- Details
- Category: การเมือง
- Published: Thursday, 02 July 2015 09:54
- Hits: 7631
'บิ๊กตู่'พร้อมหย่าศึก เจรจา-นศ. 'หยุย'โต้เด็กไม่ประกันเอง พรึบแห่ให้กำลังใจ'14 คน'จัดโชว์นอนห้องขังกับเพื่อน อสส.ส่ง 500 ชื่อต้านรธน.
'บิ๊กตู่'ลดเข้ม รับไม่สบายใจจับน.ศ. กำลังหา ช่องพูดคุยให้ยุติ แต่ต้องพิสูจน์ไม่มีผู้อยู่เบื้องหลัง โฆษกคสช.แจงกรณียูเอ็น-อียูจี้ปล่อย 14 น.ศ. ยันทำตามหลักสากล 'หยุย'โผล่ชี้รัฐบาลทำตามกฎหมาย เมื่อไม่ประกันก็ต้องถูกกัก น.ศ.ธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมติดคุกเป็นเพื่อน มข.ติดโพสอิทต์ให้กำลังใจ อจ.เข้าเยี่ยม 14 น.ศ. เผยทุกคนกำลังใจดี แนะควรแสดงให้โลกเห็นว่าเข้าใจเรื่องสิทธิ โดยปล่อยน.ศ อัยการส่ง 500 ชื่อค้านรธน.ถึง"วิษณุ-บวรศักดิ์"
วันที่ 02 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8982 ข่าวสดรายวัน
เพื่อน14น.ศ. - กลุ่มนักศึกษาขังตัวเองอยู่ในกรงจำลอง บริเวณกำแพงกาลเวลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อนนักศึกษาทั้ง 14 คนที่ถูกจับกุมคุมขัง โดยไม่มีเงื่อนไข เมื่อวันที่ 1 ก.ค.
'บิ๊กตู่'ยันยึดหลักประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้การต้อนรับ นางคริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ซึ่งเข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสพ้นจากหน้าที่ โดยนายกฯ กล่าวตอนหนึ่งถึงสถานการณ์การเมืองไทยว่า ยืนยันว่าไทยยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย และกำลังดำเนินการตามโรดแม็ป เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามแนวทางประชาธิปไตย ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก
จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวให้โอวาทคณะเยาวชนไทยและผู้ปกครองในโครงการเยาวชนไทยในออสเตรเลียคืนแผ่นดินแม่ ครั้งที่ 5 ตอนหนึ่งว่า ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในขั้นตอนต้องทำให้มีหน้าตา มีศักยภาพ ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ได้ ที่ผ่านมามีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเรากำลังแก้ ตนเข้ามาอยู่ตรงนี้เพื่อปลดล็อกประเทศไทย ซึ่งมีปัญหามานานกว่า 10 ปี รัฐบาลพยายามสร้างความยั่งยืนให้ทุกคน มีความภูมิใจ ทำทุกอย่างให้กลับไปสู่ที่ที่ทุกคนยอมรับ มีวัฒนธรรมที่ดีและบ้านเมืองสงบ ที่ผ่านมาการเมืองประชาธิปไตยมีปัญหา ยังไม่แข็งแรงเพียงพอ ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คนรุ่นใหม่และ ทุกคนต้องสืบสานต่อกัน ไม่ใช่คนรุ่นหลังมาทำร้ายคนแรก ทำลายประวัติศาสตร์ เราต้องทำปัจจุบันให้ดีที่สุดเพื่ออนาคตที่ดี
"ผมไม่ได้ไปฝืนประชาธิปไตย แต่อยากให้ประเทศไทยเข้มแข็งเหมือนที่เขาเป็น ผมชี้แจงกับประเทศต่างๆ ว่าผมไม่ได้ฝืนประชาธิปไตยโลก แต่ขอเวลาให้ประเทศไทยมีความพร้อม" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ยอมรับไม่สบายใจจับน.ศ.
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องนักศึกษา กำลังหาทางอยู่ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งเขาไม่เข้าใจ วันนี้เราต้องใช้กฎหมายก็ต้องใช้ ไม่เช่นนั้นจะทำอย่างอื่นไม่ได้ ปฏิรูปไม่ได้ จะทำอย่างไร เสียเวลาเปล่า ตอนนี้ดำเนินการตามโรดแม็ปทุกประการ ถ้ารัฐธรรมนูญเสร็จเมื่อไรก็เลือกตั้ง มันติดตรงนี้ ถ้ายังไม่เสร็จก็เลือกตั้งไม่ได้ ตนไม่ได้ดึงว่าจะต้องเลือกตั้งให้ช้าลง อยู่นานตนก็ไม่มีความสุข ความทุกข์ของตนก็มากขึ้นๆ ซึ่งตนห่วงใยและรู้ทุกปัญหาที่รัฐบาลเลือกตั้งทำไม่ได้ ขอให้ทุกคนทำความเข้าใจให้กับประเทศไทยบ้าง วันนี้ตนต้องดูแลคนไทยทั้ง 70 ล้านคน ไม่ได้ดูแลเฉพาะสีใดสีหนึ่ง ไม่ต้องการให้มีสี ขอให้มีเพียงสีธงชาติ ดูแลทุกสี ทำงานทุกอย่างเพื่อชาติ เพื่อแผ่นดิน
พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงกลุ่มนักศึกษาเคลื่อนไหวและถูกจับกุมดำเนินคดีว่า ขณะนี้กำลังหามาตรการเปิดช่องทางการพูดคุยเพื่อให้เกิดการยุติ ยอมรับว่าไม่สบายใจในการใช้กฎหมายกับนักศึกษา ขณะเดียวกันต้องมองอีกแง่มุมหนึ่งว่าพฤติกรรมที่แสดงออกมานั้น เป็นกิริยาของเด็กที่บริสุทธิ์หรือไม่ มีการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ซึ่งต้องพิสูจน์กันอีกครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีข้อเสนอจากบางฝ่ายให้ใช้มาตรา 44 นิรโทษกรรมความผิดให้แก่นักศึกษา มีความเป็นไปได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนไม่ทำ ทำไม่ได้ เพราะถ้าทำแล้ว ก็ต้องใช้มาตรา 44 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับบุคคลคนอื่น และจะทำให้ไม่มีวันจบสิ้นกระบวนการ
คสช.แจงจับนศ.-ยังแก้ต่างได้
ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวถึง 281 อาจารย์มหาวิทยาลัยในนามเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง เรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นักศึกษาอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่ให้ตั้งข้อหาหรือดำเนินคดี ขณะที่สำนักงานคณะ ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (อียู) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (UNOHCHR) ออกแถลงการณ์จี้ให้รัฐบาลปล่อยตัวนักศึกษาด้วยว่า เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่พยายามบังคับใช้กฎหมายให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันของบุคคลในทุกสถานะ
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า กรณีนักศึกษา ทาง เจ้าหน้าที่พยายามอะลุ้มอล่วยเพราะเข้าใจถึงสถานะและวุฒิภาวะดี เริ่มจากการว่ากล่าว ตักเตือน และการขอความร่วมมือเป็นหลักปฏิบัติ ส่วนทางคดีนั้นเป็นดุลพินิจของ เจ้าหน้าที่ เมื่อมีการตั้งข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาสามารถแก้ต่างได้ตามเหตุผล พยานหลักฐานข้อเท็จจริงตามช่องทางกระบวนการยุติธรรม เป็นไปตามหลักสากลทั่วไป
ชี้ตปท.ข้องใจ-ขอข้อมูลได้
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ส่วนองค์กรต่างประเทศ อย่าได้กังวลการดำเนินการของทางการไทย เพราะภายใต้กฎหมายของไทยจะมีบทลงโทษเฉพาะผู้ที่กระทำผิดเท่านั้น อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมก็เปิดให้ชี้แจงข้อกล่าวหาและปกป้องเสรีภาพของตนเองได้ เพียงแต่ช่วงนี้ขอให้ผู้ถูกกล่าวหาใช้ช่องทางรักษาสิทธิเสรีภาพของตนอย่างถูกต้อง จะทำให้ทุกส่วนได้เห็นเจตนาที่แท้จริง และในอีกมุมหนึ่ง หากมีผู้พยายามละเมิดกฎหมายโดยอ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพแล้วไม่ถูกดำเนินการใดๆ สังคมส่วนใหญ่จะสงบสุขได้อย่างไร
โฆษกคสช.กล่าวว่า หากองค์กรต่างประเทศกังวลใจในเรื่องนี้ สามารถขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามช่องทางที่เหมาะสมระหว่างประเทศได้อยู่แล้ว และหากพิจารณาตามข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้านจากทุกฝ่ายแล้ว จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ใช้ทั้งหลักรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และความเป็นสังคมไทย เชื่อว่าสังคมไทยและประชาคมโลกมีความเข้าใจในบริบทดังกล่าว
หยุยซัดไม่ประกันก็ต้องถูกกัก
ที่รัฐสภา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ถูกจับกุมว่า เป็นเรื่องธรรมดา กฎหมายก็คือกฎหมาย ไม่มีอะไร ส่วนที่หลายฝ่ายเกรงจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวนั้น ต้องคิดและมองในอีกมุมด้วยว่านักศึกษาที่ถูกจับมีสิทธิยื่นประกันตัวได้ แต่ทำไมเขาไม่ทำ เมื่อไม่ประกันตัวก็ต้องถูกกักตัวไว้ กฎหมายมีอยู่ ก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว เชื่อว่าคงจุดไม่ติด ถ้ายึดตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณียูเอ็นและอียู ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักศึกษา 14 คน ว่า คงไม่มีผลประทบต่อประเทศไทยมากนัก เพราะเป็นเรื่องภายในประเทศ ถ้าคนในประเทศยอมรับได้ กระแสจากต่างประเทศคงไม่สามารถกดดันประเทศ ไทยได้ เท่าที่ประเมินกระแสในประเทศขณะนี้คิดว่ากลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวคงจุดไม่ติด เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ยังยอมรับและสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้อยู่ ขณะที่กลุ่มองค์กรนักศึกษาอย่างเป็นทางการตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ยังไม่ขยับเคลื่อนไหวใดๆ ดังนั้นจึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือบานปลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่สำคัญรัฐบาลมีโรดแม็ปชัดเจนว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนเมื่อใด ไม่เหมือนกับเหตุการณ์ตุลาคม 2516 ที่รัฐบาลยุคนั้นไม่มีโรดแม็ปว่าจะคืนอำนาจเมื่อใด ทำให้มีคนต่อต้านจำนวนมาก
ผบ.ตร.เผยจับนศ.ตามคสช.สั่ง
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีกลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทั้ง 14 คนที่ถูกจับกุมตัวนั้นว่า เพิ่งเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อเวลา 07.00 น. ทราบข่าวสารผ่านทางโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กเท่านั้น ยังไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ในขณะนี้ ส่วนการที่เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวนักศึกษาทั้ง 14 คนนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของคสช. กระทำภายใต้นโยบายที่ว่าให้พูดคุยทำความเข้าใจ หลีกเลี่ยงความรุนแรงและการใช้กำลังอันจะนำมาสู่ความเสียหาย ในส่วนฝ่ายการข่าวของตำรวจมีข้อมูลว่ามีใครเป็น ผู้ที่อยู่เบื้องหลังของนักศึกษาทั้ง 14 คนนี้หรือไม่นั้น ขอไม่ตอบคำถาม เพราะยังไม่ทราบรายละเอียดที่แท้จริง ส่วนการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเฝ้าระวังตามจุดต่างๆ นั้น เป็นเรื่องปกติ เป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ให้รอเกิดเหตุแล้วค่อยมาทำ
ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุการณ์นี้จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ตนมองว่าเป็นการกระทำภายใต้กฎหมาย หลีกเลี่ยงการปะทะ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่หรือฝ่ายใดก็ตามล้วนเป็นคนไทยทั้งสิ้น
อจ.เข้าเยี่ยมนศ.หญิงในคุก
ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง นายธิกานต์ ศรีนารา อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ ซึ่งเป็นอาจารย์ ของน.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว 1 ในนักศึกษา 14 คนที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้เดินทางมาพร้อมญาติ และครอบครัวของน.ส. ชลธิชา เพื่อเข้าเยี่ยม
นายธิกานต์กล่าวภายหลังการเข้าเยี่ยมว่า การเข้าเยี่ยมน.ส.ชลธิชานั้น ถือว่าเราเยี่ยมได้ช้ากว่านักศึกษาชาย 13 คน ที่คุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษฯ เนื่องจากในวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตรงกับวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ ทำให้เราไม่รู้ชะตากรรมของน.ส.ชลธิชาว่า มีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร กระทั่งวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตนพร้อมครอบครัวได้เดินทางมาเยี่ยม ก็มีแต่พ่อแม่ของน.ส.ชลธิชาที่สามารถเข้าไปเยี่ยมได้ เนื่องจากเป็นกฎระเบียบของเรือนจำที่จะต้องมีการลงชื่อเยี่ยมก่อน ทั้งนี้พ่อแม่ของน.ส.ชลธิชา ระบุว่า น.ส.ชลธิชายังมีสภาพจิตใจเข้มแข็ง ปลอดภัยดี และมีกำลังใจดีอยู่ แต่มีปัญหาในเรื่องของสุขภาพ เนื่องจากน.ส.ชลธิชาเป็นเด็กผู้หญิงผอม และมีโรคประจำตัว
เผยฝากเพื่อนข้างนอกสู้ต่อ
นายธิกานต์กล่าวต่อว่า สำหรับวันนี้ตนได้เข้าเยี่ยมน.ส.ชลธิชา โดยการลงชื่อไว้ก่อน เนื่องจากผู้หญิงสามารถเข้าเยี่ยมได้ครั้งละ 5 คน และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชื่อได้ โดยจะมีชื่อเฉพาะที่น.ส.ชลธิชาเขียนไว้เท่านั้น จึงจะสามารถเข้าเยี่ยมได้ เพราะฉะนั้นการที่คนทั่วไปจะมาเยี่ยมก็เป็นเรื่องที่ลำบาก ทั้งนี้สภาพทั่วไปของน.ส.ชลธิชายังปลอดภัยดี แต่ยังไม่รู้จักใครในเรือนจำมากนัก และยังปรับตัวไม่ค่อยได้ ส่วนสุขภาพก็จะแย่หน่อย เพราะน.ส. ชลธิชามีอาการเจ็บขา และมีอาการเจ็บเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อขอยารักษาไปนั้นก็ได้ช้า
นายธิกานต์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามคิดว่านานไปน.ส.ชลธิชาอาจจะมีอาการเครียด เนื่องจากต้องอยู่คนเดียว รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ เช่น มีเหตุชุดชั้นในหาย จึงทำให้ทางครอบครัวต้องซื้อให้อยู่บ่อยครั้ง รวมถึงการนอนพื้นด้วย เพราะน.ส.ชลธิชามีอาการเจ็บหลัง ก็อาจทำให้มีสุขภาพแย่ลง ทั้งนี้น.ส. ชลธิชาเป็นคนกินอาหารน้อยอยู่แล้ว และ เมื่ออาหารไม่ถูกปากก็จะยิ่งทำให้กินน้อยลง ซึ่งการที่ตนได้พบในวันนี้เห็นได้ชัดว่าน.ส. ชลธิชาผอมลง นอกจากนี้น.ส.ชลธิชายังฝากถึงกลุ่มนักศึกษาชาย 13 คน และเพื่อนที่อยู่ข้างนอกว่าให้สู้ต่อไป ซึ่งหากเพื่อนหรือประชาชนที่อยู่ข้างนอก ใครสามารถทำอะไรได้ก็ขอให้ออกมาต่อสู้ร่วมกัน ทั้งนี้น.ส. ชลธิชา ยังยืนยันที่จะไม่ประกันตัวแต่อย่างใด
13 นศ.ชายยันยึดหลัก 5 ข้อสู้ต่อ
เวลา 10.30 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มหานคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอาจารย์ นักศึกษา ญาติ และประชาชน กว่า 50 คน ทยอยเข้าเยี่ยมให้กำลังใจนักศึกษาชาย 13 คน ที่ถูกคุมขังในเรือนจำตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. เช่น น.ส.ธีรพิมล เสรีรังสรรค์ ภรรยาของนายพรชัย ยวนยี หรือ แซม 1 ในนักศึกษา 14 คนที่ถูกจับกุม น.ส.กตัญญู หมื่นคำเรือง แนวร่วมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือเอ็นดีเอ็ม และ น.ส.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
น.ส.ธีรพิมลกล่าวว่า เดินทางมาเยี่ยมนายพรชัยทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกที่นายพรชัยถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยนายพรชัยได้ระบุกับตนว่า ยังมีกำลังใจดี สภาพจิตใจก็ดีด้วย พร้อมยืนยันว่า จะต่อสู้ในแนวทางเดิมตามหลักการ 5 ข้อที่เคยให้ไว้ ส่วนสภาพความเป็นอยู่ก็ถือว่าดีมาก อย่างไรก็ตามในส่วนของนักศึกษา หรือกลุ่มแนวร่วมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้ร่วมกันสมทบทุนและนำเงินที่ได้มาฝากไว้ยังเรือนจำ เพื่อนำเงินดังกล่าวไว้ซื้อของกินของใช้ให้กับนักศึกษาทั้ง 14 คนในเรือนจำ
เยี่ยมน.ศ. - น.ส.ปองขวัญ สวัสดิ์ภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เดินทางเข้าเยี่ยม 14 นักศึกษาที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 ก.ค. |
ทุกคนยืนยันไม่ได้ทำผิด
"เขาไม่รู้เลยว่าข้างนอกเป็นอย่างไร สื่อและประชาชนออกมาในแนวทางไหน มีแต่พวกเราที่มาเยี่ยมสามารถบอกเขาได้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร หรือออกไปในแนวไหน พอเขารู้ว่าข้างนอกเป็นอย่างไร ก็จะมีผลทำให้คนข้างในตัดสินใจได้ว่าจะต่อสู้ในแนวไหน หรือจะไม่ประกันตัวต่อไป" น.ส.ธีรพิมลกล่าว
น.ส.ธีรพิมล กล่าวอีกว่า ส่วนเหตุผลที่นักศึกษา 14 คน ไม่ประกันตัวนั้น เพราะพวกเขาคิดว่า กิจกรรมที่เขาทำตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด และพวกเขาต้องการจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คือการที่เขาออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิเสรีภาพของคนในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ที่สามารถออกมาแสดงความคิดเห็นได้ ขณะนี้นักศึกษาทั้ง 14 คน อยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ซึ่งในวันที่ 3 ก.ค. นี้ พนักงานสอบสวนได้มีการนัดสอบสวน โดยมีทนายความมาร่วมฟังการสอบสวนด้วย อย่างไรก็ตาม หากการสอบสวนยังไม่สามารถสรุปสำนวนได้ ทางพนักงานสอบสวนก็คง ขอฝากขังในผัดที่ 2 ต่อไป
อยากเห็นความเสมอภาค
น.ส.ปองขวัญ กล่าวว่า จากการที่ได้เข้าเยี่ยมนักศึกษานั้น ทุกคนยังมีกำลังใจดี และมีความคาดหวังให้คนที่อยู่ข้างนอกได้สู้ต่อไป และเคลื่อนขบวนกันได้อย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อน อย่างไรก็ตามปัญหาที่น่าเป็นห่วงของนักศึกษาทั้ง 14 คน คือ ขณะนี้บางคนเริ่มมีอาการท้องเสีย และข้างในเรือนจำมีอากาศร้อน จึงอยากให้คนที่มาเยี่ยมสามารถซื้อน้ำดื่มเย็น หรือน้ำแข็งมาเยี่ยมด้วย ทั้งนี้นักศึกษา 14 คน อยากให้คนข้างนอกต่อสู้กันอย่างเต็มที่ตามหลักการ 5 ข้อ และขออย่าเป็นห่วงคนข้างใน เพราะพวกเขาไม่อยากให้เป็นห่วงจนคนข้างนอกไม่สามารถขับเคลื่อนอะไรได้ พร้อมทั้งอยากให้คนข้างนอกรวมกันเป็นกลุ่มและพยายามต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่เขาอยากจะเห็นคือเรื่องของความเสมอภาค การมีส่วนร่วม และประชาธิปไตย
น.ส.ปองขวัญ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่คณาจารย์จะร่วมกันจัดตั้งห้องเรียนสาธารณะ เรายังอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมแผน ซึ่งจะนำเอาแนวทางการต่อสู้หลักการ 5 ข้อ ของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เพื่อนำมาเป็นประเด็นในการจัดเสวนา จัดอบรมห้องเรียนสาธารณะ โดยจะมีการประสานไปยังองค์กรหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
อจ.มธ.ไม่แปลกใจท่าทีรัฐบาล
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มองท่าทีของรัฐบาลในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ที่มีการปฏิเสธในเรื่องนี้อย่างไร น.ส.ปองขวัญกล่าวว่า เป็นท่าทีที่เราคาดหวังไว้อยู่แล้วว่าจะต้องออกมาในแนวนี้ เพราะทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ที่คล้ายกันเกิดขึ้น รัฐบาลก็จะมีท่าทีแบบนี้ตลอด
"เพียงแต่คำถามสำคัญคือ เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้ และในโลกทุกวันนี้เขาเรียกร้องให้ยึดถือหลักประชาธิปไตยหลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิในการแสดงออก ซึ่งถ้าเรายังอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ต่อไป เราจะยืนอยู่ในสังคมโลกได้อย่างไร และหากมีแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ รัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไร แต่ท่าทีของรัฐบาลชุดนี้ ก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว เพราะไม่ได้เชื่อในเรื่องของประชาธิปไตยอยู่แล้ว" น.ส.ปองขวัญกล่าว
ชี้คสช.ควรรับฟังเรื่องสิทธิ
ต่อมาเวลา 13.30 น. นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวภายหลังการเข้าเยี่ยมนักศึกษาว่า ได้สอบถามเรื่องความเป็นอยู่ภายในเรือนจำ รวมถึงเรื่องการเรียนการสอนของนักศึกษาบางราย สำหรับนักศึกษาสภาพจิตใจมีกำลังใจที่ดี มีทั้งครอบครัว เพื่อน รวมถึงอาจารย์สับเปลี่ยนมาเยี่ยมทุกวัน ทั้งนี้คิดว่า นักศึกษากลุ่มนี้มีอุดมคติของตัวเอง ไม่ใช่อาชญากร การนำมาควบคุมอยู่ร่วมกับอาชญากรข้างใน คิดว่าไม่เป็นธรรม เพราะ สิ่งที่นักศึกษากลุ่มนี้ได้แสดงความคิดเห็นที่เป็นไปโดยสุจริต โดยหวังที่จะให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นเสรีภาพที่สามารถทำได้
เมื่อถามถึงบางกลุ่มต่อต้านการเคลื่อนไหวของนักศึกษา นายพิชิตกล่าวว่า ตนมองว่าทุกกลุ่มสามารถแสดงความคิดเห็นได้เช่นกัน แต่สิ่งที่ควรระมัดระวังคือไม่ควรยุยง ก่อกวน ทำร้ายร่างกาย หรือข่มขู่ กลุ่มคนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างในอดีตเมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา ที่จัดตั้งฝ่ายตรงข้ามมาข่มขู่และใช้วิธีการทำร้ายร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก และทำให้เกิดความแตกแยก
นายพิชิตกล่าวต่อว่า คสช.ควรพิจารณารับฟังข้อเรียกร้องของคณะอาจารย์หลายสถาบัน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ที่ขอให้มีการปล่อยนักศึกษาทั้งหมด และยุติการดำเนินคดี เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความเข้าใจในเรื่องของสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ เชื่อว่าต่อไปในอนาคตจะมีหลายองค์กรออกมาเรียกร้องแสดงความคิดเห็นให้มีการปล่อยนักศึกษามากขึ้น
แฟลชม็อบนอนคุกจี้ปล่อยนศ.
เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ลานกำแพงประวัติ ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ กลุ่มนักศึกษาในนาม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่รวมตัวกันจากกลุ่มธรรมศาสตร์เสรี เพื่อประชาธิปไตย และศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ชื่อ "ปลดปล่อยพันธนาการ สู่จิตวิญญาณเสรี" โดยมีนักศึกษาได้ร่วมกันสร้างกรงขังจำลอง ทำจากท่อพีวีซี และเข้าไปถูกคุมขังด้านในเพื่อแสดงเจตจำนงต่อสู้ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาทั้ง 14 คน ที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ศาลทหารปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างจัดกิจกรรม พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รอง ผบก.น.1 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักงานเขตพระนคร ได้ขอให้ยุติกิจกรรมและเก็บอุปกรณ์ เพราะกีดขวางทางเท้า พร้อมเสนอให้ไปจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยแทน ซึ่งนักศึกษายินยอมข้อเสนอและประสานนายนครินทร์ เมฆไตยรัตน์ รองอธิการบดี ฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์ ก่อนย้ายไปจัดกิจกรรมที่บริเวณลานโพธิ์ หน้าคณะศิลปศาสตร์ มธ.
ด้านนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า พวกตนเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยเพื่อนเราทั้ง 14 คน โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้นถ้าเพื่อนเราได้รับคำสั่งปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อใด เราก็จะได้รับอิสรภาพด้วยเมื่อนั้น โดยกิจกรรมนี้ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีที่สุดที่ทำได้เวลานี้ ซึ่งถ้าเคลื่อนไหวอะไรที่นอกเหนือจากนี้ อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ อีกทั้งคิดว่าพื้นที่ในมหาวิทยาลัยเสมือนว่ามีเสรีภาพในการแสดงออกดีที่สุดแล้วในเวลานี้
จุดเทียนสันติภาพให้กำลังใจ
ต่อมาเวลา 20.00 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนกว่า 50 คน ร่วมกันจัดกิจกรรมจุดเทียนสันติภาพ ที่บริเวณด้านหน้าป้ายเรือนจำ เพื่อเป็นการให้กำลังใจกลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ทั้ง 14 คน ที่ถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ พร้อมด้วยทหารและเจ้าหน้าที่เรือนจำ คอยดูแลความสงบเรียบร้อย ประมาณกว่า 10 นาย ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้มีนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ พร้อมด้วยนายพันศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ และนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของน.ส.กมนเกด อัคฮาด อาสาสมัครพยาบาล ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 เข้าร่วมด้วย
จากนั้นประชาชนที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา บทเพลงของสามัญชน เพื่อมวลชน พร้อมจุดเทียน และปักบริเวณหน้าป้ายเรือนจำพิเศษเป็นตัวเลข 14 เพื่อเป็นการให้กำลังใจนักศึกษาทั้ง 14 คน โดยก่อนจะแยกย้ายกลับ ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมได้ตะโกนคำว่า "เราคือเพื่อนกัน เราไม่ทิ้งกัน" ทั้งนี้นายสิรวิชช์ได้ระบุด้วยว่า ในวันที่ 2 ก.ค.นี้ เวลา 20.00 น. จะมาทำกิจกรรมจุดเทียนอีกครั้ง และจะจัดกิจกรรมต่อไปจนกว่านักศึกษาจะถูกปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข
เพื่อนมข.ติดโพสต์อิตให้กำลังใจ
ที่บริเวณหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร โดย พล.ต.ต.จิตรจรุญ ศรีวนิชย์ ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น พร้อมด้วยพ.ต.อ.นพดล เพ็ชรสุทธิ์ ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น พ.ต.ท.อนุศักดิ์ ศักดาวัชรานนท์ รอง ผกก.ปป. พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้ากองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยพื้นที่ขอนแก่น นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร มาคอยดูแลความเรียบร้อย เนื่องจากมีนักศึกษามาจัดกิจกรรมให้กำลังเพื่อนนักศึกษาที่ถูกจับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกิจกรรมมีกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มข. และอาจารย์ ประมาณ 30 คน รวมตัวกันนำป้ายกระดาษแผ่นใหญ่ 3 แผ่นนำมาติดที่หน้าคณะ ข้อความว่า มาร่วมให้กำลังใจ เราคือเพื่อนกัน Free our friends, Post it for friends เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำโพสต์อิตมาติดเพื่อให้กำลังใจนักศึกษา 14 คน ที่ถูกจับกุมคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำหญิงที่คลองเปรม
นศ.ยันคนข้างนอกไม่ทิ้งไปไหน
นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 4 กล่าวว่า วันนี้กิจกรรมของเราเรียบๆ ง่ายๆ เท่านี้ พวกเรามาให้กำลังใจเพื่อนทั้ง 14 คน ที่ถูกจับกุมคุมขัง ก็เลยมาเขียนโพสต์อิตฝากไปถึงพวกเขาด้วยว่า คนอยู่ข้างนอกไม่ได้ทิ้งพวกเขาไปไหน ก็ยังยืนยันว่า เราจะสู้ เราจะสู้ เราจะสู้ มาแสดงว่าสนับสนุนกิจกรรมของเขาเท่านั้น ว่าเขาทำถูกแล้วไม่ผิดกฎหมาย หลังติดโพสต์อิตก็แยกย้ายกันกลับ ไม่มีกิจกรรมปราศรัยหรือทำอะไรเกินกว่านั้น ส่วนที่จะมีนักศึกษามาเท่าไรนั้นไม่ทราบ นักศึกษา ประชาชน ทุกคนมาด้วยใจไม่มีอะไรยืดเยื้อ เป็นการมาให้กำลังใจเท่านั้นไม่มีแกนนำมากันเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนักศึกษาได้มาแสดงออกให้กำลังใจเพื่อนๆ ที่ถูกจับกุมแล้ว ได้พากันร้องเพลงสามัญชน เสร็จแล้วต่างก็แยกย้ายกันเดินทางกลับ
ปึ้งเตือนคิดถึง"สังคมโลก"ด้วย
ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศให้สัมภาษณ์ถึงกรณียูเอ็นออกเเถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีอาญากับนักศึกษา 14 คนกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. พูดชัดเจนว่าต้องยึดกฎหมายไทย แต่การที่ ต่างชาติซึ่งเรามีพันธกรณีใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในฐานะภาคีสมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ออกแถลง การณ์เตือน และประเทศต่างๆ ก็จับตาเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสังคมโลกให้ความสำคัญเรื่องการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างยิ่ง
"อีกทั้งการละเมิดสิทธิจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ บนโลก จะคิดแต่เป็นเรื่องภายใน กฎหมายไทยอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการอยู่ในสังคมโลกต้องคำนึงถึงข้อตกลงต่างๆ ระหว่างกันด้วย การดำเนินการอะไร อยากให้ระวังและคิดให้รอบคอบ" นายสุรพงษ์กล่าว
วรชัยแนะ"บิ๊กตู่"ปล่อยนศ.
นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาปล่อยตัว 14 นักศึกษาที่ถูกคุมขังอยู่ทันที เพราะหากยังคุมขังอยู่แบบนี้ กังวลว่ารัฐบาลที่เป็นฝ่ายสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเสียเอง และอาจจะขยายตัวยิ่งกว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นอกจากนั้นการที่อียู ออกแถลงการณ์ว่าจะไม่เจรจาหรือร่วมสังฆกรรมกับเรา หรือกลุ่มเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง 280 คนเข้าชื่อกัน เพื่อขอให้ปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกคุมขังอยู่นั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องพิจารณาโดยด่วน
นายวรชัย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าเข้ามาเพื่อคืนความสุข แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสวนทางกับแนวทางสร้างปรองดอง และจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ตกต่ำ คนเริ่มไม่มีเงินในกระเป๋า ลามถึงชาวนาขาดน้ำทำนา ชาวสวนปาล์มก็เดือดร้อนจากราคาปาล์มตกต่ำ และปัจจัยทางการเมืองโดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญที่หวังจะสืบทอดอำนาจต่อ เชื่อว่าในอีก 2-3 เดือน ทุกภาคส่วนจะจับมือกันเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ดังนั้นขอให้พล.อ.ประยุทธ์รีบปล่อยตัวนักศึกษา เร่งทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิป ไตย และเร่งประกาศวันเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด
อัยการค้าน - นางชนิญญา ชัยสุวรรณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสุงสุด เเถลงคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญหลายประเด็น โดยอัยการร่วม เข้าชื่อแล้วกว่า 500 รายชื่อ เตรียมยื่นกมธ.ยกร่างรธน.ต่อไป เมื่อวันที่ 1 ก.ค. |
เต้นจี้รบ.รับความจริง-ปล่อยนศ.
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า การคุมขังนักศึกษาโดยกล่าวอ้างกฎหมายอยู่ตลอดเวลานั้น เป็นการสะท้อนภาวะแห้งแล้งในจิตใจผู้มีอำนาจ เพราะกฎหมายในหลักการประชาธิปไตยต้องชอบธรรมตั้งแต่ขั้นตอน ยกร่าง ซึ่งอำนาจเดียวที่ทำได้คืออำนาจอธิปไตยของประชาชน ทั้งนี้ข้อกล่าวหาจากรัฐบาลว่า การเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาเป็นเรื่องผิดกฎหมายนั้น จึงไม่มีทางได้รับการยอมรับ และสุ่มเสี่ยงจะบานปลาย เนื่องจาก สิ่งที่ใช้อยู่แท้จริงแล้วไม่ใช่กฎหมาย แต่คืออำนาจที่ยึดไปตั้งแต่ 22 พ.ค.2557
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า รัฐบาลจำเป็นต้องปรับวิธีคิดว่าการเคลื่อนไหวแบบนี้เป็นความจริงที่ต้องเกิดขึ้น และนักศึกษาไม่ใช่ศัตรู ไม่ใช่ขบวนการรับจ้างที่ไหน อย่าแบ่งแยกความดีหรือไม่ดีของเยาวชนเพียงแค่ใครเชียร์หรือไม่เชียร์รัฐบาล สิ่งที่ควรทำเร่งด่วน คือการปล่อยตัวทั้ง 14 คนโดยไม่ดำเนินคดีใดๆ ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ใช้มาตรา 44 นิรโทษกรรม เพราะสิ่งที่นักศึกษากลุ่มนี้ทำไม่ใช่ความผิด หากศาลทหารจะตัดสินว่าผิด กระบวนการในคดีนี้ก็เกิดแผลเป็นรอยใหญ่ไปแล้วตั้งแต่การเปิดศาลทหารยามวิกาลเพื่อส่งเข้าเรือนจำ
"ปล่อยนักศึกษาแล้วก็ประคับประคองอย่าให้รัฐธรรมนูญแหกโค้งประชาธิปไตย ส่งคืนอำนาจตามสัญญาหลังทำประชามติ วิธีการแบบนี้ไม่ต้องมีใครแพ้ชนะ และน่าจะเป็นผลดีที่สุดเท่าที่พอเป็นได้กับประเทศไทย" นายณัฐวุฒิกล่าว
พระเทือกโผล่หนุน"บิ๊กตู่"
ที่วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี พระสุเทพปภากโร หรือ นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส.ให้สัมภาษณ์ถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา 14 คนว่า เชื่อว่ามีขบวนการที่ปั่นกระแส สร้างสถานการณ์ เพื่อทำลายความชอบธรรม และความน่าเชื่อถือของคสช. รัฐบาล และพล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นจึงขอประกาศว่าถ้าตราบใดที่พล.อ.ประยุทธ์ยังมุ่งมั่นทำงานเพื่อชาติ และประชาชน ก็พร้อมสนับสนุน ส่วนเรื่องร่างรัฐธรรมนูญนั้นโรดแม็ปตามที่กำหนดไว้เป็นเรื่องสมมติ เพราะฉะนั้นโรดแม็ปสามารถขยายได้ ถ้าทำไม่เสร็จ ก็ต้องทำต่อ
"อาตมารู้จักพล.อ.ประยุทธ์ แล้วหยั่งได้เลยว่าคนนี้รักชาติ รักแผ่นดินจริง คนนี้จงรักภักดีต่อสถาบัน ตั้งใจทำงานเพื่อชาติ ไม่มีความทะเยอทะยาน ไม่มีความมักใหญ่ใฝ่สูง ไม่เคยคิดที่เป็นนายกฯของประเทศไทย ไม่คิดที่จะมาเป็นรัฐบาลด้วยซ้ำไป อาตมายืนยันได้ และ สิ่งที่พยายามทำมาตลอดคือการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง" พระสุเทพกล่าว
พระสุเทพกล่าวว่า เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย แก้ทีเดียวจบหมดทุกอย่างคงไม่ได้ เรื่องปฏิรูปประเทศไทย จะเอาทุกเรื่องหมดคงไม่ได้ ฉะนั้นยืนยันได้ว่า คนอย่างพล.อ.ประยุทธ์ ไม่คิดสืบทอดอำนาจ และอยากบอกประชาชนว่า ทุกคนต้องให้โอกาสทำงานให้สำเร็จ เพราะเป็นความหวังเดียว จึงอยากให้ทำงานการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จก่อน แล้วจัดให้มีการเลือกตั้ง อย่างน้อยปฏิรูปเรื่องการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน การศึกษา และการกระจาย อำนาจ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องสำคัญ
500 อัยการลงชื่อค้านรธน.
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นางชนิญญา ชัยสุวรรณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีปกครอง แถลงกรณีการคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 228 ว่า ทางอัยการได้แสดงจุดยืนในการคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น ซึ่งขณะนี้รวบรวมรายชื่ออัยการแล้วประมาณเกือบ 500 คน ประเด็นแรกคือประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ซึ่งระบุว่ามาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการอัยการและไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรืออัยการสูงสุดนั้น ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุไว้กว้างมาก หากประธานก.อ.มาจากภายนอกก็ไม่ทราบว่าเป็นใครมาจากไหน
ประเด็นที่ 2 คณะกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ) ที่ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการอัยการ และไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการ ซึ่งจากกรรมการอัยการทั้งหมด 15 คน ดังนั้นหนึ่งในสามจึงหมายความว่ามีกรรมการอัยการจากบุคคลภายนอก 5 ใน 15 คน หรืออาจจะเป็น 7-10 คนในอนาคตก็ได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้มีบัญญัติไว้
ติงเปิดช่องการเมืองแทรกแซง
นางชนิญญากล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ดังกล่าวนั้นหมายความว่าฝ่ายการเมืองสามารถแทรกแซงได้ทุกอย่าง ทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายอัยการ หรือแม้แต่การแต่งตั้งตัวอัยการสูงสุดเองด้วย เพราะตำแหน่งอัยการสูงสุดนั้นจะต้องได้รับการคัดเลือกก.อ.เช่นกัน หากมีประธาน ก.อ.มาจากคนนอก ก็สามารถตั้งใครเป็นอัยการสูงสุดก็ได้ และอำนาจของอัยการสูงสุดสามารถสั่งคดีได้มากมาย รวมทั้งคดีนอกราชอาณาจักร รวมถึงการลงโทษทางวินัยของอัยการด้วย แม้นักวิชาการจะอ้างว่าการที่เอาคนนอก มาเป็นประธานก.อ. ว่ามีข้อเคลือบแคลงสงสัยองค์กรอัยการ แต่ในความจริงแล้ว มีหน่วยงานที่สามารถตรวจสอบได้หลายหน่วย เช่น ป.ป.ช. และที่ผ่านมาไม่เคยเห็นว่าอัยการสูงสุดเคยถูกฟ้องดำเนินคดี ตนจึงตั้งข้อสังเกตเหมือนกันว่ากมธ.ยกร่างฯ ต้องการอะไร
นางชนิญญากล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 3 คำสั่งชี้ขาดเกี่ยวกับคำสั่งฟ้องไม่ฟ้อง ถอนฟ้องอุทธรณ์และฎีกาของอัยการสูงสุด จะต้องแสดงเหตุผลประกอบการมีคำสั่ง รวมทั้งต้องให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้าถึงโดยง่าย ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ ต้องให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายด้วย หมายความว่าจะต้องบอกเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในการสั่งฟ้องคดี เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ ฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลยเพียงข้างเดียว และหมายความว่าทนายจำเลยสามารถขอดูสำนวนและล่วงรู้คำสั่งของอัยการสูงสุดได้ด้วยเช่นกันอีกทั้งพยานในคดีก็จะถูกเปิดเผยและอาจไม่ได้รับคุ้มครองอย่างเต็มที่ด้วย
ส่งจม.เปิดผนึกถึงวิษณุ-บวรศักดิ์
นางชนิญญากล่าวว่า ภายในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้จะนำจดหมายเปิดผนึก พร้อม แนบรายชื่ออัยการส่งไปให้กับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้พิจารณาต่อไป
เมื่อถามว่านายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด มีความเห็นอย่างไรบ้าง นางชนิญญากล่าวว่า ท่านเคยทำหนังสือคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่ยังมีบางประเด็นที่ท่านคัดค้านไม่ครบถ้วน เช่นคำชี้ขาดของอัยการสูงสุด และการที่ให้ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ซึ่งเราคิดตรงกันที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพียงแต่วิธีการดำเนินการและเหตุผลแตกต่างกัน
ชี้อย่าใช้ความรู้สึกมาตัดสิน
เมื่อถามว่าหาก กมธ.ยกร่างฯ ยังคงยืนยันตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิม รองอธิบดีอัยการกล่าวว่า เชื่อว่าขณะนี้ยังพอมีความหวังอยู่ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อประชาชน อย่าเอาความรู้สึกของท่านมาตัดสินคนทั้งองค์กร ประเด็นนี้เป็นจุดที่มีปัญหากับภาคประชาชน และคิดว่าภาคประชาชนจะช่วยกันลุกขึ้นมาแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางอัยการสูงสุดเคยยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้ว 2 ครั้ง คือวันที่ 17 พ.ค. ถึงนายวิษณุ และวันที่ 27 พ.ค. ถึงประธานกมธ.ยกร่างฯ เรื่อง ข้อเสนอแนะของสำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในมาตรา 228 ทางอัยการสูงสุดมีข้อเสนอแนะควรให้แก้ไขโดยเห็นว่า ผู้เคยเป็นข้าราชการอัยการในระดับรองอัยการสูงสุดขึ้นไป น่าจะเหมาะสมในการเป็นประธานกรรมการอัยการมากกว่า เพราะจะเข้าใจระบบการบริหารงานบุคคลข้าราชการอัยการ และประธาน ก.อ. ควรมาจากการเลือกตั้งของข้าราชการอัยการ จึงควรตัดคำว่า "หรือเคยเป็น" ออกเพื่อให้อดีตอัยการระดับรองอัยการสูงสุดขึ้นไปสามารถเป็นประธาน กอ.ได้ และกำหนดในรัฐธรรมนูญว่า "ประธานก.อ.ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการเลือกตั้งจากข้าราชการอัยการ ซึ่งต้องไม่เป็นข้าราชการอัยการและ ไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง"
พร้อมแจงกมธ.ทุกประเด็น
จากนั้นเวลา 13.30 น. นางชนิญญาเดินทางมายังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือถึงนายบวรศักดิ์ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ผ่าน เจ้าหน้าที่ของรัฐสภาที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ทบทวนการปฏิรูปโครงสร้างก.อ. ทั้งนี้ภายหลังยื่นหนังสือนางชนิญญากล่าวว่า หากมีโอกาสที่จะเข้าชี้แจงต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าวตนก็ยินดี เพราะเข้าใจว่าในกระบวน การยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการยังขาดความเข้าใจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโดยตรง และเข้าใจว่าแม้การเขียนสาระในร่างรัฐธรรมนูญเพื่อต้องการเปิดกว้าง มีอิสระ และโปร่งใส แต่ในบางกรณีทำให้มีผลกระทบต่อคดีได้ และความปลอดภัยของผู้ที่เกี่ยวข้องในคดี
ชงกมธ.ระบุเหตุผลแก้-ไม่แก้
ที่รัฐสภา นพ.กระแส ชนะวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานประชุมกมธ.ยกร่างฯ โดยก่อนเข้าสู่วาระ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขาธิการกมธ.ยกร่างฯ รายงานว่าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญลงรายมาตราเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ คาดว่าวันนี้จะพิจารณาจบในมาตราที่ 72 ว่าด้วยพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน มีสิทธิ์เข้าชื่อร้องต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้มีมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่น
นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ เสนอว่า เมื่อพิจารณาคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มต่างๆ แล้ว ควรอธิบายเหตุผลแก้ไขให้ชัดว่ากมธ.ยกร่างฯยอมแก้ไขหรือไม่ปรับแก้เพราะอะไร เพื่อจะได้ไม่ต้องนำคำ ขอแก้ไขกลับมาพิจารณาอีก และจะย่นระยะเวลาพิจารณาให้สั้นลง
ยอมตัดสมัชชาคุณธรรมแล้ว
นายไพบูลย์ เปิดเผยภายหลังการพิจารณาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราตามคำขอแก้ไขและข้อเสนอของภาคส่วนต่างๆ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาในภาค 1 ว่าด้วยรากฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีทั้งสิ้น 72 มาตราแล้วเสร็จแล้ว โดยมีประเด็นที่ปรับแก้ไขสำคัญ อาทิ มาตรา 71 ว่าด้วยการให้มีสภาตรวจสอบภาคพลเมืองในแต่ละจังหวัด ที่ประชุมมีมติให้ตัดออกทั้งมาตรา และเขียนเนื้อหาขึ้นใหม่ โดยนำไปบัญญัติไว้ในมาตรา 68/1 ซึ่งมีสาระสำคัญคือบุคคลมีสิทธิเฝ้าระวังและตรวจสอบการกระทำและการทำหน้าที่ของผู้นำทางการเมือง รวมถึงมีสิทธิรวมตัวเพื่อดำเนินการตรวจสอบได้
นายไพบูลย์กล่าวว่า สำหรับในภาค 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง ได้พิจารณารายมาตราไปจนถึงมาตรา 74 โดยที่ประชุมได้ปรับแก้ไข ตัดในส่วนของมาตรา 74 ที่กำหนดให้มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมและกำกับมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้นำการเมืองออก
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้มีการหารือในวาระเร่งด่วนคือ การตั้งคณะอนุกมธ.เพื่อดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป โดยมีนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กมธ.ยกร่างฯ เป็นประธาน ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์จะเร่งทำหนังสือและส่งไปยังนายเทียนฉาย เพื่อขอให้ส่งตัวแทน สปช.เข้าร่วมทำงานเพื่อยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปให้แล้วเสร็จ พร้อมกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคาดว่าจะส่งเป็นกฎหมายประกบพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สปช.พิจารณา
โพลจี้"นายกฯ"เร่งแก้ปากท้อง
วันที่ 1 ก.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจ เรื่อง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ควรให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากที่สุดในขณะนี้" จากประชาชนทั่วประเทศ 1,252 คน วันที่ 29-30 มิ.ย. พบว่า ร้อยละ 33.23 ระบุพล.อ.ประยุทธ์ ควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงและเศรษฐกิจปากท้องมากที่สุด เพราะค่าครองชีพแพงมาก เศรษฐกิจตกต่ำมาก ร้อยละ 29.95 ระบุการแก้ปัญหาภัยแล้ง ร้อยละ 21.09 การแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร ร้อยละ 4.31 การร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการให้มีการเลือกตั้งเร็วที่สุด ร้อยละ 2.40 การพิจารณาใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ลงโทษข้าราชการที่ถูกร้องเรียนปัญหาทุจริต ร้อยละ 1.52 การแก้ไขปัญหานักศึกษาบางกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและคสช. เพราะขัดขวางการทำงานของรัฐบาล
ส่วนหน่วยงานที่นายกฯ ควรกระตุ้นการทำงานมากที่สุด ร้อยละ 37.54 ระบุกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยละ 20.45 ระบุกระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 6.87 กระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 3.51 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร้อยละ 3.35 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 3.12 กระทรวงการคลังและกระทรวงศึกษาธิการในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 2.80 กระทรวงแรงงาน ร้อยละ 2.64 กระทรวงกลาโหม ร้อยละ 2.24 กระทรวงยุติธรรม ร้อยละ 2.16 กระทรวงคมนาคม ร้อยละ 2.08 สำนักนายกฯ ร้อยละ 1.68 กระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 1.28 กระทรวงพลังงาน ร้อยละ 0.96 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร้อยละ 0.72 กระทรวงการต่างประเทศ ร้อยละ 0.40 กระทรวงอุตสาหกรรม ร้อยละ 0.08 กระทรวงวัฒนธรรม ขณะที่ร้อยละ 0.64 ระบุควรกระตุ้นทุกหน่วยงาน มีเพียงร้อยละ 0.32 ระบุทุกหน่วยงานขยันทำงานดี เป็นที่น่าพอใจอยู่แล้ว
"ตู่"บินญี่ปุ่มถกผู้นำลุ่มน้ำโขง
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. รายงานข่าวแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พร้อมคณะ อาทิ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม มีกำหนดการเข้าร่วมประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 2-4 ก.ค. เพื่อยืนยันบทบาทของไทยในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ความร่วมมือฉบับใหม่ โดยความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ที่ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และญี่ปุ่น โดยนายกฯจะย้ำความสำคัญของการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของไทย โดยเน้นการสร้างงาน สร้างรายได้ โดยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน
รายงานแจ้งด้วยว่า ระหว่างการเยือนครั้งนี้ นายกฯและผู้นำลุ่มน้ำโขงยังมีกำหนดการพบปะ และการเข้าร่วมประชุมกับภาคส่วนต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาในลุ่มน้ำโขง อาทิ กลุ่มสมาชิกภาพรัฐสภาแม่โขง-ญี่ปุ่น การเข้าร่วมประชุม Mekong-Five Economic Forum ที่จัดโดยเจโทร การพบหารือกับประธานรัฐสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นและประธานวุฒิสภาญี่ปุ่น การพบปะและร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับผู้นำภาคเอกชนญี่ปุ่น สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น รวมถึงนายกฯยังมีกำหนดหารือทวิภาคีกับนายกฯญี่ปุ่น และร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงความร่วมมือโครงการทวายระหว่างไทย เมียนมา และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม และเป็นการเพิ่มบทบาทของญี่ปุ่นในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
บิ๊กตู่โวยนโยบายข้าวผิดพลาด
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 4/2558 ว่า วันนี้พูดกันเรื่องการระบายข้าว และความก้าวหน้าของการตรวจสอบคุณภาพข้าวที่มีผลกระทบโดยตรงทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลนี้แบกภาระหนักอึ้งไว้ คิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ระบบการค้าข้าว หรือการผลิตข้าวในประเทศไทยเสียหาย
"ถ้านโยบายนี้ยังอยู่ ประเทศไทยล้มเหลวแน่นอนในเรื่องข้าว จะเสียหายมหาศาล เราพยายามหามาตรการทุกมาตรการในขณะนี้ เพราะมีความเดือดร้อนของประชาชนเข้ามาด้วย และยังมีเรื่องข้าวที่เก็บไว้เสื่อมคุณภาพ เพราะราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น ต่ำลง ตามระยะเวลา ตามสภาพอากาศ วันนี้ได้พิจารณาในหลายๆ เรื่อง ทั้งข้าวโลกและข้าวไทย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพูดกันเรื่องข้าวในคลังว่าจะทำอย่างไรกับข้าวในคลังซึ่งติดข้อกฎหมายอยู่ อยากให้รับทราบไว้ว่าทุกวันนี้ไม่มีอะไรที่จะงอกเงยได้เลย มีแต่ราคาลดลงๆ เรื่อยๆ และสุดท้ายจะป่นเพราะไม่มีคนซื้อ เพราะข้าวคุณภาพมันต่ำตั้งแต่ต้น ส่วนข้าวดีคงจะขายได้แต่ไม่สามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งระบบได้เลย
"อยากจะฝากถึงพี่น้องประชาชนและเกษตรกรด้วยว่านโยบายแบบนี้ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้นเลย ในอนาคตจะยากจนเหมือนเดิม ท่านต้องร่วมมือกับเราในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างในการผลิตข้าวทั้งระบบ ซึ่งต้องใช้เวลาและเงินมหาศาล ดังนั้นจะต้องค่อยเป็นค่อยไป ตนจำเป็นต้องพูดแต่ไม่อยากให้กระทบกับชื่อเสียงของประเทศไทย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า รัฐบาลกำลังแก้ทุกปัญหา การมาประท้วงขอก่อนได้ไหม ใครจะมาช่วยแก้ปัญหาให้ท่าน แล้วถ้าแก้ไม่ได้จะทำอย่างไร ค่าเก็บรักษาข้าวเดือนหนึ่งพันกว่าล้านแล้ว เสียไปเปล่าๆ วันละ 46 ล้าน
ปปช.ไม่ปล่อยคดี"สุภา"หมดอายุ
วันที่ 1 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีกล่าวหา น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. เมื่อครั้งเป็นกรรมการบริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และนายสมบัติ ธรธรรม ที่ปรึกษา พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. เมื่อครั้งเป็น กรรมการบริหาร ขสมก. ซึ่งถูกร้องเรียนว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผิดต่อพ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) มาตรา 12 กรณีจัดประกวดให้เช่าเนื้อที่โฆษณาบนรถเมล์ปรับอากาศ 1,109 คัน ว่า เจ้าหน้าที่รายงานที่ประชุมป.ป.ช. แล้วพบว่า ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 84 วรรคท้าย ระบุหาก เจ้าหน้าที่รัฐพ้นจากตำแหน่งเกิน 10 ปี จะไม่อยู่ในอำนาจการไต่สวนของป.ป.ช. ฉะนั้นในกลุ่ม ผู้ถูกกล่าวหาที่ ป.ป.ช.ไต่สวนอยู่ หากพ้นตำแหน่งเกิน 10 ปี ป.ป.ช.ต้องให้พ้นจากข้อกล่าวหาไป ซึ่งในกลุ่มนี้มีชื่อนายสมบัติ รวมอยู่ด้วย อีกกลุ่มหนึ่งที่ยังต้องดำเนินการไต่สวนต่อนั้นยังมีชื่อของ น.ส.สุภา และนายพีระพงศ์ อิศรภักดี อดีต ผอ.ขสมก. ด้วย
นายปานเทพกล่าวอีกว่า ในกลุ่มที่ต้องถูกไต่สวนต่อนั้นแบ่งเป็น 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ กรณีกล่าวหาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งคดีจะหมดอายุความในวันที่ 20 ส.ค. 2558 กำลังเร่งไต่สวนอยู่ ส่วนอีกกรณีคือถูกกล่าวหาว่าผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว ซึ่งยังมีอายุความอีกนาน ต้องไต่สวนกันต่อไป
"ขณะนี้ทราบว่าคณะทำงานในอนุกรรมการไต่สวนฯ ที่มีนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน เตรียมสรุปเข้าสู่ที่ประชุมอนุกรรมการไต่สวนฯ เพื่อเตรียมสรุปคดีให้แล้วเสร็จก่อนจะหมดอายุความ รับรองว่าจะไม่ปล่อยให้ขาดอายุความแน่ ปล่อยให้ขาดไม่ได้ และขณะนี้กำลังเร่งไต่สวนอยู่" นายปานเทพ กล่าว
"บิ๊กตู่"เหน็บ 30 บาททำร.พ.เจ๊ง
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงการสอบนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ว่าให้ไปดำเนินการต่อให้ชัดเจนมากขึ้น ถ้ามีความชัดเจนขึ้นก็ให้กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิมได้ และมอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นำผลสอบมาสรุป เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้ระบุชัดว่ามีความผิดอะไร จึงต้องหาข้อยุติให้ได้ และตอนนี้มีเรื่องสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เข้ามาอีกก็ต้องสอบทั้งหมด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมางบประมาณสาธารณสุขมีไม่พอเพราะไปทำโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นโครงการประชานิยม ประชาชนได้รับประโยชน์ ตนไปพูดอะไรไม่ได้ แต่อยากถามว่าเรามีความพร้อมหรือไม่ ประเทศไทยพร้อมหรือยัง อีก 190 กว่าประเทศยังไม่เห็นมีใครทำโครงการแบบนี้ มีทำเพียงกี่ประเทศ มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เป็นการบิดเบือนในเกือบจะทุกเรื่อง จึงเป็นภาระในวันนี้
"ผมเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีโรงพยาบาลจะเจ๊งหมด แต่ยังมีคนชื่นชมคนที่คิดโครงการนี้แล้วจะให้ผมพูดอย่างไร ไม่เช่นนั้นสื่อจะมาด่าผม เราดูแลทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนรวยคนจน ถึงวันนี้ผมไม่ได้ฝืนและคงไปยกเลิกไม่ได้ แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้มีเงินมากขึ้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ได้ลงนามคำสั่งวันที่ 1 ก.ค.2558 เรื่องแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนปลัดสธ. โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ให้ยกเลิกคำสั่งกระทรวงที่ 434/2558 และแต่งตั้งให้นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดสธ. เป็นรักษาราชการแทนปลัดสธ. อีกตำแหน่งหนึ่ง
นพ.รัชตะกล่าวว่า กรณีแต่งตั้งนพ.อำนวยแทนนพ.สุรเชษฐ์ เพราะนพ.สุรเชษฐ์แจ้งมาสักพักแล้วว่าไม่ขอรับตำแหน่งนี้ต่อ เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ ส่วนกรณีป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการมาสอบสวนตนนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับการแจ้งว่าให้ไปชี้แจง แต่ก็พร้อม ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ยังไม่ขอพูดอะไรมากกว่านี้
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชมรมแพทย์ชนบท และเครือข่ายผู้ป่วยฯ นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องขอให้ตรวจสอบกรณีนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ถูกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรี แต่จากหลักฐานต่างๆ พบว่าอาจปฏิบัติราชการส่อมิชอบ โดยมีนายสุทธิ บุญมี ผอ.สำนัการข่าวและกิจการพิเศษ ป.ป.ช. มารับเรื่อง
เวทีถกชี้ศาลรธน.ต้องเป็นกลาง
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่องศาลรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการเมืองไทย โดยนายจอร์จ แมนเซล ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทกับการเลือกตั้งเยอรมันในการให้แก้กฎหมายการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญเยอรมันสั้นมากถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญของไทย โดยมีประมาณ 146 มาตรา เพราะรายละเอียดจะตราในกฎหมายสหพันธรัฐ รัฐธรรมนูญเยอรมันแต่ละมาตราเนื้อหาสั้นในตัวมันเองเมื่อเทียบกับไทย ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงจำเป็นต้องขยายความโดยฝ่ายนิติบัญญัติและศาลรัฐธรรมนูญ
นายแมนเซล กล่าวว่า สำหรับบทบาทศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมันมีความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับความสั้นของรัฐธรรมนูญ จึงวางบทบาทตนเองได้อย่างเข้มแข้งในการปกป้องรัฐธรรมนูญ ช่วงแรกมีผลงานดีมากทำให้เป็นที่นิยมของประชาชน บางครั้งมีคำวินิจฉัยในประเด็นโต้แย้งทำให้นักการเมืองหรือรัฐบาลไม่พอใจ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามและไม่สามารถวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ อาจวิจารณ์คำวินิจฉัยได้เล็กน้อยเท่านั้นและศาลรัฐธรรมนูญมีความเป็นกลางทางการเมืองได้รับคัดเลือกจาก 2 สภาของเยอรมัน
ด้านนายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริการศาตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่เหมือนเยอรมัน โดยศาลรัฐธรรมนูญของไทยเป็นปัญหาในช่วงรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้รับจากอิทธิพลทางการเมืองมีการล็อกตัวจากกรรมการสรรหา เป็นปัญหาระบบอุปถัมภ์ซึ่งเยอรมันไม่มี ทำให้ศรัทธาตก ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่เข้มแข็งในการถ่วงดุลกับรัฐสภา ประเด็นสำคัญต้องมีหลักการที่แน่นอนมีความเป็นกลางจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความมั่นคง ของเยอรมันให้ประชาชนร้องทุกข์ศาลรัฐธรรมนูญได้ มีคนถามว่าประเทศไทยควรนำมาใช้หรือไม่ แต่ประเทศไทยยังไม่เหมาะ เพราะยังไม่มั่นคงเข้มแข็งและอาจจะทำลายระบบของ 2 ศาลได้ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญต้องพิสูจน์ดุลยภาพทางการเมือง
นายกฯถอย-ปมจับนศ. ไม่สบายใจ หาช่องพูดคุยยุติปัญหา 'สนนท.'นอนคุกจำลอง 'จีน'โพสต์ทหารบุกบ้าน พระสุเทพเชื่อปั่นกระแส 489 อัยการจี้แก้ปม'กอ.'สธ.เปลี่ยนรักษาการปลัด
'บิ๊กตู่'เล็งเปิดช่องคุยหาข้อยุติกรณีจับนักศึกษา ไม่สบายใจหากใช้กฎหมาย ยันไม่ใช้ ม.44 นิรโทษฯ ความผิด
@'บิ๊กตู่'เล็งเปิดช่องคุยนศ.หาข้อยุติ
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังคณะเยาวชนไทยและผู้ปกครองในโครงการเยาวชนไทยในออสเตรเลียคืนแผ่นดินแม่ ครั้งที่ 5 เข้าเยี่ยมคารวะ ถึงความคืบหน้าการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกจับกุม 14 คนว่า ขณะนี้กำลังหามาตรการเปิดช่องทางการพูดคุยเพื่อให้เกิดการยุติ เพราะไม่สบายใจในการใช้กฎหมายกับนักศึกษา ขณะเดียวกัน ต้องมองอีกแง่มุมหนึ่งว่า พฤติกรรมที่แสดงออกมาเป็นอย่างไร เป็นกิริยาของเด็กที่บริสุทธิ์หรือไม่ มีการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ต้องมีการพิสูจน์กันอีกครั้ง โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อเสนอจากบางฝ่ายต้องการให้ใช้มาตรา 44 นิรโทษกรรมความผิดให้แก่นักศึกษามีความเป็นไปได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่ทำ ทำไม่ได้ เพราะถ้าทำแล้ว ก็จะต้องมีการใช้มาตรา 44 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับบุคคลคนอื่น และจะทำให้ไม่มีวันจบสิ้นกระบวนการ"
@ คสช.แจงองค์กรตปท.ยันยึดกม.
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวกรณีอียูและสำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์) เรียกร้องและแสดงความกังวลต่อกรณีการคุมขัง 14 นักศึกษาว่า ปัจจุบันเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่พยายามรักษาให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันของบุคคลในทุกสถานะ โดยพิจารณาใช้ให้สมดุลเหมาะสม กรณีนักศึกษา เจ้าหน้าที่พยายามอะลุ้มอล่วยอย่างเปิดเผยมาก่อนหน้า เพราะเข้าใจถึงสถานะและวุฒิภาวะ เริ่มจากการว่ากล่าวตักเตือนและขอความร่วมมือเป็นหลักปฏิบัติ ส่วนในทางคดีน่าจะเป็นเรื่องของดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ หลักๆ น่าจะไปเกี่ยวข้องกับคดีอาญาด้านความมั่นคงด้วย เมื่อมีการตั้งข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาสามารถแก้ต่างกันได้ตามเหตุตามผลตามพยานหลักฐานข้อเท็จจริงได้ตามช่องทางกระบวนการ เป็นไปตามหลักสากลทั่วไป
@ ชี้โทษจำคุก-ปรับแค่ไม่กี่เดือน
ข้อกังวลหรือข้อเรียกร้องของกลุ่มหรือองค์กรใดๆ คงต้องพิจารณาด้วยว่าขัดต่อแนวทางของการรักษากฎหมายหรือไม่ สำหรับข้อกังวลจะฟ้องคดีกับศาลทหารนั้น ปัจจุบันนี้จะมีเพียง 3-4 ฐานความผิดที่จำเป็นต่อการรักษาชีวิตความสงบสุขของประชาชน หรือมีผลกระทบความมั่นคง รวมถึงความผิดเกี่ยวพันโดยตรงกับความไม่สงบเรียบร้อยของประเทศในช่วงที่ผ่านมาเท่านั้น ส่วนข้อกังวลของบทลงโทษที่ได้รับยาวนานเกินไปจากการใช้เสรีภาพนั้น อาจเป็นการมีข้อมูลไม่ครบ คงต้องดูเป็นกรณีๆ ไปว่าการใช้เสรีภาพนั้นๆ ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เพราะกรณีโทษได้รับจากกรณีฝ่าฝืนประกาศคำสั่ง คสช.ห้ามชุมนุม สุดท้ายจะมีโทษปรับกับโทษจำคุกเพียงไม่กี่เดือน แต่ถ้ากรณีถูกมองว่าเข้าข่ายความผิดในคดีอาญาด้านความมั่นคง บทลงโทษคงรุนแรงกว่า แต่ก็เป็นบทลงโทษที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายอาญาเดิมอยู่แล้ว
@ แนะตปท.กังวลใจขอข้อมูลได้
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ส่วนข้อกังวลในเรื่องการแสดงความคิดเห็นก็สามารถกระทำได้ภายใต้ช่องทางเหมาะสมอยู่แล้ว ช่วงนี้อาจยังมีบางส่วนมีเจตนาแอบแฝง พยายามสร้างเงื่อนไขเพื่อให้สถานการณ์พัฒนาไปสู่ความขัดแย้งให้มากขึ้น เจ้าหน้าที่ทราบดีจึงพยายามดำเนินการต่างๆ อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาด้วยความระมัดระวัง มั่นใจว่าการดำเนินการใดๆ ของภาครัฐเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความจำเป็นของสถานการณ์ทุกประการ เพื่อให้สังคมประเทศชาติเกิดความสงบเรียบร้อย ขอย้ำว่าประเทศไทยยึดถือมาโดยตลอดในเรื่องการปฏิบัติตามหลักสากล สิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง จะต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นและไม่ทำให้สังคมโดยรวมวุ่นวาย องค์กรต่างประเทศอย่าได้กังวลในการดำเนินการของทางการไทย เพราะภายใต้กฎหมายของประเทศไทย จะมีบทลงโทษเฉพาะผู้ที่กระทำผิดเท่านั้น
อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมก็เปิดโอกาสให้มีการชี้แจงข้อกล่าวหาและปกป้องเสรีภาพของตนเองได้ตามช่องทางที่กฎหมายระบุ เพียงแต่ในช่วงเวลานี้ขอให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ใช้ช่องทางในการรักษาสิทธิเสรีภาพของตนอย่างถูกต้องก็จะทำให้ทุกส่วนได้เห็นเจตนาที่แท้จริงอย่างแน่นอน ในอีกมุมหนึ่งหากมีผู้พยายามละเมิดกฎหมายด้วยอ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพ แล้วไม่ถูกดำเนินการใดๆ แล้วสังคมส่วนใหญ่จะสงบสุขได้อย่างไร หากองค์กรต่างประเทศมีความกังวลใจในเรื่องนี้ สามารถประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามช่องทางที่เหมาะสมระหว่างประเทศได้อยู่แล้ว และหากพิจารณาตามข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้านจากทุกฝ่ายแล้วจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ใช้ทั้งหลักรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และความเป็นสังคมไทย เชื่อว่าสังคมไทยและประชาคมโลกมีความเข้าใจในบริบทดังกล่าวอย่างแน่นอน
@ แห่เยี่ยมให้กำลังใจ14นักศึกษา
ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอาจารย์ นักศึกษา ญาติ และประชาชนกว่า 50 คน ทยอยเข้าเยี่ยมให้กำลังใจนักศึกษาชาย 13 คน ที่ถูกคุมขังในเรือนจำตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน อาทิ น.ส.ธีรพิมล เสรีรังสรรค์ เพื่อนสนิท ของนายพรชัย ยวนยี 1 ในนักศึกษา 14 คนที่ถูกจับ น.ส.กตัญญู หมื่นคำเรือง แนวร่วมขบวนการประชาธิปไตยใหม่หรือเอ็นดีเอ็ม และ น.ส.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
น.ส.ธีรพิมลกล่าวว่า นายพรชัยยังมีกำลังใจดี สภาพจิตใจก็ดี ยืนยันว่าจะต่อสู้ในแนวทางเดิมตามหลักการ 5 ข้อที่เคยให้ไว้ ส่วนสภาพความเป็นอยู่ถือว่าดีมาก อย่างไรก็ตามในส่วนของนักศึกษากลุ่มแนวร่วมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้ร่วมกันสมทบทุนและนำเงินที่ได้มาฝากไว้ยังเรือนจำ เพื่อนำเงินดังกล่าวไว้ซื้อของกินของใช้ให้กับนักศึกษาทั้ง 14 คนในเรือนจำ
"เขาไม่รู้เลยว่าข้างนอกเป็นอย่างไร สื่อและประชาชนออกมาในแนวทางไหน มีแต่พวกเรามาเยี่ยมบอกเขาสถานการณ์เป็นอย่างไร หรือออกไปในแนวไหน พอเขารู้ว่าข้างนอกเป็นอย่างไร ก็จะทำให้คนข้างในตัดสินใจได้ว่าจะต่อสู้ในแนวไหน หรือจะไม่ประกันตัวต่อไป" น.ส.ธีรพิมลกล่าว และว่า ส่วนเหตุผลที่นักศึกษา 14 คน ไม่ประกันตัวนั้น เพราะคิดว่ากิจกรรมที่ทำตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ ไม่ได้ทำอะไรผิดและต้องการจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คือการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิเสรีภาพของคนในระบอบประชาธิปไตยสามารถออกมาแสดงความคิดเห็นได้ ขณะนี้นักศึกษาทั้ง 14 คน อยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน วันที่ 3 กรกฎาคม พนักงานสอบสวนนัดสอบสวน โดยมีทนายความมาร่วมฟังการสอบสวนด้วย หากการสอบสวนยังไม่สามารถสรุปสำนวนได้ ทางพนักงานสอบสวนคงขอฝากขังในผลัดที่ 2 ต่อไป
@ เผยอากาศร้อนบางคนท้องเสีย
น.ส.ปองขวัญกล่าวว่า จากการเข้าเยี่ยมนักศึกษาทุกคนยังมีกำลังใจดี และมีความคาดหวังให้คนที่อยู่ข้างนอกสู้ต่อไป และเคลื่อนขบวนกันได้อย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อน อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่น่าเป็นห่วงของนักศึกษาทั้ง 14 คน คือขณะนี้บางคนเริ่มมีอาการท้องเสีย และข้างในเรือนจำอากาศร้อน จึงอยากให้คนที่มาเยี่ยมซื้อน้ำดื่มเย็นหรือน้ำแข็งมาเยี่ยมด้วย นักศึกษา 14 คนอยากให้คนข้างนอกต่อสู้กันอย่างเต็มที่ตามหลักการ 5 ข้อ และขออย่าเป็นห่วงคนข้างใน เพราะพวกเขาไม่อยากให้เป็นห่วงจนคนข้างนอกไม่สามารถขับเคลื่อนอะไรได้ พร้อมทั้งอยากให้คนข้างนอกรวมกันเป็นกลุ่มและพยายามต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่อยากจะเห็นคือเรื่องของความเสมอภาค การมีส่วนร่วมและประชาธิปไตย
น.ส.ปองขวัญกล่าวว่า ส่วนกรณีคณาจารย์จะร่วมกันจัดตั้งห้องเรียนสาธารณะ อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมแผน จะนำแนวทางการต่อสู้หลักการ 5 ข้อ ของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่มาเป็นประเด็นในการจัดเสวนา จัดอบรมห้องเรียนสาธารณะ โดยจะประสานไปยังองค์กรหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองท่าทีของรัฐบาลในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาที่ปฏิเสธในเรื่องนี้อย่างไร น.ส.ปองขวัญกล่าวว่า "เป็นท่าทีที่เราคาดหวังไว้อยู่แล้วว่าจะต้องออกมาในแนวนี้ เพียงแต่คำถามสำคัญคือ เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้ และในโลกทุกวันนี้เขาเรียกร้องให้ยึดถือหลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิในการแสดงออก ถ้าเรายังอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ต่อไป เราจะยืนอยู่ในสังคมโลกได้อย่างไร และหากมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ รัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไร แต่ท่าทีของรัฐบาลชุดนี้ เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว เพราะไม่ได้เชื่อในเรื่องของประชาธิปไตยอยู่แล้ว"
@ ลูกเกดยันไม่ขอประกันตัว
ขณะเดียวกัน นายธิกานต์ ศรีนารา อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เดินทางไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อเยี่ยม น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด 1 ใน 14 นักศึกษาที่ถูกจับกุม นายธิกานต์กล่าวว่า น.ส.ชลธิชามีปัญหาเรื่องสุขภาพ เจ้าหน้าที่จึงให้อยู่ในแดนพยาบาล ตอนนี้มีอาการเจ็บขา และขอยาจากเจ้าหน้าที่ แต่ยังไม่ได้รับตั้งแต่วันที่ถูกคุมขังกระทั่งวันนี้ การเยี่ยมของทัณฑสถานหญิงกลางค่อนข้างเข้มงวดกว่าเรือนจำ จำกัดจำนวนการเยี่ยมไม่เกิน 5 คน ต้องลงชื่อเยี่ยมก่อนล่วงหน้า และไม่สามารถเปลี่ยนชื่อหรือบุคคลอื่นที่ไม่ได้ลงชื่อเข้าเยี่ยม และวันเสาร์อาทิตย์ไม่เปิดให้เยี่ยม เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาพ่อแม่ของ น.ส.ชลธิชามาเยี่ยมให้กำลังใจ ยังคงยืนยันในแนวทางการต่อสู้ ไม่ขอประกันตัว เพราะลูกเกดคิดว่าไม่ได้ทำอะไรผิด ตอนนี้สภาพร่างกายจิตใจยังดี แต่ในระยะยาวยังไม่แน่ใจ เพราะนิสัยส่วนตัวของ น.ส.ชลธิชาจะรับประทานน้อย ทำให้ร่างกายผอม และไม่รู้จักกับใคร อาจเกิดปัญหาเครียดได้ และตอนนี้เวลาอยู่ข้างในเกิดปัญหา ชุดชั้นในหายเกือบทุกวัน บ่อยมาก ทางญาติต้องจัดหามาให้ตลอด อย่างไรก็ตาม ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการแยกขังนักศึกษาเพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะเครียด
@ อจ.ชี้ขังรวมอาชญากรไม่เป็นธรรม
นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวภายหลังการเข้าเยี่ยมนักศึกษาว่า ตนเป็นอาจารย์สอนนายรัฐพล ศุภโสภณ บอกกับนายรัฐพลว่าจะช่วยดูแลเรื่องการเรียนให้ สภาพจิตใจของนักศึกษายังมีกำลังใจดี มีทั้งครอบครัว เพื่อน รวมถึงอาจารย์สลับสับเปลี่ยนกันมาเยี่ยมทุกวัน นักศึกษากลุ่มนี้มีอุดมคติของตัวเอง ไม่ใช่อาชญากร การนำนักศึกษาเหล่านี้มาควบคุมอยู่ร่วมกับอาชญากรข้างใน คิดว่าไม่เป็นธรรม เพราะสิ่งที่นักศึกษากลุ่มนี้ได้แสดงความคิดเห็นเป็นไปโดยสุจริต หวังจะให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นเสรีภาพสามารถทำได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้เริ่มมีบางกลุ่มแสดงความคิดเห็นต่อต้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่มองว่าอย่างไร นายพิชิตกล่าวว่า ทุกกลุ่มสามารถแสดงความคิดเห็นได้เช่นกัน แต่สิ่งที่ควรระมัดระวังคือไม่ควรมีการยุยง ก่อกวน ทำร้ายร่างกาย หรือข่มขู่กลุ่มคนที่มีความคิดเห็นต่าง ในอดีตเมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา มีการจัดตั้งฝ่ายตรงข้ามมาข่มขู่และใช้วิธีการทำร้ายร่างกาย ทำให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก และทำให้เกิดความแตกแยก คสช.ควรพิจารณารับฟังข้อเรียกร้องของคณะอาจารย์หลายสถาบัน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ขอให้มีการปล่อยนักศึกษาทั้งหมดและยุติการดำเนินคดี เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเข้าใจในเรื่องของสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ เชื่อว่าต่อไปในอนาคตจะมีหลายองค์กรออกมาเรียกร้องแสดงความคิดเห็นให้ปล่อยนักศึกษามากขึ้น
@ จุดเทียนหน้าคุกจี้ปล่อยตัว14นศ.
ต่อมาเวลา 20.00 น. ประชาชนประมาณ 50 คน รวมตัวหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ร่วมกันจัดกิจกรรมจุดเทียนสันติภาพ ให้กำลังใจกลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ พร้อมด้วยทหารและเจ้าหน้าที่เรือนจำคอยดูแลความสงบเรียบร้อยกว่า 10 นาย กิจกรรมครั้งนี้มีนายสิรวิชช์ เสรีธิวัฒน์ พร้อมด้วยนายพันศักดิ์ ศรีเทพ แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ และนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด อาสาสมัครพยาบาลที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 เข้าร่วมด้วย จากนั้นประชาชนที่เดินทางมาร่วมกิจกรรม ซึ่งจัดขึ้นบริเวณด้านหน้าป้ายเรือนจำพิเศษฯ ร่วมกันร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา บทเพลงของสามัญชนเพื่อมวลชน พร้อมจุดเทียนและปักบริเวณหน้าป้ายเรือนจำพิเศษเป็นตัวเลข "14" เพื่อเป็นการให้กำลังใจนักศึกษาทั้ง 14 คน
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะแยกย้ายกันเดินทางกลับประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมได้ตะโกนคำว่า "เราคือเพื่อนกัน เราไม่ทิ้งกัน" ทั้งนี้ นายสิรวิชช์ได้ระบุว่า ในวันที่ 2 กรกฎาคม เวลา 20.00 น. จะมาทำกิจกรรมจุดเทียนอีก และจะจัดกิจกรรมต่อไปจนกว่านักศึกษาจะได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข
@ "นศ.มธ.-สนนท."นอนคุกจำลอง
ที่ลานกำแพงประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเพื่อน 14 นักศึกษา อันประกอบไปด้วย กลุ่มธรรมศาสตร์เสรี เพื่อประชาธิปไตย (LLTD) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ภายใต้ชื่อ "ปลดปล่อยพันธนาการ สู่จิตวิญญาณเสรี" โดยมีนักศึกษาร่วมกันติดคุกกับกรงขัง (จำลอง) เพื่อแสดงเจตจำนงต่อสู้ร่วมกับนักศึกษา 14 คนที่ถูกจับกุมในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมทั้งให้ศาลทหารปล่อยนักศึกษาที่ถูกจองจำโดยไม่มีเงื่อนไข
ทั้งนี้การทำกิจกรรมดังกล่าว ทาง พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รอง ผบก.น.1 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักงานเขตพระนคร ได้เจรจากับนักศึกษาให้เก็บอุปกรณ์เพราะกีดขวางการจราจรทางเท้า และจะต้องทำเรื่องขออนุญาตสำนักงานเขตพระนคร พร้อมกันนี้ยังได้เสนอให้ไปจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยแทน ทางนักศึกษาก็ยินยอม พร้อมทั้งประสานไปยังนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดี ฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์ ก่อนจะไปจัดกิจกรรมที่บริเวณลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายปิยรัฐ จงเทพ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จัดกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยเพื่อนทั้ง 14 คน โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเพื่อนได้รับคำสั่งปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อใด ทุกคนก็ได้รับอิสรภาพด้วยกันเมื่อนั้น กิจกรรมนี้ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีที่สุดเท่าที่ทำได้เวลานี้ ถ้าเคลื่อนไหวอะไรนอกเหนือจากนี้ก็อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้
@ มข.ขึ้นป้ายให้กำลังใจ 14 นศ.
ที่บริเวณหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มข. และอาจารย์ ประมาณ 30 คน รวมตัวกันพร้อมป้ายกระดาษแผ่นใหญ่ 3 แผ่น นำมาเขียนข้อความให้กำลังใจนักศึกษา 14 คน ที่ถูกคุมขัง โดยนำมาติดที่หน้าคณะ จากนั้นร่วมกันร้องเพลงสามัญชน ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับ
นายวิชชากร อนุชน หรือฟลุ๊ค นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มข. กล่าวว่า ได้รวมตัวกันทำกิจกรรมเรียบง่าย เพื่อให้กำลังใจเพื่อนทั้ง 14 คน ที่อยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยฝากถึงเขาเหล่านั้นว่า คนอยู่ข้างนอกไม่ได้ทิ้งพวกเขาไปไหน แต่ยังยืนยันว่าจะสู้ โดยไม่มีการปราศรัย เป็นเพียงการทำกิจกรรมสนับสนุนกิจกรรมของเพื่อนทั้ง 14 คน สิ่งที่ทำไม่ผิดกฎหมาย ส่วนจะมีนักศึกษามาเท่าใดนั้นตนไม่ทราบ นักศึกษาและประชาชนทุกคนมาด้วยใจมาให้กำลังใจเท่านั้นโดยไม่มีแกนนำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศรอบๆ บริเวณคณะนิติศาสตร์ มข. มี พล.ต.ต.จิตรจรุญ ศรีวนิชย์ ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น พร้อมด้วย พ.ต.อ.นพดล เพ็ชรสุทธิ์ ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น พ.ต.ท.อนุศักดิ์ ศักดาวัชรานนท์ รอง ผกก.ปป. พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้ากองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยพื้นที่ขอนแก่น นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร มาคอยดูแลความเรียบร้อย โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ
@ "จีน"โพสต์"ทหาร-ตร."บุกบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.พุธิตา ชัยอนันต์ หรือ "จีน" นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เคยประท้วง กกต.ในการจัดเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Phuthita Chaianun" ระบุว่า เล่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา แขกที่มาเยี่ยมบ้านจีนมากัน 5 คน ทหาร 2 คน ตำรวจ 2 คน ผู้ใหญ่บ้าน 1 คน นี่ยังไม่นับถึงคนที่นั่งรถกระบะปิกอัพที่ซุ่มแอบถ่ายรูปอยู่ด้านหลังของบ้าน และรถเก๋งที่มาถ่ายรูปตั้งแต่เช้า ทุกคนแต่งชุดนอกเครื่องแบบทั้งหมด บอกกับน้องสาวจีนว่ามาหาจีน พอดีว่าน้องสาวจีนอยู่บ้านคนเดียวก็ไม่ยอมให้เข้ามาในบ้าน หมาที่บ้านก็ไม่ยอมให้เข้า จนพ่อแม่กลับบ้านก็ได้พูดคุยกัน เขาบอกกับพ่อแม่ว่า พวกเขารู้หมดนะว่าใครทำอะไร แล้วเอารูปภาพจีนที่ทำกิจกรรม ภาพที่ไปกินข้าวกับอาจารย์ มาให้ดูบอกว่ารู้หมด แล้วเอาภาพน้องสาวของจีนทั้งสองคนมาพร้อมกับพูดชื่อจริงของน้องสาว เขาบอกพ่อกับแม่ว่าเขาเป็นห่วงอนาคตจีน กลัวจะเสียอนาคต ตอนนี้ทหารตำรวจก็วิ่งกันวุ่นเลย บอกว่าขออย่าเคลื่อนไหวอะไรอีก ปล่อยให้ผู้นำทำตามโรดแมปก่อน "ขอฝากไปถึงทหารนะคะ จีนเป็นคนธรรมดาไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ไม่มีกองกำลัง ไม่น่ากลัวอะไรหรอก อย่าดึงเพื่อน ครอบครัว คนรอบตัวจีนที่ไม่เกี่ยวข้องมาขู่ แบบนี้ไม่ดีนะคะ และไม่ต้องมาบอกว่าเป็นห่วงอนาคตนักศึกษา เป็นห่วงอนาคตพวกเราหรอก ถ้าประเทศชาติมันไม่ดี อนาคตพวกเราจะดีได้อย่างไร" น.ส.พุธิตาโพสต์ข้อความ
@ "เต้น"ค้านนิรโทษนศ.เหตุไม่ทำผิด
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การคุมขังนักศึกษาโดยกล่าวอ้างกฎหมายอยู่ตลอดเวลานั้น เป็นการสะท้อนภาวะแห้งแล้งในจิตใจผู้มีอำนาจ เพราะกฎหมายในหลักการประชาธิปไตยต้องชอบธรรมตั้งแต่ขั้นตอนยกร่าง อำนาจเดียวที่ทำได้คืออำนาจอธิปไตยของประชาชน ข้อกล่าวหาจากรัฐบาลอำนาจพิเศษว่า การเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาเป็นเรื่องผิดกฎหมายนั้น จึงไม่มีทางได้รับการยอมรับ และสุ่มเสี่ยงจะบานปลาย เนื่องจากสิ่งที่ใช้อยู่แท้จริงแล้วไม่ใช่กฎหมาย แต่คืออำนาจที่ยึดไปตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลจำเป็นต้องปรับวิธีคิดว่า การเคลื่อนไหวแบบนี้เป็นความจริงที่ต้องเกิดขึ้น และนักศึกษาไม่ใช่ศัตรู ไม่ใช่ขบวนการรับจ้างที่ไหน อย่าแบ่งแยกความดีหรือไม่ดีของเยาวชนเพียงแค่ใครเชียร์หรือไม่เชียร์รัฐบาล สิ่งที่ควรทำเร่งด่วนคือ การปล่อยตัวทั้ง 14 คนโดยไม่ดำเนินคดีใดๆ การยืนกรานรักษากฎหมายจากคณะที่ลงมือฉีกรัฐธรรมนูญไม่ใช่คำอธิบายที่สังคมประชาธิปไตยจะเข้าใจได้ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ใช้มาตรา 44 นิรโทษกรรม เพราะสิ่งที่นักศึกษากลุ่มนี้ทำไม่ใช่ความผิด เมื่อไม่ผิดจะต้องนิรโทษกรรมเรื่องอะไร หรือหากศาลทหารจะตัดสินว่าผิด กระบวนการในคดีนี้ก็เกิดแผลเป็นรอยใหญ่ไปแล้วตั้งแต่การเปิดศาลยามวิกาลเพื่อส่งเข้าเรือนจำ
@ จี้แจงชัดแก้-ไม่แก้เพราะเหตุใด
ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เป็นการพิจารณาบทบัญญัติเป็นรายมาตราต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 เข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 64 ว่าด้วยสิทธิของพลเมืองจะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นธรรมในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ดีและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตนย่อมได้รับความคุ้มครอง ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะเลขานุการฯ ได้รายงานต่อประธานในที่ประชุมว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญลงรายมาตราเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ คาดว่าจะสามารถพิจารณาจบในมาตราที่ 72 ว่าด้วยพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้มีมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่น
ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ ได้ระบุถึงแนวทางการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นไปตามกรอบ โดยมีข้อเสนอว่าให้นำคำขอแก้ไขของกลุ่มต่างๆ เมื่อพิจารณาแล้วควรอธิบายเหตุของการขอแก้ไขให้ชัดว่า กมธ.ยกร่างฯยอมแก้ไขหรือไม่ ปรับแก้เพราะอะไร เพื่อจะได้ไม่ต้องนำคำขอพิจารณาแล้วกลับมาพิจารณาเพื่อจะได้เป็นการย่นระยะเวลาในการพิจารณาให้สั้นลง
@ เคาะคงหลักป้องผลกระทบสวล.
ทั้งนี้ ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯมีความเห็นร่วมกันในการคงหลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกมาตรา 64 เอาไว้ตามเดิม มาตรา 64 เป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการให้สิทธิพลเมืองจะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นธรรม และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ดีและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่ได้มีการปรับแก้ไขถ้อยคำบางประการ เช่น การกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน ซึ่งกระทำโดยอิสระเป็นกลางและตามหลักวิชาการ จากเดิมร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้การศึกษาผลกระทบดังกล่าวต้องกระทำโดยบุคคลซึ่งไม่ได้มีส่วนได้เสียเท่านั้น ซึ่งการแก้ไขในลักษณะนี้เป็นการวางหลักประกันว่าการสำรวจผลด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต้องกระทำอย่างมีหลักการไม่ใช่ทำในลักษณะเป็นพิธีกรรมให้ครบถ้วนตามกฎหมายโดยไม่ได้คำนึงถึงหลักวิชาการ
@ เปิดช่องปชช.นั่งกมธ.ร่วมออกกม.
ขณะที่มาตรา 65 ว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการรับรู้และแสดงความเห็นในวรรคหนึ่งได้ตัดรายละเอียดคำขยายความออก และมาตรา 66 ว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาชน แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐต่อรัฐสภา ได้เพิ่มสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายในส่วนของ กมธ.ร่วมรัฐสภาจากเดิมกำหนดให้เพียง กมธ.ของสภาผู้แทนราษฎร และ กมธ.ของวุฒิสภาเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในการพิจารณาของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของ สปช.นั้น ที่ประชุมได้รับหลักการของการเพิ่มมาตรา 63/1 ตามข้อเสนอ สปช.กลุ่มที่มีนายประสาร มฤคพิทักษ์ เป็นผู้นำยื่นฯ สาระสำคัญคือ ให้สิทธิพลเมืองเข้าถึงสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีสิทธิเรียกร้องหรือสิทธิทางศาลในกรณีติดตามสาธารณสมบัติของแผ่นดินคืนจากผู้ครอบครอง หรือใช้สิทธิในสาธารณสมบัติโดยมิชอบ ไว้พิจารณาด้วย
@ กมธ.ยกร่างฯแก้แล้ว 72 มาตรา
นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการพิจารณาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราตามคำขอแก้ไขและข้อเสนอของภาคส่วนต่างๆ ว่า ขณะนี้ที่ประชุมได้พิจารณาในภาค 1 ว่าด้วยรากฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขที่มีทั้งสิ้น 72 มาตราครบแล้ว มีประเด็นปรับแก้ไขสำคัญ อาทิ ในมาตรา 67 ว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการร่วมออกเสียงประชามติ ที่ประชุมได้ปรับถ้อยคำวรรคสองให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติเป็นมติเพื่อตัดสินปัญหาหรือเรื่องที่ได้ดำเนินการออกเสียงประชามติ โดยตัดคำว่าเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติออก และให้นำเกณฑ์การออกเสียงดังกล่าวไปเขียนไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติแทน ขณะที่มาตรา 71 ว่าด้วยการให้มีสภาตรวจสอบภาคพลเมืองในแต่ละจังหวัด ที่ประชุมมีมติให้ตัดออกทั้งมาตราและเขียนเนื้อหาขึ้นใหม่ โดยนำไปบัญญัติไว้ในมาตรา 68/1 มีสาระสำคัญคือ บุคคลมีสิทธิเฝ้าระวังและตรวจสอบการกระทำและการทำหน้าที่ของผู้นำทางการเมือง รวมถึงมีสิทธิรวมตัวเพื่อดำเนินการตรวจสอบได้
@ ตัดทิ้ง"สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ"
นายไพบูลย์กล่าวว่า สำหรับในภาค 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง ได้พิจารณารายมาตราไปจนถึงมาตรา 74 โดยที่ประชุมได้ปรับแก้ไขในส่วนของมาตรา 74 ที่กำหนดให้มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมและกำกับมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้นำการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยที่ประชุมได้ตัดรายละเอียดของบทบัญญัติดังกล่าวออก รวมถึงการกำหนดให้มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติด้วย และปรับถ้อยคำใหม่ โดยมีสาระสำคัญคือ การมีกลไกในการกำกับและตรวจสอบมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้นำทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยรายละเอียดจะนำไปเขียนไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป เบื้องต้นกลไกที่ตรวจสอบนั้นอาจให้หน่วยงานที่กำกับเจ้าหน้าที่หรือผู้นำทางการเมืองเป็นผู้ทำหน้าที่
นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้มีการหารือในวาระเร่งด่วนคือ การตั้งคณะอนุ กมธ.เพื่อดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป โดยมี นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นประธานอนุ กมธ.ฯ ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะเร่งทำหนังสือและส่งไปยังนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เพื่อขอให้ส่งตัวแทน สปช.เข้าร่วมทำงานเพื่อยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปให้แล้วเสร็จพร้อมกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคาดว่าจะส่งเป็นกฎหมายประกบพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ สปช.พิจารณา
@ อัยการแถลงค้านร่างรธน.ม.228
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ นางชนิญญา ชัยสุวรรณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีปกครอง แถลงกรณีการคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในมาตรา 228 ว่า ทางอัยการได้แสดงจุดยืนในการคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญหลายประเด็น ขณะนี้รวบรวมรายชื่ออัยการแล้วเกือบ 489 คน และร่างจดหมายเปิดผนึกเพื่อส่งถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย สปช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียบร้อยแล้ว เพื่อขอให้ทบทวนแก้ไข
@ กมธ.เป็นนักวิชาการไม่เข้าใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นางชนิญญา ชัยสุวรรณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครอง เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายชื่ออัยการทั่วประเทศถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ทบทวนการปฏิรูปโครงสร้างคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ด้วยตนเอง ภายหลังยื่นหนังสือ นางชนิญญากล่าวว่า หากมีโอกาสจะเข้าชี้แจงต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าวตนยินดี เพราะเข้าใจว่าในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ ยังขาดความเข้าใจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโดยตรง และเข้าใจว่าแม้การเขียนสาระในร่างรัฐธรรมนูญเพื่อต้องการเปิดกว้าง มีอิสระ และโปร่งใส แต่ในบางกรณีทำให้มีผลกระทบต่อคดีได้ และความปลอดภัยของผู้ที่เกี่ยวข้องในคดี
@ หมอรัชตะเปลี่ยนใจตั้ง"นพ.อำนวย"รักษาการปลัด
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวว่ามีการลงนามให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ย้ายกลับดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า เป็นการลงนามในข้อสรุป โดยให้ไปดำเนินการต่อให้ชัดเจนมากขึ้น และถ้ามีความชัดเจนมากขึ้น ก็ให้กลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม โดยมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปดูแลในเรื่องดังกล่าว โดยให้ไปนำผลสอบสวนมาวิเคราะห์ว่าจะสรุปอย่างไร เพราะมีการสรุปว่ามีเหตุการณ์ไม่ปกติในกระทรวงสาธารณสุข