- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 05 September 2015 21:04
- Hits: 5584
เช็กเสียงโค้งท้าย 140 สปช. จ่อโหวตคว่ำรธน. บิ๊กตู่ลั่นไม่มีชี้นำ ตัดสิทธิ์ 2 ปชป. ปราศรัยใส่ร้าย 'นพดล'ถึงร่ำไห้ รอดคดีเขาวิหาร
'บิ๊กตู่'ลั่นรธน. เป็นเรื่องของสปช. ไม่มีชี้นำ ผลออกมาต้องยอมรับ เช็กเสียงสปช.ยันนาทีสุดท้าย คาด 140-147 เสียง จ่อลงมติไม่รับ ทั้งสปช.จังหวัด-นักวิชาการ รวมถึงทหาร-ตำรวจ ระบุเนื้อหาไม่สมบูรณ์ มติ 6 ต่อ 3 ยกฟ้อง'นพดล' คดีลงนาม'เขาวิหาร' ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองระบุพยานโจทก์ฟังไม่ขึ้น ชี้ไม่เร่งรีบ-รักษาผลประโยชน์ชาติ แถลงการณ์ร่วมไม่ใช่สนธิสัญญาไม่ต้องเข้าสภา ส่วนแลกประโยชน์น้ำมันก็ไร้หลักฐาน ออมสินแจงวุ่น ห้าม 'อดิศร'ฝากเงิน
บิ๊กตู่ลั่นรธน.เป็นเรื่องของสปช.
05 กันยายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9047 ข่าวสดรายวัน
ร่วมมือ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมความร่วมมือเชิงวิชาการด้านแรงงานระดับรัฐมนตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน (CLMTV) ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ก.ย.
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ตอนหนึ่งว่า ห้วงเวลานี้นับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจเดินหน้าประเทศไทยไปในอนาคต ขณะนี้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) กำลังจะเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต่อ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นการเดินหน้าตามโรดแม็ป คสช.ไม่เคยคิดจะเปลี่ยน เลื่อน
"ผ่านหรือไม่ผ่านก็เป็นเรื่องของ สปช. ถ้าผ่านก็ต้องมั่นใจให้ได้ว่าต้องมีการปฏิรูป แล้วไม่มีความขัดแย้ง ถ้าไม่ผ่านก็ดูว่าไม่ผ่านตรงไหน ด้วยเรื่องอะไร แต่ถ้าจะไม่ผ่าน เพราะว่าไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นไม่เป็นธรรมกับประชาชน จะบอกรัฐธรรมนูญที่เป็นประชา ธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย คิดว่าประชา ธิปไตยก็คือประชาชนต้องได้รับประโยชน์ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่พรรคการเมือง ไม่ใช่ใครก็แล้วแต่เป็นผลประโยชน์ แล้วคสช.ก็ไม่ได้ประโยชน์จากตรงนั้นด้วยอยู่แล้ว"
ลั่นไม่มีชี้นำ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า หลายคนอยากให้ตนออกมาตัดสิน ตนตัดสินไม่ได้เรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคน ต้องตัดสินตัวเอง ตัดสินประเทศชาติของตัวเอง เพราะงั้นการออกเสียงลงมติของ สปช.ก็เป็นเสรี เป็นอิสระ ไม่ต้องให้ใครชี้นำ แต่ต้องมองว่าหลักการเหตุผลคืออะไร ดูให้ครบทุกหมวด ไม่ใช่เฉพาะหมวดนี้มีปัญหา 3-4 เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่มีผล กระทบกับพรรคการเมืองก็คงไม่ถูกต้อง ตนเคารพการตัดสินใจของทุกคน ก็หวังให้ประเทศเราเดินหน้าปฏิรูป มีรัฐบาล หรือเป็นนักการเมืองที่ดีๆ เข้ามาในสภาแล้วก็ดำเนินการปฏิรูปประเทศให้ได้ คงต้องใช้เวลานานพอสมควร ปีสองปีคงปฏิรูปทั้งหมดไม่เสร็จ จะเฝ้ารอคอยดูว่าความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจวันที่ 6 ก.ย.
"การเดินหน้าประเทศขอให้ทุกคนเป็น คนไทยยุคใหม่ มีการติดตามข่าวสารข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซเชี่ยล มีเดีย ที่ดีๆ เฟซบุ๊ก ยูทูบ แอพพลิเคชั่นที่ดีๆ ที่ไม่ดีไม่เกิดประโยชน์อย่าไปเสียเวลา อ่านแล้วก็ลืมๆ ทิ้งๆ ไป อย่าไปสนใจมากนัก ทุกกระทรวง ทบวง กรม มีแอพพลิเคชั่นให้แล้ว เราต้องเป็นคนไทยรุ่นใหม่เรียกว่า สมาร์ต ไทย ได้ขอร้องให้ทุกกระทรวงหาทางที่จะให้ประชาชนรับรู้รับทราบข่าวสาร ต้องทำให้กว้างขวาง" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
รบ.เผยทูลเกล้าฯ ถอดยศ"แม้ว"แล้ว
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการถอดยศ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า เป็นไปตามขั้นตอน โดยนำขึ้นทูลเกล้าฯ เรียบร้อยแล้ว รอเพียงการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงมาเท่านั้น เมื่อถามว่าจะต้องลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ พล.ต.วีรชนกล่าวว่า ไม่ทราบแน่ชัด แต่คงเป็นไปตามขั้นตอน ส่วนการคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์หลังจากถูกถอดยศแล้ว ต้องปล่อยไปตามขั้นตอน
พล.ต.วีรชนกล่าวถึงกรณีถอนหนังสือ เดินทางของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการว่า การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั้นทำได้ แต่ต้องมองด้วยว่าวิจารณ์เพื่ออะไร ขณะนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ รัฐบาลไม่ได้มาจากสถานการณ์ปกติ จึงต้องดูว่าถ้าวิจารณ์แล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไร
เมื่อถามว่าการถอนหนังสือเดินทางนั้นมีประโยชน์อย่างไร ในเมื่อมีคำสั่งคสช.ห้ามออกนอกประเทศอยู่แล้ว รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ก็คงมี เพราะไม่มี เขาคงไม่ออกมาเต้นอย่างนี้
วิษณุชี้รบ.ไม่สงสัย"ประชามติ"
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ยกเลิกหนังสือเดินทางธรรมดาของนายจาตุรนต์ ว่าไม่ทราบรายละเอียด ตร.เป็นผู้ส่งหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการต่างประเทศบอกว่ามีอำนาจ แต่ยังนึกไม่ออกว่ากระทรวงการต่างประเทศใช้อำนาจในส่วนใดพิจารณา
เมื่อถามถึงกรณียังมีข้อถกเถียงเรื่องเสียงทำประชามติ ตามมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว นายวิษณุกล่าวว่ามีคนเห็นต่างก็ไม่เป็นไร อย่าไปตำหนิ สุดท้ายต้องมีข้อยุติ ในความหมายของรัฐบาลหรือกกต.เข้าใจอย่างไรก็เดินหน้าแบบนั้น ทุกมาตราในรธน.ที่เขียนไปแล้ว หากไปตั้งต้นด้วยจุดยืนที่เห็นต่างกันก็จะหาช่องอะไรที่ต่างได้ ใครที่เห็นต่างก็ไปหาความชัดเจนได้ หากมีช่องทางไปศาลรัฐธรรมนูญได้ก็ต้องไป ปัญหาคือใครสงสัยก็ส่งเรื่องไป แต่รัฐบาลขณะนี้ไม่ได้สงสัย ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อนทำประชามติ หากว่าเถียงกันแล้วต้องแก้ทั้งหมด มันคงต้องแก้ทุกเรื่อง
ยันไม่มีสัญญาณถึงสปช.
เมื่อถามว่า ทำไมเนื้อความในมาตรา 37 กับมาตรา 37/1 จึงไม่เหมือนกัน นายวิษณุกล่าวว่ามาตรา 37/1 เป็นการทำประชามติในประเด็นที่ถามมา มาตรา 37 คือเรื่องของรัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่า หากมีการขัดขวางไม่ให้ประชาชนไปออกเสียงประชามติหรือเกณฑ์คนไปออกเสียง ถือว่ามีโทษหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่ามี ในพ.ร.บ.ประชามตินั้นมีขัดขวาง สัญญาว่าจะให้ จัดมหรสพ แสดง ให้สินบน ไม่ได้ เขียนไว้ชัดเจน ทำโพลสำรวจความเห็นก่อนลงความเห็น 7 วันก็ไม่ได้
นายวิษณุ กล่าวว่า วันที่ 6 ก.ย.นี้ ที่สปช.จะลงมติรับหรือไม่รับร่างรธน. ยืนยันว่ารัฐบาลให้อิสระกับสปช.ทุกคน และไม่มีการส่งสัญญาณให้รับหรือไม่รับ เพราะหากมีสัญญาณจริง ตนในฐานะผู้แลงานด้านกฎหมายของรัฐบาลจะต้องรับทราบก่อนคนอื่น ที่ผ่านมาเป็นเพียงการปล่อยข่าวลวง แต่หากเป็นสัญญาณจริงจะไม่มีการปล่อยข่าว เพราะถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ไม่ว่าผลการลงมติจะออกมาอย่างไร ประชาชนทุกคนต้องรับให้ได้ และต้องไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น ทั้งนี้เราต้องช่วยสร้างกระแสให้คนรับรู้ว่าให้เป็นหน้าที่ของสปช. เราอยู่ข้างนอกก็ต้องคอยฟัง คนที่ว่าจะลงมติผ่านหรือไม่ผ่านก็เป็นเหตุผลของเขา และยืนยันว่าไม่มีเบื้องหลังในการโหวต
ประเมินโหวต 140-147 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบ แนวโน้มการตัดสินใจของสปช. 247 คน พบว่า จะมีสปช.โหวตรับร่างรธน.ประมาณ 100 คน ขณะที่เหลือกว่า 140-147 คน จะโหวตไม่รับร่างรธน. และเป็นที่น่าสังเกตว่า สปช.ที่เป็นนายทหาร ตำรวจ และข้าราชการ ส่วนใหญ่จะโหวตไม่รับร่างรธน. นอกจากนั้นมีกระแสข่าวว่า พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ก็จะโหวตไม่รับร่างรธน.เช่นกัน
สำหรับกลุ่มสปช.ที่จะโหวตไม่รับร่างรธน.นั้น ส่วนใหญ่จะมาจากสปช.กลุ่มจังหวัดจากทุกภาค โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือ เกือบทั้งหมด รวมแล้วประมาณ 60 คน อาทิ นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช.นนทบุรี, นายทิวา การกระสัง สปช.บุรีรัมย์ นายเอกราช ช่างเหลา สปช.ขอนแก่น นางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ สปช.เชียงใหม่ ฯลฯ นอกจากนั้นก็จะมีกลุ่มกมธ.ปฏิรูป 18 คณะ โดยแต่ละคณะจะมีสมาชิกเกือบ 10 คน หรือกว่า 10 คน ที่โหวตไม่รับร่าง รธน. รวมแล้วประมาณ 80 คน ดังนั้นจะมีผู้โหวตไม่รับร่าง 140-147 เสียง
กลุ่ม"สมบัติ-เสรี"ไม่รับแน่
โดยกลุ่มกมธ.ปฏิรูปการเมืองประมาณ 10 คน อาทิ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์, นาย นิรันด์ พันธกิจ, นายดำรงค์ พิเดช, นายชัย ชิดชอบ ฯลฯ, กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและการยุติธรรมประมาณ 10 คน อาทิ นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง นายวันชัย สอนศิริ ฯลฯ, กมธ.ปฏิรูปการปกครอง ท้องถิ่น สปช.ที่เป็นสมาชิกของสมาคมสันนิบาตประมาณ 10 คน ก็จะโหวตไม่รับร่างรธน. นอกจากนั้นก็ยังมีกมธ.ปฏิรูปสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กมธ.ปฏิรูปพลังงาน กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน กมธ.ปฏิรูปการศึกษา กมธ.ปฏิรูปสังคม กมธ.ปฏิรูปสื่อ ฯลฯ รวมกันอีกประมาณ 50 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับกลุ่ม 40 ส.ว. เดิมที่เข้ามาเป็นสปช.นั้น มีนายวันชัย สอนศิริ ประกาศชัดเจนว่าจะไม่รับร่างรธน.ฉบับนี้ ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน จะงดออกเสียง ส่วนที่เหลือมีแนวโน้มจะโหวตรับร่าง ส่วนสปช.ที่มาจากสายสื่อมวลชน ส่วนใหญ่ยังคงโหวตรับร่างรธน.ฉบับนี้ สวนทางกับกมธ.ปฏิรูปสื่อที่มาจากสาขาอาชีพอื่น ที่จะโหวตไม่รับร่างรธน.นี้
2 ฝ่ายเดินเกมล็อบบี้กันหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สำหรับความเคลื่อนไหวของสปช. ก่อนถึงวันลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย. สปช.กลุ่มที่สนับสนุนให้รับร่างและกลุ่มที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ได้เดินเกมล็อบบี้ขอคะแนนเสียงจากสมาชิกสปช.อย่างเข้มข้น ทั้งสองฝ่ายแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ นัดรับประทานอาหารเพื่อเช็กเสียงและประเมินสถานการณ์วันต่อวัน โดยคืนวันที่ 3 ก.ย. กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ 14 คน นำโดยนายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งสนับสนุนให้ผ่านร่างรธน. ได้นัดสังสรรค์ขอบคุณที่ทำงานร่วมกันมา ที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ ก็ถือโอกาสประเมินการลงมติ แต่ไม่มีมติในการโหวตโดยให้เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ขณะที่กลุ่มสปช.ที่จะไม่รับร่างรธน. ก็เดินเกมล็อบบี้เพื่อนสมาชิกอย่างหนัก โดยใช้วิธีโทรศัพท์ไปหาคนที่ยังลังเลไม่ตัดสินใจ และเปลี่ยนคนโทร.ไปล็อบบี้แบบไม่ซ้ำหน้ากัน เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลเสียของร่างรธน. และอ้างชื่อสปช.คนอื่นๆ ที่ยังลังเลได้ตัดสินใจคว่ำร่างรธน.ไปแล้ว นอกจากนั้นยังอ้างชื่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และอ้างว่า มีคำสั่งมาจากนายกฯ ให้ลงมติไม่รับร่างรธน. และในช่วงค่ำวันที่ 4 ก.ย. นายชัย ชิดชอบ ได้นัดสปช.ภาคอีสานทั้งหมด หารือถึงการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่โรงแรมพูลแมนด้วย
เดินเยาวราช- น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างกันเอง ระหว่างเดินจับจ่ายซื้อของที่ตลาดเยาวราช กทม. ท่ามกลางกระแสการก่อเหตุร้ายมุ่งเป้าไปที่แหล่งท่องเที่ยวชาวจีน เมื่อวันที่ 4 ก.ย. |
คนไม่รับชี้เนื้อหาไม่สมบูรณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตัดสินใจโหวตไม่รับร่างรธน.ในที่สุด นอกจากสปช.จากต่างจังหวัด ก็ยังมีนักวิชาการในสายของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช.จากกลุ่มกมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ที่เดิมจะลงมติรับร่างรธน.ทั้งคณะ แต่ล่าสุดในการประชุมนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ประชุมมีมติให้ไม่รับร่าง ทำให้เสียงสปช.ที่เป็นสมาชิกของสมาคมสันนิบาตฯประมาณ 10 คน จะโหวตไม่รับร่างรธน.
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับกลุ่มที่จะโหวตไม่รับร่างรธน. ส่วนใหญ่เห็นว่าเนื้อหายังไม่สมบูรณ์ จากทั้งปมการเมือง การเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก และคปป. ที่จะมีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยังมีประเด็นน่าสงสัยเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในมาตรา 95 ว่าด้วยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ ทำให้สปช.หลายคนสงสัยว่า อาจจะเป็นเช็คเปล่าอีกใบที่จะทำให้เกิดซูเปอร์บอร์ด คอยตรวจสอบองค์กรอื่น แต่ไม่มีใครตรวจสอบองค์กรนี้ได้อีกหรือไม่ นอกจากนี้ก็ยังประเมินสถานการณ์ข้างหน้าด้วยว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านสปช.ไปสู่การลงประชา มติแล้ว ก็สุ่มเสี่ยงจะเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ และเกิดความขัดแย้งรอบใหม่ได้อีกด้วย
ทิวาลุ้นสปช.นักวิชาการร่วมคว่ำ
ที่รัฐสภา นายทิวา การกระสัง สปช.บุรีรัมย์ กล่าวถึงการนัดประชุมสปช.ภาคอีสานในคืนวันที่ 4 ก.ย.ว่า นัดสังสรรค์ขอบคุณสปช.ภาคอีสาน หลังทำงานร่วมกัน และคงพูดคุยประเมินทิศทางของกลุ่มไม่รับร่างรธน. ซึ่งขณะนี้ถือว่าสูสีกันมาก เท่าที่เช็กเสียงล่าสุด กลุ่มไม่รับมีเสียงอยู่ 140 เสียง แต่อาจจะสะวิงกลับไปที่ฝ่ายรับได้ประมาณ 20 เสียง ซึ่งจะทำให้กลุ่มไม่รับร่างมีคะแนนตามหลังแต่ไม่มาก
"ดังนั้นต้องเร่งทำความเข้าใจให้เพื่อนสมาชิกสปช.ทราบถึงข้อเสียของร่างรธน.ฉบับนี้ และยังอยากได้เสียงสปช.สายวิชาการ และสายสังคมที่ยังเทเสียงมาให้แค่บางส่วนเท่านั้น" นายทิวากล่าว
สปช.จังหวัดยันไม่มีล็อบบี้
ที่รัฐสภา นายเอกราช ช่างเหลา สปช.ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้สปช.จังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสาน 95 เปอร์เซ็นต์จะโหวตไม่รับร่างรธน. ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างจะนิ่งแล้ว คาดว่าเมื่อรวมสปช.ทั้ง 247 คนแล้ว จะมีสปช. 80 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วยกับร่างรธน. เนื่องจากมีประเด็นรับไม่ได้ คือคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) ที่มานายกฯคนนอก อำนาจส.ว. ประเด็นเหล่านี้ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน ยืนยันว่าไม่มีการล็อบบี้ แต่เมื่อทุกคนศึกษาร่างรธน.แล้วต่างเห็นในทางเดียวกัน และไม่มีคนในคสช.คนใดมาสั่งการในการลงมติ
นางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ สปช.เชียงใหม่ กล่าวว่าจะลงมติไม่เห็นชอบร่างรธน. โดยใช้ดุลยพินิจส่วนตัวพิจารณา ไม่ใช่มาจากกระแสการล็อบบี้อย่างที่เป็นข่าว เหตุผลที่ไม่เห็นชอบคือความไม่สมบูรณ์กับเนื้อหาของร่างรธน. และหากให้ผ่านการพิจารณาไปสู่การทำประชามติ เป็นการโยนภาระและปัญหาไปให้ประชาชน จึงใช้วิจารณญาณกลั่นกรองก่อนถึงชั้นของประชาชน สำหรับเนื้อหาร่างรธน.เป็นปัญหาและเป็นกับดักของประเทศ อาทิ กรณีการกำหนดบทบัญญัติที่ไม่ชัดเจน เกี่ยวกับที่มาของนายกฯ ที่ไม่เป็นส.ส. แม้จะเห็นด้วยกับการให้มีนายกฯคนนอกได้ แต่บทบัญญัติที่เขียนไม่ชัดเรื่องของวิกฤตการเมือง ทำให้เห็นว่าจะเป็นบทบัญญัติที่สร้างปัญหา อำนาจ หน้าที่ของคปป. ที่ยังขาดๆ เกินๆ
ชี้นักการเมืองไม่เอาไปไม่รอด
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ สปช. ใน ฐานะรองประธานกมธ.ปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และบริการ คนที่ 2 กล่าวว่า เท่าที่ฟังเสียง ขณะนี้ก้ำกึ่งกันมาก แต่เรื่อง คปป. จะทำให้เสียงสปช.โหวตผ่านรธน.ลดลง ไม่แน่ใจว่า หากสปช.โหวตผ่านรัฐธรรมนูญไป จะผ่านประชามติของประชาชนหรือไม่ ตนเป็นสปช.ทำเรื่องการเกษตร ลงพื้นที่พบเกษตรกรจำนวนมากเขาบอกว่า นักการเมืองส่งสัญญาณล่วงหน้าแล้วว่าประชามติมาก็ไม่เอาด้วย รู้กันอยู่แล้วว่าประชาชนจะเชื่อใคร ระหว่างกมธ.ยกร่างฯ กับนักการเมืองในพื้นที่ หากสูญเงิน 3 พันล้านไปฟรีๆ ใครจะรับผิดชอบ สปช.ต้องมีจิตสำนึก สิ่งที่ตนพูดคือความจริงทั้งนั้น ทุกอย่างต้องพบกันครึ่งทาง อย่าไปสุดซอย ถ้านักการเมืองไม่เอา หวั่นวิตกว่าจะไปไม่รอด
นายสมชัย ฤชุพันธุ์ สปช. ในฐานะประธานกมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจฯ กล่าวว่า กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจฯ นัดกินข้าวกันจริง แต่ไม่ได้นัดเพื่อคุยเรื่องการเมือง ไม่มีการเช็กเสียงโหวต มีแต่ร้องเพลงสังสรรค์เลี้ยงอำลา ตนกับกมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจฯ แต่ละคนไม่มีความรู้เรื่องการเมือง จึงวิเคราะห์กันไม่ได้ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน
กมธ.เชื่อสปช.ใช้ดุลพินิจ
นายคำนูณ สิทธิสมาน สปช. และโฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวล็อบบี้ให้ลงมติไม่เห็นชอบร่างรธน.ว่า ไม่ทราบเพราะไม่มีใครมาล็อบบี้ตน และตนไม่ได้ไปล็อบบี้ผู้ใด เชื่อว่าสปช.จะใช้ดุลยพินิจตามประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ การลงมติดังกล่าวจะไม่มีประโยชน์อื่นใดเข้ามาเกี่ยวข้อง
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปช. โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงกระแสการล็อบบี้ ว่า ตนถูกเลือกจากสปช.ให้ไปยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ทำหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว หากผลงานของ กมธ.ยกร่างฯ จะเป็นประโยชน์นำชาติไทยสู่ความสงบสุขได้ ก็คงได้รับเสียงยอมรับจากสปช.ส่วนใหญ่ แต่ถ้าผลออกมาในทางตรงกันข้าม แสดงว่าน่าจะมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ เชื่อว่าพวกเราทุกคนก็พร้อมน้อมรับทุกการตัดสินใจ เพื่อประโยชน์ของประเทศและปวงชนชาวไทย
เผยเที่ยง 6 ก.ย.รู้ผลโหวต
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการกมธ.วิสามัญกิจการ สปช. (วิปสปช.) แถลงว่า การทำหน้าที่การเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ร่างรธน. ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ จะเริ่มลงมติเวลา 10.00 น. และทราบผลภายในเที่ยงวันนั้น ซึ่งการลงมติทำได้ 3 แนวทาง 1.เห็นชอบ 2.ไม่เห็นชอบ 3.งดออกเสียง หากผ่านความเห็นชอบของสปช. จะเข้าวาระที่ 2 ตั้งคำถามประชามติ ซึ่งที่ประชุมต้องลงมติจะตั้งคำถามหรือไม่ หากตั้งคำถามขณะนี้มี 2 คำถามที่ค้างพิจารณาตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. แต่หากที่ประชุมต้องการพิจารณาคำถามอื่น สามารถเสนอได้ทางวาจาหรือทำเป็นลายลักษณ์อักษรมาก่อนวันที่ 6 ก.ย. และสปช.จะหมดวาระลงในเวลา 24.00 น.ของวันที่ 6 ก.ย.
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การลงมติในครั้งนี้ ยืนยันไม่มีการล็อบบี้ ทุกคนมีเหตุผล เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และสมาชิกทุกคนมีอิสระ การจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ตนอยากให้มอง 3 อย่าง คือมองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ มองสถานการณ์บ้านเมืองในวันข้างหน้า และมองเป้าหมายของประเทศ
กลุ่มปชต.กรวดน้ำให้ร่างรธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา จัดกิจกรรมมาร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2558 "กรวดน้ำ คว่ำขัน ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เอา ไม่รับ กฎหมายเผด็จการ" ที่บริเวณหอศิลป์ กรุงเทพ แยกปทุมวัน ในเวลา 16.00 น. วันที่ 5 ก.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรุงเทพโพลล์ เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้ ประชาชนร้อยละ 60.9 ไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 34.4 เข้าใจบ้างเฉพาะประเด็นสำคัญ และร้อยละ 3.6 ที่มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี สอดคล้องกับผลสำรวจว่า ประชาชนทั่วประเทศอยากให้มีผู้ให้ความรู้ความเข้าใจเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมาช่วยอธิบาย สูงถึงร้อยละ 91.3
ขณะที่ประเด็นร้อนทางการเมืองในร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอกได้นั้น ร้อยละ 52.1 ไม่เห็นด้วย ส่วนคำถามว่ารับได้หรือไม่หาก สปช. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 6 ก.ย. นี้ จนอาจทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป พบว่า ร้อยละ 57.3 ระบุว่ารับได้ มีเพียงร้อยละ 29.1 ที่ระบุว่ารับไม่ได้ ให้เหตุผลว่า อยากมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ป
เอฟทีเอว็อทช์ชี้ยิ่งร่างยิ่งล้าสมัย
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ออกแถลงการณ์ตั้งข้อสังเกตและไม่เห็นด้วยต่อมาตรา 183 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ในร่างรัฐธรรมนูญที่สปช.จะลงมติในวันที่ 6 ก.ย. นี้ ว่า มาตรา 183 ล้าหลังกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กมธ.ยกร่างฯ เผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา อาทิ การลดระดับการผ่านความเห็นชอบกรอบเจรจาจากรัฐสภาทั้งคณะ เหลือแค่กมธ.ต่างประเทศของรัฐสภา ถือเป็นการถอยหลังในเชิงสาระสำคัญที่สุด เพราะหนังสือสัญญาระหว่างประเทศเมื่อทำแล้วจะมีผลผูกพันยาวนานมากกว่าชั่วอายุคน กรอบเจรจาจึงมีความสำคัญยิ่งในการสร้างความรอบคอบ จึงไม่ควรผ่านแค่กมธ.ต่างประเทศของรัฐสภาเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องผ่านรัฐสภาด้วยและยังน่าเสียดายที่ร่างรัฐธรรมนูญระบุว่าจะสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ไม่สามารถทำให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในหนังสือสัญญา
เอฟทีเอ ว็อทช์ วิเคราะห์ว่า มาตรา 183 ไม่อาจสร้างกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล การมีส่วนร่วมระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาสังคม ซึ่งเป็น หลักการสำคัญข้อหนึ่งในระบอบการเมืองประชา ธิปไตย แต่อาจจำกัดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้ประชาชน ผู้เดือดร้อนต้องใช้ท้องถนนหรือพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมือง
สีซอ- นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย แสดงท่าสีซอ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 4 ก.ย. โดยอ้างว่าเป็นการทำกิจกรรมแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง ขณะที่สปช.เตรียมประชุมลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย. นี้ |
ชูวิทย์สีซอแสดงสัญลักษณ์
ที่รัฐสภา นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย นำซออู้มาสีต่อหน้าสื่อมวลชน จากนั้นกล่าวว่า แม้ตนเล่นซออู้ไม่เป็น ถ้าคนข้างบนบอกว่า "เล่นดี ก็ดี" ตนแค่อยากบอกความรู้สึกเพราะเชื่อฟังคำสั่งคสช. ตนสีซอให้ประชาชนฟังทั้งๆ ที่รู้ว่าเล่นไม่เป็น แต่ยุคสมัยนี้เปลี่ยนไป นักการเมืองเลวโกงกินคอร์รัปชั่น เล่นพรรคพวก โกงการเลือกตั้ง แต่ทุกคนก็เลวอยู่ในระบบเนื่องจากประชาชนเลือกมา แต่พวกที่นอกกฎเกณฑ์คือพวกอีแอบ ไม่เคยเลือกตั้ง เวลามีรัฐประหารก็มาแอบ
"วันนี้ ผมมาแสดงสัญลักษณ์ ส่วนเรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญที่จะโหวตในวันที่ 6 ก.ย.นี้ จะโหวตอย่างไรก็แล้วแต่ท่าน ถ้าผ่านไปจนถึงประชามติ ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเสี่ยงเอง เพราะการทำประชามติเป็นช่องของประชาชนในการแสดงความเห็น ถือเป็นความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวง หากประชามติไม่ผ่านก็อาจส่งผลลบ สร้างความเสียหาย รัฐบาลต้องรับผิดชอบเอง หรือแม้ว่าวันที่ 6 ก.ย.นี้จะโหวตไม่ผ่าน ก็ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ร่าง เหมือนเดินหน้าติดกึกถอยหลังติดกัก และจะมาอ้างประชาชนไม่ได้ เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง"
พท.หวังสปช.คิดก่อนโหวต
วันเดียวกัน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวถึงการลงมติร่างรธน.ว่า จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ว่ากติกาของบ้านเมืองจะนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าหรือถอยหลัง และเกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้นหรือไม่ ขอฝากข้อสังเกตจุดด้อยที่สุดของร่างรธน.ฉบับนี้ ขอยกมาเพียงประการเดียว คือการบัญญัติให้คปป.เป็นจุดด่างพร้อยที่สุด ประการสำคัญขัดกับมาตรา 3 ของรธน.เองที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นผ่านรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล นับเป็นความกล้าหาญมากของกมธ.ยกร่างฯ ที่กล้าเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน ตำรารัฐศาสตร์ที่ร่ำเรียนกันมาต้องถูกฉีกทิ้ง
นายชวลิต กล่าวว่า มีการคาดการณ์ล่วงหน้าว่ารัฐบาลเลือกตั้งเอาไม่อยู่ในปัญหาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ต้องมีคปป.อยู่เหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มั่นใจได้เลยว่าไม่มีนักลงทุนหน้าไหนกล้ามาลงทุน ที่มีอยู่ก็จะย้ายฐานหนีหมด จึงขอให้สปช.ที่อยู่ระหว่างตัดสินใจได้ไตร่ตรองให้รอบคอบ ขณะนี้ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่และนักวิชาการค่อนประเทศไม่เห็นด้วย จึงขอให้สปช.ไตร่ตรองให้รอบคอบ หากสปช.ไม่รับ จะเป็นประโยชน์ ไม่ต้องเสียงบ 3 พันกว่าล้าน ไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นใหม่ รัฐบาลจะได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยไม่ต้องพะวักพะวนกับปัญหาอื่น ขอให้ฟังข้อเสนอแนะบ้าง โบราณว่าจิ้งจกร้องทักยังต้องฟัง
จี้ใครรับให้แจงเหตุผลด้วย
นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พท. กล่าวว่าอยากบอกสปช.ว่าอย่ารอใบสั่ง คนที่อ่านออกเขียนได้ก็พอจะตัดสินใจด้วย ตัวเอง ทั้งนี้ร่างรธน.ฉบับนี้ร่างให้กลุ่มคนบางกลุ่มครองอำนาจโดยแท้จริง ในมาตรา 260 และ 261 โดยบอกว่าให้เวลาแค่ 5 ปี แต่หารู้ไม่ว่าคำว่า 5 ปี คือการเลือกตั้ง 2 รอบ หากเป็นไปตามคาด คนที่จะมาเป็นนายกฯ อาจเป็นคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งบังคับให้เลือกนายกฯใช้เวลา 45 วัน หากไม่สำเร็จถือว่าส.ส.ถูกยุบโดยปริยาย ตามมาตรา 165 นับเป็นการออกกฎหมายบังคับทางอ้อม ส่วนส.ว.ก็ขัดกับคำว่าให้ประชาชนเป็นใหญ่ เพราะคนทั้งประเทศเลือกได้จังหวัดละคน รวม 77 คน แต่คนอีกหยิบมือเดียวเลือกได้ 123 คน
นายสมคิด กล่าวอีกว่า และการให้คปป.ตามมาตรา 260 ครอบงำรัฐบาลได้นั้น ผิดหลักประชาชนเป็นใหญ่ ซึ่งนอกจากอยู่ได้ 5 ปีแล้ว ยังอยู่ได้อีกครั้งละ 5 ปี ตามมาตรา 258 ยังไม่นับถึงคุณสมบัติของส.ส. ตามมาตรา 108 ที่กีดกันบุคคลบางกลุ่มที่เขารับโทษแล้ว ทั้งจงใจเขียนอย่างไม่เป็นสากล ฝากสปช. ด้วยว่าหากรับร่างรธน.ก็ต้องมีคำตอบให้ชัดเจนว่าทำไมจึงรับ ส่วนตนยืนยันไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ปูพาไปป์เดินเยาวราช
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เย็นวันเดียวกัน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมด.ช. ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ ใช้เวลาว่าง ไปเดินจับจ่ายสินค้าและรับประทานอาหารเย็นบริเวณถนนเยาวราช พ่อค้า แม่ค้า ประชาชน ทราบข่าว ต่างมาให้กำลังใจและขอถ่ายรูปจำนวนมาก โดยระบุว่า"อย่าเพิ่งท้อ ขอให้สู้ต่อ"
ศาลการเมืองชี้คดี"นพดล"
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีหมายเลขดำ อม.3/2556 พร้อมองค์คณะผู้พิพากษา รวม 9 คน นัดฟังคำพิพากษาคดี ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีที่นายนพดลไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย. 2551 ที่สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทยในชั้นไต่สวนจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
โดยนายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา อ่านคำพิพากษาว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-7/2551 ที่ได้วินิจฉัยนั้นมีผลผูกพันต่อศาลฎีกาฯ หรือไม่ ซึ่งองค์คณะฯ มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลผูกพันต่อศาลฎีกาฯ โดยต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่
ระบุไม่เร่งรีบลงนาม
องค์คณะฯ เห็นว่า เมื่อจำเลยเข้ารับตำแหน่งและรับทราบข้อมูลต่างๆ ก็ได้จัดให้มีการเจรจาเพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์จากกรณีที่ปราสาทพระวิหารจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยไม่เสียดินแดน ซึ่งได้นำข้อเสนอของฝ่ายกัมพูชามาหารือและขอความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สมช. และครม.ก่อน จึงแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยว่าได้คำนึงถึงผลประโยชน์และระมัดระวังรักษาสิทธิ์ในดินแดนของประเทศไทยเป็นอย่างดีแล้ว อีกทั้งเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอมาเป็นลำดับ
ส่วนที่การเสนอร่างคำแถลงการณ์ฯ เพื่อให้มีการลงนามเป็นการกระทำโดยเร่งรีบหรือไม่นั้น องค์คณะฯ เห็นว่า ก่อนที่จะเสนอร่างดังกล่าวได้ความว่า ไม่ได้เกิดจากการริเริ่มของจำเลย แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการเจรจาร่วม 3 ฝ่าย ไทย กัมพูชา และผู้ที่เกี่ยวข้องจากฝ่ายยูเนสโกการขอขึ้นมรดกโลก ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งการประชุมเป็นไปด้วยความตึงเครียด ซึ่งการนำคณะไปเจรจาที่กรุงปารีส ก่อนที่จะยอมรับร่างดังกล่าวก็ได้ปรึกษาหารือกับคณะทำงาน ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศที่ไปด้วยกันอย่างรอบคอบ
ชี้ทำเพื่อปกป้องอธิปไตย
แสดงให้เห็นถึงการกระทำที่เปิดเผยเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ ต่อมาวันที่ 17 มิ.ย. 2551 จำเลยจึงเสนอครม.พิจารณาอนุมัติแล้ววันที่ 18 มิ.ย. 2551 จำเลย และนายสก อาน รมว.ต่างประเทศกัมพูชา จึงได้ลงนามร่วมกัน ก่อนที่จะถึงกำหนดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกระหว่างวันที่ 2-8 ก.ค. 2551 เป็นเวลาเพียง 2 สัปดาห์ แม้จะเป็นวาระจร แต่ด้วยระยะเวลาจำกัดกระชั้นชิดก็ต้องดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนการประชุมดังกล่าว มิฉะนั้นจะมีพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่ทับซ้อนซึ่งประเทศไทยอ้างสิทธิ และจำเลยได้ดำเนินการไปตามลำดับขั้นตอนและผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงมาก่อนแล้ว 2 ครั้ง และเมื่อกัมพูชาจะยื่นคำขอพร้อมแผนผังเพื่อ ขอขึ้นทะเบียน กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ให้กรมแผนที่ทหารลงพื้นที่และใช้เทคโนโลยีตรวจสอบจุดเขตแดนว่า มีการรุกล้ำในพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.ก.ม. ที่อยู่ทางทิศเหนือ และทิศตะวันตกของตัวปราสาทที่ไทยและกัมพูชามีข้อพิพาทกันหรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบไม่พบ
พยานหลักฐานจึงไม่พอฟังว่าการกระทำของจำเลยรีบเร่งหรือผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประเทศไทยไม่สนับสนุนประเทศกัมพูชาให้ขึ้นทะเบียนก็ย่อมส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จะตามมาในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามคำเบิกความของนายวีระชัย พลาศรัย
แถลงการณ์ร่วมไม่ใช่สัญญา
ส่วนที่ไม่ได้มีการนำร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เสนอที่ประชุมสภาตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มาตรา 190 วรรคสองนั้น องค์คณะฯ เห็นว่า ได้ความจากอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ พยานระบุว่า ร่างแถลงการณ์ไม่ใช่หนังสือสัญญา จึงไม่ได้เสนอผ่านรัฐสภาให้ความเห็นชอบ โดยกรมสนธิสัญญาฯ มีหน้าที่เสมือนที่ปรึกษากฎหมาย โดยการจะพิจารณาเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกและปัญหาเขตแดนจะมีกรมสนธิสัญญาฯ และกรมแผนที่ทหารช่วยในการตรวจสอบ จึงเห็นว่าการกระทำของจำเลยสมเหตุสมผลขณะนั้นซึ่งฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่นำร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ
อีกทั้ง ป.ป.ช. โจทก์ไม่มีพยานหลักฐาน ที่จะทำให้เห็นได้ว่า การกระทำของนาย นพดล จำเลย ขณะเป็นรมว.ต่างประเทศนั้น ร่วมกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะได้รับประโยชน์แลกเปลี่ยนการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่พิพาทตามที่โจทก์อ้าง คงมีเพียงพยานคือนายสมชาย แสวงการ และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ที่ให้การซึ่งได้ข้อมูลจากสื่อ แต่ยังไม่มีหลักฐานอื่นที่จะอนุมานได้ว่า นายนพดลและพ.ต.ท. ทักษิณจะได้รับประโยชน์ โดยภายหลังการลงนามแถลงการณ์ ไม่ปรากฏว่ามีเอกชนรายใด หรือบริษัทเอกชนที่พ.ต.ท.ทักษิณและจำเลยถือหุ้นอยู่ได้สิทธิเข้าไปขุดเจาะน้ำมัน
มติ 6 ต่อ 3 ยกฟ้อง"นพดล"
ดังนั้น องค์คณะฯ จึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่าพยานหลักฐานของป.ป.ช.โจทก์ จึงยังฟังไม่ได้ว่านายนพดลทุจริต หรือมีเจตนาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พิพากษาให้ยกฟ้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้มีกลุ่มอดีตรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย หลายคนมาร่วมให้กำลังใจด้วย อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.ศึกษาธิการ และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรมว.ต่างประเทศ
สำหรับมติเสียงข้างมาก 6 เสียงประกอบด้วย นายประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน, นายชินวิทย์ จินดาแต้มแก้ว ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา, นายกรองเกียรติ คมสัน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา, นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา, นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา และนายนิยุต สุภัทรพาหิรผล ประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา ขณะที่เสียงข้างน้อย 3 เสียง ประกอบด้วย นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา, นายชาติชาย อัครวิบูลย์ ประธานแผนกคดี ผู้บริโภคในศาลฎีกา และนายกำพล ภู่สุดแสวง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา
นพดลร่ำไห้-อโหสิกรรมทุกคน
ภายหลังฟังคำพิพากษา นายนพดลกล่าวด้วยดวงตาแดงก่ำว่า ตนสู้คดีนี้มากว่า 7 ปี เหมือนตกอยู่ในนรก วันนี้ขอขอบคุณองค์คณะศาลฎีกาฯ ที่ให้ความยุติธรรม ขอบคุณข้าราชการ อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่มาเป็นพยาน จากคำพิพากษาชี้ชัดว่าคำแถลงการณ์ร่วมของไทยกับกัมพูชาที่ตนลงนามนั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก ตนขออโหสิกรรมให้ทุกคน เลิกแล้วต่อกันและไม่คิดนำคำพิพากษามาเล่นการเมืองฟ้องกลับใคร ไม่ว่าป.ป.ช.หรือบุคคลที่เข้าใจตนผิด ขอให้ทุกคนมีความรักและสามัคคีกัน ทั้งนี้ ตนไม่ได้คุยกับพ.ต.ท.ทักษิณมาเกือบ 2 ปีแล้ว และตนคงไม่ต้องช่วยทีมทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะเขามีความสามารถอยู่แล้ว จากนี้คงไปทำบุญและพักผ่อนในประเทศ ยังไม่มีความคิดไปต่างประเทศ อีกทั้งคสช.ไม่อนุญาตให้ออก
ด้านนายสิทธิโชค ศรีเจริญ ทนายความของ ป.ป.ช. กล่าวว่า เมื่อศาลฎีกาฯ ยกฟ้องแล้ว คดีถือว่าจบตามที่ศาลมีคำพิพากษา
ตัดสิทธิ์ 2 สส.ปชป.-ใส่ร้ายคู่แข่ง
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ศาลจังหวัดตรัง ศาลอ่านคำพิพาษาของศาลชั้นต้น คดีนายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีตส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ และนายธานินทร์ ใจสมุทร อดีตส.ส.สตูล พรรคประชาธิปัตย์ กระทำความผิดตามพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2554 ระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยเหลือนายกิจ หลีกภัย หัวหน้าทีมกิจปวงชน กับนายสนิท เพทาย ลูกทีม แข่งกับนายธนิต ชูเพ็ง อดีตส.จ.ตรัง เขตอ.หาดสำราญ ในการเลือกตั้งนายกอบจ.ตรัง และสมาชิกสภาอบจ.ตรัง เมื่อปีพ.ศ.2551 โดยจำเลยทั้ง 2 คนกล่าวใส่ร้ายป้ายสีนายธนิต ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ใบเหลืองนายสนิท และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่
จากนั้นกกต.แจ้งความดำเนินคดีนายสมชายและนายธานินทร์ ในข้อหากระทำผิดพ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2554 มาตรา 57 (5) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้าย หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในเรื่องใดอันเกี่ยวกับผู้สมัคร ทั้ง 2 คนให้การรับสารภาพ ศาลจึงพิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 120,000 บาท แต่ทั้ง 2 คนให้การรับสารภาพ จึงพิพากษาลดโทษเหลือ 1 ใน 3 ให้เหลือจำคุกคนละ 8 เดือน และปรับคนละ 80,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี
นายสมชาย กล่าวว่า ตนและนายธานินทร์ให้การรับสารภาพ ศาลจึงลงโทษสถานเบา ขณะนี้อายุ 58 ปีแล้ว ตั้งใจจะเกษียณอายุการเป็นนักการเมืองตอนอายุ 60 ปี แต่เมื่อผลการตัดสินออกมาเป็นแบบนี้ ก็ถือว่าได้พักเร็วขึ้น จากนี้จะไปพักผ่อน แต่พร้อมจะให้น.ส.สุนัชชา โล่สถาพรพิพิธ ลูกสาวที่กำลังศึกษาต่ออยู่ที่มหาวิทยาลัยควีนแมรี่ ประเทศอังกฤษ ลงเล่นการเมืองแทนต่อไป
ส่วนนายธานินทร์กล่าวเช่นเดียวกันว่า ขอวางมือทางการเมือง จะไปทำงานด้านศาสนาต่อไป
"ตู่"ชี้อาเซียนไม่งัดข้อ"แรงงาน"
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 4 ก.ย. ที่โรงแรมดุสิตธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมความร่วมมือเชิงวิชาการด้านแรงงานระดับรัฐมนตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้หัวข้อ "ความร่วมมือด้านแรงงานเพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานอพยพกับการจ้างงาน" โดยมีผู้เข้าร่วมระดับรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจาก 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทยและเวียดนาม
นายกฯ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย อยากให้มีครั้งต่อๆ ไป มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือด้านต่างๆ เพราะเราถือว่าเราเป็นเพื่อนกัน เป็นหุ้นส่วนกัน ไม่มีใครนำใคร และจะไม่ทิ้งประเทศใดไว้ แต่จะเดินไปพร้อมกันในอาเซียนทั้งหมด ซึ่งกลุ่มประเทศของเรามีเอกลักษณ์ สามารถดึงดูใจ แต่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย มีการหลอกลวงเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศเราต้องไม่เกิดขึ้นอีก ทั้งนี้ ตนทราบว่าประเทศฟิลิปปินส์มีการจัดทำแผนและระบบการดูแลแรงงานเป็นอย่างดี ทั้งแรงงานต่างชาติที่เข้าไปทำงานและแรงงานของตนเองที่ไปทำงานในประเทศอื่น ขอให้ไปหาข้อมูลและศึกษามาเพราะเป็นแผนงานที่ดี ซึ่งเพื่อนเรามีอะไรดี เราก็ไปรับของเขามาเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนปัญหาแรงงานที่เข้ามาไม่ถูกกฎหมาย เรามีการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนในเรื่องการประกันตน การขึ้นทะเบียนทั้งหมดจะได้ไม่เกิดปัญหา ถ้าหากแรงงานขึ้นทะเบียนถูกต้อง เราพร้อมดูแล แต่ถ้าไม่ขึ้นทะเบียนและเข้ามาไม่ถูกต้อง ตนคิดว่าแต่ละประเทศคงไม่อยากให้เกิดขึ้น ฉะนั้นทุกประเทศต้องทำให้เหมือนกัน เราดูแลอยู่แล้วเพราะรู้ว่าทุกคนมีรายได้น้อย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ตนกับผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศมีความเข้าใจกันดี ร่วมมือกันทุกอย่าง ไม่มีความขัดแย้ง และปัญหาตามแนวชายแดนก็ไม่เกิดขึ้น ช่วงที่รัฐบาลนี้ยังอยู่ ยืนยันว่าจะทำทุกอย่างให้เท่าเทียมกัน ใช้กฎกติกาของประชาคมโลกต่างๆ ที่สำคัญคือลดการทุจริต คอร์รัปชั่นในทุกมิติและเจ้าหน้าที่ต้องถูกลงโทษทุกเรื่อง จึงต้องขอร้องให้เข้าใจ ถ้าเราไม่จัดระเบียบ วันหน้าเหตุการณ์ความขัดแย้งตามซีกโลกอื่นๆ จะเกิดขึ้นในแถบประเทศอาเซียน ฉะนั้นต้องระมัดระวังและขอให้ตรวจสอบแรงงานเหล่านี้
"อย่ามาระแวงกัน อย่ามาโกรธกัน ทุกอย่างทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนของทุกประเทศ ผมมีกำลังใจที่เห็นทุกคนร่วมมือโดยเฉพาะมิตรประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน ไทยไม่ใช่ศัตรูของใครทั้งสิ้น วันนี้ขอเวลาเราเดินหน้า ถ้าเอามาตรฐานเดียวกันมาดูทั้งหมดมันไปไม่ได้ ประชาชนก็เดือดร้อนแต่เราเคารพทุกประเทศในโลก" นายกฯ กล่าว
ออมสินแจงห้าม"อดิศร"ฝากเงิน
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. นายอดิศร เพียงเกษ แนวร่วมนปช. โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ไปเปิดบัญชีเงินฝากแบบออมทรัพย์ธรรมดา ที่ธนาคารออมสิน สาขาอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว ชั้นหนึ่ง สักพักมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงค่อนข้างมีอายุยื่นสำเนากระดาษให้ดู ปรากฏว่าตนเป็นนักการเมืองมีความเสี่ยงสูงระดับเลข 3 ไม่ทราบว่าเป็นระดับร้ายแรงเพียงใด พร้อมบอกว่าธนาคารจะไม่ยอมทำธุรกรรมใดๆ กับผู้มีความเสี่ยงสูงเช่นนี้ และไม่สามารถรับการเปิดบัญชีเงินฝากของตนได้ เมื่อตนขอสำเนาใบแจ้งว่าเป็นบุคคลมีความเสี่ยงสูง แต่ผู้ช่วยผู้จัดการไม่ยอมให้ ที่เล่ามานี้เพื่อประกาศให้สาธารณะทราบว่าการคุกคามสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ใช่จะมีเฉพาะเรื่องการเมืองและความมั่นคงเท่านั้น แต่ในด้านเศรษฐกิจก็กำลังถูกคุกคามต่อประชาชนอีกด้วย จึงเรียนผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กรุณาชี้แจงแถลงไขว่าบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงนั้นคือบุคคลเช่นไร มีใครบ้าง มีใครสั่งการให้มีข้อห้ามเช่นนี้
วันเดียวกัน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผอ.ธนาคารออมสิน กล่าวชี้แจงว่า พนักงานที่สาขาดังกล่าวปฏิเสธการรับฝากจริง แต่เกิดจากความเข้าใจผิดของพนักงาน ยืนยันว่าธนาคารยังคงเปิดรับฝากเงินจากลูกค้าตามปกติ เว้นแต่ธนาคารตรวจพบว่าลูกค้าเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย กรณีนี้ธนาคารจำเป็นต้องปฏิเสธการเปิดบัญชีหรือรับทำธุรกรรม ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ทุกสถาบันการเงินปฏิบัติอยู่แล้ว ขอย้ำว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองหรือการเลือกปฏิบัติกับนักการเมือง
นายชาติชายกล่าวว่า ได้มอบให้นายเจนจัด พลไพรินทร์ ผู้ช่วยผอ.ธนาคารออมสิน สายงานกำกับและควบคุม เข้าพบและขอโทษนายอดิศรในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้ทันทีแล้ว โดยได้ชี้แจงทำความเข้าใจ พร้อมเชิญนายอดิศรมาใช้บริการของธนาคารต่อไป และได้ตักเตือนพนักงานรายดังกล่าว พร้อมซักซ้อมให้พนักงานปฏิบัติงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และวิธีปฏิบัติงานในเรื่องนี้ อีกทั้งยังสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความพร้อมให้บริการทำธุรกรรมทางการเงิน ต้องระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้นในการรับหรือปฏิเสธลูกค้า ยืนยันว่าออมสินเปิดรับเงินฝากลูกค้าปกติ ไม่ได้ดูความเสี่ยงเงินฝาก
สภาปฏิรูปฯ พัลวัน! เช็กเสียงรับ-ไม่รับรธน. กลุ่มคว่ำเดินเกิมรุกล็อบบี้หนัก
มติชนออนไลน์ : วันที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 08:55:33 น.
ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความเคลื่อนไหวของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ก่อนถึงวันลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กันยายนนี้ว่า ขณะนี้กลุ่มสปช.ที่สนับสนุนให้รับร่างและกลุ่มที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้เดินเกมล็อบบี้ขอคะแนนเสียงจากสมาชิกสปช.อย่างเข้มข้น โดยทั้งสองฝ่าย แบ่งกันออกเป็นกลุ่มย่อยๆ มีการนัดรับประทานอาหารเพื่อเช็คเสียงและประเมินสถานการณ์กันวันต่อวัน
โดยล่าสุด เมื่อคืนวันที่ 3 กันยายน คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ปฏิรูปเศรษฐกิจ 14 คน นำโดยนายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ได้นัดรับประทานอาหารค่ำที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ เพื่อเลี้ยงสังสรรค์ขอบคุณที่ทำงานร่วมกันมาในกมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยมีการประเมินสถานการณ์ลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กันยายน แต่ไม่ได้มีมติอย่างเป็นทางการในการลงมติ เนื่องจากจะให้เป็นเอกสิทธิของแต่ละคนในการลงมติ ขณะเดียวกันในช่วงค่ำวันที่ 4 กันยายนนี้ สปช.จังหวัดสายอีสาน นำโดยนายชัย ชิดชอบ ได้นัดสปช.จังหวัดภาคอีสานทั้งหมด มานัดหารือถึงการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ร.ร.พูลแมนด้วย
ขณะที่กลุ่มสปช.ที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้เดินเกมล็อบบี้ เพื่อโน้มน้าวใจเพื่อนสมาชิกอย่างหนัก โดยใช้วิธีโทรศัพท์ไปหาสมาชิกสปช.ที่ยังลังเลไม่ตัดสินใจในการลงมติ วันละ 5 รอบ โดยเปลี่ยนคนที่ทำหน้าที่โทรศัพท์ไปล็อบบี้แบบไม่ซ้ำหน้ากัน เป็นลักษณะหว่านล้อมโดยชี้ให้เห็นถึงผลเสียของร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมอ้างชื่อสมาชิกสปช.คนอื่นๆที่ยังลังเลในการลงมติว่า ได้ตัดสินใจคว่ำร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว พร้อมกันนี้ยังอ้างชื่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคนสุดท้ายที่โทรศัพท์ไปล็อบบี้จะทิ้งทวนอ้างว่า มีคำสั่งมาจากนายกรัฐมนตรีให้ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจูงใจให้คนที่ยังลังเลเทคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เสียงสปช.ที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพิ่มขึ้นมาแตะอยู่ที่ 100-120 เสียงแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ส่วนเสียงสปช.ที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่มขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่เป็นสปช.จังหวัด ที่จะเทคะแนน 70-80 เปอร์เซ็นต์ ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะสปช.สายภาคเหนือ อีสาน ที่เทเสียงให้เกือบทั้งหมด ตลอดจนนักวิชาการในสายของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง
นอกจากนี้ ยังมีเสียงสปช.จากกลุ่มกมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ที่เดิมจะลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญทั้งคณะ แต่ล่าสุดจากการประชุมนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เสียงสปช.ที่เป็นสมาชิกของสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย ประมาณ 10 คน ที่อยู่ในกมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น เปลี่ยนใจหันมาสนับสนุนการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม จากการเช็กเสียงจากสมาชิกสปช.ทั้งกลุ่มที่สนับสนุนให้รับร่างและกลุ่มที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ยังมีสมาชิกสปช.ประมาณ 30-40 คน มีชื่ออยู่ในสปช.ทั้งสองกลุ่มดังกล่าว ทำให้สปช.ทั้งสองกลุ่มยังไม่สามารถระบุจำนวนเสียงของฝ่ายตัวเองแบบชัดเจนได้
ด้านนายเอกราช ช่างเหลา สปช.ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้สปช.จังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสาน จำนวน 95 เปอร์เซ็นต์จะโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างจะนิ่งแล้ว คาดว่า เมื่อรวมสปช.ทั้ง 247 คนแล้ว จะมีสปช. 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีประเด็นรับไม่ได้คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่มานายกรัฐมนตรีคนนอก อำนาจส.ว. ประเด็นเหล่านี้ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน ยืนยันว่า ไม่มีการล็อบบี้ แต่เมื่อทุกคนเมื่อได้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ต่างเห็นไปในทางเดียวกัน และไม่มีผู้ใหญ่ในคสช.คนใดมาสั่งการในการลงมติทั้งสิ้น
กติกาและปัญหา
วันที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2558 บทนำมติชน
ร่างรัฐธรรมนูญที่ล้อเลียนว่าเป็นฉบับนางงามจักรวาล ที่สภาปฏิรูปฯนัดลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในวันที่ 6 กันยายนนี้ ยังเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรง นักการเมืองอีกคนที่ออกมาแสดงทรรศนะและจุดยืน ได้แก่ นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก 6 ข้อ ว่า 1.ไม่รับรัฐธรรมนูญ พร้อมลงมติคว่ำชั้นประชามติ 2.เปรียบนักกีฬาปฏิเสธกติกาเถื่อน 3.นักกีฬามีสิทธิไม่ลงแข่งขัน หากกติกาไม่ชอบมาพากล 4.รัฐธรรมนูญจะสร้างความวุ่นวายเสียหายแก่ระบบการเมืองและประชาธิปไตยในอนาคต 5.สังคมประชาธิปไตยสากลทั่วโลกกำลังจับตาดูและพร้อมจะต่อต้านรัฐบาลไทยที่มาจากการรัฐประหาร และ 6.หากยังดันทุรังอยู่เช่นนี้ ประเทศชาติมีแต่จะยิ่งเสียหาย ทีมเทวดาที่ไหนก็จะมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยไม่ได้
นายพิเชษฐ ยังกล่าวว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านทุกขั้นตอน แล้วพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ลงสมัคร การเมืองจะเป็นอย่างไร 83 ปีที่ผ่านมา คนด่านักการเมืองกันมาก แต่เพราะนักการเมือง บ้านเมืองถึงได้พัฒนาเจริญก้าวหน้า เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ต้องรักระบอบนี้ รัฐธรรมนูญทุกฉบับเขียนว่าประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั่วโลกจึงยอมรับนับถือ วันนี้ดูเหมือนว่าคนเบื่อหน่ายนักการเมืองรังเกียจประชาธิปไตย ไปเอา พล.อ.มาปกครองประเทศ กลายเป็นว่าเราเป็นประชาธิปไตย แต่กลับไปชื่นชมทหารที่อยู่ๆ มายึดอำนาจแล้วมาตั้งสภาเอง เอาพวกตัวเองมาร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ร่างก็เป็นกลุ่มเดียวกับที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ถ้าใช้ไม่ได้ พวกนี้ต้องรับผิดชอบหรือไม่
เหตุที่เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหา มาจาก 2 ประเด็นที่แยกออกจากกันได้ยาก ประการหนึ่ง คือ มาจากทรรศนะของผู้ยกร่าง ที่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญนี้จะเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปและปรองดอง อีกประการหนึ่ง เป็นท่าทีของผู้มีอำนาจเองที่อาจแสดงออกไม่ว่าจะโดยทางอ้อมหรือทางตรง ว่าต้องการร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ ดังนั้น การปฏิเสธร่างนี้แล้วยกร่างใหม่ ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าร่างใหม่จะดีกว่าเก่า ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนกระบวนการใหม่ ทั้งตัวบุคคลที่ร่าง และทรรศนะท่าทีของผู้กุมอำนาจ ที่จะต้องมีความรักและเชื่อในประชาธิปไตย ที่สำคัญ ต้องเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้ถกเถียงและมีส่วนรวม มิฉะนั้น ประเทศจะวนเวียนอยู่ในเขาวงกตของการร่างรัฐธรรมนูญ หาทางออกไม่ได้ และเสื่อมลงไปเรื่อยๆ