- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 04 August 2015 21:14
- Hits: 6276
สปช.โต้ลั่น'วันชัย' ยันไม่มีล็อบบี้ วิษณุย้ำปฏิทิน เลือกตั้งกย.59 หรือไปเมย.60
สปช.โต้วันชัยแฉล็อบบี้ สวนพูดเองเออเอง วิษณุ ยันยึดตามโรดแม็ป เลือกตั้ง ก.ย. 59 ถ้ารธน.ล่มร่างใหม่ก็เม.ย.60 ชี้'วันชัย-ไพบูลย์' จ้อความเห็นส่วนตัว หม่อมอุ๋ยย้ำโรดแม็ปสัญญาประชาคมต่อโลก พรเพชรลั่นต้องยึดโรดแม็ป รธน.ชั่วคราวกำหนดชัด จตุพรอ้างพบ 2 แผนคว่ำรธน. ยันกติกาไม่เป็นปชต.ก็ไม่ต้องเลือกตั้ง พท.สวน'วันชัย'พูดให้ชัดพรรคไหนอยากเลือกตั้ง อุ๋ยชงกมธ.ยกร่างฯ ดึงภาษีบาปเข้าสภา
วันที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9015 ข่าวสดรายวัน
วิษณุยันยึดตามโรดแม็ป
เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เสนอให้สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐบาลปฏิรูปก่อนเลือกตั้งว่า ถือเป็นความเห็นของนายวันชัย ซึ่งแสดงความเห็นอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่สามารถนำมาโยงว่าเป็นความเห็นของคสช.และรัฐบาลได้ เพราะคสช.และรัฐบาลจะต้องยึดการทำงานตามโรดแม็ป 3 ระยะ ตามที่นายกฯและหัวหน้าคสช.พูด
นายวิษณุ กล่าวว่า โรดแม็ปแต่ละระยะไม่ได้ผูกกันว่า จะใช้เวลากี่วันหรือกี่เดือน ส่วนที่ผูกกับเหตุการณ์ เช่น การร่างรัฐธรรมนูญอาจทำให้โรดแม็ปถูกกระทบจากการเปิดให้ลงประชามติ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นวันที่ 10 ม.ค. 2559 โดยจะหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)อีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปเรื่องทำประชามติ ดังนั้นเมื่อไรที่ล้มรัฐธรรมนูญก็อยู่ในโรดแม็ปได้ เพราะกำหนดเวลาไว้หมดแล้วในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ว่าเมื่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญยกร่างเสร็จ ส่งให้สปช.ปลายเดือนส.ค.นี้ สปช.จะลงมติต้นเดือนก.ย. ซึ่งมีขั้นตอนว่าถ้าผ่านหรือไม่ผ่านควรทำอย่างไร ที่ผ่านมากมธ.ยกร่างฯได้ปรับแก้ตามที่รัฐบาลและคสช.เสนอความเห็นในหลายประเด็น แม้จะไม่ถูกใจทั้งหมดก็ตาม คิดว่าทำได้แค่นี้ก็ถือว่าพอใจแล้ว
ชี้เป็นสิทธิ์'วันชัย-ไพบูลย์'จ้อ
เมื่อถามว่าการที่สปช.พูดลักษณะนี้ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่านายวันชัยเป็นสมาชิกสปช.มีสิทธิพูด และในฐานะโฆษกวิปสปช. อาจพูดเพื่อสะท้อนความเห็นภายในกลุ่ม ไม่ถือว่าผิด เพราะเขามีสิทธิลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากนายวันชัยไม่ได้เป็นสปช.แล้วออกมาพูดคงดูแปลก ที่ผ่านมาไม่มีใครไปปิดปากใคร ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ถ้าเห็นว่าดีก็ขอให้ช่วยเชียร์ให้ผ่าน แต่ถ้าเห็นว่ามีส่วนไม่ดีมากก็ต้องไม่ผ่าน ตนดูแล้วเห็นว่ากมธ.ยกร่างฯได้ปรับแก้ไขหลายประเด็นจนน่าพอใจอยู่แล้ว
เมื่อถามถึงนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ เตรียมล่ารายชื่อเสนอทำประชามติว่าจะให้รัฐบาลอยู่ปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่านายไพบูลย์มีสิทธิเสนอเพื่อนำไปสู่การบรรจุเป็นหัวข้อการลงประชามติ วันนี้ใครมีความคิดแบบใดก็เสนอได้ จากนั้นค่อยมาโหวตกันอีกครั้งในสปช.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งการแสดงความเห็นออกมา ดีกว่าอยู่นิ่งๆ แล้วเมื่อถึงเวลาจึงโผล่ออกมา ตรงนั้นจะทำใจกันไม่ทัน
ย้ำเลือกตั้ง ก.ย.59 หรือ เม.ย.60
รองนายกฯกล่าวว่า หากสปช.รับร่างรัฐธรรมนูญในเดือนก.ย.และผ่านประชามติในเดือนม.ค. 2559 จากนั้นจะใช้เวลา 2 เดือนให้กมธ.ยกร่างฯ ร่างกฎหมายลูก แล้วส่งให้สนช.พิจารณาอีก 3 เดือน ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยใช้เวลา 1 เดือน และจัดการเลือกตั้งภายใน 3 เดือนหรือ 90 วัน แสดงว่าเดือนก.ย. 2559 จะมีการเลือกตั้ง แต่ถ้าคว่ำรัฐธรรมนูญ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นใหม่จะต้องร่างให้เสร็จภายใน 6 เดือน และใช้เวลาลงประชามติ 4 เดือน จากนั้นอยู่ที่ขั้นตอนการทำกฎหมายลูกและส่งสนช.อีก 9 เดือนจึงจะมีเลือกตั้ง ในราวเดือนเม.ย. 2560 ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้เสียเวลาคือการต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ก็เสียเวลาไม่มาก
นายวิษณุ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยว่า ไม่กล้าแสดงความเห็น ใครจะพูดอะไรก็พูดไป รัฐบาลมีหน้าที่เดียวคือยึดตามโรดแม็ปตามขั้นตอน แต่หากมีเหตุใดต้องเบี่ยงเบนออกไป คงเป็นเรื่องอุบัติเหตุ รัฐบาลไม่ได้ไปเชียร์หรือห้าม ไม่ได้ควบคุม รัฐบาลมีจุดยืนของตัวเอง ซึ่งจะค่อยๆ ประกาศออกไป และจะไม่ต่างกับที่ตนพูดออกมา ตนไม่ได้พูดแทนรัฐบาล แต่พูดจากสิ่งที่ได้ยินจากรัฐบาล ทั้งนี้ การออกมาของนายสุเทพไม่คิดว่าจะกดดันรัฐบาล แต่อาจกดดันคนอื่น เช่นสปช. ทั้งนี้ ประเด็นการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป มีการพูดมาก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 ดังนั้น กปปส.ไม่ได้พูดผิดไปจากอดีต
อุ๋ย ชี้โรดแม็ปเป็นสัญญาต่อโลก
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวกรณีนายสุเทพเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งว่า การจะเสนออะไรมาเป็นเรื่องของเขา แต่รัฐบาลเดินตามโรดแม็ปตามที่นายกฯยืนยันมาตลอด
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯกล่าวว่า ตนยึดตามโรดแม็ป เราบอกกับประชาชนว่าอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ประชาชนไทย แต่ยังหมายถึงประชาคมโลก เมื่อเราสัญญากับประชาชนและประชาคมโลกไว้ ต้องยึดตามที่เคยกล่าวไว้ ไม่เช่นนั้นเราจะถูกว่าได้
'บิ๊กโด่ง'ก็ยันยึดโรดแม็ป
ที่กรมยุทธศึกษาทหารบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคสช. กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของนายสุเทพ ว่า ดีใจที่แต่ละกลุ่มเข้าใจรัฐบาล พร้อมทั้งปรารถนาดี ซึ่งนายกฯบอกแล้วว่าทุกกลุ่มต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และข้อเสนอที่ดีก็เป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งต่างๆ ที่ไม่ดีต้องพยายามทำความเข้าใจ เพื่อปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ตนขอให้แต่ละกลุ่มสบายใจ และไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลและคสช.จะเห็นด้วยทั้งหมด ถ้าเห็นว่ารัฐบาลทำอะไรไม่ถูกต้อง ทุกกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ได้ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำไปหารือว่าจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ถ้าเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม จะดูว่าอยู่ในกรอบหรือไม่ ถ้าเกินกรอบที่คสช.กำหนด เราจะใช้วิธีพูดคุยกันต่อไป
เมื่อถามถึงสปช.และนายสุเทพ แสดงความเห็นให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง อาจส่งผลให้คสช.ขยายโรดแม็ป พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ความคิดเห็นดังกล่าวเป็นมุมมองส่วนตัวของแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้เรามีขั้นตอนว่าจะรับหรือไม่รับความเห็นดังกล่าว แต่นายกฯยืนยันเสมอว่าต้องเป็นไปตามโรดแม็ป แต่บางช่วงอาจปรับระยะเวลา เนื่องจากมีเหตุการณ์บางประการ อย่างไรก็ตาม ทุกคนพยายามดำเนินการให้ดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่าโรดแม็ปจะขยายเวลาไปเป็นปี 2560 หรือไม่เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ต้องไปบวกลบคูณหาร วันเวลากันอย่างละเอียด ถ้าตนบอกไปมันอาจจะคลาดเคลื่อนได้
ปัด 2 มาตรฐาน-ดูแลเท่ากัน
เมื่อถามว่าแกนนำนปช.ระบุรัฐบาลและคสช.เลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ขอให้มั่นใจ รู้อยู่แล้วว่าสิ่งต่างๆ จะออกมาแบบนี้ ฝ่ายความมั่นคงก็ระมัดระวัง ฉะนั้นถ้าอะไรไม่เกินกรอบ และแสดงความเห็นที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่นำเอามวลชนออกมาชุมนุม ทำให้สถานการณ์บานปลาย ถ้ามาในลักษณะนั้น เจ้าหน้าที่คงจำเป็นต้องระงับไม่ให้ดำเนินการ แต่ที่ผ่านมายังไม่ปรากฏเช่นนั้น ขอให้กลุ่มอื่นๆ สบายใจได้ว่าฝ่ายความมั่นคงให้ความเท่าเทียมกัน
พล.อ.อุดมเดช กล่าวถึงกระแสข่าวคสช.ให้น้ำหนักกับการเคลื่อนไหวของนายสุเทพว่า ตนไม่ได้มองเช่นนั้น เพราะยังมีอีกหลายกลุ่มที่มีแนวคิดต่างๆ ถ้าดีก็ดี ถ้าอะไรที่ไม่ดีก็จะพูดคุยทำความเข้าใจกัน ซึ่งคสช.ทำแบบนี้มาตลอด ประกอบกับในภาพรวมได้รับความร่วมมือกับทุกกลุ่ม แต่อาจมีบางช่วงบางตอนที่ไม่เข้าใจกัน ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปทำความเข้าใจ ที่ผ่านมาก็ตักเตือนกันไป
พรเพชร ลั่นต้องยึดโรดแม็ป
ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวถึงการเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้ปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งว่า การดำเนินการทุกอย่างต้องปฏิบัติตามโรดแม็ป รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างไรต้องเป็นไปตามนั้นตามที่นายกฯบอกไป หากทำประชามติผ่านแล้วก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จะทำอย่างอื่นไม่ได้ ส่วนการเสนอให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง โดยนำไปใส่ในคำถามการทำประชามตินั้น คงพูดเพื่อหาแนวร่วม หรือพูดให้ความเห็นตามสมควรเท่านั้น แต่รัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่น ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว ต้องเป็นไปตามนั้น
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขอลายชื่อสมาชิกสปช.เพื่อสนับสนุนตั้งคำถามประชามติการปฏิรูป 2 ปีก่อนการเลือกตั้งว่า เท่าที่พูดคุยกับสมาชิกสปช.เบื้องต้น พบว่าขณะนี้มีผู้เห็นด้วยกับแนวทางนี้มากพอสมควร โดยกลุ่มสปช.ที่เห็นด้วยมาจากหลายกลุ่มไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นสปช.ด้านใดหรือสปช.จังหวัด หากได้รายชื่อครบตามระเบียบข้อบังคับการประชุมที่ผู้เสนอญัตติต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 5 คนแล้ว จะทำเป็นหนังสือเสนอเป็นญัตติต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช.ภายในสัปดาห์นี้ โดยจะนำญัตติมาหารือในวันเดียวกับที่สมาชิก สปช.ต้องลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 7 ก.ย. แต่ถ้าสปช.มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็คงไม่ต้องพิจารณาเรื่องการตั้งคำถามทำประชามติอีกต่อไป
สปช.ชี้วันชัยพูดเองเออเอง
นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สมาชิกสปช. กล่าวถึงกรณีนายวันชัยระบุมีนักการเมืองล็อบบี้สปช.ต่างจังหวัดให้ช่วยโหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็วว่า ในฐานะสปช.ท้องถิ่นขณะนี้ยังไม่เห็นว่ามีนักการเมืองมาล็อบบี้สปช.จังหวัด และจากการพูดคุยกับสปช.คนอื่นๆ หลายคน ก็ไม่มีใครบอกว่ามีนักการเมืองมาล็อบบี้ เป็นการพูดเองเออเองของนายวันชัยคนเดียว อย่ามาเหมารวมสปช.ทั้งหมด มั่นใจว่า สปช.มีดุลพินิจของตัวเอง
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอให้มีการปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้งนั้น ไม่มีอะไร รับประกันได้ว่าจะสร้างความปรองดองและปฏิรูปได้จริงหรือไม่ ขอให้ทุกอย่างเดินตามโรดแม็ปจะเหมาะสมกว่า ขณะนี้รัฐบาลทำเรื่องปฏิรูปอยู่แล้ว หากคสช.เห็นว่ามีปัญหาเรื่องกรอบเวลาการปฏิรูป ก็มีช่องทางแก้ปัญหา อาทิ การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ หรือการให้สนช. แก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งครอบคลุมการแก้ปัญหาได้หมดอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องยืดเวลาไปอีก 2 ปี
กมธ.ยังไม่เคาะที่มาส.ว.
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ช่วงระหว่างวันที่ 3-4 ส.ค. นี้ กมธ.ยกร่างฯ งดการประชุม เพื่อให้เวลาสมาชิกกมธ.ยกร่างฯ ทุกคนได้มีเวลาอ่านและศึกษารายละเอียดของบันทึกเจตนารมณ์รายมาตรา ซึ่งหากกมธ.ยกร่างฯ คนใดต้องการปรับแก้ไขก็สามารถนำข้อมูลมาเสนอต่อที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 5-7 ส.ค. ซึ่งจะพิจารณาบันทึกเจตนารมณ์รายมาตราในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จ ส่วนประเด็นที่ค้างการพิจารณาที่คงเหลืออยู่ อาทิ ที่มาของส.ว. ที่ประชุมจะนำมาพิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า โดยส่วนตัวเชื่อว่าคงไม่เปลี่ยนแปลงหลักการไปจากเดิม แต่รูปแบบของคณะกรรมการสรรหาและบทเฉพาะกาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ส.ว. สรรหา อาจจะหยิบยกมาหารือกันใหม่เพื่อดูความชัดเจนอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากประเด็นคณะกรรมการสรรหาส.ว. ซึ่งที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ จะนำมาพิจารณาทบทวนนั้น ยังมีประเด็นโครงสร้างของคณะกรรมการยุทธ ศาสตร์ เพื่อการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับสัดส่วนของคณะกรรมการชุดดังกล่าวว่าจะกำหนดให้มี 20 คน หรือ 23 คน แต่เบื้องต้นกมธ.ยกร่างฯได้วางโครงสร้างของคณะกรรมการชุดดังกล่าว โดยมีที่มาจาก 3 ส่วน ตามคำขอแก้ไขเพิ่มเติมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ ส่วนที่ 1 ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ส่วนที่ 2 ประกอบด้วย ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา และส่วนที่ 3 ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิการปฏิรูปด้านต่างๆ เป็นต้น
จตุพร อ้างพบ 2 แผนคว่ำรธน.
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีแผนการเตรียมคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญสปช.มีเป้าหมายเดียวกันคือการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น 2 แนวทางคือ การคว่ำร่างในชั้นสปช. และคว่ำร่างในชั้นการทำประชามติ ตนมั่นใจว่าจะคว่ำในชั้นทำประชามติ เนื่องจากเป็นอำนาจของประชาชน เพื่อยื้อเวลาและเลื่อนเวลาจัดการเลือกตั้งออกไป เปิดทางให้มีการปฏิรูป อีกทั้งต้องการล็อกเป้าล็อกสเป๊กว่าจะกำหนดใครเป็นนายกฯ ได้ รวมทั้งเพื่อให้กลุ่มตัวเองได้ทำงานต่อ ให้คสช.อยู่ต่อเพื่อกลุ่มสปช.จะได้อยู่ด้วย เนื่องจากอ่านขาดแล้วว่าตัวเองจะอยู่ไม่ได้ จึงเชียร์กันออกหน้าออกตา จึงมองว่าจะทำให้ประชาชนเสียหาย ประเทศเกิดความหายนะ
นายจตุพร กล่าวว่า ขณะเดียวกันมีสปช.บางกลุ่มไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประเทศพม่า แสดงถึงความไม่มั่นใจในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนหน้านี้เคยปฏิญาณตนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในไทยแล้วไม่สามารถทำได้ตลอดเวลาหลายเดือนในการร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่มีสปช. 1 กลุ่มต้องการทำประชามติ บวกกับการปฏิรูป 2 ปีอีก 1 กลุ่ม ซึ่งความจริงเป็นกลุ่มเดียวกันที่ตั้งใจคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจะได้ปฏิรูป
ลั่นกติกาไม่ชัดก็ไม่ต้องเลือกตั้ง
นายจตุพร กล่าวว่า ช่วง 1 ปีถึง 1 ปีครึ่งหลังจากนี้ยังไม่รู้ว่าประเทศชาติจะเดินหน้าในทิศทางใด ประชาชนจึงไม่ต้องตกใจกับข้อเสนอคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ บวกกับการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งอีก 2 ปี เพราะปัจจุบันมีเวลา อีก 1 ปีครึ่ง และการวางกติกาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าทำเพื่อให้ได้ใครมาเป็นนายกฯ
"เราสามารถชะลอความสูญเสียของประเทศได้ ด้วยการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติได้ เพราะถือเป็นอำนาจของประชาชน ส่วนตัวยืนยันชัดเจนหากกติกาไม่เป็นตามประชาธิปไตย ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกตั้ง" นายจตุพรกล่าว
พท.ตอก'วันชัย'พูดให้ชัด
นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนายวันชัยระบุมีนักการเมืองเคลื่อนไหวปลุกเร้าประชาชนเพื่อให้เลือกตั้งโดยเร็วว่า ไม่มี ยืนยันว่าแม้แต่ในภาคอีสานก็ไม่มี นายวันชัยพูดไปเรื่อย ยืนยันว่าทุกคนในพรรคเพื่อไทยรอและคอยดูว่า นายกฯจะทำตามโรดแม็ปที่ประกาศไว้หรือไม่ ถ้าถามว่าชาวบ้านอยากเลือกตั้งหรือไม่ เขาอยากเลือกตั้งอยู่แล้ว ส่วนนักการเมืองรอให้นายกฯทำตามโรดแม็ป ไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวาย จึงพยายามเงียบและพูดให้น้อยที่สุด
"การที่นายวันชัยพูดแบบนี้ ทำให้บรรยากาศเดินหน้าสู่โรดแม็ปที่วางไว้เสียหาย ที่บอกว่านักการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นระบุให้ชัดมาเลยว่าใครหรือกลุ่มไหน ฝ่ายความมั่นคงจะได้เรียกคุยได้ ไม่ใช่พูดมาลอยๆ ขอเตือน นายวันชัยพูดจาให้ระมัดระวังด้วย" นายสมคิดกล่าว
ปึ้งเตือนอย่าคิดว่าคนรู้ไม่ทัน
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรอง นายกฯและรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงสปช.ปลุกกระแสให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า สปช.คือหนึ่งในแม่น้ำ 5 สายที่มีต้นกำเนิดมาจากคสช. การที่รัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านสปช. ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะกำกับการแสดงกันได้ เช่น ถ้าจะอ้างว่า กมธ.ยกร่างฯ ไม่ยอมแก้ไข สปช.ก็ไม่ผ่าน หรืออ้างตามสปช.สายที่มาจากกปปส.ว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็เสนอให้ไม่โหวตผ่านรัฐธรรมนูญ หรือมีคำสั่งไม่ให้ผ่านรัฐธรรมนูญจากผู้ใหญ่โดยตรง ซึ่งไม่ต่างกับการเล่นละคร โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดกับประเทศชาติและประชาชน ทำเหมือนกับประเทศชาติเป็นของพวกท่านกลุ่มเดียว
"วันนี้ พวกท่านต้องตระหนักรู้ได้แล้วว่าประชาชนเดือดร้อนและเศรษฐกิจเสียหาย รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ บริหารงานไม่เป็น ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการมืออาชีพ โรดแม็ปที่ประกาศไว้ต่างชาติเขารู้แล้วว่าเลื่อนออกไปได้ตลอดเวลา จึงอยากเตือนทุกฝ่ายว่าอย่าคิดว่าคนอื่นรู้ไม่ทัน และพยายามกล่าวหานักการเมืองเป็นตัวปัญหาทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย หากครั้งนี้ประเทศไทยต้องก้าวถอยหลัง เศรษฐกิจถดถอย พวกท่านต้องรับผิดชอบ จะปฏิเสธไม่ได้ ความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจครั้งนี้ใหญ่หลวง ประวัติศาสตร์ชาติไทยต้องจารึกชื่อพวกท่านไว้ชั่วลูกชั่วหลาน โดยเฉพาะพวกที่ชอบอวดเก่งอวดดี" นายสุรพงษ์กล่าว
หนุนเดินตามโรดแม็ป
นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศ 6 ข้อ โดยให้สนช.จัดทำพ.ร.บ.ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ 6 ด้านดังนี้ 1.ต้องมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีความเหมาะสมต่อสภาพสังคมไทย 2.ต้องมีระบบเลือกตั้งที่เป็นธรรมและสุจริต 3.ต้องมีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น 4.ต้องขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมและพัฒนาอย่างยั่งยืน 5.ต้องมีกลไกรัฐที่ให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว 6.ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม
"6 เรื่องนี้สนช.ต้องออกเป็นกฎหมาย เวลานี้ไม่มีฝ่ายค้าน พิจารณาวันเดียวตั้งกมธ.ออกเป็นกฎหมายได้ทันที หากใครไม่ปฏิบัติตามถือว่าผิดกฎหมาย ส่วนที่สปช.เสนอแนวทางปฏิรูป 37 ด้านนั้น ขอให้เดินตามโรดแม็ปของนายกฯ ให้มีการเลือกตั้งในปี"59 มีรัฐบาล จากนั้นให้ปฏิรูป 37 ด้าน และ 6 วาระที่เสนอให้จบ เมื่อทำสำเร็จค่อยยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ตอนนี้สภาพเศรษฐกิจแย่มาก อยากให้รัฐบาลทำตามโรดแม็ป ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีก 17 เดือนสามารถทำทุกอย่างได้ทันเวลา เว้นแต่จะไม่ทำ คือเอาแต่พูดแต่ไม่ทำ"นายอำนวยกล่าว
กปปส.โต้ทำโรดแม็ปสะดุด
ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงข้อเรียกร้องของมูลนิธิให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งว่า ถูกนำไปบิดเบือนสร้างความสับสน ว่าจะกระทบต่อโรดแม็ปและต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ยืนยันว่าไม่เกี่ยว เราเรียกร้องให้ทุกฝ่ายทำการบ้านให้เสร็จแล้วส่งภายในเวลาที่กำหนด การปฏิรูปการเมืองต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ถูกบิดเบือนด้วยการใช้เงินซื้อพรรค ซื้อส.ส.และซื้อเสียง พรรคต้องเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ร่วมรับผิดชอบบริหาร กำหนดนโยบาย ต้องไม่เป็นของครอบครัว หรือกลุ่มใด
นายเอกนัฏ กล่าวว่า ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีอะไรผิดใจ ไม่ได้ลาออกจากพรรคเพราะขัดใจ แต่ออกมาเพื่อแยกแยะบทบาทของพรรคและการต่อสู้ของประชาชนให้ชัดเจน ซึ่งทั้ง 2 องค์กรจะมีส่วนคล้ายหรือต่างกัน มันเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนที่นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เปรียบเทียบมูลนิธิกับพรรคประชาธิปัตย์เป็นเหมือนแบบเดียวกับที่ นปช.เป็นมวลชนของพรรคเพื่อไทยนั้น คงไม่ใช่ แต่ถ้าร่วมกันทำประโยชน์ให้ชาติก็ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ และกับพรรคเพื่อไทยเองไม่ได้มีปัญหา ถ้าการปฏิรูปสำเร็จ ทุกสีเสื้อได้ประโยชน์ ความจริงถึงแม้จะถูกมองว่าเป็นฝั่งตรงข้ามกัน แต่ถ้านำเสนอการกระทำอย่างสุจริตเพื่อประโยชน์ของชาติและคนไทย ทางมูลนิธิก็ยินดีพร้อมรับฟัง สำหรับภารกิจแรกของมูลนิธิคือ 1.เชิญชวนประชาชนร่วมอุดมการณ์ 2.ปกป้องผลประโยชน์ของชาติและคนไทย และ 3. ผลักดันการปฏิรูป
แห่อวยพรเบิร์ธเดย์มาร์ค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 3 ส.ค. เป็นวันคล้ายวันเกิดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อายุครบ 51 ปี โดยช่วงเช้าส.ส.พรรค นำโดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรค เข้ามอบกระเช้าดอกไม้อวยพร นอกจากนั้นยังมีกระเช้าดอกไม้ จากนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯและประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา นายธีระ วงศ์สมุทร อดีตรมว.เกษตรและสหกรณ์และหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 และนายจุมพล สำเภาทอง รองผู้ว่าฯกทม. โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค เป็นผู้รับมอบแทน เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ติดภารกิจ อย่างไรก็ตาม วันที่ 5 ส.ค. อดีตส.ก.ของพรรค และกรรมการสาขาพรรคเขตบางพลัด จะเข้าอวยพรวันคล้ายวันเกิดนายอภิสิทธิ์ด้วย
"อุ๋ย"ชงใช้ภาษีบาปต้องผ่านสภา
เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้รับทราบถึงหนังสือเสนอการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการคลังและงบประมาณ 5 ประเด็นแล้ว โดยหลักการเห็นว่าการใช้งบขององค์กรต่างๆ จะต้องกระทำโดยผ่านวิธีการงบประมาณ หรือผ่านพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ส่วนหน่วยงานของรัฐที่กฎหมายไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ที่ขณะนี้มี 2-3 องค์กร แม้จะไม่สามารถแก้ไขเรื่องการหักภาษีมาให้หน่วยงานโดยตรงได้ แต่ต่อไปการใช้งบประมาณต่างๆ จะต้องกระทำตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย โดยจะบัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ
ขณะที่องค์กรใหม่ๆ ในลักษณะดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของสนช. กมธ.ยกร่างฯ อาจจะไม่ยอมให้มีการหักภาษีไปให้หน่วยงานนั้นๆ ได้โดยตรงอีกต่อไป รวมทั้งการใช้งบประมาณก็ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งจะบัญญัติในหลักการของรัฐธรรมนูญ หรือบางส่วนก็อยู่ในบทเฉพาะกาลเช่นกัน
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับข้อเสนดังกล่าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ได้ทำหนังสือถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เพื่อขอเสนอการปรับปรุง โดยเฉพาะประเด็นสำคัญในมาตรา 204 วรรคสอง ที่เกี่ยวกับการใช้เงินของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่แบ่งรายได้จากภาษีบาปไป 2% องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) แบ่งรายได้ไป 1.5% แต่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาทต่อปี ล่าสุด กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติขอแบ่งไป 2% ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ออกกฎหมายแบ่งรายได้ไปใช้โดยตรง
รายงานข่าวระบุว่า ทั้งนี้หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ การใช้จ่าย การก่อหนี้และภาระผูกพันของ 3 องค์กรดังกล่าวจะกระทำโดยพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐ หรือหมายถึงต้องนำเสนอและผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แตกต่างจากเดิมหน่วยงานดังกล่าวใช้งบประมาณอย่างอิสระ และไร้การตรวจสอบจากตัวแทนประชาชน
สำหรับ มาตรา 204 ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเสนอตัดข้อความทิ้งทั้งหมดและบัญญัติใหม่ โดยวรรคแรก "การกำหนดให้เงินรายได้แผ่นดิน จะกระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายและการตรากฎหมายให้หน่วยงานของรัฐไม่ต้องนำเงินรายได้ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ต้องมีขอบเขตและกรอบวงเงินเท่าที่ไม่กระทบต่อการรักษาวินัยการคลังและต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน และความจำเป็นของการใช้เงินของหน่วยงานของรัฐ
วรรคสอง การใช้จ่าย การก่อหนี้ และภาระผูกพันที่มีผลต่อเงินรายได้ตามวรรคหนึ่งต้องอยู่ภายใต้หลักความคุ้มค่า ความโปร่งใส ตามวินัยการคลังตามหมวดนี้ ทั้งนี้ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐ
วรรคสาม เงินรายได้ของหน่วยงานรัฐใดที่กำหนดให้ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เงินนอกงบประมาณ และเงินอื่นใดที่หน่วยงานรัฐนั้นมีอยู่ ให้หน่วยงานรัฐนั้นทำรายงานและรายรับและการใช้จ่ายเงินดังกล่าว เสนอต่อครม. ทุกสิ้นปีงบประมาณ และให้ครม.รายงานให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบ
วิษณุ-บิ๊กโด่ง-พรเพชรลั่น ยึดโรดแมป อุ๋ยชงรื้อใหญ่'สสส.'ใช้งบ ให้กมธ.กำหนดในรธน. สปช.แจงปลุกคว่ำร่างฯ มาร์ควันเกิด 51 ปีคึกคัก สุวณาโต้ปมกระสุนยาง
กมธ.ยกร่างฯงดประชุม 2 วัน ยอมแก้ที่มา กก.ยุทธศาสตร์ตาม รบ. ครม.ประสานเสียงยัน รบ.ยึดตามโรดแมป'บิ๊กตู่' 'วิษณุ'เผย กมธ.แก้ร่าง รธน.แล้วน่าพอใจ แนว'สุเทพ'กดดัน สปช.-ไม่กดดัน รบ. สปช.จังหวัดยันไม่มีใบสั่งลงมติ
มติชนออนไลน์ :
@'วิษณุ'ยันรบ.ยึดโรดแมป'บิ๊กตู่'
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้รัฐบาลอยู่บริหารประเทศต่อว่า เป็นความคิดเห็นของนายวันชัย ที่ผ่านมานายวันชัยได้แสดงความคิดเห็นมาโดยตลอด แสดงความเห็นอย่างสม่ำเสมอ ความเห็นของนายวันชัยไม่สามารถนำมาผูกโยงว่าเป็นความคิดเห็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลได้ คสช.และรัฐบาลจะต้องยึดตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้พูดแล้วหลายครั้ง จะยึดตามโรดแมป 3 ระยะ เพียงแต่แต่ละ ระยะ ไม่ได้ผูกกันว่ากี่วันกี่เดือน หากผูกกับเหตุการณ์ เช่น การร่างรัฐธรรมนูญ แม้เวลานี้โรดแมปอาจถูกกระทบจากการเปิดลงประชามติ คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 10 มกราคม แต่ตนจะเรียกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชุมอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการทำประชามติ
@ เผยกมธ.แก้รธน.แล้วน่าพอใจ
"เมื่อไหร่ที่มีการล้มรัฐธรรมนูญก็สามารถอยู่ในโรดแมปได้ เพราะกำหนดระยะเวลาไว้หมดแล้วในรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่าเมื่อกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่างเสร็จแล้วส่งให้ สปช.ปลายเดือนสิงหาคม สปช.จะลงมติต้นเดือนกันยายน มีขั้นตอนอยู่แล้วว่าถ้าผ่านหรือไม่ผ่านควรทำอย่างไร อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างฯได้ปรับแก้ไขตามรัฐบาลและ คสช.เสนอความเห็นในหลายประเด็น แม้จะไม่ถูกใจทั้งหมดก็ตาม เรื่องดังกล่าวไม่สามารถทำให้ถูกใจคนทุกกลุ่มเสนอความเห็นไปได้ ทำได้แค่นี้ก็ถือว่าพอใจแล้ว" นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า การพูดลักษณะนี้ของ สปช.ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า นายวันชัยเป็นสมาชิก สปช.มีสิทธิพูด นอกจากนี้ ยังเป็นโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สปช. (วิป สปช.) จึงอาจพูดเพื่อสะท้อนความเห็นภายในกลุ่ม ไม่ถือว่าผิด เพราะมีสิทธิลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากนายวันชัยไม่ได้เป็น สปช.แล้วออกมาพูดคงจะดูแปลก ที่ผ่านมาไม่มีใครไปปิดปากว่าพูดไม่ได้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ถ้าเห็นว่าดีก็ขอให้ช่วยกันเชียร์ให้ผ่าน แต่ถ้าเห็นว่ามีส่วนไม่ดีมากก็ต้องไม่ผ่าน ตนดูแล้วเห็นว่า กมธ.ยกร่างฯได้ปรับแก้ไขหลายประเด็นจนเป็นที่น่าพอใจอยู่แล้ว
@ ชี้ร่างรธน.ใหม่เสียเวลาไม่มาก
เมื่อถามถึงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ เตรียมเสนอให้ทำประชามติถามความเห็นประชาชนว่าจะให้รัฐบาลอยู่ปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า นายไพบูลย์มีสิทธิเสนอเพื่อนำไปสู่การบรรจุเข้าไปเป็นหัวข้อของการลงประชามติ วันนี้หากใครมีความคิดแบบใด สามารถเสนอความเห็นออกมาได้ จากนั้นก็ค่อยมาโหวตกันอีกครั้งใน สปช.และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) การแสดงความคิดเห็นออกมา ดีกว่าอยู่นิ่งๆ แล้วพอถึงเวลาโผล่ออกมา ตรงนี้จะทำให้ทำใจกันไม่ทัน
"สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญในเดือนกันยายนนี้ และผ่านประชามติเดือนมกราคม จากนั้นใช้เวลา 2 เดือน ให้ กมธ.ยกร่างฯ ร่างกฎหมายลูก แล้วส่งให้ สนช.พิจารณาอีก 3 เดือน จากนั้นส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยใช้เวลา 1 เดือน จัดการเลือกตั้งภายใน 3 เดือนหรือ 90 วัน นั่นแสดงว่าในเดือนกันยายนปี 2559 จะมีการเลือกตั้ง แต่ถ้ามีการคว่ำรัฐธรรมนูญ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นใหม่ก็จะต้องร่างให้เสร็จภายใน 6 เดือน และใช้เวลาในการลงประชามติ 4 เดือน จากนั้นก็อยู่ที่ขั้นตอนการทำกฎหมายลูกและส่ง สนช.อีก 9 เดือนจึงจะเลือกตั้ง สิ่งที่จะทำให้เสียเวลาคือการต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ก็เสียเวลาไม่มาก" รองนายกฯกล่าว
@ ไอเดีย"สุเทพ"กดดันสปช.
นายวิษณุ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯว่า ไม่กล้าแสดงความเห็น ใครจะพูดอะไรพูดไป รัฐบาลมีหน้าที่เดียวคือต้องยึดตามที่ได้ประกาศตามโรดแมป ตามขั้นตอน แต่หากมีเหตุต้องเบี่ยงเบนออกไป คงเป็นเรื่องอุบัติเหตุ รัฐบาลไม่ได้ไปเชียร์หรือห้าม ไม่ได้ควบคุม รัฐบาลมีจุดยืนของตัวเอง จะค่อยๆ ประกาศออกไป และจะไม่ต่างกับที่ได้พูดออกมาเท่าใดนัก ตนไม่ได้พูดแทนรัฐบาลแต่พูดจากสิ่งที่ได้ยินจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การออกมาของนายสุเทพ ไม่คิดว่าจะเป็นการกดดันรัฐบาล แต่อาจกดดันคนอื่น เช่น สปช. ทั้งนี้ ประเด็นการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูปมีการพูดมาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ดังนั้น กปปส.ไม่ได้พูดผิดไปจากอดีตที่ผ่านมา
@'อุ๋ย-สุวพันธุ์'ยันยึดโรดแมป
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีการเคลื่อนไหวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งว่า ยังยึดตามโรดแมป ได้บอกกับประชาชนว่าอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ประชาชนไทย แต่ยังหมายถึงประชาคมโลก สัญญากับประชาชนและประชาคมโลกไว้ ก็ต้องยึดตามที่เคยได้กล่าวไว้ ไม่เช่นนั้นจะถูกว่าได้
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า การจะเสนออะไรมาช่างเขา รัฐบาลเดินตามโรดแมป นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันมาโดยตลอดว่าจะยึดตามโรดแมป
@ 'บิ๊กโด่ง'พร้อมรับฟังทุกกลุ่ม
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ว่า ดีใจที่แต่ละกลุ่มมีความเข้าใจรัฐบาล พร้อมทั้งมีความปรารถนาดี และดีใจ ทุกสิ่งทุกอย่างนายกฯได้บอกแล้วว่าทุกกลุ่มต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และข้อเสนอที่ดีเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งไม่ดีต้องพยายามทำความเข้าใจ เพื่อปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ขอให้แต่ละกลุ่มมีความสบายใจ มองว่าถ้าออกมาในแนวทางที่ดี มีความเข้าใจกัน สนับสนุนกัน ไม่ได้หมายความว่า ถ้ารัฐบาลและ คสช.ถ้าทำอะไรไม่ถูกต้อง ทุกกลุ่มสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ถ้าหากมีสิ่งใดต้องแก้ไข ก็พร้อมยอมรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ
@ ปัดคสช.เอียงข้าง"สุเทพ"
พล.อ.อุดมเดชกล่าวถึงกระแสข่าว คสช.ให้น้ำหนักกับการเคลื่อนไหวของนายสุเทพว่า ไม่ได้มองเช่นนั้น เพราะมีอีกหลายกลุ่มมีแนวคิดต่างๆ ถ้าดีก็ดี ถ้าอะไรไม่ดีจะพูดคุยทำความเข้าใจกัน คสช.ได้ทำแบบนี้มาตลอด ประกอบกับปัจจุบันในภาพรวมได้รับความร่วมมือกับทุกกลุ่ม แต่อาจจะมีบางช่วงบางตอนไม่เข้าใจกันก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปทำความเข้าใจ ก็จะส่งผลให้ภาพรวมของประเทศชาติอาจถูกมองในแง่ไม่ดีได้ และที่ผ่านมาก็ได้ตักเตือนกันไป ขอขอบคุณกลุ่มต่างๆ เข้าใจ และให้ความร่วมมือ
เมื่อถามถึงกรณีที่แกนนำกลุ่ม นปช.ออกมาแสดงความคิดเห็นว่ารัฐบาลและ คสช.เลือกปฏิบัติอย่างสองมาตรฐาน เลขาธิการ คสช.กล่าวว่า "ขอให้มั่นใจเถอะครับ เรารู้อยู่แล้วสิ่งต่างๆ จะออกมาแบบนี้ ฝ่ายความมั่นคงระมัดระวัง เพราะฉะนั้นถ้าอะไรไม่เกินกรอบ และแสดงความเห็นไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่นำเอามวลชนออกมาชุมนุม อาจให้สถานการณ์บานปลาย ถ้ามาในลักษณะนั้นทางเจ้าหน้าที่คงจำเป็นต้องออกไประงับไม่ให้กลุ่มต่างๆ ดำเนินการ ที่ผ่านมายังไม่ปรากฏเช่นนั้น กลุ่มอื่นๆ สบายใจได้ว่าฝ่ายความมั่นคงให้ความเท่าเทียมกัน"
เมื่อถามถึง สปช.และนายสุเทพออกมาแสดงความคิดเห็นให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง อาจส่งผลให้ คสช.ขยายโรดแมป พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ก็เป็นตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ความคิดเห็นดังกล่าวเป็นมุมมองส่วนตัวของแต่ละกลุ่ม รัฐบาลมีขั้นตอนว่าจะรับหรือไม่รับความคิดเห็นดังกล่าว แต่ว่าทางนายกรัฐมนตรียืนยันเสมอว่าต้องเป็นไปตามโรดแมป แต่บางช่วงอาจปรับระยะเวลา เนื่องจากอาจมีเหตุการณ์บางประการ อย่างไรก็ตามทุกคนพยายามอย่างยิ่งและดำเนินการให้ดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า โรดแมปดังกล่าวจะขยายเวลาไปเป็นปี 2560 เลขาธิการ คสช.กล่าวว่า "ต้องไปบวกลบคูณหารวันเวลากันอย่างละเอียด ถ้าผมบอกไปอาจจะคลาดเคลื่อนได้"
@ "อุ๋ย"ชงรื้องบสสส.-ไทยพีบีเอส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ได้ทำหนังสือถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เพื่อขอเสนอปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการคลังและงบประมาณ 5 ประเด็น โดยเฉพาะมาตรา 204 วรรคสอง เกี่ยวกับการใช้เงินของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แบ่งรายได้จากภาษีบาปไป 2 เปอร์เซ็นต์ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) แบ่งรายได้ 1.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาทต่อปี และล่าสุดกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติขอแบ่งไป 2 เปอร์เซ็นต์ หน่วยงานเหล่านี้ออกกฎหมายแบ่งรายได้ไปใช้โดยตรง ต่อไปภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ การใช้จ่าย การก่อหนี้ และภาระผูกพัน ของ 3 องค์กรดังกล่าวจะกระทำโดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐ หรือต้องนำเสนอและผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แตกต่างจากเดิมหน่วยงานดังกล่าวใช้งบประมาณอย่างอิสระ ไร้การตรวจสอบจากตัวแทนประชาชน
@ ระบุต้องผ่านครม.-สภาก่อน
สำหรับ มาตรา 204 ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้เสนอตัดข้อความทิ้งทั้งหมดและบัญญัติใหม่ วรรคแรก ระบุว่า "การกำหนดให้เงินรายได้แผ่นดิน จะ กระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายและการตรากฎหมายให้หน่วยงานของรัฐไม่ต้องนำเงินรายได้ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ต้องมีขอบเขตและกรอบวงเงินเท่าที่ไม่กระทบต่อการรักษาวินัยการคลัง และต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน และความจำเป็นของการใช้เงินของหน่วยงานของรัฐ
วรรคสอง ระบุว่า "การใช้จ่าย การก่อหนี้ และภาระผูกพันที่มีผลต่อเงินรายได้ตามวรรคหนึ่งต้องอยู่ภายใต้หลักความคุ้มค่า ความโปร่งใส ตามวินัยการคลังตามหมวดนี้ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐ"
วรรคสาม ระบุว่า "เงินรายได้ของหน่วยงานรัฐใดกำหนดให้ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เงินนอกงบประมาณ และเงินอื่นใดที่หน่วยงานรัฐนั้นมีอยู่ ให้หน่วยงานรัฐนั้นทำรายงานและรายรับและการใช้จ่ายเงินดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกสิ้นปีงบประมาณ และให้ ครม.รายงานให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบ"
@ กมธ.ยกร่างฯใส่บทเฉพาะกาล
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯกล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯได้รับทราบถึงหนังสือดังกล่าวแล้ว โดยหลักการเห็นว่าการใช้งบขององค์กรต่างๆ จะต้องกระทำโดยผ่านวิธีการงบประมาณ หรือผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ส่วนหน่วยงานของรัฐที่กฎหมายไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ขณะนี้มี 2-3 องค์กร แม้จะไม่สามารถแก้ไขเรื่องการหักภาษีมาให้หน่วยงานโดยตรงได้ แต่ต่อไปการใช้งบประมาณต่างๆ จะต้องกระทำตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย โดยจะบัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ขณะที่องค์กรใหม่ๆ ในลักษณะดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในอนาคต ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของ สนช.นั้น กมธ.ยกร่างฯอาจจะไม่ยอมให้หักภาษีไปให้หน่วยงานนั้นโดยตรงอีกต่อไป รวมทั้งการใช้งบประมาณก็ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา จะบัญญัติในหลักการของรัฐธรรมนูญ หรือบางส่วนก็อยู่ในบทเฉพาะกาลเช่นกัน
@ พักประชุม 2 วันให้อ่านเจตนารมณ์
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ช่วงระหว่างวันที่ 3-4 สิงหาคม ทาง กมธ.ยกร่างฯจะงดการประชุม เพื่อให้เวลาสมาชิก กมธ.ยกร่างฯทุกคนได้มีเวลาอ่านและศึกษารายละเอียดของบันทึกเจตนารมณ์รายมาตรา หาก กมธ.ยกร่างฯคนใดต้องการปรับแก้ไขก็สามารถนำข้อมูลมาเสนอต่อที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯในวันที่ 5-7 สิงหาคม จะพิจารณาบันทึกเจตนารมณ์รายมาตราในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จ ส่วนประเด็นค้างการพิจารณาคงเหลืออยู่ อาทิ ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้น ที่ประชุมจะนำมาพิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า แต่ส่วนตัวเชื่อว่าคงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการไปจากเดิม แต่รูปแบบของคณะกรรมการสรรหาและบทเฉพาะกาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ส.ว.สรรหา ก็อาจจะหยิบยกมาหารือกันใหม่เพื่อดูความชัดเจนอีกครั้ง
@ ยอมแก้ที่มากก.ยุทธศาสตร์ตามรบ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากประเด็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯจะนำมาพิจารณาทบทวนแล้ว ยังมีประเด็นโครงสร้างของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับสัดส่วนของคณะกรรมการชุดดังกล่าวว่าจะให้มี 20 คน หรือ 23 คน แต่เบื้องต้นทาง กมธ.ยกร่างฯได้กำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการชุดดังกล่าวไว้คร่าวๆ มีที่มาจาก 3 ส่วนตามคำขอแก้ไขเพิ่มเติมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ ส่วนที่ 1 ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ส่วนที่ 2 ประกอบด้วย ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา และส่วนที่ 3 ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิการปฏิรูปด้านต่างๆ เป็นต้น
@ "พรเพชร"ชี้รบ.ไม่มีทางเลือกอื่น
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวถึงการเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งว่า การดำเนินการทุกอย่างต้องปฏิบัติตามโรดแมป หากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างไรต้องเป็นไปตามนั้น ตามที่นายกฯ ได้บอกไป หากทำประชามติผ่านแล้ว จะทำอย่างอื่นไม่ได้ ส่วนการเสนอให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง โดยให้ไปใส่ในคำถามการทำประชามตินั้น คงเป็นการพูดเพื่อหาแนวร่วม หรือการพูดให้ความเห็นตามสมควรเท่านั้น แต่รัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่น จะต้องปฏิบัติตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ขณะนี้มีการกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว จึงต้องเป็นไปตามนั้น
@ "ไพบูลย์"เผยหนุนปฏิรูปก่อนอื้อ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช.และ กมธ.ยกร่างฯกล่าวถึงความคืบหน้าการขอลายชื่อสมาชิก สปช.เพื่อสนับสนุนตั้งคำถามประชามติว่าเห็นด้วยกับการปฏิรูป 2 ปีก่อนการเลือกตั้ง ว่า เท่าที่ได้พูดคุยกับสมาชิก สปช.เบื้องต้น มีผู้เห็นด้วยมากพอสมควร กลุ่ม สปช.ที่เห็นด้วยมาจากหลากหลายกลุ่ม ไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็น สปช.ด้านใด หรือเป็น สปช.จังหวัด หากได้รายชื่อครบตามระเบียบข้อบังคับการประชุมที่ผู้เสนอญัตติต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 5 คน แล้วจะทำเป็นหนังสือเพื่อเสนอเป็นญัตติต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ภายในสัปดาห์นี้ ญัตติดังกล่าวจะนำมาหารือในวันเดียวกันกับที่ สปช.ต้องลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 7 กันยายน แต่หาก สปช.มีมติว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคงจะไม่ต้องพิจารณาตั้งคำถามทำประชามติอีกต่อไป ต้องขอชี้แจงกับคนเข้าใจผิดว่าในวันลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะไม่สามารถพิจารณาวาระอื่นๆ ได้อีกนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดไว้ชัดเจนว่า สปช.สามารถดำเนินได้ทั้งลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและการพิจารณาประเด็นคำถามในการดำเนินการจัดทำประชามติ
@ สปช.อุบลฯยันไม่มีใบสั่งลงมติ
นายนิมิต สิทธิไตรย์ สมาชิก สปช. จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงกรณีนายวันชัย สอนศิริ สปช. ระบุมีนักการเมืองล็อบบี้ สปช.ต่างจังหวัดเพื่อให้ช่วยโหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็วว่า ยังไม่ได้ยินว่ามีการล็อบบี้ และไม่ทราบว่านายวันชัยออกมาพูดในช่วงนี้เพราะอะไร เนื่องจากที่ผ่านมาตั้งแต่มาเป็น สปช.ไม่เคยมีคำสั่งให้ลงมติในเรื่องใดเลย การลงมติร่างรัฐธรรมนูญจะต้องดูเนื้อของร่างที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแก้ไขร่างสุดท้ายก่อน ขณะนี้ยังถือว่ามีเวลาและหลังจากสปช.ได้รับร่างสุดท้ายแล้ว ก็ยังมีเวลาอีก 15 วันในการศึกษาร่างก่อนลงมติ สมาชิกทุกคนมีความเป็นอิสระในการลงมติอยู่แล้ว ต้องดูว่าเนื้อหา กมธ.ยกร่างฯปรับแก้เป็นอย่างไร เพราะปัญหาของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเนื้อหาดี แต่ปฏิบัติได้จริงยาก ส่วนคำถามแนบการทำประชามติยังไม่ได้ข้อสรุปกัน คาดว่าสัปดาห์นี้สมาชิกน่าจะเริ่มพูดคุยกันบ้าง คำถามที่มีคนเสนอออกมายังไม่ใช่คำถามในการถาม สปช.เพราะยังเป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น
@ สปช.ท้องถิ่นปัดปฏิรูปก่อนกาบัตร
นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สปช.การปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ยังไม่เห็นว่ามีนักการเมืองมาล็อบบี้ สปช.จังหวัด จากการพูดคุยกับ สปช.คนอื่นก็ไม่มีใครบอกว่ามีนักการเมืองมาล็อบบี้ให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการพูดเอง เออเองของนายวันชัยคนเดียว อย่ามาเหมารวม สปช.ทั้งหมด มั่นใจว่า สปช.มีดุลพินิจของตัวเอง ส่วนข้อเสนอให้ปฏิรูป 2 ปีก่อนการเลือกตั้งนั้น ไม่สามารถมีอะไรรับประกันได้ว่าจะสร้างความปรองดองและปฏิรูปได้จริง ขอให้ทุกอย่างเดินไปตามโรดแมปจะเหมาะสมกว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการปฏิรูปอยู่แล้ว หาก คสช.เห็นว่ามีปัญหาเรื่องกรอบเวลา ก็มีช่องทางแก้ปัญหาได้อยู่แล้ว อาทิ การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ หรือการให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ครอบคลุมการแก้ปัญหาได้หมดอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขอยืดเวลาออกไปอีก 2 ปี
นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ สปช.ท้องถิ่น ในฐานะเลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ได้สนใจการปลุกกระแสจากบุคคลบางกลุ่มเสนอให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือจะให้ สปช.ทำหน้าที่ต่อหลังโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อว่า สปช.ทุกคนมีวุฒิภาวะตัดสินใจเองได้ รัฐธรรมนูญใหม่จะต้องตอบโจทย์เพื่อให้เกิดความปรองดองของคนในประเทศ เมื่อโหวตแล้วก็ถือว่าหมดหน้าที่ ผู้มีอำนาจก็ควรจะทำตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการบริหารประเทศ
@ กมธ.ท้องถิ่นย้ำไม่ยุบกำนัน-ผญบ.
นายพงศ์โพยม วาศภูติ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น (กมธ.ท้องถิ่น) สปช. อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.ท้องถิ่นยังไม่มีการหารือกรณีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ และคงไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้ ขณะเดียวกันยังไม่มีฝ่ายใดมาเจรจา การตัดสินใจโหวตรับร่างหรือไม่ จะเป็นดุลพินิจของ สปช.แต่ละราย การพ้นจากหน้าที่ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ส่วนตัวไม่มีปัญหา ยอมรับสาระสำคัญของร่างฉบับใหม่ แต่อาจมีบางหมวดบางมาตราอาจจะไม่ถูกใจบ้างถือเป็นเรื่องปกติของแต่ละบุคคล สำหรับหมวดท้องถิ่นขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการยกร่าง คาดว่าจะมีไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก การจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่นำร่องที่มีความพร้อมอยู่ระหว่างการยกร่าง ขอย้ำว่า กมธ.ท้องถิ่นไม่มีข้อเสนอยุบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อย่างแน่นอน
@ "หมอผี"หนุน"บิ๊กตู่"อยู่ปฏิรูปก่อน
นายสัมพันธ์ ทองสมัคร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เห็นด้วยจะให้นายกรัฐมนตรีอยู่ต่อ จะมากกว่า 2 ปีก็ได้ เพราะต้องปฏิรูปในหลายเรื่อง ต้องไม่ลืมว่าการปฏิรูปนั้นจะให้สำเร็จภายใน 1-2 ปีไม่ได้ ตนเป็นนักการเมืองมาจากการเลือกตั้ง การเลือกตั้งในช่วงนี้ยังทำไม่ได้ เพราะผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่ จึงต้องใช้วิธี คสช.ยึดอำนาจดีที่สุด วันนี้กำลังจะปฏิรูปประเทศก็จะต้องทำให้แล้วเสร็จ อย่าคาราคาซัง จะกี่ปีก็ต้องให้เสร็จ นายกรัฐมนตรีจะต้องปฏิรูปต่อจากการปฏิรูปบ้านเมือง คือกระทรวงศึกษาธิการ ตอนนี้ยังไม่มีการปฏิรูป ต่อมาเป็นเรื่องของกรมตำรวจ จะต้องมี 2 สังกัด ตร.จะต้องเป็นของท้องถิ่น และ ตร.ที่สังกัดส่วนกลาง แต่จะเป็นในรูปแบบใดก็ต้องมาว่ากันอีกครั้ง และในส่วนของท้องถิ่นจะต้องมีสภาพัฒนาจังหวัดไม่ใช่ อบจ. มีหน้าที่ในการดูแลพัฒนาจังหวัดทุกอย่าง
@ "ปึ้ง"ดักคอสปช.ไม่ผ่านร่างรธน.
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการพิจารณาผ่านหรือไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. ว่า คนไทยคงจำได้ว่า สปช. คือหนึ่งในแม่น้ำห้าสายที่มีต้นกำเนิดมาจาก คสช. การที่รัฐธรรมนูญจะผ่านไม่ผ่าน สปช. ไม่ใช่เรื่องยากจะกำกับการแสดงกันได้ เช่น ถ้าจะอ้างว่า กมธ.ยกร่างฯไม่ยอมแก้ไข สปช.ก็ไม่ผ่านร่าง รธน. หรือไม่อ้างตาม สปช.สายที่มาจาก กปปส. ว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เสนอให้ไม่โหวตผ่าน รธน. หรือไม่ก็มีคำสั่งไม่ให้ผ่าน รัฐธรรมนูญจากผู้ใหญ่โดยตรง เป็นต้น ไม่ต่างอะไรกับเล่นละครกันไป โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดกับประเทศชาติและประชาชน ทำเหมือนกับประเทศชาติเป็นของคนกลุ่มเดียว วันนี้ต้องตระหนักรู้ได้แล้วว่าประชาชนเดือดร้อนและเศรษฐกิจเสียหาย ก็เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ บริหารงานไม่เป็น เพราะส่วนใหญ่เป็นข้าราชการมืออาชีพ
@ พท.เตือน"วันชัย"พูดอะไรให้ระวัง
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พท. กล่าวถึงกรณีนายวันชัย สอนศิริ สปช.ระบุมีนักการเมืองเคลื่อนไหวปลุกเร้าประชาชน เพื่อให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วว่า ไม่มีหรอก ยืนยันว่าในภาคอีสานไม่มี นายวันชัยก็พูดไปเรื่อย ขอยืนยันว่า วันนี้ทุกคนในพรรค พท.รอและคอยดูว่านายกฯจะทำตามโรดแมปที่วางไว้หรือไม่ แต่ถ้าถามว่าชาวบ้านอยากเลือกตั้งหรือไม่ เขาอยากเลือกตั้งอยู่แล้ว ส่วนนักการเมืองรอให้นายกฯทำตามโรดแมป ไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวาย จึงพยายามเงียบ และพูดให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม การที่นายวันชัยออกมาพูดแบบนี้ทำให้บรรยากาศในการเดินหน้าสู่โรดแมปที่วางไว้เสียหาย บอกนักการเมืองหรือกลุ่มการเมือง คนไหนหรือกลุ่มไหนระบุให้ชัด ฝ่ายความมั่นคงจะได้เรียกคุยได้ ไม่ใช่พูดมาลอยๆ ฝากเตือนนายวันชัยพูดจาให้ระมัดระวังด้วย
@ "เอกนัฏ"โพสต์แจงข้อเรียกร้อง
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอกนัฏ พร้อมพันธุ์(ขิง)" ถึงข้อเรียกร้องของมูลนิธิให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง จนนำไปสู่การถูกบิดเบือนสร้างความสับสน จะทำให้กระทบต่อโรดแมปและต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ว่า ยืนยันว่าไม่เกี่ยว ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายทำการบ้านให้เสร็จแล้วส่งภายในเวลาที่กำหนด หากถามว่าปฏิรูปแล้วคนไทยทั้งประเทศได้ประโยชน์ ก็ใช่ และรวมถึงทุกพรรคการเมือง มวลชนทุกกลุ่มด้วย การปฏิรูปการเมืองต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยไม่ถูกบิดเบือนด้วยการใช้เงินซื้อพรรค ซื้อ ส.ส. และซื้อเสียง พรรคการเมืองต้องเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นเจ้าของพรรคร่วมกัน ร่วมรับผิดชอบบริหาร กำหนดนโยบาย ต้องไม่เป็นของของครอบครัว หรือกลุ่มใด
@ โต้"วรชัย"ไม่เหมือนนปช.
นายเอกนัฏระบุกรณีนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) เปรียบเทียบมูลนิธิกับพรรค ปชป.เป็นเหมือนแบบเดียวกับที่ นปช.เป็นมวลชนของพรรค พท.ว่า คงไม่ใช่ แต่ถึงกระนั้นถ้าเป็นการร่วมกันทำประโยชน์ให้ชาติก็ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ และกับพรรค พท.เองไม่ได้มีปัญหาเช่นกัน ถ้าไม่หลงผิดไปพยายามออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมล้างผิดให้กับนักการเมืองที่กินโกงบ้านเมืองอีก วัตถุประสงค์ของมูลนิธิไม่ใช่เพื่อสร้างคะแนนนิยมสำหรับการเลือกตั้ง ไม่ใช่คู่แข่งหรือแนวร่วมของพรรคการเมืองใด สิ่งที่ทำจะเลือกพรรคไหนเป็นใครก็ได้ ประโยชน์เหมือนกับ นปช.ก็เริ่มจากการเป็นขบวนการของประชาชนเหมือนกัน
"ผมพูดตลอดว่าเคารพความต้องการของมวลชน นปช. ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับขบวนการล้มเจ้า การใช้กำลังอาวุธ และการแบ่งแยกประเทศ ถ้าการปฏิรูปสำเร็จ ทุกสีเสื้อได้ประโยชน์ ความเป็นจริงที่ผ่านมาถึงแม้จะถูกมองว่าเป็นฝั่งตรงข้ามกัน แต่ถ้าการนำเสนอกระทำอย่างสุจริต เป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนคนไทย ทางมูลนิธิก็ยินดีพร้อมรับฟัง เรามาร่วมกันพัฒนาชาติ ถ้าเป็นคนดี ไม่ต้องกลัวจะทำความดี ร่วมกันปฏิรูปประเทศไทย ทำอย่างมุ่งมั่นสร้างสรรค์ ก้าวต่อไปเพื่อคนไทยทุกคน สรุปสั้นๆ ภารกิจแรกของมูลนิธิคือ 1.เชิญชวนประชาชนร่วมอุดมการณ์ 2.ปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนคนไทย และ 3.ผลักดันการปฏิรูป" นายเอกนัฏกล่าว
@ ปชป.เผยสัมพันธ์มูลนิธิต่างนปช.
นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ขอให้นายวรชัยไปจัดการกับพรรคของตัวเองก่อน อย่ามายุ่งกับพรรค ปชป. ถ้าพรรค พท.เคลื่อนไหวก็อย่าให้มีปัญหา เพราะพรรค ปชป.กับมูลนิธิมีความเห็นที่คล้ายกันหรือแตกต่างกันได้ แต่ไม่ใช่อันเดียวกัน บทบาท ปชป. แตกต่างกัน ไม่เหมือน นปช.กับพรรคเพื่อไทยที่ไม่แยกจากกัน เป็นพวกเดียวกัน จึงขอให้นายวรชัยอย่ามาวุ่นวายกับพรรคอื่น ให้ทำหน้าที่ของตนเองให้ดี
@ แห่อวยพรวันเกิด'มาร์ค'51 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 3 สิงหาคม เป็นวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 51 ปี ในช่วงเช้า ส.ส.ปชป. นำโดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรค เข้ามอบกระเช้าดอกไม้อวยพรวันคล้ายวันเกิด นอกจากนั้นยังมีกระเช้าดอกไม้จากนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายธีระ วงศ์สมุทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 2 และนายจุมพล สำเภาทอง รองผู้ว่าฯกทม. เป็นต้น โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค เป็นผู้รับมอบแทน เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ติดภารกิจ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ อดีต ส.ก.ของพรรคและกรรมการสาขาพรรคเขตบางพลัดจะเข้าอวยพรวันคล้ายวันเกิดนายอภิสิทธิ์ด้วย