WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

3ขอแม


'หมอณรงค์'คัมแบ๊กสธ. มี 3 ข้อแม้ 
ห้ามยุ่งสปสช.-ขรก.-ฟังรมว. สปช.แฉกันเอง-วิ่งคว่ำรธน. ปธ.เทียนฉาย-พรเพชรป่วย

      'หมอณรงค์'คัมแบ๊กสธ. 'บิ๊กตู่'ลงนามให้คืนเก้าอี้ปลัด แต่มี 3 เงื่อนไข ห้ามย้ายขรก.-ห้ามยุ่งสปสช.-ทำตามคำสั่ง'หมอรัชตะ" นายกฯวอนกองเชียร์ ช่วยตีปี๊บผลงานรัฐบาล ลั่นถ้ารัฐบาลนี้ไม่ดี ก็ไม่เหลือคนดีแล้ว แฉสปช.ล็อบบี้คว่ำร่างรธน.แลกเก้าอี้สภาขับเคลื่อนฯ 'วันชัย'ยันมีข้อมูลล็อบบี้โหวตรับร่างรธน. นัดเปิดหลักฐานสัปดาห์หน้า วิปสปช.ถกมาตรการแก้ข่าวปล่อย-ล่าชื่อ กมธ.ยกร่างฯโต้คสช.สั่งแก้ที่มาส.ว. ให้สรรหาทั้งชุด ประธานสปช.-สนช.ป่วยพร้อมกัน 'เทียนฉาย'ปอดติดเชื้อ 'พรเพชร'ผ่าตัดนิ่ว ครม.ทุ่ม 7 พันล้านช่วยเกษตรกร-คนยากจน

 

วันที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9016 ข่าวสดรายวัน

 

ใส่ผ้าไทย - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ รณรงค์ "นุ่งผ้าไทย ถวายพระราชินี" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับกลุ่มเยาวชน และนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 ส.ค.

 

 

'บิ๊กตู่'ไม่โต้'ถาวร'

       วันที่ 4 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า อยากขอร้องทุกคนติดตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงและฟังบางคนที่พูดในสิ่งที่ดีและช่วยกันขยายความ ถ้ามัวแต่ขยายความในสิ่งไม่ดีประเทศไทยก็ไม่น่าอยู่ คนที่ทำดีให้ตาย ไม่เห็นความดีของตนก็ไม่อยากไปต่อสู้อีกแล้ว วันนี้ทำหลายอย่างที่ทำและคนที่มาพบกับก็ให้กำลังใจว่าสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว แต่ทำไมบางคนจ้องแต่จิกตีทุกเรื่อง ทำไมไม่ใช้เวลาตรงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปฏิรูป ทั้งระยะที่ 1 และการเตรียมการให้รัฐบาลหน้า ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่คิดแต่คนนี้จะเข้ามา คนนั้นจ้องแต่จะล้มรัฐบาล ไอ้นี่เตรียมจะอยู่ต่อ ตนไม่เคยพูดสักคำ และไม่ไปตอบโต้อีกแล้วเว้นแต่บางวันที่ทนไม่ไหว

เมื่อถามกรณีนายถาวร เสนเนียม คณะกรรมการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ระบุการทำรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค.2557 เพื่อต้องการอำนาจในการบริหาร พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธว่า ไม่เอาจะไม่ตอบโต้ ปล่อยเขา เขาอยากจะถามเรื่องอะไรก็ปล่อยเขาพูดมา ก็ถือว่าเขาเป็นคนคุ้นเคย เคยรู้จักกันอยู่แล้ว ตนรู้จักทุกรัฐบาล วันนี้ถ้าพูดกันไปมาแล้วตนไปตามอยู่อย่างนั้นก็หงุดหงิด ไม่ต้องไปทำอะไรกันแล้ว ใครอยากจะพูดก็พูดไป

 

รบ.นี้ไม่ดีก็ไม่เหลือคนดีแล้ว

      นายกฯ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลต้องละเอียดรอบคอบ หลายอย่างต้องแก้ไข ไม่ใช่สั่งโครมๆ แล้วทำได้เลย ถ้าทำอย่างนั้นจะกลายเป็นภาระในอนาคต ยืนยันตนไม่เคยต้องการประโยชน์สักอย่าง รวมทั้งได้สั่งการให้ทุกคนระมัดระวัง ขณะนี้ยังมีข่าวในโซเชี่ยลต่างๆ นานา ไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่ถ้าใครมีข้อมูลข้อเท็จจริงให้บอกมาตรงๆ จะสอบสวนให้ ถ้าไปเขียนหรือวิจารณ์กันไปมาก็คงไม่เหลือใครดี พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ก็ผ่านความเห็นชอบแล้ว ขอให้ไปดูว่ามีระเบียบกติกาอย่างไร

       นายกฯ กล่าวว่า ถ้าบอกว่ารัฐบาลตนไม่ดี คงไม่เหลือใครดีแล้ว เพราะตนพยายามเลือกคนดี มีคุณธรรมเข้ามาทำงาน ตนให้โอกาสทุกคน ไม่ได้รังเกียจใครแต่กับฝ่ายการเมืองจำเป็นเพราะตนเข้ามาอย่างนี้ ถ้าจะเอาฝ่ายการเมืองเก่าๆ มาทำงานคงไปกันไม่ได้ หลายคนเลยยังไม่เข้าใจ ออกมาว่าตนทุกวันเพราะเขามีอำนาจอยู่แล้วตนไปเอาอำนาจเขามา แต่ยืนยันว่าตนเอามาทำในสิ่งที่ดีกว่าในระยะยาว ระยะสั้นอาจยังไม่เห็น ทั้งการลงทุนทางเศรษฐกิจ การปรับปรุงโครงสร้าง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี ถึงเวลานั้นตน คงไม่อยู่แล้ว ต้องให้รัฐบาลใหม่มาทำ ทุกอย่างจะไปอยู่ในรัฐธรรมนูญว่าจะทำอะไรกันต่อไป

 

ถ้าอยู่ต่อเพราะความจำเป็น

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนรัฐธรรมนูญ อย่าเอาตนไปเกี่ยวข้องมากนัก ตั้งขึ้นมาก็เพื่อให้รับฟังความคิดเห็นของคนและหาข้อสรุปออกมา ถ้าผ่านความเห็นชอบก็ทำประชามติแล้วไปเลือกตั้ง ตนไม่มีหน้าที่สั่งให้ผ่านหรือไม่ผ่าน

     เมื่อถามว่าทำใจแล้วหรือยังว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านต้องอยู่ทำงานต่อไปอีก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเขาเขียนไว้อย่างไร ถ้าไม่ผ่านก็ต้องตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และถ้าต้องอยู่ต่อก็เพราะความจำเป็น ไม่เช่นนั้นใครจะเข้ามาเป็น สื่อจะเข้ามาเป็นแทนตนหรือไม่

      "ผมอยากทำหน้าที่ให้มันเสร็จและให้เริ่มต้นด้วยดี มีอนาคต ทุกคนเห็นร่วมกัน แต่จะให้คนทั้ง 70 ล้านคนเห็นพ้องต้องกันเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าคนที่หวังดีต่อประเทศที่มีอยู่มากต้องออกมาช่วยตน บอกว่าสิ่งที่ทำมีอนาคต บางคนบอกว่าสิ่งที่ทำดีแต่ไม่ออกมาช่วยพูด ขอร้องให้เอาตัวออกมาช่วยด้วยแล้วกัน เพราะอีกฝ่ายที่เขาไม่ชอบจะออกมาต่อต้านผมทุกเรื่อง แต่ถ้าผมไปตอบโต้โดยตรงก็จะเสียกิริยาอีก และผมก็ไม่ได้เป็นนายกฯ ที่สุภาพเรียบร้อยด้วย แต่ความจริงผมก็เป็นคนเรียบร้อย" นายกฯ กล่าว

 

ขอบคุณ"เทือก"หนุน-อย่าให้ขัดแย้ง

     เมื่อถามว่าวันนี้กลุ่มนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิฯ ออกมาสนับสนุน การทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เขาไม่ได้มาช่วยตน นายสุเทพต้องช่วยบ้านเมืองในนามของมูลนิธิ ก็ว่าไป อย่าลืมว่ารัฐบาลชุดนี้อยู่ในสภาวะพิเศษ ตั้งขึ้นมาในสถานการณ์พิเศษ ก็ต้องบริหารงานและปฏิรูปในระยะที่ 1 เตรียมส่งต่อในระยะที่ 2 และเตรียมการเลือกตั้งให้ได้อย่างเรียบร้อย เป็นไปตามกติกา ฉะนั้นใครจะออกมาทำอะไร ขอให้อยู่ภายใต้กติกากฎหมายที่ระบุชัดเจนว่า วันนี้ทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง

       นายกฯ กล่าวว่า นายสุเทพจะพูดสนับสนุนอย่างไรขอขอบคุณเป็นการส่วนตัวเพราะรู้จักกันมาเก่า แต่ขอร้องว่าอย่าให้เกิดความขัดแย้งกันอีกเลย ในเมื่อตนเป็นกรรมการออกมาแล้ว ก็ต้องเป็นกรรมการที่เป็นธรรม ถ้าทุกคนช่วยกันทำให้เกิดความสงบ ช่วยกันไตร่ตรองศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะแก้ไขหรือทำอะไร ถ้าเป็นความเห็นชอบร่วมกันมันไปได้หมด

        นายกฯ กล่าวว่า เรื่องพลังงาน รัฐบาลกำลังหาทางแก้ไข ขอร้องอย่าเพิ่งมาตีกันเลย ถ้ามัวแต่ฟังว่าอีกฝ่ายหนึ่งต้องการจะสร้างเพื่อให้เกิดความมั่นคงในอนาคต แต่อีกพวกก็ห่วงกระทบสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่าถ้าไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพหรือ อีเอชไอเอ ก็ทำไม่ได้ถึงจะประมูลไปแล้วก็ตาม ขอให้ไว้ใจรัฐบาลนี้ ตนยังอยู่ตรงนี้คงไม่ปล่อยให้มันเสียหาย

 

ปฏิรูปไม่สืบทอดอำนาจ

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนการปฏิรูปต้องปฏิรูปหมดทุกเรื่อง ตอนนี้อยู่ระยะแรกคือปฏิรูปในห้วงเวลาปัจจุบัน ตั้งแต่ 22 พ.ค.2557 จนถึงวันนี้ เวลาที่มีอยู่จะทำในสิ่งที่ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติหน้าที่และเพิ่มประสิทธิภาพของทุกกระทรวงเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน การปฏิรูปต้องทำอย่างต่อเนื่อง หลายคนอาจไม่เข้าใจและมองว่าทำไมตนไม่ปฏิรูปให้เสร็จ คำว่าเสร็จนั้นการปฏิรูปไม่ใช่เสร็จแล้วเลิก มันต้องรักษาให้ได้แบบเดิม ต่อไปเรื่อยๆ และพัฒนาไปในทางที่ดี การปฏิรูปไม่มีวันจบสิ้น

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ฉะนั้นการปฏิรูปต้องกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ โดยแผนการปฏิรูปที่สปช.กำลังร่างนั้นคือการปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง ในเรื่องใหญ่ๆ แต่ตนเอาส่วนหนึ่งมาทำก่อน โครงสร้างใหญ่ที่เหลือก็ไปวางแผนปฏิรูป กำหนดห้วงเวลาที่ต้องปฏิบัติและส่งต่อรัฐบาลหน้า และมีกลไกให้รัฐบาลหน้าเดินตามนั้น โดยไม่ทับซ้อนในอำนาจการบริหาร ไม่ใช่ว่าตนไม่ทำอะไรเลย หรือไปทาบทับอำนาจบริหารของรัฐบาลใหม่ หรือสืบทอดอำนาจ มันไม่ใช่แบบนั้น เราทำทุกอย่างเพื่อให้สังคมดีขึ้น

 

เยียวยาแดงยังไม่เข้าครม.

     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ว่า ยังไม่ได้เข้าที่ประชุมครม. เรื่องนี้ตนเป็นคนดูเอง โดยสั่งให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ตั้งคณะกรรมการมาดูเพราะมีพันธะทางกฎหมาย เนื่องจากมีคดีอยู่ บางคดีจบแล้วบางคดียังไม่จบ ถ้าเยียวยาเฉพาะคนที่คดีจบแล้วคนที่คดียังไม่จบก็เดือดร้อน ต้องเคลียร์ตรงนี้ให้ได้ กฎหมายคือกฎหมาย จะผิดมากผิดน้อยมันก็ผิด ถ้ากฎหมายยังไม่ได้ตัดสินก็ยังไม่ได้ข้อยุติ พยายามทำให้คนที่เดือดร้อนจริงๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง จะทำทุกอย่างเพื่อดูแลเขา แต่ถ้ามีคดีอาญาใช้ความรุนแรงก็ต้องว่าตามกฎหมาย ใครที่เป็นรัฐบาลก็ต้องทำแบบนี้ ประชาชนเดือดร้อนเราก็ต้องดูแล แต่ต้องดูแลภายใต้หลักเกณฑ์ที่ควรจะเป็น จะอย่างไร เท่าไรก็ว่ากันมา มีกติกา

 

'ดอน'ชี้'กษิต'ทัวร์แจงตปท.ได้

       นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม.กรณีมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ มอบหมายนายกษิต ภิรมย์ อดีตรมว.ต่างประเทศ เดินสายชี้แจงเรื่องการปฏิรูปกับประเทศต่างๆ ว่า ใครจะพูดอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะประชาชนหรือใครที่มีความรู้สึกและมั่นใจว่า สิ่งที่พูดเป็นประโยชน์ต่อประเทศก็ชี้แจงได้ ทั้งเอ็นจีโอ สื่อมวลชน รวมทั้งนิสิตนักศึกษา ออกมาชี้แจงแทนรัฐบาลได้ รัฐบาลไม่ได้จำกัด ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นใครแต่ขอให้พูดในทางสร้างสรรค์ เชื่อว่าต่างประเทศสามารถแยกออกว่าเป็นการพูดในนามรัฐบาลหรือของฝ่ายใด

       นายดอน กล่าวว่า คนที่รับรู้เรื่องราวของบ้านเมืองได้อย่างชัดเจนและมีความรู้สึกในทางที่สร้างสรรค์ในการนำไปถ่ายทอดให้กลุ่มอื่นหรือที่อื่นได้รับรู้ ทำได้อยู่แล้ว ไม่มีอะไรขัดข้อง ที่ผ่านมารัฐบาลมีการชี้แจงมาโดยตลอดแต่ไม่ได้นำมาประชาสัมพันธ์เท่านั้น ต่างชาติเห็นความสงบของประเทศไทยและเข้าใจประเทศเรามากขึ้น เพราะไม่มีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารใดที่ทำให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย มีเสถียรภาพความมั่นคงได้เท่ารัฐบาลนี้ ประเทศเราจะทำอะไรก็ได้ จะไปเที่ยวที่ไหนก็ได้ และรัฐบาลนี้ยังให้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างกว้างขวาง รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของประเทศอื่นจะทำตรงกันข้ามกับรัฐบาลนี้

 

ยันรัฐบาลยึดโรดแม็ป

       เมื่อถามกรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางคนและมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ เสนอให้ปฏิรูปโดยไม่จำกัดเวลาก่อนการเลือกตั้ง นายดอนกล่าวว่า เป็นความเห็นของคนบางกลุ่ม แต่รัฐบาลยึดตามโรดแม็ปมีการปฏิรูปเป็นหัวใจสำคัญ รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้แต่วางพื้นฐานและ หาทางให้รัฐบาลต่อไปที่จะเข้ามาต้องดำเนินการตามพันธะทางกฎหมาย ยืนยันว่ารัฐบาลมีความชัดเจนในกรอบเวลาการทำงาน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่าสปช.จะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อผ่านการทำประชามติจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง อยากให้ประชาชนรับรู้ว่าการปฏิรูปคือหัวใจสำคัญของประเทศ เราไม่สามารถอยู่ต่อไปด้วยวิธีการเดิม ดังนั้น ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวของมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯและสปช.บางส่วนที่สนับสนุนให้รัฐบาลอยู่ต่อ เหมือนทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน นายดอนกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับใครจะไปตีความ แต่รัฐบาลมีโรดแม็ปที่ชัดเจน

 

สปช.โต้ข่าวล็อบบี้โหวตรับรธน.

       เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุม สปช. มีน.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช.คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระ นายฐิติ วุฑฒิโกวิทย์ สมาชิก สปช.หนองคาย หารือว่าขณะนี้มีการวิจารณ์เรื่องสปช.จะผ่านหรือไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ จึงขอเตือนสติสมาชิกทุกคนว่าสปช.ทุกคนมีอิสระ มีสิทธิเสรีภาพในการออกความเห็นด้วยตัวเอง ไม่ใช่ใครจะมาจูงไปได้ รัฐธรรม นูญนี้เป็นฉบับของประเทศไทย ไม่ใช่ของประเทศใด เราไม่เคยตามหลังใคร อยู่แบบไทยๆ ดีที่สุดแล้ว ดังนั้น ขอให้สปช.ใช้ดุลพินิจของตัวเอง ไม่ต้องไปเชื่อใคร และไม่มีใครมาชี้นำเราได้ ขอให้สปช.ทุกคนคิดด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นที่ต้องไปทำแท้ง แล้วมาคลอดใหม่ จะเสียเวลายาว

       พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ สมาชิกสปช.มุกดาหาร หารือว่า กรณีมีสปช.บางคนให้ข่าวว่ามีนักการเมืองไปล็อบบี้สปช.จังหวัด หลายจังหวัดให้ช่วยโหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำประชามติ จะได้มีการเลือกตั้งโดยเร็วนั้น ขอยืนยันว่าที่ จ.มุกดาหาร ไม่มีนักการเมืองคนใดหรือพรรคใดมาล็อบบี้ตนให้ช่วยผ่านร่างรัฐธรรมนูญ หรือให้ประชาชนช่วยผ่านการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าไม่มี

 

วันชัยนัดโชว์ข้อมูล

       นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสปช. หารือว่าอยากให้การประชุมวิปสปช.วันที่ 6 ส.ค. มีความชัดเจนเรื่อง สปช.จะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นวันใดในช่วงต้นก.ย. รวมถึงการลงมติในคำถามประชามติของสปช.ว่าจะลงมติวันใด จะเป็นวันเดียวกับที่สปช.ลงมติรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อให้ทุกอย่างชัดเจนจะได้หยุดวิจารณ์กัน

      ส่วนนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปช. อภิปรายว่า ตนเป็นผู้ให้ข่าวเรื่องมีนักการเมืองไปล็อบบี้สปช.จังหวัดให้ช่วยผ่านร่างรัฐธรรม นูญจริง แต่ไม่ได้พูดส่งเดช ยืนยันว่ามีสปช. 4 คน มาให้ข้อมูลเรื่องนี้แก่ตน แต่ทั้ง 4 คน ไม่ขอให้เปิดเผยชื่อ เรื่องนี้ไม่ใช่การพูดส่งๆ มีข้อมูลจริง ซึ่งในการประชุมสปช.สัปดาห์หน้าในวาระหารือ ตนจะเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ให้ทราบอีกครั้ง

 

5 ส.ค.หารือวันโหวตรธน.

      นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการกมธ.วิสามัญ สปช. หรือวิปสปช. แถลงว่า วันที่ 5 ส.ค.นี้ จะมีการประชุมวิปสปช. เพื่อจัดวาระการประชุมในชุดสุดท้ายที่เหลืออยู่ อาทิ วาระปฏิรูปตำรวจ วาระปฏิรูปองค์กรมหาชน และวาระปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมวิถีอิสลาม เพราะวันที่ 13 ส.ค. นี้ ถือว่าสปช.จะเสร็จสิ้นภารกิจการพิจารณารายงานวาระปฏิรูปต่างๆ นอกจากนี้ วิปสปช.จะพิจารณากำหนดวันที่แน่นอนสำหรับลงมติให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญด้วย

      นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นคำถามของสปช.เพื่อทำประชามติ ขณะนี้ยังไม่มีสมาชิกเสนอคำถาม เบื้องต้นต้องกำหนดการประชุมเป็นวาระพิเศษ เพื่อให้สมาชิกแสดงความเห็นว่าจะให้มีคำถามของสปช.แนบไปกับการทำประชามติหรือไม่ แนวโน้มหากมีสมาชิกเห็นเป็น 2 ฝ่าย จะต้องลงมติว่าเห็นควรให้มีคำถามหรือไม่ก่อน ถ้าไม่เห็นควรก็ตกไป แต่ถ้าส่วนใหญ่ลงมติเห็นควรก็ต้องลงมติอีกครั้งว่าให้ถามประเด็นใด คาดว่าจะมีการลงมติดังกล่าวในวันเดียวกับที่สปช.มีความเห็นว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

 

เบรกปล่อยข่าว-ล่ารายชื่อ

      เมื่อถามถึงกรณีนายวันชัย สอนศิริ ปล่อยข่าวเรื่องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ นายอลงกรณ์กล่าวว่า วิปสปช.เคยขอความร่วมมือหลายครั้งแล้ว หลายคนให้ความร่วมมืออย่างดี แต่ยังมีบางคนยังให้ความเห็นปล่อยข่าวชี้นำอยู่ การประชุมวิปสปช.วันที่ 5 ส.ค. นี้ จะหารือเรื่องดังกล่าวเพื่อขอความร่วมมือเป็นครั้งสุดท้าย เพราะขณะนี้มีสมาชิกบางคนเริ่มไม่พอใจและอยากนำเรื่องนี้หารือในที่ประชุมวิปสปช.ด้วย เช่นเดียวกับการล่ารายชื่อสมาชิกกรณีต่างๆ ด้วย จึงอยากให้สมาชิกทุกคนตระหนักถึงการให้เกียรติองค์กรสปช.และสมาชิกคนอื่นๆ ด้วย เพราะทุกคนมีวุฒิภาวะ อะไรควรไม่ควร คงตัดสินใจด้วยตัวเอง กรณีดังกล่าว วิปสปช.จะมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาหรือไม่ขึ้นอยู่กับที่ประชุม

 

'เทียนฉาย'ปอดติดเชื้อ

      ผู้สื่อข่าวรายงานงานจากรัฐสภาว่า การประชุมสปช.ช่วงนี้ถือเป็นโค้งสุดท้ายในการทำหน้าที่ของสมาชิกสปช. โดยเหลือเวลาทำหน้าที่เพียง 1 เดือนจะหมดวาระลง นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. จึงเร่งบรรจุวาระการปฏิรูปที่เหลืออยู่จำนวนมาก เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาให้เสร็จทันกำหนดส่งมอบพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศให้กับรัฐบาลในวันที่ 13 ส.ค. นี้

จากการโหมงานหนักทำให้นายเทียนฉายป่วยกะทันหันต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ทำให้การประชุมสปช.วันที่ 3-4 ส.ค. น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช.คนที่สอง ต้องทำหน้าที่ประธานการประชุมเพียงคนเดียว ตั้งแต่เช้าจนดึกต่อเนื่องกัน 2 วัน โดยใช้วิธีสั่งพักการประชุมเป็น ระยะๆ เนื่องจากนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสปช.คนที่หนึ่ง และประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แม้จะว่างเว้นจากการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ติดภารกิจในต่างประเทศ จะกลับวันที่ 5 ส.ค. ทำให้สมาชิกสปช.หลายคนกังวลว่าอาการป่วยของนายเทียนฉายจะกระทบต่อการทำหน้าที่ในโค้งสุดท้ายนี้

นายเทียนฉายเผยว่า เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ตั้งแต่เช้าวันที่ 3 ส.ค. เนื่องจากเกิดอาการอักเสบที่ปอดแบบฉับพลัน แพทย์ตรวจพบว่า เป็นการติดเชื้อ อยู่ระหว่างวินิจฉัยว่าติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส จึงยังไม่ทราบว่าจะเป็นน้ำท่วมปอดหรือไม่ คณะแพทย์ในหลายด้านมาให้การรักษาคงไม่มีปัญหา ไม่ต้องห่วง ส่วนจะได้ออกจากโรงพยาบาลเมื่อไรต้องรอฟังคณะแพทย์ก่อน

        "ผมแอดมิตตั้งแต่เช้าวันที่ 3 ส.ค. แล้ว แต่ขอหมอออกจากโรงพยาบาลมาระยะหนึ่งเพื่อมาประชุม เพราะเป็นห่วงงานสภา เนื่องจากมีการประชุมสปช.และเป็นห่วง น.ส.ทัศนา ที่ต้องทำหน้าที่ประธานคนเดียว เขาก็เป็นห่วงผมเช่นกัน" นายเทียนฉายกล่าว

 

'พรเพชร'ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเทียนฉายเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ป่วยเป็นนิ่วในถุงน้ำดี เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เช่นกัน

     คนใกล้ชิดนายพรเพชรเผยว่า นายพรเพชรเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ จริง แต่ไม่ได้เป็นอะไรมาก และไม่ได้เข้าร.พ.เพราะป่วยกะทันหัน เนื่องจากเดือนที่ผ่านมา นายพรเพชร ผ่าตัดโรคกระดูก แพทย์ตรวจพบอาการนิ่วในถุงน้ำดีจึงนัดให้เข้ารับการรักษาอาการ เช้าวันที่ 4 ส.ค. นายพรเพชรจึงเข้าผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีด้วยวิธีการส่องกล้องแล้ว ถือเป็นการผ่าตัดเล็กๆ อาการโดยรวมเป็นปกติดี มีกำหนดออกจากโรงพยาบาลวันที่ 5 ส.ค. นี้

 

สปช.กลุ่มเดียวไม่ชี้เสียงโหวต

       พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวสปช.มีแนวโน้มจะลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญว่า การให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิของ สปช. เชื่อว่าสปช.จะใช้วิจารณญาณได้อย่างรอบคอบ เพราะเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มาจากข้อเสนอของสปช. ขณะเดียวกันกมธ.ยกร่างฯ พยายามร่างรัฐธรรมนูญให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุดแล้ว ส่วนที่มีสปช.บางกลุ่มนำประเด็นที่มานายกฯ มาเป็นข้ออ้างไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นั้น ตนเห็นว่าเป็นบุคคลกลุ่มเดิมที่แสดงตนว่าจะไม่รับตั้งแต่ต้น ดังนั้น การที่สื่อมวลชนนำข้อคิดเห็นของบุคคลกลุ่มนี้มาเป็นตัวชี้วัดว่า สปช.จะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะตัวชี้วัดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีหรือไม่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคลกลุ่มเดียว

     พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ข้อเสนอให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งนั้น ยืนยันว่าขณะนี้ทุกภาคส่วนต้องปฏิบัติกรอบเวลาที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม หากจะขยายเวลาออกไปก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อน ถ้าพิจารณาจากช่องทางขณะนี้ต้องทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชน จากนั้นเป็นหน้าที่ของครม. ส่งเรื่องมายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อแก้ไขกรอบเวลารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวต่อไป

 

กมธ.โต้ข่าวคสช.บี้แก้ที่มาส.ว.

     พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 5 ส.ค. เพื่อพิจารณาบันทึกเจตนารมณ์รายมาตราในร่างรัฐธรรมนูญ ให้เสร็จ จากนั้นวันที่ 17-19 ส.ค. นี้ จะเชิญผู้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 9 กลุ่ม มารับฟังรายละเอียดการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้สปช. ในวันที่ 22 ส.ค. นี้

      พล.ท.นคร สุขประเสริฐ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงกระแสข่าวคสช. เข้ามากดดันกมธ. ยกร่างฯ เนื่องจากต้องการให้ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมดว่า ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง คสช.ไม่ได้เข้ามากดดันการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ ประเด็นที่มาของส.ว.นั้น กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้ส.ว.มี 200 คน แบ่งเป็นส.ว.เลือกตั้ง 77 คน และมาจากการสรรหา 123 คน โดยส.ว.แบบสรรหานั้นเรากำหนดให้มีที่มาจากหลากหลายกลุ่มแตกต่างจากเดิม เป็นสภาพหุนิยมอย่างแท้จริง แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการ เลยมีคนบางกลุ่มบางพวกเรียกร้องให้ส.ว.มีที่มาจากการสรรหาแบบเดิมที่มีคณะกรรมการเพียง 7 คนเท่านั้น

 

ชี้เทคนิค"วันชัย"กดดันลงมติ

      พล.ท.นครกล่าวว่า เชื่อว่าการออกแบบคณะกรรมการสรรหาแบบใหม่ จะช่วยป้องกันปัญหาการล็อบบี้และวิ่งเต้นของคนที่ต้องการเป็นส.ว.ได้ เนื่องจากคณะกรรมการสรรหาส.ว.แต่ละกลุ่มนั้น มีจำนวนไม่เท่ากัน วิธีนี้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญเดิมมาก ดังนั้น คนที่คาดหวังว่าจะวิ่งเต้นและล็อบบี้คณะกรรมการสรรหาเพื่อให้เลือกเข้ามาเป็นส.ว.นั้นคงยาก

     พล.ท.นคร กล่าวว่า ส่วนที่นายวันชัย สอนศิริ ระบุได้รับข่าวจากสปช.สายจังหวัดว่ามีนักการเมืองเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็วนั้น เบื้องต้นเมื่อวันที่ 3 ส.ค. สปช.กลุ่มต่างๆ ได้พูดคุยกัน เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องเทคนิคและการสำรวจเพื่อก่อให้เกิดแรงกดดันในการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่มั่นใจว่าสปช.ทุกคนเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้และประสบการณ์การทำงานจะใช้วิจารณญาณตัดสินใจลงมติร่างรัฐธรรมนูญด้วยความรอบคอบ

 

สปช.แฉโหวตคว่ำแลกเก้าอี้

       นายสิระ เจนจาคะ สมาชิกสปช. ซึ่งเป็นศิษย์เอกพุทธอิสระ เผยว่า วันที่ 3 ส.ค. มีสปช.คนหนึ่งที่เป็นพลเรือนกึ่งนักการเมือง มาขอร้องให้ตนลงชื่อสนับสนุนการคว่ำรัฐธรรมนูญ แลกกับการนั่งในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 200 คน ขณะนี้รับทราบว่ามีสปช.ร้อยกว่าคนร่วมลงชื่อสนับสนุนไปแล้ว แต่ตนได้ปฏิเสธเพราะต้องการเห็นร่างรัฐธรรนูญที่ชัดเจนก่อนว่าดีหรือไม่ดี

    "ไม่ทราบว่าขนม 200 ชิ้นทำไมถึงหอมหวนนักหนา เพราะก่อนหน้านี้ก็มีมา ต่อรองในเรื่องสนับสนุนกาสิโนเพื่อนำเงินมา ตั้งพรรคการเมือง 1 หมื่นล้านบาท วันนี้มีข่าวนำมาต่อรองกับสปช. ให้โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญอีก ไม่ทราบว่าตอนนี้มีคนหลงเชื่อและลงชื่อเกิน 200 คนแล้วหรือไม่ ดังนั้นหากเป็นเช่นนั้นจริง คนที่เกินจำนวน คสช.จะนำไปอยู่ในตำแหน่งไหน" นายสิระกล่าว

 

คสช.-สปช.ต้องรับผิดชอบ

      นายสิระ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญตนเห็นว่าควรสนับสนุนเพราะหากถูกคว่ำ คสช.และสปช.ต้องร่วมรับผิดชอบ เพราะเสียทั้งเวลาและงบประมาณกว่าพันล้านบาท เพื่อจัดทำกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงเรียกร้องให้คสช.และสปช.ที่ได้รับเงินเดือนแสนกว่าบาทพร้อมสวัสดิการและสิทธิประโยชน์มากมาย ร่วมกันแชร์ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้กลับคืนประเทศชาติเพื่อไปช่วยเหลือประชาชนจะดีกว่า หากคิดจะสืบทอดอำนาจไม่ควรใช้วิธีคว่ำรัฐธรรมนูญ แต่อาจใช้วิธีอื่นที่สังคมยอมรับ เช่น การทำประชามติให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไปพร้อมการโหวตรัฐธรรมนูญของประชาชน ยังดูดีกว่าอีก เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ได้รับโทรศัพท์จากอดีตรัฐมนตรีจากรัฐบาลชุดที่แล้ว เตือนว่าหากมีการเล่นปาหี่เพื่อหวังสืบทอดอำนาจเชื่อว่าประเทศชาติจะต้องนองเลือดแน่นอน

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ในการประชุมนอกรอบของสปช.วันที่ 24 มิ.ย. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ "สานใจปฏิรูปสปช." นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เปิดใจโดยหวังว่าสปช.จะเห็นกับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าขนม 200 ชิ้น ซึ่งหมายถึงการเข้าไปดำรงตำแหน่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 200 คน โดยช่วงเวลาดังกล่าวปรากฏว่ามีความเคลื่อนไหวของสปช.จังหวัด และสปช.กลุ่มหนึ่ง วิ่งประสานผ่านนายทหารที่ใกล้ชิดพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคสช. ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกสภาขับเคลื่อนฯ ซึ่งสปช.คาดหวังที่กลับเข้ามาอีก หากรัฐบาลและคสช.ต้องการจะให้คว่ำหรือรับร่างรัฐธรรมนูญก็พร้อมปฏิบัติตาม

 

40 ส.ว.จี้ทบทวนภาษีบาป

      เวลา 12.00 น. นายประสาร มฤคพิทักษ์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล นายวิทยา กุลสมบูรณ์ และนายวินัย ดะห์ลัน สมาชิก สปช. เสนอให้ทบทวนข้อเสนอของม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ที่เสนอให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และมาตรา 204 วรรคสอง ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ที่เสนอให้ไม่นำภาษีบาปมาอุดหนุนกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทย พีบีเอส) โดยให้ทั้ง 2 องค์กรของบประมาณจากรัฐสภาแทน

      นายประสาร กล่าวว่า งบประมาณที่ สสส.ใช้ 2 พันล้านบาท มีส่วนทำให้การบริโภคบุหรี่ลดลง 1.3 หมื่นล้านบาท และเหล้า 1.7 หมื่นล้านบาท สสส.และไทยพีบีเอสก็ได้รับการตรวจสอบการใช้งบอย่างละเอียดอยู่แล้วจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และต้องรายงานให้ครม.และรัฐสภารับทราบอยู่แล้ว

 

กมธ.เล็งแก้ตามที่ขอ

       นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ. ยกร่างฯ กล่าวถึงการเขียนบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ ให้ไทยพีบีเอส สสส. และกองทุนกีฬา ใช้ภาษีบาปได้โดยตรงอีกแค่ 4 ปีว่า เช้าวันที่ 4 ส.ค. ได้พูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับกมธ.บางคน เห็นร่วมกันว่าจะเสนอทบทวนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยน่าจะทบทวนเป็น 2 ระดับ 1.ต้องทบทวนแน่ๆ คือบทเฉพาะกาล จากเดิมที่มีระยะหน่วง 4 ปี เป็นการยกเว้นถาวรให้ 3 องค์กรที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้ และการใช้งบประมาณก็ไม่ต้องผ่านพ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี เช่นเดิม แนวทางนี้อาจมากกว่า 3 องค์กร หากก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้มีกฎหมายใหม่ออกมาอีก โดยทราบจากสมาชิกสนช.ว่ามีร่างกฎหมายทำนองนี้อยู่อีกสองสามฉบับ

       2.อาจทบทวนบทบัญญัติปกติในหมวดการคลังการงบประมาณด้วย อาจปรับข้อความให้คลายตัวลง ไม่ห้ามเด็ดขาด แต่ให้คำนึงถึงวินัยการเงินการคลังในระดับหลังที่อาจทบทวน เพราะกมธ.ยกร่างฯเคยเข้าใจว่า ออกกฎหมายตั้งหน่วยงานเก็บภาษีต้นทางมาเป็นทุนดำเนินงาน หรือ Earmarked Tax เป็นการหักภาษีที่เก็บได้ไปใช้ก่อนส่งเข้าคลัง แต่แท้จริงแล้วให้อำนาจหน่วยงานนั้นเก็บเพิ่มเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดภาษีที่ส่งเข้าคลังคือ ไม่ใช่เก็บมาได้ 100% หักออก 2% เข้าคลัง 98% แต่เป็นเสียภาษีเข้าคลัง 100% เสียเพิ่มให้องค์กรอีก 2% การห้ามจึงไม่มีผลกระทบต่อยอดภาษีที่ส่งเข้าคลัง คลังไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นได้เท่าเดิม แต่บริษัทเหล้าบุหรี่ประหยัด ค่าภาษีที่ต้องเสียเพิ่มให้องค์กรนั้นๆ ไป

       "ถ้าบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นใหม่ทำให้รัฐได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจริงเราจะยืนหยัดคงไว้ แต่ถ้ารัฐไม่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นแล้ว บริษัทเหล้าบุหรี่ยังได้ประโยชน์โดยเสียเงินน้อยลง ขณะที่องค์กรที่มีเป้าหมายทำสาธารณประโยชน์ต้องได้รับผลกระทบ เราก็จำเป็นต้องทบทวน" นายคำนูณกล่าว

 

สสส.เตรียมทำหนังสือชี้แจง

     ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่าการดึงเงินคืนกลับไปสู่ระบบผ่านรัฐสภา ไม่ได้ทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นและทำให้จัดเก็บภาษีได้น้อยลงด้วยซ้ำ เพราะรัฐบาลต้องนำภาษีปกติมาจัดสรรให้หน่วยงานตามกฎหมาย คือ สสส. ไทยพีบีเอส และองค์กรสนับสนุนการกีฬาฯ ถือเป็นการจัดสรรงบแทนกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ และการที่ไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ธุรกิจเหล่านี้จะนำงบไปใช้ส่งเสริมการตลาด ซึ่งกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ

      ทพ.กฤษดา กล่าวว่า เบื้องต้น จะทำหนังสือชี้แจงกมธ.ยกร่างฯ เพื่อทำความเข้าใจต่อระบบการจัดเก็บดังกล่าวว่าไม่เกิดประโยชน์ต่อรัฐบาล และทำให้การดำเนินงานของ สสส.ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากการบริหารจัดการงบประมาณไม่คล่องตัว และไม่มีความยืดหยุ่น

      ด้านนพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนดังกล่าวถือเป็นการถอยหลังเข้าคลอง หากดึงงบจากภาษีบาปตรงนี้ไปในระบบราชการทุกอย่างจะเปลี่ยนไป การทำงานเชิงรุกเชิงป้องกันโรคจะมีปัญหา การควบคุมปัญหาจะด้อยลง และผลกระทบจากเหล้าบุหรี่จะเพิ่มขึ้น บางคนมองว่าสสส.ใช้งบมากแต่ตรวจสอบยาก ตรงนี้ไม่ควรเป็นคำถามอีก เพราะที่ผ่านมาชัดเจนว่าสสส.มีระบบตรวจสอบถี่ถ้วน โดยเฉพาะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบตลอด หากสงสัยก็ถามสตง.ได้ เรื่องนี้รัฐบาลต้องตั้งใจฟังให้ดีและฟังอย่างรอบด้าน ยึดผลประโยชน์ประชาชนด้วย

 

สนช.ไม่ซักถาม 248 อดีตสส.

       เวลา 15.45 น. นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกกมธ.วิสามัญกิจการสนช. หรือวิปสนช. แถลงว่า วันที่ 6 ส.ค.นี้ ที่ประชุมสนช.จะพิจารณาญัตติซักถามคดีถอดถอน 248 อดีตส.ส. จากฐานความผิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาส.ว. โดยมิชอบ ซึ่งมีเพียง 1 คำถามโดย พล.ท.อดุลยเดช อินทะพงษ์ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะผู้กล่าวหา ส่วนสาเหตุที่สนช.ไม่ถามอดีตส.ส. ในฐานะผู้ถูกร้องนั้นคงไม่สามารถตอบได้ อาจเกิดจากสมาชิกสนช. ติดตามสถานการณ์การเมืองมาตลอด จึงไม่ต้องตั้งคำถามแล้ว

นพ.เจตน์กล่าวว่า กระบวนการต่อไปเบื้องต้นกำหนดว่าจะให้ 248 อดีตส.ส. ส่งตัวแทนมาแถลงปิดคดีในวันที่ 13 ส.ค. และลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ ในวันที่ 14 ส.ค. โดยการลงมติจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.อดีตส.ส. 237 คน ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ และลงมติทั้ง 3 วาระ กลุ่ม 2.อดีต ส.ส. 1 คน ไม่ลงมติวาระ 3 คือ นายอภิรัต ศิรินาวิน อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคมหาชน และกลุ่ม 3.กลุ่มอดีต ส.ส. 10 คน ไม่ลงมติวาระ 2

 

ตั้ง'เกรียงศักดิ์'ที่ปรึกษาข่าวกรอง

     ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ 1.นายวิสุทธิ์ จันมณี ผอ.สำนักจัดการหนี้ 1 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 2.น.ส.สุจิตรา เลาหวัฒนภิญโญ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต เป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี กรมสรรพสามิต ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

      เห็นชอบแต่งตั้ง นายเกรียงศักดิ์ สืบสายหาญ ผอ.สำนัก 1 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็นที่ปรึกษาด้านข่าวกรองความมั่นคงและสถาบันหลัก (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกฯ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

 

เห็นชอบร่างพรบ.โรงเรียนนรต.

      พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

      สาระสำคัญ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 14 วรรคสาม และวรรคสี่ ของพ.ร.บ.โรงเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ศ.2551 ดังนี้ มาตรา 14 ให้ผู้บัญชาการโรงเรียนเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดและรับผิดชอบการบริหารงานของโรงเรียน ผู้บัญชาการโรงเรียนนั้น ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) แต่งตั้งโดยคำแนะนำของสภาการศึกษาจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 15 และวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บัญชาการโรงเรียน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร. และให้ยกเลิกวรรคสี่

 

เชียงรายลงพื้นที่ตรวจฟุตซอล

       ที่จ.เชียงราย นายอนันต์ เพชรใหม่ ผอ.สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประจำจังหวัดเชียงราย กล่าวกรณีนายวิชัย วิวิตเสวี และน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีร้องเรียนกล่าวหาการก่อสร้างสนามฟุตซอลที่จ.เชียงราย ว่า คณะทำงานในพื้นที่กำลังรวบรวมข้อเท็จจริง โดยลงพื้นที่ตรวจสอบที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในอ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 12 โรงเรียนที่อยู่ในข่ายตรวจสอบ พบความผิดปกติในเรื่องวัสดุก่อสร้างที่อาจมีราคาแพงเกินจริง ทั้งนี้ กรรมการ ป.ป.ช. ทั้งสองมอบนโยบายแก่คณะทำงานในพื้นที่เร่งรวบรวมข้อมูล สอบบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับ ผอ.โรงเรียน อาจารย์ และคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง จึงจะสรุปคดีและส่งให้ที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช.ว่า มีมูลจะแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่

 

ทุ่ม 7 พันล.ช่วยเกษตรกร-คนจน

     วันที่ 4 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. แถลงหลังประชุมครม. ว่าครม.มีมติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร-คนยากจน เพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยใช้งบประมาณ 7 พันล้านบาทที่ต้องดูแลเรื่องการจ้างงานและเรื่องการช่วยเหลือให้ความเข้มแข็งขึ้น

      พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร-คนยากจนฯ เป็นโครงการที่มาจากความต้องการของประชาชนรวม 4,966 โครงการ แบ่งเป็น 6,740 กิจกรรม รวมงบกว่า 6,541 ล้านบาท โครงการต่างๆ จำแนกเป็น 9 หมวด ได้แก่ ด้านการพัฒนาอาชีพ (โอท็อป) 1,179,294,947 บาท ด้านการผลิตพืช 783,698,571 บาท ด้านปศุสัตว์ 969,702,756 บาท ด้านประมง 216,064,197 บาท ด้านเศรษฐกิจพอเพียง 129,233,314 บาท ด้านปัจจัยการผลิตทางการเกษตร 1,171,363,198 บาท ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 26,297,963 บาท ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร 1,961,917,198 บาท และด้านสาธารณูปโภค 91,517,886 บาท โดยจะผูกพันงบประมาณให้เสร็จภายในก.ย.นี้

     ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรโดยใช้ชื่อว่าองค์กรเกษตรกร ซึ่งเสนอโครงการมายังกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา ส่วนการดำเนินงานนั้นแต่ละจังหวัดต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมา มีทุกภาคส่วนเข้าร่วม เช่น มหาดไทย เกษตรฯ คสช. เป็นต้น

นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า เชื่อว่าการจัดสรรงบดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ ส่วนกองทุนหมู่บ้านรัฐบาลเพิ่มกองทุนเป็น 6,631 กองทุน และกำลังพิจารณาเพิ่มกองทุนของหมู่บ้านอื่นๆ กว่า 20,000 กองทุน วันที่ 6 ส.ค.จะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเติมแผนฟื้นฟูในการพัฒนาประสิทธิภาพให้หมู่บ้านอื่นๆ ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาได้รับกองทุนหมู่บ้านให้เสร็จภายใน 2-3 เดือน

บิ๊กตู่ให้"หมอณรงค์"กลับสธ.

      วันที่ 4 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ลงนามในคำสั่ง ที่ 204/22558 เรื่อง ให้ข้าราชการกลับไปปฏิบัติราชการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระบุว่า ตามที่สำนักนายกฯ มีคำสั่งที่ 75/2558 ลงวันที่ 11 มี.ค. 2558 ให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน เนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งนายกฯ ที่ 70/2558 ลงวันที่ 5 มี.ค. 2558 เพื่อให้การสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น บัดนี้ การดำเนินการตามคำสั่งสำนักนายกฯยุติแล้ว

        อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) (3) (4) และ (6) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงให้ยกเลิกคำสั่งนายกฯ ที่ 75/2558 ลงวันที่ 11 มี.ค. 2558 และให้ นพ.ณรงค์ กลับไปปฏิบัติราชการกระทรวงสาธารณสุข

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯ เผยว่าพล.อ.ประยุทธ์ ลงนามในคำสั่งให้นพ.ณรงค์กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ใน สธ.ตามเดิมก่อนเกษียณก.ย.นี้ โดยมีเงื่อนไข 3 ประการ คือ 1.เมื่อกลับไปจะไม่มีการโยกย้ายข้าราชการเพราะอาจเกิดความขัดแย้งขึ้นอีก 2.นพ.ณรงค์ ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต่อไป 3.ต้องดำเนินนโยบายตามที่นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. มอบหมายสั่งการ และหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขอาจมีการพิจารณาเรื่องการโยกย้ายอีกครั้ง

       ด้านนพ.ณรงค์กล่าวถึงคำสั่งให้กลับมาทำงานที่กระทรวงสาธารณสุขตามเดิมว่า ตนยังไม่เห็นคำสั่งอย่างเป็นทางการ คงบอกอะไรมากไม่ได้ ขอเห็นหนังสือสั่งการก่อนจึงบอกได้ว่าต้องทำอะไรต่อไป

       นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) และผอ.ร.พ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณนายกฯ และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนพ.ณรงค์ กรณีไม่สนองนโยบายรัฐบาลฯ ซึ่งได้ให้ความเป็นธรรม เรื่องนี้จะเป็นกำลังใจให้กับคนที่มุ่งสร้างประโยชน์แก่ประเทศได้

      นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผอ.ร.พ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา และกรรมการแพทย์ชนบท กล่าวว่า ต้องตั้งคำถามถึงผลการสอบกรณีก่อนหน้านี้ ชมรมแพทย์ชนบทยื่นเรื่องร้องเรียน นพ.ณรงค์ ต่อรมว.สาธารณสุข โดยมีข้อมูลสมัยเป็นอธิบดีกรมสุขภาพจิต อาจปฏิบัติขัดต่อระเบียบข้าราชการ โดยการรับเงินค่ารถประจำตำแหน่งตกปีละกว่า 3 แสนบาท แต่ยังใช้อำนาจ สั่งการใช้รถยนต์ราชการอีก อยากให้มีการเปิดเผยผลสอบนี้ด้วย หากมีความผิดจริงการให้กลับมาก็คงไม่เหมาะสม

 

 

บิ๊กตู่สั่งคืนเก้าอี้ปลัดสธ. 'ณรงค์'เฮ ยอมรับเงื่อนไขเข้ม 3 ข้อ ไม่ยุ่งโผขรก.-เชื่อฟังรัชตะ ห้ามจุ้นสปสช.-มีผล 5 สค. ประยุทธ์ขอบคุณ'สุเทพ'ขออย่าจุดชนวนขัดแย้ง'อุ๋ย'ถอยรื้อจัดงบ'สสส.'

      เลขาฯสสส.ชี้รื้องบ เปิดช่องฝ่ายการเมืองแทรกแซง คุยงานเจ๋ง โวยธุรกิจเสียผลประโยชน์จ้องล้ม'บิ๊กตู่'คืนเก้าอี้ปลัด'ณรงค์'ตั้ง 3 เงื่อนไขต้องไม่ขัดนโยบาย'หมอรัชตะ'

 

มติชนออนไลน์ :

 

@ "บิ๊กตู่"ชี้ปฏิรูปไม่มีวันจบสิ้น

      เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าต้องไปดูความหมายของคำว่าปฏิรูป ซึ่งหมายถึงการปรับปรุงแก้ไขให้ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ต้องปฏิรูปหมดทุกเรื่องเพราะบ้านเมืองมีปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินช่วงที่ผ่านมา ไม่อยากบอกว่าใครผิดใครถูก แต่รัฐบาลนี้เอามาดูแล้วต้องปฏิรูปทั้งหมด ตอนนี้อยู่ในระยะแรกคือปฏิรูปในห้วงเวลาปัจจุบัน ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันนี้ โดยเวลาที่มีอยู่จะทำในสิ่งที่ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติหน้าที่ และเพิ่มประสิทธิภาพของทุกกระทรวงเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ฉะนั้นการปฏิรูปต้องทำอย่างต่อเนื่อง หลายคนอาจไม่เข้าใจและมองว่าทำไมไม่ปฏิรูปให้เสร็จ โดยคำว่าเสร็จนั้น การปฏิรูปนั้นไม่ใช่เสร็จแล้วเลิก แต่ต้องรักษาให้ได้แบบเดิมต่อไปเรื่อยๆ และพัฒนาไปในทางที่ดี โดยการปฏิรูปนั้นไม่มีวันจบสิ้น 

 

@ แจงไม่ทำอะไร-สืบทอดอำนาจ 

       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การปฏิรูปต้องมีการกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ โดยแผนการปฏิรูปที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กำลังร่างออกมานั้น คือการปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง ในเรื่องใหญ่ๆ แต่ตนเอาส่วนหนึ่งมาทำก่อน ส่วนโครงสร้างใหญ่ที่เหลือไปวางแผนในแผนการปฏิรูป ดังนั้นต้องกำหนดห้วงเวลาที่ต้องปฏิบัติและส่งต่อไปที่รัฐบาลหน้า และมีกลไกให้รัฐบาลหน้าเดินตามโดยที่ไม่ทับซ้อนในอำนาจการบริหาร ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องเข้าใจ ไม่ใช่ว่าตนไม่ทำอะไรเลย หรือไปทาบทับอำนาจบริหารของรัฐบาลใหม่ หรือสืบทอดอำนาจ ไม่ใช่แบบนั้น ทำทุกอย่างเพื่อให้สังคมดีขึ้น เคยยกตัวอย่างมาหลายครั้งแล้วว่าประเทศจีนใช้เวลากว่า 30 ปี ในการขึ้นเป็นอันดับสองด้านเศรษฐกิจของโลก และยังไม่เลิกการปฏิรูป

 

@ บ่นทำดีแต่ไม่มีคนเห็น

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อยากให้ฟังบางคนที่เขาพูดในสิ่งที่ดีและช่วยกันขยายความ ถ้ามัวแต่ขยายความในสิ่งไม่ดี ประเทศไทยมันก็ไม่น่าอยู่เลย มีทั้งปัญหาความขัดแย้ง การเมืองก็ขัดแย้ง รัฐบาลนี้ก็ลำบากที่จะปฏิรูปให้กับทุกคน

ขอให้ดูในสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำในสิ่งดีๆ ให้บ้าง 

      "ขอให้ช่วยกันหน่อย ไอ้คนที่ทำดีให้ตายเขาไม่เห็นความดีของผมก็ไม่อยากไปต่อสู้อีกแล้ว ประชาชนก็เลือกบริโภคว่าจะเชื่อในสิ่งไหนเพราะผมก็ทำให้เห็นอยู่ทุกวัน วันนี้ก็ทำหลายๆ อย่าง และคนที่มาพบกับผมเขาก็ให้กำลังใจว่าสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว แต่ทำไมคนบางคนทำอย่างนี้ไม่ได้ จ้องแต่จะจิกตีทุกเรื่อง แล้วประเทศไทยจะเดินไปทางไหนกัน มันไปไม่รอดหรอก ถ้ายังเป็นอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่คิดแต่ว่าคนนี้จะเข้ามา คนนั้นจ้องแต่จะล้มรัฐบาล ไอ้นี่เตรียมจะอยู่ต่อ ผมไม่เคยพูดสักคำ แต่ผมก็จะไม่ไปตอบโต้อะไรอีกแล้ว เว้นแต่บางวันที่ทนไม่ไหว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

@ ชี้รธน.ไม่ผ่านตั้งคกก.ร่างใหม่

       "ถ้าบอกว่ารัฐบาลผมไม่ดี วันหน้าคงไม่เหลือใครดีแล้ว เพราะผมพยายามเลือกคนดี คนมีคุณธรรมเข้ามาทำงานให้พิสูจน์ฝีมือ ให้เห็นว่าการทำหน้าที่ดีๆ ทำอย่างไร ผมให้โอกาสกับทุกคน ไม่ได้ไปรังเกียจใคร ฝ่ายการเมืองผมก็จำเป็นเพราะผมเข้ามาอย่างนี้ ถ้าผมจะเอาฝ่ายการเมืองเก่าๆ มาทำงานกับผมมันก็คงไปกันไม่ได้ หลายคนก็เลยยังไม่เข้าใจผม ออกมาว่าผมทุกวัน เพราะเขามีอำนาจอยู่แล้วผมไปเอาอำนาจเขามา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ในส่วนรัฐธรรมนูญ อย่าเอาตนไปเกี่ยวข้องอะไรมากนัก ถ้าผ่านความเห็นชอบก็ไปทำประชามติแล้วก็ไปเลือกตั้ง ไม่มีหน้าที่ที่จะไปสั่งให้ผ่านหรือไม่ผ่าน เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีทำใจแล้วหรือยังว่า หากร่างไม่ผ่านจะต้องอยู่ทำงานต่อไปอีก 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างไร ถ้าไม่ผ่านก็ต้องตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เท่านั้นเอง และถ้าต้องอยู่ต่อก็เป็นเพราะด้วยความจำเป็น ไม่เช่นนั้นใครจะเข้ามาเป็น สื่อจะเข้ามาเป็นแทนตน

หรือไม่ อยากทำหน้าที่ให้เสร็จและให้เริ่มต้นด้วยดี ให้มีอนาคต 

 

@ วอน'สุเทพ'อย่าให้เกิดขัดแย้ง

      เมื่อถามว่า กลุ่มของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ออกมาสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่ได้มาช่วยผม ใครจะออกมาทำอะไรก็ขอให้อยู่ภายใต้กติกาของกฎหมายที่ระบุชัดเจนว่า วันนี้ทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง ถึงท่านจะพูดสนับสนุนอย่างไรก็แล้วแต่ ผมก็ขอขอบคุณเป็นการส่วนตัว เพราะรู้จักกันมาก่อน แต่ก็ขอร้องว่าอย่าให้เกิดความขัดแย้งกันอีกเลย วันนี้ในเมื่อผมเป็นกรรมการออกมาแล้ว ผมก็ต้องเป็นกรรมการที่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนช่วยกัน ก็จะทำให้เกิดความสงบ" 

 

@ สปช.ชี้อย่าฟังคำยุทำแท้งรธน. 

        ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระเปิดโอกาสให้สมาชิก สปช.ได้หารือแสดงความคิดเห็นต่างๆ โดยนายฐิติ วุฑฒิโกวิทย์ สมาชิก สปช.หนองคาย กล่าวว่า ขณะนี้มีการวิจารณ์เรื่อง สปช.จะผ่านหรือไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ จึงขอเตือนสติสมาชิกทุกคนว่า สปช.ทุกคนมีความเป็นอิสระ มีสิทธิเสรีภาพในการออกความเห็นด้วยตัวเอง ไม่ใช่ใครจะมาจูงไปได้ ขอให้ สปช.ใช้ดุลพินิจของตัวเอง ไม่ต้องไปเชื่อใคร และไม่มีใครมาชี้นำได้ ขอให้ สปช.ทุกคนคิดด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องไปทำแท้งแล้วมาคลอดใหม่ จะเสียเวลายาว

      นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิก สปช.ด้านการเมือง กล่าวว่า อยากให้การประชุมวิป สปช.ในวันที่ 6 สิงหาคม มีความชัดเจนเรื่องที่ สปช.จะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นวันใดในช่วงต้นเดือนกันยายน รวมถึงการลงมติในคำถามประชามติของ สปช.ว่าจะมีการลงมติในวันใด เพื่อให้ทุกอย่างมีความชัดเจนออกมา จะได้หยุดวิพากษ์วิจารณ์กันได้แล้ว

 

@ "วันชัย"ยันมีนักการเมืองล็อบบี้

        ขณะที่ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ สมาชิก สปช.มุกดาหาร กล่าวว่า กรณีที่มี สปช.บางคนให้ข่าวว่ามีนักการเมืองไปล็อบบี้ สปช.จังหวัดหลายจังหวัดให้ช่วยโหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การทำประชามติ จะได้มีการเลือกตั้งโดยเร็วนั้น ขอยืนยันว่าที่ จ.มุกดาหารไม่มีนักการเมืองคนใดหรือพรรคการเมืองใดมาล็อบบี้ตนให้ช่วยผ่านร่างรัฐธรรมนูญ 

นายวันชัย สอนศิริ สปช. ชี้แจงว่า เป็นผู้ให้ข่าวเรื่องมีนักการเมืองไปล็อบบี้ สปช.จังหวัดให้ช่วยผ่านร่างรัฐธรรมนูญจริง แต่ไม่ได้พูดส่งเดช ยืนยันว่ามี สปช. 4 คน มาให้ข้อมูลเรื่องดังกล่าว แต่ทั้ง 4 คน ไม่ขอให้เปิดเผยชื่อ เรื่องนี้ไม่ใช่การพูดส่งๆ มีข้อมูลจริง ในการประชุม สปช.สัปดาห์หน้าจะเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ให้ทราบอีกครั้ง

 

@ "เสธ.อู้"ชี้คนกลุ่มเดิมกดดัน 

        ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิของ สปช.จะสามารถใช้วิจารณญาณได้อย่างรอบคอบ กรณีที่มี สปช.บางกลุ่มนำประเด็นที่มานายกรัฐมนตรีมาเป็นข้ออ้างไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่าเป็นบุคคลกลุ่มเดิมที่แสดงตนว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น การที่สื่อมวลชนนำข้อคิดเห็นของบุคคลกลุ่มนี้มาเป็นตัวชี้วัดว่า สปช.จะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะตัวชี้วัดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีหรือไม่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคลกลุ่มเดียว 

 

@ เลื่อนโรดแมปต้องแก้รธน.

       พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวอีกว่า ข้อเสนอที่จะให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งนั้น ยืนยันว่าขณะนี้ทุกภาคส่วนจะต้องปฏิบัติกรอบระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม หากจะมีการขยายระยะเวลาออกไปจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ก่อน ซึ่งถ้าพิจารณาจากช่องทางในขณะนี้จะต้องมีการทำประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชน จากนั้นเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการส่งเรื่องมายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อแก้ไขกรอบระยะเวลารัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ต่อไป ทั้งนี้ ทาง กมธ.ยกร่างฯนัดประชุมในวันที่ 5 สิงหาคม เพื่อพิจารณาบันทึกเจตนารมณ์รายมาตรา จากนั้นในวันที่ 17-19 สิงหาคมนี้ จะเชิญผู้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 9 กลุ่ม มารับฟังรายละเอียดการปรับแก้ ก่อนที่จะส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้กับ สปช.ในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ 

        พล.ท.นคร สุขประเสริฐ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีมีกระแสข่าวว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามากดดัน กมธ.ยกร่างฯเนื่องจากต้องการให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการสรรหาทั้งหมดว่า ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ทาง คสช.ไม่ได้เข้ามากดดันการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯแต่อย่างใด

 

@ "สิระ"ปูดล็อบบี้คว่ำรธน.

       นายสิระ เจนจาคะ สปช.ด้านสังคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่รัฐสภาได้มี สปช.คนหนึ่งที่เป็นพลเรือนกึ่งนักการเมือง ได้เข้ามาขอร้องให้ลงชื่อสนับสนุนการคว่ำรัฐธรรมนูญ โดยแลกกับการเข้าไปนั่งในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจำนวน 200 คน โดยขณะนี้รับทราบว่ามี สปช.จำนวนร้อยกว่าคนร่วมลงชื่อสนับสนุนไปแล้ว อย่างไรก็ตามได้ปฏิเสธเรื่องดังกล่าวไปแล้ว

       ไม่ทราบว่าขนม 200 ชิ้นทำไมถึงหอมหวลอะไรหนักหนา เพราะก่อนหน้านี้ก็มีมาต่อรองในเรื่องสนับสนุนกาสิโนเพื่อนำเงินมาตั้งพรรคการเมือง 1 หมื่นล้านบาท วันนี้ก็มีข่าวนำมาต่อรองกับ สปช.โดยให้มีการโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญอีก ซึ่งไม่ทราบว่าตอนนี้มีคนหลงเชื่อและลงชื่อเกิน 200 คนแล้วหรือไม่" นายสิระกล่าว 

 

@ พท.เตือนพลาดต่ออายุคสช. 

       นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า บรรดาเครือข่ายแม่น้ำ 5 สายบางส่วน พยายามดิ้นรนที่จะผลักดันให้ คสช.อยู่ในอำนาจต่อไปให้นานที่สุด เพื่อจะทำให้ประเทศชาติเกิดสุญญากาศ ไม่มีการเลือกตั้ง แช่แข็งและชัตดาวน์ประเทศ เพื่อจัดการอย่างเบ็ดเสร็จกับพรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม ตามโรดแมปของ กปปส. อาจถือเป็นความผิดพลาดของ คสช. ตั้งแต่วันแรกที่ปล่อยให้แกนนำหลัก กปปส.ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว สะท้อนให้เห็นว่า สปช.ให้ความสำคัญกับการสรรหาวิธีต่ออายุ คสช.มากกว่าคิดค้นหาแนวทางการปฏิรูปประเทศซึ่งควรจะเป็นภารกิจหน้าที่หลัก ดังนั้น คสช.ควรเร่งรัดขับเคลื่อนโรดแมปอย่างเต็มที่ เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน 

 

@ สสส.ชี้รื้องบ-เปิดการเมืองจุ้น

      กรณี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เสนอให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190 และมาตรา 204 วรรคสอง เกี่ยวกับการใช้งบประมาณให้เป็นไปตามวินัยการเงินการคลัง ที่เสนอไม่ให้นำภาษีบาปมาอุดหนุนโดยตรงต่อกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) โดยให้ทั้ง 2 องค์กรของบประมาณจากรัฐสภาแทน

       ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า เรื่องนี้น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดในระบบการเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ และประชาชนทั่วไปอาจยังไม่เข้าใจเพราะคิดว่าภาษีที่เก็บจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ร้อยละ 100 นั้น จัดสรรให้ สสส.นำไปใช้ร้อยละ 2 และไทยพีบีเอสร้อยละ 1.5 แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะเป็นการเก็บพิเศษเพิ่มจากภาษีปกติที่ต้องจ่าย ดังนั้น การดึงเงินกลับไปสู่ระบบงบประมาณที่ต้องผ่านรัฐสภา จะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลงเพราะธุรกิจดังกล่าวไม่ต้องจ่ายภาษีส่วนพิเศษตรงนี้เพิ่ม แต่รัฐบาลกลับต้องนำภาษีปกติมาจัดสรรให้ สสส. ไทยพีบีเอส และองค์กรสนับสนุนการกีฬาฯแทน กลุ่มธุรกิจดังกล่าวจึงได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ และการที่ไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มอาจทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้นำเงินดังกล่าวไปใช้ส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาด ทำให้พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มองว่าการกลับไปสู่ระบบงบประมาณก็ทำให้มีโอกาสถูกการเมืองแทรกแซงได้

 

@ ส่งหนังสือแจงกมธ.ยกร่างฯ 

        ทพ.กฤษดากล่าวว่า สสส.กำลังสรุปเรื่องดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการ สสส.โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่เบื้องต้นคาดว่า คงต้องส่งหนังสือชี้แจงไปยัง กมธ.ยกร่างฯ เพื่อทำความเข้าใจต่อกรณี Earmarked Tax ว่าเป็นการดึงงบกลับไปสู่ระบบงบประมาณปกติไม่เกิดประโยชน์ต่อรัฐบาลและทำให้การดำเนินงานของ สสส.ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากการบริหารจัดการงบประมาณไม่คล่องตัว และไม่มีความยืดหยุ่น เพราะทุกอย่างกลับไปสู่ระบบงบประมาณ บางครั้งต้องตั้งงบประมาณล่วงหน้าถึง 3 ปี แต่การทำงานด้านสุขภาพทำเช่นนั้นไม่ได้ ซึ่งในต่างประเทศการเก็บภาษีแบบ Earmarked Tax มักจะใช้กับเรื่องสำคัญๆ เช่น สุขภาพ สื่อ กีฬา ฯลฯ

 

@ อ้างกระทบ1พันเครือข่าย 

        "หากดูงบประมาณด้านการรณรงค์ จัดแคมเปญ และประชาสัมพันธ์ สสส.ใช้เพียงประมาณ 200 ล้านบาทเท่านั้น แต่ผลการดำเนินงานดีเทียบเท่าหน่วยงานรัฐในระบบราชการที่ใช้งบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านบาท เห็นได้จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงกว่า 1.2 ล้านคน คนดื่มเหล้าลดลง ช่วยประหยัดงบประมาณไปมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท หรืออย่างเรื่องอุบัติเหตุก็ช่วยลดปัญหาลงได้ถึง 48% ช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นไปกว่าแสนล้านบาท ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวคงเกิดขึ้นไม่ได้ หากอยู่ในระบบราชการ เพราะความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจาก สสส. แต่เกิดจากการทำงานลงไปสนับสนุนเครือข่าย ภาคประชาสังคม และชุมชนต่างๆ ในการขับเคลื่อน ซึ่งมีมากกว่า 10,000 องค์กร คนทำงานขับเคลื่อนมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งหากดึงงบประมาณกลับไปสู่ระบบราชการปกติก็จะกระทบกับเครือข่ายเหล่านี้ได้ เพราะอย่าลืมว่าองค์กรเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไม่ได้มีระบบบัญชีที่เหมือนแบบภาครัฐ" ผู้จัดการ สสส.กล่าว

 

@ โวยธุรกิจเสียประโยชน์จ้องล้ม 

        ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสว่าอาจเป็นความพยายามในการล้ม สสส. ทพ.กฤษดากล่าวว่า อาจมีความเชื่อมโยง เพราะการดำเนินงาน สสส.เชื่อมโยงกับธุรกิจเหล้าและบุหรี่ ทำให้กลุ่มธุรกิจดังกล่าวเสียประโยชน์ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ อย่างในต่างประเทศก็พบว่าบริษัทบุหรี่ก็จะเข้ามาเล่นการเมืองในลักษณะนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา องค์กรลักษณะแบบ สสส.ก็ถูกยุบไปหลายองค์กรแล้ว ส่วนที่คนมองว่า สสส.รณรงค์ทำงานไม่ได้ผล ขอถามว่า หาก สสส.ทำงานไม่ได้ผลจริง เหตุใดกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ถึงจ้องเล่นงาน เพราะการทำงานของ สสส.ไปก่อให้เกิดผลกระทบ

 

@ "ยงยุทธ"ขวาง"หม่อมอุ๋ย" 

      ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้เสนอ ได้บอกว่าที่ทำมา 2 หน่วยงานนั้นก็ทำมาได้อย่างดี ถ้าเผื่อจะไม่มีใหม่ก็ไม่ว่ากัน แต่ 2 หน่วยงานน่าจะยังคงอยู่ แต่ตรงนี้เป็นความเห็นส่วนตัว เมื่อถามว่า มีการกังวลกันว่าหากให้มีการใช้งบประมาณนี้โดยผ่านรัฐสภา โดยบัญญัติไว้ในหลักการของรัฐธรรมนูญ จะทำให้การเมืองสามารถแทรกแซงการทำงานได้นั้น นายยงยุทธกล่าวว่า อันนั้นก็เป็นสิ่งที่ตนเป็นห่วง

 

@ สปช.โดดป้องสสส.-ไทยพีบีเอส 

      นายประสาร มฤคพิทักษ์, น.ส.รสนา โตสิตระกูล, นายวิทยา กุลสมบูรณ์ และนายวินัย ดะห์ลัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมแถลงข่าว โดย น.ส.รสนากล่าวว่า จุดประสงค์ของภาษีบาปที่ใช้อุดหนุนกับกองทุนเพื่อต่อกรบรรษัทต่างชาติที่ทำอบายมุขทั้งบุหรี่และเหล้าซึ่งมีอิทธิพลกับนักการเมือง การให้ทั้ง 2 องค์กรและกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติที่ สนช.เพิ่งผ่านเป็นกฎหมายของบประมาณจากรัฐสภา อาจถูกนักการเมืองปรับลดหรือตัดงบประมาณได้ จึงขอให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทบทวนเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ

      นายประสาร กล่าวว่า งบประมาณที่ สสส.ใช้ 2 พันล้านบาท มีส่วนทำให้การบริโภคบุหรี่ลดลง 1.3 หมื่นล้านบาท และเหล้า 1.7 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ทั้ง สสส.และไทยพีบีเอสได้รับการตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างละเอียดอยู่แล้วจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และต้องรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภารับทราบอยู่แล้ว

 

@ กมธ.ยกร่างฯยอมถอยอยู่ต่อ

       นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้ามีโอกาสสนทนาอย่างไม่เป็นทางการกับ กมธ.ยกร่างฯบางคน โดยเห็นร่วมกันว่าจะเสนอทบทวนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับกรณีไทยพีบีเอส สสส. และกองทุนกีฬา ออกเป็น 2 ระดับ โดยระดับแรกคือทบทวนบทเฉพาะกาล จากเดิมกำหนดให้ 3 องค์กรดังกล่าวสามารถรับเงินจากภาษีบาปโดยตรงได้อีก 4 ปี และหลังจากนั้นก็ต้องเข้าสู่การของบประมาณตามปกติ โดยผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ได้มีการแก้ไขบทเฉพาะกาลดังกล่าว โดยยกเว้นถาวรให้ 3 องค์กรที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งแนวทางนี้อาจจะมีมากกว่า 3 องค์กร เพราะทราบว่ามีสมาชิก สนช.

กำลังร่างกฎหมายในทำนองนี้อีก 2-3 ฉบับ 

 

@ ห้ามตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ 

     นายคำนูณกล่าวต่อว่า ระดับต่อมาคืออาจทบทวนบทบัญญัติปกติในหมวดการคลังการงบประมาณด้วย โดยอาจปรับข้อความให้คลายตัวลง ไม่ห้ามออกกฎหมายตั้งหน่วยงานเก็บภาษีต้นทางมาเป็นทุนดำเนินงาน หรือ Earmarked Tax เด็ดขาด แต่ให้คำนึงถึงวินัยการเงินการคลังในระดับหลังที่อาจมีการทบทวน เนื่องจาก กมธ.ยกร่างฯเคยเข้าใจว่า Earmarked Tax เป็นการหักภาษีที่เก็บได้ไปใช้ก่อนส่งเข้าคลัง แต่แท้จริงแล้วเป็นการให้อำนาจหน่วยงานนั้นเก็บเพิ่มเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดภาษีที่ส่งเข้าคลัง คือไม่ใช่เก็บมาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หักออก 2 เปอร์เซ็นต์ เข้าคลัง 98 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นเสียภาษีเข้าคลัง 100 เปอร์เซ็นต์ เสียเพิ่มให้องค์กรอีก 2 เปอร์เซ็นต์ การห้ามจึงไม่มีผลกระทบต่อยอดภาษีที่ส่งเข้าคลัง คลังไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ได้เท่าเดิม แต่บริษัทเหล้าบุหรี่ประหยัดค่าภาษีที่ต้องเสียเพิ่มให้องค์กรนั้นๆ ไป

      "ถ้าบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นใหม่ทำให้รัฐได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจริง เราก็จะยืนหยัดคงไว้ แต่ถ้านอกจากรัฐไม่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นแล้ว บริษัทเหล้าบุหรี่ยังได้ประโยชน์โดยเสียเงินน้อยลง ขณะที่องค์กรที่มีเป้าหมายทำสาธารณประโยชน์ต้องได้รับผลกระทบ เราก็จำเป็นต้องทบทวน" โฆษก กมธ.ยกร่างฯกล่าว 

 

@ "เจษฎ์"เห็นตรงเข้าระบบงบ

     นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการบริหารงบตรงนี้ควรผ่านจุดเดียว ที่ได้เสนอมาก็มีทั้งรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งก็ตรงกันกับที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ งบประมาณตรงนี้ควรดำเนินการผ่านจุดเดียวแล้วค่อยกระจายออกไป เรื่องนี้ กมธ.ยกร่างฯใช้หลักคิดว่าจะใช้กลไกไหนมาบริหารส่วนนี้ ถ้าพูดตรงๆ เรื่องนี้ก็ไม่มีถูกหรือผิด เพียงแต่ กมธ.แค่กำลังคิดหาวิธีการโดยรวม ซึ่งวิธีการของ กมธ.ก็คือทางเลือก กมธ.ยกร่างฯเลือกที่จะปรับแก้ ทราบมาว่าตรงกับข้อเสนอของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร

 

@ "อุ๋ย"ปัดไม่ได้เป็นคนเสนอ 

       ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้เป็นคนเสนอ แต่เป็นไปตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังที่เสนอและระบุข้อความที่ชัดเจนว่าให้ทุกกระทรวงหรือทุกหน่วยงานที่มีการใช้เงินหรือมีการใช้เงินจากกองทุนนอกงบประมาณสามารถทำได้ แต่ต้องมีการออกกฎหมายให้ชัดเจน นอกจากนั้นให้มีการรายงานที่ชัดเจนในส่วนของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละปีต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ส่งข้อเสนอไปที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทางคณะกรรมการพูดแค่ว่าสิ่งที่จะเก็บภาษีเฉพาะเรื่องทำได้โดยออกเป็นกฎหมายเฉพาะ อยู่ๆ จะไปทำโดยไม่ออกกฎหมายก็ไม่ได้ โดยในส่วนขององค์กรที่ใช้เงินภาษีบาป ถ้ามีกฎหมายอยู่แล้วก็แปลว่าใช้ได้อยู่แล้ว ส่วนใครจะไปตีความอย่างไรหรือมีการไปปรับข้อความอย่างไร ไม่รู้ แต่ไม่ได้ห้ามให้มีการจัดสรรงบประมาณให้ นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสำนักงบประมาณ แต่ถือเป็นหลักการที่ดีเพราะทำให้ทุกอย่างกลับมาเข้าสู่ระบบงบประมาณ 

 

@ กรมสรรพสามิตหนุน"อุ๋ย"

      นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ยังไม่ทราบเกี่ยวกับแนวคิดของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เนื่องจากหลักการจัดสรรงบประมาณควรดำเนินการผ่านกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่การจัดสรรโดยตรง เพราะการจัดสรรงบโดยตรงอาจกระทบต่อวินัยการคลังและการจัดสรรงบประมาณ แต่ละปีกรมได้จัดเก็บจากภาษีบาปไปให้ 3 หน่วยงานเหล่านั้น โดยเม็ดเงินรายได้จะมากน้อยขึ้นอยู่กับการจัดเก็บรายได้จากภาษีดังกล่าวในแต่ละปี ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจะส่งรายได้ดังกล่าวประมาณปีละ 8 พันล้านบาท ถึง 1 หมื่นล้านบาท

 

@ "ณรงค์"คัมแบ๊กปลัดมีผล5ส.ค. เงื่อนไขห้ามขัดนโยบาย"รัชตะ"

        เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่ง ที่ 204/22558 เรื่อง ให้ข้าราชการกลับไปปฏิบัติงานกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 75/2558 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2558 ให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นักบริหาร ระดับสูง) กระทรวงสาธารณสุข มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพรางก่อน เนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 70/2558 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2558 เพื่อให้การดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น บัดนี้ การดำเนินการตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวยุติแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) (3) (4) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงให้ยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 75/2558 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2558 และให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นักบริหารระดับสูง) กลับไปปฏิบัติราชการกระทรวงสาธารณสุข

       ด้าน นพ.ณรงค์ ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่เห็นคำสั่งอย่างเป็นทางการ ขณะนี้จึงยังบอกอะไรมากไม่ได้ ขอเห็นหนังสือสั่งการก่อนจึงจะบอกได้ว่าต้องทำอะไรต่อไป ผู้สื่อข่าวถามว่า คำสั่งดังกล่าวมีเงื่อนไข 3 ข้อ ในฐานะปลัด สธ.

ทำได้หรือไม่ นพ.ณรงค์หัวเราะพร้อมกล่าวว่า ยังไม่เห็นคำสั่ง จึงยังพูดอะไรไม่ได้ในขณะนี้ เมื่อถามต่อว่าจะเข้าทำงานที่ สธ.ทันทีหรือไม่ นพ.ณรงค์กล่าวว่า ขอดูคำสั่งก่อน 

      นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ลงนามในคำสั่งให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวง สธ.เหมือนเดิมก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ 

"นายกฯลงนามจริงแต่มีเงื่อนไข 3 ข้อคือ 1.จะไม่มีการโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงเพราะอาจทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก 2.นพ.ณรงค์จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อีกต่อไป 

และ 3.จะต้องดำเนินนโยบายตาม นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหากไม่เป็นไปตามนโยบายทางคณะกรรมการจะพิจารณาการโยกย้ายอีกครั้ง" นายยงยุทธกล่าว

         ด้าน นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณนายกฯ และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง นพ.ณรงค์ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่าไม่สนองนโยบายรัฐบาล ที่ให้ความเป็นธรรมกับ นพ.ณรงค์ และเรื่องนี้จะเป็นกำลังใจให้กับคนที่มุ่งสร้างประโยชน์แก่ประเทศได้

        ขณะที่ นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จ.นครราชสีมา และกรรมการแพทย์ชนบท กล่าวว่า คงต้องตั้งคำถามถึงผลการสอบกรณีที่ก่อนหน้านี้ ชมรมแพทย์ชนบทได้ไปยื่นเรื่องร้องเรียน นพ.ณรงค์ ต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ. โดยมีข้อมูลว่า นพ.ณรงค์สมัยเป็นอธิบดีกรมสุขภาพจิตอาจปฏิบัติขัดต่อระเบียบข้าราชการ โดยการรับเงินค่ารถประจำตำแหน่งตกปีละกว่า 3 แสนบาท แต่ยังใช้อำนาจสั่งการใช้รถยนต์ราชการอีก ซึ่งต่อมารัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้น และทราบว่าขณะนี้ผลสอบออกมาแล้ว จึงอยากให้มีการเปิดเผยผลสอบนี้ด้วย ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามกลับไปยังนายกรัฐมนตรีว่า หาก นพ.ณรงค์มีความผิดจริง และการให้ นพ.ณรงค์กลับไปทำงาน สธ.แบบนี้เหมาะสมหรือไม่

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณี นพ.ณรงค์กลายเป็นประเด็นที่น่าจับตามองระหว่างข้าราชการและฝ่ายการเมือง โดยเริ่มคุกรุ่นตั้งแต่กรณีนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 70/2558 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า ไม่สนองตอบนโยบายรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการ สธ. กระทั่งมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 75/2558 ให้ปลัด สธ.ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีนั้น เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์หนักว่าเป็นเพราะปลัด สธ. ต้องการปฏิรูปการบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และมีการเปิดเผยว่า สปสช.มีการจัดสรรงบฯ ที่ก่อปัญหาให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง และมีการใช้งบไปยังมูลนิธิต่างๆ ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล จึงเป็นเหตุให้ถูกย้ายหรือไม่ ขณะที่ระหว่างนั้น ประชาคมสาธารณสุขก็ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม จนมีกระแสข่าวว่าผลการสอบออกมา ปลัด สธ. สามารถกลับคืนกระทรวง แต่ยังไม่ทันมีคำสั่งออกมาชมรมแพทย์ชนบทก็ออกมาคัดค้าน และเปิดเผยว่า นพ.ณรงค์ระหว่างเป็นข้าราชการมีการปฏิบัติหน้าที่ที่อาจมิชอบ จนรัฐมนตรีว่าการ สธ.รับลูกตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงทันที งานนี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า แม้ปลัด สธ.จะกลับมา แต่ดูเหมือนคงไม่จบ เพราะมีกระแสข่าวว่าชมรมแพทย์ชนบทอาจเคลื่อนไหวและจะนำผลสอบที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมาทวงถามความเหมาะสมอีก

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!