉบับ
ส่วนคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ นอกจากจะมุ่งเน้นในเรื่องการรักษาความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ได้แก่ การร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจค้น และจับกุมการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น อาวุธสงคราม แรงงานต่างด้าว ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติ การป้องกันการค้ามนุษย์ การลักลอบเล่นการพนัน เป็นต้น ยังทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลการปฏิรูปจากทุกภาคส่วน เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลนำเสนอให้สภาปฏิรูปใช้ประกอบในการพิจารณาต่อไป โดยตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ได้รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนรวมทั้งสิ้นมากกว่า240 ผลงาน และจัดสัมภาษณ์แนวความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งเป็นบุคคล และเป็นกลุ่ม โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้มีประสบการณ์ จากสถาบันการศึกษา ภาคราชการ ภาคการเมือง ภาคประชาสังคม รวมทั้งผู้มีส่วนขับเคลื่อน และมีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในการให้ข้อมูลจำนวน 25 ราย และกำลังจะจัดการประชุมกลุ่มผู้ร่วมให้ความคิดเห็นอีก 12 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน ๕๐ คน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป
นอกจากนี้ คสช. ได้มอบหมายให้กลุ่มรักษาความสงบเรียบร้อย มี พลโท ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเป็นผู้ดูแล โดยหัวหน้า คสช. ได้มอบหมายให้รับผิดชอบการจัดระเบียบสังคมและผู้มีอิทธิพล เร่งดำเนินการเริ่มตั้งแต่การปราบปรามบ่อนการพนันผิดกฎหมาย ตู้ม้า การพนันออนไลน์ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการพนันฟุตบอลโลก ตามมาด้วยการจัดระเบียบรถตู้โดยสาร รถแท็กซี่ และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งได้แบ่งมอบความรับผิดชอบให้ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ดูแลเรื่องการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในเรื่องค่าโดยสารที่สูงเกินเหตุ และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้ผู้มีอิทธิพล
กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ รับผิดชอบการจัดระเบียบรถตู้โดยสาร เริ่มงานด้วยการย้ายที่จอดรถตู้โดยสารบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและใต้ทางด่วนไปไว้ที่สถานีแอร์พอร์ตลิงค์มักกะสัน ซึ่งนอกจากจะเป็นระเบียบมากขึ้นแล้ว ยังสามารถแก้ปัญหาการจราจร และตัดวงจรผู้ที่เรียกเก็บค่าหัวคิวที่จอดรถตู้เดิมด้วย
ส่วนการจัดจัดระเบียบแท็กซี่ มีมณฑลทหารบกที่ 11 เป็นผู้รับผิดชอบ ได้เริ่มปฏิบัติด้วยการจัดระเบียบแท็กซี่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อไม่ให้มีปัญหาทิ้งผู้โดยสารกลางทาง การเก็บค่าโดยสารเกินกำหนด การเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย และไม่ให้มีมาเฟียเรียกรับค่าตอบแทน
และที่ถือเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินคือ กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ที่ประชุม คสช.ได้เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 วงเงิน 2.575 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ประมาณการรายได้ 2.325 ล้านล้านบาท และเป็นงบประมาณขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท โดยงบลงทุนภาครัฐในปี 2558 กำหนดวงเงินไว้ที่ 450,625 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 17.5 ของงบประมาณทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากงบลงทุนปี 2557 ร้อยละ 2.2 โดยคาดว่า ในวันที่ 29 กรกฎาคม หัวหน้า คสช.จะให้ความเห็นชอบร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณ 2558 ซึ่งมีหลักการของยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ การน้อมนำปรัชญาหลักการเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลักในการปฏิบัติ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และแผนแม่บทอื่นๆ เพื่อนำเสนอฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาต่อไป
หากพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่เห็นได้จากสังคมแล้ว แนวทางการขับเคลื่อนประเทศของ คสช. ได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชน โดยเฉพาะการจัดระเบียบสังคม และสิ่งผิดกฎหมายที่มีการดำเนินการอย่างเฉียบขาด อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการจัดการแก้ไขนั้น เป็นปัญหาที่สะสมมายาวนาน ซึ่งหลายปัญหาต้องใช้ระยะเวลาในการสะสาง และหลายปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย คสช.เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ซึ่ง คสช.ได้จัดลำดับความเร่งด่วนของงาน เป็นเฉพาะหน้า ระยะสั้น และระยะยาว ทุกงานได้เดินคู่ขนานกันไปพร้อมกัน โดยเริ่มจากการใช้งบประมาณปี 57 ไตรมาส 3 และจัดทำงบประมาณปี 58 ให้ประสานสอดคล้องกันให้เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้ คือภารกิจที่ คสช. ได้ดำเนินการในรอบ 1 เดือน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของ คสช. คือการคืนความสุขให้กับประชาชน โดยการลดความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ลดการทุจริตคอรัปชั่น สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้ได้โดยเร็ว พร้อมกับนำทุกปัญหาที่มีผลกระทบโดยเร่งด่วนกับความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน การสร้างอาชีพรายได้ให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย สร้างกระบวนความคิด ความรู้ ให้กับประชาชนเพื่อให้เป็นประชาชนที่เข้มแข็ง มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และเพื่อให้พร้อมก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกในโอกาสต่อไปโดยเร็วที่สุด อีกทั้งต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะตกต่ำลงในระยะต่อไป
ทั้งนี้ คสช. พร้อมมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่ จนกว่าจะบรรลุภารกิจตามเจตนารมณ์ เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน ตลอดไป