WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

248สส


248 สส.สอรอดถอดถอน 
คสช.สั่งรื้อใหม่ ไม่ปลื้มที่มาสว.

     'บิ๊กตู่'โวยข่าวโผครม. เลอะเทอะ ยันไม่มีชื่อ'ศุภชัย-สุรินทร์-สุรเกียรติ์ประสาร' เล็งดาบสองยึดคืนเครื่องราชฯ 'ทักษิณ'ผบ.ตร.ยันถอดยศทำเสร็จก่อนเกษียณ 'สมหมาย'จี้เร่งปรับครม.ให้จบ ลากยาวยิ่งฉุดเชื่อมั่นลงทุน 'ธนะศักดิ์'ลั่นอยู่หรือไปไม่ซีเรียส นายกฯ รับมอบพิมพ์เขียวปฏิรูปจากสปช. ส่งซิกอยู่แค่ก.ย.ปีหน้า'เทียนฉาย'ยันไม่มีสืบทอดอำนาจ สะพัดคสช.สั่งรื้อสูตรที่มาส.ว. ให้เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง เลือกตั้งทั้งหมดหรือสรรหาทั้งหมด'วัฒนา'โวยถูกทหารเยี่ยมบ้านพัก สนช.ลงมติคดีถอดอดีต 248 ส.ส.วันนี้ คาดรอดหมด


วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9025 ข่าวสดรายวัน

 

ลุ้นวันนี้ - นายสามารถ แก้วมีชัย ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาแถลง ปิดคดีถอดถอนอดีตส.ส. 248 คน กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ประเด็นที่มาส.ว. ที่ป.ป.ช.เป็นผู้กล่าวหา โดยที่ประชุมสนช.นัดลงมติในวันที่ 14 ส.ค.นี้

 

'บิ๊กตู่'ว้ากข่าวมั่วปรับครม.
     เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีข่าวจะเชิญนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนร่วมครม.ว่า "ไม่มี เลอะเทอะ" และที่เขียนว่าจะมีนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เข้ามานั้น ไม่มี ใครบอกมา ตนยังไม่ได้พูดสักคำ ยังไม่ได้นึกถึงใครสักคน ผู้สื่อข่าวถามว่าได้ทาบทามนายสุรินทร์บ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ต้องทาบ ทำไมต้องทาบ 
      ต่อข้อถามว่า มีการเปลี่ยนตำแหน่งรมว.ต่างประเทศด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทำไม เกลียดเขาหรืออย่างไร สื่อเกลียดใครกันบ้าง มีรมว.ต่างประเทศ รมว.คมนาคม เกลียดเขาหรืออย่างไร ผู้สื่อข่าวแย้งว่าไม่ใช่เรื่องเกลียด แต่เป็นเรื่องความเหมาะสมและกระแสเรียกร้องจากประชาชน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยสีหน้าขึงขังว่า กระแสที่ว่าเขาไม่ดีคือตรงไหน ตอบมา ถ้าไม่บอกแล้วจะปรับด้วยเหตุผลอะไร ผู้สื่อข่าวระบุว่าเพราะสถาน การณ์บังคับ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สถานการณ์อะไร รอบโลกเศรษฐกิจเขาตกหรือไม่ เขามีปัญหาหรือไม่ เขาปรับใครสักคนหรือไม่ ตนกำลังดูอยู่ เมื่อถามว่าสิงคโปร์กำลังจะปรับครม. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปรับก็ปรับ ตนไม่ได้บอกว่าไม่ปรับ มันจะเป็นจะตายกันหรืออย่างไร

ลั่นโยกทุกกระทรวง
      ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับครม.ครั้งนี้ เล็งกระทรวงด้านเศรษฐกิจทั้ง 8 กระทรวง ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปรับได้ทั้งหมด ปรับทุกกระทรวง แต่สิ่งดีๆ เขาก็ ทำเหมือนกัน รู้กันหรือเปล่าว่าเขาทำอะไร ดีๆ กันบ้าง ไม่รู้กันใช่ไหม เมื่อถามว่าเหตุผลการปรับทุกกระทรวงมาจากอะไร พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ความคิดของตนคือ ปรับตามความเหมาะสม ทำไมมันไม่เหมือนที่ ผ่านมาหรือ ความแตกต่างที่เกิดขึ้นสื่อจะได้ด่าน้อยลง 
     ต่อข้อถามว่าที่ระบุว่าปรับทั้งหมด พูดจริงหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "การปรับมันต้องหมุนไปหมุนมา ถามแบบนี้มันบ้าหรือเปล่า เมื่อปรับตรงนี้ ตรงนั้นก็ต้องกระเทือน ต้องหมุนตรงนี้ไปตรงนั้น ส่วนจะทูลเกล้าฯ ได้เมื่อใด ยังไม่รู้ แต่ผมพร้อมตลอด พร้อมคือคนที่จะให้เป็น เขารับ และคนที่อยู่เดิม เขายอมไป แต่มีบางคนที่พร้อมรับและพร้อมจะไปตั้งนานแล้ว แต่วันนี้ยังไม่มีใครรู้อะไรทั้งสิ้น แต่เขาเบื่อกันทั้งนั้น โดยเฉพาะสื่อ"

ด่าไอ้บ้ามีชื่อ'ประสาร'
      เมื่อถามว่าจะมีคนนอกเข้ามาด้วยหรือไม่ นอกจากสลับเก้าอี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องมีคนนอกเข้ามา ถ้าบอกว่ามีกระแสให้เอาคนในออกแล้ว ถ้าไม่เอาคนนอกเข้ามาจะเอาใครมาเป็น บางคนก็ออก บางคนก็เข้า บางคนหมุนย้ายกระทรวง ก็ปรับอย่างนี้ วันหน้าขอให้จำเอาไว้ ถ้ามีการปรับจริงๆ แล้วมันไม่ดีขึ้นมาอีก อย่ามาด่ากัน
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การให้สัมภาษณ์ในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์อารมณ์เสียและใช้เสียงดังตอบโต้กับผู้สื่อข่าว และพยายามเดินออกจากวงสัมภาษณ์ เมื่อถามย้ำว่าไม่มีชื่อนายสุรินทร์ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่รู้ ไม่มี รวมถึงปฏิเสธรายชื่อนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ พร้อมกล่าวอย่างฉุนเฉียวว่า "ผู้ว่าฯ ธปท.จะมีได้อย่างไร ไอ้บ้า"

เล็งยึดเครื่องราชฯ ทักษิณคืน
    เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่ามันจบไปแล้วไม่ใช่หรือ ถามกันอยู่แค่นี้ ทำไมมีผลกับใคร ใครจะเป็น เดี๋ยวเขาก็เซ็นมา พอแล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่าการถอดยศจะต้องพิจารณาเรื่องการคืนเครื่องราชฯ ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าเดี๋ยวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ซึ่งเขาต้องทำต่อ กติกามีอยู่แล้ว กฎหมายว่าอย่างไรก็ตามนั้น เรื่องเก่ามีหรือไม่ เมื่อถอดยศแล้วต้องเรียกคืนเครื่องราชฯหรือเปล่า กฎหมายว่าอย่างไร สื่อไปหาข้อมูลมา แต่ตนรู้อยู่แล้ว 
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการรับมอบผลงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และแนวทางที่จะให้รัฐบาลในอนาคตสานต่อการปฏิรูปว่า ขั้นตอนดังกล่าวตนคิดไว้แล้วและพูดไป 10 รอบแล้วแต่ไม่ยอมฟัง ขั้นตอนวันนี้คือรับเอกสารสรุปผลงานจากสปช. มี 37 วาระแต่จะอยู่ในกรอบปฏิรูป 11 ด้าน ซึ่งการปฏิรูปไม่ใช่ทำได้ทันที ขั้นตอนต่อไปจะอยู่ที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่จะตั้งขึ้น มีหน้าที่รับไปพิจารณาอีกครั้ง สามารถเพิ่มเติมหรือตัดทิ้งก็ได้ ซึ่งตนไม่ได้อยากตั้งหลายสภาแล้ว จากนั้นเมื่อทั้งหมดเสร็จสิ้นกระบวนการ จะถูกส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งสามารถตัดหรือเพิ่มเนื้อหาอีกได้เช่นกัน เพราะเขามีหน้าที่ทำให้การปฏิรูปทั้งหมดเป็นไปตามกฎหมาย

แจงเหตุมีกก.ยุทธศาสตร์ฯ
      นายกฯ กล่าวว่า เมื่อเรื่องปฏิรูปผ่านทุกกระบวน จะถูกส่งต่อรัฐบาลในอนาคต และคนที่จะมาดูตรงนี้จะเป็นส่วนของคณะกรรม การยุทธศาสตร์ชาติ นี่คือเหตุว่าทำไมต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองแห่งชาติ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลเลือกตั้งเขาคงไม่ทำ เพราะเขาพูดกันอยู่ว่าไม่เห็นจะต้องปฏิรูปเลย และตนทำปฏิรูปไปตั้งเยอะแต่เขากลับบอกว่าไม่เห็นทำอะไรเลย ซึ่งการปฏิรูปคือ 1.สิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งการค้า การลงทุน เขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นรูปธรรม มีสิ่งใหม่ๆ เกิดเป็นรูปธรรม 2.การแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาของบ้านเมือง และแก้ไขคือการทำได้สั่งปากอย่างเดียว ต้องแก้กฎหมายด้วย
       ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเข้าร่วมเป็นคณะกรรม การยุทธศาสตร์การปฏิรูปฯหรือไม่ เพราะคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติให้อดีตนายกฯเข้าร่วม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่ายังไม่รู้ แล้วแต่อารมณ์ ถ้าเบื่อมากๆ ก็ไม่อยากเป็นอะไรทั้งนั้น เมื่อถามว่าทำเพื่อชาติ นายกฯกล่าวว่า "ไม่มีเพื่อชาติ เธอยังไม่ทำเพื่อฉันเลย ให้ฉันทำคนเดียว"

เซ็นใบลาออก'ไก่อู'แล้ว
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ได้ลงนามในหนังสือลาออกของพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว เมื่อถามว่า จะให้พล.ต.สรรเสริญ รับตำแหน่งรัฐมนตรีตำแหน่งไหน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่รู้ เดี๋ยวไปถามเขาดูก่อน 
     พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ขณะนี้ตนอยู่ระหว่างลาพักงาน 2 วัน เพื่อรักษาอาการไข้หวัดโดยอยู่ระหว่างการพักฟื้นร่างกายให้หายเป็นปกติ ยืนยันว่าการลาพักงานครั้งนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเซ็นใบลาออก ผู้สื่อข่าวถามว่าเซ็นใบลาออกเพื่อรับตำแหน่งโฆษกรัฐบาลใช่หรือไม่ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ยอมรับว่าเซ็นเอกสารจริง แต่ไม่ได้อ่านรายละเอียดในเอกสาร ซึ่งการทำงานของทหาร ต้องเป็นไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและไม่มีลับลมคมใน 
    รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.ต.สรรเสริญเซ็นใบลาออกตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เป็นผู้จัดเตรียมเอกสารให้ และแจ้งกับพล.ต.สรรเสริญว่า นายกฯ จะมอบหมายให้ไปทำหน้าที่ในส่วนอื่น แต่ยังไม่ได้ระบุตำแหน่งชัดเจน ทั้งนี้ก่อนการประชุมครม.เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่าพล.ต.สรรเสริญจะได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกรัฐบาล แต่ยังไม่มีมติครม.แต่งตั้งตามที่มีข่าว

'สมหมาย'จี้ให้เร่งปรับครม.
     นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดขณะนี้ คือการสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์ เพียงผู้เดียว ไม่ใช่หน้าที่ของรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ หรือรมว.คลัง เพราะนักลงทุนรอฟังความชัดเจนจากนายกฯ โดยเฉพาะข่าวการปรับครม. ที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนหยุดชะงัก การที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงตั้งแต่เดือนมิ.ย. ไม่ใช่ผลกระทบจากที่จีนปรับลดค่าเงิน แต่เพราะความไม่มั่นใจรัฐบาลว่าจะปรับเปลี่ยนตำแหน่งอย่างไร
      "อยากให้ปรับครม.ไปเลย จะได้จบ คนจะได้เลิกลังเล ตอนนี้การเมืองมีทีท่าว่าจะป่วนอีก ผมไม่ได้ห่วงว่าจะอยู่หรือไป ที่ผ่านมาได้พบนายแบงก์ นักลงทุนจากต่างประเทศ มองไทยเป็นพี่ใหญ่ในอาเซียนที่น่าลงทุน ถ้าให้เปรียบคือเขาถือกระเป๋าใส่เงินเข้ามาแล้ว แต่ยังไม่ได้รูดซิปกระเป๋าเอาเงินออกมา เพราะเขายังไม่มั่นใจ" นายสมหมายกล่าว

'ธนะศักดิ์'แล้วแต่นายกฯ
      รมว.คลัง กล่าวว่า อยากให้นายกฯ คิดว่ารัฐบาลชุดนี้มาเพื่ออะไร ต้องค่อยๆ แก้ไขแต่ต้องทำอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะกรณีจีนประกาศปรับลดค่าเงินหยวน ต้องทำวิกฤตให้เป็นโอกาส เพราะไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีกว่าคู่แข่งในภูมิภาค ทั้งเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ ความตั้งใจปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง ตลาดหลักทรัพย์ไทยที่แข็งแกร่ง ผลตอบแทนสูงสุดในภูมิภาค ซึ่งนักลงทุนต่างชาติพร้อมช่วย ควรดึงดูดให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ตอนนี้เหมือนยิ่งแก้ยิ่งไม่จบ เพราะคนกังวลว่าจะปรองดองได้จริงหรือไม่ 
       นอกจากนี้ ต้องการให้นายกฯ ให้ความสำคัญเม็ดเงินลงทุนต่างชาติให้มากขึ้น ควรดำเนินการตามโรดแม็ป เช่น โครงการลงทุนทวาย ต่างชาติพร้อมลงทุนอยู่แล้ว ขาดแต่ความเชื่อมั่น ไม่ใช่กังวลเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ปัญหาพ่อค้าแม่ค้าร้องเรียน ซึ่งการสร้างความน่าเชื่อภายในประเทศทำได้ไม่ยาก จึงไม่อยากให้ไทยต้องสูญเสียโอกาส
     พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาปกรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงข่าวการปรับครม.ที่มีชื่ออยู่ในข่ายถูกปรับออก ว่า มีคนเก่งๆทั้งนั้น ส่วนตัวก็ยินดี ถ้าจะปรับครม. นายกฯเป็นคนตัดสินใจ จะเปลี่ยนใคร อยู่ที่ความเหมาะสม ตนไม่มีปัญหา เราทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะไม่ได้ทำก็แค่นั้น

คุยผลงานมีเยอะ
     พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผลงานของกระทรวงมีมาก แต่ไม่ค่อยได้ประชา สัมพันธ์ เช่น การแต่งตั้งทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่ก็มาจากการร้องขอของกระทรวง เรายึดงานเป็นตัวตั้ง ประชาสัมพันธ์ตามความจริง ไม่เคยขยายผลให้มากกว่าสิ่งที่ทำ ขณะเดียวกันการเยือนต่างประเทศของไทยได้รับเกียรติอย่างดี ศักดิ์ศรีเราไม่ด้อยกว่าประเทศไหน ทุกประเทศอยากเชิญเราไปเยือน และอยากมาเยือนไทย หากเราต้องการคุยกับใครก็ต่อสายได้ทั้งหมด กระทรวงการต่างประเทศถือว่าทำงานได้อย่างมีประสิทธิ ภาพ ทุกคนทุ่มเท เวลาไปเยือนต่างประเทศ ไม่ต้องไปขอพบใคร มีแต่คนมาขอพบกับตน เพราะเราคบทุกคน พูดกับใครก็ได้ แต่ทั้งหมดนี้หากพูดมากไปจะเหมือนคุยโว
     พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวถึงต่างประเทศอาจมองเรื่องการถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเรื่องการเมืองว่า กระทรวงการต่างประเทศคงไม่ต้องชี้แจงเพราะดำเนินการตามขั้นตอน ผู้สื่อข่าวถามถึงการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า ทางกระทรวงได้ขอความร่วมมือประเทศต่างๆ แต่ไม่สามารถไปบังคับได้ ส่วนที่พ.ต.ท.ทักษิณและผู้ต้องหาทางการเมืองที่หลบหนีไปต่างประเทศนั้น พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า เราไม่ลำบากใจ ทำตามเนื้อผ้าและหน้าที่

'บิ๊กอ๊อด'ลุยถอดยศแม้วจบ
      ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการดำเนินการถอดยศพ.ต.ท. ทักษิณว่า ยืนยันไม่ได้ดึงเวลา ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ในประเด็นข้อกฎหมายในส่วนของการถอดยศ ว่าจำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ ซึ่งวันที่ 14 ส.ค. คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ จะเชิญตัวแทนของ ตร.ไปชี้แจง เชื่อว่าจะทราบผลได้ในไม่ช้า และพร้อมปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการร่วมกระทรวงยุติธรรม รวมถึงคำสั่งของนายกฯ เชื่อว่าจะดำเนินการได้เสร็จสิ้น ก่อนตนเกษียณอายุราชการ
       "ไม่หวั่นว่าจะถูกฟ้องร้องในภายหลัง เพราะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่เคยกลั่นแกล้ง ให้ร้ายป้ายสีผู้ใด พร้อมรับแรงเสียดทานทุกรูปแบบ แต่หากมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ก้าวล่วง ส่วนตัวก็พร้อมฟ้องกลับทันที" พล.ต.อ.สมยศกล่าว

สปช.โชว์ผลงานปฏิรูป
     เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เอ 2 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดงานสปช.รายงานประชาชน เรื่อง "เปลี่ยนประเทศไทยกับสปช." (NRC Blueprint for Change) เพื่อเปิดวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ สรุปผลงาน และส่งมอบวาระการปฏิรูป 37 ประเด็น และ 6 วาระพัฒนา แก่รัฐบาลตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งคณะกรรมการสังเคราะห์ภาพรวมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย ได้ประมวลสรุปข้อเสนอการปฏิรูป 11 ด้าน โดยกำหนดคณะกรรมาธิการ(กมธ.) 18 คณะ มีวาระการปฏิรูปและวาระการพัฒนารวม 43 วาระ มีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน พรรคการเมืองและประชาชนเข้าร่วมงานคับคั่ง และช่วงเย็นมีพิธีส่งมอบผลงานแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 
      นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. กล่าวว่า สปช.จะได้รับร่างรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 22 ส.ค. และ 15 วัน หลังจากนั้นให้มีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ประมาณวันที่ 7 ก.ย. จากนั้นสปช.จะสิ้นสภาพหมดวาระตามกฎหมาย แต่วิญญาณการปฏิรูปยังอยู่ในสปช.ทุกคน เพราะเราวางหลักและเดินเรื่องนี้มา เชื่อว่าทุกคนจะติดตามและทำหน้าที่สุนัขเฝ้าบ้านให้การปฏิรูปที่เราคิด ไม่สูญหายและไม่เสียของ 

'เทียนฉาย'ยันไม่สืบทอดอำนาจ
     นายเทียนฉายกล่าวต่อว่า สปช.ไม่ใช่องค์กรที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย แต่เป็นองค์กรที่คิดว่าจะปรับระบบโครงสร้างอย่างไร ซึ่งการปฏิรูปไม่ใช่แก้ปัญหาแล้วจบวันนี้ แต่แก้ปัญหาที่ผ่านมาเพื่อไม่ให้สะสมถึงอนาคต วิธีที่สปช.ทำ ยอมรับว่าเป็นเบี้ยหัวแตก หลายเรื่องทยอย ส่งครม. และรัฐบาลได้เดินหน้าไปแล้วบางเรื่อง ยืนยันว่าไม่มีแผนปฏิรูปใดดำเนินการแล้วจบทันที แต่ต้องศึกษาเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยน เชื่อว่าจะนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะกรอบของร่างรัฐธรรมนูญมีหมวดของการปฏิรูปอยู่ ซึ่งมีข้อผูกพันให้รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลในอนาคตต้องปฏิบัติ แต่อาจปรับเปลี่ยนวิธีการได้ และไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ
      ประธานสปช. กล่าวว่า การทำงานของ สปช.กับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นแฝดกัน แต่ความสัมพันธ์เราใกล้ชิด และลึกซึ้งยากจะอธิบาย ซึ่งก่อนวันลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สปช.ศึกษารายละเอียดได้ แต่ไม่ใช่โน้มน้าวความคิดให้เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หรือล็อบบี้ และเหตุการณ์หลังจากนี้ยังพยากรณ์ไม่ได้ แต่ความคิดเห็นที่หลากหลายคือความงดงาม ในฐานะประธาน สปช.ไม่เคยห้ามสมาชิกไม่ให้แสดงความคิดเห็นใดๆ แต่ทุกคนต้องรับผิดชอบคำพูดตัวเอง

วอนทุกฝ่ายร่วมฝ่าคลื่นใต้น้ำ
       นายเทียนฉาย กล่าวว่า ส่วนการเสนอคำถามประชามติ เป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก ต้องตัดสินใจก่อนวันที่ 7 ก.ย. ขณะนี้ยังไม่ขอตอบ เพราะยังไม่รู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ และขอไม่แสดงความเห็นชี้นำ ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะเริ่มให้สปช.พิจารณาเรื่องคำถามประชามติ สุดท้ายแล้วเชื่อว่าการตัดสินจะไม่ยาก เพราะเราพิจารณาด้วยเสียงข้างมาก 
      "ถ้าถามว่า การปฏิรูปจะมีทางสู่ความสำเร็จหรือไม่ ผมว่ามี แต่อนาคตถ้าปัญหากลับมาคงไม่รุนแรงแบบเดิม ผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะรู้แล้วว่าแต่ละคนมีส่วนร่วมในปัญหามากหรือน้อย จึงถึงจุดที่ทุกคนควรคิดเองว่าประเทศจะบอบช้ำอีกไม่ได้แล้ว ทุกคนต้องช่วยกัน แม้ผืนน้ำอาจดูเรียบแต่ใต้น้ำอาจมีคลื่น ถ้าทุกคนช่วยกัน ผมเชื่อว่าประเทศจะดีได้" นาย เทียนฉายกล่าว 

18 ส.ค. ถกคำถามประชามติ
     นายเทียนฉายให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า ส.ว.สรรหาชุดแรก ที่ให้ครม.เป็นผู้สรรหาเป็นพื้นที่รองรับสปช.เพื่อแลกกับการให้ลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญว่า หากมองตามคุณสมบัติที่กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญ สปช.มีสิทธินั่งในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้ แต่อดีตส.ว.หรือบุคคลอื่นก็มีสิทธิเช่นกัน 
     ประธาน สปช. กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯให้ตั้งคำถามประชามติถามประชาชนว่าอยากให้ตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติหรือไม่นั้น เสนอเข้าคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สปช. (วิป สปช.) ได้ และในวันที่ 18 ส.ค.จะประชุมสปช. เพื่อมีมติพิจารณาคำถามประชามติของสปช.ให้เหลือเพียงคำถามเดียว ก่อนนำไปขอมติในวันลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนข้อเสนอของสมาชิกสปช. ให้เปิดประชุมสปช.หลังวันที่ 22 ส.ค. เพื่อทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าปรึกษาหารือโดยไม่เปิดสภาก็ทำได้

นายกฯชมสปช.ทำงานดี
      ต่อมาเวลา 16.20 น. พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานในพิธีส่งมอบผลงานของสปช.จากนายเทียนฉาย พร้อมกล่าวว่าสปช.ส่วนหนึ่งมาจากการคัดสรร ซึ่งตนเห็นว่าทำงานด้วยดี ไม่ทะเลาะกัน แต่ต้องสร้างความเข้าใจมากขึ้น เพราะแต่ละคนมาจากหลายส่วน แต่ต้องมาระดมสติปัญญาให้ประเทศเป็นไปอย่างมั่นคง ยั่งยืน ส่วนมั่งคั่งไปไว้ทีหลัง สิ่งที่สปช.ทำมาทั้งหมด ตนยินดีและถือเป็นการให้เกียรติกัน จึงมารับผลงานรายงานประชาชน 
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีปัญหามายาวนาน ถ้าปล่อยไปก็ติดกับดักตัวเอง ไม่ก้าวหน้าอีกแล้ว ตอนนี้ต่างประเทศก็ยอมรับ ตนขออย่าเกลียดประเทศไทย และหลังๆ เขาบอกไม่เกลียดตนและทราบว่าไทยเรียบร้อย มีเสถียรภาพ กำลังเดินหน้าสู่การปฏิรูป ถ้าเราไม่พูด เขาก็ได้ข่าวจากสื่อ เราต้องพิสูจน์ให้เห็นความตั้งใจในการเดินหน้าประเทศ ขอย้ำว่าวันที่ 22 พ.ค.2557 ตนไม่ได้ตั้งใจ ไม่เคยคิดมาก่อนว่ามายืนตรงนี้เพราะไม่ชอบ แต่เมื่อมีปัญหา ก็จำเป็น และมีพี่ๆ มาช่วย ไม่มีใครรังเกียจตน

ยืนยันไม่ทิ้งคนเก่า
     นายกฯกล่าวว่า จากที่ดูผลปฏิรูปประเทศที่มี 37 วาระ หลายฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน โครงสร้างอะไรที่ดีอยู่แล้วก็ทำต่อไป แต่ที่ไม่ดีเราต้องร่วมกันแก้ไข ที่ผ่านมาเข้าใจดีกับการทำงานแบบการเมืองที่ต้องมีนโยบายประชานิยม ตนไม่ได้บอกว่าไม่ดี แต่ต้องปรับการทำงาน เราต้องช่วยกันวางแผนงานให้รัฐบาลในอนาคตได้เดินตามยุทธศาสตร์ชาติ เพราะการปฏิรูปประเทศไม่มีกรอบเวลากำหนด อย่างนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ปฏิรูปประเทศมาแล้ว 30 ปีเขายังไม่หยุด ซึ่งตนยอมรับประเทศไทยเก่งทุกคน แต่เสียอยู่ตรงที่ไม่ยอมกัน ทำให้ทุกอย่างคุยกันไม่ได้ ทำงานกันไม่ได้ 
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปัญหาของประเทศมีมายาวนาน ทั้งหมดอยู่ในแผนปฏิรูปแล้ว เมื่อทำเสร็จจะต้องดำเนินการและส่งต่อรัฐบาลต่อไป โดยมีคณะกรรมการขึ้นมาแต่ยังไม่ต้องส่งชื่อมาให้ตน เพราะใครส่งชื่อหรือสมัครก่อน ตนจะไม่เอาก่อนเหมือนกัน สิ่งที่พวกเราทุกคนทำมาต้องอาศัยความร่วมมือในการปฏิรูป ทั้งคนเก่าและคนใหม่ต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่มีคนใหม่เข้ามาแล้วคนเก่าจะทิ้งไปเลย 

ชูเป็นคัมภีร์ฉบับที่ 1 
      "อย่าลืมว่า สิ่งที่ทำและแก้ปัญหามา มันทำได้เพราะผมยืนตรงนี้ ลืมหรือยังว่าผมอยู่ตรงนี้ ลืมไปหรือว่าเรามีคสช. ถ้าไม่มีมันจะเป็นอย่างไร การเรียกร้องประชาธิปไตยต้องมีเหตุและผล ถ้าเป็นประชาธิปไตย ผมขอบ๊ายบาย และผมคิดว่าที่เข้ามาทำงานทั้งหมดก็ได้อะไรมาพอสมควร ไม่ได้เสียเปล่า ทุกคนที่เข้ามาต่างทำหน้าที่และรายงานประชาชนเปลี่ยนประเทศไทยกับสปช. ถือเป็นคัมภีร์ฉบับที่ 1 ที่เกิดขึ้นจากสำนักเสี่ยวเล่งยี่ วันนี้สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดและเร็วที่สุดคือปฏิรูปการเมือง โพลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 24,000 คน มีถึงร้อยละ 75 ต้องการให้แก้ไขเรื่องการเมืองและการบริหารราชการ ส่วนข้อที่จะให้ผมอยู่เข้าใจว่าหวังดีก็ขอบคุณ แต่ไม่ต้องห่วงมากนัก เพราะเรื่องนี้ทำให้ผมเจ็บปวดทุกวัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่ประเทศต้องการคือการปฏิรูปและการปรองดอง ซึ่งการปรองดองต้องแก้ปัญหา คนติดคุกที่สมควรให้อภัย ตรงนี้ต้องมาพิจารณา แต่อยู่ดีๆ จะให้มายกโทษให้กับคนโน้นคนนี้มันไม่ได้ และการปฏิรูปประเทศต้องให้อำนาจคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ขอฝากไว้ตรงนี้ และยืนยันตนไม่ต้องการอำนาจตรงนี้ การปฏิรูปทั้งหมดต้องทำให้ถูกต้อง ถ้าทำไม่ได้ในเวลานี้ รัฐบาลต้องคิดว่าควรทำอย่างไร แต่ต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ ไม่อย่างนั้นจะล้มเหลวหมด นักข่าวอย่าไปแปลความผิดว่าตนอยากต่ออำนาจ 

แย้มอยู่แค่ก.ย.ปีหน้า
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทั้ง 37 ประเด็นและ 6 วาระการพัฒนา ตนรับได้และตนวางแผนไว้ถึงเดือนก.ย.2559 ที่เหลือฝากให้ช่วยกันทำต่อ บางคนบอกให้ตนทำเรื่องยากๆ ที่เหลือให้รัฐบาลหน้าทำ มันยุติธรรมกับตนหรือไม่ ตนไม่ได้อิจฉา แต่ต้องแบ่งเบาภาระการทำงานกันบ้าง ส่วนเรื่องรัฐบาลปรองดอง ถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ในเมื่อยังขัดแย้งกันอยู่ และพวกที่เร่งให้รัฐธรรมนูญเสร็จเพื่อให้เกิดการเลือกตั้ง ถามว่าจะมีนักการเมืองใหม่ๆ มาหรือไม่ นักการเมืองเดิมๆ หยุดก่อนได้หรือไม่ เว้นไป 5 ปี เพื่อให้ปฏิรูปประเทศ 
     นายกฯกล่าวว่า ที่นั่งกันในห้องนี้ใครอยากเป็นรัฐบาล อยากเป็นส.ส.หรือนายกฯบ้าง ขอให้ยกมือ ตนจะแสตมป์ให้ ก็ไม่เห็นมีใครอยากเป็น ไม่เข้าใจเหมือนกัน ทำไมคนดีคนเก่งไม่ชอบการเมือง แต่ส่วนหนึ่งชอบเรียกร้องแต่ไม่ออกมาใช้สิทธิ์ ทุกปัญหาต้องใช้ความเชื่อมโยงว่ามีกฎหมายใดเกี่ยวข้องบ้าง ถ้าตีกันทุกเรื่องก็เป็นปัญหาในวันหน้า และต้องให้กลไกมีความพร้อมก่อนส่งต่อ และต้องถามคนที่รับว่าเขาจะพร้อมหรือไม่ 

คสช.สั่งรื้อที่มาส.ว.
     "รู้จักพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯ มาทั้งชีวิตตั้งแต่ผมอายุ 21 ปีถึง 61 ปี ใช้งานผมมากว่า 40 ปี ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 ท่านบอกว่าผมใช้งานท่านครึ่งปีคุ้มเลย มันเป็นความผูกพัน ผมรู้จักทุกคน ถึงผมจะโกรธก็โกรธไม่ได้ เพราะทุกคนลงเรือเดียวกันกับผม อย่าคิดมาก อะไรที่ทำได้ก็ทำ ประชาชนต้องร่วมมือกับเรา ถ้าแบ่งแยกมันก็แบ่งแยกการปกครองกันไปตลอด มันทะเลาะกันอย่างนี้ ทำให้สองฝ่ายมาหาจุดร่วมกันให้ได้ ให้เขาร่วมกัน 20-50 อย่างก่อน ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ถ้าจะให้ทำตามที่ต้องการทั้งหมดคงทำไม่ได้ ขอให้สื่อฟังให้ดี เศรษฐกิจมันแย่เพราะธุรกิจสีเทามันหายไป ทั้งที่ควรได้หรือไม่ได้ วันนี้มันหยุด มันจะยังมีอยู่แต่เงินตรงนั้นมันหายไปมหาศาล ตอนนี้ข้าราชการเป็นหนี้กันง่ายขึ้น เพราะเรายังแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจกันอยู่" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
     นายกฯกล่าวว่า สิ่งที่ทำมาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 คือผลงานของเรา ส่วนตั้งแต่ก.ย.2559 เป็นต้นไปเป็นเรื่องของรัฐบาลต่อไปรับดำเนินการ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องโทษคนเขียนรัฐธรรมนูญ วันนี้ทุกคนต้องช่วยกันกำหนดอนาคตประเทศ
     รายงานข่าว เปิดเผยว่า สำหรับกรณีที่กมธ.ยกร่างกำหนดที่มาส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้ง 77 คน และจากการสรรหา 123 คน มีวาระ 3 ปี ซึ่งในส่วนของส.ว.สรรหาชุดแรก ให้เป็นอำนาจของครม.แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสรรหาทั้งหมด ปรากฎว่าคสช.ไม่เห็นด้วย และต้องการให้ส.ว.มาจากทางใดทางหนึ่ง คืออาจมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือการสรรหาทั้งหมด ทั้งนี้ การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯยังสามารถแก้ได้จนถึงวันที่ 22 ส.ค.นี้ 

เผยสปช.ชง 2 ญัตติ
     นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการวิป สปช. แถลงผลการประชุมวิป สปช.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นคำถามประชามติที่สมาชิกเสนอมาทั้งหมดในขณะนี้ จำนวน 2 ญัตติ โดยญัตติที่ 1 เสนอโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. และกมธ.ยกร่างฯ กับนายวรวิทย์ ศรีอนันตรักษา สปช. ที่เสนอว่า "ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการให้มีการปฏิรูปประเทศ 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง" 
      ญัตติที่ 2 เสนอโดยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สปช.และกมธ.ยกร่างฯ กับนายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช.ที่เสนอว่า "ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการมีกลไกป้องกันและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยอย่างน้อยใน 4 ปีแรกหลังใช้รัฐธรรมนูญให้มีรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (360 คน จาก 450 คน)" 

รอเสียงส่วนใหญ่ชี้ขาด
    นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้แจ้งให้สมาชิกทราบว่า หากต้องการเสนอญัตติในการตั้งคำถามประชามติเพิ่มเติมสามารถส่งญัตติมาได้ภายในวันที่ 18 ส.ค. เวลา 09.30 น. ซึ่งจะมีการพิจารณาในที่ประชุมสปช. และให้สมาชิกได้อภิปรายอย่างเต็มที่ จากนั้นจะมีการสอบถามสมาชิก ว่าจะให้สปช.ส่งคำถามประชามติหรือไม่ ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรส่ง ถือว่าจบ แต่ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรส่งคำถามประชามติ จะมาพิจารณาว่าจะเลือกคำถามใด แต่จะไม่มีการลงมติใดๆ ทั้งสิ้น 
     เพราะการลงมติในการตั้งคำถามประชามติ รัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 ฉบับแก้ไข กำหนดไว้ว่าจะต้องทำภายในวันเดียวกันกับวันที่ลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 
     นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้มีการพิจาณาญัตติของนายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิก สปช.ที่เสนอให้มีการประชุมสปช.หลังจากรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 22 ส.ค. เพื่อให้สมาชิกร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญประกอบการพิจารณาในการลงมตินั้น เห็นว่าตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ฉบับแก้ไข กำหนดไว้ว่าหลังจากวันที่สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน จากนั้นจะต้องลงมติว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน โดยสปช.จะไม่มีการประชุมใดๆ ทั้งสิ้น แต่หากสมาชิกจะนัดประชุมกันอย่างไม่เป็นทางการก็สามารถกระทำได้ 

กกต.พร้อมประชามติ 10 ม.ค.
      นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า การทำประชามติจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อสปช. ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 ก.ย. เบื้องต้น กกต.ได้เตรียมพร้อมในทุกขั้นตอน ไม่ว่าสถานที่จัดพิมพ์บัตร และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งบุคลากรที่จะดำเนินการออกเสียงประชามติ 
     นายศุภชัยกล่าวว่า กกต.ไม่หนักใจหากจะมีมากกว่า 1 คำถาม แต่จำนวนคำถามขึ้นอยู่กับ ครม. หาก ครม.กำหนดให้มี 3 คำถามคือ คำถามเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ คำถามจากสปช. และคำถามจากสนช. กกต.ก็ทำได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 37 กำหนดไว้ โดยคำถามทั้งหมดต้องชัดเจน ไม่ชี้นำ ไม่ทำให้ประชาชนสับสน แต่หากมีคำถามมาก งบประมาณที่ต้องใช้ออกเสียงประชามติก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่วนการจัดทำประชามติในวันที่ 10 ม.ค. 2559 ไม่น่าจะขยับออกไปแล้ว

'สมบัติ'ค้านแนวคิดกมธ.
     ด้านนายสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงข้อเสนอคำถามประชามติรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ และการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปฯ ว่า กมธ.ยกร่างฯ ต้องออกแบบให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นหนทางแก้ไขวิกฤตหรือออกจากความขัดแย้ง ไม่ใช่ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเหมือนรัฐบาล แต่กมธ.ยกร่างฯ กลับให้มีอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติได้ ส่วนรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ก็ไม่จำเป็นเนื่องจากตรวจสอบได้ยาก และหากจะสร้างกลไกปรองดองจริง ออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเดียวก็จบแล้ว 
    นายสมบัติ กล่าวว่า ยอมรับว่าข้อเสนอนี้มีผลต่อการตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของตน แต่คนอื่นๆ นั้น ยังต้องรอดู ตนเห็นด้วยกับสปช.ที่เข้าชื่อเสนอญัตติให้เปิดประชุมสปช. อภิปรายข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ก่อนลงมติในวันที่ 7 ก.ย. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เนื่องจากบางคนอาจดูแค่ว่าประเด็นที่เสนอแก้ไขไป ได้รับการปรับแก้หรือไม่เพียงอย่างเดียว แล้วตัดสินใจลงมติเห็นชอบให้ โดยไม่เข้าใจโครงสร้างหลักของรัฐธรรมนูญว่าด้วยอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงมติ

'วันชัย'เสนอทางออก 4 ปีแรก
     นายวันชัย สอนศิริ สปช. กล่าวว่า ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ครม. ตั้งกรรมการสรรหาส.ว. 123 คน และให้กกต.จัดเลือกตั้ง ส.ว.จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน มีวาระ 3 ปี และมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปฯ มีอำนาจพิเศษในภาวะวิกฤต มีวาระ 5 ปีนั้น ดูเหมือนว่าจะดี มีอำนาจ แต่ตนเห็นว่าครึ่งๆ กลางๆ อิหลักอิเหลื่อ แม้จะมีเจตนาดีแต่คงทำอะไรไม่ได้จริงเพราะส.ว. 200 คน 2 น้ำคงเข้ากันไม่ได้ ในที่สุดจะเป็นรูปแบบเดิม ขัดแย้งแตกแยกไปอิงแอบทางการเมืองส่วนหนึ่ง ไม่มีพลังทำงาน และเมื่อมีรัฐบาลเลือกตั้ง ยิ่งเป็นพรรคฝ่ายตรงข้าม จะเอาด้วยกับกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปฯ หรือไม่ สรุปว่าที่เขียนมาดูดีแต่ในทางปฏิบัติคงไม่ได้เป็นเช่นนั้น กลายเป็นองค์กรที่มานั่งขัดแย้งกัน 
     นายวันชัย กล่าวว่า ขอเสนอว่าคสช.ควรเขียนให้ชัดเจนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ระยะเริ่มต้น 4 ปีแรกให้มีตัวแทนของประชาชนจากการเลือกตั้งส.ส. 300 คน เอาจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง หรือวันแมนวันโหวต ไม่ต้อง มีส.ส.สัดส่วน และให้มีส.ว.จากการสรรหาจากทุกสาขาอาชีพ 200 คนมาร่วมเป็นสมาชิกรัฐสภา มีอำนาจและหน้าที่ศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับส.ส. ช่วยกันทำให้บ้านเมืองเข้ารูปเข้ารอย รวมทั้งการปูพื้นฐานบ้านเมืองใน 4 ปีแรก เพื่อช่วยถ่วงดุลการทำงานแก้ปัญหาของประเทศในภาวะวิกฤต ถ้าเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ไม่ต้องแอบ ไม่ต้องเหนียม เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของคสช.ที่ต้องทำต่อให้เสร็จ ไม่ต้องอ้อมค้อมแบบที่ออกมาล่าสุด 

'วิษณุ'ยังมึนกก.ยุทธศาสตร์
      นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ ระบุร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บัญญัติมาตรา 260 ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปฯ มีอำนาจเหนือรัฐบาล ในการสั่งระงับยับยั้งหรือกระทำการใดๆ ที่อาจนำไปสู่การเกิดความรุนแรง กรณีมีสถานการณ์ความวุ่นวายในบ้านเมืองที่ยากต่อการควบคุมว่า ยังไม่เคยได้ยิน ขอดูตัวร่างให้ชัดเจนก่อน เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ได้พบกับนายบวรศักดิ์ ซึ่งระบุว่ายังต้องพิจารณาทบทวนอีกหลายเรื่องแต่ไม่ได้พูดเรื่องนี้ 
      ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นการโยนหินถามทางหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า บางครั้งอาจจำเป็นต้องโยนหินถามทาง เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชน เมื่อเสนอเรื่องที่แปลกใหม่ ก็ต้องโยนหินถามเพื่อให้รู้ ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่ารับนโยบายจากคสช.นั้น รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้น ต้องถามกมธ.เอง เมื่อถามว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวอาจส่งผลให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะแปลกใหม่สำหรับตน 

'มาร์ค'แนะตั้งโจทย์ให้ถูก
     ที่จ.พิจิตร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอตั้งคำถามประชามติเรื่องรัฐบาลปรองดอง แห่งชาติว่า ต้องรอดูความชัดเจนว่าข้อเสนอจริงๆ นั้นคืออะไร จริงๆ แล้วการรวมตัวของพรรคการเมืองของรัฐบาลควรเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ การจะทำงานร่วมกันต้องอยู่บนพื้นฐานความสมัครใจความคิดอุดมการณ์ที่ตรงกัน ทุกอย่างก็ไปได้ แต่ถ้าใช้เงื่อนไขบังคับให้อยู่ร่วมกัน มีแนวคิดไม่ตรงกัน การบริหารจะมีปัญหา 
    "อยากให้ผู้ร่างกฎหมายไปตั้งโจทย์ให้ดี เพราะปัญหาที่ผ่านมาเกิดจากใช้อำนาจในทางมิชอบ ต่อให้เป็นรัฐบาล 450 เสียงเอาทุกพรรคทั้งสภา ถ้าทำไม่ถูกต้อง ประชาชนก็ต้องลุกฮือต่อต้าน จึงอยากให้ตั้งโจทย์ให้ถูกและช่วยกันดู ใครก็ได้มาเป็นรัฐบาล ต้องบริหารซื่อสัตย์ สุจริต ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ฝ่ายค้านต้องตรวจสอบได้เต็มที่ แต่ตรวจสอบอยู่ภายใต้กฎหมาย และไม่มีการไปช่วงชิงอำนาจ 

'เต้น'ชี้เปิดช่องนายกฯคนนอก
      นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช.กล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดรัฐบาลปรองดอง คือการกำหนดคณิตศาสตร์การเมืองให้รัฐบาลต้องมีเสียงในสภาไม่น้อยกว่า 360 เสียงจากทั้งหมด 450 เสียง ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นอย่างนั้นได้พรรคเพื่อไทยต้องร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ต้องพูดเรื่องอุดมการณ์หรือแนวทางการเมืองที่แตกต่างกันแบบคนละขั้ว เพราะแค่มองซื่อๆ ตามข้อเสนอของนายบวรศักดิ์ก็จะเห็นภาพ ว่าสูตรนี้ง่ายอย่างยิ่งที่จะติดล็อกเพราะตกลงกันไม่ได้เรื่องตัวนายกฯ เพราะถ้าเสียงไม่ถึง 360 เสียงก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่พอรวมเสียงกันได้ หากพรรคใหญ่พรรคหนึ่งหรืออาจมีพรรคเล็กร่วมด้วยเล่นแง่ พื้นที่ของนายกฯ คนนอกจะปรากฏขึ้นทันที และสถานการณ์ขัดแย้งจะเกิดขึ้นพร้อมกันไปด้วย
     นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า อยากให้ผู้มีอำนาจ ทั้งหลายเข้าใจให้ชัด ว่าการสร้างความปรอง ดองไม่ได้หมายถึงการเอาอำนาจมาแจกให้พรรคการเมืองทุกฝ่าย แต่หลักการพื้นฐาน คือต้องเอาอำนาจอธิปไตยคืนมาให้ประชาชน แล้วทำให้ประเทศมีกติกาสูงสุดที่เป็นประชาธิปไตยบังคับใช้ให้เป็นธรรมเท่าเทียมกัน ถ้าตั้งคำถามผิด คำตอบที่ได้ก็จะไม่ถูก วันนี้คำถามไม่ได้อยู่ที่ใครจะเป็นรัฐบาล แต่คำถามที่แท้จริง คือใครเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ระหว่างประชาชนทุกคนอย่าง เสมอภาค หรือคนบางกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นคนดีเหนือใคร แล้วใช้อำนาจบังคับให้คนส่วนใหญ่เดินตาม

'วัฒนา'โวยถูกคุกคาม
     ด้านนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ตนได้รับแจ้งจากรปภ.หมู่บ้านเมื่อคืนวันที่ 12 ส.ค. ว่ามีนายทหาร 2 นายมาแสดงบัตรประจำตัว ขอเข้ามาถ่ายรูปบ้านตน พร้อมสอบถามความเคลื่อนไหว ก่อนหน้านี้มีนายทหารจากจ.ปราจีนบุรี มาติดตามตนในลักษณะเดียวกันที่บ้านตนในต่างจังหวัด จึงจำเป็นต้องสื่อสารถึงคนที่เป็นหัวหน้าคสช.และฟ้องประชาชนไปพร้อมกัน ว่าสิ่งที่ทำคือการคุกคามและละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว สาเหตุมาจากเรื่องเดียว คือตนแสดงความเห็นวิจารณ์การทำงานของพล.อ.ประยุทธ์กับพวก รวมถึงฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ต่อศาลปกครอง ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายแบบอารยะไม่ได้ไปปลุกระดมหรือเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบ
     "ผมคงไม่จำเป็นต้องบอกพล.อ.ประยุทธ์ ว่าผมไม่เคยเกรงกลัวหรือก้มหัวให้กับอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน อยากแนะนำให้เอาเวลาไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ดีกว่า สิ่งที่ควรทำที่สุดคือการรีบคืนอำนาจที่ยึดไปให้กับประชาชน การกระทำของลูกน้องที่คุกคามและละเมิดความเป็นส่วนตัว นอกจากผมจะไม่กลัวแล้วกลับสมเพชและเสียดาย คือเงินภาษีอากรที่ผมจ่ายไปเป็นเงินเดือนพวกท่าน ผมไม่ได้จ่ายเพื่อให้ไประรานใคร 2 ขั้นรวมถึงวันเวลาทวีคูณจากการยึดอำนาจก็ได้กันทั่วหน้าแล้ว ทำงานให้คุ้มกับเงินภาษีอากรประชาชนดีกว่า" นายวัฒนากล่าว

โฆษกคสช.สวนกลับ
     พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกคสช.ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามแนวทางการดูแลให้เกิดความเรียบร้อยในลักษณะที่สุภาพ และให้เกียรติตามแนวทางที่ได้เคยปฏิบัติ เป็นลักษณะการเข้าไปประสานงานพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสานข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมาจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และบางท่านยังได้ให้คำแนะนำที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ 
     "การให้ข้อมูลของบางบุคคลบางครั้งอาจเป็นไปตามทัศนคติเดิมส่วนตัว ซึ่งไม่ได้พิจารณาด้วยองค์ประกอบและข้อเท็จจริงรอบด้าน และมั่นใจว่าที่ผ่านมาคสช.ได้คลี่คลายและแก้ปัญหาในหลายๆ อย่างของประเทศ ปัจจุบันก็ยังคงสนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ทำประเทศเสียหายอย่างที่บางคนพยายามบิดเบือนข้อมูล" พ.อ.วินธัยกล่าว

สนช.แถลงปิดคดี 248 ส.ส.
      เมื่อเวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณาดำเนินการกระบวนการถอดถอนอดีตส.ส. 248 คน ออกจากตำแหน่ง กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว. ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 โดยรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และอดีต 248 ส.ส.ผู้ถูกกล่าวหา
     สำหรับ ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามีเพียงนายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยเพียงคนเดียวที่เป็นตัวแทนแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาในนามพรรคเพื่อไทย ขณะที่อดีตส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ขอแถลงปิดสำนวนเป็นลายลักษณ์อักษรแทน

'วิชัย'ยันเทียบเคสส.ว.ไม่ได้
     นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช. เป็นตัวแทนฝ่ายป.ป.ช. แถลงปิดสำนวนว่า คำถามหนึ่งของผู้ถูกกล่าวหาอาจข้องใจคือ สนช.มีมติไม่ถอดถอน 38 อดีตส.ว.ไปแล้วในเรื่องเดียวกัน เหตุใดป.ป.ช.จึงดันทุรังชี้มูลความผิด 248 อดีตส.ส.อีก อยากเรียนว่ากระบวนการถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เหมือนกระบวนการทางตุลาการ มีเงื่อนไขคนละอย่าง กรรมการป.ป.ช.ที่ร้องให้ถอดถอนนั้นจะดูว่ามีมูลหรือไม่ และต้องมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย ส่วนกระบวนการปลายทางของสนช.คือการพิจารณาว่าจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอน เป็นดุลพินิจทางการเมือง จะใช้เป็นบรรทัดฐานไม่ได้ 
      นายวิชัย กล่าวว่า การถอดถอนเป็นอำนาจของวุฒิสภา ป.ป.ช.เป็นเพียงกลไกของวุฒิสภาอย่างหนึ่งเท่านั้น ป.ป.ช.ต้องเคารพการทำหน้าที่ของสนช.ในฐานะผู้ทำหน้าที่วุฒิสภาตามกฎหมาย นอกจากนี้ ในทางวิชาการการถอดถอนยังให้ความรู้แก่ประชาชนในการดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตย เสียงข้างน้อยมีหลักประกัน มีโอกาสตรวจสอบการใช้อำนาจทางการเมืองของเสียงข้างมาก 

ชี้พฤติกรรมขัดรธน.
     นายวิชัย กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีปัญหาคือร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ยื่นมาครั้งแรกไม่ได้มีปัญหา แต่ร่างดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้พิจารณาและลงมติ แต่กลายเป็นอีกร่างหนึ่ง ซึ่งมีหลักการและเนื้อหาต่างกับร่างแรก คือมีมาตรา 6 เพิ่มเติมมา ดังนั้น ร่างที่ลงมติจึงไม่ใช่ร่างที่เสนอถูกต้อง การใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะส.ส.ของ 248 คนที่ร่วมกับนายอุดมเดช พิจารณาและเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 1-3 จึงขัดรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่ามีการปกปิดข้อเท็จจริง และไม่แจ้งว่ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขร่าง
     ส่วนที่อ้างว่าเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส.นั้น เรื่องนี้เป็นเพียงหลักการหนึ่งที่ทำให้คนยอมรับนับถือกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ แต่นายอุดมเดชนำร่างอื่นมาสอดแทรก ถือว่าไม่ถูกต้องด้วยรัฐธรรมนูญและกระบวนการนิติบัญญัติ ทำให้เกิดความโกลาหลในบ้านเมือง การกระทำของ 248 อดีตส.ส.ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่หรือไม่ ถือหลักว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา 

'สามารถ'โต้-ลุ้นชี้ชะตา
     จากนั้นนายสามารถแถลงปิดสำนวนว่า ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของอดีตส.ส. 248 คน ทำด้วยความสุจริต ไม่มีอะไรแอบแฝง ยึดหลักประชาธิปไตย การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ดำเนินการตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ 2550 และขั้นตอนการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ยืนยันว่าทำได้ ตราบใดที่ประธานสภายังไม่สั่งบรรจุร่างเข้าสู่วาระการประชุม เรื่องนี้เป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นร่างปลอม แต่ยืนยันว่ามีเพียงร่างเดียวทั้ง 3 วาระ ซึ่งตลอดการพิจารณาวาระ 2 ฝ่ายผู้ร้องไม่เคยท้วงติงว่าเป็นร่างปลอม น่าแปลกที่พอผ่านวาระ 3 กลับร้องเรียน 
    นายสามารถ กล่าวว่า การที่ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้สนช.พิจารณา อ้างว่าพวกตนกระทำขัดรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว ดังนั้น ย่อมไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นฐานทางกฎหมายที่จะส่งเรื่องมาให้สนช. ก็ไม่อาจทำได้ และอดีตส.ส. 248 คนพ้นจากหน้าที่ไปแล้ว ไม่มีตำแหน่งให้ถูกถอดถอนอีก หวังว่าสนช.จะยึดมติกรณีอดีต 38 ส.ว.มาพิจารณาเป็นบรรทัด ฐานคดีนี้เช่นกัน 
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการแถลงปิดคดี นายสุรชัยแจ้งต่อที่ประชุมเพื่อนัดการลงมติถอดถอนคดีดังกล่าวในเวลา 10.00 น. วันที่ 14 ส.ค. โดยขอให้สมาชิกสนช.มาร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทยได้โทรศัพท์และส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ แจ้งอดีตส.ส.บางส่วนให้มาพบกันที่พรรคเพื่อไทยในวันที่ 14 ส.ค. เวลา 10.00 น. เพื่อติดตามผลการลงมติแบบลับของสนช. และรับประทานอาหารร่วมกันในเวลา 12.00 น. 

คาดรอดยกพวง
     รายงานข่าวจาก สนช.เปิดเผยว่า ในการประชุมสนช.วันที่ 14 ส.ค.เพื่อลงมติถอดถอนอดีตส.ส. 248 คน ตามข้อบังคับการประชุม สนช.ได้กำหนดให้ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 เสียงของจำนวนสมาชิกสนช.ทั้งหมด 220 คน หรือไม่น้อยกว่า 132 เสียง จึงจะสามารถถอดถอนได้ ซึ่งสนช.ส่วนใหญ่เห็นว่าสำนวนดังกล่าวมีฐานความผิดเดียวกันกับสำนวนของอดีตส.ว.38 คน แต่เมื่อป.ป.ช.มีมติชี้มูลอดีตส.ส. 248 คนแล้วส่งมาให้สนช.ดำเนินการถอดถอน จึงทำให้สนช.ต้องดำเนินตามขั้นตอนให้จบ ไม่สามารถจำหน่ายคดีได้ตามที่อดีตส.ส.เรียกร้อง 
     รายงานข่าวระบุว่า แม้ สนช.สายทหารบางส่วนอยากลงมติถอดถอน เนื่องจากไม่พอใจการให้สัมภาษณ์ของอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยบางคนที่ผ่านมา เพราะกระทบการทำงาน ของคสช.และรัฐบาล แต่สนช.ส่วนใหญ่จะยังยึดบรรทัดฐานในการลงมติไม่ถอดถอนเหมือนกับสำนวนของอดีตส.ว. 38 คน เพราะเห็นว่าถ้าผลออกไม่เหมือนกันจะกลายเป็น 2 มาตรฐาน อธิบายต่อสังคมไม่ได้ และไม่ต้องการให้เกิดปัญหาทางการเมือง เนื่องจาก กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้ผู้ที่ถูกถอดถอนต้องถูกตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต จึงเห็นว่าในเมื่อความผิดของอดีต ส.ส. 248 คนไม่มีความชัดเจนเพียงพอก็ไม่ควรลงมติถอดถอน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขในทางการเมือง จึงคาดหมายว่าเสียงในกลุ่มที่ลงมติไม่ถอดถอนจะมีประมาณ 120 เสียงขึ้นไป ส่วนกลุ่มที่ลงมติถอดถอนจะมีไม่ถึง 100 เสียง ซึ่งไม่เพียงพอ 3 ใน 5 เสียงที่จะสามารถถอดถอนได้ 

ป.ป.ช.ตีตก'สุภา'พันคดีขสมก.
     เมื่อวันที่ 13 ส.ค. รายงานข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. สมัยเป็นกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และนายสมบัติ ธรธรรม ที่ปรึกษาพล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. ถูกร้องว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา 157 และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา พ.ศ.2542 มาตรา 12 การประกวดราคาให้เช่าเนื้อที่โฆษณารถโดยสารปรับอากาศ 1,109 คัน ซึ่งมีนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานนั้น ได้รายงานผลการไต่สวน โดยอนุกรรมการมีความเห็นว่าให้เรื่องนี้ตกไป 
     ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบให้นายวิชัย เป็นผู้แถลงมติที่ประชุมในวันที่ 14 ส.ค. ซึ่งการพิจารณาเรื่องดังกล่าว พล.ต.อ.สถาพร และน.ส.สุภา ได้ถอนตัวไม่ร่วมพิจารณาคดีดังกล่าว เนื่องจากมีส่วนได้ส่วนเสีย

 

 

สนช.โหวต-ล็อกตามฐานความผิด 'พท.'ขอยึดบรรทัดฐานคดี'38 ส.ว.'

 

วิชัย วิวิตเสวี, สามารถ แก้วมีชัย

   มติชนออนไลน์ : เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาดำเนินการกระบวนการถอดถอนอดีต ส.ส. จำนวน 248 คน ออกจากตำแหน่ง กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. ตามมาตรา 6 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยเป็นการรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของของคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย คือ ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และอดีต 248 ส.ส. ผู้ถูกกล่าวหา ทั้งนี้ ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามีเพียงนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เพียงคนเดียวเท่านั้นที่เป็นตัวแทนแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาในนามพรรคเพื่อไทย ขณะที่อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ขอแถลงปิดสำนวนเป็นลายลักษณ์อักษรแทน 

       จากนั้น นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. เป็นตัวแทนฝ่าย ป.ป.ช.แถลงปิดสำนวนว่า กรณีการดำรงตำแหน่งเป็น ป.ป.ช.ของนายภักดี โพธิศิริ ป.ป.ช.นั้น คงไร้ข้อกังขาแล้ว เพราะได้แสดงหลักฐานยืนยันแล้วว่าการดำรงตำแหน่งของนายภักดีชอบด้วยกฎหมายทุกประการ แต่คำถามหนึ่งของผู้ถูกกล่าวหาอาจข้องใจคือ สนช.มีมติไม่ถอดถอนอดีต 38 ส.ว.ไปแล้วในเรื่องเดียวกัน เหตุใด ป.ป.ช.จึงดันทุรังชี้มูลความผิด 248 อดีต ส.ส.อีก อยากเรียนว่าการดำเนินคดีสำหรับกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ไม่เหมือนกระบวนการทางตุลาการ มีเงื่อนไขคนละอย่างกัน กรรมการ ป.ป.ช.ที่ร้องให้ถอดถอนนั้นจะดูว่ามีมูลหรือไม่ และต้องมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย ส่วนกระบวนการปลายทางของ สนช.นั้นคือการพิจารณาว่าจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอน เป็นดุลพินิจทางการเมือง จะใช้เป็นบรรทัดฐานไม่ได้ ทั้งนี้ การถอดถอนเป็นอำนาจของวุฒิสภาโดยแท้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นเพียงกลไกของวุฒิสภาอย่างหนึ่งเท่านั้น ป.ป.ช.ต้องเคารพการทำหน้าที่ของ สนช.ในฐานะผู้ทำหน้าที่วุฒิสภาตามกฎหมาย นอกจากนี้ ในทางวิชาการ การถอดถอนยังเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนในการดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตย เสียงข้างน้อยมีหลักประกัน มีโอกาสตรวจสอบการใช้อำนาจทางการเมืองของเสียงข้างมาก 

     นายวิชัย กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีปัญหาคือร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ยื่นเข้ามาครั้งแรกนั้นไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด แต่ที่มีปัญหาคือร่างดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาและลงมติ แต่กลายเป็นร่างอีกร่างหนึ่งซึ่งมีหลักการและเนื้อหาต่างกับร่างที่เสนอมาครั้งแรก คือมีมาตรา 6 เพิ่มเติมมาอีกมาตราหนึ่ง ดังนั้น ร่างที่ลงมติจึงไม่ใช่ร่างที่เสนอโดยถูกต้อง ซึ่งการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะ ส.ส.ของอดีต ส.ส. 248 คน ที่ได้ร่วมกับนายอุดมเดช พิจารณาและเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 1-3 จึงเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยแล้วว่า มีการดำเนินการปกปิดข้อเท็จจริง และไม่แจ้งว่ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขร่างฯ ส่วนอ้างว่าเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.นั้น เรื่องนี้เป็นเพียงหลักการหนึ่งที่ทำให้คนยอมรับนับถือกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งสามารถทำได้ แต่นายอุดมเดชนำร่างอื่นที่ไม่ได้เสนอมาสอดแทรก ถือว่าไม่ถูกต้องด้วยรัฐธรรมนูญและกระบวนการนิติบัญญัติ การกระทำอย่างนี้ทำให้เกิดความโกลาหลในบ้านเมือง ดังนั้น การกระทำของอดีต 248 ส.ส. ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่หรือไม่ ก็ถือหลักว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา 

      "ที่ผ่านมา 90 ปี คนไทยรู้จักแต่เพียงประชาธิปไตยเสียงข้างมากอย่างเดียว ส่วนการข่มเหงเสียงข้างน้อย โดยเสียงข้างมากไม่เคยมีการพูดถึง แต่กระบวนการถอดถอนจะทำให้ประชาชนเข้าถึงแก่นแท้ประชาธิปไตย ที่ช่วยให้เสียงข้างน้อยมีหลักประกันและมีที่ยืน ไม่ทำให้เกิดวัฒนธรรมด้านได้อายอด ของเสียงข้างมาก" นายวิชัยกล่าว

        จากนั้น นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะตัวแทนผู้ถูกกล่าวหา กล่าวแถลงปิดสำนวนตอนหนึ่งว่า ยืนยันว่าการเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มี ส.ว.ทำด้วยความสุจริตโดยไม่มีอะไรแอบแฝง ยึดหลักประชาธิปไตยไว้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ การที่เสนอญัตติถูกต้องตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 และดำเนินการตามที่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภากำหนดไว้ทุกประการ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้และเคยมีการดำเนินการแก้ไขมาแล้วในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะเดียวกันขอยืนยัน ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีการแก้ไขเพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก่อนที่ประธานรัฐสภาจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติของรัฐสภา รองประธาน สนช.ก็เคยไปให้ปากคำ ป.ป.ช. ว่าสามารถทำได้ ซึ่งอดีตรองประธานวุฒิสภาที่ขณะนี้เป็นรองประธาน สนช.ก็เคยไปให้ปากคำต่อ ป.ป.ช. ว่าสามารถทำได้ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นร่างปลอม แต่ขอยืนยันว่ามีเพียงร่างเดียวตั้งแต่วาระ 1-3 ซึ่งตลอดการพิจารณาวาระสอง ตนเป็นประธาน กมธ.ควบคุมการพิจารณามาตลอด ฝ่ายผู้ร้องก็ไม่เคยท้วงติงว่าเป็นร่างปลอมแต่อย่างใด ตนไม่เคยทราบล่วงหน้าว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจในการตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ถือเป็นการก้าวล่วงอำนาจสถาบันทางนิติบัญญัติอย่างชัดเจน 

      นายสามารถ กล่าวต่อว่า ขณะนี้สังคมยังกังขาถึงคุณสมบัตินายภักดี โพธิศิริ ว่ามีคุณสมบัติเป็นกรรม การป.ป.ช.หรือไม่ เพราะไม่ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทเอกชนภายในเวลาที่กำหนด หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. นอกจากนี้ ป.ป.ช.บางคนมีอคติต่อ ส.ส. โดย ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิดอดีต ส.ส. 248 คน ทันทีในวันเดียวกับที่ สนช.ลงมติว่าอดีต ส.ว.38 คน ไม่มีความผิดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณีที่มา ส.ว. ทั้งที่เป็นฐานความผิดเดียวกัน น่าคิดว่า เป็นอคติ ไม่ยึดหลักการที่ถูกต้องหรือไม่ จะต้องเล่นกันให้สุดสุดเลยใช่หรือไม่ ทั้งๆ รัฐธรมนูญปี 2550 ซึ่งเป็นฐานความผิดตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยให้จำหน่ายคดีที่เป็นการร้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2550 ไว้หลายเรื่อง ขณะเดียวกัน พวกตนได้สิ้นสุดการเป็น ส.ส.ไปแล้ว จึงไม่มีตำแหน่งใดให้ถอดถอนอีก อย่างไรก็ตาม สำนวนถอดถอนอดีต ส.ส. 248 คน เป็นฐานความผิดเดียวกันกับอดีต ส.ว.38 คน ที่ สนช.เคยมีมติไม่ถอดถอนไปแล้ว จึงหวังว่า สนช.จะนำมติดังกล่าวมาใช้เป็นบรรทัดฐานสำหรับการลงมติในคดีของพวกตนด้วย

      ทั้งนี้ ภายหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการแถลงปิดสำนวนของคู่กรณีแล้ว นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ได้แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อกำหนดวันลงมติในวันที่ 14 สิงหาคม เวลา 10.00 น. 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับกระบวนการลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนอดีต 248 ส.ส.นั้น ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ชี้แจงว่า กระบวนการในการลงคะแนนนั้น สมาชิก สนช.จะได้รับแจกบัตรลงคะแนน โดยจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามฐานความผิด ซึ่งในกลุ่มแรก ร่วมลงชื่อและลงมติทั้งสามวาระ จำนวน 237 คน ใช้บัตรลงคะแนน 5 ใบ ประกอบด้วย บัตรสีม่วง สีฟ้า สีเขียว สีเหลือง และสีส้ม ขณะที่กลุ่ม 2 จำนวน 1 คน ร่วมลงชื่อ และลงมติในวาระสองและสาม จะใช้บัตรสีขาว และกลุ่มที่ 3 ร่วมลงชื่อ แต่ไม่ได้ลงมติในวาระสอง จำนวน 10 คน จะใช้บัตรสีชมพู ทั้งนี้ ที่ประชุมจะมีการแต่งตั้งสมาชิก สนช.จำนวน 36 คน และเจ้าหน้าที่ 24 คน รวมทั้งสิ้น 60 คน เพื่อเป็นกรรมการควบคุมการนับคะแนน โดยคาดว่ากระบวนการทั้งหมดคงใช้เวลาราว 4-5 ชั่วโมง ก็จะทราบผลคะแนนอย่างเป็นทางการได้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!