- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 16 August 2015 17:25
- Hits: 3849
แม้วเชิญ ถอดยศ-ถอดกางเกง อัดรธน.ใหม่เลวร้าย-ล้าหลัง พท.แถลงซัดสืบทอดอำนาจ ปชป.ก็ร่วมจวก-ชี้ไม่เป็นปชต. เสธ.ทบ.โต้ทหารบุกบ้านวัฒนา
'ทักษิณ'ซัดรธน.ใหม่ เลวร้าย พาประเทศ ล้าหลัง เย้ยให้ถอดยศ ถอดกางเกงเชิญตามสบาย 'วิษณุ'แจง 2 ขั้นตอนเรียกคืนเครื่องราชฯ ย้ำระเบียบ-พ.ร.บ.ตำรวจไม่ห้ามถอดยศตร.นอกราชการ ด้านพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ค้านร่างรธน. ซัดสืบทอดอำนาจ เตรียมยื่น'บวรศักดิ์'จันทร์นี้ ปชป.ก็ร่วมจวกไม่เป็นประชาธิปไตย ชี้ผุดกก.ยุทธ ศาสตร์ชาติ-รัฐบาลปรองดอง เป็นเหตุให้สปช.อยากคว่ำร่างรธน.มากขึ้น กมธ.ยกร่างฯ เมินเสียงค้าน ยันรธน.แบบเดิมไม่ตอบโจทย์ ยอมเลื่อนชี้แจงคำขอแก้ไขรธน. เปิดทางให้สปช.ถกวาระปฏิรูป-ญัตติคำขอประชามติ เสธ.ทบ.ไม่เชื่อทหารอาวุธครบมือบุกบ้าน 'วัฒนา'ขอตรวจสอบภาพนิ่ง วิดีโอก่อน ยันทหารถ่ายรูปเพื่อทำประวัติจะได้เข้าบ้านไม่ผิดหลัง จ่อให้มทภ.1 เชิญคุยปรับความเข้าใจ 'โฆสิต'ชี้ปรับครม.ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9027 ข่าวสดรายวัน
เผยขั้นตอนเรียกคืนเครื่องราช'แม้ว'
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า ทำได้ 2 ขั้นตอนคือ 1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ทำเรื่องมาถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ดำเนินการ และสำนักเลขาธิการครม.นำเสนอนายกฯ แล้วกราบบังคมทูล 2.สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้นเรื่องเพราะเครื่องราชฯบางตระกูล บางสาย ไม่เกี่ยวกับตร. เข้าใจว่าพ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ในราชการตำรวจสั้นๆ ยังไม่ได้เครื่องราชฯเท่าไหร่ หลายอันได้ตอนเป็นนายกฯ ส่วนสำนักนายกฯจะตั้งเรื่องได้อย่างไร คำตอบ คือตร.ต้องแจ้งมา และสำนักนายกฯดำเนินการรื้อ สรุปคือมี 2 แนวทาง
นายวิษณุ กล่าวว่า แต่ถ้าเป็นคนอื่น จะไม่มีทางที่ 2 เนื่องจากกรณีพ.ต.ท.ทักษิณ จะมีสาย 4 สาย 3 มาได้ตอนเป็นนายกฯ และยังมีเครื่องราชฯที่ไม่เข้าข่ายที่รัฐบาลจะขอเรียกคืนได้ เพราะรัฐบาลไม่ได้ขอพระราชทาน แต่เป็นเรื่องที่พระราชทานลงมา เช่น เครื่องราชฯ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ อาจนำความกราบบังคมทูล เพราะตอนจะให้หรือจะเรียกกลับ ต้องโปรดเกล้าฯ คนที่ไม่ได้ขอ แต่ไปเรียกคืนสิ่งที่ตัวไม่ได้ขอ คงลำบาก โดยแจ้งให้ทราบว่ามีเหตุ ซึ่งจะเรียกคืนหรือไม่ก็แล้วแต่ ทั้งนี้ ขั้นตอนการเรียกคืนเครื่องราชฯสามารถดำเนินการพร้อมกับการขอถอดยศได้
ย้ำพรบ.ไม่ได้ห้ามถอดยศอดีตตร.
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีถอดยศที่ไม่ได้ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลตามกฎหมายหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า กรณีที่กฎระเบียบใดมีผลแก่ประชาชนทั่วไป ต้องประกาศให้ประชาชนรู้ ซึ่งเขียนไว้ในพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ของราชการ พ.ศ. 2540 แต่ระเบียบตร.ว่าด้วยการถอดยศ ไม่ได้เป็นระเบียบที่จะให้คนอื่นทั่วไปปฏิบัติ ซึ่งในระเบียบกำหนดว่าเมื่อต้องถอดยศ ต้องส่งเรื่องไปที่กองวินัย ตร. เพื่อให้ดำเนินการ และเสนอนายกฯนำความกราบบังคมทูล มันเลยเป็นขั้นตอนวิธีปฏิบัติงาน ซึ่งคำว่าขั้นตอนวิธีปฏิบัติงาน ไม่มีที่ไหนส่งมาประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นายวิษณุ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงวินิจฉัยว่าระเบียบฉบับนี้ไม่ใช่ระเบียบที่มีผลกับประชาชนโดยทั่วไป แต่เป็นวิธีของตร.เองว่าเวลาจะถอดยศให้ทำอย่างไร เหมือนระเบียบแต่งกายตำรวจก็ไม่ได้ส่งมาประกาศ เป็นเรื่องภายในของเขา นอกจากนี้เห็นว่าพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติและระเบียบตำรวจไม่ได้ขัดกันในเรื่องถอดยศ และพ.ร.บ.ตำรวจไม่ได้บอกเลยว่าจะทำกับคนที่ออกจากราชการไม่ได้
แนะให้รอฟังกก.ข้อมูลข่าวสาร
เมื่อถามว่าตร.ต้องรอฟังความเห็นของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือจบแล้วตามมติที่ประชุมกระทรวงยุติธรรม นายวิษณุกล่าวว่า โดยหลักเมื่อขอความเห็นไปก็ต้องรอฟัง ไม่อย่างนั้นจะถามทำไม ความเห็นจากคณะกรรมการชุดรมว.ยุติธรรม ไม่ใช่เป็นการสั่ง แต่เป็นการทำความเห็นเสนอนายกฯ และนายกฯก็ทำความเห็นไปให้ตร.เมื่อตร.รับไปก็ต้องมีอย่างอื่นประกอบแต่อะไรที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมายห้ามหรือระเบียบห้ามก็ต้องทำตาม
เมื่อถามว่าระหว่างนี้ถ้าพ.ต.ท.ทักษิณฟ้องร้อง การถอดยศยังจะดำเนินการได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ได้ แต่ตรรกะที่ไม่วิบัติ มีอยู่ง่ายๆ ว่าทั้งหมดเป็นการนำความกราบบังคมทูล
เล็งตั้งกรรมการดูพิมพ์เขียวปฏิรูป
นายวิษณุ กล่าวถึงขั้นตอนหลังจากพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับมอบผลงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือพิมพ์เขียวปฏิรูปว่า วิธีปฏิบัติเรามีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีเลขาธิการ นายกฯเป็นประธาน ซึ่งจะส่งให้คณะกรรมการชุดนี้ก็ได้ ซึ่งแล้วแต่นายกฯจะดำเนินการ แต่ต้องถือว่าผลงานสปช.นั้นเป็นทางการแล้ว ฉะนั้น จะต้องดำเนินการร่วมกัน ดูว่าสิ่งใดทำได้ อะไรทำไม่ได้ อาจตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ เพื่อดูเนื้อหาการปฏิรูปก็ได้
นายวิษณุ กล่าวว่า คนที่จะเข้ามาดูเรื่องนี้ต้องละเอียด เพื่อดูว่าใน 37 ประเด็นการปฏิรูปมีอะไรบ้างที่รัฐบาลทำไปแล้ว อะไรที่ยังไม่ได้ทำ หรือรอรายละเอียดอยู่ เพื่อรัฐบาลจะได้ดำเนินการต่อ หรือดูว่าสิ่งใดบ้างที่รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนก็ไม่สามารถทำได้ อาจจะด้วยปัจจัยการใช้งบประมาณมาก ได้ไม่คุ้มเสีย จึงต้องมาจัดประเภท จัดลำดับความสำคัญอีกครั้ง แต่ก่อนหน้านี้สปช.ได้ส่งร่างกฎหมายมาที่รัฐบาลบ้างแล้ว เช่น กฎหมายรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งดูกันอยู่
'แม้ว'เหน็บจะถอดยศ-ตามสบาย
รายงานข่าวแจ้งว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวระหว่างร่วมงานเลี้ยงของกลุ่มแดงอียู ที่ประเทศฟินแลนด์ว่า "รัฐธรรม นูญฉบับที่จะมีขึ้น เป็นฉบับเลวร้ายที่สุด เขียนแบบนี้ ไม่คิดถึงว่าไทยจะเดินต่อไปอย่างไร คิดแต่จะพาคนไทยย้อนกลับไปในอดีตล้าหลัง คนไทยต้องเข้มแข็ง ต้องไม่ยอมรับ เศรษฐกิจไทยน่าห่วงเพราะความเชื่อมั่นถูกทำลายไปมาก จากการเอาประเทศไทย ไปเล่นกับอะไรก็ไม่รู้ มัวทำแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เปรอะไปหมด ฝากทิ้งท้าย ใครจะถอดยศ ถอดกางเกง ก็ถอดไปเถอะ ตามสบาย"
พท.แถลงการณ์ค้านร่างรธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทยได้เผยแพร่เอกสารที่ พท. 0046/2558 เรื่อง"การรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญ" พร้อมคำแถลง "เพื่อไทยวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญ" ลงนามโดย พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ พล.ต.ท.วิโรจน์ และคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญของพรรค จะยื่นข้อเสนอนี้ต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น.
ซัด-ปูทางสืบทอดอำนาจ
พล.ต.ท.วิโรจน์ ระบุว่า จากการติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พบว่าแม้กมธ.ยกร่างฯจะได้ปรับปรุงตามความคิดเห็นและคำขอแก้ไขจากพรรคเพื่อไทยและฝ่ายต่างๆ ในบางประเด็น แต่มีบทบัญญัติที่เป็นสาระสำคัญมิได้ปรับเปลี่ยนแก้ไขและขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตย ร่างรัฐธรรมนูญนี้ปูทางการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม เสียงประชาชนไม่มีความหมาย อาทิ การกำหนดให้บุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งดำรงตำแหน่งนายกฯได้ เพื่อเปิดช่องให้บุคคลที่มิได้มาจากการเลือกตั้งเป็นนายกฯได้ เป็นการเปิดช่องให้สืบทอดอำนาจ รวมถึงการกำหนดให้ส.ว.มี 200 คน แต่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน ที่เหลือมาจากการสรรหาถึง 123 คนมากกว่า ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งเกือบ 2 เท่าและให้ครม.ชุดปัจจุบันเป็นผู้สรรหา มีวาระ 3 ปี เห็นได้ชัดเจนถึงเจตนาจะสืบทอดอำนาจ แต่งตั้งพวกของตนเป็นส.ว. โดยให้ส.ว.สรรหา เป็นกลไกควบคุมตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน นับได้ว่ายิ่งร่างก็ยิ่งเห็นธาตุแท้ของคณะบุคคลเหล่านี้ที่มีแนวคิดปฏิเสธอำนาจของประชาชนมาตลอด
ชี้ทำลายหลักประชาธิปไตย
ขณะที่การกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติและในทางบริหาร สั่งการเพื่อแก้ปัญหาของประเทศต่างๆ ในยามวิกฤตได้ เห็นได้ว่าเป็นการนำองค์กรที่ไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับประชาชน มาควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เหมือนเป็นการยึดอำนาจประชาชน
"โดยวิธีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเสมือนเป็นซูเปอร์บอร์ดมีอำนาจเหนือรัฐบาล ทำลายหลักกฎหมาย ทำลายหลักการประชาธิปไตย และทำลายความชอบธรรมของระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ส่วนการจำกัดสิทธิของผู้เคยถูกตัดสิทธิทางการเมืองหรือเคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลในทางการเมืองอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ เหมือนมีขึ้นเพียงเพื่อสกัดกั้นบุคคลจากพรรคหนึ่งพรรคใดเป็นการเฉพาะ"
คณะทำงานฯ จึงขอเน้นย้ำเจตนารมณ์ผ่านคำแถลงนี้ เพื่อยืนยันหลักการประชาธิปไตยที่พรรคยึดมั่นใน 2 ประเด็น 1.รัฐธรรมนูญต้องไม่มีลักษณะการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ต้องเป็นประชาธิปไตยที่ยอมรับเสียงของประชาชน 2.รัฐธรรมนูญต้องไม่กีดกัน กลั่นแกล้งกลุ่มบุคคล หรือพรรคใดพรรคหนึ่งในการเข้าสู่กระบวนการประชาธิป ไตยและการตัดสินใจของประชาชน พรรคหวังว่าคำแถลงฉบับนี้จะเกิดประโยชน์ต่อการจัดทำกรอบกติกาของประเทศและการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อไป
สร้างเงื่อนไขสู่ความขัดแย้ง
คณะทำงานฯ ขอสรุปว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่เคารพและไม่เชื่อมั่นในวิจารณญาณของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย นำไปสู่รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ วางกลไกการบริหารจัดการประเทศที่รังแต่นำไปสู่ความล้มเหลวและความขัดแย้ง ขาดความน่าเชื่อถือในเวทีการเจรจาระหว่างประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของต่างประเทศ เพราะไม่มีนักลงทุนใดกล้าลงทุนในประเทศที่รัฐบาลอ่อนแอ ไม่มีความต่อเนื่องของนโยบาย
นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้สร้างเงื่อนไขนำสู่ความขัดแย้งขึ้นใหม่ มุ่งสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและกลุ่มที่สนับสนุน มิได้มีกรอบของการปฏิรูปที่ชัดเจน ครอบคลุมทุกด้านทุกองค์กร เป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องการจะหยุดประชาธิปไตย ไม่ให้ประชาธิปไตยเป็นกลไกแก้ปัญหาของประเทศ ทำให้ประชาชนอ่อนแอ ขาดสิทธิและโอกาส และประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปชป.เชื่อมีสปช.คว่ำรธน.มากขึ้น
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ดูจากเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ มีหลายประเด็นไม่เป็นประชาธิป ไตย ทั้งประเด็นเก่าเรื่องที่มานายกฯคนนอก ประเด็นล่าสุดเรื่อง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และการเสนอญัตติตั้งคำถามการทำประชามติให้ 4 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาตินั้น แบบนี้จะทำให้ สปช.ที่จ้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญมีแนวร่วมมากขึ้น มีเหตุผลบอกประชาชนได้เเล้วว่า จะตัดสินใจคว่ำเพราะรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ดูแล้วกมธ.ยกร่างฯเหมือนเขียนจงใจให้รัฐธรรมนูญถูกคว่ำ แต่อย่าเพิ่งไปดูถูกผู้ร่าง เขาเซียน อย่าไปประมาท เพราะโอกาสที่รัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำในชั้นสปช.มีน้อยกว่าถูกคว่ำในชั้นประชามติของประชาชน ถ้าคว่ำในชั้นประชามติ จะยืดเวลารัฐบาลได้มากกว่า ผู้ร่างกับ คสช.จึงต้องบอกประชาชนไปตรงๆ เลยว่า ทำแบบนี้ต้องการยืดอำนาจออกไปหรือไม่ อย่าไปจงใจเขียนให้รัฐธรรมนูญมีปัญหาจนประชาชนเข้าใจยาก เพื่อให้รัฐธรรมนูญถูกคว่ำ จะเสียหายกันไปหมด
รบ.ปรองดองต้องไม่มีซูเอี๋ย
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้มีคณะกรรมยุทธศาสตร์ฯ ในมาตรา 260 ของร่างรัฐธรรมนูญว่า กมธ.ยกร่างฯ ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะไม่ก้าวก่าย ไม่แทรกแซงการทำงานของรัฐบาลในอนาคต ตนเห็นว่าหากจะตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชน มิเช่นนั้น เรื่องนี้จะเป็นเพียงความเห็นของคนเพียง 36 คน ที่สำคัญถ้าประเด็นดังกล่าวผ่านการทำประชามติ ใครก็ว่าไม่ได้ ส่วนแนวคิดการตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ หลักสำคัญคือต้องไม่ใช่รัฐบาลที่ซูเอี๋ยกัน จนเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น
เมื่อถามว่าจะทำหนังสือถึง กมธ.ยกร่างฯ เพื่อชี้แจงในประเด็นที่ไม่เห็นด้วยของร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิรัตน์กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการหารือกัน เพราะเราได้ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เห็นด้วย และสิ่งที่ควรปรับแก้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องที่ กมธ.ยกร่างฯได้ปรับแก้ตามความเห็นของทางพรรค เช่น เรื่องการตัดกลุ่มการเมืองและโอเพ่นลิสต์ รวมทั้งมาตรา 181 และ 182 ที่เกี่ยวกับการเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหาร และตัดอำนาจการตรวจสอบในรัฐสภา หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งกมธ.ยกร่างฯได้ตัดทิ้งแล้ว
กมธ.เมินพท.จวกยับร่างรธน.
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวกรณีพรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่เป็นไร เราพร้อมรับฟัง เพราะที่ผ่านมาพรรค การเมืองได้วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรกๆ อยู่แล้ว แต่ท้ายที่สุดหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านขั้นตอนจากสปช.ไปได้ คนที่จะตัดสินร่างรัฐธรรมนูญก็คือประชาชน หากเราเชื่อในการตัดสินใจของประชาชน ผลออกมาอย่างไรก็ต้องเคารพ
นายคำนูณ กล่าวว่า เสียงวิจารณ์ต่างๆ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ทำให้หนักใจ เพราะมันเลยขั้นตอนนั้นมาแล้ว และทราบดีว่าสถานการณ์การร่างรัฐธรรมนูญในยุคของ กมธ.ยกร่างฯชุดนี้ แตกต่างจากที่ผ่านมาทั้งหมด เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตขัดแย้งที่มียาวนานกว่า 10 ปี แม้ช่วงหนึ่งจะมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาแต่ไม่สามารถทำให้ความสงบเรียบร้อยกลับคืนมาได้ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากวางโครงสร้างขององค์กรทางการเมืองตามปกติแล้ว เราต้องตอบโจทย์ของประเทศให้ได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงถูกวางแนวทางให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป เพราะเราเห็นว่าประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่เท่านั้นถึงจะดับวิกฤตที่รากฐานได้
จันทร์นี้นัดถกเข้มบทเฉพาะกาล
นายคำนูณ กล่าวถึงข้อท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมในญัตติคำถามออกเสียงประชามติประเด็นรัฐบาลปรองดองแห่งชาติว่า เป็นสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ แต่เราต้องถามว่าจะมีทางออกให้กับบ้านเมืองอย่างไร ถ้าหากเราร่างรัฐธรรมนูญเหมือนฉบับที่ผ่านมา โดยไม่คิดถึงปัญหาเหล่านี้ ไม่มีหลักประกันว่าความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้นอีก ดังนั้น หากเป็นรัฐธรรมนูญแบบเดิม มันก็ไม่สามารถตอบโจทย์แก้ไขความขัดแย้งได้ ซึ่งสิ่งที่กมธ.ยกร่างฯคิดและทำนั้น มีทั้ง คนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้นหากประเด็นนี้ผ่านสปช.และถูกนำเป็นคำถามออกเสียงประชาม ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร
นายคำนูณ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯพิจารณาทบทวนถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ตั้งแต่มาตรา 1 เป็นต้นไป ซึ่งการประชุมวันที่ 14 ส.ค. เกือบเสร็จแต่ยังไม่เสร็จ เหลือแค่บทเฉพาะกาลไม่กี่มาตรา แต่เป็นมาตราที่สำคัญมากสุด เพราะบทเฉพาะกาลเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ เป็นรัฐธรรมนูญในช่วง 1 ปีแรก 2 ปีแรก 3 ปีแรก 5 ปีแรกที่มีสารัตถะแตกต่างจากบทบัญญัติปกติ และกมธ.ยกร่างฯทุกคนไม่ประสงค์ให้เป็น "บทเฉพาะกาลยามวิกาล" ที่พิจารณาทบทวนกันยามง่วงนอนและอ่อนล้า จนส่งผลกระทบต่อวิจารณญาณ จึงตัดสินใจยกไปประชุมต่อในเช้าวันที่ 17 ส.ค.นี้
เลื่อนชี้แจง 9 กลุ่มที่ขอแก้ไขรธน.
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ช่วงดึกวันที่ 14 ส.ค. ที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ มีมติเลื่อนกำหนดการรับฟังผลการพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสปช. 8 กลุ่ม และครม. รวม 9 กลุ่มออกไป เป็นวันที่ 19-20 ส.ค.นี้ จากเดิมวันที่ 17-19 ส.ค. เนื่องจากในวันนั้นจะมีการประชุมสปช. มีวาระพิจารณาที่สำคัญ อาทิ วาระปฏิรูป และการพิจารณาเพื่ออภิปรายในกรณีมีสปช.เสนอญัตติเกี่ยวกับคำถามประชามติประกอบกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น เพื่อไม่ให้รบกวนสมาธิของสมาชิก สปช. และเปิดโอกาสให้กมธ.ยกร่างฯซึ่งเป็นสปช. 21 คน ได้เข้าร่วมการประชุมอย่างเต็มที่ ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯจึงเลื่อนการรับฟัง ดังกล่าวออกไป
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนการชี้แจงญัตติ "ให้ทำประชามติให้มีการปฏิรูปประเทศอีก 2 ปี ก่อนจัดการเลือกตั้งหรือไม่" นั้น จะมีและผู้ที่ร่วมเสนอญัตติ เช่น นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา สมาชิกสปช. ร่วมอธิบายเหตุผล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมกมธ. ยกร่างฯ วันที่ 19-20 ส.ค.นี้ ได้จัดทำตารางเข้ารับฟังการชี้แจงของทั้ง 9 กลุ่มแล้ว โดยวันที่ 19 ส.ค. เวลา 09.00 น. เป็นกลุ่มสปช. ของนพ.พลเดช ปิ่นประทีป เวลา 10.30 น. กลุ่มนายธีรยุทธ หล่อเลิศรัตน์ เวลา 13.30 น. กลุ่มนายมนูญ ศิริวรรณ เวลา 15.00 น. กลุ่มนายสมชัย ฤชุพันธุ์
วันที่ 20 ส.ค. เวลา 09.00 น. กลุ่มนาย สมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ เวลา 10.30 น. กลุ่มนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์และนายเสรี สุวรรณภานนท์ เวลา 13.30 น. กลุ่มนายประสาร มฤคพิทักษ์ เวลา 15.00 น. กลุ่มนายพงศ์โพยม วาศภูติ และเวลา 16.30 น. จะเป็นครม.
'ดิเรก'ค้านตั้งกก.ยุทธศาสตร์ฯ
นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช. และรองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงข้อเสนอของกมธ.ยกร่างฯให้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติว่า ตนไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่แรกแล้ว เพราะผิดหลักการประชาธิปไตย แก้ปัญหาผิดทาง ไม่ถูกต้อง เพราะมีอำนาจ 3 ฝ่าย นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการถ่วงดุลอำนาจกันไว้แล้ว เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเขาก็บริหารงานเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว แต่การจะมีคณะกรรมการที่เป็นอำนาจพิเศษมาคุมรัฐบาลและครอบงำอำนาจ 3 ฝ่ายอีกที จะสร้างความขัดแย้งขึ้นอีก มันไม่จบ ซึ่งขณะนี้พรรคการ เมืองหลายพรรคก็ไม่เห็นด้วย อย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็ออกมาคัดค้านกันแล้ว หากกลัวว่ารัฐบาลมีปัญหาทุจริต เราก็เสนอให้มีคณะกรรมการไต่สวนอิสระเพื่อตรวจสอบอยู่แล้ว นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญเขียนเปิดช่องไว้ว่าหากเกิดวิกฤต สามารถมีนายกฯคนนอกได้ จึงควรให้ทุกอย่างเดินตามครรลองและกระบวนการประชาธิปไตย
นายดิเรก กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เตรียมเสนอคำถามเพื่อทำประชามติรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติว่า ขอถามว่ารูปแบบจะตั้งอย่างไร แบบไหน การเกิดวิกฤตประเทศหมายถึงประเทศเข้าสู่สงครามอย่างนั้นหรือไม่ ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญเสร็จก็ควรเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง และถ่วงดุลกันโดยอำนาจ 3 ฝ่ายให้ถูกต้อง พัฒนาคนเข้ามา ฉะนั้น เป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับคณะกรรมการยุทศาสตร์ชาติฯ ตนจึงไม่เห็นด้วย เพราะเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง และจังหวะเวลาก็ไม่เหมาะสม
อ้างไม่เป็นปชต.-จ่อคว่ำร่างรธน.
นายเอกราช ช่างเหลา สมาชิกสปช.ขอนแก่น กล่าวถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และข้อเสนอคำถามประชามติรัฐบาลปรองดองฯว่า ทั้ง 2 ประเด็นจะมีผลต่อการลงมติร่างรัฐธรรมนูญของสปช. ในวันที่ 7 ก.ย.นี้อย่างแน่นอน ในส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯนั้น แม้หลายฝ่ายจะสนับสนุนแต่ต้องคำนึงด้วยว่า สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนหรือไม่ ซึ่งการมอบอำนาจทั้งบริหารและนิติบัญญัติ ให้คณะกรรมการชุดนี้ในช่วง 5 ปีแรก ประชาชนก็ไม่อาจเข้าใจถึงความจำเป็นนี้
นายเอกราชกล่าวว่า ทั้งนี้ ต้องรอดูว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสปช.หรือไม่ หากไม่ผ่านก็ไม่ต้องพูดถึงคำถามประชามติ ทั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ และปฏิรูปอีก 2 ปีก่อนเลือกตั้ง ซึ่งการลงมติของตนนั้น ขอดูในภาพรวมเรื่องความเป็นประชาธิปไตย หากไม่เป็นประชาธิปไตยก็จะโหวตไม่รับ เพราะถ้าโหวตรับไป ตนจะไม่สามารถนำเหตุผลไปอธิบายให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจได้เลย เท่าที่ทราบเนื้อหาในรัฐธรรมนูญเบื้องต้น ยังไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะมีบทบัญญัติทั้งนายกฯคนนอก คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯที่มีอำนาจมาก ทั้งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ชี้กระแสผ่านไม่ผ่านยัง 50-50
ด้านนายประเสริฐ ชิตพงศ์ สมาชิกสปช.สงขลา กล่าวว่า เข้าใจในหลักการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯว่า กมธ.ยกร่างฯ อยากให้มีไว้คอยทำหน้าที่สอดประสานกับรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ที่จะเสนอเป็นคำถามประชามติ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากสปช. แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ หากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯชุดนี้ ทำหน้าที่ไม่เป็นไปตามหลักการที่วางไว้ คอยแสวงหาอำนาจของตนเอง ไม่คิดถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักแล้ว จะมีปัญหาใหญ่ตามมา
นายประเสริฐกล่าวว่า ส่วนคำถามประชา มติรัฐบาลปรองดองแห่งชาตินั้น ตนเห็นด้วย เพราะน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับประเทศ ให้พรรคคะแนนอันดับ 1 อันดับ 2 มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ในระยะเปลี่ยนผ่านของการออกจากความขัดแย้งที่สะสมมานาน แต่ขึ้นอยู่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบของสปช.หรือไม่ โดยกระแสขณะนี้ก็ยังอยู่ที่ 50 ต่อ 50
'บิ๊กเบี้ยว'ไม่เชื่อทหารบุกบ้านวัฒนา
พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก ในฐานะรองเลขาธิการคสช. กล่าวถึงกรณีนายวัฒนา เมืองสุข อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย นำคลิปวิดีโอและภาพนิ่งจากกล้องวงจรปิดของหมู่บ้านสินเกล้า ถนนศรีนครินทร์ กทม. พร้อมกล่าวหาถูกทหารใส่ชุดพรางพกอาวุธครบมือบุกเข้าไปถ่ายภาพบริเวณบ้านพักและสอบถามข้อมูลการเข้าออกหมู่บ้าน โดยไม่มีการประสานแจ้งให้ทราบว่า ตนยังไม่เห็นภาพหรือวิดีโอจากกล้องวงจรปิดที่นายวัฒนาเอามาเผยแพร่ แต่ปกติ หากทหารจะเข้าไปก็จะไปเชิญมาพบ ทั้งนี้ ตนขอตรวจสอบหลักฐานทั้งหมดที่นายวัฒนาอ้างก่อนทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวว่าเป็นของจริงหรือไม่ ส่วนที่อ้างว่าทหารพร้อมอาวุธครบมือ ตนยังไม่เห็นภาพแต่ปกติเวลาส่งทหารไปเชิญจะไปตัวเปล่า ไม่จำเป็นต้องพกอาวุธไป จะพกไปทำไม คิดว่าตรงนี้ไม่น่าใช่ ส่วนชุดพรางก็เป็นเครื่องแบบที่ทหารใส่อยู่แล้ว
ส่วนขั้นตอนการดำเนินการกับนายวัฒนานั้น พล.อ.ฉัตรเฉลิมกล่าวว่า ต้องสอบถาม พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) เพราะขั้นตอนการปฏิบัติตรงนี้ แม่ทัพภาคที่ 1 ดำเนินการเองได้ ส่วนที่เจ้าหน้าที่ทหารต้องถ่ายรูปบ้านไว้เพราะคนที่ไปหาเพื่อเชิญมาพบหรือพูดคุย บางครั้งไม่ใช่ทหารคนเดิม ก็ถ่ายรูปไว้เพื่อให้รู้ว่าเป็นบ้านหลังนี้ เพราะกลัวว่าทหารที่มารับหน้าที่ต่อจะเข้าบ้านผิดหลัง เป็นเรื่องปกติเพราะต้องทำเป็นประวัติเพื่อให้ทหารทราบว่า ถ้าหากต้องการพบนายวัฒนาต้องไปที่นี่ บ้านหลังนี้ จะได้ไม่ผิดหลัง
จ่อให้มทภ.1 เชิญมาพูดคุย
"ต้องเข้าใจว่า ทหารไม่เหมือนกันทุกคน บางครั้งเราให้ทหารเกณฑ์ไปกับนายสิบ เขาก็ไปถ่ายรูปไว้ อยากบอกนายวัฒนาว่าไม่มีอะไร ที่ออกมาพูดเพราะกลัวหรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจ ปกติเราส่งทหารไป แค่ไปเชิญหรือถ่ายรูปบ้านไว้ แต่มาบอกว่าทหารพกปืนไปด้วย ตรงนี้ผมไม่เชื่อ ใครมีภาพหรือภาพเคลื่อนไหวดังกล่าว ส่งมาให้ผมและผมจะตรวจสอบให้ว่าเป็นที่ไหน จริงหรือไม่ ช่วงเวลาไหน ขณะนี้ทหารที่ไปไหนมาไหนกับตำรวจในกทม. ก็ไม่ได้พกปืน ส่วนสถาน การณ์ในขณะนี้ดีขึ้นมาก" พล.อ.ฉัตรเฉลิม กล่าว
เมื่อถามว่า ต้องพูดคุยกับนายวัฒนา เพื่อปรับความเข้าใจหรือไม่ พล.อ.ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า เป็นอำนาจของแม่ทัพภาคที่ 1 สามารถเชิญนายวัฒนา มาพูดคุยได้เลยว่าเข้าใจผิดหรือไม่ เรื่องเหล่านี้เราพยายามทำความเข้าใจอยู่แล้ว เพราะต้องการให้บ้านเมืองสงบและเกิดการปรองดอง รวมถึงเรื่อง 2 มาตรฐาน ต้องทำให้เป็นมาตรฐานเดียว เราพยายามทำตรงนี้ ฉะนั้นหากนายวัฒนา ออกมาพูดบ่อยๆ คิดว่าแม่ทัพภาคที่ 1 คงจะเชิญมาอธิบายให้ฟังว่า เรื่องที่เกิดขึ้น สิ่งที่นายวัฒนา เข้าใจมันไม่ใช่ เพราะการพกปืนไปมันไม่ดีอยู่แล้ว คิดว่า ไม่น่าจะใช่ เราพยายามทำทุกอย่างให้นิ่มนวล
'วัฒนา'โต้กลับโฆษกคสช.
ด้านนายวัฒนา เมืองสุข กล่าวว่า ตามที่โฆษกคสช.แถลงตอบกรณีตนถูกทหารคุกคามว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติอย่างให้เกียรติ เข้าไปประสานพูดคุยและแลกเปลี่ยนความเห็นนั้น ดูหลักฐานจากกล้องวงจรปิดแล้ว ช่วยตอบและยืนยันให้ประชาชนทราบอีกครั้งว่า การใส่ชุดพรางบุกเข้าไปในหมู่บ้านพร้อมกำลังอาวุธครบมือ เพื่อถ่ายรูป ทำแผนที่สถานที่อยู่อาศัยโดยไม่ขออนุญาตเจ้าของบ้านคือการปฏิบัติแบบให้เกียรติของ คสช.
นายวัฒนากล่าวว่า ส่วนการไปครั้งที่สอง ในชุดนอกเครื่องแบบเพื่อถามข้อมูลการเดินทางเข้าออกหมู่บ้านตน รวมถึงการพูดคุยขอข้อมูลจากรปภ. แต่ไม่เคยคุยหรือแจ้งให้ตนซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลทราบนั้น ตนเห็นว่าข้อมูลทั้งหมดที่คสช.ต้องการและวิธีการให้ได้มาซึ่งข้อมูล คล้ายพวกมิจฉาชีพทำและใช้ในการทำงาน นี่คือการประสานงานพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างให้เกียรติหรือ
'โฆสิต'ชี้ปรับครม.ไม่กระตุ้นศก.
วันที่ 15 ส.ค. นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ และอดีตรองนายกฯ เปิดเผยว่า การปรับ ครม.ตามที่มีกระแสข่าวออกมานั้นไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐมนตรีก็ตาม เพราะมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้วางไว้อยู่แล้ว ทั้งเรื่องการปฏิรูป การใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และอีกหลายนโยบาย ดังนั้น เมื่อเข้ามาแล้วคงทำได้ดีและรอบคอบ แต่อยู่ที่ว่าจะจัดลำดับความสำคัญเรื่องเร่งด่วนหรือไม่อย่างไร แต่เชื่อว่าเวลานี้นายกฯ ไตร่ตรองอย่างดีและมีคำอธิบายที่ชัดเจน
"ปรับ ครม.เป็นเรื่องปกติของการทำงาน ในอดีตทุกยุคทุกสมัยก็มีการเปลี่ยนแปลง มีการเข้าออก แต่ช่วงนี้อาจเป็นที่สนใจเพราะหลายคนรอฟังชื่อของคนที่จะเข้ามาใหม่ แต่เชื่อว่า ทิศทางใหญ่ๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลง โดยเป็นไปตามที่นายกฯ วางนโยบายไว้อยู่แล้ว ส่วนตัวเองเวลานี้ถือเป็นคนแก่แล้ว ไม่มีใครมาทาบทาม"นายโฆสิตกล่าว
แถลงการณ์'เพื่อไทย' วิพากษ์'ร่างรธน.'
หมายเหตุ - คณะทำงานติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์วิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เตรียมส่งเข้าที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณา
มติชนออนไลน์ : ตามที่คณะทำงานติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้เคยเสนอแนะและให้ความเห็นไว้ว่า รัฐธรรมนูญที่ดีนั้นต้องยึดหลักการสำคัญที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ต้องเชื่อถือและไว้วางใจประชาชน และได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่กรรมาธิการได้เสนอในประเด็นต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยไปแล้วนั้น
จากการติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนที่จะนำไปสู่การลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งหากเห็นชอบก็จะนำไปสู่การทำประชามติในลำดับต่อไปนั้น เห็นว่าแม้คณะกรรมาธิการจะได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามความคิดเห็นและคำขอแก้ไขจากฝ่ายต่างๆ ในบางประเด็น แต่บทบัญญัติที่เป็นสาระสำคัญในหลายส่วนมิได้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขและยังคงขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตยจนเป็นที่เห็นประจักษ์ว่า ความปรารถนาของประชาชนที่จะให้มีรัฐธรรมนูญที่ดี มีความเป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากล ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม สร้างดุลยภาพที่เหมาะสมของทุกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย รวมถึงการเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์และผลักดันการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมนั้นคงไม่อาจเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.ร่างรัฐธรรมนูญนี้ปูทางการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม เสียงประชาชนไม่มีความหมาย ดังนี้
1.1 การกำหนดให้บุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ แม้คณะกรรมาธิการจะอ้างว่าใช้ในกรณีจำเป็น แต่เมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการและประธานกรรมาธิการที่ได้แสดงผ่านทางสื่อหลายต่อหลายครั้ง และบทบัญญัติต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ บริหารงานเพื่อประชาชนไม่ได้ มีระบบเลือกตั้งที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ฯลฯ ประกอบกับบทบัญญัติอื่นๆ ทั้งหมดก็เพื่อเปิดช่องให้บุคคลที่มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เป็นการเปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจเหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต ทั้งๆ ที่พัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้ตกผลึกผ่านรัฐธรรมนูญหลายฉบับมามากกว่า 20 ปีแล้วว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศปรารถนาให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามหลักการประชาธิปไตยและเจตจำนงของประชาชน
1.2 การกำหนดให้ ส.ว.มีจำนวน 200 คน แต่มาจากการเลือกตั้งเพียงจังหวัดละ 1 คน ที่เหลือมาจากการสรรหาจำนวนรวมถึง 123 คน มากกว่า ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งถึงเกือบสองเท่า ทั้งยังมีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ มีอำนาจอนุมัติกฎหมาย ฯลฯ เป็นการไม่ให้ความสำคัญกับการที่กำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน การกล่าวว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ควรมาจากการสรรหาเพื่อให้เกิดความหลากหลายก็เป็นเพียงข้ออ้าง เพื่อวางกลไกการสืบทอดอำนาจอีกเช่นกัน เพราะเมื่อพิจารณาจาก ส.ว.ที่ได้รับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แล้ว ก็มีความหลากหลายไม่น้อยไปกว่า ส.ว.ที่มาจากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ตรงกันข้ามระบบสรรหาของประเทศไทย นอกจากเป็นแนวคิดที่ปฏิเสธอำนาจของประชาชนแล้ว ยังล้มเหลวโดยสิ้นเชิง หลายครั้งได้บุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะเข้ากับตำแหน่ง หรือได้บุคคลที่มีแนวคิดสวนทางกับแนวทางประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในขณะนี้ หรือการสรรหาบุคคลที่ขาดคุณสมบัติเข้าไปเป็น ส.ว.ในอดีตจนถูกศาลวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง
นอกจากนั้น จากการแถลงของกรรมาธิการเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าสำหรับ ส.ว.ประเภทสรรหาในระยะเริ่มแรกนั้น จะกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ให้คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเป็นผู้สรรหา และให้มีวาระ 3 ปีนั้น ยิ่งเห็นได้ชัดเจนถึงเจตนาที่จะสืบทอดอำนาจ แต่งตั้งพวกของตนเป็น ส.ว. โดยให้ ส.ว.สรรหาเป็นกลไกในการควบคุมตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นกลไกในการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่จะใช้ควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นับได้ว่ายิ่งร่างก็ยิ่งเห็นธาตุแท้ของคณะบุคคลเหล่านี้ ที่มีแนวคิดในการปฏิเสธอำนาจของประชาชนมาโดยตลอด
1.3 การกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติที่สามารถใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติและในทางบริหารสั่งการเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศต่างๆ ในยามวิกฤตได้ เห็นได้ว่าเป็นการนำองค์กรที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงใดๆ กับประชาชนมาควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เหมือนเป็นการยึดอำนาจจากประชาชนโดยวิธีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ สะท้อนให้เห็นแนวคิดที่ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งมีกลไกแก้ไขปัญหาของชาติตามระบบและครรลองอยู่แล้ว เช่น หากเกิดปัญหาที่ทำให้รัฐบาลไม่อาจบริหารราชการแผ่นดินได้ ก็อาจมีการยุบสภาให้ประชาชนตัดสิน หรือนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดโอกาสให้มีรัฐบาลใหม่ ที่ผ่านมาหลายต่อหลายครั้งก็ดำเนินการมาเช่นนี้ เพียงแต่เมื่อครั้งที่ผ่านมามีกลุ่มบุคคลที่เจตนาจะให้บ้านเมืองเกิดวิกฤตที่ควบคุมไม่ได้ จงใจให้นำไปสู่การรัฐประหาร โดยคบคิดร่วมกระทำกันอย่างเป็นกระบวนการ ความจริงผู้ร่างรัฐธรรมนูญควรจะหามาตรการและกำหนดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางป้องกันและระงับยับยั้งการกระทำเหล่านั้นมากกว่า แทนที่จะมาสร้างองค์กรเสมือนเป็นซุปเปอร์บอร์ด มีอำนาจเหนือรัฐบาล ทำลายหลักกฎหมาย ทำลายหลักการประชาธิปไตย และทำลายความชอบธรรมของระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
1.4 การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และองค์กรต่างๆ ที่ถูกตั้งไว้ในช่วงการรัฐประหารและภายหลังการเลือกตั้ง เป็นกลไกที่มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ การวางกลไกเช่นนี้เป็นการตอกย้ำและเสริมสร้างระบบขัดขวางการทำงานของรัฐบาลและสภาที่สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งในแง่ที่มาและอำนาจหน้าที่ เพื่อมุ่งหมายให้รัฐบาลและสภาอ่อนแอไม่สามารถทำงานเพื่อประชาชนตามนโยบายที่หาเสียงได้ และเพื่อบีบให้พรรคการเมืองส่วนหนึ่งต้องไปศิโรราบสนับสนุนให้บุคคลที่มิได้มาจากการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาล
2.การจำกัดสิทธิของผู้เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง หรือเคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งมาแล้วในการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ทั้งๆ ที่ผู้ที่เคยถูกถอดถอนหรือถูกตัดสิทธิทางการเมืองในอดีตเกือบทั้งหมดไม่มีโอกาสในการต่อสู้คดีและถูกลงโทษย้อนหลัง จึงเป็นการลงโทษซ้ำในความผิดที่เขาไม่ได้กระทำ และไม่มีการดำเนินกระบวนการพิจารณาตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด ประเด็นถ้อยคำที่ไม่ชัดเจนคลุมเครือนี้ คณะกรรมาธิการได้แถลงว่าจะชี้แจงไว้ในบันทึกเจตนารมณ์ว่ามิได้มุ่งหมายถึงบุคคลที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในอดีต แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีสำหรับสังคมไทยว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่ชัดแจ้งให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติได้ เช่น กรณีตีความบทบัญญัติมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ 2550 จนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าตีความเกินรัฐธรรมนูญและเป็นผู้บัญญัติรัฐธรรมนูญเสียเอง ทำให้ประชาชนเกิดความแคลงใจในมาตรฐานและความเป็นกลาง นอกจากนั้น การห้ามผู้ที่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งมิให้สมัครรับเลือกตั้งได้ตลอดไปนั้น เป็นการตัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลในทางการเมืองอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ จึงไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ไม่ควรจะหมายรวมถึงผู้ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญโดยกระบวนการที่ไม่ปกติที่ผ่านมา มิฉะนั้นบทบัญญัติดังกล่าวก็มีขึ้นเพียงเพื่อสกัดกั้นบุคคลจากพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดเป็นการเฉพาะนั่นเอง
คณะทำงานพรรคเพื่อไทยขอสรุปว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่เคารพและไม่เชื่อมั่นในวิจารณญาณของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย นำไปสู่รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ วางกลไกการบริหารจัดการประเทศที่รังแต่นำไปสู่ความล้มเหลวและความขัดแย้ง ขาดความน่าเชื่อถือในเวทีการเจรจาระหว่างประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของต่างประเทศ เพราะไม่มีนักลงทุนใดกล้าลงทุนในประเทศที่รัฐบาลอ่อนแอ ไม่มีความต่อเนื่องของนโยบาย นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้สร้างเงื่อนไขอันจะนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นใหม่ มุ่งสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและกลุ่มที่สนับสนุน มิได้มีกรอบของการปฏิรูปที่ชัดเจน ครอบคลุมทุกด้านทุกองค์กร เป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องการที่จะหยุดประชาธิปไตย ไม่ต้องการให้ประชาธิปไตยเป็นกลไกในการแก้ปัญหาของประเทศ อันจะทำให้ประชาชนอ่อนแอ ขาดสิทธิและโอกาส และประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ