- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 28 August 2015 16:08
- Hits: 2867
วางกฎประชามติ ห้ามปลุก หนุน-ต้านร่างรธน. ปูโวยอสส.-คดีข้าว พยานงอก 23 ปาก รออาญาคดีหมิ่นว.5 วิโรจน์หัวใจกำเริบ
'สมคิด"ถก"บิ๊กป๊อก' ระดมผู้ว่าฯ-ท้องถิ่นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับล่าง 'วิษณุ'เตือนส่งไลน์-เอสเอ็มเอส ยั่วยุปลุกระดมประชามติให้ผ่านหรือคว่ำรธน. ถือว่าขัดคำสั่งคสช. ชูร่างใหม่ดีกว่าฉบับปี 40-50 เพื่อไทยยื่น'เทียนฉาย'คว่ำร่างรธน. ถล่มเละฉบับกดหัวประชาชน-สืบทอดอำนาจ รัฐบาลจากเลือกตั้งเป็นเป็ดง่อย มีคปป.ครอบงำ 'ปู'ยื่นค้านอัยการ เพิ่มพยานบุคคล 23 ปาก เอกสารเกือบ 7 หมื่นหน้า ในคดีจำนำข้าว ระบุอยู่นอกสำนวน 'วิโรจน์'หัวใจกำเริบ จนท.เรือนจำหามส่งรพ. ศาลสั่งจำคุก 1 ปีพิธีกร สายล่อฟ้า 'ชวนนท์-เทพไท-ศิริโชค'คดี ว.5 โฟร์ซีซั่นส์ รอลงอาญา 2 ปี 'บิ๊กตู่'ตั้ง 'บิ๊กตั๋น'รองเสธ.ทบ.นั่งประธานคตร.
วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9039 ข่าวสดรายวัน
รมต.เขมร - สมเด็จกลาโหม ซอร์ เค็ง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทยกัมพูชา เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 5 ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
'บิ๊กตู่'ยันหนุนเขตศก.พิเศษ
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 27 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้การต้อนรับ สมเด็จกลาโหม ซอร์ เค็ง รองนายกฯ และรมว.มหาดไทยกัมพูชา ซึ่งเข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสมาเป็นประธานการประชุมคณะผู้ว่าฯ ชายแดนไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 5 ร่วมกับ รมว.มหาดไทยของไทย ระหว่างวันที่ 26-28 ส.ค.นี้
พล.อ.ประยุทธ์ แจ้งว่า รัฐบาลไทยกำหนดให้พื้นที่ตำบลบ้านไร่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ยังมีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนของเส้นเขตแดน และปัญหาทุ่นระเบิด จึงควรหยิบยกประเด็นนี้หารือในการประชุมคณะกรรมาธิ การเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ครั้งต่อไป สำหรับจุดผ่อนปรนการค้าช่องอานม้า-อานเซ๊ะ ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการสำรวจภูมิประเทศ และจะเสนอผลสำรวจให้ เจบีซี รับรองต่อไป จึงขอให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินการตามเงื่อนไขที่หารือในระดับพื้นที่ โดยกันแนวจากสันปันน้ำ ฝ่ายละ 100-500 เมตรและขอให้กัมพูชาย้ายตลาดและชุมชนออกจากแนวพื้นที่กันชน และจัดทำแผนบริหารพื้นที่ให้ชัดเจน
บินเยือนฟิลิปปินส์ 2 วัน
นายกฯ กล่าวว่า ยินดีสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกในพื้นที่จ.สระแก้วและตราด และร่วมกันพัฒนาพื้นที่ชายแดนตรงข้ามกับฝั่งไทย เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนบริเวณพื้นที่ดังกล่าว และขอความร่วมมือกัมพูชาพัฒนาเส้นทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างไทย-กัมพูชา (กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-ปอยเปต-ศรีโสภณ) โดยการดำเนินการฝั่งไทยคาดว่าจะเสร็จภายในปี 2558 จากอรัญประเทศไปบ้านคลองลึก ระยะทาง 6 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางต่อไปกรุงพนมเปญและเวียดนาม รวมถึงเชื่อมโยงการพัฒนากับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวายต่อไป
เวลา 11.00 น. พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ โดยผบ.สส.เมียนมากล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า ภายใต้การบริหารประเทศของนายกฯ ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศและมีความสงบเรียบร้อย
จากนั้นเวลา 14.00 น. ที่ท่าอากาศยาน 2 กองบิน 6 พล.อ.ประยุทธ์ และนางนราพร จันทร์โอชา ภรรยา พร้อมคณะ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ไปเยือนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 27-28 ส.ค. ซึ่งนายกฯ ได้โบกมือปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยบอกว่าเจ็บคอ
ตั้ง"บิ๊กตั๋น"นั่งประธานคตร.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่ง คสช.ที่ 10/2558 เมื่อวันที่ 26 ส.ค. แต่งตั้งพล.ท.ชาตอุดม ติตถะสิริ รองเสนาธิการทหารบก รองเลขาธิการคสช. และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) แทนพล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ อดีตประธาน คตร. ที่ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อไปดำรงตำแหน่งรมว.พลังงาน ในครม.ประยุทธ์
พล.ท.ชาตอุดม กล่าวว่า ตนรับทราบว่าพล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นประธานคตร.แล้ว ซึ่งไม่หนักใจ และพร้อมสานต่องานจากพล.อ.อนันตพร อย่างเต็มที่ แต่ตอนนี้ยังไม่ขอลงรายละเอียดอื่นๆ ขอดูงานอย่างครบถ้วนก่อน และขณะนี้พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ คิดว่าในสัปดาห์หน้า ตนอาจเข้าพบนายกฯ เพื่อรับมอบนโยบายการทำงานและหารือถึงรายละเอียดอื่นๆ ต่อไป
"ปนัดดา"อำลาชีวิตขรก.
ด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ และปลัดสำนักนายกฯ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว อำลาตำแหน่งปลัดสำนัก นายกฯ ว่ามีความภาคภูมิใจในความเป็นข้าราช การของแผ่นดิน ข้าราชการของประชาชน กว่า 30 ปีที่ผ่านมา แม้ตนจะต้องอำลาจากชีวิตข้าราชการในเร็ววันนี้ ขอฝากแนวคิดของบรรพชนไทยที่สอนสั่งลูกหลานข้าราชการไว้ว่า จงภูมิใจเถิดที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยใต้ร่มพระบารมีและจงรักษาไว้ซึ่งระบบเกียรติศักดิ์ ความซื่อสัตย์สุจริต และความจงรักภักดีต่อสถาบันที่เทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ ของเหล่าข้าราชการทุกคนสืบไป ด้วยรักและผูกพันชั่วชีวิต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.ล.ปนัดดา อำลาชีวิตข้าราชการประจำ เนื่องจากเป็นนโยบาย นายกฯ ที่ไม่ต้องการให้มีรัฐมนตรีที่เป็นข้าราชการประจำด้วยอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.)ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป
พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชา การทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงกระแสข่าวคณะกรรมการปรับย้ายทหารชั้นนายพลคัดค้านผู้ถูกเสนอชื่อเป็นผบ.ทร.คนใหม่ ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือต่างประเทศ โดยอ้างระเบียบของกองทัพเรือ ว่า ไม่มีในระเบียบ มันโอเพ่น ใครที่เป็นทหารสัญญาบัตรที่จบจากโรงเรียนนายเรือ หรือจากโรงเรียนนายเรือต่างประเทศเท่ากันหมด เราไม่เคยแบ่งแยก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ที่คาดว่าได้รับการเสนอให้เป็นผบ.ทร.คนใหม่ คือ พล.ร.อ. ณรงค์พล ณ บางช้าง (ตท.14) ผู้ช่วยผบ.ทร.
'สมคิด'เดินหน้ากระตุ้นศก.
เมื่อเวลา 15.00 น. ที่กระทรวงมหาดไทย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ เข้าพบพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย โดยใช้เวลาหารือ 30 นาที จากนั้นพล.อ.อนุพงษ์ให้สัมภาษณ์ว่า รองนายกฯ มาขอความร่วมมือกระทรวง โดยต้องการประชุมร่วมกับผู้ว่าฯ นายอำเภอ อบต. และอบจ. ให้เป็นแกนหลักพัฒนาเศรษฐกิจในระดับล่างให้ดีขึ้น ส่วนโครงการ รวมทั้งงบประมาณต้องรอเสนอเข้าครม.พิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ รองนายกฯต้องการบริหารจัดการโครงการต่างๆ เช่น โครงการโอท็อป กองทุนหมู่บ้าน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพิ่มกำลังซื้อของประชาชนในแต่ละพื้นที่ด้วย
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่างานที่ตนรับผิดชอบคือแผนฟื้นฟูหมู่บ้าน กำหนดว่าในเดือนพ.ย.นี้จะเห็นภาพความคืบหน้าและเพิ่มทุนในบางกองทุนที่ดี โดยพล.อ.ประยุทธ์สั่งการให้จัดทำแผนฟื้นฟู มีเป้าหมายเพื่อทำให้กองทุนที่ด้อยประสิทธิภาพได้รับการฟื้นฟู ขณะนี้มี 800 กองทุน จากทั้งหมด 79,000 กองทุน ในหลายพื้นที่ที่ไม่ผ่านการประเมิน ซึ่งเราจะไม่ทิ้งจึงต้องมีแผนฟื้นฟูเข้ามาช่วย และจากที่ตนพูดคุยกับนายสมคิด ซึ่งระบุว่ากองทุนหมู่บ้านเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนของเงินและมีผลโดยตรงต่อคนที่มีรายได้น้อย จึงอยากให้กองทุนหมู่บ้านเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา สมาชิกกองทุนมีเงินต่อยอดการประกอบอาชีพ
ขอกำลังใจ-อย่ากดดัน
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่าพล.อ.ประยุทธ์ขอทุกฝ่ายให้กำลังใจกับครม.ชุดใหม่ รวมทั้งทีมเศรษฐกิจที่ถูกตั้งความหวังไว้สูง ซึ่งต้องเร่งขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์และแผนงานเดิมที่ครม.ชุดเดิมได้วางไว้ให้เป็นไปตามเป้าหมายและยังต้องกำหนดมาตรการ แผนงาน นโยบาย โครงการใหม่ๆ เพื่อผลักดันงานด้านเศรษฐกิจให้เดินหน้าโดยเร็วที่สุด
ทิศทาง ศก. - นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ปาฐกถาพิเศษเรื่องนโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทย ที่ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี โดยมีภาคธุรกิจร่วมฟังจำนวนมาก เมื่อวันที่ 27 ส.ค. |
"นายกฯมั่นใจว่าจะเห็นแผนงาน มาตร การ และนโยบายใหม่ ที่ทีมเศรษฐกิจจะนำเสนอให้เห็นทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระบบภายในเวลาไม่นานนัก มาตรการบางส่วนวางไว้เพื่อให้เกิดผลในวันนี้ บางส่วนเป็นการวางระบบเพื่อผลในวันหน้า ทุกอย่างคงไม่สามารถสัมฤทธิผลแบบเบ็ดเสร็จภายใน 2-3 เดือน แต่มั่นใจว่าทุกอย่างจะเป็นไปในทิศทางบวก และไม่จำเป็นต้องกดดัน หรือขีดเส้นการทำงานของทีมเศรษฐกิจ เพราะมีความเชื่อมั่นในทุกคนที่เชิญมาอยู่แล้วว่ามีความตั้งใจและจะทำงานอย่างเต็มที่และดีที่สุด" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
'วิษณุ'ชี้ห้ามยุรับ-ล้มประชามติ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวกรณีมีนักการเมืองเสนอแนะให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า ประเด็นนี้ยังไม่เข้าสู่กระบวนการลงประชา มติ ฉะนั้นจะบอกว่าผิดก็ยังไม่มีอะไรผิด แม้จะเข้าสู่กระบวนการหลังวันที่ 7 ก.ย.นี้ ยังไม่กล้าชี้ว่าผิดเพราะยังไม่เห็นระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แต่จะสมควรหรือไม่สมควร ขึ้นอยู่กับความพอดี เชื่อว่าทุกคนทราบดี ถ้าไม่พูดยั่วยุให้แตกแยกร้าวฉาน ไม่เป็นไร เท่าที่ฟังหลายคนพูดในเชิงสร้าง สรรค์และชอบใจในสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าปัญหาเรื่องคำปรารภอย่าไปเสียเวลาเถียงว่าถูกหรือผิด เพราะในอดีตเคยเกิดกรณีอย่างนี้และผ่านพ้นไปได้ หากไม่ชอบหรือไม่รับ ให้ดูที่เนื้อหามากกว่า ถ้าไม่ดีก็ไม่ต้องรับ ถ้าดีก็รับเพราะคงไม่ใช่ทุกมาตราที่จะดีหรือไม่ดี
นายวิษณุ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับกกต.เกี่ยวกับการปลุกระดมให้ผ่านหรือล้มประชา มตินั้น เป็นข้อห้ามเพราะเข้าข่ายผิดคำสั่งคสช. แต่หากไม่เข้าข่ายผิดคำสั่งก็ไม่เป็นไร เช่น การเชิญบุคคลมาสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ ตามปกติที่เคยทำก็ไม่มีปัญหาเพราะเป็นการแสดงความเห็น หากส่งข้อมูลทางไลน์หรือเอสเอ็มเอสปลุกระดม ใช้คำพูดหยาบคาย รุนแรง ข่มขู่ก้าวร้าว ยั่วยุให้แตกแยก ทำไม่ได้และอาจผิดกฎหมาย ถ้าแสดงความเห็น ติมาตรานั้น ชมมาตรานี้ ไม่เป็นไร
ยันอำนาจคปป.ไม่น่ากลัว
ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อกังวลเรื่องคณะกรรม การยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) ที่ระบุไว้ในมาตรา 260 นายวิษณุกล่าวว่ากฎหมายมี 2 นัยยะเสมอ คือ นัยยะที่เขียนกับการนำมาใช้ บางครั้งเขียนไว้ไม่มีอะไร แต่นัยยะที่นำมาใช้กลับน่ากลัว หรือบางครั้งภาษาที่เขียนดูน่ากลัวแต่นำมาใช้ในทางที่น่ากลัวไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขเรื่องเวลา ข้อยกเว้น มาตรการกำกับ จึงต้องดูบริบทอื่นด้วย ซึ่งมาตรา 260 อาจดูน่ากลัวแต่ต้องอยู่ภายใต้ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และบทบัญญัติการใช้อำนาจรัฐ
นายวิษณุ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญบางคนระบุว่าอำนาจของคปป.มี 2 อย่าง คืออำนาจในยามปกติ และอำนาจในยามวิกฤต วันนี้ทุกคนมองข้ามไปที่อำนาจพิเศษก็ตกใจ ทั้งที่เมื่อเป็นอำนาจพิเศษจะมีข้อยกเว้น ไม่สามารถใช้ได้ง่ายๆ จะใช้ได้เมื่อเกิดวิกฤต เมื่อรัฐบาลปกติใช้มาตรการทั้งหมดแล้วไม่ได้ผล และเกิดภยันตรายกับประเทศ เวลานั้นรัฐบาลอาจจะร้องเองก็เป็นได้ แต่ในชีวิตประจำวันใช้อำนาจปกติ ไม่มีวันถึงอำนาจพิเศษ พอเกิดวิกฤตจึงมาพิจารณา เจตนาของกมธ.ยกร่างฯเขียนเช่นนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต แต่สื่อพยายาม ถามอีกว่าแน่ใจหรือไม่ว่าจะไม่มีการปฏิวัติ ซึ่งไม่มีใครแน่ใจได้ แต่เหตุที่จะอ้างปฏิวัติจะ ยากขึ้น
ชูร่างรธน.ใหม่ดีกว่าปี 40-50
รองนายกฯกล่าวว่า วันนี้ประเทศอยู่ในภาวะไม่ปกติ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มที่ พอประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ช่วง 4-5 ปีแรก ที่มีคปป.ยังต้องทำใจว่าเป็นช่วงที่ประชาธิป ไตยยังไม่เต็มที่ ซึ่งจะดีขึ้นกว่าวันนี้ แต่ยังไม่ดีขึ้นตามมาตรฐานสากล เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ พอพ้น 5 ปี หัวเลี้ยวหัวต่อก็หมด บ้านเมืองควรสงบได้แล้ว ฉะนั้น คปป.หมดไป อำนาจพิเศษก็หมดไป หวังว่ารัฐบาลปกติจะรับมือได้ ประชาชนรับมือได้ อย่างน้อยทำให้ประเทศนิ่งได้ระยะหนึ่ง
นายวิษณุ กล่าวว่า ตนเห็นว่าร่างรัฐธรรม นูญฉบับนี้ดีว่าฉบับปี 2540 และ 2550 ซึ่งทั้ง 2 ฉบับเขียนไว้ดี แต่เกิดปัญหา เช่น ข้อสงสัยว่าคำนี้แปลว่าอะไรก็เกิดความยุ่งยาก แต่ฉบับนี้ชัดเจนและแก้ปัญหาตรงนั้นได้ ยอมรับว่าพอใจในบางมาตรา เพราะฉบับก่อนๆ ไม่ชัดเจน ซึ่งฉบับนี้หากมีปัญหาสงสัย องค์กรต่างๆ ที่ไม่ใช่ประชาชนสามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญช่วยชี้ขาดหรือแนะนำก่อนได้ แต่ไม่ใช่ว่าไม่รู้จะเลือกทำอย่างไรดีแล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ อย่างนั้นเป็นการให้ศาลรัฐธรรม นูญปกครองประเทศ
'บิ๊กป๊อก'ลั่นเป็นปชต.
นายวิษณุ กล่าวว่า ก่อนนี้เถียงกันอยู่ตามถนน ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยุบสภาและมีเสียงเรียกร้องให้ลาออก แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกว่าออกไม่ได้ ต้องอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่ารัฐมนตรีที่พ้นไปต้องรักษาการ ซึ่งถูกต้อง อีกฝ่ายก็บอกว่าต้องออก แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ออก เรื่องแบบนี้ถ้าเกิดขึ้นในอนาคต ศาลต้องชี้ได้ แต่การถามศาลต้องไม่ใช่ประชาชนไปถามเอง ต้องเป็นองค์กรหรือสภา ครม. เป็นคนถาม ส่วนเรื่องรักษาการก็แก้ไขให้แล้ว เมื่อครม.ยุบสภา ครม.ต้องรักษาการ หากครม.ลาออกไป 1-2 คนก็ไม่เป็นไร อยู่เท่าไรก็อยู่ไป แต่ถ้าลาออกหมดก็ให้ปลัดกระทรวงรักษาการ เพราะเราคงไม่ยอมให้คปป.มารักษาการ ซึ่งเรื่องนี้ก็ดี
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี 2 พรรคการเมืองใหญ่สนับสนุนให้สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า การออกมาพูดชี้นำทั้งการรับหรือไม่รับ อาจทำให้สังคมสับสนได้ ตนมองว่าไม่ดี ไม่เหมาะสม ขอให้เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามกลไกจะดีกว่า หากสปช.พิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญ ก็เดินหน้าสู่การทำประชามติ และปล่อยให้สังคมพิจารณาและตัดสินเอง อย่างไรก็ตาม เท่าที่พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่าเป็นประชาธิปไตย ส่วนที่วิจารณ์กัน เช่น ที่มาของส.ว. ก็แล้วแต่จะมอง จะให้ถูกใจใครทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งตนมองว่าร่างรัฐธรรมนูญควรก่อให้เกิดเสถียรภาพ เพราะถ้าไม่มีก็จะเกิดปัญหาตามมาอีก ขอแค่อย่าตีกันอีกก็พอ
พท.ยื่นสปช.ค้านรธน.ใหม่
ที่รัฐสภา นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส. เชียงราย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายปรีชาพล พงษ์พานิช อดีตส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในนามพรรคเพื่อไทย ให้สมาชิกสปช.รับทราบก่อนจะลงมติใน วันที่ 6 ก.ย.
นายสามารถกล่าวว่า พรรคเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นฉบับกดหัวประชาชน ทำให้รัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งอ่อนแอ เป็นเป็ดง่อย ไม่นำพาไปสู่การปฏิรูปและแก้ปัญหาของประเทศ เพราะจะมีอำนาจแฝงอื่นมาครอบงำอำนาจประชาชน โดยมีคปป.มาสืบทอดอำนาจ และปราศจากการตรวจสอบ ซึ่งคปป.ส่วนหนึ่งจะมีองค์ประกอบมาจากการเลือกของสนช. ทำให้มีจำนวนมากพอเกิน 2 ใน 3 ของจำนวนคปป.ทั้งหมด เพียงพอที่จะเข้ามาเทกโอเวอร์อำนาจบริหารของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้
นายสามารถกล่าวว่า หากสปช.ลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยพร้อมจะรณรงค์ให้ประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ยังติดปัญหาอยู่ที่ประกาศคสช.ไม่ให้พรรค การเมืองเคลื่อนไหว จึงอยากให้คสช.เปิดกว้างให้พรรคการเมืองรณรงค์ให้ข้อมูลได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ แต่หากประชาชนเห็นด้วยกับการทำประชามติก็พร้อมยอมรับเสียงของประชาชน แต่พรรคเพื่อไทยจะลงสมัครเลือกตั้งหรือบอยคอตการเลือกตั้งหรือ ไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ ขอรอดูและตัดสินใจสถานการณ์ไปทีละขั้นตอนก่อน
"ปู"ยื่นค้าน - นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยื่นหนังสือต่อศาลฎีกาฯ คัดค้านบัญชีพยานบุคคล 23 ปาก และพยานเอกสารเกือบ 7 หมื่นแผ่น ที่อัยการสูงสุดขอเพิ่มเติมนอกเหนือจากสำนวนของป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 ส.ค. |
ซัดฉบับสืบทอดอำนาจ
สำหรับ เอกสารที่ยื่นระบุหากมีการบังคับรัฐธรรมนูญดังกล่าวห่วงประเทศชาติจะยิ่งตกอยู่ในวงจรอุบาทว์อย่างไม่สิ้นสุด ด้วยเหตุผลดังนี้ 1.การสืบทอดอำนาจ ขัดหลักการประชาธิปไตยพื้นฐาน ไม่เห็นหัวประชาชน เพราะสร้างระบบเลือกตั้งและกลไกจำกัดอำนาจการทำงานตามปกติของรัฐบาลและสภาผู้แทนฯ เพื่อให้ได้รัฐบาลอ่อนแอ เปิดโอกาสให้มีนายกฯ คนนอก ให้มีส.ว. 123 คน ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงการกำหนดให้มีคปป. การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ที่ถูกตั้งช่วงรัฐประหารและหลังเลือกตั้งมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ การตั้งองค์กรใหม่ๆ กว่า 20 องค์กรที่ครอบงำการทำงานของหน่วยงานปกติ และการกำหนดให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยากมาก
2. เนื้อหาทำลายหลักนิติธรรม ทั้งการกำหนดการใช้อำนาจของ คปป.ครอบคลุมทั้งทางนิติบัญญัติและบริหาร ให้ประกาศและคำสั่ง คสช.ชอบด้วยกฎหมาย 3.การจำกัดสิทธิทางการเมืองผู้เคยถูกถอดถอนในการเข้าสู่การเมือง
นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ร่างรัฐธรรม นูญฉบับนี้ไม่ยอมรับหลักการที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ขัดหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยหลายๆ เรื่อง และหากพิจารณากลไกที่สร้างขึ้น อาจพูดได้ว่าแก้ไขไม่ได้เลย โดยรวมแล้วจึงยากที่จะยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ ขอเรียกว่าฉบับสืบทอดอำนาจ นำชาติถอยหลัง ปิดบังอำพราง หวังยึดอำนาจตลอดไป
ค้านห้ามรณรงค์ประชามติ
นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มนปช. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 36 มหาปราชญ์ ค่อนข้างจะแน่นอนว่าจะต้องมีการทำประชามติ ปรากฏว่ามีการห้ามปรามดักหน้าไว้เลยว่าห้ามรณรงค์ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้าน ตนจึงไปเปิดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ของคสช.ว่าเขียนในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกเอาไว้ว่าอย่างไร พบว่าในมาตรา 4 ที่บัญญัติว่าภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค ที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ นี่ไม่เท่ากับว่าเป็นการเขียนด้วยมือลบด้วย เท้าหรือ
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่จะบังคับใช้กับประชาชนไทย 67 ล้านคนเป็นเวลายาวนานอาจจะชั่วกัปชั่วกัลป์ก็เป็นได้ เพราะแก้ไขได้ยากมากหรือแก้ไม่ได้เลย แล้วคสช.จะบังคับ ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า โดยไม่อนุญาตให้รณรงค์ได้อย่างเท่าเทียมกันทั้งสนับสนุนและคัดค้านโดยไม่สร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองเลยหรือไม่
สะกิดกมธ.วางระเบิดคสช.
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สปช. ในฐานะประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุถึงการมีคปป.ในร่างรัฐธรรมนูญว่า นี่คือการสืบทอดอำนาจของคสช. นับว่ากมธ.ยกร่างฯกล้าหาญมาก หมกเม็ดการสืบทอดอำนาจ คสช.ไว้อย่างตื้นเขิน เมื่อดูมาตรา 280 ในบทเฉพาะกาล เป็นเรื่องเหลือเชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯจะกล้าหมกเม็ดถึงขนาดนี้ ในช่วงวาระแรก กมธ.ยกร่างฯ ต้องการให้หัวหน้าคสช.มาเป็นประธานคปป. เป็นการสร้างองค์กรให้หัวหน้าคสช.มาควบคุมรัฐบาลใหม่ตามยุทธศาสตร์ของคสช.
นายสมบัติ กล่าวว่า ถึงแม้คสช.จะไม่มีส่วนรู้เห็น แต่ฝ่ายตรงข้ามคสช.คงถล่มเต็มที่ว่าคสช.ต้องการสืบทอดอำนาจ เพราะระบุไว้ชัดเจนว่าในวาระเริ่มแรกให้เว้นการเลือกกรรมการจากประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และนายกฯ ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิอีก 11 คนให้สนช.เป็นผู้เลือกทั้งหมด จะเห็นว่า กรรมการส่วนใหญ่เป็นคนของคสช. เมื่อกรรมการเหล่านี้เลือกประธาน คาดว่าจะเลือกหัวหน้าคสช.เป็นประธานคปป. เรียกว่าหมกเม็ดให้คสช.เข้ามาสืบทอดอำนาจ
"ถ้าเรื่องนี้ กมธ.ยกร่างฯคิดขึ้นเอง เพื่อเอาใจคสช. เรียกว่าเป็นการวางระเบิดลูกใหญ่ให้คสช.โดยตรง นอกจากไม่เป็นคุณแล้วยังทำให้คสช.ดูไม่สง่างาม จะทำให้ผู้ต่อต้านคสช.ถือโอกาสเคลื่อนไหวล้มประชามติ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของสปช.ในวันที่ 6 ก.ย." นายสมบัติกล่าว
'ธีรยุทธ'ห่วงวิธีแก้วิกฤต
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ จัดพิธีมอบรางวัลผลงานทางวิชาการที่สร้างสรรค์และสร้างผลสะเทือนทางสังคม จากนั้นนายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวบรรยายหัวข้อ "สิทธิและอำนาจของประชา ชน" ว่า บ้านเราไม่มีสมดุลในการแก้ปัญหาประชาธิปไตย การแก้ปัญหาหลังเกิดการชุมนุม กปปส. คือรัฐประหารโดยคสช. โดยเชื่อว่าปัญหาวิกฤตทางการเมืองจะแก้ได้เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคนที่มีแนวคิดเช่นนี้ น่าเป็นห่วง
นายธีรยุทธกล่าวว่า การสมานฉันท์ไม่สามารถเกิดจากการเขียนกฎหมาย คำสั่ง หรือการร้องเพลง แต่ต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจกับความจริง ความถูกต้องในทุกด้าน อยากฝากว่าการสร้างความสมานฉันท์จริงๆ เป็นเรื่องยาก ต้องมองปัญหาให้ถูก ปัญหาใหญ่บ้านเราคือการคิดต่างกัน ทหารหรือคสช.ก็ยังคิดแบบวิชาชีพของเขา คิดเรื่องรัฐกับชาติและความมั่นคง แต่คนมองปัญหาชาติต่างกัน ตนให้ความสำคัญกับประเทศมากกว่า ชาติจะมีความรู้สึกถึงการรักชาติที่ผูกพันแรง แต่ประเทศจะคิดถึงสังคม ชาวบ้าน ซึ่งใช้คำว่าประเทศสายตาจะกว้างขึ้น ทหารยังติดความคิดเรื่องชาติ
อัดระบบโปลิตบูโร
นายธีรยุทธ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯที่พูดเรื่องพลเมือง เหมือนระบุให้ประชาชนต้องมีความรับผิดชอบและกระตือรือร้นมากขึ้น พอคิดแบบนี้ ถามว่ามีมาตรการอะไรที่ทำได้จริง พอคิดต่างกัน หนทางแก้ปัญหาจึงต่างกัน สิ่งที่ขาดหายไปคือ ทำอย่างไรจะเอาพลังของประชาชนมาเป็นฐานให้กับประเทศ พลังของคนมากที่สุดจึงจะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ปัญหาบ้านเรายิ่งทวีความรุนแรงในทุกเรื่อง แต่เรายังไม่มั่นใจที่จะกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนอย่างไร
นายธีรยุทธ ให้สัมภาษณ์ถึงการบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญให้มี คปป.ว่า ตนกังวลใจว่าสังคมไทยเวลานี้มีความเหนื่อยล้าและเบื่อการชุมนุม ทำให้มีแนวโน้มจะยอมรับระบบ โปลิตบูโรมากขึ้น เพื่อแลกกับความสงบของบ้านเมือง คิดว่าระบบนี้แก้ปัญหาของประเทศไม่ได้เพราะแก้ที่ปลายเหตุ ซึ่งจะกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชนเหมือนเราย้อนกลับไปในอดีต ตนเป็นห่วงบทเฉพาะกาลแนบท้ายรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับ คปป. ที่มีวาระยาวนานถึง 5 ปี ซึ่งนานเกินไป ทั้งถูกหลายฝ่ายมองว่าสืบทอดอำนาจและยังไม่รู้ว่าจะมี คสช.ไปทำหน้าที่นี้ในคปป. ด้วยหรือไม่ ซึ่งน่าเป็นห่วง
เตือน'บิ๊กตู่'ระวังกระแสตีกลับ
"ที่ผ่านมาความนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ เกิดขึ้นจากการเข้ามาควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองไม่ให้เกิดความรุนแรง ประกอบกับบุคลิกส่วนตัวที่ดูตรงไปตรงมา และสังคมเชื่อว่าไม่ใช่คนทุจริต แต่เมื่อเวลาผ่านไป จะเริ่มมีคำถามมากขึ้นเพราะที่ผ่านมายังไม่มีการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมแม้แต่เรื่องเดียว" นาย ธีรยุทธกล่าว
เมื่อถามว่ากระแสความนิยมในตัวพล.อ. ประยุทธ์ กำลังจะตีกลับหรือลดลงใช่หรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น แต่หากทิ้งเวลาผ่านไปอีกและยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คำถามจากสังคมจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่าคิดว่ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพเช่นนี้ตลอดไป เชื่อว่าปัญหาของชาติจะแก้ไขโดยการใช้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ แต่ไม่ขอให้ความเห็นว่า ควรหรือไม่ควรคว่ำร่างรัฐธรรม นูญ เพราะเป็นอำนาจของ สปช.
'ปู'ยื่นค้านอสส.เพิ่มพยานคดีข้าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการเพิ่มเอกสารในคดีรับจำนำข้าวของอัยการโจทก์ ในวันนี้จึงยื่นคำร้องโต้แย้งคัดค้านการยื่นบัญชีระบุพยานของฝ่ายอัยการโจทก์ในคดีรับจำนำข้าว เพื่อคัดค้านพยานบุคคลและพยานเอกสารของอัยการสูงสุด(อสส.) ที่มีการเพิ่มเติมมากกว่า 60,000 หน้า โดยเป็นเอกสารที่อยู่นอกสำนวนและไม่ได้ไต่สวนมาก่อนในคดีนี้ และจำเลยไม่มีโอกาสตรวจสอบและคัดค้านมาก่อน และตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ. 2552 มาตรา 5 ระบุอย่างชัดเจนว่า ในการพิจารณาคดีให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เป็นหลักในการพิจารณา
"ตามกฎหมายและหลักของความเป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเพิ่มพยานเอกสารและพยานบุคคลนอกเหนือจากสำนวนของป.ป.ช. ในชั้นนี้ได้ ถือเป็นการเอาเปรียบทางคดีอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อตัวดิฉันอย่างยิ่ง จึงยื่นคำร้องโต้แย้งไม่ให้ศาลรับพยานหลักฐานดังกล่าว" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
ศาลนัดฟังคำสั่ง 31 ส.ค.
เวลา 10.00 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นหนังสือคัดค้านบัญชีพยานบุคคล 23 ปาก และพยานเอกสารเกือบ 7 หมื่นแผ่น ที่อสส.ขอเพิ่มเติมนอกเหนือจากสำนวนของป.ป.ช.
นายนรวิชญ์ เปิดเผยว่า พยานบุคคลและพยานเอกสารดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างการไต่สวนของป.ป.ช. จึงเป็นพยานหลักฐานนอกสำนวน ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยคดี โดยประเด็นนี้ในชั้นไต่สวนของป.ป.ช. ตนเคยร้องขอให้ไต่สวนพยานหลายปาก ซึ่งเป็นพยานสำคัญและเกี่ยวกับการบริหารโครงการรับจำนำข้าว แต่ป.ป.ช.รีบเร่งทำสำนวนและชี้มูลความผิดทางอาญาโดยไม่ไต่สวนพยานตามที่ขอ ต่อมาอสส.ได้รับสำนวนและมีความเห็นชี้ข้อไม่สมบูรณ์ 4 ประเด็นเพื่อให้สอบเพิ่มเติม แต่ยังไม่ทันได้ไต่สวนตามข้อที่ไม่สมบูรณ์ อัยการก็มีคำสั่งฟ้องคดี
นายนรวิชญ์ กล่าวว่า จึงตั้งข้อสงสัยว่าการที่อสส.ยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นนี้ เพื่อให้รายงานสำนวนการถอดถอนของป.ป.ช.มีความสมบูรณ์ จนเป็นเหตุให้สนช.ลงมติถอดถอนหรือไม่ และรายงานสำนวนการไต่สวนของป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ สมบูรณ์จนเป็นเหตุให้มีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ จึงขอให้ศาลไม่รับพยานบุคคลและพยานหลักฐานที่เพิ่มเข้ามานอกสำนวนของป.ป.ช. ซึ่งศาลรับเรื่องไว้และนัดฟังคำสั่งวันที่ 31 ส.ค.นี้
เรือนจำหาม'วิโรจน์'เข้ารพ.
ส่วนกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยเป็นเวลา 18 ปี ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงาน ของรัฐ พ.ศ. 2502, ความผิดพ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505, ความผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และความผิดพ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 จากคดีที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มบมจ.กฤษดา มหานครโดยมิชอบ เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า เมื่อคืนวันที่ 26 ส.ค. นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ผู้ต้องขังในคดีปล่อยกู้กว่า 10,000 ล้านบาท และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีอาการโรคหัวใจกำเริบ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จึงนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์
นายอายุตม์กล่าวว่า นอกจากนี้นายบุญเลิศ ศรีเจริญ เป็นโรคประจำตัว โรคหัวใจ เบาหวานและโรคตับ ส่วนนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา เป็นโรคตับ ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 12 ปี จากคดีเดียวกัน ก็มีอาการโรคประจำตัวกำเริบด้วย แพทย์ได้ตรวจร่างกาย ก่อนส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งผู้ต้องขังคดีดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัวกันทุกคน ทุกคนเข้ามาอยู่ในแดนแรกรับ มีอาการอ่อนเพลีย
สนช.ศึกษาคดีถอดถอน'ตือ'
เวลา 10.15 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธาน ก่อนเข้าสู่วาระประธานแจ้งต่อที่ประชุมกรณีที่ป.ป.ช. ยื่นเรื่องให้สนช.พิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรมว.ศึกษาธิการ กรณีร่ำรวยผิดปกตินั้น ขอให้สมาชิกไปรับรายละเอียดและเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ตั้งแต่บัดนี้ และนัดประชุม ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ เพื่อกำหนดกรอบกระบวนการพิจารณาถอดถอน
จากนั้นเข้าสู่การประชุม เพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ ประมาณพ.ศ.2559 วงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 และ 3 ตามที่คณะกรรมาธิ การ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2559 ที่มีม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ เป็นประธานได้พิจารณาเสร็จแล้ว มีเนื้อหา 35 มาตรา
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ในฐานะรองประธานกมธ.วิสามัญฯคนที่ 1 รายงานว่า จากงบประมาณที่ตั้งไว้ 2.72 ล้านล้านบาท ได้ปรับลด 20,582 ล้านบาท โดยพิจารณาจากรายการงบต่างๆ ที่ประหยัดได้ โดยงบที่ปรับลดนั้น กมธ.วิสามัญฯได้พิจารณาเพิ่มเติมให้กับงบกลางทั้งหมด เพื่อสำรองจ่ายกรณีจำเป็น ฉุกเฉิน และรองรับการดำเนินงานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
พ.ร.บ.งบปี 59 ผ่านฉลุย
หลังจากนั้นเปิดให้สมาชิกอภิปรายคนละ 8 นาที มีสมาชิกอภิปรายเพียงไม่กี่คน อาทิ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ นายทวีศักดิ์ สูทกะวาทิน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ และนพ. เจตน์ ศิระธรานนท์ ทั้งนี้ ในการพิจารณาวาระ 2 มีผู้สงวนคำแปรญัตติเพียง 2 คน คือนาย ทวีศักดิ์ และนายมณเฑียร บุญตัน ขณะที่ไม่มีสนช.สายทหารอภิปรายเลย
หลังจากพิจารณาเรียงตามมาตรา โดยเป็นไปตามที่กมธ.แก้ไข ที่ประชุมลงมติเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 184 งดออกเสียง 4 เพื่อประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 เป็นกฎหมายต่อไป พร้อมเห็นชอบข้อสังเกตของกมธ.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ที่ติดภารกิจไปราชการที่ฟิลิปปินส์ กล่าวขอบคุณสมาชิกสนช.และกมธ. ซึ่งเท่าที่ดูเนื้อหา เห็นว่าทำงานละเอียดรอบคอบ ครั้งนี้เป็นการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณครั้ง 2 และมีโอกาสทำอีกเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งนายกฯฝากว่ารัฐบาลขอให้ความมั่นใจว่าจะนำเงินงบประมาณไปใช้จ่ายให้ตรงกับความประสงค์ของสมาชิก และตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมสนช.ใช้เวลาพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2559 ประมาณ 4 ชั่วโมง จากนั้นประธานสั่งปิดการประชุมในเวลา 14.10 น.