Ayakarn25


อัยการลุยชนรธน. นัดลงชื่อ กมธ.แจงปม'กอ.' 
ว่าที่ทูตมะกันคนใหม่ แถลงลั่น-บีบไทยต่อ ระงับความช่วยเหลือ ปื๊ดเตือนสปช.อย่าหวัง ขนมล่อสภาขับเคลื่อน

       อัยการล่าชื่อทั่ว ประเทศคัดค้านรธน. ใหม่ เปิดทางคนนอกนั่งประธานก.อ. เผยอัยการสูงสุดก็ทราบเรื่อง และทำบันทึกแสดงความไม่เห็นด้วยแล้ว ด้าน 'เกลน เดวีส์'ว่าที่ทูตมะกันประจำประเทศไทย แถลงต่อวุฒิสภาสหรัฐ ย้ำสนับสนุนประชา ธิปไตยในไทย ชี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชาวไทยได้เลือกตั้งผู้แทนฯ และผู้นำของตนอย่างอิสระและเท่าเทียมกัน ยืนยันระงับความช่วยเหลือจนกว่าจะมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง 'บวรศักดิ์'ปลุกใจสปช.สนับสนุนร่างรธน.ที่กมธ.ยกร่างฯ ขึ้น อย่าหวังห่อขนม 200 ห่อ ที่วางล่อในนามสภาขับเคลื่อนฯ 7 นักศึกษาที่ถูกหมายจับคดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช.รุดสน.ปทุมวัน แจ้งจับตร.-ทหารที่ก่อเหตุรุนแรงในวันชุมนุมหน้าหอศิลป์ ด้านกลุ่มดาวดิน 7 คน พากันลงมาจากเมืองเลยรุดให้กำลังใจถึงกรุงเทพฯ

 

 

วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8975 ข่าวสดรายวัน

 

 

  ให้กำลังใจ - นักศึกษา 8 คนที่ถูกหมายจับคดีฝาฝืน คำสั่ง คสช. ขณะรวมกลุ่มเตรียมแจ้งความเอาผิดเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงจับกุม โดยมี 7 น.ศ.กลุ่มดาวดิน มาร่วมให้กำลังใจ ที่สน.ปทุมวัน เมื่อ วันที่ 24 มิ.ย.

 

 

 

รำลึก 83 ปีคณะราษฎรที่หมุดปชต.

     เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 24 มิ.ย. ที่หมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม นักเขียน กวี นักกิจกรรมและประชาชน ประมาณ 50 คน รวมตัวกันทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 83 ปี ในวันเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 เริ่มต้นด้วยการร่วมกันทำความสะอาดหมุดคณะราษฎร จากนั้นนำกระดาษไขมาลอกลายหมุดคณะราษฎร ต่อด้วยการวางดอกไม้ จุดเทียน และอ่านบทกวี

      วาด รวี นักเขียนอิสระ และบรรณาธิการสำนักพิมพ์ไชน์ กล่าวว่า เรามาเพื่อรำลึกถึงและมีเรื่องราวบอกเล่าต่อคณะราษฎรที่ก่อการเปลี่ยนแปลงว่า ประชาธิปไตยที่ผ่านกาลเวลาและการหยุดนิ่ง ผ่านการเรียนรู้และไม่เรียนรู้ ผ่านการสำนึกและไม่สำนึก จากรุ่นสู่รุ่น เรามาเพื่อยืนยันว่าจิตวิญญาณประชาธิปไตยของเรายังอยู่ที่นี่

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมในงานเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 20 นายควบคุมอยู่โดยรอบบริเวณ นอกจากนี้ พระมหาไพรวัลย์ วรวัณโณ ได้เดินทางมาบิณฑบาตและให้พรผู้มาร่วมกิจกรรม ก่อนจะทำพิธีกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้อภิวัฒน์สยามที่ล่วงลับ 

     พระมหาไพรวัลย์ กล่าวว่า ขอแสดงความนับถือในน้ำใจและความกล้าหาญของทุกคนที่มาที่นี่ แม้ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงยังมีคนที่มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวมาร่วมกันรำลึกถึงคณะราษฎรที่เป็นบรรพบุรุษซึ่งมีคุณูปการต่อพวกเรา นำระบอบประชาธิปไตยที่มีอารยะมาสู่คนทุกคน จึงขอให้ทุกคนกล้าหาญและยึดถือความถูกต้อง ชอบธรรม และขอให้ภาวะอันตรายใดๆ ไม่สามารถทำลายหัวใจอันทระนงของท่านได้

ตร.จับนศ.ไม่พกบัตรประชาชน 

เวลา 07.00 น. นายปิยณัฐ จงเทพ นักศึกษากลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชา ธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) พร้อมเพื่อนอีก 3 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน และนำตัวไปยัง สน.สำราญราษฎร์ ในข้อหาไม่พกบัตรประชาชน ซึ่งนายปิยณัฐได้ฝากบัตรประชาชนไว้กับเพื่อนที่มาด้วยกัน โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่า นายปิยณัฐได้มาถือช่อดอกไม้บริเวณที่มีความหมายทางการเมือง ขณะที่รัฐบาลห้ามแสดงออกทางการเมืองในขณะนี้ ก่อนจะลงบันทึกประจำวันไว้และปล่อยตัวในที่สุด

ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีต นายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการครบรอบ 83 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชา ธิปไตยในวันนี้ว่า ทุกคนพยายามให้ประเทศได้มาซึ่งความเป็นประชาธิปไตยในทุกเรื่อง รวมทั้งการปกครองด้วย คงต้องใช้เวลา แม้จะมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นก็ต้องแก้ไขกันไป ทหารเองก็พยายามอยู่ ต้องให้กำลังใจพวกเขา

 

ทายาทคณะราษฎรทำบุญอุทิศ

     เวลา 10.10 น. ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน หรือวัดประชาธิปไตย ทายาทและลูกหลานสมาชิกคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและอุดมการณ์ประชาธิปไตย ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับสมาชิกคณะราษฎร ผู้ล่วงลับ เนื่องในโอกาสครบรอบ 83 ปี 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นไปอย่างเรียบง่าย

      ทั้งนี้ มีลูกหลานทายาทและแขกที่มาร่วมงาน อาทิ พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายของ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายทหาร, นางจีรวัสส์ พิบูลสงคราม ปันยารชุน บุตรสาวของจอมพล ป.พิบูลสงคราม, สมพงศ์ ปทุมรส บุตรชายของเฉลียว ปทุมรส, นางดุษฎี นางวาณี และนางสุดา พนมยงค์ บุตรสาวของ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือนและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

บิ๊กตู่ชี้ประเทศจะตาย-อย่าประท้วง

     เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการ ส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2558 ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร 31 หน่วยงานว่า รัฐบาลต้องลดความเหลื่อมล้ำ แต่จะเรียกร้องทั้งหมด เราไม่มีให้ อย่างชาวนาจะมาเรียกร้องเพียงอย่างเดียวไม่ได้ และไม่ต้องออกมาประท้วงด้วย เพราะไม่เกิดประโยชน์ ทุกวันนี้คนมักประท้วง ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญ การปกครอง เรื่องประชาธิปไตย อยากให้ช่วยกันบอกด้วยว่าประเทศจะตายอยู่แล้ว 

      "จะประท้วงอะไรหนักหนา ทั้งดาวฟ้า ดาวน้ำเงินนั้น ไม่เกิดประโยชน์เลย ผมว่าประเทศชาติไปไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจว่าวันนี้เราอยู่ในสถานการณ์อะไร ทั้งข้าราชการ รัฐ เอกชน ต้องรู้ว่าเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ไปสู่ประเทศที่มีความเข้มแข็งในอนาคต" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

      นายกฯกล่าวว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) จะต้องส่งงานต่อให้กับรัฐบาลหน้าได้ ซึ่งตนได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ โดยบรรจุ ในรัฐธรรมนูญว่าเราจะเดินหน้าประเทศอย่างไร และต้องมีความก้าวหน้า วันนี้เรื่องรัฐธรรมนูญมีการทะเลาะกัน เพราะมีเรื่องต่างๆ เข้ามามาก ดังนั้น ต้องจัดระเบียบให้ความชัดเจนว่าระยะที่ 1, 2, 3 จะเดินหน้าอย่างไร

 

จี้ขรก.เร่งเดินหน้าโครงการรบ.

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้โครงการต่างๆ ล่าช้า เพราะไม่กล้าทำกัน โครงการไหนที่ไม่กล้าทำ ถ้าถูกต้องก็ขอให้ทำไปไม่ต้องกลัว เพราะจะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ ถ้าไม่กล้าทำเพราะกลัวถูกจับผิด รอให้ตนไปก่อนแล้วประเทศอยู่ตรงไหน ถามว่าคิดแบบนี้ได้อย่างไร ที่มีเสียงถึงหูตนว่าทางการเมือง เดี๋ยวรัฐบาลนี้ก็ไป เราจะได้เลิกกินเจกันเสียที การกินเจอาจทำให้ไม่ค่อยแข็งแรง แต่ประเทศแข็งแรง 

      จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการสร้างเสาธงชาติที่หน้าตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งวันนี้ได้ทำการเชิญธงขึ้นสู่ยอดเสาวันแรกว่า "เพื่อให้ที่ทำเนียบได้รู้ถึงสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นอย่างไร และการเชิญธงชาติวันนี้เป็นวันแรก ไม่เกี่ยวข้องกับการถือฤกษ์ยาม หรือเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนที่บอกว่าเป็นฤกษ์มังกรนั้นก็ไม่ทราบ เพราะดวงของผมนั้นขึ้นอยู่กับสื่อมวลชนทั้งสิ้น ทั้งว่า ทั้งชม ตอนนี้ก็ยังพอทน"

 

ประยุทธ์อ้างมีความสุขกับกีฬา

      ต่อมาเวลา 18.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในพิธีเลี้ยงต้อนรับคณะนักกีฬา ผู้ฝึกสอน สมาคมกีฬา และเจ้าหน้าที่ร่วมแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 28 โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า การที่นักกีฬาไทยได้รับเหรียญรางวัลเป็นอันดับหนึ่ง ถือเป็นไม่กี่สิ่งที่ทำให้มีความสุขตั้งแต่เข้ามาในวันที่ 22 พ.ค. 2557 เพราะคนไทยต่างร่วมกันเชียร์ไม่ว่าพวกไหนก็หยุดทะเลาะกัน เพื่อมาเชียร์กีฬา เป็นหนึ่งเดียวกันก่อน แต่พอเลิกเชียร์ก็มาทะเลาะกันใหม่ วันนี้เราต้องร่วมมือกันทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยและมีชื่อเสียง เลิกทะเลาะกัน วันนี้มีนักกีฬาประเภทนักมวย นักฟันดาบ นักต่อสู้ให้เลือกเยอะ โดยมีรายชื่ออยู่ที่กระทรวงยุติธรรม พวกนี้ชอบออกกำลัง ใจถึง วันนี้ควรเลิกรบแล้วมาแข่งกีฬากันดีกว่า 

      "วันนี้ผมมีความสุขมาก สร้างรอยยิ้มให้ผมได้ เพราะตั้งแต่เช้ามีแต่เรื่องเข้ามา น้ำขาด ภัยแล้ง ข้าวตาย การปฏิรูปไม่รู้จะเสร็จหรือไม่เสร็จ รัฐธรรมนูญก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ทำให้ปวดหัว ต้องขอโทษ บางครั้งหน้าตามันก็ออกมาไม่ดี แต่จริงๆ แล้วหน้าตาดี การปฏิรูปต่างๆ ผมเขียนไว้ 100 กว่าเรื่อง ไม่ใช่ทำปีเดียวแล้วเลิก แต่ต้องใช้เวลา 10-20 ปี แต่ผมไม่อยู่ถึงตอนนั้น ไม่ใช่ว่าจะตาย แต่ออกมาดูอยู่ข้างหลัง ดูว่าประชาธิปไตยก้าวเข้าสู่สากลหรือไม่ ทุกคนไปเลือกตั้งกันว่าจะเลือกรัฐบาลใหม่อย่างไร วันนี้ใครจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร แต่ผมต้องอยู่เพื่อทำงานหรือใครจะไม่ให้ผมอยู่ วันนี้ถือว่าผมได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นพอสมควร เพราะเรามีหัวใจเดียวกันอยู่แล้วคือหัวใจที่จะทำเพื่อประเทศชาติ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

บิ๊กต๊อกโต้บินไปจับ'ตั้งอาชีวะ'

      ด้านพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีมีข่าวเดินทางไปประเทศนิวซีแลนด์ว่า ไม่เป็นความจริง และไม่เกี่ยวข้องกับการประสานนำตัวนายเอกภพ เหลือรา หรือตั้ง อาชีวะ กลับมาดำเนินคดี ซึ่งตนเห็นข่าวแล้วแต่ไม่อยากขยายความหรือออกมาปฏิเสธเพราะไม่อยากให้เรื่องบานปลาย ซึ่งเรื่องนี้ให้ข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศไปหมดแล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศไปชี้แจงกับต่างประเทศ ถึงกรณีบุคคลที่มีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามที่ทางการไทยได้แจ้งไป

      พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนแนวทางถอนพาสปอร์ตผู้กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นตามกฎหมายทำได้ ส่วนผู้ที่หลบหนีไปต่างประเทศถือหนังสือเดินทางของประเทศนั้นจึงไม่มีผลกระทบ อีกทั้งคนเหล่านี้ไปในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง เราจึงไม่สามารถละเมิดกฎหมายต่างประเทศได้ แต่ตนอยากให้ต่างประเทศเคารพความรู้สึกของคนไทย มันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ซึ่งบางครั้งสูงกว่ากฎหมายด้วยซ้ำไป 

 

บิ๊กป้อมโต้-ทหารทำปชต.สะดุด

      ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงวันที่ 24 มิ.ย.ครบรอบ 83 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังจัดทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งสถานการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความขัดแย้ง ถ้าไม่มีความขัดแย้งบ้านเมืองสงบเรียบร้อย รัฐบาลก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ามีความขัดแย้งเกิดขึ้น เราต้องรักษาชีวิต คนส่วนใหญ่ รักษาภาพลักษณ์ของประเทศ ไม่ให้เสียหายมากไปกว่านี้ 

รองนายกฯกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีมีความคิดในเรื่องประชาธิปไตยอยู่แล้ว ซึ่งเราทำทุกอย่าง ไม่ได้ใช้เผด็จการ และรักษาสิทธิมนุษยชน วันนี้ทุกอย่างดำเนินการตามโรดแม็ปที่ประกาศไว้และตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และขณะนี้เจ้าหน้าที่จับคนที่ปล่อยข่าวปฏิวัติซ้อนเรียบร้อยแล้ว 

      เมื่อถามว่ากองทัพถูกโจมตีว่าเป็นผู้ทำให้ประชาธิปไตยสะดุดตลอด พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าไม่จริง ใครเป็นคนทำ ที่ผ่านมาทหารไม่ได้เป็นคนทำ แต่เป็นคนรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้เกิดความสุขและความเรียบร้อยภายในประเทศ ถ้าไม่ทำวันนี้จะมีความสงบแบบนี้หรือไม่ 

      "เราพยายามรักษาเจตนารมณ์ของประชาชน รัฐบาลทำทุกอย่าง แต่สื่อไม่เคยเขียนว่ารัฐบาลทำอะไรบ้าง มีแต่โจมตี เขียนด่ารัฐบาลหาว่าทำอะไรเสียหาย ทั้งที่ผมไม่เคยทำอะไรให้เสียหาย เดี๋ยวมาบอกว่าตำรวจ คนนั้นเป็นคนของบิ๊กป้อม ผมจะไปรู้เรื่องอะไร ทั้งหมดเป็นการแต่งตั้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่คนรู้จักกันหมด"รองนายกฯกล่าว

 

กมธ.โต้ยันไม่ได้ถอย 100 มาตรา

      ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่าขณะนี้กมธ.ยกร่างฯได้หลักการเบื้องต้นในประเด็นสำคัญๆ เพื่อนำไปเป็นแนวทางการพิจารณาเป็นรายมาตราเรียบร้อยแล้ว หลักการที่ได้ข้อสรุปมาถือเป็นสิ่งที่ดีจะช่วยให้กระบวนการทำงานของกมธ.ยกร่างฯ ช่วงการพิจารณาเป็นรายมาตราเดินหน้าไปได้ด้วยดี เนื่องจากหลายประเด็นได้ปรับปรุงแก้ไขให้มีความเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับตามที่ภาคส่วนต่างๆ เสนอความเห็น ส่วนที่มีข่าวว่ากมธ.ยกร่างฯยอมถอยปรับแก้ไขเป็น 100 มาตรานั้น เราไม่ได้ถอย แต่เป็นการปรับปรุงเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญออกมาให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง


ปล่อยตัว - นายนัชชชา กองอุดม 1 ในน.ศ.ที่ถูกออกหมายจับคดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช. และถูกจับกุมขณะเข้ารักษาอาการต่อมทอนซิลอักเสบ ที่ร.พ.วิภาวดี เมื่อช่วงเช้าวันที่ 24 มิ.ย. ก่อนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ปล่อยตัวชั่วคราวในช่วงค่ำวันเดียวกัน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

      นายเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าคณะกมธ.ยกร่างฯพยายามจะรักษาเนื้อหาในหมวดว่าด้วยการปฏิรูป เนื่องจากเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมา ประชาชน ตลอดจนทหาร ต่างเห็นว่าประเทศจำเป็นต้องมีการปฏิรูป ยิ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดให้ยุบสปช.แล้วตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปขึ้นมาแทน หากในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ไม่มีหมวดปฏิรูปอยู่เลย ก็ต้องถามว่าแล้วเราจะเอาอะไรปฏิรูป กมธ.ยกร่างฯจึงเห็นว่าจำเป็นต้องมีหมวดนี้ แต่เนื้อหาจะเป็นอย่างไรต้องรอการพิจารณาเป็นรายมาตรา ส่วนสภาขับเคลื่อนฯนั้น กมธ.ยกร่างฯคงต้องเขียนรับรองไปตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ ทั้งอำนาจหน้าที่และจำนวนที่มี 200 คน

 

เจษฎ์แจงวุ่นประธานก.อ.คนนอก

       นายเจษฎ์ กล่าวถึงกรณีอัยการไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ประธานคณะกรรมการอัยการ(ก.อ.) เป็นคนนอก ว่าต้องการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานขององค์กรอัยการ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาประชาชนไม่ได้รับรู้ถึงการทำงานของกระบวนการยุติธรรมเท่าไรนัก ทำให้จำเป็นต้องสร้างกระบวนการในการมีส่วนร่วม และการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ดังจะเห็นได้จากการมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) การให้บุคคลภายนอกเข้ามาเป็นกรรมการก.อ.ก็อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลนี้ ในเชิงการทำงานแน่นอนว่าการตัดสินใจเรื่องหนึ่งเรื่องใดของคณะกรรมการก.อ. ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกไม่สามารถกุมทิศทางใดๆ ได้เท่าไรนัก แต่ที่ต้องมีคนนอกให้มาเป็นกรรมการก.อ. ก็เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลเท่านั้น

      เมื่อถามว่า ในเมื่อประธานศาลฎีกาเป็นประธานก.ต. แต่ประธานก.อ.กลับไม่ได้จากบุคคลที่เป็นอัยการสูงสุด หรืออดีตอัยการที่มีความรู้ความสามารถ นายเจษฎ์กล่าวว่าต้องยอมรับที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของอัยการสูงสุดถูกสังคมเพ่งเล็งมาตลอด จึงเห็นว่าควรต้องปรับแก้ไข โดยให้ผู้ใหญ่และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความอาวุโสและมาจากประชาชนเข้าไปทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม คณะกมธ.ยกร่างฯยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะปรับแก้ให้สอดคล้องกับข้อเสนอของอัยการหรือไม่ เพราะต้องรอการพิจารณาเป็นรายมาตราก่อน 

 

'ไพบูลย์'อ้างจะมีอำนาจมากไป

       นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า การพิจารณาทบทวนโครงสร้างของคณะกรรมการก.อ.คงต้องรอให้มีข้อเสนอจากอัยการเข้ามาอย่างเป็นทางการก่อน คณะกมธ.ยกร่างฯถึงจะมาพิจารณาดูว่าควรปรับปรุงในส่วนไหนหรือไม่อย่างไร สาเหตุที่คณะกมธ.ยกร่างฯกำหนดให้ประธานก.อ.ห้ามมาจากข้าราชการอัยการทั้งในอดีตและปัจจุบัน เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับข้อคิดจากหลายฝ่ายว่าการให้อัยการสูงสุดโดยตำแหน่งเข้ามาเป็นประธานก.อ. จะมีผลให้อัยการสูงสุดมีอำนาจมากเกินไป โดยอัยการสูงสุดมีหน้าที่ในการวินิจฉัยคดีที่ต้องฟ้องต่อศาลด้วย ดังนั้น หากอัยการสูงสุดเป็นประธานก.อ. เท่ากับว่าอัยการสูงสุดจะคุมอำนาจ ทั้งการวินิจฉัยคดีและการบริหารงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการทำงานของอัยการ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ

 

รองอธิบดีเผยอัยการทั่วปท.ค้าน

       ด้านนางชนิญญา ชัยสุวรรณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีปกครอง เปิดเผยถึงอัยการร่วมลงชื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในมาตรา 228 ที่เปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงอัยการได้ว่า หลังจากส่งหนังสือไปยังสำนักงานอัยการฝ่ายต่างๆ ทั่วประเทศ เรื่องการคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในประเด็นที่ระบุว่าประธานคณะกรรมการอัยการ(ก.อ.) ต้องเป็นบุคคลภายนอก และสัดส่วนของก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิต้องมาจากภายนอกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 นั้น ซึ่งอัยการเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงอัยการได้ อีกทั้งยังมีผลแต่งตั้งโยกย้ายอัยการ การเลื่อนขั้นเงินเดือน และการออกกฎระเบียบต่างๆ ของอัยการ หากปล่อยให้แทรกแซงประธานก.อ.ด้วยแล้ว จะยิ่งส่งผลกระทบต่ออัยการมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่ออัยการที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งต้องใช้เวลารวบรวมระยะหนึ่งก่อน และผู้บริหารอัยการส่วนใหญ่ก็ทราบเรื่องแล้ว และส่วนมากก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ 

 

ทำจม.เปิดผนึก-อสส.ก็ไม่เห็นด้วย

      นางชนิญญากล่าวว่าเรื่องนี้หากผู้บริหารองค์กรจะออกมาเคลื่อนไหวก็คงดูไม่เหมาะสม จึงอาจใช้วิธียื่นหนังสือไปยังรัฐบาลและสนช. เพื่อให้พิจารณาต่อไป ขณะนี้ตนอยู่ระหว่างร่างจดหมายเปิดผนึก เพื่อแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พร้อมทั้งระบุถึงแนวทางการต่อสู้ขององค์กรอัยการเรา โดยเนื้อหาในจดหมายจะเล่าประวัติขององค์กรอัยการ และชี้แจงถึงประเด็นว่าอัยการต้องมีอิสระในการใช้ดุลยพินิจในการทำงาน เราไม่ต้องการคนนอกเข้ามานั่งเป็นก.อ. เพราะจะมีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายอัยการ ยิ่งถ้าประธานก.อ.มาจากคนนอกด้วยแล้วก็ยิ่งไปกันใหญ่

นางชนิญญากล่าวว่า ตัวจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวคาดว่าจะร่างเสร็จภายในวันที่ 25 มิ.ย. หากร่างจดหมายเสร็จแล้ว อาจแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเพื่อเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบต่อไป ทั้งนี้ นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด(อสส.) ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วและ ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เป็น ผู้บริหารสูงสุด หากออกมาเคลื่อนไหวก็คงจะดูไม่เหมาะสม แต่อสส.ได้ยื่นหนังสือแสดงความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว 

 

สปช.เปิดรร.-ปิดห้องประชุมกัน

     ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการ กมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) แถลงว่าจากนี้สปช.จะดำเนินการตามที่ประชาชนคาดหวังคือ นำเสนอแผนแม่บทการปฏิรูปประเทศ ที่จะเริ่มตั้งแต่การสัมมนาวันนี้ นำวาระการปฏิรูปทั้ง 18 ด้านเข้าสู่ที่ประชุม ที่จะนำเสนอต่อนายกฯ ก่อนการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสปช.ต่อไป 

ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เป็นประธานในโครงการสัมมนาเรื่อง "สานใจปฏิรูป สภาปฏิรูปแห่งชาติ" เพื่อให้สปช.ได้รับฟังผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมุมมองร่วมกัน มีสมาชิกสปช.เข้าร่วมสัมมนาอย่างพร้อมเพียง

      ทั้งนี้ งานสัมมนาดังกล่าวไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง โดยหารือต่อเนื่องจากการปิดห้องประชุมเป็นการภายในของสมาชิกสปช. ต่อจากการประชุมที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา 

รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมช่วงแรก นายเทียนฉายกล่าวปลุกใจสมาชิกสปช.ให้ร่วมทำงานภายใต้เวลาที่เหลือเพียง 74 วัน โดยระบุว่าตนภาคภูมิใจที่สมาชิกสปช.ร่วมกันขับเคลื่อนและเดินหน้างานปฏิรูปแต่ละด้านที่สำคัญตามโรดแม็ปที่ได้ระดมความเห็นกันมาก่อนหน้านี้ ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหลือจากนี้ต้องร่วมมือและร่วมแรงขับเคลื่อนผลงานปฏิรูปที่เหลือให้สำเร็จ เพื่อส่งต่อให้รัฐบาลพิจารณา ต่อไป ส่วนรัฐบาลจะรับไปสานต่อหรือไม่ ไม่สามารถกำหนดได้ แต่ขอให้ทำงานให้เต็มที่

 

บวรศักดิ์ หวั่นผลงานสปช.ถูกฉก

     รายงานข่าวแจ้งว่า จากนั้นนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะรองประธานสปช.คนที่ 1 กล่าวถึงความในใจประมาณ 20 นาทีว่า งานของกมธ.ยกร่างฯจากนี้ คือการพิจารณาและปรับปรุงเนื้อหาตามที่สปช.นำเสนอเป็นคำขอแก้ไข ซึ่งมีข้อสรุปประเด็นสำคัญแล้วว่าจะขยายเวลาทำงานออกไปอีก 30 วันตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่แก้ไขเพิ่มเติมให้อำนาจ กมธ.ยกร่างฯ ขอขยายเวลาทำงานได้ โดยมีเหตุผลสำคัญ 2 ประการคือ 1.เพื่อให้สปช.มีเวลาทำงานเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่จะสิ้นสุดวาระในวันที่ลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 2.เพื่อให้มีเวลาทบทวนเนื้อหาและจะเปิดให้สปช. ที่เสนอคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเข้ารับฟังเหตุผลและรายละเอียดของการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญด้วย

นายบวรศักดิ์กล่าวว่านายเทียนฉายลืมพูดประเด็นสำคัญคือเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น 'ห่อขนม'ที่สำคัญที่สุด หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็จะทำให้การปฏิรูปที่สปช.ทำมาทั้งหมดเสียของไปหมด และอาจถูกนำผลงานของ สปช.ไปเป็นของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่จะตั้งขึ้นใหม่ 200 คน อาจจะทำให้สปช.ที่ตั้งใจทำงานมาหมดความภาคภูมิใจ 

 

เตือนอย่าหวังห่อขนมอีก 200 ล่อใจ

     นายบวรศักดิ์ กล่าวว่ากระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขจากทุกภาคส่วน เราให้ความสำคัญกับครม.มากที่สุด ส่วนการลงมติของสปช.ว่าจะโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตนอยากให้ทุกคนใช้ดุลยพินิจโดยอิสระ อย่าไปหวังกับห่อขนมอีก 200 ชิ้นที่วางอยู่ตรงหน้า และขอให้คำนึงถึงการทำหน้าที่ของสปช. ที่เราได้รับการโปรดเกล้าฯเข้ามา หมายถึงการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน ขณะที่สภาขับเคลื่อนฯ ที่นายกฯเป็นคนแต่งตั้งจะทำงานให้กับคนเพียงกลุ่มเดียว

นายบวรศักดิ์กล่าวด้วยว่า วันนี้กมธ. ยกร่างฯ 36 คน เป็นเหมือนแซนด์วิช โดนประกบทั้งครม.และสปช. กมธ.ยกร่างฯอยู่ตรงกลาง ก็ต้องทำงานตามหน้าที่ให้ดีที่สุดถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านพวกเราก็จบด้วยกัน ทั้งนี้ ตนยอมรับถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน เพราะมีบางคนไปหวังกับขนม 200 ชิ้น เราจะมีศักดิ์ศรีกันหรือไม่ เพราะพวกเราสปช.ได้รับการโปรดเกล้าฯเข้ามาทำงานไม่ใช่สภาขับเคลื่อนฯ ที่มาจากการแต่งตั้งของคนเพียงคนเดียว 

       "ขอย้ำว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ทำให้คสช. หรือครม. แต่ทำให้ประชาชน สปช.ทำหน้าที่เป็นเพียงบุรุษไปรษณีย์และส่งไปให้ประชาชน เพื่อลงประชามติว่าจะเอาหรือไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ดังนั้น หากสปช.เห็นว่าเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประโยชน์กับประชาชนก็ควรที่จะให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน" นายบวรศักดิ์ระบุ

รายงานข่าวแจ้งว่านายบวรศักดิ์ยังขอร้องสปช. ว่าถึงแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านสปช.ไปแล้วและสปช.หมดหน้าที่ ก็ขอให้ทุกคนลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญก่อนจะลงประชามติ 

 

เทียนฉายเผยเร่งแผนปฏิรูป18คณะ

       เวลา 16.00 น. นายเทียนฉายให้สัมภาษณ์ว่า มีการหารือ 3-4 ประเด็น โดยจะเร่งรัดการทำงานปฏิรูปของกมธ.ทั้ง 18 คณะให้เสร็จภายในวันที่ 22 ส.ค. จากนั้นอีก 30 วันจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างรอบคอบ ซึ่งจะลงมติได้ในช่วงวันที่ 5-7 ก.ย. ทั้งนี้ สปช.จะส่งแผนการปฏิรูปให้ครม.พิจารณา พร้อมด้วยวิสัยทัศน์และอนาคตประเทศที่อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ขณะเดียวกันจะนำเสนอแผนปฏิรูปต่อประชาชนให้เข้าใจด้วย ทุกแผนการปฏิรูปจะระบุไว้ชัดเจนว่าต้องแก้ไขหรือร่างกฎหมายใหม่อะไรบ้าง 

     เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จะส่งผลต่อการลงมติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ และสมาชิกสปช.ควรสานงานต่อในสภาขับเคลื่อนฯหรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่าในหลักการและภาพรวมไม่น่ามีผล แต่ในระดับบุคคล ตนไม่รู้ สปช.ทำตามแผนทุกประการ ส่วนที่ขาดไปหลังจากแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว คือเราไม่ได้ร่วมร่างหรือแก้ไขกฎหมายลูก 

      เมื่อถามว่าสมาชิกสปช.จะตัดสินใจลงมติร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก นายเทียนฉายกล่าวว่าเป็นเรื่องปกติ แต่คิดว่าหลักสำคัญคือการตัดสินใจของแต่ละคนเป็นอิสระจากกัน หากเรายึดหลักนี้ได้น่าจะเพียงพอ ส่วนแต่ละคนจะมีฐานความคิดอย่างไร เป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัว ซึ่งวันนั้นเราจะพูดกันด้วยเสียงข้างมาก 126 เสียงขึ้นไป

 

ว่าที่ทูตมะกันแถลงกดดันไทย

      วันเดียวกัน เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐในประเทศไทย เผยแพร่คำแถลงของนายเกลน เดวีส์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ต่อคณะกรรมาธิการฝ่ายกิจการต่างประเทศของวุฒิสภา มีเนื้อหาระบุตอนหนึ่งว่า ไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรคู่สนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐในเอเชีย ได้ทำงานร่วมกันในหลายประเด็น แม้สหรัฐจำเป็นต้องจำกัดความสัมพันธ์บางด้านกับไทย หลังเหตุการณ์รัฐประหารโดยทหารเมื่อเดือนพ.ค. 2557 ความสัมพันธ์ทวิภาคียังคงกว้างขวางและก่อประโยชน์อย่างยิ่งแก่ทั้งสองประเทศ


83 ปี ปชต. - กลุ่มกวีร่วมกิจกรรมวางดอกไม้ และอ่านบทกวี รำลึกครบรอบ 83 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนาฯ 2475 บริเวณหมุดทองเหลืองคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า กทม. เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.

      ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ความแตกแยกทางการเมืองภายในประเทศไทยถลำลึกลงไปมาก นำไปสู่การแบ่งขั้ว สหรัฐไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดในความขัดแย้งนี้ แต่ขอเน้นย้ำว่าสหรัฐยึดมั่นสนับสนุนหลักประชาธิปไตย และมั่นคงในพันธสัญญาของเราต่อมิตรภาพที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์นี้กับประชาชนชาวไทย

 

ย้ำต้องคืนประชาธิปไตย-เสรีภาพ

       นายเดวีส์ กล่าวต่อว่านับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร สหรัฐเน้นย้ำตลอดทั้งในเวทีสาธารณะและการเจรจาส่วนตัว ถึงข้อกังวลของสหรัฐเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยหยุดชะงักลง รวมถึงการจำกัดเสรีภาพของพลเมือง ได้แก่ เสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ สหรัฐยืนยันว่าประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อประชาชนชาวไทยเลือกผู้แทนและผู้นำของตนเองได้อย่างอิสระและอย่างเท่าเทียมกัน สหรัฐได้ระงับความช่วยเหลือบางประการตามที่กฎหมายกำหนด จนกว่าไทยจะมีการบริหารประเทศโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และเมื่อไทยมีรัฐบาลดังกล่าวแล้ว เราทั้งสองจึงจะกลับไปสู่การมีความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีได้อย่างเต็มรูปแบบ

       "การที่สหรัฐ เรียกร้องให้ไทยกลับไปมีรัฐบาลพลเรือน คืนสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย และเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง รวมถึงเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบนั้น มิได้หมายความว่า สหรัฐมุ่งเจาะจงสนับสนุนพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญหรือการเมืองประเด็นใดโดยเฉพาะ สิ่งเหล่านั้นเป็นคำถามที่คนไทยต้องตัดสินใจ โดยผ่านกระบวนการทางการเมืองที่ครอบคลุมอันเอื้อต่อการอภิปรายที่เปิดกว้างและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของประเทศ หากตนได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการให้ดำรงตำแหน่ง จะสานต่อในการสนับสนุนปณิธานด้านประชาธิปไตยของประชาชนชาวไทย" นายเดวีส์ระบุ 

 

ตร.จับนัชชชาขึ้นศาลทหาร

       เวลา 15.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความนายนัชชชา กองอุดม นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ถูกออกหมายจับคดีขัดขืนประกาศคสช. ฉบับที่ 7/25557 ฝ่าฝืนห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน เปิดเผยว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างรอคัดค้านการขอฝากขังต่อศาลทหาร แต่หากศาลฝากขัง ก็ได้เตรียมหลักทรัพย์ 10,000 บาท เพื่อยื่นขอประกันตัวต่อไป

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับนายนัชชชา ถูกตำรวจบุกเข้าจับกุมขณะนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ก่อนจะนำมาขออำนาจศาลทหารฝากขัง ต่อมาทนายของนายนัชชชา ได้ยื่นประกันตัววงเงิน 1 หมื่นบาท โดยศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้ประกันตัวได้ โดยมีเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้น ทั้งนี้ในเวลา 20.00 น. จะปล่อยตัวนายนัชชชา ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

 

รุดสน.ปทุมวันให้กำลังใจ 8 น.ศ.

     ที่สน.ปทุมวัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้า มีกลุ่มนักศึกษามารอให้กำลังใจเพื่อนนักศึกษาทั้ง 8 คน ที่ถูกออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และถูกออกหมายจับโดยศาลทหาร เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ซึ่งจะมารับข้อกล่าวหาในช่วงบ่ายวันนี้ หลังรวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม 1 ปี รัฐประหาร บริเวณด้านหน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าหน้าที่จัดกำลังตำรวจจาก บก.น.6 กว่า 100 นาย ทั้งในและนอกเครื่องแบบ มาดูแลความเรียบร้อย 

     สำหรับ นักศึกษาทั้ง 8 คนที่ถูกออกหมายจับ ประกอบด้วย นายพรชัย ยวนยี อายุ 24 ปี นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ อายุ 23 ปี นายรัฐพล ศุภโสภณ อายุ 22 ปี นายปกรณ์ อารีกุล อายุ 26 ปี นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ อายุ 29 ปี นายรังสิมันต์ โรม อายุ 22 ปี นายนัชชชา กองอุดม อายุ 21 ปี และน.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว อายุ 22 ปี 

 

7 น.ศ.กลุ่มดาวดินก็มาให้กำลังใจ

       ต่อมาเวลา 13.00 น. นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย 7 คน ซึ่งถูกออกหมายจับข้อหาขัดคำสั่งคสช. ได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามที่นัดไว้ โดยมีนักศึกษากลุ่มดาวดิน 7 คน ได้เดินทางมาจากจ.เลย เพื่อสมทบให้กำลังใจเพื่อนนักศึกษาดังกล่าว และเดินคล้องแขนร้องเพลงเพื่อมวลชนไปด้วย ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของมวลชนที่มาให้กำลังใจประมาณ 20 คน รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักศึกษาจากกลุ่มสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาและเยาวชนปาตานีหรือกลุ่มเปอร์มัส 10 คน ก็มาร่วมให้กำลังใจด้วย

      นายกฤษฎางค์ นุชจรัส ทนายความของ 8 นักศึกษาที่ถูกออกหมายจับกรณีชุมนุมหน้าหอศิลป์ เปิดเผยว่า นักศึกษาทั้งหมดจะเข้ามารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน แต่เบื้องต้นยังกังวลต่อความปลอดภัย และมองว่าที่ถูกตั้งข้อหานั้นไม่เป็นธรรม เพราะต้องการแสดงออกตามสิทธิ รวมถึงกรณีนายนัชชชา หนึ่งในเพื่อน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวในร.พ.ทั้งที่ป่วย ก็มีความกังวลมากขึ้น

 

แจ้งดำเนินคดีตร.-ถูกทำร้าย 22 พ.ค.

     นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า การที่ตนเข้ามาเป็นทนายความให้วันนี้ เพราะหลายคนเป็นรุ่นน้อง และถือว่าเป็นการแสดงออกตามความชอบธรรม เป็นสิทธิตามกฎหมาย และควรเปิดใจรับฟัง มากกว่าการจำกัดความคิดเห็นที่แตกต่าง ส่วนหลักทรัพย์เพื่อต่อสู้คดีนั้นยังไม่มีการจัดเตรียม แต่เชื่อว่าจะสามารถจัดการตามขั้นตอนได้ ซึ่งหากพนักงานสอบสวนไม่อนุญาตประกันตัว ก็จะถูกส่งต่อไปยังศาลทหาร เพื่อขอฝากขัง และขอปล่อยชั่วคราวต่อไป 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักศึกษาดังกล่าวพยายามมอบอำนาจให้ทนายความเข้าแจ้งความเจ้าหน้าที่กรณีถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพเมื่อวันที่ 22 พ.ค. แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาต อ้างว่าถ้าต้องการแจ้งความ นักศึกษาต้องเข้าไปภายในสถานีตำรวจเอง แต่นักศึกษาเกรงจะไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงยังพยายามต่อรองอยู่ที่หน้าสน. ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 100 นาย กระจายกำลังตามแยกต่างๆหลายจุด พร้อมทั้งกั้นรั้วไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องสัญจรผ่านไปมา 

ทั้งนี้ กลุ่มนักศึกษาทั้งหมด รวมทั้งมวลชนรวมตัวกันที่หน้าลานตลาดสามย่านฝั่งตรงข้ามสน.ปทุมวัน และปราศรัยเกี่ยวกับความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย สลับกับการร้องเพลงปลุกใจด้วย

 

ทนายชี้ออกหมายจับโดยมิชอบ

   ด้านนายกฤษฎางค์ เปิดเผยว่า นักศึกษาทั้ง 7 ราย ไม่ได้มาสน.ปทุมวัน เพื่อมอบตัว แต่มาเพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจชุดจับกุมวันที่ 22 พ.ค. เนื่องจากระหว่างจับกุมเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังกับนักศึกษา ทำให้บางรายบาดเจ็บสาหัส ขณะที่บางรายถูกควบคุมตัวที่สน. ก่อนปล่อยตัวในตอนเช้าวันที่ 23 พ.ค. 

ส่วนที่ถูกออกหมายจับนั้น นักศึกษาทั้ง 8 รายมองว่า เป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากตำรวจอ้างว่าสาเหตุที่ออกหมายจับเพราะไม่มาพบพนักงานสอบสวนตามที่นัดหมาย 2 ครั้ง ความจริงนัดครั้งที่ 1 คือวันที่ 8 มิ.ย.แต่นักศึกษาไม่สะดวก จึงขอเลื่อนเป็นวันที่ 24 มิ.ย. แต่พนักงานสอบสวนบอกว่าไม่สะดวก ก่อนจะนัดกะทันหันใน วันที่ 19 มิ.ย. ซึ่งนักศึกษาก็ไม่สะดวก เป็นเหตุให้ออกหมายจับ ตนอยากให้พนักงานสอบสวนขอศาลเพิกถอนหมายจับ เพราะการกระทำของเด็กกลุ่มดังกล่าว เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งใช้เวลาไม่นานและเป็นไปตามสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงควรพูดคุยทำความเข้าใจกันได้

 

ส่งทนายแจ้งความดำเนินคดีแทน

      ขณะที่นายรังสิมันต์ หนึ่งในผู้ถูกออกหมายจับ กล่าวว่า พวกตนมองว่าการแจ้งข้อหาและออกหมายจับ เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง และกลั่นแกล้งไม่ให้พวกตนแสดงความเห็นใดๆ เนื่องจากในวันที่ 22 พ.ค. ที่พวกตนไปชุมนุมเชิงสัญลักษณ์หน้าหอศิลป์ฯนั้น ฝั่งตนขอให้ตำรวจปล่อยโดยปราศจากเงื่อนไข ซึ่งขณะนั้นตำรวจก็รับปากและยอมโดยดี แต่แล้วกลับแจ้งข้อหาและออกหมายจับในภายหลัง ยืนยันว่าพวกตนไม่ได้มาเพื่อมอบตัว แต่จะมาแจ้งข้อหากับตำรวจ ที่ทำร้ายร่างกายในวันจับกุม และจะปฏิเสธอำนาจเผด็จการของรัฐบาลและอำนาจ เจ้าหน้าที่ทุกรูปแบบ

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักศึกษาได้ส่งนายกฤษฎางค์ ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความในข้อหาดังกล่าวแทน เนื่องจากเกรงว่าหากกลุ่มนักศึกษาเข้าไปแจ้งความด้วยตนเองจะถูกจับกุมตัวตามหมายจับทันที แต่พนักงานสอบสวนยืนยันจะต้องให้เจ้าตัวเป็นผู้มาแจ้งความเองเท่านั้น

     สำหรับ นายนัชชชา กองอุดม อายุ 21 ปี หนึ่งในผู้ที่ถูกออกหมายจับนั้น ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวภายในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ขณะไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการป่วย ซึ่งขณะนี้ถูกควบคุมตัวไปยังศาลทหารกรุงเทพแล้ว

 

พ.อ.บุรินทร์เจรจาขอให้ยุติชุมนุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ. เดินทางมาที่สน. ปทุมวัน เพื่อเจรจาให้กลุ่มนักศึกษายุติการชุมนุมแต่กลุ่มนักศึกษา ยื่นเงื่อนไขว่าต้องยอมให้ผู้เสียหายคือฝ่ายนักศึกษาได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพด้วยมิเช่นนั้นจะไม่ยุติการชุมนุม พ.อ.บุรินทร์ จึงยินยอม ตามความต้องการของกลุ่มนักศึกษา

จากนั้น กลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่มาให้กำลังใจประมาณ 80 คน เดินคล้องแขนเข้ามาภายในรั้วสน.ปทุมวัน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบประมาณ 100 นาย ยืนกันเป็นแนวรักษาความปลอดภัย มีตัวแทนนักศึกษาพร้อมทนายความ และนายธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งหมด 7 คน เข้าไปภายในห้องพนักงานสอบสวน

 

เผยชื่อ 1 ตร.-2 ทหารถูกนศ.แจ้งจับ

     ขณะที่บริเวณด้านหน้าสน. กลุ่มนักศึกษาดาวดินร้องเพลงให้กำลังใจพรรคพวกอย่าง ต่อเนื่องและยืนยันไม่ขอเจรจาใดๆ และยินดีให้เจ้าหน้าที่จับกุม แต่ยังไม่มีท่าทีว่าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการจับกุม

สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกนักศึกษาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษได้แก่ พ.ต.อ.จารุต ศรุตยาพร ผกก.สน.ปทุมวัน และทหารอีก 2 นาย พ.ท.ภาสกร กุลรวิวรรณ และพ.อ. สุวิทย์ เกตุศรี

 

ปล่อยนัชชชา-ห้ามร่วมชุมนุม 

    เวลา 20.00 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถ.งามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ปล่อยตัวชั่วคราว นายนัชชชา โดยเดินออกมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มพร้อมโผเข้ากอดกลุ่มเพื่อนที่มาเฝ้า

นายนัชชชากล่าวว่า หลังจากเข้ารักษาอาการต่อมทอนซิลอักเสบ ที่ร.พ.วิภาวดี 2 คืน ก็ถูกตำรวจเข้ามาอายัดตัวแล้วจะยื่นฝากขังกับศาลทหาร แต่ทีมทนายยื่นประกันตัวมาได้ อย่างไรก็ดี ศาลทหารได้ตั้งเงื่อนไขการขอปล่อยตัวชั่วคราว คือ ห้ามตนเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองและยุยงปลุกปั่นให้ผู้อื่นเข้าร่วมชุมนุมทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็พร้อมจะปฏิบัติตาม หลังจากนี้จะพักรักษาตัวเป็นเวลา 7 วัน ให้ครบกำหนดฝากขัง ส่วนจะเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปหรือไม่นั้น อาจจะไปให้กำลังใจเพื่อน ใกล้กับที่ชุมนุมเพียงเท่านั้น

 

วิษณุแจงชื่อสภาขับเคลื่อนฯ

      ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่มีข้อสังเกตว่าการเขียนชื่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว จะซ้ำซ้อนกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่ามีเพียงแต่ชื่อเท่านั้นที่ซ้ำกันและยอมรับว่าตั้งใจที่จะให้ชื่อซ้ำกัน ตอนที่จะคิดชื่อสภาใหม่หลังจากที่สปช.ยุบไปแล้วว่าจะใช้ชื่ออะไร เมื่อเห็นว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญเขาเขียนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไว้ จึงนำชื่อนั้นมาใช้ก่อนเพื่อให้ต่อภารกิจการทำงานกันได้ติดในโอกาสต่อไป เพราะตัวของสภาเองจะต้องทำภารกิจเดียวกันคือการปฏิรูป แต่ไม่ได้ตั้งใจและไม่ได้ต้องการที่จะให้คนที่อยู่ในสปช.ไปอยู่ในสภาขับเคลื่อนฯต่อ แต่ปรากฏว่าเขาจะไปตั้งชื่อใหม่หนี ซึ่งก็ไม่เป็นไรที่ชื่อจะซ้ำได้ โดยที่ตัวคนต้องไม่ซ้ำกัน เพราะรัฐบาลไม่เห็นด้วยที่เขาจะพิจารณาเลือกบุคคล ส่วนหนึ่งมาจากสปช.และสนช.มานั่งในสภาขับเคลื่อนฯ เพราะเหมือนกับการไปให้รางวัล จึงต้องมาเลือกกันใหม่ และอาจจะเป็นรัฐบาลใหม่ที่คัดเลือกสภาขับเคลื่อนฯก็เป็นได้ วันนี้ยังไม่เห็นหน้าตาของสภาขับเคลื่อนฯใหม่ ซึ่งตนไม่ทราบถึงคนที่ออกมาพูดเรื่องตัวบุคคล เพราะคนที่จะเลือกคือนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง

 

เผยสน.อยู่ต่อจนถึงมีวุฒิสภา

     นายวิษณุ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญใหม่จะเขียนชัดเจนถึงการทำงานของสปช. ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เมื่อสปช.สิ้นสุดจะมีสภาใหม่มารับไม้ต่อ เพื่อทำงานโดยที่ไม่ซับซ้อนกัน และอาจจะหมดอายุก่อนที่มีสภาใหม่ด้วยซ้ำ เพราะตามโรดแม็ปของรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่นี้ สปช.จะอยู่ไปถึงวันที่เปิดสภา และสภาขับเคลื่อนฯก็น่าจะหมดอายุวันนั้น ในขณะที่สภาขับเคลื่อนฯใหม่ยังไม่เกิด ซึ่งเรื่องนี้ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นกัน รวมทั้งกมธ.ยกร่างฯ สนช. ครม.จะหมดการทำงานเมื่อไร ซึ่งอาจจะไม่พร้อมกัน ของเดิมชุดที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ยกร่างฯ สปช.และกมธ.ยกร่างฯหมดอายุในวันเปิดสภา ส่วนครม.และคสช.หมดอายุในวันที่ครม.ใหม่เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ ส่วนสนช.จะอยู่ยาวจนเกิดวุฒิสภา เพราะหากสนช.ไปก่อนจะไม่มีวุฒิสภา ซึ่งจะทำงานไม่ได้ เพราะรัฐบาลใหม่ต้องแถลงนโยบายต่อสองสภา ยกเว้นวุฒิสภาได้เลือกและประกาศชื่อไปแล้ว 

 

ชี้ร่างรธน.ใหม่จำกัดอำนาจปชช.

     เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 24 มิ.ย. ที่หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ถ.สุขุมวิท จัดปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2558 ครบรอบ 83 ปี การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 มีการอภิปรายหัวข้อ 'ปรีดี พนมยงค์ กับรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่ท่านเกี่ยวข้อง' วิทยากรประกอบด้วยนายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ และนายเกื้อ เจริญราษฎร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    นายธเนศ กล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างกันอยู่ในปัจจุบัน เชื่อว่าจะไม่มีการระบุว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร เหมือนอย่างในฉบับแรก แต่เรากำลังจะย้อนยุคไปมากกว่าพ.ศ.2475 เพราะเราจะปล่อยให้ข้าราชการประจำกลับมามีอำนาจในรัฐสภาอีกครั้ง ซึ่งข้าราชการประจำที่มีอำนาจมากที่สุดคือทหาร ดังนั้น การเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารเข้ามามีอำนาจในสภา แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างอยู่นี้กลับจำกัดอำนาจของนักการเมืองและประชาชนแทน 

ด้านนายเกื้อกล่าวว่า ระบบ 2 สภามีขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2489 ถ้าในปัจจุบันระบบ 2 สภาต้องออกแบบให้ยึดโยงกับประชาชน สภาที่ 2 หรือวุฒิสภา หากมีอำนาจมาก ต้องเรียกร้องประชาธิปไตยที่สูง เช่น มาจากการเลือกตั้ง แต่ร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ให้ทหารเข้ามานั่งมาจากวิชาชีพ ผู้มีคุณธรรมทางการเมือง จะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้านายปรีดีมาเห็นอาจจะร้องไห้อยู่บนสวรรค์ 

     นายเกื้อกล่าวต่อว่า ในระบอบประชาธิปไตยผู้ออกกฎหมายคือประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างขณะนี้คงไม่มีทางเป็นกฎหมายสูงสุดได้ ถ้าเราไปสำรวจความคิดเรื่องผู้มีอำนาจสูงสุดตามแนวคิดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ อำนาจสูงสุดนั้นถูกแบ่งปันกัน แต่ตนเห็นว่าผิด ถ้าเรายอมรับว่าประเทศเราเป็นประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชนเท่านั้น 

    ด้านนายวรเจตน์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2489 มีความก้าวหน้ามาก ตนชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก เพราะมีความประชาธิปไตย มีการวางความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอย่างเหมาะสม ยังไม่มีองคมนตรี โดยรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้มีตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมา ขณะที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่เราใช้กันอยู่ แม้บัญญัติว่าอำนาจประชาธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่คงไม่มีความหมายในทางปฏิบัติจริง 

 

ปปช.อายัดทรัพย์'สาธิต รังคสิริ'

     วันที่ 24 มิ.ย. นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกว่า 4.3 พันล้านบาท กล่าวว่า อนุกรรมการไต่สวนฯ มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของนายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ผู้ถูกกล่าวหากรณีดังกล่าว แต่ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เกรงจะกระทบต่อการไต่สวน โดยได้แจ้งให้นายสาธิตทราบและแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว ซึ่งป.ป.ช.ใกล้จะชี้มูลความผิดคดีนี้แล้ว 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีกระแสข่าวว่าอนุกรรมการไต่สวนฯ มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของนายสาธิตเป็นทองคำมูลค่า 600 ล้านบาท โดยทองคำดังกล่าวไม่ได้ปรากฏอยู่ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องแจ้งแก่ ป.ป.ช. และได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ อีกชุดหนึ่ง เพื่อตรวจสอบในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวโดยเฉพาะ 

คดีดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อปี 2556 จากกรณีกรมสรรพากรอนุมัติคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ 30 บริษัทปริศนา เป็นเงินกว่า 3,647 ล้านบาท โดยบริษัทหลายแห่งเป็นสถานที่เดียวกัน ไม่มีการประกอบกิจการจริง หลายบริษัทมีที่ตั้งเป็นบ้านเลขที่ห้องเช่า โดยคณะกรรมการสอบสวน ข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลัง ได้สรุปผลว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง 18 ราย เป็นข้าราชการระดับสูง ซี 9 จำนวน 4 ราย และระดับปฏิบัติงานอีก 14 ราย จากนั้นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว สรุปผลว่ามีข้าราชการกรมสรรพากรถูกสอบสวนทางวินัยทั้งหมด 20 ราย และประสานความร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อจัดส่งรายชื่อข้าราชการที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ให้กับคณะกรรมการป.ป.ช. ตรวจสอบอย่างเป็นทางการ มีนายภักดี โพธิศิริ เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ 

     หลังไต่สวนตรวจสอบแล้ว พบว่าในระดับเจ้าหน้าที่มีอย่างน้อย 2 รายที่ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายศุภกิจ ริยะการ หรือสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสรรพากรพื้นที่กรุงเทพฯ 22 (บางรัก) ร่ำรวยผิดปกติ มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะโอนย้าย ยักย้าย แปรสภาพ หรือซุกซ่อนทรัพย์สิน จึงมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของนายศุภกิจ และ ผู้ที่เกี่ยวข้องไว้เป็นการชั่วคราว รวมมูลค่า 48 ล้านบาท และล่าสุด คือกรณีคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของนายสาธิต 

 

ชี้มือโพสต์โยง'เอนกซานฟราน'

    เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 24 มิ.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผบ.ตร.และโฆษกตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. พล.ต.ต.ศิริพงษ์ ติมุลา ผบก.กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และเจ้าหน้าที่ทหาร ร่วมกันแถลงกรณีจับกุม น.ส.ชญาภา โชคพรบุศศรี อายุ 49 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ที่ 2/2558 ลงวันที่ 22 มิ.ย. 2558 พร้อมของกลางอุปกรณ์โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต กล้องถ่ายวิดีโอ โทรศัพท์มือถือ โดยจับกุมตัวได้ที่บ้านเลขที่ 8/32 หมู่ 3 ต.บางเมือง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

พล.ต.ท.ประวุฒิกล่าวว่า จากกรณีมีผู้โพสต์ข่าวลือจะมีปฏิวัติซ้อนเผยแพร่ตามสื่อออนไลน์ ผบ.ตร.จึงสั่งการให้ บก.ปอท.เร่งหาตัวผู้ที่กระทำผิด จนทราบตัวผู้กระทำผิดคือน.ส.ชญาภา ซึ่งเป็นผู้โพสต์ข้อความเป็นคนแรก จึงใช้อำนาจคสช.เข้าควบคุมตัว โดยเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวมาส่งให้กับตำรวจเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. และได้ขออนุมัติศาลทหารกรุงเทพออกหมายจับ น.ส.ชญาภาด้วย อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลและหลักฐานที่มีอยู่ ไม่พบว่ามีความเชื่องโยงถึงกลุ่มการเมือง เป็นเพียงผู้ที่มีความเห็นต่างเท่านั้น

      ด้านพล.ต.ต.ศิริพงษ์กล่าวว่า จากการขยายผลยังพบว่ามีการโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบัน จึงขอหมายจับศาลทหารกรุงเทพ จับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งในชั้นสอบสวน น.ส.ชญาภา รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และจากการสืบสวนพบว่าผู้ต้องหารายนี้เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น แบ่งผู้กระทำผิดเป็น 3 ระดับได้แก่ ผู้บงการ ระดับปฏิบัติการ และระดับล่าง เป็นแนวร่วมอาจมีการแชร์หรือส่งต่อ ตรวจสอบข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ที่ตรวจยึดได้ทราบว่า น.ส.ชญาภา ติดต่อกับนายแจ็ค หรือกฤตนัย เทพสาย ซึ่งขณะนี้อยู่ออสเตรเลีย จากข้อมูลของตำรวจนายแจ็ค เป็นขบวนการเดียวกับ นายมนูญ หรือ เอนก ชัยชนะ หรือ เอนก ซานฟราน ซึ่งทุกคนถูก ปอท.ออกหมายจับแล้ว แต่ส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการแถลงข่าว น.ส.ชญาภา ซึ่งทีท่าทีอิดโรยถึงกับเป็นลม ไม่สามารถลุกเดินเองได้ เจ้าหน้าที่จึงประสานรถพยาบาลจากร.พ.ตำรวจมารับตัวไปรักษาต่อไป

 

'บิ๊กตู่'เคารพธงชาติไทยขึ้นเสาใหม่

      เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 24 มิ.ย. ที่หน้าตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลประจำทำเนียบ ทำพิธีเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสาเป็นครั้งแรก หลังทำเสาธงใหม่ ความสูง 25 เมตร และผืนธงชาติขนาด 5 คูณ 7.5 เมตร ตามดำริของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีเสาธงไว้ประจำทำเนียบ เหมือนหน่วยงานราชการทั่วไป เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาติและความเป็นหนึ่งเดียว โอกาสนี้นายกฯ ได้มาร่วมเคารพธงชาติ บริเวณด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า 

สำหรับการจัดทำเสาธงชาติใหม่นี้ใช้เวลา 2 เดือน โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กรมศิลปากร ร่วมกันออกแบบและก่อสร้าง ใช้ระบบเชิญธงชาติขึ้นเสาแบบปกติ หรือ แบบมอเตอร์อัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้เหลือเพียงการตกแต่งฐาน โดยกรมศิลปากรเป็น ผู้ออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมของตึกไทยคู่ฟ้าและตึกสันติไมตรี และนับจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำทำเนียบจะเป็นผู้เชิญธงชาติขึ้นในเวลา 08.00 น.และเชิญธงชาติลงในเวลา 18.00 น.ของทุกวัน เหมือนเช่นสถานที่ราชการอื่น

      น.ส.เรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า การเชิญธงชาติใน วันนี้ไม่เกี่ยวกับวันคล้ายวันเปลี่ยนแปลงการปกครองครบรอบ 83 ปี 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งตรงกับวันนี้ แต่ดำเนินการเสร็จทันและทดสอบใช้งานได้แล้วจึงเริ่มดำเนินการ 

 

ฎีกาสั่งกห.ชดใช้ซ้อมชาวบ้านดับ

      เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ที่มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีที่นางนวล พร้อมธงชัย มารดานายชาญชัย พร้อมธงชัย เป็นโจทก์ ฟ้องกระทรวงกลาโหม เป็นจำเลยที่ 1 และกองทัพบก เป็นจำเลยที่ 2 เรียกค่าเสียหายทางละเมิดในการเสียชีวิตของนายชาญชัย โดยศาลฎีกาเห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัย ข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณา ส่งผลให้กระทรวงกลาโหม และกองทัพบก ต้องร่วมกันชำระเงิน 606,300 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่โจทก์ ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา 

     คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2549 นายชาญชัย ผู้ตายกับนายสม หอมอ่อน ถูก ร.ท. อาทิรัช ปุ๊ดหน่อย รองผู้บังคับกองร้อยที่ ร.753 กับพวกจับกุมในข้อหาไม่เดินทางออกหรือเข้ามาในราชอาณาจักรตามช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง ต่อมาพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาทั้งสองแล้ว แต่ร.ท.อาทิรัช กับพวกโดยคำสั่งพ.อ.วีระยุทธ กวยะปาณิก รอง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 กักตัวผู้ตายกับนายสมไว้สอบสวน ตามพ.ร.บ. กฎอัยการศึก พ.ศ.2475 และพาไปสอบสวนที่ฐานปฏิบัติการบ้านป่าแปก โดยร.ท.อาทิรัชกับพวกร่วมใส่กุญแจมือทั้งสองข้าง ใช้ผ้าปิดตาชกต่อยใบหน้า ลำตัว หน้าอก และใช้ปืนตีศีรษะผู้ตายและนายสม จนผู้ตายถึงแก่ความตาย ส่วนนายสมบาดเจ็บสาหัส

     ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสอง ร่วมกันชำระเงิน 606,300 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองทำร้ายผู้ตาย แต่โจทก์มีพยานแวดล้อมหลายประการ ที่บ่งชี้ได้ชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองทำร้ายผู้ตาย จนถึงแก่ความตาย จึงพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยทั้งสองฎีกา แต่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคดีไว้พิจารณา