- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 29 July 2015 12:54
- Hits: 7710
ลุ้น'อียู'อีก จ่อตัดสินประมง เอกชน-เริ่มโวย รัฐแก้ไม่ตรงจุด บิ๊กตู่หวัง-ปีหน้า ไทยพ้น'เทียร์3''ไก่อู'จี้มะกันแจง
ผวาอีก 'อียู'ใกล้ตัดสิน ประมงไทย เอกชนชี้รัฐบาลแก้ไม่ตรงจุด 'ดอน' ชี้ใบเหลือง-ใบ แดง'ไอยูยู'ผลกระทบมากกว่า'เทียร์3' แต่เชื่อผลงานรบ.จะช่วยผ่านไปได้ 'บิ๊กตู่'ลั่นต้องแก้ค้ามนุษย์ต่อ เผยสถานทูตสหรัฐแจง ประเมินก่อนรัฐบาลลุยแก้ ยอมรับเห็นความตั้งใจไทย เชื่อปีหน้าจะดีขึ้น 'ไก่อู'จี้มะกันแจงเหตุให้'เทียร์3" "ซีพี"ชี้กระทบส่งกุ้งไปยุโรป เพราะถูกตัดสิทธิพิเศษภาษี
วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9009 ข่าวสดรายวัน
ลุ้นอีก'อียู'ตัดสินประมงต.ค.นี้
จากกรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา จัดทำรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ หรือ ทิป รีพอร์ต โดยประเทศไทยยังติดอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 หรือระดับร้ายแรงที่สุด ร่วมกับอีก 23 ประเทศ อาทิ อิหร่าน ลิเบีย เกาลีเหนือ รัสเซีย ซีเรีย และซิมบับเว ฯลฯ โดยนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ อเมริกา มีเวลา 90 วันในการตัดสินใจว่าจะดำเนินมาตรการแซงก์ชั่น หรือลงโทษต่อรัฐบาลในกลุ่มเทียร์ 3 อย่างไร ซึ่งอาจระงับความช่วยเหลือต่างๆ หรือถอนการสนับสนุนการให้เงินกู้แก่ประเทศเหล่านี้จากธนาคาร โลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ รวมถึงคว่ำบาตรสินค้าไทย
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 28 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากการประกาศให้ไทยอยู่ในระดับเทียร์ 3 เช่นเดิม นอกจากการจับตาท่าทีของนายโอบามาแล้ว ในเดือนต.ค.นี้ สหภาพยุโรป (อียู) จะทบทวนการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal,Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) ของไทยอีกครั้งหลังจากเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ประกาศให้ใบเหลืองการทำประมงไทย ที่กระทบไม่น้อยต่อภาพพจน์ของสินค้าไทย ที่จะส่งออกไปต่างประเทศ หากในเดือนต.ค. อียู คงใบเหลือประมงไทย ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าไทยไปมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่หากให้ใบแดงจะทำให้ อียูระงับนำเข้าสินค้าไทย และมีปัญหากับไทยในภาพรวมแน่นอน
'บิ๊กตู่'ลั่นลุยแก้ค้ามนุษย์ต่อไป
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีสหรัฐ ยังคงจัดอันดับสถานการณ์ค้ามนุษย์ของไทยอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 ว่า รัฐบาลไม่มีท่าทีต่อเรื่องนี้ เราจะทำงานต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องของกฎกติกาสากล ซึ่งเราต้องทำเพราะที่ผ่านมามีปัญหามาก ต้องแก้ไขในทุกมิติทั้งด้านกฎหมาย วิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่และการลงโทษต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด โดยมีการจดทะเบียนแรงงาน พิสูจน์สัญชาติ ดูเรื่องของผู้ประกอบการว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือไม่ รัฐบาลดูทุกมิติอยู่แล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทางสถานทูตสหรัฐได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เห็นความตั้งใจในการดำเนินการของไทย แต่ช่วงที่ประเมินกระบวนการนั้นเพิ่งเริ่ม จึงต้องเสนอความคิดเห็นออกมาตามนั้น และหลังจากนั้นสหรัฐก็เห็นความตั้งใจของไทย คิดว่าจะดีขึ้นในโอกาสหน้า
วอนเลิกกดดัน-ให้กำลังใจดีกว่า
"ขอให้ใจเย็นๆ อย่าไปกังวล ถ้าเราทำความดีแล้ว เราเชื่อมั่นว่าเราแก้ไข วันนี้เราไม่ได้แก้เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เราแก้เพื่อประเทศไทยของเรา เช่น ให้การประมงของเราถูกกฎหมายจะได้ไม่เป็นคดีความกับประเทศโน้นประเทศนี้ นอกจากภาระหน้าที่ตามพันธสัญญากับต่างประเทศแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือเราทำอย่างไรถึงจะรักษาทรัพยากรธรรมชาติของเราไว้ให้นานที่สุด อย่างทรัพยากรสัตว์น้ำทางประมงเพราะมันถูกจับมากเกินไปหรือเปล่า ใช้อุปกรณ์ที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องให้เวลาทะเลของเราได้พักบ้าง จะทำให้ปลาและสัตว์ต่างๆ ได้มีโอกาสออกลูกออกหลาน มีป่าชายเลน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า วันนี้ต้องทำ 2 อย่างคือพันธสัญญากับต่างประเทศ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติของไทย เมื่อเขาประเมินมาเราก็แก้ไขทุกอย่าง อยู่ที่จะเร็วหรือช้า เรื่องนี้เป็นกำลังใจให้กันจะดีกว่า เพราะกดดันกันเองก็ไม่เกิดประโยชน์กับใครขออย่ามาว่ากันเอง ตนยืนยันทำทุกอย่างทุกเรื่อง
'ไก่อู'จี้สหรัฐแจงให้'เทียร์ 3'
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ปรารภในครม.ว่า ประเทศไทยไม่กังวลไม่ท้อแท้ เพราะรัฐบาลและคนไทยรู้ดีว่าดำเนินการอะไรอยู่และ มีความก้าวหน้าเพียงใด และที่ผ่านมามีมาตรการที่เข้มข้น ประเทศไทยเคารพในสิทธิมนุษยชน โดยมีจุดยืนชัดเจนคือ ไม่ยอมให้ขบวนการที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านในการค้ามนุษย์อย่างเด็ดขาด และติดตามช่วยเหลือผู้ที่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย ส่วนรายงานผลการประเมินของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ออกรายงาน จะชี้แจงต่อประชาคมโลกให้ชัดเจนว่า เก็บรวบรวมข้อมูลจากส่วนใด และใช้หลักเกณฑ์ใดในการประเมิน เพื่อยืนยันว่าเป็นการดำเนินการบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง โดยปราศจากวาระซ่อนเร้นอื่นใด
พล.ต.สรรเสริญ ยังกล่าวโต้กรณีที่นาย สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรมว.ต่างประเทศ วิจารณ์รัฐบาลไม่มีความพยายามแก้ปัญหาอย่างจริงจังว่า อยากแนะนำให้นาย สุรพงษ์หยุดวิจารณ์ เพราะยิ่งพูดยิ่งเข้าตัวเอง เนื่องจากประเทศไทยได้รับคำเตือนปัญหาการค้ามนุษย์มาหลายปีแล้ว แต่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยสนใจจัดการ จนกลายเป็นมรดกบาปให้รัฐบาลชุดปัจจุบันมาตามแก้ไข
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในที่ประชุมครม.ได้วิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ประกาศให้มาเลเซียขยับลำดับจากเทียร์ 3 ขึ้นไปอยู่ในเทียร์ 2 หรือประเทศเฝ้าระวังนั้น อาจมีความเป็นไปได้ว่ามาเลเซียจะมีส่วนร่วมใน Trans-Pacific Partnership (TPP) ในขณะที่ไทยจะต้องคิดอย่างรอบคอบในการที่จะเข้าร่วมดำเนินการด้านเศรษฐกิจ เพราะไม่ใช่ว่าการร่วมจะมีประโยชน์อย่างเดียว แต่ต้องมีกฎกติกาต่างๆ ซึ่งมีทั้งผลได้และผลเสีย โดยนายกฯ มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปศึกษาเรื่องนี้ว่าการเข้าไปร่วมดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าวว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร
ดอนชี้ผลกระทบ'ไอยูยู'มากกว่า
ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ กล่าวว่า 1 ปี ที่ผ่านมาไทยถูกจัดอันดับอยู่ในเทียร์ 3 ก็ไม่มีผลกระทบ และเชื่อว่า 90 วันหลังจากนี้ ตนพูดได้อย่างชัดเจนสหรัฐจะไม่คว่ำบาตรไทย เพียงแต่งดการช่วยเหลือทางด้านวิชาการเรื่องเดียวเท่านั้น จากนี้ไปเรื่องมนุษยธรรม ไทยต้องทำต่อไปจะไม่ให้มีปัญหาค้ามนุษย์ การค้าทาสยุคใหม่ที่มาเป็นปัญหาในบ้านเรา
เมื่อถามว่าผลจัดอันดับเทียร์ 3 จะมีผลต่อกรณีอียูประเมินการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายตามไอยูยูหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ที่จริงแยกกัน อาจมีอะไรโยงกันเล็กน้อย แต่ต่างมีข้อพิจารณาของตัวเอง ส่วนผลกระทบจาก ไอยูยูจะมีมากกว่าเทียร์ 3 แต่ที่ผ่านมาเรื่องการแก้ไขปัญหาประมงเราทำอย่างแน่วแน่ ตั้งใจ แก้ปัญหา คิดว่าเพียงพอที่จะให้เราผ่านได้
เชื่อสถานการณ์น่าจะดีขึ้น
นายดอน กล่าวอีกว่า ทางการไทยไม่จำเป็นต้องทำหนังสือชี้แจงไปยังสหรัฐอีกแล้ว ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ1.ไทยดำเนินการอย่างดีที่สุดแล้ว และแก้ไขมากกว่าประเทศอื่นด้วย แต่ในเมื่อผู้กำหนดกติกาเห็นว่ายังไม่เพียงพอจนมีการวินิจฉัยออกมาเช่นนั้น แต่ยังเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำดีที่สุดก็ยังสามารถทำต่อไปได้ 2.ในรายงานของสหรัฐ ได้ชื่นชมถึงการแก้ปัญหาของไทย ทิศทางหลังจากนี้สถานการณ์น่าจะดีขึ้น ส่วนไทยจะปลดล็อกใบเหลืองไอยูยูได้ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลงานแก้ปัญหาของเรา ขณะนี้มีการใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหาด้วย
เมื่อถามว่าการคงอันดับของไทยไว้ที่ เทียร์ 3 อยู่ในระดับเดียวกับอิหร่าน เกาหลีเหนือ นายดอนกล่าวว่า ลองคิดดูว่าในฐานะคนไทยรู้สึกอย่างไร มันเหมาะสมหรือไม่ แต่ในกติกาโลกเราก็ต้องพยายามปรับตัวเอง ให้เข้าสู่กฎกติกา เมื่อผลมันกลับออกมาอย่างนี้ เราไม่น่าไปโศกเศร้าอาดูรกับมัน ต้องมองข้ามไปและต้องทำเรื่องนี้ให้ดีขึ้น
ผบ.ศปมผ.มั่นใจตอบ'อียู'ได้
ที่หอประชุมกองทัพเรือ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ผบ.ศปมผ.) กล่าวว่า ต้องดูว่าสหรัฐจะออกมาตรการอะไรอีก 90 วัน ในกรณีอียูนั้น ขณะนี้ดำเนินการแก้ปัญหาอยู่แล้ว สามารถตอบคำถามได้หมด เพราะไม่มีแรงงานประมงที่ผิดกฎหมายแล้ว ฉะนั้นน่าจะเป็นคนละประเด็นกัน ซึ่งสหรัฐเคยบอกว่าการพิจารณาจัดลำดับเทียร์ ได้พิจารณาก่อนสิ้นเดือนมี.ค. ขณะที่ผลงานของ ศปมผ. ออกมาช่วงเดือนเม.ย. มันเลยไปอาจมีผลอยู่บ้าง ส่วนของอียู ทำเอกสารทั้งหมดในการประชุมและการปฏิบัติส่งไปให้อียู พิจารณาในภาพรวมแล้ว และในเดือนก.ย. อาจไปพูดคุยอีกครั้งก่อนที่จะมาประเทศไทยในเดือนต.ค.
เมื่อถามว่า ปัจจัยหนึ่งที่ติดอยู่ตรงนี้เพราะเรื่องการเมืองภายในประเทศ มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวว่า แล้วแต่มุมมอง กระจกมีหลายด้าน แล้วแต่ใครจะมองด้านไหน แต่ในมุมมองของตนนั้นไม่น่าเกี่ยวข้อง แต่เกี่ยวกับสื่อมวลชนนำเสนอข่าวให้ถูกต้องหรือการใช้ความนึกคิดของสื่อมวลชนมากเกินไป ตนมองว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้วในการแก้ปัญหา
'บิ๊กต๊อก'โอดผิดหวัง
ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยตั้งใจทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในประเทศมาตลอด ก็ผิดหวังที่ผลที่ออกมาอย่างนี้ ก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป ยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเรามีส่วนผิดจริง แต่ก็เร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มที่ เมื่อประเทศสหรัฐยังไม่พอใจในสิ่งนี้ ก็แก้ไขต่อไป
นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะเลขานุการศูนย์กระบวนการยุติธรรมเพื่อเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการการดำเนินคดีการค้ามนุษย์ กล่าวว่า ผลงานที่มีหลังจากเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลไทยได้ดำเนินการกับปัญหาดังกล่าว และบูรณาการทำงานกับหน่วยงานได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น สามารถจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญได้หลายราย ตนมองว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีเกือบทุกอาชีพไม่ใช่เฉพาะประเด็นเหยื่อที่ถูกหลอกมาค้าประเวณีเท่านั้น ทั้งนี้ในส่วนของดีเอสไอก็ดำเนินการสืบสวนสอบสวนและติดตามความคืบหน้าอยู่ตลอด เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็ว เพราะถือเป็นหน้าที่และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้มีการกำหนดไว้
ผบ.ตร.ชี้โลกมองกม.ไทยอ่อนแอ
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ว่า ข้อมูลส่งให้สหรัฐ อเมริกาเมื่อมี.ค.ที่ผ่านมา เป็นข้อมูลในอดีต รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศหลังจากส่งข้อมูลให้สหรัฐไปแล้ว โดยมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ดูแลปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานทาส แรงงานประมง และดำเนินการอย่างจริงจัง จะเห็นได้ว่า หลายๆ อย่างมีการเปลี่ยนแปลง กฎหมายที่ล้าสมัยก็แก้ไขให้เป็นสากล แต่เรื่องที่ดำเนินการเป็นข้อมูลใหม่ ที่รัฐบาลต้องรายงานให้ทางสหรัฐทราบ
พล.ต.อ.สมยศ กล่าวต่อว่า ทางสหรัฐหรือทั่วโลกมองว่ากฎหมายไทยยังอ่อนแอ รวมถึงกระบวนการยุติธรรมไทยก็อ่อนแอเหมือนกัน จะเห็นได้ว่าการจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นคนธรรมดาทั่วไป หรือที่เป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐมักจะถูกสั่งไม่ฟ้องในชั้นพนักงานสอบสวนบ้าง ในชั้นพนักงานอัยการบ้าง แม้แต่ไปหลุดคดีในชั้นศาล ซึ่งประเทศอื่นๆ มองว่าประเทศไทยมีการช่วยเหลือ ก็ต้องแสดงให้เห็นว่า เราทำทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย พยานหลักฐาน ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก จะเห็นว่าในสมัยรัฐบาลนี้ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็ถูกจับกุมดำเนินคดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูว่าผลของคดีจะเป็นอย่างไร ก็คาดหวังว่าในปี 59 จะจัดอันดับไทยให้ดีขึ้น
ซีพี คาดกระทบส่งกุ้งไปยุโรป
นายอิทธิชัย ยศศรี ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวถึงผลกระทบกรณีที่สหรัฐคงอันดับค้ามนุษย์ไทยอยู่ในกลุ่ม เทียร์ 3 ว่า คาดสหรัฐจะไม่ตัดสินลงโทษไทยเพิ่มจากที่เป็นอยู่ เพราะจะกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทย แม้สหรัฐจะมีสัดส่วนนำเข้าสินค้าจากไทยไม่มาก แต่ต้นทุนสินค้าของสหรัฐอาจเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันหากสหรัฐลงโทษบอยคอตสินค้าไทยจะเป็นผลเสียมากกว่าในสายตาชาวโลก หากไม่มีข้ออ้างในการลงโทษไทยได้ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลไทยแสดงให้เห็นถึงความพยายามแก้ไขปัญหาทุกอย่างเต็มที่แล้ว อย่างไรก็ตามแม้สหรัฐไม่บีบไทยในเรื่องนี้ ไทยก็ต้องปรับตัวเองไปในแนวทางนี้อยู่แล้ว เพราะการค้าโลกยุคใหม่หากไม่ทำตามกติกาโลกก็จะค้าขายได้ยาก
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า กรณีสหรัฐยังให้ไทยอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันสินค้ากุ้งในสหภาพยุโรป เพราะไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพี ดังนั้นจึงต้องเร่งปฏิบัติตามกฎ รวมทั้งตรวจสอบภายในห่วงโซ่การผลิตทั้งคู่ค้าและผู้ส่งออก เพื่อให้สหรัฐเห็นถึงความตั้งใจในการแก้ปัญหาของไทย
ประมงโวยรบ.แก้ไม่ตรงจุด
นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นประเด็นการเมือง ที่อเมริกาไม่สนับสนุนประเทศที่มีผู้นำมาจากการยึดอำนาจ แม้จะวางมาตรการแก้ไขปัญหาแล้วหลายด้านก็ตาม ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า มาตรการแก้ปัญหาไม่ได้ผล รัฐบาลยังคงไม่รู้ว่า ต้นตอของปัญหาอยู่ที่ตรงไหน อย่างในอุตสาหกรรมการประมง มีภาคเอกชนเพียงแค่ร้อยละ 5 เท่านั้น ที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ แต่รัฐบาลกลับออกมาตรการในลักษณะเหวี่ยงแห ให้ภาคเอกชนอีกร้อยละ 95 ที่ไม่มีส่วนกับปัญหาได้รับผลกระทบไปด้วย
นายวิชาญ กล่าวว่า รัฐบาลแก้ปัญหาโดยคิดเอาเองว่า ข้าราชการรู้ทุกเรื่อง ไม่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ที่มีข้อมูล ข้อเท็จจริง เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมหารือแก้ไขปัญหา เนื่องจากเห็นว่า ภาคเอกชนมีส่วนได้เสีย ซึ่งหากข้าราชการรู้ทุกเรื่องจริง ปัญหาทั้งหมดยุติไปนานแล้ว ปัญหาดังกล่าวถือว่าเป็นปัญหาระดับโครงสร้าง หากยังแก้ไขไม่ได้ ในระยะยาว โครงสร้างมันจะพังลง และผลกระทบจะตามมาถึงประชาชนอย่างแน่นอน
ยังห่วง'อียู'ให้ใบแดงซ้ำ
นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร กล่าวว่า ทั้งที่พวกเราทุกภาคส่วนได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มที่แล้ว โดยหวังว่าจะได้ปรับเลื่อนขึ้นมาเป็นเทียร์ 2 เพราะทางอียูเองก็ยังแก้ปัญหากันอยู่ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะปลดล็อกใบเหลือง หรือคงใบเหลืองต่อไป หรือแย่ที่สุดคือให้ใบแดง ทั้งนี้อยากจะวอนรัฐบาลไทยว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้อยากจะให้เห็นใจชาวประมงมากขึ้น ลดความกดดันที่มีต่อชาวประมงลง เพราะในที่สุดแล้วก็ยังไม่รู้ว่าชาวประมงจะมีทางออกได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากถูกกดดันทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ระบุว่า อยากให้กำลังใจรัฐบาล ที่เดินทางแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังมาโดยตลอด และเดินมาถูกทางแล้ว แม้สหรัฐยังคงให้ไทยอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 ก็ตาม ซึ่งในแง่ของการค้าก็มั่นใจไม่มีผลกระทบ เพราะได้ชี้แจงกับคู่ค้ารายใหญ่ ทั้งสหรัฐ และอียู ถึงการตั้งใจแก้ไขปัญหาของไทย
สมาคมกุ้งเชื่อปีหน้าดีขึ้น
นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย ระบุว่า ไม่มีผลกระทบในแง่ของการค้าแน่นอน ทั้งเรื่องของภาษี และการกีดกันทางการค้า แต่จะมีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศเท่านั้น ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข และในปีหน้าเชื่อว่าสหรัฐจะปรับอันดับของไทยให้ดีขึ้น
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ผลที่ออกมาก็ต้องยอมรับ แม้จะยังมีเรื่องคลางแคลงใจอยู่ก็ตาม ที่ไทยพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด 1 ปี ซึ่งก็ต้องดูสาเหตุของสหรัฐ หากมีข้อที่ไม่เหมาะสม ก็จะทักท้วงกลับไปทันที เพราะไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม
ซัดนัวรายงานค้ามนุษย์ มะกันโต้ อุปทูตยันไม่ใช่การเมือง ไทย-มาเลย์-คิวบาต่างกัน บัวแก้วยื่นท้วงแช่'เทียร์3' ระทึกใบแดงไอยูยู-ไอเคโอ คลังลดเป้าศก.เหลือแค่ 3%
มติชนออนไลน์ : 'บิ๊กตู่'เผยใจเย็นมะกันคงอันดับเทียร์ 3 แจงใน ครม.ไม่ต้องกังวล 'ดอน'ชี้ไม่โดนคว่ำบาตร ห่วงใบแดงประมงอียู แนะเร่งแก้ปัญหา 'ธนะศักดิ์'ท้วงมาตรฐาน
@ 'บิ๊กตู่'เผยใจเย็น-อย่ากังวล
ภายหลังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริการายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2558 ที่ยังจัดอันดับสถานการณ์ค้ามนุษย์ของประเทศไทยอยู่ในระดับเทียร์ 3
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีท่าทีอะไรต่อเรื่องนี้ จะทำงานต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องของกฎกติกาสากล ต้องทำเพราะที่ผ่านมามีปัญหามาก ต้องแก้ไขในทุกมิติ ทั้งด้านกฎหมาย วิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ และการลงโทษต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด โดยมีการจดทะเบียนแรงงาน พิสูจน์สัญชาติ ดูเรื่องของผู้ประกอบการว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือไม่ รัฐบาลดูทุกมิติอยู่แล้ว ทางสถานทูตสหรัฐได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวเพิ่มเติมว่าเห็นความตั้งใจในการดำเนินการของไทย แต่ช่วงที่มีการประเมินกระบวนการนั้นเพิ่งเริ่ม จึงต้องเสนอความคิดเห็นออกมาตามนั้น และหลังจากนั้นสหรัฐจะเห็นความตั้งใจของไทย ซึ่งคิดว่าจะดีขึ้นในโอกาสหน้า
ขอให้ใจเย็นๆ อย่าไปกังวล ถ้าเราทำความดีแล้ว ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าเราแก้ไข วันนี้เราไม่ได้แก้เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เราแก้เพื่อประเทศไทย ไม่อยากให้ประชาชนเป็นกังวลในเรื่องนี้มาก เพราะสหรัฐเป็นผู้ประเมิน เราไม่ได้เป็นคนประเมินตัวเอง แต่เราทำหน้าที่ของเรา แต่เมื่อเขาประเมินมาเราก็แก้ไขทุกอย่าง อยู่ที่จะเร็วหรือช้า เรื่องนี้เป็นกำลังใจให้กันจะดีกว่า เพราะกดดันกันเองก็ไม่เกิดประโยชน์กับใคร ขออย่ามาว่ากันเอง" นายกฯกล่าว
@ 'ดอน'แฉเอ็นจีโอโยงกับไอยูยู
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า หลังจากนี้ทางการไทยไม่มีความจำเป็นต้องทำหนังสือชี้แจงไปยังสหรัฐอีกแล้ว ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1.ประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างดีที่สุดแล้ว 2.ในรายงานของสหรัฐได้ชื่นชมถึงการดำเนินการในการแก้ปัญหาของไทย ผู้สื่อข่าวถามว่า การคงอันดับเทียร์ 3 ของไทยจะกระทบกับการประเมินผลของสหภาพยุโรปในการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) หรือไม่ นายดอนกล่าวว่า เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พิจารณาอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเรื่องนี้ของสหภาพยุโรปมีการแยกส่วนกันอย่างชัดเจนกับการค้ามนุษย์ แต่มีการโยงกันโดยคนบางกลุ่ม เช่น เอ็นจีโอในยุโรปได้ทำหนังสือไปยังสหรัฐให้ทำการกดดันไทยให้อยู่ในระดับเทียร์ 3 ต่อไป ซึ่งไทยจะปลดล็อกใบเหลืองไอยูยูได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลงานแก้ปัญหา
@ เชื่อไม่โดนคว่ำบาตร
"ที่มีการพูดถึงมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐในมิติต่างๆ นั้น ผมยืนยันว่าไม่มี เพียงแต่มีการงดการช่วยเหลือทางด้านวิชาการเรื่องเดียวเท่านั้น เช่น งดทุนการศึกษาให้กับประเทศไทย เพราะฉะนั้นอย่าพูดถึงเรื่องการคว่ำบาตร เพราะมันไม่มีสิ่งเหล่านี้ที่ไปเชื่อมโยงกับทิปรีพอร์ต แต่เรื่องไอยูยูจะมีผลโดยเฉพาะสินค้าประมง หากอียูให้ใบแดงกับไทย แต่ช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นเรื่องอีกไกล และขณะนี้ที่เราตั้งใจแก้ปัญหา จึงยิ่งเป็นเรื่องที่ไกลออกไปอีก ในฐานะคนไทยที่จะช่วยกันทำได้คือให้กำลังใจผู้ปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้" นายดอนกล่าว
@ 'บิ๊กตู่'แจงครม.ไม่ต้องกังวล
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ปรารภในที่ประชุม ครม.ว่าไทยไม่ต้องกังวลและต้องไม่ท้อแท้ เพราะรัฐบาลและคนไทยรู้ดีว่าดำเนินการอะไรอยู่และมีความก้าวหน้าเพียงใด โดยที่ผ่านมามีมาตรการที่เข้มข้น ส่วนประเทศไหนจะมาจัดลำดับก็เป็นเรื่องของแต่ละประเทศจะต้องชี้แจงกับสังคมเองว่ามีมาตรฐาน มีกฎเกณฑ์ กติกา หลักการอย่างไรในการกำหนดการให้คะแนนและจัดลำดับประเทศไหนอยู่ในลำดับไหน ซึ่งไทยก็ไม่ได้เป็นห่วงในเรื่องนี้ และวิงวอนถ้าสหรัฐอยากจะให้การจัดลำดับมีความเป็นมาตรฐานต้องดำเนินการชี้แจงให้สังคมรับทราบว่ามีมาตรการในการจัดลำดับอย่างไร
@ นายกฯสั่งศึกษาร่วมวงทีพีพี
แหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ครม.มีการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ว่ามาเลเซียมีส่วนร่วมในความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) หรือทีพีพี แต่การที่ไทยจะเข้าร่วมดำเนินการด้านเศรษฐกิจต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะไม่ใช่ว่าการร่วมจะมีประโยชน์อย่างเดียว เพราะต้องมีกฎกติกาต่างๆ ด้วย ต้องมีทั้งได้และเสีย และอาจมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐมีความพยายามจะเจาะตลาดเอเชีย แต่ไทยคิดถึงประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นหลัก ต้องดูให้รอบคอบ ครบถ้วน โดยนายกฯมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปศึกษาว่าการเข้าไปร่วมดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าวนั้นมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ซึ่งอาจจะมีข้อดีที่สหรัฐอาจจะให้การตอบรับในการจัดอันดับต่างๆ แต่การเข้าไปก็ต้องคำนึงถึงข้อเสียต่างๆ ด้วย
@ "ธนะศักดิ์"ชี้ไม่สะท้อนความจริง
พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า "ไม่รู้สึกผิดหวังหรือกังวลเพราะรัฐบาลมุ่งมั่นทำไปเยอะมาก ถือเป็นวาระแห่งชาติ เหมือนการสอบทุกคนอยากได้คะแนน แต่คะแนนมีเยอะไม่ใช่สาขาเดียว หลายประเทศที่มีความร่วมมือกับเราก็ว่าเราดี
มีการส่งคนมาอยู่กับเราตั้งแต่เริ่มจนขณะนี้ การสอบอยากไปถึงไหนก็ไปสอบ แต่จริงๆ การสอบต้องมีคนแนะนำและมีการประสานไป เข้าใจว่าที่ทำงานเขามีไม่กี่คนและดูทั้งโลก เราขอไปหลายครั้งและรับปากทุกครั้ง แต่ไม่ส่งคนมาดูว่าเราเดินถูกทางหรือไม่ คนออกกติกาต้องมาอธิบาย ก่อนประกาศมีการโทรศัพท์คุยกันทุกระดับ และบอกว่าเข้าใจว่าเราทำอย่างมุ่งมั่น คือ ผลงานเห็น แต่บอกว่าเทคนิคเขาคิดตั้งแต่ 1 เมษายน-31 มิถุนายน ซึ่งจริงๆ เราส่งผลการดำเนินงานเลยกว่านั้นมาก แต่อาจเป็นข้ออ้างหรืออะไรแล้วแต่ เขาบอกว่ายินดีสนับสนุน และสิ่งที่เราทำมีผลต่อปีหน้า กระทรวงการต่างประเทศให้ข้อสังเกตว่า เทียร์ 3 ไม่สะท้อนสิ่งที่เราทำ ผมมีหนังสือถึงสหรัฐว่าการที่เขาให้เรามันไม่สะท้อน ทั้งที่มีผลงานเป็นรูปธรรมชัดเจน เราไม่มีปัญหา ใครเป็นกรรมการก็ว่าไป แต่ยืนยันว่ารัฐบาลไทยยังคงมุ่งมั่นทำต่อไปอย่างจริงจัง"
@ พม.สงสัยจัดอันดับแปลกๆ
เมื่อถามว่า การที่สหรัฐมองไทยเป็นเกมการเมืองหรือไม่ พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า "ไม่มีความเห็น แต่เขาระบุว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง จึงไม่รู้สึกผิดหวัง เคยพูดกับเพื่อนระดับเดียวกันว่า เอาแบบสะดวกไปเลย คือขอเทียร์ 4 ไปเลย เขาก็หัวเราะและบอกว่าไม่มี เขาไม่เข้าใจ เพราะเราไม่ได้ทำงานเอาหน้า แต่มุ่งมั่นทำไป เชื่อว่าภายใน 90 วันไทยจะไม่ถูกแซงก์ชั่นด้านการค้า"
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า "ผลที่ออกมานี้ถือเป็นเรื่องน่าเสียใจในสิ่งที่มุ่งมั่นทำกันมา ขอตั้งข้อสังเกตการจัดอันดับว่าแปลกๆ ชอบกล ตั้งแต่บรรดาประเทศในกลุ่มเทียร์ 3 เช่น เกาหลีเหนือ รัสเซีย อิหร่าน ล้วนแต่เป็นปรปักษ์กับสหรัฐ หรือไม่ก็เป็นประเทศล้าหลัง ส่วนบรรดาประเทศที่ขึ้นจากเทียร์ 3 เช่น มาเลเซีย คิวบา ก็ล้วนเป็นประเทศที่เพิ่งรื้อฟื้นความสัมพันธ์ไมตรีกับสหรัฐ ตรงนี้ก็เป็นข้อกังขาที่ผมอยากฟังเหตุผล จะใช้โอกาสที่เจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยจะขอเข้าพบในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ฟังเหตุผลและซักถามในประเด็นข้อกังขา"
@ ปึ้งบี้รบ.เร่งแก้-หวั่นสายไป
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยที่ยังไม่ผ่านการประเมินให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย เพราะการทำงานของภาครัฐยังขาดความจริงจัง เข้มข้น ถึงแม้ว่าจะใช้คำพูดที่ทำให้ดูเหมือนเอาจริง โดยประกาศเป็นวาระแห่งชาติ แต่ไม่ได้ผล รัฐบาลกับคนไทยต้องก้มหน้ารับชะตากรรมต่อไป ต้องรอดูว่าผลที่จะเกิดตามมาจะเป็นเช่นไร จากนี้ต้องเตรียมใจรับกับการประเมินของอียูเรื่องการประมงเอาไว้ด้วย เพราะถ้าศึกษาจากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ประจำปี 2558 จะเห็นเค้ามูลได้ อยากขอฝากให้ พล.อ.ประยุทธ์กำชับผู้รับผิดชอบให้รีบเร่งทำงานให้ตรงเป้าก่อนที่จะสายเกินแก้ คนเก่งคนมีฝีมือวัดกันตรงนี้ การบริหารประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าสั่งงานไปแล้วผู้ใต้บังคับบัญชารู้ว่าจะนำไปปฏิบัติเช่นไร ยังมีอีกหลายเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องรีบแก้ไขปัญหาประเทศก่อนที่จะนำพารัฐนาวาลำนี้จมดิ่งลงใต้ทะเล ขอให้ตัดสินใจให้ดีก่อนที่จะสายเกินแก้
@ ซีพีเอฟชี้ไม่กระทบการค้า
นายสว่าง สุขศรี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟไม่ได้รับผลกระทบ เพียงแต่ลูกค้าจะเข้ามาตรวจสอบมากขึ้น สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมส่งออกเชื่อว่าจะไม่กระทบเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาไทยอยู่ในระดับเทียร์ 3 อยู่แล้ว ยังสามารถค้าขายได้ จากนี้ผู้ประกอบการควรยกระดับมาตรฐานแรงงานให้สูงขึ้น ผู้ประกอบการรายย่อยร่วมมือกับกลไกภาครัฐให้มากขึ้น ทั้งรัฐและเอกชนทุ่มกำลังเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผ่านมาตรฐานสากล
นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ไม่มีผลกระทบในแง่ของการค้าแน่นอน ทั้งเรื่องของภาษีและการกีดกันทางการค้า แต่จะมีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศเท่านั้น ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข และเชื่อว่าในปีหน้าสหรัฐจะปรับอันดับของไทยให้ดีขึ้น
@ บั่นทอนความสามารถแข่งขัน
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับคำตัดสินของสหรัฐ แม้ว่าจะยังมีเรื่องคลางแคลงใจก็ตาม เพราะตลอด 1 ปี รัฐบาลไทยพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด ต้องดูรายละเอียดของคำตัดสินของสหรัฐว่ามีเหตุผลรับฟังได้หรือไม่ แต่หากเหตุผลรับฟังไม่ได้หรือมีความไม่เหมาะสมจะทักท้วงกลับไปทันที
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ในแง่การค้ามั่นใจไม่มีผลกระทบ เพราะได้ชี้แจงกับคู่ค้ารายใหญ่ทั้งสหรัฐและอียู ถึงการตั้งใจแก้ไขปัญหาของไทย
นายอนุรัตน์ โค้วคาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรานทะเลมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เครือบริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด กล่าวว่า ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกและการทำการค้าปกติ ที่ผ่านมาไทยได้แสดงให้เห็นว่าไม่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และที่ผ่านมาทำทุกอย่างที่เข้มข้น ก็น่าจะเพียงพอให้เกิดความพอใจ
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด หรือทีเอ็มบี กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะยังไม่ได้กระทบในทันที แต่จะเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถของการแข่งขัน โดยเฉพาะการแข่งขันของไทยกับมาเลเซีย หากเป็นสินค้าในกลุ่มเดียวกันแต่ราคาเท่ากัน ผู้ซื้ออย่างสหรัฐอาจจะเลือกซื้อสินค้าจากมาเลเซียซึ่งถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นเทียร์ 2 ผู้ประกอบการไทยก็อาจจะยิ่งแข่งขันได้ยากในตลาดโลก
@ อธิบดีอัยการชี้เรื่องการเมือง
นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการค้ามนุษย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณีที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดเผยรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ของไทยปี 2558 โดยไทยคงอยู่ในระดับต่ำสุดหรือประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์รุนแรงที่สุด หรือเทียร์ 3 ว่าตอนนี้เป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว ถ้าไม่ปฏิวัติก็คงขึ้นเทียร์ 2 วอตช์ลิสต์ไปแล้ว สหรัฐอเมริกาต้องการกดดันไทยต่อไปทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ เพราะรัฐบาลนี้ได้ทำทุกอย่างที่จะทำได้อย่างเต็มที่แล้ว แต่การพิจารณาไม่ได้ทำกันอย่างตรงไปตรงมาตามเนื้อหา ซึ่งสหรัฐอเมริกาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำลายเศรษฐกิจไทยต่อไป แล้วจะตามมาด้วยสหภาพยุโรปในเรื่องประมง ไอยูยู (IUU) รวมทั้งเรื่องมาตรฐานการบินสหรัฐอเมริกาและยุโรปต้องการกดดันการส่งออกของไทยให้ถึงที่สุด เป็นการแซงก์ชั่น
รัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ นอกเหนือจากการตัดจีเอสพี การไม่เจรจาทำข้อตกลงทางการค้าการจัดเป็นเทียร์ 3 เพื่อให้ประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปรณรงค์ไม่ให้ประชาชนซื้อสินค้าไทย ปัญหาอยู่ที่ว่าไทยจะแก้เกมอย่างไร จะพึ่งจีนคงไม่ไหว เพราะจีนก็เอาเปรียบชนิดพม่ากับลาวยังถอยหนี และจีนกำลังทำสงครามเศรษฐกิจกับสหรัฐอเมริกาอยู่อย่างรุนแรง ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาต้องการทุบเศรษฐกิจไทย เพราะ 1.มีรัฐบาลที่มาจากปฏิวัติ 2.หันไปพึ่งพิงทางเศรษฐกิจจากจีนมากขึ้น สหรัฐอเมริกาต้องการแสดงให้เห็นว่าจีนไม่สามารถช่วยไทยได้ 3.การส่งพวกอุยกูร์กลับจีนก็มีส่วนด้วยเช่นกัน
@ ต่างประเทศวิจารณ์ไม่เที่ยงตรง
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รายการสถานการณ์การค้ามนุษย์ (ทิปรีพอร์ต) ประจำปี 2558 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าขาดความน่าเชื่อถือ ไม่เที่ยงตรง และไม่เป็นกลาง โดยองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในทางเดียวกัน โดยเฉพาะการที่มีการปรับอันดับมาเลเซียและคิวบาขึ้นไปอยู่ในเทียร์ 2 วอตช์ลิสต์ทั้งที่หลายฝ่ายมองว่าไม่มีพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นรูปธรรม จนสมควรได้รับการปรับอันดับเช่นนี้ ทั้งนี้ มาเลเซียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) เป็นเป้าใหญ่ในเรื่องดังกล่าว ขณะที่ในกรณีของคิวบาก็ถูกมองว่าได้รับการปรับอันดับ เพราะสหรัฐกลับมาเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับคิวบาอีกครั้ง ทั้งที่เคยถูกจัดอันดับในเทียร์ 3 ติดต่อกันถึง 12 ปี
เมลิซา สเปอร์เบอร์ ผู้อำนวยการพันธมิตรเพื่อยุติความเป็นทาสและการค้ามนุษย์ ระบุว่า รู้สึกประหลาดใจกับทิปรีพอร์ตในปีนี้ ซึ่งดูจะแสดงให้เห็นอย่างโจ่งแจ้งว่าเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่เป็นอันตรายต่อความน่าเชื่อถือของรายงาน รวมถึงความพยายามในการต่อสู้เพื่อยุติการค้ามนุษย์ ซึ่งเปรียบได้กับการค้าทาสในยุคใหม่ เช่นเดียวกับไอเดน แมคเควด ผู้อำนวยการองค์การต่อต้านการค้าทาสสากล ที่ระบุว่าผิดหวังอย่างที่สุดกับผลทิปรีพอร์ตปีนี้
ด้านนายโรเบิร์ต เมเนนเดซ วุฒิสมาชิกสหรัฐ ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐ กล่าวว่า เห็นแรงจูงใจทางการเมืองในเรื่องนี้ พร้อมให้เหตุผลว่าการจะปรับอันดับขึ้นจากเทียร์ 3 ควรจะมาจากการลงมือแก้ไขปัญหามากกว่าจะพิจารณาจากประเด็นทางการเมือง
@ อุปทูตมะกันแจงรายงานเทียร์3
นายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ย้ำว่า สหรัฐชื่นชมความพยายามของไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในระหว่างปี 2554-2558 โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายและการพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี ที่สุดแล้วการดำเนินการของไทยยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ได้รับการปรับเลื่อนระดับ จึงทำให้ไทยยังอยู่ในเทียร์ 3 ของทิปรีพอร์ต แต่ยอมรับว่าการดำเนินการของไทยหลังวันที่ 31 มีนาคม หลายเรื่องถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญในการขจัดการค้ามนุษย์
นายเมอร์ฟีกล่าวว่า สหรัฐยินดีกับแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศไทยที่ยืนยันว่าจะเดินหน้าขจัดการค้ามนุษย์ต่อไป และพร้อมจะร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศต่างๆ โดยพร้อมจะทำงานร่วมกับไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ที่ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายใหญ่ที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งสหรัฐหวังว่าไทยจะดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป
@ ยืนยันไม่เกี่ยวการเมือง
นายเมอร์ฟียืนยันด้วยว่า การจัดทำทิปรีพอร์ตไม่ใช่เรื่องการเมืองและไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองในประเทศใดๆ แต่เป็นเรื่องของมาตรฐานระหว่างประเทศในประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ โดยทุกประเทศจะถูกจัดอับดับตามการดำเนินงานภายในประเทศนั้นๆ ส่วนกรณีที่มีคำวิจารณ์เรื่องมาเลเซียและคิวบานั้น นาย
เมอร์ฟีย้ำว่า การทำทิปรีพอร์ตไม่ใช่เรื่องที่จะเอาประเทศใดๆ มาเปรียบเทียบกัน ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างจากการเอาแอปเปิลไปเทียบกับส้ม เพราะแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน สถานการณ์ในประเทศก็ต่างกัน ประเทศไทยก็ถูกเปรียบเทียบกับการดำเนินการของไทยและข้อมูลเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในไทยเอง
อุปทูตสหรัฐกล่าวว่า การตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะมีการคว่ำบาตรกับประเทศที่อยู่ในเทียร์ 3 หรือไม่ เป็นเรื่องของประธานาธิบดีสหรัฐและสภาคองเกรสจะตัดสินใจ ซึ่งตนคงไม่สามารถคาดเดาได้
@ นายกประมงชี้ซ้ำเติมธุรกิจ
นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร เปิดเผยว่า รู้สึกมึนงงไปตามๆ กัน เพราะทุกภาคส่วนพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่แล้ว เหมือนการซ้ำเติมชาวประมงและผู้ทำธุรกิจประมงให้ย่ำแย่ลงไป และเสียความรู้สึกเป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาทางภาคประมงทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ผลที่ออกมาทำให้พวกชาวประมงเกิดความสงสัยว่า จริงๆ แล้วสหรัฐมีความจริงใจมากแค่ไหน บางครั้งอาจมีคำตอบไว้อยู่แล้ว แม้ไทยจะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการใดๆ ก็ตาม ทั้งนี้ อยากวอนรัฐบาลไทยว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้อยากจะให้เห็นใจชาวประมงมากขึ้น ลดความกดดันที่มีต่อชาวประมงลง เพราะในที่สุดแล้วยังไม่รู้ว่าชาวประมงจะมีทางออกมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากถูกกดดันทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ
ที่แพปลาโกบ้วน อ.เมือง จ.ระนอง นายสุริยันต์ กาญจนศิลป์ ผู้ว่าฯระนอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่มอบแผ่นป้ายไวนิลให้ผู้ประกอบการเรือประมงตัวอย่างที่ดำเนินการถูกต้องตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนดให้เรือประมงทุกลำต้องต้องจดทะเบียนอย่างถูกต้อง โดยแพปลาโกบ้วนเป็นแพปลานำร่องที่จังหวัดมอบแผ่นป้ายเครื่องหมายรับรองว่าเป็นแพปลาที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย และยังร่วมสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
@'หม่อมอุ๋ย'ยันศก.ขยายตัว 3%
ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ พร้อมด้วยนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันแถลงข่าว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการประชุม ครม.
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยทั้งปี 2558 จะขยายตัวได้ที่ 3% แม้สถานการณ์ตัวเลขส่งออกไทยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาจะลดลงเฉลี่ย 5% ซึ่งการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพีถึง 56% และตัวเลขการส่งออกที่ลดลงน่าจะมีผลทำให้จีดีพีของประเทศลดลง 2.5-2.6% แต่ยังได้ปัจจัยชดเชยคือ ยอดการท่องเที่ยวที่โตกว่า 28% จะทำให้จีดีพีสูงขึ้น 3% และมากกว่ายอดส่งออกที่ลดลงไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องการจ่ายเงินของรัฐบาลและปัจจัยการลงทุนภาคเอกชนอีกด้วย ดังนั้นจีดีพีของไทยจะไม่ติดลบและน่าจะอยู่ได้ที่ 3%
@ ชี้10 ประเทศส่งออกติดลบหมด
นางอภิรดี กล่าวว่า แม้ตัวเลขการส่งออกใน 6 เดือนแรกของไทยจะลดลง โดยเฉพาะเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาติดลบกว่า 7% แต่ขณะเดียวกัน 10 ประเทศที่มูลค่าส่งออกใหญ่สุดของโลก ต่างมีตัวเลขส่งออกติดลบหมด เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่อยู่ในอาเซียนติดลบ 13% ญี่ปุ่นติดลบ 7% ฝรั่งเศสติดลบ 16% รัสเซียติดลบกว่า 30% และออสเตรเลียติดลบ 21% ทุกประเทศลดการนำเข้าลง ผู้ขายจึงย่อมลำบากแต่ไม่ได้ท้อถอย กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันการส่งออกต่อเนื่อง อีกทั้งเชื่อว่าจะยังส่งออกข้าวได้เป็นเบอร์ 1 ของโลกที่ 10 ล้านตันต่อปี
นายจักรมณฑ์กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีการลงทุนใหม่ๆ เข้ามา โดยเฉพาะการตั้งโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ที่มีราว 8-10 โรงงาน และเริ่มสร้างไปแล้ว 3 โรงงาน ขณะที่โครงการอีโคคาร์ 2 เริ่มลงตัวแล้ว จะช่วยเพิ่มมูลค่าการผลิตชิ้นส่วนและมีการนำเข้าเครื่องจักรใหม่ๆ ประกอบกับรัฐบาลยังสนับสนุนการลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะในด้านนวัตกรรม โรงไฟฟ้าชีวมวล และพลังงานทดแทน ขณะนี้บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนกับโครงการลงทุนไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท
@ สศค.ลดจีดีพีจาก 3.7เหลือ3%
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ใหม่ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 3% จากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คาดว่าจะขยายตัว 3.7% ส่วนการส่งออกคาดว่าทั้งปี -0.4% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ 0.2% หากค่าเงินบาทอ่อนกว่า 33.95 บาทต่อเหรียญสหรัฐที่ประเมินไว้ น่าจะช่วยทำให้ส่งออกปีนี้ติดลบน้อยลง โดยในปี 2557 ค่าเงินบาทอยู่ในระดับ 32.49 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
@ ชี้ท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้น
นายกฤษฎา กล่าวว่า การปรับลดจีดีพีลงมา จากการส่งออกติดลบสูงกว่าที่ประเมินไว้ ประกอบกับเศรษฐกิจคู่ค้า 15 ประเทศ โดยเฉพาะจีนปรับลดลงมาก สศค.จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเหลือ 3.61% จากเดิมคาดว่าจะโต 3.76% อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ คาดว่าทั้งปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยถึง 29.9 ล้านคน จากเดิม 29.4 ล้านคน ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัวถึง 24% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวระดับ 10% นอกจากนี้ คาดว่าการเบิกจ่ายรัฐบาล การลงทุนรัฐวิสาหกิจและการลงทุนภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังได้