- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 23 August 2015 19:15
- Hits: 3505
เชื่อสปช.ผ่านรธน. เกิน 220 2 กมธ.ปฏิรูปยังคาใจ นัดเปดร่างชำแหละยิบ เพื่อไทย-นปช.หนุนคว่ำ
กมธ.ยกร่างฯ ส่งมอบร่างรัฐธรรม นูญให้ สปช.แล้ว'บวรศักดิ์'เชื่อ หลังเปิดชี้แจงรายกลุ่ม สปช.หันมาหนุนเพิ่มเกิน 220 เสียง กมธ.ปฏิรูปการเมือง-ปฏิรูปกฎหมาย ยังคาใจหลายประเด็น ตั้งวงชำแหละ 24 ส.ค. 'เสรี สุวรรณภานนท์' เปิดเกณฑ์ตัดสินใจลงมติรับ-ไม่รับ 'จตุพร' เตือน คสช.ระวังไฟลามทุ่ง ชี้คว่ำเสียน้อย-ผ่านเสียมาก 'เหวง'จวกฉบับรัฐประหารอำพราง ไทยจ้างล็อบบี้ยิสต์ช่วยแก้ไอยูยู
วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9034 ข่าวสดรายวัน
ส่งสปช. - นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่งมอบร่างฯ ฉบับสมบูรณ์ จำนวน 285 มาตรา ให้นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ก่อนนัดประชุมลงมติรับหรือไม่รับในวันที่ 6 ก.ย. ที่รัฐสภา
ฤกษ์ 11.59 น. ส่งมอบร่างรธน.
เวลา 11.45 น. วันที่ 22 ส.ค. ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธานการประชุม สปช. เพื่อรับมอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ จากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญที่พิจารณาเสร็จแล้ว โดยกมธ. ยกร่างฯ ทั้งคณะมาอย่างพร้อมเพรียงในชุดเสื้อแจ๊กเกตสีฟ้า
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ. ยกร่างฯ ชี้แจงว่า ขณะนี้กมธ.ยกร่างฯ ได้ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรม นูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว เสร็จแล้ว รวมระยะเวลาทั้งหมด 9 เดือน 18 วัน ประชุม 150 ครั้ง กมธ.ยกร่างฯ ได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทุกข้อมาพิจารณา และข้อคิดเห็นของนักการเมืองมาปรับแก้ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย
จากนั้นเมื่อถึงฤกษ์เวลา 11.59 น. นายบวรศักดิ์ส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้กับนายเทียนฉาย เป็นร่างรัฐธรรมนูญปกสีทอง และ นางนรีวรรณ จิตกานนท์ รองประธานกมธ.ยกร่างฯ มอบร่างรัฐธรรมนูญปกสีขาว ให้กับน.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. นายเทียนฉายได้แจ้งต่อสมาชิกว่าจะส่งต่อร่างรัฐธรรมนูญให้กับรองประธาน สปช.คนที่ 2 เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับสมาชิกได้ศึกษาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และเมื่อนายเทียนฉายพูดจบสมาชิกสปช.ต่างปรบมือกันเสียงกึกก้อง
นายเทียนฉาย แจ้งต่อที่ประชุมว่า หลังจากรับร่างรัฐธรรมนูญแล้วต้องรอ 15 วัน นับแต่วันรับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อพ้นกำหนดให้สปช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับภายใน 3 วัน ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว มาตรา 37 วรรค 2 ดังนั้นขอนัดประชุมเพื่อลงมติ ในวันอาทิตย์ที่ 6 ก.ย. และสั่งปิดประชุมในเวลา 12.01
มี 285 มาตราหนา 124 หน้า
ภายหลังจากนายเทียนฉายสั่งปิดการประชุม ปรากฏว่า นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ สปช.ตาก ลุกขึ้นหารือในที่ประชุมว่า ในฐานะที่สปช.ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จะได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือไม่ นายเทียนฉายจึงกล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งปิดการประชุมแล้วหากมีอะไรให้หารือภายหลังจากนั้น สมาชิกได้ทยอยเดินออกจากห้องประชุม ขณะที่บางส่วนถ่ายรูปร่วมกันและขอถ่ายรูปกับประธาน สปช.และรองประธาน สปช.ทั้ง 2 คน เป็นที่ระลึก
ส่วนบริเวณหน้าห้องประชุม นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตั้งโต๊ะแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญแก่สมาชิก ซึ่งมีทั้งสิ้น 2 เล่ม ได้แก่ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับเสนอ สปช. เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรม นูญทั้งฉบับ และรายงานของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 124 หน้า จำนวน 285 มาตรา
นายสิระ เจนจาคะ สมาชิก สปช. กล่าวว่าวันที่ 23 ส.ค. เวลา 15.00 น. ตนจะนำร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับไปมอบให้กับพระพุทธอิสระ ที่วัดอ้อน้อย เพื่อให้ได้พิจารณาพร้อมกับประชาชนภายในงาน "พุทธอิสระพบประชาชนโหวตร่างรัฐธรรมนูญ" ซึ่งจะมีการสอบถามความพึงพอใจของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และสมควรรับร่างหรือไม่ ถ้าประชาชนเห็นด้วยเชื่อว่าการลงประชามติคงไม่มีปัญหา แต่ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย ตนในฐานะสมาชิก สปช.จะลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์
เวลา 15.00 น. วันเดียวกัน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและเว็บไซต์ของ กมธ.ยกร่าง เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านทางเว็บไซต์ www.parliament.go.th และ http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution/main.php?filename= index2557 เพื่อให้ผู้ที่สนใจรวมถึงประชาชนได้อ่านอย่างละเอียด
สำหรับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เรียกว่า 'รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป' มี 285 มาตรา เจตนารมณ์การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปมี 4 ข้อคือ 1.สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ 2.การเมืองใสสะอาดและสมดุล 3. หนุนสังคมที่เป็นธรรม 4.นำชาติสู่สันติสุข ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ได้นำปัญหาความขัดแย้งของประเทศไทยที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามาร่วมพิจารณา และเป็นโจทย์สำคัญในการพิจารณาบทบัญญัติ เพื่อหาทางออกไม่ให้เกิดปัญหาเช่นในอดีตอีก และเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนด "หมวดปฏิรูปและการปรอง ดอง" ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย
2 กมธ.ปฏิรูปนัดชำแหละรธน.
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. ให้สัมภาษณ์หลัง สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์จาก กมธ. ยกร่างฯ อย่างเป็นทางการว่า เบื้องต้นยังไม่ได้เห็นเนื้อหาเพราะวันนี้ติดภารกิจจึงยังไม่ได้ อ่านร่างฯ แต่วันที่ 24 ส.ค. เวลา 09.30 น. กมธ.ปฏิรูปการเมืองกับ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นัดหารืออย่างไม่เป็นทางการเพื่อดูร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด เช่น เนื้อหาร่างที่เสร็จสมบูรณ์ กมธ.ยกร่างฯ ยังกำหนดให้นายกฯ มาจากคนนอกได้หรือไม่ ยังให้มีระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมเพื่อให้ได้รัฐบาลที่อ่อนแอมาบริหารประเทศในรูปแบบนักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์ เป็นบุฟเฟต์ทางการเมืองในอนาคตอีกหรือไม่
นายสมบัติ กล่าวว่า ถ้าเขียนไว้อีกเราจะวิเคราะห์กันว่ารัฐบาลอ่อนแอแบบนี้จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศได้หรือไม่ ซึ่งการปฏิรูปประเทศในอนาคตต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ขนาดรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้มแข็งเด็ดขาด มีอำนาจพิเศษของมาตรา 44 คอยสั่งการ นายกฯ เองยังยอมรับเลยว่าแก้ปัญหาประเทศได้ไม่ครอบคลุมเพราะปัญหาประเทศมีมาก ดังนั้น ต้องวิเคราะห์กันว่าหากมีระบบที่ได้รัฐบาลอ่อนแอมาบริหารประเทศจะเป็นอย่างไร
'เสรี'ชี้เกณฑ์ตัดสินใจหนุน-คว่ำ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีนายบวรศักดิ์ระบุร่างรัฐธรรมนูญต้องดูภาพรวม ผ่าท้องดูไส้นาง งามจะสวยได้อย่างไร ว่า ต้องพิจารณาภาพรวมทั้งหมด รวมทั้งประเด็นสำคัญและรายละเอียด เช่น การเลือกตั้ง ที่มาส.ส.และส.ว. มีที่มาจากประชาชนจริงหรือไม่ เลือกตั้งมาแล้วได้รัฐบาลมีเสถียรภาพหรือไม่ จัดระบบโครงสร้างอำนาจสูงสุดของประเทศได้อย่างสมดุลหรือไม่ ต้องดูสาระประโยชน์ของประเทศและประชาชนด้วย
นายเสรี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุถึงประเด็นการพิจารณาเห็นควรรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า สปช.ควรพิจารณาประเด็น เหล่านี้เป็นหลักเกณฑ์การตัดสินใจ อาทิ เนื้อหาสาระมากเกินไป ยิ่งมากยิ่งมีความขัดแย้งมาก ประเด็นการเมือง ทั้งเรื่องส.ว.ควรมีอำนาจถอดถอนหรือไม่ องค์กรตามรัฐธรรม นูญมีจำนวนมากไปหรือไม่ ระบบถ่วงดุลมีประสิทธิภาพหรือไม่ นายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนเท่านั้นหรือไม่ ประชาชนเป็นใหญ่อย่างที่นำเสนอหรือไม่ อำนาจหน้าที่ของ กกต.ควรมีอำนาจให้ใบแดงได้หรือไม่ ควรมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติหรือไม่
นายเสรี กล่าวว่า นอกจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ ได้กำหนดแนวทางให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไว้อย่างไร ได้จัดทำบัญชีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก เพื่อให้เห็นทิศทางการปฏิรูปแล้วเสร็จก่อนเลือกตั้งหรือไม่อย่างไร กำหนดให้รัฐบาลชุดปัจจุบันใช้ อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาบ้านเมืองในภาวะสถานการณ์ไม่ปกติไว้อย่างไร กำหนดให้รัฐบาลปัจจุบันเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งส.ส. และส.ว.ไว้หรือไม่
กมธ.มั่นใจเสียงหนุนเกิน 220
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเปิดโอกาสให้สมาชิก สปช.ที่เสนอคำแปรญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 8 กลุ่ม และ ครม.มารับฟังคำชี้แจงแก้ไขรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างฯ เมื่อวันที่ 19-20 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ผลการชี้แจงเป็นที่น่าพอใจ ทุกกลุ่มพูดตรงกันว่าคำขอแก้ไขส่วนใหญ่ได้รับการปรับปรุงตามคำขอ ส่วนที่ไม่ได้รับการแก้ไขก็ได้รับคำชี้แจงที่น่าพอใจ จึงมั่นใจว่า สปช.จะให้การสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปนี้ นอกจากนี้ กระบวนการทำงานร่วมกันของ กมธ.ยกร่างฯ กับ กมธ.ปฏิรูป 18 คณะของ สปช.ในการบัญญัติการปฏิรูป 17 ด้าน ใน 4 มาตรา ของหมวดปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ร่วมกันศึกษาเตรียมการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ที่กำหนดรายละเอียดของการปฏิรูป 17 ด้านไว้ใน 29 มาตรา 131 อนุมาตรา จนได้มติเห็นชอบร่วมกันอย่างเป็นเอกฉันท์ ทำให้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน พร้อมร่วมกันผลักดันขับเคลื่อนให้การปฏิรูปด้านต่างๆ เกิดผลในอนาคต
พล.ท.นคร สุขประเสริฐ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการรับฟังคำชี้แจงแก้ไขรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 19-20 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า หลังจากที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้ชี้แจงเหตุผลการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ ให้สมาชิก สปช.กลุ่มต่างๆ ที่ขอแปรญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฟังแล้ว ส่วนใหญ่เข้าใจเหตุผลของ กมธ.ยกร่างฯ ทำให้มั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบจากสปช. ขณะนี้เชื่อว่าเสียง สปช.ที่จะสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญน่าจะมีเกิน 220 เสียงแล้ว จากเดิมที่มั่นใจว่ามี 200 เสียง
ชี้เข้า 3 เงื่อนไขคปป.ปลดนายกฯได้
นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวยืนยันในหน้าที่พิเศษของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ในร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นการปลดนายกฯ กรณีเกิดภาวะรัฐล้มเหลวเหมือนเหตุการณ์ที่ผ่านมา ว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะนายกฯ คือผู้ที่มาจากการเลือกโดยส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน อีกทั้งตำแหน่งนายกฯ ถือเป็นตำแหน่งที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
นายมานิจ กล่าวว่า แต่ยอมรับว่าในที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ช่วงที่พิจารณาเรื่องดังกล่าวมีผู้ที่ยกประเด็นซักถามว่าการเสนอให้ปลดนายกฯ ทำได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมอภิปรายว่าขั้นตอนการเสนอนั้นสามารถทำได้ แม้แต่ประชาชนเสนอก็สามารถทำได้ แต่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่ต้องพิจารณาบนเงื่อนไข คือ 1.ความจำเป็นเรื่องรักษาความเป็นเอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน 2.ป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจ ของประเทศ และ 3.เกิดความขัดแย้งอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร
ใช้เสียงกก.ยุทธศาสตร์ 2 ใน 3
นายมานิจ กล่าวว่า การดำเนินการปกติของสถาบันทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญและคณะรัฐมนตรีไม่อาจดำเนินการเพื่อยุติได้ และต้องมีขั้นตอนคือ 1.เมื่อพิจารณาเข้าเงื่อนไข ต้องปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลปกครองสูงสุด และ 2.การลงมติเห็นชอบกับการดำเนินการต้องมีการลงมติจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการที่มีอยู่ด้วย ทั้งนี้ ยังมีมาตรการควบคุมการใช้อำนาจพิเศษโดยรัฐสภา เพราะกำหนดให้เมื่อมีการใช้อำนาจพิเศษจะถือเป็นการเปิดสมัยประชุมรัฐสภา และส.ส.หรือส.ว.สามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ได้ รวมถึงให้สิทธิในการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วย
นายมานิจ กล่าวว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ตามร่างรัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจหน้าที่หลักที่สำคัญ คือการขับเคลื่อนการปฏิรูป ด้วยการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปฏิรูป นำข้อเสนอของ สปช.และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบูรณาการให้สามารถพัฒนาประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืนดำเนินการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ระหว่างคู่ ขัดแย้ง ตรวจสอบและไต่สวนการไม่ปฏิบัติ ตามแผนหรือขั้นตอนที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และเสนอเรื่องความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยการไม่ปฏิบัติตามแผนหรือขั้นตอนการปฏิรูปเป็นต้น
ชี้โอกาสเกิดได้ยาก
พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ โฆษก กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า เป็นได้ยากที่จะมีการปลดหรือเปลี่ยนนายกฯ เพราะต้องผ่านความเห็นจากประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด และต้องได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการที่มีอยู่ด้วย และหากมีการใช้อำนาจพิเศษจะถือเป็นการเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อให้ส.ส.และส.ว.สามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ได้ รวมถึงให้สิทธิในการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วย โดยหากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ทำผิดศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยความผิดได้ตามรัฐธรรมนูญ อาทิ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ มีสิทธิถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ส่วนการส่งมอบร่างรัฐธรรม นูญแก่ สปช.ทาง กมธ.ยกร่างฯตั้งใจทำเต็มที่ ซึ่งเชื่อว่าดีที่สุดสำหรับทุกคน เราเหมือนสถาปนิกออกแบบบ้านที่เหมาะสมแก่ทุกคนในบ้าน แต่จะให้ถูกใจทุกคนเป็นไปไม่ได้
นปช.ชี้คว่ำเสียน้อย-ผ่านเสียมาก
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงการโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ของสปช.วันที่ 6 ก.ย.นี้ว่า มองว่าทั้งสปช.และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต่างอยู่ในเรือแป๊ะลำเดียวกัน การลงมติจึงขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ในขณะนั้นว่าสปช.จะคว่ำร่างฯ หรือจะให้ผ่านแล้วส่งต่อทำประชามติ หากคว่ำในการลงมติของสปช.แสดงว่ารู้เห็นเป็นใจและจะถูกตั้งข้อสงสัยมากยิ่งขึ้นซึ่งจะไม่เป็นผลดี แต่ไม่ว่าจะคว่ำหรือผ่านร่างฯ ต่างก็นำไปสู่การอยู่ยาวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
นายจตุพร กล่าวว่า สิ่งที่คสช.ต้องคิดให้มากคือเรื่องนี้จะกลายเป็นไฟลามทุ่งหรือไม่ หากประชาชนลงมติเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่างๆ ด้วยการไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญจะยิ่งทำให้สถานการณ์ยากที่จะเหมือนเดิม ทุกอย่างจะไม่ง่ายตามที่คิด รัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ประชาชนไม่มีทางเลือกอยู่แล้ว แต่ถ้าปล่อยให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประเทศก็พัง เพราะเนื้อหารัฐธรรมนูญจะมีปัญหาตั้งแต่วันแรก แต่ถ้าไม่ได้ใช้ก็ทำให้รัฐบาลอยู่นานเป็นการซื้อและยืดเวลาออกไป
"ถ้าคว่ำรัฐธรรมนูญทำให้เสียน้อย แต่ถ้าปล่อยให้ใช้รัฐธรรมนูญก็เสียมาก การเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้จะทำให้ประเทศเข้าสู่วิกฤตรุนแรงมากกว่าการใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 และเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 83 ปี" นายจตุพรกล่าว
ย้ำจุดยืนคว่ำรธน.ที่ไม่เป็นปชต.
นายจตุพร กล่าวว่า หากได้ทำประชามติ คสช.ควรเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ทำการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจอย่างชัดเจนว่าจะรับหรือไม่รับร่างฯ อย่าปิดกั้นให้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากรัฐธรรมนูญถูกคว่ำโดยประชา ชนแสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า มีแนวโน้มที่ นปช.จะรณรงค์ให้ประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ นายจตุพรกล่าวว่า "เราประกาศชัดมาแต่ต้นว่าทันทีที่เนื้อหารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย จุดยืนของนปช.คือต้องคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้"
'เหวง'จวกรัฐประหารอำพราง
นพ.เหวง โตจิราการ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหารอำพราง แสดงออกอย่างชัดเจนที่มาตรา 260 ของรัฐธรรมนูญฉบับที่กำหนดให้มีคณะรัฐประหารเอาไว้ล่วงหน้า และเป็นการสถาปนาคณะรัฐประหารที่ฉลาดแนบเนียน กล่าวคือได้มาซึ่งอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ โดยไม่ต้องใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจเพื่อโค่นล้มอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารเดิมลงไป เพียงแต่กล่าวอ้างว่าสถาบันทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่สามารถยุติกรณีความวุ่นวายได้ ขณะที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะเข้ามาใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารในทันที และถือว่าชอบด้วยกฎหมาย และเป็นที่สิ้นสุด ซึ่งลอกแบบมาจากมาตรา 44 ของคสช.
ชี้เลือกตั้งแค่ไม้ประดับ
นพ.เหวง กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นเพียงไม้ประดับ คือ 1.นายกฯ มาจากคนนอกได้ 2.ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมจงใจทำลายการแยกส.ส.เป็น 2 ระบบ ขาดจากกัน 3.ส.ว.กว่าครึ่งมาจากการสรรหา (ในคราวแรกจำนวน 123 สรรหาโดยคณะรัฐประหารชุดปัจจุบัน) 4.ศาลรัฐธรรมนูญทรงไว้ซึ่งอำนาจในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้
5.การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำได้โดยตรงจากประชาชน ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่แทบจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย 6.สถาปนาองค์กรอิสระชื่อแปลกๆ จำนวนมาก ซึ่งสรรหาหรือได้มาจากกลุ่มพวกของรัฐประหารนิยม ที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการบ่อนทำลายอำนาจอธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แม้กระทั่งการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงทุกกระทรวงทบวงกรมของประเทศต้องมาจากกลุ่มอำนาจรัฐประ หารนิยมทั้งสิ้น
พท.เรียกร้องช่วยกันวิจารณ์รธน.
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอเรียกร่างรัฐธรรมนูญนี้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ ที่ต้องดูฤกษ์พานาที กำหนดเวลา 11.59 น.ในการส่งมอบให้ สปช. เบื้องต้นทราบว่าเนื้อหาในร่างยังคงประเด็นที่มานายกฯ ส.ว. ส.ส.รวมทั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เอาไว้ เป็นการสอดรับกับการสืบทอดอำนาจต่อไป หากร่างฉบับนี้ผ่านและมีผลบังคับใช้ สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนคณะรัฐศาสตร์คงต้องเผาตำราทิ้งเพราะมีสาระที่ขัดต่อประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอำนาจที่ 4 ซึ่งเหนือกว่า ครม.และสภา ที่เรียกว่าโปลิตบูโร ซึ่งจะมีเฉพาะประเทศที่ปกครองแบบคอมมิวนิสต์เท่านั้น
นายชวลิต กล่าวว่า จากนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันวิพากษ์เนื้อหาในร่างฯ ให้กว้างขวางและเต็มที่ หลังจากที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างฯ เขาไปดำเนินการเขียนขึ้นอย่างมีเลศนัยโดยที่สาธารณชนอาจรับรู้น้อยมาก ส่วนพรรคเพื่อไทยจะรอดูผลการลงมติที่ออกมาก่อนว่า สปช.จะลงมติรับหรือคว่ำร่าง ดูไปเป็นขั้นตอนก่อนที่จะมีท่าทีใดออกมา ขณะนี้บอกได้ว่าหากร่างฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบคงไปซ้ำเติมปัญหาของประเทศที่มีอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เพราะคงไม่มีประเทศใดอยากมาลงทุนกับประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
รัฐบาลเล็งแถลงผลงาน 1 ปีพ.ย.
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 1 ปีว่า คาดว่าจะมีการแถลงในเดือนพ.ย.นี้ โดยคณะทำงานและทีมโฆษกรัฐบาลได้หารือเรื่องนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะนำเรื่องเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์พิจารณา คาดว่าพล.อ.ประยุทธ์จะเห็นชอบตามที่เสนอ เหตุที่ต้องแถลงผลงานในเดือนพ.ย.เนื่องจากต้องให้เวลากับรองนายกฯ และรัฐมนตรีใหม่ในแต่ละกระทรวงมีเวลาศึกษารายละเอียดของงานแต่ละด้านก่อน ทั้งผลงานที่ผ่านมาและแผนงานในระยะ 3 เดือน 6 เดือนที่จะถึงนี้
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนการปรับ ครม.ชุดใหม่มาทำหน้าที่ไม่ได้หมายความว่า ครม.ชุดเก่าแก้ไขปัญหาไม่ได้ผล งานแต่ ละส่วนงานมีความเหมาะสมแต่ละช่วงสถานการณ์ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจึงต้องปรับเพื่อให้สอดรับกันด้วย อดีตรัฐมนตรีคนใดที่พ้นจากหน้าที่ไป พล.อ.ประยุทธ์ เชิญมาเป็นที่ปรึกษา แต่จะตอบรับมาเป็นที่ปรึกษาหรือไม่นั้นคงไม่เป็นปัญหาเพราะเชื่อว่าทุกคนต่างมีความประสงค์ดีต่อบ้านเมือง ยืนยันว่าปรับ ครม.ครั้งนี้ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น และพล.อ.ประยุทธ์ขอร้องไปยังสื่อมวลชน ให้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของทุกคนที่ถูกปรับเปลี่ยนตำแหน่ง และขอให้สื่อสัมภาษณ์โดยใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม อย่าทำให้ผู้ที่ถูกปรับเปลี่ยนตำแหน่งเกิดความรู้สึกน้อยใจและเสียใจ การตัดสินใจปรับ ครม.ไม่ได้หมายความ ว่าใครเก่งกว่าใคร เพียงแต่สถานการณ์แต่ละช่วงเวลานั้นไม่เหมือนกัน
'บิ๊กตู่'ไม่หนักใจ'อุ๋ย'เมินกุนซือ
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ ไม่ได้รู้สึกหนักใจกับกรณี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ออกมาระบุว่าไม่รับตำแหน่งที่ปรึกษาฯ เพราะไม่ชอบการแบ่งแยกแล้วปกครอง เพราะต่างเป็นผู้ใหญ่ด้วยกันทั้งนั้น ในฐานะโฆษกรัฐบาลมีโอกาสพบและพูดคุยกับม.ร.ว.ปรีดิยาธร อยู่บ่อยครั้ง เชื่อว่าจะเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ความเห็นต่างๆ ที่สะท้อนมานั้นนายกฯ น้อมรับทุกความคิด ทุกเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าจะพึงพอใจหรือไม่ก็ตาม
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า สำหรับผลสำรวจความเห็นของประชาชนที่เปิดเผยว่าประชาชนพอใจกับหน้าตา ครม.ชุดใหม่ เห็นว่าหากทำให้ประชาชนเกิดความสบายใจ จะส่งผลเป็นปัจจัยเกื้อหนุนกัน และในทางจิตวิทยาจะทำให้บรรยากาศต่างๆ ดีขึ้น ส่วนที่มีคนตั้งคำถามว่ามีทหารใน ครม.ชุดใหม่นี้จำนวนมาก แต่เสียงสะท้อนจากผลโผลก็เป็นคำตอบที่หนึ่ง ส่วนคำตอบที่สองไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือนหากจัดลำดับความเร่งด่วนหลังๆ และวางคนให้ตรงกับงาน ให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วย อะไรที่เป็นเรื่องที่เด็ดขาดในการตกลงใจก็ให้ผู้ที่มีความเหมาะสมทำ จึงไม่เกี่ยวว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือน
'พล.อ.ฉัตรชัย'รุกแก้ไอยูยู
ที่กระทรวงพาณิชย์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริ กัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังร่วมงานเลี้ยงอำลาโดยข้าราชการระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ เมื่อคืนวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ถึงการเข้าไปรับตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ว่า ภารกิจแรกคือการเข้าไปแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและการควบคุม หรือไอยูยู เพื่อให้ประเทศไทยหลุดจากข้อกล่าวหาของสหภาพยุโรป (อียู) โดยตนเป็นห่วงว่าไทยอาจถูกใบแดง แม้ไทยจะดำเนินการอย่างเต็มที่แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่ยังไม่บรรลุโดยเฉพาะเรื่องการแก้พ.ร.บ. ประมง หากถูกใบแดงจะเป็นเรื่องใหญ่และสร้างผลกระทบในทุกด้านอย่างมากต่อไทย และอาจเป็นผลเสียต่อเนื่องต่อการค้า และส่งออกไทย จากกรณีที่สหรัฐคงระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปีพ.ศ.2558 อยู่ในระดับเทียร์ 3
จ้างล็อบบี้ยิสต์ช่วยชี้แจง
"คงต้องเร่งเข้าไปดูรายละเอียด ซึ่งสัปดาห์หน้าทางอียูจะเข้ามาดูสถานการณ์ประมงไทย ก็ต้องเตรียมพร้อมและชี้แจงอย่างเต็มที่ รวมถึงกำลังดึงล็อบบี้ยิสต์ในสหรัฐ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและความตั้งใจของไทยต่อการแก้ปัญหา" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว และว่า คงต้องเข้าไปดูเรื่องการจัดเก็บตัวเลขภาคการเกษตรด้านต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีข้อมูลยังไม่ชัดเจนและขัดแย้งระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งก่อปัญหาต่อการวางแผนและแก้ปัญหา ซึ่งหลังจากได้โปรดเกล้าฯ แล้วก็จะเรียกประชุมหน่วยงานด้านต่างๆ ซึ่งการทำงานของตนเน้นเชิงรุก ไม่รอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยแก้ไข
'บิ๊กเข้'ขนของเข้าทำเนียบ
วันเดียวกันที่ทำเนียบรัฐบาล ช่วงสายคณะทำงานของพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รอง นายกฯ ทยอยขนเอกสารและอุปกรณ์การทำงานและของที่ระลึกจากห้องทำงานเดิมที่กระทรวงศึกษาธิการ บรรทุกใส่รถปิกอัพสารวัตรทหารเรือ(สห.ทร.) จำนวน 2 คัน ย้ายเข้าห้องทำงานใหม่ที่ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 คาดว่าจะใช้ห้องทำงานเดิมของนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ โดยทีมงานใช้เวลาขนย้ายและ จัดของกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อให้พร้อมในการเข้าทำงานหลังจากเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ ทีมงานพล.ร.อ.ณรงค์ระบุเพียงว่ามาดูความพร้อม ส่วนรองนายกฯ จะเข้าทำเนียบเมื่อใดนั้นยังไม่ทราบ
'อนันตพร'ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์
เวลา 17.30 น. พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เดินทางเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในทำเนียบฯ โดยนำพวงมาลัยดอกดาวเรืองกราบสักการะองค์ท้าวมหาพรหมบนยอดตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้นนำพวงมาลัยดอกมะลิสักการะศาลพระภูมิและศาลตายาย เพื่อเป็นสิริมงคล
พล.อ.อนันตพรให้สัมภาษณ์ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มถึงการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ว่า ยังไม่ทราบเมื่อใด ดังนั้น ยังเข้าทำงานที่กระทรวงพลังงานไม่ได้ต้องรอก่อน เมื่อถามว่าหลังได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีแล้วได้พูดคุยกับนายกฯ บ้างหรือยัง พล.อ. อนันตพรกล่าวว่า ยังไม่ได้คุยเลย ส่วนตำแหน่งประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้ยื่นใบลาออกไปแล้วและจะเสนอชื่อบุคคลอื่นให้นายกฯ พิจารณาอีกครั้งภายในสัปดาห์หน้า โดยผู้จะเข้ามาทำหน้าที่มีแนวโน้มน่าจะเป็นข้าราชการทหาร
เร่งหาพลังงานใหม่
รมว.พลังงานกล่าวว่า สำหรับการทำงานในกระทรวงพลังงานจะนำปัญหาต่างๆ รวมทั้งเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งใหม่ จะนำปัญหาทุกปัญหาและธงของแต่ละฝ่ายมารวมกันแล้วช่วยกันแก้ไข ซึ่งนายกฯ ย้ำเสมอว่าจะหมดอายุสัมปทานเก่าภายในอีก 7-8 ปีข้างหน้า จึงต้องรีบหาพลังงานใหม่ อยากให้ทุกคนเข้าใจ
เมื่อถามว่า ปัญหาในกระทรวงที่จะเข้าไปแก้ไขมีเรื่องใดบ้าง พล.อ.อนันตพรกล่าวว่า หน้าที่กระทรวงพลังงานต้องหาพลังงานให้เพียงพอ มีโครงสร้างราคาพลังงานที่เหมาะสม ส่วนเรื่องกองทุนพลังงานคงทำงานไปอย่างต่อเนื่องเพราะตนเป็นคณะกรรมการอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การทำงานนับจากนี้ก็จะดูจากนโยบายเก่าของรัฐบาลแล้วค่อยๆ ทำไป ส่วนจุดใดที่ยังเดินหน้าไม่ได้ก็จะเข้าไปสะสาง ทำให้งานเดินหน้า อะไรไม่ดีต้องปรับให้มันดี เมื่อถามว่ารวมถึงเรื่องสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ด้วยหรือไม่ รมว.พลังงานกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่แต่ขอรับงานก่อนจึงจะรู้ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร
ทูตสหรัฐเริ่มงานที่ไทยปลายก.ย.
วันที่ 22 ส.ค. นายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ต้อนรับนายเกล็น ทาวเซนด์ เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนใหม่ ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น โดยนายพิศาลกล่าวแสดงความยินดีแก่นายเดวีส์ที่ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย
สองฝ่ายได้หารือกันถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ และการมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ นายเดวีส์ยืนยันว่าพร้อมจะรับฟังและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนของไทยในการเสริมสร้างความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ
ขณะที่นายพิศาลตอบรับคำเชิญเข้าร่วมพิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งของนายเดวีส์ ที่จะจัดขึ้นประมาณกลางเดือนก.ย.นี้ ที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ก่อนจะประจำการในกรุงเทพฯ เพื่อเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเดียวกัน
ร่างรธน.ถึงมือสปช.แล้ว 2 กลุ่มยื้อ ชำแหละก่อนโหวต 6 กย.'บวรศักดิ์'ส่งตามฤกษ์เป๊ะ กมธ.มั่นใจผ่าน'220 เสียง' 285 ม.รวมบทเฉพาะกาล พท.จวกคปป.'อำนาจที่ 4'
รบ.เตรียมแถลงผลงาน 1 ปี พ.ย.นี้ ให้รองนายกฯ-รมต.ใหม่ศึกษางานก่อน 'บวรศักดิ์'ส่งร่าง รธน.ให้ สปช. 'เทียนฉาย'นัดโหวต 6 ก.ย. กมธ.นัดถกร่วม 24 ส.ค.ชำแหละเนื้อหา
มติชนออนไลน์ :
@ 'บวรศักดิ์'ส่งร่างรธน.ให้สปช.
เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 22 สิงหาคม ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อรับมอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ จากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่พิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวรายงานว่า กมธ.ยกร่างฯมีการประชุมรวม 150 ครั้ง กระบวนการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ได้นำความเห็น ข้อคิดเห็น และข้อเสนอจาก สปช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) พรรคการเมือง ประชาชนมาพิจารณา รวมถึงกรอบการเขียนร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 35 ที่กำหนดไว้เป็นสำคัญ
ต่อมาถึงฤกษ์เวลา 11.59 น. นายบวรศักดิ์ส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญปกสีทองให้กับนายเทียนฉาย ขณะที่นางนรีวรรณ จินตกานนท์ รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ ส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญปกสีขาวให้กับ น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 เพื่อนำร่างรัฐธรรมนูญปกสีขาวที่เตรียมไว้ไปแจกจ่ายให้กับสมาชิก สปช.ได้ศึกษา ท่ามกลางเสียงปรบมืออย่างกึกก้องของสมาชิก
@ 'เทียนฉาย'นัดโหวต 6 ก.ย.
ต่อมานายเทียนฉายได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า หลังจากรับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องรอ 15 วัน เมื่อพ้นกำหนดให้ สปช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับภายใน 3 วัน ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว มาตรา 37 วรรค 2 ดังนั้น ขอนัดประชุมเพื่อลงมติ ในวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายนนี้ และสั่งปิดประชุมในเวลา 12.01 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่นายเทียนฉายสั่งปิดการประชุม ปรากฏว่านายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ สปช.ตาก ได้ลุกขึ้นหารือในที่ประชุมว่า ในฐานะที่ สปช.ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง จะได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือไม่ ซึ่งนายเทียนฉายได้พยายามตัดบท โดยกล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งปิดการประชุมแล้ว หากมีอะไรให้หารือภายหลัง จากนั้นสมาชิกได้ทยอยเดินออกจากห้องประชุม ขณะที่บางส่วนถ่ายรูปร่วมกัน และขอถ่ายรูปกับประธาน สปช. และรองประธาน สปช.ทั้ง 2 คน เป็นที่ระลึก
ทั้งนี้ บริเวณหน้าห้องประชุม นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สปช. ได้ตั้งโต๊ะแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญแก่ สปช. จำนวน 2 เล่ม ได้แก่ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเสนอ สปช. และรายงานของ กมธ.ยกร่างฯ โดยเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 124 หน้า จำนวน 285 มาตรา
@ เนื้อหาร่างรธน.4 ภาค.285 มาตรา
สำหรับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ทั้งฉบับ รวมเฉพาะกาล มี 285 มาตรา เริ่มต้นจากบททั่วไป มาตรา 1-7 แล้วแบ่งเป็น 4 ภาค ภาค 1 รากฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประกอบด้วย หมวดที่ 1 พระมหากษัตริย์ หมวดที่ 2 ประชาชน แบ่งออกเป็น 4 ส่วน รวมถึงกำหนดให้ประชาชนชาวไทยพึงมีสำนึกและพฤติกรรม รวมทั้งได้รับการส่งเสริมให้เป็นพลเมือง โดยกำหนดให้รัฐปลูกฝัง อบรมความเป็นพลเมืองให้ประชาชน
ภาค 2 ผู้นำการเมืองและสถาบันการเมือง แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ หมวด 1 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และหมวด 3 รัฐสภา ให้มี ส.ส. 450 คน จากเลือกตั้งเขตละคน 300 คน และ 150 คน ไม่เกิน 170 คน มาจากบัญชีรายชื่อและกำหนดให้มีวุฒิสภา 200 คน จากเลือกตั้ง 77 คน และสรรหา 123 คน ในหมวดนี้กำหนดถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับการประชุมรัฐสภา และสภาทั้งสอง การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการยื่นกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายและการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในหมวด 4 คณะรัฐมนตรี ได้กำหนดให้นายกฯมาจาก ส.ส.และบุคคลภายนอกได้ในมาตรา 165
@ ให้อำนาจคปป.-นิรโทษฯคสช.
ร่างรัฐธรรมนูญยังระบุเรื่องของหลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้ในภาค 3 โดยหมวด 1 เกี่ยวกับศาลและกระบวนการยุติธรรม หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รวมถึงการถอดถอนจากตำแหน่ง การดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน
ภาค 4 ของร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง มีเนื้อหาน่าสนใจ ได้แก่ กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป. ในมาตรา 259 ถึงมาตรา 263 และการปฏิรูปด้านต่างๆ ในมาตรา 264-267
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ในส่วนที่ชื่อว่าบทสุดท้าย การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดประเด็นที่ห้ามแก้ไข และการแก้ไข เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนของรัฐสภาให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ผิดหลักเกณฑ์หรือไม่ หากไม่ผิด ต้องส่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อทำประชามติก่อน
บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 280 ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจพิเศษใน 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ ในการเข้าควบคุมสถานการณ์และมีคำสั่งที่มีผลบังคับทั้งในทางนิติบัญญัติและทางบริหาร เพื่อแก้ไขวิกฤตที่คณะรัฐมนตรีไม่สามารถควบคุมได้ และมาตรา 285 อันเป็นมาตราสุดท้าย กำหนดให้การกระทำต่างๆ ประกาศต่างๆ ของ คสช. ที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว ยังคงชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป ให้บุคคล คณะบุคคลที่กระทำ ออกคำสั่งและประกาศต่างๆ ได้รับความคุ้มครอง จะนำไปเป็นเหตุในการฟ้องร้องในทางใดมิได้
@ 'นคร'มั่นใจเสียงหนุนเกิน 220
พล.ท.นคร สุขประเสริฐ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า หลังจากที่ กมธ.ยกร่างฯได้ชี้แจงเหตุผลการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ ให้สมาชิก สปช.กลุ่มต่างๆ ที่ขอแปรญัตติแก้รัฐธรรมนูญฟัง เมื่อวันที่ 19-20 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่เข้าใจเหตุผลของ กมธ.ยกร่างฯ ทำให้มั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบจาก สปช. ขณะนี้เชื่อว่า เสียง สปช.ที่จะสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญน่าจะมีเกิน 220 เสียงแล้ว จากเดิมที่มั่นใจว่ามี 200 เสียง
นายสิระ เจนจาคะ สปช.ด้านสังคม กล่าวว่า วันที่ 23 สิงหาคม เวลา 15.00 น.จะนำร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับไปมอบให้กับพระพุทธะอิสระ ที่วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม เพื่อให้ได้พิจารณาพร้อมกับประชาชนภายในงาน "พุทธอิสระพบประชาชนโหวตร่างรัฐธรรมนูญ"
โดยจะมีการสอบถามความพึงพอใจของประชาชนว่าสมควรรับร่างหรือไม่ ถ้าประชาชนเห็นด้วยเชื่อว่าการลงประชามติคงไม่มีปัญหา แต่ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย ในฐานะ สปช.จะลงมติไม่เห็นด้วยเช่นกัน
@ 2 กมธ.นัดชำแหละรธน.
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า วันที่ 24 สิงหาคมนี้ เวลา 09.30 น. กมธ.ปฏิรูปการเมือง กับ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จะนัดหารืออย่างไม่เป็นทางการ เพื่อดูร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด เช่น กมธ.ยกร่างฯยังกำหนดให้นายกฯมาจากคนนอกได้หรือไม่ ยังให้มีระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม เพื่อให้ได้รัฐบาลที่อ่อนแอมาบริหารประเทศในรูปแบบนักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์เป็นบุฟเฟต์ทางการเมืองในอนาคตอีกหรือไม่
"ถ้าเขียนไว้อีก เราจะวิเคราะห์กันว่า รัฐบาลอ่อนแอแบบนี้ จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศได้หรือไม่ ซึ่งการปฏิรูปประเทศในอนาคตต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง เพราะขนาดรัฐบาลปัจจุบันที่เข้มแข็งเด็ดขาด มีอำนาจมาตรา 44 เป็นอำนาจพิเศษคอยสั่งการ แต่นายกฯยังยอมรับเองว่า แก้ปัญหาประเทศได้ไม่ครอบคลุม เพราะปัญหาประเทศมีมาก ดังนั้น จึงต้องวิเคราะห์กันว่า หากมีระบบที่ได้รัฐบาลอ่อนแอมาบริหารประเทศจะเป็นอย่างไร" นายสมบัติกล่าว
@ วิปสปช.นัดหารือ 25 สิงหาฯ
นายประมนต์ สุธีวงศ์ กมธ.วิสามัญกิจการ สปช. (วิป สปช.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ดูรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ แต่พอทราบเนื้อหาสาระคร่าวๆ โดยส่วนที่ กมธ.ยกร่างฯมีการชี้แจงในส่วนที่มีการเสนอ
คำขอแก้ไขนั้น ถือพอใจว่าในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ที่ขอไปได้ทุกอย่าง ทั้งนี้ คงต้องดูรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ และวันที่ 25 สิงหาคมนี้ จะมีการนัดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
นางสารี อ๋องสมหวัง สปช.ด้านสังคม กล่าวว่า ยังไม่ได้อ่านเนื้อหาทั้งร่างรัฐธรรมนูญ แต่ในส่วนที่มีการชี้แจงคำขอแก้ไขของ กมธ.ยกร่างฯนั้น ต้องบอกว่าข้อเสนอที่ สปช.เสนอไปนั้น บางส่วนมีการปรับแก้ บางส่วนไม่ได้ปรับแก้ แต่มีการบันทึกไว้ในเจตนารมณ์ บางส่วนไม่ปรับแก้แต่จะนำไปบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หากถามว่า พอใจหรือไม่ ต้องเรียกว่าพอใจในระดับหนึ่ง ส่วนจะโหวตรับหรือไม่รับนั้น จะต้องดูภาพรวมก่อน
@ 'วีรพัฒน์'เห็นร่างรธน.แล้วจุก
วันเดียวกัน เฟซบุ๊กของนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการด้านกฎหมาย ได้โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญว่า พอได้พลิกอ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้ว หากใครกำลังกังวลใจกับการสอดไส้ มาตรา 280 แล้ว ขอให้ลองอ่านมาตรา 261 วรรคท้าย จะยิ่งจุก เพราะจะเห็นว่าไม่ต้องรอให้เกิดวิกฤต แค่เวลาบ้านเมืองปกติ คณะกรรมการเทวดาก็สามารถสั่งคณะรัฐมนตรีได้ ว่าต้องปฏิรูป ปรองดองอย่างไร และถ้าคณะรัฐมนตรีดื้อก็มีมาตรา 257 วรรคท้าย ส่งลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยครับ ถ้าดื้อต่อก็คงมี "เจ้าเก่า" โยง ครม. เข้ากับพรรคการเมือง ยัดข้อหาล้มล้างการปกครองมาตรา 34 วรรคท้าย (ตีความว่า การไม่ทำตาม ไม่ใช่การใช้อำนาจ ฯลฯ) ยุบพรรคไปอีก นี่ยังไม่ต้องพูดถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปปรองดองอีก 2 ฉบับ ที่ยังไม่รู้จะสอดไส้อะไรไว้อีก
@ 'ตู่'ชี้คว่ำเสียน้อย-รับเสียมาก
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงการโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ในวันที่ 6 กันยายนนี้ว่า จากข้อเท็จจริงทั้ง สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ ต่างอยู่ในเรือแป๊ะลำเดียวกัน อยู่ที่การประเมินสถานการณ์ในขณะนั้นว่า จะคว่ำรัฐธรรมนูญโดย สปช.หรือให้ผ่านโดย สปช. แล้วส่งทำประชามติ หากโดนคว่ำในชั้น สปช.แสดงว่ารู้เห็นเป็นใจและจะถูกตั้งข้อสงสัยมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะคว่ำหรือผ่านร่างรัฐธรรมนูญต่างก็นำไปสู่การอยู่ยาวของ คสช. ดังนั้น สิ่งที่ คสช.ต้องคิดให้มากคือ จะกลายเป็นไฟลามทุ่งหรือไม่ หากประชาชนลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ
"หากประชาชนแสดงพลังไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างจะไม่ง่ายตามที่คิด เพราะผ่านหรือไม่ผ่านประชาชนไม่มีทางเลือกอยู่แล้ว หากปล่อยให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประเทศก็พัง แต่ถ้าไม่รับก็ทำให้อยู่นาน เป็นการซื้อและยืดเวลาแต่ยังไม่พังโดยฉับพลันเหมือนรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีทางเลือกที่ดีให้กับประชาชน มีแต่เสียมากกับเสียน้อย ถ้าคว่ำรัฐธรรมนูญทำให้เสียน้อย แต่ถ้ารับก็เสียมาก เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้จะทำให้ประเทศเข้าสู่วิกฤตรุนแรงมากกว่าการใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 และเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 83 ปี" นายจตุพรกล่าว
@ ลั่นรณรงค์คว่ำรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวถามว่า นปช.จะรณรงค์ให้ประชาชนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายจตุพรกล่าวว่า หากได้ทำประชามติ ตอนนั้น คสช.ควรให้ทุกฝ่ายรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ อย่าปิดกั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และหากรัฐธรรมนูญถูกคว่ำโดยประชาชน แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า จะพูดชัดเจนได้หรือไม่ว่า นปช.จะรณรงค์ประชาชนให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพราะไม่เป็นประชาธิปไตย นายจตุพรกล่าวว่า "เราประกาศชัดมาแต่ต้นว่าทันทีที่เนื้อหารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย จุดยืนของ นปช.คือต้องคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้"
@ พท.ชี้ผ่านต้องเผาตำราเก่า
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ว่า การส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญต้องพึ่งพาฤกษ์ผานาที เพราะหลักการผิดเพี้ยนไปจากหลักประชาธิปไตย หากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ต้องเผาตำราเรียนคณะรัฐศาสตร์ของทุกมหาวิทยาลัย แล้วเขียนตำราเรียนใหม่ เรียกว่า "ฉบับบวรศักดิ์" โดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมาจะบัญญัติถึงอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล แต่ฉบับบวรศักดิ์ มีอำนาจที่ 4 คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ ขึ้นมาอยู่เหนืออำนาจรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี เมื่อพลิกดูอำนาจที่ 4 ดังกล่าว มีการใช้ในการปกครองของประเทศใดบ้าง ปรากฏว่ามีการใช้อยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ เช่น จีน รัสเซีย ที่เรียกคณะกรรมการดังกล่าวว่า "โปลิตบูโร" การอ้างการปฏิรูปก็ดีการอ้างระยะเวลาเปลี่ยนผ่านก็ดี เป็นข้ออ้างที่มีเบื้องหลังต้องการสืบทอดอำนาจของกลุ่มอำนาจเดิม
"ผมไม่เชื่อว่า นายกฯคิดสืบทอดอำนาจ เพราะท่านปฏิเสธอย่างแข็งขันต่อสาธารณะมาตลอด แต่ระบบที่สร้างขึ้นใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ล้วนสอดรับกับการสืบทอดอำนาจทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นที่มานายกฯ ที่มา ส.ว. ที่มา ส.ส. และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ เพราะสาระสำคัญในโครงสร้างอำนาจอธิปไตยขัดกับหลักประชาธิปไตยอย่างชัดเจน" นายชวลิตกล่าว
@ สนช.คาดประชามติก.พ.59
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ให้สัมภาษณ์ระหว่างนำ กมธ.คณะต่างๆ ลงรับฟังปัญหาที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ว่า วันที่ 6 กันยายน สปช.จะมีการประชุมรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะดำเนินการทำประชามติ และเชื่อว่าตามโรดแมปจะมีการเลือกตั้งปลายปี 2559 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดวันทำประชามติเบื้องต้นในวันที่ 10 มกราคม 2559 แต่คิดว่าไม่น่าจะทัน การทำประชามติน่าจะเป็นเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม 2559 ซึ่งตามโรดแมปเข้าใจว่า สนช.จะอยู่แค่ปีเศษๆ โดยมุ่งทำหน้าที่ในการพิจารณากฎหมาย แต่ขณะนี้คงอยู่ถึงปี 2560 และคงได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ด้วย
@ 'มานิจ'ย้ำ 3 ปมปลดนายกฯได้
นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงอำนาจพิเศษของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติในร่างรัฐธรรมนูญ (คปป.) ในการปลดนายกรัฐมนตรีว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะนายกฯ คือผู้ที่มาจากการเลือกโดย ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อีกทั้งตำแหน่งนายกฯ ถือเป็นตำแหน่งที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แต่ยอมรับว่าในที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ช่วงที่พิจารณาเรื่องนี้ มีผู้ที่ยกประเด็นซักถามว่าการเสนอให้ปลดนายกฯ ทำได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายว่าขั้นตอนการเสนอนั้นสามารถทำได้ แม้แต่ประชาชนเสนอก็สามารถทำได้ แต่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่ต้องพิจารณาบนเงื่อนไข ได้แก่ 1.ความจำเป็นเรื่องรักษาความเป็นเอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน
"2.ป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ และ 3.เกิดความขัดแย้งอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ซึ่งการดำเนินการปกติของสถาบันทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญและ ครม.ไม่อาจดำเนินการเพื่อยุติได้" นายมานิจกล่าว
@ 'อำนาจพิเศษ'มีมาตรการคุม
นายมานิจ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังต้องมีขั้นตอนคือ 1.เมื่อพิจารณาเข้าเงื่อนไข ต้องปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลปกครองสูงสุด 2.การลงมติเห็นชอบกับการดำเนินการ ต้องมีการลงมติจากคณะกรรมการฯ ที่ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการที่มีอยู่ด้วย ทั้งนี้ ยังมีมาตรการควบคุมการใช้อำนาจพิเศษโดยรัฐสภา เพราะกำหนดให้เมื่อมีการใช้อำนาจพิเศษ จะถือเป็นการเปิดสมัยประชุมรัฐสภา และ ส.ส.หรือ ส.ว.สามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ได้ รวมถึงให้สิทธิในการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วย
นายมานิจ กล่าวว่า คปป.ตามร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ คือการขับเคลื่อนการปฏิรูป ด้วยการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปฏิรูป นำข้อเสนอของ สปช. และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบูรณาการให้สามารถพัฒนาประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน, ดำเนินการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ระหว่างคู่ขัดแย้ง ตรวจสอบและไต่สวนการไม่ปฏิบัติตามแผนหรือขั้นตอนที่ คปป. และเสนอเรื่องความพร้อมเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยการไม่ปฏิบัติตามแผนหรือขั้นตอนการปฏิรูป เป็นต้น
@ รบ.แถลงผลงาน 1 ปีพ.ย.นี้
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การแถลงผลงาน 1 ปีของรัฐบาล คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยมีการหารือกับคณะทำงานทีมโฆษกรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว จากนี้จะนำเรื่องเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และคาดว่าจะเห็นชอบตามที่เสนอ เหตุที่ต้องแถลงผลงานในเดือนพฤศจิกายน เพราะว่า ต้องให้เวลากับรองนายกฯและรัฐมนตรีใหม่ในแต่ละกระทรวงได้มีเวลาศึกษารายละเอียดงานแต่ละด้านก่อน
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวถึง ครม.ชุดใหม่ว่า การปรับ ครม.นั้น ไม่ได้หมายความว่า ครม.ชุดเก่าแก้ไขปัญหาไม่ได้ผล แต่ละส่วนมีความเหมาะสมในสถานการณ์แต่ละช่วงไม่เหมือนกัน ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป จึงต้องปรับเพื่อให้มีความสอดรับกับสถานการณ์ ยืนยันว่าปรับ ครม.ครั้งนี้ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น และ พล.อ.ประยุทธ์ อยากขอร้องสื่อมวลชน ให้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของทุกคนที่ถูกปรับเปลี่ยนตำแหน่ง ขอให้สัมภาษณ์ด้วยการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม อย่าทำให้ผู้ที่ถูกปรับเปลี่ยนตำแหน่งเกิดความรู้สึกน้อยใจและเสียใจ เนื่องจากแต่ละคนล้วนได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง
@ ไม่หนักใจ'อุ๋ย'ปัดนั่งกุนซือ
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้รู้สึกหนักใจกับกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ออกมาระบุว่าไม่นั่งในตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ เพราะต่างฝ่ายต่างเป็นผู้ใหญ่ด้วยกันทั้งนั้น และในฐานะโฆษกรัฐบาลได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร อยู่บ่อยครั้ง จึงเชื่อว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธรจะสามารถปรับเปลี่ยนสถานการณ์และปรับสภาพให้เข้ากันได้
"รู้สึกดีที่ผลโพลบอกว่า ประชาชนพอใจกับ ครม.ชุดใหม่ เมื่อทำให้ประชาชนเกิดความสบายใจ ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุนกัน อย่างน้อยก็น่าจะส่งผลทางจิตวิทยา ทำให้บรรยากาศต่างๆ ดีขึ้น ส่วนที่มีคนตั้งคำถามว่ามีทหารใน ครม.ชุดใหม่นี้จำนวนมาก แต่เสียงสะท้อนจากผลโผลก็เป็นคำตอบที่หนึ่ง ส่วนคำตอบที่สอง ไม่ว่าจะเป็น ทหาร พลเรือน ผมว่าเป็นปัจจัยในลำดับความเร่งด่วนหลังๆ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การใช้คนให้ตรงกับงาน จะเป็นทหารหรือพลเรือน แต่ต้องใช้คนตรงกับงาน" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
@ 'บิ๊กโย่ง'สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.30 น. พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าสักการะองค์ท้าวมหาพรหม บนดาดฟ้าของตึกไทยคู่ฟ้า ศาลพระภูมิและศาลตายาย ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในทำเนียบรัฐบาล จากนั้นให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ทราบว่าจะมีการเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตนเพื่อรับตำแหน่งเมื่อใด ส่วนห้องทำงานที่ตึกบัญชาการ 1 กำลังมีการขนย้าย แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ หลังจากมีรายชื่อในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังไม่ได้คุยกับนายกรัฐมนตรี ส่วนตำแหน่งประธานคณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบประมาณในภาครัฐ (คตร.) นั้นได้ยื่นใบลาออกแล้ว และจะมีการชื่อคนใหม่ให้เสนอนายกรัฐมนตรีอีกครั้งภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งแนวโน้มน่าจะเป็นข้าราชการทหาร
"ปัญหาที่กระทรวงพลังงาน มีทั้งเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งใหม่ จะต้องนำปัญหาทุกปัญหา หรือธงของแต่ละฝ่ายมารวมกัน แล้วช่วยกันแก้ไข เพราะนายกรัฐมนตรีย้ำเสมอว่าจะหมดอายุสัมปทานเก่าภายในอีก7-8 ปีข้างหน้า ดังนั้นจึงต้องรีบหาพลังงานใหม่ จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจ แต่เบื้องต้นต้องเข้าไปดูที่กระทรวงพลังงานก่อนว่ามีปัญหาอะไรบ้าง" พล.อ.อนันตพรกล่าว
@ 'บิ๊กเข้'ขนของเข้าทำเนียบฯ
ทั้งนี้ ในช่วงเช้า คณะทำงานของ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้รับโปรดกล้าฯ
ให้ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ได้ทยอยขนเอกสาร อุปกรณ์ในการทำงานและของที่ระลึก รวมทั้งเสื้อผ้าจากห้องทำงานเดิม ที่กระทรวงศึกษาธิการ บรรทุกใส่รถกระบะสารวัตรทหารเรือ (สห.ทร.) จำนวน 2 คัน ย้ายเข้าห้องทำงานใหม่ที่ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล คาดว่าจะใช้ห้องทำงานเดิมของนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกฯที่ถูกปรับออก โดยทีมงาน พล.ร.อ.ณรงค์ระบุเพียงว่า มาดูความพร้อม ส่วนรองนายกรัฐมนตรีจะเข้าทำเนียบเมื่อใดนั้นยังไม่ทราบ
@ เตรียมสถานที่ถ่ายรูปรมต.ใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ครม.ใหม่ และอยู่ระหว่างรอมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายกรัฐมนตรี นำรัฐมนตรีใหม่เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ โดยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้สั่งเจ้าหน้าที่กองงานสถานที่ทำเนียบรัฐบาล เตรียมความพร้อมประจำอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม หากมีพระบรมราชโองการให้รัฐมนตรีใหม่เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณ พร้อมกันนี้ นายกฯสั่งให้รัฐมนตรีใหม่ทั้งหมดที่ต้องเข้าเฝ้าฯ เตรียมพร้อมไว้อยู่ตลอด เพื่อสามารถเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณได้ทันที
ขณะที่เจ้าหน้าที่กองงานสถานที่ได้เข้าจัดเตรียมห้องสำหรับถ่ายภาพรัฐมนตรีใหม่เพื่อทำทะเบียนประวัติ ที่ตึกสันติไมตรี ขณะที่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า คนงานกว่า 10 คน ได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ ตัดแต่งต้นไม้ สนามหญ้า โดยคนงานเปิดเผยว่า มีคำสั่งให้คนงานเข้ามาปรับปรุงภูมิทัศน์หน้าตึกไทยคู่ฟ้าไว้ เพื่อเตรียมสถานที่สำหรับรัฐมนตรีใหม่ถ่ายภาพร่วมกันหน้าตึก และจัดเตรียมรถตู้จากกองทัพเรือและกองทัพบกในการนำรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ