- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 05 September 2015 15:59
- Hits: 9462
ปลดชนวน-คว่ำร่างรธน. 147สปช. คสช.เช็กเสียง-ล็อบบี้วุ่น สายตจว.95% พรึบไม่รับ ทูลเกล้าฯถอดยศ'แม้ว'พท.ท้วงปม'ระเบียบ47'มีสิทธิประชามติพุ่ง 50 ล. สดศรีจี้แก้'ม.37'ให้ชัดๆ
'บิ๊กตู่'ส่งสัญญาณ ก่อน สปช.โหวตร่างรัฐธรรมนูญ 6 ก.ย. แนะให้ดูทุกหมวด อย่ามองแค่ปัญหากระทบพรรคการเมือง ชี้ประชาชนอยากเปลี่ยนแปลง-ปฏิรูป สปช.หนุน-ต้านยังล็อบบี้กันหนัก
มติชนออนไลน์ :
'บิ๊กตู่'ส่งนัย'สปช.'โหวตร่างรธน.
เมื่อเวลา 20.15 น. วันที่ 4 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการ 'คืนความสุขให้คนในชาติ'ว่า วันนี้กำลังพูดถึงเรื่องอนาคตคือการมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เป็นสากล แต่มั่นใจหรือยังว่าในวันหน้านั้นจะเป็นเหมือนเช่นห้วงที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติ (วันที่ 6 กันยายน) แล้ว ก็เป็นการเดินหน้าตามโรดแมปของ คสช. ผ่านหรือไม่ผ่านเป็นเรื่องของ สปช. ถ้าผ่านต้องมั่นใจให้ได้ว่าต้องมีการปฏิรูป แล้วก็ไม่มีความขัดแย้ง ถ้าไม่ผ่านต้องดูว่าไม่ผ่านตรงไหน ด้วยเรื่องอะไร แต่ถ้าจะไม่ผ่านเพราะว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ตนคิดว่าอันนั้นไม่เป็นธรรมกับประชาชน
"ประชาชนก็ต้องการที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลง ต้องการให้มีการปฏิรูป คำว่าจะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น คิดว่าวัตถุประสงค์ของการเป็นประชาธิปไตยนั้นคือประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่พรรคการเมือง แล้ว คสช.ก็ไม่ได้ประโยชน์จากตรงนั้นด้วยอยู่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
แนะสปช.ดูร่างรธน.ครบทุกหมวด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอให้พิจารณากันให้ดี หลายคนก็อยากจะให้ออกมาตัดสิน ตนตัดสินไม่ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคนจะต้องตัดสินตัวเอง ตัดสินประเทศชาติของตัวเอง เพราะฉะนั้นการออกเสียงของ สปช.เป็นเสรี เป็นอิสระ ไม่ต้องให้ใครชี้นำ ใครเห็นด้วยก็ลงเห็นด้วย ใครไม่เห็นด้วยก็ไม่เห็นด้วย แต่ต้องมองด้วยว่าหลักการ เหตุผลคืออะไร ดูให้ครบทุกหมวดด้วย ไม่ใช่เฉพาะหมวดนี้มีปัญหาอยู่ 3-4 เรื่อง เฉพาะเรื่องที่มีผลกระทบกับพรรคการเมืองทั้งสิ้น ตนคิดว่าไม่ถูกต้อง
"ผมเคารพการตัดสินใจของทุกท่าน หวังให้ประเทศเรานั้นมีการเดินหน้าปฏิรูป แล้วก็มีรัฐบาล หรือเป็นนักการเมืองที่ดีๆ เข้ามาในสภาแล้วก็ดำเนินการปฏิรูปประเทศให้ได้ คงต้องใช้เวลานานพอสมควร ไม่ใช่ใช้เวลาปีสองปี คงไม่เสร็จ เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจวันที่ 6 กันยายนนี้้ด้วย" นายกฯกล่าว
'วิษณุ'ยันรบ.ไม่ได้ส่งสัญญาณสปช.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ยืนยันว่ารัฐบาลให้อิสระกับ สปช.ทุกคนในการโหวตร่างรัฐธรรมนูญ และไม่มีการส่งสัญญาณให้ สปช.รับหรือไม่รับแต่อย่างใด หากมีสัญญาณจริง ในฐานะผู้ดูแลงานด้านกฎหมายของรัฐบาลจะต้องรับทราบก่อนคนอื่น ผ่านก็ได้ ไม่ผ่านก็ได้ ถ้าผ่านก็จะได้ไปลงประชามติ ทุกอย่างก็จะเร็วขึ้น แต่ถ้าไม่ผ่านมันก็ช้าออกไป
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ไม่ว่าผลการลงมติจะออกมาเป็นอย่างไร ประชาชนทุกคนก็ต้องรับให้ได้ และจะต้องไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น คนที่ว่าผ่านหรือไม่ผ่านก็เป็นเหตุผลของเขา ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ส่งสัญญาณให้ สปช.โหวตร่างรัฐธรรมนูญ
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ในวันที่ 6 กันยายนนี้ ว่า นายกฯไม่ได้กังวลเรื่องนี้มากเท่าใด เป็นเรื่องของ สปช. และเป็นเรื่องที่กำหนดในโรดแมปตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว หากผ่านต้องทำอย่างไร ถ้าไม่ผ่านต้องดำเนินการอย่างไร
สปช.แต่ละกลุ่มนัดเช็กเสียงโหวต
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความเคลื่อนไหวของ สปช. ก่อนถึงวันลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กันยายนว่า ขณะนี้กลุ่ม สปช.ที่สนับสนุนให้รับร่างและกลุ่มที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเดินเกมล็อบบี้ขอคะแนนเสียงจากสมาชิก สปช.อย่างเข้มข้น โดยทั้งสองฝ่ายแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ นัดรับประทานอาหารเพื่อเช็กเสียงวันต่อวัน โดยเมื่อคืนวันที่ 3 กันยายน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปเศรษฐกิจ 14 คน นำโดยนายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ นัดรับประทานอาหารค่ำที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ เพื่อเลี้ยงสังสรรค์ขอบคุณที่ทำงานร่วมกันมา และประเมินเสียง สปช.ในการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีมติอย่างเป็นทางการในการลงมติ โดยให้เป็นเอกสิทธิ์ของ สปช.แต่ละคน
ขณะเดียวกัน ค่ำวันที่ 4 กันยายน สปช.จังหวัดสายอีสาน นำโดยนายชัย ชิดชอบ สปช.ด้านการเมือง นัด สปช.จังหวัดภาคอีสานทั้งหมดหารือถึงการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่โรงแรมพูลแมนด้วย
อ้างชื่อ'บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม'สั่งคว่ำ
ขณะที่กลุ่ม สปช.ที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเดินเกมล็อบบี้โน้มน้าวใจเพื่อนสมาชิกอย่างหนัก โดยใช้วิธีโทรศัพท์ไปหาสมาชิก สปช.ที่ยังไม่ตัดสินใจในการลงมติวันละ 5 รอบ โดยเปลี่ยนคนที่ทำหน้าที่โทรศัพท์ไปล็อบบี้แบบไม่ซ้ำหน้ากัน ในลักษณะหว่านล้อมโดยชี้ให้เห็นถึงผลเสียของร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมอ้างชื่อสมาชิก สปช.คนอื่นๆ ที่ยังลังเลว่าตัดสินใจคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังอ้างชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคนสุดท้ายที่โทรศัพท์ไปล็อบบี้จะทิ้งทวนอ้างว่ามีคำสั่งมาจากนายกฯให้ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจูงใจให้คนที่ยังลังเลเทคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เสียง สปช.ที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นมาแตะอยู่ที่ 100-120 เสียงแล้ว
คาดสปช.140 เสียงคว่ำร่างรธน.
นายเอกราช ช่างเหลา สปช.ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้ สปช.จังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสาน 95% จะโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างจะนิ่งแล้ว คาดว่าสมาชิก สปช.ทั้งหมด 247 คน จะมี สปช. 80% ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมีประเด็นรับไม่ได้คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่มานายกฯคนนอก อำนาจ ส.ว. ประเด็นเหล่านี้ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน ขอยืนยันว่าไม่มีการล็อบบี้ แต่ทุกคนศึกษาร่างรัฐธรรมนูญแล้วต่างเห็นไปในทางเดียวกันโดยไม่มีบิ๊ก คสช.คนใดมาสั่งการในการลงมติ
ด้านนายทิวา การกระสัง สปช.บุรีรัมย์ กล่าวถึงการหารือกันของสมาชิก สปช.จังหวัดภาคอีสานเมื่อคืนวันที่ 3 กันยายน ว่าเป็นการนัดเลี้ยงสังสรรค์ขอบคุณสมาชิก สปช.ภาคอีสาน หลังจากทำงานร่วมกันมานาน มีการประเมินทิศทางคะแนนเสียง ขณะนี้เสียง สปช.ทั้งสองกลุ่มสูสีกันมาก เท่าที่เช็กเสียงล่าสุด กลุ่มไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมี 140 เสียง แต่คะแนนส่วนนี้อาจจะสะวิงกลับไปที่ฝ่ายรับร่างรัฐธรรมนูญประมาณ 20 เสียง ถ้าคะแนนส่วนนี้สะวิงกลับไปจริง กลุ่มไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะมีคะแนนตามหลังกลุ่มรับร่างรัฐธรรมนูญทันที แต่ไม่มาก ดังนั้นจึงต้องเร่งทำความเข้าใจให้เพื่อนสมาชิก สปช.ทราบถึงข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มไม่รับร่างฯอยากได้เสียงจาก สปช.สายวิชาการและสายสังคมที่ยังเทเสียงมาให้แค่บางส่วนเท่านั้น
'ดำรงค์'ชี้กลุ่มรับร่างมีแค่100เสียง
นางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ สมาชิก สปช.เชียงใหม่ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่รับร่างดังกล่าว เนื่องจากไม่ยึดโยงประชาชน และไม่เป็นไปตามประชาธิปไตย เชื่อว่าร่างดังกล่าวจะผ่านการโหวตของ สปช. แต่ไม่ผ่านการทำประชามติ เพราะประชาชนส่วนใหญ่สะท้อนว่ารัฐธรรมนูญควรเป็นของประชาชนเพื่อประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ต้องการสืบทอดอำนาจ
นายดำรงค์ พิเดช สปช. กล่าวว่า เท่าที่ทราบเสียงส่วนใหญ่ไปทางไม่รับร่างรัฐธรรมนูญโดยมีถึง 140 เสียงขึ้น มาจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะ สปช.สายจังหวัด สปช.ด้านท้องถิ่นและ สปช.สายวิชาการ ส่วนเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญมีเพียง100 เสียง มาจาก สปช.สายเศรษฐกิจและ สปช.ที่เป็น กมธ.ยกร่างฯ ฝ่ายที่ไม่รับร่างเห็นแล้วว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่สมบูรณ์ มีข้อเสียหากผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก็ต้องตกในชั้นประชามติอยู่ดี เพราะพรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย และยืนยันว่าไม่มีการล็อบบี้
คาด'ไพบูลย์'งดโหวตร่างรธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กันยายนนั้น ในส่วนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างนายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ จะลงมติด้วยการงดออกเสียง ซึ่งจะทำให้จากเดิมที่ กมธ.ยกร่างฯคาดว่าจะลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเกือบทั้งหมด และมีผลต่อเสียงสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญมีจำนวนลดลง
'บุญเลิศ'แฉมีล็อบบี้ให้หนุนรธน.
นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิก สปช. และนายนิมิต สิทธิไตรย์ สปช.อุบลราชธานี ร่วมกันแถลงถึงที่รัฐสภา โดยนายบุญเลิศกล่าวว่า หลังประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีเพื่อน สปช.หลายรายมาขอร้องให้เปลี่ยนใจมาสนับสนุน แต่ก็ปฏิเสธไปว่าไม่อาจทำได้ หาก สปช.เสียงส่วนใหญ่ให้ผ่าน ก็ขอให้ผ่านด้วยคะแนนท่วมท้นและขาวสะอาด ปราศจากข้อครหาว่าได้คะแนนมาอย่างไม่ชอบธรรม แต่ถ้าไม่ผ่านก็อยากให้ได้คะแนนท่วมท้นเช่นกัน เพราะหากผ่านความเห็นชอบไปอย่างสูสีแล้วถูกคว่ำในชั้นประชามติ จะเสียหายอย่างใหญ่หลวง
"ผมไม่เห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า ให้ สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วค่อยให้ประชาชนไปลงมติ เพราะผมมองว่าต้องหยุดร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน แล้วคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 21 คนชุดใหม่ ที่นายกฯจะตั้งขึ้นใหม่มาปรับแก้ให้ดีขึ้นจนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และค่อยนำไปให้ประชาชนลงมติ" นายบุญเลิศกล่าว
นายนิมิตกล่าวว่า ที่มีข่าวว่ามี สปช. 2 ฝ่าย ต่างช่วยกันล็อบบี้และพาดพิงถึงบุคคลที่ 3 ในรัฐบาลนั้นตนขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง สปช.ทุกคนมีเกียรติ มีวุฒิภาวะ สามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ ไม่ต้องมีใครมาชี้นำ
"คำนูณ"ยันไม่มีล็อบบี้โหวต"รธน."
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปช.และโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวถึงกระแสข่าวล็อบบี้ให้ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่ทราบ เพราะไม่มีใครมาล็อบบี้ และไม่ได้ไปล็อบบี้ผู้ใดด้วย
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า หากผลงานของ กมธ.ยกร่างฯจะเป็นประโยชน์นำพาชาติไทยไปสู่ความสงบผาสุกได้ ก็คงจะได้รับเสียงยอมรับจากสมาชิก สปช.ส่วนใหญ่ แต่ถ้าผลออกมาในทางตรงกันข้าม แสดงว่าน่าจะมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ ตนเชื่อว่าพวกเราทุกคนก็พร้อมน้อมรับทุกการตัดสินใจ
นายประสพสุข บุญเดช ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกระแสข่าวล็อบบี้ สปช.ไม่ให้ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นอำนาจของ สปช.ว่าจะตัดสินใจอย่างไร แต่ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ กมธ.ยกร่างฯจัดทำขึ้นมานั้นดีที่สุดและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว หากใครไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เราคงไปบังคับไม่ได้ แต่ส่วนตัวมีความเชื่อมั่นว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบจาก สปช.
วิปสปช.เผยรู้ผลโหวตเที่ยง6ก.ย.
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงว่า การให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กันยายน จะเริ่มเวลา 10.00 น. และทราบผลภายในเที่ยงวัน หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของ สปช.จะเข้าสู่วาระที่ 2 คือ การตั้งคำถามประชามติ ซึ่งที่ประชุมต้องลงมติจะตั้งคำถามหรือไม่ หากตั้งคำถามขณะนี้มี 2 คำถามที่ค้างพิจารณา หากที่ประชุมต้องการพิจารณาคำถามอื่น สามารถเสนอได้ทางวาจาหรือทำเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนวันที่ 6 กันยายน หลังจากนั้น สปช.จะหมดวาระในเวลา 24.00 น. วันที่ 6 กันยายน
"การลงมติครั้งนี้ยืนยันไม่มีการล็อบบี้ ทุกคนมีเหตุผล เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และผมยืนยันอีกครั้งสมาชิกทุกคนมีความเป็นอิสระ การจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ผมอยากให้มอง 3 อย่าง คือ มองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ มองสถานการณ์บ้านเมืองในวันข้างหน้าและมองเป้าหมายของประเทศ"นายอลงกรณ์กล่าว
'พท.'เตือนสปช.ฟังจิ้งจกร้องทัก
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การลงมติของ สปช.จะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองเมืองไทย ว่ากติกาบ้านเมืองจะนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าหรือถอยหลังและเกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น รัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งอ่อนแอ เอาไม่อยู่กับปัญหาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงขอให้ สปช.ไตร่ตรองให้รอบคอบ
"หาก สปช.ไม่รับก็จะเป็นประโยชน์ไม่ต้องเสียงบประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท ไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นใหม่ รัฐบาลจะได้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโดยไม่ต้องพะวักพะวงกับปัญหาอื่นๆ ขอให้ฟังข้อเสนอแนะกันบ้าง โบราณว่าจิ้งจกร้องทักยังต้องฟัง" นายชวลิตกล่าว
คลิป'พลเมืองโต้กลับ'ไม่เอารธน.
วันเดียวกัน กลุ่มพลเมืองโต้กลับเผยแพร่คลิปวิดีโอชื่อ 'เอาไม่ลง'เป็นวิดีโอประกอบเพลงนำแสดงโดยนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิ มนุษยชน และนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ โดยเขียนข้อความประกอบคลิปวิดีโอว่า "เอาไม่ลง ยังจำได้ไหม เอาก่อนค่อยแก้ พอ SAY YES! แหม่ แก้ก็ไม่ได้ หลอกกันหน้าตายหรือเราจะลืม ...พลเมืองโต้กลับ ไม่รับรัฐธรรรมนูญรัฐประหาร อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญต้องอยู่ที่ประชาชน" โดยเนื้อหาเพลงรณรงค์ลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อล้มเผด็จการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรุงเทพโพลล์เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 60.9 ไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 34.4 มีความรู้ความเข้าใจบ้างเฉพาะประเด็นสำคัญ และมีเพียงร้อยละ 3.6 เท่านั้น ที่มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี สอดคล้องกับผลสำรวจว่าประชาชนทั่วประเทศอยากให้มีผู้ให้ความรู้ความเข้าใจเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมาช่วยอธิบาย สูงถึงร้อยละ 91.3
ขณะที่ประเด็นร้อนในร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกได้นั้น ร้อยละ 52.1 ไม่เห็นด้วย ส่วนคำถามว่า รับได้หรือไม่หาก สปช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป ร้อยละ 57.3 ระบุว่า รับได้ มีเพียงร้อยละ 29.1 ที่ระบุว่า รับไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่าอยากมีการเลือกตั้งตามโรดแมป
กลุ่มหลากสียื่นเลื่อนเลือกตั้ง 2 ปี
ที่รัฐสภา นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มหลากสี เข้ายื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 โดยหนังสือระบุว่า สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ยังแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย หลังการเลือกตั้งเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการประท้วงแตกแยกรุนแรง จึงขอให้ สนช.พิจารณาเลื่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ออกไปก่อนอย่างน้อย 2 ปี พร้อมตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาประเด็นปัญหาที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งของคนในชาติ และเสนอแนวทางแก้ไขต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เพื่อแก้ไขปัญหาระงับความขัดแย้ง
ด้านนายสุรชัยกล่าวว่า จะเสนอเรื่องต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เพื่อพิจารณาต่อไป
'วิษณุ'เมินเห็นต่างเสียงประชามติ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการตีความในการทำประชามติตามมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ว่า ไม่ทราบว่าจะเป็นปัญหาหรือไม่ ที่มีการตีความว่าต้องเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงหรือผู้มาออกเสียงนั้นได้บอกไปแล้ว จะมีคนเห็นต่างก็ไม่เป็นไร แต่สุดท้ายก็ต้องมีข้อยุติที่ไหนซักที่หนึ่ง ตอนนี้ยังไม่มีข้อยุติออกมา แต่ในความหมายของรัฐบาลหรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น เข้าใจอย่างไรก็เดินหน้าไปแบบนั้น ก็เข้าใจว่าคนที่เห็นต่างนั้นสามารถมีได้ทุกเรื่อง
เมื่อถามว่า หากมีความขัดแย้งในการตีความมากๆ จะยึดเจตนารมณ์หรือตัวอักษร นายวิษณุกล่าวว่า ยึดทั้งเจตนารมณ์และตัวอักษร เพราะตัวอักษรก็ชัดเจน มันจะแปลเป็นอื่นได้หรือ มีคนมีสิทธิออกเสียง 40 ล้านคน แล้วมีคนดึงดันบอกต้อง 20 ล้านเสียง จึงถือว่าผ่านประชามติ คุณเอาตัวเลขนี้มาจากไหน เพราะหากเป็นคะแนนเงียบกว่า 20-30 ล้านคน เขาไม่ได้ออกเสียงอะไรเลย
ยันม.37 ยึดเสียงข้างมากคนโหวต
เมื่อถามว่า เป็นการเขียนพลาดหรือตั้งใจ นายวิษณุกล่าวว่า ตั้งใจเขียนเช่นนั้น อาจจะสั้นไป แต่เราได้เทียบกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ซึ่งเคยลงประชามติ เขียนไม่คล้ายกันแต่ใช้หลักเดียวกัน เมื่อถามว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อนทำประชามติหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ต้องแก้ เมื่อถามว่า หน่วยงานใดจะเป็นผู้ให้ความชัดเจนและข้อยุติในการตีความไม่ตรงกันอย่างนี้ นายวิษณุกล่าวว่า หากมีช่องทางไปศาลรัฐธรรมนูญได้ก็ต้องไป แต่เบื้องต้นถ้าไปสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนได้ก็จะหยุดไว้ที่ชั้นนั้น ปัญหาคือใครที่สงสัยก็ส่งเรื่องไป แต่รัฐบาลในขณะนี้ไม่ได้สงสัย
เมื่อถามว่า จะออกกฎหมายประชามติให้ชัดเจนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ต้อง เพราะกฎหมายประชามติเขาเขียนมาอีกแบบหนึ่งที่ทำให้งง โดย พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2552 บอกว่า เวลาออกเสียงประชามติ ให้เอาเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ สมมุติว่า 40 ล้านคน มีสิทธิออกเสียง ต้องให้มีคนมาออกเสียงเกิน 20 ล้านคน แต่รัฐธรรมนูญที่เราแก้มา คือ มาตรา 37 เขารู้ปัญหานี้ เขาจึงไม่เอา พ.ร.บ.ประชามติมาใช้ เขียนวิธีประชามติขึ้นใหม่ว่า "ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ" "โดยเสียงข้างมาก" เห็นชอบ ต้อง 3 คำนี้
เมื่อถามว่า ทำไมเนื้อความในมาตรา 37 กับ มาตรา 37/1 จึงไม่เหมือนกัน นายวิษณุกล่าวว่า มาตรา 37/1 นั้นเป็นการทำประชามติในประเด็นที่ถามมา มาตรา 37 คือเรื่องของรัฐธรรมนูญ
'สดศรี'จี้เขียนปมประชามติให้ชัด
นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวกรณีที่มีการออกมาตั้งข้อสังเกตเรื่องจำนวนเสียงที่จะผ่านประชามติ ว่า การที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 37 วรรคเจ็ด ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามตินั้นต้องได้เสียงข้างมากจากผู้มีสิทธิออกเสียง ส่วนมาตรา 37/1 ซึ่งเป็นกรณีของคำถามเพิ่มเติมจาก สปช. หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้นระบุว่าต้องให้ได้เสียงข้างมากจากผู้มาออกเสียงประชามติ เห็นชัดเจนว่าเป็นการเขียนในข้อความที่ไม่เหมือนกัน จึงตีความจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
"ดังนั้น ผู้ที่มีอำนาจต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดความชัดเจนว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านได้ต้องได้เสียงข้างมากจากผู้มาออกเสียงเพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นคำถามเพิ่มเติม" นางสดศรีกล่าว
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มเป็น 50 ล.คน
นายวิเชียร ชิดชนกนารถ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กล่าวว่า กรมการปกครองได้ส่งตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีการอัพเดตล่าสุด เพิ่มตัวเลขผู้มีอายุ 18 ปี ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 ที่จะมีสิทธิออกเสียงประชามติเพิ่มขึ้น 539,524 คน จากเดิมที่รวบรวมตัวเลขเมื่อต้นปี 2558 จำนวน 49,698,458 คน ทำให้ในการทำประชามติครั้งหน้าจะมีผู้มีสิทธิออกเสียง 50,238,458 คน
'วิษณุ'งงกต.เลิกพาสปอร์ต'อ๋อย'
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีกระทรวงการต่างประเทศยกเลิกหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ส่งเรื่องมาให้ว่า ไม่ทราบรายละเอียดเรื่องดังกล่าว ซึ่ง ตร.เป็นผู้ส่งหนังสือไปกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการต่างประเทศบอกว่ามีอำนาจ แต่ยังนึกไม่ออกว่ากระทรวงการต่างประเทศใช้อำนาจในส่วนใด
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีการถอนหนังสือเดินทางของนายจาตุรนต์ เนื่องจากออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลใช่หรือไม่ ว่า ไม่ใช่ การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั้นทำได้ แต่ต้องมองด้วยว่าวิพากษ์วิจารณ์เพื่ออะไร มีวัตถุประสงค์อย่างไร จะเกิดผลกระทบอย่างไร จึงขอร้องและแจ้งเตือนมาโดยตลอด ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะอย่างนี้ เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดบ้าง ก่อให้เกิดความแตกแยกบ้าง
เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าไม่ว่าใครหากออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็ต้องเจอแบบนี้หมด ถือเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูใช่หรือไม่ พล.ต.วีรชนกล่าวว่า ไม่มีลิง ไม่มีไก่ มีแต่คนทั้งนั้น ไม่ว่าอะไรที่เป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกหรือความไม่เรียบร้อยของสังคม ก็ต้องดำเนินการอะไรอย่างที่ออกมาเช่นนี้
ตร.แจงเหตุถอนพาสปอร์ต'อ๋อย'
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า ตร.เสนอถอนหนังสือเดินทางของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ว่า ส่วนตัวไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ จึงไม่มั่นใจว่าเป็นหน่วยงานใดที่เสนอเรื่องดังกล่าวไปกระทรวงการต่างประเทศ แต่ยอมรับว่าในหลักการ ตร. สามารถเสนอเรื่องเพิกถอนหนังสือเดินทางบุคคลใดก็ตามที่กระทำความผิด และที่ผ่านมาก็เคยใช้หลักการนี้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาแล้ว
พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร.และโฆษก ตร. กล่าวว่า การถอนหนังสือเดินทางของนายจาตุรนต์ เนื่องจากเป็นการทำผิดเงื่อนไขของศาล เพราะเดินทางเข้า-ออกประเทศ ขณะมีหมายจับ เข้าข่ายการกระทำความผิดที่ต้องระงับ เป็นความเห็นจากกองการต่างประเทศ ตร.จริง ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบเหตุผลความจำเป็นที่ชัดเจนอีกครั้ง เพื่อดำเนินการต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยกเลิกหนังสือ
เดินทางไม่ใช่เรื่องถาวร หากสถานะเปลี่ยนและมีหนังสือยืนยันจากหน่วยงานที่ร้องขอก็สามารถออกหนังสือเดินทางใหม่ได้ อาทิ บุคคลที่ถูกยกเลิกหนังสือเดินทางเพราะติดแบล๊กลิสต์เนื่องจากเป็นบุคคลล้มละลาย หากพ้นสภาพดังกล่าวและต้องการมีหนังสือเดินทางอีกครั้ง ก็นำหนังสือยืนยันจากกรมบังคับคดีมายื่นต่อกรมการกงสุลเพื่อให้ออกหนังสือเดินทางให้ใหม่ ดังนั้น กรณีของนายจาตุรนต์ หากเห็นว่าเหตุผลในหนังสือที่ ตร.แจ้งมายังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้ยกเลิกหนังสือเดินทางไม่ตรงกับข้อเท็จจริงก็ต้องไปร้องขอให้ ตร.แก้ไขหนังสือเพื่อยกเลิกคำขอเดิมที่ส่งมา
ทูลเกล้าฯถอดยศ"แม้ว"แล้ว
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า นำขึ้นทูลเกล้าฯเรียบร้อยแล้ว เมื่อถามว่า หากโปรดเกล้าฯลงมาต้องลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ พล.ต.วีรชนกล่าวว่า ไม่ทราบเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องให้เป็นไปตามขั้นตอน
เมื่อถามถึงกรณีการคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หลังจากถูกถอดยศแล้ว พล.ต.วีรชนกล่าวว่า เอาทีละเรื่องและปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอน พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พ.ต.อ.บรรจบ สุดใจ ประธานชมรมข้าราชการตำรวจบำนาญ 41 พร้อมทนาย ร้องศาลปกครอง ขอให้วินิจฉัยเพิกถอน หรือมีคำสั่งยกเลิกระเบียบการตำรวจว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีอำนาจออกระเบียบเพื่อถอดยศตำรวจนอกราชการ หรือที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว ทั้งนี้เรื่องอยู่ที่ศาลแล้วรัฐบาลน่าจะรอให้ศาลวินิจฉัยก่อน เรื่องถอดยศนี้ได้ข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณปลงแล้ว แต่ที่เราร้องไปนี้ ในฐานะตำรวจนอกราชการ
ศาลตัดสิทธิ'สมชาย-ธานินทร์'10 ปี
วันเดียวกัน ที่ศาลจังหวัดตรัง มีการอ่านคำพิพากษาตัดสินคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดตรัง แจ้งความดำเนินคดีนายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนายธานินทร์ ใจสมุทร อดีต ส.ส.สตูล พรรค ปชป. ฐานกระทำความผิด พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2554 ในการขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยเหลือนายกิจ หลีกภัย หัวหน้าทีมกิจปวงชน พรรค ปชป. กับนายสนิท เพทาย ลูกทีมแข่งกับนายธนิต ชูเพ็ง อดีต ส.จ.อ.หาดสำราญ ในการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภา อบจ.ตรัง เมื่อปี 2551 โดยทั้ง 2 คนกล่าวปราศรัยใส่ร้ายป้ายสีนายธนิต
ต่อมา กกต.ให้ใบเหลืองนายสนิท และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ จากนั้น กกต.แจ้งความดำเนินคดีกับนายสมชายและนายธานินทร์ ทั้งสองคนให้การรับสารภาพ ศาลตัดสินจำคุกทั้ง 2 คน คนละ 1 ปี ปรับคนละ 1.2 แสนบาท แต่ทั้งสองคนไม่เคยกระทำผิดกฎหมายมาก่อนและให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือ 1 ใน 3 ให้เหลือจำคุกคนละ 8 เดือน ปรับคนละ 8 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
นายสมชาย กล่าวว่า จากนี้ไปจะพักผ่อน ให้บุตรสาวคือ น.ส.สุนัชชา โล่สถาพรพิพิธ ที่กำลังศึกษาต่ออยู่ที่วิทยาลัยควีนแมรี มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นปีสุดท้าย เล่นการเมืองแทน
นายธานินทร์กล่าวว่า ขอวางมือทางการเมือง จะไปทำงานด้านการศาสนาต่อไป