- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 05 July 2015 23:05
- Hits: 8157
มช.ร่วมโพสต์อิต คนอีสาน แห่เยี่ยม 14 นศ. อจ.ลงชื่อเพิ่ม-จี้ปล่อย ปปช.จ่อลงดาบพรทิวา คดีประกันข้าวรบ.มาร์ค
กลุ่มนักศึกษามช.ร่วมจัด 'โพสต์ อิสรภาพ'หกโมงเย็นวันนี้ชาวบ้าน 3 จว.อีสาน ขอนแก่น เลย กาฬสินธุ์ แห่ให้กำลังใจ 14 น.ศ.ที่ถูกคุมขัง ย้ำกลุ่มดาวดินอยู่ข้างประชาชน เครือข่ายคณาจารย์ เผยอาจารย์กว่า 25 คนถูกจนท.เรียกสอบหลังออกแถลงการณ์จี้ปล่อยตัวน.ศ.โดยไม่มีเงื่อนไข ชวนครูอาจารย์ร่วมลงชื่อเพิ่มอีก 'ดิเรก ถึงฝั่ง'เตือนรัฐบาลอย่าใช้อำนาจมากเกินไป ชี้น.ศ. เคลื่อนไหวจุดติดง่ายกว่านักการเมือง 'ปนัดดา' เชื่อไม่บานปลายซ้ำรอย 14 ตุลาฯ จี้อาจารย์-สถาบันการศึกษาเร่งทำความเข้าใจ สปช.หนุนนิรโทษกรรม 'วันชัย สอนศิริ'ชี้ผู้มีอำนาจทุกฝ่ายต้องคุยกัน แนะนายกฯส่งตัวแทนเจรจาลับกับ'ทักษิณ' ด้าน'สมบัติ ธำรงธัญวงศ์' ย้ำนายกฯคนนอกไม่ใช่ประชาธิปไตย เตือนกมธ.ยกร่างรธน.อย่าถอยหลังเข้าคลอง 'พรทิวา'ระทึก ป.ป.ช.จ่อแจ้งข้อหาคดีประกันราคาข้าวในรัฐบาลอภิสิทธิ์
วันที่ 05 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8985 ข่าวสดรายวัน
ปิดประชุม - บรรดาผู้นำชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แถบลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ รวมถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมคล้องแขนกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในพิธีปิดการประชุมผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 ที่โตเกียว เมื่อ 4 ก.ค.
'สมบัติ'ชี้เสนอโหวตลับรธน.ยังไม่ยุติ
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงกรณีกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเชิญผู้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 8 กลุ่มของสปช. เข้ารับฟังคำชี้แจงเหตุผลการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละประเด็นว่า กมธ.ปฏิรูปการเมืองจะหารือกันในวันที่ 6 ก.ค. แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะมีข้อสรุปให้ใครเป็นตัวแทนกลุ่มหรือไม่ เพราะกมธ.ยกร่างฯ ยังไม่แจ้งกำหนดวันที่แน่ชัดมา ส่วนกรณีมีกระแสข่าว สปช.เสนอให้การโหวตเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการลงมติลับนั้น เป็นเพียงการเสนอความเห็น ยังไม่เป็นข้อยุติ ถ้ายุติแล้ว ประธานสปช.จะต้องประกาศให้ทราบ
ย้ำนายกฯคนนอกไม่ใช่ปชต.
นายสมบัติกล่าวว่า ภาพรวมการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ตนจับตากมธ.ยกร่างฯ จะเอาอย่างไรในเรื่องการถ่วงดุลอำนาจ กลไกการตรวจสอบที่มักทำไม่สำเร็จ แพ้รัฐบาลเสียงข้างมาก อีกประเด็นคือ ที่มานายกรัฐมนตรี กมธ.ยกร่างฯ ได้ปฏิรูปถอยหลังให้คนนอกมาเป็นนายกฯ ได้ มันเป็นประชาธิป ไตยตรงไหน เมื่ออำนาจฝ่ายบริหารไม่เชื่อมโยงประชาชน ทำลาย 3 เสาหลักประชาธิปไตย การยืนยันไม่ตัดระบบเลือกตั้งโอเพ่นลิสต์ออก คืออยากได้รัฐบาลอ่อนแออีกหรือไม่ ถ้านึกภาพรัฐบาลอ่อนแอไม่ออก ให้นึกถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่พรรคแกนนำมีเสียงไม่ถึงครึ่ง จนถูกพรรคร่วมขี่คอ สรุปมีกระทรวงใดเหลือให้พรรคประชาธิปัตย์บริหารบ้าง ถ้าเกิดภาพการต่อรองแบบนี้อีก ประเทศจะมีอนาคตหรือไม่ แบบนี้ไม่เรียกปฏิรูป แต่ถอยหลังเข้าคลอง
"แม้จะเขียนมาตราอื่นดีก็ไร้ประโยชน์ มันเหมือนคนเรา ปอดดี ไตดี กระเพาะดี แต่หัวใจรั่วจะอยู่ได้อย่างไร มันก็ตาย แต่อย่าเขวตามเสียงติ มันจะยิ่งสะเปะสะปะ ฝากถึงกมธ.ยกร่างฯ ว่า การร่างรัฐธรรมนูญที่ดี จะทำให้ปฏิรูปการเมืองได้ ประเทศเข้มแข็งได้ แต่ถ้าร่างมาไม่ดี จะทำให้การเมืองอ่อนแอ ประเทศจะไม่มีอนาคต" นายสมบัติกล่าว
นิรโทษต้องไม่ละเมิดศักดิ์ศรีมนุษย์
นายสมบัติกล่าวว่า ส่วนการนิรโทษกรรมตามแนวทางการสร้างความปรองดองของคณะกรรมการศึกษาการสร้างความปรองดองของ สปช. ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานนั้น การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ทุกฝ่ายต้องเคารพกฎหมาย เรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายก็เคารพ เรื่องใดไม่เกี่ยวข้อง ก็ปรองดองได้หมดเพราะคนไทยด้วยกัน ไม่ต้องเหมา หรือแยกเป็นเข่งๆ
นายสมบัติกล่าวว่า ปกติเรื่องการนิรโทษกรรม จะทำเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดอาญาร้ายแรง ส่วนที่ระบุทำนองให้มารับผิดก่อน แล้วค่อยนิรโทษกรรมหรืออภัยโทษนั้น มองว่าในทางการเมืองมีแต่คนยอมตายดีกว่ารับผิด เพราะมันคือศักดิ์ศรี น่าอับอาย ไม่มีใครทำ ฉะนั้นคำว่านิรโทษกรรม เขาถึงไม่ไปละเมิดความคิดเห็นทางการเมืองกัน จะไปบังคับให้สำนึกผิด มันเท่ากับละเมิด ความเชื่อทางการเมืองมันทำไม่ได้ มันละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สปช.หนุนใช้ม.44 ออกกม.นิรโทษ
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปช. กล่าวถึงการนิรโทษกรรมตามแนวทางของคณะกรรมการศึกษาการสร้างความปรองดองของ สปช.ว่า เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสปช. ตนจะอภิปรายสนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุมซึ่งต้องคดีที่เกิดจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง แต่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมในคดีสั่งฆ่าประชาชนหรือเผาทำลาย เพราะมันจะกลายเป็นบรรทัดฐานว่าหากใครอยากเข้าสู่อำนาจทางการเมืองก็สั่งฆ่าหรือเผาได้ ทั้งนี้ การนิรโทษฯ ต้องไม่รวมคดีทุจริต และคดีหมิ่นฯ ตามมาตรา 112
นายวันชัยกล่าวว่า ส่วนแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ขึ้นอยู่กับคสช. ครม. และสนช.จะเห็นอย่างไร หากจะให้รวดเร็ว ก็เห็นด้วยกับการให้นายกฯ ใช้มาตรา 44 ดำเนินการทันที เนื่องจากเรื่องนี้หลายฝ่ายต่างเห็นพ้องกัน ทั้งนี้ ยืนยันว่าการเจรจากับผู้มีอำนาจทุกฝ่ายในสังคมไทยเป็นเรื่องจำเป็นที่จะทำให้เกิดปรองดอง แม้ที่ผ่านมานายกฯ จะปฏิเสธไม่เจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แต่การเจรจานั้น นายกฯ สามารถมอบบุคคลใดไปทำหน้าที่แทนก็ได้ และทำได้ทั้งในทางลับและทางแจ้ง
ดิเรกชี้ทุกฝ่ายต้องคุยให้ตกผลึก
นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช. ในฐานะคณะกรรมการศึกษาการสร้างความปรองดองฯ กล่าวว่า การปรองดองเป็นเรื่องดี เพราะบ้านเมืองเราถูกวาทกรรมใส่ร้ายป้ายสี จนคนในสังคมเกิดความแตกแยก กลายเป็นวาทกรรมที่ทำลายชาติ ทุกคนมุ่งแต่เอาชนะ จนลืมมองว่าประเทศชาติเสียหายขนาดไหน จึงยากที่จะนำสังคมสู่ความปรองดองได้ในเวลาอันสั้น
ฉะนั้นการที่รัฐธรรมนูญร่างไว้ให้มีเรื่องปรองดอง ตนจึงเห็นด้วย แต่อะไรก็ตามที่จะนำไปสู่การนิรโทษกรรมต้องปรึกษาและคุยกับทุกฝ่ายให้ตกผลึกก่อน เมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องกันแล้วจึงทำเรื่องนิรโทษกรรม มิเช่นนั้นจะเป็นชนวนก่อเหตุขึ้นมาอีก ดังนั้น เราจึงไม่นิรโทษกรรมให้กับคดีอาญา แต่จะค่อยๆดูคดีที่เกี่ยว ข้องกับการเมืองโดยไล่ลำดับไปทีละประเด็น
แนะคสช.-รบ.อย่าใช้อำนาจมาก
นายดิเรกกล่าวว่า ส่วนกรณีนักศึกษา กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ถูกจับกุมตัวเพราะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องแยกแยะ เพราะเด็กกับนักการเมืองจะต่างกัน เด็กมีความบริสุทธิ์ ถ้าเป็นนักการเมืองอาจจะจุดไม่ติด แต่นักศึกษาอาจจุดติด แม้พวกเขาจะมีใครเป็นที่ปรึกษาอยู่เบื้องหลังก็ตามแต่รัฐบาลและคสช.ต้องละเอียดอ่อนและนุ่มนวล ต้องสร้างความเข้าใจโดยใช้เหตุผล อย่าใช้อำนาจมาก เพราะอาจทำให้แรงสะท้อนมีมากขึ้น
นายดิเรกกล่าวว่า ตนไม่อยากเห็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาถูกปิดกั้น เพราะเรามีบทเรียนจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว ที่สำคัญเราจะต้องทำให้รัฐธรรมนูญเสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว และคืนอำนาจในระบอบประชาธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็ว อยากให้รัฐบาลทำตามโรดแม็ป เพราะความขัดแย้งจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ
กำลังใจ - กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูลดูนสาด กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้น และโคกหินขาว จาก 3 จังหวัดอีสาน ร่วมร้องเพลง หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนเข้าเยี่ยม 14 นักศึกษา และเรียกร้องให้ปล่อยตัว เมื่อวันที่ 4 ก.ค. |
ปชป.ชี้ใช้ม.44 ออกกม.นิรโทษได้
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอนิรโทษกรรมเพื่อความปรองดองว่า การนิรโทษกรรม 2 ระดับ คือ ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ กับ แกนนำระดับสั่งการและเจ้าหน้าที่รัฐผู้สั่งการนั้น ในระดับผู้ชุมนุมขณะนั้น มีกฎหมายมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 บังคับใช้อยู่ ประชาชนที่มาชุมนุมขณะนั้น ย่อมได้รับการคุ้มครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น ควรนิรโทษกรรม แต่ต้องพิจารณาโดยไม่หมายรวมคดีอาญา
สำหรับแกนนำผู้สั่งการนั้น บางครั้งมีการสั่งผู้ชุมนุมให้มีการทำลาย เผาบ้านเผาเมือง ตรงนี้ถ้าเป็นคดีอาญาก็ต้องดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม มีการฟ้องร้อง ถ้าศาลยกฟ้องก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าศาลสั่งฟ้องก็ต้องดำเนินคดีตามขั้นตอน มีบทลงโทษ มีการสำนึกผิด ก็เข้าสู่กระบวนการนิรโทษกรรมได้
นายวิรัตน์กล่าวว่า การนิรโทษกรรมนั้น คสช.ทำได้โดยใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 44 เช่น อาจตั้งคณะกรรมาธิการในส่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อศึกษากฎหมายในการนิรโทษกรรม หาแนวทางและผลสรุป จากนั้นก็เสนอคสช. และหากคสช.เห็นด้วย ก็ออกประกาศเป็นกฎหมายได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้เลย เพื่อความรวดเร็ว
นปช.ซัด-ชงนิรโทษแค่สร้างภาพ
นางธิดา โตจิราการ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงคณะกรรมการของ สปช.เสนอแนวทางนิรโทษกรรมว่า ไม่มีประโยชน์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนเสื้อแดงผ่านมา 5 ปี ผู้ชุมนุมที่ต้องคดี พ้นโทษจนเกือบหมด เหลือเพียงผู้ต้องหาคดีอาญา เผาศาลากลาง ครอบครองอาวุธ และมาตรา 112 ซึ่งการนิรโทษไม่ครอบคลุม แต่คดีเหล่านี้ ผู้ต้องหาบางราย ถูกดำเนินคดี ติดคุกฟรี ทั้งที่หลักฐานไม่แน่นหนา สิ่งที่คนเสื้อแดงต้องการคืออยากให้รื้อฟื้นคดีเหล่านี้ใหม่ให้เป็นธรรม ไม่ต้องนิรโทษกรรม ขอแค่ความยุติธรรมโดยไม่เลือกข้างก็พอ
"ข้อเสนอดังกล่าวเหมือนการเล่นละครทางการเมือง สร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีว่าห่วงประชาชน ทั้งที่มันสายเกินไปแล้ว จึงเชื่อว่าข้อเสนอนี้มีผลประโยชน์แอบแฝง คือ การที่สมาชิกสปช. บางรายหวังใช้เป็นผลงาน เพื่อเป็น 1 ใน 200 ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ" นางธิดา กล่าว
คาดปชช.แห่หนุน14นศ.เพิ่มขึ้น
นางธิดากล่าวถึงจำนวนผู้สนับสนุนและร่วมให้กำลังใจ 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งเพิ่มมากขึ้นว่า การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพไม่ได้จำกัดอยู่ที่คนเสื้อแดง ประชาชนหลายร้อยคนที่มาร่วมเขียนข้อความสนับสนุน เรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นักศึกษา ได้ส่งสัญญาณโดยตรงไปยังรัฐบาลว่าไม่เห็นด้วยกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน จับกุมคนเห็นต่างอย่างไม่ชอบธรรม เชื่อว่าจำนวนคนกลาง ที่มีสำนึกเรื่องสิทธิเสรีภาพจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
ปนัดดาจี้อจ.-สถานศึกษาเตือนน.ศ.
เมื่อเวลา 14.15 น. ที่ห้องประชุมกรมการทหารสื่อสาร ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาว่า ทุกฝ่ายมีความห่วงใย โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.ระบุว่านักศึกษาเหล่านี้เป็นพลังบริสุทธิ์และมีสิทธิ์เคลื่อนไหวได้ นายกฯ เป็นห่วงพลังบริสุทธิ์ ซึ่งอาจารย์และสถาบันการศึกษาต้องแนะแนวทางที่เหมาะสมให้กับนิสิต รัฐบาลไม่ได้เป็นเผด็จการอย่างที่ใครกล่าวขวัญ จึงอยากเห็นภาพผู้ใหญ่กับครูบาอาจารย์พูดจากัน เพื่อสร้างความสามัคคี ไม่ให้สังคมนำไปสู่สังคมแตกแยกอีกครั้ง ไม่เช่นนั้นความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ยาก พลังนักศึกษาถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเป็นกำลังให้ประเทศชาติในวันข้างหน้า
เมื่อถามว่ามองว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษามีเบื้องหลังหรือไม่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ไม่มองอย่างนั้น จากที่ไปพบนักศึกษาหลายสถาบัน หลายระดับ เห็นพลังบริสุทธิ์ของเยาวชนที่อยากจะเห็นบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง มีประชาธิปไตยเกิดขึ้น ซึ่งประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความเห็นอกเห็นใจกัน มีความเข้าใจขั้นพื้นฐานที่จะนำประเทศสู่ความสามัคคีได้ หากยังขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้ ไม่เป็นกำลังใจกัน ก็ยากจะมีบทสรุปขั้นสุดท้าย
เชื่อการเคลื่อนไหวไม่บานปลาย
ผู้สื่อข่าวถามว่าประเมินหรือไม่ว่าการเคลื่อนไหวจะบานปลายหรือไม่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า เชื่อว่าคงไม่ เพราะขณะนี้ผู้ใหญ่ไม่ใช้อารมณ์เข้าหา ไม่เหมือนในอดีตที่ทะเลาะ ประหัตประหารกัน ทุกวันนี้ทุกภาคส่วนพูดคุยกันด้วยเหตุผล รวมถึงนายกฯ ด้วย ต่อข้อถามว่ามีการขยายผลเรื่องนี้ถึงการเคลื่อนไหวในต่างประเทศและวิจารณ์กดดันประเทศไทยเรื่องสิทธิมนุษยชน ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ต่างประเทศก็พูดในบริบทตามที่เขาเห็น แต่ในบ้านเรา เราก็เห็นและทราบดีว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร คนที่อยู่ในบ้านกับนอกบ้าน บางทีก็เห็นต่างกัน
ม.ล.ปนัดดากล่าวด้วยว่า เรื่องนี้น่าจะพูดจาให้เกิดความเข้าใจกัน ส่วนที่ห่วงว่าเหตุการณ์ขณะนี้จะย้อนรอยไปเหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นั้น ตนไม่มองเช่นนั้น เพราะฝ่ายบริหารไม่ได้เป็นเผด็จการเหมือนในอดีต ทุกอย่างทำเพื่อความโปร่งใสของบ้านเมือง เน้นปราบปรามการทุจริต ให้ข้าราชการเป็นตัวอย่างให้กับประชาชน โดยไม่มีการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
"ไก่อู"ลั่นรัฐบาลกำลังใจเต็มร้อย
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาหลายเรื่องรุมเร้ารัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์มีกำลังใจเต็มร้อย แต่อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากรัฐบาล บางเรื่องเช่นภัยแล้ง ฝนตก รัฐบาลควบคุมไม่ได้ นอกจากนั้นเป็นปัญหาตกค้างจากโครงการหรือนโยบายในอดีต ขณะนี้รัฐบาลกำลังทำให้ระบบแข็งแกร่ง ภาคเกษตรขอให้รวมกลุ่มเป็นสหกรณ์เพื่อให้ราคาสินค้าไม่สูงเกินไป หรือการนำเงินลงสู่ภาคเกษตร ส่วนที่บอกว่าเศรษฐกิจแย่เพราะรัฐบาลมาจากรัฐประหารนั้น ขอให้สังคมพิจารณาว่าจะเลือกอะไร จะใส่ใจต่อเสียงของต่างชาติเป็นลำดับที่หนึ่ง แต่ไม่สนใจปัญหาบ้านเมืองเราที่เกิดขึ้นหรือไม่
ปัดตอบคำทำนายโหรดัง
"รัฐบาลคำนึงถึงความสงบสุขภายในประเทศ และประชาชนเป็นลำดับแรก เรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง แต่ไม่ได้ละเลย ขณะนี้รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ให้วนกลับมาอีก วางโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการสร้างกฎกติกาที่ไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในอนาคต" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว และว่า ส่วนคำทำนายของนายโสรัจจะ นวลอยู่ หรือนอสตราดามุสเมืองไทย ที่ระบุหลังวันที่ 12 ก.ค. จะเกิดความปั่นป่วนหลายเรื่องนั้น ไม่ขอแสดงความคิดเห็น
ชาวบ้าน3จว.อีสานเยี่ยมน.ศ.ดาวดิน
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ คณาจารย์ และครอบครัวของนักศึกษาทั้ง 14 คนที่ถูกคุมขังเป็นวันที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา อาทิ นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดานายจตุภัทธ์ หรือไผ่ บุญภัทรรักษา และนางเรวดี สิทธิสถราษฎร์ มารดานายรัฐพล หรือบาส ศุภโสภณ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพื่อนๆ ทยอยเข้าเยี่ยม พูดคุยให้กำลังใจ
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวบ้านจากกลุ่มอนุรักษ์ดงมูล กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล ดูนสาด กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว กลุ่มตนรักษ์บ้านเกิด ใน 4 อำเภอ 3 จังหวัดคือ อ.วังสะพุง จ.เลย อ.กระนวน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และอ.ท่าขันโท จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 20 คนนำโดยนายทรงยศ แสงโคตร แกนนำกลุ่มและผู้ประสานงานขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เข้าเยี่ยมนักศึกษากลุ่มดาวดิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ทางเรือนจำเปิดให้ญาติเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้ตั้งแต่เวลา 09.00-14.00 น. ที่ผู้ต้องขังแดนใน 5, 6, 7 และ 8 ซึ่งกลุ่มนักศึกษาทั้ง 14 คนกระจายอยู่ในแดนที่ 2, 3, 4, 5, 6 สำหรับผู้ที่มีสิทธิ์ออกมาเยี่ยมญาติมีด้วยกัน 5 คน คือที่อยู่แดน 5 ประกอบด้วยนายรังสิมันต์ โรม อายุ 23 ปี นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ อายุ 29 ปี นายศุภชัย ภูครองพลอย อายุ 23 ปี ผู้ที่อยู่แดน 4 คือนายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ อายุ 22 ปี และนายวสันต์ เสตสิทธิ์ อายุ 22 ปี
จี้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข
น.ส.ณัฐพร อาจหาญ ผู้ประสานงานกลุ่มประชาชนจาก 4 อำเภอกล่าวว่า มาเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจนักศึกษากลุ่มดาวดินว่ายังมีประชาชนที่ให้การสนับสนุนและให้กำลังใจอยู่ และวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมากลุ่มชาวบ้านได้เข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ว่ากิจกรรมของนักศึกษากลุ่มดาวดินเป็นการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่อสู้กับนายทุนที่เอาเปรียบชาวบ้าน
ด้านนายทรงยศกล่าวว่า วันนี้หลายกลุ่มเดินทางมาจากภาคอีสานเพื่อให้กำลังในนักศึกษากลุ่มดาวดิน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเด็กที่มีประโยชน์มาก ไม่ใช่เป็นนักศึกษาแล้วศึกษาแต่ตัวหนังสือ พวกเขาเดินทางไปศึกษาในพื้นที่มีผลกระทบกับกลุ่มนายทุนข้ามชาติ ที่เอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน และจากการพูดคุยในกลุ่มชาวบ้าน หากกลุ่มนักศึกษาถูกจับ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะตามไปเยี่ยมเพราะกลุ่มดาวดินเท่านั้นที่เข้ามาช่วยเหลือดูแลชาวบ้านจริงๆ
เวลา 12.00 น. เครือข่ายชาวบ้านร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 ความทุกข์ยากของประชาชนที่อยู่เบื้องหลังนักศึกษาตอนหนึ่งว่า พวกเราประชาชนผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มนักศึกษาดาวดินขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ หยุดการเชื่อมโยงใส่ร้ายป้ายสีเพื่อทำลายความชอบธรรมของนักศึกษา
จากนั้นกลุ่มตนรักษ์บ้านเกิด แสดงละคร และร้องเพลง รักษ์บ้านเกิด เจาะใจดงมูล และบทเพลงสามัญชน บริเวณหน้าเรือนจำ ใช้เวลาจัดกิจกรรม 30 นาทีก่อนแยกย้าย โดยมีเจ้าหน้าที่ของเรือนจำ ตำรวจสน.ประชาชื่นทั้งในและนอกเครื่องแบบ 20 นายคอยดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
เครือข่ายคณาจารย์ล่าชื่อเพิ่ม
เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขังเปิดเผยว่า จนถึงบัดนี้รัฐบาลและคสช.ยังไม่แนวโน้มจะปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 คนอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งขณะคุมขังก็ไม่ได้ปฏิบัติต่อพวกเขาในฐานะผู้ต้องหาทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่อาชญากร มิหนำซ้ำยังมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทั้งทหาร สันติบาล และตำรวจข่มขู่คุกคามคณาจารย์ผู้ลงนามในแถลงการณ์ "เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง ฉบับที่ 1" เพื่อกดดันให้ยุติกิจกรรมต่างๆ แม้กระทั่งการบังคับให้ลบข้อความที่โพสต์ ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่ผ่านมามีคณาจารย์ผู้ลงนามถูกเรียกตัวไปพบและถูกตามตัวโดย เจ้าหน้าที่แล้วกว่า 25 ราย
ทั้งนี้ เพื่อให้กำลังใจเพื่อนคณาจารย์ที่ถูกข่มขู่คุกคาม รวมทั้งเพื่อแสดงให้รัฐบาลและคสช. เห็นว่าการข่มขู่คุกคามเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เหล่าคณาจารย์หวาดกลัว และจะยัง คงเดินหน้าเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 รายต่อไป รวมทั้งจะยังเดินหน้าปกป้องหลักสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย จึงขอเชิญชวนครูอาจารย์ที่ ยังไม่ทันได้ลงนามในแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 ลงนามเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] ภายในวันที่ 5 ก.ค. เวลา 24.00 น. โดยเครือข่ายคณาจารย์ฯ จะรวบรวมรายชื่อและแถลงข่าวต่อไป
มช.ร่วมจัด"โพสต์อิสรภาพ"
สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย โพสต์เฟซบุ๊ก เชิญชวนร่วมกิจกรรม "โพสต์อิสรภาพ ปล่อยเพื่อนเราโดยไม่มีเงื่อนไข" ในวันที่ 5 ก.ค. หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป ภายในงานจะมีกิจกรรมโพสต์อิสรภาพ เป็นการใช้กระดาษโพสต์อิต ซึ่งเป็นสื่อง่ายๆ เขียนข้อความสื่อไปยังเพื่อนของเราที่ถูกจองจำ ส่วนการแสดงออกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดนตรี ละคร หรือสนทนา เป็นการแสดงออกโดยอิสระของผู้มาร่วมงาน โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อบอกแก่คณะรัฐประหารและสังคมว่า การแสดงออกโดยสันติของเพื่อนนักศึกษาและประชาชนเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม การจับนักศึกษาและประชาชนเป็นสิ่งที่ผิด
"ตู่"ลั่นทุกเรื่องอย่าโยงการเมือง
เวลา 21.30 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. พร้อมคณะ เดินทางกลับจากประชุมผู้นำกลุ่มลุ่มน้ำโขง ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกสบายใจที่ท่าทีของนายกฯญี่ปุ่นที่มีต่อไทย เป็นไปด้วยดี และเข้าใจ ยอมรับในการทำงานของเรา ทั้งนี้ คนไทยต้องเข้าใจว่าเราอยู่ในสถานะใดและจะเดินหน้าประเทศไปอย่างไร ไม่มีเวลาจะ ขัดแย้งกันได้อีกแล้ว ต้องช่วยกัน เรื่องอื่นเดี๋ยวค่อยว่ากัน
นายกฯ กล่าวว่า ตนมีรายงานข่าวมาตลอดเรื่องโน้นเรื่องนี้ อย่าเพิ่งเอามาโยงกันในทุกเรื่อง ตนยืนยันว่ายังไม่ได้เกิดขึ้นทั้งสิ้น อย่าเพิ่งไปตีโพยตีพายเดี๋ยวจะกลายเป็นเครื่องมือไม่ว่าเรื่องรักษาพยาบาล เราต้องหาเงินให้มากขึ้นเพื่อดูแลคนให้มากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ดูแล ถ้าหาเงินยังไม่ได้มันก็ยังไม่ดี มันก็ต้องเป็นแบบนี้ไปก่อน และอย่าโยงเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เขาวางแผนมาเป็นสิบปี เป็นเรื่องภายในของเขา อย่าเพิ่งไปกังวลเพราะเรื่องนี้ยังมีขั้นตอน นำเข้าครม.และดูว่ามีเงินและมีความพร้อมหรือไม่ ยังมีเวลาอีกนาน ไม่ใช่พูดวันนี้แล้วมะรืนนี้จะซื้อ อีกตั้งหลายปี ขอย้ำว่าขึ้นอยู่กับความพร้อมด้วย
ย้ำรัฐบาลนี้ไม่เคยทำร้ายใคร
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การทำงานของตนในฐานะฝ่ายบริหาร ซึ่งแยกกับฝ่ายตุลาการ ดังนั้น เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อเข้าสู่กระบวนการ ต้องว่ากันตามแนวทางที่บอกไปแล้ว สิ่งใดที่ผิดก็ต้องผิด บ้านเมืองนี้ต้องมีกฎหมาย และสิ่งเหล่านี้เคยประกาศไปแล้วก่อนจะเกิดเหตุขึ้น ไม่ใช่เกิดเหตุแล้วค่อยมาประกาศ เมื่อมีกฎหมายก็ต้องว่าตามกระบวน การตามกฎหมาย อย่าฝ่าฝืน อย่าเอาฝ่ายบริหารไปตีกับฝ่ายนิติบัญญัติหรือตุลาการ เราต้องช่วยกันหาทางออก
นายกฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีปัญหาเยอะที่จะต้องแก้ไข ซึ่งแม้จะมีการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ยังแก้ปัญหาเหล่านั้นไม่ได้ ท้ายที่สุดจะกลับมาอยู่ที่เก่า และมีปัญหาที่แก้ไม่ได้ สำหรับครูอาจารย์ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้นักศึกษาดำรงชีวิตในสังคมที่เข้มแข็งได้ ต้องดูกฎหมาย และดูเจตนาที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศด้วย เพราะรัฐบาลนี้ไม่เคยทำร้าย และต้องการเข้ามาแก้ปัญหา ครูอาจารย์ต้องสอนเด็กในทางที่ถูกต้อง โดยให้คำนึงถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ อย่าสอนแต่เพียงสิทธิเสรีภาพเพียงอย่างเดียว
ป.ป.ช.สรุปเอกชนเอี่ยวระบายข้าว
ที่จ.อุดรธานี นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการไต่สวนกรณีบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องในการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ ในส่วนที่เหลือหลังจากชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กับพวกว่า ขณะนี้รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว และทุกบริษัทมาชี้แจงกับคณะอนุกรรมการป.ป.ช.แล้ว จึงเตรียมสรุปคดีเข้าที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. ลงมติและส่งสำนวนการไต่สวนให้กับอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อรวมกับสำนวนของนายบุญทรงกับพวก ที่ถูกฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากนี้ทางศาลฎีกาฯ ได้เร่งรัดขอสำนวนเอกชนที่เหลือต่อป.ป.ช.ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีเอกชนเกี่ยวข้อง 80-90 ราย
ส่วนการระบายมันสำปะหลัง (มันเส้น) แบบจีทูจี ซึ่งถูกคณะกรรมการป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงอยู่นั้น นายวิชากล่าวว่า คาดว่าคดีนี้จะสรุปได้รวดเร็ว เนื่องจากใช้โมเดลเดียวกับคดีระบายข้าวจีทูจี ที่ป.ป.ช.เคยมีมติชี้มูลความผิดไปแล้ว รวมถึงคดีระบายข้าวจีทูจีล็อตใหม่ที่ทำกับ 4 บริษัทจีนอีกด้วย ตัวละครก็คล้ายกัน ดังนั้นคาดว่าจะสรุปได้ในอีกไม่นานนี้
จ่อแจ้งข้อหา"พรทิวา"ประกันข้าว
นายวิชากล่าวถึงคดีโครงการประกันราคาข้าว สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ที่มีการร้องขอให้ถอดถอนนางพรทิวา นาคาศัย อดีตรมว.พาณิชย์ กับพวก กรณีส่อทุจริต และเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบคดีแล้ว คาดว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาได้ภายใน 2 สัปดาห์ สาเหตุที่ล่าช้าเนื่องจาก เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวติดขัดปัญหาบางประการ แต่ขณะนี้ได้คุยกันเรียบร้อยแล้ว การดำเนินงานต่างๆ ก็เดินหน้าต่อไปได้
"ตู่"ถกผู้นำลุ่มน้ำโขง-ร่วมมือทวาย
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งเร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้นำประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขง (CLMV) เข้าร่วมพิธีต้อนรับที่เรือนรับรองรัฐบาลญี่ปุ่น จากนั้นนายกฯ พร้อมคณะ อาทิ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคมและเลขาธิการสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 7
เวลา 10.45 น. พล.อ.ประยุทธ์พร้อมผู้นำประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขง ร่วมแถลงผลการประชุม โดยพล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ผู้นำได้ร่วมกำหนดทิศทางขับเคลื่อนความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยรับรองยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือสำหรับปี ค.ศ. 2016-2018 ในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างสร้างสรรค์ ให้แต่ละประเทศก้าวไปพร้อมกัน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทุกประเทศคือผู้นำแห่งความร่วมมือให้ลุ่มน้ำโขงเป็นอนุภูมิภาคที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน เพื่อประชาชนซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ผู้นำประเทศรับหน้าที่มาดูแล
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ญี่ปุ่นยืนยันความสำคัญที่ให้ต่อประเทศลุ่มน้ำโขง โดยนายชินโซ อาเบะ นายกฯญี่ปุ่น ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยประกาศตัวเลขความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการภายใต้ยุทธศาสตร์กรุงโตเกียวฉบับใหม่ ขณะที่ไทยได้ยืนยันความพร้อมร่วมพัฒนาลุ่มน้ำโขงในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาให้สัมฤทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม
หลังการแถลงข่าวร่วม ผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงและญี่ปุ่น ร่วมพิธีมอบของขวัญในโอกาสการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนกระชับมิตรระหว่างลุ่มน้ำโขงและญี่ปุ่น
ต่อมาเวลา 12.00 น. ที่โรงแรมอิมพีเรียล พล.อ.ประยุทธ์พร้อมด้วยผู้นำประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขง ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับผู้นำภาคเอกชนญี่ปุ่น ซึ่งสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพเลี้ยงต้อนรับ
เวลา 15.05 น. ที่เรือนรับรองรัฐบาลญี่ปุ่น พล.อ.ประยุทธ์หารือทวิภาคีกับนายชินโซ อาเบะ นายกฯญี่ปุ่น หลังจากร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงโครงการทวาย ระหว่างเมียนมา-ไทย-ญี่ปุ่น
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องขอบคุณนายกฯญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น และประกาศให้ความร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนการเจริญเติบโตในภูมิภาค ซึ่งสองประเทศตกลงจะร่วมกันพัฒนารถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ รถไฟฟ้าสายสีแดงและมีแผนจะพัฒนาระบบรางให้เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ทั้งด้านบนและด้านล่างในอนาคต นอกจากนั้นการลงนามความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น-เมียนมา ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย จะเป็นประตูเศรษฐกิจแห่งใหม่ของโลกที่เชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก เพื่อส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับเอกชนญี่ปุ่นโดยมีไทยเป็นฐานการผลิต และเป็นจุดเชื่อมโยงศูนย์กลางการกระจายสินค้าในภูมิภาค ขณะที่ญี่ปุ่นได้หารือความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร เพื่อขยายการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยมาในญี่ปุ่น เช่น เนื้อสุกรแปรรูป น้ำตาลดิบ แป้ง และผลไม้ อย่างไรก็ตาม ขอเป็นกำลังใจให้นักฟุตบอลหญิงญี่ปุ่นในรอบชิงฟุตบอลโลกวันที่ 5 ก.ค.นี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นภารกิจ พล.อ.ประยุทธ์พร้อมคณะเดินทางออกจากท่าอากาศ ยานนานาชาติโตเกียว(ฮาเนดะ) ถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง เวลา 21.35 น.