Aพล.อ.อดมเดช

 

บิ๊กโด่ง ยันตั้งผบ.ทบ.ฉลุย จ่อส่งชื่อ ให้บิ๊กป้อม-ลั่นไม่ขัดแย้ง คู่ชิงมีสปิริตเชื่อนายสั่ง'บิ๊กต๊อก'เผยสิงหารู้ผล ถอดยศ'แม้ว'ได้-ไม่ได้ 'พิชัย'ชี้เลือกตั้งฟื้นศก.

        'บิ๊กโด่ง'พร้อมส่งชื่อ ผบ.ทบ.คนใหม่ ยันไม่มีปัญหาขัดแย้ง แคนดิเดตทุกคนมีสปิริต พร้อมเป็นอะไรก็ได้ที่'นาย'มอบหมาย สปช.ชงปฏิรูปตำรวจ สกัดการเมืองแทรก

 

@ 'บิ๊กโด่ง'ยันตั้งผบ.ทบ.ไม่ขัดแย้ง

        พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ถึงความคืบหน้าการเสนอชื่อผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนใหม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า มีชื่ออยู่ในใจแล้วว่า การแต่งตั้งโยกย้ายถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อถึงรอบปีผู้ที่มีอายุครบเกษียณก็ต้องเกษียณอายุราชการออกไป ต้องมีการเตรียมการในการแต่งตั้งบุคคลต่อไป ทั้งนี้ ทางกองทัพมีหลักเกณฑ์ว่าจะต้องดูบุคคลที่มีความรู้สามารถ ขณะนี้ทุกคนที่ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งในระดับสูงแล้ว ทุกคนมีความรู้ความสามารถก็ได้ทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ในทำนองเดียวกันผู้บังคับบัญชาชั้นสูงได้พิจารณาอยู่ในขณะนี้ คงต้องส่งชื่อให้ผู้บังคับบัญชาขึ้นไปพิจารณา คิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร

    "ผมขอเรียนว่า บางทีข่าวมักจะออกไปมีเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งไม่ใช่ ผมเป็นคนดูแล โดยเฉพาะในปีนี้ ทุกคนที่อยู่ในวงที่จะถูกคัดเลือก ทุกคนไม่เห็นจะมีอะไรต่อกัน ขอให้ผู้สื่อข่าวเข้าใจ ทุกคนสามารถพูดคุย รักใคร่กลมเกลียว สามัคคีกัน ทุกคนพร้อมเป็นอะไรก็ได้ตามที่ผู้บังคับบัญชาอยากให้เป็น" พล.อ.อุดมเดชกล่าว

 

@ พร้อมเสนอชื่อให้'บิ๊กป้อม'

      พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า เชื่อว่าทุกคนมีสปิริตในการทำงาน และไม่ว่าจะไปอยู่จุดใดก็ตาม ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นขอให้มั่นใจว่า จะไม่เกิดความแตกแยก เพราะทุกคนเข้าใจและพร้อมปฏิบัติงานตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย

พล.อ.อุดมเดชกล่าวอีกว่า อีกไม่นานจะนำรายชื่อขึ้นเสนอต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงเพื่อพิจารณา โดยในส่วนของทหารเองจะมีคณะกรรมการที่กำหนดไว้ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในการพิจารณา รวมทั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ เป็นกรรมการในการพิจารณาด้วย ทุกอย่างที่ออกมาจะต้องมีเหตุมีผล และเกิดผลประโยชน์กับส่วนรวม ขอให้อดใจรอ อีกไม่นานก็จะมีการเสนอชื่อขึ้นไป แต่ทั้งหมดจะต้องรอนายกรัฐมนตรี นำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลฯ และมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาก่อนสิ้นเดือนกันยายน ซึ่งไม่มีอะไรที่เป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวล

 

@ ชงปฏิรูปดัน'ก.ตร.'ตั้งผบ.ตร.

        ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นัดประชุม สปช.ในวันที่ 11 สิงหาคม เพื่อพิจารณาวาระการปฏิรูปที่ 6 เรื่อง การจัดทำแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปตำรวจ สปช. ที่มีนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สมาชิก สปช. เป็นประธาน โดยมีข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปตำรวจประเด็นที่สำคัญคือการแก้ปัญหาการแทรกแซงในกิจการตำรวจ ทำให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ขาดความเป็นอิสระ อยู่ในความครอบงำของฝ่ายการเมือง จึงให้มีการปฏิรูปองค์ประกอบคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีจำนวน 16 คน ประกอบด้วย 1.ประธาน ก.ตร. ให้คัดเลือกจากอดีตข้าราชการตำรวจระดับตำแหน่งรอง ผบ.ตร.หรือเทียบเท่าขึ้นไป (ยศ พล.ต.อ.) 2.ผบ.ตร.และเลขาธิการ ก.พ.เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 3.จเรตำรวจแห่งชาติ รอง ผบ.ตร.หรือเทียบเท่า (ยศ พล.ต.อ.) จำนวน 6 คน 3.อดีตข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าขึ้นไป (ยศ พล.ต.ท.ขึ้นไป) จำนวน 3 คน และ 4.ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ได้แก่ ผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี 1 คน ผู้แทนจากวุฒิสภา 1 คน ผู้มีความรู้ในสาขาต่างๆ เช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยให้กรรมการ ก.ตร.สรรหา จำนวน 2 คน 

นอกจากนี้ต้องปฏิรูปองค์ประกอบคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.)เพราะเป็นองค์กรในการกำหนดทิศทางนโยบายการบริหารราชการกิจการตำรวจและแต่งตั้ง ผบ.ตร. โดยแก้ไขให้การแต่งตั้ง ผบ.ตร.เป็นอำนาจของ ก.ตร. ทั้งนี้ ให้มี ก.ต.ช. 11 คน ประกอบด้วย 1.นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2.รองนายกฯที่นายกฯมอบหมายเป็นรองประธาน 3.ปลัดกระทรวงกลาโหม 4.ปลัดกระทรวงมหาดไทย 5.ปลัดกระทรวงยุติธรรม 6.อัยการสูงสุด 7.ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 8.ผู้แทนจากสภาทนายความ 9.ผู้แทนจากวุฒิสภา 10.ผู้แทนจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ 11.ผบ.ตร. เป็นกรรมการ 

 

@ แต่งตั้งยึดอาวุโส-ถ่ายโอนงาน

     สำหรับ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ให้พิจารณาโดยยึดความอาวุโส ประกอบความรู้ความสามารถตามเกณฑ์มาตรฐานในระดับตำแหน่งของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะทำให้ข้าราชการตำรวจมีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ มองเห็นเส้นทางการเจริญเติบโตในหน้าที่ ลดการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อนำเงินมาวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งหรือเอื้อประโยชน์กับผู้มีอิทธิพลต่างๆ เพื่อหวังผลในการเลื่อนตำแหน่งจากอิทธิพลภายนอก

ทั้งนี้ ให้ถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานที่มีภารกิจหน้าที่โดยตรงไปดำเนินการ เพื่อแบ่งเบาภาระของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) อาทิ ถ่ายโอนกิจการด้านการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการบังคับใช้กฎหมายในงานจราจรไปให้ กทม. เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม ถ่ายโอนกิจการด้านการตรวจคนเข้าเมืองไปให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม หรือกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการ

 

@ 'พิชัย'เตือนดึงเลือกตั้งทำศก.แย่

      นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะทำงานฝ่ายเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ที่โรงเรียนนานาชาติบางกอก เพรพ ถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ว่าได้เตือนไปตั้งแต่ปลายปี 2557 แล้ว เพราะการบริหารงานด้านเศรษฐกิจดูไม่กี่เดือนก็ทราบแล้ว เคยบอกว่าบริหารแบบนี้จะไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรเร่งปรับ ครม. เพราะถ้ายิ่งปรับช้าปัญหาโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจจะยิ่งเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าปรับแล้วสถานการณ์จะดีขึ้นทันที ปัญหายังอยู่ที่ความเชื่อมั่นของต่างชาติ ซึ่งมีความเป็นห่วง นอกจากนี้หลักคิดที่ว่าเศรษฐกิจไม่ดีไม่ควรกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และควรกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวะที่กำลังแย่ ให้สามารถประคับประคองไปได้ 

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง นายพิชัยกล่าวว่า จะปฏิรูปอะไร แล้วปีกว่าที่ผ่านมานั้นปฏิรูปอะไรไปหรือยัง ทั้งนี้ไม่มีการปฏิรูปอะไรที่ทำวันนี้พรุ่งนี้เสร็จ แต่ต้องทำต่อเนื่องไปตลอด การถ่วงเวลาไปจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจแย่ลง และการไม่กำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนจะทำให้ความเชื่อมั่นลดลงเช่นกัน

 

@ 'มาร์ค'หนุน'บิ๊กตู่'ยึดโรดแมป

       นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ที่โรงเรียนนานาชาติบางกอก เพรพ กรณีนายกรัฐมนตรีออกมาย้ำการดำเนินการตามโรดแมปว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะทุกวันนี้ความสับสนเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากการนำเสนอของ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกลุ่มอื่นๆ การที่นายกฯย้ำเรื่องโรดแมปก็สะท้อนว่ารัฐบาลและ คสช.ต้องการดำเนินการไปตามกรอบที่วางไว้ ทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องของเสถียรภาพและความแน่นอน โรดแมปนี้ไม่ตายตัว ที่ผ่านมาเห็นว่ามีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อขยายเวลาให้เกิดการทำประชามติได้ การที่นายกฯย้ำในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี 

     ผู้สื่อข่าวถามถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ สปช. หาก สปช.เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้ดีก็ลงมติเห็นชอบ แล้วให้ประชาชนลงประชามติตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ อยากให้มองถึงเนื้อหามากกว่า การเอาไปผูกติดกับการเมือง เช่น อยากอยู่ต่อหรือไม่ เมื่อถามว่า การทำประชามติควรใส่คำถามเรื่องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งไปด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จะสร้างความสับสนมากกว่า

 

@ จี้คสช.แจงกรอบปฏิรูปให้ชัด

       ต่อมานายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) กรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. ยื่นหนังสือถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เพื่อขอให้บรรจุคำถามในการทำประชามติ ให้มีการปฏิรูปประเทศ 2 ปีก่อนการเลือกตั้งว่า ไม่อยากให้เอากรอบเวลามาเป็นตัวตั้ง แต่อยากให้นายกฯ ระบุถึงความจำเป็นและความสำคัญของเรื่องเร่งด่วนที่ประเทศจำเป็นต้องเดินหน้าปฏิรูป และชี้แจงให้กับประชาชนได้รับทราบ รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะเดินหน้าปฏิรูปให้เป็นไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับประเทศ และทุกคนต้องร่วมมือกัน

       "ท่านต้องบอกว่า ท่านอยากปฏิรูปอย่างไร เรื่องอะไร ใช้เวลาเท่าไร เพราะถ้าเอาเวลามาเป็นตัวตั้งเพียงอย่างเดียวก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างบางเรื่องถ้าต้องทำจริงๆ แล้วเสร็จไม่ทันตามระยะเวลาที่กำหนด สังคมก็สามารถยืดหยุ่นให้ได้อยู่แล้ว อย่างเช่นเรื่องของการทำประชามติที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าควรจะต้องทำ และทำให้ระยะเวลาการเลือกตั้งจะต้องเลื่อนออกไป ทุกคนก็ยอมได้ ดังนั้น หากมีเรื่องสำคัญที่ต้องปฏิรูปโรดแมปก็สามารถยืดออกไปได้เช่นกัน" นายอภิสิทธิ์กล่าว 

เมื่อถามว่า กระแสข่าวที่ สปช.มีการล็อบบี้ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแลกกับตำแหน่งในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หากมีการล็อบบี้จริงถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และเป็นที่น่าผิดหวังเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ สปช. เพราะควรทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ที่สำคัญต้องแยกเรื่องของรัฐธรรมนูญออกจากเรื่องการเมือง 

 

@ 'ไพบูลย์'แจงปฏิรูปยึดร่างรธน.

        นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช.ในฐานะผู้นำเสนอญัตติให้มีการปฏิรูปประเทศ 2 ปีก่อนการเลือกตั้งต่อ สปช.กล่าวถึงกรณีนายบุญเลิศ คชายุทธเดช สปช. เรียกร้องให้ชี้แจงถึงวิธีการและประเด็นปฏิรูปในห้วง 2 ปีที่จะขอให้ยืดออกไปก่อนการเลือกตั้งว่า รายละเอียดของประเด็นปฏิรูปและกระบวนการที่จะดำเนินการจะเป็นไปตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังจัดทำ ในภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูป ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญ 4 มาตรา ว่าด้วยการปฏิรูปด้านต่างๆ และเป็นไปตามรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ที่มี นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานอนุ กมธ. เบื้องต้นทราบว่ามีเนื้อหากว่า 20 มาตรา และรายละเอียด 100 อนุมาตรา 

"เอกสารทั้งหมดนั้น สมาชิก สปช.จะได้เห็นในวันเดียวกันกับที่ สปช.มีประชุม เพื่อลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ ที่อาจจะเป็นวันที่ 6 หรือ 7 กันยายน" นายไพบูลย์กล่าว และว่า ญัตติที่ได้เสนอไปนั้น ไม่มีรายละเอียดนี้ เพราะต้องการให้ สปช.ร่วมอภิปรายและแสดงความเห็น 

 

@ โยนสปช.เคาะเอาด้วยหรือไม่

       นายไพบูลย์กล่าวถึงกรณีนายกฯระบุถึงทิศทางการปฏิรูปที่จะส่งมอบงานต่อให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ และทำหน้าที่ปฏิรูป พร้อมกับมีสภาขับเคลื่อนฯ ที่ทำหน้าที่คู่กับการบริหารของรัฐบาลชุดใหม่ ว่าเป็นสิ่งที่นายกฯคิดไว้ และเป็นไปตามโรดแมปที่กำหนดไว้ แต่เหตุผลที่เสนอญัตติให้คำถามประชามติต่อวาระการปฏิรูปอีก 2 ปีก่อนจัดการเลือกตั้ง หรือให้รัฐบาลทำหน้าที่ปฏิรูปต่อไปให้เสร็จนั้น เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางและโอกาสได้แสดงความเห็นและความต้องการที่จะให้รัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินการแก้ปัญหาในทุกด้านๆ ให้บรรลุผล ดังนั้น ในฐานะตัวแทนประชาชนจึงเสนอญัตติให้ สปช.พิจารณาส่วนจะได้รับการตอบรับหรือไม่อยู่ที่ สปช.ตัดสินใจ 

เมื่อถามว่า แนวทางที่ดำเนินการสวนทางกับ สปช.กลุ่มของนายวันชัย สอนศิริ สปช. ที่ต้องการให้ สปช. ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์กล่าวว่า ตนกับนาย

     วันชัย มีเป้าหมายเดียวกันคือ การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่แนวทางของนายวันชัย ที่เสนอให้โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อพิจารณาผลต่อจากนั้น คือจะต้องตั้งกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญโดยมีเวลาให้ทำงานประมาณ 7 เดือน ซึ่งเวลาดังกล่าวนั้นไม่เพียงพอต่อการทำปฏิรูปให้แล้วเสร็จได้ จึงไม่คุ้มค่า เพราะจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง และอาจทำให้การปฏิรูปทำสำเร็จยาก ส่วนแนวทางของตนที่เสนอแนวทางให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจผ่านการลงประชามตินั้น หากเสียงข้างมากของประชาชนให้ผ่านจะทำให้เกิดการยอมรับจากสังคม ไม่เกิดความขัดแย้งและรัฐบาลมีความชอบธรรมในการอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อ

 

@ 'สมบัติ'ชี้นายกฯคนนอกขัดปชต. 

      นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ล่าสุด กมธ.ยกร่างฯบอกว่า วันที่ 10-11 สิงหาคมนี้ จะเร่งนำประเด็นที่ค้างไว้กับประเด็นที่มีผู้เรียกร้องให้ปรับแก้ไขมาทบทวนอีกครั้ง โดยคงยืนยันว่านายกรัฐมนตรีอาจจะเป็นคนนอกก็ได้ การกำหนดแบบนี้ขัดต่อหลักประชาธิปไตย ถ้าถือตรรกะว่าคนนอกเป็นนายกฯได้ ต่อไปก็ถือตรรกะว่า ส.ส.ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากการสรรหาได้ บทเรียนสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกฯ มีการต่อต้านเรื่องนายกฯคนกลาง จนกระทั่งเสียเลือดเสียเนื้อกันไปมาก จึงไม่อยากให้เกิดซ้ำหรือทำให้เหตุการณ์ย้อนหลังกลับไปแบบนั้นอีก 

       นายสมบัติ กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป. ระบุว่า สปช.และ สนช.มักทำให้เกิดความสับสนเรื่องโรดแมปต่างๆ ว่าโรดแมปไม่มีอะไรซับซ้อน ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้ว ทั้งกรณีร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่าน สปช. อาจแตกต่างกันแค่ 2 หรือ 3 เดือนเท่านั้น ไม่เห็นว่ามีใครทำอะไรสับสนตรงไหน ส่วนคำถามเรื่องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งควบคู่ไปกับการทำประชามตินั้น เป็นแนวคิดของนายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ ที่ยังไม่รู้เลยว่า สปช.คนอื่นจะเอาด้วยหรือไม่ 

 

@ เล็งแก้กก.สรรหาส.ว.ใหม่ 

       นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า การประชุม กมธ.ยกร่างฯวันที่ 10-11 สิงหาคมนี้ จะพิจารณาทบทวนประเด็นที่มา ส.ว.ที่ยังไม่ลงตัว คาดว่าโครงสร้างจะไม่เปลี่ยนแปลงคือ มี ส.ว.จากการเลือกตั้ง 77 คน และสรรหา 123 คน ตามที่ กมธ.ยกร่างฯปรับแก้ตามคำขอของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ สปช.ทั้ง 9 กลุ่ม ในส่วนนี้นิ่งแล้ว แต่ที่จะต้องปรับแก้คือเรื่องกรรมการสรรหาที่ยังไม่ลงตัวว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสม และไม่ให้ถูกการเมืองครอบงำ ตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องยากพอสมควร โดย กมธ.ยกร่างฯจำเป็นต้องคุยให้ได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า เพราะเป็นช่วงสุดท้ายก่อนที่จะต้องจัดเตรียมเอกสารและร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ส่งให้ สปช.ภายในวันที่ 21 สิงหาคม

     นายคำนูณ กล่าวต่อว่า เตรียมจะหารือกับ กมธ.ยกร่างฯเพื่อแถลงภาพรวมของการทำงานและข้อสรุปของร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงพัฒนาการและความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาและร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก โดยอาจจะให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ แถลงรายละเอียดทั้ง 4 ภาค ซึ่งน่าจะแถลงได้ภายหลังจากที่ กมธ.ยกร่างฯส่งร่างฉบับสมบูรณ์ให้ สปช.ไปแล้ว

 

@ 'พ.อาวุโส'ติงปมเจตนารมณ์รธน.

         นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ที่เป็นตัวแทนผู้พิพากษาศาลยุติธรรมกว่า 2,000 คน ร่วมลงชื่อจดหมายเปิดผนึกคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญที่กระทบความเป็นอิสระของตุลาการ กล่าวถึงกรณีเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ กมธ.ยกร่างฯประชุมพิจารณาเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ ว่าได้ทราบจาก กมธ.ยกร่างฯว่าในการประชุมนายจรูญ อินทจาร ที่ปรึกษา กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้ตัดและไม่ต้องระบุเจตนารมณ์ในเรื่องของการอุทธรณ์มติของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) สำหรับผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัย 

        "การเสนอให้มีการตัดและไม่ต้องระบุเจตนารมณ์ในเรื่องนี้ ทำให้ผมและผู้พิพากษาจำนวนมากมีความกังวลว่า ทำไมจึงให้มีการตัดการเขียนเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญออก เนื่องจากหากเป็นแบบนั้นจะทำให้มีปัญหาในการออกกฎหมายลูก อาจทำให้เกิดความยุ่งยากตามมา และเกิดข้อถกเถียงกันในอนาคต เพราะเมื่อไม่มีการเขียนเจตนารมณ์แล้ว ต่อไปกฎหมายจะต้องตีความตามตัวอักษรของกฎหมายลูกในภายหลัง จึงทำให้ผมและผู้พิพากษาหลายคนเป็นห่วงและกังวลว่า มีการหมกเม็ดลับลวงพรางอะไรในเรื่องนี้หรือไม่" นายศรีอัมพร กล่าว

 

@ ให้'บวรศักดิ์'แถลงให้ชัดเจน

       ผู้สื่อข่าวถามว่า นายจรูญให้เหตุผลอะไรในการไม่ต้องระบุเจตนารมณ์ลงในร่างรัฐธรรมนูญ นายศรีอัมพรกล่าวว่า ทราบว่าที่นายจรูญและ กมธ.ยกร่างฯ เสียงส่วนใหญ่ให้มีการตัดเจตนารมณ์ออกนั้น แถลงว่า มีการระบุร่างรัฐธรรมนูญไว้ชัดเจนแล้ว เมื่อถามว่า หากไม่มีการระบุเจตนารมณ์ ผู้พิพากษาจะออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่ นายศรีอัมพรกล่าวว่า หากไม่มีการระบุในเจตนารมณ์ ขอให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ แถลงยืนยันในเรื่องนี้ให้ชัดเจนไว้เป็นหลักฐาน เพราะแม้จะไม่มีการระบุในเจตนารมณ์ แต่ยังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในสังคมและสื่อมวลชนต่อไป

"เรื่องนี้มีการติดตามจากผู้พิพากษาจำนวนมาก เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อศาลโดยตรง ก่อนหน้านี้มีการอ้างว่า อย่าให้ผู้พิพากษาออกมาเคลื่อนไหว เพราะมีการคุยกับผู้ใหญ่ของศาลไว้แล้ว ทั้งที่เรื่องจริงแล้วยังไม่มีการพูดคุยแต่ประการใด โดยผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ก็กังวลในเรื่องนี้" นายศรีอัมพรกล่าว

 

@ 'ไพบูลย์'ชงเพิ่มประเมิน 3 องค์กร 

        นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงการประชุม กมธ.ยกร่างฯในวันที่ 10-11 สิงหาคมนี้ว่า จะหารือประเด็นที่ค้างการพิจารณาและประเด็นที่หลายคนเรียกร้องให้ทบทวนและปรับแก้ไขนั้น อาทิ การจัดเก็บค่าบำรุงพิเศษองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และมีประเด็นที่หากมีผู้ดำเนินการก็จะต้องมีผู้ตรวจสอบมากขึ้น กมธ.ยกร่างฯบางคนเสนอให้นำไปกลั่นกรองโดยสภา แต่ตนเองไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

        "ผมเห็นว่า กลไกดังกล่าวควรให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว ควรที่จะให้มีการประเมินการทำงานผ่านคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติเข้าประเมินการทำงานของบอร์ดทั้ง 3 องค์กร จากนั้นให้เปิดเผยต่อสาธารณชนได้รับทราบ ส่วนข้อมูลในการบริหารงานต่างๆ ก็ต้องเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสาร เชื่อว่าทั้ง 3 องค์กร ถ้าให้ตรวจสอบในแนวทางนี้ คงเห็นด้วย แต่อย่าเอาเข้าสภาฯแบบนั้น ผมไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นการเปิดช่องให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานได้" นายไพบูลย์กล่าว 

 

@ สสส.พร้อมให้คตร.ตรวจสอบ 

       ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกรณีนายกฯจะให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้ามาตรวจสอบการใช้งบประมาณว่า สสส.เป็นองค์กรที่มีการตรวจสอบตลอดเวลาอยู่แล้ว โดยมีทั้งการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกและภายใน ได้แก่ สตง. คณะกรรมการประเมินผล ซึ่งแต่งตั้งโดย ครม.และคณะอนุกรรมการการตรวจสอบภายใน ถือได้ว่าตรวจสอบเข้มข้นมากกว่าหน่วยงานราชการเป็นอย่างมาก และได้มีนโยบายการทำงานตามหลักธรรมาภิบาล จึงไม่ได้กังวลหากจะมีหน่วยงานภายนอกเข้ามาตรวจสอบเพิ่มอีก 

      "ช่วงที่ คสช.เข้ามา คตร.ก็เคยเข้ามาตรวจสอบแล้วครั้งหนึ่ง ก็ได้แสดงขั้นตอนการดำเนินการทุกอย่างเรียบร้อยดี และล่าสุดเมื่อปี 2557 คณะกรรมการกองทุนได้ตั้งคณะอนุกรรมการกำกับกิจการที่ดีขึ้นมาเพื่อวางแผนเชิงรุกให้ สสส. ขณะนี้ สสส.จึงอยู่ในสถานะเป็นหน่วยงานนำร่องการทำสัญญาที่ดีและการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ นอกจากนี้ ในแต่ละปีได้มีการทำรายงานผลงานต่อ ครม. สภาผู้แทนราษฎร และรัฐสภา ดังนั้นการที่ คตร.จะเข้ามาตรอจสอบอีกครั้ง จึงมีความยินดีและพร้อมให้ตรวจสอบ" ทพ.กฤษดากล่าว 

 

@ 'สมชาย'พร้อมรับใช้ปชช.

      นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวอวยพรงานมงคลสมรส นายยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ บุตรชาย กับ น.ส.นันทกานต์ ศิลป์เสวีกุล ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน ตอนหนึ่งว่า ดีใจที่มี ส.ส.มามากเป็นพิเศษ เพราะตั้งแต่วงแตกก็ไม่ได้เจอกันเลย วันนี้ไม่มีใครพูดเรื่องการเมือง แต่เท่าที่ได้ฟังเสียงซุบซิบที่ผ่านมาได้ยินว่ามีบางคนไปแก้คดีที่ สนช. ไม่รู้ว่าจะรอดหรือเจ็บตัว แต่ขอให้รอดปลอดภัยทุกคน

        "วันนี้ เห็นเพื่อนฝูงมากหน้าหลายตามาร่วมงาน ได้เห็นถึงน้ำใจที่ไม่ทอดทิ้งกัน ทำให้มองว่า อนาคตผมไม่มืดมน เพราะได้รับความเมตตาจากทุกคน หากมีอะไรแน่นอนเป็นไปตามกติกาก็พร้อมจะทำงานเพื่อประชาชน ทั้งนี้ เราเคารพในกติกาในสถานการณ์ตลอดเวลา และจะขอดำรงตนเป็นประโยชน์ต่อพวกท่าน ต้องขอขอบคุณทุกคนที่มาร่วมงานลูกชายผมในวันนี้ หากวันข้างหน้ามีอะไรให้รับใช้ก็ยินดี" นายสมชายกล่าว

 

@ 'บิ๊กต๊อก'ไม่หนักใจถอดยศ'แม้ว'

       เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมติดตามเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ในสัปดาห์หน้าจะทำหนังสือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อเชิญ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา สบ 10 หัวหน้าคณะกรรมการการพิจารณาถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ มาประชุมร่วมกับคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากเรื่องดังกล่าวที่ผ่านมาเป็นการดำเนินการของ ตร. แต่เมื่อนายกฯ มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมเข้าไปตรวจสอบข้อกฎหมาย จึงต้องเข้าไปดูว่าข้อกฎหมายกระทำได้หรือไม่ ติดขัดในส่วนใด รวมถึงการนำกรณีที่เคยพิจารณาก่อนหน้านี้มาเป็นข้อมูลและมาตรฐาน ในการพิจารณาว่าการถอดยศลักษณะนี้กระทำได้หรือไม่ 

       "ผมขอเวลาศึกษาข้อกฎหมาย ในวันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม จะเรียกประชุมทีมงานฝ่ายกฎหมาย จากนั้นจะทำหนังสือไป ตร. และคาดว่าอย่างช้าจะสามารถเรียกประชุมได้ภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคม และจะพยายามให้ได้คำตอบภายในเดือนสิงหาคมนี้ ว่า ถอดยศได้หรือไม่ได้ พร้อมเหตุผลประกอบให้ประชาชนรับทราบ" พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หนักใจในประเด็นดังกล่าวหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ไม่หนักใจ ทำไมต้องหนักใจ การพิจารณาถ้าหากว่าไปตามหลักเกณฑ์ไม่ต้องเห็นจะมีอะไรต้องหนักใจ ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นคนละส่วนกัน เพราะมันเป็นเหตุผลประกอบในการพิจารณามากกว่า ถ้าในข้อกฎหมายระบุเรื่องคุณงามความดีถึงเหตุผลที่ไม่ต้องถอดยศ องค์ประกอบเหล่านี้ก็ถูกบรรจุอยู่ในการพิจารณา แต่ถ้าข้อกฎหมายไม่ได้ระบุ ก็ไม่ต้องพิจารณา อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้วถ้าหากข้อกฎหมายระบุว่าถอดได้ ทางกระทรวงยุติธรรมต้องส่งเรื่องกลับไปยัง ตร. เป็นผู้เสนอไปยังรัฐบาลตามขั้นตอน กระทรวงยุติธรรมไม่สามารถดำเนินการได้ 

       ด้าน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวว่า เรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ในส่วนของตำรวจได้มีการดำเนินการในส่วนที่ต้องรับผิดชอบไปหมดแล้ว สุดท้ายขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่จะต้องตัดสินใจ