WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gสมคด จาตศรพทกษนายกฯเร่ง-สมคิดดัน 1.1 แสนล. 1 ก.ย.ชงครม. กระตุ้นศก.-รากหญ้า ให้เปล่าตำบลละ 5 ล. กองทุนหมู่บ้านได้เฮ รับงบ '5.9 หมื่นล้าน'

    'สมคิด'ไฟเขียวแผนกระตุ้น ศก. 1.1 แสนล. เข้า ครม. 1 ก.ย.นี้ ปล่อยกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน

มติชนออนไลน์ :

'บิ๊กตู่'เร่งแผนกระตุ้นศก.เข้าครม.

    เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางเยือนฟิลิปปินส์ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ภายหลังมอบนโยบายเศรษฐกิจแก่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่แล้วว่า สั่งการไปแล้วว่าการประชุม ครม.วันอังคารที่ 1 กันยายนนี้ หากมีมาตรการใดสามารถนำเข้าที่ประชุม ครม.ได้ก็เสนอเข้ามา สั่งแบบนี้มาตลอดทุก ครม. แต่ปัญหาอยู่ที่การขับเคลื่อนจะทำได้หรือไม่ และมีปัญหาส่วนไหน วันนี้ให้มาดูเรื่องผู้มีรายได้น้อย เพราะที่ผ่านมาบอกว่ารัฐบาลไม่ดูแล ดูแต่คนระดับบน แต่พอวันนี้จะมาดูแลคนระดับล่างก็บอกว่าไม่ถูกต้อง ไม่เข้าใจว่าทำไมคนเขียนมันถึงได้เปลี่ยนใจง่ายกันนัก อยากถามว่าฟังหรือเปล่าว่าขับเคลื่อนเศรษฐกิจกี่อย่าง ชุมชนก็ทำ ระดับล่างก็ทำ ระดับบนก็ทำ อย่างวันนี้ก็เดินทางไปต่างประเทศเพื่อเจรจาการค้าขายและชักชวนให้มีการลงทุน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะขับเคลื่อนได้หรือไม่ ระยะแรกเขาก็ติดปัญหากันเยอะไปหมด เมื่อทำกติกาและ พ.ร.บ.ขึ้นมาแล้ว คณะต่อไปก็จำเป็นต้องมาทำต่อในส่วนนี้ ไม่ใช่เลิกของเก่าทั้งหมดแล้วมาทำตรงนี้ คิดแบบนี้ไม่ได้ และอย่าสอนให้คนคิดแบบนี้

เล็งตรวจเขตศก.พิเศษแม่สอด

    เมื่อถามว่า ดูเหมือนว่ากระแสตอบรับดีขึ้นต่อทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ จะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็ขอบคุณ แต่อยู่ที่สื่อมวลชนทั้งหมดเพราะคนรับรู้จากสื่อ เพราะฉะนั้นจะดีหรือไม่ดี สื่อต้องเป็นคนรับผิดชอบด้วยครึ่งหนึ่ง อย่างที่บอกว่ามีคนฟังตนน้อยลง บอกว่าคะแนนนิยมน้อยลง ไม่ท้อแท้ ไม่ว่าจะน้อยหรือเป็นศูนย์ ก็จะทำ เพราะต้องทำ หรือไม่อยากให้ทำ ก็ไปหาคนอื่นมาทำ เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีจะเดินทางลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดในวันที่ 2 กันยายนนี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะเดินทางไปด้วยตนเองเพราะอยากไปดูว่าข้อเท็จจริงคืออะไรและปัญหาคืออะไร ปัญหาก็ต้องมีบ้างเป็นธรรมดา

เดินหน้าแผนดูแลผู้มีรายได้น้อย

    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเพิ่มเติมผ่านรายการ คืนความสุขให้คนในชาติ ตอนหนึ่งว่า การเดินหน้าเศรษฐกิจระยะต่อไป รัฐบาลมีนโยบายดูแลสภาพเศรษฐกิจของประเทศทั้งระบบ แบ่งการขับเคลื่อนเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มภารกิจที่ 1 ดูแลช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อย เพื่อประคองให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้ไปได้ด้วยดี กลุ่มภารกิจที่ 2 คือการดูแลเศรษฐกิจท้องถิ่นและภูมิภาคให้เข้มแข็ง เนื่องจากที่ผ่านมาการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอิงกับภาคต่างประเทศ อย่างการส่งออกค่อนข้างมาก ต้องปรับสมดุล สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจจากภายใน จะเน้นการเติบโตในท้องถิ่น ภูมิภาค การพัฒนา 76 จังหวัดให้เข้มแข็ง จะเป็นพื้นฐานหลักช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน เศรษฐกิจประเทศจะหมุนเวียนและขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำกิจการเพื่อสังคม การผลิตสินค้าโอท็อปสร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ การส่งเสริมตลาดนัดชุมชน เป็นต้น

     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กลุ่มภารกิจที่ 3 จะมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพสินค้าผ่านการส่งเสริมการแปรรูปการทำแพคเกจให้กับสินค้าเกษตรผลิตภัณฑ์ของเอสเอ็มอี สินค้าอุตสาหกรรมต้องวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่ม คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้แข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศได้ พัฒนาบุคลากรในท้องถิ่นให้ตรงกับความต้องการ เพิ่มขีดความสามารถและองค์ความรู้แรงงาน กลุ่มภารกิจที่ 4 ส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ เร่งการเจริญเติบโตไปสู่ภูมิภาค กลุ่มภารกิจที่ 5 การต่างประเทศ ส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน รักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นายกฯบินถกทวิภาคีฟิลิปปินส์

      ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางถึงฟิลิปปินส์และปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมภริยา ได้เข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือทวิภาคีกับนายเบนิกโน เอส. อาคีโน ที่ 3 ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้แถลงข่าวร่วมกับนายเบนิกโน เอส. อาคีโน ที่ 3 ภายหลังการหารือทวิภาคีว่า ในโอกาสที่ไทยกับฟิลิปปินส์ย่างก้าวสู่ทศวรรษที่ 7 ของความสัมพันธ์ และการเป็นประชาคมอาเซียนในปีนี้ ทั้ง 2 ประเทศจะร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรือง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ และความเข้มแข็งให้กับประชาคมอาเซียน

     "ภาคเอกชนไทยในฟิลิปปินส์เชื่อมั่นในศักยภาพเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ จะขยายการลงทุนในฟิลิปปินส์ ผมยินดีสนับสนุนและขอรับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในโอกาสนี้ด้วย ได้เชิญชวนเอกชนฟิลิปปินส์ขยายการลงทุนในไทย ร่วมลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทย ไทยและฟิลิปปินส์เห็นพ้องว่าสภาธุรกิจฟิลิปปินส์-ไทย และสภาธุรกิจไทย-ฟิลิปปินส์ มีบทบาทสำคัญส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ" นายกฯกล่าว

 

 

'สมคิด'ให้พณ.ปัดฝุ่นโอท็อป

    นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังหารือร่วมกับกระทรวงการคลังถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ส่งรายละเอียดของมาตรการดังกล่าวมาให้ตนแล้ว โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้เร็วที่สุด แต่ในรายละเอียดของมาตรการนั้น ขอให้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ก่อนจึงจะเปิดเผยได้ สำหรับมาตรการพัฒนาสินค้าโอท็อปกลับมาใหม่นั้น เบื้องต้นได้มอบหมายให้นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จัดทำรายละเอียดขั้นตอนเตรียมไว้แล้ว

ชงแผนกระตุ้นศก.1.1 แสนล.

    แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้ว นายสมคิดเห็นด้วยกับ 3 มาตรการที่คลังเสนอ วงเงินรวมกันประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ต้องเร่งรัดดำเนินการภายใน 3 เดือน ตั้งแต่กันยายน-ธันวาคม 2558 คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 กันยายน 2558 นี้ มาตรการที่ 1 การปล่อยกู้รากหญ้าดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 2 ปี ผ่านกลไกของกองทุนหมู่บ้าน ให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยกู้ให้กับหมู่บ้านระดับเอและบี 5.9 หมื่นหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท รวมเป็นเงินเกือบ 5.9 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาปล่อยกู้ 5 ปี แต่ 2 ปีแรกดอกเบี้ย 0% เนื่องจากรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยแทน คิดเป็นเงินชดเชยดอกเบี้ยประมาณปีละ 1,100 ล้านบาท หรือ 2 ปี 2,200 ล้านบาท ส่วนปีที่ 3-5 นั้น ธนาคารทั้ง 2 แห่งคิดอัตราดอกเบี้ยตามต้นทุน

 

 

ปล่อยกู้ห้ามนำไปรีไฟแนนซ์

    แหล่งข่าวกล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านนำเงินปล่อยกู้ต่อให้ชาวบ้านต้องเป็นไปตามระเบียบของกองทุนฯ กระทรวงการคลังหารือแล้วว่าจะต้องไม่นำไปรีไฟแนนซ์หนี้เดิม เพื่อให้เงินดังกล่าวถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับรายละเอียดในการปล่อยเงินกู้ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ปล่อยกู้ให้คนใกล้ชิดหรือพรรคพวกนั้น คงต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ต้องวางกฎเกณฑ์และเข้าไปดูแลในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

    "การดำเนินการงานผ่านกองทุนฯ เชื่อว่าทำให้เงินถึงมือประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง เพราะกองทุนฯต้องการนำเงินไปดูแลคนในพื้นที่ กระทรวงการคลังได้ขอให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติช่วยวางเงื่อนไขในการปล่อยกู้ เพื่อให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน ทำให้เงินดังกล่าวถึงมือประชาชนจริงๆ" แหล่งข่าวกล่าว

 

 

หวังช่วยประคองศก.เพิ่มอีก 0.4%

   แหล่งข่าวกล่าวว่า มาตรการที่ 2 เป็นของกระทรวงมหาดไทย จัดสรรเงินให้ตำบลละ 5 ล้านบาท กว่า 7,000 ตำบล วงเงินกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท จะนำไปดำเนินโครงการเกี่ยวกับการซ่อมสร้างอาคารสถานที่ ขุดบ่อน้ำ สร้างตึกที่ตำบลแต่ละแห่งต้องการ และต้องเสนอโครงการเข้ามา งบส่วนนี้สำนักงบประมาณจะจัดสรรดูแล มาตรการที่ 3 เร่งรัดเบิกจ่ายโครงการลงทุนขนาดเล็ก วงเงินลงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท ในงบประมาณประจำปี 2559 ให้ได้ภายใน 3 เดือนสุดท้ายของปี 2558 เท่าที่ดูวงเงินอย่างละเอียดพบว่ามีงบอยู่ 1.6 หมื่นล้านบาท

    "จาก 3 มาตรการใช้เงิน 1.1 แสนล้านบาทนี้ กระทรวงการคลังคาดว่าจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจ 0.4% ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่ให้ทรุดต่ำอย่างที่นายสมคิดวางเป้าหมายเอาไว้ แต่จะโตได้มากกว่า 3% หรือไม่คงต้องดูปัจจัยแวดล้อมอื่น ทั้งการส่งออก ท่องเที่ยว และเศรษฐกิจโลกว่าจะปรับตัวดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าขณะนี้หรือไม่" แหล่งข่าวกล่าว

 

พณ.จี้สินค้าลดราคาตามน้ำมัน

   ที่กระทรวงพาณิชย์ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมแถลงนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ และมอบนโยบายให้ข้าราชการ นางอภิรดีกล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนของกระทรวง 4 เรื่อง คือ 1.แก้ปัญหาค่าครองชีพ จะเข้าไปดูสินค้าที่มีโครงสร้างจากต้นทุนน้ำมัน ว่ามีรายการใดบ้างควรลดราคาตามต้นทุนน้ำมันที่ลดลง รวมทั้งจัดหาสินค้าและจัดกิจกรรมเพื่อลดค่าครองชีพประชาชน ส่งเสริมให้มีเอาต์เล็ตและร้านค้าย่อยขายสินค้าถูก 2.สร้างรายได้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยและพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เร่งผลักดันการส่งออก และเพิ่มมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปสินค้า โดยเฉพาะข้าวกับยางพารา จะฟื้นตลาดส่งออกที่เสียไป อาทิ อิหร่าน อิรัก แอฟริกา ฮ่องกง และสิงคโปร์ เชื่อมโยงธุรกิจกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงเร่งพัฒนาธุรกิจท้องถิ่นต่อยอดสินค้าโอท็อป สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) และปฏิรูประบบฐานข้อมูลสินค้าหรือจัดทำสิตูเอชั่น รูม (Situation Room) รวบรวมสถานการณ์และภาวะต่างๆ ทั้งในหน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอื่นๆ

 

 

แก้ปัญหาคอขวดใน 3 เดือน

      นางอภิรดี กล่าวว่า 3.ผลักดันการส่งออก จะเชื่อมโยงกับภาคเอกชนและบูรณาการกับภาครัฐ จะขับเคลื่อนการส่งออกผ่านคณะกรรมการพัฒนาการส่งออก คาดว่าจะมีการประชุมครั้งแรกในเร็วๆ นี้ รวมถึงเน้นลดปัญหาอุปสรรคการส่งออกโดยรวมและการค้าชายแดน จะผลักดันการส่งออกในภาคบริการและเพิ่มมูลค่าตามห่วงโซ่สินค้าแต่ละชนิด จะทยอยเรียกหารือผู้ประกอบการและผู้ส่งออกในแต่ละคลัสเตอร์ และผลักดันตามแผนยุทธศาสตร์การค้าอาเซียนและนอกอาเซียน รวมถึงสร้างนักรบหน้าใหม่ๆ และหารือสถาบันการเงินเพื่อช่วยเหลือด้านแหล่งทุน และ 4.เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐและปรับปรุงกฎหมาย จะนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกด้านบริการ ทบทวนกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ร.บ.ผู้ประกอบการธุรกิจต่างด้าว

      "ระยะ 3 เดือน ต้องเร่งแก้ปัญหาคอขวดทั้งหลาย นำการตลาดมาใช้เพื่อผลักดันส่งออก โดยนำภาครัฐและเอกชนไปต่างประเทศ เร่งการใช้จ่ายและลงทุนระดับชุมชนเพื่อให้เศรษฐกิจท้องถิ่นได้ขับเคลื่อน ผ่านการจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมลดค่าครองชีพ เน้นเพิ่มการค้าชายแดน ส่วนตัวเลขส่งออกจะกลับมาเป็นบวกหรือไม่ คงไม่อาจตอบได้ตอนนี้ เพราะเศรษฐกิจโลกยังเปราะบางและมีปัจจัยเสี่ยงภายในและภายนอก" นางอภิรดีกล่าว

 

31 ส.ค.นัดถกกระตุ้นศก.ท้องถิ่น

                นางอภิรดีกล่าวว่า นอกจากนี้ได้มอบหมายให้นายสุวิทย์กำกับดูแลกรมส่งเสริมการส่งออก กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ส่วนตนดูกรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ กรมเจรจาการค้า องค์การคลังสินค้า และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ในสัปดาห์หน้าจะเชิญภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มาหารือเพื่อรับฟังสถานการณ์และข้อเสนอเกี่ยวกับด้านการส่งออก ยอมรับว่าการจะปรับส่งออกให้เป็นบวกระยะสั้น 3 เดือน อาจยังทำไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจยังหดตัวทั่วโลก สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เชื่อมโยงการทำงานระหว่างกระทรวงเศรษฐกิจ ทั้งพาณิชย์ อุตสาหกรรม เกษตร และการคลัง วันที่ 31 สิงหาคม จะประชุมกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น หารือเกี่ยวกับการค้าในท้องถิ่น กระตุ้นจ้างงานท้องถิ่น เพิ่มการลงทุนท้องถิ่น เน้นพัฒนาโอท็อป และเอสเอ็มอี ถือเป็นงานเร่งด่วนระยะสั้น การใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจหากใช้ในช่วงเวลาเหมาะสมก็ไม่ใช่เรื่องประชานิยม ในสัปดาห์หน้าจะเห็นความชัดเจนในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเริ่มระดับท้องถิ่น

ก.อุตฯอัดงบ 100 ล.ช่วยโอท็อป

                นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า "การสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน (โอท็อป) ตามนโยบายนายสมคิด กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลผู้ประกอบการมี 2 กรม คือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สนับสนุนผู้ประกอบการโอท็อป และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ภาคผลิต และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เบื้องต้นงบประมาณปี 2559 จะใช้สนับสนุนโอท็อปของกระทรวงประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนแผนงานอย่างละเอียดตามนโยบายยังไม่เสร็จ" นางอรรชกากล่าว

      แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า คาดว่านายสมคิด ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (กอ.นตผ.) จะนัดประชุมเพื่อขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์โอท็อปอย่างเร่งด่วนในเร็วๆ นี้ คณะกรรมการชุดนี้จะมี 4 กระทรวงหลัก ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่นายทะเบียน กระทรวงอุตสาหกรรมทำหน้าที่พัฒนาอุตสาหกรรมขั้นต้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พัฒนาด้านวัตถุดิบ และกระทรวงพาณิชย์พัฒนาด้านการตลาด งบประมาณประจำปี 2559 ทาง กอ.นตผ.ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้ 323 ล้านบาท คาดว่าน่าจะนำส่วนนี้มาใช้พัฒนา กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยพัฒนาขั้นต้น คาดว่าจะได้รับการจัดสรรประมาณ 1 ใน 3 หรือประมาณ 100 ล้านบาท กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมรับผิดชอบพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อป โดยได้รับงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2559 รวม 107 ล้านบาท ส่วนนี้นางอรรชกาก็น่าจะเร่งรัดใช้งบประมาณดังกล่าว ส่วนภาพรวมทุกกระทรวงเกี่ยวกับโอท็อปได้รับงบประมาณของปี 2559 มากกว่า 1,000 ล้านบาท จึงขึ้นอยู่กับว่าแต่ละกระทรวงจะเร่งรัดการใช้เงินดังกล่าวอย่างไร

'ฉัตรชัย'ตั้งคณะทำงานแก้ยาง

       พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังหารือร่วมกับสมาคมชาวสวนยางและตัวแทนเกษตรกรถึงปัญหาราคายางตกต่ำว่า จะตั้งคณะทำงานร่วมกันแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ มีตนเป็นประธาน ส่วนกรรมการจะมาจากตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ นักวิชาการ และตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง เริ่มทำงานภายในสัปดาห์หน้าทันที การแก้ปัญหาจะเป็นลักษณะเชิงรุกต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน

    "ผมชอบที่มีผู้แทนชาวสวนยางหลายภาคส่วนอยู่ร่วมกัน เข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา ทำให้พูดจาง่ายขึ้น และไม่จำเป็นต้องต่อต้านใดๆ" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

     พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า การชดเชยส่วนต่างราคายางยังไม่หารือในที่ประชุมดังกล่าว ราคายางตกต่ำต้องดูให้ครบองค์ประกอบ โดยเฉพาะต้นทุนจะปรับลดลงได้หรือไม่ อย่าพูดถึงแต่การชดเชยส่วนต่างราคาอย่างเดียว นอกจากนี้จะต้องผลักดันการสร้างรายได้ให้ชาวสวนยางด้วยวิธีอื่น มีบางหน่วยงานแจ้งให้ทราบว่าชาวสวนยางบางรายหารายได้จากการเลี้ยงสัตว์ในสวนยางได้ ต้องสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันจะเร่งตรวจสอบปริมาณสต๊อกยางค้างกว่า 2 แสนตัน มาจากโครงรับซื้อยางเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางของรัฐบาล สมัยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ราคายางได้ลดต่ำต่อเนื่อง ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ตกลงมาอยู่ที่ 47 บาทต่อ กก. จากเดิม 60 บาทต่อ กก. ยางแผ่นดิบราคา 45.31 บาทต่อ กก. และราคาน้ำยางสด 42 บาทต่อ กก.

ขายข้าวถุง 30 บ.ให้ผู้มีรายได้น้อย

    พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะรับมอบข้าวบรรจุถุงภายใต้ชื่อ "ข้าวโครงการเพื่อชุมชน" จำนวน 600 ตัน บรรจุถุงละ 2 กิโลกรัม (กก.) ขายในราคาต่ำกว่าตลาด 20% ให้กับเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย เพื่อลดภาระการใช้จ่ายของคนไทยในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคือง สินค้าราคาแพงแต่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ข้าวสารเจ้า 5% ขายราคาถุงละ 30 บาท ปริมาณ 500 ตัน ข้าวเหนียว 10% ถุงละ 50 บาท 100 ตัน โครงการข้าวโครงการเพื่อชุมชน เกิดจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์เจ้าของข้าวขอใช้ช่องทางสหกรณ์ที่มีศักยภาพ 124 แห่ง ใน 58 จังหวัดทั่วประเทศ ส่งผ่านข้าวให้ถึงมือผู้มีรายได้น้อย เริ่มโครงการวันที่ 31 สิงหาคม 2558 อายุโครงการ 2 เดือน ใช้เวลาระบายข้าวและรับมอบถึง 4 กันยายน 2558

    "เป็นข้าวสต๊อกรัฐบาลจ้างผู้ประกอบการปรับปรุงคุณภาพข้าว เพื่อนำบรรจุขายลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ หากการระบายข้าวผ่านสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรฯคัดเลือกมาทั้งหมดได้รับความสนใจ จะหารือกับกระทรวงพาณิชย์ขยายโครงการเพิ่ม เชื่อว่าน่าจะได้รับความสนใจจากผู้บริโภค จึงกำหนดปริมาณการซื้อให้ผู้มีรายได้น้อยซื้อได้ครัวเรือนละไม่เกิน 5 ถุง หรือไม่เกินครัวเรือนละ 10 กก." พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!