- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 17 July 2015 14:59
- Hits: 9277
บิ๊กตู่โอดเป็นแค่-อัศวิน ม้าขาเป๋! ไม่รู้ปรับครม.-อุ๋ยชี้ข่าวลือ ทร.แจงเรือดำน้ำผ่อน 10 ปี ปปช.ตีตกคดีข้าวยุคมาร์ค
'อัศวินม้าขาเป๋'บิ๊กตู่ครวญ ชี้มีปัญหาประเดประดังตลอด ปัดตอบปรับครม.เศรษฐกิจ 'หม่อมอุ๋ย' ชี้แค่ข่าวลือ'บิ๊กป้อม'อยากให้เข้าใจ ซื้อเรือดำน้ำเป็นแผนระยะยาว กองทัพเรือลั่นแจงทุกข้อสงสัย ยัน 3 หมื่นล้านแบ่งจ่าย 10 ปี บวรศักดิ์เล็งขยายเวลาร่างรธน. รอมติ'กมธ.'ศาลปกครองสั่งคุ้มครอง'พีซทีวี'พร้อมออกอากาศ 20 ก.ค.นี้ ส่วนจตุพรถอนตัวจากรายการที่มีปัญหา
วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8997 ข่าวสดรายวัน
เปิดงาน - พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2015 ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ตนไม่ใช่อัศวินม้าขาวแต่ตนกำลังเป็นม้าขาเป๋ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.
'บิ๊กตู่'ย้ำต้องร่วมกันขับเคลื่อน
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดเวทีสัมมนาระดับชาติ "แนวทางการพัฒนาธุรกิจไทยอย่างยั่งยืน เดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างต่อเนื่อง (ทีเอ็มเอ)" โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า มายืนตรงนี้ไม่แน่ใจว่าจะมีความมั่นใจให้กับทุกคน ได้แค่ไหนเพราะตนเป็นทหารมาทั้งชีวิต เรื่องธุรกิจและการปฏิบัติภาคเอกชนเก่งกว่าตนอยู่แล้ว แต่ในทางบริหาร ตนคิดว่าทำได้ แต่ทั้งหมดต้องอาศัยความร่วมมือจากทุก ภาคส่วน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้สิ่งที่มีปัญหามากที่สุดคือความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ระหว่างภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะประชาชน จะเข้าใจมากน้อยแค่ไหนว่าเรา ทำอะไรกันอยู่ ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนในทุกด้านไปพร้อมกัน และพร้อมรับฟังคำเสนอแนะว่าประเทศจะต้องไปทางไหน และไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลอย่างเดียว ทุกฝ่ายต้อง ไปด้วยกัน อาศัยการบริหารจัดการและการ บูรณาการร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งมิตรประเทศต่างๆ
ชี้ไทยติดกับดักความเข้มแข็ง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า รัฐบาลนำทุกเรื่องมาศึกษา อย่าลืมว่าประเทศชาติไม่ได้อยู่ได้แค่การเมืองอย่างเดียว ประเทศไทยอยู่ด้วยการเมืองมานานเต็มที วันนี้ต้องพัฒนาทุกด้าน ไม่ว่าความมั่นคง เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ทุกคนถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้รับผลประโยชน์ไม่ว่าประเทศจะเดินไปอย่างไร ทุกคนจึงต้องร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็ง
"เหมือนในอดีตที่พูดถึงไม้ไผ่อันเดียวสามารถหักได้ แต่พอมารวมกันหลายๆ อันก็หักไม่ได้ เราต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น และพัฒนาประเทศให้เดินหน้าต่อไป ตนไม่ต้องการ ผลประโยชน์จากใคร แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยติดกับดักเรื่องความเข้มแข็งทุกภาคส่วนไม่มีความเข้มแข็ง" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
เผยตปท.ขอลงทุนแม้ค่าแรงสูง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ จะต้องร่วมมือกันทั้งสร้างความเข้มแข็งและสร้างความเชื่อมั่น เพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศ จากการพูดคุยกับหลายประเทศยืนยันว่าพร้อมลงทุนในไทย แม้ค่าแรงจะสูงถึง 300 บาทต่อวัน แต่ที่เขาพร้อมเพราะประเทศไทยน่าอยู่ มีน้ำใจ โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วม วันนี้เขายืนยันว่าพร้อมร่วมมือต่อไป โดยเฉพาะปี 2558-2559 หลายบริษัทในหลายประเทศบอกแล้วว่าจะลงทุนในไทย และอยากอยู่ประเทศไทยต่อไปกว่าร้อยละ 70 ดังนั้นเราต้องคิดว่าเมื่อเขายังอยู่ เราจะทำอย่างไรให้บริษัทเหล่านี้อยู่ต่อไป สร้าง ความเข้มแข็งในแต่ละภาค เพื่อให้มีความพร้อม และเกิดความยั่งยืนในอนาคต
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทุกคนต้องคิดและสร้างความเข้าใจว่าก่อนที่ตนจะเข้ามาบริหารประเทศนั้นเกิดอะไรขึ้น เมื่อเข้ามาแล้ว ได้ทำอะไรไปบ้าง หลายอย่างอาจไม่เกิดได้ในวันนี้หรือพรุ่งนี้ เพราะมีทั้งเรื่องการเมือง เรื่องกฎหมายต่างๆ ทำให้การเดินหน้าประเทศมีปัญหาบ้าง รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณ และปัญหาความไว้เนื้อเชื่อใจ และสิ่งที่ทำให้ตน ทำงานไม่ได้คือเรื่องการเมือง และอุปสรรคต่างๆ บางครั้งทำให้งงเหมือนกัน แม้จะคิดหรือสั่งการไปแล้ว แต่ทำจริงไม่ได้ ทุกฝ่าย จึงต้องช่วยกัน
ลั่นผมเป็น"ม้าขาเป๋"
"เรื่องผลประโยชน์ผมไม่คุยด้วยกับใครทั้งสิ้น แม้แต่เพื่อนก็ยังไม่คุย โกรธกันไป ก็เยอะ เพื่อนทิ้งไปก็เยอะ ครอบครัวก็เหนื่อย และเป็นห่วง แต่ทำเพื่อประเทศ ผมไม่ใช่อัศวินม้าขาว แต่เป็นม้าขาเป๋ เพราะมีปัญหาประดังประเดเข้ามา วิ่งขาจะเปื่อยอยู่แล้ว แต่ทุกคนต้องช่วยผมสร้างความเข้าใจ อย่า คิดว่าใช้มาตรา 44 ได้หมดทุกเรื่อง" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
ต่อมาเวลา 11.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่พล.อ.ประยุทธ์ กลับถึงทำเนียบรัฐบาล ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ไม่มีอะไร จะสัมภาษณ์เรื่องอะไร ถ้าเป็นเรื่องการเมืองไม่ตอบ
ปัดตอบปรับครม.
เมื่อถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเสริมทัพด้านเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สื่อเขียนกันเองทั้งนั้น เมื่อถามว่าตกลงไม่มีการปรับครม.ตามที่เป็นข่าวใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้
ด้านม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวปรับครม. โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจที่มีอักษรชื่อย่อ ว. เป็นแคนดิเดตว่า มีข่าวแบบนี้มาตลอด และพล.อ.ประยุทธ์ก็บอกแล้วว่าไม่ทราบว่าอักษร ว. ที่เป็นข่าวนั้นคือใคร
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงกระแสข่าวการปรับครม. ว่า เรื่องนี้ต้องถามนายกฯ โดยส่วนตัวทุกวันนี้ยังตั้งใจทำงาน ตามหน้าที่เป็นปกติ เพื่อดำเนินนโยบายตามเป้าหมายที่วางแผนไว้อย่างเต็มที่ จึงต้องไปถามนายกฯถึงจะถูก ถ้าเป็นเรื่องจริง ก็คง เป็นข่าวใหญ่มาก ส่วนตัวทุกวันนี้ทำงานด้วยความสนุกมาก และทำตามหน้าที่ไม่ได้ทำเพราะความอยาก
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ไม่มีความเห็นเรื่องกระแสข่าวการปรับครม. แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่าข่าวที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นแหล่งข่าว ไม่มีที่มาชัดเจน ไม่รู้ว่า เป็นข่าวโคมลอยหรือเปล่า แต่ส่วนตัวมั่นใจว่าการทำงานในตำแหน่งรมว.อุตสาหกรรม ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์เต็มที่มาโดยตลอด
ประธานอุตฯจี้รบ.ดูแลรากหญ้า
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไม่ขอแสดงความเห็นเรื่องปรับ ครม. แต่ถ้าถามว่าภาคเอกชนอยากให้ทีมเศรษฐกิจหรือรัฐบาลแก้ไขปัญหาอะไรเป็นเรื่องเร่งด่วนนั้น อยากเห็นรัฐบาลให้ความสำคัญ ดูแลปัญหาระดับรากหญ้าให้มากขึ้น แม้นายกฯ จะมีพยายามดำเนินการเต็มที่อยู่แล้ว แต่อยากเห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมกว่าปัจจุบัน เพราะจะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ โดยเฉพาะการดูแลแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ และการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทำให้มีความกังวลเรื่องกำลังซื้อในประเทศจะยังฟื้นตัวไม่มากในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
"หากปรับ ครม.แล้วรัฐบาลยังมีการประสานนโยบายการทำงานในทางที่ดีกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจภาพรวม" ประธานสภาอุตฯกล่าว
พิชัยฝากรมต.ใหม่ช่วยเกษตรกร
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวการปรับ ครม.ว่า อยากให้เร่งปรับ ครม. หากจำได้ตนเสนอให้ปรับครม.มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพราะเห็นว่าทีมเศรษฐกิจที่ทำอยู่ไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ส่วนที่มีกระแสข่าวจะดึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช.มาร่วมทีม ก็อาจจะ ดีขึ้น เพราะคนจะจำนายสมคิดสมัยที่ทำเศรษฐกิจได้ดีในสมัยทำตามนโยบายรัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งนายสมคิดเองก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าจะมีแนวคิดของตัวเองที่จะแก้ปัญหาได้
"หากเป็นนายสมคิดก็อยากฝากให้เร่งแก้ปัญหาเสาหลักเศรษฐกิจที่เสื่อมลงตามที่ได้เคยพูดไว้ หากทำได้ก็ต้องขอยกย่อง โดยปัญหาหลักที่ต้องเร่งแก้ คือการช่วยเหลือประชาชนที่กำลังลำบาก โดยเฉพาะเกษตรกรที่รายได้ลดมากแถมเจอภาวะภัยแล้งอีก การส่งออกที่ตกต่ำ การลงทุนจากต่างประเทศที่หดหาย และการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะ ลดลง จะเป็นบทพิสูจน์ว่า นายสมคิดจะเก่งจริงหรือไม่ และหากปรับครม.แล้วก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ ก็อยาก ให้ทราบว่าปัญหาหลักคือการต้องกลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว และเร่งสร้างความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ" นายพิชัยกล่าว
ป้อมอยากให้เข้าใจซื้อเรือดำน้ำ
ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวถึงโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่ยังไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ว่า ต้องการให้กองทัพเรือไปสร้างการรับรู้และชี้แจงให้กลุ่มที่สงสัย มีความเข้าใจ การพิจารณาต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทางกองทัพเรือยังไม่ได้ยกเลิกโครงการ เพราะอยู่ในแผนการพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือ ต้องขอฝากสื่อมวลชนช่วยชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย
เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่โครงการดังกล่าวมักถูกกระแสต้านในทุกยุคสมัย พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ถ้าประชาชนเข้าใจก็ดำเนินการได้ โครงการนี้ใช้งบฯ ผูกพันยาวนาน 10 ปี ไม่ได้ ใช้งบฯ ก้อนใหญ่ในครั้งเดียว กองทัพเรือต้องพยายามทำความเข้าใจต่อไป
ไม่รู้"สมคิด"ร่วมทีมเศรษฐกิจ
เมื่อถามว่าถึงเวลาที่จะปรับครม.ด้านเศรษฐกิจหรือยัง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ขึ้นอยู่ กับสถานการณ์และนายกฯ จะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งทีมเศรษฐกิจมีความตั้งใจแก้ไขปัญหา ตนในฐานะประธานกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ก็พยายามช่วยอยู่ แต่ต้องเข้าใจสภาพเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วยว่ายังไม่ดี ทุกคนประสบปัญหาคล้ายกัน รวมทั้งไทยด้วย เข้าใจว่าประชาชนอยากให้เศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลพยายามทำทุกทาง เมื่อถามถึงกระแสข่าวเชิญนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาคสช. มาร่วมทำงานด้านเศรษฐกิจ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ทราบ
เมื่อถามถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่เปิดทางให้ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิทาง การเมือง เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เป็นการเปิดโอกาส ให้ใครเป็นอะไรก็ได้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามทำให้ทุกอย่างเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่จำกัดสิทธิใคร ส่วนจะมาร่วมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ทร.เร่งแจงข้อสงสัยเรือดำน้ำ
พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. กล่าวถึงพล.อ.ประวิตรชะลอโครงการจัดซื้อเรือ ดำน้ำ โดยสั่งการให้กองทัพเรือไปสร้างความรับรู้ต่อสาธารณะให้มากขึ้นถึงความเหมาะสมว่า ตนจะสั่งให้พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง ผู้ช่วยผบ.ทร.ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ทำเอกสารชี้แจงต่อสาธารณะและสื่อมวลชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงความจำเป็นและความคุ้มค่า ทั้งนี้ ต้องเชื่อใจกันและเคารพการทำหน้าที่ของใครของมัน เพราะเรือดำน้ำเป็นผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับมากกว่า เป็นอาวุธที่มีศักยภาพ สูงในการป้องกันทางทะเล ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน โดยเฉพาะพื้นที่อ่าวไทยที่มีพื้นที่กว่า 3 แสนตารางไมล์
พล.ร.อ.ไกรสร กล่าวว่า กรณีที่มีข่าวว่าผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีมูลค่า 2 ล้านล้านบาทต่อปีนั้นไม่เป็นความจริง จากข้อมูลการศึกษาของกองทัพเรือพบว่าผลประโยชน์มีมูลค่ามากกว่าถึง 24 ล้านล้านบาทต่อปี ถือว่ามหาศาลเมื่อเทียบกับเรือดำน้ำที่จะซื้อ 3 ลำ มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาทและใช้งานได้ถึง 30 ปี เมื่อเปรียบเทียบแล้วถือว่าคุ้มค่ามากที่สุด เหมือนสร้างบ้าน จำเป็นต้องมีรั้วรอบขอบชิดป้องกันรักษาบ้าน และที่วิจารณ์กันว่าอ่าวไทยตื้นไม่สามารถมีเรือดำน้ำได้นั้นยืนยันว่าไม่เป็น ความจริงเพราะกองทัพเรือได้ศึกษาภูมิศาสตร์อย่างดีแล้ว
ยัน 3 หมื่นล้านแบ่งจ่ายสิบปี
พล.ร.อ.ไกรสร กล่าวด้วยว่า ส่วนงบประมาณ จัดซื้อเรือดำน้ำนั้นไม่ได้เป็นไปตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ เนื่องจากกองทัพเรือได้งบประจำปี 4 หมื่นล้านบาท หากซื้อเรือดำน้ำจริงจะเจียดงบบางส่วนมาจัดซื้อโดยผ่อนชำระเป็นรายปี จะไม่กระทบต่องบกลางของรัฐบาล อยากให้เชื่อใจกองทัพเรือถึงหลักความจำเป็น เราเป็นคนไทยต้องเชื่อใจกัน ในอนาคตหากเกิดสงครามสิ่งที่อยู่รอดได้คือเรือดำน้ำที่มีศักยภาพ อยู่ได้ในทุกสงคราม กองทัพเรือจะทำสิ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบ ถ้าไม่ให้จัดซื้อก็ไม่เป็นไรกองทัพเรือเราถือว่าเราได้ทำในสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว
แหล่งข่าวจากกองทัพเรือกล่าวว่า การจัดซื้อ เรือดำน้ำยังเป็นไปตามแผนเดิมที่จะจัดหาจากประเทศจีน 3 ลำ วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ กองทัพเรือจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำเข้าประจำการเพราะถือเป็นยุทโธปกรณ์ที่สำคัญจริงๆ ในการป้องกันและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ส่วนข้อติติงว่ากองทัพเรือมีเรือรบผิวน้ำจำนวนมากแล้วจึงไม่จำเป็นต้องจัดหาเรือดำน้ำนั้น อยากชี้แจงว่าการรบต้องประกอบกำลัง 3 มิติทั้ง บนอากาศ ผิวน้ำ และใต้น้ำ ซึ่งบางอย่างไม่สามารถทำการแทนกันได้ ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วถือว่าไม่สมบูรณ์ เรือดำน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในอนาคตและเป็นกำลังหลักในการรบทางทะเลเพื่อสร้างให้กองทัพเข้มแข็ง เพราะหากกองทัพเรือไทยไม่มีเรือดำน้ำไม่ใช่ว่าคนไทยจะดีใจที่ไม่ได้จัดซื้อ แต่เพื่อนบ้านที่มีผลประโยชน์ทางทะเลจะกลับเป็นฝ่ายดีใจมากกว่า คนไทยต้องช่วยกันผลักดันและเข้าใจถึงภารกิจของกองทัพเรือเพราะการจัดซื้อไม่ใช่นำเงินก้อนเดียวไปจัดซื้อแต่ผ่อนจ่ายเป็นรายปี 7-10 ปี แล้วแต่ครม.จะเห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งงบจัดซื้อเป็นงบรายจ่ายประจำปีของกองทัพเรือ ไม่ใช่งบกลางของรัฐบาลอย่างที่เข้าใจกัน
สปช.โชว์พิมพ์เขียวปฏิรูป 11 ส.ค.
ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่ง ชาติ (วิปสปช.) แถลงว่า หลังจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ฉบับขอแก้ไข พ.ศ.2558 ประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว จึงยกเลิกการประชุมสปช.วันที่ 25 และ 26 ก.ค. นี้ เนื่องจากมีเวลาเพิ่มเติม โดยนัดประชุมวันที่ 5 และ 10 ส.ค. นอกจากนี้ สปช. มีภารกิจ 3 ประการ คือ 1.จัดทำพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. กำหนดให้วันที่ 11 ส.ค. เป็นวันแถลงรายงานพิมพ์เขียวปฏิรูปฯ ให้ประชาชนรับทราบ และส่งมอบให้รัฐบาล จัดที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์และบางกอก คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ถือเป็นการส่งมอบพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศอย่างเป็นทางการ
2.ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ กำหนด วันลงมติภายในสัปดาห์แรกของเดือนก.ย. แต่ขึ้นอยู่กับการขอขยายเวลาแก้ไขคำขอหรือการแปรญัตติของกมธ.ยกร่างฯ ที่จะขยายจาก 60 วัน ออกไปไม่เกิน 30 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คาดว่ากมธ.ยกร่างฯ จะแจ้งให้ประธาน สปช.ทราบและนำเรื่องเข้าที่ประชุมสปช.ในวันที่ 21 ก.ค. ซึ่งการขยายเวลา มีผลโดยตรงต่อการลงมติที่ยังไม่สามารถกำหนดวันได้ แต่การลงมติต้องไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือน ก.ย. และ 3.การตั้งคำถามประกอบการออกเสียงประชามติ จะนัดประชุมเพื่อให้สมาชิกพิจารณาหลังจากวันที่ 11 ส.ค. โดยคำถามประชามติ ต้องได้รับความเห็นชอบในวันเดียวกับวันลงมติร่างรัฐธรรมนูญ
เตือนเพื่อนอย่าอ้าง"สปช."
นายอลงกรณ์กล่าวว่า นายเทียนฉายยังสนับสนุนให้จัดตั้งชมรมสปช. เพื่อดำเนินภารกิจเผยแพร่แนวทางพิมพ์เขียวปฏิรูปฯ ให้ประชาชนเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ ส่วนที่สปช.ถูกติติงว่าไม่มีผลงาน ที่จริงผลงาน ของสปช.คือการจัดทำพิมพ์เขียวปฏิรูปฯ ซึ่งขณะนี้เสร็จแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ สปช.เปรียบเป็นสถาปนิกที่ร่างพิมพ์เขียวปฏิรูปฯ ส่วนคนที่ลงมือปฏิบัติคือรัฐบาลนี้ และรัฐบาล ในอนาคต
นายอลงกรณ์กล่าวถึงการแสดงความเห็นของสมาชิกสปช.ว่า จะต้องผ่านการพิจารณาหรือประสานงานกับกมธ.วิสามัญประชา สัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป แม้สมาชิกให้ความเห็นได้ แต่ขอให้เป็นความเห็นส่วนบุคคล และขอความร่วมมือสื่อมวลชน นำเสนอข่าวให้ระบุชื่อบุคคล อย่าบอกว่าสปช.เสนอ เช่น เรื่องรัฐบาลแห่งชาติ และการให้ความเห็นว่า 2 พรรคใหญ่อยู่เบื้องหลังที่จะล้มรัฐบาล ซึ่งประธาน สปช. กังวลในเรื่องนี้ และจะหารือนอกรอบเรื่องการแสดงความเห็นของสมาชิก ให้มีแนวทางปฏิบัติที่ตรงกัน ยืนยันว่าสปช.ไม่ขัดข้องที่สมาชิกแสดงความเห็น แต่ขอให้ตระหนักถึงภารกิจและหน้าที่ของสปช. ความเห็นส่วนตัวถือเป็นความรับผิดชอบ ของแต่ละคน จึงขอให้ระมัดระวังประเด็นที่มีผลกระทบต่อสปช.
"โพเดียมนี้ควรเป็นการแถลงข่าวในนามสปช. การให้ความเห็นส่วนตัวควรเป็นในลักษณะการสัมภาษณ์ ต้องแยกออกจากภาพการแถลงข่าวของสปช. เข้าใจดีว่าสมาชิกแต่ละคนมาจากหลากหลายอาชีพ คนที่มาจากทางการเมืองก็ต้องให้ความเห็นเรื่องการเมือง แต่ต้องเป็นในนามส่วนตัว เนื่องจากการแถลงข่าวมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของ 2 พรรคและรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ประธานสปช.ไม่ได้ เชิญ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิก สปช. เข้าพูดคุยตามที่พรรคการเมืองเรียกร้อง เพราะให้เกียรติในฐานะผู้ใหญ่ และเชื่อว่าพล.อ. ธวัชชัยจะออกมาให้ความกระจ่างในเรื่องต่างๆ ได้" นายอลงกรณ์กล่าว
สนช.รอคำถามซัก 248 สส.
วันเดียวกัน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ (วิปสนช.) กล่าวว่า การแถลงเปิดสำนวนถอดถอนอดีตส.ส. 248 คน เมื่อวันที่ 15 ก.ค. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เดิมวิปสนช. กำหนดไว้ 2 วัน แต่คู่กรณีใช้เวลาแถลงเปิดสำนวนเพียงวันเดียวก็ชี้แจงครบทุกประเด็นแล้ว หลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนซักถาม ซึ่งที่ประชุม สนช.เปิดให้สมาชิก ส่งญัตติซักถามได้ถึงภายใน 12.00 น. วันที่ 20 ก.ค.นี้ จากนั้น กมธ.ซักถามจะนัดประชุม นำคำถามทั้งหมดมาจัดหมวดหมู่ ซึ่งคำถามใดซ้ำกันหรือเป็นแนวคำถามเดียวกันก็จะนำมารวมกันเป็นคำถามเดียว
นพ.เจตน์กล่าวอีกว่า จากนั้นวันที่ 6 ส.ค.นี้ กมธ.ซักถามนำคำถามที่จัดหมวดหมู่แล้ว มาถามคู่กรณีในที่ประชุมต่อไป หลังซักถามเสร็จจะนัดวันแถลงปิดสำนวนภายใน 7 วัน แล้วนัดลงมติได้ภายใน 3 วันหลังวันแถลงปิดสำนวน ตามกรอบเวลาที่ข้อบังคับการประชุมกำหนด
บวรศักดิ์เล็งขยายเวลาร่างรธน.
ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา จ.ชลบุรี ในการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นอกสถานที่เป็นวันที่ 4 มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานการประชุม มีวาระการพิจารณาปรับแก้ไขบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา
ก่อนเข้าสู่วาระ นายบวรศักดิ์ชี้แจงว่า แม้รัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้แล้ว แต่กมธ.ยกร่างฯจะปฏิบัติงานจนใกล้ครบเวลา 60 วันตามกรอบเดิม ซึ่งจากการหารือภายในกมธ.ยกร่างฯ ว่าเราจะมีมติร่วมกันในวันที่ 21 ก.ค. ว่าจะขอขยายเวลาการทำงานออกไปอีก 30 วันหรือไม่ เพราะหากพูดกันในช่วงนี้ เกรงจะก้าวล่วงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ยืนยันว่ากระบวนการทำงานของกมธ.ยกร่างฯไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ ทั้งสิ้น
รอมติที่ประชุมกมธ.
เมื่อถามว่าหากไม่มีการขยายเวลาการทำงานออกไปอีก 30 วันแล้วกมธ.ยกร่างฯจะเชิญผู้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 9 กลุ่มมารับฟังหลักการและเหตุผลการปรับแก้ไขอีกหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่าขณะนี้กมธ.ยกร่างฯยังเหลือการพิจารณาบทบัญญัติในส่วนภาค 4 เกี่ยวกับการปฏิรูปและการสร้างปรองดองอยู่ หากภายในวันที่ 21 ก.ค.นี้ กมธ.ยกร่างฯยังพิจารณามาตราที่เหลือไม่เสร็จก็อาจจะไม่เชิญผู้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมเข้ามารับฟัง แต่หากมีเวลาเหลือก็อาจจะเชิญมาก็ได้ ต้องดูเงื่อนไขของเวลาอีกครั้ง
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า หากหลังจากนี้กมธ.ยกร่างฯมีมติร่วมกันว่าจะขอขยายเวลาการทำงานก็ต้องมาดูถึงความเหมาะสมอีกครั้งว่าจะขยายไปอีกกี่วัน แต่ถ้าขยายทั้งที่ก็ต้องใช้เวลาเต็มที่ เพราะการพิจารณาบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญต้องทำด้วยความรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยที่สุด รวมทั้งต้องมีเวลาตรวจสอบความถูกต้องและความสอดคล้องของเลขมาตราด้วย เพื่อป้องกันการผิดพลาด
ขู่ฟ้องคนปล่อยข่าวปม"คปก."
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และมีคำสั่งให้คปก.ชุดที่ครบวาระและอยู่ปฏิบัติหน้าที่รักษาการพ้นจากตำแหน่งนั้น ก็มีบุคคลจำนวนหนึ่งเข้าใจผิดว่ากมธ.ยกร่างฯได้ประชุมกันในเรื่องนี้ ขอเรียนว่ากมธ.ยกร่างฯไม่มีการพูดคุยกันในประเด็นคปก.ที่จะให้ยุบหรือปฏิบัติหน้าที่ ต่อไปเลย เพราะในกมธ.ยกร่างฯ มีสมาชิกเป็นคปก.อยู่ 1 คน คือนายบรรเจิด สิงคะเนติ และมีกมธ.ยกร่างฯอีก 2 คนที่อยู่ระหว่างเข้ารับการสรรหาและคัดเลือกคือนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ และน.ส.สุภัทรา นาคะผิว ส่วนตนเคยสมัครและได้ถอนตัวออกไป
"อยากขอร้องคนที่ปล่อยข่าวต่างๆ นานาว่าควรยุติได้แล้ว โดยเฉพาะสุภาพสตรีคนหนึ่ง หากไม่หยุดก็คงต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือต้องไปเจอกันที่ศาลอาญา เพราะผมจะฟ้องฐานหมิ่นประมาท"นายบวรศักดิ์กล่าว
ตั้งอนุฯยกร่างพรบ.ประกอบ
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมว่า กมธ.ยกร่างได้พิจารณา 2 เรื่องหลักคือ ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันว่าจะมีองค์ประกอบของคณะกรรมการมาทำหน้าที่ปฏิรูปและสร้างความปรองดอง ในระดับยุทธศาสตร์ โดยจะให้กมธ.ไปพิจารณาและนำมาเสนอสัปดาห์หน้า ว่าการจัดตั้งสภาปฏิรูปและสร้างความปรอง ดองควรจะมีโครงสร้างอย่างไร ส่วนเนื้อหาการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองจะกำหนดไว้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม โดยจะคงไว้แต่เพียงหัวข้อ ด้านการยุติธรรม การบริหารราชการแผ่นดิน การปราปรามทุจริต การศึกษาการสาธารณสุข สังคมและวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ผังเมือง พลังงาน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งจากเดิมที่มี 15 มาตรา ก็ตัดเหลือ 4 มาตรา
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า พร้อมกันนี้ได้ ตั้งคณะอุนกมธ.ยกร่างฯพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การปฏิรูปและการปรอง ดอง ประกอบด้วยตัวแทนจากกมธ.ปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้ง 18 คณะ ก่อนจะนำทั้งร่างรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเสนอให้สปช.พิจารณาควบคู่กัน ซึ่งหาก กมธ.ยกร่างฯไม่ขอขยายเวลาการพิจารณา 30 วัน จะส่งให้สปช.ในวันที่ 21 ก.ค. แต่หากขอต่อเวลาจะส่งให้สปช.พิจารณาในวันที่ 22 ส.ค.
ยังไม่แตะสภาขับเคลื่อนฯ
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนมาตรา 303 ยังคงยึดแนวทางตามที่กำหนดไว้ในร่างแรก ที่กำหนดให้เมื่อครบ 5 ปี ให้มีการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอิสระ ประกอบด้วยตัวแทนจาก รัฐสภา คณะรัฐมนตรี(ครม.) ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพื่อประเมินการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ว่าจะต้องแก้ไขมาตราใดบ้าง แล้ว เสนอต่อรัฐสภาและครม.แก้ไขตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ โดยมีระยะเวลาการทำงานภายใน 6 เดือน สำหรับวันที่ 17 ก.ค. จะพิจารณามาตราที่แขวนไว้ 6-7 เรื่อง ในภาค 1-3 เช่น เอกสิทธิ์ของส.ส. คณะกรรมการสรรหาส.ว. และบทเฉพาะกาล หากเสร็จจะทบทวนทั้งหมด พร้อมพิจารณาโครงสร้างขององค์กรปฏิรูปและสร้างความปรองดองหลังจากที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้
เมื่อถามว่าโครงสร้างสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯจะเป็นไปตามที่ครม.เสนอหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ตรงส่วนนี้เรายังไม่พิจารณา คาดว่าจะพิจารณาเรื่องนี้ในสัปดาห์หน้า ซึ่งอาจจะมีด้วยกัน 2-3 รูปแบบ เช่น การจัดตั้งคณะยุทธศาสตร์การปฏิรูปขึ้นมาปฏิรูปแต่ละด้าน หรือมีเพียงคณะกรรมการเดียวเป็นทั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและสร้างความปรองดอง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ คาดว่าจะพิจารณาในสัปดาห์หน้า
ผู้ตรวจเฮไม่ต้องควบรวม"กสม."
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวกรณีกมธ.ยกร่างฯ ยกเลิกการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนว่า ขอขอบคุณ และพอใจที่กมธ.ยกร่างฯเข้าใจบทบาทการทำงานของผู้ตรวจการฯ จึงยกเลิกการควบรวมตามที่เราเสนอความเห็นให้ปรับแก้ไข
พล.อ.วิทวัส กล่าวอีกว่า แต่ต้องรอดูอำนาจ หน้าที่เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวน การทำงานว่าจะได้รับการตอบรับหรือไม่ โดยเฉพาะอำนาจเกี่ยวกับคำวินิจฉัยและข้อเสนอของผู้ตรวจการฯที่ส่งไปยัง หน่วยงานราชการต่างๆ หากพบว่าหน่วยงานราชการนั้นไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผลสมควร ขอให้มีการสืบสวนสอบสวนทางวินัย เนื่องจาก ผู้ตรวจการฯ พบว่าหลายคำวินิจฉัยที่ส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ไม่ได้รับการปฏิบัติตาม ส่งผลให้ประชาชนที่มีผลกระทบได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งพอหน่วยงานนั้นเปลี่ยน ผู้บริหาร เรื่องต่างๆก็ไม่ได้รับความสนใจและถูกลืมไป
กกต.ยังไม่เปลี่ยนวันประชามติ
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรม การประสานการบริหารการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญว่า หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม มีผลบังคับใช้ และมีการระบุให้ทำประชามติ จึงประชุมคณะกรรมการเพื่อเตรียมการ เบื้องต้นยังเห็นว่าไม่ต้องเปลี่ยนแปลงวันออกเสียงประชามติที่กำหนดไว้เดิมคือวันที่ 10 ม.ค. 2559 แม้กมธ.ยกร่างฯ จะขอขยายเวลายกร่างรัฐธรรมนูญ ออกไปอีก 30 วัน
นายภุชงค์ กล่าวว่า กกต.จะเปิดศูนย์อำนวยการออกเสียงประชามติ ในวันที่ 1 ก.ย และจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต.ต้องจัดพิมพ์ เอกสารร่างรัฐธรรมนูญ และเผยแพร่ประชาชน ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 23 ล้านครัวเรือน รวมถึงจัดพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติที่คาดว่าอาจใช้บัตร 3 ใบต่อผู้ออกเสียง 1 คน จึงจำเป็นต้องสรรหาโรงพิมพ์ที่มีศักยภาพ พิมพ์ทั้งบัตรออกเสียง และเอกสารเผยแพร่ ดังนั้น วันที่ 17 ก.ค. ตนจะลงนามประกาศเชิญชวนให้โรงพิมพ์ทั้งของรัฐและเอกชน เสนอตัวว่าพร้อมรับงานมากน้อยเพียงใด คาดว่าจะทราบผลภายในสิ้นเดือนนี้ ส่วนงบที่จะใช้จัดการออกเสียงครั้งนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ ขึ้นอยู่กับจำนวนคำถามและเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดพิมพ์ ซึ่งต้องรอความชัดเจนก่อน แต่เบื้องต้นคำนวณหน่วยออกเสียง มีประมาณ 98,000 หน่วย และกรรมการประจำหน่วย 7-10 คน คาดว่าจะใช้งบเฉพาะส่วนนี้ไม่เกิน 2 พันล้านบาท
หนักใจต้องพิมพ์ร่างรธน.แจก
นายภุชงค์ กล่าวว่า กกต.หนักใจที่รัฐธรรมนูญ กำหนดให้กกต.ต้องจัดพิมพ์เอกสารร่างรัฐธรรมนูญและเผยแพร่ประชาชนให้ได้ร้อยละ 80 หรือ 19 ล้านครัวเรือน ก่อนถึงวันออกเสียง 30-45 วัน เท่ากับว่า หากกำหนดวันออกเสียงในวันที่ 10 ม.ค. 2559 จะต้องเผยแพร่เอกสารให้เสร็จภายในช่วงปลายเดือนพ.ย. เมื่อนับเวลาที่ สปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่อย่างช้าในวันที่ 6 ก.ย. ระยะเวลาจึงกระชั้นชิด
นายภุชงค์กล่าวต่อว่า การจัดพิมพ์โดยกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามปกติอาจมีปัญหา แต่ กกต.พยายามจะไม่ใช้การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ จะยึดเรื่องการประกวดราคา ซึ่งจะประสานสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และป.ป.ช. ช่วยดูแลในส่วนนี้เพื่อความโปร่งใส รวมทั้งจะขอความชัดเจนไปยังรัฐบาลว่าการให้ กกต. ซึ่งเป็นผู้จัดออกเสียงประชามติ เป็นผู้พิมพ์และเผยแพร่ด้วยนั้นจะเหมาะสมหรือไม่ และจะเผยแพร่ได้มากแค่ไหน เพราะเป็นเรื่องข้อกฎหมาย ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งแผนการทำประชามติที่ประชุมนี้จะเสนอต่อที่ประชุม กกต. วันที่ 21 ก.ค.นี้ด้วย
ศาลปค.สั่งคุ้มครอง"พีซทีวี"
ที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งกำหนดมาตร การคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยสั่ง ทุเลาการบังคับใช้คำสั่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของบริษัท พีซ เทเล วิชั่น จำกัด ผู้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ส่งผลให้พีซทีวีกลับมาออกอากาศตามปกติได้ต่อไป
ทั้งนี้ ศาลให้เหตุผลระบุว่า คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตพีซทีวีของ กสทช. เป็นคำสั่งทางปกครอง เพราะ กสทช.ใช้อำนาจตามพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 ที่มีผลกระทบต่อสิทธิของบริษัทพีซฯ และผู้ฟ้องคดีรวม 6 รายอย่างร้ายแรง ซึ่งก่อนที่ กสทช.จะออก คำสั่งดังกล่าว จำเป็นต้องให้บริษัทพีซฯ ชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงพยานหลักฐานตามข้อ 12 (1) ของประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการ กระทำความผิดในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่มีโทษทางปกครอง 2556 ที่กำหนดว่า ในการรวบรวมข้อเท็จจริงให้ กสทช. แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ถูกร้องเรียนทราบถึงคำ ร้องเรียน พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาให้ผู้ถูกร้องเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงหลักฐานภายในเวลาอันควรแต่ไม่เกิน 15 วันนับแต่ วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์และ วิธีที่ กสทช.กำหนดขึ้นเองไว้โดยเฉพาะ และมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรม หรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539
ชี้"กสทช."ไม่เปิดให้โต้แย้ง
ศาลปกครองระบุด้วยว่า แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า กสทช.เพียงรวบรวมเอกสารตามคำร้องเรียนจากคณะทำงานติดตามสื่อ กรมทหารสื่อสาร ฉบับลงวันที่ 22 เม.ย. 58 แจ้งว่ารายการ "มองไกล" ที่ออกอากาศวันที่ 18 เม.ย. เวลา 09.00-11.00 น. มีเนื้อหาขัดต่อ ประกาศคสช. ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 และมีมติให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ถือเป็นการดำเนินการโดยเร่งรัด ไม่ปรากฏหลักฐานในสำนวนหรือในชั้นไต่สวนว่า กสทช.เปิดโอกาส ให้บริษัทพีซฯ ได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน จึงถือได้ว่าเป็นคำสั่งทางปกครองที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้ออ้างของ กสทช.ที่ว่าจำเป็นเร่งด่วน และเข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 มาตรา 30 (1) (3) และ (5) นั้น ไม่อาจรับฟังได้ เพราะตามประกาศ กสทช. มิได้มีข้อยกเว้นให้ กสทช.มีอำนาจพิจารณาเพื่อออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ต้องให้โอกาสคู่กรณีได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานได้
ระบุคำสั่งกสทช.มีผลกระทบ
ศาลปกครองระบุว่า หากคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป ย่อมทำให้บริษัทพีซฯ ต้องหยุดให้บริการ มีผล กระทบต่อรายได้ที่ได้รับจากผู้สนับสนุนและมีผลกระทบต่อพนักงานบริษัทที่มีกว่า 100 คน จะต้องถูกเลิกจ้าง ได้รับความเดือดร้อน ยากแก่การเยียวยาแก้ไข แม้ภายหลังจะไปออกอากาศทางอินเตอร์เน็ต ก็ไม่อาจเยียวยาแก้ไขความเดือดร้อนดังกล่าวได้
ศาลปกครองระบุอีกว่า การที่ศาลจะมี คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าจะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือบริการสาธารณะ ทั้งนี้ ให้บริษัทพีซฯ ปฏิบัติตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 ให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช. และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ และปฏิบัติตามขอบเขต เงื่อนไขการอนุญาตตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ ข้อ 14 โดยเคร่งครัด ภายใต้การควบคุมดูแลของ กสทช.ด้วย
พีซทีวีพร้อมออกอากาศ 20 ก.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอ่านคำสั่งในวันนี้ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ (นปช.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้บริหาร พีซทีวี ในฐานะผู้ฟ้องคดี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ นางธิดา โตจิราการ นายสมหมาย อัสราษี นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก มารับฟังคำสั่งอย่างพร้อมเพรียงและแสดงความดีใจเมื่อศาลมีคำสั่งดังกล่าว
นายจตุพรกล่าวว่า คาดว่าสถานีจะมีความพร้อมกลับมาออกอากาศอีกครั้งในวันที่ 20 ก.ค.นี้ ตนแจ้งต่อศาลเพื่อแสดงเจตนาไม่ให้ทั้งฝ่ายพีซทีวี หรือ กสทช. รู้สึกว่าใครเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะ รายการมองไกล ที่ตนเป็น ผู้ดำเนินรายการและทำให้พีซทีวีถูกเพิกถอนใบอนุญาต จะไม่กลับมาออกอากาศทางสถานีพีซทีวีอีก จนกว่าบ้านเมืองจะเข้าสู่บรรยากาศที่กลับมาพูดคุยกันได้ แต่จะยังคงออกอากาศทางอินเตอร์เน็ตต่อไป และคิดว่าเมื่อตนได้แสดงเจตนาเช่นนี้แล้ว กสทช.ก็น่าจะพิจารณาในเรื่องการไม่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ปปช.แย้มตีตกคดีข้าวยุคมาร์ค
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเรื่องกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกฯ ในฐานะรอง กขช. นางพรทิวา นาคาศัย อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาการระบายข้าว และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสาร กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลเมื่อปี 2553
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติควรให้ขยายผลการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีนายวีระศักดิ์ จินารัตน์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบแคชเชียร์เช็คเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของวิทยาลัยโปลีเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 25 ล้านบาท ให้กับบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด จำกัด ไปวางค้ำประกันการทำสัญญากับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และแจ้งคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริงกับนายวีระศักดิ์ ต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีแคชเชียร์เช็คเงินกยศ.นั้น พยานหลักฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอพิจารณาได้ว่า นางพรทิวามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งจะต้องไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมให้ ชัดเจนก่อน และหากพบว่านางพรทิวา หรือบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็จะแจ้งข้อกล่าวหาต่อไปส่วนข้อกล่าวหาอื่นๆ ของนายอภิสิทธิ์ นายไตรรงค์ และนายมนัส ให้ตกไป
เต้นชี้เรือแป๊ะสับสน น้ำ5สายสะเปะสะปะ ทร.แค่ชะลอเรือดำน้ำ ปรับครม.ปลายก.ค.
"บิ๊กป้อม"ยัน ทร.ไม่ได้เลิกเรือดำน้ำแค่ชะลอ ผบ.ทร.สั่งทำเอกสารชี้แจงสาธารณะ "บิ๊กตู่"บ่นเป็นอัศวินขี่ม้าขาเป๋
@ บิ๊กตู่บ่นเป็นอัศวินขี่ม้าขาเป๋
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 16 กรกฎาคม ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดเวทีสัมมนาระดับชาติ แนวทางการพัฒนาธุรกิจไทยอย่างยั่งยืน เดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างต่อเนื่อง (ทีเอ็มเอ) โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ทุกคนต้องคิดและสร้างความเข้าใจว่าก่อนหน้าที่จะเข้ามาบริหารประเทศนั้นเกิดอะไรขึ้น และเมื่อเข้ามาแล้วได้ทำอะไรไปบ้าง หลายอย่างที่ทำไปอาจจะไม่สามารถเกิดได้ในวันนี้หรือพรุ่งนี้ เพราะมีทั้งเรื่องการเมือง และเรื่องกฎหมายต่างๆ ทำให้การเดินหน้าประเทศมีปัญหาบ้าง รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณก็ยังมีปัญหา และปัญหาความไว้เนื้อเชื่อใจก็ยังมีมาอย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่ทำให้ทำงานไม่ได้คือเรื่องของการเมือง และเรื่องอุปสรรคต่างๆ บางครั้งทำให้งงเหมือนกัน แม้จะคิดหรือสั่งการไปแล้ว แต่บางครั้งก็ทำจริงไม่ได้ ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกัน วันนี้เรื่องผลประโยชน์ไม่คุยด้วยกับใครทั้งสิ้น แม้แต่เพื่อนก็ยังไม่คุย โกรธกันไปก็เยอะ เพื่อนทิ้งไปก็เยอะ ครอบครัวก็เหนื่อยและเป็นห่วง แต่ก็ทำไงได้ ทำเพื่อประเทศ ไม่ใช่อัศวินม้าขาว แต่เป็นม้าขาเป๋ เพราะมีปัญหาประเดประดังเข้ามา วิ่งขาจะเปื่อยอยู่แล้ว แต่ทุกคนต้องช่วยสร้างความเข้าใจ อย่าคิดว่าใช้มาตรา 44 ได้หมดทุกเรื่อง
@ บอกไม่รู้ข่าวปรับรมต.ศก.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังพล.อ.ประยุทธ์กล่าวเปิดสัมมนาได้เดินทางกลับทำเนียบรัฐบาล ทันทีที่เห็นผู้สื่อข่าวดักรอสัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์มองมาที่กลุ่มผู้สื่อข่าวพร้อมกับกล่าวว่า ไม่มีอะไรมั้ง จะสัมภาษณ์เรื่องอะไร ถ้าเป็นเรื่องการเมืองไม่ตอบ ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อเสริมทัพด้านเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สื่อไปเขียนกันเองทั้งนั้น เมื่อถามว่า ตกลงไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรีตามที่เป็นข่าวใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวทันทีว่าไม่รู้
@ 'จักรมณฑ์'มั่นใจทำหน้าที่สมบูรณ์
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับ ครม.เศรษฐกิจว่า "ไม่รู้ข่าว ก็สื่อนั่นแหละที่เป็นคนลงข่าว ไม่ใช่เพราะผม นายกฯก็ไม่มีการปรารภ พอออกข่าวทีท่านนายกฯก็ออกมาบอกที ส่วนอักษรแคนดิเดต อักษรชื่อย่อ ว. ก็ไม่มี อย่าไปเชื่อ ผมกับท่านนายกฯ มีการพูดกันอยู่ตลอดเวลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังก็ยังเที่ยวอยู่กับผม"
สำหรับ รัฐมนตรีที่อยู่ในกระแสปรับ ครม.นั้น นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ไม่มีความเห็น แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่าข่าวที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นแหล่งข่าว ไม่มีที่มาชัดเจน เป็นการแสดงความเห็น จึงไม่รู้ว่าเป็นข่าวที่ลอยมาหรือเปล่า อย่างไรก็ตามสำหรับการทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มั่นใจว่าได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์
นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด อีกทั้งช่วงเช้าได้พบปะพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งหัวข้อในการพูดคุยก็ไม่ได้มีการเอ่ยถึงการปรับ ครม.แต่อย่างใด ขณะนี้จะยังขอมุ่งมั่นทำงานในหน้าที่ต่อไป โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลและปรับโครงสร้างใหม่ของกระทรวงไอซีที แต่หากท้ายสุดจะต้องโดนปรับออกจาก ครม.จริงก็ถือว่าเป็นโอกาสกลับไปพักผ่อน
@ ณรงค์ชัยไม่เครียด-โยนถามบิ๊กตู่
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ที่มีรายชื่อปรากฏในข่ายถูกปรับ กล่าวด้วยน้ำเสียงตกใจและสีหน้าตื่นเต้น แต่ก็หัวเราะกับผู้สื่อข่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถามนายกรัฐมนตรี ส่วนตัวทุกวันนี้ยังตั้งใจทำงานตามหน้าที่เป็นปกติ เพื่อดำเนินนโยบายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางแผนไว้อย่างเต็มที่ เรื่องนี้ต้องไปถามนายกรัฐมนตรีถึงจะถูก ถ้าเป็นเรื่องจริงก็คงเป็นข่าวใหญ่มาก ผู้สื่อข่าวถามว่ารู้สึกอย่างไรกับกระแสข่าวนี้ และยังอยากอยู่ทำงานในตำแหน่งนี้ต่อไปหรือไม่ นายณรงค์ชัยกล่าวสั้นๆ ว่า ทุกวันนี้ทำงานด้วยความสนุกมากและทำตามหน้าที่ ไม่ได้ทำเพราะความอยาก
@ บิ๊กป้อมปัดตอบปรับครม.
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เป็นรองนายกรัฐมนตรีไม่สามารถปรับ ครม.ได้ และนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้มาหารือเรื่องดังกล่าว เมื่อถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จะมาดูเรื่องเศรษฐกิจ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้พิจารณา เมื่อถามว่า ถึงเวลาปรับ ครม.ด้านเศรษฐกิจแล้วหรือยัง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ทุกคนในทีมเศรษฐกิจมีความตั้งใจแก้ไขปัญหา ตนในฐานะประธานกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯได้พยายามช่วยกันอยู่แต่ต้องเข้าใจสภาพเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วยว่ายังไม่ดี เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่ด้อยกว่าใคร แต่ถือว่ายังไม่ดีเพราะประชาชนต้องการให้ดีกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมทั้งหมดขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี
เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีการเปิดทางให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองมาร่วมทำงานกับรัฐบาลด้วย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ใครเป็นอะไรก็ได้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามทำให้ทุกอย่างเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่จำกัดสิทธิใคร ส่วนจะมาร่วมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
@ ปรับครม.ปลายก.ค.-ยกแผงศก.
รายงานข่าวแจ้งความคืบหน้าการปรับ ครม.ที่มีแนวคิดเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเศรษฐกิจเกือบยกแผงว่า จะมีการปรับ ครม.ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ หรือไม่ก็ช่วงต้นเดือนสิงหาคม ขณะที่รัฐมนตรีที่อยู่ในข่ายปรับเปลี่ยนนั้นมีอาทิ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในส่วนหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ยังได้นั่งในตำแหน่งรองนายกฯต่อไป แต่จะมีการปรับบทบาทให้เหมาะสม มอบหมายงานการกำกับดูแลงานด้านเศรษฐกิจให้กับคนใหม่ที่จะเข้ามามากขึ้น คาดว่าการปรับ ครม.ครั้งนี้จะมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้าร่วมด้วย
@ พิชัยเชียร์ปรับ-ดึงสมคิดร่วม
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า อยากให้เร่งปรับ ครม. และหากจำกันได้ ตนได้เสนอให้ปรับ ครม.มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพราะเห็นว่าทีมเศรษฐกิจที่ทำอยู่ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาก็เป็นจริงอย่างที่บอก จึงอยากให้ปรับให้เร็วที่สุด แต่ก็ต้องดูว่าผู้ที่จะเข้ามาใหม่มีความรู้ความสามารถดีกว่าเดิมไหม เมื่อถามว่า หากดึงเอานายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณมาร่วมทีมจะเป็นอย่างไร นายพิชัยกล่าวว่า ถ้าเป็นนายสมคิดก็น่าจะดีขึ้น เพราะคนจะจำนายสมคิดสมัยที่ทำเศรษฐกิจได้ดีในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งนายสมคิดเองก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าจะมีแนวคิดของตัวเองที่จะแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่ที่คนจำได้เพราะนโยบายเดิมของไทยรักไทย ทั้งนี้ หากเป็นนายสมคิดก็อยากฝากให้เร่งแก้ปัญหาเสาหลักเศรษฐกิจที่เสื่อมลงตามที่ได้เคยพูดไว้ หากทำได้ก็ต้องขอยกย่อง ส่วนรายชื่ออื่นที่ปรากฏออกมาก่อนหน้านี้ ก็ต้องบอกว่าไม่ประทับใจเพราะในอดีตไม่เคยปรากฏว่ามีผลงานอะไร ถึงแม้จะอ้างว่าเศรษฐกิจโลกไม่ดี แต่หากได้คนเก่งเข้ามาก็จะช่วยได้มาก ปัญหาหลักที่ต้องเร่งแก้คือการช่วยเหลือประชาชนที่กำลังลำบาก โดยเฉพาะเกษตรกรที่รายได้ลดมาก แถมเจอภาวะภัยแล้งอีก การส่งออกที่ตกต่ำ การลงทุนจากต่างประเทศที่หดหาย และการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะลดลง จะเป็นบทพิสูจน์ว่านายสมคิดจะเก่งจริงหรือไม่ และหากปรับ ครม.แล้วก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ อยากให้ทราบว่าปัญหาหลักคือการต้องกลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว และเร่งสร้างความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ
@ หญิงหน่อยยังนิ่งไม่มีท่าทีย้ายขั้ว
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย (พท.) แจงถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าจะมีการปรับ ครม.เศรษฐกิจของรัฐบาล และอาจจะมีการดึงคนจากพรรคเพื่อไทย อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพื่อเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ ว่า คุณหญิงสุดารัตน์ยังไม่มีท่าทีการเคลื่อนไหวว่าจะย้ายไปอยู่ขั้ว คสช. เพราะหากมีท่าทีจริง ณ เวลานี้ ต้องมีการเตรียมเอกสารหรือบัญชีทรัพย์สินต่างๆ เพื่อยื่นต่อ ป.ป.ช.บ้างแล้ว แต่ขณะนี้ยังนิ่งอยู่ แต่ยอมรับว่าคุณหญิงสุดารัตน์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับระดับบิ๊กของ คสช. มีการพูดคุยเจรจาอยู่เสมอ หากถามว่าคุณหญิงสุดารัตน์จะเลือกฝ่ายใดระหว่างพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล คสช. เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก เพราะคุณหญิงสุดารัตน์มีวิธีคิดและเทคนิคอยู่พอตัว ขณะเดียวกันคุณหญิงก็สามารถอยู่ได้ทั้งสองขั้ว แต่หากจะผันตัวจากพรรค พท. แล้วออกไปร่วมงานกับ คสช.จริง คนที่สามารถเจรจาเพื่อให้คุณหญิงสุดารัตน์อยู่พรรค พท.ต่อนั้น คงมีเพียง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ส่วนท่าทีของ ส.ส.กทม.หากมีการเปลี่ยนแปลงจริง คงมีทั้งฝั่งที่เลือกคุณหญิงสุดารัตน์ และฝั่งที่ยังปักหลักกับพรรค พท. อย่างหากจะมีการดึงตัว ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยไปร่วม ครม.กับ คสช.จริง ก็เป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะตัดสินใจ
@ บวรศักดิ์นัดถกขยายเวลา 30 วัน
ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา จ.ชลบุรี มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญนอกสถานที่เป็นวันที่ 4 โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีวาระการพิจารณาปรับแก้ไขบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายบวรศักดิ์ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า แม้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม มีผลบังคับใช้แล้ว แต่ กมธ.ยกร่างฯจะปฏิบัติงานไปจนกระทั่งใกล้ครบเวลาตามกรอบเดิมไปก่อน และจากการที่ได้หารือเป็นการภายในระหว่าง กมธ.ยกร่างฯจะมีมติร่วมกันในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้อีกครั้งว่าจะขอขยายเวลาการทำงานออกไปอีก 30 วันหรือไม่
เพราะหากพูดกันไปในช่วงเวลานี้ก็เกรงว่าจะเป็นการก้าวล่วงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่ากระบวนการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ ทั้งสิ้น
@ ขู่ฟ้องปล่อยข่าวปมเลิกคปก.
นายบวรศักดิ์กล่าวต่อว่า กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้คำสั่งตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และมีคำสั่งให้ คปก.ชุดที่ครบวาระและอยู่ปฏิบัติหน้าที่รักษาการพ้นจากตำแหน่งนั้น ก็มีบุคคลจำนวนหนึ่งเข้าใจผิดว่าทาง กมธ.ยกร่างฯได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันในเรื่องนี้ เรียนทำความเข้าใจว่าทาง กมธ.ยกร่างฯไม่มีการพูดคุยกันในประเด็นเรื่องของ คปก.ที่จะให้ยุบหรือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเลย เพราะใน กมธ.ยกร่างฯก็มีสมาชิกที่เป็น คปก.อยู่จำนวน 1 คน คือนายบรรเจิด สิงคะเนติ และมี กมธ.ยกร่างฯอีก 2 คน ที่อยู่ระหว่างเข้ารับการสรรหาและคัดเลือก คือ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ และ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ส่วนตนเองก็เคยสมัครและได้มีการถอนตัวออกไป
"อยากขอร้องคนที่ปล่อยข่าวต่างๆ นานาว่าควรยุติได้แล้วโดยเฉพาะสุภาพสตรีคนหนึ่ง หากไม่หยุดก็คงต้องมีการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือต้องไปเจอที่กันที่ศาลอาญา เพราะผมจะฟ้องฐานหมิ่นประมาท โดยเรื่องนี้ยังไม่มีการพูดคุยกัน เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวอยู่ในมาตรา 282 (3) ที่กำหนดให้ คปก.มีหน้าที่และอำนาจเสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศพิจารณายกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายหรือกฎแล้วแต่กรณีที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระหรือขั้นตอนโดยไม่จำเป็น การปล่อยข่าวหรือกล่าวหาว่าผมอยู่เบื้องหลังของคำสั่งนี้เป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง" นายบวรศักดิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุม นายมีชัย วีระไวทยะ กมธ.ยกร่างฯได้แจกแก้วกาแฟให้กับ กมธ.ยกร่างฯเป็นที่ระลึก 2 ใบ โดยใบแรกเป็นรูป กมธ.แต่ละคน ส่วนอีกใบจะเป็นรายชื่อ กมธ.ยกร่างฯทั้ง 36 คน ซึ่งสร้างสีสันในการประชุมเป็นอย่างมาก
@ ตัดหมวดปฏิรูปเหลือ 4 มาตรา
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ แถลงผลการประชุมว่า กมธ.ยกร่างได้พิจารณา 2 เรื่องหลัก คือ ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันว่าจะมีองค์ประกอบของคณะกรรมการมาทำหน้าที่ปฏิรูปและสร้างความปรองดอง ในระดับยุทธศาสตร์ โดยจะให้ กมธ.ไปพิจารณาและนำมาเสนอสัปดาห์หน้าว่าการจัดตั้งสภาปฏิรูปและสร้างความปรองดองควรจะมีโครงสร้างอย่างไร ส่วนเนื้อหาการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองจะกำหนดไว้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม คงไว้แต่เพียงหัวข้อด้านการยุติธรรม การบริหารราชการแผ่นดิน การปราบปรามทุจริต การศึกษา การสาธารณสุข สังคมและวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ผังเมือง พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจากเดิมที่มี 15 มาตรา ตัดเหลือ 4 มาตรา
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ได้ตั้งคณะอนุ กมธ.ยกร่างฯ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การปฏิรูปและการปรองดอง ประกอบด้วยตัวแทนจาก กมธ.ปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้ง 18 คณะ ก่อนจะนำทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเสนอให้ สปช.พิจารณาควบคู่กัน ซึ่งหาก กมธ.ยกร่างฯ ไม่ขอขยายเวลาการพิจารณา 30 วัน ก็จะส่งให้ สปช.ในวันที่ 21 กรกฎาคม แต่หากขอต่อเวลาก็จะส่งให้ สปช.พิจารณาในวันที่ 22 สิงหาคม
@ สปช.ประกาศสานต่อ3ภารกิจ
ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงว่าหลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ฉบับขอแก้ไข พ.ศ.2558 ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้กรอบการทำงานของ สปช.ต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยมีเวลามากขึ้น และจากเดิมที่กำหนดให้มีการประชุม สปช.ในวันที่ 25-26 กรกฎาคมนี้ เปลี่ยนเป็นวันที่ 5 สิงหาคม และวันที่ 10 สิงหาคม นอกจากนี้ สปช.ยังมีภารกิจ 3 ประการคือ 1.การจัดทำพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. กำหนดให้วันที่ 11 สิงหาคม เป็นวันแถลงรายงานพิมพ์เขียวปฏิรูปฯให้ประชาชนรับทราบ และส่งมอบให้รัฐบาลโดยจะจัดขึ้นที่โรงแรมเซนทาราแกรนด์ และบางกอก คอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ถือเป็นการส่งมอบพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศอย่างเป็นทางการ
นายอลงกรณ์กล่าวว่า 2.การให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ มีการกำหนดวันลงมติภายในสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการขอขยายเวลาในการแก้ไขคำขอหรือการแปรญัตติของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะขยายจาก 60 วัน ออกไปไม่เกิน 30 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
เบื้องต้นคาดว่า กมธ.ยกร่างฯ จะแจ้งให้ประธาน สปช.ทราบ และนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 21 กรกฎาคม ซึ่งการขยายเวลามีผลต่อโดยตรงต่อการลงมติที่ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดวันที่ชัดเจนได้ แต่การลงมติต้องไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน และ 3.การตั้งคำถามประกอบการออกเสียงประชามติ จะมีการนัดประชุมเพื่อให้สมาชิกพิจารณาหลังจากวันที่ 11 สิงหาคม โดยคำถามประชามติจะต้องได้รับความเห็นชอบในวันเดียวกันกับวันลงมติร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม นายเทียนฉายยังสนับสนุนให้จัดตั้งชมรม สปช. เพื่อดำเนินภารกิจเผยแพร่แนวทางพิมพ์เขียวปฏิรูปฯ ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ และนำไปใช้ประโยชน์ ส่วนที่ สปช.ถูกติติงว่าไม่มีผลงาน ที่จริงแล้วผลงานของ สปช.คือการจัดทำพิมพ์เขียวปฏิรูปฯ ขณะนี้เสร็จแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ สปช.เปรียบเป็นสถาปนิกที่ร่างพิมพ์เขียวปฏิรูปฯ
ส่วนคนที่ลงมือปฏิบัติคือรัฐบาลนี้ และรัฐบาลในอนาคต
@ แนะสปช.แยกแยะสัมภาษณ์
นายอลงกรณ์กล่าวถึงการแสดงความเห็นของสมาชิก สปช.ว่า จะต้องผ่านการพิจารณาหรือประสานงานกับคณะกรรมาธิการวิสามัญประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป แม้ว่าการให้ความเห็นของสมาชิกสามารถทำได้ แต่ขอให้เป็นความเห็นส่วนบุคคล และขอความร่วมมือสื่อมวลชน ในการนำเสนอข่าวให้ระบุชื่อบุคคล อย่าบอกว่า สปช.เสนอ เช่น เรื่องรัฐบาลแห่งชาติ และการให้ความเห็นว่า 2 พรรคการเมืองใหญ่อยู่เบื้องหลังที่จะล้มรัฐบาล ซึ่งประธาน สปช.มีความกังวลในเรื่องนี้ และจะมีการหารือนอกรอบเรื่องการแสดงความเห็นของสมาชิก ให้มีแนวทางปฏิบัติที่ตรงกัน ยืนยันว่า สปช.ไม่ขัดข้องในการแสดงความเห็นของสมาชิก แต่ขอให้ตระหนักถึงภารกิจและหน้าที่ของ สปช. ความเห็นส่วนตัวถือเป็นความรับผิดชอบของแต่ละคน จึงขอให้ระมัดระวังประเด็นที่มีผลกระทบต่อ สปช.
@ 'ณัฐวุฒิ'ซัดรธน.จัดสรรอำนาจใหม่
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์ถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2558 ว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข โดยหลักการควรพูดถึงการทำประชามติเพียงเรื่องเดียวเพราะนั่นคือวัตถุประสงค์ แต่ที่ออกมามีทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูป หรือเรื่องอื่นๆ เป็นความพยายามจัดสรรอำนาจขึ้นมาใหม่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องยอมรับว่าบรรยากาศที่ผ่านมาบนเรือแป๊ะสับสนอลม่านพอสมควร ยิ่งนานวันแม่น้ำ 5 สายไหลแบบสะเปะสะปะ จนผู้มีอำนาจคิดว่าควบคุมสถานการณ์ได้ยาก คงจะมีการจัดกระบวนกันใหม่ ดังนั้น เมื่อมีสัญญาณแบบนี้ทำให้คิดว่าสิ่งที่ คสช.ต้องการจริงๆ คือ แค่ทำประชามติหรือวางแผนสืบทอดอำนาจต่อไป
"เวลานี้ความเชื่อมั่นของสังคมต่อโรดแมป คสช.ลดน้อยลง เกิดจากบรรยากาศในแม่น้ำ 5 สาย เพราะความเคลื่อนไหวจงใจคว่ำรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐบาลอยู่ต่อ หรือพยายามจะเปิดช่องในการสืบทอดอำนาจในร่างรัฐธรรมนูญและทำลายอีกฝ่ายทางการเมืองโดยอาศัยอำนาจ คสช. ทำให้เกิดคำถามต่อโรดแมปว่าเป็นของจริงหรือมีโรดแมปสำรอง เชื่อว่าสถานการณ์แบบนี้อำนาจพิเศษคงไม่สามารถอยู่ได้ยืดยาว เพราะมีปัญหาเศรษฐกิจปากท้องและเรื่องอื่น สุดท้ายทำให้รัฐบาลเผชิญวิกฤตและไม่สามารถได้รับการยอมรับจากประชาชนได้" นายณัฐวุฒิกล่าว
@ เชื่อมีพิมพ์เขียวรธน.สำรอง
เมื่อถามว่า เชื่อว่ามีพิมพ์เขียวร่างรัฐธรรมนูญสำรองหรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า เชื่อว่าพิมพ์เขียวร่างรัฐธรรมนูญสำรองที่มีนั้นเป็นพิมพ์เขียวจริงตั้งแต่ต้น ส่วนโรดแมปที่ประกาศเอาไว้แค่อธิบาย แต่ของจริงยังมาไม่ถึง จะค่อยๆ แสดงตัวออกมาเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามการโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ เป็นจุดเปราะบางของสถานการณ์ หาก สปช.กลุ่มที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลอยู่ต่อเพื่อปฏิรูปให้เสร็จ หรือเรียกร้องให้ สปช.คว่ำรัฐธรรมนูญเพื่อให้อยู่ต่อนานๆ หากลงมติคว่ำรัฐธรรมนูญจริง ก็ชัดเจนว่างานเดียวกันตั้งแต่ต้น เป็นคำถามต่อประชาชนว่าเราจะนั่งดูละครแบบนี้หรือไม่ หรือต้องท้วงถามผู้มีอำนาจว่าคืออะไร
@ ชี้'บิ๊กเยิ้ม'โลดโผนเกินจริง
เมื่อถามถึงกรณี พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการเมือง และอดีตแม่ทัพภาคที่ 2 มีพรรคการเมือง 2 พรรคสนับสนุนทุนทรัพย์จัดตั้งแกนนำ รวบรวมคน 1 ล้านคนชุมนุมโค่นล้มรัฐบาลในกรุงเทพฯ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ประเด็นของ พล.อ.ธวัชชัยโลดโผนเกินข้อเท็จจริง บางเรื่องเกินจินตนาการ สถานะแบบ พล.อ.ธวัชชัยจะกล่าวหาหรือพาดพิงกลุ่มบุคคลใดควรจะมีรายละเอียดข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจน อย่าให้เสียชื่อเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร (ตท.12) ของนายกฯ โดยตนยืนยันว่าไม่มีเหตุบ่งชี้ใดๆ ว่า 2 พรรคการเมืองจับมือปลุกสถานการณ์ภาคใต้และล้มรัฐบาล หากมีความเคลื่อนไหวขนาดนั้นตนน่าจะได้ยินมาบ้าง
"พล.อ.ธวัชชัยเปิดประเด็นมาและไม่ขยายความต่อ ทำให้ฝ่ายความมั่นคงต้องไล่ปิดประเด็น และหากมองว่าเรื่องนี้มีนัยยะอะไร อาจทำให้สังคมมองภาพฝ่ายการเมืองเป็นกระบวนการสร้างปัญหาและความวุ่นวายเพื่อความชอบธรรมอยู่ในอำนาจต่อ หรือเพื่อความชอบธรรมที่จะออกมาตรการจัดการฝ่ายการเมือง โดยอ้างว่าเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม" พล.อ.ธวัชชัยกล่าว
@ ผบ.ทร.ยันเรือดำน้ำคุ้มค่า
ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาชะลอการดำเนินการโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยสั่งการให้กองทัพเรือไปสร้างความรับรู้ต่อสาธารณะให้มากขึ้นและศึกษาถึงความคุ้มค่าอีกครั้งนั้น
พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวว่า จะสั่งให้ พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง ผู้ช่วย ผบ.ทร. ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ทำเอกสารชี้แจงต่อสาธารณชนและสื่อมวลชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ทั้งนี้ ต้องเชื่อใจกันและเคารพในการทำหน้าที่ของกองทัพเรือ เพราะเรือดำน้ำเป็นผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับมากกว่าเพราะเป็นอาวุธที่มีศักยภาพสูงในการป้องกันทางทะเล ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน โดยเฉพาะพื้นที่อ่าวไทยที่มีพื้นที่กว่า 3 แสนตารางไมล์
สำหรับกรณีที่มีข่าวว่าผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีมูลค่า 2 ล้านล้านบาทต่อปีนั้น คิดว่าไม่เป็นความจริง เพราะจากข้อมูลที่ศึกษาของกองทัพเรือพบว่าผลประโยชน์มีมูลค่ามากกว่าถึง 24 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่ามีมูลค่ามหาศาลเมื่อเทียบกับเรือดำน้ำที่จะซื้อจำนวน 3 ลำ มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท และสามารถใช้งานได้ถึง 30 ปี เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วถือว่าคุ้มค่ามากที่สุด ถ้าไม่ให้จัดซื้อก็ไม่เป็นไร ถือว่าได้ทำในสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว
@ บิ๊กป้อมยันทร.ไม่เลิกแค่ชะลอ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวต้องการให้กองทัพเรือไปสร้างการรับรู้และชี้แจงให้กลุ่มที่มีความสงสัยมีความเข้าใจ ทั้งนี้ การพิจารณาต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ดี เรื่องนี้กองทัพเรือยังไม่ได้ยกเลิกโครงการและยังเป็นไปตามแผนการพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือ ขอฝากสื่อมวลชนช่วยชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่โครงการดังกล่าวมักถูกกระแสต้านทุกยุคสมัย พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ถ้าประชาชนเข้าใจก็สามารถดำเนินการได้ การใช้งบประมาณในโครงการนี้เป็นการใช้งบผูกพัน
จ่ายเป็นระยะ ไม่ได้ใช้งบประมาณก้อนใหญ่ในครั้งเดียว กองทัพเรือต้องพยายามทำความเข้าใจต่อไป