WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

AAA

 

กมธ.โวย กดดันแก้ที่มาส.ว. บี้สปช.คืนพันล. สหรัฐอนุมัติแล้ว เดวีส์ทูตในไทย ฮิวแมนไรต์ จี้อีก ปมกระสุน 99 ศพ

     สภาระทึก รถอดีตรมช. เกษตรฯ จู่ๆ มีควันไฟโขมง เจ้าหน้าที่ต้องเร่งฉีดน้ำสกัด สนช.ไฟเขียว'พงษ์นิวัฒน์'นั่งอัยการสูงสุด กมธ.กฎหมายสนช.ปลด 'เสี่ยอ้วน'ออกจากกุนซือแล้ว'บิ๊กโด่ง'กำชับ ทบ.เป็นแกนหลักให้รัฐบาลคสช. เผยกมธ.ยกร่างฯ อึดอัด โดนกดดันแก้ปมที่มาส.ว. ให้มาจากสรรหาทั้งหมด 'ปึ้ง'บี้ สปช.ถ้าโหวตคว่ำร่างรธน.ต้องคืนพันล้าน ฮิวแมนไรต์ฯ งัดข้อมูลกระสุนจริง จี้ทางการไทยเลิกปกปิดคดี 99 ศพ วุฒิสภาสหรัฐลงมติ'เดวีส์' เป็นทูตสหรัฐประจำไทย อัยการสั่งฟ้อง'จุฑามาศ'อดีตผู้ว่าฯ ททท. คดีรับสินบน

 

วันที่ 07 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9018 ข่าวสดรายวัน

 


ไหม้ระทึก - เจ้าหน้าที่รัฐสภาช่วยกันดับไฟที่ลุกไหม้รถเบนซ์ ทะเบียน ฆฏ 620 กทม. ของนายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ อดีตส.ส.เพื่อไทย ที่เดินทางมาฟังการประชุมของสนช. เบื้องต้นคาดว่าระบบไฟฟ้าของรถเกิดลัดวงจร เมื่อวันที่ 6 ส.ค.

 

 

ระทึกรถอดีตรมต.หวิดไหม้ในสภา

      เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 6 ส.ค. ที่ด้านหน้าบ่อปลาคาร์พ หน้าอาคารรัฐสภา 1 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดควันพุ่งออกมาจำนวนมากจากฝากระโปรงรถเบนซ์สีฟ้าอ่อน รุ่นเอส 600 ทะเบียน ฆฎ 620 กรุงเทพมหานคร และพบว่ามีประกายไฟใต้ท้องรถ พร้อมมีกลิ่นเหม็นไหม้ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา เจ้าหน้าที่พยาบาลประจำรัฐสภา และหน่วยกู้ภัย ต้องช่วยกันนำถังดับเพลิงและน้ำฉีดพ่นสกัดควันนานกว่าครึ่งชั่วโมง จึงควบคุมไว้ได้

    ทั้งนี้ ทราบภายหลังว่ารถคันดังกล่าวเป็นของนายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ และอดีตส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย โดยมีนายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ อดีตส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย นั่งมาด้วย สาเหตุเบื้องต้นเกิดจากท่อไอเสียร้อน และน้ำมันเครื่องแห้ง จึงทำให้ระบบไฟฟ้าภายในรถลัดวงจร เนื่องจากรถติดแก๊ส ล่าสุดได้ประสานรถลากนำไปซ่อมเรียบร้อยแล้ว

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันมีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาญัตติการถอดถอนอดีตส.ส. 248 คน ซึ่งนายพรศักดิ์ และนายวิวัฒน์ชัย เป็นอดีตส.ส.ที่จะเข้าร่วมประชุมและรับฟังการซักถามดังกล่าว

 

สนช.ซักถามคดีถอด 248 ส.ส.

      สำหรับการประชุมสนช.เริ่มเวลา 10.00 น. โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนอดีตส.ส. 248 คน ออกจากตำแหน่ง จากกรณีร่วมกันลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว. โดยมิชอบ ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.) พ.ศ. 2542 โดยเป็นการซักถามประเด็นตามที่ที่ประชุม สนช. กำหนดตามญัตติของสมาชิก โดยคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ซักถามตามข้อบังคับ ข้อ 154 วรรคสาม

ทั้งนี้ แม้จะมีเพียงคำถามเดียวที่ถามผู้กล่าวหาคือ ป.ป.ช. แต่ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา นำโดยนายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้เข้ามารับร่วมฟังการซักถามด้วย

 

ป.ป.ช.แจงข้อข้องใจ

      นายยุทธนา ทัพเจริญ สมาชิก สนช. ในฐานะกมธ.ซักถาม ถามป.ป.ช.ว่า กระบวนการถอดถอนอดีต 38 ส.ว. รวมถึงการยื่นถอดถอนในครั้งนี้ ป.ป.ช.ยังยืนยันในคุณสมบัติของนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่ เพราะเหตุใด

นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช. ตอบข้อซักถามว่า เรื่องนี้เป็นการกล่าวหา เป็นวาทกรรมทางการเมืองมากกว่าวาทกรรมทางกฎหมาย เป็นคำกล่าวที่ไม่มีข้ออ้าง แต่เพื่อความกระจ่างและคลายความสงสัย ขอยืนยันคุณสมบัติของนายภักดี ที่ผ่านมานายภักดี เคยโดนยื่นถอดถอนออกจากกรรมการป.ป.ช. แต่วุฒิสภาก็ไม่ได้มีมติถอดถอน นอกจากนี้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ยังเป็นโจทก์ฟ้องนายภักดี ว่าแอบอ้างเป็นกรรมการป.ป.ช. ซึ่งศาลอาญาได้ยกฟ้อง

ดังนั้น นายภักดี ยังมีสถานะเป็นกรรมการป.ป.ช. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2549 ฉะนั้นเรื่องทางกฎหมาย เกี่ยวกับสถานะถือเป็นที่ยุติไปแล้ว

 

นัดปิดคดี 13 ส.ค.-ลงมติ 14 ส.ค.

       นายวิชัย กล่าวว่า แม้ศาลจะเห็นว่านายภักดี มีคุณสมบัติครบ แต่กรรมการป.ป.ช.อยากให้มีความกระจ่าง ได้รับการยอมรับทั้งกายและใจ จึงสืบค้นทางเอกสารเพื่อให้คลายข้อสงสัย ซึ่งไม่พบว่าก่อนรับตำแหน่งวันที่ 6 ต.ค.2549 จะยังอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาของบริษัทใด จนเป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติกรรมการป.ป.ช. ทั้งนี้ การเป็นที่ปรึกษาในบริษัทใดๆ ไม่ได้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ แต่ไปในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งต้องไปนั่งโดยตำแหน่งอยู่แล้ว และบริษัทดังกล่าวเป็นเครือข่ายของอย. การยื่นใบลาออกถือว่าได้แสดงเจตนาไปแล้ว แต่หลังจากนั้นเป็นเรื่องของบริษัทและคนนอก ไม่เกี่ยวกับนายภักดีอีก ดังนั้น นายภักดีจึงมีคุณสมบัติเป็นกรรมการป.ป.ช.สมบูรณ์ทุกประการ ไม่มีการฝ่าฝืนทางกฎหมาย

จากนั้นนายสุรชัยแจ้งต่อที่ประชุมว่า กระบวนการหลังจากนี้จะให้ทั้ง 2 ฝ่ายแถลงปิดสำนวนทั้งด้วยวาจาและเอกสาร ซึ่งขณะนี้มีผู้แจ้งขอแถลงปิดสำนวนด้วยวาจามาแล้วคือป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหา คือนพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาและคณะอีก 6 คน และจากพรรคเพื่อไทยนำโดยนายสามารถ แก้วมีชัย ส่วนนายภราดร ปริศนานันทกุล อดีตส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา และคณะอีก 8 คน ขอแถลงปิดคดีเป็นหนังสือ ทั้งนี้ ที่ประชุมนัดประชุมสนช.เพื่อฟังการแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาในวันที่ 13 ส.ค. และลงมติในวันที่ 14 ส.ค. เวลา 10.00 น.

 

"พงษ์นิวัฒน์"ฉลุยอสส.คนใหม่

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสนช.ยังมีวาระพิจารณาเลือกบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ และให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ ให้ได้รับตำแหน่งอัยการสูงสุด(อสส.) โดยวิธีการลงคะแนนลับ ปรากฏว่าที่ประชุมเลือกนายไพรัช วรปาณี กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ และพล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เป็นกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ และมีมติเห็นชอบให้ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร รองอัยการสูงสุดอาวุโส และสมาชิกสนช. เป็นอัยการสูงสุด

 

ปลด"เสี่ยอ้วน"พ้นกุนซือกมธ.

      ที่รัฐสภา พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ สมาชิกสนช. ในฐานะโฆษกกมธ.การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สนช. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กมธ.ได้พิจารณาเรื่องของ พล.อ.องอาจ พงษ์ศักดิ์ สมาชิกสนช.และกมธ. ซึ่งเป็นผู้เสนอชื่อ"เสี่ยอ้วน"นายธีระศักดิ์ แสนวรางกุล ให้ที่ประชุมกมธ.มีมติแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษากิตติ มศักดิ์ประจำกมธ. เมื่อวันที่ 2 ก.ค. และประธานกมธ.ลงนามแต่งตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. แต่เมื่อมีข่าวนายธีระศักดิ์ เป็นผู้ต้องหาพัวพันการนำข้าวมาหมุนเวียนขายในโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลที่แล้ว แม้อัยการจะสั่งไม่ฟ้อง แต่กมธ.เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ในกมธ. จึงมีมติให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าว ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.เป็นต้นไป

      "ไม่อยากให้นำไปขยายเป็นประเด็นการเมือง เพราะการตั้งตำแหน่งที่ปรึกษา กมธ.ทุกคนมีสิทธิ์เสนอได้ ซึ่งกรณีนี้ก่อนเสนอรายชื่อ พล.อ.องอาจ ได้ตรวจสอบประวัติเบื้องต้นไม่พบปัญหาจึงเสนอชื่อให้ที่ประชุมแต่งตั้ง" พล.ต.ท.บุญเรืองกล่าว

 

"บิ๊กโด่ง"สั่งทบ.หนุนนายกฯ


ขึ้นศาล - นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พร้อมด้วยแกนนำนปช. รวม 24 คน เดินทางมาศาลอาญารัชดาฯ ในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องทั้งหมดเป็นจำเลยในความผิดร่วมกันก่อการร้าย และฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเมื่อปี 2553 ซึ่งศาลได้นัดเลื่อนสืบพยานโจทก์ออกไปก่อน เมื่อวันที่ 6 ส.ค.

     ที่กองบัญชาการกองทัพบก(บก.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานและให้โอวาทกำลังพล เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา 4 หน่วยงานของกองทัพบก ประกอบด้วย สำนักงานเลขานุการกองทัพบก กรมกำลังพลทหารบก กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก และกรมสารบรรณทหารบก ครบ 63 ปี

      พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ทุกคนรับทราบกันดีว่ากองทัพบกจำเป็น ต้องเป็นแกนหลักให้กับรัฐบาลและคสช. สนับสนุนงานในทุกด้าน อีกทั้งกองทัพบก ยังมีส่วนช่วยบริหารราชการแผ่นดิน ผู้บังคับบัญชาหลายคนก็ดำรงตำแหน่งเป็นคณะรัฐมนตรี(ครม.)ขอให้กำลังพลทุกคนได้ภาคภูมิใจที่กองทัพบกได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ทำงานสำคัญเช่นนี้ จึงขอให้ร่วมมือกันทำให้ประเทศมั่นคงตามนโยบายของนายกฯ ตลอดจนการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะกำลังพลทุกหน่วยจะต้องเติบโต มียศ มีตำแหน่ง

 

'วิษณุ'ชี้โรดแม็ปเลือกตั้ง

    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปีว่า ขณะนี้คณะกรรมการแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีพล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ เป็นประธาน ได้รวบรวมยุทธศาสตร์ของคสช. 11 ข้อ ของรัฐบาล 11 ข้อ รวมถึง 37 ข้อของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาจัดกลุ่ม เรียงลำดับความสำคัญการปฏิรูปก่อนหลังไว้แล้ว ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ชาติจะทำควบคู่กับการจัดทำแผนของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกัน

     นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวจะชัดเจนหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ เพราะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยรัฐบาลและข้าราชการต้องปฏิบัติตาม ถ้าไม่ปฏิบัติตาม นักการเมืองจะถูกถอดถอน ข้าราชการมีโทษ ส่วนที่เป็นห่วงเรื่องโรดแม็ปการเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้น ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้เมื่อใดปีไหนก็ตาม ให้นับไปอีก 8-9 เดือน จะมีการเลือกตั้ง

 

'สุวพันธุ์'สวน'เทือก'ปฏิรูปก่อน

      ด้านนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เท่าที่เห็นยังมีอยู่ แต่เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นและพยายามให้ความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรมนูญและอนาคตของบ้านเมือง แต่ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าบ้านเมืองจะไม่สงบหรือวุ่นวาย

    ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอของสปช.บางคนให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือการเสนอทำประชามติให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง 2 ปี จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นหรือไม่ นายสุวพันธุ์กล่าวว่า เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการโต้แย้งในการแสดงความเห็นอยู่แล้ว ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่เดินหน้าแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่มีจำนวนมากก่อน ขณะที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรม นูญเป็นเรื่องของคนที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงดำเนินการอยู่ในขณะนี้ หากสปช.ลงมติ ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจัดให้ลงประชามติผ่าน จะเห็นชัดว่าปลายปีนี้น่าจะมีการจัดการเลือกตั้งเมื่อใด

    ต่อข้อถามว่ารัฐบาลจะนำข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ที่ให้รัฐบาลปฏิรูปก่อนเลือกตั้งมาพิจารณาด้วยหรือไม่ นายสุวพันธุ์กล่าวว่า จะอยู่ได้อย่างไร รัฐธรรมนูญไม่มีบอกไว้ว่าให้อยู่ต่อได้ มองว่าในที่สุดแล้วรัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดไว้เท่าที่อยู่ได้ตามโรดแม็ป

 

'ไพบูลย์'ยันกติกาตั้งคำถาม

   ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. กล่าวถึงกำหนดการพิจารณาการตั้งประเด็นคำถามของสปช.ว่า ตามบัญญัติ มาตรา 37 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ระบุไว้ว่า การเสนอประเด็นคำถามของสปช.เพื่อนำไปทำประชามตินั้น ให้กระทำภายในวันเดียวกันกับวันที่สปช.มีมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ การที่มีสปช.บางคนออกมาให้ข่าวว่า สปช.จะมีการหาข้อสรุปร่วมกันก่อนว่า จะเห็นควรให้มีการตั้งคำถามหรือไม่ก่อนในช่วงวันที่ 17-21 ส.ค.นี้ อาจจะกระทำการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในความเห็นของตน ถ้าพูดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวกระบวนการทุกอย่างของการตั้งประเด็นคำถามเพื่อไปทำประชามติควรทำในวันเดียว นั่นคือในวันที่ 7 ก.ย.นี้ หรือภายหลังจากที่สปช.ลงมติร่างรัฐธรรมนูญแล้ว

"ถ้ามติออกมาไม่เห็นด้วยให้ร่างรัฐธรรม นูญผ่านญัตติขอเสนอประเด็นให้มีการปฏิรูปประเทศ 2 ก่อนจัดการเลือกตั้งก็ต้องตกไป แต่ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านญัตติของผมก็จะเป็น 1 ประเด็นให้สมาชิกตัดสินใจร่วมกับญัตติอื่น หากมีสมาชิกสปช.เสนอเพิ่มเติมเข้ามา ญัตติที่ผมกับเพื่อนสมาชิกได้เสนอนั้นไม่ได้มีเจตนาชี้นำสังคมแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมาใช้สิทธิเพื่อตัดสินใจร่วมกันเท่านั้น และหากญัตติดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ผมจะมีเพียง 1 เสียงเท่านั้นเพื่อไปร่วมลงประชามติกับประชาชนทั้งประเทศ" นายไพบูลย์กล่าว

 

"สิระ"เตือนคว่ำรธน.ถูกฟ้อง

      นายสิระ เจนจาคะ สปช.ด้านสังคม ศิษย์ของหลวงปู่พุทธอิสระ กล่าวว่า กระบวนการรวบรวมรายชื่อเพื่อให้สมาชิกสปช.ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแลกกับการเข้าดำรงตำแหน่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องจริง ล่าสุดมีสปช.จังหวัดคนหนึ่งยืนยันกับเพื่อนๆ สปช.ด้วยกันแล้วว่าถูกทาบทามให้ร่วมลงชื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจริง แต่ได้ปฏิเสธไปแล้ว ตนจึงอยากเตือนคนที่เป็นแกนนำในการล่ารายชื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีเหตุผลทั้งๆ ที่ยังไม่เห็นร่างฉบับสมบูรณ์ที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้สปช.ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ เพื่อหวังว่าจะสร้างผลงานเพื่อให้ตัวเองได้ไปต่อในตำแหน่งต่างๆ ในอนาคตนั้นขอให้คิดดีๆ

      "วันนี้พวกคุณเป็นเหมือนคนสร้างบ้าน แล้วบ้านยังไม่เสร็จ สร้างไม่สำเร็จ แล้วยังคิดที่จะเสนอหน้ามาสร้างบ้านหลังใหม่อีกหรือ พวกคุณไม่มีสิทธิที่จะไปสร้างบ้านหลังต่อไป ผมเชื่อว่านายกฯคงไม่ให้ตำแหน่งอะไรแล้ว เพราะทำงานล้มเหลว ดังนั้นอยากให้ตั้งสติแล้วหันมาร่วมมือกันสร้างบ้านให้เสร็จ ถ้าคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ดี มีอะไรที่เสียหายก็ควรไปคุยกับกมธ.ยกร่างฯเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดให้กับประชาชน ไม่ใช่มาติอย่างเดียว แล้วไม่ช่วยแก้ไข ผมคิดว่าถ้าพวกคุณยังเดินหน้าล่ารายชื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ น่าจะมีคนออกมาเรียกร้องค่าเสียหายกับพวกคุณแน่นอน" นายสิระกล่าว

 

"ปึ้ง"อัดให้ละอายใจ-คืนเงิน

     นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า 1 ปีเศษที่ผ่านมา สปช.ทำงานยังไม่เสร็จ และมีบางคนบางพวกพยายามจะคว่ำรัฐธรรมนูญทิ้ง อยากถามว่าเงินเดือนสปช. เงินเดือนผู้ช่วย ที่ปรึกษา ค่าเดินทาง เบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่นำใช้ไป น่าจะเป็นเงินเกือบพันล้านบาทแล้ว ไม่เสียดายบ้างหรืออย่างไร เพราะถ้าคว่ำร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องเริ่มกันใหม่หมด นี่เป็นเงินภาษีประชาชนคิดจะทำอะไรต้องเกรงใจเจ้าของเงินบ้าง ส่วน สปช.บางคนที่ตั้งใจทำหน้าที่เพื่อให้การปฏิรูปประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยจิตใจบริสุทธิ์ เห็นแก่บ้านเมือง ก็ต้องขอขอบคุณจากใจจริง

"พวกสปช.ที่จะคว่ำร่างทิ้ง ถ้าทำอย่างนั้น ขอให้มีความละอายใจ คืนเงินเดือน เบี้ยประชุม เงินประจำตำแหน่ง เงินเดือนผู้ช่วย ที่ปรึกษา ค่าเดินทางคืนกลับคลังพร้อมดอกเบี้ยด้วย อยากฝากถึงคสช.ด้วยว่าหาก สปช.ทำงานมา 1 ปีแล้วร่างรัฐธรรมนูญยังใช้ไม่ได้ ก็สมควรโละทิ้ง สปช.ทั้งชุด ไม่สมควรให้กลับมายุ่งเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญหรือการปฏิรูปอีกต่อไปแล้ว" นายสุรพงษ์กล่าว

 

กมธ.ยกร่างฯค้านส.ว.สูตรคสช.

    นางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกระแสข่าวคสช. เข้ามากดดันการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯให้ปรับแก้ที่มาส.ว.เป็นแบบการสรรหาทั้งหมด พร้อมกำหนดในบทเฉพาะกาลให้ ส.ว.สรรหาชุดแรก คสช.เป็นผู้แต่งตั้งทั้งหมดว่า ในหลักการแล้วกมธ.ยกร่างฯมีเจตนารมณ์ให้ ส.ว.เป็นสภาพหุนิยม คือมีความหลากหลาย ให้ตัวแทนจากอาชีพต่างๆ คนเล็กคนน้อยมีโอกาสเข้ามาทำหน้าที่ได้ อีกทั้งคณะกรรมการสรรหาก็มีมาหลายกลุ่ม ไม่รู้ว่าเป็นใครบ้าง ตรงนี้ช่วยสกัดหรือล็อบบี้เข้ามาเป็นส.ว.ได้ แต่หากให้ส.ว.เป็นสรรหาทั้งหมด คนที่เข้ามาจะเป็นคนกลุ่มเดิมๆ หากกมธ. ยกร่างฯยอมเปลี่ยนให้ส.ว.เป็นแบบสรรหาทั้งหมด ถามว่าจะให้ใครมาเป็นกรรมการสรรหาที่สังคมยอมรับได้

 

บ่นอึดอัดถูกแทรกแซง

     รายงานข่าวจากกมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยว่า จากการสอบถามความเห็นกมธ.ยกร่างฯ พบว่าส่วนใหญ่มีความอึดอัด ที่คสช.เข้ามาแทรกแซงการทำงาน พร้อมชี้นำและให้ปฏิบัติตาม โดยไม่ยอมทำหนังสือขอแก้ไขมาอย่างเป็นทางการ ทั้งที่การเสนอขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ ครม. ก็เสนอให้ที่มาส.ว. มาจากทั้ง 2 รูปแบบคือทั้งการสรรหา และเลือกตั้ง อยากถามว่าคนที่ออกมาเคลื่อนไหวให้ส.ว.มาจากการสรรหา ต้องการอะไรหรือเพราะกลัวจะไม่ได้กลับเข้ามาเป็นส.ว.ใช่หรือไม่

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า วันที่ 10-11 ส.ค. กมธ.ยกร่างฯจะนำประเด็นที่ค้างการพิจารณาและที่สังคมเรียกร้องให้ทบทวนแก้ไข ส่วนประเด็นที่มาส.ว.ที่เรียกร้องให้เป็นแบบสรรหาทั้งหมดนั้น ยังไม่ได้พูดคุยกัน ประเด็นนี้มีหลายความคิดเห็นเสนอมาจำนวนมาก แต่ตนมองว่าเมื่อเดินมาถึงขั้นนี้แล้ว ไม่ควรรื้อแบบชนิดพลิกกลับทั้งหมด โดยโครงสร้างที่มาส.ว. น่าจะยังคงหลักการเดิมไว้ ส่วนรูปแบบคณะกรรมการสรรหา น่าจะพิจารณาให้เกิดความเหมาะสมอีกครั้ง แต่ขึ้นอยู่กับมติกมธ.ยกร่างฯ เพราะตราบใดที่ยังไม่ถึงวันที่ 22 ส.ค. ในทางทฤษฎีปรับเปลี่ยนได้ตลอด แต่ในทางปฏิบัติหากปรับเปลี่ยนมาก อาจไม่ทันการณ์เพราะจะกระทบกับมาตราอื่นๆ อีกมาก

 

สัปดาห์หน้าถกภาษีบาป

    นายคำนูณกล่าวว่า ส่วนประเด็นการจัดเก็บค่าบำรุงพิเศษเข้าองค์กรนั้น จากการหารืออย่างไม่เป็นทางการ กมธ.ยกร่างฯเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องทบทวน เนื่องจากตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานภาษีต่างๆ รวมทั้งตัวกฎหมายขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การเก็บค่าบำรุงองค์กรทั้ง 3 แห่ง ไม่ได้หักจากภาษีก่อนเข้าคลัง แต่เก็บเพิ่มจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและยาสูบตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

      นายจรัส สุวรรณมาลา กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบการยกร่างเกี่ยวกับการคลังและการงบประมาณของรัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายคำนูณ ระบุกมธ.ยกร่างฯบางส่วนยอมให้ ไทยพีบีเอส สสส. และกองทุนพัฒนาการกีฬา ใช้ภาษีบาปโดยไม่ผ่านพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีการพิจารณา คาดว่าจะหารือในวันที่ 10-11 ส.ค.นี้ ยืนยันในหลักการเดิมว่าการยกเลิกกฎหมายจัดเก็บและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะหรือภาษีบาป ให้แก่องค์กรอื่นๆ จะไม่มีแล้ว ซึ่งเราจะมาดูว่าทั้ง 3 องค์กรจะพิจารณาอย่างไรต่อไป

 

อาจคงเดิมแต่เพิ่มตรวจสอบ

    รายงานข่าวจากกมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยว่า ล่าสุด กมธ.ยกร่างฯมี 3 แนวทางพิจารณาคือ 1.ยกเลิกไม่ให้ทั้ง 3 องค์กรใช้ภาษีบาป แต่จะใช้วิธีให้มาของบประมาณ ตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีตามปกติ แต่จะเกิดข้อเสียคือ จากเดิมบริษัทเหล้า บุหรี่ ต้องเสียให้สสส. 2 เปอร์เซ็นต์ ไทยพีบีเอส 1.5 เปอร์เซ็นต์ กองทุนพัฒนาการกีฬา 2 เปอร์ เซ็นต์ โดยแยกออกมาจากที่ต้องเสียให้คลัง 100 เปอร์เซ็นต์ ต่อไปจะไม่ต้องเสียให้กับทั้ง 3 องค์กร

    2.ให้รับภาษีบาปเช่นเดิม แต่การใช้งบ ให้มาขอความเป็นชอบจากส.ส. ส.ว. ที่เป็นตัวแทนประชาชน ข้อดีคือเพิ่มการตรวจสอบ อีกทั้งเป็นการปฏิบัติตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ถูกต้อง และ 3.ปล่อยให้เป็นแบบเดิม จะได้ไม่ถูกนักการเมืองแทรกแซง

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามกมธ.ยกร่างฯ หลายคน เห็นด้วยกับแนวทางที่ 2 เพราะสามารถตรวจสอบงบประมาณได้เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนสำนักงบประมาณ ครม. ส.ส. กมธ.วิสามัญร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ส.ว.และสื่อ ส่วนรูปแบบเดิม มีเพียงหน่วยงานเดียวที่ตรวจสอบการใช้เงินคือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ขณะที่การใช้งบก็อนุญาตให้ 3 องค์กรใช้เงินไปก่อนแล้วค่อยมารายงาน ส.ส. ส.ว.ภายหลัง แต่ไม่สอดคล้องกับวินัยการเงิน การคลังของประเทศ อีกทั้งยังป้องกันองค์กรอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ให้มาใช้รูปแบบเดียวกับทั้ง 3 องค์กรด้วย

 

ไทยพีบีเอสยื่นจม.เปิดผนึก

     เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา ตัวแทนจากไทยพีบีเอส นำโดยนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ พร้อมด้วยนายสมชัย สุวรรณบรรณ ผอ.สถานีไทยพีบีเอส และผู้บริหารสถานี เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อกมธ.ยกร่างฯ ผ่านนาย มานิจ สุขสมจิตร รองประธานกมธ.ยกร่างฯคนที่ 2 ขอให้พิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสี่ ว่าด้วยการตรากฎหมายให้หน่วยงานรัฐจัดเก็บภาษีและจัดสรรเงิน จากผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรตามกฎหมาย และมาตรา 281 ว่าด้วยการยกเลิกระบบ Earmarked Tax หรือภาษีบาป

      โดยยืนยันว่างบที่สถานีไทยพีบีเอสได้รับนั้น ไม่ได้แบ่งจากรัฐบาล แต่ขอเก็บเพิ่มจากภาษีสรรพสามิตกลุ่มสุราและยาสูบ อีกทั้งที่ผ่านมาไทยพีบีเอสทำหน้าที่เป็นสื่อสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่ม จึงอยากให้กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนมาตราดังกล่าวด้วยความรอบคอบ

 

10 ส.ค.ปิดยอดงบปี 59

     พล.อ.ชาติอุดม ติตถะสิริ โฆษกกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 แถลงว่า ขณะนี้กมธ.พิจารณางบประมาณของทุกส่วนราชการครบแล้ว จากงบประมาณที่ตั้งไว้รวม 2.7 ล้านล้านบาท ล่าสุดได้ปรับลด จำนวน 16,957 ล้านบาท ซึ่งในวันที่ 7 ส.ค. เป็นวันสุดท้ายของการพิจารณางบประมาณ โดยเป็นการให้แนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช้จ่ายงบประมาณ จากนั้น ในวันที่ 10 ส.ค.จะพิจารณาปิดยอดครั้งสุดท้าย รวมถึงพิจารณาการขอแปรญัตติของส่วนราชการที่ของบประมาณเพิ่มเติม ประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเพิ่มให้ส่วนราชการใดบ้าง หรืออาจไม่เพิ่มเลยก็ได้ โดยจะนำงบที่ปรับลดไปไว้ในงบกลางทั้งหมด

       อย่างไรก็ตาม ในส่วนของงบจังหวัดแบบบูรณาการ ทุกจังหวัดได้งบในส่วนนี้เพิ่มเติม เพื่อนำไปแก้ไขปัญหา และพัฒนาจังหวัดให้ดีขึ้น จากนั้น ในวันที่ 13-19 ส.ค. จะเป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสสนช. ในวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 27 ส.ค. หากผ่านความเห็นชอบจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 4 ก.ย. ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ได้ทันต้นปีงบประมาณ

 

ฮิวแมนไรต์วอตช์จี้คดี 99 ศพ

   วันเดียวกัน ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทย เลิกปกปิดการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงที่เกิดเหตุรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 และนำตัวผู้กระทำความผิดทุกฝ่ายมาลงโทษ

      ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ระบุว่าตามรายงานของสื่อไทย เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างไว้ในรายงานการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่าได้ใช้กระสุนยางปราบปรามผู้ประท้วง และเคยเผยแพร่คำกล่าวอ้างมาครั้งหนึ่งแล้วในคราวที่ดีเอสไอสอบสวนมือปืนซุ่มยิงของเจ้าหน้าที่ เมื่อเดือนส.ค.2555 แต่จากหลักฐานแน่นหนาที่มีอยู่ รวมทั้งจากการชันสูตรศพ ได้ข้อสรุปว่าพลเรือนเสียชีวิตจากกระสุน จริงทั้งนี้ คาดว่าดีเอสไอจะนำเสนอผลการสอบสวนต่อสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ในปลายเดือน ส.ค.นี้

     นายแบรด อดัมส์ ผอ.ภูมิภาคเอเชียของ ฮิวแมนไรต์ วอตช์ กล่าวว่า ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุกับผู้ประท้วงและคนอื่นๆ แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐ คนใดได้รับผิดจากการเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บของผู้ประท้วง

ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ระบุว่า นับตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ค.2553 การเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่างแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขยายวงกลายเป็นความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด ตามตัวเลขของดีเอสไอ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 99 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ดีเอสไอเผยแพร่รายงานการสอบสวนเมื่อเดือนก.ย.2555 ชี้ว่าผู้เสียชีวิต 36 ราย เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

ระบุมีเขตใช้กระสุนจริง

     ทั้งนี้ ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่แจ้งต่อดีเอสไอ ไม่ตรงกับข้อมูลที่ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ตรวจสอบพบว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธ แพทย์อาสา เจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉิน นักข่าว ช่างภาพ และคนทั่วไปนั้น เป็นผลมาจากการกำหนด "เขตใช้กระสุนจริง" โดยรอบพื้นที่ประท้วงในกรุงเทพฯ ที่มีการวางกำลังนักแม่นปืนและมือปืนซุ่มยิงเอาไว้ นอกจากนี้ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ยังตรวจสอบพบในทำนองเดียวกันมาแล้วด้วย และเสนอให้ทางการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

     ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ยังมีข้อมูลว่า ผู้เข้าร่วมกับ นปช.บางส่วน รวมถึงนักรบชุดดำ เป็น ผู้ทำร้ายทหาร ตำรวจ และพลเรือนจนเสียชีวิตเช่นกัน และแกนนำ นปช.บางคนได้ใช้ถ้อยคำยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมประท้วงก่อจลาจล วางเพลิงและปล้น แม้จะมีหลักฐาน แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยเพิกเฉยต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่แกนนำ นปช.และผู้สนับสนุนถูกตั้งข้อหากระทำความผิดทางอาญาร้ายแรง

 

ลงมติ'เดวีส์'ทูตสหรัฐคนใหม่

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์วุฒิสภาสหรัฐของพรรคเดโมแครตระบุว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐสมาชิกวุฒิสภาลงคะแนนด้วยเสียงรับรองการแต่งตั้งให้นายเกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ จากเมืองโคลัมเบีย ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำราชอาณาจักรไทย

    โดยหลังมีคำสั่งดังกล่าวออกมา นายดับเบิลยู แพทริก เมอร์ฟี อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยที่ เข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่เดือนพ.ย.2557 ได้ทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ @WPatrickMurphy ถึงการแต่งตั้งดังกล่าวว่า "ขอแสดงความยินดีกับสุดยอดนักการทูต ว่าที่เจ้านายในอนาคตของผมด้วยครับ!"(Congrats to my future boss, a terrific diplomat!)

     ขณะเดียวกัน นายเดวีส์ ได้ทวีตข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ ส่วนตัว @GlynTDavies ระบุว่า "Happy & honored to be confirmed by US Senate. Jackie & I look forward to our move to Bangkok -- City of Angels!" ซึ่งทวิตเตอร์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้แปลข้อความดังกล่าวว่า "ผมดีใจและรู้สึกเป็นเกียรติมากที่วุฒิสภาให้การรับรอง ผมและแจ๊กกี้ตั้งตารอเดินทางไปประจำที่กรุงเทพฯ"นครแห่งเทวดา!

 

คาดหวังไทยคืนสู่ปชต.

     ก่อนหน้านี้ ว่าที่เอกอัครราชทูตเดวีส์ เคยเข้าให้คำแถลงต่อคณะกรรมาธิการฝ่ายกิจการต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐ โดยชี้ประเด็นว่าความสัมพันธ์ของไทยและสหรัฐนั้นมีมาอย่างยาวนาน และแม้ว่าจำเป็นต้องจำกัดความสัมพันธ์บางด้านกับไทยหลังรัฐประหาร ความสัมพันธ์ทวิภาคีนี้ยังคงกว้างขวางและ ก่อประโยชน์ ซึ่งทูตเดวีส์คาดหวังให้ไทยหวนคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยเพื่อดำเนินความก้าวหน้าได้อย่างเต็มวิสัย

ทั้งนี้เอกอัครราชทูตเกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เคยดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือระหว่าง พ.ศ.2555-2557 และปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้แทนสหรัฐประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ระหว่างปี พ.ศ.2552-2555

     สำหรับเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนล่าสุด คือ นางคริสตี้ เคนนีย์ ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่ผ่านมา และหลังจากนั้นประเทศไทยปราศจากเอกอัครราชทูตสหรัฐเป็นเวลานานหลายเดือน

 

มะกันจ่อไต่สวนเทียร์ 3 หึ่ง

    นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ ประธานกมธ.การต่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แถลงกรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐประกาศรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2558 และยังคงจัดอันดับประเทศไทยไว้ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (เทียร์ 3) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ต่ำสุดในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ว่า กมธ.ต่างประเทศ มีความสงสัยในวิธีพิจารณาเพื่อจัดทำรายงานฉบับนี้ ซึ่งไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงที่ไทยได้แก้ไขปัญหาในช่วงที่ผ่านมา และผิดหวังอย่างยิ่งที่มหามิตรอย่างสหรัฐมองข้ามความตั้งใจในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาตลอด เมื่อเทียบกับประเทศอื่น จึง     อยากถามว่าสหรัฐใช้มาตรฐานใดจัดลำดับประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้

นางพิไลพรรณกล่าวว่า กมธ.ต่างประเทศ ทราบข่าวว่า วุฒิสภาสหรัฐเตรียมเปิดการไต่สวนความไม่ชอบมาพากล ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2558 ซึ่งอาจเกี่ยวโยงทางการเมือง ส่งผลให้การจัดลำดับไม่ชอบธรรม ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ย่อมบั่นทอนความน่าเชื่อถือของรายงาน ดังกล่าว ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐบางคนก็แสดงความไม่เห็นด้วย

ด้านคุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี ที่ปรึกษากมธ.ต่างประเทศ กล่าวว่า ตนในนามนักเรียนเก่าสหรัฐรู้สึกผิดหวังอย่างมาก จึงอยากให้สหรัฐพิจารณาตามความจริง ไม่ใช่การเมือง เพื่อที่ไทยกับสหรัฐจะได้เป็นมิตรกันอย่างยั่งยืน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!