WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Too7


เลิกฝากขัง 14 นศ. วิษณุชี้ช่อง 
ลุ้นยื่นศาลวันนี้ บิ๊กตู่ฉุนข่าวลือ โอนเงินหมื่นล. ยันไม่ล้ม 30 บ. อาลัยสิ้น'ปัญจะ'

      จับตาฝากขัง 14 น.ศ. วันนี้ ทนายเผยทุกคนยืนยันค้านฝากขัง แต่ไม่ยื่นประกันแน่นอน 'ไก่อู' อ้างน.ศ.อยากขอประกัน แต่โดนบางพวกโหมกระแสกดดัน บิ๊กโด่งย้ำ'น.ศ.' ขัดคำสั่งคสช. แต่เป็นเยาวชนยังพอมีทางออก วิษณุชี้ช่อง ถ้าตร.ไม่ขอฝากขังก็ต้องปล่อย บิ๊กตู่ชี้ต้องว่าไปตามกม. โวยลือโอนเงิน สั่งสอบ ที่มา-หาคนปล่อยข่าว ยันไม่ล้ม'30 บาท' เสธ.อู้ เผยกมธ.จะตัด'โอเพ่นลิสต์' สิ้นอดีตประธาน 'ปัญจะ เกสรทอง'

 

วันที่ 07 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8987 ข่าวสดรายวัน

ขอดุอาว์ - นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ขอดุอาว์ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในงานเลี้ยงเดือนรอมฎอน โดยมีคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและชาวมุสลิมร่วมงาน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ก.ค.


ตั้ง'วรพล'คกก.ยุทธศาสตร์คสช.
    เมื่อวันที่ 6 ก.ค. เว็บไซต์สำนักราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 8/2558 เรื่องการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ของคสช. อาศัยอํานาจตามความในข้อ 1(13) ของคําสั่งคสช.ที่ 2/2558 ลงวันที่ 9 ม.ค. 2558 แต่งตั้ง นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ของคสช. ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 24 มิ.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.

บิ๊กตู่โต้ลั่น-ยันไม่ล้ม'30 บาท'
      ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานในพิธีแสดงความยินดีแก่ส่วนราชการ ที่ได้รับรางวัล โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า งานสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลไม่เคยคิดยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค 
      "วันนี้มันจะไปกันไม่ได้อยู่แล้ว ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ผมไม่เคยบอกหรือพูดเลยว่าจะยกเลิก มันจะยกเลิกไปได้อย่างไร บ้าไปแล้ว ผมไม่ยกเลิก โครงการ 30 บาทใครจะไปยกเลิก แต่ขอให้พัฒนาประสิทธิภาพทางการแพทย์และพยาบาล การรักษาพยาบาลเข้าถึงประชาชน ที่ห่างไกล"นายกฯ กล่าว 

ขอหยุดขัดแย้ง-บ่นอีนุงตุงนัง
      จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์กล่าวให้โอวาทตอนหนึ่งว่า เราผ่านช่วงเวลาสบายมามาก ที่ไม่ต้องเร่งรัดทำอะไร ไม่มีภัยพิบัติร้ายแรง มีแต่ลมปากที่ตีกัน รุนแรงยิ่งกว่าพายุดีเปรสชัน ยืนยันว่าทุกอย่างกำลังเดินไปตามโรดแม็ป ความขัดแย้งต่างๆ ขอให้หยุดไว้ก่อน รอบๆ ตนวันนี้อีนุงตุงนังไปหมด ถ้าจะเอาผิดเอาถูกประเทศไปไม่ได้
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ทุกอย่างเริ่มแข็งแรงขึ้น แต่มีเรื่องเข้ามาอีกทั้งประมงและนักศึกษา ตนพยายามหงุดหงิดให้น้อยลง และอยากให้ประชาชนรับรู้เรื่องจะเป็นจะตายของประเทศด้วย ขอใฟ้ฟังตน ไม่เช่นนั้น ก็ไม่รู้ว่าประเทศเดินหน้าอย่างไร ข้าราชการต้องมองถึงอนาคต อย่ามองแต่ตัวเอง ต้องร่วมแก้ปัญหาและเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามที่ทุกคนต้องการ ตนอาจมีอำนาจพิเศษแต่ไม่เคยใช้พร่ำเพรื่อ และไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ไม่เคยรังแกใคร ให้ความเป็นธรรมกับทุกคน จึงขอให้ช่วยลดปัญหาให้ตนบ้าง อย่าทำให้ประเทศกลับไปสู่ความล้มเหลวอีกครั้ง และหากมีประชาธิปไตยแล้วบ้านเมืองจะสงบหรือไม่ ใครตอบได้บ้าง จะให้ตนรับประกันทั้งวันนี้และวันหน้าไหวหรือไม่ ยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุด ต้องขอเวลาให้รัฐธรรมนูญออกมาก่อนแล้วจัดการเลือกตั้ง ซึ่งตนไม่สามารถไปฝืนอะไรได้ ที่ผ่านมาเปิดโอกาสทุกอย่างเพื่อให้คนได้เรียนรู้ว่าเราจะอยู่อย่างไร ไม่เช่นนั้นตนก็เขียนรัฐธรรมนูญเองแล้ว

โวยลือโอนเงินหมื่นล้าน
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า วันนี้มีการปล่อยข่าวผ่านโซเชี่ยลมีเดียว่าตนโอนเงินหมื่นล้านไปประเทศสิงคโปร์ ตนรู้แล้วว่าต้นตอที่ปล่อยข่าวมาจากมหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ ถ้ามีเงินขนาดนั้นจริง จะมายืนตรงนี้ทำไม ประเทศไทยมักเชื่อกระแสสังคม ขอให้ ใช้เหตุผล วันนี้สิ่งไม่ดีก็ต้องขอโทษ ยกโทษให้ตนด้วย และขอให้มั่นใจในตัวตน ที่มายืนตรงนี้มีความเสี่ยงสูง ถ้าไม่ใช่ตนแล้วใครจะมาทำ แต่เชื่อว่าต้องมีคนทำเพราะไม่อยากให้บ้านเมืองเสียหาย อนาคตขึ้นอยู่กับทุกคน 
     พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงกระแสข่าวโอนเงินหมื่นล้านบาท ว่า ไม่รู้ว่าใครไปเขียนในโซเชี่ยลมีเดีย ถามว่าเขียนแล้วมันใช่หรือไม่ ลองใช้สมองวิเคราะห์ ถ้าจะเชื่อก็ตามใจ 
     เมื่อถามย้ำว่าพล.อ.ประยุทธ์ระบุต้นตอมาจากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังตามว่ามาจากไหน ตนไม่ได้ทำจริงแล้วจะไปเดือดร้อนอะไร อยากจะว่าก็ว่าไป

ลั่น 14 นศ.ต้องว่าไปตามกม.
      ผู้สื่อข่าวถึงการดำเนินคดีกับ 14 นักศึกษา กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องแก้ปัญหาด้วยกฎหมาย ด้วยกระบวนการยุติธรรม 
      เมื่อถามว่ากรณีดังกล่าวต้องขึ้นศาลทหารเท่านั้นใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยความไม่พอใจว่า กฎหมายประกาศไว้อย่างไร ต้องรู้ว่าทหารเขาทำอย่างไรในยามที่ไม่ปกติ หรือเมื่อต้องใช้อำนาจพิเศษ เพราะประกาศแล้วว่าคดีใดต้องขึ้นศาลทหาร ไม่ใช่ประกาศหลังจัดกิจกรรมเคลื่อนไหว จากนี้ต้องว่าไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม 
      "ผมถามว่ากฎหมายเหล่านี้ใช้กับคนอื่นด้วยหรือเปล่า คนอื่นเขาโดนด้วยหรือเปล่า เมื่อขัดขืนกฎหมายคสช. แล้วเขาโวยวายไหมเล่า ทำไมจะต้องให้พื้นที่อย่างนี้ทุกวันๆ กลัวมันจะไม่เดือดร้อนหรืออย่างไร กลัวจะไม่ปลุกขึ้นมาทั้งประเทศหรืออย่างไร ชอบแบบนั้นใช่หรือไม่" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์โมโห จากนั้นเดินออกจากวงสัมภาษณ์ ทันที

บิ๊กโด่งย้ำ'นศ.'ขัดคำสั่งคสช.
      ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกระแสที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อย 14 นักศึกษา ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำว่า โดยข้อเท็จจริงแล้วนักศึกษากลุ่มนี้สามารถยื่นขอประกันตัวได้ แต่ยังไม่ขอประกันตัว ทั้งนี้เชื่อว่าศาลทหารจะให้ความกรุณา คงไม่ใจไม้ไส้ระกำ นักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ อย่าดึงพลังนักศึกษา มาเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องประชาธิปไตย โดยต้องไม่ได้มาจากการจัดตั้งหรือมีเบื้องหลัง 
      ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก(ขส.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ถึงเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนักศึกษา 14 คนครบฝากขังผัดแรกวันที่ 7 ก.ค.นี้ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่ได้มองนักศึกษาเป็นศัตรู แต่ถือเป็นลูกหลาน แต่ที่เจ้าหน้าที่จับกุมเพราะปฏิบัตินอกกรอบ มีส่วน ก่อให้เกิดความไม่สงบและขัดต่อกฎหมาย ต่อระเบียบที่คสช.วางไว้เพื่อให้เกิดความสงบ สุดท้ายปล่อยให้กฎหมายดำเนินการ มอบให้ตำรวจดำเนินการภายใต้การดูแลของพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ที่รับคำสั่งจากนายกฯ
      "เรื่องนี้จะปล่อยปละละเลยไม่ได้ เพราะขัด ต่อกฎหมายและคำสั่งขอคสช. หากปล่อยไว้จะเกิดการพัฒนารวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ และนำไปสู่ความเสียหายของประเทศในอนาคต" พล.อ.อุดมเดชกล่าว 

ชี้เป็นเยาวชนยังพอมีทางออก
      ผบ.ทบ.กล่าวว่า กรณีนักศึกษาทั้ง 14 คนที่ถูกควบคุมตัวนั้น ต้องปล่อยตามขั้นตอนกฎหมาย การรวบรวมสำนวนต่างๆ ต้องดำเนิน การต่อไปเพื่อสู่ศาลทหาร แต่ด้วยความเป็นนักศึกษา เป็นเยาวชน ทางออกยังพอมี ที่จะพิจารณาในกรณีเป็นเยาวชน โทษต่างๆ คงไม่มาก คิดว่าฝ่ายกฎหมาย ตำรวจ และศาล ผู้ควบคุมทางฝ่ายกฎหมายจะมองกรณีนี้อยู่และเร่งคิดหาทางออกที่เหมาะสม แต่ฐานความผิดมีอยู่จริง กลุ่มต่อต้านก็โหนกระแสเข้ามา คณาจารย์ ครูอาจารย์ที่ดีๆคิดด้วยความบริสุทธิ์ใจ ตนทราบไม่อยากให้ทำอะไรรุนแรง เชื่อว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลฟังอยู่และหาทางที่เหมาะสมแก้ปัญหา แต่จะให้ยกไปเลยก็ทำไม่ได้เพราะเป็นกฎหมาย ขอว่าอะไรที่จะเกิดความ ไม่สงบ ขอให้ช่วยกัน ส่วนคนที่โหนกระแสให้รัฐบาลกระเพื่อม ขอให้หยุด ให้รัฐบาลมีเวลาทำงานต่อ อีกไม่นานจะมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ นำไปสู่การเลือกตั้ง ทุกคนอยากไปถึงตรงนั้น ทั้งนายกฯ ตำรวจ ทหาร
     เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวตาม 14 นักศึกษา เริ่มลามไปในจังหวัดทางภาคเหนือและอีสาน พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า เท่าที่ทราบมีที่จ.เชียงใหม่ มีส่วนหนึ่งสนับสนุนประมาณ 30-40 คน รวมกับมวลชนในพื้นที่อีกเท่าตัวกลายเป็น 100 กว่าคน แต่ยังดีว่ารับฟังเจ้าหน้าที่ที่ไปขอร้องว่า แสดงออกได้แต่ให้อยู่ในห้วงเวลาที่เหมาะสม เขาก็แยกย้ายกัน แต่ถ้าแสดงออกมากเกินไปเหมือนที่ผ่านมา ก็ต้องเข้าสู่กฎหมาย 

'ไก่อู'อ้างนศ.อยากขอประกัน
      ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่าช่วงนี้พบมีการส่งข้อมูลเท็จ ข่าวลือข่าวลวงผ่านสื่อโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าเป็น กระบวนการของผู้ไม่หวังดี ขอให้ประชาชนรับข้อมูลอย่างรอบคอบ และตรวจสอบกับสื่อกระแสหลักที่เชื่อถือได้ ขณะนี้ใกล้จะได้ตัวมือโพสต์ข่าวใส่ร้ายพล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงมือโพสต์ล่วงละเมิดกรณีอื่นๆ จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
    พล.ต.สรรเสริญ ยังกล่าวถึงกรณีนักศึกษาทั้ง 14 คนที่ว่าเจ้าหน้าที่พูดคุยกับนักศึกษา พบว่านักศึกษาหลายคนในกลุ่มนี้ต้องการขอประกันตัว และอยากกลับภูมิลำเนาเพื่อเตรียมตัวศึกษา ซึ่งเดือนหน้าจะเปิดเทอมปีการศึกษาใหม่แล้ว แต่ที่ยังไม่ประกันตัวเพราะติดด้วยการโหมกระแสจากกลุ่มบุคคลบางพวกที่ต้องการใช้นักศึกษาเป็นเครื่องมือให้อยู่ในเรือนจำต่อไป เพื่อหวังผลสร้างสถานการณ์ให้ยืดเยื้อ การกระทำใดที่จะเป็นผลกดดันการตัดสินใจของนักศึกษาแต่ละคน ขอให้ยุติ เพราะจะยิ่งทำร้ายนักศึกษาทั้ง 14 คน และซ้ำเติมสถานการณ์ซึ่งไม่เป็นผลดีกับนักศึกษาและบ้านเมืองส่วนรวมเลย

วิษณุ ชี้ไม่ฝากขัง-ก็ปล่อยนศ.ได้
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีพนักงานสอบสวนจะนำตัว 14 น.ศ. ฝากขังผัด 2 วันที่ 7 ก.ค.นี้ว่า หากไม่ยื่นขอประกันตัวก็ไม่สามารถได้รับการปล่อยตัวโดยช่องทางอื่นได้ ฉะนั้นต้องขอยื่นประกันตัวก่อน และต้องขอในนามนักศึกษาหรือในนามของจำเลย จะยื่นขอในนามส่วนตัวไม่ได้ ส่วนรัฐบาลมีเงื่อนไขขอประกันหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ
       เมื่อถามว่า หากพนักงานสอบสวนไม่ขอฝากขัง 14 นักศึกษาต่อ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นไปได้ หากไม่ยื่นฝากขังต่อ นักศึกษาก็ออกมาได้เพราะถือว่าหมดอำนาจ ไม่มีใครมีอำนาจควบคุมตัวได้ การฝากขังคือการผัดฟ้อง แต่เมื่อถึงเวลาแล้วยังไม่ส่งฟ้อง เพราะต้องการคุมตัวไว้เพื่ออะไรบางอย่าง จึงมาขออนุญาตศาล และศาลอาจให้อนุญาตประกันตัวหรือไม่ให้ก็ได้ แต่หากฝ่ายอัยการไม่ผัดฟ้องแสดงว่า อัยการเตรียมจะฟ้อง ส่วนจะฟ้องได้หรือไม่นั้น ก็เรื่องของอัยการ

ผบ.ตร.พร้อมทำตามคำสั่งคสช.
      ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงวันที่ 7 ก.ค.นี้ จะครบกำหนดฝากขัง 14 นักศึกษา ว่า เป็นเรื่องของความมั่นคง ตำรวจพร้อมปฏิบัติการ ตามคำสั่งของ คสช.หรือรัฐบาล อะไรที่ผิดกฎหมายก็ต้องว่าตามผิด และหากปล่อยให้เป็น แบบเดิม เกรงว่าจะซ้ำรอยวันที่มีบุคคล 2 กลุ่มที่มีความเห็นขัดแย้งกัน ตั้งป้อมจะเผชิญหน้ากัน ส่วนที่มีกลุ่มนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย ทั่วประเทศเริ่มเคลื่อนไหวนั้น เป็นหน้าที่เจ้าหน้าที่ ฝ่ายรัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร หรือรัฐบาล ต้องพยายาม ทำความเข้าใจถึงการทำงานของรัฐบาล 
     เมื่อถามว่านักศึกษา 14 คนนี้จะฝากขังต่อใช่หรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า อยู่ที่กระบวน การยุติธรรม เมื่อถามว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้มีเบื้องหลังหรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวว่า มีแน่ แต่เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคง

ศาลทหารยันตัดสินโปร่งใส
       ด้านพล.ต.พนมเทพ เวสารัชชนันท์ ตุลาการ พระธรรมนูญ หัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ในวันที่ 7 ก.ค.การดูแลรักษาความปลอดภัยในส่วนของศาลทหารจะดูแลเพียงภายในเท่านั้น ส่วนด้านนอกรอบๆ บริเวณศาลกองรักษาความปลอดภัยของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมจะดูแล โดยศาลทหารมีการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยอยู่แล้ว ไม่มีการปิดบังแต่อย่างใด แต่เนื่องจากห้องพิจารณาคดีของทางศาลค่อนข้างเล็ก จุคนได้เพียง 20-30 คน จึงต้องส่งตัวแทนเข้าไปร่วมฟังเท่านั้น เฉพาะญาติของผู้ที่เข้าฟังทั้ง 14 คน ทนายความ ผู้สื่อข่าว ก็ต้องตกลงกันว่าใครจะเข้าไปร่วมฟัง การพิจารณาคดี 

 


ปีกเสรีภาพ - ประชาชนและนักศึกษาจัดกิจกรรม "ด้วยปีกแห่งเสรีภาพ" พับนกกระดาษและเขียนข้อความให้กำลังใจ 14 นักศึกษาที่ถูกจับกุมคุมขัง พร้อมเขียนโพสต์อิตเรียกร้องให้ปล่อยตัว ที่มธ.ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 


       "ผมขอทำความเข้าใจว่า ในการขึ้นพิจารณา คดีแต่ละครั้งที่มีพลเรือนขึ้นศาลทหาร องค์คณะ พิจารณาคดีทั้ง 3 ท่านเป็นตุลาการพระธรรมนูญ คือผู้พิพากษาทั้ง 3 ท่าน จึงขอให้มั่นใจในความ โปร่งใส่ในการพิจารณาคดี" พล.ต.พนมเทพกล่าว

รองอธิการฯมธ.ยื่นค้านฝากขัง
      เวลา 13.30 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ ผู้สื่อข่าว รายงานว่านายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์(มธ.) พร้อมด้วยนายต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายการนักศึกษา คณะนิติ ศาสตร์ มธ. ได้มายื่นหนังสือถึงผู้พิพากษาศาลทหารกรุงเทพ ที่กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม เพื่อคัดค้านการฝากขังผลัดที่ 2 ซึ่งจะครบกำหนดผลัดแรกในวันที่ 7 ก.ค.
      เนื้อหาในจดหมายระบุว่า ตามที่ศาลทหารกรุงเทพอนุมัติหมายจับนักศึกษาและนักกิจกรรม 14 คน ที่แสดงออกทางการเมืองในลักษณะ ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล และอนุมัติให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 14 คน ในเรือนจำตามคำขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเวลา 12 วัน ซึ่งจะครบกำหนดฝากขังในวันที่ 7 ก.ค.นั้น โดยผู้ต้องหา 14 คน มีนักศึกษามธ.อยู่ด้วยนั้น ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ มธ. จึงขอให้ศาลทหารกรุงเทพโปรดพิจารณาไม่อนุมัติฝากขังจำเลยทั้ง 14 คนต่อเมื่อครบกำหนดฝากขังในครั้งแรก ด้วยเหตุผลดังนี้
      1.เหตุผลของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขอฝากขังคือ เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี จึงขอเอาตัวมาฝากขังไว้ในเรือนจำ เพื่อส่งฟ้องต่อไป แต่พฤติกรรมที่ผ่านมาของทั้ง 14 คน ไม่ปรากฏว่าจะมีการหลบหนี การที่ตำรวจมาขอฝากขังเป็นเรื่องความสะดวกในการดำเนินคดี แต่เป็น สิ่งที่กระทบต่อสิทธิของผู้ต้องหาทั้ง 14 คนมากเกินไปโดยไม่จำเป็น

ยกรธน.ชั่วคราวก็คุ้มครองนศ.
       2.ตามหลักนิติรัฐ หรือหลักนิติธรรมนั้น ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ผู้ต้องหาทั้ง 14 คนเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาจากตำรวจ การเอาตัวไป ฝากขังไว้ในเรือนจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งยังไม่มีการส่งฟ้องต่อศาล คือยังไม่เป็นจำเลยด้วยซ้ำไป จึงกระทบต่อความเป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรม
      3.ถึงแม้คำสั่งคสช. ที่ผู้ต้องหาทั้ง 14 คนโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่าฝ่าฝืนนั้น จะอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่มาตรา 2 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" และมาตรา 3 บัญญัติให้ "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย อีกทั้งมาตรา 4 ยังบัญญัติว่า "ภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตาม พันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้"
     การแสดงออกซึ่งความเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาลเป็นสิทธิเสรีภาพที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญมาทุกฉบับ และการได้รับสิทธิต่อสู้คดีโดยไม่ถูกกักขังระหว่างการพิจารณาก็เป็นสิทธิตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้เป็นภาคีอยู่ด้วย การใช้และการตีความมาตรา 44 จึงต้องคำนึงถึงมาตรา 2, 3 และ 4 ผู้ต้องหาทั้ง 14 คนจึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ควรได้รับสิทธิต่อสู้คดี โดยไม่ต้องถูกขังระหว่างการดำเนินคดี จึงขอศาลทหารกรุงเทพ โปรดพิจารณาไม่อนุมัติฝากขังต่อ และให้ผู้ต้องหา 14 คนได้มีสิทธิต่อสู้คดีนอกเรือนจำด้วย

แห่เยี่ยม 14 นศ.ไม่ขาด
     เวลา 10.15 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มหานคร กลุ่มคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา ญาติ และประชาชน ทยอยเข้าเยี่ยมให้กำลังใจนักศึกษาชายกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 13 คน ที่ถูกคุมขังในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 
     สำหรับ ผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมมีทั้ง น.ส.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. น.ส.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษย วิทยา คณะสังคมศาสตร์ มธ. นายปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มธ. นายประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มธ. นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรฯ (มก.) นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน
      นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มนักเขียน นักแปล และบรรณาธิการ เข้าเยี่ยมนักศึกษาด้วย อาทิ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2554, วาด รวี, วิจักขณ์ พานิช, ภัควดี วีระภาสพงษ์, อธิคม คุณาวุฒิ, วิภาส ศรีทอง

อจ.มธ.เรียกร้องปล่อยนศ.
       จากนั้นคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. นำโดย น.ส.ดวงมณี เลาวกุล อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาว่า เนื่องจากนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ถูกคุมขังจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง พวกเราห่วงใยต่อสวัสดิภาพและอนาคตของนักศึกษา การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเป็นเพียงการแสดง ออกถึงความเห็นต่างทางการเมืองด้วยแนวทาง สันติวิธี ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสังคมอารยะ ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ การถูกจองจำจากการเคลื่อนไหวอย่างสันติและจากเจตนาบริสุทธิ์ที่จะเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เป็นการลงโทษอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่เขาจะต้องถูกปฏิบัติเยี่ยงอาชญากร ในฐานะอาจารย์ที่หวังดีต่อศิษย์ ขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจรัฐปล่อยตัวนักศึกษาโดยปราศจากเงื่อนไข เพื่อให้ออกมาศึกษาเล่าเรียนและเติบโตต่อไป เพื่อก้าวไปเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคมไทย
      เมื่อถามว่ามีความเห็นอย่างไรที่จะพิจารณา คำร้องขอฝากขังนักศึกษาที่ศาลทหาร น.ส. ดวงมณีกล่าวว่า เห็นว่าไม่ควรฝากขัง เนื่องจาก เป็นสิทธิแสดงออกโดยสันติวิธี และไม่น่าถูกจับกุม ส่วนที่ฝ่ายรัฐบาลพร้อมประสานพูดคุยกับนักศึกษานั้น เป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาล เปิดกว้าง จะทำให้เข้าใจมุมมองของนักศึกษา ประชาชนมากขึ้น ส่วนที่รัฐบาลจะเปิดเวทีหรือสถานที่แสดงความคิดเห็นเพิ่มขึ้นนั้น เรื่องสถานที่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ต้องเข้าใจในหลักการร่วมกันที่ให้คนเห็นต่างพูดได้

คณาจารย์จี้หยุดคุกคาม
     ต่อมาเวลา 11.10 น. เครือข่ายคณาจารย์ ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง นำโดยนายเดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มก. อ่านแถลง การณ์เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง ฉบับที่ 4 ว่ารัฐบาลและคสช.ยังไม่ได้ดำเนินการตามแถลงการณ์ของเครือข่ายคณาจารย์ฯ ฉบับที่ 1 ที่เรียกร้องให้ปล่อยนักศึกษาทั้ง 14 คนโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ยังปฏิบัติกับนักศึกษาเยี่ยงนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ ด้วยการแยกออกจากกลุ่มเพื่อลดทอนกำลังใจ อีกทั้งยังคุกคามคณาจารย์หลายคนที่ลงชื่อในแถลงการณ์ ไม่ว่า เรียกตัวไปพบในค่ายทหาร การเข้าพบในมหา วิทยาลัย หรือการโทรศัพท์ เพื่อกดดันให้ยุติการเรียกร้อง ทั้งหมดนี้ขัดต่อหลักสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมืองในระบอบ ประชาธิปไตย 
       พวกเราขอแสดงจุดยืนคัดค้านการกระทำดังกล่าว พร้อมมีข้อเรียกร้องดังนี้ 1.เราขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ 280 คณาจารย์ที่ลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 และให้รัฐบาลและคสช.ยุติการคุกคามคณาจารย์ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ ในทันที 2.เราขอเรียกร้องปล่อยนักศึกษาอย่างไม่มีเงื่อนไข และให้ปฏิบัติต่อนักศึกษาในฐานะผู้มีความคิดเห็นต่าง ไม่ใช่ผู้กระทำผิดกฎหมายร้ายแรง 3.หากนักศึกษาทั้ง 14 คนยังคงถูกคุมขัง และยังมีการคุกคามคณาจารย์อีกต่อไป เราจะร่วมกับคณาจารย์ชุดแรก เข้าพบ นายกฯและหัวหน้าคสช. เพื่อสอบถามความชัดเจนต่อไป

อจ.ลงชื่อหนุนเพิ่มเป็น 374
      นายเดชรัตน์ กล่าวถึงการพิจารณาฝากขังนักศึกษาที่ศาลทหารว่า คาดหวังว่าสิ่งที่เราเรียกร้องไปทั้งหมด ศาลทหารและคสช.จะรับฟัง ซึ่งข้อเรียกร้องทั้งหมดหากไม่เป็นผลจะเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ภายในสัปดาห์นี้ ส่วนที่มีกระแสโจมตีว่ามีอาจารย์อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของนักศึกษานั้น สิ่งที่นักศึกษาทำเป็นการกระทำด้วยตนเอง ผ่านการคิดอย่างรอบคอบแล้ว หากกล่าวว่าพวกตนอยู่เบื้องหลังคือการสนับสนุนในสิ่งที่นักศึกษาทำ เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ส่วนท่าทีของรัฐบาลที่พร้อมประสานพูดคุยนั้น เชื่อว่าผู้นำ คสช.คงทราบเสียงของสังคมดี
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แถลงการณ์ฉบับนี้มีอาจารย์ร่วมลงชื่อสนับสนุนเพิ่มเติม 94 คน จากเดิม 280 คน รวมเป็น 374 คน นอกจากนี้ ยังมีประชาชนทั่วไปร่วมลงชื่อสนับสนุนอีก 583 คน

ประชาคม"มก."ก็จี้ปล่อย
      ขณะที่ น.ส.ชลิตา บัณฑุวงศ์ พร้อมคณาจารย์ คณะสังคมศาสตร์ มก. อ่านแถลงการณ์ ในนามกลุ่มประชาคมเกษตรศาสตร์เพื่อประชาชนว่า ขอคัดค้านการจับกุมคุมขัง 14 นิสิตนักศึกษา และนักกิจกรรมทางสังคมในนามกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เห็นว่าพวกเขาใช้สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แสดง ออกอย่างสุจริตใจ พวกเขาไม่สมควรถูกดำเนิน คดีในศาลทหารและไม่สมควรถูกกักขังในเรือนจำ หากพวกเขาจะผิด ก็ผิดเพียงเพราะมีความคิดต่างจากผู้มีอำนาจ พวกเขาจึงเป็นเพียง นักโทษทางความคิด ไม่ใช่ผู้กระทำผิดในข้อหาอื่น
      ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนิสิต นักศึกษา และนักกิจกรรมทางสังคมทั้ง 14 คน โดยไม่มีเงื่อนไข และขอเรียกร้องให้รัฐบาลและคสช. หยุดการข่มขู่คุกคามและหยุดลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน พร้อมคืนอำนาจและประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนโดยทันที

'สุชาติ'หวังคสช.เข้าใจเด็ก
     ด้านนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าวว่า พวกเราในฐานะตัวแทนของนักเขียน กวี และศิลปิน มาเป็นกำลังใจให้นักศึกษาทั้ง 14 คนที่เสียสละด้วยความบริสุทธิ์ใจในการเรียกร้องประชา ธิปไตยใหม่ด้วยหลักการ 5 ประการ คือ ประชา ธิปไตย การมีส่วนร่วม สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และสันติวิธี ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้เคลื่อน ไหวในหลักการนี้มาตลอด
       นายสุชาติกล่าวว่า นอกจากให้กำลังใจนักศึกษาแล้ว ยังให้กำลังใจตัวเองและชาวบ้าน ในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงให้กำลังใจในการก้าวตาม โรดแม็ปของรัฐบาลที่จะนำสู่การเลือกตั้ง เพื่อให้เสียงส่วนใหญ่ตัดสินชะตากรรมของประเทศ ในอนาคต การที่บอกว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่มนี้มีเบื้องหลังหรือเป็นผู้ร้ายนั้น หมายความว่าอย่างไร และตนอยากเห็นนักคิดและนักเขียนที่มีชื่อเสียงให้เข้าใจและออกมาเป็นพลังให้นักศึกษา อยากให้คสช.และผู้มีอำนาจเข้าใจว่าเด็กไม่ใช่คนร้าย แต่เป็นลูกหลาน ที่เสียสละเพื่อพวกเรา ซึ่งไม่ใช่การเมืองหรือสีเสื้อ แต่เสียสละเพื่อให้ประเทศก้าวตามหลักประชาธิปไตย ซึ่งตนอยากให้ปล่อยตัวนักศึกษา ทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข

ทนายยันจะคัดค้านฝากขัง
      จากนั้นเวลา 15.40 น. นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของนักศึกษา กล่าวภายหลังพนักงานสอบสวนเข้าสอบปากคำนักศึกษาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่าพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เข้ามาสอบปากคำนักศึกษาชายทั้ง 13 คน ตั้งแต่เวลา 09.00 น. พร้อมแจ้งข้อหากับทั้ง 13 คนว่ากระทำผิดตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 116 และขัดคำสั่งคสช. ซึ่งนักศึกษาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธ เพราะไม่ได้ทำผิด และไม่ยอมรับอำนาจของศาลทหาร ซึ่งการจับกุมเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ใช้กำลังโดยมิชอบ ไม่แจ้งสิทธิผู้ต้องหา ไม่แสดงหมายจับและไม่อนุญาตให้พบทนายความ ซึ่งนักศึกษาทั้งหมดไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี โดยวันที่ 14 ก.ค.นี้ นักศึกษาทั้ง 14 คน นัดพนักงานสอบสวนมาสอบสวนเพิ่มเติม เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและอ้างพยานบุคคลเพิ่มเติมต่อสู้คดี

 


ทำบุญ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทักทายชาวบ้านที่มารอต้อนรับเนืองแน่น ระหว่างเดินทางมาทำบุญสะเดาะเคราะห์ตามพิธีของชาวอีสาน ที่วัดบ้านปากน้ำ ต.กุดลาด อ.เมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 6 ก.ค.


       นายกฤษฎางค์กล่าวต่อว่า ส่วนวันที่ 7 ก.ค. นอกจากจะคัดค้านการฝากขังแล้ว นักศึกษาจะแถลงต่อศาลทหารให้พิจารณาคดีอย่างเปิดเผยในการไต่สวนคำร้องขอฝากขัง โดยขออนุญาตให้ญาติ สื่อมวลชน และประชาชนเข้าฟัง ส่วนที่ระบุว่าสถานที่ไม่เพียงพอนั้น เป็นเพียงข้ออ้าง ตนคิดว่าหากมีความจริงใจที่จะให้พิจารณาคดีอย่างยุติธรรม สามารถหาสถานที่ อื่นรองรับได้ และนักศึกษาจะแถลงต่อศาล กรณีครอบครัวถูกทหารคุกคาม ไปพบถึงบ้าน ถือเป็นการคุกคามสิทธิทางกระบวนการยุติธรรม ข่มขู่ครอบครัวและผู้ต้องหา ถือเป็น การละเมิดอำนาจศาล ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม โดยนักศึกษาจะขอให้ศาลทหารเรียกตัวทหารที่กระทำการดังกล่าวมาไต่สวน ซึ่งกรณีแบบนี้หากเป็นศาลพลเรือนต้องเรียกมาไต่สวนแน่นอน

เผยสน.ปทุมวันจ่ออายัดตัวต่อ
      นายกฤษฎางค์กล่าวว่า วันนี้ยังมีพนักงานสอบสวนจากสน.ปทุมวัน มายื่นขออายัดตัวนักศึกษาชาย 6 คน และหญิง 1 คน ที่ชุมนุมหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. โดยพนักงานสอบสวนได้ขอหมายจับที่ศาลทหารกรุงเทพ และขออายัดตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯในข้อหาขัดคำสั่งคสช. เรื่องห้ามการชุมนุมเกิน 5 คน ซึ่งขณะนี้นักศึกษาหญิง คือน.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เป็นวันที่ 2 เนื่องจากมีอาการชา ไม่รู้สึกตัวบริเวณซีกซ้าย เพราะได้รับการกระทบกระเทือนจากการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งได้แจ้งความไว้ที่สน. ปทุมวัน ว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายนักศึกษา จึงจะขอให้พนักงานสอบสวนมาสอบปากคำนักศึกษาในฐานะผู้เสียหาย 
     นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า หากวันที่ 7 ก.ค. ศาลทหารอนุญาตให้ปล่อยตัวแล้ว สน.ปทุมวัน จะเข้าอายัดตัวนักศึกษาต่อ ตนจะหารือกับทีมทนายว่าทำได้หรือไม่ เพราะยังมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย เพราะข้อกล่าวหาของสน.ปทุมวัน มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ทราบว่าสน.ปทุมวันจะมีอำนาจมานำตัวนักศึกษาไปได้หรือไม่ และมีเหตุผลเพียงใดที่จะมาอายัดตัว เนื่องจากนักศึกษาถูกดำเนินคดีอยู่ และไม่ได้หลบหนี

จุฬาฯเสวนา"เสรีภาพถูกฆ่า"
      ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเสวนาหัวข้อ "เมื่อเสรีภาพถูกฆาตกรรม" จัดโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม และหลักสูตร การเมืองและการจัดการปกครอง มีน.ส.ชนก นันท์ รวมทรัพย์ นักศึกษากลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และวาด รวี นักเขียนและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ไชน์ ร่วมเสวนา
      น.ส.ชนกนันท์ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของ กลุ่มนักศึกษาเริ่มมีมาตั้งแต่หลังรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 เช่น การกินแซนด์วิช การอ่านหนังสือ การชูสามนิ้ว และเริ่มถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามจับกุมไปปรับทัศนคติ กระทั่งครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร กลุ่มนักศึกษาได้ไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ยืนจ้องนาฬิกาที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ส่วนกลุ่มดาวดินก็แสดง ออกเชิงสัญลักษณ์ที่จ.ขอนแก่น และถูกสลายการชุมนุม นำมาสู่การถูกจับคุมขัง ซึ่งทั้งหมดยืนยันรัฐบาลปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข
      "วันนี้อยากเห็นทุกคนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ เสรีภาพเพราะไม่ใช่เรื่องของนักศึกษาที่จะออก ไปเรียกร้องฝ่ายเดียว ทุกคนต้องมีสำนึกว่าถูกคุกคามอย่างไรและพร้อมยืนยันเรียกร้องตาม 5 ข้อ ได้แก่ 1.ประชาธิปไตยที่ทุกคนเสมอภาคกัน 2.ความยุติธรรม 3.การมีส่วนร่วมของประชาชน 4.สิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน 5.สันติวิธี ที่ขบวนการประชาธิปไตยใหม่เรียกร้องอยู่" น.ส.ชนกนันท์กล่าว

"พิชญ์"ชี้หมดยุคบังคับลูกแล้ว
      ด้านนายพิชญ์กล่าวว่า กรณีคุมขังนักศึกษาทั้ง 14 คน สังคมมัวแต่ถามว่าใครอยู่เบื้องหลัง แต่ไม่มีใครสนใจสภาพชีวิตของพวกเขาในเรือนจำ เช่น โกนหัวประท้วงการถูกแยกแดนคุมขัง ขณะที่ผู้มีอำนาจพยายามจำกัดความคิดของผู้ปกครองของนักศึกษาว่าควรเลี้ยงลูกให้ดี และเชื่อฟังโดยไม่ต่อต้านคสช.อย่างไร แต่ตนมองว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว ครอบครัวความสัมพันธ์การอบรมเลี้ยงดูก็เปลี่ยนไป พ่อแม่หันมาฟังลูกมากขึ้น มีความเป็นเพื่อนกันมากขึ้นและไม่อาจบังคับได้ตามอำเภอใจอีกต่อไป
      "กรณีนักศึกษาเสมือนเป็นตาน้ำเล็กๆ ที่กำลังจะกลายเป็นสายน้ำ ซึ่งใหญ่กว่า 5 สายหรือไม่ ไม่อาจทราบได้ ส่วนแม่น้ำ 5 สายที่พยายามขุดกันมาด้วยเงินภาษีประชาชนยังไม่ทราบว่าจะไหลไปสู่ที่ใด แต่นักศึกษากำลังรับผิดชอบจากการใช้สิทธิเสรีภาพของพวกเขา ถ้าใครเห็นด้วยกับพวกเขาก็ออกไปร่วมกับเขา ใครไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องออกไป" นายพิชญ์กล่าว
     วาด รวี กล่าวว่า ปรากฏการณ์การละเมิดเสรีภาพ เห็นได้ชัดตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 กรณีการบุกปิดสนามบินสุวรรณภูมิของกลุ่มพธม. อ้างว่าเป็นเสรีภาพที่จะไปปิด แต่ข้อเท็จจริงคือกำลังละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นอยู่ ขณะที่การใช้เสรีภาพของกลุ่มนักศึกษาในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไม่มีตรงไหนที่ไปละเมิดเสรีภาพของบุคคลอื่นแม้แต่นิดเดียว แต่กลับถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาร้ายแรง ตรงนี้สะท้อนว่าสังคมกำลังผิดปกติ และคสช. ยังพยายามจะจำกัดเสรีภาพในการทำข่าวการจับกุม และปิดกั้นสิทธิเสรีภาพรับรู้ข่าวสารของพลเมือง ซึ่งนับว่ารุนแรงที่สุดในหลาย 10 ปีที่ผ่านมา

แห่ให้กำลังใจนศ.คึกคัก
     เวลา 17.00 น. ที่ลานประติมากรรม หน้าหอ ประชุมใหญ่ มธ. ท่าพระจันทร์ กลุ่มพลเมืองโต้กลับและขบวนการประชาธิปไตยใหม่ กลุ่ม ดินสอสี กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มดาวดิน ร่วมกันจัดงาน "ด้วยปีกแห่งเสรีภาพ" พื้นที่แสดงออกของสามัญชน มีการตั้งเวทีเครื่องเสียง ออกบูธกิจกรรมพับนกให้คนทั่วไปเขียนข้อความให้กำลังใจนักศึกษา มีนิทรรศการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล เผยแพร่การเคลื่อนไหวเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ และมีการสร้างเรือนจำมาให้คนทั่วไปได้ทดลอง ถูกคุมขัง อีกทั้งมีบอร์ดให้เขียนโพสต์อิตแสดง ความในใจถึงนักศึกษา
       โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการประดับไฟสีสันคล้ายงานมหรสพ ยังมีนักวิชาการ นักเขียน นักกิจกรรมต่างๆ มาร่วมงานคับคั่ง อาทิ นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ วาด รวี นักเขียนอิสระ นายวิจักขณ์ พานิช นักเขียนอิสระ นายยุกติ มุกดาวิจิตร นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักประวัติศาสตร์

เพื่อนหวังตร.เลิกฝากขัง
      นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเตอร์เพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw) กล่าวว่า ไอลอว์ มาร่วมออกบูธโดยจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับ 14 นักศึกษา ความคิดและประวัติความเป็นมาของพวกเขามาแสดง
       "การจัดงานวันนี้เป็นการรวมกลุ่มกันของนักกิจกรรมกลุ่มต่างๆ เพราะเมื่อนักศึกษาเข้าคุก เพื่อนๆ ที่อยู่ข้างนอกก็อยากทำกิจกรรมพูดถึงพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ส่วนพรุ่งนี้จะคัดค้านการฝากขังนักศึกษาต่อ คิดว่าผลที่ออกมาเป็นไปได้ทุกทาง แต่ก็คิดว่ามีเหตุผลในการปล่อยตัวเพราะจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ในการสอบสวน ไม่มี เหตุให้ฝากขังต่อ เว้นแต่ว่าศาลมีเหตุผลอื่นๆ" นายยิ่งชีพกล่าว

อจ.มธ.แนะรัฐบาลใช้สติ
     นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์มธ.กล่าวว่า ตนมาร่วมกิจกรรมโดยคิดว่าตอนนี้รัฐบาลน่าจะฟังเสียงประชาชน เพราะเขาก็หาเงินมาประกันตัวนักศึกษาให้ เมื่อครบกำหนดฝากขังแล้วรัฐบาลก็น่าจะปล่อยตัว ไป แล้วปล่อยให้มีการแสดงออกทางการเมืองบ้าง วันก่อนเจ้ากรมพระธรรมนูญบอกเองว่าอยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาได้ ก็อยากให้ยกเลิกไปเสีย ถ้ารัฐบาลไม่กลัวและใช้สติจะรู้ว่าควรทำอย่างไรกับประชาชน นี่เป็นวุฒิภาวะของผู้ปกครอง เขาแค่อยากชูป้ายก็ให้ เขาชูไป
    ต่อมาเป็นการแสดงดนตรีของนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา หรือพ่อของนายจตุรภัทร หรือไผ่ บุญภัทรรักษา กลุ่มดาวดิน โดยกล่าวว่า เด็กๆ เพียงแค่ทำกิจกรรมแสดงออก แต่สุดท้ายโดนมาตรา 116 กบฏพวกนี้คือเด็กๆ ทั้งนั้น รู้สึกเศร้าใจ แต่เด็กก็มีกำลังใจและเข้มแข็ง เขาเชื่อว่าเขาอยู่ในทางที่ถูก เด็กเกรดไม่ดีก็เรื่องของเขา สิ่งที่ทำเด็กไม่ได้บอกว่าไม่เคารพกฎหมาย แต่เขาปฏิเสธกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมซึ่งนับเป็นการปฏิวัติซ้อน

พับนกกระเรียนให้กำลังใจ
       นายภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ นักศึกษาปริญญาโท มธ. ผู้ดำเนินรายการในกิจกรรม ด้วยปีกแห่งเสรีภาพ กล่าวว่ากิจกรรมในวันนี้จะมีการปล่อยลูกโป่ง พับนกกระเรียนและเขียนข้อความ เพื่อให้กำลังใจนักศึกษาทั้ง 14 คน เน้นให้พื้นที่จัดงานวันนี้เป็นพื้นที่เสรีภาพที่ให้เพื่อนๆ และคนที่สนใจมาใช้พื้นที่ร่วมกัน และอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของเสรีภาพ วันที่ 7 ก.ค.นี้อยากให้รัฐบาลปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 คน หากยังไม่ปล่อยก็คงมีกิจกรรมเช่นนี้อีกเรื่อยๆ
       นางวรรณี สัตยานนท์ หนึ่งในผู้มาร่วมกิจกรรมพับนกกระเรียน กล่าวว่าวันนี้มาพับนกกระดาษและเขียนข้อความลงไปว่าปล่อยนักศึกษาโดยไม่มีเงื่อนไข และหวังว่าสิ่งที่ทำในวันนี้จะเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลปล่อยนักศึกษา วันที่ 7 นี้หวังว่ารัฐบาลจะปล่อยตัวนักศึกษาออกมาเพราะต่างชาติก็กดดันเช่นกัน แต่ถ้าไม่ปล่อยก็จะเคลื่อนไหวอีกจนกว่าจะปล่อย เราไม่รู้จักนักศึกษาแต่ออกมาช่วยกัน ไม่กลัวโดนจับเพราะไม่ได้ทำอะไรผิด และถึงจับก็คงไม่จับเราคนเดียวอยู่แล้ว

ถ้าไม่ปล่อยพร้อมสู้ต่อ
        ด้านนายวชิระ บัวสนธ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน กล่าวว่าวันนี้มาให้กำลังใจนักศึกษาทั้ง 14 คนที่ถูกคุมขัง และคิดว่ารัฐบาลจะรับรู้ถึงกิจกรรมในวันนี้ เพียงแต่จะทำอย่างไรต่อก็เป็นเรื่องของสำนึก วันที่ 7 ก.ค.นี้ คนมีวิจารณญาณย่อมมองออกว่าถ้ารัฐบาลปล่อยตัวนักศึกษาก็ถือว่าทำในสิ่งที่สมควรทำ แต่ถ้าไม่ปล่อยก็ต้องตอบว่าทำไม และยังเคลื่อน ไหวต่อไปแน่นอนไม่ว่าจะปล่อยหรือไม่ปล่อย นักศึกษา เพราะอยากชี้ให้เห็นว่าที่มาของรัฐบาลนั้นผิด ควรจัดการเลือกตั้งเพื่อแสดงให้เห็นว่าชะตากรรมของประเทศนั้นขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคน ไม่ใช่เพียงคนเดียว
      ด้านนายชานันท์ ยอดหงษ์ อาจารย์จาก ม.ศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่ามาร่วมกิจกรรมเพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งกับขบวนการเคลื่อน ไหวประชาธิปไตยใหม่ และหวังว่าวันที่ 7 ก.ค.นี้ รัฐบาลจะปล่อยตัวนักศึกษา หากไม่ปล่อย ก็พร้อมสู้ต่อ

 

อ.ยุกติเชื่อยิ่งขังยิ่งถูกกดดัน
      ด้านนายยุกติ มุกดาวิจิตร กล่าวว่า สำหรับเวลานี้ประเด็นใหญ่ในสังคมคือเรื่องที่นักศึกษา ถูกจับ แรงกดดันต่อรัฐบาลจึงสูงเช่นเดียวกับแรงกดดันจากต่างประเทศ อีกทั้งยังมีการตอบโต้จากฝั่งทหารด้วยการเข้าไปคุกคามเหล่าอาจารย์ที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา ส่วนตัวมองว่าการที่นักศึกษาถูกจับนั้นเป็นเรื่องเกินกว่าเหตุ คนจึงรู้สึกอ่อนไหวและออกมาเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น ด้วยท่าทีของรัฐบาล วันที่ 7 ก.ค.นี้คงยังไม่มีการปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับ แต่จะกดดันเพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลและจะส่งผลให้ประชาชนยิ่งออกมามากขึ้น รวมทั้งคนที่เมื่อ ก่อนไม่เห็นปัญหานี้ก็จะเริ่มเห็นปัญหาในที่สุด
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะที่กิจกรรมกำลังดำเนินไปได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก แต่ผู้ร่วมกิจกรรมทั้งหมดก็ได้ย้ายเข้ามาทำกิจกรรม ต่อภายใต้อาคารของคณะนิติศาสตร์ โดยนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี และกลุ่มนักเขียนได้ผลัดกันกล่าวถึงความสำคัญของสิทธิเสรีภาพ

พท.แนะ"รบ."คุยนศ.ดีกว่าขัง
      นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึง 14 นักศึกษาที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำว่า อยากฝากถึงรัฐบาลว่าในการปกครองประเทศ ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ ใช้กฎหมายอย่างเดียวคงไม่ได้ โดยเฉพาะนักศึกษา 14 คน ซึ่งมองว่ามีโทษทางความคิดเท่านั้น คือการแสดงความเห็นอย่างบริสุทธิ์ สมควรเชิญพูดคุยปรับทัศนคติ จะเป็นแนวทางที่เหมาะสมมากกว่าการคุมขัง หากปล่อยให้นักศึกษาติดคุก ถูกคุมขังจะเสียโอกาสทางการศึกษา ขอให้รัฐบาลมีความเข้าใจในการแก้ปัญหา ทางการเมือง จะเกิดประโยชน์กับรัฐบาลมาก กว่าการแยกขัง ขังเดี่ยว หรือนำนักศึกษาเข้าคุก ซึ่งไม่เหมาะสม หากรัฐบาลไม่ทำตามคำแนะนำจะเป็นตราบาปแก่นักศึกษาที่แสดงความคิดอย่างบริสุทธิ์
       นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์ถึงคสช.ระบุการเคลื่อนไหวของ 14 นักศึกษามีเบื้องหลังว่า ขอให้ระบุให้ชัดเจน ว่าใคร พูดอย่างนี้ทุกคนเสียหายหมด อย่าดู แคลนสติปัญญาของนักศึกษาเพราะเขามีวุฒิภาวะ มีความรู้พอจะตัดสินใจได้ว่าไม่ชอบรัฐประหาร และแสดงออกโดยสันติวิธี และยังเชื่อว่าพวกเขาเคลื่อนไหวโดยบริสุทธิ์ใจ จึงแปลกใจที่เจ้าหน้าที่เข้าไปจับกุม และนำตัวขึ้นศาลทหารในยามวิกาล ไม่เข้าใจว่าเหตุใดคสช.มีนโยบายต่อนักศึกษาเช่นนี้ ขอเสนอต่อคสช. ควรปล่อยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ 

จาตุรนต์โต้-ขึ้นศาลทหารไม่บ่น
      นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เห็นข่าวมีการชี้แจงเรื่องการให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร อ้างถึงตนว่าขึ้นศาลทหารและไม่เห็นบ่นอะไร ถึงแม้จะเป็นความจริงว่าตนไม่ได้บ่น แต่ที่ ไม่บ่น ไม่ใช่เพราะเห็นชอบด้วย ซึ่งตนเห็นว่าการที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรมและไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดๆ ขัดต่อข้อตกลงระหว่างประเทศของสห ประชาชาติว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทาง การเมือง เท่ากับขัดแม้แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปัจจุบัน ที่ให้รัฐต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย 
       นายจาตุรนต์ ระบุว่า กรณีของตนยังมีปัญหา เรื่องวันเวลาที่เกิดเหตุ กับวันเวลาที่ออกคำสั่งให้ คดีพลเรือนขึ้นศาลทหาร รวมทั้งรายละเอียดในคำสั่ง ซึ่งตนร้องต่อศาลทหารให้พิจารณาขอบเขตอำนาจศาล และเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณา ระหว่างที่รอการพิจารณาเรื่องเขตอำนาจศาลอยู่นี้ การพิจารณาคดีของตนในศาล ทหารจึงพักไว้ก่อนและยังไม่เริ่มต้นกระบวน การพิจารณา

กมธ.จ่อแก้คุณสมบัติ"สส."
      ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ วาระพิจารณาบท บัญญัติร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เป็นวันที่ 8 โดยพิจารณาในภาค 2 ผู้นำการเมืองและสถาบันการเมือง หมวด 3 รัฐสภา มาตรา 96
      นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงผลการประชุมกมธ.ยกร่างว่า ได้พิจารณามาตรา 97-116 โดยมีมาตราที่เป็นที่สนใจ คือมาตรา 111 ว่าด้วยคุณสมบัติบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ซึ่งกมธ.ยกร่างฯได้แขวนมาตรานี้ไว้รอการพิจารณาในวันที่ 13-19 ก.ค. ที่พัทยา เพื่อรอปรับแก้ถ้อยคำ แต่ในหลักการ กมธ.ยกร่างฯจะบัญญัติร่างนี้ไว้โดยมีสาระสำคัญคือ การห้ามบุคคลที่เป็นตัวการหลักในการทุจริตเลือกตั้งไม่สามารถลงสมัครส.ส.ได้ ส่วนบุคคล ที่เคยถูกเพิกถอนโดยผลของกฎหมาย อาทิ บ้าน เลขที่ 111 และ 109 จะไม่ขาดคุณสมบัติ สามารถลงเลือกตั้งได้ 

ชงเลิก"โอเพ่นลิสต์"
       พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ. ยกร่างฯ เปิดเผยก่อนเข้าประชุมว่า หมวดรัฐสภา ในส่วนของระบบรัฐสภา อยู่ในมาตรา 103-120 นั้นกมธ.ยกร่างฯนำคำขอแก้ไข เพิ่มเติมที่เสนอเข้ามาพิจารณาแล้วได้ข้อยุติเบื้องต้นว่า โครงสร้างของส.ส. เราจะปรับเปลี่ยน 2-3 ประเด็นหลักเพื่อให้การเลือกตั้งง่ายขึ้น ไม่ซับซ้อนและไม่เกิดบัตรเสีย เราจึงตัดการเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบโอเพ่นลิสต์ ซึ่งให้สิทธิ์ประชาชนเลือกผู้สมัครในแต่ละบัญชีรายชื่อออกไป แล้วมาใช้วิธีการหยั่งเสียงโดยสมาชิกพรรคแทน เพื่อทดแทนการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์
      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้เดิมเรากำหนดให้บัญชีรายชื่อแบ่งเป็น 6 ภาค แต่เกรงพรรคการเมืองจะยุ่งยากในการส่งรายชื่อผู้สมัคร และพรรคขนาดเล็กที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครในภาคหนึ่งภาคใด ก็จะไม่ได้คะแนนในส่วนนี้มาสะสมเป็นคะแนนระดับประเทศ จึงเห็นชอบให้จัดทำเป็นบัญชีรายชื่อเดียวทั้งประเทศ และลดจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อลงเหลือ 150 คน จากเดิม 200 คน และไปเพิ่มส.ส.แบบแบ่งเขต เป็น 300 คนจากเดิม 250 คน ดังนั้นโครง สร้างใหญ่ยังเหมือนเดิม คือมีส.ส. 450-470 คน ส่วนโครงสร้างของส.ว.นั้น เข้าใจว่าจะพิจารณา ได้ในวันที่ 8 ก.ค.นี้ หลักใหญ่กำหนดไว้ 5 แนวทาง เมื่อถึงเวลาคงพิจารณากันอีกครั้งว่าจะยืนตามหลักการเดิมหรือปรับจำนวนไว้อย่างไร

ปชป.ค้านระบบหยั่งเสียง
      นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กมธ.ยกร่างฯยอมตัดระบบโอเพ่นลิสต์ โดยใช้ระบบการหยั่งเสียงสมาชิกพรรคแทนว่า ถ้าใช้วิธีหยั่งเสียงจะมีปัญหามาก เช่นพรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งต้องลดจำนวนส.ส.ลงสิบกว่าคนโดยเอาไปขึ้นในบัญชีรายชื่อ ซึ่งจะเกิดปัญหา เพราะในพื้นที่เดิมมีส.ส. 3 คน แต่ตามกฎหมายใหม่ให้ลดเหลือ 2 คน แล้วเขตที่ลดจากการเลือกตั้งจะทำอย่างไร ดังนั้นการหยั่งเสียงจะยากมาก เพราะผู้สมัครส.ส.ก็มีเขตแต่ละพื้นที่เป็นของตัวเอง จึงยังไม่เข้าใจว่ากมธ.ยกร่างฯ จะให้หยั่งเสียงก่อนแบ่งเขตหรือแบ่งเขตก่อนหยั่งเสียง ซึ่งจะทำให้เกิดการเสียเปรียบ อย่างไรก็ตามในส่วนของพรรคประชา ธิปัตย์ไม่ขัดข้อง ก็ต้องปรับตัวตามรัฐธรรมนูญ ใหม่ ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยาก ชี้ให้เห็นว่าคนร่างไม่ตีความโดยไปลดจำนวนเขตลงแล้วแบ่งเขตใหม่ 
      "หากใช้วิธีหยั่งเสียง สมาชิกพรรคแต่ละคนต้องเกณฑ์สมาชิกแต่ละเขตมาโหวต ก็จะวุ่นวายและเกิดการทะเลาะกัน ทำให้เกิดปัญหา ยุ่งยาก และทำให้เขตที่ถูกยุบเสียเปรียบเขต ที่ไม่ถูกยุบ" นายนิพิฏฐ์กล่าว

ปิดตำนาน"ปัญจะ เกสรทอง"
     วันที่ 6 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 5 ก.ค. นายปัญจะ เกสรทอง อดีตรองนายกฯ อดีตรัฐมนตรีและอดีตส.ส.เพชรบูรณ์หลายสมัย เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคประจำตัว ที่บ้านพักเขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ รวมอายุ 84 ปี โดยญาติจะนำศพกลับมาบำเพ็ญกุศล จัดพิธีรดน้ำศพวันที่ 7 ก.ค. เวลา 17.00 น. ที่บ้านพักข้างสำนักงานไปรษณีย์จังหวัดเพชรบูรณ์ ถนนสระบุรี - หล่มสัก ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
     นายปัญจะ เกสรทอง เกิดวันที่ 5 ส.ค. 2474 ที่ ต.ท่าพล อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ สมรสกับนางกอบแก้ว เกสรทอง (เทพสาร) มีบุตร 2 คน ธิดา 3 คน จบมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเพชรพิทยาคม อ.เมืองเพชรบูรณ์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาศิลปศาสตร์ จากสถาบันราชภัฏเพชรบูรณ์ และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
    เป็นอดีตส.ส.เพชรบูรณ์ 11 สมัย เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ รองนายกฯ รมว.ศึกษาธิการ และรองหัวหน้าพรรคชาติไทย
     นายปัญจะได้วางมือทางการเมืองเนื่องจากอายุมาก ประกอบกับสุขภาพไม่แข็งแรง พักผ่อน อยู่กับลูกหลานที่บ้านพักกรุงเทพฯ และที่เพชรบูรณ์ กระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว

งง"วิชา"ขอ"ลูกเหวง"พยาน 99 ศพ
     เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 6 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นพ.เหวง โตจิราการ และพล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย มาขอพบนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีสลายการชุมนุมทางการเมืองช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. 2553 เพื่อทวงถามความคืบหน้ากรณีเคยยื่นหนังสือเรียกร้องป.ป.ช.ให้เชิญนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ อดีตส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมืองมาให้ข้อมูลเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 
     นพ.เหวง กล่าวว่า แปลกใจว่าทำไมป.ป.ช.ถึงเชิญนายสมชาย แสวงการ อดีตประธานอนุกมธ. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามความคืบหน้าทางคดีของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมือง ในกมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เข้าให้ถ้อยคำ ทั้งที่เป็นเพียงอนุกมธ. ขณะที่คณะกรรมการชุดของนายจิตติพจน์ แต่งตั้งโดยวุฒิสภา มีความเป็น กลางชัดเจน และรวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วนจากทหาร ตำรวจ นักวิชาการ สื่อมวลชน ช่างภาพ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทั้งนี้ ตนได้ประมวลและจัดทำเอกสารเป็นรูปเล่ม พร้อมซีดี มามอบให้ ป.ป.ช.ด้วย ขอย้ำว่าป.ป.ช.ควรเชิญนายจิตติพจน์มาให้ถ้อยคำเพื่อผดุงความยุติธรรมและรักษานิติธรรม นิติรัฐ รวมทั้งความน่าเชื่อถือของป.ป.ช.เอง 
      นพ.เหวง กล่าวว่า แปลกใจที่นายวิชาระบุจะเชิญนพ.สลักธรรม โตจิราการ ลูกชายตนมาให้ ถ้อยคำในคดีนี้ เพราะตอนเกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง นพ.สลักธรรมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช แต่ไปช่วยงานที่สถาบันนิติเวชในฐานะแพทย์ งงว่าทำไมนายวิชาถึงจะเชิญนพ.สลักธรรม ซึ่งอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนก็ได้

แห่รับ"ยิ่งลักษณ์"ทำบุญอุบลฯ
      เมื่อเวลา 08.40 น. วันที่ 6 ก.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยด.ช.ศุภเสกข์ หรือน้องไปป์ อมรฉัตร บุตรชาย เดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติอุบลราชธานี โดยมีอดีตส.ส.อีสานใต้ พรรคเพื่อไทยประมาณ 10 คน และมวลชนจำนวนหนึ่งมารอรับ เพื่อเดินทางไปทำบุญสะเดาะเคราะห์ ที่วัดบ้านปากน้ำ ต.กุดลาด อ.เมืองอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อเงิน
       เมื่อไปถึงพระมงคลธรรมวัฒน์เจ้าอาวาสให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ปลูกต้นพะยูง 2 ต้น ที่ถนนทางเข้าอุโบสถ เพื่อเป็นการพะยูงเหตุการณ์ร้ายๆ เอาไว้ โดยมีมวลชนชาวบ้านปากน้ำและหมู่บ้านใกล้เคียงมาให้กำลังใจอดีตนายกฯประมาณ 100 คน จากนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ขึ้นไปกราบหลวงพ่อ เงิน พระพุทธรูปประจำวัด 
     ก่อนที่นายเลิศ ประสานพิมพ์ อายุ 83 ปี หมอทำขวัญชาวบ้านปากน้ำ ได้นำพานทำจากต้นกล้วย บรรจุเครื่องสะเดาะเคราะห์ที่จะมอบถวายให้เทพยดา 9 อย่างมาทำพิธี โดยนายเลิศนำปั้นข้าวเหนียวลูบตามแขนและร่างกายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อเรียกเอาสิ่งร้ายๆ ออกจากตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยใช้เวลาทำพิธีนานเกือบ 30 นาที 
     จากนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะเดินทางไปพักผ่อนเที่ยวชมความงามของหินสามพันโบกที่ อ.โพธิ์ไทร ชายแดนไทย-ลาว และนอนพักที่จังหวัดอุบลราชธานี 1 คืน สำหรับวันที่ 7 ก.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์พบปะพูดคุยกับกลุ่มอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่จ.ศรีสะเกษ ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯในช่วงเย็น

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!