- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 28 June 2015 09:20
- Hits: 5643
สปสช.ส่องไฟป้องเลขาฯ ฮือโต้ม.44 นพ.วินัยข้องใจ-น้ำตาคลอ แถลงการณ์ขอเป็นธรรม วิษณุชี้มีเด้งอีก'ล็อต 3' นายกฯปลอบ"ยังไม่ผิด" เผยเหตุ'21 ขรก.'เข้ากรุ
สปสช.จุดเทียน-ส่องไฟฉาย-ร้องเพลงกระหึ่ม ให้กำลังใจ'หมอวินัย' เจ้าตัวน้ำตาคลอขอความเป็นธรรม 'ประยุทธ์'แจงเด้ง 71 ขรก.-อปท.ถือว่ายังไม่ผิด รอผลสอบสวน
มติชนออนไลน์ :
แจงเด้ง 71 ขรก.ยังไม่ถือว่าผิด
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 26 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวหลังเป็นประธานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักนายกรัฐมนตรีครบรอบปีที่ 83 ถึงการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ระบุให้มีการโยกย้ายและยุติการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ 71 คน ว่ายังไม่ถือว่าทั้งหมดมีความผิด เพราะเป็นการรวบรวมรายชื่อที่มีการร้องเรียนอยู่ในกระบวนการ ตรวจสอบทั้งหมด ถ้าเรื่องไหนที่สำคัญมากๆ หรือเป็นปัญหาใหญ่นั้นจำเป็นต้องรื้อตำแหน่งระดับสูงให้ขยับออกมาก่อน เพื่อให้เกิดการสอบสวน หาพยานหลักฐานในเชิงประจักษ์ให้ได้ แต่ถ้าไม่ผิดก็กลับมาที่เดิม เพราะยังไม่ได้ตั้งใครแทน เป็นการรักษาราชการ โดยผู้อาวุโสในแต่ละหน่วยงานตั้งขึ้นมาตามระเบียบอยู่แล้ว
"อย่าเพิ่งไปกล่าวหาว่าเขาอะไรเลยจะเสียหาย ผมเคยบอกแล้วว่าทำอะไรก็ตาม จะเสื่อมเสียถึงครอบครัว วงศ์ตระกูล ลูกหลานของเขาที่เป็นคนบริสุทธิ์ ฉะนั้นอย่าเพิ่งไปตำหนิเขาขนาดนั้น ผมให้ความเป็นธรรมกับทุกคน อย่าให้ต้องใช้อำนาจอย่างเดียวเลยในการลงโทษ เพราะมันจะไม่มีวันจบสิ้น ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมดีกว่า" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
'วิษณุ'แย้มเปิดชื่อเพิ่ม 10 บิ๊กขรก.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังมอบรางวัลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ว่า การโยกย้ายครั้งนี้เป็นไปตามบัญชีข้าราชการทุจริตล็อตที่ 2 ส่วนชุดแรกจะมีบางส่วนที่ถูกใช้และไม่ใช้ตามมาตรา 44 โดยมาตรา 44 จะใช้กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการสั่งการ ขณะที่ข้าราชการระดับล่าง ระดับซี 6-7 จะส่งรายชื่อกลับไปให้กระทรวงนั้นๆ พิจารณาตรวจสอบต่อไป ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้ติดตามการพิจารณาข้าราชการระดับสูงเป็นหลัก เนื่องจากมีอำนาจในการสั่งการ ขอชี้แจงว่าบุคคลที่มีรายชื่อทั้งหมดทั้งชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ยังไม่ถือว่ามีความผิด ยังไม่ลงโทษ แต่ที่อยู่ระหว่างการสอบสวน ทั้งนี้ในบัญชีล็อต 2 มีผู้เข้าข่ายอีก 10 คน ที่จะโดนโยกย้าย แต่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ซึ่งมีความคิดอาจจะประกาศรายชื่อให้ประชาชนรู้ในภายหลัง คาดว่าจะทำทันในรัฐบาลนี้ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะระบุไปด้วยหรือไม่ว่าผิดข้อหาใด
ล็อต 2 มีอีก 200 คน
"ข้าราชการชุดที่ 2 มี 200 คน เราจะมาดูและคัดเลือกข้าราชการตั้งแต่ซี 8-11 อาทิ นายอำเภอ ผู้อำนวยการ หัวหน้าหน่วยต่างๆ จะใช้มาตรา 44 ส่วนที่ต่ำกว่าซี 8 ลงไปจะส่งชื่อให้กระทรวงพิจารณาจัดการกันเอง ผมเองจะต้องไปย้ำกับ 71 รายชื่อแรกที่ออกมาว่าคุณยังไม่มีความผิด ไม่ได้ย้าย เพียงแต่เอาออกมา แต่มั่นใจว่าตำแหน่งยังอยู่ ไม่มีใครหลุดจากตำแหน่งเดิมสักคน ระหว่างนั้นก็ให้คนไปรักษาการแทน และปล่อยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ 71 รายชื่อไป แต่รัฐบาลขอให้เร่งทำ ถ้าผิดจริงจะจัดการทั้งทางแพ่งและทางอาญา หากแรงกว่านั้นคือพ้นจากตำแหน่งเลย แล้วตั้งคนใหม่ขึ้นมาแทน แต่ถ้าไม่ผิดก็ว่าไปตามขั้นตอน หากผลสอบออกมาช้า นายกฯคิดว่าจะต้องจัดการเองในทางใดทางหนึ่ง" นายวิษณุกล่าว
วิษณุแจงเด้ง'สุวัตร-ชนม์สวัสดิ์'
นายวิษณุกล่าวถึงการโยกย้ายนายสุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ว่ารายชื่อนายสุวัตรอยู่ในบัญชีที่ 1 แม้เราดึงออกมาความเป็นปลัดยังติดตัวอยู่ แต่บังเอิญว่าอธิบดีกรมการท่องเที่ยว รวมถึงตัวรองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว ก็อยู่ในข่ายเดียวกัน จึงกลายเป็นว่ามีผู้รักษาการเกือบทั้งกระทรวง ซึ่งไม่ดีแน่ เพราะจะทำให้กระทรวงเดินหน้าไม่ได้ ซึ่งก็คือเหตุผลที่ต้องนำนายสุวัตรออกมาช่วยราชการก่อนเพื่อให้ตำแหน่งว่าง และจะได้มีการตั้งตัวจริงขึ้นมาทำงานต่อไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเจ้ากระทรวงจะตั้งหรือไม่ รัฐบาลเพียงแต่เปิดทาง
ส่วนกรณีนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นายก อบจ.สมุทรปราการ ที่พ้นจากตำแหน่งชั่วคราวและไม่ได้รับเงินเดือนตามคำสั่ง ม.44 ล่าสุดในบัญชีข้าราชการล็อต 2 นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ข้าราชการท้องถิ่นต้องออกมาพักโดยไม่ได้ทำงาน แต่ตำแหน่งยังติดอยู่ซึ่งทางจังหวัดต้องตั้งคนใหม่ขึ้นมาทำงาน หากให้เงินเดือนทั้งนายชนม์สวัสดิ์และข้าราชการคนใหม่ที่มาแทน จำนวนเงินของท้องถิ่นอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากการบริหารระดับท้องถิ่นบริหารงานคนละแบบกับข้าราชการ ท้องถิ่นต้องจ่ายเงินงบประมาณของท้องถิ่นเอง ทั้งนี้ไม่กังวลว่าจะถูกฟ้องกลับเพราะเป็นการออกตามคำสั่งมาตรา 44 จะฟ้องกลับมิได้ หากเป็นกฎหมายธรรมดาคงถูกฟ้องไปแล้ว
"ความผิดของข้าราชการล็อต 1 และ 2 เป็นความผิดก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพราะหลังจากยึดอำนาจ หน่วยงานที่ตรวจสอบทั้งหมดก็ส่งรายชื่อมาให้รัฐบาลทันทีและหน่วยงานที่ตรวจสอบก็ใช้เวลานานในการตรวจสอบว่าผิดจริงหรือไม่ ถูกกลั่นแกล้งหรือไม่ ส่วนความผิดหลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็น่าจะมีอีก" นายวิษณุกล่าว
ปลัดมท.ตั้ง'มนตรี'รักษาการพช.
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ที่ว่างลง เนื่องจากนายขวัญชัย วงศ์นิติกร มีชื่อในคำสั่งย้ายล็อตนี้ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งตั้งนายมนตรี นาคสมบูรณ์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนเป็นการชั่วคราว
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งและถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้กระทบการทำงานของท้องถิ่น และไม่จำเป็นต้องมีการแต่งตั้งให้ผู้ใดทำหน้าที่แทน ทั้งนี้โดยส่วนตัวไม่อยากให้ใครต้องโดนตรวจสอบ ขอเพียงอย่าทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ขอให้ข้าราชการทุกคนปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ถ้าเราทำดีแล้วอย่ากลัวการตรวจสอบ
นายวัลลภ พริ้งพงษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กล่าวถึงคำสั่งตาม ม.44 ว่ามีรายชื่อนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 7 ราย นายกและรองนายกองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) 17 ราย นายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล 18 ราย รวมถึงข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 ราย โดยคำสั่งดังกล่าวให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ยังไม่มีการถอดถอน ซึ่งได้แจ้งไปยังบุคคลที่มีรายชื่อเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้แต่ละพื้นที่ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ว่ามีการกระทำส่อไปในทางทุจริตหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้จะต้องทำรายงานส่งมาที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นด้วย สำหรับผู้ที่จะมารักษาการแทนนายก อบต. นายก อบจ. กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จะแต่งตั้งให้รองนายกลำดับที่ 1 เป็นผู้รักษาการแทนไปก่อน
'บิ๊กต๊อก"ถก'ศอตช."สรุปผลงาน
ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ ศอตช. โดยมีนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช. นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้าร่วม
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นการประชุมทบทวนการทำงานและสรุปผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาของ ศอตช. ว่าได้ทำอะไรไปบ้าง เนื่องจาก ศอตช.ได้เสนอคณะกรรมการชุดเพิ่มเติมคือกรมสรรพากรและกองสารนิเทศ สำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทั้งสองหน่วยงานยังไม่เคยเข้าร่วมการประชุม เพื่อให้เกิดความเข้าใจ พร้อมทั้งอธิบายกระบวนการขั้นตอนการเสนอรายชื่อข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตให้กับคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ว่ามีขั้นตอนการทำงานอย่างไร
หารือสรรพากรคำนวณภาษีโครงการ
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า ได้หารือกับกรมสรรพากรในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินและการคำนวณภาษี ซึ่งจะทำให้เห็นภาพการใช้จ่ายของแต่ละโครงการว่ามีราคาถูกต้องหรือมีการฮั้วประมูลราคาหรือไม่ เพื่อจะได้ทราบกระแสการเคลื่อนไหวของเงินที่ได้รับไปจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นการป้องปรามไม่ให้มีการทุจริต อย่างไรก็ตาม จะให้นายประยงค์ไปประสานขอข้อมูล ทั้งจากศาล อัยการ กรมสรรพากร และหน่วยงานที่อยู่ใน ศอตช. เพื่อจัดทำให้เป็นศูนย์การแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงเพิ่มมากขึ้น และเนื่องจากข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลลับ ก็ต้องดูว่าจะสามารถเปิดเผยได้ขนาดไหน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ เพราะที่ผ่านมาบางข้อมูลประชาชนไม่ทราบ เช่น กรณีการทำคดีทุจริตนั้น ศาลไม่เคยรอลงอาญาเลย โดยได้ดำเนินการตัดสินทันที เป็นต้น
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้หารือกันในที่ประชุม โดยให้คณะกรรมการได้ชี้แจงกัน ซึ่งที่ผ่านมาในขั้นตอนการตรวจสอบนั้น ได้กำชับไปแล้วว่าให้ดำเนินการอย่างเป็นธรรมและรอบคอบ พร้อมทั้งให้ระวังการคาบเกี่ยวระหว่างการตรวจสอบทุจริตกับปัญหาภายในของแต่ละกระทรวง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแยกให้ดี เพราะอาจทำให้ไปรวมกับปัญหาภายใน อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของคณะกรรมการ
ใครไม่ผิดพร้อมให้ความเป็นธรรม
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณี นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. จะแถลงกรณีมีคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 รวมอยู่ในชื่อบัญชีข้าราชการ ล็อตนี้ด้วย พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า หากมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิดก็ขอให้ทำหนังสือชี้แจงมายังตน เพราะการเสนอรายชื่อเป็นหน้าที่ของ 4 หน่วยงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานของฝ่ายบริหารราชการทั้ง ป.ป.ช., สตง., ป.ป.ท. และ คตร. โดยติดตามเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว และมั่นใจในข้อมูลที่ได้นำเสนอ อย่างไรก็ตาม ใครก็ตามที่มีรายชื่อทั้งที่ออกโดยคำสั่งของ คสช. และรายชื่อที่ให้แต่ละหน่วยงานไปดำเนินการเองนั้น หากมั่นใจว่าไม่ได้กระทำผิดสามารถขอความเป็นธรรมได้ เพราะตนไม่เคย
พูดว่าใครผิด เนื่องจากอำนาจการตัดสินผิดหรือถูกเป็นหน้าที่ของศาล ทั้งนี้ คนที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งระดับผู้บังคับบัญชาหรือใครก็ตาม จะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ
"ผมเคยบอกแล้วว่าถ้ามั่นใจว่าไม่ผิด มีสองวิธีการคือ ทำหนังสือร้องมาแล้วเอาทีวีมานั่งถ่ายและโชว์ข้อมูลดูกันเลย หรือท่านจะร้องมาและผมก็ให้เจ้าหน้าที่ที่เขาตรวจสอบท่านมานั่งปิดห้องคุยกัน ก็ได้ทั้งหมด เพราะผมบอกคณะกรรมการทั้ง 4 ฝ่ายแล้วว่า ท่านต้องพร้อมที่จะให้เขาพิสูจน์ตัวเอง เพราะนายกฯบอกแล้วว่าถ้าเขาพิสูจน์ได้ อะไรได้ ก็คืนความเป็นธรรมให้เขาและต้องคืนให้เร็วด้วย" พล.อ.ไพบูลย์กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.นิรันดร์ อดุลยาศักดิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ ดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีที่มีรายชื่อถูกโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากมีรายชื่อถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตว่า เรื่องดังกล่าวไม่ทราบว่าถูกโยกย้ายเรื่องอะไร เนื่องจากที่ผ่านมาตั้งใจทำงานและไม่เคยกระทำผิด อย่างไรก็ตาม พร้อมจะย้ายไปตามคำสั่งที่ประกาศไว้ ทั้งนี้ ไม่ได้สนใจหรือใส่ใจว่าใครจะมองอย่างไร เพราะเป็นมุมมองและความคิดเห็นของแต่ละคน
สปสช.ปิดไฟ-จุดเทียนส่องไฟฉาย
วันเดียวกัน กลุ่มบุคลากรและเจ้าหน้าที่ สปสช.กว่า 300 คน รวมตัวที่บริเวณห้องโถงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ที่ถูกคำสั่งย้ายในครั้งนี้ พร้อมทั้งได้ปิดไฟบริเวณสำนักงานทั้งหมด และจุดเทียน ส่องไฟฉายไปทั่วบริเวณ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าขณะนี้ สปสช.อยู่ในความมืดมิด และแสงไฟที่ส่องเพื่อขอความเป็นธรรม เป็นความหวังที่จะได้กลับคืน รวมทั้งยังถือป้ายกระดาษเอ 4 เดินเรียงต่อกันว่า สปสช.โปร่งใส บริสุทธิ์ ไม่ผิด ฯลฯ ก่อนร่วมกันร้องเพลงเพื่อนร่วมทาง ซึ่งเป็นเพลงประจำของ สปสช. และเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ พร้อมทยอยมอบดอกไม้และตะเกียงส่องสว่างเป็นกำลังใจให้ นพ.วินัย ขณะเดียวกัน ชมรมรักษ์ สปสช.ยังออกแถลงการณ์และร่วมลงชื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรม เพื่อรวบรวมส่งไปยังรัฐบาลภายในสัปดาห์หน้าด้วย
"หมอวินัย"ยันแจงบริหารงบแล้ว
ต่อมา นพ.วินัยแถลงว่า ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. ก็ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดจริงๆ แต่ก็ยินดี หากจะให้การตรวจสอบดำเนินการต่อไป ส่วนจะให้ทำงานอะไรก็ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการ สธ.มอบหมาย ถือเป็นการพักผ่อน อย่างไรก็ตาม หากการถูกสั่งย้ายเนื่องจากกรณีการใช้จ่ายงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ต้องเรียนว่าเรื่องนี้สืบเนื่องมาจากตั้งแต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเมื่อปี 2554-2555 โดยได้ทักท้วงบางประเด็นของการบริหาร สปสช.สาขาจังหวัด และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้เข้ามาตรวจสอบ และมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบอีก ซึ่งที่ผ่านมามีการชี้แจงไปแล้ว โดยเป็นการชี้แจงของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)
น้ำตาคลอขอความเป็นธรรม
เมื่อถามว่า เป็นเพราะการบริหารงบผิดประเภทที่ คตร.เคยระบุไว้ นพ.วินัยกล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องขอเห็นหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการก่อน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยถูกกล่าวหาว่าทุจริต การตรวจสอบที่เกิดขึ้นเป็นการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจในการใช้อำนาจของบอร์ด สปสช.ในการกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารกองทุน
"ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ทำหน้าที่เลขาธิการ สปสช. ผมได้ทุ่มเททำงานเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อประชาชนอย่างเต็มที่ ได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงานในระดับดีเยี่ยม หรือ A ติดต่อกันทุกปี ทำให้ สปสช.ได้รับรางวัลการบริหารกองทุนหมุนเวียนดีเด่นจากกรมบัญชีกลางติดต่อกันถึง 6 ปี และที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีปัญหาการทำหน้าที่เลขาธิการแต่อย่างใด เคารพในคำสั่งโยกย้าย แต่การใช้มาตรา 44 นี้เป็นการย้ายด้วยวิธีพิเศษ ที่ควรจะเป็นไปเพราะบุคคลมีปัญหาทุจริต ประพฤติมิชอบ หากปล่อยไปจะเกิดความเสียหายหรือไร้ความสามารถ แต่เมื่อไม่มีเหตุเช่นนั้นจึงไม่ทราบว่ามีสาเหตุจากอะไร จึงขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเองด้วย สำหรับคนที่จะมารักษาการเลขาธิการ สปสช.นั้น คงต้องรอมติบอร์ด สปสช. ซึ่งจะประชุมในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้" นพ.วินัยกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
ชมรมรักษ์สปสช.แถลงการณ์
ขณะที่ ชมรมรักษ์ สปสช.ออกแถลงการณ์ขอความเป็นธรรมให้ นพ.วินัย สวัสดิวร ว่า การมีคำสั่งให้เลขาธิการ สปสช.หยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งที่ไม่มีความผิดนั้น จึงเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของ สปสช.เป็นอย่างยิ่ง ชมรมเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของเลขาธิการ ถึงแม้ว่า นพ.วินัยจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม ในฐานะเจ้าหน้าที่ สปสช.ขอให้สัญญาต่อประชาชนว่า ยังคงยึดถือหลักการและปฏิบัติหน้าที่สร้างหลักประกันสุขภาพให้แก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส ตามเจตนารมณ์ของเลขาธิการต่อไป
นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวภายหลังการประชุมติดตามขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติว่า คำสั่ง คสช.ไม่ระบุว่าให้ดำเนินการใดๆ เป็นพิเศษ คงต้องดูว่าจะให้แต่ละคนดำเนินการอย่างไรบ้าง ขอเวลาพิจารณาก่อน ส่วนกรณีเกิดคำถามถึงการสั่งย้าย นพ.วินัย เกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น คสช.ยังไม่มีคำสั่งให้ดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม ขณะนี้จึงต้องดูเรื่องการย้าย นพ.วินัยมาที่ สธ.ก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะแต่งตั้งใครแทน นพ.วินัยหรือไม่ นพ.รัชตะกล่าวว่า ต้องปรึกษาบอร์ด สปสช. ซึ่งจะประชุมและจะคัดเลือกกัน คาดว่าจะอยู่ในกลุ่มของรองเลขาธิการ สปสช.ที่มีอยู่
ตั้งปฏิบัติหน้าที่รองเลขาฯกพฐ.
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามในคำสั่งมอบอำนาจให้ข้าราชการปฏิบัติราชการแทน ดังนี้ นายเอนก รัตน์ปิยะภาภรณ์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน รับผิดชอบและวินิจฉัยสั่งการ และปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการ กพฐ.ในราชการของหน่วยงาน ได้แก่ สำนักอำนวยการ สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักการคลังและทรัพย์สิน ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน และปฏิบัติงานร่วมกัน หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับมอบหมาย และนางวัฒนาพร ระงับทุกข์ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา รับผิดชอบและวินิจฉัยสั่งการ และปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการ กพฐ.ในราชการของหน่วยงาน ได้แก่ สำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ สำนักบริหารงานการศึกษาภาคบังคับ ศูนย์บริหารโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค และปฏิบัติงานร่วมกัน หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะอนุมัติตำแหน่งรองเลขาธิการ กพฐ.ที่ตนได้เคยเสนอรายชื่อไปก่อนหน้านี้
จี้นายก"มมส.-กก.สภา"ลาออก
ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) มีตัวแทนสภาคณาจารย์ บุคลากร และนิสิต มมส.ประมาณ 20 คน แถลงการณ์ พร้อมยื่นข้อเรียกร้องให้นายปัญญา ถนอมรอด นายกสภา มมส. พร้อมกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีไม่สามารถบริหารงานให้เกิดความเป็นธรรม จน คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 ให้ระงับการปฏิบัติราชการของนายศุภชัย สมัปปิโต รักษาการแทนอธิการบดี มมส.
"บิ๊กเข้"ชี้รองอธิการบดีต้องพ้นด้วย
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวว่า ได้หารือกับนายพินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรณี คสช.มีคำสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของนายศุภชัย หากอธิการบดีพ้นจากตำแหน่ง รองอธิการบดีซึ่งแต่งตั้งโดยอธิการบดีจะต้องพ้นไปด้วย แต่ถ้าสภา มมส.ยังไม่ดำเนินการ จะให้ สกอ.ไปศึกษาข้อกฎหมายว่าทำอะไรได้บ้าง ส่วนจะตั้งคณะกรรมการสอบกรณีนายศุภชัยถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตต่างๆ หรือไม่นั้น ต้องหารือ คสช.เพื่อจะดูว่าคำสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่เพราะเหตุใด ที่ผ่านมาเคยตั้งคณะกรรมการสอบวินัยนายศุภชัยไปแล้ว
ญาติ"ชนม์สวัสดิ์"รักษาการแทน
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่สำนักงาน อบจ.สมุทรปราการ หลังมีคำสั่งของ คสช.ให้นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นายก อบจ.สมุทรปราการ พร้อมด้วยข้าราชการใน อบจ.สมุทรปราการ ประกอบด้วย นายสายัณห์ รักษนาเวศ ปลัด อบจ., นายสุรศักดิ์ ปรีชาผล ผู้อํานวยการกองคลัง, นายนิพนธ์ บุณยเกียรติ ผู้อํานวยการกองแผนและงบประมาณ และนายวิชัย จันทร์จํารูญ ผู้อํานวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อนายชนม์สวัสดิ์และข้าราชการดังกล่าวแต่ไม่สามารถติดต่อได้ พบว่าทั้งหมดที่ถูกคำสั่งจาก คสช. ไม่มีผู้ใดมาปฏิบัติหน้าที่อีก
นายพินิจ หาญพาณิชย์ ผู้ว่าฯสมุทรปราการ ในฐานะผู้บังคับบัญชาระดับจังหวัด กล่าวถึงคำสั่งดังกล่าวว่า เรื่องที่นายชนม์สวัสดิ์ถูกไปช่วยราชการที่จังหวัดนั้นเป็นไปตามคำสั่งของคณะ คสช. เพื่อความสะดวกในการดำเนินการตามขั้นตอนของผู้บังคับบัญชาในกระทรวง ส่วนเรื่องรักษาการนายก อบจ. ได้มีนายอัครวัฒน์ อัศวเหม รองนายก อบจ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นญาติของนายชนม์สวัสดิ์รักษาราชการแทนนายชนม์สวัสดิ์ เพื่อที่จะบริหารงานต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งจากรัฐบาลให้มีการเปลี่ยนแปลง
"นายกเล็ก"มึนเพิ่งรับรางวัล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีรายชื่อนักการเมืองและข้าราชการในท้องถิ่น จ.เชียงราย ถูกคำสั่งตามมาตรา 44 ได้แก่ นายเสรี ทิจินะ นายก อบต.โป่งผา อ.แม่สาย, นายวิทยา อุ่นคำ นายกเทศมนตรี ต.บุญเรือง อ.เชียงของ, นางอรชา พัฒนศุภสุนทร ปลัดเทศบาลตำบลเวียง อ.เชียงแสน และนายประดิษฐ์ นามลักษณ์ ปลัดเทศบาลตำบลป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง นั้น
นายเสรีกล่าวว่า รู้สึกตกใจมาก เพราะเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา เพิ่งไปรับรางวัลหลักธรรมาภิบาลบริหารดีเด่นจากนายวิษณุ สาเหตุถูกพักงานอาจจะมาจากการมีผู้ร้องเรียนไปยัง สตง.และ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดเชียงราย เป็นอดีตผู้สมัครเลือกตั้งนายก อบต.หลายปีก่อน แต่แพ้ตน จึงเกิดความเคียดแค้น ร้องเรียนว่าไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการเก้าอี้ไฟฟ้าเพื่อช่วยฟื้นฟูและบำบัดผู้ป่วยและผู้สูงอายุ
ผู้ว่าฯลำปางส่งหนังสือแจ้ง"สุนี"
นายจำลักษณ์ กันเพ็ชร์ ท้องถิ่นจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า จากคำสั่งที่ออกมา สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จ.ลำปาง ได้ทำหนังสือลงนามโดยนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าฯลำปาง ออกไปยังนางสุนี สมมี นายก อบจ.ลำปาง ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายก อบจ.ลำปางแล้ว โดยหนังสือลงวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ส่วนงานของ อบจ.ลำปาง จะไม่มีการสะดุด นายเกรียงเดช สุทธิภักติ รองนายก อบจ.ลำปาง จะดำเนินงานสานต่อ มีอำนาจเต็มในการเสนอและอนุมัติงบประมาณโครงการต่างๆ รักษาราชการแทนไปจนกว่าจะหมดวาระหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
นางสุนีเผยว่า ได้ทราบเรื่องแล้ว มีความรู้สึกหดหู่ใจอย่างมาก เสียใจต่อการพิจารณาในคำสั่งดังกล่าวที่ให้หยุดการทำงานโดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนว่ามีความผิดในเรื่องใด ที่ผ่านมาตั้งใจทำงานเพื่อบ้านเมืองและประชาชนคนลำปางมาโดยตลอด และเป็นที่ยอมรับในการถูกเลือกให้เข้ามาทำงานในหน้าที่นี้ คำสั่งที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงด้วย ขอยืนยันในความบริสุทธิ์ใจ
นายกยโสฯ-หนองคายพร้อมแจง
นายสถิรพร นาคสุข นายก อบจ.ยโสธร กล่าวว่า ครั้งแรกที่ทราบข่าวรู้สึกตกใจ คิดไม่ออกว่าผิดในเรื่องอะไร เท่าที่ทำหน้าที่นายก อบจ.ยโสธรหลายสมัย มีความมั่นใจว่ามีความบริสุทธิ์ในการทำงาน และต้องปฏิบัติตามคำสั่งไปก่อน หากมีการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหาก็จะหาข้อมูลมาชี้แจง ไม่ได้กังวลใจอะไรมากนัก
ด้านนายยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ.หนองคาย กล่าวว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าไปเกี่ยวพันกับการทุจริตในเรื่องใด ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายก อบจ.หนองคาย 4 สมัย ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบกฎหมายและตามอำนาจหน้าที่มาโดยตลอด ไม่เคยมีเรื่องร้องเรียน หากให้โอกาสพร้อมจะชี้แจงในทุกเรื่อง
ขอนแก่นตั้งสอบ"ขรก.-ท้องถิ่น"
นายเมธา รุ่งฤทัยวัฒน์ ท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น กล่าวกรณี คสช.ใช้อำนาจในมาตรา 44 สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ประกอบด้วย นายสุมิตร สากาลี นายก อบต.ศรีบุญเรือง นายวิรัตน์ วัฒนสุข รองนายก อบต.ศรีบุญเรือง และ น.ส.กาญจนา ทาโบราณ
ปลัด อบต.ศรีบุญเรือง อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ว่าจะเป็นขั้นตอนของอำเภอในการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบผู้ที่เป็นข้าราชการ ขณะที่ตัวนายกและรองนายก อบต.จะถูกแจ้งข้อกล่าวหาและตั้งคณะกรรมการตรวจสอบด้วย รวมถึงการออกคำสั่งให้รองนายก อบต.ที่เหลืออยู่ดูแลแทนไปก่อน โดยมีนายอำเภอทำหน้าที่กำกับดูแลด้วย
นายวัฒนา ภูเกิดพิมพ์ รองนายก อบต.ยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เชื่อว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองมากกว่า ได้พูดคุยกับนายกและปลัด อบต.ยางตลาดแล้ว เข้าใจว่า อบต.ยางตลาด คงจะเป็นผู้ชี้แจงกับประชาชนในรายละเอียด ส่วนตัวแม้จะไม่มีตำแหน่งทางการเมืองก็ยังเดินหน้าทำงานภาคประชาชนต่อไป
นายก"ย่านซื่อ"ยอมรับตกใจ
นายสมาน ดาหมาด นายก อบต.ย่านซื่อ อ.ควนโดน จ.สตูล ได้เดินทางเข้าทำความเข้าใจกับลูกบ้าน ฐานเสียง และเจ้าหน้าที่ใน อบต.ย่านซื่อ กรณีถูกคำสั่ง คสช.ให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ยอมรับว่างงและตกใจกับคำสั่ง มีทั้งลูกบ้านและฐานเสียงต่างโทรศัพท์มาสอบถามถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าไม่ได้ทุจริต เชื่อว่ามีเพียงเรื่องเดียวคือ เรื่องโครงการก่อสร้างศูนย์อบรมคุณธรรมจริยธรรม ประจำมัสยิดดารุสซอลีฮีน ในย่านซื่อ เมื่อปี 2554 ที่เคยมีการเข้าตรวจสอบในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ยืนยันว่าไม่มีเจตนาในการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ขอเวลาก่อสร้างเพิ่มเติม เนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วมในเวลานั้น โดยจะมีรองนายก อบต.ขึ้นดูแลแทนชั่วคราว
นายอภิชิต วิโนทัย นายกเทศมนตรีนครตรัง จ.ตรัง กล่าวว่า ขอน้อมรับและปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว หลังจากนี้จะได้เตรียมชี้แจงตามขั้นตอนต่อไป เชื่อว่าหลังได้ชี้แจงแล้ว คสช.คงจะเปลี่ยนคำสั่งดังกล่าว พร้อมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวนครตรังที่ให้โอกาสเข้ามารับใช้ตลอดกว่า 3 ปีที่ผ่านมา
แห่ให้กำลังใจผอ.รพ.สงขลา
ขณะที่ นพ.ปรีชา วงศิลารัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา เป็น 1 ในข้าราชการถูกคำสั่งตามมาตรา 44 ให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิมและให้เข้าทำงานในสำนักปลัดต้นสังกัดนั้น ได้มีตัวแทนแพทย์ พยาบาล รวมถึงเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสงขลากว่า 50 คน นำดอกกุหลาบ พวงมาลัยดอกมะลิ มามอบให้เป็นกำลังใจ พร้อมร่วมกันร้องตะโกนว่า "รัก ผอ.ปรีชา"
นพ.ปรีชา ได้กล่าวแสดงความขอบคุณผู้ที่มาให้กำลังใจ พร้อมบอกว่าได้รับทราบคำสั่งเมื่อวานนี้ ไม่ทราบว่าถูกใช้มาตรา 44 จากสาเหตุใด เข้าใจว่าเคยมีเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาล 2-3 เรื่อง ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ คือเรื่องของการจัดตั้งกองทุนผ่าตัดคนไข้ทำคลอดนอกเวลา ปัจจุบันคนไข้พิเศษฝากท้องที่คลินิกหมอ จ่ายค่าแรงหมอไปแล้ว แต่กลับมาใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาล ได้ให้คนไข้จ่ายเงินส่วนนี้เข้าสู่กองทุนแล้วนำมาจัดสรรให้กับทีมงานและใช้ในการพัฒนาอื่นๆ ของโรงพยาบาลแต่ไม่ได้นำเงินเข้าสู่ระบบของเงินบำรุงโรงพยาบาลตามปกติ เนื่องจากปัญหาการเบิกจ่าย และเรื่องที่ สตง.ติงว่าใช้เงินไม่ถูกต้องตามระบบ เนื่องจากมีการโยกย้ายบัญชีทั้งหมดนั้นเป็นการบริหารที่ชัดเจน สะดวก ที่สำคัญการเบิกจ่ายเงินทุกครั้งมีหลักฐานสามารถตรวจสอบได้ และตนไม่ได้เป็นเจ้าของบัญชีที่นำเงินไปเข้าการเบิกจ่ายแต่ละครั้งก็ชัดเจน จึงมั่นใจในความบริสุทธิ์
"เนื่องจาก ม.44 ยังเป็นเรื่องใหม่ การดำเนินการครั้งนี้น่าจะเพื่อให้การตรวจสอบเป็นได้อย่างรวดเร็วหรืออาจจะเกรงว่าจะมีการไปขู่พยานหรือไม่ อย่างไร ส่วนตัวเข้าใจว่าการสอบสวนยังไม่สิ้นสุด จะเดินทางเข้าชี้แจงพร้อมพยานหลักฐาน ไม่รู้สึกกังวล เนื่องจากการทำงาน การบริหารการเงินนั้นมีขั้นตอนและสามารถตรวจสอบได้" ผอ.รพ.สงขลากล่าว
ขรก.-ชาวบ้านให้กำลังใจ"บุญเกื้อ"
ที่บ้านพักนายบุญเกื้อ พากเพียรศิลป์ นายกเทศมนตรีเมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี เป็น 1 ในนักการเมืองท้องถิ่น 71 คน ที่มีรายชื่อให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 44 นั้น นายวีระพันธุ์ อนุพันธุ์ ประธานชุมชนบ้านกลาง พร้อมประธานชุมชนอื่นๆ และฝ่ายบริหารเทศบาลเมืองปราจีนบุรี ได้นำชาวบ้านพร้อมข้าราชการ พนักงานเทศบาล พนักงานครู ในสังกัดเทศบาลเมืองปราจีนบุรี รวมกว่า 200 คน ชูป้ายผ้าโปสเตอร์และมอบดอกกุหลาบสีแดงให้กำลังใจนายบุญเกื้อ
นายบุญเกื้อกล่าวว่า ยังไม่ทราบสาเหตุของการถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ ยินดีให้ข้อมูลในการตรวจสอบ ระหว่างนี้มีรองนายกฝ่ายต่างๆ บริหารงานของเทศบาลเมืองปราจีนบุรีต่อไป
นายชวลิต ณ นคร รองนายก อบจ.ภูเก็ต เป็นตัวแทนนายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต ให้มาชี้แจงแทน หลังถูกคำสั่งมาตรา 44 เกี่ยวกับการมีปัญหาในการดำเนินโครงการว่า เข้าใจว่าน่าจะเป็นกรณีการปรับปรุงโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต เมื่อปี 2554 เพื่อให้มีหอผู้ป่วยรวมเพื่อจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ