- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 24 August 2015 20:01
- Hits: 12008
ผบ.ทบ.จบ-บิ๊กหมูซิว'ติ๊ก'ปลัด ครม.ใหม่ถวายสัตย์แล้ว รมต.คึกคักเริ่มงานวันนี้ สปช.จว.ไม่รับร่างรธน. พท.-ปชป.รุมซัดหมกเม็ด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกฯ นำรัฐมนตรีที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่ 19 คนเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตนด้านรมต.ใหม่เริ่มงานวันนี้ "อนันตพร" เตรียมแถลงแนวทำงานด้านพลังงาน เผยเรียกประชุมครม.ตู่ 3 นัดแรกวันอังคารนี้ คาดแบ่งงาน-มอบนโยบาย โพลชี้คนผิดหวังกับบางตำแหน่ง โผทหารจบแล้ว "บิ๊กหมู-ธีรชัยนั่งผบ.ทบ. ส่วนบิ๊กติ๊ก-ปรีชา เป็นปลัดกลาโหม สปช.จังหวัดโต้กมธ.ยกร่างรธน. เชื่อเสียงโหวตหนุนไม่ถึง 220 เสียง ผ่านแค่ครึ่งก็ยากแล้ว ชี้เหตุไม่รับเพราะไม่เป็นประชาธิปไตย สปช.บุรีรัมย์เผยเสียงชี้ขาดอยู่ที่สายอดีตขรก. แต่ถึงผ่านถ้า 2 พรรคใหญ่ไม่เอาด้วยก็คว่ำอยู่ดี "พท.-ปชป."ลั่นรับไม่ได้กับเนื้อหาร่างรธน. หมกเม็ด ทำเลือกตั้งไร้ความหมาย เปิดทางนายกฯคนนอก สืบทอดอำนาจคสช. "จาตุรนต์"ตั้งฉายารธน.ฉบับฮันนิบาล ด้าน"พีระศักดิ์ พอจิต"รองประธานสนช.ชี้ภาพรวมรับได้ แต่ห่วงคำถามประชามติทำล่ม เชื่อถ้าผ่านก็เดินตามโรดแม็ป เลือกตั้งปลายปี"59
วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9035 ข่าวสดรายวัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่ เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2558
'ประยุทธ์'นำครม.ใหม่ถวายสัตย์
เมื่อเวลา 17.40 น. วันที่ 23 ส.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำรัฐมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งใหม่ จำนวน 19 คน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาล เริ่มคึกคักตั้งแต่เวลา 15.00 น. รัฐมนตรีใหม่ทยอยเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ แต่งกายด้วยชุดปกติขาว ได้เดิน ทางมาถึงเป็นคนแรก ตามด้วยนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ จากนั้นรัฐมนตรีคนอื่นๆ เดินทางมาจนครบ ทั้งหมดลงรถบริเวณทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้าและตึกสันติไมตรี เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า โดยไม่อนุญาตให้ช่างภาพและผู้สื่อข่าว เข้าไปบันทึกภาพและทำข่าวในบริเวณดังกล่าว ให้อยู่เฉพาะบริเวณสนามหญ้าหน้าห้องผู้สื่อข่าว 2 เท่านั้น
เมื่อเวลา 15.50 น. พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางมาถึง และถ่ายภาพหมู่ร่วมกับครม.ใหม่ ที่ห้องโถงกลางภายในตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนนำรัฐมนตรีใหม่เดินทางไปร.พ.ศิริราช ในเวลา 16.12 น. โดยนายกฯ โบกมือทักทายกับสื่อมวลชน ก่อนขึ้นรถเบนซ์ส่วนตัว ทะเบียน ญค 1881 กรุงเทพมหานคร นำขบวนรัฐมนตรี ที่ใช้รถเมอเซเดส เบนซ์ รุ่นสปริน เตอร์ ทะเบียน อย 6436 กรุงเทพ มหานคร ของกองทัพบก และรถโฟลก์ตู้สีดำ ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ทั้งนี้ ทางสลน.ได้ถ่ายรูปติดบัตร ให้กับรัฐมนตรีใหม่ ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้าด้วย
"ตู่"นัดครม.ใหม่ประชุมอังคารนี้
เวลา 18.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครม.ใหม่ ได้เดินทางกลับเข้ามาที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตน และแยกย้ายขึ้นรถส่วนตัวที่จอดรถรับอยู่ เพื่อเดินทางกลับ โดยพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กลับเข้ามาด้วย
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสกับพล.อ.ประยุทธ์ ส่วนรายละเอียดขอให้ถามจากนายกฯ สำหรับการทำงานของรัฐมนตรีใหม่นั้น นายกฯ ยังไม่ได้กล่าวอะไรเป็นพิเศษ ระบุว่าจะเรียกประชุมครม.นัดแรกวันที่ 25 ส.ค.นี้
คาดแบ่งงาน-มอบนโยบาย
ขณะที่พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า สำหรับการทำงานในกระทรวง ในวันที่ 24 ส.ค. จะแถลงรายละเอียดให้รับทราบต่อไป
ด้านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยเรื่องการทำงานกับรมว.คมนาคม เพราะจะต้องรับมอบนโยบายและมอบหมายงานจากนายกฯก่อน ที่ผ่านมาเคยรับตำแหน่งประธานบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงคิดว่าจะนำมาปรับใช้ในการทำงานต่อไปได้ ทั้งนี้ นายกฯยังไม่ได้พูดคุยกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อย่างเป็นทางการ และยังไม่มีการพูดคุยกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯด้านเศรษฐกิจแต่อย่างใด คาดว่าการประชุมครม.วันที่ 25 ส.ค.นี้ จะพูดคุยเพื่อมอบหมายงานและมอบนโยบายครั้งแรก สำหรับตนจะเข้าทำงานที่กระทรวงคมนาคม ในวันที่ 24 ส.ค.นี้
เชื่อครม.ตู่3-รบ.มีเสถียรภาพมากขึ้น
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจเรื่อง "ครม.ประยุทธ์ 3" จากประชาชนทั่วประเทศ 1,247 คน วันที่ 20-22 ส.ค. พบว่า ร้อยละ 73.70 เชื่อทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ กระทรวงต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ร้อยละ 69.21 ระบุเป็นไปตามคาด ตามโผที่ออกมา เป็นการปรับครั้งใหญ่ของรัฐบาล ร้อยละ 67.04 หวังว่าครม.ชุดใหม่จะทำงานเต็มที่ แก้ปัญหาตรงจุดโดยเฉพาะเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว ส่งออก ร้อยละ 66.24 ระบุทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยในสายตาของชาวต่างชาติน่าจะดีขึ้น และร้อยละ 62.55 ระบุถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยน ครม.ชุดใหม่แต่ยังมีภาพของทหารที่เข้ามาดูแลอยู่
สิ่งที่ประชาชนสมหวังกับการปรับครม.ประยุทธ์ 3 ร้อยละ 78.91 ระบุได้ทีมเศรษฐกิจที่มีฝีมือ มีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ร้อยละ 72.01 ระบุปรับครั้งใหญ่ เพื่อความเหมาะสมและประโยชน์ต่อบ้านเมือง ร้อยละ 68.48 ระบุหลังจากปรับแล้วยังไม่มีความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้น ทุกคนน่าจะทำงานร่วมกันได้ดี
สิ่งที่ผิดหวังกับการปรับครม.ประยุทธ์ 3 ร้อยละ 70.49 เห็นว่าบางตำแหน่งน่าจะได้คนที่มีความรู้ความสามารถมากกว่านี้ ร้อยละ 68.00 เชื่อว่า การปรับครม.ครั้งนี้ ช้าเกินไป โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ ร้อยละ 60.22 เห็นว่ายังเป็นกลุ่มคนเดิมๆ เพียงสับเปลี่ยนตำแหน่ง อยากได้มืออาชีพมากกว่านี้
ร้อยละ 61.47 เชื่อว่ารัฐบาลทำงานได้ดีขึ้นเพราะครม.ใหม่มีประสบการณ์ มีฝีมือ เป็นที่ยอมรับ การปรับทีมเศรษฐกิจใหม่ น่าจะช่วยให้ดีขึ้น ร้อยละ 34.48 เชื่อว่าเหมือนเดิม เพราะรูปแบบการทำงานอาจเหมือนเดิม ทำตามนโยบาย การแก้ปัญหาต่างๆ ขณะนี้เป็นเรื่องยาก ร้อยละ 4.05 เชื่อว่าแย่ลง เพราะการทำงานไม่ต่อเนื่อง หยุดชะงักเสียเวลา เสียงบประมาณ เศรษฐกิจโลกมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
โผทหารจบแล้ว-"บิ๊กหมู"นั่งผบ.ทบ.
รายงานข่าวจากกระทรวงกลาโหม แจ้งว่า คณะกรรมการพิจารณาปรับย้ายนายทหารระดับนายพล ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้ประชุมสรุป โผแต่งตั้งโยกย้ายระดับนายพลเสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากมีคณะกรรมการบางคนติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ จึงรอให้กลับมาเซ็นรับทราบ โดยในสัปดาห์หน้า ปลัดกระทรวงกลาโหมจะนำบัญชีการโยกย้ายระดับนายพล เสนอให้นายกรัฐมนตรี ดูก่อนเพื่อหารือกับองคมนตรี เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้า ทูลกระหม่อมต่อไป
สำหรับตำแหน่งผบ.ทบ.ที่มีการถกเถียงกันนั้น เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วยผบ.ทบ. ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ขณะที่พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของพล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม
กมธ.หวั่นไม่ผ่านประชามติ
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า หลังจากส่งร่างรัฐธรรมนูญให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้พิจารณาแล้ว กระบวนการทำงานของกมธ.ยกร่างฯ นับจากนี้จะเดินหน้าชี้แจงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญตามสื่อต่างๆ โดยวันที่ 25 ส.ค. สมาชิกสปช.จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความ คิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ทางกมธ.ยกร่างฯจะไปชี้แจงและตอบข้อซักถามด้วย ส่วนผลการตัดสินใจของสมาชิกสปช.ในวันที่ 6 ก.ย.จะออกมาอย่างไรนั้น ตนไม่อยากคาดการณ์ ปล่อยตามธรรมชาติ อีกทั้งขณะนี้สปช. เพิ่งได้รับร่างรัฐธรรมนูญไป ต้องรอให้อ่านร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดก่อน ส่วนจะตัดสินใจอย่างไร ขึ้นอยู่กับดุลนิพิจของสปช.แต่ละคน
ครม.ใหม่ - คณะรัฐมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งใหม่ ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกร่วมกันที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 ส.ค ก่อนเดินทางไปเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ร.พ.ศิริราช |
"แม้ขณะนี้จะมีคนแสดงความเห็นทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ยอมรับว่ายากที่จะทำให้เกิดความพอใจได้ แต่เราพยายามทำให้ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขและเหตุการณ์วิกฤต เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญแบบเก่าๆ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สุดท้ายหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากสปช.แล้วก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชนอีกครั้ง หากประชาชนไม่เอาด้วยทุกอย่าง ก็จบ" โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าว
สปช.จว.ชี้เสียงหนุนไม่ถึง 220 คน
นายทรงชัย วงศ์สวัสดิ์ สมาชิกสปช.ลำพูน กล่าวถึงกมธ.ยกร่างฯมั่นใจมีเสียงสปช.กว่า 220 เสียงสนับสนุนร่างรัฐธรรม นูญว่า ยังไม่แน่ เพราะเชื่อว่าสมาชิกสปช.แต่ละคนยังต้องใช้เวลาศึกษาเนื้อหาที่เพิ่ง ได้รับมาเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ก่อนตัดสินใจ ตนจะพิจารณาจากเนื้อหาสาระประกอบกับสถานการณ์บ้านเมืองเป็นหลัก โดยเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเมือง ต้องดูว่ามันไปไม่ได้หรือไม่ ต้องคำนึงถึงสถานการณ์บ้านเมืองในอนาคตด้วย
ด้านนายประเสริฐ ชิตพงศ์ สมาชิกสปช.สงขลา กล่าวว่า กำลังศึกษาร่างรัฐธรรมนูญอยู่ เบื้องต้นเห็นว่าประเด็นสำคัญเรื่องการให้อำนาจหน้าที่พลเมืองในการมีส่วนร่วมต่อการตรวจสอบ ถูกตัดออกไปเยอะจาก ร่างแรก แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้ ส่วนประเด็นสำคัญอย่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ก็เห็นด้วยในหลักการ แต่ยังมีข้อกังวลในแง่ที่มาและอำนาจหน้าที่ที่มีมากว่า อาจถูกมองว่าสืบทอดอำนาจได้ ส่วนภาพรวมการลงคะแนนตอนนี้ มีแนวโน้มว่าจะไปทางรับร่างมากขึ้น แต่คงไม่สูงถึง 220 คะแนน เชื่อว่าความชัดเจนในการลงมติจะมีมากขึ้น หลังการหารือในวันที่ 25 ส.ค.นี้
สปช.บุรีรัมย์ลั่นทำใจรับไม่ได้
นายทิวา การกระสัง สมาชิกสปช.บุรีรัมย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้ง น่ารักน่าชัง เรื่องดีมีอยู่มาก แต่เรื่องที่เกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตยนั้น ตนคงทำใจโหวตรับได้ยาก เพราะกำหนดให้มีนายกฯคนนอกได้ องค์กรตรวจสอบรัฐบาลก็มีมาก จนทำให้ฝ่ายบริหารทำงานไม่ได้ ที่สำคัญคือ คปป. ที่มีอำนาจหน้าที่เยอะมาก กลายเป็นเขียนขัดกับมาตรา 3 ที่กำหนดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย กลายเป็นการเขียนกฎหมายยกอำนาจประชาชนไปให้คณะบุคคลไม่กี่คน อ้างว่าเผื่อไว้สำหรับวิกฤต ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้ว วิกฤตทางการเมืองมันไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนอย่างภัยธรรมชาติที่คาดการณ์ได้ยาก แต่มันเกิดมาจากการกระทำของคนด้วยกันเอง
ส่วนที่กมธ.ยกร่างฯ ระบุเสียงเห็นชอบสูงถึง 220 เสียง นายทิวากล่าวว่า เหมือนดูถูกสมาชิกสปช.ด้วยกันเอง เพราะสปช.เพิ่งจะได้รับร่างมาเพียง 1 วัน ยังต้องใช้เวลาศึกษาก่อนตัดสินใจ ซึ่งยังมีเวลากว่า 2 สัปดาห์ก่อนลงมติ ซึ่งตอนนี้มีความเป็นไปได้อยู่ทั้ง 2 ทางคือ รับและไม่รับ ฝ่ายไม่รับก็มีคะแนนเสียงยืนพื้นอยู่ 60-70 เสียง ประกอบด้วย สมาชิกสปช.ของกมธ.การเมืองและกมธ.กฎหมายฯ รวมกับ สมาชิกสปช.ที่ไม่ได้รับการสนองตามคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ
ชี้ผ่านยากทั้งสปช.-ทำประชามติ
นายทิวากล่าวว่า คะแนนสมาชิกสปช.ที่จะมาชี้ขาดร่างรัฐธรรมนูญ จะมาจากกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนมากพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นสายอดีตข้าราชการ จะใช้เกณฑ์พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในภาพรวมและสถานการณ์ทางการเมืองเป็นหลัก ด้วยการประเมินว่าไม่ว่าจะโหวตรับหรือไม่รับก็ต้องกลับบ้านเหมือนกัน อีกทั้งมองว่ายังไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง เพราะเกรงว่าสถานการณ์จะกลับไปเป็นเหมือนก่อนหน้านี้ ต้องให้คสช.อยู่แก้ปัญหาต่อไปอีกสักระยะ ที่สำคัญคือการประเมินว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านสปช.ไป แต่ไม่ผ่านการทำประชามติของประชาชนก็ไม่มีประโยชน์ เพราะต้องเสียงบประมาณมากกว่า 3,000 ล้านบาท ไปอย่างเปล่าประโยชน์
"ไม่ต้องพูดถึง 220 เสียง เอาแค่ 125 เสียงที่จะใช้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญของสปช.ยังเป็นไปได้ยาก ทุกอย่างยังมีความเป็นไปได้หมด ห้ามลืมเด็ดขาดว่าหาก 2 พรรคใหญ่ที่มีฐานเสียงรวมกันร่วม 20 ล้านคน ออกมาแสดงท่าทีไม่เอาด้วยกับร่างฉบับนี้ ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะผ่านการทำประชามติ" นายทิวากล่าว
ยังติดใจที่มาส.ว.-ให้ครม.สรรหา
นายชาลี เจริญสุข สมาชิกสปช.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ตนอ่านร่างรัฐธรรมนูญไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่พบว่าเนื้อหาไม่แตกต่างจากร่างแรกที่ส่งให้สปช.เมื่อเดือนเม.ย. โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้ง จำนวนสัดส่วนของส.ส.แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย เท่าที่ประเมินมีเปลี่ยนแปลง 5-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนในวันที่ 25 ส.ค. ที่สปช.จะจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตนคงไม่ซักถามประเด็นใดจากกมธ.ยกร่างฯอีกแล้ว เพราะซักถามไปก็ไม่มีการแก้ไข
นายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสปช. กล่าวว่า ตนอ่านไปพอสมควรแล้ว เนื้อหาสาระส่วนใหญ่พอรับได้ แต่มีบางประเด็นที่ติดใจเป็นพิเศษ คือที่มาของส.ว. ซึ่งกมธ.ยกร่างฯกำหนดให้ส.ว.มาจากการสรรหามากกว่าการเลือกตั้ง และในบทเฉพาะกาลก็ยัง กำหนดให้ครม. ตั้งกรรมการขึ้นมาสรรหา ส.ว.ในช่วง 3 ปีแรกหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้อีกด้วย ซึ่งตนมองว่าไม่เหมาะสม แต่ยืนยันว่าประเด็นที่ติดใจนั้นไม่มีผลต่อการตัดสินใจโหวตรับหรือไม่รับในวันที่ 6 ก.ย.นี้แน่นอน เพราะการตัดสินใจ จะดูเนื้อหาทั้งหมดเป็นหลัก ซึ่งภาพรวมทั้งหมดพอรับได้ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนี้
วันชัยเชื่อคปป.ก่อวิกฤตประเทศ
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. กล่าวว่า เท่าที่พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างแท้จริงและไม่สามารถปฏิรูปประเทศได้ต่อไป ทั้งยังเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิป ไตยที่มีเนื้อร้ายสอดแทรกอยู่ ซึ่งก่อให้เป็นพิษ เกิดวิกฤตต่อประเทศในอนาคต เนื่องจากเนื้อหาสาระหลักยังไม่มีกลไกทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วจะมีการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม ทั้งระบบการเลือกตั้งส.ส.เป็นแบบสัดส่วนผสมจะทำให้เกิดรัฐบาลอ่อนแอ ไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศในภาวะเช่นนี้ได้
นายวันชัยกล่าวว่า ส่วน คปป.เชื่อว่าจะเป็นเนื้อร้ายที่สร้างพิษก่อวิกฤตให้กับประเทศ เพราะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่เอาด้วย ยิ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับ คสช.จะหาทางทำลายและแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือขัดแข้งขัดขาทำให้การทำงานของ คปป.ไปไม่ถึงไหน ยิ่งนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหมเสียเอง จะคุม ผบ.เหล่าทัพและตำรวจ คปป.จะทำอะไรได้
ย้ำอีกไม่โหวตรับร่างรธน.
"ถ้าผมเป็น คสช.พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วคงไม่เอาด้วยกับคปป. เพราะสถาน การณ์ตอนนั้นกับตอนนี้ย่อมไม่เหมือนกัน ตอนนี้มีอำนาจ ตอนนั้นอาจไม่มีก็ได้ กมธ.ยกร่างฯ เขียนไว้เหมือนเอาใจให้ คสช.ปฏิรูปและสร้างความปรองดองต่อไป แต่ ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้แล้วอาจจะสร้างความช้ำใจและความผิดหวังให้กับ คสช.ในอนาคตก็ได้" นายวันชัยกล่าว
นายวันชัยกล่าวว่า การตัดสินใจโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ไม่ใช่ดูแค่ร่างรัฐธรรมนูญว่าดีหรือไม่ดีเท่านั้น แต่เป็นการโหวตตัดสินใจต่อการรับผิดชอบในการแก้ปัญหาของประเทศเพื่อให้ประเทศเดินต่อไป ตนจึงมั่นใจว่า สปช.คงพิจารณาจากเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญและสถานการณ์ของบ้านเมืองมาประกอบต่อการตัดสินใจ ตนยังไม่มั่นใจและไม่แน่ใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแก้ปัญหาของประเทศได้ จึงไม่อาจลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้
ชี้มีนายกฯคนนอกเพื่อแก้วิกฤต
เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมา นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญว่า จากการศึกษาเห็นว่า กมธ.ยกร่างฯ ฟังเสียง สมาชิกสปช. สนช. คสช. และ ครม.ที่เสนอมาพอสมควร และได้รับการแก้ไขมาระดับหนึ่ง ถือว่าหลักการพื้นฐานพอไปได้ แต่จะให้พอใจทุกคนเป็นไปไม่ได้ บางคนอาจติดใจเรื่องที่มานายกฯ คนนอก แต่อยากให้มองหลักการ ในเมื่อเราเคารพเสียงของประชาชนใช้สิทธิ์แสดงความเห็นจากส.ส. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส.ส.เลือกนายกฯแต่เปิดช่องทางให้ส.ส.จำนวน 2 ใน 3 มีมติเลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ เราก็ต้องเคารพเสียงของประชาชน อาจใช้ในกรณีวิกฤตพิเศษ ไม่ต้องอ้างมาตรา 7 เหมือนวิกฤตที่ผ่านมา สุดท้ายส.ส.ก็เป็นคนเลือกนายกฯ ถ้าไม่จำเป็นจริงก็ไม่เลือกนายกฯ คนนอก ก็ต้องเลือกคนที่มาจากพรรคการเมือง
นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับภาวะของประเทศในขณะนี้ ต้องยอมรับว่ามีการหวาดระแวงคนที่เป็นส.ส.หรือนักการเมือง จึงอยากให้มองย้อนกลับไปและส่งเสริมคนดีเข้าสู่ระบบการเมืองมากขึ้น ซึ่ง กกต.ต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์มากขึ้น ส่วนพรรคการ เมืองต้องมีอุดมการณ์จริงๆ แม้จะมีพรรคจำนวนมากก็ไม่เป็นไร และต้องมีกลไกคุ้มครองส.ส.โดยเฉพาะการลงมติต้องอิสระ ไม่ใช่ถ้าไม่ทำตามมติพรรคก็ต้องพ้นจากส.ส.หรือออกจากพรรค เพื่อทำหน้าที่ให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ คานอำนาจให้กับประชาชน
"พีระศักดิ์"รับได้ภาพรวมรธน.
เมื่อถามว่าการลงมติของ สปช.ในวันที่ 6 ก.ย.คาดจะรับหรือไม่ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า เป็นดุลพินิจของ สปช.แต่ละคน แต่ภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญถือว่าดี ขอให้มองจุดมุ่งหมายข้างหน้า เพื่อให้ทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการปกติ ให้มีการเลือกตั้ง แม้บางคนอาจจะไม่ไว้ใจเรื่องหลังการเลือกตั้ง แต่จะมี คปป.คอยดูแลรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระดับหนึ่ง ซึ่งคงไม่ปล่อยให้มีเหตุการณ์ที่ย้อนกลับไปสู่อดีตได้ง่ายๆ สปช.ต้องคิดให้รอบคอบ มองภาพว่าประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร อย่าเอาแต่มองประเด็นย่อย เช่น ส.ว.เป็นปลาสองน้ำหรืออื่นๆ จะถูกใจทุกอย่างเป็นไม่ได้ ไม่พอใจประเด็นนี้ก็เอามาขวางเส้นทางเดินประเทศที่จะเข้าสู่กระบวนการปกติชะงักลง
"ผมแปลกใจ มีคนจุดพลุในประเด็นรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ กลุ่มอดีตส.ส. พรรคเพื่อไทยก็บอกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร กับพรรคประชาธิปัตย์แม้จะพูดก็ยังไม่พูดกันเลย ผมสงสัยว่าทำไมเมื่อเข้ามาอยู่สภา เป็นตัวแทนของประชาชน ทำไมถึงขั้นไม่พูดกันเลย แม้จะอยู่คนละพรรค หรือส.ว.สรรหากับส.ว.เลือกตั้ง ไม่มองหน้ากัน มันเกิดอะไรขึ้นในองคาพยพ บุคคลสำคัญในฝ่ายนิติบัญญัติ เหตุการณ์นี้ทำไมจึงเกิดในบ้านเมืองเรา ซึ่งความจริงต้องเข้าใจกัน" นายพีระศักดิ์กล่าว
เชื่อทุกอย่างเดินตามโรดแม็ป
เมื่อถามว่า สนช.เตรียมตั้งคำถามเพื่อทำประชามติแล้วหรือยัง นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ต้องรอดูวันที่ 6 ก.ย.ว่า สปช.จะลงมติอย่างไร ถ้าผ่านเราก็ให้ตั้งคำถามภายใน 3 วันเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณา ซึ่ง สนช.เตรียมวางแผนไว้แล้ว ถ้าไม่ผ่านก็จบ ไม่ต้องตั้งคำถาม อย่างไรก็ตาม มีการแจ้ง กมธ.สามัญประจำทั้ง 16 คณะให้หารือว่าจะตั้งคำถามหรือไม่ ถ้าตั้งจะถามอะไร จากนั้นนำเข้าสู่ที่ประชุม กมธ.วิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เพื่อหารือเบื้องต้นก่อนนำเข้าที่ประชุม สนช.ในวันที่ 8 ก.ย. เพื่อพิจารณาว่าจะตั้งคำถามหรือไม่ หรือจะตั้งคำถามอะไร
"ทุกอย่างเดินไปตามโรดแม็ป หาก วันที่ 6 ก.ย.สปช.มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องทำประชามติ เมื่อทำประชามติเสร็จก็กำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนเวลาที่กำหนด คาดว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นปลายปี 2559 เพราะจะต้องทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และส.ว.ให้เสร็จสิ้นก่อน" นายพีระศักดิ์กล่าว
เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญจะมีโอกาสผ่านการทำประชามติหรือไม่ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า พูดไม่ได้ แต่ประชาชนคงไม่ได้ศึกษารัฐธรรมนูญทั้งร่าง เขาคงดูแค่จะมีการเลือกตั้งส.ส.อย่างไร มีกี่คน ถ้าเป็นอย่างนี้โอกาสรัฐธรรมนูญผ่านมีสูงแล้ว แต่ตนเป็นห่วงเรื่องการตั้งคำถามทำประชามติมากกว่า เพราะคำถามจะทำให้มองเห็นภาพว่าหลังเลือกตั้งจะมีรัฐบาลแบบไหน เชื่อว่าไม่มีพรรคไหนไม่อยากให้รัฐธรรมนูญผ่าน
"เจตน์"ซัดกมธ.ไม่ไว้ใจสนช.
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธาน กมธ.การสาธารณสุข สนช. กล่าวว่า กมธ.สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นประธาน จะประชุมในสัปดาห์หน้า เพื่อศึกษาและวิเคราะห์เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ แต่เท่าที่ดูเบื้องต้นตนไม่เห็นด้วยกับบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำหนดสัดส่วนให้มี กมธ.ยกร่างฯ เป็น กมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ถือว่าไม่ไว้วางใจและดูแคลน สนช. เพราะการพิจารณากฎหมายแม้ไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เรามีประสบการณ์พิจารณากฎหมาย สนช.ต้องยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่ทำอะไรที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้อยู่แล้ว ดังนั้น เราจะออกกฎหมายลูกที่ผิดหรือ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ เรารู้ดีในการหน้าที่ จะต้องป็นกลางและคำนึงถึง ผลประโยชน์ของประเทศ อีกทั้งเรามีประสบการณ์ในการออกกฎหมาย แต่เมื่อกำนดไว้เช่นนี้ก็คงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ทำให้ สนช.ไม่สบายใจที่ไม่ได้รับความไว้วางใจ ซึ่งคงจะหารือกันในกมธ.
ศาลปค.หนุนตั้งศาลสิ่งแวดล้อม
ที่โรงแรมเวลคัม เวิลด์ บีช รีสอร์ทแอนด์สปา จ.ชลบุรี สำนักงานศาลปกครอง ได้เผยแพร่ผลการประชุมคณะตุลาการศาลปกครองชั้นต้นทั่วประเทศ ถึงกรณี สปช.และ กมธ.ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นชอบให้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเสนอตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม ทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง และเป็นศาลชำนัญพิเศษในศาลยุติธรรมว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลปกครองชั้นต้นทั่วประเทศ เห็นพ้องตรงกันว่าศาลปกครองสนับสนุนและพร้อมมีส่วนร่วมการปฏิรูปในด้านดังกล่าว รวมถึงสนับสนุนแนวคิดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม โดยเป็นศาลที่จะบูรณาการพิจารณาพิพากษาคดี ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งไปพร้อมกัน ซึ่งจะเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เอกชนผู้กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดความเสียหาย ต้องรับผิดชดใช้เยียวยาความเสียหายในทางแพ่ง และได้รับโทษในกรณีความผิดอาญาในคราวเดียวกัน
อย่างไรก็ดี หลักคิดและระบบกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติฯ ของประเทศไทยนั้น รัฐมีหน้าที่ อำนาจและความรับผิดชอบตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การพิจารณาพิพากษา ข้อพิพาทในส่วนดังกล่าวอันเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของรัฐหรือฝ่ายปกครอง จึงเป็นข้อพิพาททางปกครอง มิใช่องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญอย่างเดียวกับข้อพิพาทในทางอาญาและทางแพ่ง ดังนั้น ตุลาการศาลปกครองฯ สนับสนุนอย่างเต็มที่ให้มีการแก้ไขเยียวยาข้อพิพาทที่เป็นคดีสิ่งแวดล้อม โดยทำงานร่วมกันระหว่างศาลยุติธรรมหรือศาลชำนัญพิเศษที่จะจัดตั้งขึ้น ซึ่งจะเป็นผู้บูรณาการการพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมในทางอาญาและทางแพ่ง กับศาลปกครองซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมในทางปกครองให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป
"อ๋อย"ซัดรธน.ใหม่เลวร้ายกว่าเดิม
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ส่วนตัว ถึงเหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่แอบไปมุบมิบ ยกร่างอย่างลับๆ ล่อๆ อยู่นาน กำลังจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายที่สุด เป็นเผด็จการที่สุดตั้งแต่เคยมีรัฐธรรมนูญมาในประเทศ ไทย ภาพรวมของเนื้อหาเชื่อมโยงกันเป็นระบบ ทำให้ไม่อาจรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ ด้วยเหตุผล 1.ทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมาย รัฐบาลหลังเลือกตั้งจะไม่สามารถบริหารประเทศตอบสนองความต้องการของประชาชนได้
2.ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในสภาพอ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพและจะ ถูกล้มไปได้โดยง่าย 3.เป็นระบบที่ออกแบบไว้เพื่อเปิดทางและเอื้ออำนวยให้คนนอกมาเป็นนายกฯ ซึ่งจะเข้ากันได้กับกลไกของรัฐธรรมนูญนี้มากกว่า 4.มีระบบการถอดถอนที่ทำลายหลักการของการตรวจสอบถ่วงดุลคือ ให้ส.ว.ที่มาจากการลากตั้ง มีอำนาจถอดถอนทุกฝ่ายและให้ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมีอำนาจถอดถอนส.ส.ฝ่ายค้านได้
วางระบบสืบทอดอำนาจคสช.
5.ไม่มีการแก้ไขปรับปรุงองค์กรตรวจสอบ จากการเลือกปฏิบัติและปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลโดยองค์กรอื่นหรือโดยประชาชน ทั้งยังเพิ่มองค์กรลักษณะเดียวกันอีกจำนวนมาก 6.วางระบบการสืบทอดอำนาจของ คสช.และกองทัพ อาศัยคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ควบคุมการทำงานของรัฐบาลและรัฐสภาต่อไปอีกยาวนาน 7.เปิดช่องให้สร้างเงื่อนไขนำระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จเต็มรูปแบบ เช่นเดียวกับการปกครองโดย คสช.มาใช้อย่างง่ายดาย ก็คือการทำรัฐประหารโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และ 8.รัฐธรรมนูญนี้เมื่อประกาศใช้แล้วไม่อาจแก้ไขได้อีก ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากยิ่งขึ้นโดยไม่มีทางออกตามกติกา
ตั้งฉายาฉบับ"ฮันนิบาล"
นายจาตุรนต์ระบุว่า ระหว่างที่ กมธ. ยกร่างฯ กำลังร่างอยู่นั้น เมื่อเสียงวิจารณ์มากขึ้นก็จะชี้แจงว่าเกิดจากการไม่ทราบ ข้อเท็จจริงที่ยังไม่มีการเปิดเผย แต่เมื่อเปิดเผยออกมาแล้วพบว่าร่างนี้มีเนื้อหาที่เลวร้ายกว่าที่เคยวิจารณ์กันเสียอีก นอกจากคงเนื้อหาที่เป็นปัญหาทั้งหลายไว้เป็นส่วนใหญ่แล้ว ยังหมกเม็ดบางเรื่องไว้โดยบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล และอีกหลายเรื่องกำหนดว่าจะไปบัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ โดยสนช. หมายความว่ายังอาจจะเลวร้ายยิ่งไปกว่านี้อีกด้วย
"อ่านร่างรัฐธรรมนูญนี้แล้วก็ไม่อาจเปรียบเทียบกับนางงาม แต่เป็นอะไรที่อัปลักษณ์และอันตราย คนสมัยก่อนอาจนึกถึงซีอุย ขณะที่คนสมัยนี้ที่ชอบดูหนัง ซีรีส์ฝรั่งก็อาจนึกถึงฮันนิบาลเสียมากกว่า" นายจาตุรนต์ระบุ
หมกเม็ดซุกระเบิดบทเฉพาะกาล
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญที่ กมธ.ยกร่างฯ ส่งให้กับ สปช.เพื่อลงมติรับหรือไม่รับในวันที่ 6 ก.ย.นี้ว่า สิ่งที่ลับลวงพรางมาตลอดทาง ได้เปิดเผยแล้ว ซึ่งเป็นร่างที่มีเนื้อหาเลวร้ายกว่าที่เคยรับรู้ก่อนหน้านี้เสียอีก ทั้งประเด็นนายกฯ คนนอก การเลือกตั้งไม่มีความหมาย ส.ว.เกินกว่าครึ่งมาจากการลากตั้ง อำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ยึดโยงประชาชน สถาปนาองค์กรอิสระมาก วางระบบสืบทอดอำนาจกองทัพ ยังหมกเม็ดวางกับระเบิดไว้หลายเรื่องในบทเฉพาะกาล
นายอนุสรณ์กล่าวว่า สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ ต่างคลอดออกมาจากมดลูกเดียวกัน ลงเรือแป๊ะลำเดียวกัน การพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับจึงไม่น่าตื่นเต้น เป็นแค่พิธีกรรมและตรวจเช็กรีโมตของผู้มีอำนาจว่ายังใช้งานได้ดีหรือไม่ในสถานการณ์นี้ ประชาชนมองข้ามช็อตถึงการทำประชามติ ที่ทุกฝ่ายควรมีโอกาสรณรงค์ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ไม่ควรปิดกั้นฝ่ายใด เชื่อว่าประชาชนจะลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แม้คนส่วนใหญ่อยากเลือกตั้ง แต่ถ้ารีบร้อนเลือกด้วยกติกาที่เป็นปัญหาจะส่งผลเสียมากยิ่งกว่า
"การใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 9 เดือน 18 วัน ประชุม 150 ครั้ง จะเห็นว่ามีส่วนเสียมากกว่าได้ ทั้งเสียของ เสียเวลา เสียงบประมาณ เสียความรู้สึก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นฉบับกดหัวประชาชน เป็นระเบิดเวลาที่จะปลดชนวนได้อย่างเดียวคือการทำรัฐประหารเท่านั้น" นายอนุสรณ์กล่าว
ปชป.จวกรธน.ล็อกเป้า-ซ่อนเร้น
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เพิ่งเห็นตัวร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สปช. นอกจากมีเนื้อหาพาประเทศไปสู่ทิศทางที่น่าเป็นห่วงแล้ว กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญดูเหมือนจะดำเนินแบบปกปิด จนรู้สึกเสมือนการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องส่วนตัวของ กมธ.ยกร่างฯ เท่านั้น คนอื่นไม่เกี่ยว ทั้งที่รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของคนไทยทุกคนและเกี่ยวข้องกับทุกสถาบัน ทุกคนจึงควรมีสิทธิ์มีส่วนรับรู้ แสดงความคิดเห็นและวิจารณ์ได้ตั้งแต่ต้นโดยผ่านกระบวนการยกร่างที่โปร่งใส เปิดเผย และ กมธ.ยกร่างฯ มีหน้าที่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำแค่เป็นพิธีกรรม ทั้งนี้ เมื่อได้ติดตามกระบวนการจัดทำมาตั้งแต่ต้น เห็นได้ชัดเจนว่ามีความพยายามผลักดันให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปตามเป้าหมาย และซ่อนเร้น
นายจุรินทร์กล่าวว่า เป้าหมายนี้ถูกระบุไว้ในการเขียนรัฐธรรมนูญช่วงต้น แต่เมื่อถูกวิจารณ์และสะท้อนการไม่ยอมรับจากหลายฝ่ายอย่างกว้างขวาง ในช่วงกลาง กมธ.ยกร่างฯ จึงลดแรงเสียดทานโดยเปิดรับฟังความคิดเห็นและนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข จนดูเหมือนจะทำให้รัฐธรรมนูญเข้ารูปเข้ารอยและยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตยมากขึ้น แต่สุดท้ายก็มุบมิบนำเนื้อหาใน เป้าหมายซ่อนเร้นเดิม มาแปลงรูปแล้วใส่กลับเข้ามาใหม่ในช่วงปลาย โดยไม่เปิดให้ฝ่ายใดแสดงความเห็น และล่วงรู้เนื้อหาที่แท้จริง รีบปิดประตูตีแมว สรุปนำเสนอสปช. พิจารณาให้การรับรองทันที การใช้เงินงบประมาณจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นและจัดทำผลสำรวจความเห็นของประชาชนก่อนหน้านี้จึงเป็นแค่ละคร ทำให้ตนเป็นห่วงกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้อย่างยิ่ง เพราะจะเป็นตราบาปตั้งแต่นับหนึ่งให้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และอาจมีผลให้เกิดการไม่ยอมรับ นำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อีก
นายกนำเฝ้าฯถวายสัตย์ 19 รมต.ใหม่ ปฏิญาณตนก่อนทำงาน 25 สค.ร่วมประชุมครม. คาด70 สปช.ไม่รับรธน. ปลัดกห.ส่งโผให้'บิ๊กตู่' สะพัดบิ๊กหมูนั่งผบ.ทบ.
'บิ๊กตู่'นำ ครม.ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนทำงาน
@ "ครม.ตู่ 3"ถ่ายรูปหมู่ในตึกไทยคู่ฟ้า
เมื่อเวลา 15.23 น. วันที่ 23 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ทยอยเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อถ่ายรูปติดบัตร และภาพหมู่ ครม.ใหม่ โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เดินทางถึงเป็นคนแรก ตามด้วยนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ โดยเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบรัฐบาลจัดเตรียมห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ไว้สำหรับถ่ายรูปติดบัตรประจำตัวของรัฐมนตรี รวมถึงใช้เป็นสถานที่ถ่ายภาพหมู่ เป็นที่น่าสังเกตว่า ครม.ไม่ออกมาถ่ายภาพหมู่ที่สนามหญ้าด้านหน้าเหมือนที่ผ่านมา
จากนั้น เวลา 15.50 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ และนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ ครม.คอยต้อนรับ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปบริเวณตึกไทยคู่ฟ้าและตึกสันติไมตรี ให้สังเกตการณ์ได้บริเวณห้องปฏิบัติการสื่อมวลชนเท่านั้นอย่างไรก็ตาม เมื่อ ครม.ถ่ายภาพเสร็จได้เดินทางด้วยรถตู้ร่วมกันไปยังโรงพยาบาลศิริราช เพื่อเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่
@ นายกฯนำรมต.ใหม่ถวายสัตย์
ต่อมาเมื่อเวลา 17.40 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำรัฐมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่ เฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
ทั้งนี้หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ นำรัฐมนตรีใหม่ 19 คน เฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณในเวลา 18.00 น. ครม.เดินทางกลับจากโรงพยาบาลศิริราชมาขึ้นรถที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเดินทางกลับ โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ครม.ชุดใหม่จะประชุมกันนัดแรกวันที่ 25 สิงหาคมนี้ นายกฯไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ เพราะยังคงเป็นนโยบายเดิม
@ โพล 73%เชื่อครม.ใหม่ดีขึ้น
นายณัฐพล แย้มฉิม ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไรกับการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 3" ระหว่างวันที่ 20-22 สิงหาคม จำนวน 1,247 คน พบว่าร้อยละ 73.70 เห็นว่าทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ร้อยละ 67.04 หวังว่า ครม.ชุดใหม่จะทำงานเต็มที่ แก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 66.24 เห็นว่า ภาพลักษณ์ประเทศไทยในสายตาของต่างประเทศน่าจะดีขึ้น และร้อยละ 62.55 เห็นว่ายังมีภาพทหารเข้ามาดูแลอยู่
เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนสมหวังกับการปรับ ครม.ประยุทธ์ 3 ร้อยละ 78.91 เห็นว่าได้ทีมเศรษฐกิจที่มีฝีมือ มีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ร้อยละ 72.01 เห็นว่าเป็นการปรับครั้งใหญ่ เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง สิ่งที่ประชาชนผิดหวังกับการปรับ ครม. ร้อยละ 70.49 เห็นว่าบางตำแหน่งน่าจะได้คนที่มีความรู้ความสามารถมากกว่านี้ ร้อยละ 68 เห็นว่าการปรับ ครม.ช้าเกินไป โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ เมื่อถามว่าการปรับ ครม.จะทำให้รัฐบาลทำงานได้ดีขึ้นหรือไม่ ร้อยละ 61.47 เห็นว่าดีขึ้นเพราะ ครม.ใหม่มีประสบการณ์และฝีมือเป็นที่ยอมรับ การปรับทีมเศรษฐกิจใหม่น่าจะช่วยให้ดีขึ้น ร้อยละ 34.48 เห็นว่าเหมือนเดิม และ ร้อยละ 4.05 เห็นว่าแย่ลง เพราะการทำงานไม่ต่อเนื่อง
@ อีกสำนักชู1ปี"บิ๊กตู่"ทำงานดี
ขณะที่ "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง "1 ปีของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ระหว่างวันที่ 17-22 สิงหาคม จากประชาชนทั่วประเทศ 2,500 ตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 46.50 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ค่อนข้างดี ร้อยละ 38.80 ระบุว่า ทำได้ดีมาก 1 ปีที่ผ่านมาบ้านเมืองไม่มีความวุ่นวาย ทำงานดีกว่านายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง มีความเด็ดขาด พูดจริงทำจริง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ยังมีข้อบกพร่องบางเรื่อง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 3.20 ระบุว่าทำได้ไม่ดีเลย อาทิ ใช้อำนาจเผด็จการมากเกินไป พูดจาไม่เหมาะสม ยังไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน เมื่อเทียบกับผลการสำรวจ 6 เดือนของนายกฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า สัดส่วนผู้ที่ระบุว่าทำงานได้ดีมาก-ค่อนข้างดี ลดลงเล็กน้อย
เมื่อถามถึงลักษณะการทำงานรอบ 1 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ร้อยละ 70.96 ระบุมีบุคลิกภาพผู้นำแบบทหาร ร้อยละ 15.92 ระบุมีบุคลิกภาพผู้นำแบบประชาธิปไตย ส่วนอุดมการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ร้อยละ 85.80 ระบุว่า มีอุดมการณ์และความตั้งใจทำงานเพื่อชาติและประชาชน ร้อยละ 9.90 ระบุว่าไม่มีอุดมการณ์ คิดแต่จะทำงานเพื่อรักษาอำนาจของตนเอง
@ หนุนประชามติอยู่ต่อ 2 ปี
อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 85.10 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์มีความกล้าตัดสินใจในประเด็นทางการเมืองและการบริหารที่สำคัญ มีเพียงร้อยละ 9.40 ระบุว่าไม่มีความกล้าตัดสินใจ ส่วนประสิทธิภาพในการทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศนั้น ร้อยละ 79.90 ระบุว่ามีประสิทธิภาพในการทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศ ร้อยละ 12.80 ระบุว่าไม่มีประสิทธิภาพ
ขณะที่ด้านความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในการทำงาน ร้อยละ 70.80 ระบุว่าการทำงานมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ร้อยละ 10.70 ระบุว่าไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้
ส่วนเรื่องการตัดสินใจของประชาชน หากมีการทำประชามติว่าจะให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่ออีก 2 ปีหลังจากมีรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.30 ระบุว่าจะลงมติเห็นด้วยกับการให้รัฐบาลอยู่ต่ออีก 2 ปีเพื่อปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ขณะที่ ร้อยละ 19.20 ระบุว่าจะลงมติไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว
@ กมธ.เดินสายแจงร่างรธน.กับสื่อ
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า หลังส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมาแล้ว กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะเดินหน้าชี้แจงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญตามสื่อต่างๆ โดยวันที่ 25 สิงหาคม ที่สมาชิก สปช.จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ ทาง กมธ.ยกร่างฯจะไปชี้แจงและตอบข้อซักถามของสมาชิก สปช.เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญด้วย
นายคำนูณกล่าวว่า ส่วนผลการตัดสินใจของ สปช.ในวันที่ 6 กันยายน จะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ไม่สามารถพูดได้ และไม่อยากไปคาดการณ์ ปล่อยไปให้เป็นไปตามธรรมชาติดีกว่า คงต้องรอให้สมาชิก สปช.ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดก่อน ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ สปช.แต่ละคน
"ยอมรับว่ายากที่จะทำให้ทุกฝ่ายพอใจได้ แต่เราพยายามทำให้ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขและเหตุการณ์วิกฤต เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญแบบเก่าๆ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สุดท้ายหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจาก สปช.แล้วก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชนอีกครั้ง หากประชาชนไม่เอาทุกอย่างก็จบ" นายคำนูณกล่าว
@ "นคร"ยันเนื้อหาร่างรธน.ก้าวไกล
พล.ท.นคร สุขประเสริฐ กมธ.ยกร่างรัฐและสมาชิก สปช.จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ขอย้ำว่ามีความมั่นใจว่าสมาชิก สปช.จะให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเกิน 220 เสียงแน่นอน เท่าที่ฟังการให้สัมภาษณ์ของสมาชิก สปช.ทั้ง 8 กลุ่ม ที่มารับฟังเหตุผลในการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่รู้สึกพอใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประมาณ 75-80% แม้แต่กลุ่มการเมืองและกลุ่มกฎหมาย ซึ่งส่งนายนิรันดร์ พันทรกิจ และนายอุดม เฟื่องฟุ้ง มาเป็นตัวแทนรับฟังก็ไม่ได้โจมตี กมธ.ยกร่างฯแต่อย่างใด สอดคล้องกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่เป็นตัวแทน ครม. มารับฟังเหตุผลการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก็รู้สึกพอใจเช่นกัน
"จะเห็นชัดเจนว่าทุกภาคส่วนพอใจกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาที่พัฒนาก้าวไกลมากกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เช่น การให้สิทธิและเสรีภาพกับประชาชน ทั้งนี้ ในการสัมมนา สปช.เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 25 สิงหาคม กมธ.ยกร่างฯจะจัดทำรายละเอียดประเด็นที่เกี่ยวกับสตรี เด็ก คนพิการ และท้องถิ่น ว่ามีสิ่งใดบ้างที่เปลี่ยนแปลงไปและพัฒนาจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ส่งมอบให้ สปช.ประกอบการตัดสินใจด้วย" พล.ท.นครกล่าว
@ "วันชัย"ฉะร่างรธน.เป็นเนื้อร้าย
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. กล่าวว่า เท่าที่อ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างแท้จริง และไม่สามารถปฏิรูปประเทศได้ต่อไป ทั้งยังมีเนื้อร้ายสอดแทรกอยู่จะก่อให้เป็นพิษเกิดวิกฤตต่อประเทศในอนาคต เท่าที่ดูสาระเห็นได้ดังนี้ 1.ยังไม่มีกลไกที่จะทำให้มั่นใจว่าเมื่อใช้รัฐธรรมนูญนี้แล้วจะทำให้มีการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม ป้องกันการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงได้ ยังไม่มีความชัดเจนที่จะเชื่อมั่นว่าจะได้คนดีเข้าสภาและสกัดคนชั่วไม่ให้เข้าสภา 2.ยังไม่มั่นใจกลไกป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจรัฐที่ฉ้อฉล
3.ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นแบบสัดส่วนผสมจะทำให้มีรัฐบาลอ่อนแอ ไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศในภาวะเช่นนี้ได้ ซ้ำร้ายระบบการได้มา ส.ว.เป็นแบบเดิมที่มีปัญหาความขัดแย้งเป็นเป็ดง่อยยังเอากลับมาใช้เหมือนเดิม คงจะมีปัญหาต่อไปได้ 4.คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เป็นนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมาใหม่ ดูเหมือนต้องการจะให้มีฤทธิ์มีเดชและมีอำนาจพิเศษในการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง มีเจตนาดีแต่ถ้าพิจารณาจากร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เชื่อว่าตรงนี้จะเป็นเนื้อร้ายที่สร้างพิษก่อวิกฤตให้กับประเทศ เพราะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่เอาด้วย
@ ย้ำจุดยืนโหวตไม่รับ"ร่างรธน."
นายวันชัยกล่าวว่า การตัดสินใจโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ในวันที่ 6 กันยายนนี้ ไม่ใช่ดูแต่ร่างรัฐธรรมนูญว่าดีหรือไม่ดีเท่านั้น แต่เป็นการโหวตตัดสินใจต่อการรับผิดชอบในการแก้ปัญหาของประเทศเพื่อให้ประเทศเดินต่อไป จึงมั่นใจว่า สปช.คงพิจารณาจากเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญและสถานการณ์ของบ้านเมืองมาประกอบต่อการตัดสินใจ โดยส่วนตัวเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาของประเทศได้ ที่สำคัญ สปช.เพิ่งส่งข้อเสนอการปฏิรูปไปยังรัฐบาล หมายความว่าการปฏิรูปตามความเห็นของ สปช.ยังไม่ได้ทำ และ สปช.คงต้องการให้รัฐบาลชุดนี้ทำต่อให้เสร็จสิ้น ไม่อย่างนั้นข้อเสนอของ สปช.จะไร้ผล ถ้าจะหวังให้รัฐบาลหน้ามาทำก็คงจะยาก
"ด้วยเหตุดังกล่าวผมจึงยังยืนยันว่าไม่อาจรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ และในวันที่ 24 สิงหาคม กมธ.ปฏิรูปการเมืองและ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและ สปช.อีกหลายคนจะร่วมกันวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญนี้โดยละเอียด และจะแถลงประกาศจุดยืนต่อไป" นายวันชัยกล่าว
@ "ทิวา"เผยมี 70 สปช.ไม่รับร่างรธน.
นายทิวา การกระสัง สมาชิก สปช.จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้น่ารักน่าชัง เรื่องดีมีอยู่มาก แต่เรื่องที่เกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตยนั้น คงทำใจโหวตรับได้ยาก เพราะกำหนดให้มีนายกฯคนนอกได้ องค์กรตรวจสอบรัฐบาลมีมากจนน่าจะทำให้ฝ่ายบริหารแทบจะทำงานไม่ได้ ที่สำคัญคือ คปป. ที่มีอำนาจหน้าที่เยอะมาก เขียนขัดกับมาตรา 3 ที่กำหนดว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เขียนกฎหมายยกอำนาจประชาชนไปให้คณะบุคคลไม่กี่คน โดยอ้างว่าเผื่อสำหรับวิกฤต ทั้งที่วิกฤตทางการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนอย่างภัยธรรมชาติที่คาดการณ์ได้ยาก แต่มันเกิดมาจากการกระทำของคนด้วยกันเอง
นายทิวากล่าวว่า ส่วนที่ กมธ.ยกร่างฯ และสมาชิก สปช. คนหนึ่งระบุว่า เสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญจากสมาชิก สปช.มีสูงถึง 220 เสียงนั้น มองว่าเหมือนดูถูกสมาชิก สปช.ด้วยกันเอง เพราะ สปช.เพิ่งได้รับร่างมาเพียง 1 วัน ต้องใช้เวลาศึกษาก่อนตัดสินใจ ก่อนลงมติ ความเป็นไปได้มีอยู่ทั้ง 2 ทางคือ รับและไม่รับ ฝ่ายที่ไม่รับมีคะแนนเสียงยืนพื้นอยู่ 60-70 เสียง โดยเฉพาะสมาชิก สปช.ของ กมธ.การเมือง และกมธ.กฎหมายฯ รวมกับสมาชิก สปช.ที่ไม่ได้รับการสนองตามคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ
@ ลุ้นสปช.อดีตขรก.ตัวชี้รับ-ไม่รับ
นายทิวากล่าวว่า คะแนนสมาชิก สปช.ที่จะมาชี้ขาดร่างรัฐธรรมนูญ จะมาจากกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนมากพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นสายอดีตข้าราชการ ซึ่งจะใช้เกณฑ์พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในภาพรวมและสถานการณ์ทางการเมืองเป็นหลัก ด้วยการประเมินว่าไม่ว่าจะโหวตรับหรือไม่รับต้องกลับบ้านเหมือนกัน อีกทั้งมองว่ายังไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง เพราะเกรงว่า สถานการณ์จะกลับไปเป็นเหมือนก่อนหน้านี้ ต้องให้ คสช.อยู่แก้ปัญหาต่อไปอีกสักระยะ ที่สำคัญคือประเมินว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน สปช.ไป แต่ไม่ผ่านการทำประชามติของประชาชนก็ไม่มีประโยชน์ ต้องเสียงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทไปเปล่าประโยชน์
"ไม่ต้องพูดถึง 220 เสียง เอาแค่ 125 เสียงที่จะใช้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ยังเป็นไปได้ยาก ทุกอย่างยังมีความเป็นไปได้ทั้งหมด ต้องห้ามลืมเด็ดขาดว่า หาก 2 พรรคใหญ่ที่มีฐานเสียงรวมกันร่วม 20 ล้านคน ออกมาแสดงท่าทีไม่เอาด้วยกับร่างฉบับนี้ ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะผ่านการทำประชามติ" นายทิวากล่าว
@ "มนูญ"ติดใจปมที่มา"ส.ว."
นายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิก สปช.ด้านพลังงาน กล่าวว่า ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญไปพอสมควรแล้ว เนื้อหาสาระส่วนใหญ่ขพอรับได้ แต่มีบางประเด็นที่รู้สึกติดใจเป็นพิเศษคือเรื่องที่มาของ ส.ว. ทาง กมธ.ยกร่างฯกำหนดให้ ส.ว.มาจากการสรรหามากกว่าการเลือกตั้ง และในบทเฉพาะกาลยังกำหนดให้ ครม. ตั้งกรรมการขึ้นมาสรรหา ส.ว.ในช่วง 3 ปีแรกหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้อีกด้วย มองว่าไม่เหมาะสมเท่าใดนัก แต่ยืนยันว่าประเด็นที่รู้สึกติดใจนั้นไม่มีผลต่อการตัดสินใจโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยการตัดสินใจจะดูเนื้อหาทั้งหมดเป็นหลัก ซึ่งภาพรวมทั้งหมดพอรับได้ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนี้
นายชาลี เจริญสุข สมาชิก สปช.จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ได้อ่านร่างรัฐธรรมนุญไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เท่าที่เห็นพบว่าเนื้อหาไม่แตกต่างจากร่างแรกเท่าใดนัก โดยเฉพาะประเด็นระบบการเลือกตั้ง จำนวนสัดส่วนของ ส.ส.แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย เท่าที่ประเมินดูคร่าวๆ เปลี่ยนแปลงประมาณ 5-10% เท่านั้น
@ "พีระศักดิ์"ชี้"ร่างรธน."พอไปได้
ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมา นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญว่า กมธ.ยกร่างฯฟังเสียง สปช.,คสช.,ครม.และ สนช. ที่เสนอไปพอสมควรและได้รับการแก้ไขมาระดับหนึ่ง ถือว่าหลักการพื้นฐานพอไปได้ แต่จะให้พอใจทุกคนเป็นไปไม่ได้ บางคนอาจติดใจเรื่องเปิดทางให้นายกฯคนนอกได้ แต่อยากให้มองหลักการ เมื่อประชาชนใช้สิทธิเลือก ส.ส. รัฐธรรมนูญให้ ส.ส.เลือกนายกฯ แต่เปิดช่องทางให้ ส.ส. 2 ใน 3 มีมติเลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ ก็ต้องเคารพเสียงของประชาชน อาจใช้ในกรณีวิกฤตพิเศษ ไม่ต้องอ้างมาตรา 7 เหมือนที่ผ่านมาในอดีต สุดท้าย ส.ส.ก็เป็นคนเลือกนายกฯ ถ้าไม่จำเป็นจริงไม่เลือกนายกฯคนนอก
นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญถือว่าดี ขอให้มองจุดมุ่งหมายข้างหน้า เพื่อให้ทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการปกติ ให้มีการเลือกตั้ง แม้ว่าบางคนอาจจะไม่ไว้ใจหลังการเลือกตั้ง แต่มี คปป.คอยดูแลรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระดับหนึ่ง คงไม่ปล่อยให้มีเหตุการณ์ที่ย้อนกลับไปสู่อดีตได้ง่ายๆ สปช.ต้องคิดให้รอบคอบ
@ สนช.ถกคำถามประชามติ 8 ก.ย.
เมื่อถามว่า สนช.เตรียมตั้งคำถามเพื่อทำประชามติหรือยัง นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ต้องรอดูวันที่ 6 กันยายน สปช.จะลงมติอย่างไร ถ้าผ่าน สปช. ก็ต้องให้ตั้งคำถามภายใน 3 วันเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณา ถ้าไม่ผ่านก็จบไม่ต้องตั้งคำถาม โดยแจ้งไปยัง กมธ.สามัญประจำทั้ง 16 คณะให้หารือว่าจะตั้งคำถามหรือไม่ ถ้าตั้งจะตั้งคำถามอะไร จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุม วิป สนช.เพื่อหารือกันเบื้องต้นก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม สนช.วันที่ 8 กันยายน เพื่อพิจารณาว่าจะตั้งคำถามหรือไม่ หรือจะตั้งคำถามอะไร
"หากวันที่ 6 กันยายน สปช.มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องทำประชามติ คาดว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นปลายปี 2559 เพราะจะต้องทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.เชื่อว่าไม่มีพรรคการเมืองไหนไม่อยากให้รัฐธรรมนูญผ่าน" นายพีระศักดิ์กล่าว
@ นพ.เจตน์ค้านปมกมธ.ร่างกม.ลูก
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า กมธ.สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ จะประชุมสัปดาห์นี้เพื่อศึกษาและวิเคราะห์เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ แต่เท่าที่ดูเบื้องต้นไม่เห็นด้วยกับบทเฉพาะกาลที่กำหนดสัดส่วนให้มี กมธ.ยกร่างฯเข้ามาเป็น กมธ.ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ถือเป็นการไม่ไว้วางใจและดูแคลน สนช. ที่มีประสบการณ์ในการพิจารณากฎหมาย สนช.ต้องยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถทำอะไรที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้อยู่แล้ว
"เราจะออกกฎหมายลูกที่ผิดหรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ เรารู้ดีในหน้าที่ของเรา จะต้องมีความเป็นกลางและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ อีกทั้งเรามีประสบการณ์ในการออกกฎหมาย แต่เมื่อมีการกำนดไว้เช่นนี้คงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่ทำให้ สนช.รู้สึกไม่สบายใจที่ไม่ได้รับความไว้วางใจ" นพ.เจตน์กล่าว
@ "อ๋อย"ยก 8 ข้อซัดร่างรธน.เลวร้าย
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่าในที่สุด กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเผยร่างที่ทำให้เห็นว่าสมกับที่ไปแอบมุบมิบยกร่างอย่างลับๆ ล่อๆ อยู่นาน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเลวร้ายที่สุด เผด็จการที่สุดตั้งแต่เคยมีรัฐธรรมนูญกันมาก็ว่าได้ เมื่ออ่านร่างรัฐธรรมนูญของเนื้อหาส่วนต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบแล้ว ไม่อาจรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ด้วยเหตุผลดังนี้ 1.ทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมาย รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะไม่สามารถบริหารประเทศตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ 2.ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในสภาพอ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพและจะถูกล้มโดยง่าย 3.เป็นระบบที่ออกแบบไว้เพื่อเปิดทางและเอื้อให้คนนอกมาเป็นนายกฯ
4.มีระบบการถอดถอนที่ทำลายหลักการของการตรวจสอบถ่วงดุลคือ ให้ ส.ว.ที่มาจากการลากตั้งมีอำนาจถอดถอนทุกฝ่าย และให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมีอำนาจถอดถอน ส.ส.ฝ่ายค้านได้ 5.ไม่มีการแก้ไขปรับปรุงองค์กรตรวจสอบทั้งหลายจากการเลือกปฏิบัติและปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลโดยองค์กรอื่นหรือโดยประชาชน ทั้งยังเพิ่มองค์กรลักษณะเดียวกันอีกจำนวนมาก
@ ชี้วางระบบสืบทอดอำนาจ
นายจาตุรนต์ระบุว่า 6.เป็นการวางระบบการสืบทอดอำนาจของ คสช.และกองทัพ โดยอาศัยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปฯควบคุมกำกับการทำงานของรัฐบาลและรัฐสภาต่อไปอีกยาวนาน 7.เปิดช่องให้มีการสร้างเงื่อนไขนำระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จเต็มรูปแบบ เช่นเดียวกับการปกครองโดย คสช.มาใช้อย่างง่ายดาย ซึ่งก็คือการทำรัฐประหารโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 8.รัฐธรรมนูญนี้เมื่อประกาศใช้แล้วไม่อาจแก้ไขได้อีก ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากยิ่งขึ้นโดยไม่มีทางออกตามกติกา
"ระหว่างที่ กมธ.กำลังยกร่างอยู่นั้น เมื่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากๆ มักมีการชี้แจงว่า ที่วิจารณ์กันนั้นเกิดจากการไม่ทราบข้อเท็จจริงที่ยังไม่มีการเปิดเผย แต่เมื่อเปิดเผยออกมาแล้วกลับพบว่าร่างนี้มีเนื้อหาที่เลวร้ายกว่าที่เคยวิพากษ์วิจารณ์กันเสียอีก เพราะนอกจากจะคงเนื้อหาที่เป็นปัญหาทั้งหลายไว้เป็นส่วนใหญ่แล้ว ยังหมกเม็ดบางเรื่องไว้ด้วยการบัญญัติในบทเฉพาะกาล และอีกหลายเรื่องกำหนดว่าจะไปบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญโดย สนช. ซึ่งอาจจะเลวร้ายยิ่งไปกว่านี้อีกด้วย อ่านร่างรัฐธรรมนูญนี้แล้ว ยังไงก็ไม่อาจเปรียบเทียบกับนางงาม แต่เป็นอะไรที่อัปลักษณ์และอันตราย คนสมัยก่อนอาจนึกถึงซีอุย ในขณะที่คนสมัยนี้ที่ชอบดูหนังซีรีส์ฝรั่งอาจนึกถึง
ฮันนิบาลเสียมากกว่า" นายจาตุรนต์ระบุ
@ "เพื่อไทย"ยันร่างรธน.ไม่โยงปชช.
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญว่า ในที่สุดสิ่งที่ลับลวงพรางมาตลอดก็สิ้นสงสัยว่าทำไมผู้เกี่ยวข้องจึงมุบมิบอำพรางซ่อนเร้นระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ ใครออกมาวิพากษ์วิจารณ์ก็มักจะตอบว่ายังไม่เป็นที่สิ้นสุด แต่พอเปิดเผยออกมากลายเป็นร่างที่มีเนื้อหาเลวร้ายกว่าที่เคยรับรู้กันก่อนหน้านี้เสียอีก ทั้งประเด็นนายกฯคนนอก การเลือกตั้งไม่มีความหมาย ส.ว.กว่าครึ่งมาจากการลากตั้ง อำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ยึดโยงประชาชน สถาปนาองค์กรอิสระมากมาย วางระบบสืบทอดอำนาจกองทัพ แถมยังหมกเม็ดวางกับระเบิดไว้ในหลายเรื่องในบทเฉพาะกาล
@ "จุรินทร์"ซัดรธน.ซ่อนเร้น-เล่นละคร
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาที่จะพาประเทศไปสู่ทิศทางที่น่าเป็นห่วง กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญก็ดูเหมือนจะดำเนินไปแบบปกปิดจนทำให้รู้สึกเสมือนการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องส่วนตัวของ กมธ.ยกร่างฯเท่านั้น คนอื่นไม่เกี่ยว จากการติดตามกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เห็นได้ชัดเจนว่ามีความพยายามที่จะผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปตามเป้าหมายซ่อนเร้นที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น
นายจุรินทร์กล่าวว่า แม้ต่อมา กมธ.ยกร่างฯจะลดแรงเสียดทานโดยเปิดรับฟังความคิดเห็นและนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขจนดูเหมือนจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญดูเข้ารูปเข้ารอยและยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตยมากขึ้น แต่สุดท้ายมีการมุบมิบนำเนื้อหาในเป้าหมายซ่อนเร้นเดิมโดยแปลงรูปแล้วใส่กลับเข้ามาใหม่ โดยไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายใดแสดงความเห็นและล่วงรู้เนื้อหาที่แท้จริง แล้วรีบปิดประตูตีแมวสรุปนำเสนอ สปช.ทันที
"การจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นและทำผลสำรวจความเห็นของประชาชนก่อนหน้านี้จึงเป็นแค่ละคร ทำให้ผมเป็นห่วงกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นตราบาปร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และอาจมีผลให้เกิดการไม่ยอมรับ จนต้องนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อีก" นายจุรินทร์กล่าว
@ ปชป.ไม่มั่นใจรธน.ตอบโจทย์ปท.
นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญว่า ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยจริง หากมองในแง่การแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย ตามหลักการปกครองระบบรัฐสภา แต่ถ้ามองบริบทและจุดมุ่งหมายของผู้ร่างที่ออกมายืนยันว่าเป็นการออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาของการเมืองไทย ที่มีปัญหาพิเศษต่างไปจากประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ส่วนจะสามารถตอบโจทย์แก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่นั้น ส่วนตัวยังไม่มั่นใจตามที่ กมธ.ยกร่างฯบอก เพราะการแก้ไขปัญหาการเมืองไทยที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด และการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของผู้มีอำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง
เมื่อถามกรณีที่พรรคเพื่อไทย (พท.) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มีทีท่าอาจคว่ำการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นายสาธิตกล่าวว่า รู้สึกสับสนกับพฤติกรรมของพรรค พท.ที่ปากเรียกร้องประชาธิปไตย ขอให้รัฐบาลคายอำนาจเพื่อจัดเลือกตั้งให้เร็วที่สุด แต่วันนี้กลับออกมารณรงค์ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญแล้วจะเลือกตั้งได้อย่างไร จึงเห็นว่าแม้วันนี้ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ แต่เมื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมของคนที่ชอบอ้างประชาธิปไตย เมื่อมีอำนาจแล้วกลับปู้ยี่ปู้ยำประเทศใช้นโยบายสร้างกระแสโดยไม่รับผิดชอบ จึงคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังดีกว่า
พฤติกรรมเลวๆ ของนักการเมืองบางคน
@ นักวิชาการเชื่อรธน.มีปัญหาแน่
นายยอดพล เทพสิทธา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ภาพรวมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับสืบทอดอำนาจ เพราะตัวคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจเหนือกว่ารัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา แต่ผมเชื่อว่า สปช.จะรับร่างรัฐธรรมนูญ เราเสียโอกาสจากการทำรัฐประหารนานมากแล้ว น่าจะมีเสียงสนับสนุนให้รับก่อนค่อยแก้ทีหลัง แต่กลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยาก แทบจะไม่เปิดโอกาสให้แก้ไขได้เลย
"ในระยะยาวรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาแน่ เช่น เรื่องนายกฯคนนอก และที่มาของ ส.ว. ในอดีตเราต่อสู้เพื่อให้ได้นายกฯมาจากการเลือกตั้ง แต่วันนี้เราไปเอาสิ่งที่ปฏิเสธกลับมาอีกรอบหนึ่ง ในอนาคตถ้าพรรคการเมืองกลัวเลือกตั้งแล้วหัวหน้าพรรคไม่มีบารมีพอในการบริหารประเทศก็จะไปเอาคนนอกเข้ามา ถ้ายึดตามโพลที่เห็นอยู่ตอนนี้ คนที่มีคะแนนสูงสุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ พอมีการเลือกตั้งก็จะมีเสียงของคนกลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้เอาคนนอกมาเป็นนายกฯ ซึ่งผมมองว่าเป็นใครไม่ได้นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ สุดท้ายเราจะมีระบบพรรคการเมืองที่ไปสวามิภักดิ์หรือตกลงผลประโยชน์กับระบบราชการเก่า" นายยอดพลกล่าว
นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ สวยแต่รูปจูบไม่หอม เพราะกรรมการยุทธศาสตร์ฯค่อนข้างมีปัญหาเยอะ แม้จะบอกว่ายากจะใช้ ต้องมีเหตุการณ์พิเศษจริงๆ และต้องหารือศาลปกครองก่อนก็ตาม เพราะการหารือไม่ได้หมายความว่าต้องฟัง อีกทั้งยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ถูกตัดออกไปอีก เช่น ประเด็นท้องถิ่นและที่มา ส.ว. 123 คน ก็มาจากการสรรหาทั้งหมด ไม่ค่อยดี แต่คงผ่านการโหวตของ สปช.
@ ส่งโผทหารให้บิ๊กตู่วันที่ 24 ส.ค.
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการแต่งตั้งนายพลทหารนั้น ล่าสุดคณะกรรมการพิจารณาปรับย้ายนายทหารระดับชั้นนายพลตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม พ.ศ.2551 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้หารือเกี่ยวกับบัญชีรายชื่อแล้ว ยังคงเหลือขั้นตอนให้ ผบ.เหล่าทัพที่อยู่ต่างประเทศเดินทางกลับมาเซ็นชื่อ จากนั้นปลัดกระทรวงกลาโหมจะส่งบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ในวันที่ 24 สิงหาคม ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผบ.ทบ.คือ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ส่วน พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวยืนยันว่าได้รับการเสนอชื่อให้เป็น ผบ.ทบ.นั้น ล่าสุดมีความเป็นไปได้ว่าจะโยกไปเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ได้รับรายชื่อบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายทหารแล้ว จะต้องมีขั้นตอนตรวจสอบอีกครั้งก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ