1กลมนสต

ขึ้นศาลพรุ่งนี้คดีข้าว 'ปู'ไปแน่ ค้าน-พยานงอก เปิดร่างประชามติรธน.-ห้ามชี้นำ จัดเวที 2 ฝ่ายแสดงความเห็นอิสระ

     เปิดร่างทำประชามติรธน. ห้ามกมธ.ยกร่างฯชี้นำโหวตหนุน-คว่ำ กกต.จัดเวทีให้2 ฝ่ายแสดงความเห็นอิสระ "สมชัย"ยันกาบัตร 10 ม.ค.ปีหน้า หากติดขัดเลื่อนไปอีก 2-3 สัปดาห์ 'ถวิลวดี'ขย่ม 10 ปมร้อน ทั้งที่มานายกฯ-เลือกตั้งส.ส.-ส.ว.-คปป. ชี้อาจส่งผลให้สปช.ไม่รับร่างรธน. "เสธ.อู้"ลั่นกมธ.ทำดีที่สุดแล้ว 'นิรันดร์'ห่วงบิ๊กตู่-เทียนฉายถูกฟ้องปมไม่มีคำปรารภในรธน. 'วิษณุ'ระบุหลังสปช.หมดวาระจะทยอยตั้งสภาขับเคลื่อนฯ แย้มสปช.บางคนยังเป็นประโยชน์ ทนายยัน'ปู'ไปศาลนักการเมืองนัดตรวจพยานคดีข้าวนัดแรก 31 ส.ค. ลุ้นผลยื่นคัดค้านอัยการเพิ่มพยานอื้อ

 

วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9041 ข่าวสดรายวัน

 

 

อ่านร่าง - กลุ่มนิสิต นักศึกษา และประชาชน ร่วมกันอ่านร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ในกิจกรรม "อ่านร่าง ตามรูทีน" ที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 29 ส.ค.

 

 

เปิดร่างประชามติรธน.-ห้ามชี้นำ

     วันที่ 29 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงมติร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 ก.ย.นั้น หากสปช.ลงมติเห็นชอบ โดยต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 124 เสียง จากทั้งหมด 247 เสียง ก็จะไปสู่ขั้นตอนการทำประชามติ ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมร่างประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการออกเสียงประชามติพ.ศ....ไว้แล้ว

      สำหรับ ร่างประกาศของกกต.จะต้องส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2558 ภายหลังสปช.ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยในร่างประกาศฉบับดังกล่าวมีจำนวน 55 ข้อ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

ร่างประกาศในข้อ 6 กำหนดให้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่สปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งร่างรัฐธรรมนูญแก่กกต. และให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญส่งสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้แก่กกต. ในกรณีที่มีประเด็นการจัดทำประชามติเพิ่มเติม ให้ครม.ส่งประเด็นและสรุปสาระสำคัญของประเด็นดังกล่าวให้แก่กกต.ในคราวเดียวกันเพื่อดำเนินการจัดพิมพ์พร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญ ข้อมูลสาระสำคัญที่จัดทำเผยแพร่ต้องไม่มีลักษณะเป็นการชี้นำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ

 

กกต.จัด 2 ฝ่ายแสดงความเห็น

      ข้อ 8 ให้กกต.จัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกันทั้งบุคคลฝ่ายที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ ทั้งนี้ รูปแบบ แนวทาง ให้เป็นไปตามที่กกต.กำหนด

ข้อ 10 เพื่อให้การดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้กกต.มีอำนาจออกคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นตามประกาศนี้

       ข้อ 11 การจัดทำประชามติให้กกต.กำหนดวันออกเสียงโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งวันออกเสียงต้องไม่เร็วกว่า 30 วัน และไม่ช้ากว่า 45 วัน นับแต่วันที่กกต.ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ผู้มีสิทธิออกเสียงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของครัวเรือนทั้งหมดที่ผู้มีสิทธิออกเสียงมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และการออกเสียงจะต้องกระทำภายในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

ข้อ 12 การออกเสียง ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงกระทำโดยตรงและลับด้วยวิธีการกากบาท (X) ใบบัตรออกเสียงหรือใช้เครื่องลงคะแนน

 

กำหนดสเป๊กผู้มีสิทธิโหวต

     ข้อ 22 บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิออกเสียง (1) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี (2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 ม.ค.ของปีที่มีการออกเสียง (3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันออกเสียง

      ข้อ 23 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันออกเสียง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิออกเสียง (1) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช (2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (4) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

     ข้อ 32 ในวันออกเสียงให้เปิดการลงคะแนนออกเสียงตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง เวลา 16.00 น.

ข้อ 37 ในกรณีที่การลงคะแนนออกเสียงในหน่วยออกเสียงแห่งใดไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น ถ้าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันออกเสียง ให้กกต.ประจำจังหวัดกำหนดที่ออกเสียงใหม่ที่ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถไปลงคะแนนออกเสียงได้โดยสะดวก แต่ถ้าไม่อาจกำหนดที่ออกเสียงใหม่ได้ ให้ประกาศงดลงคะแนนออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นแล้วรายงานต่อกกต.โดยด่วน ในกรณีที่มีเหตุเกิดขึ้นในวันออกเสียง ให้กกต.ประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประกาศงดลงคะแนนออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นแล้วรายงานต่อกกต.

 

ร้องคัดค้านได้ภายใน 24 ชม.

       ข้อ 50 เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการออกเสียง หากผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงใด เห็นว่าการออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านพร้อมทั้งแสดงหลักฐานต่อกกต.หรือผู้ที่กกต.มอบหมาย ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่การลงคะแนนออกเสียงสิ้นสุดลง

ข้อ 51 เมื่อกกต.ได้รับคำร้องคัดค้านแล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนและแสวงหาหลักฐานทั้งปวงเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงโดยพลัน ถ้าเห็นว่าการออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้มีคำสั่งให้ดำเนินการออกเสียงใหม่ในหน่วยออกเสียงนั้น ทั้งนี้ ต้องไม่ช้ากว่า 30 วันนับแต่วันออกเสียง เว้นแต่การออกเสียงใหม่จะไม่ทำให้ผลการออกเสียงเปลี่ยนแปลงไปให้กกต.มีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านนั้นเสีย

       ข้อ 54 ให้นำความในหมวด 10 ความผิดและบทกำหนดโทษแห่งพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชา มติ พ.ศ.2552 มาใช้บังคับตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 บัญญัติไว้

 

"สมชัย"ยันกาบัตรม.ค.ปีหน้า

      นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งกล่าวว่า สำหรับการเตรียมการทำประชามติ หาก สปช.โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญกกต.สามารถส่งประกาศกกต.เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สนช.พิจารณาได้ทันที ยันยันว่าการออกประกาศและระเบียบต่างๆ ออกแบบให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่างได้แสดงความคิดเห็นอย่าง เท่าเทียมกันโดยไม่ขัดคำสั่งคสช. ส่วนวันลงประชามติคาดว่าอยู่ประมาณวันที่ 10 ม.ค.2559 หากมีปัญหาติดขัดก็เลื่อนออกไป 2-3 สัปดาห์ แต่ไม่เลยเดือนม.ค.2559

      นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกกต.ในร่างรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นไปตามที่เราเคยเสนอให้กมธ. ยกร่างฯ ปรับแก้ไปก่อนหน้านี้ใน 5 เรื่องใหญ่ๆ แต่มีการปรับแก้ไป 4 เรื่อง ถือว่ากมธ.ยกร่างฯ ทำตามถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเรื่องที่ปรับแก้คือการให้อำนาจจัดเลือกตั้งอยู่กับกกต.เหมือนเดิม เรื่องระบบโอเพ่นลิสต์ที่ไปอยู่ในบทเฉพาะกาล รอจนกว่าจะมีระบบเลือกตั้งด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องกลุ่มการเมืองตั้งพรรคการเมือง และกรณีที่ศาลรับคำร้องใบเหลือง-ใบแดง ผู้ถูกร้องต้องยุติปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น มีเพียงเรื่องเดียวที่กมธ.ยกร่างฯ ไม่ทำตามที่เสนอไปคืออำนาจการให้ใบแดงอยู่ที่กกต.เท่านั้น ส่วนว่าพอใจหรือไม่ก็ไม่ขอตอบ

 

วิป สนช.เล็งขอแก้ไข

      นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิป สนช.) ให้สัมภาษณ์ว่า วิป สนช.ยังไม่ได้หารือกันว่าสนช.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบกับร่างประกาศกกต.เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการออกเสียงประชามติพ.ศ....เมื่อไร แต่ยืนยันว่าจะดำเนินการโดยไม่ล่าช้าภายหลังสปช.ลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ทางวิป สนช.ต้องหารือกันก่อนว่าสนช.จะมีอำนาจแก้ไขถ้อยคำในร่างประกาศเกี่ยวกับการทำประชามติได้หรือไม่ แต่หากในทางปฏิบัติมีสมาชิกสนช.เห็นว่ามีบางถ้อยคำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็อาจขอให้กกต.นำกลับไปแก้ไขและส่งมาให้สนช.พิจารณาอีกครั้ง

 

"ถวิลวดี"ชี้ 10 ปมร้อนคว่ำรธน.

     ด้านนางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ยกร่างฯ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการลงมติร่าง รัฐธรรมนูญของสปช.ว่า ขั้นตอนในวัน ลงมติ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. กำหนดให้ลงคะแนนแบบเปิดเผยด้วยการขานชื่อสปช.เป็นรายบุคคล โดยการตัดสินว่าร่างรัฐธรรมนูญจะได้รับความเห็นชอบหรือไม่ จะใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสปช.เป็นเกณฑ์ในการตัดสิน คือ 124 เสียงจากสมาชิก สปช. 247 คน

       ประเด็นร้อนในร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 10 ข้อที่อาจเป็นตัวชี้ขาดร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปคือ 1.ที่มานายกฯ อาจเรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุด 2.การเลือกตั้งส.ส. 3.การได้มาซึ่งส.ว. 4.การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5.การดำเนินคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 6.เครื่องมือป้องกันประชานิยม 7.อำนาจศาล

      8.มาตรการให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ที่ผ่านมามีหลายกรณีที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 9.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯ ออกแบบให้การแก้ไขได้ยากกว่าเดิม 10.คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) ซึ่ง 10 ประเด็นร้อนทั้งหมดนี้อาจไม่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับกมธ.ยกร่างฯ แต่อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสปช.และประชาชนก็เป็นไปได้จนส่งผลต่ออนาคตของร่างรัฐธรรม นูญฉบับปฏิรูป

 

พท.ยอมเสียเวลายกร่างใหม่

      นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากพรรคเพื่อไทยได้จัดทำเอกสารวิพากษ์ร่างรัฐธรรม นูญ ให้ข้อมูลในสิ่งที่พรรคเห็นว่าถ้าสปช.ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญจะเกิดปัญหาอย่างไรบ้าง โดยได้ส่งถึงนายเทียนฉาย เพื่อส่งต่อให้สมาชิกสปช.พิจารณาก่อนลงมติในวันที่ 6 ก.ย.นั้น ถือว่าเราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว หากสปช.ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็กลับมายกร่างกันใหม่ ยอมเสียเวลาอีก 180 วันดีกว่าให้ร่างผ่านไปทั้งที่รู้ว่าจะเกิดปัญหา แต่ถ้าสปช.ลงมติรับร่าง ถึงเวลานั้นเราคงต้องหาช่องทางชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน

       "ขณะนี้ประชาชนบางส่วนที่ไม่รู้ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญจะรู้แต่เพียงว่ามีรัฐธรรมนูญแล้วจะได้เลือกตั้งกันเสียที โดยที่ไม่รู้ว่าผู้แทนที่เลือกเข้าไปนั้นไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะถูกครอบงำด้วยกลไกพิเศษที่วางเอาไว้ สุดท้ายจะกลับไปสู่ปัญหาวังวนเดิม ดังนั้น เมื่อถึงเวลานั้นคงต้องเรียกร้องไปถึงคสช.ให้ช่วยยกเลิกประกาศของคสช. เปิดกว้างเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถเคลื่อนไหวทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชนตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลรอบด้านและเท่าเทียมก่อนออกเสียงลงประชามติ" นายสามารถกล่าว

 

"วิษณุ"รูดซิปข้อเสียคปป.

     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับคปป.ที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลว่า ข้อเสียของ คปป.มีอยู่แต่ไม่บอก หากบอกไปสื่อจะเสนอแต่ข้อเสีย คปป.มีอำนาจปกติ คือการปฏิรูปและปรองดอง กับอำนาจพิเศษ ซึ่งขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงอำนาจปกติจะพูดถึงแต่อำนาจพิเศษ หากไปบอกว่าคปป.มีข้อดี มีข้อเสียอะไรก็จะหยิบแต่ข้อเสียขึ้นมา ฉะนั้นอย่าไปพูด สิ่งที่ตนพูดไม่ได้พูดถึงแต่ข้อดี แต่พยายามที่จะเข้าใจเหตุผลของผู้ร่างว่าคืออะไร

        ผู้สื่อข่าวถามว่า หากให้พรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งทำสัญญาประชาคมว่าจะปฏิรูป โดยไม่ต้องมี คปป.ได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า สามารถทำได้ ทำไปด้วยกัน หากเป็นเช่นนั้น คปป.ก็ไม่ต้องทำอะไร แต่สัญญาประชาคมไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมาย แต่ไม่ได้ว่าอะไรและอยากให้ทำด้วย หากไม่ทำตามก็ไม่มีอะไร

 

สปช.มีลุ้นนั่งสภาขับเคลื่อน

       นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นมาทำหน้าที่แทนสปช.ที่จะหมดวาระลงเมื่อลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า หลังจากสปช.หมดวาระ สามารถทยอยตั้งเข้ามาได้ ไม่จำเป็นต้องตั้งทันที 200 คน ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะคิดตั้งคนใหม่เพราะคนเก่ายังทำหน้าที่อยู่ ยังมีเวลาพิจารณา ก่อนหน้านี้เคยมีคนมาถามว่าถ้าไม่ตั้งจะได้หรือไม่ก็ตอบไปว่าได้ แต่เมื่องานยังต้องมีอยู่ คนเก่าคือสปช.ทำงานอยู่ เมื่อเขาหมดวาระแล้วใครจะทำงานนั้น จึงเป็นเหตุผลว่าจำเป็นต้องมีสภาขับเคลื่อนฯเข้ามารับภาระหน้าที่น้อยกว่าสปช. เพราะมีหน้าที่อย่างเดียวคือ การปฏิรูปตามแนวทางจากครม. 11 เรื่อง คสช. 11 เรื่อง และจากสปช. 37 เรื่อง ซึ่งส่งถึง นายกฯไปแล้ว โดยที่ไม่มีเรื่องรัฐธรรมนูญให้พิจารณา

      "ขณะนี้ นายกฯ กำลังศึกษาอยู่ ทั้งหมดต้องนำแนวทางที่ส่งมาแล้วมารวมกัน เพื่อแยกย่อยให้เหลือ 5-6 เรื่อง แล้วส่งให้สภาขับเคลื่อนฯ ไปดำเนินการให้เกิดรูปธรรม สำหรับบุคคลที่จะไปนั่งในสภาดังกล่าว ไม่มีข้อกำหนด คนที่เคยเป็นสปช.และมีความต่อเนื่องของงาน เชื่อว่าบางคนยังจะเป็นประโยชน์อยู่" นายวิษณุกล่าว

 

กมธ.ลั่นทำดีที่สุดแล้ว

      พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงกระแสเสียงสปช.ที่คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญจากการกังวลเกี่ยวกับคปป.ว่า กมธ.ยกร่างฯไม่ห่วงกระแสการคัดค้านในเรื่องนี้ เพราะได้อธิบายไปมากพอแล้วถึงอำนาจและหน้าที่ของ คปป. ใครจะโหวตรับหรือโหวตคว่ำก็เป็นสิทธิของพวกเขา เราไม่สามารถไปล็อบบี้ให้ทำตามได้ เราทำได้แค่เพียงอธิบายหลักการของร่างรัฐธรรมนูญ วันนี้เราทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ส่วนตัวอยากจะให้ผ่านเพราะมั่นใจว่า เราอธิบายกับประชาชนได้และอยากให้นำไปสู่การเลือกตั้ง ประเทศจะได้เดินหน้า ต่อไปได้

       ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านก็ไม่เป็นไร เป็นไปตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ สปช.แต่ละคนมีความคิดเป็นของตัวเองเราคงจะไปชี้นำเขาไม่ได้ แต่เชื่อว่าคปป.ไม่ได้เป็นเหตุผลเดียวในการตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ยังมีอีกหลายประเด็นที่เขาจะนำมาตัดสินใจ ตนยอมรับว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจไม่ถูกใจทุกคน แต่คิดว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสม กับสภาพสังคมไทยในวันนี้ ผลจะออกมาเป็นอย่างไรพร้อมยอมรับเพราะต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว

 

กลุ่มมธ.ยืนอ่านร่างรธน.

      เวลา 15.00 น.ที่ลานปรีดี ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มกิจกรรมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดกิจกรรม "อ่านร่างฯ ตามรูทีน" เชิญชวนผู้สนใจร่วมอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำลังเสนอให้สปช. ลงมติเห็นชอบในวันที่ 6 ก.ย. รวมถึงกระแสที่ทางรัฐบาล ห้ามรณรงค์รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม โดยเฉพาะผ่านข้อความในโซเชี่ยลมีเดีย

      กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ จึงจัดงานนี้ ให้นักศึกษาและผู้สนใจยืนอ่านหน้าอนุสาวรีย์ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยทุกคนต่างอ่านด้วยอาการสงบ ส่วนเฟซบุ๊กแฟนเพจของกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ ระบุว่า กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่พวกเราอ่านร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐบาลประยุทธ์ห้ามรณรงค์รับ/ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่จะใช้ในอนาคต และจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของประเทศไทย

       "ให้เราประชาชนทุกคนมีความสุขความสงบดังเช่นยุคพระศรีอาริย์"

 

ห่วงบิ๊กตู่-เทียนฉายถูกฟ้อง

       นายนิรันดร์ พันทรกิจ สปช. กล่าวถึงกรณีการทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ในประเด็นปัญหาร่างรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องความรอบคอบในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่ยังไม่มีคำปรารภเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้นายกฯ ยังไม่มีข้อตอบรับในข้อเรียกร้องที่ตนเสนอกลับมา คาดว่าอาจจะติดวันหยุดสุดสัปดาห์

นายนิรันดร์กล่าวว่า ถึงนายกฯจะไม่มีการดำเนินการอะไร ตนก็ได้ทำหน้าที่สปช.เต็มความสามารถแล้ว หากในอนาคตร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสปช.และไปสู่การทำประชามติแล้วหากโปรดเกล้าฯ เรียบร้อย เกิดมีคนฟ้องร้องขึ้นว่ากระบวนการรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้องเพราะไม่มีคำปรารภ ตนถือว่าหมดความ รับผิดชอบเนื่องจากได้เสนอข้อเรียกร้อง ไปแล้ว

"ผมยื่นข้อเรียกร้องให้นายกฯไป เพราะเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาขึ้นมา ต่อจากนี้อยู่ที่นายกฯและนายเทียนฉาย ที่ต้องรับผิดชอบ เพราะที่ผ่านมารัฐธรรมนูญปี 2550 ก่อนที่จะให้ประชาชนลงประชามติก็มีคำปรารภ ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็มีคำปรารภสมบูรณ์ อยู่ๆ ในฉบับปัจจุบันบอกไม่ต้องทำคำปรารภก็คงดูแปลกๆ และไม่ตอบโจทย์ความรอบคอบในการร่าง เพราะไม่มีเหตุการณ์และเหตุผลในการจัดทำ" นายนิรันดร์กล่าว

 

สปท.ชงคสช.ปฏิรูปนอกรธน.

       ที่มหาวิทยาลัยรังสิต คณะกรรมการที่ปรึกษาสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) โดยนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสปท. แถลงมติที่ประชุมสปท.ถึงข้อเสนอต่อการปฏิรูปประเทศว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี แม้จะมีความพยายามของแม่น้ำ 5 สาย แต่การปฏิรูปยังไม่บรรลุจุดมุ่งหมายอย่างที่สังคมคาดหวังไว้ ซึ่งสปท.เห็นว่าการปฏิรูปไม่จำเป็นต้องรอให้ได้ข้อยุติในรัฐธรรมนูญ หรือต้องกระทำโดยรัฐธรรมนูญเท่านั้น การปฏิรูปนอกรัฐธรรมนูญจึงเป็นหน้าที่โดยตรงของคสช. และครม.ที่สามารถบูรณาการอำนาจและดำเนินการปฏิรูปในประเด็นที่เป็นประโยชน์กับประเทศและคนส่วนใหญ่ได้ทันที

       โดยสปท.ขอเสนอให้ผู้มีอำนาจเร่งพิจารณาดำเนินการผลักดันการปฏิรูปที่เป็นวาระเร่งด่วน 6 เรื่อง คือ ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปพลังงาน ปฏิรูปว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และปฏิรูปการกระจายอำนาจ

 

แนะสปช.คิดให้ดีก่อนลงมติ

       นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ส่วนความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญนั้น สปท.เป็นห่วงว่าการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย. โดยสปช. และอาจไปถึงขั้นลงประชา มติของประชาชนหากผ่านขั้นตอนสปช.นั้น จะไม่ยืนอยู่บนทิศทางการปฏิรูปอย่างแท้จริง แต่อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองของกลุ่มต่างๆ ที่นำเอาการปฏิรูปเป็นตัวประกันเท่านั้น ดังนั้น การพุ่งเป้าทุกอย่างไปที่ร่างรัฐธรรมนูญและผลการลงมติจึงอาจเป็นการบีบบังคับสังคมให้เข้าสู่เงื่อนไขการเผชิญหน้าจนเกิดความตึงเครียดทางการเมืองโดยไม่จำเป็น ทุกฝ่ายจึงควรไตร่ตรองและแสวงหาทางออกจากความตึงเครียดที่รออยู่เบื้องหน้า

"การลงประชามติของสปช.ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ สปช.จะต้องพิจารณาอย่างรอบด้านและแสดงเหตุและผลต่อประชาชนอย่างตรงไปตรงมา การโหวตร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่ขั้นการลงประชามติ เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศได้ศึกษาเรียนรู้ซึ่งใช้เวลากว่า 6 เดือน และประชาชนที่รับรู้ปัญหามากขึ้นจะเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้าย" นายสุริยะใสกล่าว

 

จี้รณรงค์ประชามติรอบด้าน

       นายสุริยะใส กล่าวว่า ในระหว่างนี้ คสช.และครม.จะต้องกำหนดมาตรการต่างๆ ในการรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจให้ข้อมูลครบถ้วน เปิดเผย เพื่อเอื้ออำนวยให้สังคมและประชาชนได้ถกแถลงวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญกันอย่างเปิดเผย เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางการเมืองที่สำคัญและเพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญทั้งจุดเด่นและจุดด้อยว่าแก้ปัญหาประชาชนและนำไปสู่การปฏิรูปประเทศได้มากน้อยอย่างไร ในท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ก็ตาม สปท.จะยังคงเจตนารมณ์เดิม คือ การสร้างความต่อเนื่องของกระบวนการปฏิรูปที่มีความยั่งยืน แม้สถานการณ์จะไม่ปกติก็ตาม สปท.จะติดตามการตราพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ และการจัดเวทีขับเคลื่อนคู่ขนานกับสภาขับเคลื่อนฯ และเข้าร่วมผลักดันกับเครือข่ายภาคประชาสังคมให้ยั่งยืนต่อไป ด้านสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานสปท. ในฐานะสปช. กล่าวว่า การปฏิรูปองค์กรตำรวจเป็นภารกิจสำคัญที่สังคมคาดหวังอย่างสูงว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงให้องค์กรนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน คือ การแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พนักงานสอบสวนไม่ควรมียศอีกต่อไป เพราะการมียศทำให้ไม่สามารถปฏิเสธคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาได้ ถ้าทำได้อันเดียวจะทำให้เกิดความเปลี่ยนครั้งใหญ่ในกระบวนการยุติธรรม เชื่อว่าจะทำให้คดีอาชญากรรมลดลงครึ่งหนึ่ง เพราะคดีดังกล่าวมักจะเกี่ยวโยงกับเส้นสายของตำรวจ อีกประเด็นคือปฏิรูประบบตำรวจ งานตำรวจควรไปอยู่ที่ระดับจังหวัด ไม่ให้ผบ.ตร.คนเดียวคุมอำนาจทั้งประเทศ ให้แยกไปเป็นภาค สปช.พยายามคำนึงถึงความเป็นจริงให้คนที่กำลังอยู่ในอำนาจมีโอกาสปรับตัว

 

ทนายยัน"ปู"ไปศาลแน่

       นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวถึงการนัดตรวจพยานในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวนัดแรกในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ว่า ยืนยันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปศาลด้วยตนเอง โดยในวันนั้นฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยจะต้องแถลงต่อศาลว่าจะมีพยานบุคคลกี่ปาก และพยานเอกสารอะไรบ้าง แล้วเอกสารไหนจะรับกันได้หรือไม่ได้ เราคงต้องเตรียมความพร้อมตรงนี้ไป รวมถึงเรื่องเอกสารและพยานนอกสำนวนที่เราได้ยื่นคัดค้านไปก่อนหน้านี้

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ น.ส. ยิ่งลักษณ์มอบหมายทนายยื่นหนังสือคัดค้านบัญชีพยานบุคคล 23 ปาก และพยานเอกสารเกือบ 7 หมื่นแผ่นที่อัยการสูงสุด (อสส.) ขอเพิ่มเติมนอกเหนือจากสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งศาลรับเรื่องไว้และนัดฟังคำสั่งวันที่ 31 ส.ค.

 

ตอบโต้นักกฎหมาย

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนรวิชญ์เขียนข้อความทางเฟซบุ๊กตอบโต้นายชูชาติ ศรีแสง ออกมาให้ความเห็นกรณีที่น.ส. ยิ่งลักษณ์ยื่นคัดค้านการที่อสส. เพิ่มเติมพยานบุคคล 23 ปาก และพยานเอกสาร 6 หมื่นกว่าแผ่น เข้ามาในสำนวนคดี ในชั้นพิจารณาคดีของศาลฎีกา ว่าในฐานะนักกฎหมายและนายชูชาติก็เป็นนักกฎหมายอาวุโส ความจริงไม่อยากตอบโต้อะไร แต่เห็นว่าการให้ความเห็นทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ไม่ได้รู้ข้อเท็จจริงที่แท้จริง และเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง และบุคคลดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องในทางคดีทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่กลับคาดเดาข้อเท็จจริงไปต่างๆ นานา และกล่าวหา พาดพิงทีมทนายและน.ส.ลักษณ์ทำให้เสียหาย

       ดังนั้น เพื่อความเข้าใจจึงขอให้ข้อเท็จจริงที่กระจ่าง ให้ได้รับทราบถึงข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง คือกรณีมาตรา 5 ในการพิจารณาคดี ให้ศาลยึดรายงานของป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา และอาจไต่สวนหาเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร เห็นได้ว่าไม่มีข้อความใดระบุให้อสส.ไต่สวนข้อเท็จจริง และเพิ่มเติมพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาคดีของศาล ดังนั้นไม่ถูกต้องที่กล่าวอ้างว่าทีมทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างกฎหมายแค่ครึ่งเดียว

 

ท้าหากสงสัยโทร.คุยได้

      ส่วนกรณีเกี่ยวกับการเพิ่มเติมพยานเอกสาร 60,000 กว่าแผ่นนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2558 โจทก์ได้ยื่นเพิ่มเติมเข้ามาในสำนวน พร้อมบัญชีพยาน ในลำดับที่ 129 ซึ่งเราได้ขอถ่ายเอกสาร และวางเงินไว้แล้วเป็นเงิน 130,000 กว่าบาท แต่ยังไม่ได้รับเอกสาร อยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ศาล การที่อสส.เพิ่มเติมพยานหลักฐานเอกสาร 60,000 กว่าแผ่น ที่เป็นเอกสารนอกสำนวนการไต่สวนของป.ป.ช. จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการเอาเปรียบในทางคดี ซึ่งในเฟซบุ๊กของท่านเองยังบอกว่า "ไม่น่าเชื่อว่าอัยการจะเพิ่มเติมพยานเอกสารมากกว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป.ป.ช.ถึงจำนวน 60,000 กว่าแผ่น"

      "การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้สิทธ์ตามกฎหมายคัดค้านพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ไม่เป็นตามกฎหมาย และเป็นการเอาเปรียบในทางคดีจึงถูกต้องและเป็นสิทธิของจำเลยที่จะคัดค้านโต้แย้ง ซึ่งท่านน่าจะทราบเรื่องสิทธิของจำเลยในคดีอาญา หากสนใจและอยากรู้ข้อเท็จจริงที่แท้จริงให้โทร.สอบถามได้ แต่ก่อนโทร.ต้องทำใจให้เป็นกลางก่อน" นายนรวิชญ์กล่าว