1หวใจเดยวกน

ศาลสั่งยก ปูค้านพยานงอก วิษณุให้คนค้าน โหวตคว่ำ รธน. ตอนประชามติ 'สีหนาท'จ่อนั่ง อธิบดีดีเอสไอ

      'ปู'ขึ้นศาลกำลังใจ ล้น ลั่นจะมาเองทุกนัด แม้วืดค้านพยานงอก 'วิษณุ'ปัดแจงข้อดี-ข้อเสีย เผยบ่นจนปากจะฉีกถึงหู กมธ.ทำมาได้แค่นี้ แนะทางออกคนค้าน ให้ไปคว่ำในชั้นประชามติ ทนายยื่นผู้ตรวจฯสอบจริยธรรม 21 กมธ. 'ไพบูลย์'โวยละเมิดสิทธิ์ ซัดสนช.อยู่เบื้องหลัง เพื่อไทยเรียกร้องคสช. เปิดโอกาสทำความเข้าใจกับประชาชน 'บิ๊กตู่'เปลี่ยนใช้รถกันกระสุน ครม.จ่อตั้งปลัดกระทรวงใหม่อีกล็อต

 

วันที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9043 ข่าวสดรายวัน

หัวใจเดียวกัน - ผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรม นำเด็กเยาวชนโครงการ เยาวชนไทยหัวใจเดียวกัน (Belia Thai Sejiwa Sehati) รุ่นที่ 3 จำนวน 150 คน เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 31 ส.ค.

 

'บิ๊กตู่'เปลี่ยนใช้รถกันกระสุน

      เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เปลี่ยนรถยนต์นั่งประจำตำแหน่ง จากรถเบนซ์ส่วนตัวทะเบียน ญค 1881 กรุงเทพมหานคร มาใช้รถตู้โฟล์กสีดำ กันกระสุน ทะเบียน ฮภ 2923 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถประจำตำแหน่งของนายกฯ ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) และเป็นรถที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ใช้ระหว่างดำรงตำแหน่ง

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการเปลี่ยนรถยนต์ประจำตำแหน่งว่า รถตนเสีย ทำไมถามประหลาดหาว่าให้หวยอีกหรือรถคันนี้รถหลวงเขาให้ใช้ได้ตนก็ใช้ กันกระสุนหรือ ไม่ตนไม่ทราบ

      เมื่อถามว่า ที่เปลี่ยนรถใช้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่เกี่ยวหรอก ต้องเห็นใจทีมรปภ.ที่เป็นห่วงก็เท่านั้น เพราะบางครั้งตนชอบเดินทางไปตรงนั้นตรงนี้ บางครั้งรปภ.ก็มีมุมมองที่ไม่อยากให้เกิดอันตราย "ไม่มีคนไหนเขาชอบเดินไปอย่างผม แต่ผมถือว่าผมทำในสิ่งที่ดีและห้อยพระเยอะๆ"

ผู้สื่อข่าวถามว่า รถคันนี้กันกระสุนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "แล้วใครเขาจะบอกกันเล่าก็ไปลองยิงดูสิ แต่ถ้ายิงก็ติดคุกนะ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของการรปภ. ใครเขาจะบอกกัน จะให้บอกหมดเลยอย่างนั้นหรือ"

เมื่อผู้สื่อข่าวกระเซ้าว่าวันนี้อารมณ์ดีเป็นพิเศษ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "แล้วจะให้อารมณ์ผมเป็นอย่างไร ก็อารมณ์ดีแล้วยังไง แต่มีคนบอกว่าถ้าอารมณ์ดีก็ไม่ใช่ประยุทธ์"

 

ไม่รู้เป็นนายกฯอีกนานแค่ไหน

     พล.อ.ประยุทธ์ ให้โอวาทแก่เยาวชน ผู้บริหารศาลยุติธรรม ผู้บริหารสำนักงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จากโครงการเยาวชนไทยหัวใจเดียวกัน รุ่นที่ 3 จำนวน 117 คน จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอนหนึ่งว่า ประเทศเรามีปัญหามาก อย่ามองปัญหาเฉพาะเราแก้ไขได้ ต้องเตรียมรับปัจจัยเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกด้วย บ้านเมืองเดินได้ด้วยกฎหมาย ยุติธรรมต่างประเทศ เชื่อมโยงกันหมด ทุกอย่างแก้ไม่ได้ถ้ายังมีความขัดแย้งอยู่ จึงจำเป็นต้องมายืนตรงนี้ เมื่อเข้ามาแล้วก็ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่รู้นานหรือไม่ แต่ไม่เคยไปเปลี่ยนแปลงโรดแม็ป ส่วนร่างรัฐธรรมนูญถ้าโหวตผ่านก็บอกว่าตนบังคับ ถ้าไม่ผ่านก็บอกว่าสืบทอดอำนาจ ตนไม่รู้จะยืนตรงไหน วันนี้ต้องเรียนรู้อยู่อย่างสันติ ปราศจากความขัดแย้ง ต้องแก้ปัญหาความมั่นคงในประเทศให้ยุติได้โดยเร็ว

     "วันนี้มีคนพยายามสร้างความบิดเบือน จนเกิดขัดแย้ง ขออย่าให้ผมสั่ง การสั่งให้คนรักชาติรักแผ่นดินทำไม่ได้ แต่ต้องสร้างอุดมการณ์ เหมือนผมที่เกิดมาเป็นทหาร ถึงตายไปก็เป็นทหาร ถึงเป็นผีก็ยังเป็นผีทหาร ชาติหน้าเกิดใหม่ก็คงเป็นทหารอีก เพราะไม่เคยคิดเป็นอย่างอื่น แม้จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ทุกคนต้องนึกถึงสังคม การศึกษาขณะนี้สอนไม่ถูกต้อง เพราะสอนให้คนเติมคำในช่องว่างเท่านั้น ต้องคิดเป็นกระบวนการเอาปัญหามาวิเคราะห์ วิจัย กำลังเอากระทรวงศึกษาฯ มาปรับแก้ทั้งหมด และการสอนต้องไม่สุดโต่ง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

ปัดตั้ง"บิ๊กหมู"สืบทอดอำนาจ

      พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงพล.อ.ธีรชัยที่มาเข้าพบว่า มาบอกยินดีทำหน้าที่รักษาความสงบต่อไป พร้อมสนับสนุนรัฐบาลแก้ไขปัญหา ไม่ได้มายื่นคำขาดให้ตนไปสักหน่อย สำหรับพล.อ.ธีรชัยรู้จักกันมา 30-40 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยพล.อ.ธีรชัย เป็นผู้การกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ส่วนตนเป็นผู้การ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ดูแลช่วยเหลือกันมาตลอด เพราะตนเป็นรุ่นพี่เขา 2 ปี ยืนยันว่าไม่ได้ตั้งใครเพื่อสืบทอดอำนาจ

     เมื่อถามว่าได้เคลียร์ใจกับพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วยผบ.ทบ. ที่มีชื่อชิงตำแหน่ง ผบ.ทบ. หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "จะเคลียร์ใคร เขาเป็นน้องชาย ผมจะเคลียร์ทำไม เขารู้สถานะเขาอยู่ รู้ว่าเขาควรอยู่ตรงไหน รู้มาตั้งนานแล้ว สื่อชอบไปยุแยงให้มันเป็นแบบนี้แบบนั้น ผมเคยบอกแล้วว่ามันมีเรื่องอาวุโส ความเหมาะสม เพราะธีรชัยเขาเป็นรุ่นพี่ เขาเป็นพล.ท.มาก่อน แล้วจะเอาข้างหลังมาแซงหน้ามากๆ ได้หรือไม่ ผมถามว่าวันนี้ใครมาเป็น มันจะต่างกันตรงไหน การเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมมันขี้ไก่มากหรืออย่างไร มาบอกว่าเป็นตำแหน่งใส่กรุ กว่าจะเป็นนายพล ยากจะตาย วันนี้เขาเป็นถึงระดับพล.อ. มาบอกจะขึ้นกรุ ความภูมิใจมันก็หายไป มันเลยอยากจะแย่งกันเป็นโน่นเป็นนี่กันหมด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

"ต๊อก"ลั่นมุสา-ทหารสั่งตั้งคปป.

      ที่กระทรวงยุติธรรม(ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญ ที่ถูกมองอาจมีสืบทอดอำนาจว่า ขึ้นอยู่กับการมองของประชาชน รัฐธรรมนูญหรือระบบไม่ใช่แก้ปัญหาก่อนที่เหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค.2557 จะเกิดขึ้น แต่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว การปฏิรูปจึงต้องดูแลทุกเรื่อง ไม่ใช่มองแค่ตัวรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว เจตนาของรัฐธรรมนูญเพื่อแก้อะไรที่ผ่านมา 10 ปี จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูป ต้องขอบอกเลยว่าไม่มีใครเขียนรัฐธรรมนูญให้พึงพอใจได้ฝ่ายเดียว และต้องเห็นถึงผลประโยชน์และปัญหาของประชาชน ไม่มีใครมุสา แล้วคนเชื่อ

เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่าทหารสั่งให้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.)ขึ้น พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า "ใครสั่งมาคุณไปหามา ผมไม่เคยได้ยิน ไม่รู้ ใครเป็นคนสั่ง ไม่เคยได้ยิน มันมีดีของมัน ที่ผ่านมาไม่เคยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่หรือ แต่ใครจะมุสาอะไรผมไม่รู้"

เมื่อถามว่าจะอยู่ต่อไป 5 ปีเลยหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่าก็บอกแล้วว่าใครจะมุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ก็ว่ากันไป

 

วิษณุ ปัดแจงข้อเสีย-ดีของรธน.

      ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงหลายฝ่ายเรียกร้องให้ชี้แจงทั้งข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่ได้ พูดไม่ได้ ข้อดีข้อเสียไม่พูดแล้ว ส่วนที่มี ผู้แสดงความเห็นทั้งสิ่งที่ดี ไม่ดีและออกมาเป็นกลาง ซึ่งน้ำหนักใกล้กันนั้น ก็ดีแล้ว ตอนนี้พูดได้ก็พูดไป เพราะเมื่อประกาศให้ลงประชามติแล้วต้องระมัดระวังขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลายฝ่ายห่วงว่าในระยะยาวความขัดแย้งจะกลับมาอีก นายวิษณุกล่าวว่า ก็เป็นห่วงและรู้กันอยู่ ซึ่งความขัดแย้งจะเกิดขึ้นได้ 2 ช่วงคือระหว่างลงประชามติ และเมื่อใช้รัฐธรรมนูญไปแล้วช่วงหนึ่งจนเกิดการเลือกตั้ง มีรัฐบาลแล้วความขัดแย้งจะเกิด ทุกคนรวมทั้งกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นห่วง จึงคิดมาตรการแปลกๆ ใส่ไว้ด้วยความเชื่อว่าจะใช้รับมือปัญหาได้ ซึ่งพูดกันตรงๆ ไม่สามารถรับมือได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งรู้ว่าใครเตรียมรับมือไว้อย่างไรก็มีความคิดออกนอกลู่นอกทางได้ทั้งนั้น จะอุดอย่างไรก็ไม่ได้ แต่อย่างน้อยยังมีมาตรการกันไว้สำหรับคนบางพวกที่อาจจะเกรง หากไม่เกรงก็ไปได้หมดทุกทางและจงใจฝ่าฝืนก็ได้

 

เผยพูดจนปากฉีก-ทำได้แค่นี้

      เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ลดประเด็นเรื่อง คปป. นายวิษณุกล่าวว่า ลดไม่ทันแล้วเพราะจะลงมติรับหรือไม่รับอยู่แล้ว หากไปพูดว่ารับก่อนแล้วค่อยมาแก้จะถูกย้อนอีก เวลานี้ทำอะไรไม่ได้ นับตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.ที่กมธ.ยกร่างฯ ส่งร่างให้สปช. พูดกันจนปากฉีกถึงหู เขาทำได้แค่นี้ก็ไปลงมติในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ซึ่งชาวบ้านไม่ได้ลงมติด้วยเพราะจะไปลงมติในวันที่ 10 ม.ค.2559 ไม่รู้จะรอดสันดอนไปถึงวันที่ชาวบ้านลงมติหรือไม่ เพราะเป็น 2 ขั้นตอนโดยผู้กระทำคนละฝ่ายกัน

      นายวิษณุ ยังกล่าวถึงความวุ่นวายหลังสปช.ลงมติว่า นี่คือสิ่งที่เกรงอยู่ แต่น่าจะควบคุมได้เพราะรู้ว่าต้องการคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เหมือนความวุ่นวายหลังมีรัฐธรรมนูญแล้วเลือกตั้งได้ ตรงนั้นไม่รู้เลยว่าความวุ่นวายจะมาจากทิศทางใดและเรื่องอะไรบ้าง มีตั้งแต่คัดค้านผลเลือกตั้ง คัดค้านองค์กรอิสระ คัดค้านรัฐธรรมนูญ ไม่พอใจการจัดตั้งรัฐบาล ฉะนั้น ความวุ่นวายในเวลานั้นจะมากกว่าเวลานี้

 


กำลังใจ - ประชาชนจำนวนมาก ให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่างเดินทางมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง เพื่อต่อสู้คดีจำนำข้าว เมื่อวันที่ 31 ส.ค.

 

แนะไม่พอใจให้ประชามติคว่ำ

       "หลังเลือกตั้ง เราไม่รู้ว่าค้านอะไรบ้าง แต่ถึงจะรู้ ก็ยังไม่รู้ว่าจะระงับความขัดแย้งได้อย่างไร จะไปบอกให้เขารอ ก็ไม่รู้ว่าต้องรออะไร ก็ให้ล้มเสียในการลงประชามติถ้าไม่พอใจ ที่พูดไม่ได้ท้าทาย นี่พูดถึงทางออกธรรมดา เดี๋ยวสื่อจะไปพาดหัวอีกว่าวิษณุท้าให้คว่ำร่าง ไม่ใช่ท้าแต่กำลังพูดถึงทางออก คือโหวตกันวันที่ 6 ก.ย.หนึ่งรอบและวันที่ 10 ม.ค.อีกหนึ่งรอบ นี่คือทางออกที่ดีที่สุด" นายวิษณุกล่าว

      ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า หากไม่พอใจทางเดียวคือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ รองนายกฯกล่าวว่า ไม่ตอบ ไม่รู้ ขึ้นอยู่กับสปช. แต่หากจะร่างใหม่ก็ใช่ว่าจะพอใจอีก และพูดยากเพราะหน้าตาคนร่างใหม่เราก็ยังไม่เห็น และจะยกร่างออกมาอย่างไรก็ไม่รู้ จะหนักกว่าเดิมหรือไม่ก็ไม่รู้

 

ยอมรับยิ่งนานคนยิ่งไม่พอใจ

       เมื่อถามว่าแสดงว่าจับจุดได้ว่ามีหลายฝ่ายที่ไม่พอใจร่าง นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ต้องจับจุด ใครๆ ก็รู้ และเป็นไปได้ว่านับวันความไม่พอใจจะมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องรัฐซ้อนรัฐ แต่มองเห็นจุดอ่อนมากขึ้น

นายวิษณุยังกล่าวถึงข้อกำหนดการรณรงค์ทำประชามติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า เนื้อหายังไม่รัดกุม มีบางข้อที่อาจเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ บางข้อเกินเลยอำนาจ กกต. ซึ่งกกต.ก็รับทราบ จึงแนะนำให้ส่งระเบียบดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อความรอบคอบ

 

แย้มเข้าใจหัวอกประชาชน

      ผู้สื่อข่าวถามถึงการรณรงค์ทางโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ นายวิษณุกล่าวว่า พูดมาหลายครั้ง พูดจนมีเรื่อง ไม่เอาแล้ว คนที่คัดค้านอาจต้องการเห็นประชาธิปไตยในวันพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ ส่วนที่เกรงว่าฝ่ายสีต่างๆ จะกลับมาอีกคล้ายการประท้วงในประเทศเพื่อนบ้านขณะนี้ นี่คือตัวอย่างหนึ่ง คนที่ร่างรัฐธรรมนูญต้องคิดว่าจะมีเหตุวุ่นวายอะไรบ้างและต้อง เตรียมการอย่างไร

      "หัวอกของประชาชนต้องคิดว่าทำไมไม่เอาอันที่ดีที่สุดมาให้เขาก่อน แต่คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบร่าง ก็คิดอีกแบบหนึ่งว่าการหยิบยื่นประชาธิปไตยให้โดยทันทีจะเป็นอันตรายหรือไม่ เรื่องนี้พูดมากก็ไม่ดี เหมือนดูหมิ่นน้ำใจประชาชน แต่หากคำนึงถึงความจริงก็ต้องค่อยๆ คิดว่าต้องทำอย่างไร ขณะเดียวกันทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันหมดที่จะอ่านและวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ไม่มีใครมีสิทธิ์ดีกว่าใคร" นายวิษณุกล่าว

 

บวรศักดิ์ แจงข้อจำกัดร่างรธน.

     ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ บรรยายพิเศษเรื่อง "เล่าเรื่องยกร่างรัฐธรรมนูญ" ในงานสัปดาห์แห่งการเรียนรู้ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า บรรยากาศและวิธีการทำงานในการร่างรัฐธรรมนูญในปี 2540 ไม่เหมือนกับปี 2557 ที่ส่งผลต่อตัวร่างรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนอกจากไม่มีความเป็นประชาธิปไตยแล้ว ประชาชน ยังเอือมระอาต่อนักการเมืองที่พยายามคัดค้านรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนก็รณรงค์ใช้ธงเขียวให้คนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ กระทั่งรัฐธรรมนูญออกมาบังคับใช้ และการทำรัฐธรรมนูญปี"50 เป็นรูปแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ

(ส.ส.ร.) ที่ต้องทำประชามติ

       นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ส่วนปี"57 ถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ เพราะองค์กรที่จัดทำต่างจากปี"40 และ 50 โดยรัฐธรรมนูญ ชั่วคราวปี"57 ให้มีกมธ.ยกร่างฯ 36 คน แต่การร่างรัฐธรรมนูญในปี"40 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นอิสระ ร่างอะไรก็ได้ ส่วนปี"50 การร่างก็เป็นอิสระ แต่ต่างไปจากปี"40 ที่ต้องมีเหตุผลประกอบ ส่วนปี"57 กมธ.ยกร่างฯ ต้องทำตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนดให้ครอบคลุมในมาตรา 35 จะเขียนตามใจชอบไม่ได้ โดยจะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย และเวลานี้เราอยู่ภายใต้การปกครองแบบรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะสร้างความสงบได้จริง แต่ไม่เป็นที่ยอมรับของโลก

 

ชี้เหตุต้องมี"คปป."

      นายบวรศักดิ์กล่าวต่อว่า กมธ.ยกร่างฯ จึงตัดสินใจว่าต้องมี 2 ช่วง คือ 1.หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตยแบบเปลี่ยนผ่านใช้เวลา 5 ปี ให้เหมาะกับสภาพความขัดแย้ง และประเทศที่ต้องการการปฏิรูปให้สำเร็จ และ 2.เมื่อ 5 ปีหมดลงจะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสากลที่เขาทำกันทั่วโลก

      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนใครจะเป็นคนทำให้เกิดการปฏิรูป ไม่ให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นมาอีก หรือจะปล่อยให้มีความขัดแย้งไปอีก 10 ปี ซึ่งการทำให้เกิดความปรองดองและป้องกันความขัดแย้ง ถ้าเกิดความขัดแย้งสามารถยับยั้งได้ทันทีโดยไม่ฉีกรัฐธรรมนูญอีก นี่คือที่มาของ คปป. คือการเปลี่ยนผ่านเพื่อไม่ให้เกิดการเสียของ เมื่อพ้น 5 ปีก็จะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ส่วนรัฐธรรมนูญจะผ่านสปช.หรือจะผ่านประชามติหรือไม่ รับได้หมด ถ้าผ่านก็ดีใจแต่เหนื่อย เพราะต้องทำกฎหมายลูกต่ออีก 1 ปี ถ้าไม่ผ่าน 6 ก.ย.ก็โล่งอก ไม่ต้องรับผิดชอบ กลับไปสอนหนังสือ วันนี้อำนาจอยู่ที่สปช.และคสช.ว่าจะเอาหรือไม่ แต่นิด้าโพลบอกว่า 40 เปอร์เซ็นต์อยากให้ร่างนี้ผ่าน

 

โต้ลั่นไม่ได้หมกเม็ด

      "อย่ามาบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้หมกเม็ด เพราะเปิดทุกเม็ดให้ 49 ล้านคนฟังและตัดสินเอาเองว่าจะลงมติเห็นชอบหรือไม่ คำพิพากษาสุดท้ายคือเสียงประชาชนที่เป็นเสียงสวรรค์" นายบวรศักดิ์กล่าว

       นายบวรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อย่าไปดูทีละชิ้น ทีละส่วน ให้ดูภาพรวม เหมือนดูนางงาม ถ้าดูทีละส่วนก็ไม่สวย ต้องดูภาพรวม และใช้ 3 ข้อตัดสินคือ 1.แก้ปัญหาบ้านเมืองในอดีตได้หรือไม่ 2.สิทธิเสรีภาพและส่วนร่วมของพลเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก้าวหน้าหรือล้าหลังกว่าปี"40 หรือ 50 และ 3.สนองความคาดหวังในการปรองดองได้หรือไม่ ถ้าเห็นว่าการปฏิรูปถูกนำไปขึ้นหิ้งอีก ก็ไม่ต้องเอา ถ้าพิพากษาว่าไม่เห็นชอบ ก็รับได้ แต่ถ้าเห็นชอบ ขอให้ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของปวงชนฟังเสียงปวงชนด้วย

นิรันดร์ซัดคปป.โผล่ตอนจบ

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้ กมธ.ยกร่างฯ ได้ประชุมพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องโดยเฉพาะคำผิด คำตก คำเกิน และคำขาด ของร่างรัฐธรรมนูญและบันทึกเจตนารมณ์ รายมาตราเป็นครั้งสุดท้าย และรับรองบันทึกรายงานการประชุมให้เสร็จ ส่วนการเปิดให้สื่อมวลชนได้ซักถามในประเด็นที่เกิดความสงสัยนั้น ที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯของดการจัดกิจกรรมในวันนี้ออกไปเป็นวันที่ 1 ก.ย.แทน โดยจะจัดกิจกรรมพบสื่อครั้งสุดท้ายในสัปดาห์นี้ เนื่องจากหลังจากวันที่ 1 ก.ย.เป็นต้นไป กมธ.ยกร่างฯจะงดการประชุม

      นายนิรันดร์ พันทรกิจ สปช. กล่าวว่า จากการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ มีจุดเด่นเรื่องการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนมากขึ้น จุดด้อยก็มีหลายเรื่อง ตั้งแต่กระบวนการยกร่างที่ขาด คำปรารภ กระบวนการเลือกตั้งต่างๆ ขณะที่การมีคปป.นั้น ตนเห็นด้วยที่ควรมีเครื่องมือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในอนาคต แต่การ มีคปป.ยังถือว่าไม่น่าพอใจ เพราะจะเกิดปัญหาระหว่าง คปป.กับรัฐบาลในอนาคต การมีคปป.ในร่างรัฐธรรมนูญ จึงเป็นตำบลกระสุนตก ตอนนี้ใครก็รุมโจมตี เพราะเกรงจะสืบทอดอำนาจ ซึ่งการที่กมธ.ยกร่างฯ นำเรื่องนี้เข้ามาช่วงท้ายก่อนทำเสร็จส่งให้สปช.ลงมติ ถือว่าไม่สมเหตุสมผล แทนที่จะได้เปิดให้สปช.ได้วิจารณ์ก่อนหน้านั้น เพื่อปรับเนื้อหาให้เหมาะสม

 

ชี้สปช.นักวิชาการจ่อคว่ำรธน.

     นายทิวา การกระสัง สปช. กล่าวถึงกระแสการลงมติร่างรัฐธรรมนูญของสปช.ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ว่า ยังไม่แน่นอน เพราะมีสมาชิกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ซึ่งเป็นกลุ่มชี้ขาดในท้ายที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ หรือนักกฎหมายที่มีการแสดงท่าทีเพิ่มมากขึ้น โดยเห็นว่าแม้โดยภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญจะดูดี แต่ปัญหาจากการมี คปป. จะกลายเป็นปัญหาร้ายแรงในอนาคต จึงเชื่อว่า สปช.ที่เป็นนักวิชาการจะลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในที่สุด เพราะหากรับไปก็ไม่สามารถนำไปสอนนักศึกษาได้อีกต่อไปว่าอำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของปวงชนชาวไทย

     นายทิวากล่าวว่า ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการลงมติในช่วงโค้งสุดท้ายคือ สถานการณ์บ้านเมืองที่ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า 2 พรรคใหญ่ไม่เอาด้วย พร้อมเสนอว่ายอมเสียเวลาอีก 6 เดือนได้ เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ดีกว่าเดิมขึ้น สะท้อนว่าหากร่างนี้ผ่านสปช. ก็แน่นอนว่าจะถูกคว่ำในชั้นประชามติ เมื่อถึงตอนนั้น อาจมีคนไปฟ้องเรียกค่าเสียหายของงบประมาณที่ใช้ทำประชามติกว่า 3,500 ล้านบาท ไปอย่างสูญเปล่า เอาจากสปช.ได้อีกด้วย

นายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช. แถลงว่า ส่วนตัวเห็นว่าคปป.ไม่ใช่คำสั่งของคสช. แต่เป็นใบสั่งของสถานการณ์ เชื่อว่าสุดท้ายประชาชนจะเห็นชอบผ่านประชามติร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ส่วนเสียงลงมติรับหรือไม่รับของสปช.นั้น จากที่ตนประเมิน อาจมีคะแนนเห็นชอบทะลุเกิน 200 เสียงขึ้นไป

ร้องผู้ตรวจฯ สอบ 21 กมธ.

      ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายเฉลิมศักดิ์ กาญจนศิราธิป ทนายความ เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบจริยธรรม คุณธรรมของสมาชิกสปช. ที่ทำหน้าที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน กรณีจะร่วมลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการประชุมสปช.วันที่ 6 ก.ย.นี้ เนื่องจากเห็นว่าไม่สามารถทำได้ ด้วยเหตุผล 3 ประการ 1.ในด้านจริยธรรม คุณธรรม มรรยาท ของกมธ.ยกร่างฯ ที่มีทั้งหมด 36 คน โดย 21 คนมาจากสปช. ทำให้กำหนดทิศทางการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามต้องการของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ซึ่งไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทย ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง กมธ.ยกร่างฯ ที่เป็นสมาชิกสปช.จึงไม่ควรที่ลงมติในร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพื่อยกมาตรฐานด้านจริยธรรม คุณธรรม มรรยาทของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่สังคมคาดหวังในการปฏิรูป

     2.การที่กมธ.ยกร่างฯ ที่เป็นสปช. หากลงมติเห็นชอบ ทำให้สปช.ทั้งหมดสิ้นสุดลง ยกเว้นสปช.ที่เป็นกมธ.ยกร่างฯ ยังทำหน้าที่รับเงินเดือน มีเบี้ยประชุมต่อไป สังคมจะมองได้ว่าขัดกันแห่งผลประโยชน์ และ3.การที่กมธ.ยกร่างฯ บัญญัติในบทเฉพาะกาลไว้ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 275 ให้กมธ.ยกร่างฯ ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไปจนกว่าจะเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก รวมทั้งทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ อาจบัญญัติเรื่องการดำรงตำแหน่งต่างๆ ได้ภายหลังพ้นจากกมธ.ยกร่างฯ เพราะแม้รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะมีบทบัญญัติห้ามกลุ่มคนดังกล่าวไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี แต่ถือเป็นระยะเวลาสั้น ดังนั้นการร่วมโหวตรับหรือไม่รับ จึงถือว่ามีเรื่องของประโยชน์ที่จะได้รับในอนาคตรวมอยู่ด้วย

 

โวยจริยธรรม'ปธ.กมธ.'

      "การที่ประธานกมธ.ยกร่างฯ ประชาสัม พันธ์โน้มน้าวให้สปช.ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ถึงขั้นข่มขู่ว่าหากร่างนี้ไม่ผ่าน ก็จะไม่ร่างรัฐธรรมนูญอีกต่อไป อีกทั้งยังให้สัมภาษณ์ว่าหากร่างนี้ไม่ผ่านก็ให้คสช.ไปร่างเอง เห็นว่าประธานกมธ.ยกร่างฯ เป็นถึงรองประธานสปช.ต้องระมัดระวังเรื่องจริยธรรม คุณธรรม มารยาทให้เหนือกว่าคนทั่วไป" นายเฉลิมศักดิ์กล่าวและว่า ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาเพื่อเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มี คำวินิจฉัยต่อไป

      ด้านนายรักษเกชากล่าวว่า จะเร่งนำเรื่องเข้าที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินในช่วงบ่ายวันนี้ เพราะอยู่ในความสนใจของประชาชน แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะเสร็จก่อนวันที่ 6 ก.ย. ที่สปช.จะโหวตหรือไม่ ซึ่งนอกจาก ผู้ตรวจฯต้องพิจารณาว่าคำร้องอยู่ในอำนาจที่จะรับไว้พิจารณาได้หรือไม่แล้ว ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อว่า กฎหมายให้อำนาจ ผู้ตรวจฯวินิจฉัยกรณีขัดกันของกฎหมาย แต่ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญ ยังเป็นเพียงร่างกฎหมายที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ จะนำไปสู่การพิจารณาเพื่อมีคำวินิจฉัยได้หรือไม่

 

ไพบูลย์ โวยละเมิดเอกสิทธิ์สปช.

    ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ และสปช. กล่าวถึงกรณีนายเฉลิมศักดิ์ ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบจริยธรรม คุณธรรมของสปช.ที่เป็นกมธ.ยกร่างฯ ว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นขบวน การล้มร่างรัฐธรรมนูญ พยายามล่วงละเมิด เอกสิทธิ์ของสปช.ในการทำหน้าที่ ซึ่งไม่สมควร เป็นการเคลื่อนไหวแบบไม่ตรงไปตรงมา ต้องการขยายอำนาจของตัวเองให้เพิ่มมากขึ้น วิธีแบบนี้สร้างความสุ่มเสี่ยงให้กับคสช.และไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเลย และการสิ้นสุดในการเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จึงเป็นอำนาจของประชาชน ไม่ใช่เป็นอำนาจของสปช.

     "ทราบว่าเบื้องหลังของกรณีนี้ อาจมี สมาชิกสนช. บางคนรู้เห็นด้วย จึงขอให้สื่อไปตรวจสอบด้วยว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะถือเป็นการก้าวก่าย ขัดขวางการทำหน้าที่ของสปช. อีกทั้งการอ้างว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น ถือว่าใส่ร้าย และไม่ใช่วิถีทางที่สมควรจะทำด้วย" นายไพบูลย์กล่าว

 

"วิชา"โผล่ติงร่างรธน.

     ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิชา มหาคุณ ป.ป.ช. กล่าวแสดงความเป็นห่วงร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 254(3) ว่า มีการจำกัดอำนาจ ป.ป.ช. จากเดิมประชาชนสามารถร้องเรียนการทุจริตในระดับ ผอ.กองหรือเทียบเท่า มาเป็นไต่สวนเฉพาะระดับหัวหน้าหน่วยงานรัฐเท่านั้น เท่ากับป.ป.ช.จะรับคำร้องเรียนได้เฉพาะกรณีปลัดกระทรวง อธิบดี หรือ ผู้ว่าฯ ซึ่งกระทบต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ ไม่สามารถใช้เรื่องการกันคนตัวเล็กตัวน้อยไว้เป็นพยานได้ ทำให้สาวไม่ถึงผู้บงการใหญ่ แต่ขณะนี้คงทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะอยู่ในขั้นที่ สปช.จะมีมติรับหรือไม่รับ เหลือแค่การเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าจะเขียนอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อการปราบปรามการทุจริตมากกว่านี้

       นายวิชา กล่าวด้วยว่า ส่วนที่ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มบทบัญญัติการอุทธรณ์คดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินแล้ว โดยให้อุทธรณ์ในข้อกฎหมายได้ด้วยและเปลี่ยนผู้พิจารณาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นการตั้งองค์คณะมาพิจารณาใหม่นั้น จะเกิดความยุ่งยากต่อระบบยุติธรรม ที่เคยยึดคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลัก แต่กรณีนี้ถ้าองค์คณะของศาลฎีกาที่ตั้งขึ้นใหม่ มีความเห็นข้อกฎหมายแตกต่างจากองค์คณะเดิม จะเกิดปัญหาว่าจะยึดบรรทัดฐานใด ส่วนที่มีคปป. ก็เกิดคำถามว่าจะมีกลไกใดตรวจสอบหรือไม่ โดยจะนำกลไกใหม่เหล่านี้มาเทียบเคียงกับสปช. ที่ป.ป.ช.เคยวินิจฉัยว่าไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช.ไม่ได้ เนื่องจากทำหน้าที่ต่างกัน

 

พท.แห่เบิร์ธเดย์"สมชาย"

     ที่บ้านพักนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีต นายกฯ ในหมู่บ้านเบเวอร์ลี่ ฮิลล์ ถ.แจ้งวัฒนะ นายสมชายได้เปิดบ้านให้ผู้ที่เคารพรักเข้าอวยพรวันเกิดครบ 68 ปี โดยมีอดีตรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา แกนนำ นปช.และอดีตส.ส. อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายปลอดประสพ สุรัสวดี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นายวราเทพ รัตนากร น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เข้าอวยพรวันเกิดตั้งแต่ช่วงเช้า

     ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาถึงในเวลา 11.00 น. โดยนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พี่สาว เดินมาต้อนรับพร้อมสวมกอด จากนั้นน.ส. ยิ่งลักษณ์ นำกระเช้าเข้าอวยพรนายสมชายว่า ขอให้โชคดี ประสบความสำเร็จทุกอย่าง สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง

 

แนะเปิดช่องทำความเข้าใจรธน.

       นายสมชาย ให้สัมภาษณ์ร่างรัฐธรรมนูญว่า มีคนวิจารณ์กันมาก ซึ่งควรเปิดให้ทุกคนแสดงความเห็นเนื่องจากเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ ขณะที่ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน ขอฝากว่ารัฐธรรมนูญต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนและนานาชาติ เพราะเราไม่ได้อยู่ในโลกนี้เพียงประเทศเดียว อะไรที่เห็นว่าเป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญ ขอให้แก้ไข ขณะที่ประชาชนต้องช่วยกันศึกษาและติดตามร่างรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด ส่วนการทำประชามตินั้น ตนคงไม่พูดชี้นำว่าควรรับหรือไม่รับ เชื่อว่าประชาชนตัดสินใจเองได้ อะไรที่เป็นปัญหา ขอให้ช่วยกันแสดงออก และอยากให้ คสช.เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้

      นายสมชายยังกล่าวถึงคปป. ว่า ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยเห็น บางคนอาจรู้สึกโอเค แต่บางคนตกใจ จึงอยากให้ยึดโยงกับประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญใช้ปกครองบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นประชาชนต้องเป็นใหญ่ ต้องให้อำนาจประชาชนตัดสินอนาคตของตัวเอง

ชี้ให้ทุกภาคส่วนให้ความเห็น

      นายภูมิธรรมกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เคารพสิทธิและไม่เห็นหัวประชาชน มีเจตนารมณ์ครอบงำอำนาจ และต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปอีก 5 ปี ซึ่งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เห็นตรงกันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสร้างปัญหาและความขัดแย้งเพิ่มขึ้นในอนาคต ดังนั้นควรเปิดให้ประชาชนได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ หากต้องการให้คนยอมรับและให้ประเทศเดินหน้าสู่ความสงบเรียบร้อย ต้องให้คนเข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรรมนูญ และให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น

      นายภูมิธรรม กล่าวว่า อยากฝากให้สปช.พิจารณาให้รอบคอบ เพราะการตัดสินใจมีผลต่ออนาคตของประเทศ เชื่อว่าสปช.จะลงมติรับ แต่ประเด็นสำคัญคือเมื่อเข้าสู่กระบวนการลงประชามติ จำเป็นต้องเปิดให้ทุกภาคส่วนแสดงความคิดเห็นไม่ว่าด้วยแนวทางใด ความจริงควรยกเลิกข้อบังคับต่างๆ ซึ่งผู้มีอำนาจทราบอยู่แล้วว่าหากจะทำประชามติให้สมบูรณ์ควรแก้ปัญหาอย่างไรจึงเหมาะสม แต่ไม่ใช่การเปิดเวทีแบบที่เคยทำมา เพราะไม่เกิดประโยชน์ และขอเสนอว่าหากต้องการเปิดเวทีจริง ควรให้สื่อมวลชนและสถาบันการศึกษาเป็นตัวกลางระดมความเห็นให้ได้มากที่สุด เพราะเชื่อว่า 2 ส่วนนี้เป็นที่ยอมรับของสังคม ส่วนที่กลุ่มนปช. ประกาศชัดเจนว่าจะรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นแนวทางของนปช. ส่วนพรรคเพื่อไทยแสดงความชัดเจนถึงแนวทางของพรรคผ่านการยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ ให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไปแล้ว

 

แห่ให้กำลังใจ"ปู"ขึ้นศาล

     ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลฎีกาฯ นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อสส. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งคดีนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้การปฏิเสธ พร้อมยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยศาลอนุญาตพร้อมตีราคาประกัน 30 ล้านบาท แต่ไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้อง

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วยนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ ได้เดินทางมาตามคำนัดสืบพยานในคดีรับจำนำข้าวนัดแรก ในเวลา 08.50 น. โดยมีแกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรี อดีตส.ส. และมวลชนรอให้กำลังใจจำนวนมาก อาทิ พล.ต.ท. วิโรจน์ นายภูมิธรรม นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ฯลฯ โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ มาถึงด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เดินทักทายและรับดอกกุหลาบสีแดงจากผู้ที่มาให้กำลังใจจำนวนมากที่ตะโกน "สู้ๆ" ตลอดเวลา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในและนอกเครื่องแบบดูแลความปลอดภัยโดยรอบอย่างเคร่งครัด

 

ยิ่งลักษณ์ ยันมาศาลทุกนัด

      น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ว่า นัดตรวจพยานครั้งแรก มั่นใจในพยานหลักฐานที่จะนำเสนอศาลว่าศาลจะรับฟัง คดีนี้ตนมีพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถกว่า 70 ปาก เชื่อว่าไม่มากเกินไปและพยานสามารถให้ข้อมูลกับศาลได้ ซึ่งพยานที่เตรียมไว้มีทั้งกลุ่มที่เคยให้การไว้ในสำนวนป.ป.ช. และกลุ่มพยานที่เราเคยเสนอ ให้ป.ป.ช.ไต่สวนแล้ว แต่ ป.ป.ช.ตัดไป ไม่นำมาไต่สวน โดยพร้อมต่อสู้ทุกคดีและจะมาตามที่ศาลนัดทุกคดี

      เมื่อถามว่ามั่นใจแค่ไหนว่าศาลจะรับฟังพยานหลักฐานและเอกสารที่เสนอไป น.ส. ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ต้องพยายามทำให้รับฟัง เพราะพยานหลักฐานมีความจำเป็น และเมื่อศาลกำหนดให้ต้องมาเองทุกครั้งก็ต้องทำอย่างเต็มที่ ชั้นนี้เป็นเพียงแค่เริ่มต้น คงยังพูดอะไรมากไม่ได้ แต่ยืนยันว่าเรามีพยานหลักฐานที่จะมายืนยันแก้ข้อกล่าวหา

 

ศาลฎีกายกคำร้องชะลอคดี

      ต่อมา นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมคณะรวม 9 คนออกนั่งบัลลังก์ พร้อมอ่านคำสั่งที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาฯ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง โดยโจทก์คัดค้านว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

       องค์คณะพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ประกาศคสช. ที่ 24/2557 ยังให้พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ มีผลใช้บังคับต่อไป เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยเกี่ยวกับความรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่และขอให้ลงโทษทางอาญา ซึ่งตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 11 (1)-(9) ไม่มีกรณีใดเลยที่ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ดังนั้นกรณีที่จำเลยยื่นคำร้อง จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีเหตุที่จะรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว ให้ยกคำร้อง

อนุมัติอัยการเพิ่มพยาน 160 แฟ้ม

       ส่วนที่ทนายจำเลย ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 27 ส.ค. คัดค้านพยานบุคคล 23 ปาก และพยานเอกสารของโจทก์ อ้างว่าโจทก์เพิ่มเติมพยานโดยไม่สุจริต มุ่งเอาเปรียบจำเลยโดยไม่เป็นธรรม เพราะเป็นพยานหลักฐานที่ไม่มีการไต่สวนมาก่อน จึงขอให้ศาลไม่รับบัญชีพยานดังกล่าวเข้าสู่สำนวน

      องค์คณะพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ มาตรา 5 ให้ศาลยึดรายงานของป.ป.ช. เป็นหลักพิจารณาคดี แต่ให้อำนาจศาลไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร โดยศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคล หรือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ และจำเลยก็มีสิทธิ์นำพยานเข้าไต่สวนเพื่อหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้อยู่แล้ว กรณีนี้จึงไม่มีเหตุที่จะไม่รับบัญชีพยานของโจทก์ตามที่จำเลยคัดค้าน ให้ยกคำร้องดังกล่าว

นัดตรวจพยาน 29 ต.ค.

      ทั้งนี้ ในการตรวจพยานหลักฐาน ฝ่ายโจทก์ได้ส่งพยานเอกสาร 160 แฟ้ม ขณะที่ฝ่ายจำเลยส่งพยานเอกสาร 61 แฟ้ม องค์คณะเห็นว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างพยานบุคคลหลายปาก และพยานเอกสารมีจำนวนมาก จึงให้คู่ความทั้งสองฝ่ายร่วมกันตรวจพยานหลักฐานต่อไปทุกวันพุธ เวลา 09.00 น. จนกว่าจะเสร็จ โดยศาลนัดพร้อมคู่ความเพื่อฟังคำสั่งเกี่ยวกับการตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันเพื่อไต่สวนพยาน ในวันที่ 29 ต.ค. นี้ เวลา 09.30 น.

ภายหลังการตรวจพยานหลักฐาน น.ส. ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า จะเหลือเวลาอีก 2 เดือน ขณะที่ฝ่ายอัยการมีพยานเอกสารกว่า 60,000 แผ่น และพยานบุคคลที่เพิ่มเติมอีก 23 ปาก ดังนั้นเวลาอาจไม่เพียงพอต่อการตรวจดูเอกสารทั้งหมด ยอมรับว่าเป็นพยานเอกสารที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จึงถือเป็นการบ้านที่ทนายความต้องทำงานหนักก่อนถึงนัดตรวจหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 29 ต.ค. นี้

     นายนรวิชญ์ กล่าวว่า ยอมรับว่าหนักใจเพราะไม่ได้เห็นเอกสารที่อัยการนำมาเพิ่มเป็นพยาน แต่จะตรวจพยานอย่างละเอียด โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องมาศาลมาอีกครั้งในวันที่ 29 ต.ค. นี้ ส่วนพยานบุคคลที่ยื่นต่อศาล 70 กว่าปาก ในส่วนนี้มีอดีตรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด

      วันเดียวกัน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เผยว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิจะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนพูดคุยซักถามถึงจุดยืนของมูลนิธิ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 1 ก.ย. เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนฯ ราชประสงค์ ซึ่งถือเป็นการเปิดเผยจุดยืนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หลังจากกรรมการมูลนิธิได้หารือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

 

กระแส'เมิน'เริ่มแรง ลุ้นคว่ำ-ไม่คว่ำ'รธน.'

  มติชนออนไลน์ :    หลังจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์จากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงภาพรวมและประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญก็ดังกระหึ่ม

     ตั้งแต่ "คำปรารภ" ของร่างรัฐธรรมนูญที่ยังเว้นว่างไว้ ได้มีสมาชิก สปช.ออกมาตั้งข้อสังเกตว่าจะส่งผลให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์หรือไม่ 

      จนนำไปสู่การส่งเรื่องไปยัง นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต 

ยิ่งใกล้เวลาลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีสมาชิก สปช.ออกมาทำนาย วิเคราะห์ถึงแนวโน้มเสียงโหวต ที่จะต้องใช้เสียงเกินครึ่งของ      เสียง สปช.ทั้งหมดคือ 124 คน จาก สปช.ทั้งหมด 247 คน ถึงจะถือว่าผ่านความเห็นชอบ 

      "อมร วาณิชวิวัฒน์" สมาชิก สปช.ด้านการเมือง เผยว่า เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนตัวพอรับได้ เมื่อพิจารณาในภาพรวม เห็นว่าพอจะยึดถือผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชนได้ 

       "แต่เดิมผมประกาศออกไปว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เวลาผ่านไป ล่าสุดมี 2 พรรคการเมืองใหญ่ ที่ถือว่าเขาก็มีฐานเสียงในประเทศอยู่ไม่น้อย ออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ"

      "อีกทั้งยังมีการเรียกร้องให้สมาชิก สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งในแง่ของหลักการและเทคนิค หากกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน สปช.ไปแล้ว ก็ต้องเข้าสู่การทำประชามติโดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ"

      "การทำประชามตินั้นเราต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3 พันล้านบาท ตรงนี้คือสิ่งที่ผมมองว่าสำคัญยิ่ง หากทำประชามติแล้วไม่ผ่านจะทำอย่างไร ในเมื่อ 2 พรรคการเมืองใหญ่เขาไม่เอาด้วยแล้ว"

      "ผมมองว่าเขาอาจจะมีวิธีการลงพื้นที่ไปรณรงค์ทำความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่ ก็อาจมีแนวโน้มให้ประชาชนเขาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ อย่าลืมว่าฐานเสียงของ 2 พรรคการเมืองใหญ่รวมกันก็เกือบครึ่งประเทศไปแล้ว" 

      "อย่าหาว่านี่คือการกลับลำ ผมไม่ได้กลับลำ เพียงแต่ขณะนี้เราต้องมาพิจารณากันด้วยเหตุและผลจริงๆ ผมได้พูดคุยกับสมาชิกหลายๆ ท่าน รวมทั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เห็นว่ามีผู้ที่จะไม่รับร่างถึง 30 คนได้

      "เมื่อมาประเมินดูแล้วและได้พูดคุยกับสมาชิก สปช.อีกหลายๆ ท่าน ผมประเมินว่า สปช.ที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจมีถึง 130 เสียง แต่ผมเองก็ยังไม่มั่นใจ" อาจารย์อมรประเมิน

      สำหรับ เนื้อหาที่ว่าด้วยคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป. นั้น "อมร" บอกว่า เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณา เพราะหลายฝ่ายจับตามอง ในฐานะที่เป็นอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ เห็นว่าการมองรัฐธรรมนูญนั้นต้องมองให้รอบด้าน ว่าจุดนี้จะมีผลต่อตัวความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างไรบ้าง

      "ผมมองว่าถ้าในแง่ของรัฐซ้อนรัฐ ก็อาจจะมีมูล แต่ในทางกลับกันก็อาจจะเป็นเจตนาที่ดีของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในการใช้เป็นหลักการ เป็นเทคนิคเพื่อการแก้ปัญหา ก่อนที่ในอนาคตประเทศจะเกิดปัญหาบานปลาย เนื่องจากไม่อยากให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกหลายๆ รอบ จึงให้ คปป.เข้ามาเป็นตัวกลาง" 

       "ถ้ามองด้วยใจที่เป็นกลางหรือพูดกันตรงๆ ผมว่าก็ไม่น่าจะมีสิ่งที่น่ากลัวอย่างที่หลายฝ่ายเป็นกังวล แต่สิ่งสำคัญคือในหลักการ โดยเฉพาะการที่ระบุถึงการเกิดวิกฤต หรือประเด็นที่จะให้คนนอกเข้ามารับตำแหน่งอะไรนั้น ตรงนี้ต้องคุยกัน เรื่องของ คปป.ก็เป็นประเด็นใหญ่อีกประเด็นหนึ่ง"

ส่วนประเด็นปัญหาของคำปรารภในรัฐธรรมนูญนั้น อาจารย์อมรอธิบายว่า เคยอภิปรายเรื่องคำปรารภ เสนอให้มีวิธีการแก้ปัญหา โดยเฉพาะ      เรื่องรัฐประหาร ด้วยการให้มีคำปรารภที่ระบุความเป็นมาของประเทศชาติอย่างละเอียด ให้เขียนถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยว่า กว่าเราจะผ่าวิกฤตมาจนถึงวันนี้ได้เป็นอย่างไร 

      คือเราต้องการให้สังคมเห็นว่ารัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่ได้มาโดยง่าย อย่างในประเทศจีนนั้น เขามีเนื้อหาคำปรารภในรัฐธรรมนูญถึง 3-4 หน้า เขาเขียนยาวเพื่อให้คนในชาติได้อ่าน และเข้าใจลึกซึ้งถึงความเสียสละของบรรพบุรุษ อย่างนี้จะทำให้รัฐธรรมนูญเกิดความสำคัญ 

       จึงอยากให้รัฐธรรมนูญไทยใช้วาทะในการเขียนเช่นนี้ แต่สำหรับการที่สมาชิก สปช.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความความสมบูรณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น ขอให้เป็นเรื่องของอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย

      ขณะที่ "บุญเลิศ คชายุทธเดช" สปช.ด้านสื่อสารมวลชน ระบุว่า ขณะนี้เห็นว่ามี สปช.จำนวนไม่น้อยที่อาจจะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แต่ภาพรวมมันก็ยังออกมาเป็นเสียงในระดับครึ่งต่อครึ่งที่จะไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่คะแนนจะออกมาว่า เห็นชอบรัฐธรรมนูญในระดับ 180 เสียง 

      ส่วนที่มองว่าเสียงโหวตรับจะเกิน 200 เสียง ผมมองว่าน่าจะเป็นไปได้ยาก แต่มองว่าคะแนนก้ำกึ่ง เนื่องจากยังมีสมาชิก สปช.ที่ยังสงวนท่าทีว่าจะตัดสินใจจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ สปช.ที่ยังสงวนท่าทีก็ยังมีจำนวนอยู่ไม่น้อย 

       "บุญเลิศ" แจกแจงอีกว่า ทั้งนี้ ถ้าคะแนนเสียงออกมาโดยเสียงข้างมากเห็นชอบว่าให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน หมายความว่าเราต้องจัดพิมพ์ร่างฉบับประชามติ ให้ประชาชนเป็นผู้ลงมติ หากว่ารัฐธรรมนูญที่ออกมานี้เราเห็นช่องโหว่ในหลายๆ เรื่อง แต่ยังให้ผ่านไป อยากถามว่า สปช.ในส่วนที่โหวตให้ร่างนี้ผ่านไปนั้น จะมีหลักประกันอะไรให้กับสังคมว่าจะไม่เกิดวิกฤตขึ้นอีกในอนาคต เขาจะมีหลักประกันอะไรให้กับสังคมได้บ้างว่า รัฐธรรมนูญจะไม่เป็นชนวนที่นำเราไปสู่การนองเลือดอีก จะเอาอะไรมารับประกัน

      แต่ถ้าคะแนนเสียงข้างมากออกมาว่าไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน เราก็ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ ถ้าภาพรวมในร่างรัฐธรรมนูญออกมาเป็นเช่นนี้ เราก็มีทาง โดยมองว่าฝ่ายที่ไม่เห็นชอบด้วยกับรัฐธรรมนูญเขาก็คงเลือกวิธีที่จะหยุดร่างนี้เอาไว้ 

       สำหรับเรื่องคำปรารภในรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ได้ยื่นเรื่องไปยังประธาน สปช.เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าเรื่องไปถึงไหน ที่พวกตนได้ยื่นเรื่องกันไปก็เพราะเห็นว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีคำปรารภ จะถือว่าสมบูรณ์หรือไม่ เนื่องจากมีความเป็นห่วงว่าในอนาคตเรื่องนี้อาจจะเป็นปัญหาหรือเกิดผลกระทบหาก สปช.ผ่านเรื่องนี้ไป สังคมก็อาจจะตั้งคำถามเรื่องคำปรารภเช่นกัน

      ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป จะเดินหน้าทะลุ สปช.ไปถึงขั้นตอนทำประชามติ หรือตกม้าตายในชั้นการโหวตของ สปช.

สมาชิก สปช.ทั้ง 247 คน จะชี้ขาดในวันที่ 6 กันยายนนี้ ก่อน สปช.จะสิ้นสภาพไป...