44-28

 

ยื่นประยุทธ์ค้านรธน. องคมนตรี ห่วง 2 ปม-หมวดศาล เขียนไม่ชัด-โดนแทรก ตร.ยึดมือถือ'14 นศ.' ขยายผล-หา'ผู้ชักใย'อจ.หนุน'ปชต.ใหม่'

     องคมนตรีค้านร่างรธน. 'ธานินทร์'ยื่นหนังสือถึง'บิ๊กตู่' ชี้เขียน'ความยุติธรรม'ความหมายไม่ชัด ระบุอันตรายถ้าให้คนนอกนั่ง ก.ต. 'บิ๊กโด่ง'มั่นใจจับ 14 น.ศ.ไม่บานปลาย ลั่นรู้ชื่อคนหนุนหลัง-เล็งเรียกคุย ตร.ขอหมายศาลค้นรถทนาย

ค้นรถ - ตำรวจยึดรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ซีอาร์วี ทะเบียน กค 9966 ยโสธร ของ น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่าความให้กับ 14 นักศึกษาที่ถูกจับกุม ที่ศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน (รูปเล็ก) ตรวจยึดมือถือนักศึกษา

 



โดนแซว - พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตรองนายกรัฐมนตรี ถูกหยอกล้อประเด็นหย่าร้างกับภรรยาจนทำให้ทรัพย์สินลดลงกว่า 300 ล้านบาท ระหว่างไปร่วมงานบวชลูกชายรอง ผอ.พรรคเพื่อไทย ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน



งานบวช - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมงานพิธีอุปสมบทนายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช บุตรชายของนายสาโรจน์ หงษ์ชูเวช รักษาการรองผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน

 

มติชนออนไลน์ :

 

 

@ ศาลทหารให้ฝากขังน.ศ.14 คน

     เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จำนวน 14 คน จากบ้านสวนเงินมีมา มูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กทม. เมื่อเย็นวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ก่อนนำตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพ เพื่อขอฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ว่าศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 13 คน และทัณฑสถานหญิงกลาง จำนวน 1 คน คือ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ขณะที่การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนที่มาให้กำลังใจบริเวณทางเข้าศาลทหารกรุงเทพ ได้ร่วมกันร้องเพลง จุดเทียน และสลายตัวในเวลา 00.20 น.

      นายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่าเรือนจำได้รับตัวนักศึกษาชาย 13 ราย ที่ชุมนุมทางการเมือง เมื่อเวลา 01.00 น. โดยเบื้องต้นทางเรือนจำได้ตรวจร่างกาย ทำประวัติ ผู้ต้องขังตามขั้นตอนของเรือนจำ และนำตัวทั้งหมดไปคุมขังยังแดนแรกรับ ส่วนนักศึกษาหญิง 1 ราย ถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ทั้งนี้ ได้กำชับให้เรือนจำดูแลในเรื่องความปลอดภัย ให้อยู่ในสายตาเจ้าหน้าที่ 

 

@ ส่งเจ้าหน้าที่คุย-เพื่อนแห่เยี่ยม

      ด้านนายอายุตม์กล่าวว่า นักศึกษาชายทั้ง 13 คน ถูกควบคุมอยู่ที่แดนแรกรับ มีการตรวจร่างกาย พบว่าบางคนป่วยเป็นหวัด บางคนมีบาดแผลที่เท้า เจ้าหน้าที่แดนพยาบาลได้ทำแผลให้เรียบร้อย และได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าทั้งหมดรับประทานอาหารที่ทางเรือนจำจัดให้ และอยู่พื้นที่ที่เรือนจำกำหนดในสายตาของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งมีพนักงานสอบสวนเข้ามาสอบปากคำเพิ่มเติม

     "บางคนมีอาการกังวลเล็กน้อยเกี่ยวกับการเรียนและการสอบไปเรียนต่อต่างประเทศ จึงให้เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ และนักสังคมสงเคราะห์ เข้าไปพูดคุยเพื่อผ่อนคลาย" นายอายุตม์กล่าว 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีญาติและเพื่อนนักศึกษาของกลุ่มผู้ต้องหาเดินทางมารอเยี่ยมประมาณ 10 คน โดยหนึ่งในนักศึกษาที่เดินทางมาเยี่ยม เปิดเผยว่า จะสอบถามเพื่อนว่า ต้องการความช่วยเหลือด้านใดบ้าง แต่เบื้องต้นทราบว่ากลุ่มผู้ต้องหาจะยังไม่ยื่นขอประกันตัว ส่วนความเคลื่อนไหวหลังจากนี้จะต้องหารือกันก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป 

 

@ ให้เพื่อนร่วมขบวนการรับไม้ต่อ

     เวลา 14.15 น. นายปิยรัฐ จงเทพ อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยหลังเข้าเยี่ยมเพื่อนนักศึกษาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯว่า จากการพูดคุย ทุกคนกำลังใจดี แม้บางรายอาจหดหู่กับการถูกนำมาคุมขัง แต่ฝากความห่วงใยและฝากถึงเพื่อนๆ ร่วมขบวนการเดียวกันว่าอย่าหยุด ต้องรับไม้ต่อ ดำเนินการเรียกร้องประชาธิปไตยให้ถึงที่สุด นอกจากนี้ ทั้ง 13 คน มีความกังวลถึงการแยกแดนขัง เพราะเกรงเจ้าหน้าที่จะแยกทั้ง 13 คนออกจากกัน บางคนกังวลว่าการที่ตำรวจเข้าตรวจค้นรถทนายความและบ้านกลุ่มนักศึกษา อาจยุ่งเกี่ยวหรือเคลื่อนย้ายพยานหลักฐานในคดีได้

      "ทั้ง 13 คน อยากให้พวกผมช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องอุปกรณ์การดำรงชีพในเรือนจำ อาทิ แปรงสีฟัน ที่นอน เสื้อผ้า ฯลฯ ส่วนเรื่องประกันตัวนั้น ทั้ง 13 คนยังยืนยันที่จะไม่ขอยื่นประกัน แต่หากเพื่อนๆ ที่ร่วมดำเนินการและมีแนวคิดเหมือนกันนั้นมีมติแล้วว่าต้องการให้ทั้ง 13 คนประกันตัวก็ยินดียื่นประกันตัวตามมติ โดยในส่วนความรับผิดชอบของทนายความนั้นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส จะเป็นทนายความให้ 7 นักศึกษา มธ. ขณะที่นายอานนท์ นำภา จะเป็นทนายความให้ 7 นักศึกษากลุ่มดาวดิน" นายปิยรัฐกล่าว

 

@ ไม่ให้ตำรวจสอบปากคำเพิ่ม

     นายปิยรัฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ จากการสอบถามทราบว่าช่วงเช้าที่ผ่านมาพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เข้ามาที่เรือนจำเพื่อขอสอบปากคำเพิ่มเติมนักศึกษาทั้งหมด แต่ทุกคนปฏิเสธที่จะให้ปากคำ เนื่องจากทนายความทั้งสองคนติดภารกิจต้องเจรจากับตำรวจกรณีเข้าตรวจค้นรถทนายความที่จอดไว้หน้าศาลทหารกรุงเทพ ทำให้ไม่สามารถมาฟังการสอบปากคำได้ นักศึกษาทั้งหมดยืนยันว่าจะให้ปากคำก็ต่อเมื่อมีทนายร่วมฟังการสอบด้วยเท่านั้น 

 

@ ปชต.ใหม่ลุยต่อตามกำปั้น5

     ที่สวนเงินมีมา มูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป เมื่อเวลา 18.00 น. ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ นำโดย น.ส.ลลิตา เพ็ชรพวง และ น.ส.กตัญญู หมื่นคำเรือง ออกแถลงการณ์กรณีนักศึกษา 14 คนถูกจับกุม ว่า ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษนชนและเสรีภาพในการแสดงออก ดังนั้นขบวนการประชาธิปไตยใหม่จะยืนยันที่จะดำเนินการต่อไปตามหลักการกำปั้น 5 ได้แก่ 1.หลักประชาธิปไตย ต้องให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียม 2.หลักความยุติธรรม เพื่อลดความขัดแย้งของสังคม 3.หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลต้องคืนอำนาจโดยเร็ว 4.หลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน 5.หลักสันติวิธี 

"การเคลื่อนไหวทั้งหมดทำด้วยมือเปล่า เท้าเปล่า ส่วนที่มีผู้กล่าวหาว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังเป็นพรรคหรือกลุ่มการเมืองนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง โดยเบื้องหลังของขบวนการประชาธิปไตยใหม่คือ ประชาชนผู้รักในสิทธิเสรีภาพ ไม่มีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝงแน่นอน" น.ส.ลลิตากล่าว และว่า เพื่อนนักศึกษาที่ขณะนี้อยู่ในเรือนจำมีกำลังใจดี และขบวนการประชาธิปไตยใหม่จะต่อสู้ต่อไป โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้ทำให้ท้อใจ แต่กลับมีไฟมากขึ้น 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นกลุ่มนักวิชาการและนักคิดนักเขียน ได้ประกาศร่างแถลงการณ์ของ "ประชาชนผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการประชาธิปไตยใหม่" โดยมีกลุ่มนักวิชาการและนักคิดนักเขียนร่วมลงชื่อ 53 ราย เช่น นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี นายเกษียร เตชะพีระ นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ ฯลฯ

 

@ ตำรวจล็อกรถทนายขอค้น 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ฝากขัง 14 นักศึกษา และนำตัวไปควบคุมเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 13 คน และทัณฑสถานหญิงกลาง 1 คนนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอตรวจค้นรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ซีอาร์วี ทะเบียน กค 9966 ยโสธร ของ น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ อายุ 29 ปี ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่จอดอยู่บริเวณศาลทหารกรุงเทพ โดยอ้างว่าจะตรวจค้นเครื่องมือสื่อสารและสิ่งของเครื่องใช้ของกลุ่มนักศึกษาที่ฝากไว้กับทีมทนาย แต่ทางทีมทนายความไม่ยินยอม โดยตำรวจยืนยันว่าจะตรวจค้นและได้เรียกรถยกเพื่อจะนำไปยัง สน.ชนะสงคราม จนเกิดมีการโต้เถียงกัน กระทั่งตำรวจยอมตกลงที่ไม่ยกรถไปยัง สน.ชนะสงคราม แต่ให้จอดไว้ที่เดิม และจะตรวจค้นในช่วงเช้าวันที่ 27 มิถุนายน โดยจะเชิญเจ้าของรถมาร่วมด้วย จากนั้นตำรวจล็อกล้อรถ พร้อมใช้กระดาษปิดบริเวณที่เปิดประตูรถทุกประตู เพื่อยืนยันว่าจะไม่มีการเปิดประตูรถจนกว่าจะถึงช่วงเช้า โดยทางทีมทนายตัดสินใจนอนค้างคืนอยู่ที่หน้าศาลทหารกรุงเทพเพื่อเฝ้ารถ

 

@ ทนายแจ้งตร.ผิดมาตรา 157

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีเจ้าหน้าที่มาแจ้งกับสื่อมวลชนว่าไม่อนุญาตให้มีการบันทึกภาพระหว่างการตรวจค้น และยังได้เชิญผู้สื่อข่าวออกไปรออยู่ที่บริเวณทางศาลหลักเมืองแทน และต่อมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแจ้งความคืบหน้าว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ โทรศัพท์มาว่าได้หมายค้นจากศาลแล้ว นัดให้เจ้าของรถไปพบเพื่อตรวจหาและยึดสิ่งของที่นักศึกษาฝากไว้ในเวลา 11.30 น. แต่เมื่อถึงเวลา ไม่มีเจ้าหน้าที่นำหมายค้นมาแสดง กระทั่งเวลา 12.45 น. ทนายความและ น.ส.ศิริกาญจน์ ได้เดินทางไปแจ้งความที่ สน.ชนะสงคราม เพื่อเอาผิดกับตำรวจ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากตำรวจไม่มีอำนาจยึดรถ

 

@ โชว์หมายค้น-ยึดโทร5เครื่อง

     เมื่อเวลา 15.00 น. พ.ต.อ.ชุมพล ชาญชนะโยธิน ผกก.สน.สำราญราษฎร์ พร้อม พ.ต.อ.สุริยา จำนงโชค พนักงานชำนาญการพิเศษ สน.สำราญราษฎร์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน ได้นำหมายตรวจค้นของศาลอาญาเพื่อขอเข้าตรวจสอบสิ่งของภายในรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ซีอาร์วี ทะเบียน กค 9966 ยโสธร โดย พ.ต.อ.สุริยาได้ชี้แจงว่าเพื่อตรวจสอบว่ามีสิ่งผิดกฎหมายหรือไม่ รวมถึงขอค้นสิ่งของที่เป็นของ 14 นักศึกษาที่ถูกจับกุมตัว เพื่อนำไปเป็นพยานหลักฐานประกอบสำนวนคดี ขณะที่ น.ส.ศิริกาญจน์และทีมทนาย ยืนยันว่ายินดีให้ความร่วมมือ โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่อนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์จากทั้งสองฝ่าย

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังใช้เวลาตรวจค้นเกือบ 1 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดโทรศัพท์มือถือ 5 เครื่อง ของนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ไว้ โดยทีมทนายได้ร้องขอให้มีการจดบันทึกรหัสเครื่องเอาไว้ 

 

@ ทนายสาวเข้าให้ปากคำ

    ต่อมาเวลา 17.00 น. ที่ สน.ชนะสงคราม น.ส.ศิริกาญจน์เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้ปากคำ หลังจากที่พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ นำหมายค้นศาลอาญาเข้าตรวจค้นภายในรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ซีอาร์วี ทะเบียน กค 9966 ยโสธร ที่จอดบริเวณข้างศาลทหารกรุงเทพ ยึดโทรศัพท์มือถือ 5 เครื่อง ไปตรวจสอบ โดย น.ส.ศิริกาญจน์กล่าวว่า หลังจากที่ตำรวจและทหารร่วมกันจับกุมตัวกลุ่มนักศึกษา 14 คน นำไปสอบปากคำที่ สน.พระราชวัง ก่อนนำส่งศาลทหารกรุงเทพ ทีมทนายทั้งหมดจึงไปที่ศาลทหารกรุงเทพ โดยจอดรถไว้บริเวณด้านข้างศาลทหารกรุงเทพ กระทั่งเวลา 00.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจขอเข้าตรวจค้นภายในรถ โดยให้เหตุผลว่าต้องการตรวจสอบหาหลักฐานเกี่ยวกับคดี เพราะในรถมีโทรศัพท์ของนักศึกษาที่ถูกจับกุม แต่ตนไม่อนุญาตให้ตรวจค้นเนื่องจากไม่มีหมายค้น รวมทั้งในฐานะทนายความต้องรักษาสิทธิและสมบัติของลูกความ เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจนำแผ่นกระดาษเอ 4 มาปิดประตูรถทั้ง 5 ประตู 

     ด้าน น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ หนึ่งในทีมทนายความ กล่าวว่า ทีมทนายยินยอมให้ตรวจค้นรถและนำโทรศัพท์ไปตรวจสอบ แต่สิ่งที่ไม่เข้าใจคือ เหตุใดตำรวจจึงไม่นำโทรศัพท์ใส่ถุงซีลให้เรียบร้อย แต่กลับนำใส่ถุงซิปรูดธรรมดาและขี่จักรยานยนต์ออกไปจากที่เกิดเหตุทันที จนเวลาผ่านไปประมาณ 10 นาที จึงนำโทรศัพท์ทั้ง 5 เครื่องมาคืน แล้วเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานจึงนำใส่ในถุงซีล ซึ่งคิดว่าไม่ถูกต้อง อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลบางอย่างในโทรศัพท์ได้ 

 

@ ส่งโทรศัพท์ให้พฐ.ตรวจสอบ

      พ.ต.อ.สุริยา จำนงโชค พงส.ผทค.สน. สำราญราษฎร์ กล่าวว่า เป็นผู้ไปขอหมายค้นและนำหมายค้นไปตรวจค้นรถของ น.ส.ศิริกาญจน์ โดยสาเหตุที่ต้องมาลงบันทึกประจำวันและสอบปากคำเบื้องต้น เนื่องจากบริเวณที่ น.ส.ศิริกาญจน์จอดรถเป็นพื้นที่เขตรับผิดชอบของ สน.ชนะสงคราม ส่วนที่เกิดข้อกังขาว่า เหตุใดตำรวจจึงนำโทรศัพท์ใส่ถุงซิปธรรมดาแล้วขี่จักรยานยนต์ออกไปนั้น เพราะตำรวจคนดังกล่าวเข้าใจผิด โดยก่อนหน้านี้มีการตกลงกันว่าจะนำของที่ตรวจยึดมาลงบันทึกประจำวันที่ สน.ชนะสงคราม แต่ตำรวจคนดังกล่าวเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งภายหลังได้โทรศัพท์เรียกตัวให้นำโทรศัพท์ทั้งหมดกลับมาใส่ถุงซีลให้เรียบร้อย ณ จุดตรวจค้น

      "พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) และตัวแทนทนายความได้เป็นพยานในการนำโทรศัพท์ที่ตรวจยึดได้ใส่ในถุงซีลปิดอย่างมิดชิด พร้อมลงลายมือชื่อกำกับเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย โดยจะนำส่ง พฐ.ตรวจสอบในวันที่ 29 มิถุนายน เวลา 13.00 น." พ.ต.อ.สุริยากล่าว

      รายงานข่าวแจ้งว่า เหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของกลุ่มนักศึกษา เพื่อต้องการใช้หลักฐานประกอบคดี และภายในโทรศัพท์อาจจะมีข้อมูลที่เป็นความผิดในข้อหาอื่นๆ อีก รวมทั้งอาจจะมีความเชื่อมโยงถึงบุคคลที่รัฐบาลระบุว่ามีบุคคลอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา

 

@ 'บิ๊กโด่ง'มั่นใจไม่บานปลาย

      พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ก่อนลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ว่า เชื่อว่าการจับกุมนักศึกษา 14 คน จะไม่มีเรื่องบานปลายอะไร โดยเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเห็นว่าเข้าข่ายความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 83 จึงต้องดำเนินการ ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ

      "สำหรับผู้ที่สนับสนุนขอให้หยุด เพราะรู้กลุ่ม รู้ชื่อ รู้เสียง เดี๋ยวจะต้องมีการพูดคุยกัน ผมบอกไว้เสียก่อน พอเถอะครับ ก็รู้นามสกุลกันหมดแล้ว อย่าไปทำเช่นนั้นเลย ขณะนี้ทุกคนพึงพอใจที่จะให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเดินหน้าไป ปัญหาของรัฐบาลมีมากหลายอย่างต้องอาศัยความร่วมมือกันแก้ปัญหา" พล.อ.อุดมเดชกล่าว

 

@ ฮิวแมนฯจี้เลิกจับกุมนักศึกษา

     นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรต์สวอตช์ระบุว่า รัฐบาลไทยควรต้องยุติการจับกุมและดำเนินคดีกับนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวทันที รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกควรช่วยกันกดดันรัฐบาลไทยให้ยุติการปราบปรามและเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

     แถลงการณ์ของฮิวแมนไรต์สวอตช์ยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การจับกุมครั้งล่าสุดนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่ารัฐบาลไทยไม่ตั้งใจที่จะผ่อนปรนการปกครองอย่างกดขี่ ขณะที่กฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนสากลซึ่งสะท้อนอยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์) ซึ่งไทยให้สัตยาบันเมื่อปี พ.ศ.2539 ปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสันติ

      ขณะที่เอเอฟพีรายงานว่า นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์สวอตช์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การตั้งข้อหากับนักศึกษาทั้ง 14 คน สะท้อนให้เห็นถึงการขยายวงของการปราบปรามที่รุนแรงขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร และยังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความตั้งใจจะคืนประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศ

 

@ 'เต้น'จี้ปล่อยตัวหวั่นตึงเครียด

      นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ให้สัมภาษณ์ว่า โดยส่วนตัวไม่รู้จักนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และพยายามระมัดระวังท่าทีไม่ให้ใครบิดเบือนว่าฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่เบื้องหลัง แต่ขอชื่นชมขบวนการนี้ และเห็นว่าสิ่งที่แสดงออกนั้นเป็นวาระสากลที่คนทั่วโลกยอมรับ ดังนั้นอย่าพยายามสร้างประเด็นเบื้องหลังมาทำลายเครดิตเด็กเลย แค่พวกเขาเห็นอำนาจเผด็จการอยู่เบื้องหน้า การออกมาต่อต้านจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ ขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจเปลี่ยนวิธีปฏิบัติ คืนอิสรภาพให้เยาวชนเหล่านี้ในทันที เพื่อไม่ให้สถานการณ์ตึงเครียดไปกว่านี้ 

     นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เมื่อศาลทหารเปิดทำการกลางดึกเพื่อนำนักศึกษาเข้าคุกได้ ก็น่าจะทำการในวันหยุดเพื่อนำออกมาได้เช่นกัน เชื่อว่าไม่มีใครต้องการเผชิญหน้าหรือสร้างความรุนแรงขึ้นในประเทศ แต่ประเด็นเรื่องประชาธิปไตยกับเผด็จการเป็นปัญหาหลักการใหญ่ ที่ผู้มีอำนาจต้องเข้าใจว่ามิอาจอนุโลมเป็นเรื่องเดียวกันได้ สิ่งที่ควรทำคือใช้ความเมตตานำหน้าอำนาจ และยอมรับความจริงว่าอนาคตของประเทศไทยคือประชาธิปไตย ไม่ใช่รัฐประหาร

 

@ 'ปู-อดีตส.ส.พท.'ร่วมงานบวช

       ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน เมื่อเวลา 08.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) และอดีต ส.ส.พท. อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตรองนายกฯ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีต ส.ส.กทม. นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต ส.ส.กทม. นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี เข้าร่วมงานพิธีอุปสมบทนายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช บุตรชายนายสาโรจน์ หงษ์ชูเวช รักษาการรองผู้อำนวยการ พท. ทั้งนี้พระณณัฏฐ์ได้รับฉายาว่า "จันทสีโล" แปลว่าผู้หมดจดดั่งพระจันทร์

      น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงกรณีกิจกรรมเชิญชวนประชาชนร่วมกดไลค์แฟนเพจในเฟซบุ๊ก เพื่อหาผู้โชคดีคนที่ 4 ล้าน ร่วมดื่มกาแฟ ว่าขณะนี้กำลังรอแอดมินเพจติดต่อกลับไปยังผู้โชคดีทั้ง 11 คน เพราะเป็นห่วงหากบางคนที่อยู่ต่างจังหวัด ดังนั้นต้องนัดหมายวันเวลาที่ชัดเจน ส่วนสถานที่รอพิจารณาอีกครั้ง 

 

@ 'ประชา'ปัดตอบปมหย่าเมีย 

       ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในระหว่างที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตรองนายกฯ เดินทางมาถึง สื่อมวลชนได้พยายามสอบถามถึงข่าวการหย่ากับภรรยา จนทำให้ทรัพย์สินของ พล.ต.อ.ประชาลดลงกว่า 300 ล้านบาท โดย พล.ต.อ.ประชากล่าวติดตลกว่า "ไม่มีรายละเอียดเรื่องนี้ เลยไม่รู้จะชี้แจงอย่างไร" ซึ่งในระหว่างนั้นนายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช. พูดแซวขึ้นมาว่า "ผมอยากเห็นหน้าผู้หญิงที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้จังเลย" ทำให้ พล.ต.อ.ประชาหัวเราะก่อนตอบว่า "ผมไปทำบุญดีกว่า" 

 

@ 'แม้ว'ฝาก'เพื่อไทย'รักกันให้ดี

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานเลี้ยงสังสรรค์ฉลองวันเกิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ร้านอาหารย่านอโศก เมื่อคืนวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พี่ชาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้โฟนอินเข้ามา กล่าวอวยพรวันเกิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย พร้อมกล่าวกับแกนนำและอดีต ส.ส.พท.ที่อยู่ในงานตอนหนึ่งว่า "รู้สึกดีใจที่พวกเรายังรักกันและเหนียวแน่นดี พวกเราร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานานหลายปี มีอะไรก็ให้ช่วยๆ กัน ขอให้สมาชิกพรรครักกันเหนียวแน่นอย่างนี้ อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่มีใครทำอะไรได้"

     รายงานข่าวแจ้งว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังได้แสดงความเป็นห่วงปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ มองว่าจะรุนแรงมากขึ้นถึงขั้นวิกฤต ที่สำคัญคือผู้บริหารแก้ปัญหากันไม่เป็น ยิ่งทำให้น่าเป็นห่วง พร้อมฝากให้สมาชิกช่วยกันดูแลและแก้ปัญหาชาวบ้านในพื้นที่ที่เดือดร้อน ทั้งนี้ สมาชิกพรรคได้กล่าวอวยพรให้ พ.ต.ท.ทักษิณดูแลสุขภาพดีๆ และทุกคนยังคิดถึงเสมอ

 

@ เครือข่ายสตรีทวงสัดส่วนผู้หญิง

      ที่สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระราชูปถัมภ์ นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ในฐานะที่ปรึกษาขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย กล่าวในเวทีสัมมนาเสียงผู้หญิงต่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตอนหนึ่งว่า การจัดเวทีระดมความคิดเห็นครั้งนี้ เพื่อต้องการตรวจสอบเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ลงมติเห็นชอบภายในเดือนกรกฎาคมนี้

      นางสุนี กล่าวว่า "ขอเสนอจุดยืนคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ สิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ไม่น้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิมปี 2550 เครือข่ายสตรีฯไม่เห็นด้วยที่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนผู้หญิงเขียนไว้เพียงการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แต่ไม่เขียนประโยคที่มีความสำคัญคือ การวางแผน การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการตัดสินใจทุกมิติ ทุกระดับ" นางสุนีกล่าว และว่า หลังจากนี้จะรวบรวมข้อเสนอยื่นต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาที่มีมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ

     นางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาไปแล้วกว่า 48 มาตรา เรื่องที่ยังไม่ได้เขียนไว้และต้องผลักดันสนับสนุนให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญคือ มาตรา 76 สัดส่วนผู้หญิงในทางการเมือง การส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ อย่างน้อยต้องมีเพศตรงข้ามไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คาดว่าจะมีการพิจารณาในสัปดาห์หน้า

 

@ 'วันชัย'ยันสปช.ไม่แคร์ใคร

    นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญ กิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวถึงกรณีที่มีการพูดถึงเกี่ยวกับขนม 200 ถ้วยคือ ตำแหน่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไม่เกิน 200 คน ที่จะมีการตั้งขึ้นใหม่หลังจากที่ยุบ สปช. ที่อาจจะเป็นเครื่องล่อหรือมูลเหตุจูงใจที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านว่า เมื่อได้รับภารกิจแล้ว กมธ.ยกร่างฯต้องทำให้เต็มที่เต็มกำลัง ส่วน สปช.จะเห็นเป็นเช่นไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นหน้าที่ของ สปช.ไม่เกี่ยวกับ กมธ.ยกร่างฯ โดยฝ่ายหนึ่งต้องร่างออกมาให้ดี อีกฝ่ายต้องพิจารณาและตัดสินใจให้ดี

     "ไม่ต้องโน้มน้าวหลอกล่อปลอบประโลมให้เห็นดีเห็นงามกับ กมธ.ยกร่างฯ เชื่อว่า สปช.แต่ละคนจะมีดุลพินิจด้วยตัวของตัวเอง คงจะพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลมากกว่าที่จะไปคำนึงถึงตำแหน่งหรือขนม 200 ถ้วยที่กล่าวอ้างกัน ใครจะพูดเช่นนั้นถือว่าหมิ่นน้ำใจ สปช.กันเกินไป ยิ่งเขาแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้กลับบ้านเมื่อโหวตเสร็จ ยิ่งทำให้ สปช.เป็นอิสระมากขึ้น ไม่ต้องแคร์ใครทั้งนั้นนอกจากประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ" นายวันชัยกล่าว

 

@ ตร.-ทหารเบรกนศ.รามเสวนา

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ลานกิจกรรมนักศึกษา กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) กรุงเทพฯ ได้มีการจัดกิจกรรมงานใต้ถุนสังคม ครั้งที่ 1 โดยกลุ่มภาคีเครือข่ายนักกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสังคม มร. และเวลา 13.00 น. จะมีการเสวนาหัวข้อ "รัฐธรรมนูญไทยเอาไงดี" โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. นายปูนเทพ ศิรินุพงษ์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนายวิโชติ วัณโณ อดีตรองอธิการบดี มร. แต่เมื่อถึงเวลา ปรากฏว่าไม่มีการจัดเวทีกิจกรรมดังกล่าว แต่มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่งมาเฝ้าสังเกตการณ์

     ต่อมาเวลา 13.30 น. นายพงษ์นรินทร์ นนท์ก่ำ ตัวแทนภาคีเครือข่ายนักกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสังคมแถลงยกเลิกกิจกรรมดังกล่าวว่า ได้พิจารณาจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติ พร้อมมีแรงกดดันจากหลายฝ่าย และขอยืนยันว่าเวทีนี้เป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ไม่มีนัยทางการเมืองหรือสร้างความวุ่นวาย หรือทำลายบรรยากาศความปรองดอง

ทั้งนี้ ภายหลังการแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ทหารยืนยันจะไม่มีการดำเนินการใดๆ กับนักศึกษากลุ่มดังกล่าว พร้อมให้เหตุผลว่าการที่เจ้าหน้าที่ทหารต้องมาสังเกตการณ์ เพื่อขอความร่วมมือให้งดการจัดกิจกรรมเสวนา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากนักศึกษาเป็นอย่างดี

 

@ 'นิรันดร์'งงแค่คุยเรื่องรธน. 

     นายนิรันดร์ พันทรกิจ สปช. กล่าวว่า ได้รับการติดต่อจากผู้จัดงานในช่วงเวลา 12.00 น. ก่อนถึงเวลาเริ่มงานประมาณ 1 ชั่วโมงว่าขอยกเลิกการจัดงานดังกล่าว โดยทางผู้จัดให้เหตุผลว่าไม่ได้รับอนุญาตให้จัด ซึ่งส่วนตัวคาดว่าทหารกลัวว่าจะบานปลายไปยังนักศึกษากลุ่มอื่นหรือไม่ ทั้งนี้ ตอนที่ได้รับการติดต่อให้มาร่วมบรรยาย คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเป็นเพียงการอธิบายถึงกรอบการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ กมธ.ยกร่างฯ กำลังร่างกันอยู่ รวมถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจและเกิดกระบวนการซักถาม แต่เมื่อได้รับแจ้งว่างานถูกยกเลิก ส่วนตัวก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรเท่านั้น 

 

@ 'สนช.'วางคิวถอดอดีต248ส.ส.

     นายยุทธนา ทัพเจริญ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการ สนช. (วิป สนช.) กล่าวถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีถอดถอนอดีต ส.ส.248 คน กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบว่า หลังจาก สนช.ประชุมพิจารณาคดีนัดแรกเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อไปจะเรียกคู่กรณีทั้งสองฝ่าย คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอดีต ส.ส.มาแถลงเปิดสำนวนคดีในวันที่ 15-16 กรกฎาคมนี้ เชื่อว่าฝ่ายอดีต ส.ส. คงจะส่งตัวแทนมาแถลงเปิดคดีต่อที่ประชุม สนช.ตามฐานความผิด รวมถึงการแถลงปิดคดีก็คงส่งตัวแทนมาเช่นกัน คงไม่ให้อดีต 

      ส.ส. 248 คนมาแถลงเปิดสำนวนคดีทุกคน เพราะดูจะเป็นการกดดัน สนช. และเป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาเอง นายยุทธนากล่าวว่า หลังจากการแถลงเปิดสำนวนคดีในวันที่ 15-16 กรกฎาคมแล้ว ขั้นตอนต่อไปอีก 7 วัน จะเป็นการซักถามคำถามคู่กรณีทั้งสองฝ่าย และอีก 7 วันต่อมาจะเป็นการแถลงปิดสำนวน

คดีของทั้งสองฝ่าย หลังจากนั้นอีกไม่เกิน 3 วัน จะเป็นการลงมติถอดถอนคดีดังกล่าว ดูแล้ว สนช.น่าจะลงมติถอดถอนคดีอดีต ส.ส.248 คนได้ในช่วงต้นเดือนถึงกลางเดือนสิงหาคมนี้

 

@ 'องคมนตรี'ค้านรธน.หมวดศาล

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซด์พีพีทีวีได้เผยแพร่หนังสือของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในหมวดที่แก้ไขหลักการเกี่ยวกับศาลยุติธรรม โดยหนังสือได้ส่งถึงนายกฯเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ระบุตอนต้นว่า เขียนในนามประชาชนไทยคนหนึ่ง ทั้งนี้ ประเด็นที่นายธานินทร์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมี 2 ประเด็นสำคัญ คือ

      1.ความไม่ชัดเจนในความหมายของคำว่า "ความยุติธรรม" ตามมาตรา 219 ที่บัญญัติให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยความหมายของหลักนิติธรรม ได้บัญญัติขยายความไว้ในมาตรา 217 เป็นหลักการพื้นฐานของหลักนิติธรรมจำนวน 5 ข้อ นายธานินทร์เห็นว่า การบัญญัติความหมายของคำว่า "ความยุติธรรม" เอาไว้เช่นนี้ อาจตีความได้อย่างกว้างขวาง เพราะเป็นได้ทั้งความยุติธรรมในสังคม ความยุติธรรมในทางเศรษฐกิจ และความยุติธรรมในทางอรรถคดี ขณะที่ความหมายของ "หลักนิติธรรม" ที่กำหนดเป็นหลักการพื้นฐานไว้ 5 ข้อ ก็เป็นหลักการที่ต้องมีเป็นอย่างน้อยเท่านั้น ไม่อาจตีความถึงขอบเขตที่ชัดแจ้งได้ว่ามีความหมายเพียงใด ทำให้เกิดความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน จึงเสนอให้บัญญัติว่า "ความยุติธรรม" ที่ศาลต้องยึดถือในการดำเนินคดีความทั้งปวง ให้หมายเฉพาะ "ความยุติธรรมในทางอรรถคดี" ที่ศาลต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นรายคดีไปเท่านั้น

 

@ ค้านคนนอกนั่งก.ต.ชี้อันตราย

      ส่วนประเด็นที่ 2.การกำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ และไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาล ในจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการซึ่งเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลนั้น ตามมาตรา 225 ของร่างรัฐธรรมนูญนั้น ประเด็นนี้นายธานินทร์เห็นว่า แม้จะเข้าใจได้ว่าผู้ร่างมีเจตนารมณ์ให้สร้างจุดเกาะเกี่ยวระหว่างประชาชนกับศาลยุติธรรม แต่จะส่งผลอีกด้านหนึ่ง เป็นการเปิดช่องให้บุคคลภายนอกแทรกแซงการบริหารงานของศาล กระทบต่อหลักการ "ความเป็นอิสระของศาล" ซึ่งเสมือนหนึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยของศาล ถือเป็นเรื่องอันตรายอย่างร้ายแรงต่อระบบศาลยุติธรรมไทยที่เพิ่มความเสี่ยงให้บุคคลซึ่งไม่มีวุฒิเกี่ยวกับกระบวนการศาลยุติธรรมเลย เข้ามาแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของศาล มีบทบาทในการให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาทั้งหลาย โดยนายธานินทร์ย้ำว่า ไม่เห็นด้วยหากจะมีผู้ทรงคุณวุฒิอื่นที่ไม่ใช่ผู้พิพากษาหรือตุลาการแม้แต่คนเดียวมาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตุลาการบริหารงานศาลยุติธรรม