- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 25 August 2015 09:43
- Hits: 8823
'สมคิด'ฟิต ชงมาตรการกู้ศก.ทันที สปช.ชี้ 3 ปัญหา-รธน.ไม่สมบูรณ์ จี้เร่งยื่นตีความก่อนทำประชามติ บิ๊กป้อมเผยโผทหารถึงบิ๊กตู่แล้ว
ครม.ชุดใหม่เริ่มงานวันแรก หลายกระทรวงคึกคัก'สมคิด' สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำเนียบ ฟิตจัดเตรียมชงมาตรการฟื้นเศรษฐกิจระยะสั้น เร่งช่วยกลุ่มรากหญ้า กมธ.ปฏิรูปการเมือง-กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ ชำแหละ รธน. ชี้ 3 ปมปัญหา ไม่มีคำปรารภถือว่าไม่สมบูรณ์ จี้'เทียนฉาย'ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ 'บวรศักดิ์'วอนส่งก่อน 6 ก.ย. ยอมรับไม่สบายใจเสียงวิจารณ์อื้อ 'สมเจตน์'เตือนสปช.ที่เป็นกมธ.ยกร่างฯ โหวตรธน.ไม่ได้ โผทหารถึงมือ'บิ๊กตู่'แล้ว
วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9036 ข่าวสดรายวัน
พร้อมลุย - นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ทำพิธีสักการะศาลพระภูมิและ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาล ก่อนเข้าทำหน้าที่อย่างเป็นทางการวันแรก พร้อมประกาศผลักดันมาตรการด้านเศรษฐกิจทันที เมื่อวันที่ 24 ส.ค.
'สมคิด'เข้าทำเนียบ
วันที่ 24 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า บรรยากาศการทำงานวันแรกของครม.ประยุทธ์ 3 เป็นไปอย่างคึกคัก โดยเมื่อเวลา 07.00 น. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว เข้ามาเป็นคนแรก นำพวงมาลัยดอกไม้เข้ามาสักการะพระพรหม บนตึกไทยคู่ฟ้าและศาลพระภูมิ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบ โดยถวายตุ๊กตานางรำและผลไม้มงคล นายสมคิดมีใบหน้า ที่เรียบเฉยและยังไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับการแบ่งงาน ก่อนเดินทางออกจากทำเนียบ จากนั้น ไม่นานรถของนายสมคิดวนกลับเข้ามาทำเนียบ อีกครั้งและเข้าพบกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า
ทำงานเป็นทีมไม่แบ่งแยก
เวลา 10.00 น. นายสมคิดแถลงข่าวหลังเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ เป็นการเปิดใจครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง โดยกล่าวว่า เหตุที่เข้าร่วมครม.เพราะตั้งใจว่าจะเป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยนายกฯแก้ไขปัญหาบ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ระยะหลังค่อนข้างซบเซาและชะลอตัว เข้าใจว่าคนไทยขณะนี้เป็นห่วงและกังวลในสภาพเศรษฐกิจ ขอเรียนว่าพื้นฐานของประเทศไทยที่สร้างและสั่งสมมามีความแข็งแกร่งมาก หากไม่ตั้งอยู่ในความประมาททำในสิ่งที่ควรทำ แก้ไขในส่วนที่ควรแก้ไข เชื่อว่าพื้นฐานที่แข็งแรงอยู่แล้วบวกกับความพยายามใหม่ๆ จะประคองเศรษฐกิจ ไทยให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้ และก้าว ต่อไปได้อย่างมั่นคง
นายสมคิด กล่าวว่า ตั้งใจไว้จะทำงานเป็นทีมร่วมมือกันทุกกระทรวง ไม่มีการแบ่งแยกว่ากระทรวงใดเพราะปัญหาของประเทศสำคัญ หมดทุกกระทรวง เชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือที่ดีมาก นายกฯฝากให้ช่วยสานต่อและติดตามในสิ่งที่นายกฯสั่งการไว้แล้ว หากมีสิ่งใดก็ให้ตนปรึกษาหารือกับครม.เศรษฐกิจได้ และนายกฯยินดีช่วยสนับสนุนทุกประการ
เตรียมชงครม.แก้ศก.รากหญ้า
นายสมคิด กล่าวว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจซบเซาและชะลอตัวมาจากปัจจัยภายนอก ภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาเพราะหลายประเทศ เริ่มมีปัญหา เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้น เมื่อดีขึ้นก็จะคลายตัวลง ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะยาว อีกสาเหตุหนึ่งคือปัจจัยภายใน ได้แก่ พืชผลเกษตรราคาตกต่ำ จึงเกิดปัญหาค่าครองชีพในรากหญ้า ชาวนาชาวไร่อ่อนแอ ไม่มีกำลังซื้อเพียงพอ และถูกทับถมด้วยปัญหาความไม่ค่อยเชื่อมั่นเพราะทุกวันมีแต่ข่าวที่ไม่ดีออกมา จึงทำให้การลงทุน ในประเทศไม่ขยับ
นายสมคิด กล่าวว่า ตนเรียนนายกฯแล้วว่าระยะนี้สิ่งที่ต้องเร่งคือช่วยเหลือคนรากหญ้าโดยเฉพาะเกษตรกร คนที่อยู่ต่างจังหวัด เพื่อให้เศรษฐกิจพื้นฐานขับเคลื่อนไปได้ โดยจะมีมาตรการที่กำลังร่างอยู่และจะนำเสนอต่อที่ประชุมครม.เร็วที่สุด คิดว่าคงพอทำให้เศรษฐกิจ ท้องถิ่นในภูมิภาคขับเคลื่อนไปได้และเศรษฐกิจโดยทั่วไปเริ่มหมุนได้
รองนายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญกว่านั้นมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างด้านความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะผลผลิตและส่งออกของไทยเริ่มแข่งขันไม่ค่อยได้ แม้โครงสร้างพื้นฐานของไทยยังดีอยู่แต่หลายสิ่งต้องปฏิรูปและพัฒนายกระดับขึ้นให้ได้ การลงทุนภาคเศรษฐกิจครั้งใหญ่ต้องเกิดขึ้น ไม่ได้หมาย ความแค่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ เท่านั้น แต่หมายถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ขณะเดียวกัน จะหารือกับด้านต่างประเทศเพื่อช่วยประสานเจรจาการค้ากับต่างประเทศ ให้เกิดผลพลอยได้ในทุกมิติ รอให้รัฐมนตรีแต่ละคนได้พบกับผู้บริหารของ แต่ละกระทรวงก่อนแล้วจะมาลงรายละเอียดอีกครั้ง
เชื่อมั่นประเทศและเชื่อใจผม
นายสมคิด กล่าวว่า ตนมอบนโยบายไปแล้ว ว่าทุกกระทรวงในเครือข่ายเศรษฐกิจจะเดินไปข้างหน้าในระนาบเดียวกัน ดังนั้น ภารกิจคือไม่ใช่แค่กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หัวใจสำคัญคือช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะทำให้ประเทศแข่งขันได้ในอนาคตข้างหน้า จึงจะใช้ช่วงเวลาที่มีอยู่ 1 ปีหรือ 1 ปีเศษ เริ่มแก้ไขและปฏิรูปเลยทันที ไม่ต้องรอและจะประสานกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ทำเรื่องปฏิรูป อะไรทำได้ก่อนก็ทำเพราะเวลามีน้อย หวังอย่างยิ่งว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้อย่างที่ต้องการ ตนจะทำให้ดีที่สุด ขอให้คนไทยเชื่อมั่นใจประเทศไทย เพราะ ยิ่งไม่เชื่อมั่นก็ยิ่งทำให้ประเทศซบเซายากที่จะพัฒนาต่อไปได้
"ขอให้เชื่อใจผม จะพยายามเสนอมาตร การระยะสั้นให้เร็วที่สุดเพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน อย่าเรียกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ เอาเป็นว่ามาตรการระยะสั้นที่ทำให้เศรษฐกิจหมุน เวียน โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตรกรในอนาคต การพัฒนาชนบท พัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้แข็งแรง ยั่งยืน จะลดความแตกต่าง ลดความเหลื่อมล้ำให้น้อยลง นโยบายอะไรดีๆ ของเก่าๆ ที่ดีจะเอามาทำต่อ ส่วนอะไรที่เริ่มใหม่แล้วดีก็จะสานต่อไปเรื่อยๆ ขอให้เวลากับทีมงานและรัฐมนตรีใหม่ๆ" นายสมคิดกล่าว
เมื่อถามว่ารู้สึกกดดันหรือไม่ที่ทุกคนฝากความหวังของประเทศเอาไว้ นายสมคิดกล่าวว่า ตนไม่เคยมีแรงกดดัน สมัยปี 2540 เศรษฐกิจ เจ๊งไปแล้วครั้งหนึ่ง คราวนี้ตั้งใจว่าจะทำให้ดีที่สุด เพราะถือเป็นหน้าที่ของทุกคน เมื่อเข้ามาทำหน้าที่นี้จะทำให้ดีที่สุด ผลจะเป็นอย่างไร ถือว่าทุกคนร่วมกัน รัฐบาลจะเดินหน้าไปได้อยู่ที่ภาคเอกชนและประชาชนร่วมกัน ซึ่งในวันที่ 27 ส.ค.นี้จะไปหารือกับภาคเอกชนเพื่อให้ทราบว่าเขามีหน้าที่เข้ามาร่วมและทำให้ทุกอย่างดีขึ้น เพราะทุกคนเป็นเพื่อนเก่ากัน เชื่อว่า ไม่มีปัญหา
'บิ๊กจิน'ไม่ห่วงงานคมนาคม
สำหรับ รองนายกฯคนอื่นๆ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ เดินทางเข้ามาทำงานที่ตึกบัญชาการ 1 ในเวลา 07.30 น. สวมสูทสีเทา เนกไทสีฟ้ามีสัญลักษณ์กองทัพอากาศ ขณะก้าวขาขึ้นบันไดตึกบัญชาการ 1 บัตรประจำตัว รัฐมนตรีคมนาคมที่ใช้ชั่วคราวแทนบัตรใหม่ที่อยู่ระหว่างจัดทำ ที่กระเป๋าเสื้อสูทหลุดร่วงลงพื้น พล.อ.อ.ประจิน ก้มเก็บโดยไม่พูดอะไร
พล.อ.อ.ประจินกล่าวถึงการทำงานในตำแหน่งรองนายกฯว่า งานบริหารทำได้เพราะ เป็นผู้ปฏิบัติมาแล้ว ส่วนจะได้กำกับดูแลงานด้านไหนนั้น นายกฯจะแจ้งให้ทราบภายในวันนี้ เรื่องรถไฟมั่นใจจะเดินต่อไปได้เพราะนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ทราบเรื่องทั้งหมด และนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม มีความชำนาญด้านระบบรางและเป็นหนึ่งของคณะทำงานมาแล้วด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อ.ประจิน จะใช้ห้องทำงานเดิมของนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกฯ ที่ชั้น 3 นายสมคิด ใช้ห้องทำงานเดิมของม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯและปลัดสำนักนายกฯ ชั้น 1 ตึกบัญชาการ
'บิ๊กเข้'ขนตู้เสื้อผ้าเข้าทำเนียบ
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ เดินทางมาถึงเวลา 13.25 น. เข้าทำงานที่ชั้น 3 ตึกบัญชาการ ห้องทำงานเดิมของพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ ที่ขอย้ายไปใช้ห้องทำงานเดิมของม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ ที่ชั้น 4 แทน
ก่อนหน้านี้ นายทหารติดตามพล.ร.อ.ณรงค์ ขนย้ายของใช้ส่วนตัวจากกระทรวงศึกษา ธิการทั้งเอกสารราชการ อุปกรณ์สำนักงาน ตู้เสื้อผ้า พระพุทธรูปและรูปหล่อจำลองพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาทหารเรือไทย เข้ามาไว้ที่ห้องทำงานล่วงหน้าแล้ว
สำหรับ การดูแลความปลอดภัยภายในทำเนียบและบริเวณใกล้เคียง ฝ่ายรักษาความปลอดภัยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลอย่างเข้มข้น วันนี้นำแผงรั้วเหล็กมากั้น ไม่อนุญาตให้จอดรถยนต์ใกล้กับรั้วทำเนียบ อาทิ ถนนพระราม 5 เลียบคลองเปรมประชากร ตั้งแต่แยกพาณิชยการถึงเชิงสะพานอรทัย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชาชนและนักศึกษาพณิชยการพระนคร ผู้มาติดต่อราชการ ใช้เป็นพื้นที่จอดรถ และเป็นเส้นทางผ่านเข้าออกทำเนียบ ทางประตูสะพานอรทัย โดยติดป้ายระบุว่ามีภารกิจ พิเศษ รวมถึงถนนราชดำเนินนอก ที่ไม่อนุญาต ให้จอดรถบริเวณถนนคู่ขนาน ซึ่งติดกับรั้วทำเนียบ ทางเข้าประตู 5 ตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนั้น ยังปิดตลาดวัฒนธรรม บริเวณคลองผดุงกรุงเกษมชั่วคราว
"ดาว์พงษ์"เชื่องานทส.ไม่สะดุด
เวลา 09.30 น. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เดินทางมาที่ ทส. เพื่ออำลาผู้บริหารและข้าราชการ สักการะ พระพุทธสยัมภู พระประจำกระทรวงและบูชาพระภูมิเจ้าที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นเข้ากล่าวอำลาในห้องประชุมชั้น 2 นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดทส. พร้อมอธิบดีกรมต่างๆ และข้าราชการเข้าร่วมรับฟัง
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า บางงานเพิ่งเริ่มแค่ 10-50 เปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อว่ารัฐมนตรีคนใหม่จะเดินหน้าสานต่อตามแนวทางของรัฐบาล ต่อไป ซึ่งพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นเพื่อนกับตนตั้งแต่สมัยเรียน รู้ไม้รู้มือกันดี เชื่อมั่นว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไม่สะดุด จากนั้นมีอธิบดีกรมต่างๆ และผู้บริหารระดับสูงต่างมอบของขวัญ กรอบรูป กระเช้าดอกไม้ พวงมาลัย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่พล.อ.ดาว์พงษ์ โดยข้าราชการมายืนรอเพื่อมอบ ดอกกุหลาบให้เช่นกัน
สั่งปลัดศธ.สร้างกรุ๊ปไลน์
จากนั้น พล.อ.ดาว์พงษ์ พร้อมนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ เข้าทำงานที่ กระทรวงศึกษาธิการ ถือฤกษ์ 13.29 น. พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช. คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ต้อนรับ นำพล.อ.ดาว์พงษ์สักการะพระพุทธรูป ศาลพระภูมิ และพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ก่อนเดินขึ้นอาคารราชวัลลภ เพื่อมอบนโยบาย
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวภายหลังมอบนโยบายว่า นายกฯฝากนโยบายให้ดำเนินการ 2 เรื่อง คือปฏิรูปการศึกษาและทุจริตคอร์รัปชั่น จึงขอฝากให้ผู้บริหารและข้าราชการทุกคนเร่งดำเนินงานให้เกิดเป็นรูปธรรม การทำงานของตนหลังจากนี้จะเน้นเรื่องการสื่อสารระหว่างองค์กรหลัก รวมถึงให้ปลัดศธ. สร้างกรุ๊ปไลน์เพื่อให้รัฐมนตรีทั้ง 3 คน และผู้บริหารองค์กรหลักได้ติดต่อประสานงาน เพื่อให้ภารกิจต่างๆ มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น วันที่ 25 ส.ค.จะประชุมผู้บริหารองค์กรหลักศธ. เพื่อรับฟังแนวทางการทำงานของแต่ละหน่วยงาน การแบ่งงานกับรมช.ทั้งสองคนนั้น ยังไม่ขอเปลี่ยน แปลงอะไร
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า เรื่องไหนที่ดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้จะเดินหน้าสานต่อโดยจะดูงานที่สำคัญเร่งด่วนก่อน ตนมาอยู่ที่นี่มีทั้งคนให้กำลังใจและปรามาสท้าทายว่าจะทำได้หรือไม่ ซึ่งคงต้องมาสู้กันหน่อยเพราะงานการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ คงไม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือให้นโยบายใหม่ๆ เพราะเข้าใจดีว่างานเดิมที่ดำเนินการอยู่ตามนโยบายของนายกฯมีเยอะอยู่แล้ว แต่จะมาดูว่าการทำงานที่ผ่านมามีปัญหาหรืออุปสรรคตรงไหนบ้าง การโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 และ 11 ตนคงไม่เข้าไปยุ่งอะไร เพราะทราบว่าพล.ร.อ.ณรงค์ เสนอเข้าที่ประชุมครม.ไปแล้ว
'บิ๊กเต่า'สานต่องานทวงผืนป่า
เวลา 14.10 น. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส. เข้าสักการะพระพุทธสยัมภู พระพุทธ รูปประจำกระทรวง และพระภูมิโดยมี ปลัดทส. พร้อมผู้บริหารทุกกรมต้อนรับ
พล.อ.สุรศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนทำงานร่วมกับทส. มาตั้งแต่สมัยอยู่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) และตั้งกระทรวงใหม่ๆ จึงไม่ถือว่าเป็นงานใหม่เพราะคุ้นเคยกับทุกกรม บ่ายวันที่ 25 ส.ค. หลังประชุมครม.จะมอบนโยบายการทำงาน แม้ห้องทำงานจะยังไม่เสร็จแต่วันนี้นำพระพุทธเมตตาเสนานาถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่นายกฯจัดสร้างสมัยเป็น ผบ.ทบ. โดยรวมเอาพุทธศิลป์ 5 ยุคมาไว้ในองค์เดียวกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา มาตั้งไว้แล้ว
เมื่อถามว่านายกฯสั่งการอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวว่า นายกฯ บอกว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ ทำดีอยู่แล้ว ซึ่งตนจะทำงานสานต่อจากพล.อ.ดาว์พงษ์ โดยเฉพาะการทวงคืนผืนป่าต้องเข้มข้นมากขึ้น อย่าลืมว่าตนเป็นทหารราบ เป็นหน่วยรบพิเศษ ป่าทุกป่าตนเดินมาหมดแล้ว ตั้งแต่ 2519 ถือว่าเดินมาครึ่งชีวิต และยังมีเรื่องการแก้ปัญหาขยะที่ต้องดำเนินการตามโรดแม็ป เสนอต่อนายกฯ ไปแล้ว ทั้งหมด
เมื่อถามว่าทีมงานยังเป็นชุดเดิมจากกระทรวง แรงงานหรือไม่ พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวถึงทีมงานว่า ฝ่ายธุรการและเลขาฯคงเป็นชุดเดิม แต่ ผู้ช่วย และเลขาฯรมว.ทส. อยู่ระหว่างทาบ ทาม ต้องเอาผู้เชี่ยวชาญมาช่วย การทำงานจะประสานงานร่วมกันทุกระทรวง
"ปิยะสกล"มอบนโยบาย 8 ข้อ
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สธ. เดินทางเข้ารับตำแหน่ง อย่างเป็นทางการ โดยมี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. รองปลัด อธิบดีทุกกรม ผู้ตรวจฯ ข้าราชการ ต้อนรับ นพ.ปิยะสกลเข้าสักการะสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง พร้อมมอบนโยบาย โดยมีทีมที่ปรึกษา อาทิ นพ.เสรี ตู้จินดา นพ.ธวัช สุนทราจารย์ นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี นพ.ชาตรี บานชื่น และพญ.มยุรา กุสุมภ์ เข้าร่วม
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การตั้งตนเป็นรัฐมนตรี คนเดียวไม่เป็นไร เพราะที่นี่มีคนช่วยทำงานทั้งกระทรวง ถือว่าสนิทกับสธ.มานาน เหมือน พี่น้องมาเจอกันช่วยกันทำงาน ขณะนี้ไม่มีช่วงเวลาฮันนีมูน ขอให้ทุกคนร่วมกันทำงาน ส่วนเรื่องความขัดแย้งนั้นเท่าที่ดูก็ไม่ได้มี มีแต่ความเห็นที่แตกต่างกันและเป็นความเห็นที่มาจากคนเก่งทั้งนั้น ต้องรวบรวมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันแม้จะแตกต่างกันก็ไม่เป็นไร
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับนโยบาย คือ 1.การทำงานดำเนินรอยตามแนวพระราชดำริ 2. บูรณาการเขตบริการสุขภาพระหว่างสธ. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 3.พัฒนาการส่งเสริมป้องกันโรคด้วยความร่วมมือทุกส่วน 4.เพิ่มประสิทธิภาพการบริการทุกระดับทั้งการเงิน การคลัง และกำลังคน ปฏิรูปกระทรวงโดยเฉพาะฐานข้อมูล สุขภาพ 5. ให้ความสำคัญกับกำลังคน สร้างขวัญกำลังใจภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคม 6. ส่งเสริมภูมิปัญญาไทย สมุนไพรไทย 7. เร่งรัดการปรับปรุงกฎหมาย และ 8. สนับสนุนกลไกการทำงานให้เกิดความมั่นคง คงไม่ผิดจาก นโยบายกระทรวงที่วางไว้
ยันสธ.ไม่มีความขัดแย้ง
"แนวทางในการทำงานจากนี้ มีค่านิยม คือ ซื่อสัตย์ สามัคคี มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น ตรวจสอบได้โปร่งใส มุ่งมั่นในผลสัมฤทธิ์ของงาน และกล้าหาญทำในสิ่งที่ถูกต้อง คำนิยามเหล่านี้เป็นของกระทรวงเอง ทุกกรมต้องเห็นผลสัมฤทธิ์ของงานที่ทำภายใน 6 เดือน" นพ.ปิยะสกลกล่าว
นพ.ปิยะสกล ให้สัมภาษณ์ว่า งานเร่งด่วนของกระทรวงนั้นที่ผ่านมาปลัดกระทรวงได้ทำอยู่แล้ว สิ่งที่จะเห็นผลเร็วที่สุด คือ การ บูรณาการเขตสุขภาพระหว่าง สธ.และสปสช. หากเข้าใจกันอีกนิดก็จะเห็นผลการปฏิรูป ที่ชัดเจน ส่วนเรื่องขัดแย้งภายในตนไม่เห็น มีแค่ความเห็นที่ไม่ตรงกันของคนเก่งและคนดี ขณะนี้ขอฟังทุกฝ่ายก่อน โดยจะรับฟังจากทุกกลุ่ม ทุกกรม ทุกหน่วยงาน เมื่อฟังแล้ว ก็ต้องกล้าจะตัดสินใจ และการเข้ามาทำงานครั้งนี้ไม่ได้มีอะไรที่ต้องกังวล
ออมสิน ชี้ไม่มีช่วงฮันนีมูน
เมื่อเวลา 09.20 น. ที่กระทรวงคมนาคม นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เดินทางเข้ากระทรวงคมนาคมอย่างไม่เป็นทางการ โดยมีนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดต้อนรับ เข้าสักการะพระพุทธคมนาคมบพิตรและศาลพระภูมิ และขึ้นห้องทำงานโดยมีข้าราชการสำนักเลขานุการรัฐมนตรี ต้อนรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายออมสินมาเพื่อพบปะกับข้าราชการกระทรวง ในฐานะอดีตผู้บริหารการสื่อสารแห่งประเทศไทย ตามกำหนด นายอาคม และนายออมสิน จะเข้ากระทรวงอย่างเป็นทางการและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์วันที่ 26 ส.ค.นี้
นายออมสิน ให้สัมภาษณ์ว่า พร้อมเข้ามาทำงานในฐานะรมช.คมนาคมได้เลย และไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องรับผิดชอบงานไหน หรือมาขอเรียนรู้งานก่อนทำงานเพราะการทำงานไม่มีช่วงฮันนีมูนเด็ดขาด
"อภิศักดิ์"เร่งเติมเงินรากหญ้า
เวลา 07.15 น. นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เดินทางเข้ากระทรวงการคลัง สักการะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงทั้งศาลพระพรหม ศาลพระภูมิ พระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ (องค์จำลอง) และองค์จำลองรัชกาลที่ 5 และได้ขึ้นไปบนห้องที่ทำงาน เพื่อไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภายในห้อง โดยมีนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.การคลัง นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัด รองปลัด ผู้บริหารกรมจัดเก็บภาษี 3 กรม ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ รอต้อนรับจำนวนมาก
นายอภิศักดิ์ เผยภายหลังหารือร่วมกับอธิบดีและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของทีมเศรษฐกิจชุดนี้จะยังคงกรอบเดิม แต่ปรับเปลี่ยน แค่ผู้ขับเคลื่อนนโยบายเท่านั้น เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะเห็น ผลทำให้ช่วงนี้เกิดเป็นช่องว่าง เราจึงต้องเติมเต็มช่องว่างตรงนี้เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดลงไปกว่านี้
นายอภิศักดิ์กล่าวว่า แนวทางการเติมเต็มช่องว่างแบ่งเป็นการเติมเงินให้ประชาชนในกลุ่มรากหญ้าให้ดำรงชีพได้ ทั้งเกษตรกร และรากหญ้าที่เขตเมือง ให้เข้าถึงแหล่งเงินในการดำรงชีพได้มากขึ้น เบื้องต้นจะดำเนินการผ่านกลไกของธนาคารรัฐ ไม่ใช่การแจกเงินอย่างแน่นอน รายละเอียดโครงการจะเป็นอย่างไรจะหารืออีกครั้งเพื่อนำเสนอครม.พิจารณาไม่เกิน 1 เดือน นอกจากนี้ต้องขับเคลื่อนเงินลงทุนภาครัฐ โดยเร่งขับเคลื่อนโครงการขนาดเล็กควบคู่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ เพราะเบิกจ่ายได้เร็วกว่าและกระจายลงท้องถิ่นได้ทั่วถึงกว่า การดำเนินงานทั้งหมดจะเน้นการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ ควบคู่การดูแลความมั่นคงระบบการเงิน ซึ่งเป็นแนวทางหลักของรัฐบาล
รมว.คลัง กล่าวว่า จะเร่งดำเนินงานเพิ่มเติมอีก 2 เรื่อง 1.การพัฒนาระบบการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านระบบอิเล็กทรอ นิกส์ จะมีประโยชน์โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีและการขยายฐานภาษีเพิ่มขึ้น 2.การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจใช้ระบบบัญชีเดียว การปฏิรูปโครงสร้างภาษียังจำเป็นต้องเดินหน้า
"อนันตพร"สรุปปมพลังงานใน 3 ด.
เวลา 10.15 น. ที่กระทรวงพลังงาน จากที่ช่วงเช้าได้ขนของและนำพระพุทธรูปมาจากทำเนียบ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่วันแรกที่กระทรวง พลังงาน ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม สักการะศาลท้าวมหาพรหม โดยมีข้าราชการและผู้บริหารระดับสูง ต้อนรับ นำโดย นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัด พลังงาน
เวลา 13.00 น. พล.อ.อนันตพร แถลงหลังประชุมร่วมกับข้าราชการและหน่วยงานภายใต้สังกัดว่า ภายใน 3 เดือนนี้จะสรุปประเด็นปัญหาด้านความขัดแย้งในนโยบายและโครง การต่างๆ ของกระทรวงพลังงานให้ได้ โดยเฉพาะการเดินหน้าเปิดสำรวจและผลิตปิโตร เลียมรอบที่ 21 การต่ออายุสัมปทานที่จะหมดอายุในอีก 5-6 ปี รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการมีความจำเป็นก็จะเร่งดำเนินการให้ทันเวลา
รมว.พลังงานกล่าวว่า จะขอดูข้อมูลจากทุกฝ่ายว่าพลังงานไม่เพียงพอและจะมีวิกฤตอย่างไร ถ้าเร่งด่วนมากก็จำเป็นต้องเดินหน้า แต่ถ้าไม่เร่งด่วนก็ต้องศึกษาหาความกระจ่าง คิดว่าภายใน 3 เดือนจะตกลงใจว่าจะเดินหน้าอย่างไร ส่วนนโยบายที่ต้องการทำใหม่คือการปรับภาพลักษณ์กระทรวง ให้ทุกคนเชื่อถือในข้อมูลเพราะพลังงานเป็นปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ
"บวรศักดิ์"ยังไม่สบายใจ
เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการประชุม กมธ.ยกร่างฯ วาระเพื่อทำเจตนารมณ์ในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ในส่วนของบันทึกเจตนา รมณ์รายมาตรา กมธ.ยกร่างฯได้จัดทำฉบับสมบูรณ์ขึ้นเพื่อให้สมาชิกสปช.อ่านประกอบกับบทบัญญัติทั้ง 285 มาตรา กมธ.ยกร่างฯ จะนำส่งให้สมาชิกสปช.ในภายหลัง เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องระหว่างที่เดินเข้าห้องประชุม นายบวรศักดิ์ ตอบคำถามว่า "หลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้วรู้สึกนอนหลับมากขึ้นแต่ไม่ได้สบายใจเพราะมีเสียงวิจารณ์มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มนปช. ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างนี้ ถือเป็น สิทธิ์ทุกฝ่ายที่แสดงความเห็น"
นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานกมธ.ยกร่างฯ เผยว่า วันที่ 25 ส.ค. เวลา 14.00 น. กมธ.ยกร่างฯ 4 คนประกอบด้วย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายคำนูณ สิทธิสมาน นายประชา เตรัตน์ และตน จะไปร่วมประชุมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พร้อมตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คือนายประวิช รัตนเพียร และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร และตัวแทนจากกรมการปกครอง ที่ทำเนียบ เพื่อหารือถึงการทำประชามติเนื่องจากหากที่ประชุม สปช. ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย. กกต.จะต้องเดินหน้าทำประชามติทันที แต่หากที่ประชุมสปช.ไม่รับ ทุกอย่างก็จบ
2 กมธ.ปฏิรูปติงไม่มีคำปรารภ
เวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมระหว่างกมธ.ปฏิรูปการเมือง และกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. เพื่อหารือและวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญที่สปช.ได้รับ จากกมธ.ยกร่างฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา
หลังการประชุม นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง แถลงว่า หารือนอกรอบเพื่อวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ พบมีปัญหาอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.คำปรารภที่ไม่ปรากฏ ในร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดปัญหาว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เสร็จแล้วหรือไม่ แม้กมธ.ยกร่างฯชี้แจงว่าเป็นหน้าที่ของเลขาธิการสภา ผู้แทนราษฎร เป็นผู้เขียนคำปรารภหลังจากนี้ แต่ที่ผ่านมาในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 จะเขียนคำปรารภไว้ในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เพียงแต่เว้นเรื่องวันที่ไว้เพิ่มเติมในภายหลัง
2.กรณีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) มาตรา 260 และ 3.เรื่องระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และที่มาส.ว. ส่วนการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ทั้ง 2 คณะจะให้สมาชิกฟรีโหวตลงมติ เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล ตนไม่ขอออกความเห็นจะลงมติอย่างไรเพราะจะเป็นการชี้นำ
จี้"เทียนฉาย"ยื่นศาลรธน.วินิจฉัย
นายอุดม เฟื่องฟุ้ง ประธานที่ปรึกษากมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ กล่าวว่า เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีคำปรารภจะถือว่าสมบูรณ์ไม่ได้ กฎหมาย ทุกฉบับต้องมีหลักการและเหตุผลให้เห็น ซึ่งรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายจึงต้องมีคำปรารภ ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่อง คำปรารภว่า คำปรารภเป็นหลักการสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ก็เขียนคำปรารภไว้ในร่างรัฐธรรมนูญด้วย เกรงว่าหากร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังไม่ถือว่าเสร็จแต่เข้าสู่การลงมติของสปช. จนถึงขั้นการทำประชามติ รัฐธรรมนูญออกมาบังคับใช้ ต่อมามีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าร่างนี้ทำผิดขั้นตอน จะทำให้สูญเสียงบ 3 พันล้านบาททำประชามติ
นายอุดม กล่าวว่า ภายใน 1-2 วันนี้ กมธ.ทั้ง 2 คณะจะทำหนังสือถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ให้ทำเรื่องส่งถึงครม. เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่มีคำปรารภ ถือว่าเสร็จหรือไม่ อยากให้เร่งวินิจฉัย เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าไม่ชอบ หลังทำประชามติไปแล้ว จะทำให้สูญเงินเปล่า
คปป.จะเป็นชนวนขัดแย้ง
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ. ปฏิรูปกฎหมายฯ กล่าวว่า ในส่วนของคปป.นั้น รัฐธรรมนูญควรมีเนื้อหาที่ยั่งยืนแต่การ บัญญัติคปป. เป็นการใช้เพียงชั่วคราว 5 ปี หรืออาจขยายได้อีก 5 ปี ซึ่งควรนำไปใส่ในบทเฉพาะกาล ไม่ควรนำมาใส่ในเนื้อหาหลัก จะกลายเป็นปัญหาต่อไปในความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่ากมธ.ยกร่างฯ ต้องการแก้ปัญหาปรองดองและความขัดแย้ง แต่คปป.ชุดนี้จะก่อให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนถึงการใช้อำนาจบริหารประเทศ เพราะในร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่าหากครม.ไม่ดำเนินการตามติของคปป. แต่คปป.ยืนยันด้วยมติ 3 ใน 4 ให้ดำเนินการ ครม.ก็ต้องทำตาม เหมือนครม.ถูกบังคับ รัฐบาล และคปป.มีโอกาสขัดแย้งกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายเสรี กล่าวว่า แม้คปป.จะมาแก้วิกฤต แต่ไม่มีหลักประกันว่าประธานคปป.จะเป็นใคร มีแนวทางอย่างไรยังไม่ชัดเจน ซึ่งภายใน 5-10 ปี อาจมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในคปป. ทำให้คปป.มีอำนาจเบ็ดเสร็จสูงกว่าอำนาจอธิปไตย จึงเป็นห่วงว่าแม้ปัญหาขณะนี้ ต้องใช้อำนาจพิเศษ แต่วันนี้คสช.และรัฐบาลมีอำนาจเต็ม ก็สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว หากจะให้คสช.และรัฐบาลไปเป็นคปป.ก็เหมือน เอาไปแขวนไว้ ดังนั้น การมีคปป.จะมีผลร้ายมากกว่าผลดี ไม่สามารถแก้ปัญหาได้และนำไปสู่ความขัดแย้งเหมือนเดิม
นายนิรันดร์ พันทรกิจ กมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า กรณีที่มาส.ว. ที่ระบุว่า ส.ว.สรรหามีอำนาจถอดถอนบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งได้นั้น ไม่สมเหตุสมผล กมธ.ยกร่างฯแก้ไขให้เพียงเล็กน้อย และร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังไม่ให้สมาชิกพรรคสมัครเป็นส.ว. เห็นว่าขัดแย้งกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ต้องการสร้างพรรค ให้เข้มแข็ง แต่การกำหนดเช่นนี้เหมือนสกัดคนที่จะมาเป็นส.ว.
บวรศักดิ์ แจงเป็นพระราชอำนาจ
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ แถลงชี้แจงกรณี นายอุดม ตั้งข้อสังเกตร่างรัฐธรรมนูญที่กมธ.ยกร่างฯส่งให้สปช. อาจยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะยังไม่เขียนคำปรารภ ว่า ยืนยันว่าเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯทำเสร็จ และส่งให้สปช.เรียบ ร้อยแล้ว ส่วนคำปรารภเป็นพระราชอำนาจที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ จะทำหน้าที่ยกร่างคำปรารภเพื่อทูลเกล้าฯขอพระบรมราชวินิจฉัย เชื่อว่าจะมีการดำเนินการภายหลังร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านประชามติแล้ว
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า กระบวนการดังกล่าว ถือเป็นประเพณีปฏิบัติตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรก พ.ศ.2475 ซึ่งเรียกว่าพระราชปรารภ กระทั่งถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กมธ.ยกร่างฯไม่ได้เขียนคำปรารภ นายวิษณุ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาฯครม. ยืนยันว่าเป็นเรื่องของพระราชอำนาจ กระทั่งรัฐธรรมนูญ 2550 สภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 (ส.ส.ร.50) เบื้องต้นเขียนคำปรารภเสนอไปพร้อมร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำประชามติ แต่สุดท้ายเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติก็มีการแก้ไขและเติมเนื้อหา โดยผู้ที่ดำเนินการคือสำนักงานเลขา ธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ เป็นผู้ยกร่างคำปรารภ จากนั้นจึงนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม และได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ดังนั้น แนวทางปฏิบัติคือสามารถยกร่าง หรือไม่ยกร่างคำปรารภก็ได้ แต่สุดท้ายเป็นเรื่องของพระราชอำนาจที่จะต้องชี้ขาดภายหลังสุด
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ขอบคุณสมาชิกสปช. และนายอุดม ที่ตั้งข้อสังเกต หากต้องการให้เรื่องดังกล่าวได้ข้อยุติให้รีบเสนอเรื่องให้นายเทียนฉาย ประสาน ครม.เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนวันที่ 6 ก.ย. ซึ่งเป็นวันลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันสื่อมวลชนสอบถามความเห็นได้ที่นายวิษณุ และนายธงทอง จันทรางศุ อดีตส.ส.ร. ปี 2540 นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานกมธ.ยกร่างฯปี 2540 นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานสนช.2550 ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการร่างคำปรารภตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550
ชี้สปช.ให้ผ่าน 180 เสียง
พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ สมาชิก สปช. จ.มุกดาหาร กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญตนได้ดูรายละเอียดพอสมควร แต่ยังอยากฟังการชี้แจงจากกมธ.ยกร่างฯวันที่ 25 ส.ค.ก่อน จึงจะประเมินการตัดสินใจได้ชัดเจน เบื้องต้น คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้น่าจะผ่านการโหวต ของสปช.ไปได้ อาจมีคะแนน 180 เสียงขึ้นไป ในส่วนของสปช.สายจังหวัดไม่น่ามีปัญหาแต่ยอมรับว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อที่น่าติดใจ อยู่ เช่น การปฏิรูปการเมือง การบริหารราชการ แผ่นดิน เนื่องจากสิ่งที่ได้รับฟังจากประชาชนมา ไม่ได้ถูกนำไปบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น การเลือกตั้งนายกฯ การเลือกผู้ว่าฯโดยตรง ประชาชนต้องการแต่กมธ.ยกร่างฯไม่ได้นำไป พิจารณา
พ.ต.ท.จิตต์ กล่าวว่า ปัญหาต่อมาหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านสปช. คือ การทำประชามติอาจเกิดปัญหาได้เพราะการปฏิรูปการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ได้รับการตอบรับ ดังนั้นคิดว่าในส่วนประชามติจะมีอยู่ 2 แนว ทาง คือ 1.ประชาชนรับไม่ได้ ไม่ให้ผ่าน และ 2.จะฝืนให้ผ่านไปเพราะต้องการเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งก้ำกึ่งกันอยู่ยังฟันธงไม่ได้ อาจต้องดูคำถามประชามติทั้งของสปช. และสนช.ว่า จะมีหรือไม่อย่างไร ซึ่งประชาชนจะใช้ตรงนี้ในการตัดสินใจด้วย
กมธ.ร่วมโหวตรธน.ไม่ได้
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า จากการพูดคุยกับสมาชิกสนช.หลายคนไม่เห็นด้วยกับการเขียนบทเฉพาะของกมธ.ยกร่างฯ โดยเฉพาะมาตรา 276 ที่กำหนดว่าการพิจารณาร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญของสภา ในกมธ.วิสามัญ จะต้องประกอบด้วยบุคคลที่กมธ.ยกร่างฯเป็นผู้กำหนดไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งนั้น ถือเป็นการสั่งการ ชี้นำ หากเป็นเช่นนี้กมธ.ยกร่างฯก็ร่างกฎหมายและนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมไปเลย ไม่ต้องให้สนช.พิจารณาอีก ส่วนการโหวตร่างรัฐธรรมนูญของสปช.นั้น เห็นว่า กมธ.ยกร่างฯที่เป็นสมาชิกสปช.คงไม่สามารถร่วมลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้ อาจมีปัญหา ในเรื่องขัดกันแห่งผลประโยชน์ได้ หากมีการหยิบยกขึ้นมาจะมีปัญหาแน่นอน
พท.เชื่อไม่ผ่านประชามติ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญว่า ร่างที่ออกมาไม่ได้ให้อำนาจแก่ประชาชนอย่างเต็มที่ ต่อจากนี้จะมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจมากขึ้น เชื่อว่าต่างประเทศจะมองเห็นและทำให้ความมั่นใจลดลง ส่วนจะผ่านสปช. หรือไม่ ต้องรอ ดูหลักการพิจารณาภาพรวมของสปช. ขณะเดียวกัน ต้องดูสัญญาณจากผู้แต่งตั้งสปช.เช่นกัน แต่เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติ เพราะร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจกับประชาชนอย่างแท้จริง
นายพิชัย กล่าวว่า แต่ถ้าร่างนี้ผ่านการทำประชามติตนขอไม่ลงเลือกตั้งดีกว่า เพราะไม่มีประโยชน์ถ้าเลือกตั้งมาแล้วพรรคได้ เสียงข้างมากอย่างเดิม และระหว่างการบริหารประเทศของรัฐบาลมีการตั้งกระบวนการประท้วงขึ้นมา มีคนมาบอกว่าเกิดสถานการณ์ไม่สงบก็มีกระบวนการเข้ามากำกับดูแล ตั้งรัฐบาลใหม่ แบบนี้จะมีประโยชน์อะไร ปัญหา วังวนเดิมๆ จะเกิดขึ้นไม่จบสิ้น ถ้าไม่รับฟังเสียงส่วนใหญ่ประเทศก็เดินไม่ได้ เศรษฐกิจเดินไม่ได้ ทุกคนจะลำบาก
วิษณุเรียกถกกมธ.-มท.-กกต.
นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่2 เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 ส.ค.เวลา 14.00 น. กมธ.ยกร่างฯ จำนวน 4 คนประกอบด้วย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายคำนูณ สิทธิสมาน นายประชา เตรัตน์ และตน จะไปร่วมประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พร้อมตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คือ นายประวิช รัตนเพียร และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร และตัวแทนจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อหารือถึงการทำประชามติ เนื่องจากหากที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย. ทางกกต.ก็จะต้อง เดินหน้าทำประชามติทันที แต่หากที่ประชุมสปช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทุกอย่างก็จบ
สนช.เล็งเสนอคำถาม-รบ.แห่งชาติ
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวถึงการจัดทำคำถามทำประชามติว่า สนช.จัดเตรียมและมอบให้กมธ.สามัญประจำสนช.ชุดต่างๆ ไปหารือว่าจะเสนอหรือไม่ คำถามอะไร จากนั้นให้กมธ.ส่งข้อสรุปให้กมธ.วิสามัญกิจการ สนช. หรือวิปสนช. พิจารณาในวันที่ 7 ก.ย. หากสรุปว่าจะเสนอคำถามประชามติจะนำเข้าที่ประชุมสนช. วันที่ 8 ก.ย. เพื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่1) พ.ศ.2558 มาตรา 37 ที่กำหนดให้สนช.มีมติภายใน 3 วันนับแต่วันที่สปช. มีมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ การตั้งคำถามประชามติไม่มีเงื่อนไขใดๆ จะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้ ขณะนี้ทราบว่าประเด็นเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลปรองดอง ถูกยกมาพูดคุยกันอยู่
ประวิตรส่งโผทหารถึงนายกฯ
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการจัดทำบัญชีรายชื่อนายทหารระดับชั้นนายพลประจำปี 2558 ว่า ขณะนี้ได้ส่งบัญชีรายชื่อต่างๆ รวมถึงตำแหน่งผบ.ทบ.คนใหม่ ให้พล.อ.ประยุทธ์ เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการรอนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ยืนยันว่ากระบวนการทุกอย่างนั้นดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เชื่อว่าเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพราะถ้าทหารยอมรับ ใครๆ ก็ต้องยอมรับ
ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. และเลขาธิการคสช. กล่าวถึงบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปี 2558 ส่งถึงนายกฯแล้วว่า เป็นระยะเวลาปกติ ทุกเหล่าทัพ ได้ส่งไปตามลำดับชั้น ผ่านการประชุมคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดอย่างถูกต้อง มีผบ.แต่ละเหล่าทัพพิจารณาร่วมกัน ในส่วนของ กองทัพบกนายทหารผู้ใหญ่ที่อยู่ในข่ายการพิจารณาทุกคนไม่ได้มีปัญหา พร้อมรับตำแหน่ง ต่างๆ คิดว่าทุกคนไม่มีปัญหาถ้าได้รับการแต่งตั้ง
นายกฯไม่มีอำนาจเปลี่ยนโผ
เมื่อถามว่าเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ เป็นเหตุผลหนึ่งในการเลือกผบ.ทบ.คนใหม่หรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า นายกฯเคยให้สัมภาษณ์ว่าทุกอย่างต้องดูกันในระยะยาว เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงที่เป็นปัญหาก็จริงแต่ไม่ใช่เรื่องชี้ว่าใครจะเป็นผบ.ทบ.คนต่อไป เพราะการพิจารณาจะดูที่ความเหมาะสม ความสามารถและพิจารณากันมาระยะหนึ่งแล้ว เรื่องที่ถามจึงไม่เกี่ยวข้องกัน
เมื่อถามว่า การเลือก ผบ.ทบ.เป็นอำนาจของรมว.กลาโหม นายกฯ หรือคณะกรรมการ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า มีการประชุมคณะกรรมการไปแล้วเห็นชอบร่วมกันทุกครั้งไม่เคยมีปัญหา ดูประโยชน์ของภาพรวมเป็นหลัก ประกอบกับพิจารณาหารือกันไม่ถึงขนาดคิดกันคนละอย่าง เมื่อคุยกันถึงเหตุผล ผู้ใหญ่แต่ละคนจะรับฟัง ส่วนนายกฯก็รอรับรายชื่อจากคณะกรรมการที่ส่งขึ้นไปตามขั้นตอน ก็ถือ เป็นการพิจารณาร่วมกัน ระหว่างรมว.กลาโหม รมช.กลาโหม และผบ.เหล่าทัพ ต่างคนต่างดู
เมื่อถามว่านายกฯมีอำนาจปรับเปลี่ยนรายชื่อที่เสนอขึ้นไป ผบ.ทบ. กล่าวว่า ตรงนี้เป็นไปตามที่คณะกรรมการเสนอ ได้หารือกันแล้ว แต่รอเวลาเท่านั้น ซึ่งหลังมีมติที่ประชุมกรรม การทุกคนจะต้องเซ็นชื่อรับรอง ถือเป็นขั้นตอน ปกติ อย่าตกใจ กังวล
"สำคัญที่ใครขึ้นมาเป็นแล้วจะทำอย่างไรให้แต่ละเหล่าทัพสง่างาม เป็นสุภาพบุรุษของประชาชน ใครที่รับตำแหน่งภาระหน้าที่ต้องมา อยู่ที่บุคคลนั้น ต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อช่วยเหลือประชาชนและรัฐบาลให้รอดพ้นจากอุปสรรค ในห้วงต่างๆ ใครเป็นแล้วไม่ใช่ของสนุก ต้องมีความรับผิดชอบและทำให้ดีด้วย" พล.อ.อุดม เดชกล่าว
ศาลติงร่างรธน.ขัดขารัฐบาล
นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา กล่าววิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญว่า น่าเป็นห่วงว่าถ้ามีการบังคับใช้อาจทำให้รัฐบาล อ่อนแอไม่มีเสถียรภาพ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ต้องยึดโยงหมวดวินัยการคลัง จำกัดกรอบใช้เงินงบประมาณบริหารประเทศ รัฐบาลไม่สามารถทำโครงการหาเสียงได้ง่าย ทำได้ต้องเห็นพ้องทั้งฝ่ายค้าน วุฒิสภา หรือคปป. การบริหารประเทศต้องเป็นไปตามฉันทามติ ทำให้ รัฐบาลขาดเสถียรภาพมาก มาตรา 118 เรื่องสัดส่วนวุฒิสภา เลือกตั้ง 77 คน 123 คนสรรหาซึ่งต้องผ่านสภา หรือสนช.ถือว่ามีดีเอ็นเอ มาจากคสช. หากเกิดขัดแย้งกับรัฐบาล สามารถ ถอดถอนรัฐบาลได้ง่าย จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีลักษณะพิเศษคือมีนโยบายมาจาก คสช. หากรัฐบาลไม่มีความเห็นในทำนองเดียวกันและเกิดความขัดแย้งจะทำให้รัฐบาลอ่อนแอ เป็นรัฐบาลขาเกี่ยวพันกัน ไปไหนต้องไปทิศทางเดียวกัน
นายศรีอัมพร กล่าวว่า มาตรา 160 ให้ ส.ส. 1 ใน 5 เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯได้หากร่ำรวยผิดปกติ หรือทุจริต แต่ต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแผนกวินัยการคลัง มาตรา 161 ให้ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 6 อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลได้อีกด้วยจะมีผลให้รัฐบาลมีเวลาทำงานน้อยลงและถูกตรวจสอบได้จากหลายองค์กร
ห่วงคปป.ไม่มีวาระ
นายศรีอัมพร กล่าวว่า มาตรา 260 กำหนดอำนาจพิเศษของคปป. มีตัวแทนจากฝ่ายการ เมืองเพียง 2 คนคือ นายกฯและประธานรัฐสภา ที่เหลือมาจากการแต่งตั้งจากคณะกรรมการชุดที่สืบมาจาก คสช. จึงเชื่อว่ากรรมการชุดนี้จะคอเดียวกับคสช. และมีลักษณะพิเศษอีกคือมาตรา 280 ให้ประธานคปป. โดยความเห็นชอบ ของกรรมการ 2 ใน 3 มีอำนาจสั่งการระงับ ยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหารและให้ถือว่าคำสั่งเป็นที่สุด หมายความว่าคปป.ชุดนี้มีอำนาจ ตรากฎหมายและปลดนายกฯได้ โดยที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนวาระการคงอยู่ของคปป. และสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรอง ดองไว้ด้วย ตีความได้ว่ากรรมการและสภาทั้ง 2 ชุดนี้ มีวาระคงอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด เพียงแต่หลังจากอยู่ครบ 5 ปีแล้ว คปป.จะไม่สามารถใช้อำนาจทางนิติบัญญัติได้ตามมาตรา 280 แต่ยังใช้อำนาจตามมาตรา 262 เสนอนโยบายไปยัง รัฐบาลและบังคับให้รัฐบาลทำตามนโยบายที่เสนอได้เรื่อยๆ โดยกรรมการชุดนี้ยังคงมีอยู่ต่อไปจนกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข เพราะในร่างระบุ เรื่องที่ห้ามแก้ไขไว้ 2 อย่างคือ แก้แล้วไม่เป็นประชาธิปไตยและห้ามแก้ในรูปแบบของรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นจะแก้ได้จึงต้องประกอบด้วยความเห็นชอบจากทุกภาคส่วน แน่นอนว่า ต้องประกอบด้วยตัวกรรมการยุทธศาสตร์ฯด้วย
นายศรีอัมพรกล่าวว่า เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้จะผ่านในขั้นตอนของ สปช.เพราะเสียง สะท้อนที่ค้านยังไม่เป็นกลุ่มก้อน สุดท้ายอาจลงประชามติซึ่งจะผ่านหรือไม่ผ่านขึ้นอยู่กับประชาชนมอง
รมต.ใหม่ ถือฤกษ์ ย่ำเข้ากระทรวง 'เอาชัย'ในวิกฤต ศก.
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข
(บน) นายอุตตม สาวนายน รมว.ไอซีที (ล่าง) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน
หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 3 เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ก่อนปฏิบัติหน้าที่ รัฐมนตรีป้ายแดงหลายคนฟิตจัดเดินทางเข้าที่ทำงานทันที เริ่มที่รองนายกรัฐมนตรีใหม่ ต่างทยอยเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่เช้าตรู่วันที่ 24 สิงหาคม
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ถือฤกษ์ดี เวลา 06.45 น. มาถึงทำเนียบ จากนั้นเข้าสักการะศาลท้าวมหาพรหมบนตึกไทยคู่ฟ้า โดยถวายช้างไม้แกะสลักคู่ ก่อนลงมาสักการะศาลพระภูมิเจ้าที่และศาลตายายซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาล พร้อมถวายตุ๊กตานางรำและผลไม้มงคล
ทั้งนี้ "สมคิด" จะใช้ห้องทำงานเดิมของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1
ส่วน "บิ๊กเข้" พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ ถือฤกษ์ 09.15 น. ให้ทหารติดตามขนของใช้ส่วนตัวจากกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ อุปกรณ์สำนักงาน ตู้เสื้อผ้า รวมถึงพระพุทธรูปและรูปหล่อจำลอง พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งเป็นบิดาแห่งทหารเรือไทยเข้ามายังห้องทำงานภายในตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ "บิ๊กเข้" จะใช้ห้องทำงานเดิมของ "บิ๊กเจี๊ยบ" พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ ด้านต่างประเทศ ซึ่งอยู่ชั้น 3 โดย "บิ๊กเจี๊ยบ" จะย้ายไปใช้ห้องทำงานของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ชั้น 4
ส่วน "บิ๊กจิน" พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ จะใช้ห้องทำงานเดิมของ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกฯ ที่อยู่ชั้น 3
ขณะที่ "บิ๊กโย่ง" พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เข้าพบนายกฯ ในตึกไทยคู่ฟ้าช่วงเช้า คาดกันว่าจะนำรายชื่อประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) คนใหม่ เสนอให้นายกฯพิจารณา ก่อนที่ "บิ๊กโย่ง" จะนำพระพุทธรูปในห้องทำงานเดิมที่ทำเนียบ ไปยังกระทรวงพลังงาน
ต่อมาเวลา 10.15 น. "บิ๊กโย่ง" เดินทางถึงกระทรวงพลังงาน ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ก่อนเข้าสักการะศาลท้าวมหาพรหม ด้านหน้าอาคารเอ็นโก้ โดยมีข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงให้การต้อนรับ อาทิ นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
หลัง "บิ๊กโย่ง" สักการะเสร็จ ก็จับมือทักทายข้าราชการและผู้บริหารที่มาต้อนรับ บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น จากนั้นได้แตะบัตรช่องทางเข้าปกติเพื่อขึ้นไปยังห้องทำงานชั้น 25 อาคารเอ็นโก้ บี
สำหรับ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล หรือ "บิ๊กบี้" รมว.แรงงาน และปลัดกระทรวงกลาโหม ถึงกระทรวงแรงงานเวลา 08.29 น. เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย พระพุทธชินราชจำลองบริเวณหน้ากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ศาลท้าวมหาพรหมเทวฤทธิ์ และศาลพระภูมิชัยมงคล และเดินเยี่ยมชมอาคารสำนักงานบริการจัดหางานเพื่อคนไทย (สมาร์ทจ็อบเซ็นเตอร์) หรือตึกลูกกวาด
จากนั้นแวะดื่มกาแฟที่ร้านค้าภายในกระทรวงร่วมกับข้าราชการระดับสูง อาทิ นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน นางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) โดยนายนครสั่งชาอู่หลงเลี้ยงรับรอง "บิ๊กบี้" 2 กา เพื่อรอฤกษ์เวลา 09.09 น. เข้าห้องทำงานบริเวณชั้น 6 อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)
หลังนั่งคุยกันไม่นาน "บิ๊กบี้" เดินออกจากร้าน โดยสั่งให้ผู้ติดตามจ่ายค่าน้ำชาเป็นเงิน 2,000 บาท เจ้าของร้านปฏิเสธไม่รับเงิน แต่ "บิ๊กบี้" กำชับให้รับเงินดังกล่าว เจ้าของร้านบอกว่าถือเป็นโชคดี เพราะตั้งแต่เปิดร้านมายังไม่มีรัฐมนตรีคนใดแวะที่ร้าน และจ่ายค่าน้ำชาราคาแพงขนาดนี้
ขณะที่ "บิ๊กเต่า" พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ที่โยกจาก รมว.แรงงาน ไปเป็น รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เดินทางเข้า ทส.แบบชิลๆ โดยมี เกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัด ทส.และอธิบดีทุกกรม ตบเท้ารอต้อนรับอย่างพร้อมเพรียง
"บิ๊กเต่า" เข้าสักการะพระพุทธสยัมภู พระพุทธรูปประจำกระทรวง และพระภูมิเจ้าที่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในกระทรวง ก่อนจะขึ้นไปยังห้องทำงานชั้น 20 ซึ่งผู้บริหารระดับสูงรอแนะนำตัวอยู่
"บิ๊กเต่า" บอกว่า แม้ว่าเวลานี้ห้องทำงานยังไม่เรียบร้อย แต่ขอมีเพียงโต๊ะกับเก้าอี้อย่างละตัวก็ทำงานได้เลย
"เดี๋ยวพบปะกับเจ้าหน้าที่กระทรวงแล้วมีงานอะไรมาให้เซ็น ผมก็เซ็นทันที ทำงานได้เลยครับ เมื่อวาน (23 สิงหาคม) คุยกับท่านดาว์พงษ์ (รัตนสุวรรณ อดีต รมว.ทส.) แล้ว บรีฟงานกันคร่าวๆ แล้ว ไม่มีปัญหาครับ สานต่องานได้ทันที" บิ๊กเต่ายืนยัน
รมว.ทส.คนใหม่ บอกอีกว่า ในห้องทำงานตอนนี้ ไม่มีเฟอร์นิเจอร์อะไรเลย มีเพียงพระพุทธเมตตาเสนานาถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่นายกฯจัดสร้างในสมัยที่ยังเป็น ผบ.ทบ. โดยพระพุทธรูปดังกล่าวรวมเอาพุทธศิลป์ 5 ยุคมาไว้ในองค์เดียวกัน ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อมีความหมายว่าพระพุทธเจ้าทรงมีเมตตาแก่หมู่ทหาร นำมาไว้เพื่อความเป็นสิริมงคลของตัวเอง และเป็นกำลังใจในการทำงาน
"วันที่เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตนนั้น เหมือนเป็นการให้สัญญากับประเทศชาติ และองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วว่า จะอุทิศตัวเอง และตั้งใจทำงานให้ประเทศชาติอย่างเต็มที่เต็มความสามารถ" พล.อ.สุรศักดิ์ให้สัญญา
ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) "บิ๊กหนุ่ย" พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศธ. และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศธ. ถือฤกษ์ 13.29 น. เข้าสักการะพระพุทธบารมีศักดิ์สิทธิ์สยามิศรจักรี สัฏฐีอนุสรณ์ศึกษาทรรังสรรค์ พระพุทธรูปประจำกระทรวง ศาลพระภูมิเจ้าที่ และพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 โดยมี "บิ๊กน้อย" พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ.พร้อมผู้บริหารให้การต้อนรับ จากนั้นเข้ารับฟังการทำงานของ ศธ.
"บิ๊กหนุ่ย" บอกกับข้าราชการ ศธ.ว่า รู้สึกอบอุ่นและสบายใจที่ทำงานในหน้าที่ใหม่ พร้อมสั่งปลัด ศธ.ตั้งกรุ๊ปไลน์ ผู้บริหารระดับ 10 และ 11 เพื่อให้การสั่งการและการทำงานต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว และขอให้ผู้บริหารองค์การหลักทั้ง 5 แท่ง ไปดูรายละเอียดถึงปัญหาของตนเองให้แน่ชัด ก่อนนัดถกอีกครั้งวันที่ 25 สิงหาคม
จากนั้น "บิ๊กหนุ่ย" เข้าห้องทำงานและเซ็นแฟ้มงานครั้งแรกตามธรรมเนียม ก่อนเดินลงมาดูห้องทำงานต่างๆ ภายในศธ. รวมถึงห้องผู้สื่อข่าว โดยทักทายผู้สื่อข่าวอย่างเป็นกันเอง
"บิ๊กหนุ่ย" บอกว่า ที่เข้า ศธ. เวลา 13.29 น. ไม่ได้ถือเคล็ดอะไร แต่ช่วงเช้าไปอำลาข้าราชการในกระทรวง ทส. ตอนนี้ขอเวลาศึกษางานใหม่ก่อน
ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) เดินทางเข้ากระทรวง เวลา 09.00 น.เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง อาทิ อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จากนั้นไปห้องทำงานที่ชั้น 4 อาคารสำนักงานปลัด สธ. จุดธูปเทียนบูชาพระพุทธรูปประจำห้องทำงาน และลงนามในหนังสือรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ สธ.
ต่อมาเดินลงไปรับฟังรายงานการบริหารงานจากข้าราชการประจำ พร้อมมอบนโยบายที่ห้องประชุมชั้น 2 ซึ่งก่อนการประชุม โดยมี "นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์" ปลัด สธ. เป็นผู้แทนข้าราชการมอบดอกไม้แสดงความยินดี
ขณะที่ อุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ถือฤกษ์ เวลา 09.30 น. เดินทางเข้าสักการะท้าวมหาพรหม บริเวณศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกระทรวงไอซีที มีข้าราชการและผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงไอซีทีให้การต้อนรับ ท่ามกลางแสงแดดร้อนระอุ
ทั้งนี้ "อุตตม" นำพระพุทธรูปที่เคารพบูชาจากบ้านมาร่วมพิธีสักการะ ก่อนนำไปบูชาไว้ในห้องทำงานที่กระทรวงการคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลังคนใหม่ เดินทางมาถึงเวลา 06.45 น. มีข้าราชการ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ และผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ให้การต้อนรับอย่างคับคั่งเช่นกัน
กระทั่งเวลา 07.15 น. สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงคือ พระพรหม ศาลเจ้าที่ พระคลัง พระบรมรูปรัชกาลที่ 5 พระประจำกระทรวง
ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ รมว.คลัง ไม่ได้ไหว้ช้างไม้คู่ เนื่องจากถูกนำไปบูรณะ ขณะที่ข้าราชการและผู้สื่อข่าวจับตาดูเลขทะเบียนรถยนต์ หมายเลข 988 ของ "อภิศักดิ์" เนื่องจากที่ผ่านมาเลขทะเบียนรถของ "ขุนคลัง" เกือบทุกคนมักออกรางวัล
ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเวลา 08.00 น. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์คนใหม่ เดินทางถึงอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ชั้น 10 และเข้าห้องทำงาน
เวลา 08.30 น. อภิรดี ตันตราภรณ์ ที่ขยับจาก รมช.พาณิชย์ เป็น รมว.พาณิชย์ เดินทางมาถึงกระทรวงและเข้าห้องทำงานเดิมที่ชั้น 10 เจ้าหน้าที่ช่วยกันขนย้ายข้าวของเครื่องใช้ในห้องเดิมของ "อภิรดี" ขึ้นไปชั้น 11 ซึ่งเป็นห้องทำงานประจำตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ โดยปลดป้ายชื่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีต รมว.พาณิชย์ ที่โยกไปนั่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกไป แล้วนำป้ายชื่อของ "อภิรดี" มาปิดแทน
ด้าน ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เดินทางเข้ากระทรวงเวลา 09.20 น. โดยเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงคมนาคมคือ พระพุทธคมนาคมบพิตร และศาลพระภูมิประจำกระทรวง โดยมี สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม และข้าราชการระดับสูง รอให้การต้อนรับ
"สร้อยทิพย์" ได้พา รมช.คนใหม่ขึ้นไปยังห้องทำงาน ชั้น 3 อาคาร 1 ซึ่งเดิมเป็นห้องของ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรมช.คมนาคม ที่ขยับขึ้นเป็น รมว.คมนาคม แต่บัดนี้ได้ย้ายลงไปชั้น 2 ซึ่งเป็นห้องทำงานเดิมของ 'บิ๊กจิน' พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีต รมว.คมนาคม ที่ย้ายไปนั่งรองนายกฯ บรรยากาศอันชื่นมื่นในวันเริ่มต้นทำงานของบรรดารัฐมนตรีป้ายแดงคึกคักเช่นเคย เพียงแต่คราวนี้เป็นความคึกคัก ท่ามกลางสารพัดปัญหาที่รุมเร้าประเทศn และรอพิสูจน์ฝีมือของรัฐมนตรีใหม่เหล่านี้ว่าจะจัดการกับสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างไร