Vetee

ล่มเวทีราม ทหารเบรกนศ.อีก 14 นศ.ไม่ยื่นประกันตัว ประกาศสู้ต่อในเรือนจำ ปปช.สอบรมว.-รมช.สธ.

      ทหารบุก ม.รามฯ ล่มเวทีกิจกรรม น.ศ.อีก ขณะที่ 14 น.ศ.ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำกรุงเทพฯ แล้ว แยก 1 น.ศ.หญิงส่งทัณฑสถานหญิงกลาง ยังไม่ขอประกันตัว แต่เพื่อนๆ ห่วงถ้าถูกแยกขัง กลุ่ม ปชต.ใหม่ประกาศเดินหน้าสู้ต่อ ฮิวแมนไรต์วอตช์-รัฐสภาอาเซียนจี้ปล่อยตัว-ยกเลิกข้อกล่าวหา ทีมทนายความน.ศ.โวยถูกคุกคาม'บิ๊กโด่ง' ฮึ่มกลุ่มสนับสนุนหยุดได้แล้ว ทหารบุกล้มเวทีเสวนาร่างรธน.ของน.ศ.รามฯ เตือนปิดกั้นอาจเกิดระเบิดตูมใหญ่ สนช.คาดลงมติถอดถอนอดีต 248 ส.ส.ปมแก้รธน.ที่มาส.ว. มิชอบเดือนส.ค.นี้ ป.ป.ช.ไต่สวน รมว.-รมช.สาธารณสุขมีผลประโยชน์ทับซ้อน ศาลให้ใบแดง 'มาโนช เสนพงศ์'นายก อบจ. นครศรีฯ 'เทพไท'พี่ชายโดนด้วยฐานสนับสนุนทุจริตเลือกตั้ง 


วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8978 ข่าวสดรายวัน

 


ล่มเวที - นักศึกษาพิทักษ์ประชาธิปไตยฯ แถลงขอโทษผู้ร่วมงานที่ต้องยกเลิกจัดเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญกลางคัน หลังจากทหารเข้ามาขอความร่วมมือ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง 


'บิ๊กตู่'นำครม.สัญจรเชียงใหม่
       เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกำหนดการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)นอกสถานที่ครั้งที่ 2 ที่จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 29-30 มิ.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางถึงจ.เชียงใหม่ในเวลาประมาณ 16.20 น. วันที่ 29 มิ.ย. จากนั้นจะไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร และเยี่ยมชมตลาดหน้าศาลากลางจ.เชียงใหม่ ก่อนที่จะเข้าพักที่โรงแรม กรีนเลค รีสอร์ท เชียงใหม่ จากนั้นในวันที่ 30 มิ.ย. นายกฯเป็นประธานการประชุมครม. ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิม พระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ก่อนที่ช่วงบ่ายนายกฯและคณะจะเดินทาง ต่อไปยังอ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำ โครงการข้าว และการทวงคืนผืนป่า ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯในวันเดียวกัน

ผู้ว่าฯ-ภาค 5 ติวเข้มต้อนรับ
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมรองผู้ว่าราชการทั้ง 3 คนคือ นายนาวิน สินธุสะอาด นายชนะ แพ่งพิบูลย์ นายศุภชัย เอี่ยมสะอาด และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมการต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์และครม.ที่จะเดินทางมาประชุมครม.สัญจรอย่างเป็นทางการที่จ.เชียงใหม่ 
     นายสุริยะ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้การเตรียมการของเชียงใหม่มีความพร้อมทุกด้านกว่าร้อยละ 95 แล้วทั้งสถานที่ประชุม สถานที่พัก สถานที่จัดเลี้ยง และวัดพระธาตุดอยสุเทพ จุดที่นายกฯจะเดินทางไปสักการะ รวมทั้งที่ตลาดนัดสินค้าเกษตร ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้พบปะกับผู้ซื้อโดยตรง สำหรับกลุ่มมวลชนที่จะมาเคลื่อนไหวและยื่นหนังสือได้จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและมวลชนกลุ่มต่างๆ แล้ว จึงอยากขอความร่วมมือชาวเชียงใหม่ร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนายกฯและคณะ ให้เปรียบเสมือนต้อนรับญาติผู้ใหญ่ที่เดินทางมาเยี่ยมเรา ซึ่งการประชุมครม.สัญจรครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์กับจ.เชียงใหม่มาก 
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในส่วนของตำรวจภาค 5 พล.ต.ท.ธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ผบช.ภาค 5 ได้สั่งการให้ตำรวจของเชียงใหม่ระดมกำลังออกกวาดล้างสิ่งไม่ถูกต้องตามจุดสำคัญต่างๆ ด้วย

เรือนจำคุมนศ.แดนแรกรับ
      สำหรับความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่จับกุมตัวนักศึกษานั้น นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ทางเรือนจำได้รับกลุ่มดาวดิน หรือกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกจับกุม 14 คน มาควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 13 คน เมื่อตี 1 วันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนผู้หญิงอีก 1 คน ถูกส่งตัวไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง ซึ่งผู้ต้องหาทั้ง 13 คนถูกควบคุมอยู่ที่แดนแรกรับ และเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ได้ตรวจร่างกายพบว่าบางคนป่วยเป็นหวัด จึงให้พยาบาลดูแลเรียบร้อยแล้ว และกลุ่ม ผู้ต้องหาทั้ง 13 คนรับประทานอาหารได้ปกติ แต่มีอาการกังวลเล็กน้อยเกี่ยวกับการเรียน และการสอบไปเรียนต่อต่างประเทศ จึงให้ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และนักสังคม สงเคราะห์ เข้าไปพูดคุยเพื่อผ่อนคลาย
       นายอายุตม์ กล่าวว่า แดนแรกรับจะมีเพียงกิจกรรมทำความสะอาด และยังไม่ได้มอบหมายหน้าที่ใดให้กลุ่มผู้ต้องหารับผิดชอบ ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดที่ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำจะถูกควบคุมที่แดนแรกรับเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนส่งไปยังแดนคุมขังต่างๆ และในวันที่ 27 มิ.ย.ทางเรือนจำเปิดให้กลุ่มญาติและเพื่อนเข้าเยี่ยมได้ตามปกติ ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. ซึ่งกลุ่มผู้ต้องหาสามารถยื่นคำร้องขอประกันตัวได้ตามขั้นตอนกฎหมาย แต่ผู้ที่มาเยี่ยมต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของเรือนจำ

 

ปฏิเสธจนท.สอบปากคำ
     ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่บริเวณด้านทางเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีเจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์และตำรวจนอกเครื่องแบบดูแลความเรียบร้อยอย่างเข้มงวด ห้ามช่างภาพเข้าไปบันทึกภาพบริเวณภายใน หลังมีรายงานว่ากลุ่มนักศึกษาและญาติพี่น้อง จะเดินทางมาเยี่ยมและให้กำลังใจนักศึกษาที่ถูกจับกุมเมื่อคืนที่ผ่านมา ขณะที่ช่วงเช้าพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้เข้ามาสอบปากคำ แต่ ผู้ต้องหาชายทั้ง 13 คนปฏิเสธไม่ให้การใดๆ เนื่องจากไม่มีทนายความเดินทางมาด้วย
      สำหรับ นักศึกษาทั้ง 14 คนถูกจับตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ที่ 11-24/2558 ลงวันที่ 26 มิ.ย.2558 ข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความ ปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 

ไม่ยื่นประกัน-ห่วงแยกขัง
     ทั้งนี้ นักศึกษาทั้ง 14 คนถูกจับส่งตัวฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพ โดยผู้ชาย 13 คนถูกส่งควบคุมยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และมี 1 รายเป็นผู้หญิงถูกนำส่งทัณฑสถานหญิงกลาง ประกอบด้วย 1.นายรังสิมันต์ โรม 2.นายวสันต์ เสดสิทธิ 3.นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ 4.นายพายุ บุญโสภณ 5.นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ 6.นายรัฐพล ศุภโสภณ 7.นายศุภชัย ภูคลองพลอย 8.นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ 9.นายภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ 10.นายสุวิชา พิทังกร 11.นายปกรณ์ อารีกุล 12.นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา 13.นายพรชัย ยวนยี 14.น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว
      ต่อมาเวลา 14.00 น. นายปิยรัฐ จงเทพ หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่เดินทางเข้าเยี่ยมเพื่อนๆ เปิดเผยว่า หลังจากเข้าเยี่ยมเพื่อนทั้ง 13 คนแล้ว ได้หารือกับกลุ่มเพื่อนที่ถูกจับกุมทราบว่าจะมีกลุ่มนักศึกษามาดำเนินการต่อสู้ต่อจากนี้ และขณะนี้จะยังไม่ยื่นขอประกันตัว แต่หากกลุ่มเพื่อนมีมติให้ประกันตัวก็ยินดีและพบว่าเพื่อนบางคนมีอาการกังวลเรื่องความเป็นอยู่หากถูกแยกขังในแดนต่างๆ และต้องการให้ช่วยเหลือจัดซื้อของใช้ประจำวันให้ 

ปชต.ใหม่ยึดกำปั้นห้าสู้ต่อ
       เวลา 17.00 น. กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ แถลงข่าวถึงแนวทางการดำเนินการรวมถึงภาพรวมและเป้าหมายใหม่ในอนาคตที่บ้านสวนเงินมีมา มูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป เขตคลองสาน กทม. โดยตัวแทน กลุ่มนักศึกษา คือ น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ น.ส.กตัญญู หมื่นคำเรือง น.ส.ลลิตา เพ็ชรพวง กอดคอตะโกน "ประชาชนอยู่เบื้องหลังเรา"
     จากนั้นอ่านแถลงการณ์ โดยมีใจความสำคัญยังคงยืนยันขับเคลื่อนขบวนการประชาธิปไตยใหม่กันต่อไป ตามหลักการกำปั้นห้า ประกอบด้วย 1.หลักประชาธิปไตย จะต้องให้พลเมืองทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเสมอหน้าอย่างเท่าเทียมกัน 2.หลักความยุติธรรม ที่จะช่วยลดความขัดแย้งในสังคม ปราศจากสองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม 3.หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการกำหนดวิถีชีวิตตนเอง รัฐบาลต้องคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว 
     4.หลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องเคารพ รัฐบาลต้องหยุดละเมิดสิทธิประชาชน 5.หลักสันติวิธี คือ การแก้ไขปัญหาทางการเมืองต้องปราศจากการใช้ความรุนแรง หรือการนำมาสู่เงื่อนไขที่ทำให้เกิดความรุนแรง โดยการเคลื่อนไหวจะกระทำด้วยมือเปล่า เท้าเปล่า และมีเบื้องหลังคือประชาชนผู้รักในสิทธิ และเสรีภาพเท่านั้น มิได้มีกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง หรือพรรคการเมืองใดๆ แอบ แฝงทั้งสิ้น 
   นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประชาชนร่วมกันลงชื่อสนับสนุนกิจกรรมที่นักศึกษากลุ่มนี้ดำเนินการรวม 53 คน อาทิ ส.ศิวลักษษ์ นายเกษียร เตชะพีระ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นต้น

4 องค์กรออกแถลงการณ์
      วันเดียวกัน สมาคมนักกฎหมายสิทธิ มนุษยชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ร่วมกับสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ออกแถลงการณ์ขอให้ยุติการคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ จากกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ขอเข้าตรวจค้นรถของน.ส. ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หนึ่งในทนายความของ ผู้ต้องหาที่เป็นนักศึกษาขบวนการประชา ธิปไตยใหม่ 14 คน ที่ถูกข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง หัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ประกอบมาตรา 83 
        เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 00.30 น. วันที่ 27 มิ.ย. หลังจากเจ้าหน้าที่นำกลุ่มนักศึกษาไปควบคุมตัวที่เรือนพิเศษจำกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง แต่ทนายความและทีมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไม่ยินยอม เนื่องจากการตรวจค้นวัตถุพยานตามกฎหมายจะต้องกระทำในที่เกิดเหตุ หรือต้องมีหมายศาล และในการดำเนินการขอตรวจค้นนั้น เจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถอธิบายเหตุผลและข้อสงสัยได้ว่าต้องการตรวจค้นสิ่งใดที่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอย่างไร ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจึงได้ใช้กระดาษปิดทับที่เปิดประตูรถเพื่อไม่ให้สามารถเปิดประตูรถ และนำแผงเหล็กมากั้น เพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายรถยนต์ ทำให้ทีมทนายส่วนหนึ่งต้องนอนเฝ้ารถในคืนที่ผ่านมา 


ที่ประชุม - นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าฯเชียงใหม่ ตรวจศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ จ.เชียงใหม่ สถานที่จะใช้ประชุมครม.สัญจร วันอังคารนี้ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.


ให้ยุติคุกคามทนายความ
      จากนั้นเจ้าหน้าได้เข้าตรวจค้นเมื่อเวลา 16.00 น. และได้ตรวจยึดโทรศัพท์และแท็บเล็ตของนักศึกษาที่ฝากเอาไว้เมื่อคืนก่อนถูกนำตัวไป เพื่อไปตรวจสอบโดยละเอียดที่สน.ชนะสงคราม โดยก่อนหน้านี้ทนายความและเจ้าของรถเดินทางไปแจ้งความที่สน.ชนะสงคราม ในความผิดตามมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากตำรวจไม่มีอำนาจยึดรถไว้
      ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์ของทนายความไว้ ไม่ให้เคลื่อนย้าย โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรในการใช้อำนาจตรวจค้นหรือยึด จึงถือได้ว่าเป็นการคุกคามการทำหน้าที่ทนายความ จึงขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ ดังกล่าวเพื่อดำเนินการทางวินัยและทางอาญา และคืนรถยนต์ของน.ส.ศิริกาญจน์โดยทันที

ข้องใจยึดมือถือแต่ไม่ใส่ถุงซีล
       เวลา 17.00 น. ที่สน.ชนะสงคราม น.ส.ศิริกาญจน์ เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้ปากคำ หลังจากพนักงานสอบสวนสน.สำราญราษฎร์นำหมายค้นศาลอาญา เลขที่ 226/2558 ลงวันที่ 27 มิ.ย. 2558 เข้าตรวจค้นภายในรถยนต์ ฮอนด้า รุ่นซีอาร์วี ทะเบียน กค 9966 ยโสธร ที่จอดบริเวณข้างศาลทหารกรุงเทพ ถ.หลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม. จากการตรวจค้นได้ยึดโทรศัพท์มือถือ 5 เครื่อง ประกอบด้วย 1.โทรศัพท์ยี่ห้อโนเกีย สีดำ 1 เครื่อง ใส่ไว้ในถุงกระดาษสีน้ำตาลท้ายรถ 2.โทรศัพท์ซัมซุง สีเขียว-ดำ ใส่ไว้ในกระเป๋าสะพายท้ายรถ 3. โทรศัพท์โนเกีย สีชมพู 4.ไอโฟน สีดำ และ 5.ไอโฟน สีขาว โดยรายการที่ 3-5 ใส่ไว้ในถุงกระดาษสีน้ำตาลท้ายรถ
      น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ หนึ่งในทีมทนายความ กล่าวว่า พวกตนยินยอมให้ตรวจค้นรถและนำโทรศัพท์ไปตรวจสอบ แต่สิ่งที่ไม่เข้าใจคือ เหตุใดตำรวจจึงไม่นำโทรศัพท์ใส่ถุงซีลให้เรียบร้อย แต่กลับนำใส่ถุงซิปรูดธรรมดาและขี่จยย.ออกไปจากที่เกิดเหตุทันที จนเวลาผ่านไปประมาณ 10 นาทีจึงนำโทรศัพท์ทั้ง 5 เครื่องมาคืน แล้วเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานจึงนำใส่ในถุงซีล ซึ่งพวกตนคิดว่าไม่ถูกต้อง 

ตำรวจแจงเหตุ-ส่งพฐ.ตรวจ
      พ.ต.อ.สุริยา จำนงโชค พงส.ผทค.สน.สำราญราษฎร์ เปิดเผยว่า ตนเป็นผู้ไปขอหมายค้นและนำหมายค้นไปตรวจค้นรถของน.ส. ศิริกาญจน์ โดยสาเหตุที่ต้องมาลงบันทึกประจำวันและสอบปากคำเบื้องต้นที่สน.ชนะ สงคราม เนื่องจากบริเวณที่น.ส.ศิริกาญจน์จอดรถเป็นพื้นที่เขตรับผิดชอบของสน.ชนะ สงคราม ส่วนที่เกิดข้อกังขาว่าเหตุใดตำรวจจึงนำโทรศัพท์ใส่ถุงซิปธรรมดาขี่จยย.ออกไปนั้น เพราะตำรวจคนดังกล่าวเข้าใจผิด โดยก่อนหน้านี้มีการตกลงกันว่าจะนำของที่ตรวจยึดได้มาลงบันทึกประจำวันที่สน.ชนะสงคราม แต่ตำรวจคนดังกล่าวเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งภายหลังได้โทรศัพท์เรียกตัวให้นำโทรศัพท์ทั้งหมดกลับมาใส่ถุงซีลให้เรียบร้อย ณ จุดตรวจค้นแล้ว 
      อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน(พฐ.) และตัวแทนทนายความได้เป็นพยานในการนำโทรศัพท์ที่ตรวจยึดได้ใส่ในถุงซีลปิดอย่างมิดชิด พร้อมลงลายมือชื่อกำกับ เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย โดยจะนำส่งพฐ.ตรวจสอบในวันจันทร์ที่ 29 มิ.ย. เวลา 13.00 น.

ฮิวแมนไรต์ วอตช์จี้ปล่อยตัว
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ (Human Rights Watch) ออกแถลงการณ์กรณีการเข้าจับกุมนักศึกษาและประชาชนทั้ง 14 คน ในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ว่า เจ้าหน้าที่รัฐควรยกเลิกข้อกล่าวหาปลุกระดมและฝ่าฝืนคำสั่งคสช. และปล่อยตัวนักศึกษา นักกิจกรรมทั้ง 14 คน ซึ่งต้านการปกครองของรัฐบาลอย่างสันติ โดยไม่มีเงื่อนไข และเรียกร้องให้ยกเลิกการปกครองโดยทหารภายใต้ คสช. 
     สำหรับ ความผิดตามข้อหาปลุกระดมตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา มีโทษ จำคุกสูงสุด 7 ปี ส่วนการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. มีโทษจำคุกอีก 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท 

แนะรัฐบาลทั่วโลกกดดันไทย
       แถลงการณ์ระบุว่า การจับกุมครั้งล่าสุดนี้เป็นอีกครั้งที่ทำให้เห็นว่ารัฐบาลทหารไม่ได้เต็มใจจะผ่อนการปกครองที่กดขี่ของตัวเองลงเลย กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่สะท้อนให้เห็นในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยมีผลผูกพันตั้งแต่ ปี 2539 นั้น ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอย่างสงบ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลทหารเดือนพ.ค.2557 นั้น รัฐบาลทหารได้สั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองที่มีมากกว่า 5 คนขึ้นไป และเจ้าหน้าที่รัฐเข้าจับกุมประชาชนอย่างน้อย 80 คน สำหรับการชุมนุมในที่สาธารณะ
      จากประกาศของ คสช. ฉบับที่ 37 ที่ให้อำนาจการตัดสินคดีอยู่ที่ศาลทหารแทนศาลพลเรือน ถือเป็นการล้มเหลวต่อมาตรฐานการตัดสินคดีนานาชาติภายใต้ ICCPR ซึ่งกำหนดห้ามไม่ให้รัฐบาลให้พลเรือนขึ้นศาลทหารเมื่อยังมีศาลพลเรือนอยู่ 
      นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรต์วอตช์ กล่าวว่า ข่าวการจับกุมครั้งล่าสุดยิ่งตอกย้ำว่า การหาหนทางไปสู่ประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นเรื่องยากกว่าเดิม รัฐบาลทั่วโลกควรกดดันให้รัฐบาลทหารหยุดการปราบปรามและเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐาน

รัฐสภาอาเซียนร่วมปลุกกระแส
     ขณะที่กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติข้อกล่าวหาทั้งหมดและปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับโดยทันที พร้อมระบุด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศ อื่นๆ ในภูมิภาคจะต้องก้าวออกมายืนเคียงข้างผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย
      "หากประชาชนยังไม่แม้แต่จะได้รับอนุญาตให้ยืนข้างๆ กันและถือสัญลักษณ์เพื่อแสดงความเห็นทางการเมือง ประชาคมระหว่างประเทศและเพื่อนบ้านของไทยไม่สามารถจะอยู่ใต้ภาพลวงตาว่ารัฐบาลทหารตั้งใจจะคืนประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศในเร็ววัน" นายชาร์ล ซาดิเอโก ประธาน APHR และสมาชิกรัฐสภามาเลเซียกล่าว
     นายซาดิเอโก ระบุด้วยว่า ประเทศไทยไม่ได้กำลังมุ่งสู่การปรองดอง แต่มุ่งสู่การเผชิญหน้ากับระเบิดอีกลูก พร้อมชี้ว่า อาเซียน โหยหาความมั่นคง ไม่ใช่ความขัดแย้ง และถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลทหารจะเปิดทางให้ประชาธิปไตยและการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานกลับคืนมา

'บิ๊กโด่ง'ชี้รวบนศ.ไม่บานปลาย
       ที่ขส.ทบ. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าหลังจากเจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมตัวนักศึกษา 14 คน ซึ่งมีความเป็นห่วงกันว่าอาจจะบานปลายว่า ตนถือว่าไม่มีเรื่องบานปลายอะไรไปมาก ทางเจ้าหน้าที่เข้ามาดู เกี่ยวกับการก่อเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ เห็นว่ามีความจำเป็น และเข้าข่ายในเรื่องการผิดกฎหมายฐานความผิดในมาตรา 116 และมาตรา 83 ของกฎหมาย ป.วิอาญา เมื่อเข้าข่ายกระทำความผิดเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการไป อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่คงให้ความเป็นธรรม ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ถ้าไม่ไปก่อเหตุการณ์ก็จะไม่เกิดขึ้น วันนี้ เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องดูแลสถานการณ์ให้เกิดความเรียบร้อย
     พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า คิดว่าน่าชื่นชมกลุ่มนักศึกษาอีกจำนวนมากที่เขาได้ทำในสิ่งที่ ดีงาม เป็นชื่อเสียงของประเทศ เช่น กลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวกันทางวิชาการและไปแข่งขันทางวิชาการ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จากต่างประเทศ นักศึกษาหรือเยาวชนที่แสดงออกด้านกีฬา เช่น ทีมปันจักสีลัต ได้รับรางวัลอย่างที่ทราบกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้คิดว่าส่วนใหญ่ทุกคนเดินไปด้วยดีแล้ว ก็อยากจะให้น้องๆ ลูกหลานนักศึกษาได้พยายามอยู่ในส่วนที่ช่วยกันพัฒนาประเทศและสร้างชื่อเสียงดีกว่าจะมาดึงความสงบเรียบร้อยให้กลับไปอยู่ในส่วนที่จะทำให้เกิดปัญหาได้ ขอร้องว่าอย่าไปทำเลย 

ฮึ่มกลุ่มสนับสนุนให้หยุด
       "กลุ่มที่ไปสนับสนุนซึ่งมีไม่มากนัก ผมขอว่าให้หยุดเถอะครับ อย่ามาทำอะไรอย่างนี้เลย มันทำให้สภาพของความเรียบร้อยดูไม่ดี ในส่วนของนักศึกษาที่ถูกดำเนินการตามกฎหมายก็คงไม่หนักหนาอะไร แต่ทางกฎหมายจำเป็นต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน ขอความร่วมมือจากทุกคนด้วย" พล.อ. อุดมเดชกล่าว 
      ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการดำเนินการหรือเชิญตัวมาพูดคุยกับกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเหล่านี้หรือไม่ พล.อ. อุดมเดชกล่าวว่าถ้ายังไม่มีอะไรที่ออกมามีผลกระทบ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ติดตามดูอยู่ แต่อย่าให้ไปถึงระดับที่มีปัญหาการละเมิดกฎหมาย เดี๋ยวจะกลายเป็นการทำลงไปแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอร้องว่าถ้าอยากจะออกมาให้กำลังใจกันก็ได้แสดงออกไปพอสมควรแล้ว ถ้าล้ำไปมากกว่านี้จะมีปัญหากันไปอีก 

ลั่นรู้ชื่อหมดทุกคน
      "ได้พูดไปแล้วครั้งหนึ่งสำหรับผู้ที่ให้การสนับสนุนก็ขอร้องให้หยุดเถอะ เพราะว่ารู้กลุ่ม รู้ชื่อ รู้เสียงหมด เดี๋ยวจะต้องมีการพูดคุยกัน เมื่อท่านยังไปให้แนวทางที่ไม่ถูกทำให้เกิดความไม่สงบก็จะมีปัญหาได้ ผมบอกไว้เสียก่อน พอเถอะครับก็รู้นามสกุลกันหมดแล้วก็อย่าไปทำเช่นนั้นเลย ส่วนใหญ่ผมยังเชื่อมั่นว่าไม่ได้เห็นดีเห็นงาม ส่วนใหญ่ต้องการความเรียบร้อยความสงบ ขณะนี้ ทุกคนพึงพอใจที่จะให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยและเดินหน้าไป" พล.อ.อุดมเดชกล่าว


พระใหม่ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร่วมทำบุญในพิธีอุปสมบทนายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช ลูกชายนายสาโรจน์ หงษ์ชูเวช รักษาการรองผอ.พรรคเพื่อไทย ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.


      พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ปัญหาของรัฐบาลมีมากมายหลายอย่าง ไม่ใช่จะแก้ไขได้โดยง่าย ต้องอาศัยความร่วมมือและต้องมีความสงบเรียบร้อย จะทำให้รัฐบาลมีสมาธิในการแก้ปัญหาต่อไปได้ด้วยดี เช่น ปัญหาภัยแล้งปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและประสบปัญหาภัยแล้ง รัฐบาลต้องเร่งจัดหาน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตร ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการ อีกโครงการคือกระทรวงพาณิชย์จะออกไปช่วยเหลือประชาชน โดย จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาประหยัด ในลักษณะของธงฟ้าตามจุดต่างๆ ทหารก็เข้าไปช่วยลำเลียงสิ่งของไปยังพื้นที่ต่างๆ ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มีการจัดขายอาหารราคาถูกในหน่วยทหารต่างๆ แม้บางเรื่องจะไม่ใหญ่ โตนัก แต่ทหารพร้อมลงไปช่วยเหลือร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

นปช.หวั่นน้ำผึ้งหยดเดียว
      นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์ว่า เข้าใจได้ว่าการที่คสช.จับกุมนักศึกษา เพื่อป้องปรามไม่ให้มีแนวร่วมขยายตัวออกไปจนคสช.ยากที่จะดูแล แต่ส่วนตัวเชื่อว่านักศึกษาที่มาเคลื่อนไหวเป็นพลังบริสุทธิ์ กล้าแสดงจุดยืนของตัวเอง นับวันหาได้ยาก ถ้าเป็นไปได้อยากให้คสช.เปิดพื้นที่ให้กลุ่มนักศึกษาแสดงออก ฝ่ายหนึ่งอาจเห็นด้วยกับคสช. แต่อีกฝ่ายก็มีมากเหมือนกัน เพียงแต่ไม่แสดงออก กลุ่มนักศึกษาดาวดินที่ผ่านมาทำงานช่วยเหลือชาวบ้านโดยตลอด
      ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ตั้งข้อสังเกตว่าการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา มีฝ่ายการเมืองอยู่เบื้องหลัง นาย ก่อแก้วกล่าวว่า ตนไม่มีข้อมูล หากพล.อ. ประยุทธ์และคสช.มีหลักฐานควรระบุให้ชัดว่าเป็นใคร ดีกว่าออกมาพูดว่ามีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง เพราะจะทำให้คนไม่เกี่ยวข้องถูกหวาดระแวงไปด้วย คสช.มีสิทธิที่จะดำเนินการกับพวกที่ต่อต้านรัฐบาล แต่อย่าพูดแบบตีวงกว้าง เมื่อถามว่ากรณีนี้อาจเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว นายก่อแก้วกล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องนี้เช่นกัน ถ้านักศึกษาถูกกระทำ ต่อไปไม่แน่อาจมีคนออกมาช่วยเหลือ จนนำไปสู่การขยายวงบานปลายออกไปได้ ดังนั้นควรปล่อยนักศึกษาออกมา และทำสัญญาร่วมกันว่า ต่อไปอย่าเคลื่อนไหวอีกจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า

'เอกชัย'เตือนอย่าใช้กำลัง
        พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะผอ.สำนักสันติวิธี กล่าวว่า เด็กเคลื่อนไหวเพราะต้องการให้เกิดสัญลักษณ์ เชื่อว่าบ้านเมืองจะต้องเป็นประชาธิปไตย แต่ตนอยากบอกว่า ยุคนี้ไม่ใช่ยุคประชาธิปไตย ซึ่งเด็กกลุ่มนี้แสดงออกว่าต่อต้านมานานแล้ว ที่ว่ากันว่ามีคนหนุนหลังไม่แน่ใจว่ามีจริงหรือไม่ แต่ฝ่ายการเมือง ไม่น่าจะออกมาหนุน เพราะพวกเขาจะถูกดำเนินคดีจนอดเล่นการเมืองอีกต่อไป จะมาป่วนทำไมให้อดเลือกตั้ง แต่ต้องยอมรับว่าเด็กบางคนมีญาติที่เป็นเสื้อสีจะเกิดความรู้สึก ต้านต่ออำนาจ ซึ่งเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งเช่นกันว่าถ้าคสช.อยู่ในอำนาจนานมากไปอาจจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะอย่างนี้มาอีกได้ 
      "เรื่องนี้กระทบการปรองดองในอนาคตส่วนหนึ่งแน่นอน ในคณะกรรมการปรองดองของสปช.ก็หาทางอยู่ เราคุยแล้วทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ กับเด็กด้วย แต่เด็กยังต้องการใช้รูปแบบของเขาอีก จึงทำให้คสช.ต้องดำเนินการจับกุมตามกฎหมาย เพราะถ้าไม่จับ อาจเป็นตัวอย่างจนเกิดกลุ่มอื่นออกมาแสดงลักษณะเดียวกันได้ แต่ถ้ากลุ่มนักศึกษาทำอย่างสันติก็ทำได้ ถ้าไปขัดกฎหมายคสช.ทำไม่ได้อยู่แล้ว หากเกิดการใช้กำลังรุนแรงเข้าจับกุมกันเกินเหตุปัญหาจะลุกลามบานปลายใหญ่โต เกรงนักศึกษาจะลุกฮือขึ้นมาได้" พล.อ.เอกชัยกล่าว

ล้มงานเสวนาที่รามฯ
        เมื่อเวลา 13.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ลานกิจกรรมนักศึกษา กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง (หัวหมาก) กรุงเทพฯ ได้ยกเลิกการจัดกิจกรรมงานใต้ถุนสังคม ครั้งที่ 1 จัดโดยกลุ่มภาคีเครือข่ายนักกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งตามกำหนดการเดิมภายในงานจะมีการเสวนาในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญไทย เอาไงดี" โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสปช. ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง นายปูนเทพ ศิรินุพงษ์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายวิโชติ วัณโณ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง
      ปรากฏว่า เมื่อถึงเวลาเริ่มกิจกรรมบรรยากาศบริเวณสถานที่จัดกิจกรรมเป็นไปอย่างเงียบเหงา มีเพียงนักศึกษาและประชาชนบางส่วนที่ไม่ทราบว่ากิจกรรมถูกยกเลิกมารอรับฟังการเสวนา โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่งมาเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ตลอด จากนั้นตัวแทนนักศึกษาได้แจ้งให้ผู้สื่อข่าวทราบว่าได้ยกเลิกการจัดเสวนาแล้ว ขณะที่ตัวแทนนักศึกษากลุ่มภาคีเครือข่ายนักกิจกรรมได้พูดคุยกับทหารที่มาสังเกตการณ์ว่าแม้มหาวิทยาลัยจะไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม แต่เห็นว่าบริเวณลานจัดกิจกรรมเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาแสดงความเห็นได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องขออนุญาต

ห่วงปิดกั้นชนวนระเบิดใหญ่
        จากนั้น เวลา 13.30 น. นายพงษ์นรินทร์ นนท์ก่ำ ตัวแทนภาคีเครือข่ายนักกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสังคม แถลงยกเลิกกิจกรรมเสวนาดังกล่าวว่า ได้พิจารณาจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติ พร้อมมีแรงกดดันจากหลายฝ่าย และขอยืนยันว่าการเสวนานี้เป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ไม่มีนัยยะทางการเมืองหรือสร้างความวุ่นวาย หรือทำลายบรรยากาศความปรองดอง ส่วนจะจัดกิจกรรมอีกหรือไม่จะขอพิจารณาอีกครั้ง ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมหรือไม่ นายพงษ์นรินทร์กล่าวยอมรับว่าใช่ แต่พื้นที่ลานกิจกรรมนักศึกษาทุกคนสามารถจัดกิจกรรมได้โดยไม่ต้องขออนุญาต 
      นายนันทพงศ์ ปานมาศ อดีตรักษาการประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ระบุว่า เสียดายที่การเสวนาถูกยกเลิกเพราะเวทีดังกล่าวเป็นการให้ความรู้ การพูดคุยทางวิชาการ ดังนั้น ฝากไปยังรัฐบาลให้ทุกมหาวิทยาลัยเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้แสดงความเห็นทางวิชาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ หากปิดกั้นจะเหมือนการบ่มเพาะจนเกิดระเบิดเหมือนแผ่นดินไหวใหญ่

คาดกลัวปลุกน.ศ.กลุ่มอื่น
      ทั้งนี้ ภายหลังการแถลงข่าวผู้สื่อข่าวได้สอบถามเจ้าหน้าที่ทหารว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรกับกลุ่มนักศึกษา ได้รับคำชี้แจงว่า ยืนยันจะไม่มีการดำเนินการใดๆ กับนักศึกษากลุ่มดังกล่าว การที่เจ้าหน้าที่ทหารต้องมาในวันนี้ เพื่อขอความร่วมมือให้งดการจัดกิจกรรมเสวนา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากนักศึกษาเป็นอย่างดี 
      ด้าน นายนิรันดร์ เปิดเผยว่า ตนได้รับการติดต่อจากผู้จัดงานว่าขอยกเลิกการจัดงานในช่วงเวลาเที่ยง ก่อนถึงเวลาเริ่มงานประมาณ 1 ชั่วโมงโดยผู้จัดงานให้เหตุผลว่า ไม่ได้รับอนุญาตให้จัด ส่วนตัวคาดว่าทหารกลัวจะบานปลายไปยังนักศึกษากลุ่มอื่นหรือไม่ ทั้งนี้ ตอนที่ได้รับการติดต่อให้มาร่วมบรรยาย คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเป็นเพียงการอธิบายถึงกรอบการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำลังร่างกันอยู่ รวมถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจ และเกิดกระบวนการซักถาม แต่เมื่อได้รับแจ้งว่างานถูกยกเลิกก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรเท่านั้น 

เวทีเสียงผู้หญิงคึกคัก
       เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมบำรุง- ระวิวรรณ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี เขตดอนเมือง ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศ (WeMove) ร่วมกับ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย องค์กรเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ(UN Women) จัดเวทีสัมมนา "เสียงผู้หญิงต่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่" เพื่อระดมความคิดเห็น ข้อเสนอเชิงปฏิรูป นำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ โดยมีตัวแทนเครือข่ายสตรี 4 ภาค และองค์กรด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ เข้าร่วมกันวิเคราะห์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้แก่ นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) น.ส.อารีวรรณ จตุทอง นักวิชาการปฏิรูปกฎหมายชำนาญการพิเศษ
     นางถวิลวดี บุรีกุล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาไปแล้วกว่า 48 มาตรา เรื่องที่ยังไม่ได้เขียนไว้และต้องผลักดันสนับสนุนให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา 76 สัดส่วนผู้หญิงในทางการเมือง การส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ อย่างน้อยต้องมีเพศตรงข้ามไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คาดว่าจะมีการพิจารณาในสัปดาห์หน้า ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการเสนอให้ตัดผู้หญิงออกจากระบบบัญชี รายชื่อ แต่ตนเชื่อมั่นว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะคงบรรจุเรื่องนี้ไว้ เช่นเดิม 

ปู-แกนนำพท.ร่วมงานบวช
       ส่วนความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้น เมื่อเวลา 08.30 น. ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมแกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีและอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย จำนวนมากเข้าร่วมงานพิธีอุปสมบทนายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช บุตรชายของนายสาโรจน์ หงษ์ชูเวช รักษาการรอง ผอ.พรรค โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก น.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมแกนนำพรรคร่วมถ่ายรูปหมู่ก่อนมีประชาชนเข้าขอถ่ายรูปน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ภายหลังการอุปสมบทพระณณัฏฐ์ ได้รับฉายาว่า "จันทสีโล" แปลว่า ผู้หมดจดดั่งพระจันทร์
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก อดีตรองนายกฯได้เดินทางมาถึง สื่อมวลชนได้สอบถามถึงข่าวการหย่าร้างกับภรรยาจนทำให้ทรัพย์สินของ พล.ต.อ.ประชาลดลงกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งพล.ต.อ.ประชากล่าวติดตลกว่า "ไม่มีรายละเอียดเรื่องนี้ เลยไม่รู้จะชี้แจงอย่างไร" ระหว่างนั้นนายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช. พูดแซวขึ้นมาว่า "ผมอยากเห็นหน้า ผู้หญิงที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้จังเลย" ทำให้ พล.ต.อ.ประชาระเบิดเสียงหัวเราะก่อนตอบว่า "ผมไปทำบุญดีกว่า"

ปัดตอบคดีเยียวยาม็อบ
      น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงกรณีกิจกรรมเชิญชวนประชาชนร่วมกดไลก์แฟนเพจในเฟซบุ๊ก เพื่อหาผู้โชคดีคนที่ 4 ล้าน ร่วมดื่มกาแฟ ว่า ขณะนี้กำลังรอแอดมินเพจ ติดต่อกลับไปยัง ผู้โชคดีทั้ง 11 คน เป็นห่วงหากบางคนอยู่ต่างจังหวัด ดังนั้นต้องนัดหมายวันเวลาที่ชัดเจน ส่วนสถานที่รอพิจารณาอีกครั้ง เมื่อถามถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้มารับทราบข้อกล่าวหากรณีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้ผล กระทบจากการชุมนุมปี 2548-2553 น.ส. ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องรอหารือกับทีมทนายความอีกครั้งเพราะขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียด
      รายงานข่าวเปิดเผยว่า ในงานเลี้ยงสังสรรค์ฉลองวันเกิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ร้านอาหารย่านอโศกเมื่อคืนวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ฐานะพี่ชาย ได้โฟนอินเข้ามากล่าวอวยพรวันเกิด โดยได้กล่าวกับแกนนำและอดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยที่อยู่ในงานว่ารู้สึกดีใจที่พวกเรายังรักกันและเหนียวแน่นดี พวกเราร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานานหลายปี มีอะไรก็ให้ช่วยๆ กัน ขอให้สมาชิกพรรครักกันเหนียวแน่นอย่างนี้อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่มีใครทำอะไรพวกเราได้ ขณะที่สมาชิกพรรคได้กล่าวอวยพรให้ พ.ต.ท.ทักษิณดูแลสุขภาพดีๆ ทุกคนยังคิดถึงเสมอ

 

สนช.เผยขั้นตอนสอย 248 ส.ส.
   นายยุทธนา ทัพเจริญ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสนช. (วิปสนช.) กล่าวถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีถอดถอนอดีต ส.ส.248 คน กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบว่า หลังจากสนช.ได้ประชุมพิจารณาคดี นัดแรกในวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมาไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเรียกคู่กรณีทั้งสองฝ่ายคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอดีตส.ส. มาแถลงเปิดสำนวนคดีในวันที่ 15-16 ก.ค.นี้ เชื่อว่าฝ่าย อดีตส.ส.คงจะส่งตัวแทนมาแถลงเปิดคดีต่อที่ประชุมสนช.ตามฐานความผิด 
       นายยุทธนา กล่าวว่า ส่วนการแถลงปิดคดีคงส่งตัวแทนมาเช่นกัน คงไม่ให้อดีตส.ส.248 คนมาแถลงเปิดสำนวนคดีทุกคน เพราะดูจะเป็นการกดดันสนช. และเป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาเอง ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้สนช.เคยมีหลักการตอนลงมติคดีถอดถอนอดีต 38 ส.ว.มาแล้ว ก็น่าจะทำตามหลักการเดียวกัน เพราะผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ส่วนใหญ่มีความผิดคล้ายกับคดีอดีต 38 ส.ว.คือเป็นเรื่องการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระต่างๆ แต่สุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ของสนช.จะเห็นอย่างไร 

คาดชี้ชะตาในเดือนส.ค.
     นายยุทธนา กล่าวว่า หลังจากการแถลงเปิดสำนวนคดีในวันที่ 15-16 ก.ค.แล้ว ขั้นตอนต่อไปอีก 7 วันจะเป็นการซักถามคำถาม คู่กรณีทั้งสองฝ่าย และอีก 7 วันต่อมาจะเป็นการแถลงปิดสำนวนคดีของทั้งสองฝ่าย จากนั้นอีกไม่เกิน 3 วัน จะเป็นการลงมติถอดถอนคดีดังกล่าว ซึ่งดูแล้ว สนช.น่าจะลงมติถอดถอนคดีอดีต ส.ส.248 คน ได้ในช่วงต้นเดือนส.ค.ถึงกลางเดือนส.ค. ส่วนกรณีที่ ที่ประชุมสนช.มีมติไม่ให้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา เพิ่มเติมพยานหลักฐานทุกอย่างต่อสนช.นั้น เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานที่ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาขอเพิ่มเติมมาส่วนใหญ่มีอยู่ในสำนวน ของป.ป.ช.อยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องยื่นเพิ่มเติมให้สนช.อีก 
      นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องการพิจารณาถอดถอนความเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นเรื่องรุนแรงทางการเมืองของนักการเมือง เหมือนเป็นการลงโทษประหารชีวิต ดังนั้นควรเปิดโอกาสและให้สิทธิอดีต ส.ส.ได้เข้าชี้แจงพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อพิสูจน์ตัวเอง ที่สำคัญเพื่อให้ปราศจากข้อสงสัยในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ทุกฝ่ายยอมรับและ มีความน่าเชื่อถือของ สนช. การที่ สนช.ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้อย่างเต็มที่นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ดีเลย

'วันชัย'เเนะกมธ.ยกร่างฯนิ่ง
      นายวันชัย สอนศิริ สปช.กล่าวถึงกรณี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ. ยกร่างฯ ระบุสปช.อย่าเห็นแก่ขนม 200 ชิ้นที่รออยู่ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หลังสปช.หมดวาระว่า กมธ.ยกร่างฯอย่าโอนไปเอียงมาตามกระแส อย่าเกรงกลัวว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน หากเห็นว่า สิ่งใดดีก็ทำเต็มที่ ไม่ต้องโน้มน้าวหลอกล่อปลอบประโลมให้สปช.เห็นดีเห็นงามด้วย 
     "เชื่อว่า สปช.แต่ละคนจะมีดุลพินิจ คงจะพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลมากกว่าที่จะไปคำนึงถึงตำแหน่งหรือขนม 200 ถ้วยที่กล่าวอ้างกัน ใครจะพูดเช่นนั้นถือว่าหมิ่นน้ำใจสปช. กันเกินไป ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯ จึงต้องนิ่งมีสมาธิมุ่งมั่นแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญออกมา ให้ดีที่สุด อย่าออกอาการลนลานให้คนเขารู้หมดว่ากลัวรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน" นายวันชัยกล่าว

เลือกใหม่อบจ.นครศรี-ฟันเทพไท
       เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยคดีร้องคัดค้านการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)นครศรีธรรมราช ตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ขอศาลมีคำสั่งให้มีการเลือกใหม่ ให้เรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการใช้จ่าย งบประมาณในการเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง นายมาโนช เสนพงศ์ อบจ.นครศรีธรรมราช และให้ดำเนินคดีอาญากับนายเทพไท เสนพงศ์ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพี่ชายพร้อมพวก ในฐานะมีส่วนสนับสนุนให้มีการทุจริตในการเลือกตั้งด้วยการจูงใจจัดเลี้ยง ผู้นำท้องที่ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ตามคำร้องคัดค้านของนายพิชัย บุณยเกียรติ อดีตนายกอบจ.นครศรีธรรมราช
     ส่วนบรรยากาศที่อบจ.นครศรีธรรมราช พบว่านายมาโนช ได้ส่งคืนรถยนต์โฟล์กตู้ประจำตำแหน่ง พร้อมรถยนต์ผู้ติดตามไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนรถยนต์ประจำตำแหน่งของรองนายก อบจ.ทั้ง 3 รายและทีมบริหารยังไม่ถูกส่งคืนมายังสำนักงาน อบจ.นครศรีธรรมราช และ ยังไม่มีการขนย้ายเอกสารและทรัพย์สินส่วนตัวของทีมบริหารออกจากห้องทำงาน ขณะที่บรรยากาศภายในบ้านพักของนายเทพไท เป็นไปอย่างเงียบเหงา
      นายธงชัย วรรณธนะพิศิษฐ์ ประธานกกต.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า สำนักงานกำลังรอเอกสารจาก กกต.กลางเนื่องจากหลังศาลมีคำสั่ง จะส่งไปยังท้องถิ่น และกกต.กลาง หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาในส่วนของความรับผิดทางคดีโดยเฉพาะค่าเสียหายในการเลือกตั้ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประจำที่จำเลยไม่ต้องรับผิด และค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าใช้ประจำผู้ที่ถูกศาลสั่งจะต้องรับผิดชอบ ส่วนการเว้นวรรคนั้นจะต้องดูคำสั่งศาลว่าสั่งอย่างไร สำหรับนายเทพไท คาดว่าจะต้องถูกดำเนินการตามขั้นตอนที่นครศรีธรรมราช โดย กกต.จะเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน

ป.ป.ช.ตั้งกก.ไต่สวนรมว.-รมช.สธ.
      เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.รายงานข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการป.ป.ช.ได้มีมติให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหาว่า นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข(สธ.) และนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข จงใจแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยป.ป.ช.เห็นว่ามีพฤติการณ์ในการกระทำความผิด กรณีที่ นพ.รัชตะ ในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน แต่ปรากฏว่ามีผู้ที่ได้รับเลือก 3 คน คือ นพ.วิจารณ์ พานิช นพ.เชิดชัย นพมณีจํารัสเลิศ และนพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ซึ่งเป็นบุคคลที่เคยได้รับทุนวิจัยต่อเนื่องมาโดยตลอด และไม่มีการกลั่นกรองว่าบุคคลดังกล่าวมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ จึงถือเป็นกรณีที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
    ส่วนในขั้นตอนการสรรหากรรมการสถาบันวิจัยก็มีการออกคำสั่งปรับเปลี่ยนเพื่อให้กระบวนการสรรหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการจงใจให้มีการเลื่อนประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขชุดเดิมที่จะพิจารณาปัญหาความไม่โปร่งใส และเร่งประชุม คณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขชุดใหม่ ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าเลขานุการในการประชุมไปราชการต่างประเทศ
       คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา และกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ป.ป.ช.จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวขึ้น โดยมีนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน ซึ่งได้ส่งหนังสือแจ้งเรื่องเรื่องดังกล่าวไปทางไปรษณีย์เพื่อให้นพ.รัชตะ และนพ.สมศักดิ์แล้ว