WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1โคทม

เต้นจี้วิษณุ พูดข้อเสียคปป.ด้วย บิ๊กเต่าโต้ร่างทรงคสช. ยันเสียงสปช.ยังไม่นิ่ง ปูยื่น 70 พยานสู้คดีข้าว

      'ณัฐวุฒิ'จี้'วิษณุ'พูดข้อเสีย คปป.ด้วย ให้สปช.พิจารณา 'บิ๊กเต่า'ย้ำข้อดี สานต่อปฏิรูปไม่ให้เสียของ โต้ไม่ใช่ร่างทรงคสช. กมธ.ยกร่างฯ ปัดรับใบสั่งทหารเขียนเพิ่มในร่างรธน. วอนสปช.โหวต 6 ก.ย.ดูภาพรวมทั้งฉบับ 'ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์' ชี้เสียงสปช.ยังไม่นิ่ง รวมเสียงหนุน-ต้าน ยังไม่ถึงครึ่งของสมาชิกทั้งหมด 'อลงกรณ์'ยันไม่เคยมีการซาวเสียงสปช. ปชป.แนะคว่ำแล้วหยิบร่างของกมธ.มาปรับปรุง เพื่อความรวดเร็ว จับตามหาดไทยชงครม.แต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าฯ ล็อตใหญ่กว่า 50 ตำแหน่ง

 

วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9042 ข่าวสดรายวัน

 


เสวนา - นายโคทม อารียา จากสถาบันสิทธิมนุษยชน ม.มหิดล ร่วมเสวนา "ความหวังของระบอบประชาธิปไตยภายในรัฐธรรมนูญใหม่" โดยมีนักวิชาการ สื่อมวลชน ร่วมแสดงความคิดเห็น ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 ส.ค.

 

'วิษณุ'ชี้ห้ามรณรงค์แค่ขู่
      วันที่ 30 ส.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ลงมติรับร่างฯใน วันที่ 6 ก.ย.นี้ ว่าเรื่องนี้คณะกรรมการ การเลือกตั้ง(กกต.) เป็นผู้คิดว่าจะให้พรรคการเมืองแสดงออกในรูปแบบใดได้บ้าง ซึ่งกกต.ส่งรายละเอียดเรื่องดังกล่าวมาถึงแล้วแต่ยังไม่ได้ศึกษาทำความเข้าใจ ย้ำว่าการปลุกระดมไม่ว่าจะให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องไม่สมควร กกต.จะเป็นผู้กำหนดกรอบว่าขอบข่ายของการปลุกระดมมีอย่างไรบ้าง หากเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่ใช่การชี้นำผู้อื่นให้คล้อยตามสามารถทำได้ แม้การพูดของคนหนึ่งจะเหมือนชี้นำก็ต้องเอาตัวเองเป็นจุดตั้งโดยไม่ไปชวนให้คนอื่นเห็นพ้องด้วยกับตัวเอง ที่สำคัญต้องไม่ใช้ตำแหน่งและอำนาจหน้าที่เรียกให้คนอื่นหันมาสนใจ อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ในช่วงทำประชามติไม่สามารถทำในลักษณะเดียวกันเหมือนกับช่วงเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งส.ว.ก็ไม่มีการหาเสียง
       "ถึงจะห้ามก็จะมีคนพูดอยู่ดี แล้วใครจะใจไม้ไส้ระกำไปตามจับ เราก็ต้องตั้งกติกาเพื่อให้ดูน่ากลัวไว้ก่อน ผมนึกไม่ออกว่าเมื่อพูดไปแล้วใครจะไปตามจับ แล้วจับข้อหาอะไร หรือจะเป็นข้อหาไม่ชอบในมาตราโน้นมาตรานี้ มันขึ้นอยู่ที่ทำเป็นหรือไม่เป็นเท่านั้นเอง เหมือนแก้รัฐธรรมนูญนั่นแหละถ้าแก้เป็นก็ไม่เกิดเรื่อง" นายวิษณุกล่าว

ผ่อนปรนประกาศขึ้นกับคสช.
      เมื่อถามว่า ช่วงรณรงค์ให้มีการทำประชามติ จะพิจารณาผ่อนปรนประกาศ คสช.เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าอยู่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะพิจารณา อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้หารือถึงการโฆษณา รณรงค์ เช่น การติดสติ๊กเกอร์ การใช้ธงสัญลักษณ์ ขณะที่กกต.ระบุว่าจะเร่งพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ทั้งหมดรัฐบาลได้พยายามให้กกต.เป็นคนจัดการควบคุมกฎและเป็นฝ่ายจัดเวทีรับฟังและแสดงความคิดเห็นของทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีข้อถกเถียงกันว่าหากมีใครต้องการจัดเวทีเพื่อแสดงความคิดเห็นกันเองจะทำได้หรือไม่ หากไม่มีกติกาควบคุมในส่วนนี้อาจเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เช่นเดียวกับออกรายการโทรทัศน์หากเชิญเพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาร่วมรายการถือว่าอันตราย ส่วนการทำโพลของแต่ละสำนักนั้นสามารถทำได้โดยมีข้อกำหนดไว้ เช่น ห้ามเปิดเผยผลโพลก่อนการลงประชามติกี่วัน เพราะจะเกิดการชี้นำ เป็นต้น
      เมื่อถามว่า ระยะเวลาในการรณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชนก่อนจะลงประชามติเพียงพอหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าอย่าคาดหวังเพียงการให้ความรู้ว่าจะร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องหวังจากผู้ที่จะมาช่วยกันอธิบายเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญโดยปราศจากการชี้นำให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย ชาวไร่ ชาวนา ต้องมีผู้ที่จะไปช่วยอธิบาย หากอธิบายดีรัฐบาลอาจให้งบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน

'บิ๊กเต่า'ชี้ข้อดีคปป.
       ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการปรองดองและการปฏิรูปให้สัมภาษณ์ว่า จากนี้จะมีการพูดถึงประเด็นรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น เพราะใกล้ถึงวันที่ 6 ก.ย. ซึ่งเป็นวันที่สปช.จะลงมติ ส่วนข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) ส่วนตัวเห็นว่าเป็นสิทธิที่จะมีคนวิจารณ์ได้ แต่อยากให้พิจารณารายละเอียดด้วย เชื่อว่าคงไม่กำหนดให้ประธานของคณะกรรมการชุด ดังกล่าวมีอำนาจมากกว่ารัฐบาลในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองปกติ เมื่อประชาชนร่วมกันคิดข้อเสนอการปฏิรูปหลังจากมีรัฐบาลทุกอย่างจะต้องเดินหน้าโดยมีองค์กรขึ้นมากำกับการปฏิรูป ข้อดีคือมีคนทำต่อในสิ่งที่คิดไว้แล้วไม่ให้เสียของ
      เมื่อถามว่า คปป.เป็นร่างทรงของคสช.หรือไม่ พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวว่าคงไม่เป็นแบบนั้น แต่เป็นการประคับประคองสิ่งที่ทำมาให้ดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าอุปสรรคใหญ่ที่สุดของการปฏิรูป คือทัศนคติของคนไทยที่มองตัวเองดีกว่าคนอื่น ถ้าฟังคนอื่นไม่เชื่อตัวเองมากเกินไปตนคิดว่าการปฏิรูปจะเดินไปได้

กมธ.โต้ใบสั่งทหารให้ตั้ง
        นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีนาย สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ในฐานะประธานสถาบันปฏิรูปประเทศไทย(สปท.) มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุการตั้งคปป.เป็นใบสั่งจากทหาร ว่าตรงนี้เป็นข้อเสนอตามคำขอแก้ไขของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่มาพร้อมกับ 9 คำขอในช่วงที่กมธ.ยกร่างฯ เปิดให้มีผู้เสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติม โดยมีทั้งสมาชิกสปช.และครม.เสนอช่วงต้นเดือนมิ.ย.58 ไม่ได้มาจากทหารตามที่มีผู้ออกมาวิจารณ์ อยากให้ดูที่อำนาจของคปป. เพราะกลไกนี้จะทำให้การปฏิรูปเดินหน้า ไม่สะดุดลงในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นกลไกที่ตอบโจทก์ ป้องกันระงับความขัดแย้งที่วันนี้ยังมีสัญญาณที่เรายังต้องให้ความสำคัญ
      "การจะใช้อำนาจพิเศษหมายความว่าบ้านเมืองเกิดวิกฤต เกิดความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงในระดับที่สถาบันการเมืองปกติ ครม.ไม่สามารถจะดูแลแก้ไขปัญหา ไม่มีใครอยากเห็นตรงนี้เหมือนกับที่เราเปรียบเปรยกันว่าในบ้าน ในอาคารมีถังดับเพลิงเอาไว้ใช้ในยามวิกฤต ถ้าไม่เกิดเหตุก็เป็นเรื่องดี เพราะจะดีกว่าที่เราจะหยิบถังดับเพลิงมาใช้ เราอยากจะโยนถังดับเพลิงที่หมดอายุแล้วทิ้งไปดีกว่าให้เกิดไฟไหม้" นายบัณฑูรกล่าว

วอนสปช.ดูภาพรวมรธน.
       เมื่อถามว่า หลายฝ่ายยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องโครงสร้างคณะกรรมการคปป. ที่ดูเหมือนการปฏิวัติซ้อนหากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตไม่ทำตามได้ นายบัณฑูรยืนยันว่าตรงนี้ไม่ใช่การปฏิวัติซ้อนตามที่วิจารณ์กันในขณะนี้อย่างแน่นอน เพราะด้วยตัวองค์ประกอบของคณะกรรมการคปป. จะมีประมุขฝ่ายบริหารคือนายกรัฐมนตรี ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติคือประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ส่วนตำแหน่ง ผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ ก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในกำกับดู และของนายกฯ และถือเป็นกลไกการทำงานร่วมกันเพื่อทำให้เกิดการปฏิรูปอยู่แล้ว
       เมื่อถามว่า อยากจะฝากอะไรถึงสมาชิก สปช.ที่จะใช้ดุลยพินิจในการโหวตร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.นี้ นายบัณฑูรกล่าวว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญในทุกส่วนทั้ง 4 ภาค มุ่งไปสู่การตอบโจทย์การปฏิรูป การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอาจจะมีบางส่วนที่มองโดยสายตา ทฤษฎีเสรีประชาธิปไตย อาจไม่ตรงตามมาตรฐานของสากลหรือโลกตะวันตก แต่ก็เป็นความจำเป็นของสังคมไทยที่เราต้องการกลไกบางอย่างในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านประมาณ 5 ปี ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ทำให้การปฏิรูปที่เป็นสิ่งที่สังคมเรียกร้องสามารถเดินหน้าได้ต่อไป อยากให้ดูภาพรวมและเจตนารมณ์ เป้าหมายโดยรวม เป็นสิ่งที่ฝากให้ช่วยพิจารณาว่าสิ่งนี้คือรัฐธรรมนูญที่ตอบโจทย์สังคมไทยใน เวลานี้ และนำพาสังคมไทยให้ก้าวพ้นระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ในระยะต่อไปได้หรือไม่

โฆษกกมธ.ชี้ 9 ข้อดีร่างรธน.
        นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โพสต์เฟซบุ๊กว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีแค่คปป.อำนาจพิเศษ นายกฯที่ไม่ได้บังคับว่าต้องมาจากส.ส.ทุกกรณี ส.ว.ที่ไม่ได้มาแต่เฉพาะจากการเลือกตั้งทางตรง และอื่นๆ ที่กินพื้นที่ข่าว พื้นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นส่วนใหญ่เท่านั้น ยังมีอีกหลายต่อหลายมาตรการใหม่ๆ ที่จะทำให้การเมืองระบบรัฐสภามีประสิทธิภาพขึ้น มีดุลยภาพขึ้น และสามารถแก้ปัญหาภายในระบบได้มากขึ้น ลองดูมาตรการที่ขอสกัดมาให้ดูเป็นตัวอย่าง 9 ประการ
      1.กำหนดให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งมาจากส.ส.ฝ่ายค้าน และให้รองประธานสภาผู้แทนฯ เข้าไปอยู่ในที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนฯ และประธานกมธ.สามัญของสภาผู้แทนฯ ในการวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.ใดเป็นร่างพ.ร.บ. เกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่ด้วย มาตรา 129 วรรคสอง และมาตรา 144 วรรคสอง
      2.กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนฯ ประธานวุฒิสภา และประธานรัฐสภา รวมทั้งผู้ทำหน้าที่แทนต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ยกระดับมาตรฐานจากเดิมที่ให้วางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ห้ามประธานและรองประธานสภาผู้แทนฯดำรงตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมือง และห้ามเข้าร่วมประชุมพรรคการเมืองด้วย มาตรา 97 วรรคสาม มาตรา 129 วรรคหก และมาตรา 130 วรรคสอง 3.กำหนดให้ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเป็นประธานกมธ.สามัญของสภาผู้แทนฯ ทำหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือทำหน้าที่กำกับติดตามเกี่ยวกับการ ใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ มาตรา 138 วรรคสอง

อ้างช่วยทลายทางตัน
        4.กำหนดให้สภาผู้แทนฯและวุฒิสภา มีหน่วยธุรการที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น มาตรา 96 วรรคสาม 5.กำหนดให้ นายกฯและรัฐมนตรี มีหน้าที่ต้องตอบกระทู้ถามโดยเร็ว มาตรา 159 วรรคแรก 6.กำหนดให้ครม.ที่พ้นจากตำแหน่ง แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปนั้นสามารถลาออกได้ หรือพ้นจากการต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพราะเหตุอื่นได้ และถ้าเหลือจำนวนครม.ปฏิบัติหน้าที่อยู่ไม่ถึงครึ่งก็ให้ที่เหลืออยู่พ้นหน้าที่ไปทั้งหมด ให้ปลัดกระทรวงร่วมกันรักษาราชการแทนจนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่ มาตรา 174
       7.กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่เพิ่มเติมให้วุฒิสภาประชุมได้ในระหว่างที่สภาผู้แทนฯสิ้นอายุหรือถูกยุบ คือกรณีที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งซึ่งมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อให้งานของวุฒิสภา หรืองานด้านนิติบัญญัติสามารถดำเนินต่อไปได้ในระหว่างที่ไม่มีสภาผู้แทนฯ ในกรณีนี้ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมวุฒิสภาและเป็น ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโอการ มาตรา 137
        8.กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่เพิ่มเติมปิด ช่องว่างมิให้ขาดผู้ทำหน้าที่แทนประธานรัฐสภา มาตรา 97 วรรคสอง และ 9.กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่เพิ่มเติมให้ส.ส.และส.ว. มีอิสระจากมติพรรคการเมือง หรืออาณัติอื่นใดในการตั้งกระทู้ถาม การอภิปราย การลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การออกเสียงลงคะแนนเลือกหรือให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งใด และการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง โดยได้มีการปรับคำปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ใหม่ด้วย มาตรา 127 และมาตรา 128
       นายคำนูณ กล่าวว่า ทั้ง 9 มาตรการนี้เป็นเพียงตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าในมาตรการที่ 6, 7 และ 8 นั้นหากเกิดสถานการณ์วิกฤตรัฐสภาอย่างช่วงเดือนธ.ค. 2556 จนถึงวันที่ 22 พ.ค. 2557 ที่ไม่มีสภาผู้แทนฯอยู่เป็นเวลานาน มาตรการทั้งสามจะทำให้ระบบรัฐสภายังดำรงอยู่ได้ แก้ปัญหาได้ ไม่ถึงทางตันหรือเกิดข้อถกเถียงหาข้อสรุปไม่ได้อย่างที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว

สปช.ที่ชัวร์"รับ-ไม่รับ"มีไม่ถึงครึ่ง
       นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสปช. ในฐานะประธานคณะอนุกมธ.ปฏิรูปการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สปช. กล่าวถึงการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ว่าตนยังไม่สามารถตัดสินใจตอนนี้ได้ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คงต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างประกอบการตัดสินใจ แม้ขณะนี้ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญถือว่ารับได้ในระดับหนึ่งก็ตาม เท่าที่ได้ฟังเสียงสปช.ส่วนใหญ่มีความคิดคล้ายตนจำนวนมาก คือยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะลงมติรับหรือไม่ โดยเฉพาะสปช.สายทั่วไปและสปช.สายวิชาการ สิ่งแวดล้อม พลังงาน ยังต้องมีการพูดคุยหารือกันก่อน และในสัปดาห์นี้เราก็ยังต้องพบปะประชาชน มีการจัดงานสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เราก็จะนำเรื่องเหล่านี้ไปหารือในทุกเวทีและรวบรวมความคิดเห็นประกอบการตัดสินใจจนวันสุดท้าย
      นายธรณ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สปช.ที่ระบุชัดเจนว่าตัดสินใจอย่างไรต่อร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ยังมีไม่ถึงครึ่งของสปช. อาทิ กมธ.ยกร่างฯที่เป็นสปช. ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นคนร่างและต้องรับร่างอย่างแน่นอน และกลุ่มอื่นที่ระบุรับร่างชัดเจนไม่เกิน 40 คน นอกจากนี้ คนที่ระบุไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอีกกว่า 30 คน รวมกันแล้วยังไม่ถึงครึ่งของสปช.ทั้งหมด จึงยังบอกไม่ได้ว่าเสียงจะเอนไปทางไหน ยังมีเสียงสปช.อีกจำนวนมากที่ยังตัดสินใจไม่ได้

 

ยันไม่เคยมีการซาวเสียงสปช.
       นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการกมธ.วิสามัญกิจการ สปช. หรือ วิปสปช. กล่าวว่า วิปสปช.จะประชุมกันวันที่ 1 ก.ย. ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ เป็นการประชุมนัดสุดท้ายก่อนสิ้นการปฏิบัติหน้าที่ของสปช. จะเป็นการหารือทั่วไปและสรุปการทำงานของวิปที่ผ่านมา และนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. จะแจ้งให้ที่ประชุมวิปรับทราบกรณีมีสมาชิกสปช.ยื่นหนังสือถึงประธานสปช.ในข้อห่วงใยเรื่องคำปรารภ ที่ไม่มีในร่างรัฐธรรมนูญว่าได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรบ้าง รวมทั้งอาจหารือเกี่ยวกับขั้นตอนการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.นี้ รวมถึงการพิจารณา เรื่องคำถามประกอบการทำประชามติด้วย เพราะหาก สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องพิจารณาวาระเรื่องคำถามประกอบการทำประชามติ โดยนำ 2 ญัตติที่สมาชิกสปช. เสนอ และได้บรรจุไว้ในวาระการประชุม หรือรวมทั้งญัตติอื่นหากมีสมาชิกเสนอในที่ประชุม โดยจะพิจารณาเป็น 2 ขั้นตอน คือสปช.เห็นควรเสนอคำถามประชามติหรือไม่ ถ้าเห็นว่าสมควรมีคำถามก็จะพิจารณาคำถามที่มี ผู้เสนอ แต่หากลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ต้องมีคำถาม
       นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การลงมติวันที่ 6 ก.ย. ยืนยันว่าจนถึงวันนี้ในสปช.ไม่มีการซาวเสียงว่าจะลงมติในทิศทางใด เพราะไม่ใช่หน้าที่และเป็นเรื่องไม่สมควร เนื่องจากเป็นเอกสิทธิส่วนตัวในการลงมติ โดยการทำงานของวิปสปช.จะไม่มีการกำหนดแนวทางใดๆ นอกจากจัดการประชุมตามระเบียบวาระให้เป็นที่เรียบร้อย ตนไม่ได้กังวลอะไรกับการลงมติครั้งนี้ เพราะ ไม่มีรัฐธรรมนูญใดที่สมบูรณ์และไม่มีรัฐธรรมนูญใดที่จะมีความเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นสปช.จึงต้องใช้หลักการในการพิจารณา จึงไม่สามารถตอบได้ว่าขณะนี้ว่าสปช.จะลงมติไปในทิศทางใด เพราะถือเป็นเอกสิทธิ์ของสปช.ทั้ง 247 คน ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องวินิจฉัยด้วยตัวเอง

สปช.วอนปชช.อย่าเชื่อนักการเมือง
      นายสิระ เจนจาคะ สมาชิก สปช. กล่าวถึงการทำประชามติ หากสปช.โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.ว่า อยากจะให้ประชาชนนำร่างรัฐธรรมนูญไปศึกษาแล้วจะเห็นว่ามีประโยชน์กับประชาชนอย่างไร อย่าหลงฟังแต่คำกล่าวอ้างของบรรดานักการเมือง เพราะคนเหล่านี้คือผู้เสียประโยชน์ ย่อมที่จะพูดจาเอาดีใส่ตัวเอง อยู่แล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นฉบับที่ให้อำนาจและยึดโยงประชาชนมากที่สุดแล้ว ถ้านักการเมืองเห็นว่าไม่ดีก็ต้องตอบให้ได้ว่าไม่ดีต่อประชาชนอย่างไร ไม่ใช่ว่าไม่ดีเพราะนักการเมืองถูกตรวจสอบ ถ้าคิดกันแบบนี้ก็อย่าเข้ามาทำร้ายประเทศอีกเลยจะดีกว่า
       นายสิระ กล่าวว่า หากประชาชนตัดสินใจ ให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน นักการเมืองที่ ไม่เห็นด้วยก็สามารถแสดงออกได้โดยการไม่ต้องลงรับสมัครเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าวันที่ 6 ก.ย.นี้ ที่จะมีการลงมติ สปช.ที่ถูกคัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศจะตัดสินใจไปใจไปในทางที่ถูกต้องและมีอิสระในการตัดสินใจอย่างแน่นอน

ชี้ 2 ข้อเสีย คปป.
       นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช.ในฐานะประธานกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวกรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯระบุ คปป.มีข้อเสียแต่ไม่บอกว่ามีอะไรบ้างว่า ไม่รู้ว่ามองตรงกับนายวิษณุหรือไม่ แต่ คปป.มีข้อเสีย คือ 1.ถึงแม้จะบอกว่าเพื่อความปรองดองแต่อำนาจสูงกว่า ครม.และสั่งงานครม.ได้โดยที่ครม.ต้องปฏิบัติตาม และ 2. อำนาจหน้าที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอีกส่วนที่ระบุว่าตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เป็นการหมกเม็ด เขียนเช็คเปล่าเอาไว้โดยไม่รู้ว่าคืออะไร ยิ่งกลายเป็นว่า คปป.มีอำนาจหนักเข้าไปอีก
      นายเสรี กล่าวว่า ถ้าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมีอย่างนี้อย่างไรก็ไม่ผ่านสปช. เพราะข้อเสียที่เห็นและไม่ควรจะเกิดขึ้นคืออำนาจ คปป.ที่สูงกว่าอำนาจครม. โดยอยู่ในเนื้อร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อยู่ในบทเฉพาะกาลที่ให้มีอายุ 5 ปี และต่อได้อีก 5 ปี ถ้าไปทำประชามติก็ถือว่าเป็นองค์กรที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นอำนาจที่สูงกว่าอำนาจสูงสุดของประเทศ กลายเป็นการแปลงร่าง ซึ่งน่าจะผิดหลักการจัดสรรอำนาจที่ต้องแบ่งอำนาจให้เหมาะสม ให้ลงตัว ระหว่างอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ ที่ต้องถ่วงดุลกัน หากเป็นอย่างนี้ คปป.จะกลายเป็นอำนาจที่สูงกว่าอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ

ปม"คนนอก"เปิดช่องแบ่งเค้ก
     เมื่อถามว่ามองว่าหากร่างรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาอย่างไร สปช.ก็ไม่ควรให้ผ่านหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า ตนรับไม่ได้ หากร่างรัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้จึงไม่อยากให้ผ่านเพราะหลักการสำคัญของประเทศต้องยั่งยืนใช้ได้ทุกสถานการณ์ เขียนแบบนี้ใช้ได้กับบางสถานการณ์เท่านั้น แล้วจะเป็นไปได้อย่างไร และถ้า คปป.ถูกนักการเมืองแทรกแซง คนที่อยู่ใน คปป.เป็นคนอยู่ในกลุ่มการเมืองเดียวกัน ไม่ว่ามาจากไหนก็ต้องเคารพเกรงใจกัน และอำนาจที่หมกเม็ดเอาไว้ก็อาจจะสูงกว่าอำนาจตุลาการอีกก็ได้ ถ้าเป็นการไปออกกฎหมาย คปป.ก็จะกลายเป็นยักษ์ที่มีฤทธิ์มาก
      นายเสรี กล่าวว่า นอกจากประเด็น คปป.แล้ว ยังมีอีกจุดคือนายกฯคนนอก แม้จะบอกจะตั้งได้ต้องใช้เสียงในสภา 2 ใน 3 ก็กลายเป็นว่านายกฯไม่มีส.ส.ในมือเลย ทั้งที่รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้อยู่ที่เสียงของส.ส. ซึ่งจุดนี้จะทำให้ระบบโควตา การแบ่งเค้กกลับคืนมา และกลับเข้าสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นอีก

จี้วิษณุ แจ้งข้อเสียคปป.
     นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช.กล่าวกรณีที่นายวิษณุ ไม่พูดถึงข้อเสียของ คปป. ว่า จะอธิบายความชอบธรรมให้ประชาชนรับทราบเพื่อตัดสินใจได้อย่างไรในเมื่อนายวิษณุ ซึ่งเป็นเนติบริกรใหญ่ในรัฐบาลยังไม่พูดความจริงกับประชาชนทั้งหมดว่าสาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อดีหรือไม่ดีอย่างไร นายวิษณุ ควรพูดทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นข้อดีและข้อเสียเพื่อให้สปช. พิจารณาตัดสินใจ หลายประเทศที่เป็นเผด็จการเคยมีการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญและเรื่อง อื่นๆ โดยผู้มีอำนาจจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ผ่าน เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้นและยังปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ดังนั้นใครที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นการสืบทอดอำนาจจึงต้องสื่อสารกับสังคมให้เกิดความตื่นตัว
     นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า หากสปช.รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กลุ่มนปช.จะแถลงท่าทีต่อเรื่องนี้โดยเร็วและจะรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในขั้นตอนของการทำประชามติ สิ่งที่เป็นห่วงคือเมื่อรัฐบาลเห็นว่าหลาย ฝ่ายไม่พอใจในร่างฯอาจใช้อำนาจบังคับส่วนราชการให้เป็นเครื่องมือ และใครที่รณรงค์ไม่รับร่างฯจะเผชิญกับอำนาจรัฐหลายรูปแบบ แต่นปช.ไม่เป็นกังวล เพราะหากประเทศไทยเผชิญกับความไม่เป็นประชาธิปไตยอีกยาวนาน ก็จะส่งผลให้เกิดความเสียหายมากกว่า

พท.มองข้าม 6 ก.ย.แล้ว
      นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการลงมติ วันที่ 6 ก.ย.นี้ว่า ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เพราะประชาชนมองข้ามไปถึงขั้นตอนการ ทำประชามติแล้ว แต่น่าเสียดายที่ความกลัวจะทำให้เสื่อม คสช.จึงจำกัดสิทธิ์การวิพากษ์วิจารณ์ไว้เฉพาะเครือข่ายของแม่น้ำ 5 สาย ไม่มีอะไรที่ผู้มีอำนาจต้องกลัวว่ารัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำโดยสปช.หรือประชาชนเพราะคสช.ยังอยู่ในอำนาจต่อไป อย่าผูกขาดความรับผิดชอบต่อประเทศ ไว้เฉพาะพวกพ้องตัวเองที่ครูอาจารย์ นักวิชาการ ต้องปิดห้องแอบคุยกันเรื่องรัฐธรรมนูญ จึงน่าคิดว่าทำไมผู้มีอำนาจถึงกลัวประชาชนจะรับรู้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญว่ามีจุดดีหรือเสียอย่างไร หรือมีข้อเสียมากกว่า จนหาดีได้ลำบาก
        อย่าไปปิดหูปิดตาประชาชน อะไรที่มุบมิบซ่อนเร้น ลับ ลวง หลอก ชาวบ้านยิ่งอยากรู้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเปิดเผยให้โปร่งใส ตรงไปตรงมา ให้ประชาชนได้ข้อมูลรอบด้านและเท่าเทียมก่อนออกเสียงประชามติ โดยเฉพาะเรื่องคปป.ที่เป็น โปลิตบูโร ซูเปอร์รัฐซ้อนรัฐ เพียงเรื่องเดียวชาวบ้านก็นึกออกว่ากำลังคิดอะไรกันอยู่

ปชป.หนุนร่างใหม่ดีกว่า
       ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม. แถลงถึงการโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ว่า สปช.ควรดูเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ดี เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสียมีไม่กี่มาตราที่น่าจะทำลายข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เห็นชัดคือ การได้มาของส.ว. ที่มีการกำหนดให้คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้ คัดเลือกส.ว.ดูเหมือนเป็นการสืบทอดอำนาจ เพราะ ส.ว.สรรหามีมากกว่าส.ว.เลือกตั้ง ดังนั้น หากมีส.ว.ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ การจะพิจารณา อะไรก็ต้องปฏิบัติตามโผของผู้มีอำนาจอยู่แล้ว
       นายวิลาศ กล่าวว่า จึงขอให้สปช.ใช้ดุลพินิจให้รอบคอบ ว่ารัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยและไม่ทำให้เกิดการรัฐประหารจริงหรือไม่ เพราะหากเห็นชอบอาจเป็นตัวเร่งให้เกิดรัฐประหารขึ้นมาอีกครั้ง จึงเห็นว่าไม่ควรที่จะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อประหยัดงบประมาณในการจัดทำประชามติจำนวน 3.3 พันล้านบาท และเมื่อมีคณะกรรมการจำนวน 21 คนขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อาจจะใช้เวลาไม่นาน เพราะสามารถนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาปรับปรุงในส่วนที่ไม่ดีได้ เชื่อว่า 1 เดือนก็จะสามารถพิจารณาเสร็จสิ้น ใช้เวลาถึง 180 วันตามกำหนด

ห้ามรณรงค์ก็ ไม่ใช่ฉบับปรองดอง
       นายวิลาศกล่าวว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของสปช.จำเป็นต้องให้มีการรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับข้อดี ข้อเสียของรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีประชาชนคนใดอ่านรัฐธรรมนูญแล้วเข้าใจทั้งหมด คงมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และตามพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 บัญญัติไว้ว่าต้องให้ความรู้กับประชาชนก่อนออกเสียงประชามติ หากรัฐบาลหรือ คสช. ห้ามไม่ให้มีการรณรงค์ก็เท่ากับขัดพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 และในสมัยการประชามติรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีการห้ามให้รณรงค์แต่อย่างใด มีแต่ครั้งนี้ที่สั่งห้าม แล้วอย่างนี้จะเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปรองดองได้อย่างไรและหากรัฐบาลยังห้ามไม่ให้มีการรณรงค์ ก็ไม่ต้องมีการทำประชามติ เมื่อถึงตอนนั้นประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง

ปูเตรียมพร้อมแจงศาล
     รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 31 ส.ค.นี้ ที่ศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดตรวจพยานฝ่ายโจทก์และจำเลยในคดีรับจำนำข้าวเป็นนัดแรกนั้น ศาลจะให้ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยแถลงต่อศาลว่าจะมีพยานบุคคลกี่ปาก และมีพยานเอกสารอะไรบ้างนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเดินทางไปรับฟังด้วยตัวเองในเวลา 09.00 น. โดยมีนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นผู้แถลงต่อศาลถึงพยานฝ่ายจำเลยที่มีกว่า 70 ปาก และเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้สำหรับชี้แจงแล้ว นอกจากนั้น ได้เตรียมเอกสารและพยานนอกสำนวน ของป.ป.ช. ที่ทีมทนายยื่นเรื่องคัดค้านไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ในวันดังกล่าวศาลจะพิจารณาว่าจะอนุญาตในเรื่องใดบ้าง พร้อมกับระบุวันที่จะนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไป หากศาลรับเอกสารและพยานนอกสำนวนที่อัยการเพิ่มเข้ามากว่า 60,000 หน้าไว้พิจารณา ก็จะแจ้งให้รับทราบและจะกำหนดเวลาเพื่อให้ฝ่ายจำเลยได้เตรียมเอกสาร หลักฐานเพื่อหักล้างต่อไป

จับตาโยกย้ายผู้ว่าฯล็อตใหญ่
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครม. วันที่ 1 ก.ย. คาดกระทรวงมหาดไทยจะเสนอชื่อข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย โดยกระบวน การสอบวิสัยทัศน์และสอบสัมภาษณ์รอง ผู้ว่าฯ และรองอธิบดีที่มีคุณสมบัติครบ ได้เสร็จสิ้นลงแล้วตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ วันที่ 30 ก.ย.นี้จะมีผู้ว่าฯเกษียณอายุราชการ 22 ตำแหน่ง และมีผู้ว่าฯที่ว่างลงอีก 5 ตำแหน่ง จากการได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีและรองปลัดกระทรวง พร้อมด้วย ผู้ตรวจฯเกษียณอีก 2 ตำแหน่ง และจะมีการโยกสลับตำแหน่งผู้ว่าฯ ระหว่างจังหวัด
       ดังนั้น คาดว่าจะมีการเสนอรายชื่อการแต่งตั้งโยกย้ายมากกว่า 50 ตำแหน่ง ส่วนจังหวัดใหญ่ที่ตำแหน่งว่างลงนั้นมี ที่น่าสนใจ เช่น สุราษฎร์ธานี นนทบุรี นครราชสีมา สงขลา ปทุมธานี เชียงราย เชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการเสนอรายชื่อให้กับพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.พิจารณาก่อน หากไม่ทันอาจเลื่อนไปเป็นวันที่ 8 ก.ย.

ไก่อู ซัดคนวิจารณ์ครม.ใหม่
      พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์ของบางกลุ่มถึงการทำงาน ของครม.ใหม่ ว่ามีนโยบายไม่ต่างจากเดิมหรืออาจซ้ำรอยนโยบายประชานิยมเดิม ว่าเป็นการวิจารณ์ที่ใช้จินตนาการและไม่มีความรับผิดชอบ ยืนยันครม.ชุดใหม่ทำงานด้วยกันอย่างราบรื่น รัฐมนตรีหลายคนพูดคุยวางแผนนอกรอบหลังการประชุม และโทรศัพท์พูดคุยเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานตามนโยบายของนายกฯตลอดเวลาเพื่อให้ได้ผลเร็วที่สุด เพราะทุกคนทราบว่ามีเวลาทำงานอย่างจำกัด จึงขอให้บางกลุ่มบางพวกปรานีประเทศบ้าง เรามีศึกนอกคือศึกเศรษฐกิจโลกที่หนักพออยู่แล้ว หากต้องเจอพวกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ คอยชักใบให้เรือเสียจากภายในอีก ประเทศจะบอบช้ำและ น่าเห็นใจที่สุด จะไม่ให้กำลังใจได้แต่ขอให้สงบใจอยู่นิ่งเฉย อย่าทำลายบรรยากาศการพัฒนาประเทศโดยรวม
      พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า แม้จะมีความพยายามสร้างข่าวสร้างความสับสนในทำนองว่านโยบายของรัฐบาลไม่ต่างจากนโยบายแนวประชานิยมในอดีต รัฐบาลก็ไม่หวั่นไหว เพราะมีนโยบายชัดเจน คือ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไม่ต้องการทำประชานิยมเพื่อคะแนนเสียงที่ผ่านมาอธิบายซ้ำหลายครั้งว่ารัฐบาลชุดนี้มาเพื่อแก้ปัญหาของชาติ วางรากฐานของประเทศและปฏิรูปประเทศตามโรดแม็ป จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะย้อนกลับไปทำในสิ่งที่ เคยทำลายวินัยการเงิน การคลังของชาติ กัดกร่อนศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของประชาชน รวมทั้งเป็นนโยบายหลอกลวงจอมปลอมหวังผลระยะสั้น แต่สร้างความเสียหายตกไว้แก่ลูกหลานเป็นมรดกบาประยะยาว

โพล ชี้บึ้มราชประสงค์กระทบรัฐบาล
        สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจหัวข้อ "เหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อรัฐบาล" ทั้งผลกระทบด้านบวก-ลบ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,320 คน ระหว่างวันที่ 24-29 ส.ค.ที่ผ่านมา ถามถึงเหตุการณ์ที่มีผลกระทบด้านบวกต่อรัฐบาล อันดับ 1 บ้านเมืองสงบ ไม่มีเหตุการณ์ประท้วงหรือทะเลาะเบาะแว้ง 80.30% อันดับ 2 ความเด็ดขาดของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ 78.70% อันดับ 3 การปราบปรามการทุจริตฯ-ผู้มีอิทธิพล 76.36%
      อันดับ 4 การปรับครม. 73.92% อันดับ 5 การจัดกิจกรรม Bike for Mom 68.40%
       เหตุการณ์ที่มีผลกระทบในด้านลบต่อรัฐบาล อันดับ 1 เหตุระเบิดที่ราชประสงค์และท่าเรือสาทร 84.55% อันดับ 2 เศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวของแพง 83.94% อันดับ 3 ปัญหาภาคการเกษตร ภัยแล้ง ราคาพืชผลตกต่ำ 79.09% อันดับ 4 ภาพลักษณ์การเป็นรัฐบาลทหาร โดยเฉพาะการใช้ม.44 74.55% อันดับ 5 ขาดการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล 69.39%
      เสถียรภาพรัฐบาลวันนี้ได้รับผลกระทบจากด้านบวกหรือลบมากกว่ากัน อันดับ 1 พอๆ กัน 46.06% เพราะที่ผ่านมายังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของรัฐบาลทั้งในด้านบวกและด้านลบ อันดับ 2 ได้รับผลกระทบด้านบวกมากกว่า 32.12% อันดับ 3 ได้รับผลกระทบด้านลบมากกว่า 21.82%
        รัฐบาลควรดำเนินการกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของประเทศ อันดับ 1 เร่งแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ 78.79% อันดับ 2 รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย 75.15% อันดับ 3 ทุกกระทรวงต้องเร่งทำงาน ร่วมมือกันอย่างจริงจัง 68.18% อันดับ 4 เร่งสร้างการยอมรับทั้งใน-ต่างประเทศ 63.94% อันดับ 5 บังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง ยุติธรรม 62.12%

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!