WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

13Pom

13 นศ.โกนหัวในคุก ประท้วง ทหารบุกเยี่ยม พ่อแม่นักศึกษา บิ๊กป้อมโต้ข่มขู่ ทร.จ่อชงซื้อ3ลำ เรือดำน้ำจากจีน

       'บิ๊กป้อม'วอนทุกกลุ่มเลิกเคลื่อนไหว ขอเวลารัฐบาลทำงานอีกปีเศษ โต้ทหารคุกคามญาติน.ศ. บอกแค่ไปพูดคุย ด้าน 13 น.ศ.ชายโกนหัวในคุก ประท้วงถูกแยกขัง 'บิ๊กต๊อก'ระบุทำตามขั้นตอน มีกล้องวงจรปิดเฝ้า 24 ช.ม. ทหารเยี่ยมบ้านพ่อแม่น.ศ.ที่ถูกจับ พร้อมบุกพบอาจารย์ ม.นเรศวร 'เอนก'อาสาเปิดเวทีเจรจากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เชื่อไร้สีเสื้อ กก. ปรองดอง สปช.เสนอ 6 แนวทางสมานฉันท์ วางเกณฑ์นิรโทษกรรม 2 ระดับ ระดับล่าง ที่ไม่เกี่ยวคดีอาญาไม่ถูกฟ้อง ส่วนระดับบนต้องสำนึกผิดก่อน กองทัพเรือเตรียมชง ครม.ซื้อเรือดำน้ำจีน 3 ลำ 3.6 หมื่นล้าน ผบ.ทร.ยันคุ้มค่า

 

วันที่ 03 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8983 ข่าวสดรายวัน

 


ถึงญี่ปุ่น - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พร้อมด้วยภริยาและคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อค่ำวันที่ 2 ก.ค. ในภารกิจเข้าร่วมประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 7

 

'บิ๊กตู่'บินญี่ปุ่น-หายเจ็บคอ

     เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 2 ก.ค. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6 หรือบน.6) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา และคณะ อาทิ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ออกเดินทางโดยเครื่องบินเที่ยวบินพิเศษ เพื่อไปยังท่าอากาศยานฮาเนดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในภารกิจเข้าร่วมประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 วันที่ 2-4 ก.ค. เพื่อยืนยันบทบาทไทยในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ความร่วมมือฉบับใหม่ โดยพล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ แต่เมื่อสอบถามถึงอาการเจ็บคอ นายกฯกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า หายแล้ว

     รายงานข่าวจากคนใกล้ชิดนายกฯ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหวัดและเจ็บคอมาตั้งแต่กลับจากประเทศเมียนมา มีอาการเจ็บคออย่างต่อเนื่องและมีภารกิจติดต่อมาตลอด รวมถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่จ.เชียงใหม่ และการปฏิบัติภารกิจที่จ.พิษณุโลก จึงต้องทานยาต่อเนื่อง โดยแพทย์ให้คำแนะนำว่าต้องพักผ่อนให้มากขึ้น

 

ประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง

     สำหรับ ภารกิจอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ก.ค. ช่วงเช้าพล.อ.ประยุทธ์พบหารือกับประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และช่วงกลางวัน ผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงจะรับประทานอาหารกับกลุ่มสมาชิกมิตรภาพรัฐสภาแม่โขง-ญี่ปุ่น ส่วนช่วงบ่าย ผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงเข้าร่วมการประชุม Mekong-Five Economic Forum จัดโดยเจโทร จากนั้นนายกฯ จะเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น และพบหารือกับนายทาดาโมริ โอชิมา ประธานสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น พบหารือนายมาซากิ ยามาซากิ ประธานวุฒิสภาญี่ปุ่น และเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่จัดโดยนายกฯญี่ปุ่น

      วันที่ 4 ก.ค. ช่วงเช้าพล.อ.ประยุทธ์เข้าร่วมประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 แล้วแถลงข่าวร่วมและมีพิธีมอบของขวัญให้กับนักฟุตบอลเยาวชนกระชับมิตรระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงและญี่ปุ่น จากนั้น นายกฯรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับผู้นำภาคเอกชนญี่ปุ่น ช่วงบ่าย นายกฯพร้อมนายกฯญี่ปุ่น และประธานาธิบดีเมียนมา จะเป็นสักขีพยานการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนง (เอ็มโอไอ) โครงการทวาย ระหว่างเมียนมา-ไทย-ญี่ปุ่น และแถลงข่าว 3 ฝ่าย ก่อนจะหารือทวิภาคีกับนายกฯญี่ปุ่น จากนั้นนายกฯพร้อมคณะจะเดินทางออกจากท่าอากาศยานฮาเนดะ กลับถึงประเทศไทยในช่วงค่ำวันเดียวกัน

 

บน.6 จัดระเบียบรปภ.เข้ม

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณ บน.6 เป็นไปด้วยความเข้มงวด เนื่องจากกองทัพอากาศ สั่งจัดระเบียบมาตรการรักษาความปลอดภัยการเข้าใช้พื้นที่ภายในกองบัญชาการกองทัพอากาศ (บก.ทอ.) ใหม่ ตามข้อเสนอของกรมข่าวทหารอากาศ (ขว.ทอ.) ที่เสนอต่อผบ.ทอ. 

โดยขอให้พลเรือนและบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาภายในพื้นที่บก.ทอ. ต้องแลกบัตรและแจ้งเหตุผลการเข้ามาใช้พื้นที่อย่างละเอียดตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. หรือหากมีธุระหลังจากนั้น ต้องแจ้งภารกิจเป็นกรณีๆ ไป เพื่อให้มาตรการรักษาความปลอดภัยภายในพื้นที่มีประสิทธิภาพ

 

'บิ๊กป้อม'วอนอย่าเคลื่อนไหว

     ที่สโมสรทหารบก วิภาวดีฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานมอบนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ปี 2558-2564 โดยมีพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.สส. พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผบ.ทอ. ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง กรม 50 หน่วยงานเข้าร่วมประชุม

      พล.อ.ประวิตรกล่าวให้นโยบายว่า นายกฯ พยายามแก้ปัญหาของชาติในทุกมิติ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ทุกวันนี้เพื่อสร้างรากฐานให้มีความมั่นคงหลังการมีรัฐธรรมนูญใหม่และมีการเลือกตั้ง เพื่อให้มีการสานต่อการปฏิรูป รัฐบาลทำทุกเรื่อง ดังนั้น ทุกคนในประเทศต้องร่วมมือกันเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งสถานการณ์อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ขอให้สร้างความรับรู้ให้กับประชาชนให้เข้าใจว่ารัฐบาลกำลังแก้ปัญหาและเดินตามโรดแม็ป แต่ยังมีการออกมาเคลื่อนไหว จึงขอว่าอย่าออกมาเคลื่อนไหว 

 

ขอเวลาทำงานอีกปีเศษ

      "ผมขอเวลาอีกปีเศษๆ ในการทำงาน เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งและเข้าสู่โรดแม็ประยะที่ 3 สานต่อการปฏิรูป และยืนยันว่านายกฯ และผมเข้ามาทำงาน รัฐบาลไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนแอบแฝง ไม่ต้องการสืบทอดอำนาจหรือผลประโยชน์ ถ้ามีใครมากล่าวอ้างว่าโครงการนี้เป็นของผมให้เอาตัวมาเพราะเราทุกคนทำเพื่อประเทศ" พล.อ.ประวิตรกล่าว

       พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นักศึกษาว่า ถามว่าตอนนี้เขาทำผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าผิด เราต้องดูว่าจะดำเนินการอย่างไร ที่ผ่านมาพล.อ. ประยุทธ์ตอบคำถามไปแล้ว ซึ่งต้องหาทางคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกัน ต้องเห็นใจว่าประเทศอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และนายกฯ ก็ประกาศโรดแม็ปชัดเจนว่าขณะนี้ทำอะไรบ้าง 

 

โต้มีทหารคุกคามญาติ 14 น.ศ.

      "ขอให้ทุกฝ่ายหยุดก่อนแล้วมาช่วยคนจน ช่วยชาวนาที่ประสบปัญหาภัยแล้ง แก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ก่อน ปัญหาการเมืองอย่าเพิ่งออกมา ขอรับรองว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายและจะเดินหน้าปฏิรูปประเทศเพื่อส่งต่อให้รัฐบาลต่อไป" พล.อ.ประวิตร กล่าว

       ส่วนที่มีกระแสข่าวเจ้าหน้าที่ทหารไปข่มขู่ครอบครัว 14 นักศึกษา พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไปถามเขาว่าทหารไปคุกคามหรือไปพูดคุยด้วย ยืนยันว่าไม่มีทหารไปคุกคาม สื่อต้องช่วยกันคิด คำถาม อย่าทำให้ตีกัน ขอให้ทุกคนช่วยกันทำตามรัฐบาล อย่าไปขัดแย้ง เพราะจะไม่เกิดปรองดอง รัฐบาลชุดนี้ไม่อยากได้อำนาจ ทุกโครงการ รัฐบาล นายกฯ และตนไม่มีผลประโยชน์ ทำทุกอย่างเพื่อส่งต่อให้วันข้างหน้า

 

ตรวจสอบกลุ่มเห็นต่าง

      นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีกลุ่มนักศึกษาเริ่มออกมาเคลื่อนไหวให้กำลังใจ 14 นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกควบคุมตัวว่า วันนี้มีหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหว บางกลุ่มมีเจตนาดี บางกลุ่มต้องตรวจสอบวัตถุประสงค์เพิ่มเติม แต่สิ่งที่สำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องแก้ไขโดยเร่งด่วนคือเรื่องเศรษฐกิจ เพราะประชาชนเดือดร้อนมาก เมื่อมีประเด็นอื่นเข้ามาก็ต้องบริหารจัดการทั้ง 2 เรื่อง 

      นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงกรณีของนักศึกษานั้น ก่อนจะถึงการจับกุมได้ผ่อนปรนและเปิดโอกาส แต่เมื่อเกินขอบเขตจึงมีการจับกุม ส่วนที่ยังเคลื่อนไหวอยู่นั้นต้องดูข้อเท็จจริง ถ้าเคลื่อนไหวอยู่ในขอบเขตก็ไม่ทำอะไรเพราะไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายจนกระทบกับปัญหาใหญ่ของประเทศ และต้องบอกถึงกลุ่มเห็นต่างว่าขอให้เลิก อย่าเพิ่งเคลื่อนไหวและขอให้มาช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของบ้านเมืองก่อน 

 

มข.ลั่นม็อบหนุนห้ามล้ำเส้น

        ที่รัฐสภา นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณี 14 นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ถูกจับกุมตัวซึ่งเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 5 คนว่า ตนคงทำอะไรไม่ได้มากเพราะถูกจับนอกมหาวิทยาลัยและเรื่องไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ส่วนตนพร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่เท่าที่ทำได้หากนักศึกษาต้องการ ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ระบุจะเข้าพูดคุยกับนักศึกษานั้น ตนเห็นด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องดีจะได้สร้างความเข้าใจร่วมกัน ที่ผ่านมาผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้ว่าฯ ตำรวจและทหารในพื้นที่ได้เข้าพูดคุยกับนักศึกษากลุ่มนี้มาตลอด 

      "ขณะที่บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัย ผมไม่ได้สั่งห้ามทำกิจกรรม เพราะเข้าใจว่ากิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของนักศึกษา เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมามีการจุดเทียนให้กำลังใจเพื่อนนักศึกษาที่ถูกจับ ผมก็ไม่ว่าอะไร แต่ต้องไม่ข้ามเส้น เช่น การเขียนป้ายประท้วง" นายกิตติชัยกล่าว 

 

แห่เยี่ยมนศ.-โกนหัวประท้วง

       ส่วนความคืบหน้าบริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังนักศึกษาที่ถูกจับในข้อหาปลุกปั่นและฝ่าฝืนคำสั่งคสช. เวลา 10.00 น. มีกลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และคณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักสิทธิมนุษยชนองค์กรระหว่างประเทศ พร้อมญาติของนักศึกษาทั้ง 14 คนที่ถูกคุมขัง เป็นวันที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งศาลทหารได้ฝากขังผัดแรก 12 วัน รวมกว่า 50 คน ได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มนักศึกษาดังกล่าว

       ต่อมาเวลา 13.30 น. กลุ่มนักศึกษาชาย อาทิ นายรังสิมันต์ โรม และนายรัฐพล ศุภโสภณ 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาที่ห้องเยี่ยม ในสภาพโกนผมบนศีรษะจนเกลี้ยง 

      นายรังสิมันต์กล่าวผ่านกรงขังว่า พวกเราทั้งหมดตัดสินใจโกนผมประท้วง เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่แยกขังตั้งแต่ค่ำวันที่ 1 ก.ค. เชื่อว่าเป็นคำสั่งมาจากคสช.ที่ต้องการไม่ให้นักศึกษาพูดคุยปรึกษากัน และกดดันให้ขอประกันตัว แต่พวกตนยืนยันจะไม่ประกัน เพราะเชื่อมั่นว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หากจะปล่อยตัว ต้องปล่อยโดยที่พวกตนไม่มีมลทิน และถ้าจะเจรจา ขอให้อยู่ในหลักการที่ถูกต้องเท่านั้น

 

เหตุแยกขัง-ปฏิเสธพึ่งม.44

      ด้านนายรัฐพลกล่าวว่า กรณีคสช.พยายามเจรจาช่วยเหลือ โดยอ้างว่าต้องตรวจสอบว่ามีคนอยู่เบื้องหลังนั้น ตนไม่รู้จะเจรจาอะไรเพราะเบื้องหลังพวกตนคือประชาชนที่ยึดมั่นในประชาธิปไตย ถ้าจะใช้ มาตรา 44 มาแก้ปัญหาด้วยการปล่อยตัว ก็ขอปฏิเสธ ถ้าจะปล่อยก็ไม่ควรมีเงื่อนไข 

      "ทราบว่ามีกลุ่มนักเรียนอาชีวะที่ใช้ชื่อว่าอาชีวะช่วยชาติ ออกมาประกาศจะต่อต้านพวกผม ขอให้สังคมเข้าใจว่าพวกตนไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ใคร และยังเคยต่อต้านพรรคเพื่อไทยตอนออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งมาแล้ว ดังนั้น ถ้าจะตั้งกลุ่มออกมาต่อต้านพวกตนด้วยเหตุผลนี้ ก็เพื่อหาความชอบธรรมที่จะฆ่าพวกตนอย่างเช่นที่กลุ่มกระทิงแดงเคยทำเมื่อตอนเหตุการณ์ล้อมฆ่า 6 ต.ค.2519" นายรัฐพลกล่าว

 


จี้ปล่อย - เพื่อนนักศึกษาและประชาชนร่วมจุดเทียนและร้องเพลงให้กำลังใจนักศึกษา 14 คนที่ถูกคุมขัง พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อค่ำวันที่ 2 ก.ค.

 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักศึกษาทั้ง 13 ราย ที่ทางเรือนจำได้แยกขังประกอบด้วย นาย ภานุพงษ์ ศรีธนานุวัฒน์, นายพายุ บุญโสภณ ถูกแยกขังไป แดน 2 นายสุวิชา พิทังกร, นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แดน 3 นายปกรณ์ อารีกุล, นายพรชัย ยวนยี, นายรัฐพล ศุภโสภณ แดน 4 นายรังสิมันต์ โรม, นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, นายศุภชัย ภูคลองพลอย แดน 5 และนายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์, นายวสันต์ เสดสิทธิ แดน 6

 

'บิ๊กต๊อก'ชี้เป็นไปตามขั้นตอน

     ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า การแยกแดนของนักศึกษาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯนั้น เป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบของเรือนจำ ช่วงแรกอยู่ในแดนแรกรับ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการจำแนก แยกแต่ละคนไปยังแดนต่างๆ เพราะตามระเบียบแล้ว หากเป็นคดีเดียวกันจะไม่ขังรวมกัน 

        พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ตนมอบให้นายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และพ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เดินทางไปยังเรือนจำเพื่อแจ้งสิทธิตามขั้นตอนในเรื่องกองทุนยุติธรรม ในการประกันตัวหรือต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงที่ให้กับบุคคลคนอื่นทั่วไป ให้ญาติ พ่อแม่ ยื่นคำร้องได้ แต่ถ้าไม่ประกันก็ไม่เป็นไร เพราะกระทรวงถือว่าทำหน้าที่แล้ว 

 

มีกล้องวงจรปิดเฝ้า 24 ช.ม.

      ด้านนายวิทยากล่าวว่า การแยกนักศึกษาชายทั้ง 13 คน เป็นไปตามขั้นตอนการจำแนกผู้ต้องขัง ช่วงแรกเข้ามาเหมือนปฐมนิเทศ เรียนรู้การใช้ชีวิตในเรือนจำ พอปรับได้แล้วต้องถูกแยกไปยังแดนต่างๆ อีกทั้งถ้าเป็น ผู้ต้องขังคดีเดียวกัน เรือนจำจะไม่อนุญาตให้ขังรวมกัน ยืนยันการแยกกลุ่มนักศึกษา ไม่ได้เป็นเหตุพิเศษ เพราะแดนแรกรับจะมีผู้ต้องขังใหม่เข้ามาทุกวัน และมีเจ้าหน้าที่ดูแลน้อย แต่เมื่อเข้าไปอยู่แดนต่างๆ แล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลมากขึ้น มีกล้องวงจรปิดเฝ้าระวังความปลอดภัย 24 ชั่วโมง 

       นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กล่าวว่า ได้เข้าไปตรวจความเรียบร้อยภายในเรือนจำ หลังจากแยกกลุ่ม 13 นักศึกษา ซึ่งได้รับรายงานว่าทั้ง 13 คน รับประทานอาหารได้ตามปกติ ใช้ชีวิตเหมือน ผู้ต้องขังทั่วไป โดยมี 3 ราย ได้ตัดผม สกินเฮด ซึ่งเป็นสิทธิที่ทำได้ เพราะผู้ต้องขังส่วนใหญ่ให้ตัดผมสั้นอยู่แล้ว 

 

ปชต.ใหม่ประณามถูกคุกคาม

       ขณะเดียวกัน นายอิทธิพล โคตะมี นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนขบวนการประชาธิปไตยใหม่ อ่านแถลงการณ์ประณามการคุกคามสมาชิกกลุ่มว่า พบว่ามีการคุกคามประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยชายแต่งกายคล้ายชุดทหารไปปรากฏตัวและมีลักษณะข่มขู่ คุกคามนักศึกษา นักวิชาการ ประชาชนในหลายพื้นที่ มีการติดตามตัวและกดดันประชาชน ส่งผลให้เกิดความวิตก และอ่อนไหวต่อความปลอดภัยของประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าว เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 จึงขอประณามการกระทำดังกล่าว 

      นายอิทธิพลกล่าวว่า ขอเรียกร้อง 1.ขอประณามปฏิบัติการตามอำเภอใจดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐ และเรียกร้องให้ยุติการคุกคาม ข่มขู่ครอบครัวนักศึกษา นักวิชาการผู้ห่วงใยศิษย์ และประชาชน ไม่ว่าจะวิธีใดๆ 2.ขอเรียกร้องให้ประชาชน ช่วยกันปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในภาวะที่หลักการนิติรัฐถูกบิด เบือนอย่างถึงที่สุด ซึ่งทุกคนมีโอกาสถูกกระทำจากปฏิบัติการไร้ขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนแล้ว ยังตอกย้ำข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจต่อการคืนอำนาจให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย

 

จี้ปล่อยตัว-ขึ้นศาลพลเรือน

       ด้านน.ส.นฤมล ทับชุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เพื่อประโยชน์ในการผ่อนคลายสถานการณ์ตึงเครียดและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า จากการจับกุมนักศึกษาที่ประท้วงรัฐบาลอย่างสันติ ทางกลุ่มคณาจารย์ ขอเรียกร้องให้ดำเนินการดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลและคสช. ปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 คนในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข หากรัฐบาลจะดำเนินคดีกับพวกเขาก็พึงกระทำในศาลพลเรือน การอ้างว่าต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้น คิดว่าไม่อาจยุติปัญหาความขัดแย้งได้เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีที่มานอกวิถีทางประชาธิปไตยและไม่ได้การยอมรับในแง่ความชอบธรรม

     น.ส.นฤมล กล่าวต่อว่า 2.ระหว่างที่ยังคุมขังนักศึกษาทั้ง 14 คน รัฐบาลและศสช.ควรปฏิบัติต่อพวกเขาในฐานะผู้ต้องหาทางการเมือง ไม่ใช่อาชญากร จึงควรย้ายเขาออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และนำไปฝากขังไว้อย่างโรงเรียนตำรวจบางเขนเช่นที่เคยกระทำกับผู้ต้องหาทางการเมืองในอดีต 3.รัฐบาลและคสช.ต้องยุติพฤติกรรมข่มขู่คุกคามคณาจารย์และประชาชนที่แสดงความห่วงใยนักศึกษาทั้ง 14 คนโดยชอบตามสิทธิเสรีภาพที่มี 

 

อจ.เตรียมจัดกิจกรรมปชต.

      นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ในฐานะ 1 ในเครือข่าย คณาจารย์ 280 คน ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดกิจกรรมห้องเรียนประชาธิปไตยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับเพื่อนนักวิชาการตามสถาบันต่างๆ เพราะในฐานะที่เป็นครูบาอาจารย์เมื่อนักศึกษานำเสนอประเด็นก็มีหน้าที่จัดห้องบรรยายให้เป็นปกติ แต่เป้าหมายของห้องเรียนประชาธิปไตยในคราวนี้ไม่ใช้แค่นิสิตนักศึกษา แต่รวมถึงสาธารณะทั่วไปด้วย ซึ่งถือเป็นบทบาทหนึ่งของนักวิชาการที่ผูกโยงอยู่กับสังคม 

      ทั้งนี้ โจทย์ที่นักศึกษาตั้งให้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะประเด็นที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ และในเมื่อนักศึกษาอยากให้เราช่วยตอบเราก็จะช่วยกันตอบให้โดยในเบื้องต้นเท่าที่พูดคุยกัน จะเน้นใน 5 เรื่องหลักๆ คือ ประชาธิปไตย ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สันติวิธี และการมีส่วนร่วมในประเด็นต่างๆ เป็นต้น จะจัดเป็นซีรีส์ห้องเรียนสาธารณะและจะกระจายกันไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ

 

จนท.เยี่ยมบ้านนศ.-ปิ๋วสอบทนาย

       นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของกลุ่มนักศึกษา เปิดเผยภายหลังเข้าเยี่ยมว่า จากที่ได้พูดคุยกับน้องๆ ทราบว่าได้รับการปฏิบัติในเรือนจำอย่างให้เกียรติ และอยากให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและนายวัลภ ตั้งคณานุรักษ์ หรือครูหยุย มาเยี่ยมพวกตน นอกจากนี้ได้รับแจ้งจากนางลมุน แจ้งเร็ว แม่ของ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ที่ถูกคุมขังว่าช่วงสายวันที่ 1 ก.ค. มีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ 3 นาย มาที่บ้านพัก บอกยศและสังกัดชัดเจนว่าผู้บังคับบัญชาให้มาคุยใช้เวลา 1 ช.ม. 

โดยได้สอบถามแม่น้องเกดว่า ทำไมลูกสาวถึงมีพฤติการณ์ต่อต้าน คสช. และสอบถามการอบรมเลี้ยงดู โดยพูดในเชิง ตักเตือนกับนางลมุน ให้ดูแลพฤติกรรมลูกสาวให้ดี ขณะที่นางลมุน ตอบไปว่าลูกสาวโตแล้ว มีความคิดเป็นของตัวเอง ถ้าเป็นลูกของคุณจะทำอย่างไร เจ้าหน้าที่ยังสอบสวนนางลมุนว่ามีผู้ใดอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวหรือไม่ ซึ่งได้ตอบโต้ไปว่าการแสดงออกทั้งหมดเป็นความคิดของพวกเขาเอง พ่อแม่บังคับไม่ได้ เพราะพวกเขามีวุฒิภาวะแล้ว

      นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ตนได้รับแจ้งจากญาติของนายพรชัย ยวนยี 1 ในนักศึกษาที่ถูกคุมขังในเรือนจำว่า ที่บ้านมีทหารเข้ามาพบในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน และยังมีเรื่องของ รังสิมันต์ โรม ที่มีติดสอบตั๋วทนายในวันที่ 5 ก.ค. ตนได้ทำเรื่องกับสภาทนายความเพื่อขอจัดสอบนอกสถานที่ แต่ได้รับโทรศัพท์จากสภาทนายความแจ้งว่า ไม่สามารถจัดสอบให้ได้ ซึ่งตนยังไม่ทราบเหตุใดถึงทำไม่ได้ ซึ่งจะหาทางดำเนินการต่อไป

 

ส่ง"ลูกเกด"ทำกายภาพที่ร.พ.

       นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ รักษาการกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.)ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พร้อมคณะ เข้าเยี่ยม 14 นักศึกษา ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง เปิดเผยว่า ในส่วนของนักศึกษาชาย ขณะนี้มีความกังวลเรื่องการแยกแดนคุมขัง เพราะห่วงความปลอดภัย และทำให้ขาดโอกาสที่พวกเขาจะปรึกษาในเรื่องคดี ส่วนน.ส.ชลธิชา ขณะนี้พบว่าป่วยจากอาการ บาดเจ็บที่ขาและแขน ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างถูก เจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมตอนทำกิจกรรมหน้าหอศิลป์กทม. ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. และจากการ เอ็มอาร์ไอสแกนโดยโรงพยาบาลของรัฐก่อนหน้านี้ พบว่ามีอาการกระดูกทับเส้นประสาท จากการพูดคุยล่าสุดทราบว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จะส่ง น.ส.ชลธิชา ออกไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ในวันที่ 3 ก.ค.นี้ 

      นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า จากการสอบถามทุกคนยังยืนยันในหลักการว่าทำถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ได้เป็นไปตามข้อกล่าวหาของคสช. จึงไม่ขอประกันตัว กสม.จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยวันที่ 3 ก.ค. ได้นัดทีมทนายสิทธิมนุษยชน และญาติเข้าให้ข้อมูล ส่วนวันที่ 7 ก.ค. นัดฝ่ายตำรวจ และทหารต่อไป 

 

ตร.คุยอาจารย์ม.นเรศวร

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สันติบาลได้ประสานมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ขอพูดคุยกับคณะอาจารย์ 16 คนที่ลงชื่อในแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นักศึกษา ซึ่งมีนายสุชาติ เมืองแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมรับฟังด้วย โดยใช้ห้องประชุมชั้นล่างตึกอธิการบดี แต่มีอาจารย์เพียง 7 คน เข้าร่วมประชุมกับตำรวจสันติบาล ส่วนที่เหลือติดภารกิจ

      สำหรับ การพูดคุยครั้งนี้ ตำรวจสันติบาล สอบถามถึงสาเหตุการร่วมลงชื่อเรียกร้อง โดยคณะอาจารย์ให้เหตุผลว่า เป็นการแสดงความคิดเห็น ไม่ควรจะถูกควบคุมจับกุม เพราะจะมีคลื่นจากสถาบันต่างๆ รวมตัวแสดงสัญลักษณ์มากขึ้นและจะเป็นปัญหาการบริหารประเทศ สมควรปล่อยตัว และไม่อยากให้ภาครัฐกระทำรุนแรงกับเด็ก

       ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล เผยว่า คณะอาจารย์ต้องการให้ปล่อยนักศึกษาเท่านั้น ซึ่งจะนำข้อเสนอและความคิดเห็นของคณะอาจารย์รายงานต่อผู้บังคับบัญชา และขอร้องไม่ให้เข้าไปร่วม ซึ่งมหาวิทยาลัยนเรศวรไม่มีนโยบายอยู่แล้ว แต่การไปลงชื่อเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน

 

แอมเนสตี้รณรงค์ส่งจม.กดดัน

       สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกทั่วโลก ส่งจดหมายถึงนายกฯและผบ.ตร.ของไทย เรียกร้องทางการให้ปล่อยตัวนักศึกษาทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และให้ยกเลิกข้อหาต่อนักศึกษาทั้งหมด โดยระบุว่านักศึกษาทั้ง 14 คนเป็นนักโทษทางความคิดที่ถูกจับกุมและตั้งข้อหา เพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนชุมนุมอย่างสงบ ซึ่งการรณรงค์ดังกล่าวจะมีถึงวันที่ 11 ส.ค.2558

 


ยังนอนคุก - กลุ่มนักศึกษายังคงขังตัวเองในคุกจำลอง แม้จะมีฝนตกลงมา ที่บริเวณลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นกิจกรรมสัญลักษณ์การร่วมต่อสู้กับเพื่อนนักศึกษาทั้ง 14 คน ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.

      แอมเนสตี้ยังระบุว่า ระหว่างรอการปล่อยตัวทั้ง 14 คน พวกเขาจะต้องไม่ถูกทรมานหรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย และเข้าถึงทนายความที่ตนเลือก สมาชิกครอบครัวเข้าไปเยี่ยมได้ ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอ และเรียกร้องทางการไทยให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายและคำสั่งทุกฉบับ ซึ่งมุ่งจำกัดการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพชุมนุมอย่างสงบโดยพลการ เพื่อให้ประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

 

นศ.ไทยในยุโรปออกโรง

       วันเดียวกัน เว็บไซต์ประชาไท เผยแพร่แถลงการณ์ของนักเรียนนักศึกษาไทยในยุโรป "เพื่อเพื่อนเรา" เรียกร้อง 4 ข้อคือ 1.ขอให้ปล่อยตัวทั้ง 14 คนโดยไม่มีเงื่อนไข 2.สนับสนุนแนวทางของขบวนการประชา ธิปไตยใหม่ใน 5 ข้อ 3.เรียกร้องให้องค์กรนานาชาติจับตาสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะเป็นการคุกคามทางความคิดที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมประชาธิปไตย 4.ขอให้ประชาชนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเท่าที่เป็นไปได้ อย่าปล่อยให้การเรียกร้องประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งผิด

ตัวแทนกลุ่มระบุว่าจะนำแถลงการณ์ดังกล่าวยื่นกับองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในยุโรป โดยตัวแทนของกลุ่มในฝรั่งเศสจะเข้าพบทูตสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปที่ปารีส เพื่อยื่นจดหมายวันที่ 6 ก.ค.นี้ สำหรับนักศึกษาในยุโรปที่อยากจะร่วมลงชื่อเพิ่มเติมสามารถส่งชื่อ นามสกุล มหาวิทยาลัย ประเทศมาตามอีเมล์ [email protected]

        แถลงการณ์มีนักศึกษาร่วมลงชื่อ 57 คน ทั้งที่ศึกษาในเบลเยียม ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฮังการี เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย สกอตแลนด์ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร 

 

เค้นข้อมูลประชาไท

       เมื่อเวลา 13.30 น. มีรายงานข่าวแจ้งว่า มีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเข้าปิดล้อมตรวจค้นสำนักข่าวประชาไท อาคารซัมเมอร์แมนชั่น เลขที่ 401 ซ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ 5 ถ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ แขวงและเขตห้วยขวาง กทม. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบพบมีสื่อมวลชนจำนวนมากรอทำข่าวอยู่ แต่ไม่พบกำลังทหารแต่อย่างใด

     ต่อมาพนักงานของสำนักข่าวประชาไทชี้แจงว่า เมื่อเวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 แจ้งวัฒนะ (ร.1 พัน 2) จำนวน 3 นาย ได้มาสอบถามข้อมูลการเคลื่อนไหวและกิจกรรมทางการเมืองกับทางเว็บไซต์ประชาไท ใช้เวลาพูดคุย 20 นาที และได้ขอเบอร์โทรศัพท์ และชื่อของผู้ที่สามารถติดต่อได้ พร้อมถ่ายภาพของเจ้าหน้าที่บางส่วนและถ่ายภาพภายนอกสำนักงาน 

       ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาตรวจสอบนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ที่มาตรวจสอบเป็นประจำทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรมสาธารณะ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้เข้ามาในส่วนของสำนักงาน แต่ขอให้เจ้าหน้าที่ของประชาไทถ่ายภาพให้ และยังคงสังเกตการณ์อยู่ภายนอกสำนักงานเท่านั้น

 

'เก๋' เครียดกสทช.เรียกทีวีแจง

      ด้านน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงกระแสข่าวสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียกคุยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กรณีเสนอข่าวนักศึกษาขบวนการประชา ธิปไตยใหม่ ว่า เครียดมากกับประเด็นที่ กสทช. เรียกไทยพีบีเอ      สมาชี้แจงกรณีรายงานข่าวกลุ่มนักศึกษาโดยเฉพาะกลุ่มดาวดินถูกจับกุม

ยังไม่รู้จะมีโทษไหม รู้ว่าตอนนี้ฝ่ายผู้มีอำนาจกังวลกับการเคลื่อนไหว(แม้โดยสงบ) ของนักศึกษา ถึงขั้นจับกุม แต่ กสทช.ก็ควรตั้งหลักถ่วงดุลให้สื่อบ้าง ไม่ใช่อะไรๆ ก็ขัดความมั่นคง พูดไม่ได้ รายงานไม่ได้สภาพการณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพถูกจำกัดมากอยู่แล้ว ถ้ายิ่งจำกัดมากไปกว่านี้จะไม่ดีทั้งต่อ กสทช. รัฐบาล และสังคมไทยเองในที่สุด ควรเรียนรู้จากประวัติศาสตร์กันให้มาก ควรใช้เหตุผลกันให้มาก ควรตั้งสติกันให้มาก โดยเฉพาะคนที่ต้องใช้อำนาจแบบ กสทช. และอื่นๆ ข่าวทีวีตอนนี้มันก็คล้ายๆ กันอยู่แล้ว ไม่มีช่องไหนที่เขาจะกล้าเสี่ยงกฎหมาย ถ้าเราเข้มงวดกว่านี้ การมีทีวีหลายสิบช่องก็คงไร้ความหมายจริงๆ

 

บิ๊กส.ส.ท.ยันเสนอข่าวถูกต้อง

       ด้านนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผอ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวถึงกรณีกสทช.เรียกไปชี้แจงการนำเสนอข่าวการเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่มดาวดินและกลุ่มที่จัดกิจกรรมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมว่า ยืนยันว่าการเสนอข่าวดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. เป็นไปตามพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ว่าด้วยการส่งเสริมเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย และได้เปิดคลิปรายงานให้ได้ชม ซึ่งมีการซักถามเรื่องการถ่ายทำทั่วไป หากมีมติออกมาอย่างไร ทาง ผู้บริหารไทยพีบีเอสจะหารือกันต่อไป

"ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 2-3 ปีที่กสทช.เรียกผู้บริหารของไทยพีบีเอสเข้าไปพบอย่างเป็นทางการ ส่วนที่มีข่าวว่าผู้บริหารได้ตัดเงินเดือนของพนักงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้นั้น ยืนยันไม่เป็นความจริง" นายวันชัยกล่าว

 

มือดีวางถุงดำป่วน

     เวลา 08.00 น. ร.ต.อ.อชิรเวชชน์ สุพรรณเภสัช รอง สวป.สน.ทองหล่อ รับแจ้งเหตุพบถุงต้องสงสัยวางไว้บริเวณริมถนนพระราม 4 ขาออก ด้านหน้าอาคารเอสโซ่ แขวงและเขตคลองเตย กทม. จึงไปตรวจสอบพร้อมด้วยตำรวจสายตรวจ สน.ทองหล่อ 

      ที่เกิดเหตุเป็นบริเวณทางเท้า พบเก้าอี้ของร้านขายกาแฟมีถุงขยะพลาสติกสีดำด้านข้างติดกระดาษขนาดเอสี่ สีเหลือง เขียนข้อความด้วยตัวอักษร สีแดง ระบุว่า 'คสช.''ประยุทธ์ จันทร์โอชา'และ'ผกก.ลาดพร้าว ผอ.เขตบางกะปิ'ตรวจสอบภายในพบเครื่องในหมูสดบรรจุด้วยถุงพลาสติกใส และมีเศษกระดาษหนังสือพิมพ์จำนวนมากคลุม วางไว้บริเวณดังกล่าว จึงรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน ก่อนนำมาตรวจสอบ ที่สน.ทองหล่อ

     สอบสวนน.ส.อัญชลี อาชารัมย์ อายุ 34 ปี ผู้พบถุงดังกล่าว กล่าวว่า ระหว่างที่ตนเปิดร้านกาแฟ ในช่วงเวลา 06.00 น. ตนพบวัตถุต้องสงสัย ถุงดำถูกวางไว้บนเก้าอี้ที่ตนกำลังเปิดร้าน โดยมีข้อความดังกล่าว เนื่องจากตนกลัวว่าภายในจะมีระเบิด จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ก่อนพบว่าภายในถุงเป็นเพียงเครื่องในหมูเท่านั้น 

เบื้องต้นตำรวจสันนิษฐานว่าจะเป็นกลุ่มก่อกวนที่ตั้งใจมาวางไว้หน้าสถานี ช่อง 3 แต่มีเจ้าหน้าที่ รปภ.อยู่ด้านหน้า จึงนำไปวางบริเวณดังกล่าว หลังจากนี้ต้องตรวจสอบที่มาที่ไปของถุงดังกล่าว ก่อนหาตัวผู้นำมาวางไว้เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

 

'เอนก'อาสาร่วมเจรจานศ.

       ที่รัฐสภา นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) แถลงผลการประชุมว่า คณะกรรมการให้ความเห็นชอบแนวทางการสร้างความปรองดองตามที่คณะทำงานเสนอมา 37 หน้า จะเสนอแนวทางดังกล่าวให้นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ในวันที่ 6 ก.ค. เพื่อนำไปอภิปรายในที่ประชุมสปช. หากสปช.ให้ความเห็นชอบก็เสนอให้รัฐบาล คสช. หน่วยงานยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)รับทราบต่อไป 

       "ขณะนี้สังคมไทยต้องการสร้างปรองดอง ไม่ใช่แค่การปฏิรูปหรือการกลับคืนสู่ประชา ธิปไตย กรณีการจับกุม 14 นักศึกษานั้น คณะกรรมการเป็นห่วงเรื่องที่เกิดขึ้น และพร้อมอาสาให้ความช่วยเหลือ หากจะให้ไปร่วมเจรจาก็ยินดี เพราะเชื่อว่านักศึกษาบริสุทธิ์ไม่มีสีเสื้อ และพร้อมเป็นตัวกลางเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้มาร่วมเสนอความเห็น" นายเอนกกล่าว

 

ชง 6 แนวทางปรองดอง

      ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ คณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สปช. กล่าวว่าแนวทางปรองดองที่จะเสนอมี 6 หัวข้อ 1.การสร้างความเข้าใจร่วมของสังคมต่อเหตุความขัดแย้ง 2.การแสวงหาและเผยแพร่ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์รุนแรง 3.การอำนวยความยุติธรรม การสำนึกรับผิดชอบและการอภัย เช่น การนิรโทษกรรม 4.การเยียวยาดูแลและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ 

     5.การสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน ซึ่งความขัดแย้งทางสังคมที่ชัดเจนที่สุดขณะนี้คือกลุ่มนักศึกษาดาวดิน เท่าที่ติดตามต้นเหตุคือความไม่เป็นธรรมที่กลุ่มดาวดินได้พบเห็นเรื่องการเปิดสัมปทานเหมืองแร่ โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน กรณีนี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่สะท้อนออกมา ยังมีอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ปรากฏ 6.มาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาขัดแย้ง

 

นิรโทษ 2 ระดับ-ยุติขัดแย้ง

       นายภูมิ มูลศิลป์ รองคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองกล่าวว่า การนิรโทษกรรมถือเป็น 1 ใน 6 แนวทางสร้างปรองดอง โดยการนิรโทษกรรมจะอยู่ในช่วงปี 2548-57 แบ่งเป็น 2 ระดับคือ ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งต้องแยกผู้กระทำผิดเป็น 3 ประเภทคือ 1.ผู้กระทำผิดจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง อาจทำโดยให้อัยการพิจารณาไม่สั่งฟ้อง 2.ผู้กระทำผิดในคดีอาญาโดยเนื้อแท้ เช่น ฆ่าคนตาย การมีอาวุธในครอบครอง 3.ผู้กระทำผิดจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และคดีอาญาโดยเนื้อแท้ ซึ่งในกลุ่ม 2 และ 3 ต้องไปต่อสู้คดีอาญาตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ กระทั่งเมื่อรับโทษไประยะหนึ่ง ก็ขอรับการอภัยโทษ 

      นายภูมิกล่าวว่า ส่วนการนิรโทษกรรมระดับแกนนำและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสั่งการ ควรทำหลังจากนิรโทษกรรมในระดับประชาชน และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติไปแล้ว 1 ปี และจะทำได้ต่อเมื่อแกนนำแสดงความสำนึกผิด และมีข้อเท็จจริงปรากฏต่อสังคมแล้ว รวมถึงเหยื่อต้องให้อภัย จึงจะพิจารณาว่าจะนิรโทษกรรมให้หรือไม่ แต่หลักเกณฑ์การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมถึงคดีทุจริต คดีอาญาโดยเนื้อแท้ คดีมาตรา 112 และคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

 

พ้น 20 ปีเผยเบื้องหลังได้

นายภูมิกล่าวว่า หลังจากนิรโทษกรรมแล้ว จะไปสู่ขั้นตอนเยียวยาที่เท่าเทียมกัน ไม่ให้รู้สึกเหลื่อมล้ำ มาตรการเยียวยาจะมีทั้งตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน การสร้างอาชีพ การให้การศึกษา การเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริง และรายชื่อบุคคลที่อยู่เบื้องหลังเหตุขัดแย้งทั้งหมดให้สังคมทราบ หลังจากนิรโทษกรรมไปแล้ว 20 ปี ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร 

"การนิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุม แกนนำ ผู้สั่งการ จะทำได้โดยใช้ช่องทางกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น อัยการสั่งไม่ฟ้อง การอภัยโทษ รวมถึงการออกกฎหมายพิเศษ เช่น สนช.ออกเป็นกฎหมาย ครม.ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา หรือคสช.ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันจำเป็นต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน มองว่าพลเรือนไม่ใช่เชลยศึกและไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชา จึงไม่ควรนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร หากทำได้จะผ่อนคลายสถานการณ์ได้มาก" นายภูมิกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะได้รับสิทธิการนิรโทษกรรมหรือไม่ นายภูมิกล่าวว่า กรณีพ.ต.ท.ทักษิณอยู่ในระดับแกนนำและผู้สั่งการ ถ้าจะนิรโทษกรรมได้ต้องเข้าสู่กระบวนการสำนึกผิดก่อน ส่วนคดีอาญา ต้องว่ากันตามกระบวนการยุติธรรม เพราะพ.ต.ท.ทักษิณมีคดีติดตัวหลายเรื่อง 

 

'ประพันธ์'จี้รื้อเรื่องอัยการ

      นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีอัยการรวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 228 ว่า ในฐานะอดีตรองอัยการสูงสุด (อสส.) มีข้อกังวลเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะการกำหนดให้มีคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ที่มาจากบุคคลภายนอกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด และการให้บุคคลที่จะเข้ามานั่งในตำแหน่งนี้ไม่เป็นอัยการมาก่อน มีความเสี่ยงสูงที่ฝ่ายการเมืองจะเข้ามาแทรกแซงได้ง่ายมาก ซึ่งจะสร้างความอันตรายต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย เนื่องจากก.อ.มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายอัยการ รวมทั้งอสส. 

      นายประพันธ์ กล่าวว่า หากฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้ก็สามารถสั่งจำหน่ายคดีที่เกี่ยวข้องกับพวกตัวเอง หรือกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามได้ รวมทั้งเนื้อหาที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเข้าถึงสำนวนคดีได้ง่าย หากคดีนั้นอัยการไม่สั่งฟ้องก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าสั่งฟ้องแล้วฝ่ายผู้ต้องหาขอดูสำนวนคดี ฝ่ายผู้เสียหายจะเกิดความเสียเปรียบในการต่อสู้ในชั้นศาล และจะมีปัญหาเรื่องคุ้มครองพยาน จึงขอให้กมธ.ยกร่างฯ รับฟังข้อเสนอและพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะประเด็นนี้ไม่ใช่การรักษาประโยชน์ของอัยการ แต่รักษาประโยชน์ของประชาชนและกระบวนการยุติธรรม

 

สนช.สอบประวัติ'พงษ์นิวัฒน์'

      เมื่อเวลา 10.10 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธาน ได้พิจารณาเรื่องด่วน การให้ความเห็นชอบให้ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร เป็นอัยการสูงสุด(อสส.) ตามมติคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ครั้งที่ 7/2558 เมื่อ วันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุม สนช.มีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อพิจารณาตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ พฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง จำนวน 17 คน พิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน 

 

ทร.ชงซื้อเรือดำน้ำจีน3.6หมื่นล.

       วันที่ 2 ก.ค. ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดหาเรือดำน้ำว่า ขณะนี้กองทัพเรือโดยคณะกรรมการคัดเลือกเรือดำน้ำ 17 คน พิจารณาแล้วว่าจะเลือกเรือดำน้ำของประเทศใด หลังจากไปดูเรือดำน้ำของประเทศต่างๆ โดยดูเรื่องประสิทธิภาพ ราคา และการใช้งาน ถ้าได้เฉพาะเรือดำน้ำ ไม่มีอาวุธ ตนถามว่าจะเอามาทำไม ซึ่งต้องส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ตัดสินใจอีกครั้ง รายละเอียดให้ถาม ผบ.ทร. ตนบอกเพีียงว่าควรจะมีเรือดำน้ำ

       ด้านพล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. กล่าวว่า กองทัพเรือมีมติเป็นเอกฉันท์จัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน 3 ลำ ใช้งบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งการจัดซื้อครั้งนี้เป็นแบบแพ็กเกจ มีอาวุธครบ จีนให้การดูแลอย่างดี ทั้งการฝึกอบรม อะไหล่เรือดำน้ำ 8 ปี โดยงบประมาณที่จะใช้ 7-10 ปี ขึ้นอยู่กับรัฐบาล จะซื้อในลักษณะรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เรามีคณะกรรมการไปดูเรือดำน้ำ 6 ประเทศที่สนใจ ยืนยันไม่มีใครไปชักนำเรื่องการลงคะแนน เลือกด้วยตัวเองเพราะเป็นเรือในอนาคต ถือเป็นความฉลาดและคุ้มค่ามากที่สุด

      ผบ.ทร. กล่าวว่า ทั้ง 3 ลำเป็นเรือใหม่หมด ใช้เวลาต่อเรือ 5-6 ปี กว่าจะส่งมาให้ และระหว่างการต่อเรือ เราจะส่งเจ้าหน้าที่ไปดูรายละเอียด 2 ปี เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ การจัดเลือกเรือของจีนเป็นการตอบโจทย์ เพราะซื้อได้ถึง 3 ลำ แต่ถ้าเป็นของประเทศอื่นจะได้เพียง 2 ลำ ที่สำคัญจีนเป็นเพียงชาติเดียวที่ให้ระบบ เอไอพีหรือระบบเครื่องยนต์ที่ไม่ต้องพึ่งอากาศจากผิวน้ำ ที่ทำให้เรืออยู่ใต้น้ำนานถึง 21 วันโดยไม่ต้องโผล่ ขณะที่เรือของเกาหลีใต้และเยอรมัน ไม่มีระบบเอไอพี อยู่ใต้น้ำ 5-6 วัน ก็ต้องโผล่ขึ้นมา ต่างกันเยอะ 

      "เรือดำน้ำต้องเงียบ พรางตัวอย่างเดียว ถ้า 4-5 วันแล้วต้องโผล่ขึ้นผิวน้ำ ดาวเทียมจับได้หมด ต้องเข้าใจ บางคนบอกว่าซื้อของจีนแล้ว ส่ายหัว ความจริงไม่ใช่ ผมยังไม่อยากอธิบาย เพราะรัฐบาลยังไม่อนุมัติ รอให้อนุมัติก่อนจึงพูดคุยได้ ใครถามก็ตอบได้ เพราะผมไปดูด้วยตัวเอง แต่ตอนนี้พูดไม่ได้ เพราะสื่อก็โจมตี ไม่มีประโยชน์ที่มานั่งทะเลาะกัน" พล.ร.อ.ไกรสรกล่าว

 

ป.ป.ช.ฟันอาญาบิ๊กสพป.อุดรฯ

       วันที่ 2 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติให้นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผอ.ป.ป.ช.อุดรธานี แจ้งความเอาผิดต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี เพื่อดำเนินคดีกับข้าราชการระดับสูง ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี(สพป.) เขต 3 ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143 กรณีเรียกรับเงินจากนางสัมพันธ์ ต้นกันยา และนายสุรพล สุขประเสริฐ ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหา อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของป.ป.ช. โดยข้าราชการระดับสูงรายนี้อ้างว่าสามารถนำเงินไปให้คณะกรรมการป.ป.ช.ยุติการไต่สวนบุคคลทั้งสองได้

ด้านนายสุชาติให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้ป.ป.ช.อุดรธานี ได้สอบปากคำนางสัมพันธ์และนายสุรพลแล้ว ซึ่งนางสัมพันธ์บันทึกทุกครั้งที่โอนเงินให้ข้าราชการคนดังกล่าว ยอดเงินทั้งหมดที่ถูกเรียกรับมีมูลค่าร่วมล้านบาท ซึ่งนางสัมพันธ์จ่ายไปแล้วบางส่วน หลังสอบปากคำป.ป.ช.อุดรธานี จึงกล่าวโทษดำเนินคดีกับข้าราชการระดับสูงดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143 ฐานเป็นตัวกลางเรียกรับเงิน ซึ่งโทษสูงสุดคือระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท คดีดังกล่าวไม่ใช่คดีผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ แต่เป็นคดีทางอาญา และป.ป.ช.อุดรธานี จะแจ้งหน่วยงานต้นสังกัดข้าราชการดังกล่าวให้สอบทางวินัยด้วย ซึ่งเรื่องดังกล่าวคาดว่าอาจทำมาแล้วหลายครั้ง แต่เพิ่งมีผู้เสียหายมาร้องต่อป.ป.ช.อุดรธานี 

        ด้านพ.ต.อ.ภูมิวิทย์ เวชกามา ผกก.สภ.เมืองอุดรธานี กล่าวว่าตำรวจได้รับแจ้งความจากป.ป.ช.อุดรธานี และลงบันทึกไว้เรียบร้อยแล้ว และมอบให้พ.ต.ท.กุศล สิทธิขันแก้ว พงส.ผนก.สภ.เมืองอุดรธานี เป็นผู้รับผิดชอบคดี โดยให้เร่งรัดคดีดังกล่าว เนื่องจากกระทบต่อหน่วยงานราชการและกระบวนการยุติธรรม จากนี้จะเชิญผู้ร้องเรียนและผู้ถูกร้องเรียนมาให้ปากคำโดยเร็ว คาดว่าไม่น่าจะใช้เวลาทำคดีมากนัก เนื่องจากหลักฐานเอกสารเบื้องต้นเพียงพอแล้ว

 

สธ.ยันไทยปลอดโรคเมอร์สแล้ว

      เมื่อวันที่ 2 ก.ค. นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์สว่า อาการของผู้ป่วยยืนยันโรคเมอร์สชาวโอมานที่ได้รับการรักษาในห้องแยกโรค สถาบันบำราศนราดูร ในวันนี้อาการดีขึ้น รับประทานอาหารได้ ช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง แต่ยังต้องอยู่ในการดูแลรักษาโรคประจำตัวที่มีอยู่

      ส่วนอาการทางระบบทางเดินหายใจดีขึ้นมาก ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการได้ผลลบ ไม่พบเชื้อโรคเมอร์ส ในวันที่ 3 ก.ค. คาดว่าผู้ป่วยจะสามารถออกจากห้องแยกโรคความดันลบไปอยู่ในห้องผู้ป่วยปกติ และในช่วงบ่าย วันที่ 3 ก.ค.นี้ จะแถลงผลการดูแลผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรค ซึ่งเสร็จสิ้นกระบวนการตามมาตรฐาน โดยรมว.สาธารณสุข พร้อมเอกอัครราชทูตโอมานประจำประเทศไทย ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย 

     พญ.จริยา แสงสัจจา ผอ.สถาบันบำราศนราดูร กล่าวถึงความคืบหน้าอาการชายโอมานป่วยเมอร์สว่า ขณะนี้อาการดีขึ้นสามารถลุกเดินได้แล้ว คาดว่าจะสามารถเดินทางออกจาก โรงพยาบาล และกลับประเทศโอมานในวันที่ 3 ก.ค.นี้ พร้อมญาติอีก 3 คน ที่ครบกำหนดออกจากระบบเฝ้าระบบโรควันนี้ แต่รอเดินทางออกจากโรงพยาบาลพร้อมกัน

อีกทั้งช่วงนี้อยู่ในระหว่างการถือศีลอด ตามหลักศาสนาอิสลามผู้ป่วยและญาติส่วนใหญ่จึงใช้เวลานอนกลางวันเป็นหลัก สำหรับค่ารักษาพยาบาลนั้นทางสถาบันเรียกเก็บจากคนไข้เฉพาะรายที่ป่วย ส่วนญาติอีก 3 คนไม่ได้มีการเรียกเก็บเพราะทำตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขในการเฝ้าระวังโรค

 

ยืนยัน"บัตรทอง"ช่วยคนส่วนใหญ่ 

    เมื่อวันที่ 2 ก.ค. น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงระบบหลักประกันสุขภาพ หรือ บัตรทอง ว่าทำให้เป็นภาระที่ต้องหางบประมาณเพิ่ม และทำให้โรงพยาบาลขาดทุน ว่า พล.อ.ประยุทธ์ คงมีข้อมูลไม่เพียงพอจึงพูดออกมาอย่างนั้น ทั้งที่เมื่อเทียบกับสวัสดิการต่างๆ ในสังคม หลักประกันสุขภาพ ถือเป็นหลักประกันแค่ส่วนหนึ่ง รัฐบาลยังมีสวัสดิการอื่นๆ จำนวนมาก เช่น การประกันราคาพืชผล ที่แต่ละปีใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยหลักประกันสุขภาพ เป็นสวัสดิการช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อรวมกับประกันสังคม จะเห็นว่าเป็นหลักประกันที่ดูแลคนถึง 58 ล้านคน 

    "ข้อมูลที่ว่าการใช้งบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพไม่มีประสิทธิภาพจากการบริหารของบอร์ด หรือ ทำให้เกิดปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ส่วนการเพิ่มงบประมาณรายหัว ยังอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม คือ เพิ่มขึ้นตามค่าเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของเงินเดือน ในขณะที่โรงพยาบาล ก็ยังมีปัญหาเรื่องการบริหารที่มีประสิทธิภาพอยู่เช่นกัน ระบบบัตรทองจึงเสมือนแพะรับบาป จึงอยากให้นายกรัฐมนตรี ศึกษาและถามคนที่ดูเรื่องหลักประกันสุขภาพ ว่า ระบบนี้ไม่ได้ทำให้ประชาชนเดือดร้อน"น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว

   ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สนช. โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ว่า จากการวิเคราะห์งานวิจัยของทีดีอาร์ไอ กรณีผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไปของสิทธิบัตรทองมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไปของสิทธิข้าราชการ โดยจากนี้จะติดตามประเมินผลและเก็บข้อมูลต่อเนื่อง เพื่อให้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเดินต่อไปอย่างมีคุณภาพ และจะให้ทำสิทธิการรักษาพยาบาลทั้งสิทธิ์เท่าเทียมกัน

 

 

 

บุกถึงคุกเจรจา'14 นศ.' อธิบดีลุย ชงใช้เงินยธ.ยื่นประกัน'บิ๊กต๊อก'เคลียร์ทางลง โกนหัวประท้วงแยกขัง 281อจ.ผวาทหารขอพบ นร.ไทยในยุโรปร้องอียู

     13 นักศึกษาโกนผมประท้วงถูกสั่งขังแยกแดนต่างๆ 'บิ๊กต๊อก'สั่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ชี้แจง

 

จี้ปล่อย น.ศ. - กลุ่มอาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขังอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลและ คสช.ปล่อยตัวนักศึกษา 14 คนโดยไม่มีเงื่อนไข ขณะที่ตัวแทนกลุ่มประชาธิปไตยใหม่อ่านแถลงการณ์ประณามการคุกคามสมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม



(บน) ถึงญี่ปุ่น - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. พร้อมคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานฮาเนดะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 3-4 กรกฎาคม เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม

(ล่าง) ติวมั่นคง - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม เป็นประธานประชุมมอบนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2558-2559 มีตัวแทนของหน่วยงานเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าร่วมประชุม ที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม

 

@'ประวิตร'มอบนโยบายความมั่นคง

       เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่สโมสรทหารบกวิภาวดี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานมอบนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2558-2564 โดยมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม จำนวน 50 หน่วยงานเข้าร่วมประชุม

       พล.อ.ประวิตร กล่าวให้นโยบายตอนหนึ่งว่า สมช.ได้กำหนดนโยบายความมั่นคงแห่งชาติฉบับนี้เพื่อให้ทุกหน่วยงานได้จัดทำแผนงาน โครงการ และนำสรรพกำลังทุกส่วนไปสนับสนุนงานด้านความมั่นคงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศ นโยบายและแผนงานความมั่นคงแห่งชาติฉบับนี้ครอบคลุมทั้ง 16 หัวข้อ มีกรอบการดำเนินงาน 7 ปี จึงขอให้ส่วนราชการจงตระหนักในมิติความมั่นคง 4 ประการ คือ 1.ความมั่นคงที่เป็นรากฐานของประเทศ ให้ประเมินสถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศตลอดเวลา พร้อมทั้งกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์และแผนงานที่เหมาะสม 2.รัฐบาลให้ความสำคัญในการนำพาประเทศให้มีความก้าวหน้าบนพื้นฐานของประเทศที่มั่นคง ประชาชนอยู่ดีกินดี ขอให้ทุกหน่วยงานได้ตระหนักถึงความสำคัญ 3.ให้ความสำคัญเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในสังคมไทยอย่างยั่งยืน ให้สังคมสงบสุข 4.ให้ความสำคัญมิติงานด้านการต่างประเทศ เน้นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านระหว่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อชาติ

 

@ เห็นใจประเทศกำลังเปลี่ยนผ่าน

      ในเวลาต่อมา พล.อ.ประวิตรตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีกลุ่มนักวิชาการ นักศึกษา นักกิจกรรม รวมถึงองค์กรทั้งภายในประเทศและนานาชาติที่เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัว 14 นักศึกษาที่ถูกคุมขังในเรือนจำว่า "ถามว่าตอนนี้เขาทำผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าผิดเราก็ต้องมาดูว่าจะดำเนินการอย่างไร ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ตอบคำถามไปแล้ว ต้องหาทางคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกัน ต้องเห็นใจว่าประเทศกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และนายกฯ

ประกาศโรดแมปอย่างชัดเจนว่าขณะนี้ได้ดำเนินการทำอะไรบ้าง ขอให้ทุกฝ่ายหยุดก่อนแล้วมาช่วยคนจน ช่วยชาวนาที่ประสบปัญหาภัยแล้ง แก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้ก่อน ปัญหาการเมืองอย่าเพิ่งออกมา อย่างไรก็ตาม ขอรับรองว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่ทำให้เกิดความเสียหาย จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศเพื่อส่งต่อให้รัฐบาลต่อไป" 

     เมื่อถามกรณีกระแสข่าวมีเจ้าหน้าที่ทหารไปข่มขู่ครอบครัวของ 14 นักศึกษา พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไปถามเขาว่าทหารไปคุกคามหรือไปพูดคุยด้วย ยืนยันว่าไม่มีทหารไปคุกคาม สื่อต้องช่วยกันคิด คำถามอย่าไปทำให้ตีกัน ขอให้ทุกคนช่วยกันทำตามรัฐบาล อย่าไปขัดแย้งเพราะจะทำให้ไม่เกิดความปรองดอง รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้อยากได้อำนาจ ทุกโครงการ ทั้งรัฐบาล นายกฯและผมก็ไม่มีผลประโยชน์ ทำทุกอย่างเพื่อส่งต่อให้วันข้างหน้า"

 

@ อธิการบดีมข.ย้ำนศ.อย่าข้ามเส้น

      นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า 14 นักศึกษาที่ถูกคุมขัง แบ่งเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 5 คน คงทำอะไรไม่ได้มาก เพราะถูกจับนอกมหาวิทยาลัยและเรื่องไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว 

      "พร้อมรับฟังหากนักศึกษาต้องการความช่วยเหลือ จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่เท่าที่ทำได้ ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์จะพูดคุยกับนักศึกษาที่ถูกจับนั้น ผมเห็นด้วย เป็นเรื่องดีที่จะได้สร้างความเข้าใจร่วมกัน ที่ผ่านมาทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารในพื้นที่ จ.ขอนแก่นก็ได้เข้าพูดคุยกับนักศึกษากลุ่มนี้มาโดยตลอด ขณะที่บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้สั่งห้ามทำกิจกรรมอะไร เพราะกิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของนักศึกษา อย่างเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมามีการจุดเทียนให้กำลังใจเพื่อนนักศึกษาที่ถูกจับ ก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ทั้งนี้ต้องไม่ข้ามเส้น เช่น การเขียนป้ายประท้วง" นายกิตติชัยกล่าว 

 

@ ชี้เหตุไม่เยี่ยม-หวั่นปั่นกระแส

       ผู้สื่อข่าวรายงานสภาพบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จ.ขอนแก่น โดยเฉพาะคณะนิติศาสตร์ ยังคงเงียบเหงา มีเพียงเพื่อนนักศึกษาบางกลุ่มที่นำแผ่น Post it for friends มาติด เขียนข้อความส่งกำลังใจให้เพื่อนนักศึกษาที่ถูกจับกุม 

       รศ.เทียนศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา มข. กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือนักศึกษากลุ่มดาวดินที่เรียนอยู่ในคณะนิติศาสตร์ มข.ว่า ทางผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมอบหมายให้คณาจารย์ของคณะนิติศาสตร์ไปพิจารณาหาแนวทางที่พอจะให้ความช่วยเหลือแล้ว 

       เมื่อถามกรณีการเข้าช่วยเหลือนักศึกษา ม.ขอนแก่น ในด้านกฎหมายที่มีความล่าช้าเหมือนไม่ห่วงใยลูกศิษย์ว่า "ผมขอยืนยันว่า คณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นทุกคนต่างมีความห่วงใยลูกศิษย์เสมอเหมือนกันทุกคน แต่ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบในเรื่องที่ถูกต้องตามหลักการที่พึงจะเป็น ในส่วนกลุ่มดาวดินนั้นใช่ว่าผู้บริหารรวมถึงคณาจารย์จะไม่ห่วงใย แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของกฎหมาย ต้องรอดูว่าทางเจ้าหน้าที่จะว่าอย่างไร นอกจากนี้ ความผิดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่มีสิทธิคิด แต่ใช่ว่าจะแสดงออกได้ในสถานการณ์ที่มีกฎหมายออกมาบังคับเช่นนี้ อีกทั้งการที่อาจารย์ไม่เดินทางไปเยี่ยมนักศึกษากลุ่มนี้ เนื่องจากไม่อยากสร้างกระแสให้เกิดขึ้นอีก รวมทั้งไม่อยากให้มีการขัดต่อระเบียบของกฎหมายบ้านเมือง"

 

@ แถลงประณามทหารบุกพบตัว

        เมื่อเวลา 10.00 น. ที่บริเวณเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นายอิทธิพล โคตะมี อายุ 28 ปี น.ส.จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ อายุ 21 ปี น.ส.กตัญญู หมื่นคำเรือง อายุ 20 ปี สมาชิกกลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้อ่านแถลงการณ์ประณามการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ ระบุว่า "การที่มีชายแต่งกายคล้ายชุดทหารไปปรากฏตัวและมีลักษณะข่มขู่คุกคามนักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความวิตกและอ่อนไหวต่อความปลอดภัยของประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ" จึงขอแถลงข้อเสนอ ดังนี้ 1.ขอประณามการปฏิบัติการตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐ เรียกร้องให้คณะรัฐบาลทหารยุติการคุกคาม ข่มขู่ครอบครัวนักศึกษา คุกคามนักวิชาการผู้ห่วงใยศิษย์ และคุกคามประชาชน ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ 2.ขอเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในภาวะที่หลักการนิติรัฐถูกบิดเบือนอย่างถึงที่สุด ด้วยเหตุที่ว่าทุกคนมีโอกาสถูกกระทำจากการปฏิบัติการไร้ขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐดังที่เกิดขึ้นตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เป็นประจักษ์พยานว่าการข่มขู่ คุกคาม และรังแกประชาชนในหลายพื้นที่ นอกจากสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนแล้ว ยังตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลทหารไม่มีความจริงใจต่อการคืนอำนาจให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

 

@ คุกคามอาจารย์ที่ร่วมแถลงการณ์

      ด้านตัวแทนกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่กล่าวว่า มีการส่งทหารนอกเครื่องแบบไปพบผู้ปกครอง พร้อมทั้งกล่าวว่าถ้าไม่หยุดกระทำการจะมีผลเสียต่อตนและครอบครัว และยังรวมถึงการส่งทหารไปบ้านของเพื่อนที่อยู่ในคุก มีการเชิญญาติให้ไปรับประทานอาหารเพื่อบอกให้ประกันตัวนักศึกษาทั้ง 14 คนออกมา จากข้อมูลยังพบมีการคุกคามอาจารย์ที่ร่วมแถลงการณ์สนับสนุนให้กำลังใจนักศึกษาในหลายพื้นที่ รวมไปถึงชาวบ้านในพื้นที่ที่เคยทำกิจกรรม เช่น จ.ขอนแก่นและจ.ชัยภูมิ ถือเป็นความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง รัฐบาลกระทำการเกินหน้าที่ ไม่มีสิทธิที่จะมาคุกคาม

"ส่วนการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมเข้าพูดคุยนั้นก็ยินดี เพราะ 1 ใน 14 นักศึกษาที่ถูกคุมขังนั้นได้ใส่ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้มีสิทธิเข้าเยี่ยมได้ตลอดเวลา ถ้าหากนายกฯต้องการพูดคุยก็พร้อม ทั้งนี้ เหตุผลที่นักศึกษาทั้ง 14 คนไม่ประกันตัวออกมาเพราะยืนยันในหลักการว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่สิ่งที่ผิด พร้อมรับโทษแต่ไม่ประกันตัว ไม่ขอรับผิด" ตัวแทนนักศึกษากล่าว 

 

@ ทยอยเยี่ยมนักศึกษาที่เรือนจำ

      เวลา 10.30 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ คณาจารย์ เพื่อนนักศึกษา นักสิทธิมนุษยชนองค์กรระหว่างประเทศและครอบครัว รวมกว่า 50 คน เข้าเยี่ยมนักศึกษาที่ถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำ ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เป็นวันที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งศาลทหารได้ฝากขังผลัดแรกทั้งสิ้น 12 วัน 

คณาจารย์ที่เข้าเยี่ยม อาทิ นายวรเจตน์ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายอภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, นายปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ, นายเกษม เพ็ญภินันท์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ น.ส.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

      น.ส.นฤมลกล่าวว่า ทางคณาจารย์ขอยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ 1.ให้รัฐบาลและ คสช.ปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 คนทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข หากจะดำเนินคดีก็พึงกระทำในศาลพลเรือน การอ้างว่าต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้นไม่อาจยุติปัญหาความขัดแย้งได้ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีที่มาจากนอกวิถีทางประชาธิปไตยและไม่ได้การยอมรับในแง่ความชอบธรรม 2.ในระหว่างที่ยังคุมขังนักศึกษาทั้ง 14 คนต่อไป รัฐบาลและ คสช.พึงปฏิบัติในฐานะผู้ต้องหาทางการเมือง ไม่ใช่อาชญากร การแสดงอารยะขัดขืนต่ออำนาจ คสช.ด้วยสันติวิธี จึงควรพิจารณาย้ายออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯและนำไปฝากขังไว้ยังโรงเรียนตำรวจบางเขน (เรือนจำสันติบาล) ดังเช่นกับผู้ต้องหาทางการเมืองในอดีต 

      "3.รัฐบาลและ คสช.จะต้องยุติพฤติกรรมข่มขู่คุกคามคณาจารย์และประชาชนที่ออกมาแสดงความห่วงใยนักศึกษาทั้ง 14 คน โดยชอบตามสิทธิเสรีภาพที่มี ดังปรากฏรายงานข่าวว่ามีครอบครัว เพื่อน และอาจารย์นักศึกษาทั้ง 14 คน เผชิญการถูกคุกคามด้วยวิธีการต่างๆ" น.ส.นฤมลกล่าว

 

@ อจ.จุฬาฯระบุน.ศ.ไม่ใช่อาชญากร

       นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยหลังเข้าเยี่ยมนายรังสิมันต์ โรม หรือ "โรม" นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถูกคุมขังว่า มีความเป็นกังวลในฐานะเพื่อนมนุษย์ เนื่องจากสภาพในคุกไทยมีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างแย่ แต่โรมยืนยันว่ายังมีกำลังใจที่ดี เชื่อว่ากำลังทำในสิ่งถูกต้อง แม้ว่าจะมีอาการท้องเสียอยู่บ้าง โรมเล่าว่าอาจมีการแทรกแซงจากรัฐเข้ามาในเรือนจำ เพราะมีการแยกแดนผู้ต้องหาในเวลากลางคืนที่ผ่านมาเพื่อเป็นการกดดันให้มีการประกันตัว จึงได้ประท้วงโดยการโกนหัว 

"นักศึกษาทั้ง 14 คนไม่ใช่อาชญากร ไม่ควรถูกคุมขังในที่แบบนี้ ควรนำไปฝากขังไว้ยังโรงเรียนตำรวจบางเขนดังเช่นกับผู้ต้องหาทางการเมืองคนอื่นๆ"นางพวงทองกล่าว

 

@ ห่วงลูกศิษย์เจ็บป่วยในห้องขัง

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันยังคงมีอาจารย์เข้าเยี่ยมนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวภายหลังเข้าเยี่ยมนายพรชัย ยวนยี ว่า นักศึกษามีกำลังใจดี มีความแน่วแน่และมั่นใจในอุดมการณ์ แต่มีปัญหาเรื่องของการเข้าเยี่ยมและของเยี่ยมที่ถูกกระจายไปตามแดนต่างๆ เนื่องจากมีการย้ายแดนผู้ต้องหาในเวลากลางคืนที่ผ่านมา นักศึกษาไม่ได้ฝากบอกอะไร พร้อมแสดงความเป็นห่วงต่อนักศึกษาที่ไม่สบาย เช่น โรมที่ท้องเสียจากน้ำดื่มหรืออาหารที่ไม่สะอาด และลูกเกดที่มีอาการบาดเจ็บที่หลัง

 

@ เผย"โรม"ถูกตัดสิทธิสอบใบทนาย

      เวลา 12.30 น. นายกฤษฎางค์ นุตจรัสทนายความของ 14 นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกคุมขัง ได้เดินทางมาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กล่าวว่า จากการได้พูดคุยกับน้องๆ ทราบว่าได้รับการปฏิบัติในเรือนจำอย่างให้เกียรติ ส่วน น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือน้องเกด ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ฝากบอกข้างนอกว่าสบายดี กำลังใจดีแต่ยังมีอาการปวดหลังจากการถูกไฟฟ้าชอร์ตขณะเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ยังไม่หายดีและมีอาการไข้ขึ้น

    "ทราบว่าสภาทนายความไม่อนุญาตให้นายรังสิมันต์ โรม ซึ่งวางแผนศึกษาต่อด้านกฎหมายในระดับปริญญาโทสอบใบอนุญาตทนายความ" นายกฤษฎางค์กล่าว และว่า ได้รับแจ้งจากนางลมุน แจ้งเร็ว มารดาของ น.ส.ชลธิชา ว่า เมื่อช่วงเวลาประมาณ 11.00 น.

      เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม มีทหารในเครื่องแบบ 3 นาย ไปพบที่บ้านพักที่ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี โดยบอกยศและสังกัดชัดเจน นายทหารที่เป็นหัวหน้าชุดอ้างว่าได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้มาคุย โดยสอบถามนางลมุนว่า ทำไม น.ส.ชลธิชาจึงมีพฤติการณ์ต่อต้าน คสช. และยังสอบถามเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูว่าเหตุใดจึงไม่ควบคุมดูแลลูกสาวอย่าให้มีพฤติการณ์ต่อต้านรัฐบาล 

 

@ แม่น้องเกดเจอทหารบุกถึงบ้าน

      "เจ้าหน้าที่ยังได้สอบถามนางลมุนว่ามีผู้ใดอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของนักศึกษาหรือไม่ นางลมุนได้ตอบไปว่าการแสดงออกทั้งหมดเป็นความคิดของพวกเขาเอง ถ้าเป็นลูกของคุณจะทำอย่างไร พ่อแม่บังคับไม่ได้ เพราะพวกเขามีวุฒิภาวะแล้ว นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งจากญาติของนายพรชัย ยวนยี นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 1 ใน 14 นักศึกษาที่ถูกคุมขังในเรือนจำว่า ที่บ้านมีทหารเข้ามาพบในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน" นายกฤษฎางค์กล่าว

      นายกฤษฎางค์ กล่าวกรณีนายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์โดยตั้งข้อสังเกตทำไมนักศึกษาที่ถูกจับกุมไม่ยอมประกันตัวออกไป เป็นการปลุกกระแสหรือไม่ ว่า เลขาธิการ สมช.มีความวิตกเรื่องการขอประกันตัวของนักศึกษามากเกินไป ทั้งที่ควรทำหน้าที่ให้คำแนะนำรัฐบาลทหารว่าควรจะปฏิบัติต่อ 14 นักศึกษาอย่างไร มากกว่าที่จะมาสนใจเรื่องการขอประกันตัว เหตุทั้งหมดเกิดขึ้นจากรัฐบาลจับนักศึกษาที่แสดงความคิดเห็นตามกฎหมาย ดังนั้น การขอประกันตัว น่าจะเป็นเรื่องที่นักศึกษาต้องพิจารณาเอง ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลทหารจะมาขอให้นักศึกษาขอประกันตัวเอง

 

@ หมอนิรันดร์ดอดเยี่ยมนักศึกษา

      เมื่อเวลา 13.00 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้าเยี่ยมนักศึกษา 14 คนเพื่อสอบถามข้อมูลที่เท็จจริง ก่อนให้สัมภาษณ์ว่า มีบิดาของนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ยื่นเรื่องมาทาง กสม. ว่าการจับกุมตัวอาจมีการละเมิดสิทธิ จึงให้อนุกรรมการการเมืองและสิทธิพลเมืองรับเรื่องไว้พิจารณา โดยวันที่ 3 กรกฎาคม เวลา 10.00 น. กสม.เชิญทนายความกลุ่มนักศึกษา 14 คน กลุ่มทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ พยานผู้เชี่ยวชาญ ผู้ปกครองของนักศึกษา รวมถึงกลุ่มชาวบ้านที่นักศึกษาเคยช่วยเหลือก่อนหน้านี้ เข้าพบที่สำนักงาน กสม. และในวันที่ 8 กรกฎาคม เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 ทหาร และ คสช.เข้าชี้แจงการจับกุมนักศึกษาด้วย

      นพ.นิรันดร์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า นี่ไม่ใช่การตรวจสอบเพื่อจับผิด แต่เป็นการตรวจสอบเพื่อนำเสนอในแนวปฏิบัติการใช้กฎหมายที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนที่จะทำให้รัฐบาลได้รับความเชื่อถือในการบังคับใช้กฎหมายโดยยึดหลักความเป็นธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่า กสม. ดำเนินการช้าไปหรือไม่ นพ.นิรันดร์กล่าวว่า ไม่ได้ช้า เราไม่ได้ต้องการแค่แถลงการณ์ แต่ต้องการกระบวนการทำงานที่ตรวจสอบแล้วบอกความจริงต่อสังคม เกิดจากการรับฟังข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย ส่วนอาการบาดเจ็บของ น.ส.ชลธิชา หรือลูกเกด นั้น ได้สอบถามจากเจ้าหน้าที่เรือนจำทราบว่าในวันที่ 2 กรกฎาคม จะส่งตัวไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เพื่อทำกายภาพและเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อไป

 

@ 13 นักศึกษาถูกขังแยกแดน

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามกลุ่มเพื่อนนักศึกษารายหนึ่งที่เข้าเยี่ยมเพื่อนนักศึกษาชายทั้ง 13 คน ว่าขณะนี้ทั้ง 13 คนได้โกนหัวประท้วง เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แยกแดนฝากขัง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งที่ยังไม่ได้มีการสอบสวนพิจารณาคดีอย่างเป็นทางการ โดยมีการแจกแผ่นกระดาษระบุรายชื่อนักศึกษาชายทั้ง 13 คนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำแยกขังในแดนต่างๆ ดังนี้ แดน 2 นายพายุ บุญโสภณ อายุ 20 ปี, นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ อายุ 20 ปี, แดน 3 นายสุวิชชา พิทังกรณ์ อายุ 22 ปี, นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ อายุ 22 ปี, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา อายุ 23 ปี, แดน 4 นายรัฐพล ศุภโสภณ อายุ 22 ปี, นายปกรณ์ อารีกุล อายุ 26 ปี, นายพรชัย ยวนยี อายุ 24 ปี, แดน 5 นายรังสิมันต์ โรม, นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ อายุ 29 ปี, นายศุภชัย ภูครองพลอย อายุ 23 ปี และแดน 6 นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์, นายวสันต์ เสตสิทธิ์

 

@ "โรม"พร้อมเพื่อนโกนผมทิ้ง

      เวลา 13.30 น. ได้มีนักศึกษาเข้าไปเยี่ยมกลุ่มนักศึกษาชายขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ภายในห้องเยี่ยมผู้ต้องหา เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้พบกับนายรังสิมันต์ โรม และนายรัฐพล ศุภโสภณ ในสภาพโกนผมบนศีรษะจนเกลี้ยง

นายรังสิมันต์กล่าวผ่านกรงขังกับเพื่อนที่มาเยี่ยมว่า พวกตนทั้งหมดตัดสินใจโกนผมประท้วง เพราะถูกเจ้าหน้าที่แยกขังตั้งแต่ค่ำวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เชื่อว่าเป็นคำสั่งมาจาก คสช.ที่ต้องการไม่ให้พูดคุยปรึกษากัน กดดันให้ขอประกันตัว ยืนยันว่าจะไม่ประกัน เพราะเชื่อมั่นว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หากจะปล่อยตัว ต้องปล่อยโดยไม่มีมลทิน และถ้าจะเจรจาก็ขอให้อยู่ในหลักการที่ถูกต้องเท่านั้น 

      นายรัฐพล เปิดเผยว่า กรณี คสช.พยายามเจรจาช่วยเหลือ อ้างว่าต้องตรวจสอบว่ามีคนอยู่เบื้องหลังนั้น ไม่รู้จะเจรจาอะไรเพราะเบื้องหลังพวกตนคือประชาชนที่ยึดมั่นในประชาธิปไตย ถ้าจะใช้ ม.44 มาแก้ไขปัญหาด้วยการปล่อยตัวก็ขอปฏิเสธ ถ้าจะปล่อยก็ไม่ควรมีเงื่อนไข ทราบว่ามีกลุ่มนักเรียนอาชีวะที่ใช้ชื่อว่าอาชีวะช่วยชาติออกมาประกาศจะต่อต้านนั้น ขอให้เข้าใจว่าไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ใคร เคยต่อต้านพรรคเพื่อไทยตอนออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งมาแล้ว ถ้าจะมีการตั้งกลุ่มออกมาต่อต้านด้วยเหตุผลนี้ ก็เพียงเพื่อจะหาความชอบธรรมที่จะฆ่าพวกตนอย่างเช่นที่กลุ่มกระทิงแดงเคยทำเมื่อตอนเหตุการณ์ล้อมฆ่า 6 ตุลาคม 2519 เท่านั้น

 

@ ย้ายนัดชุมนุมไปหน้าหอศิลป์

       เมื่อเวลา 20.00 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีประชาชนกว่า 50 คน รวมตัวทำกิจกรรมเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักศึกษา พร้อมประกาศงดทำกิจกรรมที่เรือนจำในวันที่ 3 กรกฎาคม เปลี่ยนไปนัดรวมตัวที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เวลา 18.00 น. หลังจากนั้นมีการจุดเทียน ร่วมกันร้องเพลงสามัญชน เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เพลงศรัทธา และเพลงเพื่อมวลชน บริเวณหน้าป้ายเรือนจำ บรรยากาศเต็มไปด้วยการปลุกใจ มีการตะโกนว่า "ปล่อยเพื่อนเราอย่างไม่มีเงื่อนไข" โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ประชาชื่น และหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกรมราชทัณฑ์เข้าดูแลความเรียบร้อย

       ผู้สื่อข่าวได้สอบถามหญิงวัยกลางคนรายหนึ่งถึงสาเหตุที่มาเข้าร่วมกิจกรรมว่า เดินทางมาจากที่พักย่านธนบุรี มาด้วยความสมัครใจ หลังได้ติดตามข่าวสารนักศึกษากลุ่มนี้ตั้งแต่เริ่มทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยืนยันว่าจะร่วมทำกิจกรรมจนกว่าจะมีการปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 คน

 

@ "บิ๊กต๊อก"แจ้งสิทธิใช้กองทุนยุติธรรม 

      ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวกรณีกรมราชทัณฑ์ควบคุมตัว 14 นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ว่า เรือนจำได้ควบคุมตัวนักศึกษาตามคำสั่งศาลทหารที่พนักงานสอบสวนไปขออำนาจศาลฝากขัง กรมราชทัณฑ์ก็ต้องนำตัวมาควบคุมที่เรือนจำ ส่วนการแยกแดนของนักศึกษาเป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบของเรือนจำ ช่วงแรกต้องอยู่ในแดนแรกรับ หลังจากนั้นเข้าสู่กระบวนการจำแนกแยกแต่ละคนไปยังแดนต่างๆ ตามระเบียบแล้ว หากเป็นคดีเดียวกันจะไม่ขังรวมกัน 

      พล.อ.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า ได้มอบหมายให้นายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไปยังเรือนจำเพื่อแจ้งสิทธิตามขั้นตอนในเรื่องของกองทุนยุติธรรมในการประกันตัวหรือต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ 

       "ผมสั่งอธิบดีที่เกี่ยวข้องไปทำหน้าที่ของกระทรวงในเรื่องการชี้แจง แจ้งสิทธิที่สามารถใช้เงินจากกองทุนยุติธรรมในการประกันตัวได้ เป็นหน้าที่ของกระทรวงที่ให้กับบุคคลอื่นทั่วไป ให้ญาติ พ่อแม่ ยื่นคำร้องได้ แต่ถ้าไม่ประกันก็ไม่เป็นไร ส่วนเหตุผลไม่ประกันเพราะอะไรหรือมีเงื่อนไขอะไรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคง คดีนี้เป็นคดีความมั่นคงไม่ใช่คดีทางการเมืองอยากให้เข้าใจ มันคนละประเด็น และเป็นการขัดคำสั่ง คสช."พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

 

@ อธิบดีเผยเหตุสั่งขังแยกแดน

        นายวิทยา อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวว่า ขั้นตอนการแยกนักศึกษาชายทั้ง 13 คน เป็นไปตามขั้นตอนการจำแนกผู้ต้องขัง ช่วงแรกเข้ามาเป้าเหมือนการปฐมนิเทศเรียนรู้การใช้ชีวิตในเรือนจำเบื้องต้น พอปรับได้แล้วต้องถูกแยกไปยังแดนต่างๆ ถ้าเป็นผู้ต้องขังคดีเดียวกัน เรือนจำจะไม่อนุญาตให้ขังรวมกัน แดนแรกรับจะมีผู้ต้องขังใหม่เข้ามาทุกวัน เจ้าหน้าที่ดูแลก็น้อย แต่เมื่อเข้าไปอยู่ยังแดนต่างๆ แล้วจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลมากขึ้น มีกล้องวงจรปิดเฝ้าระวังความปลอดภัย 24 ชั่วโมง 

        นายอายุฒน์ สินธพพันธ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กล่าวว่า หลังจากแยกกลุ่ม 13 นักศึกษาไปยังแดนต่างๆ ได้รับรายงานว่าต่างรับประทานอาหารได้ตามปกติ โดยมี 3 ราย ตัดผมทรงสกินเฮด เป็นสิทธิที่กระทำได้ไม่มีปัญหา

      รายงานข่าวแจ้งว่า วันเดียวกันนี้ นายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เข้าพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักศึกษา โดยแจ้งให้ทราบถึงขั้นตอนต่างๆ นับจากนี้ไป รวมถึงสิทธิต่างๆ ที่นักศึกษามี เช่นการยื่นขอประกันตัว การพูดคุยบรรยากาศเป็นไปด้วยดี ส่วนใหญ่นักศึกษาจะเป็นฝ่ายรับฟังเรื่องที่นายวิทยาชี้แจง แต่ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ

 

@ ตร.-ทหารบุกคุย 281 นักวิชาการ

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนักวิชาการร่วมลงชื่อในแถลงการณ์จากเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง จำนวน 281 คน เพื่อให้ปล่อยนักศึกษา 14 คนที่ถูกคุมขังโดยไม่มีเงื่อนไขนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสันติบาลทยอยเข้าพบปะพูดคุยกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในพื้นที่ กทม.และต่างจังหวัด อาทิ นายอาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กับนายนพพร ขุนค้า อาจารย์รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา, นายยอดพล เทพสิทธา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก เป็นต้น โดยขอความร่วมมือให้นักวิชาการห้ามโพสต์ข้อความที่แสดงออกถึงท่าทีที่ขัดแย้งกับรัฐบาล 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณรุจน์ วศินปิยมงคล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หนึ่งใน 281 นักวิชาการ ที่ร่วมลงชื่อโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า มีตำรวจสันติบาลโทรมาสอบถามว่าที่ร่วมลงชื่อไปนั้น ได้ลงชื่อเองหรือถูกแอบอ้าง จึงตอบไปว่าเป็นผู้ลงชื่อเอง ทางเจ้าหน้าที่บอกว่าต้องการที่จะคุยด้วยที่คณะ แต่ได้ชี้แจงไปว่าช่วงนี้ไม่อยู่ที่คณะ แต่อยู่ที่กรุงเทพฯ 

      จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ถามว่าอาจารย์คนอื่นๆ ได้ลงชื่อเองหรือไม่ ได้ตอบว่าไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นการพูดคุยเฉยๆ ไม่มีอะไรมาก ไม่มีการข่มขู่ เป็นการพูดคุยกันดีๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขังในเฟซบุ๊กได้เพิ่มรายชื่อนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อ เดิม 281 ราย เป็น 297 คน 

 

@ อจ.ราชนครินทร์แจงทหารขอพบ

      นายอาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ทหาร ร.111 พัน.1 ได้เดินทางมาถึงห้องทำงานที่มหา วิทยาลัยเพื่อขอพูดคุย กรณีมีชื่อเป็น 1 ใน 281 อาจารย์ที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นักศึกษา แต่ตนไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงให้เพื่อนอาจารย์นัดให้ว่าวันนี้จะมาอีกครั้ง กระทั่งเวลา 13.30 น. พ.ท.ศรัณยนิษฐ์ ลิ้มประเสริฐ ผบ.ร.111 พัน 1 พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็เดินทางมาพูดคุยด้วย บอกว่าตอนนี้สถานการณ์เปราะบาง ไม่อยากให้อาจารย์มีบทบาทในตอนนี้

     "ผมได้ตอบว่าที่ลงชื่อในแถลงการณ์นั้นเป็นประเด็นในเรื่องจริยธรรมคือ อาจารย์ต้องห่วงใยนักศึกษาและลงชื่อด้วยตัวเอง ไม่มีใครบังคับ ไม่มีขบวนการใดๆ อยู่เบื้องหลัง ลงชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจ ที่ผ่านมาก็ไม่เคยใช้ความเป็นอาจารย์ปลุกปั่นนักศึกษาว่าต้องคิดอย่างไร ยังเสนอกับทหารไปด้วยว่านักศึกษาไม่ควรจะถูกจับแบบนี้ และไม่ควรอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถ้าต้องการลดแรงกดดันจากต่างชาติหรือองค์กรอื่นๆ ที่มองเข้ามา ควรจะปล่อยนักศึกษาทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่อย่างนั้นควรย้ายที่คุมขังเป็นที่อื่น ไม่ใช่ในเรือนจำพิเศษซึ่งอยู่ร่วมกับนักโทษในคดีอื่น" นายอาจิณโจนาธานกล่าว

 

@ อาจารย์นเรศวรยันมีอิสระลงชื่อ

       เมื่อเวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลเดินทางเข้าไปตรวจสอบคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร อ.เมือง จ.พิษณุโลก ที่ลงชื่อแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา 14 คน โดยมีการพูดคุยกับอาจารย์ 6 คน รวมถึงนายยอดพล เทพสิทธา คณะนิติศาสตร์ และ ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานการพบปะดังกล่าว เนื้อหาการชี้แจงของอาจารย์ระบุต่างมีความเป็นอิสระในร่วมลงชื่อดังกล่าว เนื่องจากห่วงใยนักศึกษา ประกอบกับการแสดงออกทางความคิดไม่น่าจะเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นต้องคุมขัง จึงต้องการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดออกมา

       ดร.สุชาติกล่าวยืนยันว่า มหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายสนับสนุนให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ก็ไม่ได้ก้าวล่วงล้ำเข้าไปจำกัดในสิทธิส่วนบุคคล เพราะทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดได้

 

@ นักวิชาการเชียงใหม่หนุนปล่อยตัว 

      นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในฐานะอาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวที่ จ.เชียงใหม่ ถึงการจับกุม 14 นักศึกษาว่า ไม่เห็นด้วย เป็นการแสดงออกตามปกติ ไม่ใช่เรื่องท้าทาย คสช.และรัฐบาล การแสดงออกของนักศึกษาไม่สามารถล้มล้าง คสช.และรัฐบาลได้ และปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดทันทีโดยใช้หลักเมตตาและเอ็นดูเหมือนลูกหลานมากกว่าใช้กฎหมาย เพื่อให้อัยการสั่งฟ้องหรือนำตัวขึ้นศาลทหาร

 

@ ตรวจสอบสำนักข่าว"ประชาไท"

     น.ส.พิมผกา งามสม บรรณาธิการข่าวประชาไท เผยกรณีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 แจ้งวัฒนะ (ร.1 พัน.2) จำนวน 3 นาย ได้เข้ามาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว กิจกรรมทางการเมืองกับทางเว็บไซต์ประชาไท เมื่อเวลา 11.00 น. ใช้เวลาพูดคุย 20 นาที 

      "เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาถามเรื่องสถาน การณ์การเคลื่อนไหว พยายามถามว่าเราเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวไหม คิดว่าเป็นเรื่องการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ก็ตอบว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร งานของเราคืองานทำข่าว แล้วทหารก็ขอถ่ายรูปที่ทำงาน ขอชื่อขอเบอร์โทรไป วันนี้หลังพูดคุยทหารยังนั่งเฝ้าอยู่อีกสัก 2-3 ชั่วโมง มีทหารเข้ามาคุย 3 นาย แต่ไม่รู้ว่ามากันทั้งหมดกี่นาย ซึ่งเจ้าหน้าที่เริ่มเข้ามาตรวจสอบกิจกรรมของเราหลายเดือนแล้ว ตั้งแต่หลังรัฐประหารเราก็จะมีกิจกรรมทุกเดือน จะจัดเป็นเวทีเปิด เรียกว่าประชาไทคลาสรูม จะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาคุยในประเด็นที่เห็นว่าน่าสนใจ เจ้าหน้าที่ก็เริ่มเข้ามาช่วงนั้น ทีมที่มาก็เป็นทีมเดิมกับที่มาวันนี้จะมาถ่ายวิดีโอบันทึกไปตลอด ปกติก็มอร์นิเตอร์พวกเราอยู่แล้ว ทั้งที่กิจกรรมเราจะโพสต์ขึ้นเฟซบุ๊กและหน้าเว็บอยู่แล้ว เขาเห็นก็จะมาทุกครั้ง แต่ไม่ได้มีการแจ้งเตือนอะไร" น.ส.พิมผกากล่าว

 

มติชนออนไลน์ :

 

เสียงจากนานาชาติ ห่วงไทยปมขัง 14 น.ศ.

      หลังจากมีการจับกุมนักศึกษาจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สวนเงินมีมา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ในข้อหาตามมาตรา 116 คือ "ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในบ้านเมือง" ที่นักศึกษากลุ่มนี้ชี้ว่า เป็นเพียงจุดเริ่มต้นสำหรับการเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น ได้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายในสังคม รวมถึงประชาคมนานาชาติขึ้นมาในทันที 

    ไม่เพียงสะท้อนความห่วงกังวลต่อการจับกุมนักศึกษากลุ่มนี้เท่านั้น หากยังประสานเสียงกันเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ด้วย 

 

      ต่อไปนี้เป็นท่าทีและเสียงสะท้อนที่มาจากประชาคมโลก

     ในแถลงการณ์ที่ออกโดยสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยแล้ว ระบุเรียกร้องให้ไทยเคารพหลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยขอให้เจ้าหน้าที่ทางการไทยปฏิบัติตามข้อผูกพันของประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิหลังเกิดเหตุการณ์จับกุมนักศึกษาจำนวน 14 คน จากข้อหาที่ถูกตั้งขึ้นอันเนื่องมาจากการชุมนุมอย่างสันติในวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นพัฒนาการที่น่ากังวลใจ 

 

     ทั้งนี้ สหภาพยุโรปมีความเชื่อในสิทธิของคนทุกคนในการแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างสันติและขอให้เจ้าหน้าที่ทางการไทยปฏิบัติตามข้อผูกพันของประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง 

การเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานนั้นจะต้องได้รับการค้ำชูและศาลทหารไม่ควรถูกนำมาใช้กับพลเรือน

ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุม ให้ยุติการดำเนินคดีอาญาต่อนักศึกษาที่ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมอย่างสันติในพื้นที่สาธารณะ และปล่อยตัวทั้งหมดทันที 

 

     รวมถึงขอให้รัฐบาลไทยทบทวนการบังคับใช้กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมเพื่อเป็นไปตามพันธกิจของไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

       แถลงการณ์ของโอเอชซีเอชอาร์ยังย้ำด้วยว่า ไทยในฐานะที่เป็นภาคีสมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิ     พลเรือนและสิทธิทางการเมือง ไทยมีพันธกิจในการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (ตามข้อ 19) และสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติ (ตามข้อ 21) 

 

     แม้ว่าข้อกำหนดทั้ง 2 ตามกติการะหว่างประเทศนี้จะสามารถถูกจำกัดได้ แต่การจำกัดดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด และสอดคล้องกับความชอบธรรม และตามสมควร

โอเอชซีเอชอาร์รู้สึกกังวลใจต่อการดำเนินคดีอาญาจากการชุมนุม และการแสดงออกโดยสันติที่ต้องได้รับโทษนานหลายปี ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่สมควร

     ส่วนสหรัฐอเมริกาที่นับเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจตะวันตก แม้สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยจะยังไม่ออกแถลงการณ์ที่เฉพาะเจาะจงต่อกรณีการจับกุม 14 นักศึกษาจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ก็ตาม แต่ก็มีท่าทีออกมาจาก น.ส.เมลิซา เอ. สวีนนีย์ โฆษกสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ที่สะท้อนท่าทีผ่านทางอีเมล์กับผู้สื่อข่าววีโอเอของสหรัฐว่า สหรัฐยังคงกังวลใจเป็นอย่างยิ่งต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเรือนที่มีอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย เช่น การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมอย่างสันติ ซึ่งรวมถึงสิ่งที่ระบุในรายงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐที่เพิ่งออกมาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนด้วย

      "สหรัฐยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการจำกัดสิทธิที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมอย่างสันติ และขอให้คืนเสรีภาพของพลเมืองอย่างเต็มรูปแบบ ตลอดจนจัดตั้งกระบวนการปฏิรูปอย่างครอบคลุมแท้จริงที่สะท้อนความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นวงกว้างภายในประเทศ และคืนประชาธิปไตยให้กับประเทศ" น.ส.สวีนนีย์กล่าวเสริม

ชาร์ลส์ ซันติอาโก สมาชิกสภานิติบัญญัติมาเลเซีย ที่ยังดำรงตำแหน่งประธานสมาชิกรัฐสภาอาเซียนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำที่เผ็ดร้อนกรณีการจับกุมนักศึกษาในประเทศไทยว่าเป็นสิ่งที่ "น่าอดสู" และว่า "ไม่มีความชอบธรรมหลงเหลืออยู่ในระบอบที่สร้างความระรานและจับกุมนักศึกษาที่ชุมนุมอย่างสันติโดยที่พวกเขาไม่ได้ทำอะไรนอกเหนือจากการออกมายืนยันเรียกร้องหาสิทธิตัวเอง"

     ในมุมมองของนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมน ไรต์ สวอตช์ ประจำประเทศไทย มองว่าการตั้งข้อหากับนักศึกษาทั้ง 14 คน สะท้อนให้เห็นถึงการขยายวงของการปราบปรามที่รุนแรงขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร และยังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความตั้งใจจะคืนประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศ 

      "นี่ถือเป็นการตอบโต้กับการจัดการการชุมนุมอย่างสันติที่รุนแรงที่สุดของรัฐบาลทหาร ไม่มีพื้นที่สำหรับกับการแสดงความรู้สึกเห็นต่าง สิ่งที่กำลังรอคอยประเทศไทยอยู่ข้างหน้าคือ การถลำลึกสู่การเป็นเผด็จการมากขึ้น" นายสุนัยกล่าว

ขณะที่นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมน ไรต์ สวอตช์ บอกว่า รัฐบาลทหารของไทยควรต้องยุติการจับกุมและดำเนินคดีกับนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวทันที เพราะแม้รัฐบาลยืนยันว่าไม่ได้เป็นเผด็จการ แต่ยังคงใช้ศาลทหารเป็นกลไกหลักในการลงโทษผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์โดยสันติและผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง หนทางกลับสู่ประชาธิปไตยของไทยจะยากลำบากยิ่งขึ้นทุกครั้งที่มีการจับกุมครั้งใหม่ รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกควรช่วยกันกดดันรัฐบาลทหารให้ยุติการปราบปรามและเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

      ทั้งหมดเป็นปฏิกิริยาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ แสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ในประเทศไทย แม้จะเข้าใจได้ว่าไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ แต่หากจะให้ชาวโลกขั้วประชาธิปไตยยอมการกระทำที่อยู่นอกกรอบของกฎกติกาสากลโลก...คงเป็นเรื่องที่ยากจะรับได้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!