WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

248สส copy


248 สส.รอดยกเข่ง 
เฮหลังสนช.มีมติไม่ถอด พท.ค้านรธน.4 ประเด็น บิ๊กตู่หนุนกก.ยุทธศาสตร์

        สนช.ปล่อยยกเข่ง ไม่ถอดถอน 248 อดีตส.ส.จากกรณีแก้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว. ?ปู?ให้กำลังใจถึงพรรค แกนนำเพื่อไทยแถลงซัดป.ป.ช. สอบสวน ไม่เป็นธรรม เตรียมยื่น"บวรศักดิ์" ค้านร่าง รธน. 4 ปม นายกฯคนนอก ที่มาส.ว. กีดกันคนถูกตัดสิทธิ์ และกก.ยุทธศาสตร์ฯ กมธ.ยกร่างฯ รับเปิดช่อง"บิ๊กตู่"ร่วมเป็นกรรมการ สปช.เสียงแตกปมรัฐบาลปรองดอง "สมยศ"ยันตั้งใจถอดยศ"แม้ว"ให้เสร็จก่อนเกษียณ ป.ป.ช.ไม่รับคำร้องบอร์ดขสมก.ให้เช่าโฆษณารถเมล์ยูโร 2 มิชอบ 

 

วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9026 ข่าวสดรายวัน

รอดหมด- บรรยากาศ สนช.นับคะเเนนโหวต กรณี 248 อดีตส.ส.แก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว.โดยมิชอบ ตามข้อกล่าวหาของป.ป.ช. ผลปรากฏว่าที่ประชุมมีมติไม่ถอดถอน ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 14 ส.ค.

 

 

สนช.ลงมติ'248 อดีตส.ส.'

       เวลา 10.00 น. วันที่ 14 ส.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธาน เพื่อดำเนินการกระบวนการถอดถอนอดีตส.ส. 248 คน ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 6 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 จากกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว.โดยไม่ชอบ โดยเป็นขั้นตอนลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน สำหรับเสียงที่จะถอดถอนอดีตส.ส.ได้ ต้องไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 หรือ 132 เสียง จากสมาชิกสนช.ทั้งหมด 220 คน ก่อนการลงคะแนน นายพรเพชร แจ้งที่ประชุมโดยสรุปข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.และการโต้แย้งข้อกล่าวหาของอดีตส.ส. 248 คน รวมทั้งตั้งกรรมการนับคะแนน 60 คน แบ่งเป็น สนช. 36 คน เจ้าหน้าที่ 24 คน จากนั้นให้สมาชิกลงคะแนนในเวลา 11.00 น. ด้วยการขานชื่อเรียงตามอักษรเข้าคูหากาบัตรลงคะแนนซึ่งมีเพียง 2 ช่อง คือถอดถอน และไม่ถอดถอน พร้อมขอให้สื่อมวลชนออกจากห้องประชุม เพื่อป้องกันการซูมภาพการลงคะแนนของสมาชิก เนื่องจากจัดคูหาลงคะแนนไว้กลางห้องประชุม โดยสมาชิกใช้เวลาลงคะแนนร่วม 2 ชั่วโมง 

       จากนั้นเวลา 13.10 น.เริ่มนับคะแนน ปรากฏว่ามีสมาชิก สนช.มาลงคะแนน 203 คน ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผบ.ตร. และสมาชิกสนช. ได้รับมอบหมายให้ร่วมเป็นกรรมการนับคะแนนด้วย แต่ภายหลังได้เปลี่ยนตัวให้สมาชิกสนช.คนอื่นมาเป็นแทน อ้างว่าติดภารกิจ ขณะที่พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. และสมาชิกสนช.ลาการประชุม 

 

รอดยกเข่งทั้ง 248 คน

        หลังใช้เวลานับคะแนนกว่า 3 ชั่วโมง ปรากฏว่า ผลการลงมติของสนช.ไม่สามารถถอดถอนอดีตส.ส.ทั้ง 248 คนได้ เนื่องจากคะแนนถอดถอนไม่ถึงตามข้อบังคับคือ 132 คะแนนขึ้นไป โดยทั้ง 248 คน แยกเป็น 3 กลุ่มตามฐานความผิด ดังนี้ 

กลุ่มแรกมีอดีต ส.ส. 237 คน ฐานเข้าชื่อเสนอกฎหมายและร่วมลงมติในวาระ 1, 2 และ 3 ปรากฏว่าการลงมติไม่มีคนใดถูกถอดถอน โดยคะแนนเกาะกลุ่มเฉลี่ยเสียงถอดถอน 59 ไม่ถอดถอน 142 ไม่ออกเสียง 1 

      กลุ่มสอง 1 คน คือนายอภิรัต ศิรินาวิน อดีตส.ส.พรรคมหาชน ฐานเข้าชื่อเสนอกฎหมายและลงมติในวาระ 2 และ 3 ผลลงมติเสียงถอดถอน 59 ไม่ถอดถอน 140 ไม่ออกเสียง 4 

      กลุ่มสาม 10 คน กรณีเข้าชื่อเสนอกฎหมายและลงมติเฉพาะวาระที่ 1 และ 3 ผลปรากฏว่าไม่มีใครถูกถอดถอน โดยมีคะแนนเฉลี่ย เสียงถอดถอน 59 ไม่ถอดถอน 142 ไม่ออกเสียง 1 

 

ใช้เวลาลงมติรวม 7 ชั่วโมง 

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น่าสังเกตว่าผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงถอดถอนสูงนั้น อยู่ในกลุ่มแรก 237 คน โดยมีเสียงถอดถอน 60 คะแนนขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง และเคลื่อนไหววิจารณ์โต้ตอบทางการเมือง อาทิ นายสุนัย จุลพงศธร เสียงถอดถอน 64 ไม่ถอดถอน 136 ไม่ออกเสียง 2, นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ คะแนนถอดถอน 66 ไม่ถอดถอน 134 ไม่ออกเสียง 2, นายวิทยา บุรณศิริ ถอดถอน 63 ไม่ถอดถอน 137 ไม่ออกเสียง 2 

นายก่อแก้ว พิกุลทอง ถอดถอน 63 ไม่ถอดถอน 137 ไม่ออกเสียง 2, จ.ส.ต. ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ถอดถอน 61 ไม่ถอดถอน 137 ไม่ออกเสียง 2, นพ.เหวง โตจิราการ ถอดถอน 65 ไม่ถอดถอน 134 ไม่ออกเสียง 4 และนายวัฒนา เมืองสุข ถอดถอน 65 ไม่ถอดถอน 133 ไม่ออกเสียง 3 ขณะที่ผู้ได้รับคะแนนเสียงถอดถอนน้อยสุดอยู่กลุ่มสาม คือ นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง ถอดถอน 55 ไม่ถอดถอน 143 ไม่ออกเสียง 3

       จากนั้นนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 แจ้งว่า ขั้นตอนจากนี้จะแจ้งมติให้กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะผู้กล่าวหา และอดีตส.ส. 248 คน ผู้ถูกกล่าวหา และครม. และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบต่อไป ก่อนสั่งปิดประชุมในเวลา 17.00 น.โดยใช้เวลาลงมติถอดถอนทั้งหมด 7 ชั่วโมง 

 

ปูรุดให้กำลังใจเพื่อไทย

      เวลา 10.00 น. ที่พรรคเพื่อไทย อาคารโอเอไอ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการ นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายวัฒนา เมืองสุข นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรค น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พร้อมอดีต ส.ส.บางส่วนทยอยเข้ามายังที่ทำการพรรค เพื่อติดตามและ ร่วมลุ้นผลการพิจารณาลงคะแนนของ สนช.ในคดีถอดถอนอดีต ส.ส. 248 คน 

        บรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบง่าย ระหว่างรอลุ้นผลการพิจารณาทั้งแกนนำและอดีตส.ส.เพื่อไทยต่างพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน เป็นกันเอง จากนั้นได้นั่งรับประทานอาหารร่วมกัน โดยพรรคจัดเลี้ยงเป็นอาหารอีสานแบบบุฟเฟต์ อาทิ ส้มตำ ลาบ ไก่ย่าง ข้าวเหนียว เป็นต้น 

       เมื่อถึงช่วงเวลาลงมติคะแนนถอดถอนบรรดาแกนนำและอดีตส.ส.ต่างร่วมลุ้นฟังผลคะแนนผ่านจอโทรทัศน์ช่องทีวีรัฐสภา อย่างไรก็ตาม ในระหว่างฟังผลการถอดถอน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางมาให้กำลังใจเหล่าบรรดาอดีต ส.ส.เพื่อไทยด้วย

 

แถลงซัดปปช.ไม่เป็นธรรม 

      เวลา 15.00 น. แกนนำพรรค อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ นายชวลิต นายสามารถ นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี ร่วมแถลงภายหลังทราบมติของสนช. ไม่ถอดถอน 248 อดีตส.ส.

     พล.ต.ท.วิโรจน์กล่าวว่า ขอบคุณ สนช.ที่ให้ความเป็นธรรมกับอดีตส.ส.ทุกคน เพราะเราไม่ได้ทำผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย กระบวนการสอบสวนของ ป.ป.ช. ไม่ได้ให้ความเป็นธรรม แม้กระทั่งการแถลงปิดคดีเมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ตัวแทนของป.ป.ช.ระบุว่า แม้สนช.จะเคยลงมติไม่ถอดถอน 38 อดีตส.ว.ไปแล้วก็ไม่เกี่ยวกับอดีตส.ส. 248 คน ซึ่งความจริงทั้งอดีตส.ส.และอดีตส.ว.ทำงานร่วมกัน ทั้งการเสนอญัตติ การพิจารณาและการลงมติ 

      พล.ต.ท.วิโรจน์ กล่าวว่า นอกจากนี้การที่ตัวแทน ป.ป.ช.บอกว่าสนช.ไม่จำเป็นต้องรักษามาตรฐาน คนที่รักษามาตรฐานคือศาล ทำให้เสียความรู้สึกว่าให้ สนช.ไปแบบคดๆ ไม่ต้องไปแบบตรงๆ ก็ได้ ทั้งที่สนช.เป็นองค์กรนิติบัญญัติ เป็นเสาหลักของบ้านเมือง แต่เมื่อสนช.ไม่เชื่อและมีมติไม่ถอดถอน ก็ต้องขอบคุณ สนช.ที่ยังคงความเป็นธรรม

เมื่อถามว่าผลการลงมติครั้งนี้จะนำไปสู่ความปรองดองได้หรือไม่ พล.ต.ท.วิโรจน์กล่าวว่า ทุกฝ่ายไม่ว่าใครอยากเห็นความปรองดองของบ้านเมือง มีหลายสิ่งที่พรรคให้ความร่วมมือกับ คสช.เต็มที่เพื่อให้ทำงานปฏิรูปในสิ่งที่ตั้งความหวังไว้ เพื่อให้บ้านเมืองสงบนำไปสู่ความปรองดอง 

 

ยื่น 4 ประเด็นยกร่างฯรธน. 

       เมื่อถามถึงข้อเสนอตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติของกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ พล.ต.ท.วิโรจน์กล่าวว่า เท่าที่ฟังสมาชิกพรรคพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญและสรุปเป็นแนวทางไว้ 4 ประเด็น เพื่อส่งต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ในต้นสัปดาห์หน้า เพื่อปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมประกอบด้วย 1.ที่มาของนายกฯ พรรคไม่เห็นด้วยที่นายกฯ มาจากคนนอกได้ เพราะไม่ใช่แนวทางของประชาธิปไตย นายกฯ ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 2.ที่มา ส.ว. ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้มาจากการเลือกตั้ง 77 คน และสรรหามากถึง 123 คน ซึ่งไม่ผูกพันกับประชาชน แต่ส.ว.กลับมีอำนาจมาก ทั้งถอดถอนและกลั่นกรองกฎหมาย ร่วมกับสภา พรรคจึงเห็นว่า ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 

     3.การตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ พรรคเห็นว่าเป็นเหมือนซูเปอร์องค์กร การให้คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจในยามเกิดวิกฤตนั้น คำว่าวิกฤตต้องวิกฤตขนาดไหน ตีความยาก รัฐบาลหรือคณะผู้บริหารซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ควรอยู่ภายใต้การบงการหรือสั่งการของคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพราะมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารมากเกินไป ที่สำคัญพรรคเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และ 4.เรื่องการกีดกันผู้ที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง เมื่อถูกลงโทษเว้นวรรคแล้ว ทำไมยังถูกลงโทษซ้ำ โดยการขาดคุณสมบัติห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งพรรคไม่เห็นด้วย

 

ส่ง"บวรศักดิ์"ต้นสัปดาห์หน้า 

      เมื่อถามถึงกรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อาจลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญกระทบต่อโรดแม็ป พล.ต.ท.วิโรจน์กล่าวว่า เห็นว่ารัฐบาลได้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพื่อรองรับเรื่องนี้ไว้แล้ว หากไม่ผ่านก็ต้องร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่เชื่อว่าอาจต้องยืดโรดแม็ปออกไป

        นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เราเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ ยืนยันว่าเราทุกคนทำตามหน้าที่ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้แนะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็ทำตามกรอบกติกา การตัดสินใจแบบนี้จะเรียกว่าล้มล้างการปกครองได้อย่างไร จึงไม่มีเหตุผลถอดถอนเราอยู่แล้วเพราะเราทำสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนข้อคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ และข้อเสนอการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เราจะแสดงท่าทีอย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยรวบรวมความคิดเห็นจากสมาชิกพรรคออกเป็นแถลงการณ์และจะส่งถึงประธานกมธ.ยกร่างฯ ในต้นสัปดาห์หน้า 

       ด้านนายสามารถกล่าวว่า การตั้งคำถามประชามตินั้น รัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ให้อำนาจ สนช.และสปช.เสนอคำถามได้ฝ่ายละหนึ่งคำถาม แต่ต้องผ่านการพิจารณาจาก ครม. หาก ครม.เห็นชอบจึงส่งให้ กกต.ตั้งคำถามต่อไป ซึ่งการตั้งคำถามที่ว่าปฏิรูป 2 ปีก่อนการเลือกตั้งนั้น กมธ.ยกร่างฯ ต้องกลับไปแก้ร่างรัฐธรรมนูญโดยเขียนให้ชะลอการเลือกตั้งออกไปแล้วปฏิรูปก่อน 2 ปี แต่ส่วนตัวเห็นว่าการตั้งคำถามประชามติ ควรตั้งถามแบบง่ายๆ ไม่ใช่ถามในลักษณะดังกล่าวเพราะต้องมีรายละเอียดอีกว่าจะปฏิรูปอย่างไร เชื่อว่า ครม.จะไม่เห็นชอบกับคำถามดังกล่าว

 

โวยร่างรธน.แช่แข็งประเทศ

       นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกมธ.ยกร่างฯ มีมติให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งเพียง 77 คน แต่มาจากการสรรหาถึง 123 คน รวมถึงการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่มีอำนาจเหนืออำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติว่า มติกมธ.ยกร่างฯ ขัดกับหลักการประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ถอยหลังเข้าคลอง ซ้ำเติมประเทศ มองโลกในแง่ร้ายอย่างสุดโต่ง ถ้ากติกาออกมาอย่างนี้เท่ากับแช่แข็งประเทศ ต้องเอาปี๊บคลุมหัว ไม่มีใครกล้ามาลงทุน เพราะกติกายังมีความขัดแย้งและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเอาไม่อยู่ สุดท้ายคนรับเคราะห์คือคนยากจนและเกษตรกร หวังว่ามติกมธ.ยกร่างฯ ยังเป็นเพียงความเห็นเบื้องต้น ในอดีตครม.ก็เคยไม่เห็นด้วยและให้ข้อเสนอแนะหลายประเด็น จึงหวังว่าผู้เกี่ยวข้องจะฟังเสียงสะท้อนจากภาคส่วนต่างๆ อย่างรอบด้าน แก้ไขให้กติกาบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย 

 

นายกฯแจงเหตุมีกก.ยุทธศาสตร์

     เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่ามีเรื่องสำคัญที่ต้องการทำความเข้าใจ เรื่องแรกคือคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะมีความสำคัญในการกำหนดแนวทางปฏิรูป ปรองดอง ขจัดความขัดแย้ง ซึ่งต้องมีทั้งอำนาจ หน้าที่และกลไกที่จะปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกลไกขจัดความขัดแย้งความรุนแรง ที่รัฐบาลปกติหรือกฎหมายปกติอาจไม่สามารถแก้ไขขับเคลื่อนประเทศได้ เช่นสถานการณ์ในห้วงที่ผ่านมา

     นายกฯ กล่าวว่า เรื่องต่อไปคือการทำประชามติ เป็นเรื่องของประชาชนทุกคนต้องร่วมกันตัดสินใจ ไม่ใช่ตัดสินใจเพื่อตน เพื่อรัฐบาล เพื่อคสช. แต่ให้ทุกคนคำนึงถึงเพื่อประเทศชาติและอนาคตของลูกหลานต่อไป เราจะปฏิรูปบ้านเมืองกันได้อย่างไรด้วย เรื่องที่ 3 คือแนวทางการปฏิรูป 11 ด้านตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ สปช.ได้ดำเนินการให้เสร็จภายในก.ย.นี้ และจะส่งต่อให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป 200 คน ที่เราจะตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไข เพื่อพิจารณาอีกครั้งและต้องลงลึกในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อกำหนดลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วนว่าจะทำทันที ปานกลาง หรือระยะยาว ให้มีความเหมาะสม จากนั้น ต้องมีผลในทางกฎหมายด้วย ซึ่งต้องนำเข้าไปพิจารณาในสนช. เพื่อให้รัฐบาลต่อไปนำไปสู่การปฏิบัติ เราจำเป็นต้องมีคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ มาอำนวยการปฏิบัติ โดยไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการปกติของรัฐบาล

 

กมธ.อ้างเหมือนเตรียมรถดับเพลิง 

        ที่รัฐสภา นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่สอง กล่าวถึงการเขียนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจแก่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ ในการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ที่หลายฝ่ายทักท้วงว่าไม่เหมาะสมและกังวลว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ว่า ประเด็นการให้อำนาจดังกล่าวเพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาที่ครม.ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ภายใต้อำนาจและหน้าที่ที่มีอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่พิเศษที่จะดำเนินการ หน้าที่ที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลนั้น อาจถูกมาใช้ก็ได้หรือไม่ถูกนำมาใช้ก็ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งคล้ายกับการเตรียมรถดับเพลิงไว้ใช้เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ หากไฟไม่ไหม้ รถดับเพลิงก็ไม่จำเป็นต้องใช้

       นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า หน้าที่ของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่ระบุไว้ในบทเฉพาะกาลมีกลไกที่ต้องดำเนินการใน 4 ขั้นตอน คือ 1.มีเหตุการณ์ความขัดแย้งกระทบต่อความมั่นคง 2. ครม. และสถาบันการเมือง คือ สภานิติบัญญัติ ที่ไม่สามารถใช้กลไกปกติดำเนินการแก้ไขปัญหาให้คืนสู่ความสงบได้ 3.กรรมการยุทธศาสตร์ฯ ต้องปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้ดูแลการปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครอง ในฐานะผู้มีหน้าที่ดูแลการดำเนินการทางการบริหาร เพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ และ 4.กรรมการยุทธศาสตร์ฯ ต้องลงมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เพื่อเห็นชอบกับมาตรการที่นำไปใช้แก้ไขความไม่สงบ ขณะเดียวกันบทบัญญัติที่ระบุให้เปิดสมัยประชุมรัฐสภาเมื่อมีการใช้อำนาจตามที่กำหนด ถือเป็นกระบวนการที่จะทำให้เกิดการตรวจสอบการใช้อำนาจของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ได้ด้วย

 

รับรธน.เปิดช่องบิ๊กตู่ร่วมเป็นกก.

      นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯว่า ตามองค์ประกอบที่บัญญัติไว้ในเบื้องต้น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นกรรมการยุทธศาสตร์ฯ โดยตำแหน่งได้ แต่เจตนารมณ์ ของกมธ.ยกร่างฯ ต้องการให้เป็นรัฐบาลและองค์กรอื่นๆ หลังการเลือกตั้งมากกว่า ส่วนปัญหาการตีความการใช้อำนาจพิเศษยับยั้งความขัดแย้งของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่เหนือกว่าอำนาจของรัฐบาลนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งต้องใช้เสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 รวมถึงต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุดอีกด้วย 

     นายคำนูณกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญเขียนเพื่อแก้ปัญหาที่ยาวนานกว่า 10 ปี แม้ 1 ปีที่ผ่านมาจะไม่มีความขัดแย้งแต่เชื่อว่ายังมีอยู่ นวัตกรรมนี้จะช่วยไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนปี 2557 ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่ถือว่าเป็นที่สุด เพราะต้องผ่านความเป็นชอบ สปช. และถ้าสปช.เห็นชอบก็ต้องผ่านการประชามติของประชาชนด้วย อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯและอำนาจพิเศษนี้ไม่ได้อยู่ตลอดไป แต่อยู่แค่ 5 ปี ส่วนจะอยู่ยาวหรือไม่จะต้องประชามติ 

 

จัดคิว 8 กลุ่มฟังคำชี้แจงปรับรธน. 

      นายคำนูณ กล่าวว่า กรณีกมธ.ยกร่างฯ 11 คน รับรองญัตติเสนอคำถามประชามติของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นั้น ไม่ใช่มติกมธ.ยกร่างฯ แต่เป็นการรับรองญัตติในนามสปช. ซึ่งการประชุมกมธ.ยกร่างฯ ในวันนี้จะทบทวนถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จ ทั้ง 285 มาตรา ก่อนจะชี้แจงรายละเอียด ของร่างรัฐธรรมนูญต่อผู้ยื่นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 17-19 ส.ค. นี้ 


ต้อนรับ- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ต้อนรับนายฮาจี อิซมาอิล บิน ฮาจี อับดุล มานัป เอกอัครราชทูตบรูไนดารุสซาลามประจำประเทศไทย ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 ส.ค.

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมกมธ.ยกร่างฯ วันที่ 17-19 ส.ค. จะเชิญ สปช.ทั้ง 8 กลุ่มที่เสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ และครม. เข้ารับฟังคำชี้แจงและการยกร่างบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญนั้น ซึ่งจัดทำตารางเข้ารับฟังการชี้แจงแล้ว วันที่ 17 ส.ค. เวลา 10.00 น. เป็นกลุ่มสปช.ของนพ.พลเดช ปิ่นประทีป, เวลา 13.30 น. กลุ่มนายธีรยุทธ หล่อเลิศรัตน์ และ เวลา 16.00 น.กลุ่มนายมนูญ ศิริวรรณ วันที่ 18 ส.ค. เวลา 10.00 น. กลุ่มนายสมชัย ฤชุพันธุ์, เวลา 13.30 น. กลุ่มนายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ และ เวลา 16.00 น. กลุ่มนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และนายเสรี สุวรรณภานนท์ วันที่ 19 ส.ค. เวลา 10.00 น. กลุ่มของนายประสาร มฤคพิทักษ์, เวลา 13.30 น. กลุ่มนายพงศ์โพยม วาศภูติ และเวลา 16.00 น. เป็นครม.

 

สปช.เสียงแตก'รบ.ปรองดอง'

      พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สมาชิกสปช. กล่าวถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิกสปช.ยื่นญัตติคำถามการทำประชามติ ให้ 4 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ มีรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูปว่า เห็นด้วย แต่มีข้อเป็นห่วง 2-3 เรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนและฝ่ายการเมืองคือ 1.ทำให้ประชาชนไว้วางใจว่าการตั้งรัฐบาลปรองดอง เพื่อสร้างความปรองดองจริงๆ ไม่ใช่เพื่อให้รัฐบาลและคสช.สืบทอดอำนาจ 2.ทำความเข้าใจกับฝ่ายการเมือง เพราะถ้าฝ่ายการเมืองไม่เอาด้วยรัฐบาลปรองดองก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะการตั้งรัฐบาลปรองดองครั้งนี้เหมือนตั้งรัฐบาลแห่งชาติ มีนัยให้ 2 พรรคใหญ่คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ จับมือทำงานร่วมกัน แต่คงยากที่ทั้งสองพรรคจะยอมให้คนของอีกพรรคเป็นนายกฯ คงตกลงกันไม่ได้ จึงอาจเป็นช่องทางให้ตั้ง นายกฯคนนอก โดยใช้เสียงจากที่ประชุมสภารับรอง 2 ใน 3 ตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้

        "เห็นว่าคงยากที่จะทำความเข้าใจกับประชาชนและฝ่ายการเมืองในเรื่องนี้ เพราะพูดไปแล้วคงไม่มีใครเชื่อว่าไม่ได้ทำเพื่อสืบทอดอำนาจ ดังนั้น คสช.ต้องแสดงให้เห็นว่าไม่มีเจตนาสืบทอดอำนาจและลดทอนอำนาจตัวเองลงมา เพราะยิ่งใช้อำนาจมาก โอกาสปรองดองแทบจะไม่มี ถ้ายังเรียกคนมาปรับทัศนคติอยู่เรื่อยๆ คงแก้ปัญหาไม่ได้ นอกจากนี้ อาจเกิดปัญหาเรื่องการตรวจสอบรัฐบาลได้น้อยแต่คงไม่มีปัญหามากเพราะเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะช่วยตรวจสอบกันเองได้" พล.อ.เอกชัยกล่าวว่า 

 

"ดิเรก"ติงเปิดช่องสืบอำนาจ 

     ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้นำเรื่องการตั้งรัฐบาลปรองดองมาตั้งเป็นคำถามทำประชามติ เพราะการตั้งรัฐบาลปรองดองมีอยู่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำประชามติซ้ำ ไม่เกิดประโยชน์ หากไปตั้งคำถามคงถูกกล่าวหาว่าเปิดช่องสืบทอดอำนาจให้คสช. เพราะหลักการตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้นจะทำในช่วงบ้านเมืองมีวิกฤต จึงให้ทุกพรรคมาร่วมเป็นรัฐบาลโดยไม่มีฝ่ายค้าน แต่หากเป็นในช่วงสถานการณ์ปกติไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลแห่งชาติ

 

"สมยศ"ถอดยศ"แม้ว"ก่อนเกษียณ

       ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงความคืบหน้าการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า ได้รับรายงานจากพล.ต.ต.สรไกร พูลเพิ่ม ผู้บังคับการกองทะเบียนพล สำนักงานกำลังพล ตร. มีการประชุมกับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) บ่ายวันที่ 14 ส.ค. หารือข้อติดขัดด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตร.มีหนังสือสอบถามไปหลังคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบกลับมาเมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมาว่าเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอำนาจการพิจารณาของ สขร.

      ผบ.ตร. กล่าวว่า หากพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม สรุปผลรายงานผลการประชุมร่วมไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ และถ้านายกฯมีคำสั่งให้ตนดำเนินการต่อ หากเป็นช่วงเดียวกับที่ สขร.มีความเห็นตอบข้อหารือของตร.ได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะทุกอย่างจะได้ครบถ้วน มีแนวทางปฏิบัติได้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดคำถามขึ้นในภายหลังได้ ยืนยันว่าเวลาที่ผ่านมา ตร.ไม่ได้ปล่อยเวลาหรือดึงเวลา หากแต่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อหารือต่างๆ เป็นข้อหารือไปยังหน่วยงานภายนอกจึงไม่อาจเร่งรัดหน่วยงานเหล่านั้นได้ ต้องรอเวลามาจนถึงตอนนี้ 

       "ใจผมอยากทำให้ทุกอย่างจบลงให้ทันในสมัยที่ผมยังเป็น ผบ.ตร. ผมจะได้พ้นจากข้อครหาว่าเตะถ่วง หน่วงเวลาหรือยื้อเวลา ผมไม่ต้องการนำปัญหาหรือเรื่องที่สำคัญๆ ให้กับ ผบ.ตร.คนต่อไป เพราะเหมือนว่าผมไม่กล้ารับผิดชอบ ไม่กล้าตัดสินใจ บอกตามตรงว่าอยากทำให้เสร็จในสมัยนี้" พล.ต.อ.สมยศกล่าว

 

พท.ฝากผบ.ตร.พิจารณาดีๆ 

        ที่พรรคเพื่อไทย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วย ยืนยันว่าการถอดยศตำรวจนอกราชการ ซึ่งไม่ได้กระทำความผิดขณะดำรงตำแหน่งข้าราชการ ถือเป็นเรื่องน่าอันตรายสำหรับข้าราชการบำนาญที่ทำคุณประโยชน์กับประเทศชาติมากมาย ยิ่งบอกว่าจะถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นรายแรก ยิ่งน่าร้ายแรง รุนแรงมากเกินไป เพราะตามระเบียบที่ใช้ในการถอดยศที่ออกปี 2547 น่าจะหมายถึงกรณีบุคคลนั้นอยู่ระหว่างดำรงตำแหน่งในฐานะข้าราชการตำรวจแล้วกระทำผิด จะถอดยศก็ไม่ว่ากัน แต่ พ.ต.ท.ทักษิณถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในขณะที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งตำรวจ แต่ถูกกล่าวหากรณีเซ็นลงนามซื้อที่ดินรัชดาฯ ซึ่งเป็นความผิดในประมวลกฎหมายแพ่ง และเป็นความผิดในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่ง นายกฯ สังกัดสำนักนายกฯ ไม่ใช่สังกัดกรมตำรวจ และไม่ได้กินเงินเดือนกรมตำรวจ แล้วจะเอาระเบียบดังกล่าวมาบังคับใช้ได้อย่างไร 

       ซ้ำร้ายไปกว่านั้นระเบียบที่จะนำมาถอดยศ ไม่ได้มีการนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ต้องมีการประกาศเพื่อให้ประชาชนรับทราบ แล้วจะนำมาใช้ได้อย่างไร ดังนั้น คนที่นำมาใช้ถือว่าละเมิด ขอให้ระวังให้ดีเพราะถือเป็นอันตราย อำนาจมีไว้ใช้กับเรื่องที่ถูกต้อง การใช้อำนาจตามอำเภอใจถือว่าเป็นอำนาจที่มิชอบ ขอฝากไปทาง ผบ.ตร.ว่าตำรวจมีหน้าที่รักษากฎหมาย พิจารณาให้ดีๆ

 

ยันนายกฯไม่แทรกแซง 

      พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงการถอดยศและขอคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ของพ.ต.ท. ทักษิณ ว่า เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อเท็จจริง หากมีความผิดต้องดำเนินการตามระเบียบกฎเกณฑ์ ละเว้นไม่ได้ แต่หากไม่เข้าเงื่อนไขข้อกฎหมายก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ความคิดหรือความต้องการของใครคนใดคนหนึ่ง การถอดยศหรือการขอคืนเครื่องราชฯ มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนอยู่แล้วและใช้กับทุกกรณีทุกคนที่ทำผิด ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นกรณีของพ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้น 

      พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการเห็นทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายและไม่เคยแทรกแซงหรือชี้นำใดๆ ขอให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางทำความเข้าใจกับสังคมว่ากระบวนการตามกฎหมายเป็นเช่นไร มีขั้นตอนอย่างไร ไม่ควรจินตนาการว่าเป็นคำสั่งหรือความต้องการของใครเพราะจะทำให้สังคมสับสนและอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม 

 

ลืออีกนายกฯดันไก่อูขึ้นโฆษก

      พล.ต.สรรเสริญกล่าวถึงการแต่งตั้งไปรับตำแหน่งใหม่หลังเซ็นหนังสือลาออกจากรองโฆษกรัฐบาลว่า เบื้องต้นยังไม่ชัดเจนว่าจะกลับเข้ามารับตำแหน่งใด ต้องรอคำสั่งจาก ผู้บังคับบัญชาอีกครั้ง ขณะนี้ตนขอเวลาส่วนตัวเพื่อรักษาตัวให้หายจากไข้หวัดก่อนและขอความร่วมมือสื่อ อย่าเพิ่งโทร.มาสอบถามอะไรตอนนี้ ขอให้ทุกอย่างชัดเจนก่อน ยืนยันว่าหากหายจากอาการป่วยแล้วจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ

       รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ แจ้งเป็นการส่วนตัวแล้วว่าจะแต่งตั้งให้พล.ต.สรรเสริญ เป็นโฆษกประจำสำนักนายกฯ โดยระบุว่าที่ผ่านมาทั้งพล.ต.สรรเสริญ และ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกรัฐบาล ต่างทำหน้าที่ได้ดีและสมบูรณ์แล้ว ไม่จำเป็นต้องตั้งคนอื่นเข้ามาอีก 

 

"แม้ว"อยู่สิงคโปร์-มีความสุขดี 

      นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ลูกเขยพ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ระหว่างแถลงข่าวแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง 2558 บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ที่จ.ภูเก็ต ว่า เพิ่งกลับจากพาลูกสาวฝาแฝด เอมิ-นานิ ไปเยี่ยมพ.ต.ท. ทักษิณ ที่ประเทศสิงคโปร์ พ.ต.ท. ทักษิณ สบายดีและมีความสุข โดยเฉพาะเมื่อได้พบหน้าหลานสาวและได้ป้อนขนมหลานตลอดเวลาที่อยู่ด้วย 

ด้านน.ส.พินทองทา เล่าว่า ลูกสาวแม้ จะเป็นฝาแฝดแต่นิสัยต่างกันอย่างชัดเจน น้ำหนักตัวก็ต่างกัน โดยน้องเอมิ แฝดพี่จะทานน้อย ทำให้น้ำหนักตัว 6 ก.ก. ส่วนนานิ คนน้องจะชอบทานน้ำหนักตัวล่าสุดอยู่ที่ 8 ก.ก.

 

บิ๊กทบ.อวยพรวันเกิด"อุดมเดช"

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าที่ลานหน้าสำนักงานผู้บัญชาการทหารบก บริเวณชั้น 6 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองผบ.ทบ. นำคณะผู้บังคับบัญชาระดับสูง เช่น พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผช.ผบ.ทบ. พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผช.ผบ.ทบ. พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก (ปธ.คณะที่ปรึกษาทบ.) อวยพรวันเกิด พล.อ.อุดมเดช ครบรอบวันเกิด 60 ปีล่วงหน้า ที่จะครบอายุ 60 ปีในวันที่ 15 ส.ค.นี้ 

      พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกคนที่มาอวยพรวันนี้ เกรงใจทุกคนที่ต้องเสียเวลามาอวยพร แต่ถึงอย่างไรต้องขอขอบคุณที่ทุกคนได้ร่วมมือกันในการทำงานหนักตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ตนรู้สึกพอใจกับผลงานในช่วงเกือบ 1 ปีที่ทุกคนได้ทำให้กองทัพบกจนเป็นที่ยอมรับของประชาชน เป็นกองทัพบกที่เป็นสุภาพบุรุษในสายตาของสาธารณชน อย่างไรก็ตาม นับแต่เข้าพิธีรับตำแหน่งก็นึกถึงวันที่ต้องอำลาตำแหน่งไป จึงไม่ได้รู้สึกอะไร จากนี้ไปเหลือเวลาอีกแค่ 1 เดือนครึ่งตนจะเกษียณอายุราชการ แต่เวลาที่เหลือก็ยังมีงานหนักในการทำเพื่อส่วนรวมรอพวกเราให้ทำอยู่ จึงขอให้ทุกคนช่วยกันเพื่อให้งานที่ได้รับมอบหมายบรรลุผลสำเร็จไปด้วยดี 

 

ปปช.ตั้งอนุไต่สวนอดีตผู้ว่าฯตราด

       รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการป.ป.ช. แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหานายแก่นเพชร ช่วงรังษี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กับพวกรวม 4 ราย กรณีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กรณีไม่สอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมคดีที่ผู้รับมอบอำนาจของนางจิรวัฒน์ ศรีสัตนา ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนว่า นายสมหมาย เครือนุช กับพวก ร่วมกันบุกรุกที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 41 ต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด ของนางจิรวัฒน์ ทั้งที่กรมที่ดินแจ้งให้ทราบว่าพื้นที่พิพาทเป็นที่สาธารณะ 

       พฤติการณ์นายแก่นเพชร กับพวก ไม่สอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมคดีทั้งที่มีหนังสือขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เนื่องจากคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1333/2552 พิจารณาให้มีการแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส. 3 ก. เลขที่ 41 เลขที่ดิน 9 ต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และกรมที่ดินมีหนังสือลงวันที่ 12 ก.ค. 2553 แจ้งคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินไปยังผู้ว่าฯตราด (นายแก่นเพชร) ให้จังหวัดตราดแก้ไขรูปแบบแผนที่และเนื้อที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส. 3 ก. เลขที่ 41 ดังกล่าวของนางจิรวัฒน์ เนื่องจากเห็นว่า น.ส. 3 ก. เลขที่ 41 นั้นออกคลาดเคลื่อนทับที่เขาและที่ตั้งของอนุสรณ์สถานยุทธนาวีเกาะช้าง ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทในคดีบุกรุกดังกล่าว

 

ตีตกคำร้องขสมก.ลดค่าเช่าโฆษณา

     นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหานายพีระพงศ์ อิศรภักดี เมื่อครั้งเป็น ผอ.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กับพวกรวม 14 คน ช่วยเหลือบริษัทเอสแมพ จำกัด ลดหนี้การให้เช่าเนื้อที่โฆษณารถโดยสารธรรมดาที่บริษัทค้างอยู่ โดยแถลงผลการประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่ว่า ป.ป.ช. เห็นว่าจากข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่า รถโดยสารมีจำนวนลดลงจากเงื่อนไขในสัญญาและเปลี่ยนเส้นทางรถโดยสาร ทำให้มีผลต่อเนื้อที่โฆษณาและกระทบต่อรายได้จากการโฆษณา คณะกรรมการบริหารกิจการขสมก. จึงมีอำนาจลดหนี้ให้บริษัทแอสแมพได้ ไม่ขัดกับพ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 

นายวิชัยกล่าวว่า และเรื่องนี้เทียบเคียงได้กับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 617/2543 เรื่องอำนาจของคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พิจารณาผ่อนปรนการชำระหนี้ที่ค้างชำระของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ทำได้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ยังให้ความเห็นว่า การลดหนี้ดังกล่าวรัฐวิสาหกิจทำได้และข้อเท็จจริงกรณีนี้ฟังไม่ได้ว่ามีการช่วยเหลือบริษัท แอดแมพฯ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป

 

ปมแก้สัญญาก็ให้ตกไปด้วย 

      นายวิชัย กล่าวว่าอีกกรณีที่กล่าวหานาย พีระพงศ์ กับพวกแก้ไขรายละเอียดของแบบสัญญาแนบท้ายประกาศประกวดราคาให้เช่าเนื้อที่โฆษณารถโดยสารปรับอากาศ และรถโดยสารปรับอากาศยูโรทู คณะกรรมการป.ป.ช.เห็นว่าประกาศประกวดราคาได้กำหนดไว้ในข้อ 8.2 ว่าองค์การสงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไข เพิ่มเติมเงื่อนไขหรือข้อกำหนดในแบบสัญญาและเอกสารอื่นๆ ตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แก่ทางองค์การจากข้อกำหนดนี้ คณะกรรมการบริหารกิจการขสมก. จึงมีอำนาจแก้ไขรายละเอียดหรือเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาให้เช่าเนื้อที่โฆษณา รถยนต์โดยสารปรับอากาศและรถโดยสารปรับอากาศรุ่นยูโรทู จึงมีมติให้ข้อกล่าวหานี้ตกไปเช่นกัน

      นายวิชัย กล่าวว่า สำหรับผู้ถูกกล่าวหา 2 ราย คือ นายสมบัติ ธรธรรม ที่ปรึกษาพล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการป.ป.ช. และพล.ต.ต.วันชัย วิสุทธินันท์ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ได้ยกคำกล่าวหาขึ้นพิจารณาเกิน 10 ปี จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอีกรายหนึ่ง คือ นายพงศกร เลาหวิเชียร เสียชีวิตระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง ให้จำหน่ายคดี ทั้งนี้ การพิจารณาครั้งนี้กรรมการป.ป.ช. 2 คน คือ พล.ต.อ. สถาพร และน.ส.สุภา ปิยะจิตติ ไม่ได้ร่วมพิจารณาด้วย

     พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังทราบข่าวกรณีที่ป.ป.ช.ตีตกคดีบอร์ดขสมก.ให้เช่าโฆษณาข้างเมล์ยูโรทูมิชอบ ว่า ตนได้ถอนตัวจากการร่วมพิจารณากรณีดังกล่าวจากที่ประชุมป.ป.ช.เมื่อวันที่ 13 ส.ค.) กำลังรอมติที่ประชุมอย่างเป็นทางการ ผู้สื่อข่าวถามว่า จะให้นายสมบัติ ธรธรรม กลับเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการป.ป.ช.(ของพล.ต.อ.สถาพร) เลยหรือไม่ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กล่าวว่า คงต้องแล้วแต่ความสมัครใจของนายสมบัติเอง เพราะหากไม่มีเรื่องคดีแล้วก็จะถือว่ามีคุณสมบัติที่เหมาะสม ซึ่งก็อยู่ที่นายสมบัติจะสมัครใจ

     ด้านน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. อดีตบอร์ดขสมก. กล่าวว่า ยอมรับกติกาเสมอว่าเรามาทำหน้าที่ตรงนี้ย่อมมีสิทธิที่จะถูกตรวจสอบ ในเมื่อเราก็ทำหน้าที่ตรวจสอบคนทั่วประเทศ และตนเองเชื่อมั่นในกรรมการป.ป.ช.ทุกคนว่ามีอิสระในการทำหน้าที่ หากถามว่าโล่งใจหรือไม่ คิดว่าก็ทำให้เรารู้สึกได้รับความเป็นธรรม เข้าใจดีว่าคนที่โจมตีต้องการให้ตนถูกตรวจสอบ และยิ่งถูกตรวจสอบก็ยิ่งทำให้เรามีความโปร่งใสมากขึ้นถ้าเราไม่ผิด ก่อนหน้านี้สิ่งที่ตนกลัวคือเรื่องอายุความของคดีจะขาดมากกว่าเพราะต้องการให้มีการพิจารณาเพื่อความชัดเจน จากนี้จะยิ่งทำงานหนักให้มากขึ้นกว่าเดิม ทำงานให้มากที่สุด ทำให้ดีที่สุด

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!